กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

คำขอร้องจากลูกปลากระตัก “ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหม”

Blogpost โดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล -- สิงหาคม 24, 2558 ที่ 20:00


ลูกปลาหลายชนิดถูกเปลี่ยนชื่อและนำมาขายในท้องตลาด ที่จริงแล้วลูกปลาเหล่านั้นไม่ใช่สัตว์น้ำสายพันธุ์ขนาดเล็ก แต่เป็นลูกปลาเศรษฐกิจที่ยังมีขนาดเล็กถูกจับมาด้วยอวนตาถี่ ซึ่งคนรักอาหารทะเลอาจยังไม่รู้ว่าได้กินลูกปลาที่น่าสงสารเหล่านี้ และทำลายระบบสำคัญของห่วงโซ่อาหารโดยไม่รู้ตัว

ชื่อที่เรียกของปลากะตัก มีอะไรบ้าง

ปลากะตักมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ปลาข้าวสาร ปลาฉิ้งฉ้าง ปลาไส้ตัน ปลานิ่วเกี๊ยะ ปลาหัวอ่อน 1 ปลามะลิ  ปลาเก๋ย ปลากล้วย 2

ปลากะตัก ชนิดที่อยู่ในประเทศไทย คือพันธุ์อะไร
มีขนาดใหญ่แค่ไหน

ปลากะตักที่พบในอ่าวไทยที่พบมี 4 ชนิด ทั้งบริเวณอ่าวไทยและอันดามัน มีขนาดที่แตกต่างกันไปตามสายพันธ์และเพื่อเป็นการป้องกันการตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำ เราแนะนำให้บริโภคปลาที่มีขนาดโตเต็มวัยตามขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์ ซึ่งปลากระตัก 4 ชนิดที่พบในไทยมีขนาดดังนี้

1. Encrasicholina heteroloba (Rüppell, 1837)  
ขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์ 5 - 6.7 cm  ขนาดใหญ่สุดที่พบ 12.0 cm 3




2. Encrasicholina punctifer  (Fowler, 1938)
ขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์  7 cm  ขนาดใหญ่สุดที่พบ 13 cm  4




3. Encrasicholina devisi (Whitley, 1940)
ขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์ 4 cm  ขนาดใหญ่สุดที่พบ 8 cm 




4. Stolephorus indicus  (van Hasselt, 1823)
ขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์ 12 cm  ขนาดใหญ่สุดที่พบ 15.5 cm  6  ในประเทศไทยพบว่ามีขนาดยาวสุด 10 cm7  



ประโยชน์และบทบาททางระบบนิเวศของปลากะตัก

ปลากะตักถือว่าเป็น สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำถึงกลางน้ำ8และเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนที่ได้อย่างเป็นอิสระด้วยตัวเอง ไม่ขึ้นกับการเคลื่อนที่ของมวลน้ำ(Nekton)  ได้แก่ปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล หมึก เป็นต้น โดยพวกที่เป็นสัตว์กินเนื้อ carnivorous จะว่ายน้ำเพื่อหาอาหาร และหลบภัยจากศัตรูโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้แหล่งอาหารเสมอไป บางครั้งอาจมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานได้เพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ หรือเพื่อการผสมพันธุ์ 9

ปลากะตัก ซึ่งเป็นปลาในห่วงโซ่อาหารชั้นที่สามจากห้าชั้นของสัตว์ทะเล ปลากะตักกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และเป็นอาหารของปลาหมึกและปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาอินทรี ปลาทรายแดง เป็นต้น ดังนั้นการเพิ่มหรือลดของปลากะตักจึงเป็นตัวชี้วัดความสมดุลของท้องทะเล หากจับปลากะตักมากเกินไป ปลาใหญ่ซึ่งกินปลากะตักเป็นอาหารย่อมลดปริมาณลง10

วิธีการจับปลากะตัก เครื่องมือประมงอะไร มีข้อเสียอย่างไร
อนุญาตให้ใช้เครื่องอะไรจับ

เครื่องมือประมงปลากะตักที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่ถูกกฏหมายมี 2 ชนิดด้วยกันคือ

  1. เครื่องมือประมงประเภทอวนครอบ ช้อน ยก ประกอบแสงไฟล่อ ทำการประมงในเวลากลางคืน ตามกฎหมายประมง พ.ศ. 2490  กำหนดขนาดตาอวนต้องไม่ต่ำกว่า 0.6 เซนติเมตร และต้องทำประมงห่างจากฝั่ง 3 ไมล์ทะเล  ต่อมาตามประกาศ กระทรวงเกษตรฯปี 2543 อนุญาตเฉพาะเพียงจำนวนเท่าที่ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น หรือ ห้ามมิให้มีการออกใบอนุญาตเพิ่ม  เรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมงชนิดนี้มีทั้งเรือขนาดเล็กหรือเรือประมงพื้นบ้านที่มีความยาวต่ำกว่า 14 เมตร และเรือประมงพานิชซึ่งมีความยาว 14 เมตรขึ้นไป
  2. เครืองมือประมงอวนล้อมจับปลากะตักกลางวัน กฏหมายกำหนดให้ขนาดตาอวนไม่ต่ำกว่า 0.6 ซม. ห้ามใช้ประกอบแสงไฟล่อ และทำประมงได้ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเท่านั้น เรืออวนล้อมปลากะตักกลางวัน โดยทั่วไปกฏหมายอนุญาติให้ทำประมงได้ถึงบริเวณชายฝั่ง ยกเว้นในบางพื้นที่เท่านั้นที่มีการประกาศเป็นเขตห้ามทำอวนล้อมปลากะตักกลางวัน เช่น ในเขตอ่าวบางสะพาน ที่ประกาศจังหวัดห้ามทำประมงอวนล้อมปลากะตักกลางวันในเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่ง  เป็นต้น ต่อมาตามประกาศ กระทรวงเกษตรฯปี 2543  อนุญาตเฉพาะเพียงจำนวนเท่าที่ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น หรือ ห้ามมิให้มีการออกใบอนุญาตเพิ่ม เรืออวนล้อมปลากะตักกลางวันเป็นเรือประมงกลางถึงใหญ่ ที่ใช้ลูกเรือไม่ต่ำกว่า 5 คน

อย่างไรก็ตามกฏหมายประมงในเรื่องการทำประมงปลากะตักมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการจับลูกปลากะตัก หรือที่เรียกว่าข้าวสาร หรือปลาสายไหม และทำลายทรัพยากรประมงชนิดอื่น ๆ ด้วย 11คือ

ประการที่ 1  การใช้แสงไฟล่อ และใช้อวนตาถี่ขนาด 0.6 ซม นั้นทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่น ๆ ขึ้นมาด้วยอย่างมาก โดยเฉพาะลูกปลาเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ

ประการที่ 2  ขนาดตาอวน 0.6 ซม เป็นขนาดตาที่เล็กมากเกินไป ส่งผลให้ปลากะตักที่จับได้จะเป็นปลากะตักขนาดเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่ (นอกจากนี้มีการใช้อวนตาเล็กกว่า .6 ซม กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง) ปลากะตักขนาดเล็กมีราคาดีกว่าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะขนาดปลาข้าวสาร หรือปลาสายไหมมีราคาดีกว่าปลากะตักทั่วไปไม่ต่ำกว่า 3 เท่า

ประการที่ 3 อวนล้อมปลากะตักกลางวันซึ่งเป็นเรื่อประมงขนาดใหญ่ขนาดใหญ่ มีลูกเรือประมงไม่ต่ำกว่า 6-7 คน แต่กฏหมายอนุญาตให้ตีอวนได้ถึงชายฝั่งได้นั้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก เพราะเรืออวนล้อมเหล่านี้กวาดจับลูกปลาวัยอ่อน (ด้วยขนาดตาอวนที่เล็กมาก) ชนิดอื่น ๆ ไปด้วย และกวาดจับลูกปลากะตักที่เป็นอาหารของปลาชนิดอื่น ๆ ที่เป็นปลาเป้าหมายของชาวประมงพื้นบ้าน

ประการที่ 4 ในปัจจุบันมีเรือประมงเถื่อน (เพราะไม่สามารถขออาชญาบัตรของทั้ง 2 เครื่องมือได้) อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ขาดการบังคับใช้กฏหมายในการจับกุม

ประการที่ 5 จากการรายงานของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เรืออวนล้อมปลากะตักกลางวัน ได้ออกทำการประมงเกินเวลาที่กฏหมายกำหนด (ก่อนพระอาทิตย์ตก) ด้วยการใช้ โซน่าวิ่งหาฝูงปลา หรือใช้แสงไฟล่อ ซึ่งเป็นการทำประมงที่ผิดกฏหมาย แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฏหมายในการจับกุม

ผลพิสูจน์ “ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหม” เป็นลูกปลากะตัก 

ยุติความเชื่อของชาวประมงมานานหลายทศวรรษ 12

นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง แถลงว่า สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้ชาวประมงที่ใช้อวนช้อน อวนยก อวนครอบที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอวนล้อมจับปลากะตักเวลากลางวัน ห้ามใช้อวนที่มีขนาดช่องตาอวนเล็กกว่า 0.6 เซนติเมตรจับปลากะตัก ทั้งนี้เพื่อให้ลูกปลากะตัก คือปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมและลูกสัตว์น้ำอื่นๆ สามารถรอดตาอวนได้ แต่ชาวประมงซึ่งมีความเชื่อว่าปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมเป็นปลาสายพันธุ์อื่นซึ่งโตเต็มวัยแล้วสมควรนำขึ้นมาใช้ประโยชน์จึงขอใช้ขนาดช่องตาอวนเล็กกว่า 0.6 เซนติเมตรจับปลากะตัก เพื่อยุติข้อสงสัยของชาวประมงจับปลากะตักในจังหวัดระยอง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง

นายประกิต กันยาบาล ได้มีคำสั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งประกอบด้วยนักวิชาการประมงและชาวประมง เพื่อทำการพิสูจน์ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหม

อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า การพิสูจน์ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมแบ่งการพิสูจน์เป็น 2 ชุด เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2546 และวันที่. 30 กันยายน 2546 โดยผู้แทนชาวประมงเป็นผู้ประสานให้นักวิชาการกรมประมงออกไปรวบรวมปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมจากเรืออวนล้อมจับปลากะตักกลางวันของชาวประมงได้ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมมีชีวิตจำนวน 34 ตัว ขนาดความยาวเหยียด 2.3-3.7 เซนติเมตร ได้ทดลองเลี้ยงปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง ในระหว่างการเลี้ยงได้บันทึกภาพนิ่งและภาพวิดีโอทุกขั้นตอนตั้งแต่การรวบรวมปลาจากเรือประมงจนถึงนำมาเลี้ยงที่ศูนย์วิจัยฯ โดยเลี้ยงในถังไฟเบอร์และได้บันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของปลาทุกขั้นตอน โดยมีผู้แทนชาวประมงร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาที่ทำการทดลองเลี้ยงเพื่อพิสูจน์สายพันธุ์ปลา จนกระทั่งวันที่ 28 ตุลาคม 2546 หลังจากทดลองเลี้ยงได้ 39 วัน ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปร่างชัดเจนเป็นปลาโตเต็มวัยและมีลักษณะทางกายภาพเป็นปลากะตักทุกประการ ผลพิสูจน์บ่งบอกว่าเป็นปลากะตักตัวกลม สกุล Encrasicholina ที่พบในอ่าวไทยทั่วไป

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้แทนชาวประมงที่จังหวัดระยองได้แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพิสูจน์ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมได้เข้าร่วมประชุมรับทราบผลการพิสูจน์ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมเป็นลูกของปลากะตักแล้ว กรมประมงจึงขอประกาศให้ชาวประมงจับปลากะตักด้วยอวนช้อน อวนยก อวนครอบประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอวนล้อมจับปลากะตักเวลากลางวัน ทั่วราชอาณาจักร ห้ามใช้ขนาดช่องตาอวนเล็กกว่า 0.6 เซ็นติเมตรจับปลากะตักโดยเด็ดขาดเพราะปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมคือลูกของปลากะตัก 

ปลาข้าวสาร ปลาสายไหม และปลาฉิ้งฉ้าง  ชื่อที่หลากหลายเหล่านี้อันที่จริงแล้วเป็นลูกปลากะตักขนาดเล็กทั้งสิ้น จึงเป็นข้อถกเถียงเรื่องขนาด ซึ่งส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย และบทวิเคราะห์ทั้งหมดนี้ได้รวบรวมมาไว้เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปลากะตัก เพื่อเลี่ยงการจับและการบริโภคในขนาดที่ยังไม่โตเต็มวัย ป้องกันการตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นการปกป้องทรัพยากรทางทะเลของเราให้อยู่คู่ทะเลไทยไปอีกนานเท่านาน


แหล่งที่มา

[1] //kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/6087/1/322465.pdf
[2] //www.aquatoyou.com/index.php/2013-02-21-02-30-41/2013-02-21-02-34-17/213-anchovy
[3] //www.fishbase.de/Summary/SpeciesSummary.php?ID=556&genusname=Encrasicholina&speciesname=heteroloba&AT=Encrasicholina+heteroloba#
[4] //www.fishbase.de/Summary/SpeciesSummary.php?ID=558&genusname=Encrasicholina&speciesname=punctifer&AT=Encrasicholina+punctifer
[5] //www.fishbase.se/summary/Encrasicholina-devisi.html
[6] //www.fishbase.org/Summary/SpeciesSummary.php?id=569&lang=thai
[7] สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, เกษตรและสหกรณ์,กระทรวง กรมประมง . ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย . พิมพ์ครั้งที่2 . กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา , 2535.
[8] //www.globalchange.umich.edu/globalchange2/current/lectures/fisheries/fisheries.html
[9] //www.agri.kmitl.ac.th/elearning/courseware/aquatic/3_4.html
[10] "ทะเลไทย" โดย ภาคภูมิ วิธานติระวัฒน์ จากหนังสือ "ปลาหายไปไหน" และ รายงานการประมงในประเทศไทยโดย กรีนพีซ มิถุนายน พ.ศ.2555
[11] เครือข่ายประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์
[12] //www.fisheries.go.th/pr/kaewsarn.htm

ที่มา: //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/-/blog/53887/




 

Create Date : 04 กันยายน 2558   
Last Update : 4 กันยายน 2558 14:48:14 น.   
Counter : 1967 Pageviews.  


กิจกรรม จาก'เล สู่จาน

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอชวนคนรักทะเล และนักกินนักชิมอาหารทะเลทุกคน มาร่วมงาน “จาก’เล สู่จาน” การกินอาหารทะเลที่มาจากการทำประมงอย่างยั่งยืนไม่ได้เป็นการทำเพื่อสุขภาพของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นการดูแลรักษาสุขภาพของท้องทะเลของเราทุกคน ผ่านทางการบริโภคอาหารทะเลอย่างรับผิดชอบ

กำหนดการ

11 กันยายน 2558

14.00 - 15.00 น. ลงทะเบียนสื่อมวลชน
15.00 – 15.30 น. ดร. ศศิวิมล สมิตติพัฒน์ คณะกรรมการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเปิดงานพร้อมเปิดตัวคู่มือเลือกซื้ออาหารทะเลยั่งยืน "จาก'เล สู่จาน: A Guide to Sustainable Seafood"
15.30 – 16.00 น.    

ล้อมวงเสวนา "จาก'เลสู่จาน: อาหารทะเลมีที่มาอย่างไร และผู้บริโภคสามารถกินอย่างรับผิดชอบได้อย่างไร" โดย 

  • ดร. สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ  ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน
  • เชฟ Dylan Jones จากร้านโบ.ลาน
  • คุณชรินา ง่วนสำอางค์ เจ้าของร้านครัวใส่ใจ ที่คัดเลือกวัตถุดิบที่ใส่ใจทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภค
  • คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
16.00 – 16.45 น.  เชฟ Dylan จากร้านโบ.ลาน สาธิตการทำอาหารในคอนเซ็ปอาหารที่ทำร้ายโลกน้อยที่สุด
16.45 – 17.00 น. 
รีวิวแอพพลิเคชั่น “จาก’เล สู่จาน”
17.00 – 17.30 น.     ฟังเพลงสบายๆ สไตล์ Acoustic กับ Greenpeace Youth Band

12 กันยายน 2558

15.00 - 16.00 น.  ฟังเพลงเพราะๆกับ ฟิล์ม บงกช นักร้องคุณภาพจากค่าย WE Records
16.00 - 16.30 น. เปิดใจ เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ การเป็นเชฟที่ดีในความคิดของคุณคือ...?
16.30 - 17.00 น.

เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ จากรายการ CIY- Cook It Yourself โชว์ทำอาหารเมนูปลากระพงฟิลเลย์เพสโต้ซอส กับน้ำจิ้มซีฟู้ด

17.00 - 17.30 น.  ฟังเพลงสบายๆ สไตล์ Acoustic กับ Greenpeace Youth Band

13 กันยายน 2558

15.00 - 15.30 น.  พูดคุยกับคุณอ้อม พิยดา ในบทคุณแม่ เรียนรู้เคล็ดลับ "อาหารทะเลเพื่อลูกรัก"
15.30 - 16.00 น.  คุณอ้อม พิยดา โชว์ทำอาหารเพื่อลูกรัก
16.30- 17.00 น. 

ฟังเพลงสบายๆ สไตล์ Acoustic กับ วง Earth ดนตรีเปลี่ยนโลก

**กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม **

ร่วมกิจกรรมกับเรา

ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไปของทุกวัน มีกิจกรรมร่วมสนุกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับการกินอาหารทะเลอย่างไรไม่ทำร้ายทะเล ซื้ออาหารทะเลสดๆ จากเรือชาวเลประมงอย่างยั่งยืน DIY WORKSHOP สุดฮิป และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย

จินตนาการสร้างสรรค์ของเล่นไม้ กับ ๑4๑ Social Enterprise

เรียนรู้สร้างสรรค์ประสบการณ์ในครอบครัวร่วมกัน ลงมือทำของเล่นผ่านสองมือของเราเอง One for One แนวคิดหนึ่งคนให้ หนึ่งคนได้รับ ผ่านช่องว่างแห่งการให้ เมื่อผู้ซื้อสินค้าของ ๑4๑ จะมีอีกชิ้นหนึ่งเกิดขึ้นเป็นของเล่นไม้ธรรมชาติมอบให้แก่เด็กๆ ในที่ห่างไกลหรือขาดแคลนโอกาสในการได้รับของเล่น

*ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เวิร์คช็อป 60-9,000 บาท (แล้วแต่แบบ)

เพ้นท์กระเป๋าและเสื้อผ้าสุดเก๋ กับ Madam slow life マダムスローライフ

สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวกับกิจกรรมสร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพ้นท์กระเป๋าและเสื้อผ้าจากผ้าออแกนิคและผ้า ECO ด้วยสี NON TOXIC โดยใช้ตัวพิมพ์จากผักและผลไม้ สร้างสรรค์เป็นรูปสัตว์ทะเล ปะการัง และดอกไม้ทะเล

*ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เวิร์คช็อป 120-700 บาท (แล้วแต่แบบ)

เพ้นท์ผ้าบาติกสุดเท่ห์ กับ Tawan Art Batik Phuket

ปลดปล่อยจินตนาการอันสร้างสรรค์ในตัวคุณ ผ่านการวาดรูปและระบายสีลงผืนผ้าบาติก ผลงานชิ้นเอกที่มีชิ้นเดียวในโลกผ่านสมองและสองมือของคุณ

*ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เวิร์คช็อป 99 บาท/ชิ้น 

เอื้อเฟื้อสถานที่โดย... ศูนย์การค้า ดิเอ็มควอเทียร์ (
TheEmQuartier)

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Ocean/sea-to-plate-event/




 

Create Date : 03 กันยายน 2558   
Last Update : 5 กันยายน 2558 12:10:14 น.   
Counter : 1382 Pageviews.  


การวิพากษ์ที่เลื่อนลอยและข้ออ้างเบาหวิวกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซีย

Blogpost โดย ธารา บัวคำศรี -- สิงหาคม 17, 2558 ที่ 16:57

ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของมาเลเซียเป็นที่สองรองจากอินโดนีเซีย ปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 33 โดยมีกำลังผลิตติดตั้งรวมกัน 7,056 เมกะวัตต์ รัฐบาลมาเลเซียคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2562 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะเพิ่มเป็นร้อยละ 64

ภาพจาก Save Our Seahorses //www.sosmalaysia.org

โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่องแล้วบนคาบสมุทรมาเลเซีย ทั้งหมดตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินของ Kapar Energy Ventures กำลังผลิตติดตั้ง 1,486 เมกะวัตต์ ที่ Kapar รัฐสลังงอ ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ราว 56 กิโลเมตร โรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung กำลังผลิตติดตั้งรวม 2,100 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ถมทะเลชายฝั่งรัฐเประ โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tanjung Bin กำลังผลิตติดตั้ง 2,100 เมกะวัตต์ ในรัฐยะโฮร์ใต้สุดของคาบสมุทร และโรงไฟฟ้าถ่านหินของ Jimah Energy ในรัฐเนกรีเซมบีลัน กำลังผลิตติดตั้ง 1,400 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็กอีก 4 แห่ง (กำลังผลิตติดตั้งแต่ละแห่งอยู่ระหว่าง 100-200 เมกะวัตต์) ในรัฐซาราวักบนเกาะบอร์เนียว ขณะที่แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐซาบาห์ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างเข้มแข็งจากประชาชนในพื้นที่

อรรถาธิบายข้างต้นนี้ ส่วนหนึ่งคือที่มาที่ไปที่อุตสาหกรรมถ่านหินและพวกพ้องในประเทศไทยหยิบมาใช้อ้างและตอบโต้ว่าเราจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทความส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส บนเว็บไซต์ area.co.th เรื่อง วิพากษ์กรีนพีช: เอกสารถ่านหินกระบี่ที่บิดเบือน

ในบทแถลงของ ดร.โสภณ พรโชคชัย อ้างว่า “...ถ่านหินบิทูมินัสที่ใช้เป็นถ่านหินชั้นดีกว่าถ่านหินลิกไนต์และได้รับการพิสูจน์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซียที่ตั้งอยู่ริมทะเล (กระบี่อยู่บนผืนดินห่างจากทะเล) หลายโรง อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ตลอดจนโรงแรมรีสอร์ตต่างๆ ก็ไม่ได้ก่อมลภาวะอะไร ผลการศึกษาที่ผ่านก็ชี้ว่าไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม...”

การศึกษาที่นำมาอ้างเป็นงานวิจัยเรื่อง Health Risk Assessment in Coal-Fired Power Plant in Malaysia ที่นำเสนอและตีพิมพ์ในการประชุมนานาชาติว่าด้วย Process Systems Engineering(PSE ASIA)ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือนมิถุนายน 2556 การศึกษาเน้นไปที่การใช้แบบจำลอง AERMOD ซึ่งเป็นหนึ่งในแบบจำลองการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศ (Dispersion Model)ภายในรัศมี 50 กิโลเมตรจากแหล่งกำเนิดและใช้กันแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา โดยวัดการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรเจนคลอไรด์ อาร์เซนิก แคดเมียม โครเมียม และตะกั่ว จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Kapar ในรัฐสลังงอ และระเบียบวิธีการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพเชิงปริมาณ (Quantitative Health Risk Assessment) เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องผลกระทบสุขภาพ

ผลการศึกษาดังกล่าวสรุปว่า ความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Kapar มีระดับไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียและขององค์การอนามัยโลก ผู้ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากแหล่งกำเนิดนั้นรับเอา "มลพิษที่มีความเข้มข้นต่ำมากและอยู่ในระดับที่ยอมรับได้" กลุ่มประชากรดังกล่าวจึงไม่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากมลพิษเหล่านั้น

แต่ทว่าในแถลงของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ที่อ้างงานวิจัยดังกล่าวกลับสรุปว่า “...ผลการศึกษาที่ผ่านมาก็ชี้ว่าไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม...”! ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอันใดกับข้อสรุปของการศึกษาชิ้นเดียวที่ตนนำมาอ้างอิงแม้แต่น้อย

ดร.โสภณ พรโชคชัย อาจจะไม่เข้าถึงคำกล่าวที่ว่า "การถกเถียงโดยไม่ต้องหาข้อสรุป นั้นดีกว่าการหาข้อสรุปโดยไม่มีการถกเถียงกันเลย" ที่โยงถึงการอภิปรายถกเถียงเรื่องมลพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตแม้มีระดับน้อยมากถึงหนึ่งส่วนในล้านล้านส่วน มองไม่เห็นและยากที่จะวัดเมื่อหลุดออกจากแหล่งกำเนิดสู่สิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร ที่ไม่ควรมองข้าม

ส่วนการวิพากษ์เอกสารเรื่อง “กระบี่บนทางแพร่ง : ถ่านหินสกปรกหรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด” ซึ่งเป็นรายงานเผยแพร่ของกรีนพีซว่ามีลักษณะบิดเบือนนั้น หาก ดร. โสภณ พรโชคชัย  อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จะพบว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ในรายงานมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) และการสำรวจภาคสนาม(field studies) เพื่อสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 870 เมกะวัตต์ที่กระบี่ การสำรวจภาคสนามอ้างอิงข้อมูลแผนที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงร่างรายงาน EHIA ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ สถิติที่นำมาใช้ในรายงานมีที่มาและอ้างอิงไว้ในเชิงอรรถอย่างชัดเจน

รายงานของกรีนพีซยังระบุถึงกระบวนการ EHIA ที่มองข้ามความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ซึ่ง ดร.โสภณ พรโชคชัย ระบุในแถลงของตนว่า “...พวก NGOs นำพื้นที่ชุ่มน้ำมาอ้างเล่นประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้...” ขณะเดียวกัน ดร.โสภณ พรโชคชัยก็ใช้แผนที่ดาวเทียมจากกูเกิลแสดงที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน Tanjung Bin ของมาเลเซีย และบอกว่า “โรงไฟฟ้าสร้างอยู่ตรงพื้นที่ชุ่มน้ำ เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2549 ถ้าไม่ปลอดภัยจริง ชาวมาเลย์และสิงคโปร์คงโวยไปแล้ว...” นั้นเป็นความขาดตกบกพร่องอย่างถึงที่สุด ด้วยเหตุผลสองสามประการดังนี้

1) พื้นที่ชุ่มน้ำมิใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ตามคำแถลง ของ ดร.โสภณ พรโชคชัย  พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทหน้าที่ตลอดจนคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิตทั้งมนุษย์ พืช และสัตว์ทั้งทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง Assessing the Value of Krabi River Estuary Ramsar Site Conservation and Development  รายงานความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  แผ่นข้อมูล(Information Sheet)ของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ รวมถึงงานวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ หรือที่ชาวประมงพื้นบ้านตั้งชื่อว่า “งานวิจัยมหาลัยเล” อันเป็นงานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่อาศัยความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรมมาใช้ในการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้แนวคิดพื้นที่อธิบายถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มนํ้าชายฝั่งทะเลอันดามันนั้นยืนยันได้อย่างดีถึงบทบาทของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม และน่าจะเป็นแสงส่องทางให้แก่ ดร. โสภณ พรโชคชัย ได้บ้าง

2) การใช้ข้อมูลแผนที่ดาวเทียมจาก google เพื่อแสดงทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงแรม/รีสอร์ทท่องเที่ยวที่อยู่รายรอบ การอ้าง review ของโรงแรมต่างๆ ที่รายรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินว่าไม่มีการบ่นเรื่องมลพิษ เพื่อจะสนับสนุนข้อสรุปที่ว่า “ไม่มีผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นั้นดูจะตื้นเขินอยู่มิใช่น้อย การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย กลับมิได้นำมาอ้างอิง คือ การศึกษาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก(PM2.5) จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung และผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งตีพิมพ์ใน Procedia-Social and Behavioral Science ปี 2556 พบฝุ่นละอองร่างกายรับเข้าไปจากการหายใจอย่าง PM2.5 ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung มีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดโดย USEPA จากการวัดที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและกรกฎาคม 2554 ในที่นี้ ต้องเข้าใจว่ามาเลเซียและทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยยังไม่มีค่ามาตรฐาน PM2.5 จากปลายปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน

3) โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tanjung Bin ตั้งอยู่ตรงบริเวณริมฝั่งทะเลตรงปากแม่น้ำ Sungai Pulai ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศเช่นเดียวกับพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของรัฐยะโฮร์แห่งนี้ถูกทำลายอย่างขนานใหญ่จากนโยบายการพัฒนา จากการก่อสร้างท่าเรือ Tanjung Pelepas ไปจนถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน Tanjung Bin ขนาด 2,100 เมกะวัตต์ และการรุกทำลายป่าชายเลนอีกกว่า 913 แฮกตาร์ เพื่อสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สื่อมวลชนออนไลน์อย่าง Malaysiakini ถึงกับพาดหัวบทความว่า “นักการเมืองสมสู่กับธุรกิจเลวเพื่อแสวงประโยชน์จาก Sungai Pulai” ส่วนกลุ่มจิตอาสาอย่าง SOS Malaysia นั้นก็เป็นกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครที่ทำงานติดตามตรวจสอบผลกระทบจากการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าว เอกสารของกลุ่มชื่อ “การกระทำย่ำยีที่ Sugai Pulai” สะท้อนเป็นเสียงของประชาชนที่ทวงสิทธิและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนภายใต้การคุมเข้มของรัฐบาลมาเลเซีย

แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในคาบสมุทรมาเลเซียนั้นมีขนาดใหญ่และมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ชาวประมงจากเครือข่ายปฏิบัติการประมงชายฝั่งแห่งมาเลเซีย(JARING) เผชิญกับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีต่อระบบนิเวศป่าชายเลน การที่น้ำทะเลที่ใช้หล่อเย็นในโรงไฟฟ้าได้ตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำขนาดเล็ก การปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าลงสู่แหล่งน้ำ พื้นที่ทำการประมงชายฝั่งถูกจำกัด และมลพิษทางอากาศที่ทำให้เกิดฝนกรดและเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลซึ่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล และการต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐซาบาห์ เป็นสิ่งที่ต้องนำมาสู่การอภิปรายถกเถียงด้วย




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2558   
Last Update : 24 สิงหาคม 2558 15:05:39 น.   
Counter : 1423 Pageviews.  


ชะตากรรมทะเลไทยในสถานการณ์ปลดล็อคใบเหลืองอียู

ชะตากรรมทะเลไทยในสถานการณ์ปลดล็อคใบเหลืองอียู

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- พฤษภาคม 14, 2558 ที่ 19:51

ซูม

ภาคประชาสังคมได้มาร่วมกันถกถึงปัญหาวิกฤตประมงไทยและใบเหลืองจากอียู ในประเด็น “ใบเหลืองอียู: ชะตากรรมทะเลไทยในอุ้งมือรัฐและอุตสาหกรรมประมง”

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าของประเทศเป็นหลัก โดยไม่คิดถึงการรักษาทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว จึงมีมาตรการเร่งรัดเพื่อรักษาตลาด พยายามแก้พรบ.การประมง แก้ไขเรื่องทรัพยากรชายฝั่ง แต่ต้องดูว่าจะเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือเปล่า จะเป็นการแก้ให้เราทุกคนหรือแก้ให้ใคร” คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว

คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

เมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมได้มาร่วมกันถกถึงปัญหาวิกฤตประมงไทยและใบเหลืองจากอียู ในประเด็น “ใบเหลืองอียู: ชะตากรรมทะเลไทยในอุ้งมือรัฐและอุตสาหกรรมประมง” ซึ่งเป็นการมาพูดคุยกันถึงข้อวิตกกังวลในเรื่องทรัพยากรทางทะเลไทยที่กำลังถูกตักตวงเกินประสิทธิภาพในการฟื้นฟู จากมุมมองของเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ผู้ที่ทำประมงอย่างอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเล และเห็นถึงวิกฤตปัญหาทางทรัพยากรที่เกิดขึ้น แต่ภาครัฐกลับมองข้ามไม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประมงพื้นบ้าน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นทางออกในการทำประมงอย่างยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารของไทย ไม่ใช่อุตสาหกรรมประมงที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม นี่คือโจทย์ที่ภาครัฐต้องเลือกและหาคำตอบให้ได้ระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจและผลประโยชน์ของประชาชน เป็นความท้าทายที่ว่ารัฐบาลจะทำให้ผลประโยชน์กลับมาสู่ประชาชน และระบบนิเวศของทุกคนได้หรือไม่

และที่สำคัญที่สุดคือจะรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยที่ผลประโยชน์ของธุรกิจเป็นรองได้หรือไม่

เรือประมงแบบทำลายล้าง ศัตรูของท้องทะเลที่ไม่ควรได้รับนิรโทษกรรม

ข้อกังวลที่ผู้เข้าร่วมเสวนาจาก สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นพ้องตรงกัน คือ ปัญหาการประมงแบบทำลายล้างและเกินขนาดที่สร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรทางทะเล และความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ

คุณสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย


“5,919 ลำ คือจำนวนเรืออวนลากที่อ่าวไทยรับได้จากข้อมูลการวิจัยโดยกรมประมง ณ วันนี้ เรืออวนลากมีกว่า 12,000 ลำแล้ว เป็นข้อคำถามถึงความตั้งใจในมาตรการของกรมประมงว่าต้องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยจริงหรือไม่  ภาครัฐของไทยเปิดโอกาสให้เรือประมงพาณิชย์ทำลายล้างทุกอย่าง หลายประเทศมีการปิดประเทศไม่ให้เรืออวนลากเข้า เช่น อินโดนีเซียมีการยกเลิกเรืออวนลาก อวนล้อม แต่ในไทยเป้าหมายของผู้ประกอบการคือเรืออวนลาก กับการนิรโทษกรรมเรืออวนลาก ซึ่งต่อไปถ้าปล่อยให้เกิดการจดทะเบียน ทะเลไทยจะทรัพยากรลดลงเรื่อยๆ

หลังจากได้รับใบเหลือง ภาครัฐไม่ได้มองถึงกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 85 ว่าเป็นกลุ่มที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศเดิน ทั้งที่มีการรับซื้อและส่งออกไปต่างประเทศ ไม่ได้มองว่าเราเป็นหนึ่งคู่กับทะเล มีการฟื้นฟูทะเล และทรัพยากรหน้าบ้านของตนเองมาตลอด แต่เรือประมงแบบทำลายล้างที่เต็มทะเลต่างหากทำให้ชะตาทะเลไทยอยู่ในขั้นวิกฤต” คุณสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว

อันที่จริงแล้วทะเลไทยมีศักยภาพสูง หากเราเปิดโอกาสให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัว ไม่นานนักทะเลก็จะสามารถคืนความอุดมสมบูรณ์กลับมาได้ ดังที่คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า “ขณะนี้มีเรืออวนลากจำนวนกว่า 12,000 ลำในทะเลไทย แต่ยังสามารถจับปลาเล็กมาได้จำนวนกว่า 9 แสนตันต่อปี แสดงถึงศักยภาพของทะเลไทยถึงแม้จะถูกเรือประมงแบบทำลายล้างทำร้ายระบบนิเวศกวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาจากท้องทะเลตั้งแต่ผิวดินถึงผิวน้ำ หากเราปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้เติบโตจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลมากว่ามูลค่าของปลาป่น เรือประมงแบบทำลายล้างอย่างเรืออวนรุน อวนลาก เรือคราดหอย และเรือปั่นไฟ ถึงแม้ว่ารัฐจะบอกสามารถจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย แต่สังคมไทยจะว่าอย่างไร จะยอมให้ทะเลไทยถูกทำลายเช่นนี้ต่อไปไหม ทางออกต่อเรื่องนี้คือต้องลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี2547”

การบังคับใช้กฎหมายประมงอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล หนทางปลดล็อควิกฤตทะเลไทย


คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมาการบังคับใช้ของกฎหมายประมงที่มีช่องโหว่อย่างเห็นได้ชัดทำให้ คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรีผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ถึงกับกล่าวออกมาว่า “ผมไม่คาดหวังเลยกับกฎหมายประมง”

วิกฤตทะเลไม่ได้เพิ่งมาเกิดตอนได้ใบเหลือง แต่ FAO ได้ระบุว่าเราจับเกินระยะฟื้นฟูของทะเลตั้งแต่ปี 2523 ล่าสุดภาครัฐได้ออกกฎหมายประมงฉบับใหม่เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ภาคประชาสังคมยังมีข้อกังวลว่ากฎหมายนี้ยังคงมีช่องโหว่ ซึ่งคุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี เสริมว่า “ความสำคัญในกฎหมายประมง 104 มาตรา ยังไม่สามารถฝากความหวังได้ แต่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม ไม่คำนึงถึงการประมงพื้นบ้าน อีกทั้งอำนาจกฎหมายยังผูกขาดอยู่ในมือรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่เพียงผู้เดียว ที่สำคัญคือไม่มีบทลงโทษสำหรับเรือประมงพาณิชย์ที่ละเมิดกฎหมาย มีเพียงการปรับ ซึ่งเมื่อเทียบระหว่างรายได้ 1 แสนบาท และค่าปรับ 2 พันบาทแล้ว คงไม่มีใครกลัวเกรงการกระทำผิด แต่ในขณะที่เรือประมงพื้นบ้านกรณีที่ออกนอกเขตสามไมล์ทะเล จะถูกส่งฟ้องศาลเพื่อรอดำเนินอาญาเท่านั้นกฎหมายเช่นนี้จะทำให้ทะเลวินาศในอีกสองเดือน ไม่ใช่ดีขึ้น”

ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน

การแก้ปัญหาวิกฤตทะเลไทย และปลดล็อคได้อย่างตรงจุดที่สุดนั้นต้องระบุถึงปัญหาอย่างจริงใจ ไม่ใช่ปกปิด และมีการจัดการในระยะยาว สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงคือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่มีชาวประมงพื้นบ้านที่อนุรักษ์และฟื้นฟู รวมถึงผู้บริโภคที่มีส่วนในการกินอาหารทะเล และเป็นเจ้าของทะเลเช่นกัน

“ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าสาเหตุของใบเหลืองเพราะมีแรงงานไม่ถูกกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของกรมประมงที่ต้องอธิบายว่าทำไมเรือเหล่านี้ถึงผิดกฎหมาย ซึ่งมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าทะเลไทยไม่ควรมีเรือพวกนี้อยู่ หากสิ่งที่เราสู้กันมากลับถูกปลดล็อคง่ายๆ คงเป็นปัญหาแน่ การส่งออกในปัจจุบันมีความไม่โปร่งใสในการได้มา เช่น การประมงที่ผิดกฎหมาย หรือการขโมยมา อันที่จริงแล้วปัญหาเป็นเรื่องของการจัดการประมงในระยะยาว ไม่ใช่ได้มาแบบทางลัดแก้ปัญหาในระยะสั้น ประมงยังอยู่กับเราไปอีกยาวนาน เป็นเรื่องของโจทย์สำหรับผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ  ผู้จัดการโครงการการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าววิเคราะห์

คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวสรุปว่า

“ทางออกในการจัดการประมงไทยเราสามารถศึกษาจากตัวอย่างของประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้ใบเขียวมาหลังจากการถูกเตือน ซึ่งมีหัวใจหลักคือการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ให้น้ำหนักกับประมงพื้นบ้านเท่ากับประมงพาณิชย์ คำนึงถึงทรัพยากรที่จะสูญเสียไป พร้อมกับกฎหมายใหม่ที่ใช้ได้จริง ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ หรือจะเป็นประเทศอินโดนีเซียที่เอาจริงกับการวางระบบการเฝ้าระวังการประมงผิดกฎหมาย ดังที่เคยมีเหตุการณ์การจมเรืออวนลากของไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย รัฐบาลไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้าน การปกป้องทรัพยากรประมงชายฝั่ง กระจายอำนาจ ดังที่บ้านเราก็มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าทำได้จริง เช่น ชุมชนคั่นกระไดกับการสร้างกติกาชุมชน”

ทะเลไทยคือสมบัติของชาวไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมการประมงของบริษัทใด ขณะที่ภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเพื่อเร่งปลดล็อคใบเหลืองอียู ผู้บริโภคอย่างเราทุกคนมีพลังในการผลักดันให้รัฐเลือกกำหนดอนาคตที่ยั่งยืนให้กับทะเลไทย ยุติการสนับสนุนเรือประมงแบบทำลายล้างที่กอบโกยผลประโยชน์จากทะเลเพื่อรายได้ทางเศรษฐกิจระยะสั้นของอุตสาหกรรมประมง หันมาบังคับใช้กฎหมายประมงใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ยึดถือประโยชน์ของประชาชน ชาวประมงพื้นบ้าน และความยั่งยืนทางสิงแวดล้อมเป็นที่ตั้ง เพื่อทะเลอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวไทย และทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน


⁞… คุณคือพลังสำคัญปกป้องและคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ทะเลไทยได้ ร่วมลงชื่อรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องทะเลอย่างยั่งยืนที่นี่


ที่มา : กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย)




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2558   
Last Update : 27 พฤษภาคม 2558 16:17:49 น.   
Counter : 1004 Pageviews.  


แถลงการณ์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุดของประเทศไทย

กรุงเทพฯ, 28 เมษายน 2558 – กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2558-2579 (PDP 2015) (1) ที่นำเสนอโดยกระทรวงพลังงานเป็นแผนที่ล้มเหลวอย่างน่าผิดหวัง เนื่องจากแผนดังกล่าวยังผูกติดอยู่กับเทคโนโลยีที่ล้าสมัยและอันตรายอย่างถ่านหินและนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ร่างแผน PDP2015 (2) ได้บรรจุการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่างๆ รวมถึง:
  • การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จำนวน  9 โรง มีกำลังการผลิตรวม 7,365 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 2 โรง มีกำลังการผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์
  • การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้าจากประเทศเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและกัมพูชา ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 11,016 เมกะวัตต์

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า

“ผู้นำไทยรวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจงใจหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะลงทุนในด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำหรือไม่สร้างผลกระทบ อย่างเช่น พลังงานลมและแสงอาทิตย์ แต่ยังเลือกใช้ถ่านหินและนิวเคลียร์ที่มีต้นทุนสูง เสี่ยงภัยและสกปรก"

“ในยุคปัจจุบัน มันดูไม่น่าเชื่อที่ผู้นำทางการเมืองของเรายังคงเชื่อในข้ออ้างที่บิดเบือนเรื่อง “ถ่านหินสะอาด” ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์บีบบังคับผู้คนในประเทศและในภูมิภาคต้องแบกรับความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็น"

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องเน้นให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและไม่มีผลกระทบ และรวมถึงเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอย่างขนานใหญ่ แผน PDP2015 ยังเป็นแผนที่นำไปสู่การการทำลายสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงจากมลพิษ เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก และปรอท (Hg)”

แผน PDP2015 ยังขัดกับนโยบายพลังงานของประเทศไทย (3) และยังขัดกับผลประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและภูมิภาคอีกด้วย

การลดการปล่อยคาร์บอนเป็นข้อมูลเพียงด้านเดียว

หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในแผน คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจการไฟฟ้า รัฐบาลมักอ้างว่า แผน PDP2015 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้(ลดลงร้อยละ 36.9 ตลอดระยะเวลา 22 ปีของแผนซึ่งนั่นเป็นเพียงข้อมูลแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น  เพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดไม่ได้ลดลงแต่ในความเป็นจริงแล้วมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.98 ในปี 2579 (เปรียบเทียบกับปี 2556)

“รัฐบาลไทยกำลังละเลยแผนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions หรือNAMAs) ที่ได้ยื่นต่อเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (UNFCCC) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หากดำเนินการตามแผน PDP2015 ประเทศไทยจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากภาคพลังงานและภาคการขนส่งร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563 (4) ตามที่ตกลงไว้” นายธารากล่าวเสริม

ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ

1) ถอดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากแผน PDP2015 เพราะไม่มีความจำเป็นจากการที่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในแผน PDP2015 สูงเกินความจำเป็นถึงร้อยละ 40 และแทนการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าโดยใช้วิธีแบบบนลงล่าง(5)ด้วยการพยากรณ์จากล่างขึ้นบนซึ่งสามารถประเมินการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าตามความเป็นจริงในแต่ละภาคเศรษฐกิจ กิจการอุตสาหกรรมและผู้ใช้ในระดับครัวเรือน

2) จัดทําและพิจารณาเปรียบเทียบภาพฉาย(scenario)ในกรณีต่างๆที่มีความเป็นไปได้ในกระบวนการทําแผนพีดีพีเพื่อให้สะท้อนถึงสมมติฐานต่างๆ เกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่เป็นตัวแปร หรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง ราคาคาร์บอน (ก๊าซเรือนกระจก) จากนั้นนําเอาแผนกรณีต่างๆ มาเปรียบเทียบความเสี่ยงและต้นทุนรวม จากนั้นมีกระบวนการสาธารณะเพื่อให้สังคมเลือกแผนที่มีต้นทุนต่ำสุดภายใต้ระดับความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่พอยอมรับได้จากภาพอนาคตหลากหลายที่อาจเกิดขึ้นได้

3) ประเมินผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าในกรณีที่โครงการตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีแผนที่จะนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเขื่อนพลังน้ำที่ตั้งอยู่ในชายแดนของสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ และ กัมพูชา ซึ่งเป็นการหลบเลี่ยงต่อกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบจากสาธารณะชน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านมลพิษจากโรงไฟฟ้าในแต่ละประเทศโดยมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคนไทยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศเป็นผลกระทบที่ไม่จำกัดขอบเขต โครงการเหล่านี้ควรจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมในประเทศไทย 

หมายเหตุ

(1)  แผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan-พีดีพี) ของประเทศไทย เป็นแผนที่จัดทําข้ึนเป็นประจําโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แผนดังกล่าวเป็นแผนแม่บทสําหรับการลงทุนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ตัวแผนฯ จะกําหนดว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าแบบใดขึ้นบ้าง เป็นจํานวนเท่าไร ที่ไหน และเมื่อไร แผนพีดีพีมีนัยยะที่ค่อนข้างกว้างขวางโดยไม่เพียงแต่กําาหนดอนาคตของภาคพลังงาน ภูมิทัศน์ทางสังคมและส่ิงแวดล้อมของประเทศเท่าน้ัน หากยังส่งผลต่อประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ อีกด้วย

(2)  //www.eppo.go.th/PDP_hearing/index.html

(3)  พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายหลักที่ควบคุมเรื่องพลังงานในประเทศไทย ตามพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รัฐบาลไทยชุดต่างๆ ได้กําาหนดเป้าหมายเชิงนโยบายของกิจการพลังงานไว้ดังนี้

  • ความมั่นคงทางพลังงาน: จัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการ
  • การพึ่งพาพลังงาน: ลดการพึ่งพาพลังงานนําาเข้าจากต่างประเทศ
  • ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน: เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน
  • ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ: ลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน
  • กระจายแหล่งและชนิดของเชื้อเพลิง
  • ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • ลดผลกระทบจากการจัดหาพลังงาน
  • อัตราค่าบริการพลังงานที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผลสําาหรับผู้บริโภค

(4)  //newsroom.unfccc.int/unfccc-newsroom/thailand-submits-nama/

(5)  การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าแบบบนลงล่างอยู่บนสมมติฐานการพยากรณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ระยะสั้นและระยะยาวเป็นหลัก การพยากรณ์จากล่างขึ้นบนจะติดตามแนวโน้มในการบริโภคพลังงานตามกลุ่มผู้บริโภคตามแต่ละวิธีการใช้ไฟฟ้าโดยคํานึงถึงทางเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ประชากรและโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร 089 476 9977 อีเมล tara.buakamsri@greenpeace.org

สมฤดี ปานะศุทธะ  ผู้ประสานงานสื่อมวลชน  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร 081 929 5747 อีเมล spanasud@greenpeace.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ - เมษายน 28, 2558

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Greenpeace-SEA-statement-on-Thailand-new-energy-plan/




 

Create Date : 29 เมษายน 2558   
Last Update : 29 เมษายน 2558 12:38:28 น.   
Counter : 628 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com