Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ทุกข์ในใจ .... ( ได้รับรางวัลดีเด่น )

ทุกข์ในใจ

ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาอยู่ชั้นปีที่5 และได้มีโอกาสตรวจผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในขณะที่ข้าพเจ้ายืนรอผู้ป่วยอยู่หน้าห้องตรวจนั้น ข้าพเจ้าได้ได้ยินเสียงพยาบาลท่านหนึ่งซึ่งอยู่หน้าห้องตรวจที่อยู่ติดกันกล่าวว่า

“ หมายเลข 19 ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน เจาะเลือด”

เป็นเสียงเรียกจากพยาบาลหน้าห้องตรวจ ป้าคนหนึ่งรีบลุกจากที่นั่งตรงมายังเสียงเรียกดังกล่าว ส่งสมุดบันทึกประจำตัวให้เจ้าหน้าที่ ด้วยความวิตกกังวลว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร พยาบาล หมอจะว่าอะไรป้าบ้าง ผลความดันผลเลือดจะออกมาอย่างไร
“เอาหลาว ไม่มาตามนัดหลาว พันปรือสักที แล้วจะรักษาที่นี่ต่อหม้าย”

พยาบาลหน้าห้องตรวจก้อพ่นลมปากใส่ป้า พร้อมท่าทางหงุดหงิดที่ป้าไม่มาตามที่นัดหมายแล้วตามมาอีกสองสามประโยค

“โอ้ย ความดันไม่ลดเลย สั่งห้ามกินเค็มกินมัน ทำตามมั่งหม้าย”
“เอา มาเจาะเลือด พูดอะไรไม่เคยทำตาม เดี่ยวคอยแลเบาหวานขึ้นสูงอีก”

คนในชุดขาว หมวกขาวหน้าห้องตรวจ พูดพรางเขียนพรางโดยชื่อของป้าไม่มีผ่านปากเลยสักคำ สีหน้าแววตาของป้าเป็นอย่างไรไม่ได้รับรู้เลย สิ่งที่เค้าสนใจคือการจดบันทึกลงในเวชระเบียนเท่านั้น

“เจาะเลือดเสร็จแล้ว รอแถวนี้อย่าไปไหน รอเข้าพบหมอ” พยาบาลคนเดิมสั่งป้า

ข้าพเจ้าเห็นป้าทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยการนั่งรอหน้าห้องตรวจ โดยที่ไม่ทราบว่าไปทานอาหารได้แล้วเพราะเจาะเลือดเสร็จแล้วพยาบาลสั่งให้รอก็รอ ไม่เห็นบอกให้ไปกินข้าว

“หมายเลข 19 เข้าห้องตรวจ หมายเลข 19 19 อยู่หม้าย” เสียงพยาบาลเรียกป้า

ป้าสะดุ้งเมื่อเพื่อนข้างๆสะกิดบอกว่าถึงคิวตรวจแล้ว ป้าเดินสีหน้าเศร้าสร้อยเข้าห้องตรวจ

“325 ป้า ป้า น้ำตาลป้าไม่ลดเลย หมอต้องเปลี่ยนจากยากินมาเป็นยาฉีดแล้วนะ ป้าทำตามที่หมอสั่งหรือป่าว รักษามาตั้งนานไม่ได้ผลเลย มาก็ไม่ตรงนัด เดี่ยวป้าไปรับยาแล้วให้พยาบาลสอนฉีดยาให้นะ ป้าจะฉีดเองหรือสอนให้ญาติฉีดก็ได้ หากฉีดเองไม่ได้ให้มาฉีดเองที่โรงพยาบาลวันละครั้ง”

หลังจากดูผลเลือดและตรวจป้าราวๆ สองถึงสามนาทีแพทย์ผู้ทำการรักษาได้เปลี่ยนจากยากินมาเป็นยาฉีดแทนเนื่องจากไม่พอใจค่าตัวเลขระดับน้ำตาลในเลือดของป้าที่ควบคุมไม่ได้

คำถาม คำตำหนิจากคนชุดขาว จากหมอ ที่ป้ามาไม่ตรงนัด ความดันไม่ลด น้ำตาลไม่ลด ทำตามที่สั่งไม่ให้กินเค็ม ไม่กินมัน ไม่กินหวานทำตามบ้างหรือไม่ สารพัดคำถาม สารพัดคำตำหนิ แต่ดูเหมือนว่าตั้งแต่เช้ามาป้ายังไม่ได้บอกกล่าวอธิบายเหตุผลใดๆให้ใครฟังสักคำเลยและดูเหมือนว่าป้าคงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรแล้ว เพราะพยาบาลและหมอทำตามขั้นตอนที่วางไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

หลังจากนั้นซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยงของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นป้านั่งอยู่หน้าห้องตรวจเพื่อรอบัตรนัดครั้งต่อไปร่วมกับมีสีหน้าเศร้า ข้าพเจ้าเลยเข้าไปนั่งคุยกับป้าถึงเหตุการณ์ทั้งหมดและเหตุผลที่ป้าไม่มาตามนัดรวมถึงการที่ป้าควบคุมเบาหวานและความดันไม่ดี ซึ่งป้าก็เล่าให้ฟังดังนี้

หลักกิโลเมตรที่ 18 ถนนสายบ่อล้อลำทับ เป็นบ้านของป้ากับลุงที่มีลูกสาว ลูกเขยและหลานอีกสองคนอยู่ด้วยกัน ลูกสาวและลูกเขยที่อยู่กับป้า กรีดยางจ้างในหมู่บ้านใกล้เคียงห่างจากบ้านร่วมสิบกิโล หลานสองคนเรียนอยู่ชั้น ป.3 และ ป.6 มีรถรับส่งหน้าบ้าน ทั้งป้าและลุงเมื่อก่อนกรีดยางจ้างเช่นกันแต่ตอนนี้สายตาไม่ดีเลยกรีดไม่เห็น หยุดกรีดยางมาสามสี่ปีแล้ว เวลาทั้งหมดของป้าเป็นการทำงานบ้าน ทำกับข้าว ซักผ้าส่วนลุงออกทำงานก่อสร้างกับผู้รับเหมาในตัวอำเภอ มีรถมารับส่งทุกวัน

ก่อนจะมาโรงพยาบาล ป้าได้บอกกับลูกสาวเรื่องที่จะต้องมาโรงพยาบาล ก่อนที่ป้าจะบอกลูกสาว ป้าต้องคิดแล้วคิดอีก ต้องหาจังหวะเวลาที่พอจะพูดกับลูกได้เพราะรู้ดีว่าหากวันไหนหมอนัด ลูกเขยต้องไปส่งเนื่องจากลูกสาวขับรถไม่ได้ และทั้งบ้านมีรถมอเตอไซร์ที่ใช้ขนน้ำยางเพียงคันเดียว ทำให้ลูกต้องหยุดกรีดยางเพราะรู้ดีว่าต้องไปตั้งแต่เช้าเพื่อไปหยิบบัตรคิว อีกทั้งการเป็นลูกจ้างแล้ว หยุดกรีดยางนอกจากเป็นการขาดรายได้แล้วอาจถูกไล่ออกได้ง่ายๆ จึงเป็นเรื่องที่ป้าต้องลำบากใจทุกครั้งที่ต้องบอกลูก

บางครั้งที่หมอนัดป้า ป้าบอกว่าต้องทำเป็นลืม บางนัดลูกไม่ว่างก้อไม่ได้ไป บางครั้งแม้ไม่มีเสียงตอบใดๆจากลูกเลยป้าก็จะเตรียมสัมภาระไว้เผื่อว่าลูกจะรับรู้และได้ไปส่ง กลางคืนป้าต้องนอนฟังเสียงรถมอเตอร์ไซร์หากได้ยินเสียงรถออกจากบ้านแสดงว่าลูกไปกรีดยาง บ่อยครั้งที่ป้าต้องงดน้ำ งดอาหารรอโดยไม่รู้เลยว่าวันรุ่งขึ้นจะได้ไปโรงพยาบาลหรือไม่
แต่คราวนี้ป้ารู้สึกดีใจเมื่อได้ยินคำตอบรับจากลูกสาวว่า

“ต่อเช้าหยุดยาง ค่อยให้พี่ญาไปส่ง”

ป้ารู้สึกโล่งอกไปเรื่องหนึ่ง แต่ความกังวลไม่ได้จบเพียงการตอบปากรับคำจากลูกเพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาป้ารู้ดีว่าวันไหนหยุดกรีดยางลูกเขยชอบไปเที่ยวกับเพื่อน กินเหล้า เมากลับดึกเป็นประจำซ้ำร้ายยังมีปากเสียงลงไม้ลงมือกันบ่อยกับลูกสาวจนหลานๆต้องร้องห่มร้องให้มานอนกันนอกห้องหลายครั้ง จะหวังอะไรที่จะไปส่งแม่หาหมอตามนัด

ป้าจัดแจงสัมภาระของใช้ส่วนตัวใส่ตะกร้าใบเก่าเช่นเดิมทุกครั้งที่ผ่านมา ที่ลืมไม่ได้คือสมุดประจำตัว บัตรทอง บัตรประชาชน ป้าทราบดีว่าหากป้าลืมสิ่งเหล่านี้เมื่อไปโรงพยาบาลป้าจะพบกับเหตุการณ์อย่างไรบ้าง ป้าเล่าให้ฟังว่าเคยน้ำตาร่วงจากเงินติดกระเป๋าต้องหมดไปจากการต้องจ่ายค่ายาเนื่องจากลืมบัตรทอง ป้าจำไม่ลืมและที่เสียใจมากกว่าการจ่ายค่ายาคือ เสียงต่อว่าจากห้องบัตรกล่าวว่า

“ ไม่รู้จักเตรียม มาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว เก็บตางค์เสียมั่งจะได้รู้สึก”

ทั้งคำพูดและการกระทำของเจ้าหน้าที่ห้องบัตรครั้งนั้นทำให้ป้ารู้สึกจริงๆ เงินที่เก็บออมใว้ยามจำเป็นต้องหมดไป ใจที่ทุกข์ระทมจากสารพัดเรื่องเพิ่มทวี ฝังใจจนยากที่จะลืมได้
ป้าเล่าไปน้ำตาคลอเบ้าไปด้วยใจที่หดหู่ ยากที่ใครจะรับรู้เข้าใจความรู้สึกป้า วัยชราคนนี้

ป้าเล่าต่อว่าหลังจากอาหารเย็น ป้าก็ไม่ทานอะไรต่ออีกเลย งดอาหารและน้ำตามแพทย์สั่ง รีบเข้านอนรอฟังเสียงไก่ชนที่ลุงเลี้ยงไว้หลังบ้าน ป้ากังวลจนนอนไม่หลับ กังวลว่าพรุ่งนี้จะได้ไปตามนัดหรือไม่ ผลความดันเบาหวานเป็นอย่างไรบ้าง จะพูดกับพยาบาล กับหมออย่างไรว่านัดครั้งที่แล้วไม่ได้มา และกลัวว่าค่าความดันเบาหวานไม่ลดจะทำอย่างไร

ป้าตื่นตีห้าเรียกลูกสาวให้ไปปลุกลูกเขยใช้เวลาค่อนชั่วโมงกว่าจะมาถึงโรงพยาบาลด้วยความรีบร้อน ตรงไปที่บัตรคิวหยิบบัตร 19 ซึ่งเป็นบัตรที่หยิบได้ในเดือนนี้มีหลายคนนอนรอ นั่งรออยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทุกคนพยายามรีบมาให้เร็วที่สุด เพราะหากมาสายเท่ากับว่าต้องนั่งทนหิวอีกนานกว่าจะได้ทานข้าว

สักครู่หนึ่งลูกเขยป้าจึงเดินเข้ามาหาและพาป้ากลับบ้านพร้อมความทุกข์ใจที่ยังมีอยู่และไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้


ทั้งหมอทั้งพยาบาลมีใครสักคนไหมที่รู้ว่า ที่ป้ามาไม่ตรงนัดแล้วบอกพยาบาลว่าป้าลืมนัด ป้าจำวันผิด ยอมให้พยาบาลดุด่าเพียงเพื่อให้มีคำตอบให้เหตุการณ์ขณะนั้นผ่านพ้นไป ทั้งที่จริงป้าต้องทำเป็นลืม เพราะเกรงใจลูกที่ต้องมาส่ง ต้องหยุดกรีดยาง ขาดรายได้หรือบางครั้งคนมาส่งเมาเหล้าหลับลืมไม่ได้มาส่ง บางครั้งมีปัญหาสามีภรรยาทุบตีกัน สุดท้ายคำว่า ลืม คำว่า จำวันผิด ก็เป็นวลีเพียงเพื่อลมปากผ่านหูเท่านั้น

แล้วมีสักกี่คนที่รู้ว่าป้าอยากทำตามที่หมอสั่ง งดเค็ม งดมัน งดหวาน แต่ไม่มีทางให้ป้าเลือกกินเลย ป้าเล่าให้ฟังว่า

“ที่บ้านอยู่กัน 6 ชีวิต ใครจะรู้บ้างว่ากับข้าวที่ป้าทำเคยถูกเททิ้งมาแล้วเนื่องจากจืด กินไม่ลง ลูกหลานกินไม่ได้ หากจะแยกครัวแยกปรุงออกไปต่างหาก เท่าที่มีอุปกรณ์อาหารการกินก็จำกัดเต็มที แค่ได้มีกินก็พอแล้วสำหรับป้า”

จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้เจอในครั้งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าคิดอยู่เสมอว่าการเป็นหมอนั้นไม่ใช่แค่เพียงการรักษาเพียงแต่โรคหรือการมีความรู้ที่เก่งเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์และสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยมี

สุขภาวะทางจิตใจที่ดี คือมีจิตใจที่มีความสุข รื่นเริง คล่องแคล่ว ไม่มีความเครียด มีสติสัมปชัญญะ และความคิดอ่านตามควรแก่อายุ

สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางร่างกายร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง คือ คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่เป็นโรค ไม่พิการ มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ

สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางสังคม คือ ความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีความสุข สันติภาพ

สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ คือ เป็นความสุขที่เกิดจากการเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความจริงแห่งชีวิตและสรรพสิ่ง

จนเกิดความรอบรู้ เอาใจใส่คนไข้ มีเมตตา มีความสนใจต่อคนไข้มากกว่าเป็นแค่คนไข้คนหนึ่ง ปฏิบัติต่อคนไข้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ มีมโนธรรมในการเป็นแพทย์ มีการติดต่อสื่อสารทั้งสองทาง รับฟังความคิดเห็นและความทุกข์ลำบากของคนไข้และตอบสนองด้วยการช่วยเหลืออย่างเต็มที่

กล่าวโดยสรุปคือการเป็นแพทย์ที่ดีนั้นข้าพเจ้าคิดว่าควรดูแลรักษาทั้ง คน และ ไข้ จึงจะเป็นแพทย์ในอุดมคติที่ดี เป็นที่พึ่งของประชาชนผู้ป่วยไข้และเป็นที่ยอมรับยกย่องในสังคม

สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขอยกคำกล่าวของพระราชบิดาที่ได้กล่าวไว้ เพื่อให้แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรสาธารณสุขได้ดำเนินตามอุดมคติของตัวเอง เป็นบุคลากรทางสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐานและสืบเนื่องต่อไป



สุขส่วนตนยกไว้ เป็นสอง

ประโยชน์ชนทั้งผอง หนึ่งแท้

หากยึดมั่นธรรมครอง อาชีพ บริสุทธิ์

ลาภยศจักเกิดแม้ ไม่ได้ ไขว่คว้า

คือคำที่ท่านให้ พึงจำ

หากหมั่นเพียรกระทำ เยี่ยมแท้

พระบรมราชชนกนำ เป็นแบบ อย่างดี

เราลูก บิดา แม้ สุขน้อย อดทน



ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์

I don't want you to be only a doctor, but I also want you to be a man

นายธีรเดช เกลือนสิน
นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก
โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช









 

Create Date : 07 ธันวาคม 2551   
Last Update : 9 ธันวาคม 2551 17:12:24 น.   
Counter : 3992 Pageviews.  

ชิฟฟ่อนเค้ก ... ( ได้รับ รางวัลดีเด่น )





ชิฟฟ่อนเค้ก


“คุณรู้จักชิฟฟ่อนเค้กไหมครับ”

“ชิฟฟ่อนเค้ก คือ เค้กที่มีลักษณะรวมของเค้กเนยและเค้กไข่ มีโครงสร้างที่ละเอียดของเค้กไข่กับมีเนื้อเค้กที่นุ่มและเป็นมันของเค้กเนย”

“ผมเชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักและเคยรับประทานมัน ผมเองก็เคยรับประทานมาหลายชิ้น ในวันนี้ผมจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชิฟฟ่อนเค้กชิ้นหนึ่งที่ผมไม่เคยลืมตลอดชีวิต

คืนนั้น...เป็นคืนหนึ่งในฤดูร้อน อากาศในวอร์ดอายุรกรรมหญิง 1 ค่อนข้างร้อนอบอ้าว นาฬิกาบอกเวลาสองทุ่มตรง ผมซึ่งมีหน้าที่อยู่เวรในวันนั้นนั่งอยู่ที่โต๊ะซึ่งจัดไว้ให้นักศึกษาแพทย์โดยเฉพาะ เป็นโต๊ะที่อยู่ข้างหน้าวอร์ด สามารถมองเห็นคนไข้ได้ทั้งหมด

สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่ขึ้นวอร์ดอายุรกรรมเป็นวอร์ดแรก ไม่ว่าอะไรก็ดูแปลกใหม่สำหรับเขาไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นการต้องสัมภาษณ์ประวัติและตรวจร่างกายคนไข้รับใหม่ การตื่นแต่เช้าเพื่อมาดูคนไข้ของเราเป็นคนแรก ดูว่าสัญญาณชีพเป็นอย่างไร มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอะไรออกใหม่บ้าง มีอาการเจ็บป่วยอะไรเพิ่มขึ้นไหม หรือแม้แต่การนำเลือด เสมหะ ปัสสาวะและอุจจาระของคนไข้ไปตรวจด้วยตนเอง

สำหรับผมแล้วผมเชื่อว่าไม่มีใครรู้เรื่องของคนไข้ได้ดีเท่านักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 และสำหรับผมแล้วการรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของคนไข้ที่เราดูแลอยู่ก็น่าจะเพียงพอแล้ว จนถึงคืนนี้...

ตอนนี้นาฬิกาบอกเวลาสองทุ่มครึ่ง ภายในวอร์ดปิดไฟหมดแล้ว คงมีแต่โต๊ะของนักศึกษาแพทย์และภายในที่ทำการพยาบาลที่ยังคงเปิดไฟอยู่ สำหรับผมแล้วคืนนี้เป็นคืนที่เงียบเสียจริงๆ ภายในวอร์ดมีเพียงเสียงของเครื่องช่วยหายใจและเสียงหัวใจของผม ขณะนั้นผมได้ยินเสียงฝีเท้าเดินมาจากทางเข้าวอร์ด

ผมมองไปที่ประตูของวอร์ดอายุรกรรมและก็เห็นชายคนหนึ่งเดินเข้ามา ชายคนนั้นใส่เสื้อโปโลสีเหลืองกับกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน

“สวัสดีครับคุณหมอ”

ชายคนนั้นเอ่ยขึ้นเพื่อทำลายความเงียบ

“สวัสดีครับ”

ผมตอบกลับไปอย่างสุภาพ

“ผมขอเยี่ยมคนไข้เตียง 8 หน่อยนะครับ ท่านเป็นคุณแม่ผมเอง เผอิญผมเพิ่งปิดร้านเสร็จ”

“เชิญตามสบายเลยครับ”

ผมตอบไปอย่างนั้น เพราะถึงแม้ทางโรงพยาบาลจะให้เข้าเยี่ยมคนไข้ในวอร์ดสามัญได้ไม่เกินสองทุ่ม แต่ผมก็เข้าใจว่ามันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ตายตัวนัก เพราะญาติของผู้ป่วยบางคนอาจมีความจำเป็นบางอย่าง เช่นทำงานเลิกช้า หรือทำงานกะดึก เราก็อนุโลมกันไป

ชายคนนั้นเดินไปที่เตียง 8 ซึ่งเป็นเตียงที่ตรงข้ามกับโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ ผมมองตามเขาไปและมองไปที่คนไข้ ผมมองเพียงไม่กี่วินาทีก็รู้ว่าไม่ใช่คนไข้ที่ผมเป็นเจ้าของไข้

คนไข้เตียง 8 เป็นหญิงชราอายุประมาณ 80 ปี ใส่ท่อช่วยหายใจต่อกับเครื่องช่วยหายใจ ไม่รู้สึกตัว ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณยายขึ้นมาอยู่บอวอร์ดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณยายเป็นอะไรถึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะตอบลูกคุณยายอย่างไรถ้าถูกถามว่าอาการของคุณยายเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งๆที่เดินผ่านเตียงคุณยายอยู่ทุกวัน

ลูกชายของคุณยายนั่งลงตรงข้างเตียง มือลูบที่ใบหน้าและแขนขาของผู้เป็นแม่ด้วยความเคารพรัก บางครั้งผมได้ยินเสียงเหมือนเขาจะคุยกับแม่ของเขา แต่ผมก็ห่างเกินกว่าจะได้ยินว่าเขาพูดอะไรกัน คงเป็นประโยคที่ว่า “แม่ครับผมรักแม่” หรือ “หายเร็วๆนะครับแม่” ก็อาจเป็นได้ ยายจะรู้ไหมนะว่าลูกรักยายมากขนาดไหน ผมรู้สึกได้ว่าถ้ามองต่อไปจะเป็นการเสียมารยาท จึงก้มหน้าก้มตาเขียนบันทึกการดำเนินโรคของคนไข้ของผมต่อไป

ชายคนนั้นคุยกับแม่ของเขาอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง และสิ่งที่ผมกลัวที่สุดก็เกิดขึ้น

“คุณหมอครับตอนนี้คุณแม่ของผมอาการเป็นอย่างไรบ้างครับ”

ชายคนนั้นเดินเข้ามาถามผมที่โต๊ะที่ผมนั่งอยู่

“ขอโทษนะครับ หมอไม่ทราบจริงๆเพราะไม่ใช่เจ้าของไข้ แต่เดี๋ยวหมอจะเข้าไปดูบันทึกการรักษามาให้นะครับ”

ผมตอบไปอย่างรู้สึกผิดและรีบเข้าไปดูประวัติการรักษาของคนไข้รายนี้ในที่ทำการพยาบาล

“ตอนนี้คุณยายมีปัญหาติดเชื้อในปอดครับ เราเลยต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ตอนนี้ยังมีไข้อยู่เลยครับ แต่ถ้าต้องการรายละเอียดมากกว่านี้ไว้พรุ่งนี้ผมจะถามพี่ที่เป็นเจ้าของไข้ให้นะครับ”

ผมตอบชายคนนั้น หลังจากออกมาจากที่ทำการพยาบาล

“ขอบคุณมากนะครับคุณหมอ วันนี้ผมมีของมาฝากคุณหมอกับคุณพยาบาลด้วย”

ขณะที่ผมยังงงๆอยู่นั้นชายคนนั้นก็ยกกล่องสองกล่องขึ้นมาตั้งบนโต๊ะผม เขาเปิดภายในกล่องให้ผมดู
ภายในกล่องนั้นมีชิฟฟ่อนเค้กที่จัดวางไว้อย่างสวยงามอยู่ภายในกล่อง กลิ่นหอมของเนยและไข่หอมขึ้นมาแตะจมูกผม

“ผมเปิดร้านขายชิฟฟ่อนเค้กอยู่ที่ตลาดใกล้ๆนี่เองครับ ขายดีมากเลย ได้วันละตั้งหลายร้อยชิ้น ผมก็เลยปิดร้านช้า เลยมาเยี่ยมคุณแม่ดึกอย่างที่คุณหมอเห็นนี่แหละครับ

ตอนแรกผมกะจะไม่รับขนมของชายคนนั้นเพราะเกรงใจ และคิดว่าผมไม่สมควรที่จะได้รับ แต่ก็กลัวเขาเสียน้ำใจและเขาก็ตั้งใจจะมาให้พี่พยาบาลรับประทานด้วยจึงรับไว้

“ขอบคุณมากนะครับ”

“คุณหมอต้องรับประทานขนมของผมทันทีเลยนะครับไม่อย่างนั้นมันจะไม่อร่อย หรือถ้าคุณหมออยากรับประทานให้อร่อยจริงๆต้องทานกับกาแฟนะครับ และห้ามเอาขนมของผมไปแช่ตู้เย็นนะครับ”

ผมได้แต่ยิ้มรับในความหวังดีของชายคนนั้น

“วันนี้ผมต้องลาคุณหมอกลับก่อนนะครับ ถ้าอย่างไรฝากดูแลคุณแม่ผมด้วยนะครับ ถ้าคุณแม่ผมยังไม่เป็นอะไรไปซะก่อน คุณหมอจะได้รับประทานชิฟฟ่อนเค้กทุกวันเลย”

นาฬิกาบอกเวลาสามทุ่มครึ่ง บรรยากาศในวอร์ดยังคงเงียบเหมือนเดิม ผมยังนั่งอยู่ที่โต๊ะตัวเดิม ยายยังคงนอนที่เตียง 8 เช่นเดิม แต่บางสิ่งในใจผมมันเปลี่ยนไป ผมค่อยๆหยิบชิฟฟ่อนเค้กชิ้นหนึ่งขึ้นมา แกะกระดาษห่อออก กลิ่นหอมของเนยและไข่หอมมาแตะจมูก ความรู้สึกเมื่อกัดเข้าไปคำแรกเหมือนจะละลายไปกับลิ้น เป็นชิฟฟ่อนเค้กที่อร่อยที่สุดที่เคยรับประทานมา ผมสัญญากับตัวเองว่าพรุ่งนี้ผมต้องรู้เรื่องเตียง 8 ให้มากกว่านี้ หวังว่ามันคงไม่สายเกินไป

และคืนนั้น...ก็ผ่านพ้นไป

.....................................................................

เช้าวันต่อมา...ผมมาดูคนไข้ตามปกติเช่นทุกวันคือเวลาหกโมงครึ่ง สิ่งแรกที่ผมเห็นเมื่อเดินเข้ามาในวอร์ดก็คือเตียง 8 ที่ว่างเปล่า ผมรู้สึกใจหาย ผมคิดในแง่ดีว่ายายคงย้ายไปห้องพิเศษหรือย้ายไปห้อง I.C.U. เผอิญพี่พยาบาลคนหนึ่งเดินเข้ามา

“พี่ครับๆ คุณยายเตียง 8 หายไปไหนแล้วล่ะครับ”

ผมกลั้นใจถามด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยจะปกตินัก

“หมออั้น คุณยายแกเสียไปเมื่อคืนแล้วล่ะ หลังจากหมออั้นลงเวรไปแล้ว ลูกแกเพิ่งมารับศพไปเมื่อตอนเช้ามืดนี่เอง”

เมื่อผมได้ฟังคำตอบของพี่พยาบาลจบลงภาพของชิฟฟ่อนเค้กเมื่อคืนมันได้ลอยขึ้นมาในใจ

ไม่ใช่ผมเสียดายที่ต่อไปจะไม่ได้รับประทานชิฟฟ่อนเค้กแล้ว แต่ผมเสียดายที่ว่าผมยังไม่ได้ทำอะไรให้คุ้มค่ากับชิฟฟ่อนเค้กที่ได้รับประทานเข้าไปเมื่อคืนเลย ไม่ว่าต่อตัวผมเอง ต่อตัวของยายหรือลูกชายของยาย

สำหรับผมแล้วชิฟฟ่อนเค้กชิ้นนั้นมีค่าต่อผมมาก อย่างน้อยมันก็สอนให้ผมรู้ว่า คำว่า คนไข้ ไม่ใช่ผู้ป่วยที่เราเป็นเจ้าของไข้เพียงอย่างเดียว แต่คำว่าคนไข้ หมายถึงผู้ป่วยทุกคน เพราะฉะนั้นจงใส่ใจพวกเขาให้มากๆ

ทุกวันนี้เมื่อใดก็ตามที่ผมมีโอกาสรับประทานชิฟฟ่อนเค้ก ไม่มีครั้งไหนเลยที่ผมจะไม่คิดถึงเรื่องนี้ เรื่องราวของ ชิฟฟ่อนเค้ก



นศพ.รัฐพัฒน์ กลัดแก้ว นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5
วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล







 

Create Date : 06 ธันวาคม 2551   
Last Update : 6 ธันวาคม 2551 12:23:30 น.   
Counter : 1983 Pageviews.  

แยมโรลของคุณยาย






แยมโรลของคุณยาย

ย้อนหลังไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ครั้งเมื่อผมเริ่มก้าวเข้ามาสัมผัสกับชีวิตทาง clinic ของนักศึกษาแพทย์ ในตอนนั้นจำได้ว่าหนุ่มน้อยตื่นเต้นอย่างมากกับการได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ของเขา เขาใส่ชุดเสื้อกาวน์ตัวใหม่เอี่ยมที่มีชื่อของเขาปักหลาอยู่บนหน้าอก เดินร่อนไปทั่ว เพื่ออวดเสื้อสามารถตัวใหม่ที่เขาพึ่งได้รับ และSteththoscope อาวุธคู่กายที่เขารอโอกาสจะได้ใช้มันมาตลอด และเมื่อชีวิตใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นหนุ่มน้อยต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานใหม่ สถานที่ทำงานใหม่ ผู้ป่วยที่มานอนโรงพยาบาลเพราะเจ็บป่วยจริง ๆ ไม่ใช่แค่พี่รปภ. หรือพี่แม่บ้านที่ปลอมตัวมาปวดท้อง มีประจำเดือนออกมาเป็นเม็ดสาคูตอนที่เขาสอบ OSCE เมื่อรวมกับความรู้ที่มีติดตัวมาอย่างกระท่อนกระแท่นแล้ว หนุ่มน้อยยิ่งคิดหนักว่าเขาจะสามารถดูแลคนไข้ของเขาได้เป็นอย่างดีหรือไม่

ตอนนั้นเขาจึงสัญญากับตัวเองว่าจะต้องเปลื่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่และทุ่มเท ดูแลคนไข้ของเขาอย่างสุดความสามารถให้สมกับเสื้อสามารถที่เขาใส่อยู่

ในทุก ๆ วันหน้าที่ของเขาคือ การรับคนไข้ใหม่ และติดตามอาการของคนไข้ในความรับผิดชอบว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรบ้าง ( Progress note ) หนุ่มน้อยมักจะใช้เวลาในการอยู่ข้างเตียงของคนไข้นานเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อตรวจร่างกายและพูดคุยซักถามอาการและความเป็นอยู่ของคุณครูของเขา โดยที่ในช่วงแรกของการทำงานเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ต้องมาถามทุกวัน ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำไปเพื่ออะไร และข้อมูลหรือการตรวจร่างกายเรื่องใดที่สำคัญที่สุด รู้แต่เพียงว่าในแต่ละวันต้องทำให้ดีที่สุด

จนวันหนึ่งเขาได้เจอกับคุณยายท่านหนึ่งเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี อายุราว 80 ปี เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนยาน ผมของคุณยายสีขาวโพลน ร่างกายดูซูบผอมจนเกือบจะนับกระดูกได้ทุกซี่ สวมใส่เสื้อคอกระเช้าสีขาวและผ้านุ่งสีส้มเก่า ๆ มีรอยขาดเหมือนผ่านการใช้งานมานาน พร้อมกับมีกลิ่นของดินโชยมาเมื่อมีลมพัดผ่านร่างของคุณยาย

แต่สิ่งที่ดูสะดุดตามากที่สุดของคุณยายก็คือ ใบหน้าที่มีร่องรอยของประสบการณ์มากมาย รอยยิ้มอันแสนอบอุ่น และเสียงเหน่ออันมีเอกลักษณ์ของคนสุพรรณบุรี และเสน่ห์เหล่านี้เองที่ทำให้เขารู้สึกถูกชะตากับคุณยาย ในแต่ละวันเขาใช้เวลาอยู่กับคุณยายท่านนี้มากเป็นพิเศษ รอบ ๆ ตัวของคุณยายจะมีลูกหลานรายล้อมอยู่ไม่ห่าง ทำให้เขารู้สึกอิจฉาคุณยายที่มีครอบครัวที่น่ารัก ถึงแม้ว่าจะไม่มีเงินทองมากมายแต่มีความสุขอย่างแท้จริง

จนเมื่อเวลาผ่านไป ก็ถึงเวลาที่คุณยายได้ออกจากโรงพยาบาล ในวันนั้นเขาเดินเข้าไปแสดงความยินดีพร้อมกับกล่าวคำอำลากับคุณยายและครอบครัว ขณะที่กำลังเดินหันหลังกลับออกมา ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้น “คุณหมอ”(เพื่อความสมจริงกรุณาอ่านด้วยสำเนียงของคนสุพรรณฯนะครับ) เขาหยุดพร้อมกับหันไปหาที่มาของเสียงนั้น และเขาก็ได้พบกับรอยยิ้มและใบหน้าอันแสนอบอุ่นที่คุ้นเคย

คุณยายยิ้มกว้างขึ้นพร้อมกับพูดว่า “ ยายเป็นคนบ้านนอกไม่มีตังค์ ” พร้อมกับยื่นขนมแยมโรลออกมาให้ชายหนุ่ม แล้วพูดว่า “ ยายให้คุณหมอเอาไปกินนะ ขอบใจที่ดูแลยายเป็นอย่างดีมาตลอด ” ชายหนุ่มรีบยื่นมือออกไปรับด้วยความเต็มใจ ดวงตาของเขาเริ่มพร่ามัวเนื่องจากมีน้ำอุ่น ๆ ซึมออกมาบดบังสายตาของเขา “ ขอบคุณครับคุณยาย ” เสียงของเขาเริ่มสั่น หัวใจเต้นรัวด้วยความตื้นตัน

หลังจากนั้นเขาต้องแปลกใจมากขึ้นไปอีกเมื่อลูกสาวของคุณยายเข้ามาพูดกับเขา ว ่า “ คุณหมอรู้ไหมว่า พี่ชายของป้า ครั้งนึงเค้าเคยเกลียดหมอและโรงพยาบาลมาก ถึงขนาดเคยออกปากไว้ว่าจะไม่ไปโรงพยาบาลไหนอีก ตอนที่คุณยายเข้าโรงพยาบาลวันแรกเขาก็มาด้วยความจำใจ แต่พอมาถึงพี่ชายป้าได้เจอคุณหมอที่คอยมาดูแลคุณยายเป็นอย่างดีทุกวัน จนตอนนี้เขาเริ่มเปลี่ยนความคิดเริ่มมองคุณหมอ กับคุณพยาบาลดีขึ้นมากแล้ว ต้องขอบใจคุณหมอมากนะ ”

ชายหนุ่มยืนตะลึงอยู่อย่างนั้นสักพัก ในใจคิดว่า “ ดีจัง ทั้งที่เราเป็นแค่นักศึกษาแพทย์เท่านั้น คนไข้และญาติยังเห็นความสำคัญของเรามากขนาดนี้ ” หลังจากนั้นมาเขาจึงได้ค้นพบว่าสิ่งที่เขาเฝ้าแสวงหามาตลอดในการเป็นแพทย์ ก็คือ รอยยิ้มและความรู้สึกดี ๆ ที่เขาพึ่งให้และได้รับมานี่เอง



นาย นพดล ไตรคุณากรวงศ์
นศพ.รุ่นที่ 39
คณะแพทย์ศาสตร์รพ.รามาธิบดี






 

Create Date : 04 ธันวาคม 2551   
Last Update : 4 ธันวาคม 2551 18:09:21 น.   
Counter : 1384 Pageviews.  

เรื่องเล่า..นักเรียนแพทย์







เรื่องเล่า..นักเรียนแพทย์

กว่าจะสอบเข้าคณะนี้ได้คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย นักเรียนส่วนใหญ่อยากเข้าเรียนในสาขาวิชานี้เพราะ เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติและสามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนเองช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ นั่นเป็นสาเหตุที่ข้าพเจ้าเลือกเรียนแพทย์

ปีที่แล้วข้าพเจ้าจึงตัดสินใจก้าวเข้ามาศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ ปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าเพิ่งจะเปิดภาคเรียนกลายเป็นนักเรียนแพทย์ปีสองเต็มตัว ประสบการณ์ด้านการเรียนแพทย์ก็ยังมีไม่มากนัก มีเพียงมุมมองเล็กๆของเด็กน้อยที่เริ่มเรียนชั้นปรีคลินิก เมื่อสมัยอยู่ปีหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสทำกิจกรรมหลายรูปแบบด้วยกันทั้งกิจกรรมในหลักสูตรและนอกหลักสูตร

สำหรับกิจกรรมในสูตรข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมเคหะชุมชนร่มเกล้า ได้พูดคุยสอบถามความเป็นอยู่ของชาวบ้านว่าเขามีวิธีดูแลตัวเองยามเจ็บป่วยอย่างไร พร้อมกันนี้ได้ถามความคิดเห็นของเขาที่มีต่อแพทย์อีกด้วย ซึ่งข้าพเจ้าพบว่าเขามีความเคารพ ศรัทธาและเชื่อถือในตัวแพทย์เป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่เขาอยากให้แพทย์ทุกคนมีคือเวลาให้เขาพูดคุย บอกเล่าเรื่องราวของตัวเขาบ้าง

ข้าพเจ้าเองก็เห็นด้วยกับชาวบ้านคนนี้ เพราะทุกครั้งที่ข้าพเจ้าไปพบคุณหมอ คุณหมอมักจะพูดคุยกับข้าพเจ้าสั้นๆเท่านั้น ที่เป็นแบบนี้อาจเพราะคนไข้มีมาก แพทย์จึงไม่ค่อยมีเวลาให้กับคนไข้มากนัก ตัวข้าพเจ้าเองถ้าได้เป็นแพทย์เต็มตัวแล้วจะใส่ใจฟังคำพูดของคนไข้ให้มาก เพราะบางครั้งปมเล็กๆในใจคนไข้อาจจะเป็นประตูไปสู่แนวทางรักษาที่ให้ผลดีแก่ ตัวคนไข้

เมื่อกลับจากกิจกรรมเยี่ยมชุมชนแล้วในเย็นของวันนั้นข้าพเจ้าได้ไปเข้าค่าย น้องใหม่ของฝ่ายพัฒนาสังคม ณ จังหวัดฉะเชิงเทราต่อ การไปค่ายในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักเพื่อนในคณะรวมทั้งรุ่นพี่ปีต่าง ๆมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนนี้ กิจกรรมที่จัดให้น้องๆที่มาค่ายในครั้งนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง เช่น สอนเต้นสันทนาการ และทำกังหันลม เป็นต้น และมีกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย เช่น สอนแปรงฟัน ล้างมือ ทำความสะอาดร่างกาย และปฐมพยาบาล เป็นต้น

น้องที่มาค่ายให้ความสนใจกับกิจกรรมเป็นอย่างดี นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความสนใจกับการมาของนักเรียนแพทย์เป็นอย่างมาก บางคนสอบถามถึงวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วย บางคนขอให้ช่วยดูแผลให้ ชาวบ้านเขาคงคิดว่าเราเป็นหมอจริงๆที่สามารถรักษาพวกเขาได้ นี่คือมุมมองของชาวบ้านที่มีต่อนักเรียนแพทย์ ซึ่งพวกเราชาวค่ายทำอะไรให้ได้ไม่มากนักเพียงแค่ให้คำแนะนำได้เล็กน้อยเท่านั้น เพราะเรายังเรียนไม่จบ ความรู้ยังไม่มากพอที่จะรักษาใครได้ ข้าพเจ้าเองก็เพิ่งจะเรียนปีหนึ่งได้ไม่กี่เดือน

วันสุดท้ายก่อนปิดค่ายพวกเราได้ช่วยกันปรับปรุงและจัดห้องสมุดของโรงเรียนที่ไปอาศัยอยู่ให้มีระเบียบและสวยงามมากขึ้น โดยทาสีชั้นหนังสือให้ใหม่และจัดหนังสือให้อยู่ตามหมวดหมู่ที่ถูกต้อง สำหรับข้าพเจ้านั้นการมาค่ายในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้ประสบการณ์ชีวิตติดตัวกลับไปมากทีเดียว

ในช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมานี้ข้าพเจ้าได้ไปออกค่ายสอนหนังสือที่โรงเรียน ศึกษาสงเคราะห์ จังหวัดสกลนคร การเดินทางไปสู่จังหวัดนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควร โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับพระธาตุภูเพ็กซึ่งอยู่บนเขา ถนนที่ไปสู่โรงเรียนแห่งนี้คดเคี้ยวและเงียบมาก ข้าพเจ้าไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สองจำนวนสามห้อง ข้าพเจ้าพบว่าน้องบางคนยังท่องสูตรคูณไม่คล่อง ยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก การมาสอนในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่าเด็กที่นี่ขาดโอกาสทางการเรียนรู้มากเพียงใด เพราะอยู่ไกลจากเมืองหลวงมาก เด็กที่อยู่ในเมืองหลวงส่วนใหญ่จะเรียนพิเศษตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ แต่ที่นี่ไม่มีสถาบันกวดวิชาเหล่านั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาเป็นประธานเปิดค่ายมีความรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่พวกเรามาทำค่ายสอนหนังสือให้กับเด็กที่นี่ เพราะเท่ากับเป็นการให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้วิชาจากพี่ๆที่เป็นคนเก่ง และท่านยังกล่าวอีกว่าปีหน้าเราน่าจะทำค่ายแบบนี้อีก ในฐานะของคนที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นแพทย์ในอนาคตข้าพเจ้าคิดว่าถ้าเราได้มี โอกาสมาพบเห็นความเป็นจริงของสังคมเช่นนี้ก็จะทำให้เราเข้าใจคนไข้มากยิ่งขึ้นและสื่อสารกับคนไข้ดียิ่งขึ้น

คนที่นี่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับคติโบราณอยู่มาก เด็กบางคนไม่ยอมกินเนื้อไก่เพราะเขาเชื่อว่าเป็นของไม่ดี และการได้มาอยู่ที่นี่ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ภาษาอีสานเพิ่มขึ้น ความหมายของคำบางคำเขาก็ใช้ไม่เหมือนกับภาษากลาง เช่น คำว่า”ย้อน” ในภาษาอีสานแปลว่า “รำ” ถ้าเราบอกคนไข้ให้เดินไปห้องเอ็กเรย์แล้วเดินย้อนกลับมาหาเรา เขาก็จะเข้าใจว่าให้เขาไปห้องเอ็กเรย์แล้วเดินรำกลับมา เป็นต้น

โดยสรุปถ้าเราเข้าใจและพูดคุยกับคนไข้มากขึ้นปัญหาการฟ้องร้องที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงของสังคมในขณะปัจจุบันคงไม่เกิดขึ้นเป็นแน่

ชีวิตของนักเรียนแพทย์มีหลายด้านหลายแง่มุมไม่ใช่จะมีแต่เรื่องเรียนเพียง อย่างเดียว การจะเป็นแพทย์ที่เก่ง ดี และสมบูรณ์นั้นจะต้องประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และการเข้าใจผู้อื่น เป็นต้น

นักเรียนแพทย์บางคนอาจจะไม่สนใจทำกิจกรรมมากนักเพราะห่วงเรียน แต่กิจกรรมเหล่านั้นจะช่วยเติมเต็มชีวิตของความเป็นนักเรียนแพทย์ให้สมบูรณ์ แบบมากขึ้น

เพราะคนไข้ไม่ต้องการหมอที่เก่ง แต่ต้องการหมอที่เข้าใจและเห็นใจเขาเสียมากกว่า



นางสาววนิชา สิทธิปาน
นิสิตแพทย์ชั้นปีที่สอง
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย








 

Create Date : 03 ธันวาคม 2551   
Last Update : 3 ธันวาคม 2551 15:13:16 น.   
Counter : 2093 Pageviews.  

ไม่ใช่แค่โรค


ไม่ใช่แค่โรค

เมื่อ 1 ปีก่อน ฉันเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เพิ่งขึ้นปี 4 และเพิ่งขึ้น หอผู้ป่วยอายุรศาสตร์ หมาดๆ ยังไม่มีความรู้เรื่องโรคหรือการรักษานัก มีแต่ความตั้งใจเต็มเปี่ยม ฉันตั้งปณิธานไว้ว่า ฉันจะทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น

ผู้ป่วยคนแรกที่ฉันได้รับแจก เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 65 ปี มีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจและ Parkinson’s disease รับไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังจากรับไว้ในโรงพยาบาล ป้ามีอาการซึมลง(จากโรค) ถามคำ ตอบคำ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ อีกทั้งไม่ค่อยมีญาติมาเยี่ยม ทั้งวันป้าจึงได้แต่นอนเฉยๆ รับการรักษา และรอให้พยาบาลมาป้อนข้าว หรืออาบน้ำให้

หลายๆครั้งที่ฉันเดินผ่าน ฉันได้เข้าไปถามเผื่อจะช่วยอะไรเล็กๆน้อยๆได้ “ป้าหิวน้ำมั้ย” ป้าพยักหน้า “ป้าเมื่อยรึป่าว เปลี่ยนท่ามั้ย” ป้าพยักหน้า สรุปว่าทุกครั้งที่ฉันเข้าไปเสนอ ป้าก็จะพยักหน้า ฉันเดาว่าที่ป้าไม่ได้เรียกพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่คนอื่น ก็เพราะทุกคนมัวทำงานกันยุ่ง ป้าเรียกไม่ทัน และเกรงใจไม่กล้าเรียก ฉันแทบจะไม่เคยได้ยินเสียงป้าเลย

หลังจากได้รับการรักษาระยะหนึ่ง ป้าอาการดีขึ้น ช่วงนี้ป้าเขยิบตัว หยิบของ ดื่มน้ำ ช่วยเหลือตัวเองพอได้แล้ว มีลูกหลานมาเยี่ยมในวันหยุด ป้าสีหน้าสดใสขึ้นมาก ฉันจึงไม่ค่อยได้เข้าไปถามไถ่เหมือนอย่างที่เคย ป้าอาการดีขึ้นจนกำลังจะออกจากโรงพยาบาล

วันหนึ่งฉันเดินผ่านเตียงป้า ป้าก็เรียก “หนูๆ” ฉันหันหลังเดินเข้าไปข้างเตียง ป้าเอื้อมมือมาจับมือฉันแล้วมองเข้าไปในตาฉัน “ป้าจะกลับบ้านแล้ว ขอบใจหนูมากนะ”

มันเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่ฉันก็ดีใจจนน้ำตาแทบซึม ที่ฉันนักศึกษาแพทย์ตัวเล็กๆ ผู้ที่แทบจะไม่มีความสำคัญในการรักษาเลย แต่การกระทำเล็กๆของฉัน มีประโยชน์ต่อคนไข้ และทำให้คนไข้รู้สึกดี

ฉันเคยคิดว่า นักศึกษาแพทย์ มันก็แค่นักศึกษา การขึ้นไปปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยนั้น แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรกับคนไข้เลย ความรู้เราก็น้อย การรักษาก็ยังสั่งไม่เป็น

แต่วันนั้น ฉันมีความสุขเหลือเกิน ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นประโยชน์กับคนอื่น โดยเฉพาะคนนั้นเป็นคนไข้ของฉันเอง แล้วฉันก็รู้ว่า การเป็นประโยชน์นั้น มันไม่ได้จำกัดอยู่กับการสั่งยา หรือการทำหัตถการเท่านั้น

คำว่าองค์รวม แว่วขึ้นมาในใจฉัน ไม่ใช่แค่รักษาโรคเท่านั้น ต้องคำนึงถึงคนไข้ที่ก็เป็นคนเหมือนกับเราๆ มีจิตใจ มีความกังวล มีความต้องการเหมือนกัน ถึงแม้ว่าในตอนนี้เรายังไม่สามารถรักษาโรคได้ แต่เราก็สามารถรักษาคนได้

นักศึกษาแพทย์คนนั้นก็เลยได้เข้าใจว่า การให้ มันมีความสุขมากแค่ไหน และแม้จะผ่านมา 1 ปี เรื่องนี้ก็ยังคงประทับอยู่ในใจนักศึกษาแพทย์คนนั้นตลอดมา



นศพ.พีรฉัตร มั่งมีศรี
ศิริราช 115







ถ้าใครอ่านแล้ว สนใจ ต้องการซื้อหนังสือ ติดต่อ มูลนิธิแพทย์ชนบท ตามลิงค์นี้ได้เลยครับ ราคาเล่มละ 60 บาท 160 หน้า คุ้มค่ามาก ๆ ครับ

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-11-2008&group=12&gblog=1




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2551   
Last Update : 2 ธันวาคม 2551 18:36:57 น.   
Counter : 1177 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]