กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

เศรษฐกิจพอเพียงฟื้นผืนดินไทยด้วยภูมิพลังแผ่นดิน



เขียน โดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้



“ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้ทุกคนทุกประเทศในโลกจึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์” 

-- พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ไม่ว่าแสงแดดจะแผดกล้า ไม่ว่าจะฝนตกฟ้าร้อง หุบเขาสูงอันห่างไกลหรือที่ลุ่มที่ดอน ทุกที่ที่แร้นแค้นพ่อจะเสด็จไป นำมาศึกษาหาทางแก้ไขเพื่อพสกนิกรด้วยความเอาใจใส่ ความรัก และเมตตา ความอุดมสมบูรณ์และความเป็นอยู่ของประเทศไทยที่อยู่ดีกินดี 

นานาโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นประดุจดังแสงประทีปส่องทางให้กับประเทศไทย ชี้นำให้ประเทศไทยอยู่อย่างพอเพียง แต่อยู่ดีกินดี อย่างมีความสุขบนความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่านซึ่งเป็นสิ่งที่ประยุกต์จากเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การปลูกพืชผสมผสาน มีการขุดสระน้ำ เพื่อเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ผลิตเพื่อตนเองและผลิตเพื่อขาย เป็นการบริหารจัดการดิน น้ำ และทรัพยากรอย่างยั่งยืน สามารถทำการเกษตรได้ทั้งยามฝนและยามแล้ง ทั้งช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ และสร้างรายได้ผลผลิตทางการเกษตรโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ดังตอนหนึ่งของพระราชดำริที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจากวารสารชัยพัฒนา)

หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาบนทางสายกลาง

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง พอดี พอมี พอใช้ และการรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ ประชาชนชาวไทยเริ่มรู้จักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อ พ.ศ.2517 เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัส ชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า 30 ปี และเริ่มมีอิทธิพลต่อชาวไทยในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในยุคฟองสบู่แตก ปีพ.ศ.2540 แต่ในพุทธศักราชปัจจุบันก็ยังเป็นแนวคิดที่ไม่เคยล้าสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมกำลังเสื่อมโทรมและหมดไปเนื่องจากการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างเกินขนาดในปัจจุบัน

การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการตัดสินใจ และการกระทำ ซึ่งนี่คือหลักการที่อิงตามหลักธรรมชาติ ไม่เบียดเบียน นอกเหนือจากการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเองด้วยความพอเพียงแล้ว หัวใจสำคัญ คือการยึดถือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม 


“พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย  ถ้าทุกประเทศมีความคิด “อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ” มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข  พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น  ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง” 

-- พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541 

แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเหมือนรากแก้วของชีวิตคนไทยไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตในชนบทหรือในเมือง เพียงแต่ไม่หลงลืมทางสายกลาง และรากแก้วนี้เองคือรากฐานสำคัญในการเติบโตอย่างมั่นคงของต้นไม้จากภูมิพลังของแผ่นดิน ตลอดมา และตลอดไป


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/57718




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2559   
Last Update : 17 ตุลาคม 2559 10:38:23 น.   
Counter : 820 Pageviews.  


กลับคำเสีย เปลี่ยนจากทำลายเป็นโอบกอดเจ้าพระยา



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

กลับคำได้ไหม? ก่อนที่เจ้าพระยาจะเป็นอื่น

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาลที่ถูกอ้าง ว่ามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันของคนในสังคมให้สามารถเข้าถึงแม่น้ำนั้น กลับมีคำตอบที่เป็นทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวอย่าง “ทางเลียบแม่น้ำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนกับความเป็นธรรม เนื่องจากเป็นโครงการที่เร่งรัด และไม่ฟังข้อกังวลของประชาชนและทุกภาคส่วนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในวันนี้ (9 ตุลาคม 2559) ประชาชนกว่า 400 คนได้มารวมตัวกันอีกครั้งทั้งทางบกและทางเรือเพื่อแสดงความรักต่อแม่น้ำเจ้าพระยาในกิจกรรม “โอบกอดเจ้าพระยาด้วยความรัก - Hug the River” ณ สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ เพื่อปกป้องสายน้ำสำคัญของประเทศไว้ด้วยมือของเรา

ณ ริมน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ได้จารึกวันประวัติศาสตร์อีกหนึ่งวัน ที่ผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา และชุมชนมารวมตัวกันมากว่า 400 คน บ้างก็นั่งเรือ บ้างก็ปั่นจักรยานมาร่วมงาน ทุกคนมารวมตัวกันด้วยใจรักต้องการปกป้องสายน้ำสายสำคัญของประเทศไทยท่ามกลางสายฝน แต่ดูเหมือนว่าสายฝนและสายน้ำจะทำให้คนที่อยู่ใกล้ ๆ กันอบอุ่นขึ้น บรรยากาศของงานแม้จะเปียกปอนแต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า ประชาชนที่มาในวันนี้มาด้วยใจรักที่ต้องการปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแท้จริง 

กิจกรรมดำเนินไปด้วยการขับเสภาริมน้ำอันทรงพลัง โดย วิชชาจารย์ณัฏฐกฤษฎิ อกนิษฐ์ธาดา แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นสายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ที่รวมผืนแผ่นดินไทยไว้ตั้งแต่ในอดีต ท่อนหนึ่งในบทเสภากล่าวว่า “เห็นแม่น้ำเป็นแค่น้ำเท่านั้นหรือ แล้วน้ำคือสิ่งใดกันแน่ ทั้งที่กินอาบใช้อยู่แท้ๆ ยิ่งเป็นแม่แห่งน้ำยิ่งสำคัญ” ลำน้ำหลักของประเทศ ประเทศของเราจะเป็นอย่างไรในภาคหน้า หากโครงการนี้เกิดขึ้น โครงการนี้สร้างความกังวลให้กับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่คนริมน้ำ แต่ยังมีความกังวลจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ กลุ่มสถาปนิก ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคประชาชน และแม้แต่กรมเจ้าท่ากับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำเนื่องจากระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบก่อนเริ่มโครงการมีเพียง 7 เดือน กับงบประมาณมหาศาล 14,000 ล้านบาท ซึ่งดูเป็นการเร่งรัดผลักดันของรัฐบาลเกินไปกับการเดินหน้าโครงการนี้โดยที่ยังละเลยข้อกังวลของประชาชน

ขอบคุณทุกพลังฮักเจ้าพระยา #HugtheRiver9 ตุลาคม 2559 วันประวัติศาสตร์ที่หยดน้ำจากหลากหลายสาขาอาชีพ หลายกลุ่มคน หลายชุมช...

Posted by Friends of the River on Sunday, October 9, 2016

เจ้าพระยาคือสายเลือดสายหลักของประเทศ และเต็มเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ที่สรรสร้างวัฒนธรรม ในวันเดียวกันนี้ เรือศิลปินได้แล่นไปตามระยะ 14 กิโลเมตร ของโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรังสรรค์งานศิลป์สะท้อนความกังวลต่อโครงการที่จะมาทำลายจิตวิญญาณของแม่น้ำสายสำคัญนี้ คุณศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในเจ้าของผลงานศิลป์บนเรือ กล่าวว่า "ถ้ารัฐบาล ประกาศจะฟื้นฟูคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งระบบ ฟื้นฟูคูคลองเท่าที่ทำได้ ผมว่าเสียงตอบรับจะเต็มไปหมด แต่โจทย์มันยากต้องใช้งานวิชาการ งานบริหาร การมีส่วนร่วมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบเอาเสาคอนกรีตปักรุกแม่น้ำ เอาขยะชิ้นใหม่ ไปถมทับปัญหาคุณภาพแย่เต็มทีของแม่น้ำที่เต็มแย่อยู่แล้ว รัฐบาลสนใจหรือเปล่า? "


กลุ่มสมัชชาแม่น้ำได้แถลงการณ์และแสดงจุดยืนว่า การสร้างทางเลียบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำลายแม่น้ำให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อวิถีชีวิตของชุมชน วัฒนธรรม และสร้างความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางน้ำทั้งต่อน้ำและปลายน้ำ  “ทางเลียบแม่น้ำนี้ทำมาจากจุดยืนของอะไร เวลาที่รัฐบาลทำในสิ่งที่ประชาชนไม่อยากได้ ผมขอถามว่าทำไปทำไม สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องตอบให้ได้ รัฐบาลอยู่ได้ด้วยภาษีของเราทุกคน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะทำในสิ่งที่ไม่ได้มาจากจุดยืนของประชาชนไม่ได้ การมารวมตัวของพวกเราในวันนี้ถือเป็นทางออกทางหนึ่งในวันที่การแสดงออกทางความคิดเห็นถูกจำกัด สิ่งที่เราทำวันนี้ส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาล หน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นประชาชนคือพูด แม้ว่าเขาจะไม่อยากให้เราพูด ถึงเขาจะไม่อยากฟัง” คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ตัวแทนกลุ่มสถาปนิก กล่าว

“บางทีผมก็สงสัยว่าการทำทางเลียบเจ้าพระยาที่อ้างว่าสำหรับนักปั่นนี้ นักปั่นต้องการจริงหรือเปล่า เคยได้ถามเสียงจากนักปั่นจริงหรือเปล่า ผมลองคิดดูว่าสิ่งที่เราต้องการมากกว่าทางเลียบ 14 กิโลเมตร คือการจัดการแม่น้ำทั้งเส้นหรือเปล่า เรายังไม่เคยแก้ปัญหาเหล่านั้นแต่กลับเอาทางจักรยานมาโปะเพิ่ม เราเห็นต่างประเทศเขามีทางจักรยานสวย ๆ แต่เอามาแค่เปลือก ไม่ได้เอาแก่นมา เมืองที่มีอายุกว่าสองร้อยปีอย่างกรุงเทพฯ เขาไม่ได้ทำกันและทำลายความเก่าแก่ของเมือง แต่ทำทางจักรยานที่เส้นทางชานเมือง ไม่มีเมืองไหนที่มีทางริมจักรยานริมน้ำขนาดใหญ่เอาไว้กลางเมือง” ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day กล่าวถึงหนึ่งในจุดประสงค์ที่ผิดพลาดของทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงให้ข้อคิดเสนอแนะว่า “ถ้าโครงการนี้ต้องการทำให้ผู้ใช้จักรยานมีเส้นทางสัญจรบรรยากาศดีๆ ความยาว 14 กิโลเมตร มันมีวิธีที่ง่ายกว่าสร้างทางเลียบแม่น้ำ ดูตัวอย่างได้จาก เส้นทางริมแม่น้ำเทมส์ในลอนดอนจากบิ๊กเบนไปกรีนิช ความยาวราวๆ 12 กิโลเมตร และเส้นทางริมแม่น้ำซานในอัมสเตอร์ดัมจาก Eye Film Museum ไปทุ่งกังหัน Zaanse Schans ความยาวราว ๆ 16 กิโลเมตร ทั้งสองเมืองนี้แค่อนุญาตให้เอาจักรยานขึ้นเรือได้ แค่นี้ก็ไม่ต้องสร้างทางจักรยานแล้ว แต่บ้านเราเรือด่วนเจ้าพระยาไม่อนุญาตให้เอาจักรยานขึ้น (ยกเว้นรถพับ) แค่เราเปลี่ยนกฎ หรือหาพื้นที่จอดจักรยานที่เหมาะสมบนเรือ หรือเอางบประมาณที่จะสร้างทางเลียบแม่น้ำ ไปพัฒนาระบบเรือขนส่งให้ตอบสนองการใช้งานของคนทุกกลุ่มจริงๆ ก็น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า”


“ผมชอบเมืองโบราณของเรา มากจนกระทั่งอยากมีชีวิตเมื่อร้อยปีที่แล้ว แม่น้ำมีไว้เพื่อเรือไม่ใช่เพื่อรถ การที่เราจะสร้างทางเลียบแม่น้ำจะเป็นการบล็อกทิวทัศน์สิ่งที่ผมรัก ผมยังห่วงการใช้ชีวิตของชุมชน ความเป็นไทย และการที่จะสร้างจะทำลายสิ่งเหล่านี้ เงินมหาศาลตรงนี้สามารถช่วยตรงอื่นได้มากกว่า เสียดายที่เขาจะทำลายวัฒนธรรมของเราไป เราสามารถหันมาแก้ไขปัญหาขยะที่เป็นอยู่ และหันมาใส่ใจกับปัญหาของสังคมที่มีอยู่ในขณะนี้ให้มากกว่าเดิม” คุณน้อย วงพรู  กล่าว

ขอบคุณทุกสายฝนและสายน้ำที่หลอมรวมใจของทุกคนให้มาปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ ขอบคุณทุกพลังฮักแม่น้ำทั้งที่มาร่วมงานและส่งใจมา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนมัสยิดบางอ้อ, ชุมชนบ้านปูน, ชุมชนบางลำพู และชุมชนวัดสามพระยา คุณสุรจิต ชิรเวทย์ อดีต สว. สมุทรสงคราม ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง, ผศ.ดร.จาริต ติงศภัทย์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม, ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีตสส.เขตบางพลัด, คุณฐาพัช อำไพจิตร์ ตัวแทนชุมชนบ้านปูน,  คุณสุวัฒน์ นันทนสิริวิกรม สถาปนิกจิตอาสา, คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก, คุณทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day, อาจารย์ศรินพร พุ่มมณี และพันธมิตรจากลุ่มน้ำต่างๆ เช่น ลุ่มน้ำแม่กลอง, ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำสุพรรณ

ขอบคุณคุณเอก เรือยอดสยาม ที่ล่องพางานศิลป์งดงามจาก อ.หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ, อ.วสันต์ สิทธิเขตต์, อ.ครองศักดิ์ จุฬามรกต แห่งพิพิธภัณฑ์แม่ ร่วมด้วยกลุ่ม Bangkok Sketchers กลุ่มปั้นเมือง เครือข่ายศิลปินรักแม่น้ำเจ้าพระยา และภาพวาดในมุมมองนักอนุรักษ์ อย่าง อ.ศศิน เฉลิมลาภ, อ ขวัญสรวง อติโพธิ, ภาพวาด Graffiti สวยจากคุณ A sin Abi Alex Face และ Jecks มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขอบคุณศิลปินซีไรท์ ดอกเตอร์จิระนันท์ พิตรปรีชา ให้เกียรติมาอ่านบทกวี รวมถึง วิชชาจารย์ณัฏฐกฤษฏิ์ อกนิษฐ์ธาดา (เสภา อาเซี่ยน สถาพร) และการขับกล่อมเสภาไพเราะคลอสายฝน ขอบคุณศิลปินนักร้องทุกท่าน ได้แก่ คุณประสาร มฤคพิทักษ์ คุณกฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา อดีตวงบัตเตอร์ฟลายและกัมปะนี คุณสุกี้ สุโกสล และ คุณน้อย วงพรู คุณเป๊ก บลูสกาย น้องเนิร์ส The Voice และชัยบูลส์ ที่มาขับร้องบทเพลง ขอบคุณคณะกลองยาว และแตรวง บทความจาก อ.ขวัญสรวง อติโพธิ 

การโอบกอดเจ้าพระยา #HugtheRiver ในวันนี้ คือการแสดงพลังว่าเราไม่ต้องการทางเลียบแม่น้ำ #RiverNotRoad แต่ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องหยุดเร่งรัดผลักดันโครงการทางเลียบเจ้าพระยา และหันมารับฟังเสียงและข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านต่าง ๆ เพื่อทางออกร่วมกันของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/57690




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2559   
Last Update : 13 ตุลาคม 2559 15:35:01 น.   
Counter : 10394 Pageviews.  


ฝุ่นพิษ PM2.5 ทำไมใครก็ว่าร้าย?



แม้จะเล็กเกินว่าที่ตาเราสามารถมองเห็น แต่ฝุ่นพิษขนาดเล็กไม่เกิน2.5ไมครอน  ( PM2.5) คือภัยที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนไทย ลองไปทำความรู้จักกับฝุ่นพิษ PM2.5 ว่าคืออะไร และร้ายกาจอย่างไร

อ่านเรื่องราวของแก๊งค์ปิศาจฝุ่นได้ที่นี่

โดยทั่วไปฝุ่นละอองนั้นมีอยู่ในธรรมชาติ เช่น เกสรดอกไม้ ละอองดินทราย และฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรม การคมนาคม การเผาในที่โล่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานฟอลซิล ฝุ่นละอองขนาดใหญ่จะถูกกรองโดยขนจมูก แต่ฝุ่นพิษขนาดเล็ก PM2.5 นั้น สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูก เข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างง่ายดาย

PM2.5 คืออะไร และทำไมจึงสามารถก่อมะเร็ง

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน คือ มลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ กล่าวคือ เล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ และมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด (5 ไมครอน) ดังนั้นฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ ฝุ่นมีลักษณะที่ขรุขระคล้ายสำลี ฝุ่นเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

ฝุ่นขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นตามแรงดึงดูดของโลก แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5ไมครอน (PM2.5) จะสามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานและปะปนกับมลพิษอื่นในอากาศ หากปะทะเข้าจมูกหรือปาก ฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่านี้บางส่วนถูกขับออกมาเป็นเสมหะและสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็งหากสะสมอยู่ในอวัยวะใดนาน ๆ จากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 รายต่อปี 

PM2.5 มาจากไหน?

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มาจากการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า การผลิตของภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมจากแหล่งที่อยู่อาศัยและธุรกิจการค้า และการเผาในที่โล่ง แบ่งได้เป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรงและฝุ่นที่เกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดๆ ก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) เป็นต้น ในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลก(WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง

ฝุ่นพิษขนาด PM2.5 คือภัยร้ายที่มองไม่เห็น มลพิษทางอากาศไม่ควรเป็นต้นทุนชีวิตที่ประชาชนต้องแลก กรมควบคุมมลพิษสามารถปกป้องชีวิตของคนไทยได้ ด้วยการลดปัญหามลพิษจากผู้ก่อมลพิษทั้งจากการเผาในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินเดิมที่กำลังเดินเครื่องอยู่ด้วยการกำหนดมาตรการการวัด PM2.5 ที่ปลายปล่อง ประกอบกับใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI)เพื่อความแม่นยำในการระบุผลกระทบต่อสุขภาพและแนวทางป้องกัน นี่คือทางออกทางเดียวที่จะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ว่าอากาศในพื้นที่ที่เราอยู่นั้นมีมลพิษและอันตรายมากน้อยเพียงใด

ร่วมเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) ที่นี่

#RightToCleanAir #ขออากาศดีคืนมา

ที่มา: //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25/blog/57660/




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2559   
Last Update : 7 ตุลาคม 2559 14:57:48 น.   
Counter : 2105 Pageviews.  


วิ่งรณรงค์ขออากาศดีคืนมา ที่เชียงใหม่



"หากคุณสูญเสียศรัทธาในความเป็นมนุษย์ ลองออกมาดูการวิ่งมาราธอน" Kathrine Switzer

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา เราได้เห็นพลังจากงานมาราธอนอีกครั้ง กับงานวิ่งรณรงค์ “Run for Clean Air ขออากาศดีคืนมา” สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ที่นักวิ่งกว่า 800 คน มารวมตัวกันแต่เช้าตรู่ เพื่อออกวิ่งท่ามกลางอากาศดี ๆ ของเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์ปกป้องอากาศบริสุทธิ์และสุขภาพของเรา

ต้องขอขอบคุณนักวิ่งจากหลายจังหวัดที่เดินทางมาร่วมวิ่งในวันนี้ ทั้งเยาวชน ผู้ใหญ่ ชาวต่างชาติ หรือแม้แต่คุณแม่ที่วิ่งพร้อมรถเข็นลูก ขอบคุณตัวแทนจากกลุ่มเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ ตัวเเทนจังหวัดเชียงใหม่ พี่นิคม พุทธา จากกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำปิงตอนบน สถาบันการพละศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่ร่วม 100 อย่างน้อยพลังเหล่านี้ คือ เสียงหนึ่งเปล่งออกมาว่า เราต้องการให้เชียงใหม่มีอากาศดี ไม่ถูกคุกคามจากมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่นพิษ PM2.5

ในวันนี้ นอกจากการวิ่งรณรงค์ไปตามเส้นทางที่สวยงามนอกตัวเมืองของจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เหล่านักวิ่งยังได้ทำความรู้จักกับความร้ายกาจของฝุ่นพิษ PM2.5

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีที่มาจากภาคการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมการผลิต ที่อยู่อาศัย ธุรกิจการค้า และการเผาในที่โล่ง แบ่งได้เป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรงและฝุ่นที่เกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน ในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลก(WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง

นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นในเขตเมืองอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษต้องนำค่าเฉลี่ย PM 2.5 มาคำนวณในการวัดดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย เพื่อสะท้อนคุณภาพอากาศที่แท้จริงเพราะประชาชนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดและการป้องกันตัวเองจากมลพิษทางอากาศซึ่งมาจากสิทธิขั้นพื้นฐานการรับข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน”

ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งระยะ 5 หรือ 10 กิโลเมตร ปณิธานในการปกป้องสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศในวันนี้ ได้ถูกส่งต่อไปยังจังหวัดขอนแก่นแล้ว กับการฝากผ่านธงแห่งความหวังไปยังคุณศิริกัลยา โพธิ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จังหวัดขอนแก่น และเราจะมาพบกันอีกครั้งกับงานวิ่งรณรงค์ "Run for Clean Air ขออากาศดีคืนมา” ในวันที่ 16 ตุลาคม นี้ ที่ขอนแก่น

เพราะอากาศบริสุทธิ์ คือสิทธิพื้นฐานของเราทุกคน

ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศได้ที่นี่






 

Create Date : 05 ตุลาคม 2559   
Last Update : 5 ตุลาคม 2559 10:51:32 น.   
Counter : 1317 Pageviews.  


Run for Clean Air วิ่งรณรงค์ "ขออากาศดีคืนมา"



Run for Clean Air

วิ่งรณรงค์ "ขออากาศดีคืนมา"

มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่เล็กเกินมองเห็น แต่เป็นปัญหาใหญ่เกินมองข้าม




หมอกควันพิษจากการเผาในที่โล่ง การคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม และและการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ ต้นเหตุของฝุ่นพิษขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนไทย นี่คือเหตุผลที่กรีนพีซทำกิจกรรมรณรงค์วิ่งเพื่อสุขภาพ “Run for Clean Air ขออากาศดีคืนมา” เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศมากขึ้น ใน 3 หัวเมืองใหญ่ 3 จังหวัด ใน 3 ภูมิภาค คือ เมืองเชียงใหม่ เมืองขอนแก่น และเมืองหาดใหญ่ เพื่อเป็นการรณรงค์ เผยแพร่ ตระหนักถึงภัยจากมลพิษ เข้าใจสาเหตุของปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันผลักดันและลงมือทำเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น หากไม่มีการนำฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5ไมครอนเข้ามาคำนวนดัชนีคุณภาพอากาศ เราจะมองไม่เห็นและไม่รู้อะไรเลยว่ามลพิษทางอากาศมีมากแค่ไหน มาตรฐานในการตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกใช้นั้นจึงเป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI)

ตรวจสอบการโอนเงินและรายชื่อผู้สมัครได้ที่นี่

วันจัดงาน - สถานที่

3 สนาม 3 จังหวัด

สนามที่ 1. เชียงใหม่
วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2559
จุดเริ่มต้นและเส้นชัย : สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี

สนามที่ 2. ขอนแก่น
วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2559
จุดเริ่มต้นและเส้นชัย : สวนสาธารณะ บึงแก่นนคร

สนามที่ 3. สงขลา (หาดใหญ่)
วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2559
จุดเริ่มต้นและเส้นชัย : สนามกีฬาจิระนคร เทศบาลนครหาดใหญ่

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของทุกคน
  2. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลักดันให้กรมควบคุมมลพิษนำค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน มาใช้คำนวนดัชนีคุณภาพอากาศมาตรฐานของไทย
  3. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและสิทธิของการเข้าถึงอากาศทีสะอาด

ระยะทางวิ่งและค่าสมัคร

Mini Marathon : 10 กิโลเมตร ค่าสมัคร 300 บาท
Fun Run : 5 กิโลเมตร ค่าสมัคร 300 บาท

ประเภทการแข่งขันและการแบ่งกลุ่มอายุการแข่งขัน โปรดดูรายละเอียดในใบสมัคร รับสมัครจำนวนจำกัด

รางวัลและของที่ระลึก

  • นักวิ่งที่ชนะการแข่งขัน อันดับ 1-5 มินิมาราธอน 10 กม. ทุกกลุ่มอายุ ชาย/หญิง จะได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ
  • นักวิ่งที่เข้าเส้นชัย อันดับ 1-5 โอเวอร์ออล มินิมาราธอน 10 กม. ชาย และหญิง จะได้รับเงินรางวัล 4,000/3,000/2,000/1,500/1,500 บาท *(หักภาษี ณ ที่จ่าย 3%)
  • นักวิ่งที่เข้าถึงเส้นชัยทุกคน จะได้รับเหรียญผู้พิชิต
  • ผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมทุกคน จะได้รับเสื้อที่ระลึกท่านละ 1 ตัว
  • ถ้วยรางวัลนักวิ่งแฟนซี 5 รางวัล ในแนวคิด “ขออากาศดีคืนมา”

การรับเสื้อที่ระลึกและเบอร์วิ่ง

ผู้สมัครต้องนำบัตรประชาชนและสำเนาใบโอนเงินค่าสมัคร หรืออีเมล จาก PayPal  ไปติดต่อขอรับเสื้อ-เบอร์วิ่ง ได้ ณ สถานที่จัดการแข่งขัน

สนามที่ 1. เชียงใหม่
วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2559 เวลา 13.00-18.00 น. หรือ 
วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2559 เวลา 04.30-05.50 น.

สนามที่ 2. ขอนแก่น
วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2559 เวลา 13.00-18.00 น. หรือ
วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2559 เวลา 04.30-05.50 น.

สนามที่ 3. สงขลา (หาดใหญ่)
วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกยน 2559 เวลา 13.00-18.00 น. หรือ
วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2559 เวลา 04.30-05.50 น.

สิ่งอำนวยความสะดวก

  • รถสุขาเคลื่อนที่
  • รถพยาบาลเคลื่อนที่
  •  จุดรับฝากของ
  • บูธอาหารหลังวิ่งเสร็จ
  • จุดน้ำดื่มในเส้นทางวิ่ง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โทร: 086-391-8434, 081-498-9865

สมัครออนไลน์ได้ที่นี่
ตรวจสอบการโอนเงินและรายชื่อผู้สมัครได้ที่นี่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ร่วมเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษปกป้องสุขภาพของเราจากฝุ่นพิษและมลพิษทางอากาศ ลงชื่อที่นี่

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/Right-To-Clean-Air/Run-for-Clean-Air




 

Create Date : 20 กันยายน 2559   
Last Update : 20 กันยายน 2559 11:57:35 น.   
Counter : 1321 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com