กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

นายใหญ่จากเคเอฟซีจะออกเมนูเป็นเนื้อไก่อย่างที่เราต้องการ หรือจะเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มไก่

เมื่อไม่นานมานี้เคเอฟซีได้เพิ่มคำแถลงการณ์ในเว็บไซท์ เรื่อง “การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งที่มาที่ยั่งยืน และการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่” (Sustainable Sourcing and Waste Recovery) ซึ่งดูแล้วหากมีการดำเนินการต่ออย่างเหมาะสม ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเคเอฟซีในการตอบโต้กับการรณรงค์ที่มีคนจำนวนนับแสนเรียกร้องให้คณะผู้บริหารเคเอฟซียุติการเดินหน้าทำลายป่าฝนเขตร้อน

กลุ่มคณะผู้บริหารเคเอฟซีนั่งอยู่บนถังเคเอฟซีขนาดยักษ์โพสต์ท่าสไตล์สนุกสนาน ขณะกรีนพีซกำลังเรียกร้องให้คณะผู้บริหารเคเอฟซีร่วมลงมืออย่างจริงจังในการปกป้องป่าฝนเขตร้อน  ภาพจาก คอร์บิส/ เกรก ซีกัลกลุ่มคณะผู้บริหารเคเอฟซีนั่งอยู่บนถังเคเอฟซีขนาดยักษ์โพสต์ท่าสไตล์ สนุกสนาน ขณะกรีนพีซกำลังเรียกร้องให้คณะผู้บริหารเคเอฟซีร่วมลงมืออย่างจริงจังในการ ปกป้องป่าฝนเขตร้อน
ภาพจาก คอร์บิส/ เกรก ซีกัล

นับเป็นเวลานานมากกว่าจะได้รับการตอบกลับใดๆ จากเคเอฟซี กว่าสองปีแล้วที่กรีนพีซได้พยายามผลักดันบริษัทด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่การส่งจดหมาย แล้วตามด้วยการตีพิมพ์ผลการตรวจสอบการจัดหาสินค้าและวัตถุดิบ และล่าสุดคือการเปิดตัวการรณรงค์สาธารณะ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการตอบโต้ใดๆจากเคเอฟซี สำนักงานใหญ่ถึงรายละเอียดว่าทางบริษัทจะจัดการกับปัญหาที่เรากล่าวถึงนี้อย่างไร คำแถลงการณ์บางส่วนแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยเคเอฟซีก็ยอมรับฟัง แต่หากยังไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้บริโภคจำนวนกว่าสิบล้านคนและกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทถึงทิศทางของเคเอฟซีว่าจะยึดมั่นกับนโยบายหยุดการทำลายป่าไม้ของโลกหรือไม่ ก็เป็นการยากที่จะรู้ได้ว่าแท้ที่จริงแล้วคำพูดของเคเอฟซีเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มไก่เท่านั้น หรือเป็นเนื้อไก่ของจริงที่ป่าไม้และบรรดาเสือต้องการ คำตอบที่เราต้องการคือ เคเอฟซีจะยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากบริษัทอย่าง Asia Pulp and Paper (APP) (เอพีพี) ซึ่งจะยังคงเดินหน้าทำลายป่าฝนเขตร้อนอันเป็นถิ่นที่อยู่ของเสือต่อไป เพื่อทำการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ส่งออกไปในหลายประเทศ

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเร่งกดดันกับหนึ่งในผู้บริหารเคเอฟซี อย่าง ซีอีโอ เดวิด โนวัค โดยตรง

โนวัคมีประวัติในการเมินเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายครั้ง ในการประชุมสามัญประจำปีของบริษัทยัม! ในปี 2012 โนวัคเคยให้คำมั่นสัญญาต่อหน้าคณะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นว่าจะมีการพบปะพูดคุยกับองค์กรเอ็นจีโออีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งมีการรณรงค์ในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเดียวกันนี้ แต่ก่อนหน้าวันนัดหมายเพียงไม่กี่วัน ยัม! กลับบอกกับองค์กรนั้นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพบปะพูดคุยกัน

นอกจากนี้โนวัคยังคงเดินหน้าเพิกเฉยกับผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า อย่างเช่น น้ำมันปาล์มเป็นต้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับมติในที่ประชุมสามัญประจำปีในปี 2011 ซึ่งโดยเสียงส่วนใหญ่จากสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นลงมติให้บริษัทยัม! ต้องยึดมั่นกับการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ผลิตขึ้นอย่างยั่งยืน อันจะทำให้บริษัทยัม! ก้าวขึ้นเท่าทันกับบริษัทอาหารอื่นๆ อาทิเช่น แมคโดนัลด์ได้

โนวัคเป็นกูรูด้านความเป็นผู้นำในสไตล์ของตนเอง และสามารถพบเขาได้บ่อยครั้งบนท้องถนนคอยโปรโมทหนังสือของตัวเองเรื่อง “พาผู้คนไปพร้อมกับคุณ หนทางเดียวที่จะทำเรื่องใหญ่ให้สำเร็จได้” แต่โนวัคจะอ้างว่าตนเองเป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มตัวได้อย่างไร หากเขายังคงปิดประตูไม่รับฟังความคิดเห็น ข้อวิพากษ์วิจารน์ต่างๆ และไม่สามารถจัดการกับประเด็นเรื่องความยั่งยืนที่สำคัญนี้ได้

มาร่วมกันโน้มน้าวให้โนวัคก้าวออกมายืนหยัดรับความท้าทายนี้ด้วยการส่งอีเมลไปยังคณะผู้บริหารใหญ่ของยัม!  กลุ่มคนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่โนวัคไม่อาจเพิกเฉยได้

เคเอฟซีได้เริ่มออกมาแสดงความสนใจบ้างแล้ว ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะเรียกร้องให้คณะผู้บริหารของเคเอฟซีออกมาช่วยโน้มน้าวให้ซีอีโอ เดวิด โนวัค ยุติสายสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์อาหารเคเอฟซีกับการตัดไม้ทำลายป่าฝนเขตร้อนอย่างถาวร

รถขุดเจาะกำลังถางป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย ไม่ใช่การกระทำเพื่อความสนุกสนานแต่เป็นการทำลายป่าอย่างแท้จริง โดยเมื่อเดือนที่แล้วมีการพบการถางป่าในพื้นที่ปลูกป่า ซึ่งรถขุดเจาะนั้นเป็นของบริษัท PT Asia Tani Persada ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาบรรจุภัณฑ์ในเครือบริษัท Asia Pulp and Paper (APP) (เอพีพี)รถขุดเจาะกำลังถางป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย นี่ไม่ใช่การกระทำเพื่อความสนุกสนานแต่เป็นการทำลายป่าอย่างแท้จริง โดยเมื่อเดือนที่แล้วมีการพบการถางป่าในพื้นที่ป่าปลูก โดยรถขุดเจาะนั้นเป็นของบริษัท PT Asia Tani Persada ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาบรรจุภัณฑ์ในเครือบริษัท Asia Pulp and Paper (APP) (เอพีพี) นั่นเอง




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2555   
Last Update : 29 ตุลาคม 2555 8:17:21 น.   
Counter : 1723 Pageviews.  


ยุคที่สองของการรณรงค์ออนไลน์ (Global Campaining 2.0)

“Clicktivism” หรือปฏิบัติการออนไลน์ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมผ่านทางสังคมออนไลน์ได้มาถึงจุดที่รุ่งเรืองสูงสุดในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญของโลกดิจิตอลสำหรับการแสดงพลังมวลชน หรือ “Power of We” เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา การที่มัลคอล์ม แกลดเวลล์  ได้ปลดผู้ประสานงานกิจกรรมออนไลน์ผู้ที่ไม่สามารถรวบรวมรายชื่อได้ตามต้องการเป็นสิ่งที่ฮือฮามาก และเขาเป็นผู้ให้คำนิยามว่า การแบ่งปันข้อมูล การคำนึงถึงการรวบรวมคนและทางแก้ไขปัญหา เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ Campaigning 2.0

จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ทกว่า 2,000 ล้านคนในปัจจุบัน ทุกวินาทีจะมีคนที่หันมาใช้งานอินเตอร์เน็ทเพิ่มขึ้นอีก 8 คน โดยประมาณแล้วมีผู้ใช้งานเฟสบุ๊คประมาณ 1,000 ล้านคน ซึ่งแต่ละคนต่างกดไลค์ กดแชร์ พูดคุย ให้ข้อมูล และตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กรีนพีซเองก็ไม่ได้นับจำนวนผู้สนับสนุนเฉพาะเพียงแค่ผู้ที่ร่วมบริจาคทางการเงินอีกต่อไป แต่แนวคิดของเราได้ปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับเปิดรับแนวคิดพลังมวลชน หรือ “Power of We” โดยมีคนจำนวนหลายล้านที่รวมกันเป็นกลุ่มของ “เรา” นั่นแหละคือผู้สนับสนุนกรีนพีซ พวกเราประกอบไปด้วย ผู้ประสานงาน ผู้บริจาค แฟนเฟสบุ๊ค ผู้ติดตามทวิตเตอร์ นักกิจกรรมออน ไลน์ นักกิจกรรมชุมชน และเพื่อนบล็อกเกอร์ทั้งหลาย

ในวัน Blog Action Day ซึ่งเป็นวันที่บล็อกเกอร์ทั่วทั้งโลกจะร่วมกันเขียนและอัพบล็อกในหัวข้อเดียวกัน ทางกรีนพีซได้เปิดให้ทุกคนสามารถใช้วิดีโอและรูปภาพจำนวนกว่า 150,000 รูปเพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ในบล็อกของตนได้ (ขั้นตอนและเงื่อนไขการใช้งานวิดีโอและรูปภาพจำนวน 150,000 รูป)

หากว่าการดูวิดีโอและรูปภาพจำนวน 150,000 รูปนั้นฟังดูเยอะเกินไป คุณสามารถเข้าไปดูภาพที่คัดเลือกมาแล้วจำนวน 59 รูป ที่สามารถสื่อความเป็น “Power of We” ตามหัวข้อวัน Blog Action Day ได้อย่างดี

วัน Blog Action Day เป็นวันที่ถือเป็นกิจกรรมระดับโลกซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการใช้เครื่องมือดิจิตอลอย่างบล็อก เครือข่ายสังคมออนไลน์ และอุปกรณ์ไร้สาย เป็นกิจกรรมออนไลน์ที่พาทุกคนมาเจอกันทั้งในโลกออนไลน์ ตามจุดนัดพบ อาจเป็นในบ้านของใครสักคน หรือแม้แต่ตามท้องถนน เป็นการร่วมฉลองงานรณรงค์เพื่อให้เกิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงและเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจอีกมากมาย สามารถเข้าไปอ่านบล็อกและเรื่องราวน่าประทับใจของกิจกรรมพลังมวลชนต่างๆ ได้ที่ //blogactionday.org/ หรือสามารถติดตามบล็อก Making Waves ของกรีนพีซสากล รวมถึงอัพเดตกับบล็อก ของกรีนพีซประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน


คูมิ ไนดู

คูมิ ไนดู เกิดในปีค.ศ. 1965 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการกรีนพีซสากลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 2009

ติดตามคูมิบนเฟสบุ๊คได้ที่ www.facebook.com/NaidooKumi

ข้อมูลการโพสบล็อกตามเวลาจริง




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2555   
Last Update : 17 ตุลาคม 2555 16:15:56 น.   
Counter : 2257 Pageviews.  


อ่าวทองคำคือชีวิต

ปลาจากอ่าวทองคำ

“ออกทะเลจับปูได้กินปู ลงอวนปลาได้กินปลา เราภูมิใจที่คนท่าศาลาสามารถเลี้ยงชาวนครศรีธรรมราช และคนไทยได้ทั้งประเทศ รวมถึงยังมีการส่งออกกั้งอาหารทะเลโด่งดังไปทั่วโลก” สุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวทองคำ อำเภอท่าศาลาและสิชล ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ผลิตอาหารที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน สิงคโปร์ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทรัพยากรอันเปรียบเสมือนปากท้องของไทยและครัวของโลกนี้ สมควรแล้วหรือที่จะล่มสลายไปเพราะอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก

รวมพลคนกินปลาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ชาวนครศรีธรรมราชกว่า 5,000คน ได้รวมตัวกันจัดงาน “รวมพลคนกินปลา” ประกาศศักยภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชายฝั่งท่าศาลา ที่ชาวบ้านเรียกว่า “อ่าวทองคำ” เพื่อประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น “พื้นที่คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร” และจะร่วมกันรักษาพื้นที่ 30 กิโลเมตรจากชายฝั่งให้พ้นจากอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก โดยมีกรีนพีซสนับสนุนและยืนอยู่ข้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับการเคลื่อนไหวของชุมชนเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาได้พึ่งพาอาศัย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนท่าศาลาเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมพลังงาน แต่การเปลี่ยนความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวทองคำเป็นพลังงานสกปรกนั้นเป็นเสมือนการทุบหม้อข้าวตนเองทำลายแหล่งอาหารสำคัญของโลก

อ่าวทองคำมีความพิเศษของระบบนิเวศเฉพาะที่สร้างสรรค์สัตว์น้ำนานาชนิด มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของอ่าวไทย โดยวิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวว่า ”อ่าวทองคำเป็นพื้นที่ติดกับเทือกเขาหลวง ซึ่งมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำหลายสายพัดพาตะกอนแร่ธาตุสู่อ่าวทองคำ เกิดเป็นตะกอนปากแม่น้ำซึ่งเป็นอาหารทางธรรมชาติของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังมีทิศทางลมแปดทิศ คือ เมื่อลมปะทะเทือกเขาหลวงจะพัดย้อนกลับ ทำให้กระแสน้ำมีการเปลี่ยนทิศทางจนสามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี”

อ่าวทองคำ มีพื้นที่ติดชายทะเล 4 ตำบลซึ่งให้ผลผลิตทางการประมงมากที่สุดในประเทศ ชาวประมงในท้องถิ่นนั้นต่างจับปลาด้วยวิธีอนุรักษ์และมีจิตสำนึก มีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากร และศึกษาวิจัยเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน โดยประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักวิจัยท้องถิ่นเครือข่ายปกป้องพื้นที่การผลิตอาหารนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ปลาคือชีวิตของคนในพื้นที่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมประชาชนต้องการรักษาพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ตรงนี้ มากกว่าร้อยละ 60 ของประชาชนในพื้นอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาการทำมาหากินจากท้องทะเล สามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดถึง 300 ล้านบาทต่อปี และสามารถสร้างงานให้กับคนพื้นที่ได้ถึง 5,000 คน

รวมพลคนกินปลานี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอท่าศาลาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ประชาชนท้องถิ่นจำนวนนับหมื่นได้มีการเดินขบวนประท้วงเพื่อหยุดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะ​เลภาค​ใต้ (Southern Seaboard) และส่งผลให้โครงการดังกล่าวหยุดชะงัก อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกขนาดใหญ่อื่นๆในพื้นที่อีกครั้งด้วยการสนับสนุนกลุ่มพลังงานยักษ์ใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนเข้ามาเจาะความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ทุกรูปแบบ ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดลงของสัตว์น้ำ การสูญเสียพื้นที่สาธารณะจากการกัดเซาะชายฝั่ง มลพิษทางน้ำที่เกิดจากการเดินเรือขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านได้รวมกันอีกครั้งเพื่อผลักดันให้เกิดการประกาศให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ “คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร” และค้านโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะ​เลภาค​ใต้ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงงานสกปรกทุกรูปแบบ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์อันเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย

อุตสาหกรรมพลังงานสกปรกไม่ใช่คำตอบที่ชาวบ้านในพื้นที่อ่าวทองคำต้องการ รัฐบาลไทยควรยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกทุกรูปแบบและหันมาให้ความสำคัญกับพัฒนาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น การพัฒนาพลังงานลม โดยผลการศึกษาพบว่าบริเวณอ่าวทองคำมีศักยภาพในการผลิตพลังงานลมได้อย่างน้อย 1,150 เมกะวัตต์ ไม่มีสิ่งใดมีค่ามากพอจะทำลายแหล่งอาหารของประชาชนทั้งประเทศ และทะเลอันเป็นชีวิตของคนภาคใต้ ดังที่มนิตย์ หาญกล้า ชาวบ้านหน้าทับ อ.ท่าศาลา กล่าวไว้ว่า “ทะเลคือบ้าน เราต่อสู้กันมาอย่างนานเพื่อรักษาทะเลด้วยหัวใจ เพราะทะเลคือทุกสิ่งทุกอย่างของเรา ถ้าทะเลเกิดมลพิษก็หมายถึงพวกเราถูกฆ่าให้ตายนั่นเอง”




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2555   
Last Update : 1 ตุลาคม 2555 14:53:04 น.   
Counter : 1812 Pageviews.  


Car Free Day ลดรถ ลดโลกร้อนกับกฏหมายพลังงานหมุนเวียน

รถยนต์หนึ่งคันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตรที่รถวิ่ง ลองคิดดูสิว่าหากมีรถยนต์บนท้องถนน 100 คันวิ่งในระยะทาง 20 กิโลเมตร จะเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้มากมายสักเพียงไร แต่ในทางกลับกัน หากเราร่วมลดการใช้ลดกันคนละคัน โลกของเราจะมีอากาศสดใสขึ้นเพียงไร



ในวันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวัน Car Free Day ซึ่งมีการถือปฏิบัติกันทั่วโลกเป็นการร่วมมือกันของทุกภาคทุกฝ่ายรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหันมาใช้รถขนส่งมวลชน รถจักรยาน หรือการเดินเท้ามากขึ้น ซึ่งกรีนพีซได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย โดยกิจกรรมในวันนี้เป็นการลดปัญหาโลกร้อนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกับการลดการผลิตมลพิษโดยตรงจากภาคพลังงานและภาคการขนส่งที่เป็นต้นตอของปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด และยังเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนรูปแบบที่เราผลิตพลังงานและขับเคลื่อนเอง ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เรียกได้ว่าผู้ขับขี่จักรยานเป็นอีกกำลังหนึ่งที่กำหนดอนาคตพลังงานหมุนเวียนของประเทศ และเป็นพลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนกฎหมายพลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทยที่ทางกรีนพีซกำลังผลักดันให้เกิดขึ้น

กิจกรรมได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 06.00 น. ที่ผ่านมา โดยขบวนรถจักรยานกว่าหนึ่งหมื่นคันปั่นมุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นจุดรวมตัวใหญ่ เพื่อจัดขบวนจักรยานธงไตรรงค์ที่ยาวที่สุดในโลก ร่วมร้องเพลงชาติพร้อมกันทั่วประเทศอีก 76 จังหวัด ซึ่งจัดกิจกรรมรณรงค์ในท้องถิ่นของตนเอง แล้วจึงเคลื่อนขบวนวนถนนราชดำเนิน สนามหลวง ศรีอยุธยา พญาไท พระราม4 และสวนลุมพินี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานบนท้องถนนในกรุงเทพฯ

หากคำนึงถึงปริมาณรถยนต์บนท้องถนนแล้ว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนยอดขายรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2555 โดยรถยนต์มียอดขาย 867,703 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ในระยะเวลาเดียวกัน ถึงร้อยละ 48.6 ซึ่งเฉพาะภายในประเทศของเดือนสิงหาคม 2555 มียอดขายทั้งสิ้น 129,509 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 63.9 โดยข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่าในปี 2554 ท่ีผ่านมาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 6,000 ตันต่อวัน หรือ 2.2 ล้านตันต่อปี อันเป็นผลมาจากปริมาณการใช้น้ำมันรวม 25,897 ล้านลิตรต่อปี โดยเฉลี่ยแล้วรถทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 66,968,781 ล้านตัน

จากข้อมูลตรงนี้จะเห็นถึงตัวเลขที่น่ากลัวของก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากรถยนต์ในแต่ละปีอย่างชัดเจน นอกจากจะเป็นผลเสียทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างประเมินค่าไม่ได้ ในวัน Car Free Day นี้จึงเป็นวันที่ใช้จักรยานเป็นสื่อรณรงค์ให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลต้นเหตุของมลพิษ ในการนี้ นายมงคล วิจะระณะ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย ให้ความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพฯ ควรจะเป็นเมืองที่เอื้อต่อการขับขี่ด้วยจักรยานและรถยนต์สาธารณะซึ่งจะเป็นทางหนึ่ง ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ และปัญหาการจราจรได้

นายมงคล วิจะระณะ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย "เมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีประชากรแออัดคล้ายกับกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งเคยมีปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมสูงมาก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองจักรยานที่สามารถลดปัญหาจราจรได้ถึงร้อยละ 30 ถือเป็นเมืองต้นแบบที่กรุงเทพฯเองสามารถปฏิบัติตามได้" นายมงคลเสนอเพิ่มเติม "ทั้งนี้เส้นทางรัชดาภิเษกรอบในระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร น่าจะเป็นทางจักรยานที่ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นเส้นทางวงกลมที่ล้อมรอบเมือง ผู้ที่มาจากชานเมืองสามารถใช้จักรยานแล้วเดินทางไปรอบเมืองได้โดยง่าย เป็นเรื่องที่ทางสมาคมต้องการเสนอความคิดเห็นต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยกลุ่มชาวจักรยานและชาวกรุงเทพมหานครควรจะเริ่มจากการเลือกผู้ว่าฯ ที่ให้การสนับสนุนด้านทางจักรยาน สวนสาธารณะ การยกระดับชีวิตของคนในเมืองเพื่อแก้ปัญหามลพิษและการใช้พลังงานของประเทศไทย"

นอกจากกิจกรรมการปั่นจักรยานรอบเมืองแล้ว ชาวนักปั่นและสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทยยังมาร่วมปั่นเพื่อสนับสนุนเสียงการผลักดันร่างกฏหมายพลังงานหมุนเวียนฉบับแรก ของกรีนพีซอีกด้วย ทำให้เราขยับเข้าใกล้ความสำเร็จขึ้นอีกนิด ซึ่งทางนายมงคลให้ความคิดเห็นกับกฎหมายพลังงานหมุนเวียนว่าจะเป็นจริงได้ต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกภาคทุกฝ่าย "ที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐต้องใช้อำนาจรัฐที่ได้งบประมาณจากภาษีประชาชนมาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังต้องเอื้อผลกำไรที่เหมาะสมต่อนายทุน เนื่องจากต้องการร่วมมือจากนายทุนให้เกิดการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่พึ่งพาพลังงานสะอาดโดยไม่คำนึงถึงการค้าน้ำมัน ส่วนประชาชนต้องเข้าใจสิทธิเสรีภาพของตนเองในการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศไทย"

หากประเทศไทยมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาบังคับใช้แล้วจะเป็นการเปิดช่องทางอีกช่องทางหนึ่งให้เราสามารถลงมือทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างจริงจัง แต่การที่จะทำให้สังคมไทยเอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้นั้น ภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันรณรงค์และส่งเสริมอย่างจริงจัง ปรับปรุงการจราจรที่ยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนให้เมืองใหญ่เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ อากาศสดใส สูดหายใจได้อย่างเต็มปอด อนาคตสีเขียวจะเกิดขึ้นจริงได้ต้องเริ่มจากที่ตัวคุณเอง เดินไปช้อปปิ้งใกล้บ้านครั้งต่อไปหันมาเดินหรือใช้จักรยานกันนะคะ การรณรงค์เพื่อสนับสนุนกฎหมายพลังงานหมุนเวียนฉบับเเรกของไทยยังไม่จบเท่านี้ ก้าวต่อไปคือกลุ่มชุมชนพลังงานซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสกปรกโดยตรง




 

Create Date : 24 กันยายน 2555   
Last Update : 24 กันยายน 2555 9:38:55 น.   
Counter : 2533 Pageviews.  


ชุมชนคลองสำโรง ชุมชนเข้มแข็งผู้ปกป้องสายน้ำเจ้าพระยา

People living at Samrong canel

น้ำ...เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต วีถีชีวิต ชุมชน และวัฒนธรรม น้ำ...ยังเป็นทรัพยากรส่วนรวม ที่ทุกคนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่สถานการณ์น้ำในประเทศไทยขณะนี้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต แม่น้ำสายหลักของประเทศไทยและลำคลองส่วนใหญ่ในพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมกลับเป็นแหล่งรองรับน้ำเสีย จากที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ วันนี้สายน้ำส่วนใหญ่เป็นเพียงทางระบายของเสียผ่านสู่ทะเล ภาพการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในพื้นที่เมืองแทบไม่เหลือให้เห็นมากนัก

คลองสำโรงเป็นหนึ่งของลำคลองในพื้นที่เมือง มีชุมชนหนาแน่นและโรงงานอุตสาหกรรมตลอดริมคลองที่ยาวถึง 55 กิโลเมตร ตัดผ่านระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง เดิมทีคลองสำโรงใสสะอาด มีความอุดมสมบูรณ์มาก ชุมชนต่างใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งอาหาร และเส้นทางคมนาคมหลัก แต่คลองสำโรงก็เริ่มเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา คลองสำโรงตอนต้นซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดสมุทรปราการเป็นบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นมากที่สุด จากการตรวจสอบเมื่อปี พ.ศ.2553 พบว่ามีการปนเปื้อนจากโลหะหนัก สารรบกวนฮอร์โมน และสารก่อมะเร็งในคลองสำโรงและตะกอนดิน โดยมีค่าสูงกว่าระดับ “การปนเปื้อนอย่างร้ายแรง” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความล้มเหลวของมาตรการควบคุมมลพิษและปกป้องแหล่งน้ำของประเทศ

แต่ความเสื่อมโทรมของคลองสำโรงก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปตลอด 55 กิโลเมตร หากเราล่องไปตามคลองขึ้นไปทางฝั่งแม่น้ำบางปะกง จะพบว่าคลองสำโรงตอนกลางกลับมีสภาพน้ำที่สะอาดขึ้นเล็กน้อย และก็พอที่จะทำให้ชุมชนใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เราสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุใดน้ำในคลองสายเดียวกันถึงมีสภาพที่แตกต่างกันมากถึงเพียงนี้

ยามรัฐไร้ประสิทธิภาพ ชุมชนจึงลุกขึ้นปกป้องสายน้ำ

แม้มีการพูดเป็นอย่างดีจากหน่วยงานรัฐถึงการปฏิบัติงานปกป้องแหล่งน้ำ แต่ก็ยังดูไม่มีกระบวนการที่เห็นเป็นรูปธรรม คลองสำโรงตอนต้นจึงยังคงประสบปัญหามลพิษทางน้ำจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ประชาชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปกป้องลำคลองอันเป็นบ้านและแหล่งอาชีพของชุมชนเพื่อไม่ให้กลายเป็นสายน้ำแห่งสารพิษ จึงเป็นผลทำให้ที่คลองสำโรงตอนกลางยังมีสภาพน้ำที่ดูใสสะอาดและสามารถนำน้ำในลำคลองมาใช้ในการอุปโภคได้ มีการทำเกษตรกรรม ยึดอาชีพริมคลองด้วยการปลูกผักบุ้ง ผักกระเฉด และจับปลามาขาย อีกทั้งยังปกป้องลำคลองด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประเพณีการเดินทางไปสักการะหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากชุมชนมัวแต่หวังรอการดูแลฟื้นฟูจากรัฐบาลและละเลยการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในชุมชน

มาร่วมเรียนรู้ชุมชนคลองสำโรงแห่งนี้เพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลสายเลือดหลักของชุมชนที่เข้มแข็ง ในการสร้างจิตสำนึกถึงถึงความรับผิดชอบของคนทุกคนต่อสายน้ำ พวกเขามีกระบวนการปกป้องสายน้ำของชุมชนอย่างไร พร้อมกับร่วมรักษ์สายน้ำไปกับพวกเขาใน การเสวนาภายในงานคืนชีวิตสู่ลำคลอง คืนสายน้ำสู่ชุมชน วันที่ 20 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ เวลา 8.30-13.00 น. ณ กลางตลาดโบราณบางพลี คลองสำโรง วัดบางพลีใหญ่ สมุทรปราการ โดยมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านปราชญ์ชุมชนและเยาวชนเพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์อนุรักษ์แม่น้ำคูคลอง พร้อมกับส่งสัญญาณให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนเร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ

ทว่าเพียงแค่พลังชุมชนที่เข้มแข็งหรือจะสามารถต้านทานศัตรูที่คร่าชีวิตอย่างมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่นับวันถูกปล่อยเพิ่มมากขึ้นๆ อย่างไร้กฏระเบียบข้อบังคับได้อีกนานสักแค่ไหน การต่อสู้กับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อปกป้องแม่น้ำไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อปราศจากการช่วยเหลือของอำนาจรัฐ ถึงเวลาที่รัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องให้ข้อมูลที่โปร่งใส  กรมควบคุมมลพิษต้องนำระบบการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่แหล่งน้ำ (PRTRs) โดยไม่ปล่อยให้ชุมชนเป็นผู้ต่อสู้กับมลพิษที่ตนไม่ได้ก่ออยู่ฝ่ายเดียว เพื่อให้การร่วมมือปกป้องสายน้ำที่เข้มแข็งของชุมชนไม่สูญเปล่า ทั้งยังเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับทุกชุมชนในการพิทักษ์สิทธิและปกป้องสายน้ำอันเป็นพื้นที่ชีวิตของตนต่อไป




 

Create Date : 19 กันยายน 2555   
Last Update : 19 กันยายน 2555 10:34:08 น.   
Counter : 1903 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com