กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

เงามืด...โรงเผากำจัดขยะมูลฝอย หนองแขม

ในขณะที่ทั่วโลกมีความพยายามอย่างหนักในการลดปริมาณขยะโดยการรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้ และคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีเพื่อนำขยะมาใช้ประโยชน์และต่อต้านการกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาทุกรูปแบบ แต่กรุงเทพมหานครกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะและนำขยะมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่พยายามมุ่งไปสู่วิธีการกำจัดขยะแบบปลายทางหรือวิธีแบบ “มักง่าย” ที่เรียกว่า “โรงงานเผาขยะ” ที่ควรเก็บไว้เป็นวิธีสุดท้ายหรือพยายามหลีกเลี่ยง โดยเพียงยกเหตุผลว่า “ประชากรในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นพร้อมกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น” และ “ไม่มีพื้นที่ฝั่งกลบ”และอีกหลายคำกล่าวอ้างเพื่อหาเหตุผลต่างๆ ในการผลักดันโครงการสร้างโรงงานเผาขยะให้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยมิได้คำนึงถึงมลพิษที่จะเกิดขึ้นตามมาและมองข้ามวิธีปฏิบัติหรือความพยายามทำวิธีอื่นๆ ก่อนที่จะลดขยะได้เช่นกัน

โรงงานเผาขยะหนองแขมสถานการณ์ขยะมูลฝอยในชุมชน ของปี พ.ศ.2555 มีขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นประมาณ 16 ล้านตัน หรือ 43,000 ตันต่อวัน โดยร้อยละ 22 เป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร (9,800 ตันต่อวัน) แต่มีเพียงร้อยละ 36 หรือเพียง 5.8 ล้านตันที่ได้รับการจัดการตามระบบ ส่วนที่เหลือกว่า 10 ล้านตันถูกกำจัดทิ้งโดยการเผา กองทิ้งในบ่อดินเก่าหรือพื้นที่รกร้าง เป็นขยะคงค้าง และเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทุกปีจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นตามกับการบริโภค[1]

เรื่องราวของโรงงานเผาขยะในกรุงเทพฯเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541โดยการเสนอเงินทุนและเทคโนโลยีจากรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ท้ายที่สุดโครงการนี้ถูกคัดค้านจากภาคประชาสังคมและองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เนื่องจากพบว่าเบื้องหลังการให้เงินทุนและเทคโนโลยีจากประเทศที่เจริญแล้วเหล่านี้มีสิ่งที่แฝงเร้นคือการนำเทคโนโลยีสกปรก ขยะและมลพิษมายังประเทศกำลังพัฒนา ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ก็มีข้อสรุปว่าไม่มีเทคโนโลยีการเผาขยะใดที่สะอาดอย่างแท้จริง โดยทางออกการจัดการขยะที่ทั่วโลกพยายามรณรงค์ คือ ลดขยะ แยกขยะ ไร้ขยะหรือของเสียเหลือศูนย์ดังนั้นโครงการสร้างโรงงานเผาขยะดังกล่าวจึงถูกพับเก็บไปกว่าสิบปี  

แต่แล้วปีพ.ศ. 2555 กรุงเทพฯ กลับหยิบแนวคิดการจัดการขยะโดยการเผาขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้ตั้งชื่อโครงการภายใต้คำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างสวยงามและดูเหมือนไม่มีพิษภัยว่า “โรงกำจัดขยะมูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูง” และได้มีการประชาสัมพันธ์ว่ามีจะการสร้าง “โรงกำจัดขยะมูลฝอยพลังงานความร้อนสูง” หรือโรงงานเผาขยะบริเวณหนองแขม จากนั้นไม่นานก็มีการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และการประเมินมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (EAS)  เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 และวันที่  21 กันยายนพ.ศ.2555ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่สนับสนุนและส่วนใหญ่มีผลประโยชน์จากการกองขยะในพื้นที่ แต่กลับเพิกเฉยต่อคำคัดค้านของชุมชนหรือประชาชนอื่นๆ ที่เห็นถึงผลกระทบอันร้ายแรงในอนาคต ต่อมาวันที่  7 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการทำสัญญากับบริษัทเอกชน สัญชาติจีน เพื่อก่อสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งมีกำหนดสร้างเพียง 700 วัน โดยสถานที่ก่อสร้างคือเขตหนองแขม ในพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด30 ไร่ในงบประมาณ 960 ล้านบาท และงบประมาณดำเนินการเผาขยะเป็นเวลา 20 ปี งบประมาณรวม 2,173,808,500 บาท

ในพื้นที่ดังกล่าว หากมีการเผาขยะจริง ความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะตามมาอย่างแน่นอน โรงงานเผาขยะส่วนใหญ่มักเกิดปัญหาการเป็นแหล่งกำเนิด “สารก่อมะเร็ง” ไดอ๊อกซินและฟิวเรน และสารพิษอันตรายๆ อื่นๆ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขี้เถ้าลอยจากการเผา แหล่งน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำผิวดินสาธารณะสำคัญโดยรอบบริเวณเขตหนองแขมมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนสารพิษคือ คลองทวีวัฒนา คลองบางไผ่ คลองประเวศ คลองภาษีเจริญ และคลองสี่วา ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้ที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่เขตหนองแขม ซึ่งมีประมาณ 136,084 คน และประชาชนชาวกรุงเทพกว่า 10 ล้านคนย่อมต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบโดยอ้อมเนื่องจากการเคลื่อนที่ของเถ้าขยะที่ปนเปื้อนโลหะหนักและไดออกซินในอากาศสามารถลอยไปได้ไกลกว่า 100 กิโลเมตร และเมื่อสารพิษเหล่านั้นจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเช่น น้ำ อากาศ และดิน และปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและร่างกายประชาชน[2] ข้อมูลเชิงพิษวิทยาชี้ให้เห็นว่า  ไดออกซินเข้าสู่ร่างกายได้โดยถูกดูดซึมทางผิวหนังและทางปาก คนและสัตว์จะได้รับไดออกซิน จากสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน อากาศ น้ำ รวมทั้งจากอาหาร และ พบว่า 90% ของ ไดออกซิน ที่คนได้รับมาจากอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ปลา ซึ่งร่างกายคนและสัตว์สามารถกำจัด ออกได้แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในตับและไขมันใน ร่างกาย ครึ่งชีวิตหรือการสลายตัวครึ่งหนึ่งจากปริมาณที่มีอยู่เดิมของไดออกซิน ในคนมีค่าประมาณ 2 – 6 ปี ซึ่งนานกว่าในสัตว์มากคนและสัตว์ขับไดออกซินออกทางน้ำนมและผ่านรก และเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดภาวะแท้งบุตร จากการศึกษาทางพิษวิทยา สรุปว่า ไดออกซิน เป็นสารอันตรายที่ทำให้เกิดมะเร็งในอวัยวะหลายแห่ง[3]

เตาเผาขยะย่อมไม่ใช่คำตอบของการจัดการขยะหรือเป็นยาวิเศษที่ผู้บริหารจัดการประเทศหรือชุมชนได้กำลังสร้างภาพว่าจะทำให้ขยะหายไปได้ การเผาขยะคือการเปลี่ยนขยะเป็นมลพิษทางอากาศและขี้เถ้าขยะปริมาณมหาศาลที่อันตราย การเผาเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การรณรงค์ให้ทุกคนจัดการขยะที่เกิดขึ้นในครัวเรือนอย่างเหมาะสมและเห็นความสำคัญของการลดการใช้การคัดแยกขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำขยะเปียกมาทำปุ๋ยชีวภาพ ทางเลือกเหล่านี้ต่างหากที่เป็นทางออกและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งโรงงานเผาขยะไม่สามารถทำได้ ซ้ำยังเป็นการบั่นทอนของความพยายามที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและสร้างพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน  

ข้อมูลเพิ่มเติม

มายาคติที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่บิดเบื้อนแก่ประชาชนในเรื่องเตาเผาขยะมีดังต่อไปนี้

มายาคติ

ความจริง

1.เทคโนโลยีเตาเผาขยะพลังงานความร้อนสูง ไม่ก่อให้เกิดสารพิษ

  • การควบคุมและเพิ่มอุณหภูมิเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้เพื่อลดปัญหาไดออกซิน แต่ผลที่จะตาม คือ ปริมาณก๊าซ์ไนตริกและโลหะหนักเป็นพิษจะเพิ่มขึ้นและทำให้ถ่านกัมมันต์ดูดซึมปรอทได้น้อยลง
  • อุปกรณ์ควบคุมและป้องกันมลพิษแบบอิเล็คโทรนิคมักไม่ทำงานตามที่คาดหวังไว้ การบำรุงรักษาอุปกรณ์เหล่านี้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษาเทคโนโลยี

2.ปัญหาไดออกซินควบคุมได้โดยการติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อบังคับที่กำหนด

  • ยังไม่มีอุปกรณ์ใดสามารถติดตามตรวจสอบไดออกซินได้อย่างต่อเนื่อง แต่จะใช้วิธีตรวจวัดและเก็บตัวอย่างในพื้นที่เพียงไม่กี่จุด และการตรวจวัดยังมีค่าใช้จ่ายสูงมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

  • ไม่ว่าเตาเผาขยะจะออกแบบมาอย่างเยี่ยมยอดเพียงใด ประชาชนก็ยังไม่มีอิสระพอที่จะรับรู้ข้อมูลการทำงานของเตาเผาขยะว่ามีประสิทธิภาพอย่างไรและมีเครื่องมือในการจัดการควบคุมมลพิษภายในเตาเผาขยะดำเนินการไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธภาพเพียงไรมีการบำรุงรักษาและมีการตรวจสอบอย่างไร

3. เตาเผาขยะลดปัญหาเรื่องหลุมฝังกลบ

  • การเผาขยะ = โรงงานเผาขยะ + หลุมฝังกลบเถ้าขยะอันตรายหลังจากการเผา ซึ่งเถ้าเหล่านี้มีความเป็นพิษสูงเพราะปนเปื้อนด้วยโลหะหนักและไดออกซิน ซึ่งเมื่อนำไปฝังกลบ อาจจะมีการรั่วไหลออกสู่แหล่งน้ำใต้ดินในท้ายที่สุด

4.เตาขยะผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากขยะ

  • ในขณะที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าขยะสามารถนำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า ความจริง คือ โรงงานเผาขยะผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณน้อยมากและพลังงานที่ผลิตได้ไม่คุ้มค่ากับเงินทุนที่ลงไป โดยยังไม่รวมถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ฟื้นฟูพื้นที่และประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษที่จะตามมา

5. เตาเผาขยะสอดคล้องกับการรีไซเคิล

  • มีคำกล่าวอ้างว่าสร้างเตาเผาขยะเป็นการส่งเสริมการคัดแยกขยะเพื่อนำมารีไซเคิล โดยอ้างว่าเป็นการจัดการขบะแบบผสมผสาน แต่ในความเป็นจริงการเผาขยะสวนทางกับการพยายามในการลดขยะและการรีไซเคิล เพราะเตาเผาขยะต้องการขยะในปริมาณมากและต่อนื่องเพื่อให้การเดินเครื่องมีประสิทธิภาพมากที่สุด การรีไซเคิลทำให้มีปริมาณขยะที่เป็นเชื้อเพลิงลดลง โดยเฉพาะขยะที่ติดไฟง่ายและให้ความร้อนสูง เช่น พลาสติกและกระดาษ ผู้ประกอบการจึงอาจจะต้องหาเชื้อเพลิงประเภทอื่นมาแทน เช่น ถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมอื่นตามมา โดยในระบบ “การจัดการขยะแบผสมผสาน” มีสัดส่วนการนำขยะไปรีไซเคิลยังอยู่ในระดับต่ำ


[1] กรมควบคุมมลพิษ

[2] Health and Environmental Effects of Burning Municipal Solid Waste

//www.environment.gov.sk.ca/adx/aspx/adxGetMedia.aspx?DocID=417,236

[3] ไดออกซิน ( Dioxins) โดย น.สพ. เสริมพันธุ์ สุนทรชาติ , กลุ่มงานพิษวิทยาและชีวเคมี สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

ที่มา: //www.greenpeace.org/seasia/th/news/incinerator-bkk/




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2556 12:53:59 น.   
Counter : 2219 Pageviews.  


ความล้มเหลวของการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯ

คงมีน้อยคนนักที่จะรู้สึกแปลกใจกับชื่อหัวข้อ”ความล้มเหลวของการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯ” เพราะปัญหา “ขยะ” กับกรุงเทพมหานครอยู่คู่กันมานับตั้งแต่อดีต และยังเป็นเรื่องท้าทายและส่งเสียงเรียกร้องจากประชาชนตลอดทุกยุคทุกสมัยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าฯ

ย้อนอดีตตั้งแต่สำนักงานกรุงเทพมหานครเริ่มใช้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2520-2524) จนถึงฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2556 แทบจะไม่มียุทธศาสตร์ใดในแผนด้านการจัดการขยะมูลฝอยที่ประสบความสำเร็จจริง ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การประเมินผลงานของผู้ว่าฯกทม." ซึ่งเป็นผู้นำในทิศทางบริหารงานของกรุงเทพฯ จัดทำโดย ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระหว่างวันที่ 9-24 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ระบุว่า ผลงานของผู้ว่าฯกทม.ที่ไม่ประสบผลสำเร็จมากกว่าประสบผลสำเร็จในด้านการจัดการขยะและความไม่สะอาดมีถึงร้อยละ 21.50 ในขณะที่ประชาชนที่คิดว่าสำเร็จมีเพียงร้อยละ 15.60

กิจกรรมทางเศรษฐกิจและชุมชนเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกรุงเทพมหานครโดยขาดการปฏิบัตินโยบายบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและเท่าทันการขยายตัวของเมืองทำให้กรุงเทพมหานครต้องเผิชญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ยังคงท้าทายผู้บริหารจัดการเมืองมาตลอดหลายสิบปีคือ “ปัญหาขยะล้นเมือง” ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ

จาก “ขยะ” ที่เป็นปัญหาใหญ่ กรุงเทพมหานครจึงได้ตั้งเป้าหมายการจัดการขยะในแนวทางใหม่คือ การลดปริมาณขยะมูลฝอยและนำของเสียกลับไปใช้ประโยชน์โดยมุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอยและผลักดันให้มีการนำหลักการ 3R ไปสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่แผนพัฒนากรุงเทพมหานครฉบับที่ 4 (พ.ศ.2535-2539) เป็นต้นมา โดยในแผนนั้นกำหนดกลยุทธ์หลักออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ควบคุมปริมาณมูลฝอยไม่ให้เพิ่มขึ้น โดยพยายามปลูกฝังจิตสำนึกประชาชน 2) เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกมูลฝอย ของเสียอันตรายและกากไขมันที่แหล่งกำเนิด โดยเพิ่มความสามารถรองรับขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย กากไขมัน ขยะเศษอาหาร และส่งเสริมการคัดแยกประเภท ขยะมูลฝอยในครัวเรือนและสถานประกอบการ  และ 3) สนับสนุนการนำเทคโนโลยีแปรรูปผลผลิต โดยการขอรับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและความชำนาญการทางธุรกิจจากภาคเอกชน ผ่านกิจกรรม/โครงการ CSR ต่างๆ  ซึ่งหากวิเคราะห์ดูแผนยุทธศาลตร์ดังกล่าวนี้ ก็ถือว่าเป็นแผนที่ดีพอสมควร แต่การปฏิบัติและจริงจังกับการแก้ปัญหานั้น...คำตอบอยู่ที่ผลงาน

ตาราง 1: ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2554

พื้นที่

ปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บ (ตันต่อวัน)

2548

2549

2550

2551

2552

2553

2554

กรุงเทพมหานคร

8,291

8,403

8,532

8,780

8,834

8,766

9,126

ที่มา: ข้อมูลการเก็บขนขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร รวบรวมจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, 2555

หากพิจารณาสถิติปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละปีแล้ว ขยะในกรุงเทพฯยังคงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ต่อปี และอาจสรุปได้ว่าการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แม้ว่าสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครจะได้ดำเนินโครงการมากมายตามกลยุทธ์หลักที่ 1   เพื่อสร้างแนวคิดการจัดการขยะในชุมชน ตัวอย่างเช่น โครงการส่งเสริมการคัดแยกขยะในกลุ่มเป้าหมาย เช่น โรงเรียน โครงการส่งเสริมการแปรรูปขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ชุมชนนำร่องคัดแยกมูลฝอยรีไซเคิล สถานีรับมูลฝอยรีไซเคิลรายย่อยของสำนักงานเขต  ตั้งถังรับซื้อวัสดุรีไซเคิลจากข้าราชการ โครงการส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าชชีวภาพ โครงการลดและคัดแยกมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 12 ชุมชน และอื่นๆ ซึ่งประมาณว่าสามารถลดปริมาณมูลฝอยได้ประมาณร้อยละ 10 ต่อปีในพื้นที่โครงการ แต่วิธีการประเมินผลที่สำนักสิ่งแวดล้อมใช้โดยเทียบกับปริมาณมูลฝอยคาดการณ์ของ JBIC ในปีพ.ศ.2544 นั้น ไม่สามารถใช้เป็นตัววัดความสำเร็จของโครงการได้ เนื่องจากอัตราการเกิดมูลฝอยอนาคตที่คำนวนจากการคาดคะเนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในอนาตค อาจมีความแปรผันสูงมากจนไม่ตรงกับความป็นจริง

ตาราง 2: สรุปผลการลดปริมาณมูลฝอยของกรุงเทพมหานครระหว่างปี พ.ศ.2548-2552

ปี

ปริมาณขยะคาดการณ์(ตัน/วัน)

ปริมาณขยะที่จัดเก็บ(ตัน/วัน)

ผลการลดปริมาณขยะ

เทียบกับคาดการณ์ (ร้อยละ)

ตัน/วัน

ร้อยละ

พ.ศ.2548

9,388

8,496

892

10

พ.ศ.2549

9,546

8,377

1,169

12

พ.ศ.2550

9,706

8,718

988

10

พ.ศ.2551

9,847

8,780

1,067

11

พ.ศ.2552

10,000

8,787

1,213

12

ที่มา: กองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร,2553

ความล้มเหลวของการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่องที่เห็นชัดเจนที่สุดในสังคมขณะนี้ คงไม่พ้นเรื่องการนำพากรุงเทพฯ ไปสู่สังคมแห่งการลดและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง หรือแม้แต่เรื่อง “ทิ้งให้ถูกที่” ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ โครงการที่จดจำและประสบความสำเร็จมากในอดีตเช่น “โครงการตาวิเศษ” ที่สามารถทำให้คนเริ่มตระหนักรับผิดชอบไม่ทิ้งขยะลงพื้นและแม่น้ำลำคลองกลับไม่ใช่โครงการรณรงค์โดยตรงของภาครัฐหรือกรุงเทพมหานครแต่เป็นของภาคเอกชน ซึ่งกรุงเทพมหานครน่าจะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างของโครงการรณรงค์และต่อยอดนำมาใช้รณรงค์แก้ปัญหาในปัจจุบันที่คล้ายกันด้วยสรรพกำลังและงบประมาณภาษีที่มีมากกว่าหลายเท่าตัว   

 ประเภทขยะสำคัญอีกชนิดคือ “ขยะอันตราย” ที่กรุงเทพมหานครยังคงไม่สามารถแก้ไขตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่5 (พ.ศ.2540-2545) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาที่ดีแต่การปฏิบัติตามแผนยังคงเป็นแบบทำให้ผ่านๆ ไป ไม่จริงจัง ไม่ประเมิน ไม่ติดตาม ไม่ปรับปรุง เช่น การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแยกขยะอันตรายจากบ้านเรือนทั่วทั้ง 50 เขต โดยประชาชนจะต้องแยกทิ้งขยะอันตรายลงไปในถังสีเทา ฝาแดง โดยให้ทิ้งทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอยอันตรายจากชุมชน โดยตั้งถังสำหรับขยะอันตราย 2 ถัง แยกเป็นถังใส่หลอดฟลูออ-เรสเซนท์และหลอดไฟต่างๆส่วนอีกถังใส่สเปรย์ ยาฆ่าแมลง โดยตั้งเป้าหมายที่จะสามารถเก็บขยะอันตรายเหล่านี้ได้วันละ 24-30 ตันต่อวันแต่ปรากฎว่ากรุงเทพมหานครสามารถเก็บขยะอันตรายเฉลี่ยได้เพียง 600 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น และปัจจุบันผ่านมา 10 ปีเราแทบจะไม่ได้เห็นการปฏิบัติดังกล่าวอีกต่อไป หรือแม้แต่มาตรการใหม่ๆ ที่ควรจะต้องนำมาใช้รับมือกับขยะอันตรายที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว  

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครได้สูญเสียงบประมาณไปมากมายกับการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่ต่างประเทศ การรณรงค์ให้ความรู้แก่บุคลากรและชุมชน  แต่ปัญหาการคัดแยกก่อนทิ้งและทิ้งให้ถูกที่ในกรุงเทพมหานครก็ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างครบวงจรและยั่งยืน สาเหตุของความล้มเหลวนี้อาจเกิดจากหลากหลายปัจจัย แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวได้ว่าปัญหาดังกล่าวย่อมมีสาเหตุมาจากการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพของกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังไม่มีสถานที่และวิธีการที่ถูกต้องในการกำจัดขยะโดยการคัดแยก จึงทำให้โครงการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อประชาชนคัดแยกขยะแล้ว กลับไม่มีการเก็บขยะแบบแยกเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าแยกขยะไปก็เท่านั้นเพราะในที่สุดรถเก็บขยะของสำนักงานเขตก็เทกองรวมกันอยู่ดี หรือกลายเป็นหน้าที่ของซาเล้งที่จะเป็นผู้คัดแยก

คำถามสำคัญที่อยากให้ทุกคนช่วยกันถามผู้บริหารกรุงเทพมหานครคือ ทำไมการจัดการบริหารขยะ เช่นคัดแยกก่อนทิ้งและทิ้งให้ถูกที่ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนถึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่กรุงเทพมหานครเองได้มีโครงการมากมายที่ส่งเสริมการลดและแยกมูลฝอย อีกทั้งการรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนทำการแยกขยะมูลฝอยนั้น เป็นงานหลักในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีที่ผ่านมา  

ตาราง 3:  งบประมาณรายจ่ายประจำปีกรุงเทพมหานคร

ปีงบประมาณ

แผนงานบริหารทั่วไป(บาท)

ร้อยละ

แผนงานพัฒนาและส่งเสริม (บาท)

ร้อยละ

แผนงานรักษาความสะอาด (บาท)

ร้อยละ

รวมทั้งหมด

พ.ศ. 2556

88,151,500

1.696

140,806,400

2.710

4,967,665,400

95.594

5,196,623,300

พ.ศ. 2555

99,808,900

2.916

82,524,300

2.411

3,240,806,400

94.674

3,423,139,600

พ.ศ. 2554

122,595,300

5.431

34,973,800

1.549

2,099,550,400

93.019

2,257,119,500

พ.ศ. 2553

119,673,400

5.108

15,247,500

0.651

2,207,874,600

94.241

2,342,795,500

พ.ศ. 2552

55,800,900

2.097

24,604,200

0.925

2,580,384,300

96.978

2,660,789,400

พ.ศ. 2551

49,421,900

2.099

61,303,300

2.604

2,243,429,600

95.297

2,354,154,800

ที่มา: สำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร,2556

ในแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครนั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การลดปริมาณมูลฝอยและการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่านั้น สามารถแก้ปัญหาการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯได้อย่างยั่งยืนและลดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม แต่ในทางปฎิบัติแล้วสำนักสิ่งแวดล้อม ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการบริหารขยะกลับนำงบประมาณเกือบทั้งหมดในส่วนด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยซึ่งได้รับการจัดสรรในสัดส่วนมากที่สุดในกรุงเทพฯไปใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างเหมาเอกชนตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท อาทิ สัญญาว่าจ้างเก็บขยะ โดยค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะที่กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บจากประชาชนมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจริงที่จ่ายไปกับการเก็บขนขยะ  สาเหตุหนึ่งเนื่องจากกรุงเทพมหานครยังคงใช้อัตราค่าธรรมเนียมอัตราเดิมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 และยังไม่มีการปรับใช้อัตราใหม่เพราะร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย ตามกฎหมายการสาธารณสุขฉบับใหม่ยังไม่ผ่านการพิจารณา  อีกทั้งฐานข้อมูลในการจัดเก็บยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เต็มที่ 

ตาราง 4: ข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอย

ลำดับ

รายการ

อัตราค่าธรรมเนียมรายเดือน (บาท)

1

วันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร

20

2

วันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 500ลิตร ค่าเก็บและขนทุกๆ 20ลิตร หรือเศษของแต่ละ 20 ลิตร

40

3

วันหนึ่งเกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน1 ลบ.ม.

2,000

4

วันหนึ่งเกิน 1 ลบ.ม. ค่าเก็บและขนทุกๆ ลบ.ม. หรือเศษของแต่ละ ลบ.ม.

2,000

ที่มา: กองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร,2553

ส่วนสำคัญที่ทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่การว่าจ้างรถเก็บขยะจากเอกชนนั้นอาจเกี่ยวเนื่องกับความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานคร ข้อมูลจากสำนักข่าวอิสรา ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2554 สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้ทำสัญญาว่าจ้างรถเก็บขยะจากเอกชน 2 รายเป็นเวลานานถึง 13 ปี โดยการทำสัญญาเช่าครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันเดียวแต่แยกเป็น 4 ครั้งรวมวงเงิน 3,033 ล้านบาท กรุงเทพมหานครได้เคยว่าจ้างเอกชน 2 รายนี้มาแล้วอย่างน้อย 18 ครั้ง รวมเป็นเงินเกือบ 9  พันล้านบาท อีกโครงการที่อาจมีความไม่โปร่งใสเช่นกัน คือ โครงการซื้อถังรองรับมูลฝอยวงเงิน 248,739,000 บาทเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554 โดยที่บริษัท คอมมิตี้ จำกัด ชนะประมูลถังรองรับมูลฝอยทั่วไปแบบใสขนาดความจุไม่น้อยกว่า 100 ลิตร จำนวน 125,000 ใบ (ราคาหน่วยละ 1,194 บาท) กับถังรองรับมูลฝอยทั่วไป ถังรองรับมูลฝอยอันตราย และถังรองรับมูลฝอยรีไซเคิลแบบใส ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 240 ลิตร จำนวน 10,204 ชุด (ราคาหน่วยละ 9,750 บาท)  ทั้งที่ในความเป็นจริง ถังขยะแบบใสขนาดความจุ 100 ลิตร ราคาในท้องตลาดจะตกไม่ถึงพันบาท และถังขยะขนาดความจุไม่น้อยกว่า 240 ลิตร ราคาในท้องตลาดจะตกไม่ถึงสองพันกว่าบาท บริษัท คอมมิตี้ จำกัดนี้เคยชนะประมูลถังขยะกรุงเทพมหานคร มาแล้ว 9 ครั้งยิ่งไปกว่านั้นสถานที่ตั้งสำนักงานบริษัทคอมมิตี้จำกัด เป็นเพียงแค่บ้านพักธรรมดา เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวหายเงียบไปจากการตรวจและยังไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจน 

ขณะที่งบประมาณของแผนงานพัฒนาส่วนใหญ่เป็นโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดและคัดแยกมูลฝอยโดยนำมูลฝอยกลับไปใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิดตามหลักการ 3Rs กลับมีสัดส่วนน้อยมากและไม่คงที่ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.6-2.7 ของงบประมาณด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้นสัดส่วนของงบประมาณที่น้อยมากนี้จึงอาจมีผลทำให้โครงการต่างๆ ในการส่งเสริมการคัดแยกขยะไม่สามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯได้ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องประโยชน์ของการคัดแยกขยะ  เนื่องจากทุกเทคโนโลยีที่ใช้ในการกำจัดขยะจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อขยะที่จะกำจัดได้ถูกคัดแยกประเภทให้เหมาะสมกับเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น การทำปุ๋ยหมักและการทำก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหาร การรีไซเคลกระดาษใช้แล้ว เป็นต้น ดังนั้นถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีโครงการมากมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลดและแยกมูลฝอยแต่ด้วยงบประมาณน้อยนิด ก็ยากที่จะทำให้โครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นนัยสำคัญโดยรวม

แม้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกว่าการลดและคัดแยกมูลฝอยคือทางออกที่ยั่งยืนที่สุดสำหรับการจัดการขยะ แต่ในแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปีล่าสุดพ.ศ.2556 กรุงเทพมหานครได้กลับนำเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอยมาใช้ในการการจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลแม้ว่าจะมีเสียงต่อต้านการใช้เตาเผาขยะมากมายในสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศเนื่องจากก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งไดออกซินที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อีกทั้งการกำจัดสารพิษเช่น ไดออกซิน นั้นต้องใช้กระบวนการซับซ้อนและการลงทุนสูง ดังนั้นจึงเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะในประเทศที่กฎหมายไม่เข็มงวดและไม่คลอบคลุม และไม่มีมาตรการตรวจสอบผลกระทบเช่นประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครยังคงไม่ฟังเสียของประชาชนและได้ลงนามสัญญาโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาด 300 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ปีพ.ศ. 2555-2578 (24 ปี) และโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า  2,000 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ปีพ.ศ. 2555-2557 (3 ปี)

ความไม่โปร่งใสของกรุงเทพมหานครดังที่ได้กล่าวมาเป็นตัวอย่างนี้อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของความล้มเหลวในการบริการจัดการขยะอย่างยั่งยืนในกรุงเทพฯ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำพากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองสวรรค์จริงดังฝันคงขึ้นอยู่กับความมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบของทุกๆ คนที่จะเป็นผู้กำหนด 

ที่มาของข้อมูล

  • แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ.2556 สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล  กรุงเทพมหานคร
  • รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร 2549-2550สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
  • ขยะ...ปัญหาโลกแตกของประเทศไทย หน้า 4-6

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย

ศสอ. จดหมายข่าวประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2555 ปีที่ 4 ฉบับที่ 3

  • สภาพปัญหาการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร

โดยนายวิชา วงษ์ประดิษฐ์ผู้อำานวยการกองโรงงานกำาจัดมูลฝอย สำานักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร

  • แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 1-6

//203.155.220.230/info/Plan/plan1_6.htm#plan6

  • การจัดการขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร

//203.155.220.174/modules.php?name=News&file=article&sid=44

  • บทสรุปโครงการจัดการมูลฝอยโดยชุมชน (Community Based Solid Waste Management: CBM)

//203.155.220.174/modules.php?name=News&file=article&sid=94

  • ผ่าสัญญาเช่ารถเก็บขยะกทม.13 ปีจ่ายอื้อ 8.8 พันล.-2 บ.ถือหุ้นไขว้

//www.isranews.org/investigate/item/7729-13-88-2-.html

  • ฮือฮา!ซื้อถังขยะ กทม. 248 ล้านเร็วสายฟ้าแลบ “ชง-อนุมัติ”22 วันเรียบร้อย

//www.isranews.org/investigate/item/16657--248-22-.html

ที่มา: //www.greenpeace.org/seasia/th/news/bma-failure/




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2556 12:46:13 น.   
Counter : 1888 Pageviews.  


โรงงานเผาขยะ ประตูสู่มลพิษของการกำจัดขยะประเทศไทย

ปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพียงแค่ภายในช่วงสิบปีที่ผ่านมาขยะในประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านตัน นับจากปี พ.ศ. 2544 หรือสามารถบอกได้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะสร้างขยะเกือบ 1 กิโลกรัม ต่อวัน และในปริมาณดังกล่าวยังไม่รวมถึงขยะอันตราย ขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ขยะอุตสาหกรรม ที่มีปริมาณมหาศาลและเพิ่มขึ้นทุกปี

คุณรู้หรือไม่ว่าขยะจากมือคุณหลังจากทิ้งลงถังแล้วมีการจัดการอย่างไรต่อไป
INCINERATOR
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจระบุไว้ว่า ในปีพ.ศ. 2553 นั้น ขยะมูลฝอยชุมชนปริมาณ 15.6 ล้านตันของทั้งประเทศ มีเพียงร้อยละ 38 ที่มีการเก็บรวบรวมและได้รับการจัดการโดยระบบฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล 94 แห่ง ระบบผสมผสาน 3 แห่ง และ ระบบเตาเผา 2 แห่ง คือ ที่เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลตำบลเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีเพียงแค่ร้อยละ 26 ของขยะทั้งหมด ได้ถูกนำไปรีไซเคิล ร้อยละ 15 คือขยะอินทรีย์ที่นำไปหมักทำปุ๋ยประเภทต่างๆ และมีส่วนน้อยเพียงร้อยละ 3 ที่ถูกนำไปผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงทดแทน

ตัวเลขข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นว่าจากขยะจำนวนหลายล้านตัน มีเพียงแค่ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่ได้รับการรวบรวมและจัดการ

ล่าสุดสำนักงานกรุงเทพมหานครมีโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอย โดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาด 300 ตันต่อวันที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ซึ่งอ้างว่าเป็นการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดมูลฝอย ลดปัญหาการขาดแคลนพื้นที่จากการฝังกลบ และเพื่อผลพลอยได้ในรูปแบบพลังงานไฟฟ้า แต่แท้ที่จริงแล้วการกำจัดขยะด้วยโรงงานเผาขยะนั้นไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง แต่เป็นภาพลวงตาแห่งหายนะทางสิ่งแวดล้อม และตัวการก่อมะเร็งทำลายสุขภาพของชุมชน ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาขยะได้อย่างที่ทางกรุงเทพมหานครเข้าใจ

ความเชื่อและข้อเท็จจริงของโรงงานเผาขยะ

ลดพื้นที่ฝังกลบ หรือใช้พื้นที่เพิ่มเท่าตัว?

ความเชื่อที่ว่า โรงงานเผาขยะช่วยลดพื้นที่การฝังกลบนั้น อันที่จริงแล้วถึงแม้จะมีการจัดการด้วยวิธีการเผาทำลาย แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทั้งในการสร้างโรงงานเผาขยะ และหลุมฝังกลบเพื่อกำจัดเถ้าและขยะที่ออกจากเตาเผา นอกจากนี้ยังต้องนำเอาเศษเหลือตกค้างที่ไม่สามารถเผาได้ไปฝังกลบด้วย เรียกได้ว่าต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นทวีคูณ

เทคโนโลยีสะอาด แก้ปัญหากลิ่นเหม็น หรือเพิ่มมลพิษทางอากาศ และสารก่อมะเร็ง?

มีความเชื่อว่าการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูงของโรงงานเผาขยะนั้นไม่เป็นการก่อมลพิษ เถ้าหนักที่เหลือจากการเผาไหม้สามารถนำไปแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้าง มีการดักเถ้าลอยด้วยระบบดักฝุ่น รวมถึงมีการบำบัดไอเสียและน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการเผา อันที่จริงแล้ว เถ้าหนักและน้ำเสียนั้นประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท และสารอินทรีย์ฮาโลเจน ซึ่งมีผลคุกคามต่อน้ำใต้ดิน และตามหลักการแล้วต้องมีหลุมฝังกลบเฉพาะสำหรับสารอันตราย ไม่เหมาะกับการนำไปเป็นวัสดุก่อสร้าง และไม่ใช่เทคโนโลยีสะอาดอย่างที่คิด ซึ่งเถ้าลอย และไอเสียยังก่อมลพิษทางอากาศอีกด้วย

นอกจากจะแก้ปัญหาการส่งกลิ่นเหม็นรบกวนพื้นที่ในชุมชนไม่ได้เพราะยังคงต้องมีกลิ่นจากขยะที่รอการเผา และกลิ่นไหม้จากการเผาแล้ว สิ่งที่แถมมาคือ มลพิษในอากาศปริมาณมากที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะการเผาขยะที่ไม่มีการคัดแยกและเผาวัสดุที่มีส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายที่แฝงอยู่ในขยะชุมชน เช่น พลาสติก PVC โดยจะก่อให้เกิดสารพิษต่างๆ คือ ไดออกซิน ตะกั่ว และโลหะหนักอื่นๆ รวมถึงมลพิษทั่วไปที่เกิดจากการเผาวัสดุแทบทุกชนิด เช่น คาร์บอนมอนออกไซด์ ออกไซด์ของซัลเฟอร์และไนโตรเจน ไฮโดรคาร์บอน และฝุ่นละอองจากเถ้าถ่าน   โดยสารพิษอย่างไดออกซินและตะกั่วนั้น จะเข้าทางลมหายใจและสะสมในกระแสเลือดยาวนานเป็นอันตรายถึงชีวิต เป็นสารก่อมะเร็ง และทำให้บุตรในครรภ์ หรือเด็กแรกเกิดที่รับประทานนมแม่ที่เจือปนสารพิษพิการได้

มีผลพลอยได้เป็นไฟฟ้า หรือความสิ้นเปลืองที่ได้ไม่คุ้มเสีย?

จากข้อมูลข้างต้นที่ระบุไว้ว่า มีเพียงร้อยละ 3 ที่ถูกนำไปผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงทดแทน ซึ่งหากเมื่อพิจารณาแล้วมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของความต้องการพลังงานทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าโรงงานเผาขยะต้องดำเนินการเผามลพิษ สร้างสารพิษ และทำลายสุขภาพประชาชนไปอีกหลายปีจนกว่าจะได้พลังงานไฟฟ้ามากพอทดแทนกับที่เสียไปในการก่อสร้าง ดำเนินการซ่อมบำรุง และรื้อถอนหลังจากหมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การนำขยะมารีไซเคิลจะช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับที่ได้จากการเผาขยะ

โรงงานเผาขยะไม่ได้ทำให้ขยะหายไป แต่เป็นการทำลายขยะที่มีแต่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ การกำจัดขยะที่เหมาะสมคงจะไม่ใช่การพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทำลายสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการก่อสร้างและการจัดการ แต่ทางออกของวิกฤติขยะที่แท้จริงต้องเริ่มจากการหันมาบูรณาการนโยบายและระบบบริหารจัดการขยะของรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงสุขภาพของคนในชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ปลูกฝังจิตสำนึกในการแยกขยะแต่ละครัวเรือน ลดปริมาณและความเป็นพิษของวัสดุเหลือใช้ด้วยการรีไซเคิล การทำปุ๋ย และการใช้ซ้ำ เนื่องจากร้อยละ 40 ของขยะครัวเรือนนั้นโดยทั่วไปแล้วจะเป็นขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลาย ทำปุ๋ย หรือผลิตก๊าซชีวภาพได้ โดยการรีไซเคิลและทำปุ๋ยยังช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในชุมชนซึ่งโรงงานเผาขยะไม่สามารถทำได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ขั้นตอนการจัดการขยะของหน่วยงานรัฐหลังการเก็บขยะ เพราะหลายครัวเรือน หลายโรงเรียน และหลายพื้นที่ มีการคัดแยกขยะเป็นอย่างดี แต่หน่วยงานจัดการขยะกลับขาดขั้นตอนการจัดการที่เหมาะสมและนำขยะที่แยกประเภทแล้วมาผสมปะปนกัน เป็นการจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ขยะทุกชิ้นล้วนเกิดขึ้นมาจากผู้บริโภคอย่างเรา สิ่งของที่อยู่รอบตัวคุณในวันนี้ วันข้างหน้าอาจกลายเป็นขยะที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายอีกนับร้อยนับพันปี เทคโนโลยีนำสมัยสามารถช่วยให้ขั้นตอนการผลิตสิ่งอุปโภคบริโภคจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถกำจัดขยะและมลพิษออกไปจากโลกได้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีจิตสำนึกในการลดการใช้ทรัพยากร ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล ตั้งแต่ตัวเราเอง ซึ่งจะเป็นหนทางสู่การยุติโรงงานเผาขยะ และปัญหาขยะล้นเมืองอีกด้วย การลดภาระขยะเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยความรับผิดชอบ และความร่วมมือจากรัฐบาลและประชาชน ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเลือกทางออกแห่งสารพิษด้วยโรงงานเผาขยะ หรืออนาคตสีเขียวที่ทุกคนต้องการ




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2556 12:25:33 น.   
Counter : 2221 Pageviews.  


เมื่อถึงจุดที่ไม่มีทางย้อนกลับ

โลกของเรากำลังเดินมาถึงจุดที่ไม่มีทางย้อนกลับ และเราจำเป็นต้องป้องกันผลกระทบที่ร้ายแรงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะยิ่งทำให้ยาก หรือแม้แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันภัยพิบัติในวงกว้างของสภาวะโลกร้อน คงจะมีมูลค่าความเสียหายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเงินนับพันล้านที่จะต้องเสียไปเพื่อฟื้นฟูความสูญเสียที่เกิดขึ้น ความทุกข์อันมิอาจประเมินค่าได้ และชีวิตอีกนับล้านที่จะต้องสูญเสียไปในภัยพิบัติที่อาจมาเยือนเราอย่างรวดเร็วในปีค.ศ.2030

ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติอันน่ากลัวอย่างพายุต่างๆ ที่ทำลายล้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย คลื่นความร้อน ไฟป่า อากาศที่หนาวเย็นเกินปกติ น้ำท่วม และแม้แต่พายุหิมะในทะเลทราย สิ่งเหล่านี้ คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเลวร้ายยิ่งขึ้นหากเรายังคงเดินหน้าใช้พลังงานสกปรกต่อไป

รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซสากล Point of No Return เผยว่าโครงการถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซยักษ์ใหญ่จำนวน 14 โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นการเพิ่มมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ให้กับโลกถึง 6.34 กิกาตัน ภายในปีค.ศ. 2020 ซึ่งถือเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกร้อยละ 20 ซึ่งปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์นี้จะรวมเข้ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 31.6 กิกาตัน ในปีค.ศ. 2011 สร้างปรากฏการณ์เรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ตามการรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ International Energy Agency (IEA)

ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อันมหาศาลจะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอีก 5-6 องศาเซลเซียส พาโลกเข้าสู่ยุคของภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการหลีกเลี่ยงอนาคตอันเลวร้ายนั้นสหประชาชาติกล่าวว่า เราต้องรักษาอุณภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส

โครงการมหันตภัยเหล่านี้มีทั้งการขยายเหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย จีน สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย การขุดเจาะน้ำมันในทรายน้ำมันของแคนนาดา อาร์กติก และบราซิล ไปจนถึงการขุดเจาะก๊าซในทะเลแคสเปียน และสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการโดยบริษัทต่างๆ อย่าง Shell, BHP Billion, Arch Coal, Ambre, Peabody, Xstrata, Enbridge, Gazprom, Cairn Energy, Petrobras และ BP ที่กำลังพาโลกเราสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่นี้

Elektrownia Patnów Coal Fired Power Station

โรงไฟฟ้าถ่านหิน Elektrownia Patnów โลกเราต้องเผชิญกับการเผาผลาญถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซมากเกินไป และนั่นเป็นสาเหตุที่ในไม่ช้าเราจะมาถึงจุดที่ไม่สามารถป้องกันการเกิดภัยพิบัติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

Largest dirty energy expansions by 2020

การขยายตัวของพลังงานสกปรกภายในปีค.ศ. 2020
อุตสาหกรรมพลังงานสกปรกกำลังขยายตัวโครงการถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซจำนวน 14 โครงการระดับโลก ซึ่งจะเพิ่มมลพิษทางอากาศอีกร้อยละ 20 โดยที่เริ่มเห็นผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว

Wall of Fire - ©Ross Beckley/Image Focus Australia
©Ross Beckley/Image Focus Australia

ทะเลเพลิง ผู้คนต้องทนทุกข์กับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมามากแล้ว จากการที่โลกของเราอุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น

Hurricane Sandy Aftermath

ผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่กับสภาพภูมิอากาศของเรา ผู้คนกำลังทนทุกข์และล้มตายจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ความเสียหายใหญ่หลวงเกินคณานับ รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะตรวจสอบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กระนั้นรัฐกลับเพิกเฉยสัญญาณเตือนจากนักวิชาการ และปล่อยให้เกิดรวมถึงผลักดันโครงการพลังงานสกปรกต่อไป

Yaroslavl, Russia - ©Liza Udilova
©Liza Udilova

ยาโรสลาฟ รัสเซีย หลายภูมิภาคของประเทศรัสเซียมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้นเรื่อยๆ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดขั้ว

Jerusalem in the snow - ©tlr3automaton
©tlr3automaton

กรุงเยรูซาเล็มปกคลุมด้วยหิมะ หิมะปกคลุมกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อเดือนมกราคม 2013

Open-Cast Coal Mine in Inner Mongolia

เหมืองถ่านหินบริเวณตอนในของมองโกเลีย ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะเต็มไปด้วยควันพิษในปัจจุบัน แต่ประเทศจีนก็ยังเตรียมขยายการผลิตถ่านหินขึ้นอีกร้อยละ 20 ภายในไม่กี่ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นอย่างแน่นอน

Open Cut Coal Mine in Collinsville, Australia

เหมืองถ่านหินใน คอลลินสวิลล์ ประเทศออสเตรเลีย แม้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อนอันรุนแรง แต่ประเทศออสเตรเลียก็ยังคงต้องการขยายการส่งออกถ่านหินอีกเท่าตัว

Hay Point Australia Coal Terminal

สถานีขนส่งถ่านหิน เฮย์พ็อนท์ ประเทศออสเตรเลีย ตลาดจุดหมายปลายทางคือประเทศจีน และอินเดีย ที่ซึ่งมลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตคนนับแสนก่อนวัยอันควร

Aerial of Great Barrier Reef

แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศออสเตรเลีย ในการส่งออกถ่านหิน ออสเตรเลียอาจต้องทำลายแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Great Barrier Reef) ซึ่งถือเป็นมรดกโลก

Powder River Basin Mining, Wyoming

เหมืองที่แม่น้าพาวเดอร์ ริเวอร์ เบซิน รัฐไวโอมิง ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่สร้างมลพิษก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดกำลังวางแผนครั้งใหญ่ขยายการส่งออกถ่านหินไปยังทวีปเอเชีย ซึ่งจะเป็นการขยายการเพิ่มมลพิษ และทวีความทุกข์ให้กับประชาชนที่อีกซีกหนึ่งของโลก

Coal Mine in Central Kalimantan, Indonesia

เหมืองถ่านหินในตอนกลางของกรุงกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเชีย รัฐบาลอินโดนีเซียจะอนุญาตให้ทำลายป่าในกาลิมันตัน บนเกาะบอร์เนียว เพียงเพื่อเพิ่มเหมืองถ่านหิน

Shell Kulluk Rig Assessment off Kodiak Island

แท่นขุดเจาะน้ำมัน คุลลุค ของเชลล์ บริเวณเกาะโคเดียค อาจเกิดการรั่วซึมของน้ำมันและก๊าซเร็วๆ นี้ที่บริเวณอาร์กติกที่แสนบอบบาง บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเชลล์ต้องการหาผลประโยชน์จากการที่น้ำแข็งขั้วโลกเริ่มเปราะบางจากการสภาวะโลกร้อน และทำลายพื้นที่อันแสนสวยงามนี้

Polar Bear in the Arctic

หมีขาวขั้วโลกที่อาร์กติก สัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์กำลังต้องเผชิญกับน้ำมันและก๊าซที่อาจรั่วไหลได้ทุกเมื่อ

Alberta Tar Sands

ทรายน้ำมันของรัฐอัลเบอร์ตา แคนาดา แคนาดาวางแผนที่จะขยายการผลิตพลังงานสกปรกจากทรายน้ำมัน ซึ่งจะเป็นการเร่งทวีคูณมลพิษจากการปล่อยการคาร์บอนไดออกไซด์และพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติได้ถูกทำลายไปจำนวนมากแล้วเพื่อขุดทรายน้ำมัน

Estuary in Great Bear Rainforest

ปากแม่น้ำ ที่เกรทแบร์ เรนฟอเรสต์ ในการสร้างตลาดพลังงานสกปรกแห่งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย จำเป็นต้องมีการเดินท่อส่งตัดผ่านพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์กว่า 1,000 กิโลเมตร ผ่านเทือกเขาร็อคกี้ และเกรทแบร์ เรนฟอเรสต์ อันงดงาม ไปยังชายฝั่งตะวันตกของบริติช โคลัมเบีย

Spirit Bear in Great Bear Rainforest

หมีเคอร์โมดี ในเกรทแบร์ เรนฟอเรสต์ หมีขาวพันธุ์หายาก เคอร์โมดี กำลังตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

Dolphins in Brazil

โลมาในประเทศบราซิล ประเทศบราซิลวางแผนขยายการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้โลมา วาฬ และสัตว์น้ำสายพันธุ์อื่นๆ ต้องได้รับผลกระทบ

Xuanwei Power Station in China

โรงไฟฟ้า Xuanwei ที่ประเทศจีน ความจริงที่น่าเศร้าคือ เราไม่จำเป็นต้องเผาผลาญถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เราไม่จำเป็นต้องหาพลังงานเพิ่มเพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า

Dafeng Power Station in China

โรงไฟฟ้า Dafeng ที่ประเทศจีน พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัย และได้ประสิทธิภาพมากกว่าสามารถขับเคลื่อนโลกของเราได้ เราสามารถเลี่ยงหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากโครงการการผลิตพลังงานถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซระดับโลกทั้ง 14 โครงการ

รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ Point of No Return จะเป็นการรายงานถึงหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากโครงการพลังงานสกปรกระดับโลกนี้ แต่เรายังสามารถเลี่ยงมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันมหาศาลไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการยกเลิกโครงการพลังงานสกปรก และหันมาผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยในปีค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา พลังงานหมุนเวียนถูกนำไปใช้ถึงร้อยละ 30 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 5 ในปีค.ศ. 2005 และตัวเลขนี้ควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรหันมาส่งเสริมโครงการพลังงานหมุนเวียนแทนการพึ่งพาพลังงานสกปรก เพราะนอกจากการลงทุนพลังงานหมุนเวียนจะช่วยส่งเสริมการจัดหางาน และเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการช่วยดึงโลกออกจากมหันตภัยที่น่าสะพรึงกลัวด้วย

รายงาน Point of No Return

รายงาน Point of No Return เผยถึงความไม่จริงใจและขาดศีลธรรมของรัฐบาล จากการที่ให้คำมั่นว่าจะรักษาอุณภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส แต่กลับเร่งโครงการต่างๆ ที่จะเป็นการทวีความร้อนให้กับโลกเกินกว่า 3.5-4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะขึ้นสูงถึง 6 องศาเซลเซียสทีเดียว อนาคตที่น่ากลัวกำลังรอทุกคนอยู่หากวันนั้นมาถึง

ดาวน์โหลดรายงาน The Point of No Return [PDF]




 

Create Date : 31 มกราคม 2556   
Last Update : 31 มกราคม 2556 7:25:43 น.   
Counter : 2456 Pageviews.  


เบเนตอง และวิคตอเรีย ซีเคร็ทร่วมเติมสีสันกับความเซ็กซี่อย่างปลอดสารพิษให้กับแฟชั่น

beneton
ต้องขอบคุณแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภค นักกิจกรรม และผู้ชื่นชอบแฟชั่น ปี 2556 นี้จึงดูเหมือนจะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นสู่การยุติการใช้สารเคมีอันตรายในอุตสาหกรรมสิ่งทอเสียที

การรณรงค์โครงการล้างสารพิษ หรือ Detox ของกรีนพีซก้าวขึ้นสู่ถนนสายแฟชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ กับการที่แบรนด์แฟชั่นระดับโลกต่างๆ เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการล้างสารพิษออกจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ล่าสุดอีกสองแบรนด์ดัง คือ เบเนตอง และวิคตอเรีย ซีเคร็ท ได้แสดงความมุ่งมั่นล้างสารพิษ รวมเป็น 14 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ร่วมมือกันเพื่อสายน้ำที่ไร้มลพิษ และอนาคตที่ปลอดสารพิษสำหรับทุกคน

ภายในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เบเนตอง กรุ๊ป บริษัทเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง ซิสเลย์ เพลย์ไลฟ์ และที่โด่งดังที่สุดคือ เดอะ ยูไนเต็ด คัลเลอร์ส ออฟ เบเนตอง (The United Colors of Benetton) และลิมิเต็ด แบรนด์ส บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในชื่อดังอย่าง วิคตอเรีย ซีเคร็ท และ ลา เซ็นซา ได้ออกมาตอบรับเสียงเรียกร้องของประชาชนหลายแสน และหันมาแสดงความมุ่งมั่นอย่างน่าเชื่อถือในการยุติการใช้สารเคมีอันตรายออกจากผลิตภัณฑ์ และห่วงโซ่การผลิตภายในปี 2563 ดังที่แบรนด์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ได้ให้คำมั่นไว้ อาทิ ซาร่า แมงโก เอสปรีย์ และลีวาย์ส  แต่ในขณะเดียวกัน คู่แข่งของแบรนด์เหล่านี้ อย่าง คาลวินไลน์ แลเแก็ป ก็ยังรีรอและดูเหมือนจะห่างไกลจากการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแฟชั่นของเทรนด์การล้างสารพิษ

เมื่อปีที่แล้วกรีนพีซได้ตรวจพบสารเคมีอันตรายที่มีคุณสมบัติรบกวนฮอร์โมน และสารก่อมะเร็งในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและชุดชั้นในของวิคตอเรีย ซีเคร็ท การแสดงเจตนารมย์ของทั้งสองแบรนด์ในครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการต่อกรกับปัญหามลพิษทางน้ำ และขจัดสารเคมีอันตรายออกจากผลิตภัณฑ์ โดยวิคตอเรีย ซีเคร็ทนั้นได้ให้คำมั่นว่าจะเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษร้อยละ 80 ของโรงงานการผลิตของบริษัทในเครือทั่วโลก เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานราชการ และสื่อมวลชนได้รับรู้ถึงข้อมูลมลพิษในแหล่งน้ำสาธารณะ นอกจากนี้เบเนตองยังได้แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์และใช้สารเคมีทางเลือกที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ก่อมลพิษ แทนที่สารเคมีอันตรายที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมสิ่งทอทุกวันนี้

ร่วมกันบอกให้แบรนด์ต่างๆ รู้ว่าหมดยุคของการใช้สารพิษในวงการแฟชั่นแล้ว
คุณสามารถช่วยกันส่งสารสำคัญบอกวงการแฟชั่นทั้งหมดว่าการใช้สารเคมีอันตรายนั้นตกยุคไปแล้ว และเป็นอีกเสียงหนึ่งในการผลักดันแบรนด์ต่างๆ ให้ล้างสารพิษด้วยการร่วมกันเผยแพร่วิดีโอ “ล้างสารพิษออกจากแฟชั่น” (Detox Fashion) ให้แพร่หลายมากที่สุด เพื่อรักษาแหล่งน้ำสาธารณะให้สะอาดปลอดภัยจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม

แฟชั่นไม่จำเป็นต้องทำร้ายโลก โลกที่ปลอดสารพิษเป็นจริงได้ เพียงทุกคนช่วยกัน

//www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/43769/




 

Create Date : 26 มกราคม 2556   
Last Update : 26 มกราคม 2556 19:41:14 น.   
Counter : 1651 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com