กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ปฏิรูป E(H)IA ปกป้องกระบี่ ยุติยุคถ่านหิน

กรุงเทพฯ, 3 มีนาคม 2558 –วันนี้เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินรวม 5 คน เดินรณรงค์หยุดถ่านหินและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(และสุขภาพ)ของประเทศไทยโดยทันที 

การเดินรณรงค์ครั้งนี้จะเข้าพบคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อหยิบยกความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ก่อนที่ คชก. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 นี้

การเดินรณรงค์เพื่อเข้าพบ คชก. ในวันนี้เป็นการเดินเท้าระยะทางกว่า 13 กิโลเมตรไปยังหน่วยงานรัฐและสถาบันอุดมศึกษาที่ คชก. แต่ละท่านสังกัดอยู่ โดยวันนี้วางแผนเข้าพบ คชก. ทั้งหมด 4 ท่าน และจะยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ คชก. อีก 4 ท่านในวันที่ 5 มีนาคมที่จะถึงนี้ การเดินรณรงค์ในวันนี้เริ่มต้นที่กรมควบคุมมลพิษ ไปยังคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  และสิ้นสุดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ดุลยพินิจและความกล้าหาญทางจริยธรรมของ คชก. ทั้ง 8 ท่าน จะกำหนดอนาคตของกระบี่ว่าจะเป็นมรกตแห่งอันดามันหรือตกอยู่ใต้เงามืดของถ่านหิน กระบวนการ EIA ของโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินที่คลองรั้วนี้ไร้ความชอบธรรมตั้งแต่ต้น นอกจากไม่คำนึงถึงข้อโต้เถียงของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบในด้านต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้ว ยังละเลยถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ (Krabi river estuary) ในฐานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ เป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่ทำมาหากิน การผลิตอาหารและฐานทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืนที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศอีกด้วย” นายสมนึก กรดเสือ ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน กล่าว

โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วเป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อขนถ่ายถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกา มาเป็นเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์ จุดของโครงการท่าเทียบเรือตั้งอยู่ ณ ตําบลตลิ่งชัน อําเภอคลองขนาน จังหวัดกระบี่ ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีสถานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ (Wetland of International Importance)

ช่วงปี 2557 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในแต่ละครั้งสะท้อนชัดเจนถึงกระบวนการการจัดทำ E(H)IA ที่ล้มเหลวและขาดความชอบธรรม ยกตัวอย่างเช่น ในการรับฟังความคิดเห็นของและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2557 มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน  การข่มขู่ความปลอดภัยของแกนนำในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยการใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจา และทางร่างกายในระหว่างการแสดงความคิดเห็น

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ประเทศไทยต้องเร่งปฏิรูประบบ E(H)IA ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้มีกำกับดูแล จากหน่วยงานอิสระด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่แยกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้กระบวนการจัดทำรายงาน E(H)IA เป็นไปตามหลักการทางวิชาการอย่างแท้จริง มีความยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้”

“ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายพลังงานระดับชาติต้องมีวิสัยทัศน์และเจตจำนงทางการเมืองที่มุ่งมั่นต่อระบบพลังงานหมุนเวียนผสมผสานและกระจายศูนย์ที่เป็นความมั่นคงด้านพลังงานที่แท้จริง มิใช่การเสพติด “ถ่านหิน” ซึ่งไม่มีอนาคตในสังคมที่ยั่งยืนและปลอดภัย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติยุคของถ่านหิน” นายธารากล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ

  1. เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินประกอบด้วย 1.กลุ่มรักลันตา 2.กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา 4.สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา 5. มูลนิธิอันดามัน 6. ศูนยสร้างเสริมจิตสานึกนิเวศวิทยา 7. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 9. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพฒันาเอกชนภาคใต้(กปอพช) 10.โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้ 11.กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง 12.กลุ่มรักษ์อันดามัน 13.กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัยจังหวัดกระบี 14. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ 15. เครือข่ายประมงพื้นบ้านจงัหวัดกระบี่ 16.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน 17.เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน 18. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 19. เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน 20. เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย Thailand Coal Network 21.เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Coal Network 22.มูลนิธินโยบายสุขภาวะ23. เครือข่ายนักวิชาการ EIA EHIA Watch Thailand 24. สมาคมคนรัก��์เลกระบี่ 25. มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้าไทย 26. กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเกาะกลาง จ.กระบี่

  1. ประชาชนสามารถร่วมส่งเสียงเพื่อแสดงพลังหยุดถ่านหินได้ที่ //protectkrabi.org/apps/

  1. รายชื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
    1. รศ. ดร. พูลศักดิ์ เพียรสุสม 
    รองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    2. รศ. ดร. วิญญู รัตนปิติกรณ์
    รองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา (CET) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

    3. นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ
    ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ

    4.นายสุวิทย์ ชุมนุมศิริวัฒน์
    อาจารย์ที่ปรึกษาประจำภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

    5. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี
    ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน

    6. นายวัฒนสิทธิ์ ศิริวงศ์
    อาจารย์ ดร. วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และผู้ช่วยคณบดีส่วนการศึกษา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    7. นาวาเอกเทวัญ สุจริตวงศานนท์
    ผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และผู้อำนวยการฝึกผสมร่วมคอบร้าโกลด์ 2015

    8. นางสาวคนางค์ คันธมธุรพจน์
    อาจารย์ ดร. สังกัดภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  2. จดหมายจากชาวกระบี่ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สมฤดี ปานะศุทธะ  ผู้ประสานงานสื่อมวลชน  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร. 081 929 5747 อีเมล: @greenpeace.org">spanasud@greenpeace.org

 
ข่าวประชาสัมพันธ์ - มีนาคม 3, 2558
 




 

Create Date : 03 มีนาคม 2558   
Last Update : 3 มีนาคม 2558 15:25:36 น.   
Counter : 833 Pageviews.  


ปฏิรูปพิธีกรรม E(H)IA! ก่อนกระบี่จะตกอยู่ใต้เงาถ่านหิน

ที่ผ่านมาในกระบวนการจัดทำ E(H)IA ในการพิจารณาโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินบ้านคลองรั้ว ถือเป็นตัวอย่างของกระบวนการ E(H)IA ที่ล้มเหลวและไม่ชอบธรรมมากที่สุด 

ขณะนี้กระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน E(H)IA ของท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ หรือคชก.เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากชาวกระบี่ผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และประชาชนกว่า 45,000 คน ที่ร่วมลงชื่อปกป้องกระบี่บน ProtectKrabi.org และ Change.org ทั้งในประเด็นเรื่องผลกระทบทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความอุดมสมบูรณ์สวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ของกระบี่ที่อาจถูกทำลายไปหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น เห็นได้ชัดถึงจุดบอดของกลไก E(H)IA หากเราไม่เร่งรื้อระบบ E(H)IA เราคงต้องยอมสูญเสียกระบี่ไปให้กับความไม่ชอบธรรมของระบบ E(H)IA ที่เอื้อต่อเจ้าของโครงการ

#EHIAreform ต้องรื้อ! เหตุผลที่ต้องปฏิรูประบบ E(H)IA

1. แยกเจ้าของโครงการออกจากผู้จัดทำ E(H)IA

กระบวนการ E(H)IA ควรจะเป็นกระบวนการที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นของชุมชนและประชาชนทั่วไป ไม่ใช่เอื้อและสร้างความชอบธรรมให้กับเจ้าของโครงการ โดยเจ้าของโครงการต้องไม่เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการทำรายงาน E(H)IA ควรมีหน่วยงานอิสระเป็นหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่จัดหาผู้ทำรายงาน และมีหน้าที่ในการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไม่ให้ตกเป็นผลประโยชน์ของผู้ใดผู้หนึ่ง จำเป็นต้องสร้างกฎหมายรองรับสิทธิชุมชน ประกอบกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ดังเช่นที่เห็นในกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตพยายามผลักดันโครงการให้ผ่านพ้นเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและภาคสังคม

2. กำหนดอายุของการจัดทำรายงาน E(H)IA ของโครงการนั้นๆ

ปัจจุบันกระบวนการ E(H)IA อนุญาตให้ผู้เสนอโครงการสามารถแก้ไขได้หลายรอบจนกว่าจะผ่าน กล่าวคือ ในกรณีที่คชก. ให้ความเห็นชอบกับรายงานฯ สผ.จะสรุปความคิดเห็นไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และครม.พิจารณา หลังจากนั้นหน่วยงานผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้เจ้าของโครงการดำเนินการต่อไปได้ แต่หากไม่เห็นชอบ เจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการแก้ไขรายงานฯ แล้วยื่นรายงานที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับให้กับสผ. สรุปการพิจารณาและนำเสนอคชก.ภายใน 30 วัน ซึ่งนั่นหมายความว่า ถึงแม้ครั้งนี้คชก.จะไม่อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่กฟผ.จะสามารถนำไปแก้ไขและเสนอได้ใหม่ในอีกทุกๆ 30 วัน หรือทำรายงานใหม่และยื่นเสนอใหม่อีกครั้งโดยไม่จำกัด อีกนัยหนึ่งคือ เราคงต้องต่อสู้เพื่อผลักดันให้โครงการนี้ยุติลงอย่างไม่มีวันสิ้นสุด หากกระบวนการ E(H)IA ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ชอบธรรม

3. เริ่มต้นระบบ SEA เพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

การประเมินผลกระทบ EIA หรือ EHIA นั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์  (Strategic Environmental Assessment: SEA) นำทางเลือกและทิศทางในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ อย่างละเอียด สอดคล้องกับชุมชน และความคิดเห็นของประชาชน แต่สำหรับในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น นอกจากจะไม่พิจารณาทางเลือกพลังงานหมุนเวียนที่ชุมชนต้องการแล้ว ยังผลักดันโครงการด้วยการเสนอพื้นที่ตั้งโครงการมาเพียงสองตัวเลือก คือ บริเวณสะพานช้าง และบริเวณบ้านคลองรั้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่มีความสำคัญระดับโลก มีหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในประเทศอันเป็นบ้านของฝูงพะยูน และเป็นแหล่งประมงที่หล่อเลี้ยงชาวกระบี่และชาวไทย อีกทั้งยังขาดการประเมินผลกระทบที่เกิดจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และไม่มีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและสังคมของบริเวณนั้นอย่างแท้จริง กระบี่มียุทธศาสตร์ของจังหวัดที่ประชาชนเห็นร่วมกัน คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยที่เน้นเกษตรกรรม การประมง และการท่องเที่ยว ซึ่งเหมาะกับสภาพแวดล้อมของกระบี่ ชาวกระบี่ไม่ปฏิเสธโรงไฟฟ้า แต่ปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น

ถึงเวลาแล้วที่กระบวนการ E(H)IA ที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส ทั้งกระบวนการ ขาดข้อมูลที่รอบด้าน ผิดฝาผิดตัว จะต้องถูกปฏิรูปเสียใหม่ ให้กลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการกลั่นกรองผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในชาติ มากกว่าแค่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมหนึ่งเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ หรือการทำอีไอเอ/อีเอชไอเอของโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

ร่วมหยุดถ่านหิน ปฏิรูป E(H)IA ที่นี่ www.protectkrabi.org

 
Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 2, 2558 ที่ 17:03
 




 

Create Date : 03 มีนาคม 2558   
Last Update : 3 มีนาคม 2558 11:45:15 น.   
Counter : 954 Pageviews.  


เปิดบ้านหมีขาว ทักทายและปกป้องเจ้าบ้านอาร์กติกทั้ง 13 ชนิด

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ของทุก ๆ ปี เป็นวันหมีขั้วโลกสากล หรือ International Polar Bear Day :ซึ่งกำหนดไว้เพื่อให้เราตระหนักถึงการอนุรักษ์และปกป้องเหล่าหมีขั้วโลกที่อาศัยอยู่ในทวีปอาร์กติก

เมื่อได้ยินคำว่าอาร์กติก เรามักนึกถึงอะไรบ้าง? ผู้คนส่วนใหญ่ก็คงจะนึกถึง น้ำแข็ง ความหนาวเย็น และ หมีขั้วโลก แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากหมีขั้วโลกที่น่ารักแล้ว ยังมีเพื่อนสัตว์อีกหลายชนิดอาศัยอยู่ที่อาร์กติกหลังจากที่เราร่วมกันผลักดันปกป้องอาร์กติกกันมายาวนาน ลองมารู้จักกับผองเพื่อนของหมีขั้วโลกที่อาศัยอยู่ที่ดินแดนอาร์กติก แล้วคุณจะหลงรักดินแดนน้ำแข็งแสนมหัศจรรย์นี้มากขึ้น


เกาะน้ำแข็งกลาเซียร์ในสฟาลบาร์ อาร์กติก


 
แน่นอนว่าน้อยคนนักที่มีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวในอาร์กติก จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้อาศัยอยู่ที่นั่นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุข ซึ่งผู้อาศัยที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ก็ไม่ใช่ชาวเอสกิโม แต่เรากำลังพูดถึงเหล่าสัตว์นานาชนิดที่พึ่งพาอาร์กติกเป็นบ้าน แม้ว่าอุณหภูมิที่ติดลบและป่าบอเรียลอันขรุขระอาจจะดูเป็นภูมิภาคที่ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ เชื่อหรือไม่ว่าสัตว์เหล่านี้สามารถเติบโตในเขตทุนดราของอาร์กติกได้อย่างน่ามหัศจรรย์

 เราอาจรู้จักสัตว์ทั้ง 13 ชนิดนี้กันบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น หมีขั้วโลก หรือ นกเค้าแมวหิมะ แต่ก็ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่มีลักษณะแปลกแตกต่างจากที่เราเคยรู้จัก เช่น สัตว์ที่มีฉายาว่า “ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล” และ แมวป่าแคนาดา เป็นต้น วันนี้ เราจะไปรู้จักกับเพื่อน ๆ ตัวแทนแห่งทวีปอาร์กติก ภูมิภาคแห่งน้ำแข็งกัน



แม่และลูกหมีขั้วโลกบริเวณเกาะ สฟาลบาร์ อาร์กติก


หมีขั้วโลก (Polar Bear)

หมีขั้วโลกได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคอาร์กติกด้วยความน่ารักและสง่างามของมัน  หมีขั้วโลกเป็นที่รู้จักในอีกหลากหลายชื่อ เช่น “nanook” “nanuq” “หมีน้ำแข็ง” “หมีทะเล” และ “isbj” เจ้าหมีขาวร่างยักษ์นี้ก็เป็นหนึ่งในหลายสายพันธุ์ที่ได้รับการพิจารณาให้อยู่ในระดับ “เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” และได้รับการคุ้มครองโดยสหรัฐแบบเดียวกับวาฬเบลูกา โดยอ้างอิงจากองค์กร U.S. Fish and Wildlife Service

แม้ว่ารูปร่างหน้าตาที่ดูน่ารักของหมีขั้วโลกนี้จะทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นสัตว์ที่น่ารัก แต่หมีขั้วโลกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินเนื้อ ซึ่งของโปรดของมันก็คือ แมวน้ำ ไม่แปลกใจเลยที่พวกมันจะอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นส่วนใหญ่ 

ถึงจะดูน่ารักน่าเกรงขาม แต่หมีขั้วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างร้ายแรง ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อความเป็นอยู่ของหมีขั้วโลกเพราะน้ำแข็งที่ละลายเร็วเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้หมีล่าเหยื่อได้ยากขึ้น ทำให้หมีขั้วโลกเผชิญกับความอดอยาก และการขาดแคลนอาหาร

ตามอนุสัญญาการตกลงอนุรักษ์หมีขั้วโลกอย่างยั่งยืน ประเทศที่ลงนามกับอนุสัญญาดังกล่าวจะต้องออกกฎห้ามล่าสัตว์ชนิดนี้ นอกจากนี้หมีขั้วโลกยังถูกระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์สูญพันธุ์ระหว่างประเทศอีกด้วยว่า เป็นสัตว์ที่ต้องมีถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดในการซื้อขายสัตว์ระหว่างประเทศ


ภาพ: นกเค้าแมวหิมะในแคนาดา ขอบคุณภาพจาก nationalgeographic.com


นกเค้าแมวหิมะ (Snowy Owl)

หากใครที่เป็นแฟนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คงจะรู้จักเพื่อนผู้ภักดีของแฮร์รี่อีกตัวหนึ่งเป็นอย่างดี นั่นก็คือเฮ็ดวิกส์ ถูกต้องแล้ว เฮ็ดวิกส์คือนกเค้าแมวหิมะ นกสายพันธุ์นี้เป็นนกเพียงชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในอาร์กติกทั้งปี พวกมันอาศัยอยู่ในเขตตอนเหนือของทวีปอเมริกาและตอนเหนือของยุโรป เมื่อโตเต็มวัยนกเค้าแมวหิมะมีขนาดลำตัวใหญ่ มีสีขาวสะอาด ขนที่ปีกจะมีแต้มสีดำบ้าง มันมีดวงตากลมโตบ้างก็มีสีเหลือง บ้างก็มีสีฟ้า แตกต่างจากตอนที่พวกมันเป็นลูกนก เพราะเมื่อครั้งที่พวกมันยังเด็ก ขนของมันจะมีสีเทาปกคลุมทั้งตัว 



วูฟเวอร์รีน ขอบคุณภาพจาก mnn.com


วูฟเวอร์รีน (Wolverine)

อย่าเพิ่งตกใจและนึกถึงความเก่งกาจของซูเปอร์ฮีโร่วูฟเวอร์รีนในภาพยนตร์ที่มีชื่อเหมือนกัน เพราะเจ้าสัตว์ชนิดนี้ลักษณะทางกายภาพของมันไม่เหมือนกับหมาป่าเลยซักนิด ความจริงแล้ววูฟเวอร์รีนเป็นสัตว์ในตระกูลพังพอน มีลักษณะคล้ายกับนากแม่น้ำ แล้วก็ไม่ได้มีกรงเล็บอะดาแมนเทียมที่พับเก็บได้อีกด้วย แต่ข้อมูลจาก U.S. Fish and Wildlife Services องค์กรที่มุ่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา สิ่งมีชีวิต และพืชพันธุ์ ในอเมริกา ให้คำตอบว่า วูฟเวอร์รีนมีกรงเล็บกึ่งพับได้ เพื่อใช้ในการขุดหิมะและปีนต้นไม้


แมวป่าแคนาดาใช้อุ้งเท้าที่หนาเดินบนเกล็ดน้ำแข็ง ขอบคุณภาพจาก mnn.com


แมวป่าแคนาดา (Canada lynx)

โดยทั่วไปเรามักจะเห็นแมวป่าที่มีขนาดเล็ก แต่รูปร่างอันใหญ่โตของแมวป่าแคนาดาจะทำให้เราตะลึง เพราะมันมีช่วงขาที่ยาวมากและอุ้งเท้ากว้างปกคลุมไปด้วยขนเพื่อทำให้ทนต่อความหนาวและเดินในหิมะได้ง่ายขึ้น แมวป่าแคนาดาล่ากระต่ายหิมะ (ญาติห่างๆของกระต่ายอาร์กติก) เป็นอาหาร

ในช่วงปี พ.ศ.2503 – พ.ศ.2512 แมวป่าแคนาดาในโคโรลาโดเกือบต้องสูญพันธ์ไป แต่ก็โชคดีที่ความพยายามอนุรักษ์และเพิ่มประชากรแมวป่าสายพันธุ์นี้ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันองค์กร  U.S. Fish and Wildlife Service ได้พิจารณาและประกาศในรัฐอย่างน้อยใน 48 รัฐ ให้สัตว์ชนิดนี้อยู่ในระดับ “เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” และต้องอนุรักษ์


หงส์ทุนดรา ขอบคุณภาพจาก en.wikipedia.org


หงส์ทุนดรา (Tundra swan)

หงส์ทุนดราเป็นสัตว์ที่มีการอพยพโยกย้ายในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง โดยจะอพยพไปยังอลาสก้าในฤดูใบไม้ผลิของทุก ๆ ปี เพื่อสร้างรังและวางไข่ ส่วนในฤดูใบไม้ร่วง พวกมันจะย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่ นอร์ท แคโรไลนา ไปจนถึง รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา



จิ้งจอกแดงในเยลโล่สโตน ขอบคุณภาพจาก nationalgeographic.com


สุนัขจิ้งจอกแดง (Red fox)

อันที่จริงแล้ว สุนัขจิ้งจอกแดงไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของอาร์กติก เพราะเราสามารถพบเห็นสุนัขจิ้งจอกแดงได้เกือบทุก ๆ ภูมิภาคในโลก ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติก โชคไม่ดีที่มันมักจะเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ในระบบนิเวศต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นในออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2398 มนุษย์ได้นำจิ้งจอกแดงเข้ามาเลี้ยงเอาไว้ออกล่านกและสัตว์อื่นเพื่อความสนุกสนาน จนกระทั่งพวกมันขยายพันธ์ไปอย่างรวดเร็ว  150 ปีหลังจากนั้น สุนัขจิ้งจอกแดงแห่งอาร์กติกนี้กำลังคุกคามจำนวนประชากรนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลีย



วาฬเบลูกา ขอบคุณภาพจาก mnn.com


วาฬเบลูกา (Beluga)

วาฬเบลูกาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะพิเศษ พวกมันเป็นวาฬที่มีส่วนหัวเล็ก แต่ช่วงลำตัวแข็งแรง ตัวโตเต็มวัยไม่มีครีบบนหลัง ในอดีตการล่าสัตว์ในเชิงพาณิชย์เป็นภัยคุกคามวาฬชนิดนี้

วาฬสีขาวที่มีชื่อเสียงโด่งดังนี้พบเห็นได้บริเวณกระแสน้ำเย็นใน อลาสก้า แคนาดา กรีนแลนด์และรัสเซีย อย่างไรก็ตามจำนวนประชากรของมันน่าเป็นห่วงมากและถูกพิจารณาว่าเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกด้วย โดยวาฬเบลูกาที่สำรวจพบในอลาสก้า สหรัฐอเมริกา เหลือเพียงแค่ 5 ตัว จากการสำรวจประชากรวาฬเบลูก้าที่อ่าว คู้ก อินเลท บริเวณอลาสก้า มีวาฬหนึ่งในไม่กี่ตัวที่ไม่อพยพย้ายถิ่น 

เมื่อเร็วๆ นี้ พวกมันได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายของสหรัฐที่ให้วาฬเบลูกาเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 


กวางคาริบู ขอบคุณภาพจาก nationalgeographic.com


กวางคาริบู (Caribou)

หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ กวางเรนเดียร์ เราสามารถพบเจ้ากวางคาริบูนี้ได้ในแถบตอนเหนือและตอนใต้ของอลาสก้า แคนาดา รัสเซียและกรีนแลนด์ พวกมันเป็นกวางสายพันธุ์เดียวที่ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเขาเหมือนกัน ประชากรกวางคาริบูอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกับประชากรของหมีขั้วโลกและวาฬเบลูกา กวางคาริบูได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกเช่นกัน


นาร์วาฬ ขอบคุณภาพจาก assets.worldwildlife.org


นาร์วาฬ (Narwhal)

นาร์วาฬนี้เองที่มีฉายาว่า “ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล” เพราะความยาวของงา(บางครั้งยาวมากกว่า120 นิ้ว!) ที่งอกออกมาจากขากรรไกร คล้ายกับเขาของยูนิคอร์น นาร์วาฬอาศัยอยู่ในแถบอาร์กติกตลอดทั้งปี ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษนี้อาศัยอยู่ในกรีนแลนด์และแคนาดา อาหารของมันคือปลาหมึก แม้เราจะทราบแล้วว่างาของมันไม่ได้ใช้สำหรับล่าสัตว์ แต่วิธีการหาอาหารและการผสมพันธุ์ของนาร์วาฬยังคงเป็นเรื่องลึกลับที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่กล้าฟันธง อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ได้สันนิษฐานไว้ว่า งาของนาร์วาฬคือสิ่งที่ดึงดูดตัวเมียในเวลาหาคู่


สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก ขอบคุณภาพจาก nationalgeographic.com


สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก (Arctic Fox)

สุนัขจิ้งจอกอาร์กติกพบได้ในระบบนิเวศอาร์กติก ซึ่งพบมากที่สุดในซีกโลกเหนือ แต่จะอยู่ในไอซ์แลนด์ ที่ที่เป็นพื้นที่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น พวกมันอพยพมาถึงไอซ์แลนด์ในช่วงยุคน้ำแข็งตอนปลาย ก่อนที่จะข้ามน้ำแข็งไปยังเกาะภูเขาไฟ จิ้งจอกสายพันธุ์นี้ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ในสแกนดิเนเวียร์ ที่ที่มันได้รับการปกป้องอย่างเข้มงวดมานานหลายทศวรรษ


นกเกรท อัค ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ลอส แองเจลิส 
ขอบคุณภาพจาก nationalgeographic.com


นกเกรท อัค(Great Auk)

นกจำพวกนี้คือนกสายพันธุ์ดั้งเดิมของเพนกวินและเป็นนกที่บินไม่ได้ชนิดแรกที่เราเรียกว่า “เพนกวิน” พวกมันเคยอาศัยอยู่บริเวณมหาสมุทรทางตอนเหนือของแอตแลนติก แคนาดา และพบได้ในทางตอนใต้ของ นิว อิงแลนด์ ในที่สุด เพราะการล่านกเกรท อัค เป็นเหตุทำให้พวกมันต้องสูญพันธุ์ไปเมื่อช่วงปี พ.ศ.2330

เพราะการสูญพันธุ์ของนกเกรท อัค นี้เอง จึงทำให้ไม่มีนกเพนกวินอาศัยอยู่ในทวีปอาร์กติก เหลือแต่นกเพนกวินมีถิ่นที่อยู่อาศัยแค่ในซีกโลกใต้เท่านั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมจึงไม่มีนกเพนกวินอาศัยอยู่ในอาร์กติก



นกพัฟฟินแอตแลนติก ขอบคุณภาพจาก en.wikipedia.org


นกพัฟฟินแอตแลนติก (Atlantic Puffin)

เจ้านกหน้าตาน่ารักน่าชังนี้ รู้จักกันในนามว่า พัฟฟิน พวกมันเป็นญาติห่าง ๆ กับนกเกรท อัค แต่โชคดีที่พวกมันยังมีชีวิตอยู่และสามารถพบได้ในตอนเหนือของยุโรป อารก์ติก นิวฟาวด์แลนด์ และส่วนหนึ่งของ รัฐเมน เจ้านกทะเลพันธุ์นี้ใช้เวลากว่าทั้งชีวิตว่ายบนผืนน้ำ หาปลาและปลาหมึกเป็นอาหาร หากเมื่อใดนกเหล่านี้ขึ้นบก เมื่อนั้นจะเป็นฤดูผสมพันธุ์ของนกพัฟฟินและเป็นสัญญาณว่าฤดูใบไม้ผลิกับฤดูร้อนกำลังจะมาถึง



กระต่ายอาร์กติก ขอบคุณภาพจาก animals.nationalgeographic.com


กระต่ายอาร์กติก (Arctic hare)

สิ่งมีชีวิตขนปุกปุยนี้พบได้ในเขตรัฐอลาสก้า แคนาดา กรีนแลนด์ และอาร์กติก ซึ่งสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจของเจ้ากระต่ายอาร์กติกก็คือความสามารถในการพรางตัว ในช่วงฤดูหนาว กระต่ายสายพันธุ์นี้จะผลัดขนขนทั้งตัวกลายเป็นสีขาวเพื่อพรางตัวให้กลืนไปกับหิมะ แต่ในช่วงฤดูร้อนขนของมันก็จะกลายเป็นสีน้ำตาลเทา

เจ้ากระต่ายอาร์กติกเป็นสัตว์สายพันธุ์ที่ไม่ได้อยู่ในระดับที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่หากเกิดการขุดเจาะน้ำมันในอาร์กติก บ้านของสัตว์ทั้ง 13 ชนิดแล้วล่ะก็ สักวันหนึ่งกระต่ายอาร์กติกอาจต้องเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แมวป่าแคนาดาคงเหลือแต่เพียงรูปถ่าย และยูนิคอร์นแห่งท้องทะเลก็คงจะกลายเป็นเพียงตำนาน ซึ่งเราคงไม่อยากให้เหตุการณ์การสูญพันธุ์ของสัตว์เกิดขึ้นอีก 

อาร์กติกเป็นภูมิภาคที่เปราะบาง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด หากอุตสาหกรรมน้ำมันและการประมงมุ่งแสวงหาประโยชน์จากอาร์กติกก็จะยิ่งเป็นการเร่งให้หมีขั้วโลก และเพื่อนสัตว์มหัศจรรย์เหล่านี้ขยับเข้าใกล้การสูญพันธุ์เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะร่วมรวมพลังกันปกป้องอาร์กติก บอกให้โลกรู้ว่าอาร์กติกสำคัญกับเหล่ามนุษย์และสัตว์มากขนาดไหน! 

ร่วมปกป้องอาร์กติก

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.mnn.com

Blogpost โดย แปลและเรียบเรียงโดย Supang Chatuchinda -- กุมภาพันธ์ 27, 2558 ที่ 8:54

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/13/blog/52194/




 

Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2558 12:12:46 น.   
Counter : 2223 Pageviews.  


เผยโฉมหน้า คชก. EIA ท่าเรือถ่านหินคลองรั้ว ผู้กุมชะตาและความหวังของกระบี่ "ยุติยุคถ่านหิน"

ขณะนี้การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่มาถึงขั้นตอนอันสำคัญยิ่ง 

แม้ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำอีไอเอ/อีเอชไอเอ โครงการท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านคลองรั้ว และโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ได้ผ่านพ้นไปท่ามกลางความไม่ชอบธรรม ไม่โปร่งใส และการเร่งรัดดึงดันให้ขั้นตอนต่างๆ ผ่านไปอย่างเร่งด่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และมีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากหลายภาคส่วนตลอดมา

ตามขั้นตอนแล้ว หลังจากผ่านพ้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน (ค.1,2 และ 3) ตอนนี้รายงานอีไอเอถูกส่งมายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (สผ.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. ขึ้น จำนวน 8 ท่าน โดยกลุ่มคชก.นี้เองจะพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการท่าเทียบเรือนี้

อนาคตของกระบี่อยู่ในมือของคชก. ทั้ง 8 ท่านเหล่านี้ เหลือเพียงแค่ว่าพวกเขาจะเลือกเป็นผู้นำที่หันมาปกป้องกระบี่ด้วยการชี้ขาดว่ากระบวนการอีไอเอนี้ไม่ชอบธรรมไม่เหมาะสมแก่การดำเนินโครงการ และร่วมเปล่งเสียงรักกระบี่พร้อมกับเราทุกคน พื้นที่กระบี่บริเวณนี้นอกเหนือจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ําปากน้ํากระบี่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ระดับโลกแล้ว ยังเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งผลิตอาหารและปอดเลี้ยงคนกระบี่ เป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อาศัยอยู่ เป็นมรกตเม็ดงามของอันดามันที่ไม่ควรถูกทำลายด้วยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

รายชื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA ท่าเรือถ่านหินคลองรั้ว

1.  รศ. ดร. พูลศักดิ์ เพียรสุสม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้าง

ตำแหน่ง: รองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความเชี่ยวชาญ:
วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมสะพาน การซ่อมแซมและเสริมกำลังโครงสร้าง การสั่นสะเทือนของโครงสร้าง

การศึกษา
ปริญญา B.Eng. Civil Engineering, Chulalongkorn University
M.Eng. Civil Engineering, University of Tokgo
Ph.D. Civil Engineering, University of Tokgo

2. รศ. ดร. วิญญู รัตนปิติกรณ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่ง

ตำแหน่ง: รองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา (CET) Head of the School of Civil Engineering and Technology and Chairperson of Civil Engineering Curriculum สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

การศึกษา:
B.Eng. in Agricultural Engineering, Khon Kaen University, Thailand
M.Eng. in Water Resources Development, Asian Institute of Technology (AIT), Thailand
D.Eng. in Coastal Engineering,Yokohama National University, Yokohama, Japan

3. นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ  ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศและเสียง

ตำแหน่ง: ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ

4.นายสุวิทย์ ชุมนุมศิริวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำเสียและการระบายน้ำ

ตำแหน่ง: อาจารย์ที่ปรึกษาประจำภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5.นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเล

ตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน 

6.นายวัฒนสิทธิ์ ศิริวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

ตำแหน่ง: อาจารย์ ดร. วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และผู้ช่วยคณบดีส่วนการศึกษา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษา:
Philosophy Degree, Graduate School (Environmental Management), Chulalongkorn University 2007
Master Degree , Faculty of Science and Technology (Environmental Science), Thammasat University 2001
Bachelor Degree , Faculty of Science (Biotechology), Mahidol University2540 / 1997

7. นาวาเอกเทวัญ สุจริตวงศานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัย 

ตำแหน่ง:  ผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ผู้อำนวยการฝึกผสมร่วมคอบร้าโกลด์ 2015

8.นางสาวคนางค์ คันธมธุรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ -สังคม  และการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ตำแหน่ง: อาจารย์ ดร. สังกัดภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การศึกษา:
ปี 2555 PhD Social Sciences Wageningen School Social Sciences, Wageningen University, the Netherlands 
ปี 2547 M.Sc. (Environmental Sciences) Wageningen University, the Netherlands 
ปี 2545 วิทยาศาสตรบัณฑิต (สังคมวิทยาและมนุษยวิทยา) เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- กุมภาพันธ์ 26, 2558 ที่ 21:29

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/8-eia/blog/52190/




 

Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2558 10:19:15 น.   
Counter : 1590 Pageviews.  


ความหวังท่ามกลางม่านหมอกมลพิษ จุดเปลี่ยนจากถ่านหินสู่พลังงานหมุนเวียนของจีน

 

นอกจากพลังงานถ่านหินจะมอบบาดแผลให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชนผู้อยู่อาศัยโดยรอบแล้ว ยังมอบบทเรียนเล่มใหญ่ให้เป็นที่ระลึก ถึงแม้จะเป็นบทเรียนที่ไม่น่าเรียนรู้สักเท่าไรนักเพราะแลกมาด้วยน้ำตา ถิ่นที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือแม้แต่ชีวิตของคนในชุมชน ขณะที่ชาวแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้รับชัยชนะบนความสูญเสียหลังจากสู้คดีมายาวนานกว่าสิบปี และชาวไทยกำลังได้เรียนรู้ถึงบทเรียนราคาแสนแพงของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จีนเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษในกรุงปักกิ่งที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก แต่หลังจากที่จีนลดการใช้ถ่านหินลงในปี 2557 ที่ผ่านมา สภาพอากาศของปักกิ่งก็ดีขึ้น เล็กน้อย และความหวังในการกู้วิกฤตโลกร้อนของโลกก็ดูจะสดใสขึ้น

เมื่อปี2554 ปริมาณมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศจีนนั้นอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนกว่า 257,000 คน โดยองค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า มลพิษทางอากาศนั้นส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งประเทศจีนมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 2,300 โรง ที่ผ่านมานั้นประเทศจีนพึ่งพาถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักถึงเกือบร้อยละ 80 ของประเทศเมื่อปี 2555  และมีอัตราการเติบโตของโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างรวดเร็ว มหานครใหญ่อย่างปักกิ่งก็ตกอยู่ในม่านหมอกของมลพิษ ขณะที่ประชาชนก็ยังคงต้องดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปอย่างไร้ทางเลือก

“สิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งและทำให้ผมประหลาดใจมาก คือ ผู้คนยังคงใช้ชีวิตตามปกติแม้แต่ในวันที่เต็มไปด้วยหมอกมลพิษ” Jia Zhangke ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนกล่าว “แม้ในวันที่คุณภาพอากาศวัดดัชนีได้ว่ามีหนาแน่นเฉลี่ย 200-300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และอากาศกลายเป็นสีเทา ผมก็ยังคงเห็นผู้คนเต้นอยู่กลางจตุรัส หนุ่มสาวก็ยังคงเที่ยวเล่นกัน ทุกคนต่างทำสิ่งต่างๆ ที่ทำปกติในชีวิตประจำวัน”


ผู้กำกับชาวจีนชื่อดังได้ร่วมมือกับกรีนพีซเอเชียตะวันออกถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมจีนผ่านทางภาพยนตร์สั้น “Smog Journeys” โดยถ่ายทำในกรุงปักกิ่งและมณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมถ่านหินที่อยู่รายล้อมกรุงปักกิ่ง และภาพยนตร์นี้ก็ได้สื่อถึงสิ่งที่เด็กได้พบเห็นในแต่ละวันที่เต็มไปด้วยหมอกพิษ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใด รวยหรือจน ทุกคนล้วนต่างต้องอาศัยอากาศที่บริสุทธิ์ในการหายใจ แม้แต่กลุ่มคนที่รวยที่สุดในกรุงปักกิ่งที่เก็บตัวอยู่ในบ้านพร้อมเครื่องกรองอากาศและหน้ากากชั้นดี ก็ไม่สามารถหลีกหนีวิกฤตมลพิษทางอากาศนี้ได้พ้น

“ปัญหาหมอกควันมลพิษเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวจีนทุกคนต้องเผชิญ ทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน” Jia Zhangkeกล่าว

สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเทศบาลปักกิ่งแจ้งว่าปี 2557 ที่ผ่านมา ปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 พีเอ็มที่เล็กพอจะแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อปอดลดลงร้อยละ 4 จากปีก่อนหน้านั้น โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 85.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่จำกัดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังระบุว่า 22 วันที่คุณภาพอากาศดีกว่าปี 2556 และ 45 วันที่มลภาวะทางอากาศสูงมาก ซึ่งลดลง 13 วันจากปี 2556

เมื่อวิกฤตมลพิษทางอากาศของปักกิ่งเริ่มเกินเยียวยา รัฐบาลจีนได้ประกาศทำสงครามกับมลภาวะ และฟื้นฟูคุณภาพอากาศของจีนภายในปลายปี 2556 โดยหันเหทิศทางของเศรษฐกิจออกจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมหาศาลตั้งแต่ปี 2555 ล่าสุดตามรายงานการประเมินล่าสุดของสมาคมอุตสาหกรรมถ่านหินแห่งจีน ปี 2557 จึงเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษที่จีนมีการใช้ถ่านหินลดลง

“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงแค่จุดสำคัญสำหรับประเทศจีนในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นไปสู่จุดอิ่มตัวของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกอีกด้วย” ฟาง หยวน เจ้าหน้าที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกกล่าว

ปัจจัยที่มีส่วนในการช่วยลดปริมาณการใช้ถ่านหินเมื่อปีที่แล้วมีหลายประการ ซึ่งประการสำคัญได้แก่ การผลิตพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงของทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมหนักไปสู่ภาคส่วนเศรษฐกิจใหม่  ซึ่งจีนประสบความสำเร็จในการเพิ่มสถิติของกำลังการผลิตไฟฟ้าผ่านสายส่งจากพลังงานลม (20 กิกะวัตต์) และ พลังงานแสงอาทิตย์ (11 กิกะวัตต์) การพัฒนาในแง่บวกที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อไม่นานมานี้จีนได้กำหนดให้ 4 มณฑลที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจสำคัญ จัดทำเป้าหมายในการลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวไปแล้วในมณฑลอื่นอีก 4 มณฑล ซึ่งมณฑลเหล่านี้ใช้ถ่านหินมากกว่า 6 ร้อยล้านเมตริกตันต่อปี ซึ่งเกือบจะเท่ากับปริมาณการใช้ถ่านหินในอินเดียทั้งประเทศ 

ถึงแม้จะตกอยู่ในม่านหมอกของควันพิษมาแสนนาน แต่เมื่อลดและเลิกเสพติดตัวการก่อมลพิษและวิกฤตโลกร้อนอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินลงได้ ท้องฟ้าจะคืนความสดใสมาสู่กรุงปักกิ่งอย่างแน่นอน แต่บทเรียนราคาแสนแพงและเต็มไปด้วยมลพิษเช่นนี้ ประเทศไทยคงไม่ต้องการเดินซ้ำรอยความผิดพลาดเช่นนี้ อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ของทุกคน คงจะไม่มีท้องฟ้าแห่งในใต้เมืองไทยที่จะคุ้มค่ากับการแลกมาซึ่งมลพิษจากถ่านหินอย่างแน่นอน

 

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- กุมภาพันธ์ 24, 2558 ที่ 17:17

 

edit @ 25 Feb 2015 23:03:19 by กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้




 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2558 23:58:37 น.   
Counter : 996 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com