Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ทำไมหมอไม่ชอบให้โรงพยาบาลรัฐบาลขาดทุน? ... พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา



ปัดฝุ่น “30 บาทรักษาทุกโรค” อย่างไร?
ทำไมหมอไม่ชอบให้โรงพยาบาลรัฐบาลขาดทุน?

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
(สผพท.)
5 พ.ค. 54

ได้อ่านบทความเรื่อง “ปัดฝุ่น “30 บาทรักษาทุกโรค” จะดีไหมในนสพ.กรุงเทพธุรกิจ หน้า 8 วันที่ 5 พ.ค. 54 แล้วก็ต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ทันที เนื่องจากผู้เขียนได้อ้างความเห็นที่(เขียนว่า)น่าสนใจว่า “ ได้ใจประชาชน แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ชอบ โยงไปถึงงบต่างๆที่ลงไปสู่ประชาชน เช่นงบปสปสช. งบกองทุนสุขภาพประจำตำบล เพราะทำให้รพ.เขาขาดทุน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จสูง การนำมาปัดฝุ่นคงเป็นการอยากตามรอยความสำเร็จในครั้งอดีต”


ในฐานะที่ผู้เขียนเรื่องนี้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ก็อยากจะบอกว่า ทำไมบุคลากรทางการแพทย์ไม่ชอบการ “ขาดทุน”


ความจริงแล้ว โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง เลิกรับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท เพราะมันขาดทุนจริงๆ คือสปสช.จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยไม่คุ้มกับต้นทุน ผู้ดำเนินการหรือผู้บริหารโรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้ จะไปขึ้นราคากับผู้ป่วยอื่นเอามา “โปะ” ให้โครงการ 30 บาทก็ไม่ได้ จะบริหารโรงพยาบาลให้ขาดทุนไปเรื่อยๆก็คงถูกฟ้องล้มละลายขายทอดตลาดไปอย่างแน่นอน เขาก็บอกเลิกรักษา 30 บาทไป

แต่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขนั้น ถูกกำหนดให้ต้อง “รับรักษาผู้ป่วย 30 บาท” อย่างไม่มีข้อยกเว้น โดยไม่สามารถของบประมาณในการ “ดำเนินการรักษาผู้ป่วยเพิ่มเติมได้”

ประชาชนส่วนมากไม่เข้าใจว่า “ โรงพยาบาลขาดทุนแล้วหมอจะต้องเดือดร้อนทำไม มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยก็รักษาไปสิ” “ขาดทุนก็ไปขอเงินรัฐบาลมาเพิ่มสิ”


ผู้เขียนก็จะอธิบายว่า ปัจจุบัน โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณค่ารักษาผู้ป่วยจากสปสช. โดยงบประมาณที่ให้มานี้ โรงพยาบาลต้องเอาไปใช้จ่ายดังนี้คือ

1. เป็นค่าซื้อยาจากบริษัทยาต่างๆ เอามาไว้จ่ายให้ผู้ป่วย

2. เป็นค่าซื้อเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจรักษาผู้ป่วย

3. เป็นค่าพัฒนา ปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารสถานที่ ห้อง เตียง เครื่องมือแพทย์ ห้องผ่าตัด และเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของโรค

4. เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ประมาณ 40-60% ของเงินเดือนทั้งหมด



ทำไมหมอไม่ชอบให้โรงพยาบาลรัฐบาลขาดทุน?


โรงพยาบาลขาดทุนหมายความว่า โรงพยาบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ได้อธิบายแล้วว่ารายจ่ายของโรงพยาบาลมีอะไรบ้าง?




ต่อไปนี้ ก็จะอธิบายว่าโรงพยาบาลมีรายได้จากอะไรบ้าง?

รายได้ของโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ได้จากสปสช. ที่ได้รับค่ารักษาประชาชนตามอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่สปสช.ขอมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อเอามาจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยตามระบบบัตรทอง

ซึ่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนดว่า สปสช.มีหน้าที่ “จ่ายค่าบริการสาธารณสุข” ให้แก่โรงพยาบาล โดยได้รับงบประมาณค่ารักษาเป็น “เงินเหมาจ่ายรายหัว” ของประชาชน แต่สปสช.ไม่ได้ “จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วย”ตามจำนวนที่มารักษาในโรงพยาบาลอย่างตรงไปตรงมา เท่ากับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับจากสำนักงบประมาณ

สปสช.กลับมาทำการบริหารจัดการเอง จัดระเบียบการเบิกจ่ายยาเอง ตั้งราคากลางของการรักษาโดยไม่ได้ทำการวิจัยอย่างถูกต้องว่า ราคาต้นทุนที่แท้จริงในการรักษาแต่ละโรคควรจะอยู่ที่ใด

และเมื่อสปสช.ตั้งราคากลางไว้แล้ว สปสช.ก็ไม่จ่ายครบตามราคากลางที่กำหนดไว้ เช่นตั้งราคากลางไว้ที่ 70 บาท ในขณะที่ต้นทุนค่ารักษาอาจจะอยู่ที่ 100 บาท แต่พอถึงเวลาจ่าย สปสช.ก็อาจจะจ่ายเพียง 50 บาท โดยอ้างว่าเงินหมดแล้ว



การกระทำของสปสช.แบบนี้ จึงทำให้โรงพยาบาลมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ที่เรียกว่า “ขาดทุน”




( ในขณะที่โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยขาดทุน แต่สปสช.กลับแบ่งเอาเงินเหมาจ่ายรายหัวในการรักษาผู้ป่วยนี้ ไปทำโครงการพิเศษ ที่เรียกว่า Vertical Program โดยสปสช.ประกาศให้โรงพยาบาลที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ มาทำสัญญารับงบประมาณ ในการทำตามโครงการเหล่านี้ เช่นโครงการผ่าตัดหัวใจ ล้านดวง โครงการผ่าต้อกระจกล้านตา โครงการศูนย์แพทย์ชุมชนโครงการ Excellent Center ต่างๆ เช่นศูนย์โรคหัวใจ ฯลฯ แล้วก็ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า เป็นผลงานของสปสช.

ทั้งๆที่สปสช.ไม่ได้ทำงานรักษาผู้ป่วยเลย และยังยักยอกเงินเหมาจ่ายรายหัวไปทำโครงการเพิ่มเติม รวมทั้งเอาไปจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่แพทย์ในโครงการต่างๆเหล่านี้ ทั้งๆที่การทำโครงการเหล่านี้ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น)


คำถามต่อไปก็คือ เมื่อโรงพยาบาลขาดทุนแล้ว จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง?


1. ไม่มีเงินซื้อยามาที่มีประสิทธิผลและเหมาะสมไว้สำหรับจ่ายให้ผู้ป่วย

2. ไม่มีเงินซื้อเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจรักษาผู้ป่วย

3. ไม่มีเงินสำหรับการพัฒนา ปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารสถานที่ ห้องผ่าตัด เตียง เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของโรค

4. สำหรับเงินเดือนบุคลากรที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวนั้น ก็จะได้รับเหมือนเดิม แต่ค่าตอบแทนการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกเวลาราชการ อาจจะไม่มีเงินจ่ายให้ได้



การที่โรงพยาบาลขาดเงินในการดำเนินงานตามเหตุผลที่กล่าวแล้ว แพทย์จะอึดอัดคับข้องใจ เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถที่จะสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมหรือดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน อาจทำให้ผู้ป่วยไม่หายจากอาการเจ็บป่วยในเวลาที่ควรจะเป็น อาจเสี่ยงต่ออาการทรุดหนัก แทรกซ้อน หรือเสียชีวิต

ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณจำกัดดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารกองทุนต่างๆ ออกระเบียบห้ามจ่ายยาบางขนิด ห้ามรักษาหลายโรค

ถ้าแพทย์รักษาไปตามดุลพินิจตามมาตรฐานการแพทย์ไปแล้ว โดยการรักษาหรือสั่งจ่ายยานอกเหนือจากที่สปสช.กำหนด โรงพยาบาลก็จะเบิกเงินจากสปสช.ไม่ได้ โรงพยาบาลก็จะยิ่งขาดทุน ผู้อำนวยการก็จะมา “ว่ากล่าวตักเตือน” ไม่ให้แพทย์ใช้ดุลพินิจของตนในการรักษาผู้ป่วย แพทย์ก็จะห่วงว่าผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพการแพทย์ปัจจุบันจะทำได้



แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า สปสช.มีข้อจำกัดมากมายในการรักษาผู้ป่วย ใช้ยาบางอย่างไม่ได้ รักษาบางโรคไม่ได้ เนื่องจากสปสช.พูดความเท็จในการกล่าวโฆษณาว่า 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ไม่อนุญาตให้หมอรักษาโดยอิสระตามดุลพินิจ เพราะมีข้อห้ามข้อจำกัดมากมายดังกล่าว


แต่ความเท็จที่สปสช.พูดบ่อยๆ อาจทำให้ประชาชนเชื่อว่ามันเป็นความจริง ทำให้ประชาชนเทิดทูนบูชาสปสช.และนักการเมืองที่ทำให้เกิดระบบ 30 บาท แต่แพทย์ผู้รู้ความจริง ก็พยายามมาบอกกับประชาชนว่า ระบบนี้มีข้อจำกัดมากมายในการรักษาและการใช้ยา


ประชาชนอาจเข้าใจว่า ถ้าโรงพยาบาลได้กำไร หมอก็คงได้เงินโบนัสหรือเงินปันผล หรือเงินเดือน 2 ขั้น หรือประชาชนอาจคิดว่าถ้าโรงพยาบาลขาดทุน หมออาจจะไม่ได้รับเงินเดือน/ค่าตอบแทน


ซึ่งความเข้าใจหรือความคิดเช่นนั้น ไม่เป็นความจริง

แต่ความจริงก็คือ ไม่ว่าโรงพยาบาลจะได้กำไรหรือขาดทุน บุคลากรทางการแพทย์ก็ยังคงได้เงินเดือนเหมือนเดิม เหมือนข้าราชการอื่นๆ


แต่ถ้าโรงพยาบาลขาดทุน จะทำให้ ประชาชนไม่ได้รับยาที่เหมาะสมกับโรค ได้รับการตรวจโรคจากเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ล้าสมัย ไม่มีตึก ไม่มีเตียงนอนเมื่อจำเป็น ต้องตระเวนหาโรงพยาบาลที่มีตียงให้นอน ฯลฯ

และอาการเจ็บป่วยที่ควรจะหายในเร็ววัน อาจจะมีโรคแทรกซ้อน ทรุดหนัก พิการ หรือเสียชีวิต


ทั้งนี้หมอทุกคนอยากรักษาประชาชนให้หายเจ็บป่วย ไม่อยากเลี้ยงไข้ ไม่อยากให้อาการทรุดและไม่อยากให้ผู้ป่วยของตนตายโดยไม่สมควรตาย


ฉะนั้น หมอจึงไม่อยากให้โรงพยาบาลขาดทุน เพื่อจะได้มี “เงินทุน” มาดูแลรักษาประชาชนให้ดีที่สุดตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทันโรคและทันโลก


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านก็คงจะอยากถามว่า แล้วจะเสนอให้ “ปัดฝุ่นระบบ 30 บาท” อย่างไร?


ปัญหาในระบบ 30บาท นอกจากขาดเงินที่ทำให้ขาดทุกสิ่งทุกอย่างในการดำเนินการ รักษาผู้ป่วยแล้ว โรงพยาบาลยังขาดคนทำงานในอัตราส่วนที่เหมะสมกับผู้ป่วย ในขณะที่ประชาชนใช้บริการเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะประชาชนได้รับบริการฟรีโดยไม่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรคเลย


คำตอบจึงอยู่ที่ จะต้องมีการ “ปฏิรูประบบบริการทางการแพทย์และการประกันสุขภาพ” เพื่อให้มีการแก้ปัญหาทั้งหมดที่เห็นและเป็นอยู่ให้หมดไป โดยตั้งกรรมการปฏิรูปจากบุคลากรจากหลายกลุ่ม

อย่าผูกขาดการปฏิรูประบบการแพทย์และสาธารณสุขไว้กับกลุ่มของ “ผู้เขียนพ.ร.บ.เพื่อมาบริหารกองทุนอิสระ”แบบเดิม ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย เช่น เขียนพ.ร.บ.สสส. สปสช. สช. สวรส. ก็ตั้งตัวเองและพวกพ้องมาเป็นกรรมการ เลขาธิการ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการ ฯลฯ ทุกองค์กร







 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2554   
Last Update : 6 พฤษภาคม 2554 0:37:20 น.   
Counter : 2400 Pageviews.  

คำชี้แจง จาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม (ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..( ต่อ )

ถ้ายังไม่ได้ อ่าน กระทู้ก่อนหน้า ... แวะไปอ่านก่อนก็ดีครับ จะได้อรรถรส เพิ่มขึ้น .. ^ -^


คำชี้แจงจาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม..(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-04-2011&group=7&gblog=132




ต่อไปนี้จะเป็น การชี้แจง จากราชวิทยาลัยแพทย์ ออร์โธปิดิกส์ แห่งประ้เทศไทย

//www.rcost.or.th/



ซึ่งผมนำมาจาก ข่าวสาร ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ฉบับ เดือน มีนาคม ..





















































ปล. คงต้องรอ "กรมบัญชีกลาง" ออกมา ตอบโต้ เอ๊ย ชี้แจงเพิ่มเติม



คำชี้แจงจาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม..(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-04-2011&group=7&gblog=132

คำชี้แจงจาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..( ต่อ )

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-04-2011&group=7&gblog=134

คำชี้แจงจาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..(จบ?)

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=22-07-2011&group=7&gblog=146





 

Create Date : 21 เมษายน 2554   
Last Update : 22 พฤษภาคม 2558 15:09:41 น.   
Counter : 4600 Pageviews.  

คำชี้แจง จาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม ..(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)

L10289328 ในเมื่อรู้แล้วว่ากลูโคซามีนซัลเฟตรักษาโรคข้อเสื่อมได้แล้วเมื่อไหร่ยาเหล่านี้จะกลับมาเบิกได้คะ [คลินิกหมออาสา] ควีนโพธิ์ดำ (22- 28 ก.พ. 54 16:29)

//topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2011/02/L10289328/L10289328.html

 L10275577 อย. ออกมาบอกว่ากลูโคซามีนซัลเฟตใช้แล้วได้ผลให้กองบัญชีกลางกลับไปพิจารณาใหม่ตกลงยังไงกันแน่ [สุขภาพกาย] bestpits (23 - 24 ก.พ. 5416:28)

//topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2011/02/L10275577/L10275577.html


ขรก.จ๊ากแน่คลังเลิกจ่าย ยานอก9กลุ่ม(ไทยโพสต์) .... นำกระทู้มาลงไว้เป็นข้อมูล

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-01-2011&group=7&gblog=123

งานเข้าข้าราชการไทย " คลังสั่งห้ามจ่าย9ยานอก คนเป็นมะเร็ง-ไขมัน-ความดันกระอัก " .. นำกระทู้มาลงไว้

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-01-2011&group=7&gblog=124

มีข้อมูลที่ทางกรมบัญชีกลาง และ คณะทำงานฯ ได้นำมาลงไว้ .. เป็นข้อมูลอีกด้าน เผื่อใครสนใจแวะไปอ่านก่อนก็จะได้อรรถรสเพิ่มขึ้นนะครับ ..

แผนงานพัฒนามาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาและพัฒนารูปแบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอก ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

//www.hisro.or.th/csmbs/

เรื่องเชื่อเรื่องจริง “กลูโคซามีน”

//www.hisro.or.th/csmbs/download/Publication_Glucosamine_HISRO.pdf

แผ่นพับ"ยกเลิกการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในการเบิกจ่ายยาบรรเทาอาการปวดข้อที่อยู่นอกบัญชียาหลัก4 รายการ รวมทั้งยากลูโคซามีน"

//www.hisro.or.th/csmbs/download/Final%20Brochure.pdf

เอกสารสรุปประเด็นข้อเท็จจริงและข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับกลูโคซามีนคอนดรอยตินซัลเฟต ไดอะเซอเรน และไฮยาลูโรแนนชนิดฉีดเข้าข้อ

//www.hisro.or.th/csmbs/download/Glucosamine_Book.pdf

//www.hisro.or.th/csmbs/download/Final_Glucosamine.pdf

หนังสือเวียนจากกระทรวงการคลังรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายฯ

//www.hisro.or.th/csmbs/

 .....................

ต่อไปนี้จะเป็นการชี้แจง จากราชวิทยาลัยแพทย์ ออร์โธปิดิกส์ แห่งประ้เทศไทย

//www.rcost.or.th/

ซึ่งผมนำมาจากข่าวสาร ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ฉบับ เดือน กพ. และ ได้ขออนุญาต แล้ว

ท่านใดที่สนใจเนื้อหาทั้งหมดของข่าวสาร ฉบับนี้ ก็สามารถโหลดฉบับเต็ม เป็น pdffile ได้

//www.mediafire.com/?l0sanuognd78vpl

แนวปฏิบัติบริการ ดูแลรักษา ข้อเข่าเสื่อม พศ. ๒๕๕๓ ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

//www.mediafire.com/?q6jqyvyci46b51s


























































ถ้า กรมบัญชีกลาง บอกเหตุผลของการห้ามเบิกจ่ายยานี้ เพราะ งบไม่มี เงินหมด ก็ยังพอยอมรับได้ ... แต่นี่อ้างว่า ยา ไม่ได้ผล และ อันตราย

พอได้มาอ่านข้อมูลที่ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธฯ ชี้แจง แบบนี้ .. รู้สึกเซ็ง แทน ข้าราชการจริง ๆ



ปล. แจ้งไว้ล่วงหน้า ... ผมลาออกจากราชการ ใช้สิทธิบัตรทอง จึงไม่ได้มีส่วนเสียที่ห้ามเบิกจ่ายยาของข้าราชการในรพ.รัฐ ... เผื่อบางคนจะคิดว่า ผมนำเรื่องนี้มาแฉ เพราะ เสียผลประโยชน์








 

Create Date : 08 เมษายน 2554   
Last Update : 22 พฤษภาคม 2558 15:01:11 น.   
Counter : 7801 Pageviews.  

41 ความในใจ ที่ หมอ ขอบอก ..... จาก รีดเดอร์ส ไดเจสท์



41 ความในใจที่หมอขอบอก

แง่มุมที่นึกไม่ถึงเหล่านี้จะช่วยให้คุณเป็นคนไข้ที่ฉลาดและน่ารักขึ้น

By เดชา เวชชพิพัฒน์ และคุณานันท์ แสงอาทิตย์


//www.readersdigestthailand.co.th/article/2425


รีดเดอร์ส ไดเจสท์เปิดพื้นที่ให้แพทย์สาขาต่างๆพูดอย่างตรงไปตรงมา โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ให้ความเห็นกับเราทั้งหมด 13 คน มีทั้งศัลยแพทย์ จิตแพทย์ กุมารแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆอีกหลายสาขา ทุกคนยินดีเปิดใจพร้อมกับส่วนใหญ่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เรื่องที่พูดถึงมีทั้งในแง่มุมขำๆ น่าตกใจ และนึกไม่ถึง ซึ่งเราเชื่อว่าความในใจของหมอจะช่วยให้เราปรับปรุงตัวเป็นคนไข้ที่ฉลาดและ น่ารักขึ้นกว่าเดิม





พบกันครึ่งทาง



อย่ามาข่มขู่ผมด้วยประโยค "พ่อผมตายไม่ได้นะ เป็นเรื่องแน่" ทำให้ผมและพยาบาลทำงานภายใต้ความกดดัน หมอไม่อยากรักษาคนไข้ด้วยความเกร็งหรือความกลัว ไว้ใจและให้เกียรติซึ่งกันและกันดีกว่า จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพกว่ากันเยอะ

นพ. สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์, สูตินรีแพทย์, กรุงเทพฯ



ฤกษ์ดีของหมอคือเวลาที่หมอพร้อม พยาบาลพร้อม เครื่องมือพร้อม ยาพร้อม แต่ฤกษ์ดีของคนไข้คือเวลาตามหมอดู ขอผ่าคลอดลูกตอนตีสาม หมอก็ง่วง พยาบาลก็ง่วง เภสัชก็ง่วง คลังยา คลังเลือดใหญ่ หรือแม้แต่สภากาชาดก็นอนไปหมดแล้ว แค่ฟังก็รู้แล้วว่าเด็กคนนี้เกิดมาฤกษ์ไม่ดีแน่นอน ความเสี่ยงสูงมาก

นพ. ธเนศ พัวพรพงษ์, ศัลยแพทย์, กรุงเทพฯ



ไม่พอใจผม คลางแคลงใจในตัวผม ไปหาหมอคนที่สองหรือสามก่อนแล้ว

ค่อยตัดสินใจก็ได้ นพ. สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์, สูตินรีแพทย์, กรุงเทพฯ



คุณ ไม่ต้องอวดรู้ด้วยการใช้ศัพท์เทคนิคกับผมหรอก แล้วไม่ต้องลองภูมิผมด้วยการจับผิด ถามโน่นถามนี่อยู่ตลอดเวลา ผมรู้แล้วว่านอกจากต้องรักษาอาการป่วยทางกายของคุณ ผมต้องทำใจยอมรับทัศนคติแปลกๆของคุณด้วย

นพ. ไพบูลย์ สุขโพธารมณ์, ศัลยแพทย์, นนทบุรี



ถ้าคุณกินอาหารเสริมหรือสมุนไพรอื่นๆก็ให้บอกหมอด้วย ถ้าไม่บอกอาจทำให้เกิดปัญหาในการรักษา หรือทำให้การรักษาทั้งสองแบบตีกันได้

รศ. ดร. นพ. กำพล ศรีวัฒนกุล, กรุงเทพฯ



รู้นะว่าคุณแอบถามพยาบาลว่าดิฉันเรียนจบมากี่ปีแล้ว จบจากสถาบันไหน ได้ทุนอะไรบ้าง เป็นหมอทุนชนบทหรือเปล่า เคยทำคนไข้ตายหรือไม่

พญ. รพีพรรณ มาไพศาลทรัพย์, ศัลยกรรมเด็ก, ราชบุรี



คุณ จะบันทึกเสียงคำแนะนำของดิฉันเชียวหรือ ถ้าตอบอะไรผิดพลาดขึ้นมา สิ่งนี้อาจกลายเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดิฉันได้สิคะ ทำให้ดิฉันอึดอัดในการให้คำแนะนำหรือสนทนาด้วย และแอบโล่งใจถ้าคุณจะขอไปรักษากับแพทย์ท่านอื่น

พญ. จรินรัตน์ ศิริรัตนพันธ, ผู้เชี่ยวชาญหู ตา คอ จมูก, นครนายก



ลำบากใจเหมือนกันเวลาเจอคนไข้ที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นในการรักษา บอกอะไรก็ไม่เชื่อ มีทัศนคติที่ไม่ดี คิดว่าหมออยากได้แต่เงิน ทำให้การรักษายากลำบากมากขึ้น บางครั้งรักษาแล้วคนไข้ไม่รอดก็ฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำเหมือนหมอเป็นผู้ร้าย

นพ. ธเนศ พัวพรพงษ์, ศัลยแพทย์, กรุงเทพฯ



ผมว่า ผมอธิบายเรื่องนี้ให้คุณฟังแล้ว อธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำไมไม่เข้าใจเสียที หมอเหนื่อยเป็นเหมือนกันนะครับ เอาอย่างนี้ คุณคุยกับผู้ช่วยผมก็แล้วกัน

ทันตแพทย์, สิงห์บุรี



ผมไม่สนใจ หรอกว่าคุณมีเงินจ่ายไหม ถ้าคนไข้อาการหนักมาถึงมือหมอ ปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ผมต้องรีบรักษาไม่ว่าเด็กด้อยโอกาสหรือลูกของคนมีฐานะ เด็กทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการดูแลรักษาเท่าเทียมกัน

นพ. สุริยเดว ทรีปาตี, กุมารแพทย์และหัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี



กรณี บาดเจ็บที่ศีรษะ ถ้าไม่ใช่กะโหลก ร้าวและไม่มีอาการบ่งชี้ที่เสี่ยงต่อความผิดปกติทางสมองคงไม่ต้องตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจที่ไม่มีข้อบ่งชี้ นอกจากไม่ได้ประโยชน์ยังอาจทำให้แปรผลผิดพลาดได้ ถ้าไม่จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือนอนโรงพยาบาล ก็ควรหลีกเลี่ยงจะได้ไม่เสียเงินและเพิ่มความเสี่ยงโดยเปล่าประโยชน์

นพ. วิสันต์ เตรียมล้ำเลิศ,ศัลยแพทย์




ยา, ยา, ยา

ผมย้ำแล้วย้ำอีกว่าคุณต้องกินยาทุกวันนานถึงหกเดือนเพราะคุณเป็นวัณโรค แต่คุณกินได้เดือนเดียวก็หยุด คุณดื้อคนเดียวผมก็ปวดหัวพอแล้ว อย่าทำให้ผมต้องปวดหัวเพิ่มกับการดื้อยาของเชื้อโรค

นพ. ไพบูลย์ สุขโพธารมณ์, ศัลยแพทย์, นนทบุรี



เรา เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ทั้งโรงพยาบาลมียาเพียง 200 กว่ารายการเท่านั้น ไม่เหมือนโรงพยาบาลใหญ่ที่มีถึง 400-500 รายการ รายการยาของเราครอบคลุมทุก กลุ่ม คุณอย่าเลือกมากนักเลย

ทันตแพทย์, สิงห์บุรี



ต้องแยกให้ ออกระหว่างคุณภาพ ยากับราคายา สองอย่างนี้ไม่ได้ไปด้วยกัน ไม่ว่ายาถูกหรือยาแพง ยาไทยหรือยานอก ล้วนมีสรรพคุณพอๆกัน ป่วยกายก็พอแล้ว อย่าถึงกับป่วยใจเป็นโรคบ้ายานอก ถึงขนาดบังคับให้หมอสั่งยาแพงๆ

รศ. ดร. นพ.กำพล ศรีวัฒนกุล, กรุงเทพฯ



ประมาณร้อยละสิบของผู้ป่วยทางจิตเกี่ยวกับอารมณ์ ใช้ยาช่วยรักษาแล้วอาการอาจไม่ดีขึ้น เพราะโรคจิตเวชบางประเภทนั้นยากแก่การรักษา

รศ. นพ. มาโนช หล่อตระกูล, จิตแพทย์และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ. รามาธิบดี



ผู้ป่วยวัยรุ่นบางคนมีความเครียดและวิตกกังวลมากจากปัญหาการเรียน มาหาหมอแล้วคาดหวังว่าจะได้ยาอย่างเดียว อยากกินยาเพื่อจะหายจากอาการที่เป็นอยู่ทันที โดยไม่สนใจและไม่เห็นความสำคัญว่าควรพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของตนเอง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่าคนเราควรใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริง อย่างไร ไม่ใช่การคาดหวังเกินกำลังความสามารถแล้วก็เครียดก็ป่วย ในที่สุด หมอก็ต้องจัดยาให้อย่างระมัดระวังว่าเป็นตัวยาที่กินเข้าไปแล้วจะไม่เกิดการติดยา

พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์, ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต



บางทีการให้ยาเพียงอย่างเดียวอาจทำให้คนไข้ดีขึ้นแค่ชั่วคราว เช่น เด็กท้องผูก หมอจ่ายยาแล้วจะต้องอธิบายถึงสาเหตุว่าที่เขาท้องผูกเพราะไม่กินผัก ถ้าไม่อยากท้องผูกต้องกินผักผลไม้มากขึ้น แล้วจะได้ไม่ต้องมาหาหมอ ไม่ต้องกินยา

นพ. สุริยเดว ทรีปาตี, กุมารแพทย์และหัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี



กรณี ที่แพ้ยา เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ล่วงหน้า ยกเว้นเคยมีอาการมาก่อนเพื่อให้ถูกต้องใกล้เคียงที่สุด คนไข้ควรสังเกตให้ได้ว่ากินยาตัวไหนแล้วแพ้หรือมีอาการข้างเคียงอะไรบ้าง ถ้าบอกได้ชัดเจน การวินิจฉัยจะแม่นยำมากขึ้น แต่ถ้าเป็นเพียงอาการข้างเคียงและจำเป็นต้องใช้ ก็ต้องใช้ยานั้นด้วยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยและผลการรักษาที่ดีกว่า

นพ. วิสันต์ เตรียมล้ำเลิศ, ศัลยแพทย์



ไม่ต้องห่วงหรอกค่ะ ไม่ว่าโครงการ 30 บาทหรือกี่บาทก็ตาม หน้าที่ของดิฉันคือสั่งยาคุณภาพดีและตรงกับโรคของคุณ นอกจากนี้ขอร้องเถิดค่ะ อย่าพูดคำว่ายากระจอกให้ได้ยินเลย

พญ. รพีพรรณ มาไพศาลทรัพย์, ศัลยกรรมเด็ก, ราชบุรี





ค่ารักษาพยาบาล



หมอ ก็มีต้นทุนต้องกินข้าวเหมือนคุณ บางโรงพยาบาลกว่าจะขับรถไปถึงหมดน้ำมันเป็นถัง นอกจากนี้ หมอเองต้องผ่อนบ้านผ่อนรถเหมือนคุณ โรงพยาบาลแยกค่าหมอกับค่ายาให้คุณดูน่ะยุติธรรมแล้ว แต่คุณไม่คุ้น เพราะเคยชินกับระบบร้านหมอที่รวมค่ายาค่าหมอไว้ด้วยกัน

รศ. ดร. นพ. กำพล ศรีวัฒนกุล, กรุงเทพฯ



รู้ไหม ทำไมค่ารักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชนจึงต่างกันหลายเท่า เพราะโรงพยาบาลรัฐไม่มีค่าก่อสร้างอาคาร ค่าจ้างบุคลากร หรืออื่นๆ ทั้งหมดนี้อยู่ในงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้ แต่โรงพยาบาลเอกชนมีค่าก่อสร้างอาคาร ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟฟ้า และอื่นๆ ทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาคำนวณในการคิดค่ารักษาพยาบาล

นพ. สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์, สูตินรีแพทย์, กรุงเทพฯ



รายละเอียดของค่าใช้จ่ายในการรักษา ควรสอบถามเจ้าหน้าที่แผนกการเงินเพราะจะให้ข้อมูลได้ดีกว่า เนื่องจากแพทย์มักไม่ทราบรายละเอียดทางการเงิน

นพ. วิสันต์ เตรียมล้ำเลิศ,ศัลยแพทย์



คนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของการเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ทำไมคุยกันหนึ่งชั่วโมง ไม่ได้จ่ายยาให้เลยแต่ทำไมต้องคิดเงินด้วย เพราะผู้ป่วยไม่ทราบถึงขั้นตอนการรักษาว่าต้องประเมินอาการผู้ป่วยจากการพูด คุยเบื้องต้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลภาครัฐบาลทั้งที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน เกือบสามเท่า

พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์, ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต



การทำศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวย มีค่าใช้จ่ายแน่นอนตามที่แจ้งไว้แล้ว

พญ. สกุณา สัจจอิสริยวุฒิ, ศัลยแพทย์และอาจารย์พิเศษ สาขาศัลยกรรมตกแต่ง



คนไข้บางคนมีสถานภาพทางการเงินไม่ดี แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจึงไม่ควรรีรอ ดิฉันจะแนะนำว่าไม่เป็นไร ดิฉันจะทำเรื่องส่งต่อให้ จะเขียนจดหมายแนะนำให้ดีที่สุด ไม่ต้องห่วงนะคะ หน้าที่ของแพทย์มีเพียงให้การรักษา ไม่ได้มีหน้าที่ทำกำไรให้ใคร

พญ. จรินรัตน์ ศิริรัตนพันธ, ผู้เชี่ยวชาญหู ตา คอ จมูก, นครนายก






คำแนะนำฟรีๆ



นอกเวลางานจะมีคนเข้ามาขอรับคำปรึกษาบ่อยมาก หมอดีใจที่เขารู้สึกดีและจำเราได้ ถ้าโอกาสอำนวยพอจะพูดคุยได้ก็ยินดี แต่ถ้าไม่ หมอจะบอกให้เขาทราบว่าเรามีเบอร์ฮอตไลน์ 1323 หรือจะใช้บริการปรึกษาผ่านทางเว็บไซต์ของเราก็ได้ (dmh.go.th)

พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์, ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต



ผม กลายเป็นคนสาธารณะไปแล้ว มีคนขอคำปรึกษามากมายทั้งทางอีเมลและโทรศัพท์ ผมยินดีช่วยเหลือส่วนรวมเท่าที่ทำได้ แต่ผมก็ต้องจำกัดเวลาไว้ทำหน้าที่พ่อของลูกด้วย

นพ. สุริยเดว ทรีปาตี, กุมารแพทย์และหัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี



การหาข้อมูลการแพทย์ทางอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องดี แต่ถ้าคุณให้ข้อมูลไม่เพียงพอ หมอก็ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ สิ่งที่หมอยินดีทำออนไลน์คือการอธิบายศัพท์ทางการ แพทย์ยากๆให้คนทั่วไปเข้าใจ ดังนั้น หากอยากรู้จักโรคที่คุณเป็นให้ดีขึ้นควรถามหมอผู้ดูแลมาก่อนว่าโรคที่คุณ เป็นนั้นภาษาหมอเรียกว่าอะไร จะได้เข้าใจตรงกัน

รศ. นพ. อิศรางค์ นุชประยูร, กุมารแพทย์, รพ.จุฬาลงกรณ์





เห็นใจหมอบ้าง



พวกคุณไม่ต้องรุมด่าว่าผมหรอก ผมเองก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมผ่าตัดไส้ติ่งมาเป็นพันรายแล้ว ทุกรายหายดีหมด นี่เป็นรายแรกที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ผมเองไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

นพ. ไพบูลย์ สุขโพธารมณ์,ศัลยแพทย์, นนทบุรี



ตายละ เกิดอะไรขึ้น ก่อนการผ่าตัดฉันก็ศึกษาอย่างถี่ถ้วน และระหว่างการผ่าตัด ฉันก็ดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างประณีตเต็มร้อย ฉันต้องหาสาเหตุให้ได้

พญ. รพีพรรณ มาไพศาลทรัพย์, ศัลยกรรมเด็ก, ราชบุรี



การอธิบายถึงโรคที่คุณเป็นอยู่อาจต้องใช้เวลาพอควร แต่เพื่อไม่ให้คนไข้รายอื่นต้องรอนานเกินไป ต้องขออภัยที่บางครั้งอาจกล่าวรวบรัดไปบ้าง ถ้ามีโอกาสจะอธิบายเพิ่มภายหลังหรือถ้าหาข้อมูลจากแหล่งอื่นได้อีกก็จะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น

นพ. วิสันต์ เตรียมล้ำเลิศ, ศัลยแพทย์



หลังผ่าตัดมีโอกาสไม่ได้ผลสมบูรณ์ตามคาดหวัง ขึ้นกับข้อจำกัดของโครงสร้างเดิมจึงต้องพูดคุยกับแพทย์ให้มีความเข้าใจตรง กันว่าสวยในแบบของคนไข้มีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร

พญ. สกุณา สัจจอิสริยวุฒิ, ศัลยแพทย์และอาจารย์พิเศษ สาขาศัลยกรรมตกแต่ง



ในทางการแพทย์ ยาชนิดเดียวกัน คนไข้โรคเดียวกัน แต่ผลการรักษาอาจไม่เหมือนกัน อาจเป็นเพราะพื้นฐานของคนไข้ เช่น อายุ พันธุกรรม โรคที่เป็นมาแต่เดิม หรือปัจจัยอื่นๆ วินาทีนั้นเกิดอะไรขึ้นก็ได้ เหมือนเครื่องบินชนบ้านเรา โอกาสน้อยนิดแต่เป็นไปได้ นั่นคือ บางครั้งรับประกันไม่ได้ว่ารักษาแล้วหาย 100%

นพ. ธเนศ พัวพรพงษ์, ศัลยแพทย์, กรุงเทพฯ



หมอไม่ใช่ฆาตกร อย่ามองว่าพวกเราเป็นศัตรู บางครั้งเป็นเหตุสุดวิสัยจาก ความไม่พร้อม ขาดบุคลากร ขาดแคลนเครื่องมือ คุณรู้ไหมว่าการฟ้องร้องหมอแต่ละครั้งส่งผลกระทบอะไรบ้าง สุขภาพจิตของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ย่ำแย่ลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย คุณสั่นคลอนทุกองค์ประกอบของระบบ แพทย์ไม่กล้ารักษากรณียาก มีความเสี่ยงมาก การฟ้องร้องหมอในระยะหลังมีมากขึ้น มีมูลบ้าง ไม่มีมูลบ้าง หลายครั้งที่คดีถึงที่สุดแล้วแพทย์ไม่ผิด แต่สังคมได้ตัดสินไปแล้วว่าคุณทำผิด

พญ. จรินรัตน์ ศิริรัตนพันธ, ผู้เชี่ยวชาญหู ตา คอ จมูก, นครนายก






หมอก็มีหัวใจ



ผมเคยผ่านเหตุการณ์คนไข้วัยผู้ใหญ่เสียชีวิตครั้งแรกในชีวิตความเป็นหมอ ผมนอนไม่หลับ เฝ้าถามตัวเองว่าทำไมหมอช่วยเขาไม่ได้

นพ. สุริยเดว ทรีปาตี, กุมารแพทย์และหัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี



ดิฉัน ทราบค่ะว่าคุณปวดเท้า แต่การที่นอนยกเท้าพร้อมรองเท้าขึ้นมาให้ตรวจ คุณคงไม่ได้ตั้งใจให้ดิฉันถอดรองเท้ากับถุงเท้าให้ใช่ไหมคะ ดิฉันต้องใช้สติบวกกับขันติ พยายามเข้าใจในความเจ็บป่วยของคุณ

พญ. จรินรัตน์ ศิริรัตนพันธ, ผู้เชี่ยวชาญหู ตา คอ จมูก, นครนายก



บทบาท ของแพทย์ที่ต้องรับหน้าที่ไปบอกญาติว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว หากเป็นรายที่ป่วยเรื้อรังมานานก็ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นผู้ป่วยที่ยังอายุไม่มากและเสียชีวิตอย่างกะทันหันนั้นเป็นเรื่อง ยากมากที่จะทำให้ญาติเข้าใจและยอมรับได้ หมอเองจึงควรได้รับการฝึกให้รับกับสถานการณ์เช่นนี้ด้วย

รศ. ดร. นพ. กำพล ศรีวัฒนกุล, กรุงเทพฯ



ผม เคยเจอภาพสะเทือนใจ คือผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายที่รู้ตัวดีขอมาตายในพื้นที่เล่นสำหรับเด็กที่โรง พยาบาลเราจัดไว้เพื่อสร้างความเพลิดเพลินแก่เด็กๆ อย่างน้อยผู้ป่วยก็ได้เบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวดและมีความสุข

นพ. สุริยเดว ทรีปาตี, กุมารแพทย์และหัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี



ทำไม พูดไม่รู้เรื่อง บางครั้งผมก็อยากแสดงอารมณ์เหมือนกัน แต่ทำกับคุณไม่ได้ ผมต้องโทรฯไปบ่นไประบายกับเพื่อนๆ ใคร นะบอกว่าโชคดีที่มีเพื่อนเป็นหมอ

ทันตแพทย์, สิงห์บุรี



ฉัน จำคุณได้ ฉันทำหน้าอกคุณเป็นรอยไหม้เพราะพยายามปั๊มหัวใจให้คุณนานจนพยาบาลขอให้หยุด ทำอย่างไรได้ล่ะคะ ในเมื่อฉันเห็นภรรยาของคุณอุ้มลูกรออยู่หน้าห้อง ขอบคุณนะที่มาเยี่ยม คุณไม่รู้หรอกว่าคุณทำให้หัวใจฉันร้องไห้อย่างมีความสุข

พญ. จรินรัตน์ ศิริรัตนพันธ, ผู้เชี่ยวชาญหู ตา คอ จมูก, นครนายก



ถ้าคุณอยากร้องไห้ต่อหน้าผมก็ทำได้เลย พวกเราถูกสอนให้พร้อมจะรับฟังได้ทุกอย่าง

รศ. นพ. มาโนช หล่อตระกูล, จิตแพทย์ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ร.พ. รามาธิบดี








 

Create Date : 27 มีนาคม 2554   
Last Update : 27 มีนาคม 2554 1:54:54 น.   
Counter : 3365 Pageviews.  

ประชาชนต้องการความปลอดภัยในการไปโรงพยาบาล หรือต้องการได้รับเงินชดเชยความเสียหาย?




ประชาชนต้องการความปลอดภัยในการไปโรงพยาบาล หรือ ต้องการได้รับเงินชดเชยความเสียหาย?

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

(สผพท.)

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1299060365&grpid=&catid=02&subcatid=0200



ได้อ่านบทความเรื่อง “เปิดความในใจประชาชนผู้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข วันที่ 2 มีนาคม 2554 แล้ว คุณสารี อ๋องสมหวัง ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับเจ้าปัญหานี้แล้ว มีข้อความทั้งจริงและเท็จปนอยู่มากมาย ตามสำนวนไทยที่ต้องแยกแยะว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ



ความจริงก็คือ กระบวนการร่างกฎหมายและเสนอกฎหมาย ก็เป็นไปตามปกติของการเสนอกฎหมายใหม่จริง ผ่านไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาจริง มีกรรมการฝ่ายแพทย์ไปประชุมด้วยจริง แต่อาจจะเป็นเสียงข้างน้อย และไม่ได้บันทึกไว้ หรือคณะกรรมการกฤษฎีกามีการสรุปความเห็นจริง แต่ผู้ผลักดันกฎหมายได้ใช้สิทธิไปผลักดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แก้กฎหมายจากที่คณะกรรมการกฤษฏีกาเสนอ ให้กลับคืนมาเป็นตามแบบที่กลุ่มเครือข่ายผู้เสียหายต้องการ โดยการนำเอาผู้พิการไปเป็นผู้เรียกร้องด้วย


ส่วนความเท็จที่คุณสารีอ้างก็คือ การกล่าวหาว่าฝ่ายผู้ต่อต้าน มีการ “ปล่อยข่าว”ว่ามีผู้ต้องการหาผลประโยชน์

............. เรื่องนี้ถ้าสอบสวนวิเคราะห์ให้ดี จะพบว่า “ไม่ใช่การปล่อยข่าว” แต่อย่างใด ในบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ฉบับเสนอโดยรัฐบาล เขียนไว้ว่า NGO ด้านสาธารณสุขจะเป็นกรรมการในบทเฉพาะกาลไว้มากถึง 6 ใน 11 คน (ถามเด็กอนุบาลก็รู้ว่าเป็นกรรมการเสียงข้างมาก ที่จะไปออกกฎระเบียบต่างๆ และระเบียบการใช้เงินกองทุนต่อไป และกำหนดผลประโยชน์ของคณะกรรมการได้ด้วย)

และถ้าไปไล่เรียงรายชื่อผู้ออกหน้ามาสนับสนุนพ.ร.บ.นี้ ก็จะเห็นว่า บุคคลต่างๆเหล่านี้ต่างก็มีชื่อเป็นกรรมการในสปสช. สสส. สช. และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซ้ำกันไปมา จนดูเหมือนว่า ประเทศไทยมีคนเก่งและรอบรู้ มีความสามารถผูกขาดอยู่ไม่กี่คน



ส่วนประเด็นคดีอาญานั้น คุณสารีจะมาอ้างว่าพ.ร.บ.นี้จะให้ประโยชน์แก่แพทย์นั้น แพทย์ไม่เห็นด้วย เพราะแพทย์ตั้งใจมา “ช่วยชีวิต” ผู้ป่วย ไม่ได้ตั้งใจมา “ฆ่าคน” จึงปราศจาก “เจตนาในการฆ่า” เหมือนกับการขับรถชนคนตายโดยประมาท ถึงแม้จะปราศจาก “เจตนาฆ่า” แต่พฤติกรรมที่ประมาทเลินเล่อ” ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต “ ศาลก็ย่อมต้องใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่แล้ว

................ การมาบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจเพื่อลดโทษในพ.ร.บ.นี้ จึงไม่น่าจะมีผลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมกับแพทย์แต่อย่างใด

การที่แพทย์ส่วนหนึ่งมาคัดค้าน จนมีการรวมตัวกันเป็นสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ก็เนื่องจากได้อ่านรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ฉบับรัฐบาลแล้ว เห็นว่า เป็นพ.ร.บ.ที่ไม่ “เที่ยงธรรม” กล่าวคือให้สิทธิประชาชน 9 ในสิบส่วน แต่ให้สิทธิบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียง 1 ในสิบส่วนเท่านั้น ทั้งๆที่ประชาชนเป็นฝ่ายมาให้แพทย์รักษา แพทย์มิได้ออกไปขอให้ประชาชนมารักษากับตน และแพทย์ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาประชาชนได้ ไม่สามารถเลือกผู้ป่วยได้ โดยที่แพทย์ต้องถูกควบคุมกำกับโดยผู้บังคับบัญชาในกระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพ กฎหมายสถานพยาบาล กฎหมายแพ่ง อาญา กฎหมายปกครอง และจริยธรรมวิชาชีพ อยู่มากมายหลายฉบับแล้ว และจะต้องมาถูกควบคุมจากฎหมายฉบับนี้ " โดยกรรมการที่ไม่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติความรู้ ความสามารถและตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อน หรือจริยธรรมใดๆ "

ทั้งๆที่ในการทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์นั้น บุคลากรส่วนมากมีความตั้งใจที่จะทำงานให้ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยไม่หายจากอาการเจ็บป่วย มีความพิการ หรือเป็นโรคเรื้อรังนั้น ก็อาจจะเกิดจากอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โรคแทรกซ้อน สังขารของผู้ป่วยเอง และความรุนแรงของโรค ที่มนุษย์ปุถุชนเช่นแพทย์ไม่มีการรักษาที่จะสามารถหยุดยั้งความรุนแรงของโรคได้ และมีส่วนน้อยที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ ปล่อยปละละเลย หรือความผิดพลาดในการรักษาจากผู้ทำการรักษา



และพ.ร.บ.นี้ อ้างว่าจะช่วย “เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี” ระหว่างประชาชนและแพทย์ ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ความจริงที่เห็นชัดในพ.ร.บ.นี้ ที่ฝ่ายสนับสนุนต้องการ คืออยากได้เงินชดเชยเมื่อเกิดความเสียหาย เพิ่มจากขีดจำกัดที่เคยได้รับจากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือสูงสุดเพียง 200,000 บาท ทำให้ฝ่ายผู้เสียหายบอกว่า เงินไม่พอใช้ ต้องการเงินมากกว่านี้




ถ้าอ่านพ.ร.บ.นี้ให้เข้าใจทุกบททุกมาตราแล้ว จะเห็นว่า ผู้ที่รู้ตัวว่าได้รับความเสียหายทางการแพทย์นั้น จะได้รับเงินช่วยเหลือและชดเชยก็ต่อเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ทำผิดมาตรฐานเท่านั้น

............. ถ้าเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์เช่นแพ้ยาจนตาบอด ก็จะไม่ได้เงินช่วยเหลือและชดเชยจากกองทุนนี้ ยกเว้นคณะอนุกรรมการและกรรมการจะตัดสินว่าแพทย์ทำผิดมาตรฐานจึงจะได้เงินช่วยเหลือและชดเชย ซึ่งเมื่อมีการจ่ายเงินครั้งใด จะหมายความว่าแพทย์ทำผิดประการเดียวเท่านั้น จะหมายความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ซึ่งผู้เสียหายจะไม่ได้เงินง่ายๆเหมือนมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แต่การตัดสินการทำงานของแพทย์ผู้ต้องใช้ความรู้และทักษะทางวิชาการเฉพาะ แต่จะถูกตัดสินโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่มีความรู้และทักษะในวิชาการไม่เท่าเทียมกัน จึงถือว่าเป็นพ.ร.บ.ที่ไม่ยุติธรรม เหมือนเอาคนตัดสินฟุตบอลโรงเรียนประถม ไปตัดสินการแข่งฟุตบอลโลก



ทำไมผู้คัดค้านส่วนมากจึงเป็นแพทย์ที่ทำงานหรือเคยทำงานในกระทรวงสาธารณสุข?

................ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ การทำงานบริการทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ส่วนมากเป็นการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานที่แพทย์เองพึงพอใจ เนื่องจากความขาดแคลนบุคลากร ขาดเตียง ขาดอาคารสถานที่ ขาดเงินงบประมาณในการซื้อยา เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน แต่จำนวนผู้ป่วยมากมายเกินกำลังคน และอุปกรณ์ที่มีอยู่ บุคลากรต้องทำงานติดต่อกันไม่มีเวลาพักจนเหนื่อยล้า ประชาชนเสี่ยงต่อความผิดพลาดหรืออันตราย เสี่ยงต่อความเข้าใจผิด เนื่องจากมีความคาดหวังสูงเกินไป ไม่ยอมรับในความสูญเสีย ทั้งๆที่ความสูญเสียนั้นอาจจะเกิดจากอาการป่วยที่ทรุดหนักตามสังขารและความรุนแรงของโรค หรืออาการอันไม่พึงประสงค์ของการใช้ยา แต่ประชาชนไม่เข้าใจ และฟ้องร้องแพทย์ว่าเป็นสาเหตุแห่ง “ความเสียหาย”เสมอ



ที่จริงแล้วแพทย์ต้องการให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้ “ป้องกัน” ไม่ให้ประชาชนได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

การป้องกันความเสียหายเหล่านี้ สามารถทำได้โดยการพัฒนาสถานพยาบาลทุกระดับ ให้มีบุคลากร อาคารสถานที่ งบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ เทคโนโลยีและเวชภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐานการบริการทางการแพทย์ที่ดี เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการรับบริการสาธารณสุข

และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ก็สามารถใช้มาตรา 41 ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาช่วยเหลือประชาชนได้ และถ้าความเสียหายเกิดจากความผิดพลาดหรือประมาทเลินเล่อ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องรีบมาให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและให้ความเป็นธรรมแก่บุคลากร มิใช่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในสถานพยาบาลที่ตนต้องรับผิดชอบ ปล่อยให้บุคลากรทำงานในสภาพที่ตกต่ำจากมาตรฐาน ประชาชนเสี่ยงอันตราย โดยไม่ป้องกันอันตราย ไม่พัฒนาบริการเช่นนี้



หรือประชาชนยอมรับต่อการเสี่ยงอันตราย แต่พอใจจะรอรับเงินช่วยเหลือหลังจากเกิดความพิการหรือเพื่อชดเชยชีวิตเท่านั้น?





ตอนท้ายบทความคุณสารีขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่รับปากว่าจะผลักดันร่างกฎหมายนี้แน่นอน

ทางสผพท.ก็ขอขอบคุณนายวิทยา แก้วภราดัยที่ยืนยันว่า จะนำร่างพ.ร.บ.นี้เข้าพิจารณา ก็ต่อเมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ทำประชาพิจารณ์ในวงกว้าง

และขอขอบคุณนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยให้สัญญาลูกผู้ชายว่า จะยอมถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ออกจากสภาฯถ้าแพทยสภาสามารถรวบรวมรายชื่อบุคลากรสาธารณสุขถึง 80% ว่าไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นี้









 

Create Date : 04 มีนาคม 2554   
Last Update : 4 มีนาคม 2554 16:50:49 น.   
Counter : 2039 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]