กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

กว่า 100 วันแห่งคราบน้ำตาจากคราบน้ำมันที่ยังไม่เลือนหายไป

ช่วงเดือนที่ผ่านมาเราคงได้เห็นโฆษณาของปตท.  “Better Samed: เราไปเที่ยวเสม็ดกันเถอะ” และคำกล่าวในโฆษณาจากหลายฝ่ายทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการริมชายหาดว่า “เสม็ดดีขึ้นแล้ว ทรายขาวเหมือนเดิม น้ำใสเหมือนเดิม อาหารทะเลกินได้ เหลือก็แต่ความเชื่อมั่นของคนไทยที่ยังไม่เหมือนเดิม วันนี้เรายังคงดูแลธรรมชาติและผู้คนอย่างต่อเนื่อง” แต่ทว่าความเป็นจริงต่างจากภาพฝันเคล้าคราบน้ำลายในโฆษณาชวนเชื่อยิ่งนัก  จากการที่กรีนพีซร่วมกับเครือข่าย “กลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่ว” ได้ลงพื้นที่และดำน้ำสำรวจบริเวณแหล่งประมงพื้นบ้าน แนวหินจังหวัดระยอง พบว่าในช่วง 100 วัน ทะเลระยองยังไม่ได้รับการเยียวยา ชาวบ้านผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังที่กลุ่มเครือข่ายได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ และเรียกร้องว่าแทนที่ทางบริษัทผู้ก่อมลพิษจะนำงบประมาณมูลค่ามหาศาลในการสร้างภาพทางสื่อ ควรจะหันมารับผิดชอบต่อผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างจริงใจ รวมถึงเยียวยาผลกระทบจุดอื่นจากน้ำมันรั่ว เนื่องจากเกาะเสม็ดไม่ใช่จุดเดียวที่ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่ชาวประมงกังวลอย่างมากคือน้ำมันดิบจำนวนมากที่ยังคงตกค้างอบู่ใต้ทะเลในบริเวณระหว่างจุดรั่วไหลไปจนถึงเกาะเสม็ดเป็นระยะทาง 36 กิโลเมตร และยังพบคราบน้ำมันจำนวนมากตกค้างอยู่ตามแนวหินและปะการังที่ยังไม่ได้รับการจัดการใดๆ

เมื่อได้ติดตามสถานการณ์ของตะกอนน้ำมันจากการใช้สารเคมี (ทาร์บอล) บริเวณพื้นทะเลแนวใหม่ แนวหินญวน และแนวหินบุช เพื่อสำรวจความเสียหายของระบบนิเวศปะการังบริเวณแนวหิน โดยเก็บข้อมูลภาพถ่ายใต้ทะเล ตัวอย่างตะกอนดิน และสัตว์หน้าดิน พบว่าปะการังมีลักษณะทางกายภาพที่ดีมากแต่ทางชีววิทยาของปะการังบางประการบ่งชี้ถึงสภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิตของปะการังถูกรบกวนคือปะการังมีการคายเมือกออกมาเป็นจำนวนมากโดยลักษณะเมือกจะเป็นเส้นสั้นๆล่องลอยอยู่ในมวลน้ำโดยสภาวะเช่นนี้เกิดได้จากหลายปัจจัยเช่นความเค็มอุณหภูมิ ความเข้มแสงช่วงคลื่นตะกอน โลหะหนักและน้ำมันส่วนบริเวณอื่นเช่นจุดปะการังเทียมที่เดิมทีมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ชุกชุมแต่ขณะนี้สัตว์น้ำน้อยลงอย่างชัดเจนสภาพน้ำขุ่นมากจนมองไม่เห็นปะการังเทียมมีตะกอนสีเทาปกคลุมอยู่บริเวณกว้างและตะกอนทรายมีลักษณะเป็นก้อนเหนียวสีดำรวมถึงสัตว์น้ำที่เคยมีจำนวนมากอย่างหมึกก็หายไปร้อยละ80-90 ทีเดียว

เรื่องราวและภาพสะท้อนของผลกระทบที่ยังไม่เลือนหายไปของคราบน้ำมันจึงได้รับการถ่ายทอดผ่านทางนิทรรศการภาพถ่ายบนชายหาด 100 วันน้ำมันรั่ว โดยกรีนพีซและกลุ่มช่างภาพ 10 FOTOS เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นมายังคงไม่ได้รับการเยียวยา และไม่สามารถลบล้างสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพียงแค่การทำโฆษณาปิดบังความจริง ขณะนี้การต่อสู้ของเครือข่าย “กลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่ว” ยังไม่สิ้นสุดลงแต่เพียงเท่านี้อย่างแน่นอนจนกว่าบริษัทปตท. จะแสดงความรับผิดชอบอย่างแท้จริงและจริงใจ




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2556   
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2556 17:22:44 น.   
Counter : 1079 Pageviews.  


รับสมัครเยาวชน อายุ13-22 ปี เข้าร่วม “กลุ่มเยาวชนกรีนพีซ ประเทศไทย”



เปิดรับสมัครแล้วจ้า ^^  > //bit.ly/1gxF9ij <

ขอเชิญเยาวชนหัวใจสีเขียว อายุระหว่าง 13-22 ปีมาร่วมลงมือปกป้องสิ่งแวดล้อม และแจ้งเกิดร่วมเป็นหนึ่งใน “กลุ่มเยาวชนกรีนพีซประเทศไทย (Greenpeace Youth Thailand)”

16 พ.ย.นี้ ร่วมปฐมนิเทศพร้อมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้น้องๆได้ร่วมสนุกไปพร้อมๆกับเพื่อนใหม่อีกมากมาย รับสมัครตั้งแต่ วันนี้ - 13 พ.ย. นี้ เท่านั้น (ฟรี!...ตลอดงาน)

ลงทะเบียนที่นี่  //bit.ly/19pI1ay  #Youth #GreenpeaceYouth




 

Create Date : 24 ตุลาคม 2556   
Last Update : 24 ตุลาคม 2556 17:30:58 น.   
Counter : 1350 Pageviews.  


จากอาร์กติกสู่ไทย ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้อยู่แค่เพียงในอาร์กติก

การดำรงอยู่ของพวกเราล้วนเกี่ยวข้องกับอาร์กติก นอกเหนือจากจะเป็นบ้านของสัตว์นานาสายพันธุ์แล้ว ภูมิภาคนี้ยังมีบทบาทในการรักษาสภาพภูมิอากาศของโลก โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนตู้เย็นของโลกคอยรักษาระดับความเย็นของโลกทั้งใบไว้ น้ำแข็งของอาร์กติกทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนแสงอาทิตย์และความร้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ อาร์กติกยังรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศ และน้ำทะเลด้วย ถึงแม้จะอยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก หากปราศจากน้ำแข็งที่อาร์กติกแล้ว ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายจนไม่สามารถหยุดยั้งได้ แต่แทนที่บริษัทน้ำมันจะตระหนักถึงมหันตภัยที่จะเกิด กลับฉวยผลประโยชน์จากการที่น้ำแข็งละลายทำธุรกิจน้ำมัน มองข้ามสัญญาณเตือนภัยแห่งหายนะครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติและสรรพชีวิต และเดินหน้าขุดเจาะน้ำมันอันเป็นต้นเหตุของการละลายของน้ำแข็งตั้งแต่แรกเริ่ม



IPCC ย้ำมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของโลกร้อน


ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายน 2556 รายงานการประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศฉบับที่ 5 ของ IPCC (Fifth Assessment Report) ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลักของโลก  มีนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเข้าร่วมในการประมวลและสังเคราะห์รายงานดังกล่าว กว่า 800 คน  นับเป็นรายงานการประเมินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือ ที่สุดในขณะนี้ รายงานดังกล่าวย้ำและชี้ชัดว่ามนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ ทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กิจกรรมของมนุษย์นั้นรวมถึงการเสพติดและพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากเราไม่มีมาตรการอย่างเร่งด่วนและเข้มข้นในการลดการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ลง โลกเราก็จะเดินหน้าไปสู่การมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ และส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับ วิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในรูปแบบของมรสุมพายุ ปริมาณน้ำทะเลที่สูงขึ้น การกัดเซาะชายฝั่ง และสภาพอากาศที่แปรปรวนไม่ตรงตามฤดูกาล

หากโลกอุณหภูมิถึง 4 องศา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ยิ่งเสี่ยงและเปราะบางมากยิ่งขึ้น


แผนที่คาดการณ์ผลกระทบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลจากธนาคารโลก

แผนที่คาดการณ์ผลกระทบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลจากธนาคารโลก

รายงานของคณะกรรมการติดตาม ภูมิอากาศ กล่าวเตือนว่า หากรัฐบาลและทุกภาคส่วนยังขาดความร่วมมือกันในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของโลกดังที่เป็นอยู่นี้ ในปี พ.ศ.2643 อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส ข้อมูลจากธนาคารโลกได้คาดการณ์ออกมาว่า 4 องศานี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการเพิ่มขึ้นของตัวเลขอุณหภูมิ แต่หมายถึงสภาพภูมิอากาศของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ โดยรวมทั้งหมด เป็นมหันตภัยที่คุกคามประชากรโลกในระยะยาว จากแผนที่คาดการณ์ผลกระทบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส  แสดงให้เห็นว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเกษตร การประมง ปริมาณน้ำจืด ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ภาวะแล้ง และผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากอากาศร้อน คุณภาพอากาศแย่ และโรคระบาดจากแมลงพาหะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศอินโดนีเซียที่มีอาชีพประมงหล่อเลี้ยงประชากร กว่า 5 ล้านคน เกาะบอร์เนียวที่มีโอกาสเกิดไฟป่าบ่อยขึ้น ประเทศสิงคโปร์ที่อาจประสบปัญหาน้ำท่วม การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง และปัญหาปริมาณน้ำจืดเนื่องจากการรุกล้ำของน้ำเค็ม ประเทศไทยเองก็จะได้รับผลกระทบต่อการปลูกข้าว ซึ่งจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และการรุกล้ำของน้ำเค็มในพื้นที่เพาะปลูก ประเทศฟิลิปปินส์อาจต้องเผชิญกับพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้นและอาจ คร่าชีวิตประชากรจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เราได้เห็นผลกระทบบางส่วนเหล่านี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยบ้างแล้ว

โลกร้อนเกิดขึ้นจริง และชุมชนในประเทศไทยกำลังพยายามอย่างมากในการปรับตัว


สมาชิกในครอบครัวช่วยกันคัดแยกปลาสร้อยที่จับได้จากคลองตาทรัพย์ เพื่อนำไปจำหน่ายและแปรรูป
ภาพโดย รณชัย ชัยนิวัฒนา / สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ ของประเทศไทยทั้งในด้านความถี่ความรุนแรง และความแปรปรวนและผิดปกติของฤดูกาล จนกระทั่งทำให้ประชาชนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาและขึ้นอยู่กับธรรมชาติต้องสูญ เสียวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ชุมชนเหล่านี้ก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้มีความพยายามในการปรับตัวเพื่อรับมือและดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ท่ามกลางสภาพ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตัวอย่างที่เห็นชัดถึงผลกระทบและการปรับตัวสามารถพบได้ในพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน และแม้แต่ในเมืองใหญ่อย่างบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดกรุงเทพฯ รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง จังหวัดสุโขทัย และพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่นโยบายของรัฐกำลังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการปรับตัวของชุมชน เพื่อรับมือกับการแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบเหล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถคาดเดา อีกทั้งความพยายามในการปรับตัวก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก หากเรายังคงเดินหน้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และขุดเจาะน้ำมันบริเวณอาร์กติกต่อไป

พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด  ทางออกเพื่อปกป้องอาร์กติก

หายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นจริง และเป็นผลมาจากพฤติกรรมมนุษย์อย่างเราทุกคนที่กำลังพึ่งพาพลังงานสกปรกและ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของเราควรจะตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นและที่จะเกิดขึ้นอีกต่อประเทศไทยและ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เด่นชัดนี้ รายงานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆที่ออกมาล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังก้าว มาสู่จุดที่โลกอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้อีก และเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จริงจัง และเข้มข้น เพื่อเยียวยาสภาพภูมิอากาศเสียที และหันไปสู่ทางออกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างการใช้พลังงานหมุนเวียน ยุติการเผาไหม้พลังงานสกปรก ที่เป็นตัวการทำให้น้ำแข็งละลายส่งผลกระทบต่ออาร์กติก 

พลังงานหมุนเวียนเป็นทางออกเดียวที่เราจะสามารถปกป้องอาร์กติก และหลีกเลี่ยงมหันตภัยจากโลกร้อนได้ เพื่อความอยู่รอดของทุกคน


เผยแพร่ครั้งแรกที่ //www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/arctic-impacts/from-arctic-to-thai/

เรื่องต่อ

คลองซอย : ชุมชนและการปรับตัวในพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่าง
หรือ ที่นี่ , ที่นี่ ,ที่นี่ ,ที่นี่
บางระกำ : นโยบายรัฐยังเป็นเส้นขนานกับการปรับตัวของชุมชน หรือ ที่นี่ , ที่นี่ ,ที่นี่ ,ที่นี่




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2556   
Last Update : 10 ตุลาคม 2556 11:56:30 น.   
Counter : 1453 Pageviews.  


บางระกำ : นโยบายรัฐยังเป็นเส้นขนานกับการปรับตัวของชุมชน

เรื่องโดย ณัฐวุฒิ อุปปะ / CAN Thailand มูลนิธิคนเพียงไพร

“ภาวะโลกร้อน” คำที่เริ่มคุ้นหูมากขึ้นในสังคมไทย ที่มาพร้อมๆกับการรณรงค์ปิดไฟคนละดวงปรากฏการณ์แจกถุงผ้าที่เสมือนว่าถุงผ้าเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งที่จริงในทางปฏิบัติยังไม่มีรูปธรรมในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชน อีกทั้งยังละเลยการพูดถึงสาเหตุและผลกระทบที่แท้จริงด้วย คำว่าโลกร้อนจึงยังคงเป็นเพียงคำสวยงามเอาไว้ต่อท้ายกิจกรรมต่างๆที่แทบจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหรือการลดผลกระทบ เสมือนว่าทำกิจกรรมอะไรก็ได้แล้วพ่วงท้ายคำว่า “ลดโลกร้อน” เข้าไปเท่านั้น

แม้ยังไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า “โลกร้อน” มีผลโดยตรงกับชุมชนอย่างไรบ้าง แต่ในด้านชุมชน โดยเฉพาะภาคการเกษตร มีความเชื่อร่วมกันในสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความคลาดเคลื่อนของฤดูกาล ระดับความรุนแรงและความถี่ของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบกับการทำมาหากิน ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน โดยเฉพาะหลังจากเกิดมหาภัยพิบัติปี 2554 ที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับพื้นที่ทำการเกษตร

จากสิ่งที่เคยเป็น เคยรับรู้และคาดการณ์ได้กลับกลายเป็น “เกิดมาเพิ่งเคยเจอ” และตอบไม่ได้ว่าจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น คือสิ่งที่ชุมชนภาคการเกษตร โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในภาคเหนือล่างพบเจอในระยะหลัง วิถีของชาวนาที่นี่พึ่งน้ำฝนน้ำธรรมชาติเป็นปัจจัยหลักในการผลิต และจากการที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ตกมากขึ้น ตกน้อยลงในแต่ละพื้นที่ หรือการเพิ่มมากขึ้นของแมลงศัตรูพืช จึงพยายามแสวงหาแนวทางอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบของ ผลผลิตที่เป็นเศรษฐกิจหลักของครอบครัว

การเกี่ยวข้าวเขียวใส่เรือ นำไปขายเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ ในกรณีที่น้ำเข้าท่วมพื้นที่ก่อนเวลาการเก็บเกี่ยว พื้นที่อำเภอบางระกำ
ภาพโดย ณัฐวุฒิ อุปปะ / CAN Thailand มูลนิธิคนเพียงไพร


กรณีตัวอย่างชาวนาอำเภอบางระกำที่มีน้ำท่วมปกติในช่วงปลายเดือนสิงหาคม แต่ในปี 2554 น้ำเข้าท่วมในพื้นที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ชาวนาจึงปรับตัวโดยการเก็บเกี่ยวข้าวเขียว[1] และขายเพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ หรือการผันน้ำไปยังนาที่เก็บเกี่ยวแล้วเพื่อประวิงเวลาให้รอให้ข้าวที่อยู่ ในอีกแปลงหนึ่งเหลืองก่อน เป็นต้น

การผันน้ำไปยังนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อรอให้ข้าวในนาอีกแปลงหนึ่งเหลืองก่อน
ภาพโดย ณัฐวุฒิ อุปปะ / CAN Thailand มูลนิธิคนเพียงไพร


นอกจากนี้ ชาวนาที่อำเภอบางระกำยังได้พยายามปรับรอบการผลิตให้เร็วขึ้นเพื่อให้ทันเก็บ เกี่ยวก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้วย แต่หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญคือ แนวนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐซึ่งกำหนดช่วงเวลาปฏิทินการปลูกและการรับจำนำ ข้าวที่ไม่สอดคล้องกับการแนวทางการปรับตัวของชุมชน

กรณีตัวอย่างการปรับตัวของชาวนาและนโยบายที่เป็นอุปสรรคและข้อเสนอของชุมชนอำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก

ข้อเสนอของชุมชนคือการปรับนโยบายทั้งในส่วนของปฏิทินการปลูกข้าวและการ เปิดรอบการรับจำนำเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับตัวตามรอบการผลิตของชุมชน แทนการประกาศแบบเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ชุมชนจะสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงการสนับสนุนของรัฐบาล ลดทอนศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติของชุมชน และจะทำให้ชาวนาจำเป็นต้องขายข้าวให้กับโรงสีเอกชนในที่สุด แม้จะถูกเอาเปรียบด้านราคา แต่ก็ต้องขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้และเป็นทุนในการผลิตรอบต่อไป

ในขณะที่ชุมชนพยายามปรับตัวเพื่อ “รับมือ” กับภัยพิบัติที่ชุมชนเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศหรือภาวะโลกร้อน ฝ่ายนโยบายกลับมองมิติการเอาชนะธรรมชาติผ่านกิจกรรมการ “จัดการ” ภัยพิบัติและไม่ได้กล่าวถึงภาวะโลกร้อนในแผนงานการแก้ปัญหา โดยเฉพาะแผนงานจัดการภัยพิบัติภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้านที่ยังมุ่งเน้นการจัดการในมิติการพัฒนาเชิงโครงสร้างและเป็นไปใน แนวทาง “สู้กับน้ำ” บนฐานคิดการผลักดันน้ำที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคการเกษตรให้ลงทะเล เร็วที่สุด ซึ่งแทบทุกพื้นที่แม้เป็นที่ประสบภัยน้ำท่วมแต่เมื่อน้ำลดกลับประกาศเป็น พื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งทันที แสดงให้เห็นถึงโจทย์ในการแก้ไขของรัฐยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยังวนเวียนอยู่แค่ว่าท่วมหรือไม่ท่วมเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะไม่มีมิติการสนับสนุนชุมชนที่ปรับตัวอยู่กับน้ำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการเพิ่มศักยภาพการปรับตัวของชุมชน อีกด้วย

อีกบทเรียนหนึ่งที่ฝ่ายนโยบายและสังคมต้องทบทวนคือ การเสริมพนังกั้นน้ำปกป้องเพียงเขตเศรษฐกิจซึ่งเป็นการเปลี่ยนทางน้ำและลด พื้นที่รับน้ำลง ส่งผลให้เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นจะทำให้ปริมาณน้ำสูงกว่าระดับปกติตามความสูง ของผนังกั้นน้ำ ส่งผลให้น้ำมีแรงดันเพิ่มขึ้นพร้อมที่จะทลายพนังกั้นในจุดที่ไม่แข็งแรงได้ ตลอดเวลา ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2554 ที่ผ่านมาดังกรณีตัวเมืองนครสวรรค์และปี 2555 ที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งหลังจากผนังกั้นน้ำพังก็เกิดความเสียหายมากมายตามมาอย่างที่ปรากฏในภาพ ข่าว นอกจากนี้การสร้างพนังปิดล้อมเฉพาะเขตเศรษฐกิจนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกพนังกันน้ำ มีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบภัยพิบัติที่เร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับพื้นที่การเกษตรของชุมชนที่จะต้องตั้งรับทั้ง จากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและการดำเนินนโยบายที่ยังมองเกษตรกรเป็น พลเมืองชั้นสองของรัฐบาล

จากแผนงานและแนวนโยบายทำให้พอจะเห็นทิศทางที่ยังไม่ปรับตามเงื่อนไขและ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แผนงานของรัฐบาลทั้งในการเตรียมพร้อม รับมือ และฟื้นฟูเยียวยา นอกจากจะขาดการส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการปรับตัวของชุมชน และไม่ได้นำประเด็นการปรับตัวของชุมชนไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนกำหนดนโยบาย แล้ว ยังเป็นแผนงานที่สร้างอุปสรรคต่อความสามารถในการรับมือและปรับตัวของชุมชน อีกด้วย ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงในการกำหนดนโยบายภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่โจทย์ใหญ่ของการกำหนดทิศทางนโยบายจะต้องมีมากกว่าการสู้ แบบไร้ทิศทางไม่มีที่สิ้นสุด และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้อยู่ได้ดีที่สุดภายใต้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น



[1] เป็นการเก็บเกี่ยวข้าวที่ยังไม่เหลือง หากไม่เก็บเกี่ยวข้าวเขียวทันที เมื่อน้ำท่วมก็อาจจะเสียหายทั้งหมด ข้าวเขียวจะมีราคาเกวียนละประมาณ 3,000-4,000 บาท หากน้ำมาหลังจากนี้ 10-12 วัน ก็จะสามารถเกี่ยวข้าวเหลืองได้ ซึ่งก็จะขายได้ราคาเกวียนละ 10,000-11,500 บาท

อ่านตอนก่อนหน้า: จากอาร์กติกสู่ไทย ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้อยู่แค่เพียงในอาร์กติก
อ่านเพิ่มเติม:จากอาร์กติกสู่ไทย คลองซอย : ชุมชนและการปรับตัวในพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่าง

เผยแพร่ครั้งแรกที่//www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/arctic-impacts/from-arctic-to-thai/government-policy-vs-community-adaptation/




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2556   
Last Update : 10 ตุลาคม 2556 11:59:26 น.   
Counter : 1879 Pageviews.  


จากอาร์กติกสู่ไทย คลองซอย : ชุมชนและการปรับตัวในพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่าง

เรื่องโดย รณชัย ชัยนิวัฒนา / สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน


วิถีของผู้คนและชุมชนในที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่างในแถบพื้นที่ของจังหวัด สุโขทัย ส่วนมากดำรงชีวิตอยู่กับการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำไร่ ทำนา ซึ่งต้องอิงกับธรรมชาติและอาศัยน้ำจากแม่น้ำยมในการดำรงชีวิต เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่ราบลุ่มน้ำแห่งนี้ ด้วยสภาพภูมิประเทศของจังหวัดสุโขทัยที่ลาดชันมาจากทางทิศเหนือ แม่น้ำยมจะไหลเข้าสู่เขตพื้นที่ของอำเภอศรีสัชนาลัย และลดระดับความลาดชันลงสู่ที่ราบลุ่ม ในเขตอำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมือง อำเภอกงไกรลาศ ก่อนที่จะเข้าสู่เขตอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกในที่สุด

ในพื้นที่ราบลุ่มน้ำยม เขตอำเภอเมืองจังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ของตำบลยางซ้าย และตำบลบ้านหลุม เป็นที่ราบลุ่มน้ำ ชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม การทำไร่ ทำนา อาศัยน้ำจากแม่น้ำยมเป็นหลัก ในฤดูฝน ฤดูน้ำหลาก น้ำจะหลากจากน้ำยมเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรมกระจายเป็นวง กว้าง แต่ในช่วงฤดูแล้งกลับขาดแคลนน้ำ ในช่วง ๕-๗ ปีที่ผ่านมา ชุมชนเริ่มสังเกตเห็นถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนของธรรมชาติที่ ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคลาดเคลื่อนของฤดูกาล ฤดูฝนและฤดูแล้งที่ยาวนานมากขึ้น วิถีของธรรมชาติเช่นนี้  ส่งผลให้ชุมชนต้องมีการปรับตัวเพื่อที่จะอยู่กับสายน้ำและดำรงชีวิตอยู่ให้ ได้

คลองซอยในพื้นที่ตำบลบ้านหลุม

คลองซอยในพื้นที่ตำบลบ้านหลุม
ภาพโดย รณชัย ชัยนิวัฒนา / สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน

เมื่อน้ำยมไหลหลากเข้าพื้นที่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ฝนแรกจะพัดพาหน้าดินภูเขาที่อยู่ในเขตต้นน้ำทางเหนือเข้าสู่พื้นที่ ชาวบ้านจะเรียกว่า น้ำแดง โดยสายน้ำจะไหลเข้าสู่คลองสายหลัก คือ คลองบ้านหลุม และไหลเอ่อเข้าสู่คลองสาขา เช่น คลองกง คลองวังแดง เป็นต้น และสุดท้ายจะระบาดกระจายเข้าสู่ท้องทุ่งนา เปลี่ยนผืนนาเป็นบึงขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยน้ำสีสนิมแดง และด้วยสภาพที่เกิดจากการกระทำของธรรมชาติดังกล่าว ชุมชนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เมื่อไม่สามารถทำไร่ ทำนาได้ การออกหาปลา คือ ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะธรรมชาติไม่ได้นำเพียงแค่สายน้ำมาอย่างเดียว แต่ยังได้นำฝูงปลาจำนวนมากตามมาด้วย ปลาเข้าทุ่ง คือสิ่งที่ชุมชนเรียกขาน ภาพที่ชินตาในช่วงระยะเวลานี้ คือ ผู้คนจำนวนมากทั้งคนพื้นที่ ไม่ว่าตำบลยางซ้าย ตำบลบ้านหลุม รวมทั้งคนจากพื้นที่อื่นๆออกหาปลา จับปลากันเป็นจำนวนมาก บางส่วนนำไปบริโภค บางส่วนนำไปจำหน่าย แต่คนในพื้นถิ่นแถบนี้ จะบริโภคปลาในช่วงน้ำแดงน้อย เนื่องจากเห็นว่า รสชาติไม่อร่อย ปลาไม่มัน มีกลิ่นคาว กลิ่นดิน แตกต่างจากปลาน้ำอื่นๆ ระยะนี้จะกินเวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์ จนน้ำหลากค่อยๆลดระดับลง ชุมชนจะเข้าสู่ฤดูแห่งการทำนา สภาพที่เกิดขึ้น คือ พื้นที่นาบางส่วนเป็นพื้นที่ต่ำ แอ่งกระทะ ในบางปีปริมาณน้ำอาจสูงถึง ๓ เมตร จนไม่สามารถทำนาได้ การหาทางออก หรือการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์นี้ คือ


ปลาสร้อยจำนวนมากที่จับได้ในคลองซอย (คลองตาทรัพย์) ในพื้นที่ตำบลยางซ้าย

ปลาสร้อยจำนวนมากที่จับได้ในคลองซอย (คลองตาทรัพย์) ในพื้นที่ตำบลยางซ้าย
ภาพโดย รณชัย ชัยนิวัฒนา / สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน

ต้องหาทางระบายน้ำออก และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การขุดคลองขนาดเล็ก หรือที่ชุมชนเรียกว่า คลองขุด คลองหน้านา หรือคลองซอย โดยจะเริ่มขุดตามความลึกของเครื่องมือที่มี เช่น จอบ เสียม คือประมาณ ยาว ๑ เมตร กว้าง ๑ เมตร ความยาวในช่วงแรกเริ่มจะไม่มาก และจะใช้แรงงานในครอบครัว ทั้งหญิงชายเป็นหลัก จะค่อยๆขุด ไม่ได้ขุดเสร็จในคราวเดียว ความกว้างและความยาวของคลองซอยจะขยายออกไปทุกปีจนสุดพื้นที่นาของตน แต่ละคลองซอยจะมีชื่อเรียกตามเจ้าของนา ปริมาณน้ำจะไหลออกจากพื้นที่นาเข้าสู่คลองสาขาและลงสู่แม่น้ำยมในที่สุด เดือนพฤศจิกายน ข้าวในทุ่งนาก็จะเก็บเกี่ยว และปลาที่มากับ ฤดูน้ำแดง ที่อาศัยอยู่ในท้องนาก็จะถูกจับมาบริโภค คนสมัยก่อนเรียกช่วงนี้ว่า ข้าวใหม่ปลามัน และเมื่อผ่านฤดูเก็บเกี่ยวเข้าสู่ฤดูแล้งประมาณกลางเดือนมกราคม ชุมชนจะเริ่มปรับการผลิต หันมาปลูกยาสูบ โดยดึงน้ำจากลุ่มน้ำยมเข้าคลองซอยต่างๆ ของตนที่ขุดไว้ ผลประโยชน์จากคลองซอยนอกเหนือจากการใช้น้ำแล้ว ผลพลอยได้ คือ ปริมาณปลาจำนวนมากที่มากับฤดูน้ำแดงและอาศัยอยู่ในพื้นที่นาเพื่อวางไข่ ก็จะพยายามว่ายออกจากผืนท้องนาในช่วงหน้าแล้ง กลับสู่แม่น้ำยมผ่านทางคลองซอย โดยเฉพาะปลาสร้อยที่มีปริมาณมาก สามารถนำไปจำหน่าย แปรรูปเป็นปลาร้า น้ำปลา เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญเป็นอันดับสองให้กับชุมชนรองจากการทำนา ในบางปีเจ้าของคลองซอยมีรายได้จากการจับปลาจนสามารถนำไปเป็นทุนทำนาในปีต่อไปได้

สมาชิกในครอบครัวช่วยกันคัดแยกปลาสร้อยที่จับได้จากคลองตาทรัพย์ เพื่อนำไปจำหน่ายและแปรรูป

สมาชิกในครอบครัวช่วยกันคัดแยกปลาสร้อยที่จับได้จากคลองตาทรัพย์ เพื่อนำไปจำหน่ายและแปรรูป
ภาพโดย รณชัย ชัยนิวัฒนา / สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน

คลองซอย
จึงถือได้ว่าเป็นการปรับตัวของคนในพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่าง ที่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันตำบลยางซ้ายมีคลองซอย ๒๖ แห่ง ตำบลบ้านหลุมมีคลองซอย ๘ แห่ง รวมกันแล้วมีจำนวนคลองซอยมากที่สุดในแถบลุ่มน้ำยมตอนล่าง นับเป็นรูปธรรมด้านการปรับตัวของชุมชนที่เกิดขึ้นจริง เป็นสิ่งที่ชุมชนคิดขึ้นเอง ปรับและพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องและตอบสนองกับสภาพที่ดำรงอยู่ สภาพพื้นที่ วิถีการผลิต และสภาพเศรษฐกิจ คือสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลาก และใช้น้ำในช่วงหน้าแล้ง อีกทั้งยังมีรายได้จากการหาปลาในพื้นที่คลองซอยของตนเอง คลองซอย จึงถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของชุมชนในพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่างได้เป็นอย่างดี

ตอนก่อนหน้า: จากอาร์กติกสู่ไทย ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้อยู่แค่เพียงในอาร์กติก
อ่านต่อ: บางระกำ นโยบายรัฐยังเป็นเส้นขนานกับการปรับตัวของชุมชน


เผยแพร่ครั้งแรกที่ //www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/arctic-impacts/from-arctic-to-thai/community-adaptation-on-water-management/




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2556   
Last Update : 10 ตุลาคม 2556 12:07:13 น.   
Counter : 1658 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com