กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

คนละไม้คนละมือเติมต้นไม้ในป่าว่าง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเชียงดาว



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้ามากมาย แต่ทำไมเรารักษาป่าไม้ไม่ได้ การปลูกป่าตรงนี้เป็นจุดเล็ก ๆ แต่เราน่าจะส่งเสียงต่อไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้” --- คุณนิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิงตอนบน

ป่าคือสายใยแห่งธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิต การที่ป่าหายไปจากภูเขาไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ที่ขาดแคลนสีเขียวของต้นไม้ไป แต่นั้นหมายถึงขาดความอุดมสมบูรณ์ แหล่งอาหาร ต้นกำเนิดน้ำ และการรักษาสภาพภูมิอากาศของโลก สถานการณ์วิกฤตโลกร้อนอันรุนแรงที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเหือดแห้งไปของแม่น้ำปิง หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของประเทศไทย เมื่อยามที่ฤดูฝนมาถึงแม่น้ำปิงก็กลับกลายเป็นสีชาเย็น เนื่องจากไร้ต้นไม้ปกคลุมทำให้หน้าดินถูกชะล้าง เช่นเดียวกับการที่สายน้ำเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศในแม่น้ำก็เสียหายเช่นกัน ปลาบางชนิดไม่สามารถปรับตัวได้ก็ต้องตายไป แต่ท่ามกลางวิกฤตยังมีความหวัง และความหวังที่เกิดขึ้นอย่าง และความหวังในครั้งนี้มาจากการร่วมมือกันของประชาชนราว 500 คน ที่มาลงแรงลงพลังร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 4 - 5  มิถุนายน ที่ผ่านมา

การรวมตัวของ 500 พลังอาสาหลากหลายกลุ่มเพื่อฟื้นฟูป่า

เมื่อเดือนเมษายน ส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำเชียงดาวที่บริเวณป่ากันชนได้ถูกไฟไหม้จนเสียหายหนักจนกระทั่งมองไม่เห็นสิ่งมีชีวิตในดิน คุณนิคม พุทธา  ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิงตอนบน จึงริเริ่มกิจกรรมเติมต้นไม้ในป่าว่าง เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำเชียงดาวแห่งนี้ร่วมกับเครือข่ายเยาวชน ลุ่มน้ำปิง  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่ม Big trees และอาสาสมัครกรีนพีซ จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะมีอาสาสมัครมาร่วมงานเพียง 200 คน แต่เช้าวันที่ 4 มิถุนายน 2559 ป่าต้นน้ำเชียงดาวได้ต้อนรับผู้คนกว่า 500 คน ทั้งจากเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และจากจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีทั้งนักเรียนตัวน้อยตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย พระสงฆ์ กลุ่มชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งต่างร่วมแรงร่วมใจกันลงมือปลูกป่าท่ามกลางสายฝนสลับกับแสงแดดแรงกล้า ต้นกล้าท้องถิ่นต่าง ๆ หลายชนิด อาทิ ไม้สัก ไม้พะยูง ต้นหว้า สมอ มะขาม และต้นกล้วยป่า รวมแล้วกว่า 10,000 ต้น ได้ถูกนำไปปลูกลงดินด้วยความหวังที่จะเติมต้นไม้ในป่าว่าง และรอวันเติบโตต่อไป

หนึ่งในอาสาสมัครที่มาเป็นพลังปลูก 500 คน คือ คุณมณีรุชฎ์ เสริมสกุล ผู้ประสานงานโครงการวิจัยทางการเเพทย์ มีภูมิลำเนาเดิมคือเชียงใหม่ มาร่วมเป็นอาสาสมัครกับกรีนพีซ และเล่าให้เราได้ฟังว่า “มาร่วมกิจกรรมนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เมืองเชียงใหม่ที่เราโตมาเด็ก ๆ มีอากาศสดชื่น แต่เมื่อปีที่แล้วปัญหาควันรุนแรงมาก มีกลิ่นควันไฟล้อมรอบบ้าน พบเห็นปัญหาเขาหัวโล้นที่น่านมานานแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ เชียงใหม่ก็โดนทำไร่ไปเยอะและหนักขึ้นมาก แต่ยังไม่เห็นภาครัฐเอาใจใส่จริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ อยากให้ลองมาเป็นอาสาสมัครโดยเฉพาะเรื่องธรรมชาติ แล้วคุณจะะรู้ว่าชีวิตทั้งหมดของคุณคือ ธรรมชาติ เป็นอาสาสมัครเพื่อขับเคลื่อนให้โลกนี้ดีขึ้น”

กลุ่มอาสาสมัครฟื้นฟูป่าต่างล้วนมาทำงานด้วยใจและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนักกับการที่มือ 500 มือมาร่วมกันโกยดิน ฝังต้นกล้าลงผืนป่า ทำทุกอย่างด้วยใจ คุณกฤษฎา พิลาทอง เจ้าหน้าที่พนักงานดับเพลิงท่าอากาศยานดอนเมือง อีกหนึ่งในอาสาสมัครกรีนพีซกล่าวว่า “ถ้าเราช่วยกันปลูกป่าเพิ่มขึ้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคม อย่างน้อยได้ร่วมกันปลูกป่าช่วยให้ธรรมชาติเติบโต มีป่ามากขึ้น มีทรัพยากรมากขึ้น หรือช่วยอย่างอื่นเท่าที่เราช่วยได้ เพื่อให้โลกเรามีธรรมชาติอยู่ตลอดไป” 

ป่าไม้คือแหล่งกักเก็บน้ำที่มีชีวิต

“จากการเดินธรรมยาตราไปตามพื้นที่แม่แตง แม่ริม และแม่ปิง พบว่าแม่น้ำปิงเหือดแห้งมาก ประกอบกับปัญหาแล้งที่รุนแรงมากทำให้วิกฤตหมอกควันภาคเหนือทวีความรุนแรง แม้ว่าเราจะอยากฟื้นฟูเขาหัวโล้น แต่ติดอยู่ที่ข้อจำกัดคือขาดคนดูแล เราจึงเลือกพื้นที่ที่ใกล้เรา เพื่อที่จะคอยดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึงไปอย่างน้อยอีก 3 ปี โดยทางเครือข่ายจะดูแลป่าแห่งนี้ให้เป็นป่าชุมชนร่วมกับชาวปกาเกอะญอ 2 หมู่บ้าน คือ ยางปูโต๊ะ ยางทุ่งโป่ง เป็นการพึ่งพาอาศัยดูแลกันระหว่างคนกับป่าอย่างยั่งยืน” คุณนิคม พุทธา กล่าว

การเข้ามาร่วมดูแลป่าของชุมชน คือ หนึ่งในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยว แต่ป่าชุมชนแห่งนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนกับป่า พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แนวคิดการดูแลป่าของพี่นิคม คือ การเติมป่าด้วยต้นกล้า 2 ชนิด คือ เพื่อกักเก็บน้ำ เช่น มะเดื่อ กล้วยป่า ไม้ไผ่ และเพื่อเป็นอาหารให้กับคนและสัตว์ เช่น ขี้เหล็ก มะขามป้อม สมอภิเพก กระท้อนป่า ซึ่งสามารถสร้างแรงดึงดูดให้สัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น หมู่ป่า ชะมด อีเห็น อันจะเป็นการช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ เติมความอุดมสมบูรณ์

“เติมต้นไม้ในป่าว่าง คือ การเสริมเติมต้นไม้ลงไปในช่องว่าง ทั้งจากช่องว่างบนท้องฟ้าที่เห็นทะลุผ่านเรือนยอดของต้นไม้ และช่องว่างบนผืนดิน เพื่อเพิ่มความหนาแน่นให้ผืนป่า และประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ เมื่อปลูกให้เต็ม ฝนตกจะไม่กระแทกหน้าดิน ช่วยกระจายเม็ดฝนลงไปในชั้นผิวดิน ป่าสามารถกักเก็บน้ำได้ร้อยละ 80 ไหลลงไปในแม่น้ำร้อยละ 20 ผืนป่าคือกลไลในการเก็บน้ำอย่างยั่งยืน ขณะที่เขื่อนเป็นกระบวนการเก็บน้ำที่ไม่มีชีวิต เขื่อนไม่สามารถหมุนเวียนน้ำได้ เราจะต้องมองป่าโดยให้มองเห็นชีวิตเราในนั้นด้วย”  คุณนิคม พุทธา กล่าวถึงป่ากับกระบวนการกักเก็บน้ำที่ยั่งยืน 

การที่อาสาสมัครเข้าไปช่วยซ่อมแซมป่า คือ ส่วนเล็กๆ ที่เข้ามาสนับสนุนให้ธรรมชาติทำงานอย่างเป็นระบบ เนื่องจากธรรมชาติมีประสิทธิภาพในการดูแลและฟื้นฟูตัวเอง มนุษย์มีส่วนเพียงแค่ช่วยเยียวยาเพียงเล็กน้อย การปลูกป่าตามแนวคิดของพี่นิคมจึงมี 3 ขั้นตอน คือ

  1. เตรียมพื้นที่ปลูกป่า จากความรู้และประสบการณ์ของชุมชน
  2. นำกล้าไม้ลงปลูก ซึ่งเป็นกล้าไม้ที่ได้รับการอนุเคราะห์จากกรมป่าไม้และกรมอุทยาน
  3. ปลูกซ่อมบำรุงเสมอ ระวังไฟป่า และทำแนวกันไฟในฤดูแล้ง เป็นการดูแลต่อเนื่องไปในระยะยาว

ต้นไม้ทุกชนิดมีคุณสมบัติในการกักเก็บน้ำ กล่าวคือ ในลำต้นมีน้ำทุกส่วน รอบลำต้นมีการคายน้ำ มีน้ำในดินจากการที่รากดูดน้ำใต้ดิน นี่คือสาเหตุที่ฝนมักตกบริเวณป่า และคือเหตุผลที่เราต้องการป่าต้นน้ำ

“ประเทศไทยหากมองจากอวกาศจะเห็นเส้นแบ่งประเทศชัดเจนจากสีเหลืองของเขาหัวโล้น เมื่อฝนตกลงมาก็เหมือนคนหัวล้าน ราดลงมาทีเดียวก็ถึงภาคกลาง ปัญหาคือเมื่อมีคนซื้อสินค้าที่ได้มาจากการทำลายป่า ก็มีคนปลูก เราจะต้องมีส่วนร่วม ทำให้ย่างก้าวของเราเบาบางที่สุดด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การดำรงอยู่ของทุกชีวิต คือน็อตหรือเฟือง ไม่ได้ดำรงอยู่โดยไร้เหตุผล ต้นไม้และสัตว์ต่างชนิดมีหน้าที่เกี่ยวกข้องกันอย่างซับซ้อน หากเรายังเพิกเฉย โลกอาจพังทั้งใบ” หมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในวิทยากรของงานกล่าว

“อย่างน้อยปลูกลงไปก็เพิ่มต้นไม้ในป่า เพิ่มความหนาแน่นกักเก็บน้ำและแร่ธาตุในดิน ดีกว่าปล่อยให้ป่าที่ถูกมนุษย์ทำลายฟื้นฟูตนเอง ซึ่งอาจมีข้อจำกัด แต่ถ้าเราเข้าใจกลไกธรรมชาติด้วยก็จะดี แน่นอนว่าดีกว่าไม่ช่วยปลูก แต่ต้องมีรายละเอียดว่าปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร เพราะหลักการเดียวที่ทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้ คือ ความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การปลูกต้นไม้จึงเป็นการปลูกให้ต้นไม้ในจิตใจให้งอกงามไปด้วย” คุณนิคมกล่าวทิ้งท้าย

#ทุกคนเป็นผู้พิทักษ์ป่าได้ "ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตามคุณก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับป่าไม้ ซึ่งทุกคนได้มาทำให้เห็นว่าเราต้องการปกป้องป่าผืนนี้ เราต้องพิจารณาว่าเราสูญเสียป่าไปเพื่ออะไร ปัจจุบันเราสูญเสียป่าเพื่อเกษตรและอุตสาหกรรรมมากเพื่อผลิตสินค้าเพียงไม่กี่อย่าง โดยมากเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ผู้บริโภคจำเป็นต้องคิดว่าการบริโภคของเขาสามารถเปลี่ยนแปลงป่าไม้ที่มีอยู่ให้ยั่งยืนได้" -- วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ #อาสาฟื้นฟูป่าเชียงดาว #worldenvironmentalday #เติมต้นไม้ในป่าว่าง

Posted by Greenpeace Thailand on Saturday, June 4, 2016

"ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามคุณคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับป่าไม้ ในครั้งนี้ทุกคนที่มาได้ทำให้เห็นว่าเราต้องการปกป้องป่าผืนนี้ เราต้องพิจารณาว่าเราสูญเสียป่าไปเพื่ออะไร ปัจจุบันเราสูญเสียป่าเพื่อเกษตรและอุตสาหกรรรมไปมากเพียงเพื่อผลิตสินค้าเพียงไม่กี่อย่างป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมผู้บริโภคจำเป็นต้องคิดว่าการบริโภคของเขาสามารถเปลี่ยนแปลงป่าไม้ที่มีอยู่ให้ยั่งยืนได้" วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

บรรยากาศความร่วมมือกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 4-5 มิ.ย. จากการร่วมมือของพลังจากเหล่าอาสานักร่วม 500...

Posted by Greenpeace Thailand on Saturday, June 4, 2016

แม้เราจะยังไม่รู้ว่าต้นกล้านับหมื่นในมือคนครึ่งพันนี้จะเติบโตกลายเป็นป่าได้มากน้อยเพียงไหน แต่สิ่งที่จะเติบโตไปหลังจากนี้อย่างแน่นอน คือ กระแสการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องและฟื้นฟูผืนป่าอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาแหล่งน้ำ อากาศบริสุทธิ์ ความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทย


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2559   
Last Update : 7 มิถุนายน 2559 17:33:57 น.   
Counter : 980 Pageviews.  


คลื่นแห่งความหวัง ทั่วโลกเคลื่อนไหวผลักดันไทยยูเนี่ยน “เปลี่ยน” เพื่อมหาสมุทร



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

คงไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจแน่ หากอุตสาหกรรมระดับโลกของไทย อย่างไทยยูเนี่ยน มีชื่อเสียงที่เชื่อมโยงกับการประมงที่ผิดกฎหมายและทำลายล้าง รวมถึงพัวกันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหว #NotJustTuna ในหลายประเทศทั่วโลก และในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องของผู้คนทั่วโลกเหล่านี้ คือ ความหวังและสัญญาณที่ส่งไปถึงไทยยูเนี่ยนว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยยูเนี่ยนจะต้องเปลี่ยนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการประกาศนโยบายที่คลุมเครือ

คลื่นพลังผู้บริโภค โต้กระแสอุตสาหกรรมประมงทำลายล้าง

กรุงเทพฯ ในวันนี้ (23 .. 2559) กลุ่มอุตสาหกรรมประมงและบริษัทไทยยูเนี่ยนกำลังเข้าร่วมการประชุม และนิทรรศการการค้าทูน่าโลกครั้งที่ 14 (14th Infofish World Tuna Trade and Conference) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่กลุ่มอุตสาหกรรมประมงจะกำหนดทิศทาง และสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน โดยช่วงกลางดึกที่ผ่านมาก่อนที่จะเริ่มต้นวันใหม่ของการประชุม นักกิจกรรมกรีนพีซได้ฉายเลเซอร์บนแม่น้ำเจ้าพระยา เบื้องหน้าโรงแรมแชงกรี-ลา ที่มีข้อความว่า Thai Union. Lead Change, Stop the Destruction หรือ ไทยยูเนี่ยน สร้างการเปลี่ยนแปลง หยุดทำลายล้างมหาสมุทร เพื่อสื่อสารถึงไทยยูเนี่ยนโดยตรงให้ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมทูน่า ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ขณะนี้เรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซอยู่ในมหาสมุทรอินเดียเพื่อเก็บเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างรวมทั้งอุปกรณ์ล่อปลาของผู้จัดหาวัตถุดิบของไทยยูเนี่ยนขึ้นมาถอดชิ้นส่วน ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 370,000 คนได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องถึงไทยยูเนี่ยนให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเป็นผู้นำปกป้องมหาสมุทร

ฝรั่งเศส นอกจากที่กรุงเทพฯ แล้วในวันนี้นักกิจกรรมกรีนพีซร่วม 25 คน จากประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลี ได้ดำเนินการรณรงค์อย่างสันติด้วยการขวางขนส่งผลิตภัณฑ์จากโรงงานผลิตทูน่ากระป๋องของไทยยูเนี่ยนในเมือง Douarnenez ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผลิตทูน่ากระป๋องให้กับแบรนด์ Petit Navire, John West และ Mareblu พร้อมกับแต่งเติมโลโก้ของแบรนด์ Petit Navire ให้เป็นสีเลือด อันเชื่อมโยงกับสัตว์ทะเลที่ถูกจับขึ้นมาจากการจับสัตว์น้ำพลอยได้และต้องเป็นเหยื่อของการทำประมงแบบทำลายล้าง 

“วันนี้เราได้เผชิญหน้ากับไทยยูเนี่ยนทั้งทางผืนดินและทางทะเล เรามุ่งมั่นจะเปิดโปงการประมงแบบทำลายล้าง และหยุดยั้งบริษัทนี้จากการเดินหน้าทำร้ายมหาสมุทรของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้วยการขัดขวางกระบวนการประมง การผลิต ไปจนถึงปลากระป๋องที่วางขายบนซูเปอร์มาร์เก็ต” Hélène Bourges ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซฝรั่งเศส กล่าว


นิวซีแลนด์  เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา นักกิจกรรมกรีนพีซ 6 คน ได้ล่ามตัวเองเข้ากับรถบรรทุกสินค้าของไทยยูเนี่ยน บริเวณทางเข้า ของโรงงานอาหารแมวยักษ์ใหญ่อย่าง Whiskas ที่ประเทศนิวซีแลนด์ และแขวนป้ายที่มีข้อความ "Stop Bad Tuna" หลังจากที่ Mars ได้ออกมายอมรับว่าบริษัทได้รับวัตถุดิบจากไทยยูเนี่ยนที่เชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิกดขี่แรงงานประมงและทำร้ายทะเลมาผลิตอาหารแมว

ผู้บริโภคในยุโรปและอเมริกาบอก #NotJustTuna

ไม่ใช่เพียงแค่นักกิจกรรม แต่ขณะนี้ผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วโลกอย่างอเมริกา แคนาดา อิตาลี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ได้ออกมาร่วมรณรงค์โดยตรงกับร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ให้ยุติการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องที่มาจากการประมงทูน่าแบบทำลายล้าง โดยปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของไทยยูเนี่ยนออกจากชั้นวางขายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต การเคลื่อนไหวของผู้บริโภคนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวดีออกมาว่า Tesco และ  Waitrose สองซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักรได้ออกมาแสดงจุดยืนว่า ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของตนจะต้องไม่ใช่ปลาทูน่าที่มาจากการประมงแบบทำลายล้าง

จากมหาสมุทรถึงชั้นวางซูเปอร์มาร์เก็ต ไทยยูเนี่ยนคือผู้เล่นหลักในระบบนิเวศทางทะเล

เมื่อปีที่ผ่านมา กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เปิดเผยรายงานสืบสวน “โซ่ตรวนกลางทะเล” ระบุว่า ไทยยูเนี่ยนไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่า ไทยยูเนี่ยนเป็นอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวคือ ราวร้อยละ 40 ของปลาทูน่าในประเทศไทยจัดจำหน่ายโดยไทยยูเนี่ยน และในทุกๆ วินาที มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องประมาณ 157 กระป๋องจากประเทศไทย 

กระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การทำประมงในมหาสมุทร กระบวนการผลิต แปรรูป ไปจนถึงการผลิตกระป๋องและบรรจุภัณฑ์

และการจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเองและของบริษัทอื่น ขอบเขตธุรกิจของไทยยูเนี่ยนครอบคลุมจากมหาสมุทรไปจนถึงชั้นวางสินค้า ถือเป็น “ผู้เล่นหลักในระบบนิเวศทางทะเล” ที่มีความสัมพันธ์อย่างมากต่อผลกระทบที่มีต่อมหาสมุทรของเรา ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกและเป็นภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ ไทยยูเนี่ยนสามารถใช้บทบาทอันมีอิทธิพลอย่างมากนี้ต่อเงื่อนไขของการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดได้ 

กรีนพีซเรียกร้องไทยยูเนี่ยนให้กำหนดกรอบเวลา เป้าหมายและรายละเอียดขั้นตอนที่ชัดเจนของแผนปฎิบัติงานที่ไทยยูเนี่ยนจะใช้ในการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของตนเอง และหยุดการทำประมงเกินขนาด การทำประมงแบบทำลายล้าง เช่น การล่าฉลามเพื่อเอาครีบ การทำประมงแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ไทยยูเนี่ยนต้องขจัดปัญหาการทำประมงแบบทำลายล้าง และให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสร้างมาตรฐานด้านแรงงานที่ครอบคลุมถึงแรงงานบนเรือประมง เราจะไม่หยุดงานรณรงค์จนกว่าไทยยูเนี่ยนจะสามารถแสดงความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ตั้งแต่กระบวนการจับจนมาถึงจานอาหารของผู้บริโภค” อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ร่วมลงชื่อผลักดันให้ไทยยูเนี่ยนหันมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมประมงปลาทูน่าที่ยั่งยืนที่นี่


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 25 พฤษภาคม 2559 10:59:36 น.   
Counter : 1336 Pageviews.  


ความหวังในความแล้ง: แม่ปิงแล้งสุดใน 40 ปี กับทางรอดของเกษตรกร



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

เมื่อมองแม่น้ำปิง ณ เวลานี้ ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า แอ่งดินขนาดใหญ่ที่ถูกขุดลงลึกจนดูราวกับเป็นเหมืองขนาดใหญ่แห่งนี้ จะเคยเป็นแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศไทย ไม่อยากจะเชื่อเลยว่านี่คือวิกฤตแล้งที่ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญ และกำลังคุกคามความมั่นคงทางอาหารของเรา… แต่สายน้ำแห่งความหวังยังมี หากเราเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ทางรอดของเกษตรกรเพื่อต่อกรกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาพโดย Biel Calderon

ช่วงเช้าของวันที่  30 เมษายน 2559 พี่น้องบ้านห้วยโจ้และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกัน ต่อชีวิตให้กับตนเองและสวนของตน หลังจากที่เครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำปิงหนึ่งในสองเครื่องคว่ำลงเนื่องจากระดับน้ำหลังฝายแม่น้ำปิงลดลงเร็วเกินไป พวกเขาจำเป็นต้องช่วยกันซ่อมเครื่องสูบน้ำ ด้วยการใช้รถขุดดินนำดินมาเกลี่ยเป็นทางเดินลงน้ำให้สามารถนำเครื่องสูบน้ำขึ้นมาซ่อม หากคุณไม่ได้สัมผัสกับความแล้ง คงจะไม่มีวันเชื่อสายตาว่า สายน้ำที่มีความกว้างไม่เกินท่อนแขน ไหลเอื่อยๆ ในสภาพที่เหมือนกับอดีตอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นี้ คือ สายน้ำจากแม่น้ำปิง หนึ่งในแม่น้ำหลักที่หล่อเลี้ยงคนไทย พื้นที่ต้นน้ำอย่างเมืองเชียงใหม่เผชิญกับความร้อนแล้งอย่างเห็นได้ชัด วิกฤตโลกร้อนได้นำพาสถานการณ์มหาภัยแล้ง มาพร้อมกับปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปีนี้เป็นปีที่แล้งที่สุดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา 

 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา วิกฤตโลกร้อนและปรากฎการณ์เอลนีโญได้เกิดขึ้นติดกันสองปีซ้อน (2558-2559) ประกอบกับการที่ป่าต้นน้ำถูกทำลายเพื่อพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวของภาคเหนือ ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับความแล้งที่รุนแรง ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ ในวันนี้เราได้ลองไปสำรวจต้นน้ำปิงบริเวณตำบลดอยหล่อ แม่น้ำส่วนนี้ได้หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 300 คน ใน 26 หมู่บ้าน บนพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ ซึ่งมีอาชีพส่วนใหญ่คือการทำเกษตร และสวนผลไม้ อาทิ ลำไย มะม่วง และแตงกวา พวกเขาต้องเผชิญกับความแล้งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ในปีนี้ถือเป็นปีที่หนักที่สุด


“เมื่อน้ำในแม่น้ำปิงลดเหลือน้อยและไม่เพียงพอ เราพยายามขุดเอาน้ำบาดาลลึกลงไป 20 เมตร ส่งผลให้น้ำในบ่อบาดาลน้ำตื้นของหมู่บ้านอื่นแห้งไปด้วย ทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างพื้นที่ การขุดแม่น้ำปิงนี้เป็นการเรี่ยไรเงินของชาวบ้าน โดยมีคณะกรรมการของหมู่บ้านบริหารน้ำ ค่าใช้จ่ายของค่าไฟจากเครื่องสูบน้ำชาวบ้านต้องออกร้อยละ 40 และรัฐช่วยออกร้อยละ 60 ซึ่งเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ที่พวกเราต้องช่วยกันจ่าย รวมถึงยังมีการลงเงินรวม 800,000 บาท เพื่อใช้รถขุดดินขุดเพื่อกักเก็บน้ำและหล่อเลี้ยงสวนผลไม้ในส่วนของเครื่องสูบน้ำที่พังนี้หากอบต.ไม่ช่วยออกค่าซ่อม พวกเราก็ต้องออกเอง” พ่อหลวงแก้ว ปาป่าศักดิ์ ตัวแทนหมู่ 5 บ้านห้วยโจ้ ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงภาวะการขาดแคลนน้ำ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขณะที่รายได้จากผลผลิตทางการเกษตรลดลง

น้ำปิงที่เหือดหาย กับชีวิตของชาวสวนและชาวนาของภาคเหนือ

“ไม่รู้จะหาน้ำที่ไหน ต้องปล่อยให้แห้งตายอย่างเดียว…”

เกษตรกรผู้ทำสวนผลไม้จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำตลอดทั้งปี แม้ในช่วงฤดูน้ำอุดมสมบูรณ์ หมู่บ้านที่อยู่เหนือแม่น้ำปิง เช่น บ้านเวียงทอง หมู่ 25  ที่อยู่เหนือระดับแม่น้ำปิง 47 เมตร ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำหนองหลวง อ่างเก็บน้ำมาขี้โก้ง และอ่างเก็บน้ำปู๋มเป้ง เพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค คุณสุนันท์ ตาปิน เกษตรกรผู้ทำสวนมาร่วม 40 ปี เป็นเจ้าของสวนพื้นที่ 22 ไร่ บนอำเภอดอนหล่อ เริ่มหันมาปลูกมะม่วงได้ 3-4 ปี เนื่องจากใช้น้ำน้อยกว่าลำไย เขาบอกเล่าให้เราฟังว่า บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองหลวงมีสวนมะม่วงอยู่โดยรอบ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก สวนลำไยบางแห่งก็แห้ง แม้ไม่แห้งก็จะไม่ออกผลหรือถึงติดผลก็จะร่วง การจัดการน้ำจะเป็นการใช้น้ำฝน การสูบน้ำจากแม่น้ำปิง หรือเก็บในอ่างเก็บน้ำของตัวเองมาตลอด ซึ่งปีนี้น้ำไม่พอ มีเพียงสวนมะม่วงบางแห่งที่ลงทุนด้วยตนเองต่อท่อจากอ่างเก็บน้ำหนองหลวงเท่านั้นที่ยังพอมีน้ำ

“ปีนี้สถานการณ์แย่ที่สุด สวนอื่นก็เช่นกันมีบางแห่งต้นแห้งตาย บางแห่งต้องฟันทิ้งและรอปลูกใหม่ ผลผลิตของสวนมะม่วงหากไม่แห้ง ก็มีลูกขนาดเล็กกว่าปกติ กว่าจะมาถึงตอนนี้มีการลงทุนไปมาก กว่าจะปลูกและได้ผลผลิตต้องใช้เวลา 3-4 ปี แต่เมื่อมาถึงปีนี้คิดว่าจะได้ผลผลิตแต่กลับไม่ได้เพราะน้ำน้อย ซ้ำร้ายคือหากฝนยังไม่ตกหลังจากนี้ไม่เกิน 10 วันต้นมะม่วงจะตายทั้งหมด” คุณสุนันท์ ตาปิน กล่าว “ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดวิกฤตภัยแล้ง ร้อนไปหมด ส่งผลรุนแรง ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ถึงตกก็ตกหนัก ถ้าปีหน้ายังแล้งอีกก็คงไม่รู้จะไปทำอะไร เพราะอายุ 64 แล้วไม่มีอาชีพสำรอง” 


ตะวันยามเช้าเริ่มสาดแสงแรง พี่น้องบ้านห้วยโจ้และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลดอยหล่อยังคงช่วยกันคนละไม้คนละมือกอบกู้เครื่องสูบน้ำขึ้นมาซ่อม หลังคาถูกส่งต่อขึ้นมาจากแม่น้ำปิงที่เหือดแห้งทีละแผ่น นี่คือสิ่งเดียวที่จะช่วยต่อชีวิตให้กับสวนผลไม้ที่กำลังรอน้ำด้วยความหวัง

นอกจากสวนผลไม้แล้ว นาข้าวก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงเช่นกัน เหนือขึ้นไปที่ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ นาข้าวกำลังยืนต้นตายเนื่องจากไม่มีน้ำเข้านา ต้นข้าวขาดน้ำกลายเป็นสีเหลืองแห้งบนผืนดินที่แตกร้าว  ชาวนาหลายคนกล่าวว่า หากปีหน้ายังเป็นเช่นนี้คงต้องผูกคอตาย เพราะทุกคนที่ทำนาต่างมีหนี้สินจากการกู้ธกส. แต่โชคยังดีสำหรับคุณลุง ล้วน เตชะนันท์ ที่ยังมีรถแทคเตอร์ สามารถรับจ้างไถยามเมื่อไม่มีน้ำทำนาจึงยังพอมีรายได้ แต่จากการทำนาตั้งแต่ยังอายุเพียงสิบกว่าปี นี่คือปีแรกที่ไม่มีน้ำ และข้าวในนา 60 ไร่ของเขาก็กำลังแห้งตาย

 “ปีนี้ถือเป็นภัยแล้งจริงๆ ที่จะทำให้ขาดทุนจนหมดตัวเพราะขาดน้ำ หมดไปเป็นแสนต่อจากนี้ต้องปล่อยให้ข้าวยืนต้นตายไป ปล่อยไปเลย แล้วเริ่มต้นใหม่เดือนกรกฎาคม ปีหน้าคงจะต้องหยุดทำนาหน้าแล้ง ทำได้แต่นาปี ถ้าทำไปก็ยังขาดทุนเหมือนเดิม” คุณล้วน เต๋จ๊ะนัง อายุ 58 ปี ชาวนาในตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ภัยแล้งกำลังส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย ต่อผลผลิตทางเกษตรกรรมที่เป็นทางอาหารเลี้ยงปากท้องชาวไทย และเป็นสินค้าส่งออกไปยังทั่วโลก การที่รัฐเร่งผลักดันเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวโดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมกำลังส่งผลให้เกิดการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร ทำให้สูญเสียป่าต้นน้ำจำนวนมหาศาล แม้ว่าเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวดูเหมือนว่าจะทำรายได้ดีให้กับเกษตรกร แต่ก็เป็นเพียงในระยะสั้น ผลลัพธ์ของการทำเกษตรอย่างไม่ยั่งยืนนี้กำลังปรากฎให้เห็นแล้วว่ากำลังย้อนคืนกลับมาทำร้ายเกษตกร และทุกชีวิตที่ต้องพึ่งพาสายน้ำแห่งชีวิตที่กำลังแล้งจนเป็นวิกฤต

โคก หนอง นา โมเดล โอเอซิสแห่งความหวัง

ท่ามกลางความแห้งแล้ง ไร่นาแห่งหนึ่งกลับเขียวขจีและเต็มไปด้วยความชุ่มฉ่ำ พื้นที่สีเขียวแห่งนี้โดดเด่นชัดเจนเมื่อมองจากถนนบริเวณตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ราวกับว่าความแห้งแล้งไม่เคยมาเยือน ที่แห่งนี้คือ “ธรรมธุรกิจ ชาวนาธรรมชาติ” ฐานการเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล อันเป็นทางออกที่ยั่งยืนของการต่อกรกับภัยแล้ง และวิกฤตโลกร้อน

พื้นที่ 25 ไร่แห่งนี้ เมื่อปี 2556 เคยเป็นเพียงดินเรียบ ๆ ธรรมดา ไม่มีบ่อเก็บน้ำ เต็มไปด้วยไมยราบ แต่หลังจากได้ศึกษาโมเดล โคก หนอง นา จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง แนวทางการจัดการน้ำและพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อการพึงพาตนเองโดยอาศัยวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่ คุณศรีพรรณ เตชะพันธุ์ ผู้อำนวยการธรรมธุรกิจ ชาวนาธรรมชาติ และธรรมธุรกิจ ข้าวเหนียวสันป่าตอง จำกัด ได้ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทำนา 5 ไร่ ปลูกพืชกินได้นานาชนิด ขุดบ่อและคลองสายเล็กๆ เพื่อกักเก็บน้ำฝน นอกจากมีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและทำเกษตรตลอดทั้งปีแล้ว ยังได้ผลผลิตตลอดทั้งปีอีกด้วย

โมเดลโคก หนอง นา คือ แนวทางการจัดการพื้นที่การเกษตรที่สร้างความเกื้อกูลกันระหว่างการอยู่อาศัย การทำไร่นาสวนผสม และการกักเก็บน้ำ โดยมีการปรับพื้นที่เป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย หนองเพื่อเก็บน้ำ นาที่มีคันสูงเพื่อเก็บน้ำได้มาก โคกที่สูงเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น (ป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง)

“โมเดลโคก หนอง นา สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสวนทุกไร่นา แค่วางแปลนว่าอยากปลูกอะไร อยากเลี้ยงอะไร ดังเช่นที่นี่ เราจะเน้นการกักเก็บน้ำฝน ไม่ใช่น้ำที่ส่งตามคลอง มีการทำนาปีปลูกข้าวเหนียวสันป่าตอง ปลูกเดือนสิงหา เกี่ยวตุลา ถ้าน้ำน้อยก็ปลูกอย่างอื่นแทน เช่น ถั่ว บวบ หอมแดง พริกขี้หนู กะหล่ำปลี ผักสลัด พริก มะเขือ เรดโอ๊ค  ได้เงินตลอดปี เพียงแค่มองข้ามอุปสรรคอย่างเช่น ไม่อยากขุดเพื่อทำพื้นที่กักเก็บน้ำ หรือเสียดายพื้นที่เพาะปลูก แต่ที่จริงแล้วเมื่อสามารถบริหารจัดการน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปี และปลูกพืชต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งปีด้วย จะได้คืนทุนพื้นที่ที่เสียไป” คุณศรีพรรณ เตชะพันธุ์ กล่าว “อุปสรรคอีกอย่างของเกษตรกร คือ หนี้สิน เนื่องจากการสนับสนุนการกู้เงินจากรัฐบาลอย่าง เช่น ธกส. ถ้าเกี่ยวข้องกับปุ๋ยเคมีง่ายกว่าการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผลกระทบต่อมาคือการเจ็บป่วยจากสารเคมี ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกัน และเป็นผลมาจากการที่รัฐไม่สนับสนุนการใช้สารเคมีและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากกว่าการทำเกษตรกรรมตามธรรมชาติ”

นอกจากนี้คุณศรีพรรณยังแนะนำว่า หลักการภูมิปัญญาพื้นบ้าน และการจัดการตามธรรมชาติเป็นการช่วยลดต้นทุน รวมถึงปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกร ดังเช่นไร่นาของคุณศรีพรรณ ที่สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 40 จากการที่ไม่ใช้สารเคมี จากเดิมที่ต้องจ่ายไร่ละ 1,200  บาท ในการดูแลเหลือเพียงไม่เกินไร่ละ 700 บาท และหากทำปุ๋ยหมักได้เองก็จะยิ่งถูกลงอีกด้วย

“โมเดลนี้เกษตรกรทุกคนสามารถนำมาใช้เป็นทางออก แต่หัวใจหลักคือการผสมผสานป่าเข้ามาด้วย เป็นการช่วยบังแดด และเก็บน้ำได้เยอะ เพราะสวนผักอย่างเดียวไม่สามารถกักเก็บน้ำได้นาน  หากเราปลูกแต่ไม่ได้มีป่าเก็บน้ำ น้ำจะแห้งไว นอกจากนี้กล้วยยังช่วยกักเก็บน้ำได้เยอะ และยังขายได้ราคาดีตลอดทั้งปีด้วย ถ้าทำเช่นนี้สามารถรอดได้ในวิกฤตแล้ง” คุณศรีพรรณ เตชะพันธุ์ กล่าวสรุป

“ธรรมธุรกิจ ชาวนาธรรมชาติ” หนึ่งในโมเดล โคก หนอง นา คือ ความหวังในการปรับตัวกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภัยแล้ง นี่คือโอเอซิสแห่งเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ท่ามกลางกระแสการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำและหน้าดิน จากนี้สายฝนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมาแทนที่ และภัยแล้งจะแปรเปลี่ยนเป็นอุทกภัยหากเรายังยึดวิถีการทำเกษตรกรรมที่เน้นแค่เพียงผลผลิตโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงป่าที่ช่วยกักเก็บน้ำและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เรายังมีความหวังท่ามกลางวิกฤตเอลนีโญ ลานีญา และภัยจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงอื่น ๆ หากภาครัฐ เกษตรกร และทุกภาคส่วนร่วมมือกันสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ เพื่อสู้กับภัยพิบัติ และเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนของเรา


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 23 พฤษภาคม 2559 9:58:28 น.   
Counter : 1273 Pageviews.  


ช่วยกันหยุดไทยยูเนี่ยนจากการทำร้ายมหาสมุทร





เขียน โดย อารีฟยาห์ นาซูเตียน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผมอยู่บนเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซ ในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก ด้วยภารกิจสำคัญ ในงานรณรงค์ปกป้องทะเลและมหาสมุทร

ปลาทูน่า น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลยอดนิยม เพราะหาทานได้ง่ายและมีประโยชน์ แต่คุณรู้ไหมว่าปลาทูน่ากระป๋องยี่ห้อดังๆที่ขายทั่วโลกนั้นมาจากไหน คำตอบก็คือ ประเทศไทย

ปลาทูน่ากระป๋องยี่ห้อดังๆที่ขายในโลกส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทไทยยูเนี่ยน เป็นต้นว่า ยี่ห้อซีเล็คที่ขายในไทย จอห์น เวสต์ ขายในอังกฤษ เปอติ นาวีร์ในฝรั่งเศส และ ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี เป็นยี่ห้อที่ขายในสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้เป็นสินค้าของไทยยูเนี่ยน ซึ่งเป็นผู้นำตลาดทูน่ากระป๋อง ไม่เพียงเท่านั้น ไทยยูเนี่ยนยังเป็นผู้นำในการทำลายล้างทะเลของเรา นี่คือเหตุผลที่ผมมาร่วมงานรณรงค์นี้บนเรือเอสเพอรันซา

มหาสมุทรอินเดียตะวันตกได้ชื่อว่าเป็นแหล่งจับปลาทูน่าที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ที่นี่มีทัศนียภาพที่สวยงามมากและเต็มไปด้วยความหลากหลายของสัตว์ทะเล แต่ในทางกลับกัน ผมก็ได้เห็นขยะเกลื่อนทะเล สิ่งนั้นก็คือเครื่องมือล่อปลาหรือที่เราเรียกว่า Fish Aggregating Devices (FADs) เครื่องมือล่อปลาเหล่านี้มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ แต่ก็มีบ้างที่ใช้อวนพลาสติกและไฟนำทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำด้วยพลาสติก โลหะและแบตเตอรี โดยกองเรือประมงจะหย่อนเครื่องมือนี้ไปในทะเล เพื่อล่อและจับปลาหลายร้อยตัน ทันทีที่ปลาเข้ามารวมตัวในเครื่องมือล่อปลา (FADs) มันจะถูกต้อนให้กระจุกรวมกันในอวนขนาดใหญ่ (รูปร่างคล้ายถุงใส่เงิน) ก่อนจะรวบสัตว์น้ำทั้งหมดไม่ว่าจะชนิดพันธุ์ใดหรือมีขนาดโตเต็มวัยหรือไม่และจะยกขึ้นไปบนเรือประมง

ปัญหาของเครื่องมือล่อปลา หรือ FADs คือ มีสัตว์ทะเลอื่นๆทุกรูปแบบทุกขนาดติดมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นปลาทูน่าขนาดเล็ก ฉลาม และ เต่า! ความจริงคือ  เครื่องมือล่อปลา FADs ที่เราพบและเอาออกมาได้จากมหาสมุทรอินเดียนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมถึงบริษัทไทยยูเนี่ยนและบรรดาซับพลายเออร์หรือสายการผลิตทั้งหมด เครื่องมือล่อปลา FADs เหล่านี้เป็นผลให้ได้สัตว์น้ำที่ไม่ต้องการใช้ประโยชน์จำพวก ลูกปลาทูน่า ฉลาม ปลากระโทง และอื่นๆ ถึง 104,000 ตันในแต่ละปี และลูกเรือประมงก็โยนสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการเหล่านี้ลงทะเล ทั้งที่ตายแล้วและกำลังจะตาย

เครื่องมือล่อปลา FADs ที่วางเกลื่อนมหาสมุทรอินเดียส่วนใหญ่เป็นประเภททุ่นลอย ที่ลอยโดยไม่เฉพาะเจาะจงตำแหน่ง เพราะไม่มีกำหนดที่เรือประมงจะมากู้คืน รายงานขององค์กรพิว ทรัสต์ เมื่อปี 2555 ประเมินไว้ว่า ในแต่ละปีจะมีทุ่นลอยอย่างน้อย 47,000 ลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก เครื่องมือล่อปลา FADs เหล่านี้ไม่ต่างจากขยะลอยน้ำ และเมื่อลองคำนวนด้วยจำนวนหมื่นๆอันลอยอยู่ในมหาสมุทร มันก็มีจำนวนไม่น้อยเลย ที่แย่กว่านี้คือ เครื่องมือล่อปลา FADs ทำด้วยพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย และแบตเตอรีก็มีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ที่แย่ยิ่งกว่านั้นอีก คือเครื่องมือล่อปลา FADs จะถูกพัดมาเกยหาดและติดค้างอยู่ตามแนวประการังโดยที่ไม่มีการเก็บกู้เรือประมงยังคงออกวางเครื่องมือล่อปลา FADs เพื่อจับปลาให้บริษัทไทยยูเนี่ยน และบริษัททูน่าอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการทำประมงทูน่าแบบเกินขนาด ที่จับทั้งปลาทูน่าท้องแถบและทูน่าครีบเหลือง แต่ยังจับสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการขึ้นมาด้วย จึงเป็นความสูญเสียของสัตว์ทะเลมากขึ้นไปอีก ความเกี่ยวเนื่องของการใช้เครื่องมือล่อปลา หรือ FADs จึงเป็นการเพิ่มขยะในมหาสมุทร

นี่คือเหตุผลที่กรีนพีซและผู้บริโภคทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้บริษัทไทยยูเนี่ยน สร้างการเปลี่ยนแปลงในสายการผลิตของตัวเอง โดยให้เลิกใช้เครื่องมือล่อปลา หรือ FADs เพราะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและยังเป็นภัยคุกคามต่อความยั่งยืนของมหาสมุทรด้วย เราเรียกร้องให้บริษัทยูเนี่ยนปฏิบัติต่อแรงงานอย่างยุติธรรมเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิแรงงานใดๆ

ลูกเรือเอสเพอรันซาและผมยังคงเดินหน้ารณรงค์ และจับตามองบริษัทไทยยูเนี่ยนเพื่อกดดันให้บริษัทไทยยูเนี่ยนแสดงท่าทีในการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมทูน่า ในฐานะที่เป็นบริษัทผลิตทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดโลก บริษัทไทยยูเนี่ยนจึงสมควรต้องรับผิดชอบต่อการทำลายมหาสมุทรจากการใช้เครื่องมือล่อปลา (FADs) ที่กองเรือประมงยังคงใช้คู่กับอวนล้อมอยู่ จนกว่าบริษัทไทยยูเนี่ยนจะมีมาตรการที่เหมาะสมและจนกว่าทุกสายการผลิตของไทยยูเนี่ยนพิสูจน์ได้ว่า จะไม่มีการทำประมงอย่างทำลายล้างและการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรีนพีซจะยังคงย้ำเตือนบริษัทไทยยูเนี่ยนให้หยุดทำร้ายมหาสมุทรของเรา เช่นนี้ต่อไป

คุณชอบทานปลาทูน่าไหม คุณรักมหาสมุทรไหมและอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ปกป้องมหาสมุทรของเราจากพฤติกรรมทำลายล้างและอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือของอุตสาหกรรมทูน่าหรือไม่ 

ช่วยกันลงชื่อเรียกร้องไปยังบริษัทไทยยูเนี่ยน ที่นี่


 

ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 17 พฤษภาคม 2559 16:20:05 น.   
Counter : 1258 Pageviews.  


Tesco และ Waitrose สองซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่แบนไทยยูเนี่ยนหากยังไม่หยุดทำร้ายทะเล



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ภายในหนึ่งสัปดาห์ สองซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักรได้ออกมาแสดงจุดยืนว่า ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของตนจะต้องไม่ใช่ปลาทูน่าที่มาจากการประมงแบบทำลายล้าง ถึงเวลาแล้วที่ไทยยูเนี่ยนต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าทำการประมงอย่างยั่งยืนแทนการโหมโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ของตน

หลังจากที่คนในสหราชอาณาจักรกว่า 40,000 คน ได้อีเมลถึงประธานบริหารของ Waitrose

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา Waitrose ประกาศว่า ภายในสิ้นปีนี้ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมาจากการประมงอย่างยั่งยืนเท่านั้น นั่นหมายถึงจะต้องมีฉลากของ Marine Stewardship Council (MSC) ซึ่งรับรองสินค้าประมงที่ผลิตอย่างยั่งยืน (Certified Sustainable Seafood) ตั้งแต่ขั้นตอนการทำประมงจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายก่อนถึงมือผู้บริโภค หรือด้วยการประมงโดยใช้เบ็ดตวัดเท่านั้น การประกาศของ Waitrose ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากบริษัท Tesco ประกาศยกเลิกแบรนด์ John West ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องของไทยยูเนี่ยนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

บริษัทไทยยูเนี่ยน เป็นเจ้าของแบรนด์ใหญ่ๆ ที่วางขายอยู่ทั่วโลก เช่น จอห์น เวสต์ (ขายในอังกฤษและ เนเธอร์แลนด์) ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี (ขายในสหรัฐฯ) เปอติ นาวีร์ (ขายในฝรั่งเศส) มาเรบลู (ขายในอิตาลี) และ ซีเล็ค ทูน่า (ขายในประเทศไทย) โดยที่ห่วงโซ่อุปทานของไทยยูเนี่ยนยังคงเชื่อมโยงกับการทำประมงทูน่าแบบทำลายล้างที่คุกคามต่อชีวิตสัตว์ทะเล รวมทั้ง ฉลาม และปลาทูน่า ที่ยังไม่โตเต็มวัย รวมถึงทำให้ประชากรทูน่าที่ยังเหลืออยู่ในมหาสมุทรอินเดีย เช่น ปลาทูน่าครีบเหลือง อยู่ในความเสี่ยงต่อหายนะจากการทำประมงเกินขนาด

ขณะนี้แบรนด์ทูน่ากระป๋องของ Tesco เองได้แบนอุปกรณ์ล่อปลา (Fish Aggregating Devices (FADs) เนื่องจากเป็นการประมงที่ทำร้ายทะเล โดยเฉพาะสัตว์น้ำอย่างฉลาม และได้หันมาใช้วิธีประมงด้วยเบ็ดตวัดแทนแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่า Tesco มุ่งอยากให้แบรนด์อื่น ๆ ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของตนไม่ทำร้ายทะเลด้วยเช่นกัน

“การที่ Waitrose และ Tesco ประกาศยกเลิกการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องจอห์น เวสต์จากไทยยูเนี่ยนหากยังไม่ยุติการทำประมงแบบทำลายล้างนั้น ทำให้จอห์น เวสต์ ต้องสูญเสียเป็นมูลค่าหลายล้านปอนด์เพียงแค่เพราะไทยยูเนี่ยนไม่สามารถทำประมงที่ยั่งยืนดังที่ได้แสดงเจตนารมณ์อวดอ้างไว้” Hélène Bourges ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ สหราชอาณาจักร กล่าว

ตลาดผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องของสหราชอาณาจักรนั้นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และการแสดงเจตนารมณ์ของสองซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นและการก้าวกระโดดครั้งสำคัญสู่อุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ยั่งยืนของโลกก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามนี่คือการส่งสัญญาณเตือนถึงอุตสาหกรรมปลาทูน่าทั่วโลกแล้วว่าทั้งผู้บริโภคและผู้จัดจำหน่ายก็ต่างต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องการปลาทูน่าที่มาจากการทำประมงแบบทำลายล้าง

ร่วมลงชื่อผลักดันให้ไทยยูเนี่ยนหันมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมประมงปลาทูน่าที่ยั่งยืนที่นี่


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2559   
Last Update : 12 พฤษภาคม 2559 11:19:09 น.   
Counter : 1728 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com