กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

น้ำมันปาล์ม: ใครคือผู้ทำลายป่า

เขียน โดย Annisa Rahmawati

น้ำมันปาล์มที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแบรนด์ดังทั่วโลกนั้น “สะอาด” แค่ไหน? ขณะนี้กรีนพีซกำลังเผยผลจากการสำรวจว่าบริษัทต่างๆ กำลังทำตามสัญญาที่จะหยุดยั้งการทำลายป่าไม้ในประเทศอินโดนีเซียเพื่อปาล์มน้ำมัน ลองมาดูกันสิว่าแต่ละบริษัททำได้ดีแค่ไหน และใครยังคงล้าหลัง

ไฟป่าที่กาลิมันตันตะวันตก เมื่อเดือนกันยายน 2558

ไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดของศตวรรษได้เกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยได้เผาผลาญผืนป่าฝนเขตร้อนและป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์บนพื้นที่หลายล้านเฮคตาร์จนเหลือเพียงเถ้าถ่าน และในผืนป่าแห่งนี้เองเป็นบ้านหลังสุดท้ายของอุรังอุตังซึ่งพบในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น

ปัญหาไฟป่าในประเทศอินโดนีเซียอาจฟังดูเป็นประเด็นที่ไกลตัว แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจของกรีนพีซได้เผยว่าผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและห้องน้ำที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมีส่วนโดยตรงกับการทำลายป่าฝนเขตร้อนของประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากควันมลพิษแล้ว เด็กๆ ในกาลิมันตันก็ยังคงเล่นกันโดยไม่มีการป้องกันมลพิษ ปัญหาไฟป่าอินโดนีเซียนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวอินโดนีเซียหลายล้านคน ทำให้เกิดโรคทางปอดและหัวใจ และทำให้เด็กทารกแรกเกิดมีสุขภาพอ่อนแอ

สำหรับคนทั่วไปแล้ว การเป็นส่วนหนึ่งของทางออกนั้นไม่ง่ายดายเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงนิสัยการช้อปปิ้ง น้ำมันปาล์มนั้นอยู่ในส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในขนม Doritos ยาสีฟัน Colgate หรือสบู่เด็ก Johnson & Johnson น้ำมันปาล์มนั้นแทรกอยู่ในผลิตภัณฑ์จำนวนมากจนยากที่จะเลี่ยงได้ และถึงแม้จะเลี่ยงได้น้ำมันปาล์มก็ยังไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการทำลายป่า แต่สิ่งเดียวที่จะหยุดยั้งปัญหานี้ก็ต่อเมื่อบริษัทต่างๆ รับผิดชอบต่อน้ำมันปาล์มที่ตนเลือกซื้อ

เศษซากที่หลงเหลือของป่าพรุที่ถูกเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่เตรียมปลูกปาล์มน้ำมัน (ปี 2549)

ต้นอ่อนปาล์มน้ำมันบนพื้นที่ป่าพรุ (2553)

ที่ผ่านมาหลายแสนคนจากทั่วโลกได้ออกมารณรงค์ร่วมกับกรีนพีซ ส่งเสียงไปยังบริษัทผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง และด้วยพลังมวลชนที่ร่วมกันผลักดัน หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใช้น้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์ปกป้องป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซียแล้ว

จากนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อสองปีที่ผ่านมา บริษัทแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Mars, Mondelez และ Procter & Gamble ได้เข้าร่วมกับงานรณรงค์ของเรา ซึ่งแบรนด์ดังต่างๆ ก็เห็นด้วยและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำลายป่าอันอุดมสมบูรณ์ของเรานั้นจะต้องหยุดเสียที

ข่าวดียังไม่หมดเพียงเท่านี้ การที่บริษัทต่างๆ ที่มีอำนาจในการซื้อสูงได้ออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันได้สร้างแรงกดดันกับบริษัทผู้ผลิต ซึ่งบริษัทอย่าง Wilmar International และ Golden Agri Resources ที่ชื่ออาจไม่ได้คุ้นหูนัก แต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และด้วยเหตุนี้การที่บริษัทเหล่านี้ออกมาร่วมมุ่งมั่นหยุดการทำลายป่านั้นคือข่าวที่น่ายินดีมาก

นักกิจกรรมกางป้ายผ้าบนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าในกาลิมันตันกลาง

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง คือการได้เห็นผลลัพธ์จริง คือ การปกป้องป่าไม้ อุรังอุตังมีความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงหยุดยั้งการทำลายป่าและไฟป่าได้ และนั่นคือเหตุผลที่เราอยากแน่ใจว่าบริษัทเหล่านี้รักษาคำมั่นอย่างจริงจัง

ดังนั้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กรีนพีซได้ติดต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ 14 แห่ง เพื่อติดตามว่าได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง และสิ่งที่เราได้คำตอบมานั้นค่อนข้างน่าตกใจ มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่มีความก้าวหน้าที่สามารถยืนยันได้ว่าน้ำมันปาล์มในห่วงโซ่อุปทานของตนไม่เชื่อมโยงกับการทำลายป่า แต่ส่วนใหญ่นั้นยังลงมือช้าเกินไป ดูเหมือนว่าบางบริษัทอาจคิดว่าการแสดงเจตนารมณ์นั้นง่าย แต่การรักษาคำมั่นนั่นไม่ง่ายนัก อ่านข้อมูลในรายงานเพิ่มเติมที่นี่

สถานที่เกิดเหตุอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม:  เศษซากที่หลงเหลือของพื้นที่ป่าไม้และป่าพรุที่ถูกเผา และได้ลงเมล็ดปาล์มน้ำมันไว้แล้ว

ในบรรดาบริษัทที่เราสอบถามข้อมูล มี Colgate-Palmolive, Johnson & Johnson และ PepsiCo ที่มีการปฏิบัติด้อยที่สุด และยังล้มเหลวในการรักษาคำมั่น “ไม่ทำลายป่า” ที่ให้ไว้กับผู้บริโภคและลูกค้าของตน 

เรารออีกไม่ได้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าอัตราการทำลายป่าในประเทศอินโดนีเซียนั้นกำลังสูงขึ้น แทนที่จะลดลง แล้วเหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 เดือนที่แล้วล่ะ? นั่นอาจจะเกิดขึ้นอีกภายในไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้

อุตัง ลิงอุรังอุตังวัย 7 เดือนที่ถูกช่วยเหลือจากไฟป่า

อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยังเป็นต้นเหตุหลักของการทำลายป่าที่เกิดขึ้น ทั้งที่ปาล์มน้ำมันนั้นสามารถผลิตขึ้นได้อย่างรับผิดชอบ ขณะนี้กรีนพีซมีโครงการร่วมกับชุมชนที่ Dosan เกาะสุมาตรา ผลิตน้ำมันปาล์มอย่างรับผิดชอบและร่วมกันฟื้นฟูป่าฝนเขตร้อน และยังมีโครงการดีๆ เช่นนี้ในประเทศอินโดนีเซียอีกมากที่ต้องการการสนับสนุน

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่บริษัทเหล่านี้จะก้าวออกมาและลงมือเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงการให้คำมั่นลอยๆ ร่วมกันเรียกร้องให้แบรนด์ดังต่างๆ ลงมือทำอย่างแท้จริง ที่นี่

อ่านรายงานผลการสำรวจการดำเนินการในแต่ละแบรนด์ได้ที่นี่


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 07 มีนาคม 2559   
Last Update : 7 มีนาคม 2559 16:53:49 น.   
Counter : 780 Pageviews.  


2558 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก

เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

นักวิทยาศาสตร์ได้เผยว่าปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ร้อนที่สุดที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2423โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น 0.9 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกครั้งที่สถิติของปีที่แล้วถูกทำลายไป ไม่ใช่เพียงแค่อากาศเท่านั้นที่ร้อนขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนเป็นวิกฤตสุดขั้วไปทั่วโลก แม้ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้นมาจากกิจกรรมของมนุษย์และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นี่คือข้อพิสูจน์ว่าผลกระทบที่เป็นอันตรายจากวิกฤตโลกร้อนได้เกิดขึ้นแล้ว และหากเราไม่ร่วมกันลงมือต่อกรกับภัยคุกคามนี้อย่างจริงจัง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายขึ้นจนไม่อาจย้อนกลับได้

ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี โดยเป็นการวัดจากอุณหภูมิภาคพื้นดินและพื้นผิวมหาสมุทร ในช่วง 136 ปี โดย 16 ปีที่ร้อนที่สุดนั้นอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 21 ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Bloomberg.com ดูภาพอนิเมชันที่นี่

ภัยแล้งอันยาวนาน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น มหาวาตภัยที่รุนแรง การขาดแคลนน้ำและอาหาร สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น อุณหภูมิ 0.9 องศาเซลเซียส ที่ร้อนขึ้นนั้นอาจฟังดูไม่สูงมาก แต่ถือเป็นระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นในลักษณะก้าวกระโดด โดยหน่วยงานระดับโลก อย่างเช่น องค์การนาซา (NASA)องค์กรบริหารด้านมหาสมุทรและบรรยากาศของสหรัฐอเมริกา National Oceanic and Atmospheric Administration [NOAA]สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency) และสำนักอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร ได้สรุปข้อมูลออกมาพ้องต้องกันว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อปี 2558 นั้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยข้อมูลจาก NOAA ระบุไว้ว่าเดือนธันวาคม 2558 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด

10 วิกฤตการณ์สำคัญจากสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปี 2558

จากข้อมูลของ NOAA มีเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกและส่งผลกระทบไปทั่วโลก คือ

1. ปริมาณน้ำแข็งอาร์กติกลดเหลือปริมาณน้อยสุดในช่วงเวลาที่ควรขยายตัวมากที่สุดของปี และในช่วงฤดูร้อนก็ลดเหลือปริมาณน้อยที่สุดเป็นอันดับสี่ในประวัติศาสตร์ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.9 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ผ่านมา

2. ทั่วทวีปเอเชียเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนกว่าปกติ โดยประเทศจีนช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคมเป็นช่วงที่ร้อนที่สุด และฮ่องกงในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม

3. ฝนตกหนักในประเทศจีนช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมทำให้เกิดอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อ 75 ล้านคน โดยทางใต้ของประเทศจีนเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับฝนมากที่สุดในเดือนพฤษภาคมในรอบ 40 ปี

4. มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นมากกว่าระดับปกติ โดยมีพายุไต้ฝุ่นทั้งสิ้น 21 ครั้ง และพายุ 28 ครั้งตลอดทั้งปี

5. ทวีปยุโรปเผชิญกับปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยร้อนที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ (อันดับหนึ่งคือปี 2557)

6. อินเดียต้องต่อกรกับคลื่นความร้อนในช่วง 21 พฤษภาคม-10 มิถุนายน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส และบางพื้นที่สูงเกิน 48 องศาเซลเซียส

7.พายุหมุนเขตร้อนชาปาลาในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน เป็นพายุหมุนหมุนเขตร้อนที่มีความแรงระดับ 4 พัดถล่มเกาะของประเทศเยเมน และเป็นครั้งแรกที่ทำให้เกิดดินถล่ม

8. ประเทศชิลีในช่วงเดือนมกราคม ปี 2558 เป็นเดือนมกราคมที่แล้งที่สุดในช่วง 50 ปี

9. พายุเฮอร์ริเคนแซนดรา ในช่วง 23-28 พฤศจิกายน ความรุนแรงระดับ 3 เป็นเฮอร์ริเคนที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือฝั่งตะวันออก ตั้งแต่บันทึกสถิติไว้เมื่อปี 2514

10. ช่วงกรกฎาคม 2557-มิถุนายน 2558 เป็นช่วงที่แล้งที่สุดของทวีปแอฟริกาใต้ตั้งแต่ปี 2534/2535

ภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญต่อเนื่องจากปีที่แล้ว คืออีกหนึ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เด่นชัดที่สุดที่ไทยกำลังเผชิญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และทุกสรรพชีวิตทั่วทุกมุมโลก นี่คือสัญญาณเตือนครั้งสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายในระดับประเทศไม่ควรละเลย ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิของเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 2 องศาเซลเซียส(เทียบกับระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม) มุ่งสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและกระจายศูนย์แทนระบบพลังงานที่สกปรกและเป็นอันตรายอย่าง ถ่านหินและนิวเคลียร์


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/2558/blog/55735




 

Create Date : 07 มีนาคม 2559   
Last Update : 7 มีนาคม 2559 16:18:00 น.   
Counter : 4235 Pageviews.  


ห้าปีแล้ว วิกฤตฟุกุชิมะยังไม่สิ้น

เขียน โดย Shaun Burnie

เมื่อห้าปีก่อน เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ล่องเลียบชายฝั่งฟุกุชิมะ เพื่อเก็บตัวอย่างการปนเปื้อนรังสี เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ได้กลับมาที่นี่อีกครั้งพร้อมอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น

เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ แล่นผ่านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ได้รับความเสียหาย

สกอตแลนด์อยู่ห่างจากญี่ปุ่น 9,000 กิโลเมตร แต่ทั้งสองประเทศมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันตามแนวชายฝั่งทะเลของสกอตแลนด์ คุณสามารถพบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีที่มาจากอีกฟากหนึ่งของโลกในระดับที่มีนัยสำคัญในท้องแม่น้ำและในทะเลไอริช  และนั่นคือ การปนเปื้อนกัมมันตรังสี ทั้งหมดมาจากญี่ปุ่น

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โรงงานแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เซลลาฟิลด์ ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ ทำการแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่มีความเข้มข้นระดับสูงจากเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น กากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วมากกว่า 4,000 ตัน รวมทั้งกากนิวเคลียร์จากบริษัทโตเกียวอิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ เทปโก้ เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ จะถูกส่งจากญี่ปุ่นมาที่โรงงานแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่เซลลาฟิลด์ ผลของการแปรรูปกากนิวเคลียร์ที่เซลลาฟิลด์คือ กากกัมมันตรังสีระดับต่ำมากกว่า 8 ล้านลิตร ถูกทิ้งลงในมหาสมุทร ทุกวัน รับรู้กันว่า โรงงานแปรรูปที่เซลลาฟิลด์แห่งนี้ เป็นสถานที่อันตรายที่สุดในยุโรป ด้วยระดับการปนเปื้อนบนพื้น ดิน และปากแม่น้ำหลายแห่งอยู่ในระดับที่สามารถให้คำจำกัดความได้ว่า เป็นเขตหายนะภัยนิวเคลียร์ ข้อเท็จจริงก็คือ ทะเลไอริชเป็นทะเลที่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีมากที่สุดในโลก ไปแล้ว

โรงงานแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่เชลลาฟิลด์

วันครบรอบห้าปีแห่งหายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ใกล้เข้ามาทุกที และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนหรืออยู่ห่างออกไปไกลเพียงใด พลังงานนิวเคลียร์ล้วนส่งผลกระทบทั้งต่อระดับชุมชนและระดับโลก

ผมยังจำข่าวของวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้ดี ผมอยู่ที่บ้านในสกอตแลนด์ และไม่ได้รู้สึกเกี่ยวข้องใดๆกับคนญี่ปุ่น แต่การทำงานรณรงค์ยุติพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นกับกรีนพีซตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้ในทันทีถึงอุบัติภัย สื่อมวลชนติดต่อขอสัมภาษณ์ในทันที ผมออกอากาศสดกับบีบีซี เวิร์ลด์นิวส์ ในช่วงกลางๆของการสัมภาษณ์ ผมพูดถึงภัยคุกคามที่ฟุกุชิมะ และข่าวการระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวที่ 3 ก็แทรกเข้ามา

ภาพดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ตัวที่ 1 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554

กรีนพีซญี่ปุ่นส่งทีมงานไปที่ศูนย์อพยพฟุกุชิมะ เพื่อทำการทดสอบที่เป็นอิสระถึงระดับกัมมันตรังสี และ นักวิจัยนำเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ ที่ต้องใส่ชุดป้องกันรังสีตั้งแต่หัวจรดเท้า ออกเก็บตัวอย่างสาหร่ายที่ลอยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาทดสอบ ผลที่ได้ก็ตามที่เราคาดไว้ คือมีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีระดับสูง เรายังพบการแพร่กระจายของรังสีในบริเวณกว้าง ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ที่จะกลับเข้าไปอยู่ในเขตฟุกุชิมะ

ทีมตรวจสอบกัมมันตรังสีของกรีนพีซ ลงพื้นที่ตรวจสอบสาหร่ายทะเลตามแนวชายฝั่งฟุกุชิมะ

เกือบห้าปีหลังจากนั้น ผมอยู่บนเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ที่ญี่ปุ่นอีกครั้งพร้อมกับนายนาโอโตะ คัง อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ผู้ต่อต้านนิวเคลียร์ที่มีชื่อเสียง เรารู้สึกเป็นเกียรติและเป็นโอกาสพิเศษที่ได้ฟังอดีตนายกรัฐมนตรี เล่าให้ฟังถึงชั่วโมงและวันแรกๆของอุบัติภัยนิวเคลียร์ในเดือนมีนาคม 2554 และทางเราได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาครั้งนั้นด้วยงานวิจัยของกรีนพีซ ขณะที่เราล่องเรือในระยะ 2 กิโลเมตรใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ความรู้สึกอวลด้วยความคิดคำนึงและความเหนือจริง   เมื่อมองจากดาดฟ้าเรือ เราจะเห็นถังเหล็กหลายใบบรรจุน้ำที่ปนเปื้อนหลายหมื่นตัน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สี่ตัวมีอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นชั่วคราวครอบไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่บรรยากาศ และในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เองก็มีแท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายแล้วอีกหลายร้อยตันบรรจุอยู่ โดยที่ยังไม่มีแผนการที่น่าเชื่อถือใดๆ ที่จะจัดการกับมัน

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ มองเห็นจากเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ 

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์มาที่นี่

เรือวิจัยของกรีนพีซญี่ปุ่น กำลังดำเนินการสำรวจการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีใต้ทะเลในรัศมี 20 กิโลเมตรโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ  โดยมีเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ เป็นเรือปฏิบัติการรณรงค์ การที่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่อยู่ใกล้บ้านผมในสกอตแลนด์นั้น กรีนพีซมุ่งที่จะทำความเข้าใจต่อไปในเรื่องผลกระทบและภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะจากอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ


สำหรับนายนาโอโตะ คัง ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลญี่ปุ่นขณะเกิดหายนะภัยขึ้น การเดินทางสำรวจครั้งนี้ถือเป็นภารกิจส่วนตัวพอๆกับภารกิจทางการเมือง ในปี 2554 นายนาโอโตะ เคยพูดต่อสาธารณชนเรื่องการต่อต้านอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เป็นกระบอกเสียงให้ชาวญี่ปุ่นหลายล้านคนที่ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต่างจากปัจจุบัน ที่รัฐบาลของนายอาเบะ ที่ “ทำหูทวนลม” พยายามอย่างเต็มที่จะรักษาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไว้ให้ได้ท่ามกลางวิกฤต แม้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะไม่เอา และแม้ว่าจะถูกรุมเร้าด้วยอุปสรรคทั้งทางเทคนิค การเงิน และกฎหมาย แต่มันเป็นความพยายามที่ผมเชื่อว่าจะนำไปสู่ความล้มเหลว

นายนาโอโตะ คัง อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

แต่เรายังมีหวัง

ชุมชนหลายแห่งทั่วญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีนวัตกรรม อดีตนายกรัฐมนตรีรู้ดีว่า นิวเคลียร์จะต้องถูกฝังไปกับอดีต พลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นกำลังสดใส ปี 2558 มีการติดตั้งแผงเซลแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าได้ 13 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (TWh) ซึ่งเป็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่มากกว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เชนไดทางตอนใต้ของญี่ปุ่นถึงสองเครื่อง จะผลิตได้ทั้งปี 

การทำให้ญี่ปุ่นมีพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายที่สูงส่งอย่างเร่งด่วน กล่าวคือ ยุติแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่และละทิ้งแผนการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่หมดอายุการใช้งาน พร้อมทั้งตัดทอนอุปสรรคเชิงโครงสร้างและการเงินที่เป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน

อนาคตที่ปลอดนิวเคลียร์มิใช่เพียงเป็นไปได้ แต่เป็นสิ่งสำคัญ พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับญี่ปุ่นและโลก

ฌอน เบอร์นี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซ เยอรมนี


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 02 มีนาคม 2559   
Last Update : 2 มีนาคม 2559 14:04:07 น.   
Counter : 1388 Pageviews.  


ย้อนรอยปฎิรูปกฎหมายประมงไทย ทำไมเรือเล็กควร (ได้) ออกจากฝั่ง

Blogpost โดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การขับเคลื่อนเพื่อปฎิรูปกฎหมายประมงเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่ผ่านมาอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งในระดับประเทศและในระดับสากลในเวลาที่จำกัด ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดผลกระทบกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวันหยุดการทำประมงส่งผลให้เกิดผลกระทบธุรกิจต่อเนื่องในอุตสาหกรรมประมงพานิชย์ เป็นต้น และผลกระทบล่าสุดที่เกิดขึ้น คือ ประมงพื้นบ้านถูกจำกัดเขตการทำประมงให้อยู่ภาย 3ไมล์ทะเล ตามพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. 2558 มาตราที่ 34

หลายท่านคงสงสัยว่าเหตุใดจึงสร้างความเดือดร้อน ทั้งที่ชาวประมงพื้นบ้านน่าจะได้ประโยชน์เนื่องจากมีเขตของตนเอง เรือประมงพานิชย์ไม่สามารถเข้ามาทำการประมงหรือทำการใดๆได้ แต่กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น  เขต 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งเป็นเขตรักษาระบบนิเวศ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน การทำประมงในบริเวณนี้มีเพียงบางเครื่องมือประมงพื้นบ้านเท่านั้นที่สามารถทำประมงได้โดยไม่ส่งผลกระทบโดยจะมีข้อตกลงกันแต่ละพื้นที่และต้องอยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสม

คำถามคือสัดส่วนชาวประมงพื้นบ้านในประเทศไทยมีถึง 80% ของชาวประมงทั้งประเทศ เรือราวกว่า 50,000 ลำ ต้องแออัดกันอยู่ในเขต 3ไมล์ทะเล ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อฐานทรัพยากรโดยรวมตามมา  อีกทั้งไม่สอดคล้องกับการทำประมงในแต่ละพื้นที่ โดยการทำประมงพื้นบ้านบางประเภทต้องออกไปไกลกว่า 3 ไมล์ทะเล เช่น การตกเบ็ดปลาอินทรีย์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต้องออกไปไกลกว่า 10 ไมล์ทะเล เป็นต้น สร้างความเดือดร้อนต่อชาวประมงพื้นบ้านโดยรวมเป็นอย่างมาก การเคลื่อนไหวเพื่อปฎิรูปกฎหมายมาตรานี้จึงเริ่มขึ้น

ย้อนรอยการปฎิรูปกฎหมายประมงไทย 

เนื่องจากกฎหมายประมง พ.ศ.2490 มีการใช้มากว่า 50 ปี  หลายภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่าเนื้อหาและข้อบังคับค่อนข้างล้าสมัยไม่ทันต่อเทคโนโลยีการประมงในปัจจุบัน  จึงมีการร่วมกันปรับปรุงแก้ไขและให้ใช้กฎหมายประมงใหม่ คือ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเริ่มจากกระบวนการมีส่วนร่วมจึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการจากทุกภาคส่วน โดยประกอบด้วย  ประมงพื้นบ้าน ประมงพานิชย์  ผู้ประกอบการ นักการเมือง นักวิชาการ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่เนื้อหากฎหมายประมงฉบับนั้นค่อนข้างเป็นการจัดการในภาพกว้างที่กล่าวถึงการบริหารการจัดการ แต่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดในเรื่องการบังคับใช้ และการพื้นฟูด้านทรัพยากร ตลอดจนบทลงโทษยังคงน้อยไป นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน ขาดการควบคุม (IUU) กฎหมายฉบับนี้จึงมีข้อทวงติงจากสหภาพยุโรปในด้านการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารทะเล  จึงนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายฉบับใหม่ คือ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยเพิ่มเนื้อหาดังที่กล่าวไป และมีการแก้ไขและปรับปรุงเพิ่มเติมให้มีมาตรา 34 ขึ้น โดยในใจความสำคัญคือ  “ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทําการประมงพื้นบ้าน ทําการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง”

แต่เดิมในขณะที่ พรบ. การประมง 2558 ที่ถูกยกเลิกไป ได้ระบุในมาตรา 43  ว่า  “ให้ผู้ทําการประมงด้วยเครื่องมือทําการประมงที่มีใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ หรือเครื่องมือทําการประมงพื้นบ้านตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ทําการประมงในเขตประมงทะเลนอกชายฝั่งได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง”

ภาพโดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล

ภาพโดย: อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล

ดังนั้น ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดติดชายฝั่งทะเล จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนพระราชกำหนดประมงฉบับใหม่ โดยมาตราหลักที่ต้องปรับปรุงแก้ไข คือ  มาตรา 34 ว่าด้วยเรื่อง “การห้ามเรือเล็กออกนอกเขตชายฝั่ง” โดยที่ผ่านมามีการยื่นจดหมายและแถลงการณ์ร่วมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศาลากลางจังหวัดในแต่ละพื้นที่ กว่า 18 จังหวัด และมีการยื่นหนังสือและเข้าหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก คือ กรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การขับเคลื่อนมีเป้าหมายหลักเพื่อต้องการให้ผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศได้ตื่นรู้และแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากโจทย์สำคัญว่าด้วยความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร เหตุใดชาวประมงพื้นบ้านผู้ที่มีศักยภาพในการปกป้องรักษาชายฝั่งทะเลต้องถูกจำกัดสิทธิในการทำกินอยู่ในเขต 3 ไมล์ทะเลหรือ 5.56 กิโลเมตรจากชายฝั่ง  ทั้งที่เรือประมงพื้นบ้านบางลำมีศักภาพในการออกไปนอกเขตได้ โดยเครื่องมือที่ใช้นั้นมีความเหมาะสมไม่ทำลายความสมดุลของทรัพยากรสัตว์น้ำ 

ผลจากการขับเคลื่อนจุดประเด็นในสังคมวงกว้าง สอดคล้องกับสถานการณ์ความร้อนแรงของใบเหลืองอียูที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และส่งผลให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้ชำนาญการประมง ผู้ประกอบการประมงพานิชย์ ประมงพื้นบ้าน นักวิชาการและตัวแทนประมงพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของคณะกรรมการประกอบด้วยประมงชายฝั่ง (ประมงพื้นบ้าน)เพียง 1 ท่าน และนักวิชาการผู้ชำนาญการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกเพียง 1 ท่าน  ส่วนอีก 8 ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประมงในด้านต่าง ๆ คือ  ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  ผู้แปรรูป ประมงนอกน่าน้ำ ประมงชายฝั่ง  ประมงน้ำจืด  และได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณามาตรา 34 โดยเฉพาะ แต่กลับไม่มีสัดส่วนของประมงชายฝั่งและผู้ชำนาญการด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประมงพื้นบ้านจึงมีข้อกังวลว่า การที่ไม่มีประมงพื้นบ้านเข้าไปให้ความเห็นในคณะอนุกรรมการ การแก้ไขปัญหาอาจไม่ตรงจุดและล่าช้า

 ภาพโดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล

ภาพโดย: อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล 

เรือเล็กเรือใหญ่ไม่สำคัญ…สำคัญที่เครื่องมือ

เป้าหมายในการแก้ไขมาตรา 34 ในพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 คือการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริหารจัดการโดยคำนึงถึงพื้นฐานของทรัพยากรเป็นหลัก

“เดิม พรบ การประมง พ.ศ.  2558 ได้กำหนดเครื่องมือประมงที่มีการทำลายล้างสูง เช่น อวนลากไม่ให้เข้ามาทำการประมงในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล  และต้องสามารถขยายพื้นที่ให้เป็นเขตบริหารจัดการโดยไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งตามข้อตกลงของคณะกรรมการประมงในแต่ละจังหวัด แต่ไม่ใช่การแบ่งเขตว่านี่เป็นเขตเรือใหญ่ของประมงพานิชย์หรือเรือเล็กประมงพื้นบ้าน ตัวอย่างเช่น หากเป็นเรือเล็กแต่มีเครื่องมือประมงที่มีการทำลายล้างสูงก็ไม่สามารถเข้ามาทำประมงบริเวณชายฝั่งได้" ปิยะ เทศแย้ม รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

“เราอาจจะไม่ต้องรออียูหรือใครมาตัดสินหรือกำหนดทิศทางการแก้ไขการจัดการประมงในบ้านเรา แต่คนไทยทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นชาวประมง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมง  นักวิชาการ และผู้บริโภค ล้วนมีส่วนช่วยให้การประมงของไทยมีความยั่งยืนและรอดพ้นจากวิกฤตนี้ เพื่อกอบกู้ทรัพยากรที่กำลังจะลดน้อยลงทุกทีหากไม่มีการจัดการอย่างถูกต้อง นี่คือความท้าทายของภาครัฐและคนไทยทุกคน” คุณปิยะ กล่าวเสริม

ทางออกจากวิกฤต คือ จะต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการหลัก รัฐที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ต้องรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ บนฐานทางวิชาการที่ถูกต้อง รับฟังความคิดเห็นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และผลกระทบต่าง ๆ ในทุกภาคส่วน ตลอดจนประยุกต์หลักการจัดการอันเป็นที่ยอมรับในทางสากล มาแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักความเป็นธรรม และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเคารพวิถีชิวิตการทำกินของทุกคนอย่างเท่าเทียม

การรับประกันถึงความมั่นคงทางอาหารทะเลและการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืนของไทยเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่ก็ยังมีแสงสว่างที่รออยู่ที่ปลายอุโมงค์ หากทุกภาคส่วนร่วมมือและมีเป้าหมายเดียวกัน คือการส่งมอบทรัพยากรให้ถึงมือคนรุ่นต่อไป


 ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55667




 

Create Date : 01 มีนาคม 2559   
Last Update : 1 มีนาคม 2559 11:38:49 น.   
Counter : 1026 Pageviews.  


ไมโครบีดส์คืออะไร และทำไมเราควรเลิกใช้ไมโครบีดส์

แปลและเรียบเรียง โดย นางสาวภาวิณี สีสวาสดิ์ อาสาสมัครกรีนพีซ

ไมโครบีดส์คืออะไรและทำไมเราควรต่อต้าน?

คุณสครับหน้าเป็นประจำหรือเปล่า? แปรงฟันด้วยยาสีฟันรสละมุนของมิ้นท์หรือไม่? โชคไม่ดีเลยที่คุณอาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความหยาบและเป็นพลาสติกที่ก่อให้เกิดมลพิษได้โดยไม่รู้ตัว แม้โฆษณาชวนเชื่อจะบอกว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดีต่อเรา แต่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม และกลุ่มผู้รณรงค์ด้านจริยธรรมกำลัง วิจารณ์การใช้งานของพลาสติกชิ้นเล็กที่เรียกว่าไมโครบีดส์นี้

ประเด็นนี้สำคัญอย่างไร ขณะนี้ พลาสติกหลายตันว่ายวนอยู่ในมหาสมุทรที่สวยงามของเรา เช่น ฝาขวด ถุงพลาสติก และอื่นๆอีกมากมาย ในความเป็นจริงแล้ว ในแต่ละปีมีพลาสติกประมาณ 8 ล้านตัน ถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร ขยะเหล่านี้ก็ตกไปอยู่ในท้องของนกทะเล วาฬ เต่า และสิ่งมีชีวิตทางทะเลอื่นๆ ซึ่งในที่สุดจะย้อนกลับมาที่ตัวเรา เช่น ในตัวปลาที่เรากินเข้าไป ไมโครบีดส์ไม่สามารถถูกกรองได้โดยระบบบำบัดน้ำเสีย หมายความว่ามันสร้างมลพิษทางมหาสมุทรในระดับสูง

พลาสติกในมหาสมุทรไม่สามารถหายไปด้วยตัวมันเอง ดังนั้นพลาสติกชิ้นเล็กๆทุกๆชิ้นในมหาสมุทรคือสิ่งที่จะต้องทำความสะอาดให้หมดไป ด้วยความที่มันมีมากเกินไป มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด

การรณรงค์เรื่องการใช้พลาสติกมีความคืบหน้ามากขึ้น อาทิ นโยบายการเก็บค่าถุงพลาสติกในสหราชอาณาจักร และในอีกหลายประเทศสำหรับไมโครบีดส์ ประธานาธิบดีโอบาม่าเพิ่งออกกฎหมายระบุห้ามใช้ไมโครบีดส์ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลแคนาดา

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับไมโครบีดส์

ไมโครบีดส์คืออะไร? ไมโครบีดส์คือชิ้นส่วนเล็กๆของพลาสติกในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด และอื่นๆอีกมากมาย ส่วนใหญ่จะทำจากพอลิเอทิลีน แต่สามารถทำจากพลาสติกปิโตรเคมีอื่นๆได้ เช่น พอลิโพรพิลีนและพอลิสไตรีน ไมโครบีดส์มีขนาดเล็กพอที่จะลงไปในท่อระบายน้ำของอ่างล้างหน้า ของคุณและง่ายต่อการผ่านระบบการกรองน้ำ มักจะมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร

ส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรอย่างไร? ไมโครบีดส์มีขนาดเล็กและอาจดูเหมือนไม่เป็นอันตราย แต่ไมโครบีดส์จำนวน 100,000 เม็ด จะถูกล้างลงอ่างด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์เพียงครั้งเดียว และลงไปสู่ท้องทะเล ขึ้นสู่ห่วงโซ่อาหาร

ปลายทางของไมโครบีดส์คือที่ไหน?

 งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆได้วิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาตัวอย่างของพลาสติกในสิ่งมีชีวิตทางทะเลทุกชนิดให้มากขึ้น แตไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตทางทะเลเท่านั้น การศึกษาล่าสุดพบว่าร้อยละ 90 ของนกก็มีพลาสติกอยู่ในท้องของมันด้วย  ไมโครบีดส์เริ่มที่มนุษย์กับการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ และถ้าคุณกินอาหารทะเลที่มีไมโครพลาสติกและสารพิษที่มากับอาหารทะเลเหล่านั้น ท้ายที่สุดก็จะกลับมายังร่างกายของคุณ ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากอินโฟกราฟฟิก

ใครคือกลุ่มผู้รณรงค์และดำเนินการ? ในประเทศแคนาดาและอเมริกากำลังต่อต้านไมโครบีดส์ หลายบริษัท เช่น Asda, Avon, the Bodyshop, L’Oreal และ Boots รับปากว่าจะไม่ใช้พวกมันในผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่พวกเขาอาจยังเก็บผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีไมโครบีดส์อยู่ NGOs และกลุ่มผู้รณรงค์ กำลังทำงานร่วมกันกับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อยุติการใช้ไมโครบีดส์และขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ต่อต้านพวกมันทั้งหมด

ฉันจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ไหน มีไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบ เพื่อที่จะเลิกใช้ผลิตภัณฑ์นั้น? สามารถค้นหารายชื่อของบริษัทที่มีการรับปากว่าจะไม่ใช้ไมโครบีดส์ได้ที่นี่ คุณสามารถตรวจสอบยาสีฟันของคุณและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดว่าใช้ไมโครบีดส์หรือไม่ หากคุณต้องการสิ่งที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด คุณสามารถลองขัดผิวด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ใยบวบ น้ำตาล หรือเสื้อผ้าที่ซักสะอาดแล้ว

5 สิ่งเล็กๆที่อธิบายปัญหาใหญ่ๆของไมโครบีดส์

สงสัยไหมว่าคุณจะสามารถให้เพื่อนของคุณเลี่ยงพลาสติกสครับหน้าได้อย่างไร? ต้องการให้พวกเขาลงนามเพื่อส่งคำร้องไปยังเดวิด คาเมรอนไหม?  นี่คือ 5 สิ่งที่จะอธิบายทุกอย่างในเวลาทั้งหมด

5 เรื่องราวง่ายๆ จากรูปภาพนี้ช่วยอธิบายปัญหาใหญ่ของไมโครบีดส์ได้ ซึ่งคงจะทำให้คุณไม่อยากใช้ไมโครบีดส์สครับผิวอีกต่อไป

1. จากผิวหน้าสู่จาน

2. วิดีโอนี้มาจาก Story of Stuff ที่แสดงเรื่องราวของไมโครบีดส์จากการผลิต การซื้อ และมาสู่จานของเรา


3. แผนภาพแสดงข้อมูลจากกรีนพีซออสเตรเลีย

4. วิดีโอนี้แสดงให้เห็นไมโครพลาสติกจำนวนล้านล้านชิ้นที่ถูกพบในมหาสมุทรของเรา คลิกเพื่อดูใน youtube


5. การศึกษาวิจัยพบไมโครพลาสติกในเกลือทะเล

ภาพ : ขอบคุณภาพประกอบจาก grist.org

ข้อมูลอ้างอิง


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55642




 

Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 2 มีนาคม 2559 11:40:17 น.   
Counter : 2027 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com