กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

เอสเพอรันซา เรือแห่งความหวังกับการเดินทางเพื่อปกป้องท้องทะเล

ตราบใดที่ยังมีความหวัง มหาสมุทรก็ไม่มีวันล่มสลาย .. เรือเอสเพอรันซา สายลมแห่งความหวังกำลังจะมาเยือนน่านน้ำทะเลไทยเพื่อรณรงค์พิทักษ์รักษ์ทะเลไทยให้ยืนยาว และเพื่อปกป้องอนาคตของทุกคน

หลายคนคงคุ้นตากับภาพการทำงานของกรีนพีซพร้อมกับเรือรณรงค์ ซึ่งเรือของกรีนพีซจะออกเดินทางสู่ทะเลและมหาสมุทรของโลกเพื่อเป็นประจักษ์พยาน รวมถึงรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมมายาวนาน

หากใครยังจำกันได้ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ได้มาเยือนประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรณรงค์การปฏิวัติพลังงาน สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน และร่วมแรงร่วมใจสู้ให้มายาคติของถ่านหินสะอาดหมดไปจากประเทศไทย การมาแวะเวียนรณรงค์ของนักรบสายรุ้งในแต่ละครั้งนั้นเสมือนเป็นความหวังและพลังที่อยู่เคียงข้างประชาชนที่กำลังต่อสู้เรียกร้องให้อนาคตสิ่งแวดล้อมของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน

ในเดือนมิถุนายนพ.ศ. 2556 นี้ สายลมแห่งความหวังจะพัดผ่านทะเลไทย พร้อมกับการมาเยี่ยมเยือนน่านน้ำของไทยเป็นครั้งแรกของเรือ “เอสเพอรันซา”  ที่ชื่อมีความหมายว่า “ความหวัง”  ซึ่งเป็นเรือรณรงค์ลำใหญ่ที่สุดในสามลำของเรือกรีนพีซ เพื่อรณรงค์ให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนร่วมมือกันปกป้องทะเลไทย รวมถึงอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลของไทยอย่างแท้จริง

จากเรือดับเพลิงในเมืองเมอร์แมนส์ของกองทัพรัสเซีย กลายมาเป็นเรือรณรงค์ของกรีนพีซที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้เป็นแนวหน้าในการรณรงค์ของกรีนพีซหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 เป็นต้นมา ผลงานรณรงค์ที่โดดเด่นที่สุด คือ การยุติการล่าวาฬในเขตรักษาพันธุ์วาฬมหาสมุทรใต้ที่แอนตาร์กติกา โดยเรือเอสเพอรันซามีความพิเศษหลายประการ คือ นอกจากจะเป็นเรือลำที่ใหญ่ที่สุดด้วยขนาด 72 เมตร แล้ว ยังมีความเร็วสูงสุด 16 น๊อต ถูกออกแบบมาให้สามารถแล่นผ่านทะเลน้ำแข็งที่หนาได้ด้วยความเร็วสูง หรือแม้แต่ติดตามไปเป็นประจักษ์พยานการทำอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมของเรือประมงได้ทันท่วงที

ก่อนหน้าที่เอสเพอรันซาจะมาเป็นเรือของกรีนพีซอย่างทุกวันนี้ วิศวกรของกรีนพีซต้องใช้เวลาหลายเดือนในการดัดแปลงเรือเอสเพอรันซาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเริ่มจากการกำจัดเยื่อหินทนไฟออกทั้งหมด เปลี่ยนระบบน้ำมันพิเศษให้เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการรั่วไหลของน้ำมัน ปรับปรุงแรงขับเคลื่อนไฟฟ้าดีเซลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างระบบทำความร้อนจากของเสีย แปลงน้ำสกปรกใต้ท้องเรือให้เป็นน้ำสะอาด ใช้สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศที่ทำจากแอมโมเนียแทนการใช้สารฟรีออน ซึ่งทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศและเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน ท้ายที่สุดคือการใช้สีทาตัวเรือที่ปราศจากสารไตรบิวทิลทิน ซึ่งเป็นสารก่อมลพิษทำอันตรายต่อสัตว์น้ำและบิดเบือนฮอร์โมน

การมาน่านน้ำไทยของเอสเพอรันซาในครั้งนี้เป็นครั้งแรก และยังเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการรณรงค์ด้านมหาสมุทรและทะเลของประเทศไทย เพื่อรณรงค์และสร้างความตื่นตัวในการปกป้องทะเลในประเทศของเราให้มากยิ่งขึ้น มาร่วมกันค้นพบความสวยงามของท้องทะเลที่จะทำให้คุณต้องหลงรักทะเลไทยยิ่งขึ้น และสำรวจวิกฤตปัญหาที่กำลังคุกคามทะเล ด้วยการมาร่วมสัมผัสประสบการณ์การเดินทางรณรงค์ของเรือเอสเพอรันซา ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าตื่นเต้น น่าจดจำ ผ่านการเยี่ยมชมเรือ พูดคุยกับกัปตันและเหล่าอาสาสมัครกรีนพีซจากทั่วโลก รวมถึงยังมีความสนุกสนานแฝงความรู้อีกมากมายจากนิทรรศการ กิจกรรมเกม และอื่นๆ ในช่วงวันที่

15-16 มิถุนายน ที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
21-23 มิถุนายน ที่อ่าวหน้าเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
27-30 มิถุนายน ที่ท่าเรือคลองเตย จังหวัดกรุงเทพฯ

ลงทะเบียนออนไลน์เข้าร่วมงาน “ยืดอายุทะเลไทยกับเรือเอสเพอรันซา” ที่กรุงเทพฯ ได้ที่นี่

มีสิ่งต่างๆ มากมายกำลังเกิดขึ้นในโลกใต้ท้องทะเล และยังมีวิกฤตปัญหาร้ายแรงที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ใต้เกลียวคลื่นสีคราม ซึ่งหากเราไม่ช่วยกันปกป้องรักษาท้องทะเลตั้งแต่ตอนนี้ เราอาจไม่สามารถฟื้นฟูทะเลให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์ได้อีกเลย

ยามที่โลกเจ็บป่วยจากความโลภของมนุษย์จนดูเหมือนจะเกินเยียวยา ยังมีความหวังที่เกิดจากการหลอมรวมจิตวิญญาณจากผู้คนทุกวัฒนธรรมทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียว ถึงเอสเพอรันซาจะเป็นเรือแห่งความหวัง แต่ความหวังอันแท้จริงของมหาสมุทรและทุกสรรพชีวิตบนโลกก็คือ “คุณ” เพราะคุณสามารถร่วมเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลไปพร้อมกับกรีนพีซ พลังของคุณสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยเยียวยาท้องทะเลไทยได้ ก่อนที่ระบบนิเวศทางทะเลจะล่มสลายและปลาจะหมดไปจากทะเล

ร่วมเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลกับกรีนพีซ

//www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/45554/




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2556   
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 7:16:07 น.   
Counter : 945 Pageviews.  


เพราะโลกใบนี้มีท้องทะเลเพียงผืนเดียว

โลกของเรามีมหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่มากถึง 3 ใน 4 ส่วนของพื้นที่ทั้งหมด ภาพของโลกจากอวกาศจึงเป็นเสมือนอัญมณีสีครามที่ส่องประกายสวยงาม ถึงแม้มนุษย์จะแบ่งแยกผืนน้ำตามเขตแดนประเทศ แต่อันที่จริงแล้วทุกทะเลล้วนเชื่อมต่อกัน เป็นทะเลเดียวกัน เป็นมหาสมุทรเดียวกันบนโลกใบนี้ที่ช่วยสนับสนุนค้ำจุนสรรพชีวิตบนโลก และในวันที่ 8 มิถุนายน นี้ ถือเป็นวันมหาสมุทรโลก ที่เราทุกคนจะมาร่วมตระหนักถึงคุณค่าของมหาสมุทรกัน ในช่วงนี้มีข่าวที่น่าตกใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมออกมามากมายเหลือเกิน ล่าสุดคือข่าวของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงทะลุ 400 ส่วนต่อล้านส่วน (พีพีเอ็ม-part per million) ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อันมหาศาลนี้จะสะสมในน้ำทะเลและทำให้น้ำกลายเป็นกรด ส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งหมด ยังไม่รวมถึงการจับปลาเกินขนาดและขาดความรับผิดชอบที่มนุษย์ดำเนินการต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ถึงเวลาที่เราจะตั้งคำถามกับตัวเองแล้วหรือยังว่า เราได้ดูแลทะเลอันเป็นชีวิต  ของเรามากพอหรือยัง

ทะเลอันแสนกว้างใหญ่ของเรากำลังซ่อนความทุกข์ร้อนไว้ใต้ผืนน้ำและเกลียวคลื่น หากมองจากผืนดิน และอาหารทะเลที่เรากินเป็นประจำ คงยากจะรู้ว่ามีพันธุ์สัตว์น้ำใดกำลังสูญหายไปบ้าง การประมงแบบทำลายล้างเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการประมงเกินขนาดนั้นได้เปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อาหารในทะเล และระบบนิเวศทั้งหมด ผลก็คือขณะนี้ปลากำลังหายไปและบางชนิดก็ใกล้สูญพันธุ์เต็มที่ จนในอนาคตอันใกล้เราอาจต้องกินแมงกระพรุนทอดพริก หรือต้มยำแพลงก์ตอนแทนปลาที่เราเคยกินกัน

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมากรีนพีซได้จัดเสวนาภาคประชาสังคมในหัวข้อ “ทะเลเดียวกัน: วิกฤตไทยสู่ทะเลโลก” เพื่อระดมความคิดกู้วิกฤตทะเลไทย โดยหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างเห็นพ้องกันว่า ทะเลไทยเข้าขั้นวิกฤต และจำเป็นต้องหยุดยั้งการประมงแบบทำลายล้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายรัฐที่เอื้อให้การพัฒนากิจการประมงพาณิชย์แบบทำลายล้างที่เป็นไปในทางกอบโกยทรัพยากร และทำลายวิถีชีวิตของประมงพื้นบ้านและชุมชนท้องถิ่น “มูลค่าสัตว์น้ำมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านยังคงรายได้ต่ำ ผลประโยชน์จากท้องทะเลตกอยู่ในมือของกลุ่มนายทุน ซึ่งกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมนี่เองที่ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างจับสัตว์ทะเลที่ไม่ได้ขนาด เพียงเพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ในราคาถูก โดยไม่คำนึงถึง ผลกระทบต่ออนาคตของทะเลไทยที่เป็ นต้นทุนทรัพยากรของคนทั้งประเทศ” บรรจง นะแส ประธานสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว “พลังชุมชนคือสิ่งสำคัญในการลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเล นอกจากนั้นแล้วทะเลมีพลังในการฟื้นตัวทรัพยากรอย่างน่าทึ่ง เพียงแค่กำจัดเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ความอุดมสมบูรณ์จะกลับคืนมา”

การประมงแบบทำลายล้างทำร้ายสัตว์ทะเลวัยอ่อนที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ หากปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้เติบโตจะมีมูลค่าสูงกว่ามาก และการประมงอย่างละโมบนี่เองที่ทำให้ทุกวันนี้ปลาทูที่เรากินกันตัวเล็กลงเรื่อยๆ มีราคาแพง และปลาป่นยิ่งราคาสูงขึ้น เพียงเพราะความเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล ทำให้ทะเลเหลือปลาน้อยลงทุกที “กฏหมายประมงตั้งแต่ปีพ.. 2490 มีความล้าหลังและตามไม่ทันปัญหา อีกทั้งยังมีเรืออวนลากผิดกฏหมายอีกหลายพันลำรอนิรโทษกรรม ตามกฏหมายแล้ว ทะเลและทรัพยากรสัตว์น้ำถือเป็นสมบัติสาธารณะ โดยมีรัฐเป็นผู้บริหารจัดการ แต่ปัจจุบันการจัดการของรัฐยังไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม เรษฐกิจ และสังคมได้ อีกทั้งยังขาดการให้การศึกษาแก่ชุมชน สร้างความรู้ผิดๆ อย่าง ลูกปลาทูเคี้ยวง่าย ทั้งที่เป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวง ถือเป็นการขาดประสิทธิภาพในการใช้กฏหมายโดยตั้งใจ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในวังวนการประมงแบบ "มือใครยาว สาวได้สาวเอา" สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ตัวแทนจากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวเสริม

ผศ. ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาและอุปสรรคในการฟื้นฟูทะเลไทยว่าเกิดจากความเข้าใจผิดของประชาชนบางประการ อาทิ การที่คิดว่าทะเลเป็นเรื่องไกลตัว การคาดไม่ถึงว่าปลาจะหมดทะเลได้ การไม่เข้าใจถึงพลังที่แท้จริงของตนเองว่าสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และการแก้ปัญหาเป็นเรื่องของรัฐ ผลก็คือ การขาดการมีส่วนร่วมและละเมิดสิทธิชุมชนที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ โดยสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน ยังเห็นพ้องด้วยว่า “ทะเลไม่ควรเป็นของใครหรืออุตสาหกรรมใด สิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงคือ การมีส่วนร่วม และการละเมิดสิทธิชุมชน ดังคำกล่าวที่ว่า ทรัพยากรมนุษย์มีพอเพียงสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่ไม่พอเพียงสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว

ชีพจรทะเลกำลังอ่อนแรง การเสื่อมโทรมของทะเลไทยส่งผลกระทบถึงทุกคน โดย ศิรสา กันตรัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวสรุปว่า “ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้าน รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่ล้วนพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเป็ นห่วงโซ่ต่อกัน ถึงเวลาแล้วที่ต้องพัฒนากฏหมายประมงให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อฟื้นฟูทะเลไทย หากเรายังปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเช่นนี้ระบบนิเวศทางทะเลก็จะสูญสลายไป และส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก”

ในวันมหาสมุทรนี้ เรามีภารกิจในการฟื้นฟูทะเลร่วมกัน ยืดอายุแหล่งโปรตีนสำคัญของโลก ปกป้องทะเลจากการแสวงหาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม และรักษามรดกอันล้ำค่านี้ไว้ต่อไปให้ลูกหลานของเรา เพราะการฟื้นฟูเป็นเรื่องของเรา และเป็นอนาคตของเราทุกคน

//www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/45508/




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2556   
Last Update : 13 มิถุนายน 2556 21:42:45 น.   
Counter : 939 Pageviews.  


รวมพลผู้พิทักษ์รักษ์ทะเล ปกป้องทะเลไทยที่กำลังถูกคุกคาม!

มีใครชอบหนีร้อนไปพักผ่อนที่ทะเลบ้าง?  มีคนจำนวนไม่น้อยที่เมื่อสุข เศร้า เหงา ทุกข์ ก็มักจะไปพักกายพักใจที่ทะเล ถ้าหากทะเลอันสวยงามที่คุณเห็นอยู่นี้กำลังมีวิกฤตภัยคุกคามอันแสนสาหัสซ่อนเร้นอยู่ และหากเราไม่ช่วยกันปกป้องตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตเราอาจจะไม่เหลืออาหารทะเล หรือแม้แต่สัตว์น้ำหลงเหลืออยู่ภายใต้เกลียวคลื่นของมหาสมุทรเลยล่ะ ..?

เรามักจะหนีร้อนไปพึ่งทะเล แล้วถ้าทะเลกำลังเดือดร้อนล่ะ จะหนีไปพึ่งใคร

มหาสมุทรสีฟ้าครามอันกว้างใหญ่เป็นที่อยู่ของสรรพชีวิตบนโลกกว่าร้อยละ 80  และระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้โลกเราสามารถดำรงอยู่ได้ และทะเลไทยของเราเองก็ถือว่าเป็นสายเลือดเส้นสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวประมง และเป็นครัวเลี้ยงดูปากท้องของคนไทยรวมทั้งประชากรโลกกว่า 2.6 พันล้านคน แต่ขณะนี้มหาสมุทรและทะเลไทยกำลังประสบวิกฤตปัญหา ปลาในทะเลไทยกำลังจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อุตสาหกรรมการประมงที่ดำเนินการไปในทางทำลายล้างเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ และไม่เอื้อต่อความยั่งยืนของมหาสมุทรกำลังขยายตัวขึ้นอย่างดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด จนทะเลไทยกำลังขาดแคลนปลาและเสี่ยงกับการล่มสลายทางระบบนิเวศเข้าไปทุกที หากยังขาดระบบการจัดการประมงที่นำไปสู่ความความยั่งยืนแล้วนั้น ต่อไปลูกหลานของเราคงจะรู้จักปลาทะเลธรรมชาติเพียงจากคำเล่าขานเท่านั้น

เราจำเป็นต้องปกป้องทะเลของเรามากกว่าที่เคยทำมา เพราะหากปราศจากมหาสมุทร โลกก็ไร้ซึ่งสรรพชีวิต คุณรู้หรือไม่ว่าสิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่มหาศาลของทะเลและมหาสมุทรนั้นไม่เกินจริงไปกว่าคำกล่าวที่ว่า “ทะเลคือชีวิต” เลย

ทะเล คือ บ้านของสรรพชีวิต กว่าร้อยละ 80 ของสรรพชีวิตทั่วโลกล้วนมีถิ่นฐานอยู่ในท้องทะเล มีเพียงร้อยละ 10 ของมหาสมุทรเท่านั้นที่มนุษย์เคยได้เข้าไปสำรวจ  ทว่าร้อยละ 80 ของสัตว์น้ำทั้งหมดกำลังหายไปจากมหาสมุทรอย่างรวดเร็วเนื่องจากการทำประมงแบบทำลายล้าง

ทะเล คือ แหล่งอาหาร ทะเลไทยมีปลามากกว่า 2,000 ชนิด หรือมากถึงร้อยละ 10 ของทั่วโลก  สัตว์น้ำอื่นๆ รวมกันอีก 11,900 ชนิด ทรัพยากรชายฝั่งจึงเป็นขุมทรัพย์ทางธรรมชาติอันมีค่าซึ่งเป็นสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชาวประมง และเป็นครัวเลี้ยงดูปากท้องของคนไทยและมนุษย์กว่า 2.6 พันล้านคน ทั่วทั้งโลก

ทะเล คือ ลมหายใจ ทะเลผลิตออกซิเจนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมากถึงร้อยละ 30 รวมถึงช่วยรักษาสมดุลของภูมิอากาศโลก



นอกจากนี้ประเทศไทยมีทรัพยากรทางทะเลมากเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงชาวไทยและ สามารถส่งออกไปภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้อย่างยั่งยืนหากเราดูแลท้องทะเลและรักษาประโยชน์ร่วมกัน แต่ทะเลไทยกำลังถูกอุตสาหกรรมประมงแบบทำลายล้างตักตวงผลประโยชน์ทำลายมาอย่างยาวนาน

ชีพจรชีวิตท้องทะเลกำลังอ่อนแรงลงทุกที แต่ “คุณ” ยังสามารถช่วยปกป้องท้องทะเลได้ด้วยการเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเล ไม่ใช่เพียงเพื่อชาวไทย แต่เพื่อทุกชีวิตบนโลกที่ต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพราะหากปราศจากมหาสมุทรแล้ว โลกใบนี้ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน หากเราไม่ช่วยกันปกป้องรักษาท้องทะเลตั้งแต่ตอนนี้ เราอาจไม่สามารถฟื้นฟูทะเลให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์ได้อีกเลย

ร่วมลงชื่อเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลกับกรีนพีซ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องแสดงความรักต่อมหาสมุทรและเป็นพลังในการหยุดยั้งอุตสาหกรรมการประมงที่กำลังทำร้ายท้องทะเลไทย เพราะหากเรารวมพลังกันแล้ว เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและเยียวยามหาสมุทรได้ก่อนที่จะสายอย่างแน่นอน

หากรักทะเลจริง มาร่วมกันพิทักษ์รักษ์ทะเลไว้ให้ยั่งยืนนะคะ
//www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/45477/




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2556   
Last Update : 13 มิถุนายน 2556 21:23:23 น.   
Counter : 1226 Pageviews.  


คิดก่อนกิน ช่วยดูแลโลก


5 มิถุนายน 2556


ภาพตัดต่อเพื่อแสดงถึงการบริโภคเนื้อ โดยภาพนี้สื่่อถึงปริมาณบริโภคมาตรฐานต่อคนภายในหนึ่งเดือนของประเทศเยอรมนี ซึ่งคิดเป็นปริมาณเนื้อประเภทต่างๆ และไส้กรอกจำนวน 15 กิโลกรัม และนำมาเสียบเรียงไว้บนรางลูกคิด
ที่ผ่านมาทุกๆ ปี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติจัดให้มีประเด็นรณรงค์ให้คนทั่วโลกใส่ใจและตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และผลักดันให้สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนานั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งสำหรับในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ของปี 2556 นี้นั้น หัวข้อ คือ การบริโภคที่ยั่งยืน

ข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า มีอาหารที่ประชากรโลกกินทิ้งกินขว้างคิดเป็นน้ำหนักราว 1.3 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับน้ำหนักอาหารที่ผลิตจากภูมิภาคใต้ทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาทั้งหมด และในขณะที่เราหลายคนกินทิ้งกินขว้าง ทุกๆ 1 คนใน 7 คนบนโลกยังต้องอดอยากหิวโหย เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 20,000 คน ต้องเสียชีวิตทุกวันจากความอดอยาก

การกินทิ้งกินขว้างในที่นี้รวมถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอดวงจรการผลิตอาหาร ในประเทศกำลังพัฒนาการสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการผลิตที่ต้นทาง ส่วนในประเทศอุตสาหกรรมการสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการบริโภค

คนไทยยังพอโชคดีที่อยู่บนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” และยังพอที่จะพูดได้ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ตราบใดที่สังคมไทยยังเข้มแข็งและคอยดูแลซึ่งกันและกัน แต่จากการที่ประเทศไทยพัฒนาสู่ความเป็นเมือง และมีวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนไปอันเป็นผลมาจากการพัฒนา เราก็ได้พัฒนานิสัยการกินทิ้งขว้างมากขึ้น ผลก็คือ ปริมาณของเสียเพิ่มพูนเป็นภูเขาเลากาจากการผลิตและการบริโภคของเราเอง

แคมเปญในวันสิ่งแวดล้อมโลก “คิดก่อนกิน ช่วยดูแลโลก” จึงต้องการให้เราตระหนักถึงการผลิตและการบริโภคอาหารที่เกี่ยวข้องกับเราตลอด 24 ชั่วโมงและ 365 วัน เพราะการหยุดกินทิ้งกินขว้างนั้นจะเป็นการช่วยยืดชะตากรรมของสิ่งแวดล้อมที่คอยค้ำจุนชีวิตและความอยู่รอดของมนุษย์

การกินของเราจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่มากด้วยประการฉะนี้

เราต้องใช้น้ำ 1 ลิตรในการผลิตนม 1 ลิตร และใช้น้ำ 16,000 ลิตรไปกับการผลิตอาหารป้อนวัวเพื่อเอาเนื้อมาทำแฮมเบอร์เกอร์  1 ชิ้น แน่นอน การทำปศุสัตว์ขนาดใหญ่นั้นเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงมีการสูญเสียทรัพยากรเกิดขึ้นตลอดวงจรของการผลิตอาหาร

ในการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองกับความต้องการของประชากรโลกนั้นต้องใช้พื้นที่ซึ่งสามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้ มากถึงร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั้งหมดบนโลก ใช้น้ำจืดร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมด แผ้วถางพื้นที่ป่าไม้ไปร้อยละ 80 ของป่าไม้ทั้งหมด และมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศร้อยละ 30 อาจกล่าวได้ว่าการผลิตอาหารของโลกเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งเดียวของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

หากเราทุกคนคิดก่อนกิน เลือกอาหารที่เราจะบริโภค อาหารที่ปลอดภัยจากยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง อาหารที่ผลิตในท้องถิ่น ปฏิเสธผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ที่สำคัญ กินแต่พอดี เลิกนิสัยกินทิ้งกินขว้าง นอกจากจะทำให้เราสวย หล่อและฉลาดขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยกันดูแลโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นอีกด้วย




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2556   
Last Update : 13 มิถุนายน 2556 21:12:33 น.   
Counter : 1180 Pageviews.  


ต้นไม้ต้นสุดท้ายหรือฟางเส้นสุดท้าย

สำนักงานของกรีนพีซที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ได้อยู่ท่ามกลางการปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นเวลาสามวันแล้ว โดย  ณ ใจกลางจตุรัสทักซิม ตำรวจกำลังใช้ความรุนแรงในการยุติการชุมนุมอย่างสันติเพื่อต่อต้านการปรับปรุงสวนสาธารณะให้กลายเป็นศูนย์การค้า ที่สวนสาธารณะเกซิ พาร์ค อันเก่าแก่ มีผู้มาร่วมชุมนุมประท้วงหลายหมื่นคน และได้รับการสนับสนุนจากผู้คนทั่วโลก

การชุมนุมได้ดำเนินการมาเป็นวันที่สามและสถานการณ์สงบลงบ้างหลังจากที่ตำรวจได้ถอนกำลังบางส่วนออกจากเกซิ พาร์คและแก๊สน้ำตาได้เบาบางลงแล้ว อย่างไรก็ตาม นายเรเซป ตอยิบ เอร์โดแกน นายกรัฐมนตรีของตุรกี ยังคงยืนยันแผนการที่จะทำลายสวนสาธารณะดังเดิม และเพิกเฉยต่อการชุมนุมเรียกร้องอย่างสงบ ถึงแม้จะยอมรับว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดที่ใช้กำลังในการปราบปรามการประท้วง เป็นสัญญาณที่บอกมาว่าสถานการณ์ยังไม่ยุติลงง่ายๆ

ในช่วงสองวันที่ผ่านมา ตำรวจได้ระดมฉีดแก๊สน้ำตาที่ทางเข้าของอาคารสำนักงานและบนหลังคา ทั้งๆ ที่เราทุกคนไม่ได้มาก่อการร้าย เราทุกคนไม่ใช้ความรุนแรง และเรามอบความช่วยเหลือด้านการพยาบาลให้กับผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ๊บ รวมถึงตำรวจที่มีการป้องกันตัวเป็นอย่างดีที่อาจได้รับบาดเจ็บด้วย

ผู้คนจำนวนมากได้เดินทางจากทุกเมืองของตุรกีไปยังจตุรัสทักซิม และยังมีการรวมตัวในที่อื่นๆ ของประเทศ รวมถึงทั่วโลกอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อบอกว่า “เราอยู่เคียงข้างเกซิ” และ “เรากำลังเฝ้าดูอยู่และหวาดกลัวกับความรุนแรงของรัฐบาลเป็นอย่างมาก”

การชุมนุมเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อต้นไม้ในสวนสาธารณะเล็กๆ หรือโครงการก่อสร้างศูนย์การค้า แต่แสดงถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่ปรารถนาพื้นที่สีเขียวหย่อมสุดท้าย มากกว่าการผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดของห้างสรรพสินค้าโดยรอบ

รัฐบาลของตุรกีใช้ความรุนแรงปราบปรามการประท้วงของผู้ชุมนุมอย่างสันติ โดยมีการยิงแก๊สน้ำตา ใช้ปืนกระสุนยาง และสเปรย์พริกไทย จนทำให้ผู้มาประท้วงได้รับบาดเจ็บนับพันคน และเป็นชนวนการประท้วงขับไล่รัฐบาล และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศตุรกี เป็นการต่อสู้เพื่อการเรียกร้องอย่างสันติ การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่ควรมาก่อนผลประโยชน์ทางการค้าของผู้มีอำนาจทางการเงินและความละโมบโลภมากอันไม่มีที่สิ้นสุด



มีประเด็นปัญหาอื่นๆ อีกมากที่เป็นข้อกังขาในนายกรัฐมนตรี นายเรเซป ตอยิบ เอร์โดแกน กับการให้ความสำคัญของเสรีภาพพลเมือง และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่กำลังถูกบดบังภายใต้ “หมอกควันของสงคราม” ที่เกิดขึ้นจากแก๊สน้ำตาที่ปกคลุมทั่วจตุรัสทักซิม

เสรีภาพทางการพูด และสิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมโดยสงบ เป็นเสรีภาพที่ประชาชนควรได้รับการคุ้มครองตามระบอบประชาธิปไตย และสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ควรได้รับการเคารพโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลของตุรกี การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมนั้นต้องยุติโดยทันที!

ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากสำนักงานกรีนพีซที่อิสตันบูลเต็มไปด้วยความห่วงใยและความภาคภูมิใจ ทีมงาน ผู้สนับสนุน และอาสาสมัครของกรีนพีซ ต่างยืนหยัดอยู่เคียงข้างผู้ชุมนุมเพื่อปกป้องสวนสาธารณะ และเรียกร้องให้ตำรวจยุติการใช้ความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง

 สำนักงานของกรีนพีซตั้งอยู่ที่ถนนอิสติคลัล ซึ่งถนนสายหลักนั้นมุ่งตรงไปยังจตุรัสทักซิม ห่างเพียงหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น ผู้ชุมนุมมากันเป็นจำนวนมากยาวไปทั่วทั้งถนน และเราได้พบเห็นเหตุการณ์การปะทะของตำรวจและผู้ประท้วง  โดยตรงใต้อาคารสำนักงาน มีการยิงแก๊สน้ำตา และใช้ปีนฉีดน้ำ การเดินทางเข้าออกสำนักงานไม่สามารถทำได้เลยเพราะอากาศนั้นเต็มไปด้วยพิษของแก๊สน้ำตา

สำนักงานของเราได้เปิดตลอดทั้งคืน และยังคงเปิดช่วยเหลือทุกคนอยู่ตราบใดที่การชุมนุมยังไม่สงบ เราคอยรับผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและอ่อนล้ามารักษา เราคอยมอบที่หลบภัยจากพายุสงคราม การปฐมพยาบาลให้กับผู้บาดเจ็บ มีแพทย์มาร่วมช่วยเหลือเราและคอยดูแลรักษาผู้บาดเจ็บด้วย ถึงสถานการณ์จะตึงเครียดและอาสาสมัครทุกคนต่างทุ่มเทช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ผมประหลาดใจกับการที่เครือข่ายสื่อสารมวลชนในประเทศตุรกีที่ไม่สามารถเผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุม และเป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่รัฐบาลนั้นเซนเซอร์การสื่อสารของประเทศ แต่สำหรับสื่อสังคมออนไลน์ และการสื่อสารของประชาชนปากต่อปากนั้นมีการเผยแพร่ข่าวสารกันอย่างทั่วถึง ประชาชนกำลังจับตามองและประนามเจ้าหน้าที่รัฐบาล ทั้งรูปภาพ วิดีโอ และข้อความทวิตเตอร์กำลังได้รับการเผยแพร่ทั่วอินเตอร์เนต สำนักงานและบริษัทต่างๆ หลายร้อยแห่งในกรุงอิสตันบูลได้ร่วมใจกันเปิดให้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต Wifi สำหรับประชาชนทั่วไป เป็นการเย้ยหยันประเทศที่ปิดกั้นข่าวสาร เป็นการชดเชยที่การสื่อสารทางโทรศัพท์ถูกปิดกั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนรายงานข่าวสารสิ่งที่ตนเห็น และทีมงานของเราในตุรกีก็กำลังอัพเดตความเคลื่อนไหวผ่านทางเฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ เช่นกัน

เราหวังว่าทีมงาน ผู้สนับสนุน และอาสาสมัครของกรีนพีซจะปลอดภัยกันทุกคน และเรายังคอยให้การสนับสนุนการเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทุกประการ ในเวลาเช่นนี้เป็นเวลาที่เราจะนำคุณค่าหลักขององค์กรมาใช้ คือ สันติภาพ การไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นประจักษ์พยาน และการลงมือปฏิบัติ

ถึงนายกรัฐมนตรี นายเรเซป ตอยิบ เอร์โดแกน ผมขอเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงตั้งแต่บัดนี้ และเปิดช่องทางให้สื่อสารมวลชนพูดคุยได้อย่างอิสระถึงประเด็นปัญหานี้ โลกกำลังเฝ้ามองคุณอยู่ เราได้ยินว่านายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเขาควรจะทำเช่นนั้นกับประเทศบ้านเกิดของคนเองเช่นกัน เราต้องการให้เขาหยุดการใช้แก๊สน้ำตา ปีนกระสุนยาง และความป่าเถื่อนทั้งหลายทั้งมวล ไม่มีผู้ใดปรารถนาความรุนแรง

เราขอส่งใจไปอยู่เคียงข้างประชาชนในกรุงอิสตันบูล และประเทศตุรกีทุกคน รวมถึงอยากขอร้องให้ทุกคนสนใจปัญหานี้ ติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้น และเปล่งเสียงเรียกร้องให้หยุดยั้งความรุนแรง ให้สวนสาธารณะยังคงอยู่ และยกระดับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

ติดตามคูมิ ไนดูได้ทาง ทวิตเตอร์ และเฟสบุ๊ค

มิถุนายน 3, 2556 ที่ 18:59




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2556   
Last Update : 13 มิถุนายน 2556 20:55:55 น.   
Counter : 1357 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com