กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

คลองมะขามเฒ่า สายน้ำคู่ชุมชน

ตื่นเช้าพร้อมกับความรู้สึกเหมือนได้กลับไปเยี่ยมเยือนเพื่อนรักอีกครั้ง.... “แม่น้ำเจ้าพระยา”




แม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน บริเวณอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท หน้าวัดปากคลองมะขามเฒ่า


หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซ ได้เดินทางมาอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท  เพื่อสำรวจคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นคลองบริ่เวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนที่ยังมีคุณภาพน้ำดีกว่าเจ้าพระยาตอนกลางและตอนล่างมาก ชาวบ้านหรือชุมชนริมคลองยังสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ดี แม้จะไม่ได้มากเหมือนอดีต แต่ก็ดีกว่าบริเวณปลายน้ำมาก คลองมะขามเฒ่าเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำสายสำคัญสองสายด้วยกัน คือแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ปากคลองตั้งอยู่บริเวณวัดปากคลองมะขามเฒ่า วัดศูนย์รวมจิตใจชาววัดสิงห์ สายน้ำไหลเอื่อยสู่ชุมชนที่เงียบสงบ แต่เข้มแข็งจากวีรกรรมการขับเคลื่อนของชาวบ้านในเรื่องการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์




สถานีสูบน้ำจากคลองเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำประปาใช้ในชุมชน ซึ่งมีอยู่กว่า 1,700 ครัวเรือน


ความรักและหวงแหนรู้คุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อคงไว้ให้เด็กๆ ในชุมชนเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของคนรุ่นก่อนในชุมชนนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าในขณะที่เราและทีมงานกำลังช่วยกันพายเรือเข้าไปในคลอง เราจะได้เห็นสภาพน้ำที่ใสสะอาดและเห็นเด็กๆ กำลังกระโดดเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน หลังจาก 1 ปีที่ผ่านมาเมื่อกิจกรรมพายเรือสร้างรอยยิ้มให้เจ้าพระยาที่พวกเราพายเรือจากปากน้ำโพถึงกรุงเทพฯ เราได้ผ่านและหยุดพักเยี่ยมชุมชนชาวปากคลองมะขามเฒ่ามาครั้งหนึ่งแล้ว





เด็กๆ ในชุมชนริมคลองจับกลุ่มกันเล่นน้ำอย่างสนุกสนานตลอดทั้งวัน




หลบแดด แช่น้ำเย็นใต้สะพาน


วันนี้เราได้กลับมาอีกครั้ง เราเริ่มพายกันจากใต้สะพานใกล้ชุมชน ระหว่างทางมีอุปสรรคจากความตื้นเขินและกอผักตบลอยขวางอยู่เป็นระยะ แต่ก็สามารถฝ่าไปได้




 ผักตบชวาลอยขวางอยู่เป็นระยะตลอดเส้นคลอง ปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมและการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอื่นๆ


ระหว่างทางได้พบกับน้องปังปอนด์และแม่กำลังนั่งตกปลา ได้ทราบว่าสัตว์น้ำในคลองนี้ยังชุกชุมมีทั้งปลาแรด ปลาหวาย ปลาสวาย กุ้งฝอยตัวเล็กๆ และปลาชนิดอื่นๆ ซึ่งสามารถหาได้ตลอดปี และแอบเห็นท่อปั้มน้ำเล็กจึงถามว่าท่ออะไร (แอบกลัวเค้าจะปล่อยอะไรลงไปในน้ำ) แต่ได้คำตอบว่าเค้าใช้น้ำในน้ำครัวเรือนจากคลองนี้เช่นเดียวกัน เห็นแล้วรู้สึกอิ่มใจและดีใจกับความโชคดีของคนชุมชนนี้ที่ยังมีน้ำคลองสะอาดๆ ไว้ใช้ และยังเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย ทั้งผักบุ้ง ผักต่างๆ จนถึงสัตว์น้ำขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่



 น้องปังปอนด์ยกรอบดักกุ้งให้ดู พบกุ้งธรรมชาติขนาดเล็กมากมาย และบางที่ก็ได้ขนาดใหญ่






ผักบุ้งที่ขึ้นอยู่ริมคลอง อาหารและรายได้ของชุมชน


พายไปเรื่อยๆ กำลังอิ่มใจ แต่ต้องสะดุดกับภาพอันน่าตกใจ ล่องน้ำสีดำไหลตัดกับความใสสะอาดของน้ำในคลอง “เฮ้ย! นั่นท่ออะไร” คำถามเกิดขึ้นพร้อมกันกับพี่หัวหน้าทีมของเรา กลิ่นเหม็นคาวคลุ้งไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ลอยมาเตะจมูกจนอยากหยุดหายใจ จึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานเพื่อเอาไปหาข้อมูลต่อ ไม่รอช้ารีบพายกลับขึ้นท่าเพื่อไปถามชาวบ้าน จึงทราบว่าเป็นน้ำบ่อกุ้งที่เค้าระบายออกมาโดยไม่ได้มีการจัดการบำบัดก่อนปล่อย ชาวบ้านได้ร้องเรียนกับหน่วยราชการแล้วแต่ก็ไม่มีการประสานงานต่อแต่อย่างใด




น้ำเสียสีดำมีกลิ่นเหม็นถูกแอบปล่อยออกจากบ่อกุ้ง นอกจากความเน่าสกปรกแล้ว น้ำเสียนี้ยังอาจจะมีการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างที่ใช้ในบ่อกุ้ง


“เฮียแกละ” เป็นหนึ่งในทีมขับเคลื่อนการรักษาทรัพยากรท้องถิ่น และวันนี้ยังเป็นไกด์ชุมชนพาเราไปดูลักษณะการไหลของคลองและการเชื่อมต่อกันของแม่น้ำสองสาย จะเห็นได้ว่าสายน้ำสายนี้ยังสามารถใช้อุปโภคบริโภค การเกษตร เช่น ใช้การปลูกข้าว และ เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง โดยลักษณะของพื้นที่ของชุมชนวัดสิงห์คล้ายเกาะ มีแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนล้อมรอบ ชาวบ้านจึงมีอาชีพปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก แต่ปีนี้น้ำแล้งกว่าทุกปี และยังมีปัญหาผักตบชวาวาแน่นปิดบังการไหลของน้ำ ทำให้เกิดการขังในบางจุด เก็บข้อมูลต่างๆ เรียบร้อยจึงขอลากลับพร้อมประกายเล็กๆ ในใจว่า อย่างน้อยชุมชนเล็กๆ ชุมชนนี้ยังมีสายน้ำที่สะอาดและคนในชุมชนยังคงเห็นประโยชน์และคุณค่าของทรัพยากร เราต้องกลับมาทำสิ่งดีๆ ที่นี่อีกครั้งแน่นอน




“เฮียแกละ” หนึ่งในทีมขับเคลื่อนการรักษาทรัพยากรท้องถิ่น



เป็ดไล่ทุ่ง เป็ดที่เลี้ยงในทุ่งนาตามธรรมชาติ โดยจะจิกกินวัชพืช หอยศัตรูพืช พรวนดิน และให้มูลที่เป็นปุ๋ย และเป็ดเหล่านี้จะวางไข่ ซึ่งให้รายได้แก่เกษตรกรไม่น้อย





ปัญหา “ขยะ” ที่ส่วนมากเป็นพลาสติก ถูกทิ้งให้เห็นตลอดริมน้ำเจ้าพระยาและลำคลองผ่านชุมชนแทบทุกที่ในประเทศไทย





 

Create Date : 29 เมษายน 2553   
Last Update : 29 เมษายน 2553 14:32:01 น.   
Counter : 2362 Pageviews.  


"เมือง" กับ "สายน้ำ"

ในอดีตสายน้ำและลำคลองมีบทบาทที่สำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศมาก ครั้งหนึ่งกรุงเทพฯ ได้รับสมญานามจากประเทศตะวันตกว่า “Venice of the East” หรือเวนิสแห่งตะวันออก โดยเป็นหนึ่งในเมืองที่มีลำคลองหลายสายไหลผ่านเมือง เสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย (water-based cities) การเกิดขึ้นของเมืองที่สำคัญในอดีตนั้น มีสายน้ำลำคลองเป็นภูมิศาสตร์ที่สำคัญ คลองเป็นช่องทางการสัญจรคมนาคมหลักที่สำคัญ เป็นแหล่งค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า เป็นแหล่งอาหาร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการทำเกษตรกรรม ทั้งนี้การพัฒนาเมืองในอดีตและวัฒนธรรมชุมชนต่างๆ ล้วนมีจุดกำเนิดจากสายน้ำนั้นเอง (water-based development) ในขณะที่ปัจจุบันการพัฒนาจากผืนดิน (land-based development) ได้เข้ามาเป็นกระแสหลักในการพัฒนาเมือง อาทิ ถนน ที่เข้ามาแทนการสัญจรทางน้ำ เป็นต้น ขณะที่การพัฒนาใช้ประโยชน์จากสายน้ำลำคลอง หรือแม้แต่การอนุรักษ์ภูมิทัศน์ วัฒนธรรม อาชีพริมน้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษได้ถูกลดทอนความสำคัญลงไป จนกระทั่งปัจจุบันหลายแห่งเกิดการเสื่อมโทรมและเกิดผลกระทบต่อชุมชน  ทั้งนี้การพัฒนาที่เหมาะสมควรเป็นไปอย่างสมดุลทั้งทางบกและทางน้ำ ผสมผสานความหลากหลายให้อยู่คู่กัน



แม่น้ำเจ้าพระยา สายเลือดหลักของประเทศ จุดเริ่มต้นสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศ




แม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งอาหารที่สำคัญของคนไทย




บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมคลอง รวมเป็นชุมชนที่อาศัยแหล่งน้ำในการดำรงชีวิต


การใช้ประโยชน์จากสายน้ำลำคลองที่น้อยลงไปในปัจจุบันนั้นไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมเมืองแบบบริโภคและวัตถุนิยม ที่ควบคู่ไปกับการขยายตัวอุตสาหกรรมที่ขาดการควบคุมป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้แหล่งน้ำต่างๆ มีคุณภาพเสื่อมโทรมลง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ ปัญหาระบบนิเวศธรรมชาติ เช่น ป่าไม้หรือพื้นที่สีเขียวริมฝั่งถูกบุกรุกทำลาย ปัญหาภูมิทัศน์ ปัญหาสลัม ปัญหาการลดลงของสัตว์และพืชน้ำ ปัญหามลพิษจากน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทำทิ้งจากบ้านเรือนเอง น้ำที่ไหลจากแปลงเกษตรสมัยใหม่ที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และที่อันตรายที่สุดคือน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนปนเปื้อนสารเคมีอันตรายที่สามารถสะสมปนเปื้อนได้ในน้ำ ในดิน และสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะห่วงโซ่อาหาร ซึ่งในที่สุดแล้ว สารเคมีเหล่านี้ก็กลับมาสู่มนุษย์เอง


  ภูมิทัศน์ของคลองที่เริ่มเสื่อมโทรม คุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลงจะส่งผลกระทบต่อชุมชน และอาหารเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษจากน้ำทิ้งอุตสาหกรรมที่ใช้สารพิษอันตรายในกระบวนการผลิต




อาชีพแยกขยะของบ้านเรือนริมคลอง



ผลกระทบที่เกิดต่อชุมชน อันเกิดจากคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลงมีหลายกรณี อาทิ การย้ายถิ่นฐานไปยังบริเวณอื่น ผลกระทบต่ออาชีพการทำประมงหาปลา การทำเกษตร ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการสูญเสียการใช้งานของแหล่งน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะ การลดลงของอาหารตามธรรมชาติ การสูญหายของวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่น และในที่สุดแหล่งน้ำลำคลองดังกล่าวที่เป็นต้นกำเนิดของชุมชน สังคมและวัฒนธรรมก็เหลือแค่เป็นที่รองรับน้ำทิ้งจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์



 ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปจากน้ำเน่าเสีย ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และการล่มสลายของชุมชนริมคลอง




ชาวบ้านยังคงหาอาหารจากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่นับวันก็ร่อยหรอลงทุกที



หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ (Water Patrol Unit)




 

Create Date : 27 เมษายน 2553   
Last Update : 27 เมษายน 2553 10:55:51 น.   
Counter : 1499 Pageviews.  


สุขสันต์วันคุ้มครองโลก ยื่นมือช่วยโลก

สวัสดีครับ

ยื่นมือช่วยโลก Give Earth a hand

ในวันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ผมขอถือโอกาสนี้ สุขสันต์วันคุ้มครองโลกคุณและครอบครัวของคุณด้วยวิดีโอที่กรีนพีซจัดทำขึ้นมาเป็นพิเศษเนื่องในวันคุ้มครองโลก ดูวิดีโอนี้ และคุณสามารถส่งต่อไปถึงเพื่อนๆ หรือคนใกล้ชิดเพื่อชักชวนพวกเขาให้มาเป็นส่วนหนึ่งกับกรีนพีซในการต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันกับคุณครับ



ในปัจจุบัน โลกของเรากำลังประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก การบุกรุกผืนป่า มลภาวะใต้ท้องทะเล การทำประมงอย่างขาดความรับผิดชอบ การล่าวาฬ สารพิษ พลังงานถ่านหินและนิวเคลียร์ รวมถึงการตัดต่อทางพันธุกรรมในพันธุ์พืช ได้คืบคลานเข้ามาทำลายคุณภาพชีวิตและความอยู่รอดของทุกสรรพชีวิตต่างๆบนโลกใบนี้ ภาครัฐบาลและอุตสาหกรรมต่างให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนละเลยต่อประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดมหันตภัยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รุนแรงขึ้นทุกวัน

ตลอดระยะเวลาที่กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมา เราเป็นประจักษ์พยาน โน้มน้าว และกดดันนักการเมืองและภาคอุตสาหกรรมต่างๆให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำลายสิ่งแวดล้อมของพวกเขา โดยผ่านการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ อันนำมาซึ่งประโยชน์ส่วนรวมต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นสำคัญครับ

ความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มิใช่เพราะเรือรณรงค์ การเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี หรืองานรณรงค์เพื่อหาทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กรีนพีซทำเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณ ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากคนที่มีใจรักสิ่งแวดล้อมเช่นคุณเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการทำงานรณรงค์ของเราครับ

สุขสันต์วันคุ้มครองโลกครับ

คูมิ ไนดู
ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซสากล




 

Create Date : 22 เมษายน 2553   
Last Update : 22 เมษายน 2553 21:15:09 น.   
Counter : 862 Pageviews.  


โปสการ์ดจากภาคเหนือ

ภัยแล้งได้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย แต่ชีวิตที่นั่นยังคงดำเนินต่อไป

เริ่มต้นเดือนมีนาคม รัฐบาลก็ได้ประกาศสถานการณ์ภัยแล้งใน 36 จังหวัดทั่วประเทศไทย จากนั้นในช่วงสิ้นเดือน ตัวเลขของภัยแล้งได้เพิ่มขึ้นเป็น 53 จังหวัด โดยรัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ว่าจะรุนแรงขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน

ภาพที่เห็นจากหน้าต่างรถประจำทางตั้งแต่เชียงรายไปเชียงของ จนกระทั่งถึงเชียงแสน คือไร่นาอันแห้งแล้ง บ่อน้ำที่แห้งผาก ลำน้ำโขงที่มีน้ำไหลเอื่อยๆ ระดับน้ำในลำน้ำโขงนั้นดูแทบจะสูงไม่ถึงหนึ่งเมตร หรือมีระดับน้ำแค่ครึ่งเมตรในบางพื้นที่


 


เชียงของ, เชียงราย, 18 มีนาคม 2553 – หญิงชราชาวม้งกำลังเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกบริเวณชายเขาในเชียงของ จังหวัดเชียงราย


ความแห้งแล้งยิ่งทำให้แสงแดดทุกวันนี้ดูร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความร้อนรวมตัวกันกับไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้งของภูมิภาคนี้ บางครั้งเกิดขึ้นตามธรรมชาติและส่วนมากเกิดด้วยความตั้งใจ ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี เราจะได้กลิ่นเหม็นไหม้จากการเผาไร่ เผานา เห็นท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยกลุ่มหมอกควันและฝุ่นขี้เถ้า และภาพของตอไหม้และนาข้าวสีดำๆ กระจายอยู่ทั่วไป และดูเหมือนว่าความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้จะถูกปกปิดด้วยภาพชีวิตของผู้คนที่ยังดำเนินไปอย่างเป็นปกติ เสมือนกับคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป”




ที่อำเภอขุนตาล  จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2553 นายสมชาย ยาวิเริง อายุ 46 ปี ชี้ให้ดูระดับน้ำที่ลดลงของบ่อเก็บน้ำที่อยู่กลางนาของเขาในอำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย 


ที่อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เราได้รู้จักกับเกษตรกรชื่อนายสมชาย ยาวิเริง อายุ 46 ปี เขาเริ่มปลูกข้าวเมื่อเดือนมกราคมที่แล้ว หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคมผ่านไปไม่นาน แต่ด้วยปัญหาระบบชลประทานที่จำกัดมาก ทำให้ทั้งเขาและภรรยาเริ่มกังวลกับการเก็บเกี่ยว นาของเขาดูแห้งแล้งจนเกือบจะแตกระแหง และต้นข้าวก็แทบจะอยู่ไม่รอด เขาคุ้นเคยกับความร้อนของฤดูแล้งเป็นอย่างดี แต่ปีนี้เขาบอกว่าเป็นฤดูร้อนที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมา

“สองสามปีที่แล้ว ผมยังไปหาน้ำจากคลองใกล้ ๆ บ้านมาปลูกข้าวได้ แต่ว่าปีนี้น้ำในคลองแห้งมากและผมก็ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำของหมู่บ้านที่อยู่ไกลออกไปอีก 500 เมตร ฝนที่ตกน้อยกว่าทุกปีก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก” นายสมชายกล่าว แต่เขาก็ยังโชคดีกว่าเพื่อนบ้านหลาย ๆ คนที่ต้นข้าวของพวกเขาไม่สามารถอยู่รอดจากความร้อนได้

ชาวประมงในอำเภอเชียงของก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน ระดับน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ปลาในแม่น้ำ ทำให้เกิดความกังวลว่าการจับปลาในปีนี้จะลดลงอย่างมาก ชุมชนโดยรอบต่างพากันแสดงความกังวลถึงความอยู่รอดของปลาบึก ซึ่งเป็นปลาประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเชียงของและกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ถึงแม้ว่าทั้งรัฐบาลและหน่วยงานเอกชนจะมีโครงการขยายพันธุ์ปลาบึก แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้แทบจะไม่มีใครได้พบเห็นปลาบึกในแม่น้ำเลย




9 มีนาคม 2553 – ชาวประมงกำลังจอดเรือเทียบตลิ่งทรายในลำน้ำโขง ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย 


ไม่เพียงแค่ปลาบึกเท่านั้น ปลาพันธุ์อื่นๆ ในลำน้ำโขงก็กำลังขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะไก ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตในช่วงฤดูร้อน บริเวณริมแม่น้ำที่มีน้ำตื้นเขินและมีก้อนกรวด สาหร่ายไกหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลงและน้ำขุ่นมากขึ้น นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายประชาชนในท้องถิ่น อายุ 50 ปี เล่าให้เราฟังว่า ในอดีตนั้นเราสามารถทำนายหรือคาดเดาสิ่งต่างๆ ได้จากการดูระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งแม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ยังรู้ว่าจะไปหาสาหร่ายไกได้ที่ไหน และเมื่อไหร่ “แต่ตอนนี้ไม่มีใครบอกได้ สาหร่ายไกหาได้ยากมาก เราคาดเดาอะไรไม่ได้อีกแล้ว”

ในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดเชียงราย ทุกอย่างดูเหมือนจะยังดำเนินไปอย่างปกติ ตรงข้ามกับรายงานภัยแล้งอันรุนแรงของปีนี้ ชุมชนชาวเขาเผ่าม้งที่อาศัยอยู่บนภูเขาในเชียงของได้เริ่มเพาะปลูกตามขั้นบันไดในเช้าวันหนึ่งหลังจากมีฝนตกลงมาอย่างไม่คาดฝัน ชาวบ้านที่นี่พึ่งน้ำฝนมากกว่าน้ำจากระบบชลประทานแบบที่ใช้ในการเพาะปลูกในที่ราบ  และยิ่งระดับน้ำในสันปันน้ำลดลงเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าบนภูเขา ปัญหาภัยแล้งก็ดูจะยิ่งรุนแรงขึ้นสำหรับชาวบ้านในชุมชนนี้ ฝนทำให้ดินเกิดความชุ่มชื่น แต่ละครอบครัวจึงลงมือปลูกมันสำปะหลังตามไร่สวนข้างทาง ถึงแม้พืชหัวจะสามารถทนความแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชประเภทนี้ในช่วงที่มีภัยแล้งนั้นอาจทำให้กลายเป็นพืชมีพิษได้




20 มีนาคม 2553 – ชาวม้งปลูกมันสำปะหลังตามไร่ริมถนนในเชียงของ จังหวัดเชียงราย





20 มีนาคม 2553 - หญิงสาวชาวม้งกำลังเตรียมก้านมันสำปะหลังสำหรับเพาะปลูกในไร่บริเวณข้างถนน ในเชียงของ จังหวัดเชียงราย


ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขงต่างก็ต้องพึ่งพาวัฏจักรของความแห้งแล้งและน้ำท่วมมาโดยตลอด แต่เมื่อภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและวัฏจักรก็ค่อยๆ สั่นคลอนขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเนื่องจากการสร้างเขื่อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ความเสียหายอันมหาศาลที่จะเกิดขึ้นอย่างที่เราไม่ทันจะตั้งตัวรับนั้นอาจมีมากกว่าที่เราคิด


เขียนโดย เลยา เกเรโร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภาพโดย ชัยเลนดรา ยัสวัน
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้




 

Create Date : 02 เมษายน 2553   
Last Update : 2 เมษายน 2553 17:23:33 น.   
Counter : 1607 Pageviews.  


มลพิษไม่ใช่ความลับ

มลพิษไม่ใช่ความลับ
การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนควรเริ่มต้นจากการเปิดเผยข้อมูลด้านสารพิษ
โดย พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักกิจกรรมกรีนพีซ 20 คนร่วมรณรงค์ปัญหามลพิษทางน้ำในประเทศ โดยแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “อุตสาหกรรมต้องเปิดเผย มลพิษไม่ใช่ความลับ” บนอาคารสำนักงานกรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งแก้ปัญหาสารพิษในแหล่งน้ำ พร้อมจี้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมริเริ่มพัฒนากฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษ

กรุงเทพฯ, 18 กุมภาพันธ์ 2553 - นักกิจกรรมกรีนพีซ 20 คนร่วมรณรงค์ปัญหามลพิษทางน้ำในประเทศ โดยแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “อุตสาหกรรมต้องเปิดเผย มลพิษไม่ใช่ความลับ” บนอาคารสำนักงานกรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งแก้ปัญหาสารพิษในแหล่งน้ำ พร้อมจี้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมริเริ่มพัฒนากฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษ

วิกฤตการณ์มลพิษมาบตาพุดที่ยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคำตัดสินของศาลที่ผ่านมา ได้จุดประเด็นให้คนไทยได้หันมามองปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แม้ว่าจะช้าเกินไปก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความจริงที่ว่า โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนปล่อยสารพิษอันตรายนับไม่ถ้วนในปริมาณมหาศาลในแต่ละวัน ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของคนในชุมชน โดยยังขาดมาตรการการควบคุมที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่สำคัญยังขาดมาตรการการประเมินติดตามการปล่อยมลพิษของแต่ละโรงงาน โดยยังไม่มีการจัดทำข้อมูลและเปิดเผยอย่างโปร่งใสจากภาคอุตสาหกรรม

โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะที่มีควันพิษพวยพุ่ง <br>โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุของมลพิษต่อชุมชนโดยรอบ <br>โดยทำให้ผู้คนล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรง <br>และสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้อีก
โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุด ที่ปล่อยสารเคมีอันตรายสู่แหล่งน้ำโดยรอบ

กรณีมาบตาพุดควรเป็นเสียงปลุกให้คนไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาสารพิษจากภาคอุตสาหกรรม สถิติการใช้สารเคมีที่เก็บโดย Chermprack.org แสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยผลิตและนำเข้าสารเคมีกว่า 30 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งประมาณ 8 แสนตัน การศึกษาของกรีนพีซที่ผ่านมาล้วนพบว่าสารเคมีอันตรายเหล่านี้ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ล้วนหลุดรอดหรือถูกปล่อยมาพร้อมกับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งที่น่ากังวลคือส่วนใหญ่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เป็นพิษ และ สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงในห่วงโซ่อาหาร จึงเป็นอันตรายอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน ทั้งนี้มาตรการควบคุมมลพิษในปัจจุบัน ที่มีเพียงการกำหนดมาตรฐานปริมาณความเข้มข้นของสารพิษในน้ำทิ้ง และข้อกำหนดเรื่องกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถปกป้องแหล่งน้ำให้ปลอดจากการปนเปื้อนสารพิษอันตรายได้เลย ขณะที่มาตรการเชิงรุกที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุยังไม่มีการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง คือ การลดใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด และ มาตรการลงโทษ ที่สามารถหยุดกลวิธีสกปรกของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย และขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง


น้ำสีดำเป็นฉากสะท้อนปัญหาของเมือง - ปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร

หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มุ่งพัฒนาประเทศโดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก ตามกระแสรูปแบบการพัฒนาของประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่ ทว่าทิศทางการพัฒนาของไทยดังกล่าวกลับต้องถูกสังเวยด้วยปัญหาสุขภาพของประชาชน การสูญเสียทรัพยากร และ ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หลายๆ เหตุการณ์สร้างความน่าอับอายให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศที่มาบตาพุด มลพิษทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงอุบัติเหตุทางสารเคมีที่เป็นอันตรายที่แหลมฉบัง และการทิ้งกากสารพิษที่ศรีราชา ซึ่งเป็นเพียงแค่ไม่กี่ตัวอย่างของการปล่อยมลพิษและอุบัติภัยจากอุตสาหกรรมที่หยั่งลึกในสังคมไทย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการได้รับสารพิษ และการอยู่กับมลพิษเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเป็นพิษ ซึ่งล้วนเป็นผลพวงที่ซ่อนมากับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย



คำถามก็คือ รัฐบาลจะเริ่มชำระภาคอุตสาหกรรมอย่างไรเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน นอกเหนือจากมาตรการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดจากภาครัฐ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นจากภาคโรงงานอุตสาหรรม คำตอบก็คือ การนำแนวคิด "ความโปร่งใสด้านสิ่งแวดล้อม" (Environmental Transparency) มาใช้เป็นแนวทางปฎิบัติ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้บังคับใช้กฏหมายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (EIA และ HIA) กับโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วก็ตาม แต่ยังขาดจุดสำคัญจุดหนึ่งไป นั่นคือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนโดยการให้ “สิทธิในการรับรู้” และเข้าถึงข้อมูลการใช้สารพิษ ซึ่งประชาชนควรมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการตัดสินใจและการอนุมัติโครงการต่างๆ รวมถึงกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานด้วย แนวปฏิบัตินี้จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นำไปสู่การลดและป้องกันมลพิษ และในที่สุดขจัดปัญหามลพิษไปได้

กฏหมายการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษ ซึ่งรับรองสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลด้านมลพิษ ที่ชื่อว่า Toxic Release Inventory (TRI) หรือทำเนียบข้อมูลการปล่อยสารพิษนั้น ใช้ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา โดยหลังเกิดอุบัติเหตุโรงงานผลิตสารเคมีที่คร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นที่เมืองโบภาล (Bhopal) ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2527 และตามมาด้วยเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลจากโรงงานย่อยในรัฐเวสต์ เวอจิเนียร์ สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประชาชนเรียกร้องให้โรงงานต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้ การเคลื่อนย้าย และ ปล่อยสารเคมีอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรมสู่แหล่งน้ำ อากาศ และ พื้นดิน โดยต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้




ประเทศพัฒนาอื่นๆ ก็ได้มีกฏหมายลักษณะนี้เช่นกัน โดยเรียกว่า Pollutant and Release and Transfer Registers หรือ PRTRs (ทำเนียบข้อมูลการใช้งานและการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม) ซึ่งเป็นข้อมูลให้ประชาชนทราบว่าโรงงานแต่ละแห่งใช้และปล่อยสารเคมีอันตรายประเภทใดบ้างออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลขยะและของเสียที่โรงงานขนย้ายไปยังแหล่งรองรับขยะหรือแหล่งบำบัดของเสีย ระบบนี้กำหนดให้โรงงานปรับปรุงข้อมูลปีละครั้ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถติดตามแนวโน้มของสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว และแสดงให้เห็นว่าโรงงานอุตสาหกรรมหรือภาคนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งนั้น ก้าวหน้าในการลดปริมาณของเสียและมลพิษเพียงใด และควรพัฒนาต่อไปอย่างไร

ปัจจุบันนี้ PRTR ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางมากที่สุดคือ สนธิสัญญานานาชาติ Aarhus PRTR (และสนธิสัญญา Kiev ที่อยู่ภายใต้ Aarhus) ซึ่งร่างขึ้นในปี 2546 ข้อตกลงนี้ได้รวบรวมองค์ประกอบจากแนวปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และ สหภาพยุโรปเข้าไว้ด้วยกัน โดยเป็นที่ยอมรับใน 38 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศในสหภาพยุโรปด้วย และมีแนวโน้มว่าจะมีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้น ระบบ PRTR ของประเทศญี่ปุ่นถูกกำหนดขึ้นในปี 2543 โดยเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้สารเคมีกว่า 354 ชนิด

PRTR ได้มีส่วนทำให้ประสบผลก้าวหน้าในการลดปริมาณมลพิษอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากประยุกต์ใช้กฏหมายทำเนียบข้อมูลการปล่อยสารพิษ ปริมาณมลพิษทั้งหมดที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมลดลงถึงร้อยละ 46 จากปี 2531 ถึง 2539 ในประเทศแคนาดา ปริมาณการปล่อยมลพิษทั้งหมดลดลงถึงร้อยละ 36 ภายใน 3 ปี หลังจากบังคับใช้กฏหมายนี้ และ ในประเทศอังกฤษ และเวลส์ สามารถลดการปล่อยมลพิษได้ถึงร้อยละ 48 จากปี 2540 ถึง 2544




หลายประเทศได้ตระหนักเห็นแล้วว่า PRTR เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกฏหมายนี้ช่วยให้ทั้งรัฐบาล โรงงานอุตสาหกรรม และ ประชาชนได้รับทราบข้อมูลสารพิษที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม สามารถช่วยผลักดันให้เกิดการประชุมนานาชาติเรื่องการลดมลพิษ และ กระตุ้นให้โรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคธุรกิจลดปริมาณการปล่อยสารพิษ ลดการขนย้ายของเสีย และ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้สารเคมีอันตรายให้น้อยที่สุดจนไม่ต้องใช้เลย หลายๆ ชุมชนในต่างประเทศได้ค้นพบว่าการจัดทำข้อมูลการปล่อยสารพิษของโรงงานอุตสาหกรรมให้สาธารณชนได้รับรู้เป็นรายวัน (หรือแม้แต่รายปี) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างมากที่จะทำให้เหล่าโรงงานอุตสาหกรรม ระมัดระวังในการปล่อยสารพิษมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเปรียบเทียบกับโรงงานข้างเคียงหรือโรงงานคู่แข่ง

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ข้อมูลจากทำเนียบ PRTR จะทำให้ประชาชนได้รู้ว่ามีสารพิษอะไรบ้างที่ถูกปล่อยและขนย้ายเข้ามาในชุมชนของตน รวมทั้งได้เข้าใจความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ทั้งจากโรงงานและจากองค์กรของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเตรียมพร้อมได้เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น



ความโปร่งใสด้านสิ่งแวดล้อมโดยการเปิดเผยข้อมูลมลพิษอย่างที่ได้กล่าวมานี้ยังคงไม่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเมืองไทย ทั้งๆ ที่มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ขั้นรุนแรงในประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงตัวประชาชนเองก็ตาม ยังคงมองข้ามความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลสารพิษ และความรุนแรงของปัญหามลพิษ ข้อมูลสารเคมีที่โรงงานยื่นต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมนั้นยังถือเป็น "ความลับของโรงงานอุตสาหกรรม" ที่ถูกเก็บไว้ให้ห่างจากสายตาประชาชน ไม่มีกฏหมายหรือข้อบังคับใดๆ ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลสารพิษที่ถูกใช้ ขนย้าย และ ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม และคาดว่าคงจะยังไม่มีในเร็ว นี้ ดังนั้นประชาชนในชุมชนทั้งหลายจึงถูกขังอยู่ในความมืด ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าปริมาณสารพิษต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมาสู่แหล่งน้ำมีเท่าใด

ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมไม่ควรล่าช้าในการลงมือแก้ไขปัญหามลพิษ รัฐบาลควรกำหนดรายชื่อสารเคมีที่เป็นอันตราย จากนั้นจึงวางมาตรการในการลด จำกัด และ ท้ายสุดคือยกเลิกการใช้ในกระบวนการผลิต โดยกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน การเริ่มใช้ระบบข้อมูลทำเนียบการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ควบคู่ไปด้วยกัน จะทำให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษได้ง่ายขึ้น และจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อให้การลดมลพิษประสบผลสำเร็จ หลักการป้องกันปัญหา PRTR นี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมสมควรนำมาใช้ปฎิบัติ

* ดูภาพไสลด์การเล่นไม่ซื่อทั้ง 10 รูปแบบ ได้ที่นี่
* อ่านแถลงการณ์วันน้ำโลก 2553
* ลงมือทำเพื่อสิทธิ์ของคุณ - สนับสนุนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการสิ่งแวดล้อมภาคอุตสาหกรรม




 

Create Date : 22 มีนาคม 2553   
Last Update : 22 มีนาคม 2553 15:58:04 น.   
Counter : 5452 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com