กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

โลกแห่งพลังงานหมุนเวียนในมหกรรมพลังงาน

ในวันที่ 27 ก.พ. – 1 มี.ค. 57 ได้มีการจัดงานมหกรรมพลังงานขึ้น ที่ จ.กาญจนบุรี ผม มังกร ในฐานะอาสาสมัคร กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมกับกรีนพีชในงานนี้ด้วยครับ ซึ่งในวันดังกล่าวเราได้ไปแนะนำเกี่ยวกับ กฎหมายพลังงานหมุนเวียน ที่เราได้รวบรวมรายชื่อพี่น้องชาวไทย เพื่อผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยในงานมหกรรมพลังงานครั้งนี้ เป็นเหมือนการนำนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีการคิดค้นและนำมาใช้โดยกลุ่มเครือข่ายโดยวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งในส่วนใหญ่เป็นการพึ่งพาตนเอง โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง  เก็บเกี่ยวพลังงานหมุนเวียนที่มีในธรรมชาติอย่างไม่สิ้นสุดมาใช้ ซึ่งทำให้เห็นว่า การทำกิจวัตรประจำวันของเรา สามารถทำได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเลย เช่น การใช้เตาจากเชื้อเพลิงชีวมวล การหมักแก๊สชีวภาพจากเศษอาหารในครัวเรือน การใช้กังหันพลังงานลมเพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม การปลูกผักไร้ดินโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี และการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น

⁞⁞⁞⁞

นอกจากการแสดงนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังมีเวทีกลางที่เป็นเวทีที่ใช้แสดงความคิดเห็น หาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับผลงานนวัตกรรมชิ้นต่างๆ ของกลุ่มพี่น้องเครือข่าย ซึ่งเวทีนี้ทำให้เห็นว่ามีกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานคิดค้นนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนอยู่จริง และทำให้เกิดความสามัคคีต่อกลุ่มเครือข่าย ที่จะช่วยกันผลักดันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อโลกของเราต่อไป

ในช่วงเย็นของกิจกรรมวันที่ 27 ก.พ. นั้น ทางผู้จัดได้จัดกิจกรรมขึ้นโดยให้กลุ่มต่างๆที่มาร่วมงาน จับสลากหมายเลขเตาพลังงานหมุนเวียนชนิดต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารมื้อเย็นจำนวน 5 รายการอาหาร ซึ่งรวมถึงการหุงข้าวด้วย เตาของกลุ่ม กรีนพีชฯ ที่เราจับสลากได้คือ เตาแก๊สชีวมวล ของคุณลุง พนม ธรรมวิชัยพันธ์ จากกลุ่ม ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ บ้านดอนผิงแดด จ.เพชรบุรี ซึ่งครั้งแรกที่รู้ว่าได้เตาของคุณลุง ก็หาข้อมูลว่าต้องใช้เชื้อเพลิงชนิดใด ก็หาข้อมูลด้านเชื้อเพลิงอย่างเดียว คำตอบที่ได้รับคือ ฟืนแห้ง กิ่งไม้แห้ง ที่มีบริเวณใกล้เคียง และผมก็ได้อาสาเป็นคนประกอบอาหารจากเตาดังกล่าว ด้วยความที่มั่นใจในวิชาลูกเสือที่มี คิดว่าไม่น่าจะเกินความสามารถ ( แอบมั่นใจตัวเองสูงไปหน่อยครับ ) เมื่อถึงเวลาที่เริ่มปรุงอาหารก็เริ่มจุดเตา รายการอาหารได้แก่ ทอดมันปลา ผัดผักรวมใส่หมู ต้มฟักไก่ ต้มผักจิ้มน้ำพริก และหุงข้าว รายการแรกที่เริ่มทำคือ ทอดมันปลา เพราะน่าจะง่ายที่สุด ความร้อนที่ได้จากเตามากพอที่จะทำให้ทอดมันสุกได้โดยง่าย จากการกระหน่ำใส่ฟืนตามหลักของวิชาลูกเสือซึ่งหากไฟลุกแล้วให้ใส่ฟืนใหญ่ได้เลยจะทำให้ไฟอยู่ได้นาน และเมื่อทอดมันเสร็จแล้วก็ต่อด้วยผัดผักรวม ถึงตอนนี้ไฟจากเตายังให้ความร้อนได้ดีอยู่ อาจจะต้องลงไปนอนเป่าลมเพื่อให้ไฟแรงขึ้นบ้าง แต่ผัดผักก็เสร็จได้บริบูรณ์ รายการต่อไปคือการต้มน้ำ เพื่อต้มผักจิ้มน้ำพริก ถึงตอนนี้ไฟเริ่มเบา เพราะฟืนที่เราหามาได้นั้นยังไม่แห้งสนิทดี ซึ่งฟืนยังมีความชื้นอยู่ด้วย ความเข้าใจที่ว่าวิชาลูกเสือจะใช้ได้ผลกับเตานี้ ถึงตอนนี้รู้แล้วว่าเป็นความเชื่อที่ผิด แต่ก็ยังดีที่คุณลุงพนม เจ้าของนวัตกรรมเตาดังกล่าว มาบอกว่า ใส่ฟืนมากเกินไป และฟืนยังมีความชื้นอยู่ คุณลุงได้นำฟืนแห้งมาให้และช่วยดูไฟจนต้มผักสุก และคุณลุงก็ทิ้งชะตากรรมการทำอาหารให้ตกเป็นของพวกเราต่อไป

รายการต่อไปคือต้มฟักไก่ ถึงตอนนี้ความมั่นใจไม่เท่ากับในช่วงแรกแล้ว เพราะฟืนที่คิดว่ามีมากพอ ตอนนี้รู้สึกได้แล้วว่าไม่พอ และเหลือแต่ฟืนที่มีความชื้นสูง จึงทำให้ต้มน้ำไม่เดือดสักที เลยต้องลงไปนอนเป่าไฟอีกครั้ง เพื่อให้ไฟแรงขึ้น แต่ก็ไม่แรงพอที่จะทำให้น้ำร้อนได้ จนคุณฯ “พ่ออู๊ด” เจ้าของนวัตกรรม เตาแกลบมหาชน มาสะกิดและบอกผมว่า “เลิกเป่าได้แล้วพ่อหนุ่ม อายเขา” จากนั้นก็บอกให้เดินตามแกไป เพื่อนำเตาของแก ซึ่งใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง มาต้มฟักจนสุก และก็หมดเวลาประกอบอาหารพอดี ซึ่งเรายังไม่ได้หุงข้าวเลย จากนั้นก็นำอาหารที่ปรุงเสร็จของแต่ละกลุ่มไปวางเป็นกองกลาง เพื่อรับประทานร่วมกับพี่น้องเครือข่าย และรับฟังความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม ที่ได้นำเตาแต่ละชนิดไปใช้ เป็นอย่างไรกันบ้าง จากนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกัน บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ทั้งๆที่ผมไม่เคยรู้จักพี่น้องเครือข่ายฯ ทุกท่านมาก่อนเลย แต่ก็รู้สึกถึงความเอ็นดูที่พี่น้องมีต่อเราเป็นอย่างมากครับ

วันที่ 28 ก.พ. หลังจากที่ได้รับบทเรียนจากมื้อเย็นมาแล้ว ว่าหากมีอุปกรณ์อย่างเดียว แต่ไม่มีความเข้าใจในการใช้งาน ก็จะทำให้เตาไม่มีศักยภาพเพียงพอในการให้ความร้อน ผมจึงได้หาโอกาสไปคุยกับคุณลุงพนม ซึ่งทำให้ทราบถึงหลักการทำงานของเตาดังกล่าว ว่า เตาทำงานโดยระบบแก๊สเชื้อเพลิงชีวมวลแบบอากาศไหลขึ้น โดยความร้อนที่ได้จะทำปฏิกิริยาต่อเนื่องอื่นๆ ให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็ง กลายเป็นแก๊สเชื้อเพลิง เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) แก๊สไฮโดรเจน(H2) และแก๊สมีเธน (CH4) เป็นต้น ซึ่งการจะให้เกิดเป็นแก๊สต่างๆได้นั้น ต้องค่อยๆใส่ฟืน และรอให้ควันจากการเผาไหม้นั้นลอยเข้าไปสะสมให้ห้องเผาไหม้ของเตาจากรูซึ่งเจาะไว้ด้านล่าง เมื่อควันในห้องเผาไหม้มากพอและสะสมจนเป็นแก๊สก็จะลอยออกมาให้เชื้อเพลิงแก่เปลวไฟ จากรูซึ่งเจาะไว้ด้านบน ซึ่งไฟจะมีคุณภาพพอในการทำอาหาร จึงทำให้ตัวผมเองรู้ว่าการทะนง ในความรู้วิชาลูกเสือที่มีนั้น ไม่ได้เป็นผลดีเลยจริงๆ

นอกจากเรื่องการทำงานของเตาแล้ว ยังได้คุยถึงความคิดริเริ่มของคุณลุงพนมอีกว่า สาเหตุที่คุณลุงริเริ่มทำเตานี้ มากจากการศึกษาการทำนาแบบอินทรีย์ การทำน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งคุณลุงบอกว่ารู้แค่นี้ไม่พอ ต้องรู้เพิ่มอีก จึงศึกษาเกี่ยวกับเตาเผาถ่านไร้ควัน และจึงมาศึกษาเตาแก๊สชีวมวล และได้ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ คุณลุงได้สอนเรื่องการทำเตาแก๊สชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นมาแล้ว 4 ปี โดยประมาณ และยังได้สอบถามแนวคิดของคุณลุงเกี่ยวกับงานมหกรรมพลังงานครั้งนี้อีกว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่หลากหลาย และยังยินดีที่คนอื่นจะนำเตาแก๊สชีวมวลของคุณลุงไปคิดพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะพัฒนาให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิงที่มีมากในแต่ละท้องถิ่น และการจัดงานครั้งนี้ ยังดีตรงที่ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้กันด้วย และคุณลุงยังได้เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จากเหตุการณ์หนึ่งตอนที่คุณลุงทำน้ำมันไบโอดีเซลใช้เองใหม่ๆนั้น และมีการแผ่หลายใช้กันทั่วประเทศ ก็ได้มีข่าวประกาศกฎหมายห้ามเติมน้ำมันดังกล่าวใช้กับรถยนต์บนถนน ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจมาก จึงมีหน่วยงานที่ทำงานด้านน้ำมัน มาบอกว่าให้คุณลุงนำน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้ ไปตรวจวัดคุณภาพ โดยจะนำไปตรวจให้ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องให้ค่าห้องแล็บประมาณหลักหมื่นบาท ซึ่งคุณลุงก็บอกว่า หากจะต้องเสียเงินขนาดนั้นก็ไม่ขอตรวจ เพราะใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ไม่เคยมีปัญหาอะไร และในเวลาต่อมา หน่วยงานดังกล่าวกลับต้องนำใบรับรองคุณภาพมาให้คุณลุงเสียเอง

อีกหนึ่งเหตุการณ์ คุณลุงเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้มีกลุ่มนักศึกษามาขอให้คุณลุงช่วยสอนการผลิตเตาแก๊สชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ และหลักการทำงานของเตา เพื่อจะนำไปแสดงในงานของสถานศึกษา ซึ่งคุณลุงก็ตอบตกลง แต่เมื่อถึงเวลานัด กลุ่มนักศึกษาก็ไม่มา เพราะติดธุระจำเป็นบางอย่าง จึงบอกให้คุณลุงช่วยประกอบเตาไว้ให้ แต่ไม่ต้องทาสี ทางกลุ่มนักศึกษาจะนำไปทาสีเอง คุณลุงก็บอกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้จะเข้าใจหลักการทำงานของเตา และเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องได้อย่างไร แต่ถึงกระนั้นคุณลุงก็ยินดีทำให้ตามคำขอ หลังจากคุยกับคุณลุงแล้ว ก็ทำให้ผมคิดได้ว่า หากพลังงานหมุนเวียน ถูกสนใจจากบุคคลรุ่นใหม่ และนำไปต่อยอดพัฒนา สักวันสถานการณ์การใช้พลังงานหมุนเวียนในบ้านเราคงดีขึ้นแน่นอน และหากคนรุ่นใหม่ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่ยังยึดติดกับความสะดวกสบายจากพลังงานฟอสซิลนั้น หันมาร่วมมือ สนใจ นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการพึ่งพาตนเองได้ ในอนาคตโลกของเรา คงมี สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

สำหรับงาน มหกรรมพลังงาน ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ตัวผมเองขอขอบคุณ เครือข่าย มานะ ENERGY มานี POWER ที่ได้จัดงานครั้งนี้ขึ้น ขอบคุณพี่ๆเครือข่าย ฯ ต่างๆทุกท่าน ที่เอ็นดูช่วยเหลือพวกเราในการใช้เตา และให้ความรู้ด้านต่างๆ ขอบคุณ กรีนพีช ที่ให้พื้นที่ผม ในฐานะอาสาสมัคร เข้าร่วมกิจกรรม และทำให้รู้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเพียงใด ทำให้เห็นว่าพลังงานไม่ใช่เรื่องยากสำหรับมนุษย์เราทุกคนอีกต่อไป ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ด้วยการเริ่มต้นที่พวกเราเอง ขึ้นอยู่กับว่าตัวเรานั้นจะเปิดใจยอมรับ และเริ่มเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

อานันท์ นาคนงนุช
อาสาสมัคร กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Letter-to-thailand-human-right




 

Create Date : 31 มีนาคม 2557   
Last Update : 3 เมษายน 2557 11:48:48 น.   
Counter : 803 Pageviews.  


จดหมายถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เลขที่จดหมายออก 3/2557

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี)120 หมู่ที่ 3 ถนน แจ้งวัฒนะ

แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

                                                                13 มีนาคม 2557

เรื่อง  ขอเรียกร้องให้ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการทำค.1, ค.2 โครงการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้ว

เรียน   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

       Human Rights Watch

       เลขาธิการ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights     

สำเนาถึง   ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

             ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่

             รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่

             คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

             เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

             คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

อ้างถึง  หนังสือขอคัดค้านการทำค.1, ค. 2 โครงการขยายโรงไฟฟ้ากระบี่และโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้วยื่นต่อผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำรายงานEIA/EHIAของโครงการในวันที่ 9 มีนาคม 2557

ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีโครงการขยายกำลังผลิตติดตั้งจำนวน 870 เมกะวัตต์โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยใช้พลังงานถ่านหินและได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการครั้งที่1, ครั้งที่2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วครั้งที่ 1 นั้น ประชาชนที่อาศัยในเขตพื้นที่ที่มีผลกระทบจากการโครงการดังกล่าว ขอคัดค้านการดำเนินการรับฟังความความคิดเห็นข้างต้นเนื่องจาก ในการรับฟังความคิดเห็นทุกครั้ง กฟผ.และบริษัทผู้รับจ้างไม่ได้ดำเนินการให้ความรู้แก่ผู้ที่มีผลกระทบในทางบวกและทางลบเท่าที่ควรเพื่อประมวลความรู้ นำไปกำหนดข้อกังวล ข้อห่วงใยในผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ก่อนรับฟังความคิดเห็น และในคราวที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็เช่นกันไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีผลกระทบได้แสดงข้อกังวลอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง โดยการกำหนดเวลาให้แสดงความคิดเห็นเพียงเล็กน้อยแล้วด่วนสรุปซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

และเมื่อวันอาทิตย์ที่  9  มีนาคมที่ผ่านมา ในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้วครั้งที่1นั้น กระบวนการดังกล่าวขาดความชอบธรรม ด้วยเหตุผลหลักดังนี้

1. การจัดทำการรับฟังความคิดเห็นขาดความชอบธรรม เพราะรองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้แถลงข่าวยืนยันอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าหากมีการคัดค้านจะยกเลิกโครงการทันที ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินการคัดค้านอย่างเห็นได้ชัดในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการครั้งที่ 1, ครั้งที่ 2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วครั้งที่ 1 นั้นมาตลอด แต่กระบวนดังกล่าวกลับเดินหน้าโดยเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านของประชาชนในพื้นที่และขาดการเคารพต่อสิทธิของชุมชน

2. การจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจัดโดยขาดการให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบในทางบวกและทางลบที่จะนำมาใช้ในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบข้อมูลและไม่มีความเข้าใจต่อโครงการ ทั้งๆที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน

3. การจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจัดโดยแยกการศึกษาผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากโครงการท่าเทียบเรือถ่านหิน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวขาดความชอบธรรม เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน การกระทำดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฏหมาย และการบิดเบือนกระบวนการดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชนตามหลักของสิทธิมนุษยชน

4. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจัดโดยขาดความเป็นธรรม เนื่องจากประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ตั้งแต่การเดินทางเข้ามาแสดงความคิดเห็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจในจังหวัดกระบี่ได้จัดกองกำลังเจ้าหน้าที่และกองกำลังพิเศษในพื้นที่ตั้งแต่ก่อนทางเข้าโรงเรียนบ้านคลองรั้ว และเข้ามาในบริเวณเต๊นท์ของเวที รวมทั้งการนั่งและยืนรอบเต๊นท์เพื่อควบคุมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การกระทำดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าผิดกฎหมายและผิดหลักสิทธิมนุษยชนที่จะทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อคัดค้านโครงการถ่านหินกระบี่

5. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นขาดความชอบธรรม เพราะในระหว่างการดำเนินการดังกล่าว มีการข่มขู่ ปะทะและกดดันจากผู้นำและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ โดยมีทั้งการใช้กำลัง การขว้างปาสิ่งของ การคุกคามทางวาจา การข่มขู่ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการและอื่นๆ

6. การจัดซื้อการจัดจ้างบริษัทมารับทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโครงการฯ ดังกล่าว เป็นการจัดจ้างบริษัทมาทำโครงการตามพรบ.การเสนองานต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ที่อาจส่อการทุจริตในการดำเนินการเพราะนอกจากจะแบ่งแยกการศึกษาและการจัดทำE(H)IA แล้ว การดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโครงการฯ ดังกล่าวยังมีการจัดจ้างบริษัทใหม่เกิดขึ้น แยกออกจากบริษัทที่เคยทำหน้าที่ในการศึกษาตอนแรกที่ได้มีการศึกษาแล้ว รวมทั้งขณะนี้มีการเปิดเผยข้อมูลในพื้นที่ว่า สถานการณ์ในพื้นที่หลังจากการทำค.1 เสร็จ กำลังมีการหยิบยื่นผลประโยชน์ให้กับผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการในระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการกดดันให้ชาวบ้านในพื้นที่ยินยอมทั้งในด้านการก่อสร้างโครงการและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

สิ่งเหล่านี้คือความไม่ชอบธรรมและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งในการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการครั้งที่1, ครั้งที่2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วครั้งที่1

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินจึงได้เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการทั้งหมด และคัดค้านการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่โดยใช้พลังงงานถ่านหินครั้งที่ 1, ครั้งที่ 2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วครั้งที่ 1 โดยมีการยื่นหนังสือคัดค้านอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2557 และเห็นว่าโครงการทั้งสองโครงการเป็นเรื่องเดียวกัน โดยที่คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาได้วินิจฉัยว่าทั้งสองโครงการไม่อาจแบ่งแยกกันได้ เพราะฉะนั้นการแบ่งแยกกันรับฟังความคิดเห็นทำให้ความรู้ที่จะประมวลข้อกังวลของผู้ที่มีผลกระทบทั้งตัวโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือถ่านหินไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการมีปัญหาในอนาคต

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเพื่อพิจารณาในการดำเนินการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเพื่อให้การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีผลกระทบจากโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่โดยใช้พลังงงานถ่านหินครั้งที่ 1, ครั้งที่ 2 และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วขาดความชอบธรรม

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

1. กลุ่มรักลันตา

2. กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย

3. สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา

4. สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา

5. มูลนิธิอันดามัน

6. ศูนย์สร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา

7. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

8. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

9. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้  (กปอพช.)

10. โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้

11. กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง       

12. กลุ่มรักษ์อันดามัน

13. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัย จังหวัดกระบี่

14. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่

15. เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่

16. องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

17. เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน

18. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ

19. เครือข่ายติดตามผลกระทบจาดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน

20. เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย Thailand Coal Network

21. เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Coal Network

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Letter-to-thailand-human-right





 

Create Date : 31 มีนาคม 2557   
Last Update : 31 มีนาคม 2557 16:44:33 น.   
Counter : 925 Pageviews.  


แม่เมาะและกระบี่ เงาสะท้อนการปฏิรูประบบผลิตไฟฟ้าและการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย

ในขณะที่การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ ค.1 โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของการผลักดัน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจบลงแบบเก้าอี้ปลิวว่อนไปทั่วห้องประชุม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา วันอังคารที่ 11 มีนาคมนี้ ถือว่าเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ภาคประชาชนต้องจารึกไว้เมื่อศาลปกครองสูงสุดนัดคู่กรณีมาพิจารณาคดีเพื่อแถลงปิดคดี “การเจ็บป่วยจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานที่กำหนด”

ตุลาการเจ้าของสำนวน นายสุชาติ มงคลเลิศลพ อ่านสำนวนเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง ดังนี้

  1. ให้ผู้ถูกฟ้องคดี(คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสีย หายให้แก่ ผู้ฟ้องคดีแต่ละราย จำนวน ๑๓๑ ราย จำนวน ๑๙ สำนวน  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๑ สำนวน ดังกล่าวข้างต้นเรียกร้องนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
  2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดี (กฟผ.) หยุดหรือระงับการกระทำละเมิดตามคำฟ้อง
  3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดี (กฟผ.) จัดการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ให้กลับคืนสภาพเดิม
  4. ให้ศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาส่วนของค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ร่างกาย อนามัยและจิตใจ และค่าเสียหายในการเสียความสามารถในการประกอบการงานตามปกติของผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๔ สำนวน ในระยะเวลาไม่เกินห้าปี
  5. ให้ผู้ถูกฟ้องคดี (กฟผ.) หยุดการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินลิกไนต์ในโรงงานของผู้ถูกฟ้องคดี ตำบลแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จนกว่าจะมีวิธีการป้องกัน ฝุ่นแขวนลอย และสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มิให้ฟุ้งกระจายไปในอากาศได้อย่างสมบูรณ์
  6. ให้ผู้ถูกฟ้องคดี (กฟผ.) ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การต่อสู้ผ่านกลไกทางกฎหมายของชุมชนที่แม่เมาะนับรวมกันแล้วมีทั้งหมด 6 คดีด้วยกัน นับตั้งแต่คดีพืชผลเสียหายจากมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คดีผู้ป่วยจากมลพิษที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้า คดีสุสานหอยขมแม่เมาะ คดี กฟผ.นำที่ดินปลูกป่าไปสร้างสนามกอล์ฟ เป็นต้น คุณมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ สรุปให้ฟังว่านับตั้งแต่ที่ กฟผ.ได้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนทำให้ชาวบ้านล้มป่วยเป็นจำนวนมากและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านก็ล้มตายอีกทั้งยังทำให้พืชผลของชาวบ้านเสียหายในระยะเวลาหลายครั้งหลายหนติดต่อกัน กฟผ.ได้จ่ายค่าชดเชย เยียวยาให้กับชาวบ้านในบางคน

ครั้งนั้นยังมีชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาจึงได้มีการเรียกร้องและประท้วงเรื่อยมาหลายครั้งจนในที่สุดต้องนำมาสู่การฟ้องศาลปกครองในปี 2546 เป็นต้นมา ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวนี้นับตั้งแต่วันฟ้องคดี เป็นต้นมา ชาวแม่เมาะต้องเสียชีวิตไปแล้ว จำนวน  12 คน

คุณมะลิวรรณพร้อมด้วยชาวบ้านแม่เมาะผู้ฟ้องคดี 131 คน มาพร้อมกับชาวแม่เมาะรวมกันกว่า 300 คน เดินทางมาฟังการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ พวกเขามั่นใจว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม

ในอีกด้านหนึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำการเข้าตีหลังบ้านโดยผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าส่วนทดแทนใหม่ของแม่เมาะเครื่องที่ 4-7

ด้วยเหตุที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่แม่เมาะถือเป็นโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ต้องจัดทำรายงาน EHIA ดังนั้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 3 ขั้นตอน คือการกําหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพหรือ ค.1 (Pubic Scoping) ขั้นตอนการประเมินและจัดทํารายงานหรือ ค. 2 และการทบทวนร่างรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ ค.3

และเราได้เห็นแล้วว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ขั้นตอนที่เป็นอยู่นี้ เป็นกระบวนการที่ชั่วร้าย มันเป็นเพียงตรายางประทับให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เกิดขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟัง ความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ฉบับปัจจุบัน เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในเวที ค.1 โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่เป็นตัวอย่างสดๆ ร้อน ๆ

กฟผ. ได้ใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดซึ่งจริงๆ แล้วมันคือ "การโกหกที่แสนสกปรก (dirty lie) อธิบายความจำเป็นในสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในที่เก่าทั้งที่ “แม่เมาะ” และ “กระบี่”

แม่เมาะจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือ ส่วนกระบี่จะเป็นศูนย์กลางพลังงานฝั่งทะเลอันดามัน นี่คือแนวคิดของ กฟผ. เป็นแนวคิดอันคับแคบและไม่ฟังเสียงใคร

แม่เมาะเป็นการทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่จะหมดอายุโดยจะใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลิกไนต์และในอนาคตจะเป็นถ่านหินนำเข้าขนส่งโดยทางรถไฟ ส่วนกระบี่ กฟผ. ใช้คำว่าโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า (สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่บนที่ตั้งโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาในปัจจุบันและโรงไฟฟ้าลิกไนต์ในอดีต) โดยขนส่งถ่านหินด้วยเรือถ่านหินขนาดใหญ่จากอินโดนีเซียหรือออสเตรเลียมายังกลางทะเลอันดามันเพื่อขนถ่ายลงเรือถ่านหินเข้าสู่ท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าในที่สุด

แต่เมื่อพิจารณาด้วยปัญญา จากข้อมูลของ กฟผ. จะพบว่า ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีกำลัง ผลิตติดตั้งรวมกันทั้งหมด 33,321 เมกะวัตต์ เปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 26,598 เมกะวัตต์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราไม่ได้เผชิญกับวิกฤตไฟฟ้าอย่างที่ถูกยัดเยียดในโฆษณาหรือที่นักการเมืองพูดจนน้ำลายท่วมปาก

ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้เมื่อปี 2556 เป็นปัญหาเทคนิคของสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมของ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่างๆ รวมทั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนอื่นๆ จึงไม่เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

หากเราไม่เตรียมพร้อมเหตุฉุกเฉินให้ดีขึ้น จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีกกี่แห่งก็ยังจะเสี่ยงไฟฟ้าดับอยู่ดี

ส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ช่วงปี 2555-2562 ที่มีแผนชัดเจนแล้วก็รวมถึงพลังงานหมุนเวียน 6,095 เมกะวัตต์ การผลิตร่วมไฟฟ้าและความร้อน(หรือโคเจนเนอเรชั่น) อีก 5,107 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกันแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 11,202 เมกะวัตต์

หากรวมแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของกระทรวงพลังงานตามมติคณะรัฐมนตรี 27 ธันวาคม 2554 ที่เห็นชอบเป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าในปี 2573 เท่ากับ 96,653 ล้านหน่วย เข้าไปด้วย เราจะลดความต้องการไฟฟ้าได้ 17,470 เมกะวัตต์ และลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ 20,091 เมกะวัตต์ (หรือประมาณ 25 โรง)

การตะบี้ตะบันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยละเลยภาระรับผิด(Liability) ในกรณีแม่เมาะ และปิดกั้นความคิดเห็นของ ชุมชนที่คัดค้านโครงการในกรณีกระบี่จึงมิใช่อะไรอื่น หากเป็นมิฉาทิฐิโดยแท้ 

คำตอบเรื่องทิศทางพลังงานไทยนั้นมิได้อยู่ในเพียงสายลมและแสงแดด หากอยู่ในสายเลือดของนักสู้ที่แม่เมาะ กระบี่ และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทยที่ลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและที่ดีกว่าให้กับสังคมไทย

การต่อสู้ที่ “แม่เมาะ” และ “กระบี่” คือเงาสะท้อนของกันและกันผ่านกาลเวลา และมีส่วนสำคัญในการกำหนด ทิศทางการปฏิรูประบบผลิตไฟฟ้าและการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย

เผยแพร่ครั้งแรกที่ //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/48462/




 

Create Date : 11 มีนาคม 2557   
Last Update : 11 มีนาคม 2557 13:39:54 น.   
Counter : 1137 Pageviews.  


กระบี่ของไทย เอาถ่านหินมาแลกเราไม่ยอม

กระบี่ของไทย เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมาแลกก็ไม่ยอม
ร่วมปกป้องกระบี่ด้วยกันที่ www.protectkrabi.org


“ถ่านหินสะอาด เป็นการโกหกอย่างสกปรก” ทุกวันนี้เราได้ยินสรรพคุณของเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดกล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และคราวนี้ฉันตกใจเป็นพิเศษเมื่อได้รับรู้ว่า วันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังเดินหน้าโครงการท่าเรือขนถ่ายถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฉันเป็นคนกรุงเทพฯที่หลงรักกระบี่ ดินแดนร้อยเกาะที่เต็มไปด้วยหาดทรายสีขาวนวลละเอียด น้ำทะเลสีครามใส อาหารทะเลเลิศรส และผู้คนที่เป็นกันเอง เรียกได้ว่ากระบี่เป็นเมืองในฝันของฉันที่อย่างน้อยขอให้ได้ไปเยือนสักปีละครั้งก็ยังดี

แต่ข่าวโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่กำลังผลิต 870 เมกะวัตต์  และยิ่งเมื่อได้รู้ว่าการขนส่งถ่านหินจากเรือเดินสมุทรขนาด 50,000 – 100,000 เดทเวทตัน จะผ่านบริเวณเกาะลันตาด้วยแล้ว ฉันรู้สึกห่อเหี่ยวและผิดหวังกับความคิดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงมรกตอันล้ำค่าของไทยที่จะถูกทำลายไปอย่างไม่สามารถหวนคืน

จากการร่วมฟังการแถลงข่าว “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” ของกรีนพีซ ประเทศไทยและเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน  โดยกรีนพีซ นักวิชาการพลังงาน และสมาคมท่องเที่ยวเกาะลันตา ร่วมวิพากษ์แผนการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

สำหรับกระบี่แล้ว โรงไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ เดิมทีกระบี่มีโรงไฟฟ้าลิกไนต์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโรงงานไฟฟ้าน้ำมันเตากำมะถันต่ำที่มาจากธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์มีแผนจะตั้งในพื้นที่เดิม ที่น่ากังวลหนักกว่าเดิมคือ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้เกิดขึ้นได้จริง จะไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงโรงเดียวของกระบี่ แต่จะเป็นอีกหลายโรงตามมา ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2010 (พีดีพี 2010)

เมื่อนึกถึงภาพฝันร้ายของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ใครหลายคนคงนึกถึงภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่กลืนกินชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นมลพิษสีดำ แต่กระบี่เองก็มีบทเรียนที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์และเหมืองร้างเช่นกันถึงแม้จะยกเลิกการใช้งานไปแล้ว 31 ปี ณ คลองปะกาสัย พื้นที่ป่าชายเลน น้ำจากเหมืองยังคงไหลออกมาอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันชาวกระบี่ไม่ได้ใช้น้ำฝนและน้ำบาดาล เนื่องจากมีตะกอนดำ

หรือว่าทางกฟผ.จะลืมผลกระทบนี้ไปแล้ว หรือว่าการกลับมาเดินหน้าต่ออีกครั้งในคำอ้าง “ถ่านหินสะอาด” จะสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เส้นทางถ่านหิน เส้นทางแห่งหายนะทางระบบนิเวศของกระบี่

ประเด็นหลักที่กรีนพีซและเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินวิพากษ์ก็คือ กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ไร้ซึ่งธรรมาภิบาล และยังไม่ได้รับประกันว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ซึ่งอ้างว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดจะปกป้องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนจากมลพิษร้ายแรงหลายชนิด เช่น ปรอท ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละออง ปล่อยออกมา

โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการขนถ่ายถ่านหิน  ซึ่งในเอกสารประกอบ ค.1 นั้นระบุว่า “ไม่เข้าข่ายประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง” ที่จริงแล้ว เส้นทางขนส่งถ่านหินระยะทาง 8.4 กม. อย่างน้อยปีละ 2.5 ล้านตัน นั้นจะผ่านเกาะลันตา เกาะปอ เกาะศรีบอยา และป่าชายเลนกระบี่ การที่จะไปถึงโรงไฟฟ้าจะต้องผ่านอุโมงลำเลียงถ่านหินลอดใต้คลอง หรือสะพานข้ามคลอง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเขตพื้นที่สงวน และที่ทำกินของชาวบ้าน การศึกษาผลกระทบที่ออกมานั้นเป็นการศึกษาแค่เพียง 5 กม.รอบนอก เป็นการประเมินผลกระทบที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างหนึ่งที่ EIA ไม่ได้บอก คือ เส้นทางขนส่งถ่านหินนั้นผ่านเส้นทางชีวิตของชาวประมงที่เป็นเสมือนครัวของประเทศ ผ่านเส้นทางของโลมา พยูน พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ (แรม  ซาร์ไซต์) ซึ่งการศึกษาผลกระทบเพียง 5 กม. นั้นไม่ครอบคลุมผลกระทบที่แท้จริงมากพอ อาทิ ตามเอกสารอ้างว่านกที่อยู่ในรัศมี 5 กม. มี 91 ชนิด แต่จริงๆ แล้วรอบนอกในพื้นที่ใกล้เคียงมีมากถึง 218 ชนิด หากเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้เราจะพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ถึงอันดับ 4 ของประเทศ สูญเสียสุสานหอยอายุหลายสิบล้านปีที่มีเพียง 3 แห่งในโลก

หญ้าทะเล ปลาพะยูน ความสวยงามที่เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว

กระบี่ บริเวณศรีบอยา มีพื้นที่หญ้าทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย การแล่นเรือขนส่งถ่านหินทำให้ตะกอนน้ำขุ่น เมื่อหญ้าทะเลอยู่ไม่ได้ พยูน ม้าน้ำ และหอยชักตีน ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน บริเวณศรีบอยาแห่งนี้เพิ่งให้กำเนิดพะยูนแฝดคู่แรก คุณธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า “ภาพของเกาะลันตาเป็นที่นิยมในนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวสวีเดนยกให้เป็นบ้านหลังที่สอง จากแบบสอบถามถึงนักท่องเที่ยว ระบุว่าถ้าเป็นเส้นทางผ่านถ่านหิน ก็จะไม่มาท่องเที่ยว นั่นหมายถึงเราจะสูญเสียนักท่องเที่ยวเฉพาะชาวสวีเดนอย่างน้อย 40,000 กว่าคน และรายได้อย่างน้อ 4,800 ล้านต่อปีไป เป็นได้สูงว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักเกาะลันตาเป็นที่ท่องเที่ยวจะหายไป แค่เพียงเรือขนส่งถ่านหินวิ่งผ่าน กระบี่ก็ต้องหานักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่แล้ว”

โซนหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวลันตา และเกาะปอ เป็นเส้นเดินทางของปลาพะยูน และแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเล ซึ่งเอื้อต่อการประมงสัตว์ใหญ่เนื่องจากมากินสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ผลกระทบจึงเป็นวงกว้าง ภาพอนาคตของกระบี่ในเงาโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่มีแหล่งปะการังน้ำตื้นสำหรับดำน้ำ แต่จะเป็นเรือบรรทุกถ่านหินหนักแสนตัน ยาว 85 เมตร ในบริเวณเกาะพีพี หากมีพายุแรงจะทำให้เรือจมได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่น นี่เป็นเจตนาของกฟผ.ในการเลี่ยงพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ การประมง เกาะลันตา เกาะพีพี และจุดท่องเที่ยวโดยรอบ “สิ่งที่ชาวบ้านรับรู้คือจำเป็นจะต้องสร้าง และไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ที่จริงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบ สิ่งที่กฟผ.ควรทำคือศึกษาศักยภาพของพื้นที่กระบี่ โดยเฉพาะในจุดที่ทางถ่านหินผ่าน และเปรียบเทียบว่าคุ้มหรือไม่กับการใช้พลังงานจากถ่านหิน” คุณธีรพจน์ กล่าวย้ำ

พลังงานหมุนเวียน ทางออกพลังงานที่ไม่ทำร้ายกระบี่ไม่ทำร้ายคนไทย

คำถามที่คนไทยมักสงสัยคือ หากเราไม่ต้องการถ่านหินและนิวเคลียร์ เราจะใช้ไฟฟ้าจากอะไร แล้ววิกฤตไฟฟ้าดับไม่พอใช้ล่ะ? คำถามนี้ คุณศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการอิสระ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้ให้คำตอบและทางออกไว้อย่างละเอียด

“ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าปัจจุบันและอนาคตยังสำรองเพียงพอการใช้ไฟฟ้าปี 2556 ต่ำกว่าที่กระทรวงพลังงานคาดการณ์ไว้ที่ 26,598 เมกะวัตต์ แต่คาดไว้ 27,443 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าดับภาคใต้เมื่อปีที่แล้วคือปัญหาเทคนิคของสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยไม่มีการเตรียมพร้อมของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่แล้ว ได้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเครื่องผลิตของเอกชนอื่นๆ ไม่ใช่เป็นเพราะไฟไม่พอ ซึ่งในตอนที่ไฟจากพม่าไม่ส่งมาในเดือนเมษา สามารถรวบรวมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทันในช่วงเวลาเพียงนิดเดียว หากไม่เตรียมพร้อมเหตุฉุกเฉินให้ดีขึ้น ถึงจะสร้างรฟฟใหม่สักกี่โรงก็ไม่ดีขึ้น ปัจจุบันกระบี่ผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว 70 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 60 ถือว่าผลิตได้ต้นๆ ของประเทศ แต่กลับจะไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยังมีโครงการที่จะทำเพิ่มอีก ถึงร้อยละ 90 ในอนาคต“

ไม่ว่ามองมุมใด ทั้งด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต่อการท่องเที่ยว ด้านศักยภาพการผลิตไฟฟ้า และด้านศักยภาพทางพลังงานหมุนเวียนที่กระบี่มี ฉันยังมองไม่เห็นเหตุผลอะไรดีพอที่จะพรากสิ่งที่ล้ำค่าของคนไทยและของโลกอย่างกระบี่ไปด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังที่คุณจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่ใชแค่เรื่องของกระบี่ ของพื้นที่ประเมินผลกระทบ 5 กม. แต่เป็นเรื่องของทุกคนชาวไทยต้องร่วมตัดสินด้วยการร่วมปกป้องพื้นที่กระบี่อันล้ำค่าของเรา”


โพสครั้งแรกที่ //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/48426/




 

Create Date : 10 มีนาคม 2557   
Last Update : 10 มีนาคม 2557 14:04:00 น.   
Counter : 1124 Pageviews.  


การเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆเป็นมิตรต่อเสือเริ่มขึ้นแล้ววันนี้ คุณเข้าร่วมแล้วหรือยัง?

การเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆเป็นมิตรต่อเสือเริ่มขึ้นแล้ววันนี้ คุณเข้าร่วมแล้วหรือยัง?



วันนี้เราจะขีดเส้นลงบนผืนดินเพื่อปกป้องป่าของโลก

ผู้บริโภคหลายพันคนในประเทศอินโดนีเซียและทั่วโลก ร่วมกับนักแสดงฮอลลีวู้ด วาคิน ฟินิกซ์, พอล เวสลีย์,  เคลแลน ลุตซ์ และ จิลเลียน แอนเดอร์สัน กำลังบอกให้โลกรู้ว่า เรื่องนี้ต้องยุติ และหยุดทำให้เรามีส่วนในการทำให้เสือสูญพันธุ์เสียที! ในวันนี้กรีนพีซได้เปิดตัวไทเกอร์ แมนิเฟสโต ซึ่งเป็นแถลงการณ์จากกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือ ถือเป็นงานรณรงค์ระดับโลกเพื่อปกป้องบ้านของเสือสุมาตรา และขจัดน้ำมันปาล์มสกปรกออกไปจากผลิตภัณฑ์ที่เราใช้

น้ำมันปาล์ม เป็นส่วนผสมที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวการทำลายป่าที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา กรีนพีซได้เผยว่าระหว่างปีพ.ศ. 2552 – 2554 การทำปาล์มน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการทำลายป่าไม้ในสุมาตราอันเป็นบ้านของเสือ 

ผืนป่าไม่จำเป็นต้องถูกทำลายเพื่อทำปาล์มน้ำมัน แต่บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนั้นกำลังทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายป่านี้ เพียงเพราะการอุดหนุนน้ำมันปาล์มสกปรก



คุณมีพลังในการหยุดยั้งเรื่องนี้

เราสามารถปกป้องป่าไม้และเสือจากการขยับเข้าใกล้การสูญพันธุ์ได้ โดยขณะนี้แรงผลักดันจากทั่วโลกได้เรียกร้องให้ผู้ค้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลกให้คำมั่นสัญญาที่จะปกป้องผืนป่าได้สำเร็จ ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มระดับโลก ร่วมกันกับกรีนพีซ และองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ได้ตั้งมาตรฐานใหม่ในการผลิตน้ำมันปาล์มด้วยความรับผิดชอบ ในนามของกลุ่ม Palm Oil Innovation Group และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เนสเล่ เฟอร์เรโร ลอรีอัล และยูนิลิเวอร์ (เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง โดฟ และ เบนแอนด์เจอร์รีส์) ก็กำลังก้าวไปสู่การยุติการทำลายป่า

น้ำมันปาล์มที่สะอาดนั้นเป็นเป็นได้

ผมได้อยู่ ณ จุดนั้นขณะที่รถตักดินกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาถางป่า ผมได้เห็นการทำลายป่าไม้ด้วยตาของตนเอง

แต่ผมไม่สามารถหยุดยั้งเครื่องจักรเหล่านี้ได้ด้วยตัวของผมเอง ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ในประเทศอินโดนีเซีย ผมบอกได้เลยว่าเราต้องการเสียงจากผู้คนทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งเรื่องนี้

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นมิตรต่อป่าและเสือ

แถลงการณ์ไทเกอร์ แมนิเฟสโต เป็นการรวมตัวกันของผู้คนที่ต้องการเรียกร้องให้แบรนด์ผลิตภัณฑ์โปรดของตนขจัดขั้นตอนการทำลายป่าออกไปจากผลิตภัณธ์ที่เราใช้กันเป็นประจำทุกวัน และวันนี้เป็นขั้นตอนแรกของงานรณรงค์ระดับโลกเพื่อร่วมกันปกป้องบ้านของเสือสุมาตรา และขจัดน้ำมันปาล์มสกปรกออกไปจากผลิตภัณฑ์ที่เราใช้

Bustar Maitar หัวหน้าผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ของอินโดนีเซีย ประจำกรีนพีซสากล


ที่มา : Greenpeace.or.th




 

Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2557   
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2557 15:45:29 น.   
Counter : 1004 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com