กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

หรือปี 2559 จะเป็นปีที่เรายุติยุคถ่านหินได้…?

ผู้เขียน Kelly Mitchell / แปลโดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ขณะที่เรากำลังเริ่มต้นปี 2559 ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ได้เริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการลดการใช้พลังงานถ่านหิน จึงทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า หรือปี 2559 นี้จะเป็นปีที่เรายุติยุคถ่านหินได้…?

เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่โลกได้ “เสพติด” พลังงานถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดอันเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกจากกิจกรรมของมนุษย์ การเผาไหม้ถ่านหินนั้นยังทำลายสุขภาพอย่างร้ายแรง ชาวปักกิ่งที่ได้รับผลกระทบจากหมอกมลพิษรู้ซึ้งถึงภัยคุกคามนี้เป็นอย่างดี

แต่ปี 2559 นี้ เริ่มดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น กับการที่หลายประเทศเริ่มต้นยุติการใช้พลังงานฟอสซิล ก้าวไปสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน เมื่อปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมถ่านหินประสบปัญหาอัตราการใช้พลังงานถ่านหินลดตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยที่การใช้พลังงานถ่านหินทั่วโลกลดลงมากถึง  90-180 ล้านตันในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นปริมาณที่ลดลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์

มุมมองทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดได้ออกมาแสดงทีท่าต่อต้านถ่านหิน อาทิเช่น ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐคิริบาส ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำ ได้เรียกร้องให้ทั่วโลกยุติการใช้พลังงานถ่านหิน ในขณะเดียวกัน ประเทศฟิลิปปินส์ได้เปิดตัวการสืบสวนทางสิทธิมนุษยชนระดับชาติกับผู้ปล่อยมลพิษยักษ์ใหญ่ 50 ราย เป็นครั้งแรกของโลก

แต่การตอบโต้ถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม เมื่อผู้นำระดับโลกในการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ COP21 ปารีส ได้ร่วมกันลงนามตกลงว่า การลงทุนถ่านหินนั้นเป็นการลงทุนที่เสี่ยง

ปัจจุบันนี้ อดีต “มิตร” ของถ่านหินอย่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกากำลังเริ่มตีตัวออกห่างจากพลังงานสกปรก และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

จีนกำลังปิดตัวเหมืองถ่านหินกว่า 1,000 เหมือง

เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศว่าจะไม่อนุมัติโครงการเหมืองถ่านหินใหม่ เป็นเวลา 3 ปี และจะปิดตัวเหมืองถ่านหินลงอีกกว่า 1,000 แห่ง เพื่อต่อกรกับปัญหามลพิษทางอากาศ นี่เป็นข่าวที่น่าทึ่งมากหากมองย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่เคยมีการคาดเดาว่า จีนจะเผาผลาญถ่านหินมากขึ้นอีกกว่าพันล้านตัน ภายในปี 2563 แต่ในความเป็นจริง การบริโภคถ่านหินของประเทศจีนกำลังลดลงเรื่อยๆ มาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยก่อนการประชุมที่ปารีส จีนยังได้ประกาศเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2573 เป็นอย่างช้า และเมื่อไม่นานมานี้ ปักกิ่งได้ประกาศว่าจะไม่ใช้พลังงานจากถ่านหินใน 6 มลฑล เพื่อเดินหน้าต่อกรกับมลพิษทางอากาศ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณออกไปว่ารัฐบาลจีนกำลังเอาจริงกับการจัดการผลกระทบจากถ่านหินที่ทำร้ายคุณภาพทางอากาศในตัวเมืองใหญ่ของจีน รวมถึงผลกระทบการขาดแคลนน้ำ และการสูญเสียทางนิเวศในพื้นที่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล

นี่เป็นก้าวสำคัญของจีนที่จะหันหลังให้กับการเสพติดถ่านหินเสียที

ถ่านหินถูกแบน และล้มละลาย ที่สหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีโอบามา ได้ให้สัญญาในการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาของประธานาธิบดีสหรัฐ (State of the Union) ว่าจะดำเนินการเรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมถ่านหินและน้ำมัน รวมถึงการทำเหมืองแร่และการขุดเจาะบนพื้นที่สาธารณะของสหรัฐอเมริกา และในวันนี้โอบามาก็ได้ทำตามสัญญา

กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะบริหารของรัฐบาลโอบามา ดูแลในส่วนของพื้นที่สาธารณะของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่าจะทบทวนโครงการที่อนุญาตให้บริษัทถ่านหินดำเนินการ และจะนำเอาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาคำนวนในการเรียกเก็บเงิน นอกจากนี้ในช่วงกระบวนการทบทวนผลกระทบที่ต้องใช้เวลาหลายปีนี้ ภาครัฐจะยังไม่อนุมัติการปล่อยเช่าที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน

นี่คือชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากร้อยละ 40 ของถ่านหินในสหรัฐอเมริกามาจากพื้นที่สาธารณะ และการแบนในครั้งนี้จะเป็นการช่วยให้ถ่านหินจำนวนหลายพันล้านตันยังคงอยู่ในดินต่อไป ไม่สร้างมลพิษเพิ่มเติม

อีกข่าวร้ายหนึ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมถ่านหินของสหรัฐอเมริกาคือ Arch Coal บริษัทเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ ถูกฟ้องล้มละลาย (ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทถ่านหินเกือบ 50 บริษัทในสหรัฐอเมริกาได้ล้มละลายไป) บริษัท Arch Coal เป็นกรณีตัวอย่างของอุตสาหกรรมถ่านหินที่ฉ้อฉลในสหรัฐอเมริกา โดยทางบริษัทได้ใช้ฉากหน้าเป็นการคุ้มครองส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่กลับโกงคนงานเหมือง และทำลายสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศในสหรัฐอเมริกา โดยถึงแม้ว่าผลกำไรของบริษัทจะตกลงในช่วงหลายปีสุดท้ายก่อนล้มละลาย ก็ยังมีอัตราผลกำไรที่สูงกว่าเงินเดือนของซีอีโอบริษัทถึงสองเท่า

ความล้มเหลวของบริษัทถ่านหินดังเช่นกรณีนี้ คือหลักฐานที่เด่นชัดว่าถ่านหินกำลังอยู่ในช่วงขาลงแล้วในสหรัฐอเมริกา และยังเกิดขึ้นก่อนการดำเนินการของโอบามา ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดนาย Andrew M. Cuomo ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้ประกาศเป้าหมายใหม่ออกมาว่าจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐ ภายในปี 2563

2559 … ปีนี้ และปีต่อๆ ไป

การลดอำนาจและขนาดของอุตสาหกรรมถ่านหินกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี และกำลังก้าวไปสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน แต่กระนั้นพลังงานหมุนเวียนยังไม่เติบโตเร็วพอที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตโลกร้อน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่อุตสาหกรรมถ่านหินต้องเผชิญกับปัญหาหนักเพื่อที่จะดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และราคาของพลังงานหมุนเวียนกำลังถูกลงทั่วโลก!

เดือนแรกของปี 2559 เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า แม้ว่าถ่านหินยังคงดำเนินการต่อไป แต่อยู่ในอัตราที่ลดลงอย่างชัดเจน ยุคของถ่านหินใกล้สิ้นสุดลง และกำลังเข้าสู่เช้าวันใหม่ของพลังงานหมุนเวียนที่สดใสแล้ว

Kelly Mitchell is the Climate Campaign Director at Greenpeace USA.


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/edit/blog/55350




 

Create Date : 22 มกราคม 2559   
Last Update : 22 มกราคม 2559 14:21:14 น.   
Counter : 1092 Pageviews.  


ดับฝันดั๊บเบิ้ล เอ รอบ 3 EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน

“ถ้าอาหารมีสารปนเปื้อน ฉันคนนึงเลยนะที่ไม่กิน แล้วคุณจะกินไหม เราจะไม่สามารถควบคุณสารพิษที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เข้ามาปนเปื้อนในการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ได้” เกษตรกรชาวฉะเชิงเทรากล่าว


บ่อยครั้งที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมักถูกตั้งคำถามถึงการคุกคามพื้นที่อาหาร แต่ไม่มีเลยสักครั้งที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาเยียวยาได้จริง เนื่องจากหนึ่งในสารพิษจากกระบวนการเผาผลาญถ่านหินคือสารโลหะหนัก ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่ช่วยขจัดได้ในประเทศไทย และในวันนี้บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ พยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังการผลิตขนาด 600 เมกะวัตต์ ทั้งที่ยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาปัญหากรณีการพบสารปนเปื้อนสารปรอทจากแหล่งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทดั๊บเบิ้ลเอ ในตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี

ดับฝันดั๊บเบิ้ล เอ อีกครั้ง

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่รายงาน EHIA ไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หลังจากที่เมื่อปี 2556 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนของบริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ถูกตีกลับมาแล้ว ในวันนี้ชาวฉะเชิงเทราได้ออกมาแสดงพลังคัดค้านโครงการนี้อีกครั้ง ร่วมกับพลังเสียงกว่า 10,000 คน จากชาวไทยผู้ต้องการปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งเกษตรกรรมของไทย และลุ่มน้ำบางปะกงจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในเช้าวันนี้ (14 มกราคม 2559) พี่น้องชาวฉะเชิงเทรา และเครือข่าย๓๐๔กินได้ ได้มารวมตัวกัน และเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่บางปะกง เพื่อยื่นกว่า 10,000 รายชื่อ พร้อมกับแถลงการณ์ร่วมกับอีก 45 เครือข่าย ขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน และแสดงความกังวลว่าถ่านหินอาจทำลายแหล่งผลิตอาหารชั้นดี สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนายนิติรัชน์ ตันจันตา ผู้จัดการฝ่ายอาคารสถานที่ ลงมารับรายชื่อเพื่อส่งมอบให้กับคณะผู้บริหารบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้วที่ทางชุมชนยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากทางบริษัท

แถลงการณ์เครือข่าย ๓๐๔ กินได้เรื่อง ขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเท...

Posted by 304 กินได้ on Wednesday, January 13, 2016

นี่เป็นอีกครั้งที่ชาวฉะเชิงเทราต้องเดินทางมาเบื้องหน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาไม่อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนและรอฟังผลการพิจารณารายงาน EHIA จาก คชก. และในครั้งนี้พลังประชาชนขยายตัวเข้มแข็งขึ้น เพราะพวกเขามาในฐานะที่เป็นตัวแทนของเครือข่าย 45 เครือข่าย พลังเสียงกว่า 10,000 เสียง เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ และคนไทยผู้ฝากปากท้องไว้กับความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำบางปะกง

“แม้จะอ้างว่าถ่านหินสะอาด แต่สิ่งที่เราได้ศึกษามา เทคโนโลยีในการขจัดโลหะหนักยังไม่มีในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ปัญหาเก่าก็ยังคงอยู่ เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่จะเกิดขึ้นโดยผู้ประกอบการเดียวกันจะมีหลักประกันอะไรที่บอกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะได้รับการแก้ไขด้วย” ภ.ญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ชาวฉะเชิงเทรากล่าวถึงความกังวลต่อผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

เหตุผลที่เขาหินซ้อนไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

1. เกษตรอินทรีย์เสี่ยงปนเปื้อนมลพิษจากถ่านหิน

หลักการสำคัญของการผลิตระบบอินทรีย์ คือการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้สารเคมี และการดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ปลอดมลพิษทางน้ำ ดิน และอากาศ แต่หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์จะไม่สามารถจัดทำแนวกันชนป้องกันมลพิษที่มากับลม ฝน และน้ำค้าง เกิดการปนเปื้อนสะสม ยากต่อการตรวจสอบ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการสูญเสียมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

2. การสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างใน EHIA ของโครงการฯ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม และการได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

จากการรวบรวมข้อมูลของค่ายห้วยน้ำใส - สวนพลังชีวิต ระบุว่า ยังขาดกลุ่มที่สำคัญอย่างกลุ่มชาวสวนมะม่วงผู้ได้รับผลกระทบ และในขอบเขตพื้นที่ได้รับผลกระทบรอบโครงการมีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกันในระยะรัศมีที่แตกต่างกัน

3.  ความเสี่ยงจากสารปรอทในมลพิษจากถ่านหิน

ข้อมูลจากค่ายห้วยน้ำใส - สวนพลังชีวิต ระบุว่าเพิ่มเติมว่า การประเมินผลกระทบ EHIA จากปรอทของโครงการฯ นั้นไม่สมบูรณ์และไม่รอบด้าน เนื่องจากระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง CEMs ได้ตัดพารามิเตอร์ที่ติดตามตรวจวัดสารปรอทออกจากรายงาน EHIA และรายงานมีการคำนวณประสิทธิภาพการบำบัดปรอทโดย ESP ที่ไม่ชัดเจน อาจนำไปสู่การจัดการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นที่กังวลต่อชุมชนว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีผลกระทบจากการปนเปื้อนสารปรอท ในพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษในตําบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ กำลังผลิตติดตั้ง 400 เมกะวัตต์

4. ไม่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ภาคตะวันออกก็ยังมีไฟฟ้าล้น 5,100 เมกะวัตต์

ข้อมูลจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เผยว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคตะวันออก (กฟผ.และเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่) มีกำลังผลิต 6,259  เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) 2,421 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังผลิต 8,680 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 8 จังหวัดภาคตะวันออก รวมกันประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่า ภาคตะวันออกมีโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกถึง 5,100 เมกะวัตต์ หรือสูงกว่า 2.5 เท่า

5. ศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของภาคตะวันออกที่ไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นอกจากนี้มูลนิธินโยบายสุขภาวะยังระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากพลังงานหมุนเวียน รวมกำลังผลิต 391 เมกะวัตต์  และมีแนวโน้มจะเพิ่มเข้ามาภายในไม่กี่ปีนี้อีก 422 เมกะวัตต์

ผลการศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของจังหวัดระยอง โดยศูนย์วิจัยของรัฐบาลเยอรมนี Fraunhofer ISE, GIZ, JGSEE พบว่า จังหวัดระยองสามารถพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับอนุรักษ์พลังงานให้ได้ร้อยละ 30 ของการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดภายใน 10 ปี หรือปี 2568 ซึ่งประกอบด้วย ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ 917 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ 2,576 เมกะวัตต์ ลม 600 เมกะวัตต์ เป็นต้น ส่วนเป้าหมายในปี 2579 ระยองควรพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 40 ของการใช้ไฟฟ้าของจังหวัด และหากเน้นการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง จังหวัดระยองสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ถึงร้อยละ 90 ของการใช้ไฟฟ้าจังหวัดภายในปี 2579 

“โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาคลองท่าลาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำบางปะกงที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับล้าน โรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้ปัญหาการแย่งชิงน้ำที่เป็นวิกฤตเรื้อรังของประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา และภาคตะวันออกทวีคูณมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เราเป็นแหล่งปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้เลิศรส แหล่งเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ แหล่งผลิตข้าวและผักอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ของคนไทยและชาวต่างประเทศ การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นั่นคือหายนะของสังคมไทยที่จะมาเยือน” เครือข่าย๓๐๔กินได้ กล่าว

หลังจากใช้เวลาพิจารณาอย่างยาวนาน เวลา 18.00 . คณะคชก.ได้พิจารณาไม่อนุมัติโครงการ โดยนายสุโข อุบลทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม เผยของคณะคชก.ว่าผู้จัดทำโครงการยังคงต้องให้รายละเอียดเพิ่มอีกหลายประเด็น รวมถึงประเด็นเรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นอีกครั้งที่ชาวฉะเชิงเทรายินดีกับผลการพิจารณานี้ แต่ตราบใดที่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ ยังไม่ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน การต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ก็ไม่มีวันจบสิ้น

“ภาคประชาชนยังคงเป็นการยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดร่วมกันของประชาชนและเกษตรกร เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่หยุด EHIA ในครั้งนี้ แต่ต้องไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เขาหินซ้อน และไปไกลกว่านั้น คือไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศไทยเลย เพื่อนเครือข่ายเราอีก 45 เครือข่ายร่วมลงนามสนับสนุนการเคลื่อนของเรา วันนี้เป็นภารกิจของเราในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อรักษาสิ่งดีๆ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข” นันทวัน หาญดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนเครือข่าย๓๐๔กินได้ กล่าว

แม้ว่าผลการพิจารณ์ของคชก.ในวันนี้จะออกมาว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนจะไม่ผ่านการอนุมัติ แต่พี่น้องชาวฉะเชิงเทรา และชาวไทย ผู้ที่กังวลกับการคุกคามจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน มุ่งหวังที่จะให้บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ รับฟังเสียงของชุมชนและผู้บริโภค ดังปรัชญาของบริษัทที่ว่า “การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ” อย่างสิ้นเชิง และยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้อย่างถาวร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และรักษามรดกทางแผ่นดินดีๆ ประจำจังหวัดอย่างมะม่วงแปดริ้ว เห็ดฟาง และผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่หล่อเลี้ยงชาวไทย


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/3-ehia/blog/55291




 

Create Date : 15 มกราคม 2559   
Last Update : 15 มกราคม 2559 9:54:34 น.   
Counter : 1824 Pageviews.  


ไม่จบ! บริษัทกระดาษกับแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่คุกคามลุ่มน้ำบางปะกง

มันมาอีกแล้ว! ชุมชนเจ็บแต่บริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ไม่ยอมจบ กลับมาอีกครั้งกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนของบริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ครั้งที่ 3 หลังจากคชก.ไม่อนุมัติรายงานฉบับล่าสุดเมื่อปี 2556 

ต้องให้ชาวฉะเชิงเทราคัดค้านสักกี่ครั้ง ต้องให้คชก.ไม่เห็นชอบโครงการสักกี่หน บริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ จึงจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนเสียที… เพราะครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่โครงการนี้คืนชีพขึ้นมาใหม่ กับการยื่นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและรอฟังผลการพิจารณารายงาน EHIA จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ม.ค.2559 นี้ เวลา 13.00 น.ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ กำลังทำให้พื้นที่การเกษตรอันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของเราทั้งประเทศต้องตกอยู่ในความเสี่ยง ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ พื้นที่แห่งนี้มีมรดกอันอุดมสมบูรณ์ขึ้นชื่ออย่างมะม่วงแปดริ้ว เห็ดฟาง ข้าว และผักอินทรีย์ อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้เคียงกับลุ่มน้ำคลองท่าลาด อันเป็นลุ่มน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำบางปะกง

รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ดังกล่าวมีขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 และไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เนื่องจากชุมชนในพื้นที่ก็ได้จัดทำรายงาน CHIA ของชุมชน  (Community Health Impact Assessment) ขึ้นมาโต้แย้งเนื่องจากรายงานฉบับดังกล่าวไม่สามารถตอบหลายประเด็นได้ชัดเจน

ต่อมาการพิจารณารายงาน EHIA ครั้งที่สองคือเมื่อปี 2556 ที่พี่น้องฉะเชิงเทราได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้คชก.ไม่พิจารณาอนุมัติเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ และมีพลังเสียงจากชาวไทยที่ได้ร่วมลงชื่อใน Change.org ในครั้งนั้นภายในเวลาอันรวดเร็ว กว่า 9,000 คน และท้ายที่สุด คชก. มีมติไม่เห็นชอบโครงการดังกล่าว แต่วันนี้บริษัทกระดาษ ดั๊บเบิ้ล เอ ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เขาหินซ้อนโดยการยื่นรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ คชก. พิจารณาอีกครั้ง

อย่าให้หายนะที่ท่าตูมซ้ำรอยที่ลุ่มน้ำบางปะกง

ขณะนี้ในพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษในตําบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ  กำลังผลิตติดตั้ง 400 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินกระบวนการผลิต 900,000 ตันต่อปี ตามระบุในรายงานวิจัยตรวจพบระดับสารปรอทที่สูงเกินค่าปริมาณอ้างอิงทั้งในปลาและเส้นผมของผู้ที่อาศัยอยู่รอบโรงงาน โดยพบการปนเปื้อนของสารปรอทอยู่ในระดับสูงเกินมาตรฐานหลายเท่า งานวิจัยระบุว่า ผลการศึกษาจากการเก็บตัวอย่างปลาช่อน จำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างปลาทั้งหมดมีสารปรอทปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไม่เกิน 0.22 พีพีเอ็ม

และผลการตรวจเส้นผมของอาสาสมัครชาวบ้าน อายุระหว่าง 17-72 ปี ทั้ง 20 ราย พบปริมาณสารปรอทสูงเกินค่ามาตรฐานการอ้างอิงของ US EPA ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 1 พีพีเอ็ม แต่ปรากฏว่า ตัวอย่างสารปรอทในเส้นผมที่พบสูงสุดตั้งแต่ 1.628-12.758 พีพีเอ็ม หรือสูงกว่าค่าปริมาณของ US EPA กว่า 4.5 เท่า ทั้งนี้ ที่พบสารปรอทสะสมในผมของชาวบ้านสูงมาก เพราะชาวบ้านต้องบริโภคปลาจากคลองชลองแวง ซึ่งพบว่ายิ่งมีการบริโภคปลามากก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการสะสมสารปรอทมากขึ้นตามอายุและจำนวนมื้อที่กินปลาเข้าไป โดยสาเหตุของการปนเปื้อนสารปรอทในปลา สันนิษฐานว่ามาจากเถ้าลอยของโรงไฟฟ้าถ่านหินท่าตูม

ปัญหาการปนเปื้อนสารปรอทนี้ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ในวันนี้บริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ กลับพยายามเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่อีกครั้ง และในผลกระทบครั้งใหม่นี้จะเกิดขึ้นกับลุ่มน้ำสำคัญของภาคตะวันตกอย่างลุ่มน้ำบางปะกง

พื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทจากแหล่งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทดั๊บเบิ้ลเอ ในต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบ...

Posted by Greenpeace Thailand on Tuesday, January 12, 2016

ประเด็นสำคัญที่ชุมชนในพื้นที่กังวลคือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในประเด็นมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การแย่งใช้น้ำทั้งน้ำประปาและน้ำเพื่อการเกษตร พืชผลการเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นต้น ผลกระทบต่อพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และฟาร์มต้นแบบที่ตั้งอยู่ในชุมชนพื้นที่รอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนมีสัดส่วนการใช้น้ำประมาณร้อยละ 20 จากอ่างเก็บน้ำคลองระบม ซึ่งประชาชนในลุ่มน้ำคลองท่าลาดและลุ่มน้ำบางปะกงยังคงมีปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาและการเกษตร และมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น และชุมชนจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งน้ำตลอดลุ่มน้ำคลองระบม-สียัด เชื่อมต่อลงสู่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด และลุ่มน้ำบางปะกง หากลุ่มน้ำบางปะกงปนเปื้อนมลพิษจากถ่านหินจะสร้างความเสียหายทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากมายเพียงไร หายนะที่ท่าตูม จังหวัดปราจีนบุรี อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้งที่ลุ่มน้ำบางปะกง และระบบน้ำของภาคตะวันออก หากเกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนของบริษัทผลิตกระดาษชื่อดังอย่างดั๊บเบิ้ล เอ

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนอย่างถาวร โดยเราจะนำรายชื่อของทุกคนไปยื่นที่หน้าสำนักงานใหญ่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่บางปะกง ในวันที่ 14 มกราคม 2559 เวลา 09.00 น. และเราขอเชิญชวนทุกท่านร่วมหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนด้วยกัน ในที่14 มกราคม 2559 เวลา 13.00 น. ที่หน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ข้อมูลรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55277




 

Create Date : 13 มกราคม 2559   
Last Update : 13 มกราคม 2559 18:27:23 น.   
Counter : 1562 Pageviews.  


คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งการต่อสู้ 4 ปี

คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งการต่อสู้ 4 ปี ของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

บนเส้นทางการต่อสู้ 4 ปี เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ปักธงแห่งความสำเร็จชิ้นสำคัญ หลังจากการต่อสู้ด้วยการ "อดอาหาร" 14 วัน เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา จากถนนหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาสู่หน้าประตูทำเนียบ หลังจากนั้นเป็นเวลา 6 เดือนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน รวมถึงชาวไทยและนักท่องเที่ยวที่ร่วมกันเป็นพลังคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ก็ได้รับฟังข่าวดี เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 393/2558 แต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่”  ด้วยเหตุผลว่า เป็นโครงการที่มีผลกระทบในวงกว้าง สมควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอันนำไปสู่การดำเนินโครงการที่มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558

“คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่”  คือ 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน โดยข้อเรียกร้องทั้ง 3 ได้รับคำตอบจากรัฐบาลดังต่อไปนี้

ข้อเรียกร้องที่ 1. ขอให้มีการชะลอกระบวนการพิจารณารายงาน EIA และ EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว

คำตอบ: ท่านนายกรัฐมนตรี มีเจตจำนงว่า “ต้องชะลอกระบวนการพิจาณารายงานดังกล่าว จนกว่าจะมีข้อสรุปจากการทำงานของคณะกรรมการแผนพลังงานหมุนเวียนกระบี่ ตามข้อที่ 3”

ข้อเรียกร้องที่ 2. ขอให้มีการชะลอการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วออกไป จนกว่าจะได้ข้อสรุปของกระบวนการพิจารณา EHIA และ EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้รับการเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี

คำตอบ: ทางที่ปรึกษาของท่านนายกรัฐมนตรียืนยันชัดเจนถึงเจตจำนงของท่านนายกฯว่า “หากกระบวนการทั้งหมดของ EHIA และ EIA ไม่เสร็จสิ้นและมีผลบังคับตามกฎหมาย จะดำเนินการเปิดประมูลโครงการฯดังกล่าวไม่ได้อย่างเด็ดขาด” ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยังเปิดประมูลตามแผนไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยเงื่อนไขที่ว่า การเปิดประมูลครั้งนี้ จะไม่มีการลงนามสัญญาและไม่มีผลผูกพันต่อประเทศไทย จนกว่ากระบวนการการพิจารณาอนุมัติโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและเป็นที่ยุติตามข้อที่ 3

ข้อเรียกร้องที่ 3. การจัดตั้งคณะกรรมการพลังงานหมุนเวียนกระบี่ เพื่อพิจารณาศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลักดันให้จังหวัดกระบี่ก้าวสู่ การเป็นจังหวัดที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100%

คำตอบ: ท่านนายกรัฐมนตรี มีเจตจำนง ในการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวด้วยตนเอง โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ จากทุกภาคส่วนขึ้นมาให้เร็วที่สุด

ขณะนี้กระบวนการการจัดตั้งคณะกรรมการตามข้อที่ 3 ซึ่งมาจากตัวแทนของประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ และตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีลงนามได้แต่งตั้งรายชื่อคณะกรรมการ 3 ฝ่ายตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 393/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ คำสั่ง ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2558

หลังจากนี้การต่อสู้ครั้งสำคัญในการยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่เรายังคงต้องติดตามกันต่อไป จนกว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่จะมาคุกคามความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของเมืองท่องเที่ยวแห่งอันดามันนี้ จะได้รับการยกเลิกอย่างถาวร


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/4/blog/55248




 

Create Date : 11 มกราคม 2559   
Last Update : 11 มกราคม 2559 11:08:45 น.   
Counter : 969 Pageviews.  


ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)จากโรงไฟฟ้าถ่านหินคือภัยคุกคามสุขภาวะของคนไทย

กรณีการวิพากษ์รายงาน “ต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย” ในประเด็นผลกระทบสุขภาพจากถ่านหินผ่านสื่อต่างๆ และการที่ กฟผ. ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. มีเทคโนโลยีทันสมัยและการควบคุมมลภาวะที่ดีกว่ามาตรฐานกฎหมาย รวมทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จึงไม่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างแน่นอน กฟผ. ได้อ้างถึงเรื่องฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน แบบหลบเลี่ยงประเด็นโดยบอกว่า "ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน(PM2.5) ซึ่งรายงานของ กรีนพีซระบุว่า หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพาจะทำให้เกิดมลภาวะแพร่กระจายข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศนั้น จากการที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ทั้ง 2 โครงการมีมาตรการควบคุม PM10 และ PM2.5 จากแหล่งผลิตตามมาตรฐานสากลโดยได้กำหนดไว้ในรายงาน EHIA ดังกล่าวมาแล้ว ประกอบกับการตรวจวัดค่าจริงในบรรยากาศรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันของ กฟผ. จึงมั่นใจได้ว่า โครงการทั้ง 2 จะไม่ทำให้เกิดมลภาวะแพร่กระจายตามแบบจำลองของกรีนพีซ...”

แท้ที่จริงแล้ว นอกจากฝุ่นละอองแขวนลอยรวม (Total Suspended Particulate Matters-TSP) ไม่มีที่ใดในรายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองที่อธิบายเรื่องการควบคุม PM2.5 และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจาก PM2.5 แม้แต่น้อย!

บทความนี้นำเสนอว่า ผลกระทบด้านสุขภาพจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่และมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในอินเดีย การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ระบุว่าร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั้นเกี่ยวข้องฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เป็นผลมาจากการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจาก PM2.5 ในแง่ของมลพิษที่กระจายในระยะทางไกลในสหรัฐอเมริกา การศึกษาการก่อตัวของ PM2.5 ขั้นทุติยภูมิอันเป็นสาเหตุของหมอดควันพิษในปักกิ่งของจีนซึ่งมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีบทบาทสำคัญ การประเมินความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกับมลพิษทางอากาศโดยวิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งและกรีนพีซ เอเชียตะวันออก การศึกษาในไต้หวันกรณีการปล่อยมลพิษทางอากาศและ PM2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า มลพิษทางอากาศสร้างความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด เส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้คนในประเทศไทยและผู้คนนับล้านทั่วโลกทั้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษของแต่ละประเทศและและข้ามพรมแดน รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่า 3 ล้านรายต่อปี ดังนั้น ในปี 2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)ในบรรยากาศทั่วไปขึ้น  การกำหนดค่ามาตรฐานดังกล่าวนี้เพื่อเพิ่มระดับการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยทั่วไป

การศึกษาโดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าจากการทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาทางด้านระบาดวิทยาทั้งในและต่างประเทศแสดงถึงความสัมพันธ์ของการได้รับ PM2.5 ในบรรยากาศกับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เช่น การตายก่อนเวลาอันควร การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและอาการระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะมีโอกาสเข้าสู่และค้างในระบบทางเดินหายใจส่วนปลายได้มากกว่าฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่าซึ่งการศึกษาทางระบาดวิทยาของประเทศไทยที่มีอยู่ก็พบผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพอนามัยในระดับใกล้เคียงกับที่พบในการศึกษาที่เมืองต่างๆ ทั่วโลก

กราฟแสดงการประมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศ(หน่วยเป็นตันต่อปี)จากแหล่งกำเนิดมลพิษ

(ที่มา : รายงานพลังงานของประเทศไทย 2549-กระทรวงพลังงาน, รายงานโครงการติดตามและประเมินสถานการณ์การเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตรของประเทศไทย 2548-กรมควบคุมมลพิษ, ระบบฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและเสียงในประเทศไทย 2537-กรมควบคุมมลพิษ)

จากกราฟ แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 เป็นลำดับรองจากการเผาในที่โล่งและการขนส่ง แต่การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนต่อปีจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาแหล่งกำเนิดต่างๆ ซึ่งนำไปสู่เกิด PM2.5 จากกระบวนการทางเคมีในบรรยากาศที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นสารตั้งต้น

รายงาน ต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย ใช้แบบจำลอง GEOS-Chem แสดงแบบแผนการกระจายตัวของมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเน้นศึกษาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ทั้งที่ปล่อยจากปล่อง(ปฐมภูมิ) และ PM2.5(ทุติยภูมิ) ที่เกิดจากกระบวนการทางเคมีในบรรยากาศที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นสารตั้งต้น กลุ่มนักวิจัยมากกว่า 100 รายทั่วโลกนำแบบจำลอง GEOS-Chem ไปใช้อย่างแพร่หลายและดำเนินการภายใต้กลุ่มศึกษาแบบจำลองบรรยากาศของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด โดยมีศาสตราจารย์จาค็อปส์ผู้มีประสบการณ์สูงและเป็นที่ยอมรับในการสร้างแบบจำลององค์ประกอบบรรยากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยประเมินจากการคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพทั้งหมดจาก PM2.5 และใช้ฐานข้อมูลการศึกษาภาระโรคในระดับโลก (Global Burden of Disease)ที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ต(Lancet)ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก การประเมินผลกระทบพิจารณาถึงโครงสร้างอายุของประชากร อัตราการเสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ แบบจำลอง GEOS-Chem จะคาดการณ์ระดับมลพิษทางอากาศทั้งหมดในแต่ละจุดพิกัดและสัดส่วนมลพิษที่เกิดจากการปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผลลัพธ์ที่ได้จะแสดงขนาดผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศจากการคมนาคมขนส่งซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลกในปี พ.ศ. 2557 ก็ใช้ระเบียบวิธีนี้เช่นเดียวกัน รายละเอียดระเบียบวิธีการศึกษาดู ที่นี่

โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ แม้ว่าอุตสาหกรรมถ่านหินจะทุ่มเงินโฆษณาถ่านหินสะอาดและเทคโนโลยีการดักจับเพื่อลบล้างผลกระทบดังกล่าวและตัดตอนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเถ้าถ่านหิน แต่มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงมีและไม่มีวันที่จะทำให้มลพิษเป็นศูนย์ได้  การศึกษาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก(PM2.5) จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung ที่ใช้เทคโนโลยี ultra super critical ในมาเลเซียและผลกระทบด้านสุขภาพ พบฝุ่นละอองที่ร่างกายรับเข้าไปจากการหายใจอย่าง PM2.5 ที่ปล่อยออกมีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดโดย USEPA จากการวัดที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและกรกฎาคม 2554 ในที่นี้ ต้องเข้าใจว่ามาเลเซียและทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยยังไม่มีค่ามาตรฐาน PM2.5 จากปลายปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ดังนั้น กฟผ. ไม่ควรจะด่วนสรุปว่ามลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ(การเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร)!

จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญในการวางแผนการใช้พลังงานของประเทศที่ลดผลกระทบจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งผู้นำในประเทศแถบยุโรป อเมริกา จีนกำหนดมาตรการและนโยบายที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงาน

ตัวเลขการประมาณอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังเดินเครื่องและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐบาลประกาศจะเดินหน้าทั้งหมดนั้นในรายงาน “ต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย” จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำและผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศไทยไม่ควรเพิกเฉยและต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องประชาชนจากจากมลพิษทางอากาศของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นภัยคุกคาม แทนที่จะคุ้มครองอุตสาหกรรมถ่านหิน รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะมีชีวิตอยู่ในอากาศสะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดี


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/25-pm25/blog/55226




 

Create Date : 05 มกราคม 2559   
Last Update : 5 มกราคม 2559 15:15:18 น.   
Counter : 1636 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com