Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
กันยายน 2564
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
28 กันยายน 2564

เที่ยวปราจีนบุรี : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติปราจีนบุรี (2)



6.1 พระวิษณุจตุรภุช และพระวิษณุ
  
องค์แรกเป็นพระนารายณ์ 4 กร สวมหมวกทรงกระบอก คาดผ้าตรง
แสดงกล้ามเนื้อชัดเจน พบที่วัดโบสถ์ จังหวัดปราจีนบุรี
ศิลปะเทวรูปรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

องค์ที่สองพบที่บ้านโคกวัด อ. ศรีมโหสถ
กลุ่มศิลปะเทวรูปรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12
ไม่มีเศียร คาดผ้าเฉียง ปลายผูกเป็นปมที่ด้านขวา
มีความคล้ายคลึงกับเทวรูปพระนารายณ์สี่กรที่พบที่โบราณสถานเขาศรีวิชัย
แสดงถึงการแพร่กระจายของลัทธิไวษณพนิกายในสมัยนั้น
 
 
  
6.2 พระวิษณุจตุรภุช
 
 พบที่โบราณสถานหมายเลข 25 เมืองศรีมโหสถ
ซึ่งก็คือบริเวณเทวาลัยที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ฐานเป็นศิลาแลง ผมไม่ได้แวะเข้าไปดูเลย

ดังนั้นศรีมโหสถน่าจะเป็นเมืองใหญ่ในแถบนี้ ที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
จนกระทั่งนับถือลัทธิไวษณพนิกาย กลายมาเป็นพุทธเถรวาทในสมัยทวารวดี
และพุทธมหายานในช่วงปลายของอาณาจักรพระนคร
กลับมาเป็นพุทธเถรวาทตามจารึกเนินสระบัว และเมืองก็ถูกทิ้งร้างไป
เนื่องจากความห่างไกลเส้นทางการค้า ที่หันมาใช้เส้นทางๆ ทะเลเป็นสำคัญ

ส่วนเทวรูปนั้นเป็นเทวรูปที่นำเข้ามาจากทางใต้ เพราะว่าคล้ายกับพระนารายณ์สี่กรที่เขาศรีวิชัย
หรือว่าเป็นเทวรูปเก่าที่เอามาจากอาณาจักรเจนละ ซึ่งพบเทวรูปแบบนี้เช่นกัน
หรือว่าสร้างในพื้นที่เมืองมโหสถนี้เอง เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบ


 
 
7. เชิงเทียน
 
ปรกติเรามักจะสนใจแต่โบราณวัตถุขนาดใหญ่ โดยละเลยสิ่งของเครื่องใช้ขนาดเล็กไป
แต่เชิงเทียนนี้เป็นของสำคัญ ทำจากสำริดขารูปนาคสามเศียร
ขอบปากมีจารึกอักษรเขมรโบราณ กล่าวถึงเมือง 
สังโวก
ถ้าตัดเรื่องการเคลื่อนย้ายออกไป เราสามารถกล่าวได้ว่า

เมืองศรีมโหสถในอำนาจของอาณาจักรพระนครตอนนั้นมีชื่อว่า เมืองสังโวก
แต่ถ้าคิดว่าสิ่งของเหล่านี้เคลื่อนย้ายได้ง่าย เมืองสังโวก ก็อาจไม่ใช่ที่นี่
เราจะแน่ใจเรื่องนี้ได้อย่างไร อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ได้เขียนบทความชื่อ
ข้อเสนอเกี่ยวกับที่ตั้งของสังโวก ลงในวารสารดำรงวิชาการ Vol 12, No. 2, 2013

ย้อนกลับในช่วงการขุดแต่งโบราณสถาน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2509
มีการพบเครื่องใช้สำริดจำนวน 26 ชิ้น วางรวมเป็นกลุ่มที่โบราณสถานหมายเลข 11 
มี 5 ชิ้นที่พบว่ามีจารึก ได้แก่ ขัน ขันทรงรี กรอบคันฉ่อง สังข์ และเชิงเทียน

ขัน และขันทรงรี มีข้อความจารึกว่า

พ.ศ. 1730 พระไทยธรรมพระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราปติวรรมันรทวะ
มอบให้แก่กมรเตงชคตศรีวีเรศวร ณ สังโวกต


กรอบคันฉ่องสำริด มีข้อความว่า
พ.ศ. 1736 พระไทยธรรมพระบาทกมรเตงอัญศรีชยวรรม
ทรงมอบให้อโรคยศาล ณ อวัธยปุระ

เชิงเทียนสำริด มีข้อความว่า
 
พ.ศ. 1736 พระไทยธรรมพระบาทกมรเตงอัญศรีชยวรรม
ทรงมอบให้อโรคยศาล ณ สังโวก


 สังข์สำริด มีข้อความว่า ไทยธรรมพระวรโลง
 


บทความค่อนข้างยาว แต่ใจความสรุปคือ อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เชื่อว่า
เมืองศรีมโหสถมีชื่อว่า สังโวก ตามข้อมูลในจารึกปราสาทบายน
สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ได้กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 3 พระนาม คือ

กรมเตงชคตพระบาทสังโวก
 กมรเตงชคตตศักติสังโวก
กรมเตงชคตศรีไภษัชยไวฑูรยประภะราชะสังโวก

 
ซึ่งหากตรวจสอบรอยพระบาทที่มีอยู่ในเวลานั้น ก็จะพบว่าไม่มีรอยพระบาทใดอีก
กรมเตงชคตพระบาทสังโวก จึงควรหมายถึง รอยพระพุทธบาทที่สระมรกต
ดังนั้นสังโวกจึงเป็นชื่อเมืองศรีมโหสถในเป็นภาษาเขมร
และอวัธยปุระเป็นชื่อเมืองศรีมโหสถในภาษาสันสกฤต
 
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่า สังโวก แปลว่าอะไร แต่ชื่อนี้พบมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่
พุทธศตวรรษที่ 16 ดังพบในจารึกปราสาทสมโบร์ไพร์กุกและจารึกบาเสท
และนั่นคือบทสรุปถึงเรื่องที่มาของขันสำริดเหล่านี้ ที่เกี่ยวข้องกับชื่อเมืองโบราณ
 
 
 
ส่วนตัวผมนั้นมีความรู้น้อย คงไม่วิจารณ์อะไร แต่ขอเพิ่มข้อสังเกตส่วนตัวว่า
สำริดมี 2 ชุดคือ พ.ศ. 1730 ผู้ถวายคือ
พระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราปติวรรมันรทวะ
ซึ่งคงเป็นขุนนางในพื้นที่ เพราะคำนำหน้าไม่มีคำว่า พระบาท ได้ถวาย ขัน
 
ในขณะที่ชุด พ.ศ. 1736 ผู้ถวายคือ 
พระบาทกมรเตงอัญศรีชยวรรม 
หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงหลังครองราชย์แล้ว10 ปี ได้ถวายของสูงกว่า
คือ
เชิงเทียน แก่ศาสนสถานชื่อ สังโวก และ กรอบคันฉ่อง แก่ อวัธยปุระ
แต่สุดท้ายของทั้งสองสิ่งนี้ กลับมาอยู่ที่เดียวกัน เป็นไปได้ว่า

สังโวกคือ ชื่อ ศาสนสถานสระมรกต
ในขณะที่อวัธยปุระ คือ ชื่อเมืองศรีมโหสถในสมัยนั้น
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ
คันฉ่อง ซึ่งน่าจะเป็นของสำหรับสตรีชั้นสูงมากกว่าของในศาสนา
แต่ผมเพิ่งผ่านตารายการหนึ่ง เค้าเล่าว่าในความเชื่อคนจีนนั้น
วิธีเบิกเนตรของพระพุทธรูป จะใช้กระจกถ่ายทอดแสงจากดวงอาทิตย์ในองศาที่ถูกต้อง
เป็นสร้างพลังให้กับพระพุทธรูป ที่อาจเป็นเพียงปูนหรือไม้ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ได้
 

 
 
8. ทวารบาล

จากเรื่อง การกลับบ้านของทับหลังปราสาทเขาโล้น ได้มีกล่าวถึง
การค้นพบทวารบาลศิลปะแบบบันทายศรี เราได้มาเห็นของจริงที่นี่

ความประทับใจนั้นก็เพราะปรกติทวารบาลมักถูกแกะสลัก
ติดกับกรอบประตูปราสาท หาน้อยมากที่จะเป็นชิ้นแยกออกมาเป็นรูปเดี่ยว
ยิ่งทวารบาลนั่งแบบนี้ เราคงเห็นแค่ที่ปราสาทบันทายศรีที่เดียวเท่านั้น
แม้ที่นั่นจะมีวางไว้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นของหายากในบ้านเรา




9. 
จารึกเนินสระบัว

เป็นวรรณคดีภาษาบาลีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย พบใกล้กับสระมรกต
ต่อมาได้ถูกเคลื่อนย้ายมาพิงไว้ที่โคนต้นโพธิ์ใหญ่ใน วัดโพธิ์ศรีมหาโพธิ
ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เดิมนัก

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 นายชิน อยู่ดี
หัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑ์พระนคร กองโบราณคดี กรมศิลปากร
ได้ออกสำรวจที่แหล่งโบราณคดีได้พบจารึกหลักดังกล่าว และได้ทำสำเนาจารึกหลักนี้ไว้

ต่อมา ศ. ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่าน-แปลจารึกหลักนี้
แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือชุดประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 ในปี พ.ศ. 2506
 และนาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ได้อ่านและแปลใหม่อีกครั้ง
แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือชุดจารึกในประเทศไทย เล่ม 1 ในปี พ.ศ. 2529
 
อักษรหลังปัลวะภาษาบาลีและเขมร
เนื้อหาภาษาบาลีกล่าวถึงเรื่องการบูชาพระรัตนตรัย
และเนื้อหาภาษาเขมรที่มีการลบเลือนบางส่วน น่าจะกล่าวถึง
การถวายโคแก่พระกรมเตงของตระกูลปาทวะ 

ฐานข้อมูลจารึกของศูนย์สิริทร ให้ข้อมูลว่ากำหนดอายุมหาศักราช 683
หรือ พ.ศ. 1304 ซึ่งเป็นเวลาราว 41 ปีก่อนตั้งเมืองพระนคร
หรือปลายอาณาจักรเจนละที่แตกแยกกันเป็นเจนละบกและเจนละน้ำ 

ในขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี แปลงศักราชได้เป็น พ.ศ. 1608 

เป็นบทเตลกฏาหคาถาวรรณคดีบาลีของลังกา แต่งขึ้นในช่วง พ.ศ. ๑๕๐๐
ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบอักษรที่ปรากฏบนจารึกหลักนี้ คือช่วงพุทธศตวรรษที่ 16

ซึ่งจะตรงกับปลายรัชกาลของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2

ผู้สถาปนาหรืออาจเป็นผู้ปรับปรุงปราสาทสด๊กก๊อกธม
และตรงกับพราหมณ์ผู้จารประวัติตระกูลในจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม 2 


 

 
 
10. จารึกสด๊กก๊อกธม 2
 
พบที่ปราสาทเมืองพร้าว เมื่อ พ.ศ. 2463 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นปราสาทสด๊กก๊อกธม
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ รับสั่งให้นำมาเก็บรักษาไว้ใน อาคารพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถูกแปลเป็นบางส่วนโดย ศ. เซเดส ในหนังสือ
Inscription of Kambuja The Asiatic Society เมื่อ พ.ศ. 2496 ที่โรงพิมพ์เมืองกัลกัตต้า
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 เกิดไฟไหม้ที่โรงละครของกรมศิลปากร
และลามมาถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทำให้หลักจารึกนี้ถูกไฟไหม้ไปด้วย
จารึกที่ทำจากหินเมื่อถูกความร้อนสะสม สัมผัสกับน้ำที่ใช้ในการดับเพลิง
จึงทำให้จารึกนี้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

กรมศิลปากรจึงให้นายอาภรณ์ ณ สงขลา เจ้าหน้าที่กองโบราณคดีดำเนินการอนุรักษ์
ซ่อมเสริมเนื้อศิลาส่วนที่แตกหักเสียหาย พร้อมทั้งเติมเส้นอักษรจารึกให้เต็ม
ตามอย่างอักษรจารึกของเดิมที่ปรากฏอยู่ในสำเนาจารึก
การซ่อมแล้วเสร็จเมื่อ เดือนมีนาคม 2511

ระหว่างการซ่อมก็มีการแปลด้านที่ 4 ภาษาเขมรซึ่งแตกออกเป็นชิ้นใหญ่ด้วย
ต่อมามีการแปลเพิ่มเติมโดย นายชะเอม แก้วคล้าย ในส่วนที่เป็นภาษาสันสกฤต
เมื่อรวมกับภาษาเขมรก่อนหน้าที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือ
Inscription of Kambuja ทำให้การอ่าน-แปลจารึกหลักนี้สำเร็จครบถ้วนทั้ง 4 ด้าน
 
พิมพ์เผยแพร่ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 ใช้ชื่อว่า หลักที่ 57 จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม
ณ อรัญประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2529 กำหนดอายุ พ.ศ. 1595 ตรงกับพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2
ความสำคัญของจารึกนี้ก็คือ การอ้างถึงการสืบทอดของตระกูลพราหมณ์ประจำพระองค์
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ลงมาจนกระทั่งถึงผู้ที่ทำจารึกหลักนี้
 
ทำให้การศึกษาจารึกเขมรก่อนหน้าที่มีความขัดแย้งเรื่องการลำดับรัชกาล
จากการอ่านจารึกหลักต่างๆ สามารถเป็นที่ยุติได้ เนื่องจากจารึกสด๊กก๊อกธม 2 นี้
มีรายชื่อพระมหากษัตริย์ที่พราหมณ์ได้ทำพิธีราชาภิเษกให้
ปรากฏอยู่ในจารึกหลักนี้เป็นลำดับตามรัชกาล

ทำให้นักวิชาการสามารถประติดประต่อเรื่องราวสมัยเมืองพระนครได้อย่างถูกต้อง



Create Date : 28 กันยายน 2564
Last Update : 5 ตุลาคม 2564 11:56:03 น. 3 comments
Counter : 2053 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณทนายอ้วน, คุณtuk-tuk@korat, คุณหอมกร, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณnewyorknurse


 
อ่านแล้วชักอยากไปพิพิธภัณฑ์ปราจีนค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 30 กันยายน 2564 เวลา:12:25:00 น.  

 
สวัสดีพ่อคนโบราณ



โดย: หอมกร วันที่: 30 กันยายน 2564 เวลา:13:27:15 น.  

 
ขอบคุณสำหรับกำลังใจให้บล็อก - JaosamutSeafood ด้วยนะครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 30 กันยายน 2564 เวลา:20:23:02 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]