กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

กว่าจะเป็นแบนเนอร์พะยูนยักษ์ การรวมพลังเยาวชนปกป้องกระบี่



ภาพป้ายผ้ารูปพะยูนขนาดมหึมาที่นักวิ่งและนักกิจกรรมร่วมกันส่งต่อในตอนเช้ามืดของวันที่ 18 พ.ค. ในงานวิ่งรณรงค์ปกป้องกระบี่ Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi ยังคงอยู่ในความประทับใจของใครหลายๆ คน แต่ป้ายผ้าผืนนี้มีความเป็นมาที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังและอยู่ในรายละเอียดของการทำป้ายผ้าผืนนี้คือเยาวชนกรีนพีซ และเครือข่ายเยาวชน ที่มุ่งมั่นฝากความหวังในการสร้างอนาคตสีเขียวผ่านทางพะยูนยักษ์ตัวนี้

จุดเริ่มต้น จากความคิดและพลังของเยาวชน

ป้ายผ้าถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในงานรณรงค์ของกรีนพีซเพื่อใช้ในการส่งสารและเผยแพร่งานรณรงค์ เช่นเดียวกับงานวิ่งรณรงค์ปกป้องกระบี่ Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi ในครั้งนี้แต่ก่อนที่ป้ายผ้ายักษ์รูปพะยูน.ขนาด 5x12 เมตร พร้อมข้อความ “Protect Krabi” หรือปกป้องกระบี่ถูกกางขึ้นในกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยกลุ่มเยาวชน อาสาสมัครกรีนพีซและนักวิ่งกว่า 1,500 คน เพื่อร่วมแสดงพลังและจุดยืนในการปกป้องทรัพยากรณ์ทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดกระบี่จากโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกลายมาเป็นภาพสัญลักษ์ในงานวิ่งรณรงค์  Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi ที่ถูกกระจายออกไปตามสื่อต่างๆ ฝ่ายผลิตป้ายผ้าของเราต้องร่วมกันตีโจทย์ที่สำคัญของงานนี้ คือ ทำอย่างไรให้ป้ายผ้า “ฉีก-แปลก-แหวกแนว” ไปจากรูปแบบเดิม  (ตัวหนังสือสีดำบนผ้าพื้นสีเหลือง) และทำจากวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้ที่มาตอบโจทย์และสร้างสรรค์ป้ายผ้าที่เป็นดั่งพระเอกของงานเราก็คือ เยาวชน ซึ่งเป็นคำตอบของทุกคำถามในใจของทีมงานกรีนพีซ ว่าถ้าเราต้องการชิ้นงานที่ดึงดูดเพราะดูมีความสนุกและสดใส กลุ่มคนที่น่าจะมีความถนัดในการช่วยสร้างสรรค์ผลงานลักษณะนี้ได้ก็คงหนีไม่พ้นเยาวชนคนรุ่นใหม่นั่นเอง ดังนั้นเราจึงติดต่อประสานงานไปที่เครือข่ายซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ว่ามีกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวที่พอจะสนใจงานออกแบบและผลิตป้ายผ้ารูปพะยูนสำหรับงานรณรงค์ปกป้องกระบี่หรือไม่ และนั่นคือจุดกำเนิดพะยูนยักษ์ป้ายผ้าที่มีสีสันที่สุดของกรีนพีซ

ความท้าทาย: วัสดุเหลือใช้เพื่อให้เรามีใช้อย่างเหลือเฟือ

หลังจากได้ทีมศิลปินทั้ง 3 คนมาร่วมงานพร้อมภาพร่างพะยูน อุปสรรคแรกก็คือ งบประมาณที่จำกัดเราจะหาวัสดุอุปกรณ์จากไหนมาผลิตป้ายผ้าที่ต้องสวย มีขนาดใหญ่และใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลืมกระดาษรีไซเคิลหรือวัสดุย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่มีราคาแพงเกินไปสำหรับโปรเจคนี้ไปได้เลย เราขาดกำลังในการซื้อและไม่จำเป็นต้องซื้อวัสดุใหม่ แต่สิ่งที่เราทำได้และควรจะทำคือการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ หรือ “Reuse” ซึ่งเริ่มต้นที่โกดังเก็บของของกรีนพีซนั่นเอง เรามีผ้าแคนวาสขนาดใหญ่ที่เคยใช้ในงานรณรงค์ล้างสารพิษ “ดีท็อกซ์” เมื่อหลายปีที่แล้วซึ่งเหมาะสุดๆสำหรับการทำป้ายผ้าพะยูนผืนนี้

วัสดุสำคัญอย่างที่สองก็คือขยะ ซึ่งกว่าจะได้ขยะที่มีสภาพเหมาะสม คือไม่สกปรก มีสีสันและพื้นผิวที่หลากหลาย หลังจากที่เหล่าศิลปินตระเวนหาและสำรวจกันหลายวัน  จนในที่สุดจึงพบร้านขายพลาสติกรีไซเคิลแถวบางบอน ที่ขายบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้หรือมีตำหนิจากโรงงาน เช่นถุงขนมและบรรจุภัณฑ์อาหารยี่ห้อต่างๆ

วัสดุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ปะการังที่ถูกแปะอยู่บนตัวพะยูนดูมีมิติก็คือ เศษผ้าที่ทำหน้าที่เหมือนนุ่นที่ถูกยัดไว้ภายในปะการัง เศษผ้าเหล่านี้ที่จริงแล้วก็คือขยะดีๆ นั่นเอง ซึ่งเราขอมาจากโรงงานเย็บเสื้อผ้าขายส่งแถวห้วยขวาง ที่ได้รับการอนุเคราะห์มาทั้งหมด 5 กระสอบใหญ่ๆ

ทำงานแข่งกับเวลา: 10 วัน จากพลังเยาวชน 40 คน สู่มือมหาชน 1,500 คน

ประภาภรณ์ สีนานวล หนึ่งในทีมศิลปินให้เหตุผลว่า “หากประชาชนทั้งประเทศยังมีความต้องการใช้พลังงานอย่างไม่สิ้นสุด ไม่เรียนรู้ที่จะใช้พลังงานทดแทน ในอนาคตเราคงไม่มีแม้กระทั่งอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปกป้องกระบี่ จึงสร้างสรรค์ผลงานลงบนผืนผ้าใบรูปพะยูน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบในอนาคตที่กำลังเข้ามาทำลายธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ป้ายผ้าพะยูนนี้จะช่วยทำให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบดังกล่าว และหันมาช่วยกันรณรงค์ร่วมมือกันปกป้องกระบี่ให้มากยิ่งขึ้น”

พวกเขามีเวลาทั้งหมด 10 วันเท่านั้นในการผลิตป้ายผ้าพะยูนผืนนี้ ตั้งแต่ออกแบบ ร่างภาพ หาซื้อวัสดุอุปกรณ์ ร่างแบบบนแคนวาส ลงสี และประดิษฐ์ปะการังเพื่อแปะลงบนตัวพะยูนอีกที แล้วปิดท้ายด้วยการเย็บรอบขอบป้ายผ้าขนาด  5x12 เมตร ด้วยมือ เพื่อทำช่องสำหรับสอดโครงไม้ไผ่ ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยที่ล้วนต้องใช้เวลาอย่างมากในการประดิบประดอย ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้งานเสร็จทันเวลา สำหรับงานนี้คำตอบคือแรงกายแรงใจจากพลังเยาวชนล้วนๆ ทุกรายละเอียดของป้ายผ้าพะยูน คือ แรงกายและแรงใจของเยาวชนกรีนพีซและเครือข่ายเยาวชนผู้มีใจรักสิ่งแวดล้อม ทั้งกลุ่มชมรมอาสาพัฒนา พระจอมเกล้าพระนครเหนือและกลุ่ม Silent Power จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมกว่า 40 ชีวิตได้ชักชวนเพื่อนฝูง ผลัดเปลี่่ยนกันมาช่วยในช่วงเตรียมงานและช่วงวันงานมาราธอน น้องธีรเมธิศวร์เหลืองอุบลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “นอกจากความสนุกที่ได้นั่งตัดปะติดเล็กๆน้อยๆ จนสำเร็จเป็นป้ายพะยูนตัวใหญ่แล้ว ผมยังมีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการรณรงค์เพื่อปกป้องทะเลกระบี่อันเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์น้ำและปลายทางสุดโปรดของผมจากภัยคุกคามขนาดมหึมานี้ด้วย” เช่นเดียวกันน้องณรัก ศิริเมธาธนกฤต เยาวชนจากกลุ่มชมรมอาสาพัฒนา พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เป็นหนึ่งในทีมที่มาช่วยกางป้ายผ้าบอกว่า “ครั้งแรกที่ได้เห็นป้ายผ้าก็ตื่นเต้น มันทั้งสวยทั้งใหญ่มาก และมีน้ำหนักมากต้องใช้คนช่วยกันยกเกือบ 20 คน ดีใจที่ได้เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ในการแสดงออกของป้ายผ้า รูปพะยูนนี้เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของสัตว์ต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน”


ความเหนื่อยล้าของทุกคนได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เผยแพร่งานรณรงค์ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน จากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้า และสู่สายตาประชาชนชาวไทย ส่งต่อไปพร้อมกับความหวังในการสร้างอนาคตสีเขียวที่มั่นคงของทุกคน ทุกสิ่งเหล่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากเยาวชน พลังสร้างสรรค์ของเรา ดังที่ศศธร นฤมล จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าวไว้  “เราคือเยาวชนกรีนพีซ หน่วยสีเขียวเคลื่อนที่ มารวมตัวกันเพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น ฉันเชื่อว่า จุดเริ่มต้นของเราอาจเท่ากับจุดเริ่มต้นของคนอีกมากมาย เราเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่จุดเล็กๆของเราก็ทรงพลัง”



ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่
//www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

Blogpost โดย same star -- มิถุนายน 12, 2557 ที่ 13:05




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 17:00:22 น.   
Counter : 894 Pageviews.  


จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน 2557

เรื่อง

หยุดเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินกระบี่เข้าสู่การพิจารณา
ของคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช) ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช)
และทบทวนทางเลือกการผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน โปร่งใสและเป็นธรรมในพื้นที่ 

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (คำสั่งฉบับที่ 54/2557) โดยให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายพลังงานต่อ คสช. กำหนดหลัก เกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงาน ติดตามดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดงาน ทั้งในส่วนราชการ เอกชนและรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ รวมทั้งประเมินผล การปฎิบัติงานตามนโยบายพัฒนาพลังงานของประเทศนั้น ทางกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินซึ่งประกอบด้วยกลุ่มและองค์กรตามรายชื่อท้ายจดหมายนี้ในฐานะ ภาคประชาสังคม ขอเรียกร้องต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในฐานะเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ดังนี้ 

1) หยุดเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่จังหวัดกระบี่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมกันนี้ ให้ยุติการดำเนินกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วยเหตุที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวขาดความโปร่งใสตรวจสอบได้และสร้างความขัดแย้งทางสังคมขึ้นในพื้นที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ควรนำผลการไต่สวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกรณีการละเมิดสิทธิชุมชนในพื้นที่จากกระบวนการดังกล่าวมาพิจารณาเป็นบทเรียนในการบริหารจัดการตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักสากลและมีการบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน 

2) แม้จะมีข้ออ้างมาโดยตลอดว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน นั้นสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) โดยระบุว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในภาคใต้และเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ต้องยอมรับความจริงที่ว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 สะท้อนถึงกระบวนการวางแผนพลังงานที่เป็นปัญหาถึงขั้นวิกฤต การเลือกสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ก่อมลพิษ สร้างความขัดแย้ง มีต้นทุนและความเสี่ยงสูง แทนที่จะเป็นทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า สะอาดกว่า และสมเหตุสมผลในทางเศรษฐกิจนั้นขัดกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยและยังขัดกับผลประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอีกด้วย 

3) เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกระบี่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยในทุกระดับ จังหวัดกระบี่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งในภาคใต้สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 100 ภายใน 4 ปีข้างหน้า หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯในฐานะรัฐวิสาหกิจชั้นนำในภาคการไฟฟ้าริเริ่มนำแผนอนุรักษ์พลังงานปี พ.ศ. 2554-2573 และแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกปี พ.ศ. 2555-2564 มาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังและมีส่วนเร่งผลักดันกลไกที่มีประสิทธิภาพ เช่น กฎหมายพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เกิดขึ้นที่กระบี่และในประเทศไทย 

ทางกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเข้าพบผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อปรึกษาหารือถึงรายละเอียดในการจัดการวางแผนระบบการผลิตไฟฟ้าที่เป็นธรรม โปร่งใส และยั่งยืนสำหรับจังหวัดกระบี่และในภาพรวมของประเทศไทยในวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2557 ในเวลาตามที่ท่านสะดวก 

ด้วยความนับถือ 

ธารา บัวคำศรี
ผู้อำนวยการรณรงค์กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน 

หมายเหตุ : เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินประกอบด้วย 1.กลุ่มรักลันตา 2.กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา 4.สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา 5.มูลนิธิอันดามัน 6.ศูนย์สร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา 7.กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 9.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กปอพช.) 10.โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้ 11.กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง 12.กลุ่มรักษ์อันดามัน 13.กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัย จังหวัดกระบี่ 14.กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ 15.เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่16.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน 17.เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน 18.เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 19.เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน 20. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ 21.เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย 22.เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สำเนาจดหมายเปิดผนึกส่งถึง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 

ติดต่อประสานงาน :

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1371 ตึกแคปปิตอล ชั้น G ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02 357 1921โทรสาร 02 357 1929
มือถือ 081 692 8978 อีเมล chariya.senpong@greenpeace.org

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ //www.protectkrabi.org #ProtectKrabi




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 16:38:14 น.   
Counter : 750 Pageviews.  


8 โปรเจคพลังงานหมุนเวียนที่น่าทึ่งแต่ทำได้จริง!

แดดก็แรงดี ลมก็แรงดี แต่ทำไมหนอประเทศไทยเราถึงยังไม่ปฏิวัติพลังงาน หันมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเสียที ในขณะที่ประเทศอื่นอย่างเยอรมนีที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าทั้งทางด้านแสงแดด และสายลม แต่กลับสามารถพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็ว และมุ่งมั่นตั้งเป้าหมายที่จะยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินและนิวเคลียร์ โดยมุ่งที่จะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดอย่างช้าภายในปีค.ศ.2022

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งที่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติถ่านหินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นอันดับ 4 ของโลก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่หากประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างเยอรมนีสามารถปฏิวัติพลังงานสู่พลังงานหมุนเวียนได้ ประเทศไทยเราที่มีสภาพภูมิประเทศที่เอื้อต่อพลังงานหมุนเวียนมากกว่าก็น่าจะสามารถทำได้ดีไม่แพ้กัน นอกจากเยอรมนีแล้ว ยังมีประเทศอื่นๆ จากทั่วโลกที่กำลังพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดย 8 โปรเจคต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนที่น่าทึ่ง แต่ทำได้สำเร็จแล้วจริงเป็นข้อมูลที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในบ้านเราต่อไป

1. ประเทศเยอรมนีได้ลงทุนครั้งใหญ่กับพลังงานลมและแสงแดด ซึ่งในช่วงหกเดือนแรกของปีค.ศ.2012 ที่ผ่านมา ประมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนนั้น กระโดดขึ้นจากร้อยละ 20 เป็น 25 เลยทีเดียว




ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เยอรมนียังตั้งเป้าไว้ที่การใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 95 ภายในปี ค.ศ.2050 น่าประทับใจจริงๆ

2. ยัง ยังไม่พอ เยอรมนีไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพียงแค่หยุดการสร้างมลพิษยังไม่พอ ประชากรเมืองเบอร์ลินยังยึดอำนาจการผลิตไฟฟ้ากลับไปด้วย โดยชาวเมืองเบอร์ลินมุ่งมั่นว่าจะเป็นผู้ถือสิทธิการผลิตไฟฟ้าเอง และดำเนินการจ่ายไฟให้กับเมืองด้วยตนเอง





ถ้าประสบความสำเร็จก็หมายความว่า ชาวเบอร์ลินจะสามารถกำหนดได้ว่าผลกำไรจากการผลิตไฟฟ้านั้นจะนำไปทำอะไร

3. ที่ประเทศโปรตุเกส  เกิดการทำลายสถิติในปีค.ศ.2013เมื่อร้อยละ 70 ของพลังงานไฟฟ้านั้นผลิตขึ้นจากพลังงานหมุนเวียน





โปรตุเกสถือเป็นผู้นำของโลกในด้านพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่นอุปกรณ์พลังงานลมในรูปด้านบน ซึ่งถือเป็นเครื่องแรกของโลกเมื่อเปิดใช้งานเมื่อปีค.ศ.2007 และในปลายปีค.ศ.2011 ความต้องการทางพลังงานทั้งหมดของโปรตุเกสนั้นก็ ถูกตอบสนองด้วยพลังงานหมุนเวียน สุดยอด!

4. ประเทศเดนมาร์ก ช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ.2013 พลังงานลมถูกนำมาใช้งาน กว่าร้อยละ 80 ของความต้องการพลังงานทั้งหมด





ซึ่งสถิตินี้เอาชนะสหราชอาณาจักรไปได้ ทั้งที่เป็นประเทศที่ลมดีที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป .. แล้วประเทศไทยที่มีศักยภาพทางพลังงานลมมากล่ะ?

5.5. โรงเรียนประถมเพนด็อก ของประเทศสหราชอาณาจักร ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นักเรียนตัวน้อยของที่นี่ได้ช่วยกัน เรี่ยไรเงินจำนวน 9000 ปอนด์ หรือ 491,530 บาท เพื่อติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรียน




เยาวชนเหล่านี้ได้ช่วยโรงเรียนในชุมชนของตน เมื่อนำมาติดตั้งเรียบร้อย โรงเรียนจะสามารถลดปริมาณค่าไฟได้มากถึงร้อยละ 50 

6. หมู่บ้านหนึ่งของเมืองซัสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ ได้ผลิตไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพียงพอแก่การใช้งานของบ้าน 760 ครัวเรือนฤษ ได้ผลิตไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพียงพอแก่การใช้งานของบ้าน 760 ครัวเรือน

ทางหมู่บ้านได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียน ฟาร์ม และมุ่งหวังที่จะสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้น   ชมวิดีโอสุดน่ารักที่นี่


7. ยังมีเกาะอิกจ์ในหมู่เกาะอินเนอร์ เฮบริดีส ที่สามารถผลิตพลังงาน ไฟฟ้าร้อยละ 90 จากพลังงานลม แสงอาทิตย์ และน้ำ


8. ปิดท้ายด้วยกังหันลมผลิตไฟฟ้ากลางอากาศสุดเจ๋ง!



ภาพที่เห็นอยู่นี้เป็นของจริง.ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดดีๆ ลมแรงๆ ก่อเกิดเป็นพลังงาน และประสิทธิภาพที่มากขึ้น! พลังงานหมุนเวียนชนะเลิศ!

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ //www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มิถุนายน 11, 2557 ที่ 11:41




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 16:38:35 น.   
Counter : 908 Pageviews.  


แถลงการณ์จากภาคประชาสังคม กรณีการอนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP)

28 พฤษภาคม 2557

ตามที่มีรายงานข่าวระบุว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการสรุปโครงงานเร่งด่วนซึ่งต้องดำเนินการภายใน 1-6 เดือนข้างหน้า  เพื่อเสนอให้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาอนุมัตินั้น โครงการเร่งด่วนดังกล่าวรวมถึงการขออนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่

แผนพัฒนากำลังผลิต ไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า แผนพีดีพี เป็นแผนกำหนดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ (นิวเคลียร์ เขื่อน ถ่านหิน แก๊ส หรือพลังงานหมุนเวียน) เพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใน อนาคต เป็นระยะเวลา15 -20ปี ในปัจจุบันประเทศไทย กำลังอยู่ภายใต้แผนพีดีพี ฉบับที่10 (ทบทวนครั้งที่3) ซึ่งกำหนดรายละเอียดของแผนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ รวมกันกว่า 50,000 เมกะวัตต์ (ปัจจุบันกำลังผลิตของประเทศรวม 33,000 เมกะวัตต์)ในช่วง พศ.2553 – 2573 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนของทั้งแผน กว่า 2 ล้านล้านบาท

การปรับปรุงและออกแผนพีดีพีฉบับใหม่ มักจะมีข้ออ้างว่า เพื่อให้แผนการลงทุนสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในแผนเดิม ดังนั้นแผนฉบับใหม่นอกจากจะเป็นโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยน ชนิด-ขนาด-ทำเล ของโรงไฟฟ้าแล้ว ก็มักจะมีการเพิ่มโครงการใหม่ๆ และ/หรือ ผู้ลงทุน ตามไปด้วย

ดังนั้นเพื่อป้องกัน การลงทุนผิดพลาดเกินจริง การแสวงหาประโยน์โดยมิชอบ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน กฎหมายกำกับกิจการพลังงาน จึงได้กำหนดให้กระบวนการทำแผนพีดีพี และการอนุมัติ จะต้องมีความความโปร่งใส โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ  การประเมินผลกระทบ และได้รับความเห็นของคณะกรรมการอิสระกำกับกิจการพลังงาน ประกอบการพิจารณาอนุมัติของกรรมการพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ภาคประชาสังคมหลายองค์กรที่ทำงานติดตามประเด็นพลังงานมาตลอด มีความเห็นว่า การรีบเร่งเสนอเรื่องแผนพีดีพีให้พิจารณาอนุมัติในช่วงเวลานี้ เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

แผนพีดีพี เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ มีกระบวนการที่ใช้เวลานาน เนื่องจากมีผลผูกพันในระยะยาว เกี่ยวข้องกับงบประมาณมหาศาล บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงต่างๆ จำนวนมาก ทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ และในระดับสากลมีการทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Impact Assessment-SEA) สำหรับแผนทั้งหมด ไม่ใช่ศึกษาผลกระทบเพียงรายโครงการ

ที่ผ่านมา การคาดการณ์ความต้องการพลังงานของประเทศ และการลงทุนนั้นเกินจริงมาตลอด ทำให้การการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และทำให้ค่าไฟสูงเกินความจำเป็น และไม่นำไปสู่การสร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ที่สำคัญ กระบวนการพิจารณาและอนุมัติแผนพีดีพี ต้องได้รับความเห็นจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงจะเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีได้

การที่ปลัดกระทรวง พลังงานเร่งเสนอร่างแผนฯ ดังกล่าวให้ คสช. พิจาณาอนุมัติ จึงถือเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติกฎหมายกำกับกิจการการพลังงาน อีกทั้งไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วม ปิดกั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณะ 

องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งลงนามท้ายแถลงการณ์นี้ ขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานปฏิบัติตามกฎหมายอย่างครบถ้วน ต้องจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง

ลงนามโดย
เครือข่ายพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ //www.protectkrabi.org #ProtectKrabi




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 23 มิถุนายน 2557 14:27:02 น.   
Counter : 662 Pageviews.  


กระบี่อยู่ที่ใจ –วิ่งครั้งนี้ เพื่อกระบี่ และอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนของไทย

เอมิล ซาโตเปก นักวิ่งมาราธอนโอลิมปิกชาวเช็ค กล่าวไว้ว่า "หากอยากวิ่ง วิ่งหนึ่งไมล์ก็เพียงพอ แต่หากอยากสัมผัสชีวิตใหม่ ต้องวิ่งมาราธอน" คำกล่าวนี้คงจะจริงไม่น้อย เพราะจะมีสักกี่ครั้งที่กว่า 1,500 คน มารวมตัวกัน และร่วมกันก้าวเท้าออกวิ่งรณรงค์เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันปกป้องกระบี่จากการคุกคามของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอนาคตพลังงานของไทย



เช้าตรู่ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ถึงแม้เราจะยังเห็นแสงไฟไม่มากนักในช่วงเวลาตี 5 ที่อาสาสมัคร เยาวชน ผู้สนับสนุนกรีนพีซ พร้อมกับนักวิ่งกว่า 1,500 คนมารวมตัวกัน ในกิจกรรม “Greenpeace Mini marathon – Run for Krabi” ที่สวนหลวงพระราม 8 ไม่นานนักเมืองกรุงกำลังจะตื่นขึ้น พร้อมกับรับรู้ความจริงที่น่าตกใจว่า จังหวัดกระบี่กำลังเป็นเป้าหมายในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงเชื้อเพลิงถ่านหินอย่างน้อย 2.3 ล้านตันจะถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ทุกๆ ปี เส้นทางขนส่งถ่านหินมีระยะทาง 8.4 กม. ขนส่งอย่างน้อยปีละ 2.5 ล้านตัน โดยจะผ่านเกาะลันตา เกาะปอ เกาะศรีบอยา ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำขึ้นชื่อของโลก และป่าชายเลนกระบี่ อันอุดมสมบูรณ์ การที่จะไปถึงโรงไฟฟ้าจะต้องผ่านอุโมงลำเลียงถ่านหินลอดใต้คลอง หรือสะพานข้ามคลอง ต้องขุดลอกพื้นที่ทะเลเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของชาวประมงและคนในพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์สวยงามของทะเล ป่าชายเลน รวมถึงพะยูนที่ใกล้สูญพันธุ์เข้าไปทุกที

นั่นหมายถึงความสวยงามของมรกตแห่งอันดามันกำลังจะถูกทำลาย แหล่งดำน้ำจะกลายเป็นเส้นทางขนส่งถ่านหิน รวมถึงสุขภาพและวิถีชีวิตของชาวกระบี่ก็จะต้องถูกทำลาย โรงไฟฟ้าถ่านหินจะแปรเปลี่ยนกระบี่ไปตลอดกาล


ในช่วงก่อนการออกวิ่งรณรงค์ กลุ่มเยาวชน อาสาสมัครกรีนพีซและนักวิ่งได้ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ กางป้ายผ้าภาพพะยูนขนาดมหึมาที่กลุ่มเยาวชนกรีนพีซร่วมกันผลิตจากเศษวัสดุเหลือใช้ พร้อมประกาศว่า “Protect Krabi” เรียกร้องให้ทุกคนมาร่วมกันปกป้องกระบี่ มือของแต่ละคนที่ร่วมกันจับและส่งต่อพยูนตัวยักษ์กันไปนั้นคงเป็นสัญญาณที่ดีว่า การวิ่งรณรงค์ในครั้งนี้นอกจากสองเท้าของเราจะออกวิ่งไปพร้อมกันแล้ว หากจะบอกว่าเราชาวไทยพร้อมที่จะก้าวผลักดันปกป้องกระบี่จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และก้าวสู่อนาคตสีเขียวที่รัฐและกฟผ.ต้องทำอย่างจริงจัง เราสามารถมีพลังงานใช้ได้อย่างพอเพียงโดยที่ไม่ต้องทำลายกระบี่ที่เป็นเสมือนมรกตแห่งอันดามัน หรือแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของไทยแห่งอื่นอีกต่อไป

นอกจากพลังของทุกคนที่มาร่วมวิ่งรณรงค์แล้ว ทางสื่อออนไลน์ก็คึกคักและตื่นตัวไม่แพ้กัน มีการร่วมสนุกถ่ายภาพร่วมกับน้องพะยูนน่ารักๆ พร้อมใส่แฮชแทค #RunforKrabi และ #ProtectKrabi กลายเป็นอีกกระแสที่ออกมาขอให้พวกเราร่วมกันปกป้องกระบี่อันเป็นบ้านและมีหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในไทยเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน ซึ่งเป็นอีกเหตุผลนึงที่ว่า กระบี่ของไทยเอาถ่านหินมาแลก เราไม่ยอม!

“จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์  โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างรุนแรง  รวมถึงสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว วันนี้ผู้คนกว่าพันคนได้มารวมตัวเพื่อแสดงพลังในงานรณรงค์ครั้งสำคัญนี้ พวกเราหวังว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องถูกทบทวนและยกเลิกในที่สุด” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


พลังประชาชนที่ออกมาวิ่งรณรงค์ในวันนี้ถือเป็นอีกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่พลังเสียงกว่า 1,500 คน ออกมาร่วมแสดงพลังวิ่งเพื่อกระบี่ พร้อมเปล่งเสียงรักกระบี่พร้อมกับอีกกว่า 10,000 คน ที่ร่วมลงชื่อปกป้องกระบี่จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน  การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องกระบี่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เหลือเพียงแค่รัฐและกฟผ.หันมารับฟังเสียงของชาวไทยและยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้อย่างถาวร


ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ //www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

Blogpost
โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- พฤษภาคม 19, 2557 ที่ 5:57




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 16:39:23 น.   
Counter : 753 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com