กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ครั้งหนึ่งกับไฟป่า อีกสาเหตุของมลพิษทางอากาศที่คุกคามลมหายใจของคนในภาคเหนือ





เขียน โดย วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

แม้ว่าไฟป่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าแล้ง แต่เพราะเหตุใดจึงเกิดไฟป่าขึ้นพร้อมกันในหลายจังหวัดของภาคเหนือทันทีที่วันประกาศห้ามเผาสิ้นสุดลง (16 ก.พ.-15 เม.ย.) จนนำไปสู่ปัญหาวิกฤตหมอกควันที่กำลังคามผู้คนอย่างหนัก

ภาพโดย วัชรพล แดงสุภา

ภาพโดย วัชรพล แดงสุภา

ไม่กี่วันหลังจากที่ปัญหาเข้าขั้นวิกฤต กรีนพีซได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปสังเกตการณ์ปัญหาหมอกควัน มองจากหน้าต่างเครื่องบินพวกเรามองเห็นภาพลาง ๆ ของเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ภายใต้หมอกควันสีเทาเข้ม กลิ่นไหม้ ๆ จากขี้เถ้าและควันไม้เข้ามาทักทายจมูกพวกเราทันทีที่ก้าวออกจากประตูสนามบิน

ไฟจากสวนสู่ฟากฟ้า

พวกเราเริ่มต้นสำรวจพื้นที่ในอำเภอสะเมิงเนื่องจากได้ข้อมูลว่ามีการเผาเกิดขึ้นที่นั่น เมื่อเข้าไปถึงสิ่งที่เราเห็นคือคนกลุ่มหนึ่งกำลังเผาวัชพืชในแปลงเพาะปลูก การเผาเริ่มจากแนวเล็ก ๆ ก่อนขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ไฟได้ลุกลามไปเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมทั้งพื้นที่ ไฟยังคงขยายตัวออกไปไม่หยุดจนเหมือนว่าจะเกินอาณาเขตที่พวกเขาตั้งใจไว้ทำให้พวกเขาต้องเรียกคนมาช่วยกันควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้สายยางฉีดน้ำเพื่อกันไม่ให้ไฟลามออกมานอกพื้นที่ หลังจากการต่อสู้พักใหญ่เปลวไฟก็มอดลง การเผาเพื่อการเกษตรในลักษณะนี้พบได้ทั่วไปใบพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยวของภาคเหนือ ซึ่งการเกษตรในลักษณะนี้จะเน้นการปลูกพืชเพียงชนิดเดียวและจะกำจัดพืชชนิดอื่นที่ไม่ต้องการออกไปโดยไม่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและการเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ วิธีการกำจัดวัชพืชที่ง่ายและถูกที่สุดคือการเผาไฟ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ควบคุมได้ยาก มีความเสี่ยง และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมาก 

ไฟจากป่าสู่เมือง

ต่อมาเราได้เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกข้าวโพด เราได้พบหมอกควันที่เกิดขึ้นจากพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าหลายแห่ง พวกเราตัดสินใจเบี่ยงรถออกนอกเส้นทางเพื่อไปสำรวจที่จุดเกิดไฟป่าโดยมุ่งหน้าไปที่ควันไปที่กำลังพวยพุ่ง ถนนมาสิ้นสุดลงที่หน่วยจัดการต้นน้ำขุนวาง หน่วยย่อยที่ 1 จากนั้นพวกเราจึงลงจากรถและเดินเท้าผ่านป่าสนตามแนวกันไฟ โดยมุ่งหน้าไปที่ควันที่กำลังพุ่งขึ้นมาพร้อมกับเสียงประทุที่น่าจะอยู่ไม่ไกล เสียงไฟป่าดังขึ้นเรื่อย ๆ และทันใดพวกเราก็ได้เผชิญหน้ากับไฟป่าที่กำลังลามขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากตีนเขาขึ้นมายังป่าสนด้านบน เมื่อไฟลามมาถึงแนวกันไฟ ไฟได้เปลี่ยนทิศทางและลามออกสู่ด้านข้างตามแนวกันไฟที่เจ้าหน้าที่ได้เตรียมไว้ ไฟขยายออกไปด้านข้างประมาณ 100 เมตร และเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้องฟ้าในบริเวณนั้นกลายเป็นสีเทาปนส้ม พวกเราจึงวิ่งออกมาตั้งหลักเพื่อหาทางติดต่อเจ้าหน้าที่


คลิปโดย กานต์ วรรธนะพินทุ

ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของอุทยานได้วิ่งสวนเข้ามา พวกเขาใช้คราดและกิ่งไม้อย่างชำนาญเพื่อขยายพื้นที่แนวกันไฟซึ่งจะควบคุมไม่ให้ไฟป่าจากด้านล่างลามขึ้นมาได้

เจ้าหน้าที่ใช้มีดพร้าตัดกิ่งไม้อย่างรวดเร็วและส่งให้พวกเราใช้ตบไฟที่กำลังจะข้ามไปอีกฟาก  พวกเราช่วยเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ไฟอยู่สักพัก จนกระทั่งไฟป่าซาลงจึงเดินทางออกจากพื้นที่และไปสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่ม ระหว่างทางพวกเราได้พูดคุยกับพี่น้องชาวเขา ซึ่งพบว่ามีปัญหาสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากต้องทำงานกลางแจ้งแม้จะมีหมอกควัน บ้างก็มีแผลไฟไหม้จากการดับไฟ

ไฟในลักษณะเดียวกันปรากฏขึ้นนับไม่ถ้วนระหว่างการสำรวจในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นไฟที่มาจากป่าหรือว่าไฟที่มาจากไร่ข้าวโพด หลายปีที่ผ่านมาหมอกควันจำนวนมากจากพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรนอกเมืองได้กลายเป็นปัญหาคุกคามทุกลมหายใจของคนในพื้นที่

เสียงจากคนใต้ลม ผลกระทบทางสุขภาพจากหมอกควันมลพิษ

กลับมาที่เมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ครอบครัวของ คุณพิชามาศ โครลว์ ซึ่งมีทั้งเด็กเล็กและเด็กทารกก็เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่กำลังเผชิญหน้ากับภัยเงียบจากหมอกควัน

“เห็นว่าลูกป่วยบ่อย ตอนแรกคิดว่าติดมาจากเพื่อน ซักพักจึงรู้ว่าไม่ใช่ ลูกป่วยเพราะอากาศไม่สะอาด” คุณแม่ลูกสองกล่าว ครอบครัวนี้ย้ายมาอยู่เชียงใหม่เนื่องจากชอบมาเที่ยวที่นี่จนตกหลุมรักและรู้สึกว่าคนเชียงใหม่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมากกว่าที่อื่น แต่วันนี้เชียงใหม่นั้นไม่บริสุทธิ์อย่างที่เคย หลายครั้งที่เธอพบว่าลูกตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการเจ็บคอ คุณฮิวจ์สามีของเล่าว่า “ตั้งแต่หลังสงกรานต์เป็นต้นมาอากาศที่นี่แย่มาก ควันมาจากทางดอยสุเทพ เมื่อก่อนพวกเราออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านด้วยกันบ่อย ก่อนที่จะมีหมอกควันผมชอบออกไปเดินเล่นนอกบ้านและจะประชุมงานทางโทรศัพท์ไปด้วย แต่ทุกวันนี้ไม่อยากออกไปข้างนอกเหมือนเมื่อก่อน ต้องเปิดแอร์เกือบทั้งวัน ทั้ง ๆ ที่แค่เพียง 6 อาทิตย์ก่อนพวกเราแทบจะไม่ต้องเปิดแอร์เลย”

“...หมอกควันยังทำให้พวกเราต้องไปโรงพยาบาลบ่อยมาก ช่วงนี้พวกเราแทบจะเข้าโรงพยาบาลกันวันเว้นวัน เพราะแทบทุกวันจะมีใครสักคนในบ้านที่ป่วย นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย และมันก็มีค่าใช้จ่ายมากด้วย แต่อีกไม่นานฝนก็จะมาแล้วคนก็จะลืมเรื่องนี้ พวกเราจะต้องทำอะไรสักอย่าง...” ฮิวจ์กล่าวเสริม

นี่เป็นเพียงเสียงหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ยังมีคนอีกนับล้านที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ นี่คือวิกฤตทางสุขภาพที่เรากำลังเผชิญ และถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศ

อย่าให้ควันสลายไปไปโดยไม่มีการจัดการใด ๆ อย่างยั่งยืน ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษและคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติปกป้องเราจากมลพิษทางอากาศ ที่นี่ #RighttoCleanAir


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 11 พฤษภาคม 2559 11:15:36 น.   
Counter : 1120 Pageviews.  


เหตุผล 4 ประการที่เราต้องแก้ปัญหาประมงแบบทำลายล้างให้เด็ดขาด



เขียน โดย François Chartier

เอสเพอรันซา เรือรณรงค์ของกรีนพีซปฏิบัติการอยู่กลางทะเลเพื่อหยุดยั้งการทำประมงอย่างทำลายล้างของบริษัททูน่าที่ใหญ่ที่สุดของโลก เรากำลังพูดถึง บริษัทไทยยูเนี่ยน เจ้าของผลิตภัณฑ์ทูน่ายอดนิยมอย่าง จอห์น เวสต์, เปอติ นาวีร์มาเรบลู และ ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี และยังมีบริษัทซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่อีกหลายบริษัท เช่น วอลมาร์ท

บริษัทไทยยูเนี่ยน ได้คุกคามสวัสดิภาพของปลาทูน่าทั่วโลก ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เฉพาะปลาทูน่าที่ถูกทำร้าย แต่รวมถึงมหาสมุทรของเราด้วย เราจึงขอความช่วยเหลือจากคุณเพื่อร่วมกันปกป้องปลาทูน่าและมหาสมุทรให้กับลูกหลานของเราที่ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติเหล่านี้


เหตุผล 4 ประการ ที่ทำให้เราต้องยืนหยัดต่อสู้กับการทำประมงแบบทำลายล้าง 

1)  สัตว์น้ำพลอยได้ที่ไม่ต้องการ - สัตว์น้ำอื่นๆที่ติดอวนขึ้นมาจากการทำประมงปลาทูน่า ถูกทิ้งให้ตายกลางทะเล

อุปกรณ์ประมงที่ใช้อยู่ในมหาสมุทรอินเดียในปัจจุบัน เป็นเครื่องมือล่อปลา (Fish Aggregating Devices (FADs) ที่ทำให้จับได้ทั้งทูน่า ฉลาม ปลากระโทง และสัตว์น้ำอื่นๆ ครั้งละ 104,000 ตัน   สัตว์น้ำที่ไม่ต้องการก็จะถูกโยนทิ้งทะเล ทั้งที่ตายแล้วและกำลังตาย เป็นเช่นนี้ทุกปี สัตว์ที่ใกล้ถูกคุกคามอย่างฉลามซิลกี ก็ตกเป็นเหยื่อการทำประมงเช่นนี้ สัตว์ทะเลมีบทบาททำให้มหาสมุทรอุดมสมบูรณ์กำลังถูกสังหารหมู่อย่างทิ้งๆขว้างๆ

2) ความอยุติธรรมในสังคม เรือประมงอุตสาหกรรมทั้งหลายกำลังคุกคามวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชาวประมง และแทนที่ด้วยการกดขี่และบังคับใช้แรงงาน

เราได้พูดคุยกับชาวประมงในเมืองริมทะเลหลายแห่งรอบโลก และเรื่องเล่าของพวกเขาก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เราได้ยินมาตลอดการเดินทาง พวกเขาเล่าถึงเรือประมงลำใหญ่ๆของต่างชาติที่มาล่าปลาทูน่าจำนวนมาก และเอาไปขายให้กับบริษัทต่างๆ เช่น ไทยยูเนี่ยน ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น

3) การทำประมงเกินขนาด ส่งผลให้เรากำลังไม่มีปลาเหลือในทะเลอีกแล้ว

เมื่อปี 2557 สามารถจับปลาทูน่าในมหาสมุทรได้ 4.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเป็นประวัติการณ์จากที่เคยจับได้เมื่อปี 2556 จำนวน 4.6 ล้านตัน เนื่องจากเรือประมงในมหาสมุทรมีแต่จะมากขึ้น แต่ละลำมีอุปกรณ์จับปลาที่ทำลายล้างมากขึ้น ปลาทูน่าสายพันธุ์ตาโตและครีบเหลืองในมหาสมุทรอินเดียถูกจับเกินขนาด เรือเอสเพอรันซา กำลังออกปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งการใช้อุปกรณ์จับปลาที่ทำลายล้างเหล่านั้น

4) “มลพิษ” เราต้องการเพิ่มมลภาวะให้กับมหาสมุทรของเราจริงๆหรือ

เครื่องมือล่อปลา FADs เป็นอุปกรณ์ที่แทบไม่มีการควบคุมและมีข้อมูลบ่งชี้น้อยมาก รายงานเมื่อปี 2556 ประเมินไว้ว่า มีเครื่องมือล่อปลาแบบต่างๆ 8 หมื่นหนึ่งพัน ถึง 1 แสนสองหมื่นชิ้น ที่ใช้ในการจับปลาทั่วโลก ชิ้นส่วนของอุปกรณ์จับปลา เหล่านี้มีตั้งแต่ไม้ไผ่  อวนที่ทำจากพลาสติก หลอดไฟ และ แบตเตอรี ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้นำทางเรือ มันคงไม่เลวร้ายไปกว่านี้หากเครื่องมือประมง เช่น อวนพลาสติกและอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้ย่อยสลายได้เองในเวลาที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต แต่อวนพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี หลอดไฟและ แบตเตอรี่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และมีสารพิษอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต  อีกทั้งยังตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารเป็นเวลานาน

เครื่องมือล่อปลา (FADs)ถูกพัดเกยตื้นบนชายหาดและติดอยู่ตามแนวปะการัง โดยถูกทิ้งไว้เช่นนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เรากำลังแล่นผ่านหมู่เกาะกลอริโอโซ เรายังเห็นเครื่องมือนี้ติดอยู่ในปะการัง เราแจ้งเจ้าหน้าที่ซึ่งก็รับปากว่าจะไปเอามันออก แต่ยังมีเครื่องมือล่อปลาอย่างนี้อีกหลายพันชิ้นที่เป็นมลภาวะให้กับมหาสมุทร

เราต้องการให้คุณช่วยหยุดวิถีประมงของบริษัทไทยยูเนี่ยน

ประชาชนชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และ เนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมรณรงค์กับเรา เราต้องการพลังจากคุณเพื่อเรียกร้องให้บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่กำลังทำลายล้างมหาสมุทร หยุดพฤติกรรมนี้ ร่วมลงชื่อ

เอริน เดอ ฮอก เป็นบรรณาธิการบทความของกรีนพีซสากล ซึ่งร่วมเดินทางไปกับเรือเอสเพอรันซา เพื่อเก็บเรื่องราวต่างๆ มาเขียนในบล็อก


ที่มา : Greenpeace Thailand




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 10 พฤษภาคม 2559 17:55:37 น.   
Counter : 1042 Pageviews.  


หรือว่ายักษ์ใหญ่ไทยยูเนี่ยนจะเป็นหัวใจสำคัญในการกอบกู้วิกฤตมหาสมุทรโลก?



เขียน โดย Chris Eaton Global Engagement Specialist at Greenpeace USA


ไทยยูเนี่ยน บริษัทสัญชาติไทยที่ขึ้นแท่นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก ได้ถูกจับตาจากทั่วโลกว่าเป็นดัง “ตัวการสร้างบาดแผลในตลาดอาหารทะเลโลก” และขณะนี้ผู้คนทั่วโลกกว่า 300,000 คน เรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อชีวิตให้กับมหาสมุทร



ผมรักมหาสมุทร

ยามที่ได้สัมผัสกับคลื่นที่ซัดสาด มีสัตว์ทะเลน้อยใหญ่แหวกว่ายในกระแสน้ำ และได้เฝ้ามองวาฬ หมู่ปลา และนกทะเลที่อยู่ไกลออกไปจากฝั่ง ช่วงเวลาเช่นนี้ทำให้ผมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้มากที่สุด

ไทยยูเนี่ยน อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องและอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลกกำลังทำร้ายมหาสมุทร การประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายล้างของไทยยูเนี่ยนนั้นทำให้สัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์จำนวนมหาศาล อาทิเช่น เต่าและฉลามต้องตายไป นอกจากนี้ยังทำการประมงปลาทูน่าเกินขนาดซึ่งทำให้ปลาทูน่าใกล้หมดไปทุกที รวมถึงยังเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ ไม่เพียงเท่านั้น ห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของไทยยูเนี่ยนยังเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมกลางทะเล

เราไม่อาจปล่อยให้มหาสมุทรถูกทำลายอีกต่อไป เราต้องการเห็นปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจากไทยยูเนี่ยน ไทยยูเนี่ยนสามารถกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมปลาทูน่ามีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อมหาสมุทร และปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

หากไทยยูเนี่ยนทำได้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ใช่ต่อกลุ่มบริษัทของตนเท่านั้น แต่คือการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมปลาทูน่าระดับโลก!

เพราะว่า…

1. ไทยยูเนี่ยนเป็นอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลกที่สร้างผลกระทบต่อมหาสมุทรทั้งหมด

ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าและอาหารทะเลของไทยยูเนี่ยนจัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และไทย นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะทำตลาดในจีน และตะวันออกกลาง ผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยนนั้นพบตามซูเปอร์มาร์เก็ต แซนด์วิชในร้านกาแฟทั่วไป รวมถึงอาหารแมวด้วย


บริษัท Mars คือบริษัทอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของแบรนด์วิสกัส ใช้วัตถุดิบจากไทยยูเนี่ยน

ไทยยูเนี่ยนซื้อและจัดจำหน่ายอาหารทะเลมากเสียจนงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ไทยยูเนี่ยนคือหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารทะเลผู้มีบทบาทหลัก(keystone actors)ในการกำหนดทิศทางอนาคตของระบบนิเวศทะเลและมหาสมุทรได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจนคือ การค้าหูฉลามที่เป็นผลพวงจากการทำประมงแบบทำลายล้าง และการประมงอุตสาหกรรมที่มีส่วนทำให้ประชากรปลาทูน่าลดลงอย่างรวดเร็ว ปลาทูน่าเป็นปลาทะเลที่ต้องย้ายถิ่นอยู่เสมอ นั่นคือการส่งผลต่อมหาสมุทรโลกทั้งหมด

2. เจตนารมณ์ของไทยยูเนี่ยนมีอิทธิพลต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ต่อคู่แข่งทางการค้า และต่อนักการเมือง

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับไทยยูเนี่ยน คือการเปลี่ยนแปลงทิศทางอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั้งหมด ขณะนี้กว่า 300,000 คนทั่วโลกลงชื่อเรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนและแบรนด์ในเครือทั้งหมดลงมือทำเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานบนเรือและมหาสมุทร เพราะอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยยูเนี่ยนใหญ่โตและทรงอิทธิพลมาก ในระดับที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั้งหมดในระดับโลก

ขณะนี้ เราจึงเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ ซูเปอร์มาร์เก็ต และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่เชื่อมโยงกับไทยยูเนี่ยนทั้งหมดร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง จนกว่าเราจะแน่ใจว่าเราสามารถตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของไทยยูเนี่ยน บนพื้นฐานของความยั่งยืน และความเป็นธรรม

ร่วมบอกให้ไทยยูเนี่ยนลงมือทำเพื่อสิทธิแรงงานและปกป้องมหาสมุทร คลิกที่นี่

บทความนี้เรียบเรียงจาก 

Biggest Fish: Is This Corporate Giant the Key to Saving the Ocean?
อ่านต้นฉบับได้ที่นี่


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 4 พฤษภาคม 2559 9:58:48 น.   
Counter : 1113 Pageviews.  


มูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (ISSF) ขัดขวางปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร



มูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ขัดขวางปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร


เขียน โดย กรีนพีซ

คุณอาจจะคิดว่า “มูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (ISSF)” กำลังทำงานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร แต่แท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็นฉากหน้าให้กับเหล่าอุตสาหกรรมปลาทูน่าซึ่งยังกอบโกยสร้างผลกำไรจากการทำลายล้างสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศของมหาสมุทรโลก และเอารัดเอาเปรียบแรงงานโดยเฉพาะแรงงานบนเรือประมง

อุตสาหกรรมทูน่ากำลังเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างรวดเร็ว บริษัทที่มีความก้าวหน้า ในตลาดปลาทูน่าหลักๆ ของโลกได้ตอบสนองข้อเรียกร้องว่าการประมงปลาทูน่าจะต้องไม่ทำลายมหาสมุทรและไม่กดขี่ขูดรีดแรงงาน แต่ถึงแม้ว่าจะมีความคืบหน้า แต่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งยังคงหาวิธีการในการทำงานแบบเดิมโดยไม่แยแสต่อข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานของผู้บริโภค

แล้วทำไมบริษัทเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เข้ามาร่วมกับมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (ISSF)?

อุตสาหกรรมปลาทูน่ายักษ์ใหญ่ก่อตั้งและสนับสนุนเงินทุนให้กับมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล(ISSF)

ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่กรีนพีซและองค์กรสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทำงานรณรงค์ท้าทายให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าทำการเปลี่ยนแปลงวิธีการประมงแบบทำลายล้าง โดยสมาชิกทั้ง 8 ผู้ร่วมก่อตั้ง ISFF ล้วนเป็นบริษัทปลาทูน่ายักษ์ใหญ่ของโลกและขณะนั้นเป็นผู้ควบคุมตลาดปลาทูน่ากระป๋องกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เงินสนับสนุนมากกว่า 300,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อก่อตั้งมูลนิธิได้มาจากบริษัท ไทยยูเนี่ยน และชิ้คเก็นออฟเดอะซี และมีอีกสองสามบริษัท เช่น บัมเบิลบี ที่สนับสนุนเงินราว 250,000 เหรียญสหรัฐในปี  2555 และยังมีผู้ผลิตอุปกรณ์ประมงของประเทศสเปนที่ผลิตทุ่นติดตามที่ใช้กับอุปกรณ์ล่อปลาที่เรียกว่า Fish Aggregating Devices (FADs) ก็ร่วมเป็นผู้สนับสนุน

การใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างอย่าง FADs ร่วมกับอวนล้อมจับนั้นยังไร้กฏหมายควบคุมที่มีประสิทธิภาพดีพอ  จึงเป็นอุปสรรคหลักของการปกป้องมหาสมุทรเนื่องจากอุตสาหกรรมปลาทูน่ายังคงสามารถใช้ช่องว่างนี้ทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป  ซึ่ง ISSF ก็ได้ใช้ช่องว่างนี้ปฏิเสธที่จะควบคุมการใช้อุปกรณ์ล่อปลา FADs  แต่กลับใช้คำเรียกสร้างภาพ “ECO—FADs” หรืออุปกรณ์ล่อปลาที่อ้างว่าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นไร้ผลและสร้างผลกระทบเช่นกัน จึงแสดงให้เห็นว่า ISSF ยอมก้มหัวให้กับอุตสาหกรรมทูน่ามากกว่าที่จะยอมทำงานเพื่อหาทางออกที่แท้จริงจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม  และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ISSF เชื่อมโยงอยู่กับสมาคมค้าอาหารทะเล

ความเชื่อมโยงระหว่าง ISSF กับสถาบันประมงแห่งชาติ สถาบันประมงแห่งชาติมีบทบาทในการตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมประมง มีการจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ชื่อ Counterpoint Strategies ที่เคยทำงานให้กับสมาพันธ์ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารพิษอันตรายที่ใช้ในการฆ่าเชื้อหรือดองศพ) ในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำมันในช่วงการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมันดีพวอเตอร์ฮอไรซัน (Deepwater Horizon blowout) ในอ่าวเม็กซิโก  เมื่อปี 2553-2556   สถาบันประมงแห่งชาติได้จ่ายเงินจ้าง Counterpoint Strategies มากกว่าครึ่งล้านเหรียญสหรัฐ และในประวัติการทำงานของอดีตรองผู้อำนวยการ Counterpoint Strategies ได้เขียนไว้ว่า เธอเคย “ทำงานอย่างใกล้ชิดกับระดับผู้บริหารของแบรนด์ทูน่า 3 ลำดับต้นของโลกเพื่อปกป้องผลประโยชน์จากการประท้วงของนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม”(National Fisheries Institute: NFI)ในสหรัฐอเมริกา  เป็นเรื่องที่น่าติดตาม สถาบันประมงแห่งชาติได้วิจารณ์กลุ่มคนที่ตั้งคำถามต่ออุตสาหกรรมประมงอย่างดุเดือด ประธานของสถาบันประมงแห่งชาติคนปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้ดูแลเงินของ ISSF ส่วนประธานคนปัจจุบันของ ISSF เคยเป็นผู้อำนวยการของสถาบันประมงแห่งชาติ  ความเชื่อมโยงนี้มีความสำคัญเพราะจุดยืนของสถาบันประมงแห่งชาติคือสนับสนุนสถานะที่เป็นอยู่ของอุตสาหกรรมประมงอย่างเต็มที่  สถาบันประมงแห่งชาติ และบริษัทที่เป็นสมาชิกของ ISSF บางแห่งได้เป็นผู้สนับสนุน “ทูน่าฟอร์ทูมอโร่ TunaForTomorrow” ที่ทำสื่อประชาสัมพันธ์โจมตีกรีนพีซว่าข้อมูลไม่ถูกต้องและมักจะโจมตีบุคคลากรของกรีนพีซ

ดังนั้น เราจะเชื่อ ISSF ในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไรในขณะที่ ISSF มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสมาคมการค้าอย่างสถาบันประมงแห่งชาติที่จ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ที่คอยปกป้องพฤติกรรมทำลายล้างและตักตวงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางทะเลของอุตสาหกรรมประมง

มูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล(ISSF) และยุทธศาสตร์ที่เอากำไรอยู่เหนืออาหารทะเลที่ยั่งยืน

ภาพที่จัดทำโดยอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Counterpoint Strategies แสดงถึงมุมมองของบริษัทประชาสัมพันธ์และลูกค้าอย่างสถาบันประมงแห่งชาติ ต่อบทบาทของตนและบทบาทของ ISSF ซึ่งมีความชัดเจนว่า ISSF และสถาบันประมงแห่งชาติทำหน้าที่ปกป้องแบรนด์อาหารทะเลของสหรัฐอเมริกาจากกลุ่มรณรงค์สิ่งแวดล้อม

ภาพนี้แสดงให้เห็นว่า ISSF เป็นกันชนระหว่างแบรนด์ทูน่ากับองค์การจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMOs: Regional Fisheries Management Organizations) ซึ่งรับผิดชอบในการออกกฏเกณฑ์การทำประมงปลาทูน่าและป้องกันการทำประมงเกินขนาด

อีกภาพหนึ่งจัดทำโดยอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Counterpoint Strategies แสดงอย่างชัดเจนโดยตรงว่าสถาบันประมงแห่งชาติและบริษัทที่ร่วมกับ ISSF ทำหน้าที่กีดกันกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการจูงใจให้ผู้ค้าปลีกหยิบยกปัญหาการประมงปลาทูน่าอย่างไร

มูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล(ISSF): อาหารทะเลที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงหรือเกราะกำบังที่เบี่ยงเบนการวิพากษ์วิจารณ์

การขึ้นต่อเงินทุนจากอุตสาหกรรมของมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (ISSF) ความสัมพันธ์กับสถาบันประมงแห่งชาติ และการพึ่งพาบริษัทประชาสัมพันธ์ที่มีชื่อเสียงในแง่ไม่ดีนักอาจพอเข้าใจได้หาก ISSF สนับสนุนเรื่องความยั่งยืนและผลักดันบริษัทที่เป็นสมาชิกของตนทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลปราศจากการทำลายล้างมหาสมุทร ในทางตรงกันข้าม บริษัทอุตสาหกรรมปลาทูน่าใช้สถานะการเป็นสมาชิกของ ISFF เพื่อหลบเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์

ในขณะที่ผู้เล่นอื่นๆ ในแวดวงอุตสาหกรรมนี้กำลังหาทางแก้ปัญหา   แต่สิ่งที่ ISSF อ้างว่าข้อกำหนดต่างๆเป็นข้อริเริ่มด้านความยั่งยืนส่วนใหญ่นั้นเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว  บริษัทต่างๆ ที่ตระหนักถึงความยั่งยืนกำลังหาแหล่งสินค้าปลาทูน่าที่มาจากการประมงที่ไม่ใช้อุปกรณ์ล่อปลา (FADs) บริษัทเหล่านี้ยังยืนยันไม่ไห้มีการกดขี่ขูดรีดแรงงานในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของตน ซึ่ง ISFF ไม่สนใจเลย

หลายปีก่อน มูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล(ISSF) ขอให้กรีนพีซเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซก็ได้ปฏิเสธอย่างสุภาพ เนื่องจากเรารู้และตระหนักว่าผลลัพธ์ทั้งหมดที่ออกมาและสิ่งที่ ISSF เลือกจะไม่สนใจนั้นจะถูกกำหนดจากการที่ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากอุตสาหกรรม บ่อยครั้ง เราพบว่าบทบาทของISSF คือการเบี่ยงแบนความสนใจจากปัญหาที่แท้จริงและประวิงเวลาในการรับรองถึงทางออกของปัญหา

การที่ ISSF พยายามสร้างภาพว่าเป็น “อีโค” หรือทำเพื่อสิ่งแวดล้อม และการเพิกเฉยต่อประเด็นการทารุณแรงงานและการประมงเบ็ดราว ทำให้ ISSF กลายเป็นเพียงฉากบังหน้าที่คอยปกป้องสมาชิกของตน ซึ่งนั่นห่างไกลจากการเป็นอุตสาหกรรมทูน่าที่ยั่งยืนแท้จริง เมื่อสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นคำถาม ISSF และเหล่าสมาชิกจึงไม่สามารถอ้างสิทธิอ้างเสียงที่จะบอกว่ากำลังทำงานเพื่อปกป้องอนาคตของมหาสมุทรและรับผิดชอบต่อผู้บริโภคปลาทูน่ากระป๋องได้ เราสนับสนุนเรียกร้องให้บริษัทปลาทูน่าแบรนด์ ต่างๆ รวมถึงผู้ให้เงินทุนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลงทุนลงแรงไปยังโครงการอื่นๆ แทนที่จะเป็น ISSF 


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 3 พฤษภาคม 2559 21:02:51 น.   
Counter : 1873 Pageviews.  


S.O.S. วิกฤตประมงไทยที่รัฐต้องตื่นตัวและแก้ไขอย่างจริงจัง



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

แก้วิกฤตด่วน! ชาวประมงกว่า 200 คน จากเครือข่ายประมงพื้นบ้านทั่วประเทศร่วมกันส่งสัญญาณ SOS ถึงวิกฤตประมงของประเทศไทยส่งสารไปถึงรัฐบาลไทยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงมือแก้ไขปัญหาการจัดการประมงที่เกิดขึ้นในขณะนี้

หนึ่งปีแล้วที่ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU ของไทย และนั่นนำไปสู่การเร่งรีบออกกฎหมาย  ส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านในหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 34 ที่ห้ามเรือเล็กออกจากฝั่ง และมาตรา 10 ที่ห้ามเรือไม่ได้จดทะเบียนออกทำประมง ซึ่งไม่มีการเปิดให้เรือเล็กจดทะเบียนพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านคือผู้ที่ทำการประมงอย่างอนุรักษ์ฟื้นฟู และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ด้วยสถานการณ์ทางกฎหมายและทรัพยากรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี่เอง จึงเกิดเป็นการประชุม “สมัชชาชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย” การรวมพลังกันของเครือข่ายประมงพื้นบ้านทั่วประเทศที่ใหญ่ที่สุดครั้งแรก!

ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจากกลุ่มต่างๆ กว่า 200 คน มารวมตัวกัน ในช่วง 28-29 เมษายน ที่ผ่านมา ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรีนพีซได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมในครั้งนี้  ซึ่งมีพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจากหลายพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย ตั้งแต่อ่าวตัวก. อ่าวไทย จรดทะเลอันดามัน รวมถึงจากองค์กรต่างๆ คือ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย องค์การอ็อกแฟม และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ร่วมกันผลักดันให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาการจัดการประมงระดับประเทศที่ตรงจุด

“ทุกคนบอกว่ารักลูกรักหลาน แต่ไฉนตอนนี้ท้องทะเลเหลือแต่น้ำ พวกเราเริ่มรู้และรับความจริงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าทะเลของเรากำลังเปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนกลับคืนไม่ได้ สมัชชาชาวประมงพื้นบ้านกำลังทำให้สังคมรับรู้ว่าชาวประมงพื้นบ้านกำลังทำอะไรกันบ้างเพื่อต่อสู้กับวิกฤตประมง” ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย กล่าว

รัฐต้องแก้ปัญหาประมงไทยอย่างตรงจุด จริงจัง และยั่งยืน

การเร่งรีบออกกฎหมายเพื่อแก้สถานการณ์ใบเหลืองของภาครัฐเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และทำให้หลายมาตรากลับมาทำสร้างปัญหาให้ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลตัวจริง และไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

ในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากกรมประมงเข้ามารับฟังความคิดเห็นและตอบข้อซักถามด้วย โดยหนึ่งในนั้น คุณมนูญ ตันติกุล กรมประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้กล่าวยอมรับว่า “กฎหมายประมงที่ออกมามีผลกระทบอย่างแน่นอน มากน้อย หรือปานกลาง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาทบทวน แก้ไขปรับปรุงให้เข้ากับบริบทจริง”

มาตราที่ส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านมากที่สุดคือ มาตรา 34 ซึ่งห้ามไม่ให้ชาวประมงพื้นบ้านออกทำการประมงนอกเขตชายฝั่งสามไมล์ทะเลเป็นอันขาด พร้อมกำหนดโทษหนัก ในกรณีนี้ นายประเทศ ซอรักษ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมประมง ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกับกับชาวประมงพื้นบ้านเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาวประมงพื้นบ้าน  ว่า “ในการจัดการกับกฏหมายที่มีผลกระทบต่อคนหมู่มากที่ดีที่สุดคือ ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งคนจับปลา คนกินปลา คนขายปลา คนแปรรูปปลา ตั้งแต่ศึกษาหาข้อมูลร่วมกัน ออกกติกา และบังคับใช้ร่วมกัน ปรับปรุงแก้ไขกติกาและรับผิดชอบร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเขียนกฎหมายแบบที่ ‘เขียนเองพันขาตัวเอง” สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าหัวใจสำคัญของการแก้ไขคือการมีส่วนร่วมและต้องคำนึงถึงผลกระทบในทุกภาคส่วนวิเคราะห์อย่างรอบด้าน และใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน  

“เราอยู่กับธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติเสื่อมโทรม พวกเราก็อยู่ไม่ได้ เราทำประมงอย่างอนุรักษ์และฟื้นฟูจึงไม่ได้รับผลกระทบจากใบเหลืองอียู แต่การร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 34 ที่กั้นไม่ให้ชาวประมงพื้นบ้านออกนอกชายฝั่งเขต 3 ไมล์ทะเล คือสิ่งที่ตัดสิทธิการประกอบอาชีพและวิถีชีวิตที่เคยมี” สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว

สัญญาณ SOS จากชาวประมงผู้พิทักษ์ทะเล

หลังสิ้นสุดการประชุม พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดกว่า 200 คน และองค์กรเครือข่ายประมง ได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมสมัชชา แก่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายหรือศปมผ. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงมือแก้ไขปัญหาการจัดการประมงที่เกิดขึ้นในขณะนี้

หากทะเลเปล่งเสียงได้ ทะเลคงกำลังร้องขอให้เราช่วยกันปกป้องทะเล และนั่นคือสิ่งที่ชาวประมงพื้นบ้านได้ปฏิบัติเสมอมา พี่น้องชาวประมงคนแล้วคนเล่า ได้ใช้ตนเองเป็นสื่อรณรงค์ร่วมกันแปรอักษรมนุษย์เป็นรูปเรือประมงพื้นบ้าน พร้อมกับข้อความว่า “SOS” เพื่อสื่อถึงวิกฤตประมงของประเทศไทย ที่อ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงบอกกับภาครัฐว่า “ปล่อยเรือเล็กออกจากฝั่ง” และ “เปิดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน” ผืนทะเลไทยคือสิ่งที่ชาวประมงพื้นบ้านรักและหวงแหน ไม่ใช่เป็นเพียงการประกอบอาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิต การรวมกลุ่มในครั้งนี้จึงถือเป็นการจับมือเพื่อรวมพลังกันปกป้องทะเลไทย สมบัติของคนไทยเราทุกคน

“ขณะนี้กระบวนการแก้ปัญหาประมงของรัฐเน้นการช่วยแก้ปัญหาให้กับการประมงพาณิชย์ แต่ไทยมีการประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ซึ่งเป็นผู้สร้างอาหารทะเลที่ปลอดภัย เศรษฐกิจที่ดี ความมั่นคงทางอาหาร และยังเป็นทางออกของใบเหลืองอียู ซึ่งรัฐควรจะมองเห็นเรื่องนี้เป็นสำคัญ” นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว

อ่าวคั่นกระไดที่แสนอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กำลังเห็นการเริ่มต้นการรวมพลังครั้งใหญ่ของชาวประมงผู้อนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเล ที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งต่อชุมชน ต่อทะเล และต่อผู้บริโภค เหลือเพียงแค่ว่าภาครัฐพร้อมที่จะดำเนินการแก้ไขวิกฤตประมงที่เกิดขึ้นนี้อย่างแท้จริงและถูกจุดมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่ทะเลไทยจะเสื่อมโทรมจนสายเกินไปเพราะกฎหมายที่เอื้อต่อการประมงแบบอุตสาหกรรม


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 3 พฤษภาคม 2559 20:23:36 น.   
Counter : 806 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com