กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ผู้บริโภคช่วยยุติแรงงานประมงไม่เป็นธรรมได้อย่างไร



เขียน โดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ จึงอยากหยิบยกประเด็นปัญหา สาเหตุ และสถิติสำคัญในแรงงานภาคประมงมาเล่าสู่กันฟัง รวมถึงวิธีที่ทุกท่านในฐานะผู้บริโภคจะสามารถช่วยพวกเขาได้อย่างไร

ก่อนที่เราจะกินปลาสดๆรสชาติอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละครั้ง เราๆท่านๆเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าใครเป็นคนจับและปลาเหล่านี้มาจากไหน

ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาหลายท่านคงได้รับรู้เรื่องราวของแรงงานประมงทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าวที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองในประเด็นนี้จากนานาชาติ

ทุกอย่างล้วนมีที่มา

จากการพัฒนาเทคโนโลยีการประมงของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทรุดโทรม สัตว์น้ำทุกขนาดและเกือบทุกชนิดถูกจับขึ้นมาในปริมาณมหาศาลโดยไม่มีการคำนึงถึงศักยภาพการผลิตของทะเลว่าจะสามารถผลิตทันหรือไม่ เมื่อสัตว์น้ำน้อยลงจึงต้องออกไปจับไกลขึ้น ต้นทุนจึงเพิ่มขึ้นตามมา

จากการศึกษาของ แอเมด และคณะ ในปี 2550 พบว่าในประเทศไทย การลงแรงประมงแต่ละครั้งมีปริมาณปลาที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และมีค่าใช้จ่ายในการทำประมงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาลูกเรือและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือประมงได้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการประมงบางกลุ่มต้องใช้แรงงานที่มาจากการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับใช้และแรงงานติดหนี้ในอุตสาหกรรมนี้ [1]

วงจรการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง

จุดเริ่มต้นของแรงงานที่เข้ามาในวงจรการค้ามนุษย์มีหลายรูปแบบ เช่น การชักชวนจากเพื่อนหรือญาติ การล่อลวง และการลักพาตัว โดยมีผู้ที่ถูกจ้างมาให้มาทำการล่อลวงหรือนายหน้าจะเป็นผู้ดำเนินการล่อลวงแรงงานเองในวิธีการต่างๆ เช่นการพูดคุย และชักชวนโดยมีข้อเสนองานรายได้ดีให้ บางรายมีการดูแลซื้ออาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ที่ต้องการหางาน เมื่อดื่มหรือกินเข้าไปจะเกิดอาการสะลึมสะลือและหลับไปในที่สุด และเมื่อตื่นขึ้นกลับพบว่าได้ถูกขังอยู่ที่นากุ้งร้าง บางรายอาจจะตื่นขึ้นมาและพบว่าออกมากลางทะเลกับเรือประมงแล้ว โดยชีวิตการใช้แรงงานประมงนั้นเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงสูงมากไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเรื่องการถูกทารุณ ปัญหาสุขภาพ การถูกแสวงหาผลประโยชน์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องราวเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้น

แรงงานบนเรือถูกกระทำอย่างไรบ้าง

ผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2557 ขององค์กรที่ทำงานด้านแรงงานระดับโลก เช่น International Labour Organization หรือ ILO[2] ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานประมงที่ทำงานบนเรือประมงไทยและผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์บนเรือประมงไทย ดังนี้

ผู้บริโภคอย่างเราช่วยได้อย่างไร

การบริโภคเพื่อช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลให้ดีขึ้นและช่วยเหลือแรงงานประมงเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตในการทำงานบนเรือให้ดีขึ้น มีหัวใจสำคัญ คือ “การบริโภคอย่างรู้ที่มาไม่สนับสนุนสินค้าอาหารทะเลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานและใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง หันมาบริโภคสัตว์น้ำโตเต็มวัย และร่วมลงชื่อในงานรณรงค์ต่างๆที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อมและแรงงานประมงตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่บนเรือจนถึงจานเรา”

มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตัวคุณ เราเชื่อว่าพลังจากคนตัวเล็กๆสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้



[1] Ahmed, M. et al (2007) ‘Overfishing in the Gulf of Thailand: policy challenges and bioeconomic analysis’ Environment and

Development Economics 12: 145-72

[2] International Labour Organization (ILO) (2013) Employment practices and working conditions in Thailand’s fishing sector //www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---asia/---ro-bangkok/documents/publication/wcms_220596.pdf


ที่มา : Greenpeace Thailand




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 27 พฤษภาคม 2559 15:35:50 น.   
Counter : 1286 Pageviews.  


ไฟป่ากัมมันตภาพรังสีจากเชอร์โนบิล ระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลัง



เขียน โดย อันตวน เบเนสลาฟกี

ห้าปีมาแล้ว ที่ฉันเป็นสมาชิกกลุ่มดับเพลิงอาชีพในทีมของกรีนพีซรัสเซีย โดยมีอาสาสมัครที่อบรมมาแล้วเป็นอย่างดีคอยให้การช่วยเหลือ ฉันเดินทางไปแล้วหลายพันกิโลเมตรทั่วรัสเซียด้วยภารกิจดับเพลิง การผจญเพลิงเป็นงานอันตรายอยู่แล้ว แต่เมื่อมีไฟไหม้ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนรังสี ย่อมอันตรายมากยิ่งขึ้น

ไฟป่าในพื้นที่ปนเปื้อนที่เมืองแบรงสค์

ไฟป่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนรังสีจากเชอร์โนบิล ไม่มีนโยบายจัดการใดๆจากภาครัฐ ไฟป่ามักเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิโดยชาวบ้านที่ก่อกองไฟ และไฟก็ลามครอบคลุมพื้นที่หลายพันไร่ ผนวกกับสภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นและแห้งขึ้น ไฟลุกไหม้ถี่ขึ้นและทำลายพื้นที่กว้างขึ้นในสองสามปีมานี้

ไฟป่าจะโหมลุกไหม้ทุกฤดูใบไม้ผลิ ในพื้นที่ปนเปื้อนอย่างหนักทั้งในป่าและพื้นราบ

ชาวบ้านเผาหญ้าและลามไหม้บ้านหลังนี้ ในหมู่บ้าน สตารี วิชคอฟ

ตอนนี้ ฉันทำงานอยู่ใกล้หมู่บ้านสตารี วิชคอฟ ซึ่งทางการประกาศให้เป็นเขตต้องอพยพแล้วเนื่องจากเป็นพื้นที่มีการปนเปื้อนสูง แต่ยังคงมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 300 คน อีกหลายล้านคนตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากหมู่บ้านนี้ ที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในเขตปนเปื้อนและเสี่ยงในทุกลมหายใจ ทีมของเราพร้อมกับหน่วยบริการฉุกเฉินของเทศบาลและอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง ป้องกันแนวไฟลามทุ่มจากป่าพรุที่ขึ้นอยู่รอบหมู่บ้าน

นักผจญเพลิงของกรีนพีซทำงานอย่างหนักเพื่อสกัดไฟที่กำลังลุกลาม

ฉันและเพื่อนนักดับเพลิงต้องดับไฟกันเองเพราะรัฐบาลไม่ปกป้องประชาชน ขณะที่การจัดการป่าไม้ทั่วประเทศของรัฐบาลก็ไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาที่นี่จึงแย่ลงเพราะรัฐบาลเพิกเฉยต่อปริมาณการปนเปื้อนที่สูงมาก พื้นที่เหล่านี้ต้องการระบบการป้องกันไฟและข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัย

“ป่าทั้งผืนปนเปื้อนด้วยรังสีจากเชอร์โนบิลไม่ต่างอะไรจากระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลัง” ลุดมิลา โคโมกอร์ทเซว่า บอกกับฉันอย่างนี้ เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ และอดีตผู้ช่วยสภาเขตแบรงส์ก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนรังสีจากเชอร์โนบิลในระดับสูงมาก ลุดมิลา รู้ดีถึงความเสี่ยงจากหายนะจากเชอร์โนบิล

“ป่าไม้และป่าพรุสะสมรังสีไว้ และทุกขณะ หญ้าทุกต้นที่ถูกไฟไหม้ ก้นบุหรี่ทุกมวนที่ทิ้งไว้ หรือ แคมป์ไฟในป่า ล้วนติดไฟให้เกิดหายนะครั้งใหม่ได้ทั้งนั้น” ลุดมิลา กล่าว

อาสาสมัครกรีนพีซสวมชุดป้องกันสารพิษขณะถือเครื่องวัดกัมมันตรังสี

บึงป่าพรุในเขตแบรงสค์กักเก็บกัมมันตรังสีไว้มากพอที่จะเรียกว่าเป็นบ่อขยะกัมมันตรังสี ระหว่างที่เกิดไฟป่า นิวไคลด์กัมมันตรังสีจำพวก เคเซียม-137 สตรอนเตียม-90 และ พลูโตเนียม จะกระจายขึ้นสู่อากาศและปลิวไปตามลม จึงเป็นปัญหาสุขภาพที่น่าวิตก เพราะเมื่อเราสูดเอาอะตอมที่ไม่เสถียรเหล่านี้เข้าไป เท่ากับเราหายใจเอารังสีเข้าร่างกาย

เครื่องวัดกัมมันตรังสี แสดงระดับรังสีที่ตรวจวัดได้

ความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายรังสีจากไฟป่าเป็นสิ่งที่ยากจะควบคุมได้ ในบางพื้นที่ที่ฉันเข้าไปดับไฟมีการปนเปื้อนสูงมากและไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใดๆที่จะป้องกันรังสีที่เราต้องเผชิญได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมการผจญเพลิงนั้นบางครั้งก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน แต่มาตรการป้องกันต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่า

แผนลาดตระเวนขึ้นอยู่กับข้อมูลจากดาวเทียม แต่ทั้งทีมยังคงออกไปตรวจสอบกันเองให้แน่ใจ เรามักจะเริ่มจากการมองหากองไฟในช่วงเช้า ใช้สองตาของเรานี่ล่ะมองไปรอบๆ และสูดหากลิ่นไหม้ไฟ ซึ่งจะช่วยพาเราไปยังจุดที่เกิดไฟไหม้ป่า

ทัศนคติของรัฐบาลก็ไม่ได้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงอยู่ในความเสี่ยง เจ้าหน้าที่พวกนี้ไม่มีชุดป้องกัน แต่อาสาสมัครต้องระดมทุนจากประชาชนซื้อให้กันเอง

นิโคไล มาคาเรนโก ผู้ตรวจการป่าไม้และผู้พิทักษ์ป่า บอกกับเราว่า ภารกิจในหน่วยของเขาต้องรายงานเหตุไฟป่าในเขตแบรงสค์  แต่เพราะต้องใช้เวลานานมากกว่ารถดับเพลิงจะมาถึง ผู้ตรวจการเหล่านี้จึงต้องต่อสู้กับอันตรายด้วยตัวเอง โดยใส่เพียงแค่แจ็คเก็ตและบูทส์ ที่ใช้อยู่ทุกวันออกไปผจญเพลิง เคยมีครั้งหนึ่งที่เกิดไฟป่าโหมไหม้รุนแรง เขาต้องดับไฟติดต่อกันสองวันและจำต้องนอนหลับในป่าที่เต็มไปด้วยรังสีปนเปื้อน

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเมืองซิงกา ประจำที่เขตปิคนิกในป่าที่เต็มไปด้วยรังสีปนเปื้อนในระดับสูง

เจ้าหน้าที่มักไม่ค่อยเต็มใจที่จะรับรู้ว่า เกิดไฟป่าอีกแล้ว และต้องช่วยกันดับ เมื่อปีที่แล้ว ไฟไหม้ป่าพรุที่ต้องใช้เวลาช่วยกันดับถึงสองเดือน

รัฐบาลเองก็สะเพร่าและไม่มีแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนรังสี แต่กลับตัดโครงการป้องกันต่างๆ รวมทั้งการเฝ้าระวัง การรักษาพยาบาลและอาหารที่ไม่มีรังสีปนเปื้อน รัฐบาลไม่มีแม้แต่ทางออกที่เหมาะสมต่อปัญหาไฟไหม้ป่าพรุในพื้นที่อันตรายเหล่านี้

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงฉุกเฉินสอบถามข้อมูลจากหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง

กรุณาร่วมกันยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้คนอื่นๆเช่นเราที่กำลังพยายามปกป้องชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากหายนะภัยเชอร์โนบิล ช่วยกันบอกผู้นำของยูเครน เบลารุส และ รัสเซีย ให้มีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมและให้แน่ใจว่าหายนะอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นกับเชอร์โนบิล จะไม่เกิดขึ้นอีก พลังงานนิวเคลียร์ควรจะฝังไปกับอดีต


อันตวน เบเนสลาฟสกี เป็นเจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านป่าไม้ และ เป็นนักผจญเพลิงของกรีนพีซรัสเซีย

ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 25 เมษายน 2559   
Last Update : 25 เมษายน 2559 17:16:32 น.   
Counter : 1093 Pageviews.  


วันคุ้มครองโลก – ปลูกต้นไม้ยังไม่พอ แต่อยากจะขอให้เลิกเผา





เขียน โดย วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเผาป่าในภาคเหนือยังคงรุนแรง  ขณะที่คำขวัญในวันคุ้มครองโลกปีนี้คือ ต้นไม้เพื่อโลก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องหยุดการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ก่อนที่เราจะไม่เหลือป่าไว้ให้เผาอีกต่อไป

ภาพโดย วัชรพล แดงสุภา
ภาพโดย วัชรพล แดงสุภา

วันที่ 22 เมษายน ของทุกปีถือเป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day คำขวัญประจำปีนี้คือ “Trees for the Earth” หรือ “ต้นไม้เพื่อโลก” ทาง Earth Day Network ได้ตั้งเป้าที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ 7.8 พันล้านต้นทั่วโลกภายในปี 2563 ในขณะที่หลายประเทศในโลกกำลังให้ความสนใจกับกิจกรรมปลูกต้นไม้ ผืนป่าที่เหลืออยู่ไม่มากในประเทศไทยก็กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากการรุกพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตร

ฤดูฝนใกล้เข้ามาแล้วแต่การเผาป่าเพื่อทำพื้นที่เกษตรแบบอุตสาหกรรมทางภาคเหนือยังคงไม่มีท่าทีว่าจะลดลง แม้จะยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยันแต่จากภาพที่เห็นและคำบอกเล่าจากมิตรสหายจากภาคเหนือก็มากพอที่จะกล่าวได้ว่าวิกฤตไฟป่าและหมอกควันในปีนี้ร้ายกาจและรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา

เผาทำไม?

การเผาคือการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่ง่ายและถูกที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ การเผานั้นทำเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรเดิมและเปิดพื้นที่ใหม่ ในแต่ละปีจะมีการรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตรอย่างไม่รู้จบ การเพาะปลูกจะเป็นไปตามแนวทางของระบบเกษตรอุตสาหกรรม โดยจะ “กำจัด” สิ่งที่ไม่ต้องการออกไปทำให้แปลงเพาะปลูกเตียนโล่งเพื่อให้เครื่องจักรการเกษตรสามารถทำงานได้อย่างสะดวก ทำให้การเพาะปลูกจึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายป่า เกษตรกรไม่ได้ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์แต่ปลูกพืชเพื่อส่งให้กับผู้รับซื้อเพื่อส่งต่อให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมนี้เองที่เป็นผู้สร้างแรงจูงใจในการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพดให้กับพวกเขา

แต่เราไม่จำเป็นต้องเผาป่าเพื่อเพาะปลูก

การเพาะปลูกเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงสังคมมนุษย์ แต่การเพาะปลูกจำเป็นจะต้องเริ่มต้นและจบลงด้วยการเผาเพียงเท่านั้นหรือ การเกษตรที่ให้ผลผลิตสูงไม่ได้มีอยู่เพียงรูปแบบเดียว มีตัวอย่างแนวทางการเกษตรที่ให้ความเคารพต่อธรรมชาติอยู่มาก เรากลับไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร การเกษตรในลักษณะนี้มีต้นทุนต่ำ (ทั้งในเชิงการเงิน และสิ่งแวดล้อม) ในขณะที่ให้ผลผลิตได้มาก หนึ่งแนวทางนั้นคือ “กสิกรรมธรรมชาติ” ที่ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เกษตรกรและนักปราชญ์ได้พัฒนาขึ้น เขาให้ความเคารพกับการเกื้อกูลของระบบนิเวศและพยายามลดการเข้าไปแทรกแทรงกิจกรรมทางธรรมชาติให้น้อยที่สุด เขาไม่แม้แต่จะไถพรวนดิด กำจัดวัชพืช และไม่ทำการเผา

“...เมื่อดินถูกเผาจนอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์หมดไป การใช้ปุ๋ยก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าใช้ปุ๋ยเคมีต้นข้าวจะโตไวและสูง แต่วัชพืชก็จะเจริญเติบโตเช่นเดียวกันด้วย ยากำจัดวัชพืชก็ต้องถูกนำมาใช้ และคนก็จะคิดว่ามันมีประโยชน์...” ฟูกูโอกะ กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องการปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว

แนวทางการเกษตรอันยั่งยืนที่ไม่สนับสนุนการเผายังมีอีกมาก เช่น การเกษตรเชิงนิเวศ วนเกษตร การเกษตรยั่งยืน Permaculture และการเกษตรทฤษฏีใหม่ ฯลฯ แต่แนวทางเช่นนี้กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร วิกฤตไฟป่าและหมอกควันที่กำลังเกิดขึ้นได้บอกให้เรารู้ว่าการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมได้ทำร้ายโลกของเรามากถึงเพียงไหน และถึงเวลาแล้วที่การเกษตรอุตสาหกรรมควรหมดไปจากโลกใบนี้เสียที

วันคุ้มครองโลกปีนี้ รักษ์โลกของเราอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการเกษตรเชิงนิเวศ คืนฟ้าใสอากาศดีๆ สู่เมืองเหนือของเรา

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเกษตรเชิงนิเวศหรือวนเกษตร เพื่อการแก้ปัญหาการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้ที่นี่


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 23 เมษายน 2559   
Last Update : 23 เมษายน 2559 19:18:30 น.   
Counter : 709 Pageviews.  


ลาก่อนถ่านหิน! “พีบอดี” เหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกล้มละลาย



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

โดมิโนชิ้นใหญ่ที่สุดล้มครืน สัญญาณเตือนแห่งทางตันของอุตสาหกรรมถ่านหิน

ข่าวน่าตกใจของอุตสาหกรรมถ่านหินเกิดขึ้น เมื่อ 13 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา บริษัท พีบอดี เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองถ่านหินเอกชนรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ยืนเรื่องต่อศาลล้มละลายของสหรัฐอเมริกา ขอพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เนื่องจากธุรกิจขาดทุนจากราคาถ่านหินที่ตกลง เพราะความต้องการถ่านหินที่ลดลง รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างกฎหมายข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นด้านการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถชำระหนี้สินได้ การล้มละลายของพีบอดีจึงเป็นสัญญาณสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากยุคพลังงานเก่าและทำลายสุขภาพของสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างถ่านหิน สู่ยุคพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อโลกและชุมชน อีกทั้งยังเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนอย่างยั่งยืน

เหมืองถ่านหินของบริษัทพีบอดี ที่ประเทศออสเตรเลีย (ภาพ: Pea Body Energy)

เหตุผลที่พีบอดี “ล้มละลาย”

1. ขาลงของถ่านหิน กับหนี้กว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำนักข่าว Bloomberg ระบุไว้ว่า การล้มละลายของพีบอดี ถือการล้มละลายของบริษัทที่มีหนี้สินมากที่สุด โดยจุดเริ่มต้นของการล้มละลายคือการกู้หนี้จำนวน 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2554 เพื่อซื้อบริษัทถ่านหิน Macarthur ของออสเตรเลีย เพื่อรองรับความต้องการถ่านหินในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน แต่กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันประเทศจีนกำลังพยายามปลดตัวเองออกจากถ่านหินเพื่อแก้วิกฤตปัญหาคุณภาพอากาศอันเลวร้าย

การยื่นขอล้มละลายในครั้งนี้นับว่าเป็นกรณีที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ราคาพลังงานและเหล็กกล้าราคาลดลงตั้งแต่ 2557

2. ผิดคาด! ถ่านหินไม่ได้กำลังบูมอย่างที่คิด

การซื้อบริษัท Macarthur ของออสเตรเลียนั้นเป็นการประเมินที่ผิดพลาดอย่างมากของบีพอดี ว่าตลาดเอเชียกำลังมีปริมาณความต้องการถ่านหินเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่นานาประเทศกำลังมุ่งแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยประเทศจีนเองก็กำลังหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ด้วยการมุ่งมั่นลดปริมาณการใช้ถ่านหินให้ได้ร้อยละ 62.6 ในปีนี้ (จากปีที่แล้วที่ร้อยละ 64.4) เพื่อที่จะบรรลุเจตนารมณ์นี้ ประเทศจีนจึงหยุดการสร้างเหมืองถ่านหินใหม่เป็นเวลา 3 ปี และจากความต้องการของประเทศจีนที่ลดลงอย่างมากนี้เอง ทำให้บริษัทต้องตัดบัญชีสินทรัพย์ลงถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558

3. ไม่ใช่แค่พีบอดี แต่ยังบริษัทถ่านหินอีกเกือบ 50 แห่งที่ล้มละลาย

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมถ่านหินกำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่ สำนักข่าว Forbes.com กล่าวว่า พีบอดีถือเป็นบริษัทถ่านหินลำดับที่ 50 ที่ยื่นขอล้มละลายตั้งแต่ปี 2555 ถือเป็นความพลิกผันของสถานการณ์ถ่านหินเป็นอย่างมาก เพราะเพียงแค่ 5 ปีก่อนหน้านี้มูลค่าบริษัทพีบอดียังสูงถึง 2 หมื่นล้าน และขายถ่านหินให้กับ 25 ประเทศ แต่เป็นช่วงเวลานั้นเช่นกันที่กลุ่มผู้ลงทุนต่างกดดันให้พีบอดีอธิบายถึงการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน จุดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุของการล้มละลายนั้นไม่ใช่เพราะการดำเนินการธุรการที่ผิดพลาด แต่เป็นการล่มสลายของอุตสาหกรรมถ่านหินทั้งหมด

จากตัวเลขของรัฐบาลสหรัฐฯ ปี 2557 อุตสาหกรรมถ่านหินร้อยละ 45 ของสหรัฐฯได้ยื่นคำร้องขอล้มละลายเนื่องจากภาวะตลาดถ่านหินซบเซาทั่วโลก

เหมืองถ่านหิน North Antelope Rochelle ประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพ: Pea Body Energy)

4. กู้วิกฤตโลกร้อน: จุดเปลี่ยนของแหล่งพลังงานจากถ่านหินสู่พลังงานหมุนเวียน

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น และราคาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหตุนี้เองที่ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ปริมาณความต้องการถ่านหินในตลาดสหรัฐฯ ลดลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซตกลงทั่วโลก จึงทำให้ความต้องการถ่านหินในภูมิภาคอื่นอย่างเช่นที่ยุโรป ลดลงตามไปด้วย

ริชาร์ด แบล็ค ผู้อำนวยการของ Energy and Climate Intelligence Unit (ECIU) กล่าวว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญของการล่มสลายของบริษัทพีบอดี “ปัญหามลพิษทางอากาศคือประเด็นหลักที่หลายประเทศกำลังกังวล รัฐบาลในประเทศต่างๆ ก็กำลังวิตกถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันมีต้นเหตุจากถ่านหิน และขณะนี้บริษัทถ่านหินเอกชนรายใหญ่ที่สุดของโลกก็จำต้องถอนตัวแล้ว”

รายงานของ World Bank ได้เผยว่า ราคาถ่านหินกำลังตกลงกว่าร้อยละ 60 ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา และคาดว่าจะตกลงอีกร้อยละ 13 ในปีนี้ อันเป็นผลมาจากความต้องการของตลาดน้อย แต่มีสินค้ามาก

นอกจากประเทศสหรัฐฯ และจีนแล้ว ยุโรปเองก็กำลังถอนตัวจากถ่านหินเช่นกัน หลายประเทศในยุโรปกำลังทยอยปิดการใช้งานโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายของประเทศ ขณะนี้มีทั้งหมด 7 ประเทศแล้ว ได้แก่ เบลเยียม ไซปรัส ลักแซมเบิร์ก มัลตา และบัลติก โดยสหราชอาณาจักร และออสเตรียได้กำหนดแผนที่จะยุติการใช้พลังงานถ่านหินภายในปี 2568 และโปรตุเกสภายในปี 2563 เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ยุคทองของถ่านหินกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว

เรายังคงต้องติดตามต่อไปว่าการชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย และต่อสิ่งแวดล้อมของพีบอดีจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งยังมีประเด็นเรื่องการทำความสะอาดและฟื้นฟูพื้นที่เหมืองถ่านหินหลังจากที่บริษัทล้มละลายไป ซึ่งเหมืองของพีบอดีมีพื้นที่กว่า 90 ตารางไมล์ ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการทำความสะอาดและฟื้นฟู อย่างไรก็ดี การล้มละลายของยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมถ่านหินโลกนี้ ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับถ่านหิน แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพของเราทุกคน อีกทั้งยังเป็นประตูที่เบิกทางสู่อนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นและชัดเจนขึ้นของพลังงานหมุนเวียน


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 23 เมษายน 2559   
Last Update : 23 เมษายน 2559 18:39:41 น.   
Counter : 1719 Pageviews.  


ความจริง (ที่ไม่น่าอร่อย) 3 ประการ ที่คนรักซาชิมิ ควรต้องรู้



เขียน โดย Yen Ning


ทุกหนึ่งในสามคำของซาชิมิมาจากเรือ ประมงทูน่าของไต้หวัน หากคุณกินอาหารทะเลนำเข้าจากต่างประเทศ นั่นคือ คุณได้กินปลาทูน่าที่มาจากเรือประมงของไต้หวัน ดังนั้นเมื่อเรากำลังพูดถึงอาหารทะเลของไต้หวัน เราก็กำลังพูดถึงอุตสาหกรรมหนึ่งที่กำลังสร้างผลกระทบต่อเราทุกคนอยู่

การถ่ายเทปลาทูน่ากลางทะเลหลวงในมหาสมุทรอินเดีย

ท่ามกลางการแข่งขันที่มุ่งสู่การทำกำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อุตสาหกรรมประมงของไต้หวันเกี่ยวโยงกับการทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งที่กำลังเกิดชัดเจนมากขึ้นคือ ที่ใดมีการทำลายสิ่งแวดล้อม ที่นั่่่นจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ นั่นคือ สิ่งที่เราพบในอุตสาหกรรมประมงของไต้หวัน รายงานการตรวจสอบตลอดหนึ่งปีของกรีนพีซเอเชียตะวันออก ตอกย้ำให้เห็นภาพอันโหดร้ายของสิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลหลวงเมื่ออุตสาหกรรมนี้ไร้การควบคุมอย่างเห็นได้ชัด

คุณจึงสมควรต้องได้รู้ ความจริงสามประการนี้ 

1. ล่าหูฉลาม

ในแต่ละปีประเมินกันว่า ฉลามถูกฆ่า 100 ล้านตัว โดยติดเบ็ดราวที่ทอดไว้(จับฉลามได้มากกว่าร้อยละ 90 ของการขึงเบ็ดราวในแต่ละครั้ง) ปกติจะจับปลาทูน่าได้ร้อยละ 25 และ เกือบครึ่ง หรือร้อยละ 50 เป็นปลากระโทง จากการเฝ้าตรวจสอบล่าสุดของเรา กรีนพีซเอเชียตะวันออกพบว่า มีการลักลอบล่าหูฉลามอย่างน้อย 16 เคส จากการเฝ้าจับตาเฉพาะที่ท่าเรือเพียงแห่งเดียว ซึ่งในช่วงสามเดือน พบเดือนละห้าเคส เราจึงได้แต่จินตนาการถึงจำนวนฉลามทั้งหมดที่ถูกล่าจากเรือประมงปลาทูน่า

ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสายตาของรัฐบาลไต้หวัน เรือประมงขนาดใหญ่ของไต้หวันหนึ่งลำ ลักลอบหาปลา ถ่ายเท และพัวพันกับการลักลอบล่าหูฉลาม ทั้งยังคงพฤติกรรมเช่นนี้ต่อ แม้ว่ากรีนพีซได้แจ้งต่อทางการแล้ว 

ปลาแช่แข็งที่คาดว่า น่าจะเป็นฉลาม ถูกตรวจพบที่เมืองตงกัง ของไต้หวัน หูฉลามไม่ได้รับอนุญาตให้แยกชิ้นส่วนจากฉลาม ภายใต้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อปี 2555 แต่จากการตรวจสอบที่ท่าเรือของไต้หวันเพียงแห่งเดียว แค่ในช่วงสามเดือน กรีนพีซเอเชียตะวันออกพบว่ามีการลักลอบล่าหูฉลามถึง 16 เคส

2. ละเมิดสิทธิมนุษยชน

คนงานต่างด้าวมากกว่า 160,000 คนบนเรือประมงในน่านน้ำที่่ห่างไกลของไต้หวัน อยู่ในข่ายการค้ามนุษย์ ถูกบังคับและเป็นแรงงานติดหนี้ 

กรณีอื้อฉาวที่สุดที่เพิ่งเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งคือ เรือประมงและบริษัทของไต้หวันหลายแห่งเกี่ยวพันกับการยิงกันกลางทะเล การค้ามนุษย์ และ ลักลอบทำประมง โดยภาพที่ปรากฎออกมาชัดเจนมากว่า อุตสาหกรรมนี้ต้องได้รับการควบคุมอย่างเร่งด่วน 

ชาวประมงลากเบ็ดราวจับปลาทูน่าในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ระหว่างทำประมงจับปลาทูน่าอัลบาคอร์

3. การกดขี่แรงงาน

จากการสัมภาษณ์คนงานต่างด้าวสิบกว่าคนที่ทำงานบนเรือประมงของไต้หวัน ซึ่งแต่ละคนเปิดเผยถึงวัฒนธรรมการกดขี่แรงงาน การถูกระราน และ ความรุนแรง รายงานได้เปิดเผยข้อเท็จจริงที่แรงงานต่างด้าวถูกละเมิดบนเรือประมงของไต้หวัน ลูกเรือชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกด้วยว่า ได้รับเงินค่าจ้างล่าช้า และ ยังถูกยึดเงินค่าจ้างไว้ด้วย นอกเหนือจากสภาพการทำงานที่น่ากลัว ถูกนายหน้ากดขี่ ทั้งโดยคำพูดและทางกาย และถึงขั้นตายกลางทะเล

ปลาแช่แข็งที่คาดว่า น่าจะเป็นฉลามที่เมืองตงกัง ไต้หวัน

แล้วเราควรทำอย่างไร?

เราทุกคนรู้ดีถึงปัญหา: เมื่อหกเดือนก่อน อียูให้ใบเหลืองไต้หวัน เป็นคำเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกคว่ำบาตรการค้า ตอนนั้นเราต่างไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ตอนนี้ รัฐบาลไต้หวันกำลังพิจารณาเสนอกฎหมายฉบับใหม่ และ แก้ไขข้อที่จำเป็นในฉบับเดิม ปัญหาคือ รัฐบาลสามารถทำอะไรก็ได้หากไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่หากเราไม่แจ้งตำรวจและรัฐบาลไม่บังคับใช้กฎหมาย มันก็เปล่าประโยชน์ ตอนนี้เราจึงต้องช่วยกันกระจายข่าวให้กว้างและไกลว่า อุตสาหกรรมประมงของไต้หวันเจือปนด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

เราควรเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่ง ร้านซูชิ และ ร้านค้าต่างๆ ซื้อปลาจากแหล่งที่บอกเราได้ว่า ทูน่าที่เรากินมาจากไหน และ ยืนยันให้เราได้ว่า ที่เราซื้ออาหารทะเลแต่ละครั้งนั้น เราไม่ได้มีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน การล่าหูฉลาม และ การลักลอบจับปลา ตรวจสอบคู่มือซื้อทูน่าได้ที่นี่

ปลาทูน่าจำนวนมหาศาลส่งไปในสายการผลิตของบริษัทหลายแห่ง รวมทั้ง ไทยยูเนี่ยน ซึ่งทำตลาดไว้แล้วทั่วโลก

ร่วมกับเราเรียกร้องให้บริษัทไทยยูเนี่ยนล้างบางห่วงโซ่อุปทานอาหารทะล โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

เหยิน หนิง เป็นเจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านมหาสมุทร กรีนพีซเอเชียตะวันออก ในนครไทเป
ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 22 เมษายน 2559   
Last Update : 22 เมษายน 2559 18:12:35 น.   
Counter : 827 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com