Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

สุจิณโณ






สุจิณโณ


“นับตั้งแต่นี้ไป ฉันก็จะได้ขึ้นไปเรียนบนตึกสุจิณโณแล้ว ตึกที่ยิ่งใหญ่และสวยที่สุดของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือ โรงพยาบาลสวนดอกแบบที่ใครๆเรียกกัน”

ฉันเริ่มต้นชีวิตของการเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่สี่วันแรกด้วยความตื่นเต้น

“อย่าลืม วันจันทร์หน้าทุกคนต้องมีงานมาส่ง เอาล่ะ เลิกได้” เสียงของอาจารย์ท่านหนึ่งในภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว มอบหมายให้พวกเราไปหาเคสผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล(nosocomial infection) ฉันรับงานมาด้วยความรู้สึกที่ไม่เต็มใจเท่าไรนัก เก็บสมุด ปากกาที่วางเกลื่อนบนโต๊ะlectureลงกระเป๋า

“งานอื่นๆก็เยอะอยู่แล้ว ยังจะมามีงานเพิ่มอีก กะว่าวันนี้จะได้เลิกเร็วแล้วเชียว ไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือชีวิตนศพ.ปี4 วันแรก”

ฉันนึกบ่นอยู่ในใจพร้อมกับสะพายกระเป๋าเป้ขึ้นหลัง เดินออกจากห้องlectureด้วยอารมณ์สุดเซ็ง ถึงจะเบื่อจะเซ็งแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะว่าลงเอยมาเป็นนักศึกษาแพทย์แล้ว ยังไงก็ขอให้เรียนมันให้จบก่อนเป็นดีที่สุด ฉันจึงเริ่มโทรศัพท์หาเส้นสายจากเพื่อนๆบนวอร์ด ให้ช่วยหาเคสให้ สุดท้ายก็ลงเอยที่คนไข้คนหนึ่ง บนหอผู้ป่วยชั้น13 ตึกสุจิณโณ

คนไข้ของฉันคนนี้ชื่อลุงทองคำ ครั้งแรกที่รู้จักลุงทองคำ ฉันรู้จักลุงผ่านชาร์ตผู้ป่วยและSMI(ระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล) ซึ่งเป็นแหล่งที่ฉันสามารถหาข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวลุงโดยที่ไม่ต้องไปพูดคุย ซักประวัติถึงขอบเตียง แค่จดๆ มาว่าลุงเป็นโรคอะไร มานอนโรงพยาบาลด้วยสาเหตุอะไร ติดเชื้อวันไหน ดื้อยาอะไรบ้าง ข้อมูลเกี่ยวกับการซักประวัติและตรวจร่างกายก็มีให้หมดแล้ว ลอกๆส่งก็เสร็จ

ฉันเริ่มตั้งหน้าตั้งตาเปิดอ่านชาร์ต อีกมือหนึ่งก็จับปากกาจดข้อมูลอย่างรวดเร็ว ก็คนมันอยากจะกลับไปพักผ่อนแล้ว เรียนเหนื่อยมาทั้งวัน ระหว่างที่ลอกประวัติการเจ็บป่วยของลุงทองคำนั้น อ่านไปอ่านมาฉันก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ธรรมดา

ลุงทองคำคนนี้มีประวัติโดนตัดขาต่ำกว่าเข่าทั้งสองข้างในระยะเวลาห่างกันเพียง 4 เดือนในปีพ.ศ.2548 ด้วยสาเหตุของโรคเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขาอุดตัน (Acute arterial occlusion) ต่อมาในปี 2550 นี้ ลุงทองคำก็เริ่มปวดบริเวณต้นขาอีก คราวนี้ถูกตัดขาตั้งแต่บริเวณขาหนีบลงไปอีก 2 ข้างในเดือนเดียวกัน ด้วยสาเหตุของโรคเดิม

หัวใจฉันเริ่มเต้นไม่เป็นจังหวะ มือขวาที่ใช้จดข้อมูลด้วยความรวดเร็วก็ต้องหยุดชะงักอยู่กับที่

“คนที่ต้องมาโดนตัดขาไปถึงสี่ครั้งแบบนี้ จะรู้สึกอย่างไรบ้างนะ”

ฉันนึกสงสัยขึ้นมา จึงวางปากกาลงแล้วตัดสินใจเดินไปดูที่เตียงของลุงทองคำอยู่ห่างๆ ภาพที่ฉันได้เห็นคือ ชายวัย 67 ปี รูปร่างผอมเกร็ง ขาวซีด แก้มตอบ มีร่างกายแค่ท่อนบน กำลังพยายามใช้มือขวาอันเรียวเล็กที่แทบจะไม่มีกล้ามเนื้อเกาะขอบเตียงดึงตัวตะแคงหันหน้ามาทางที่ฉันยืนอยู่

ลุงทองคำเงยหน้าขึ้นมาสบตากับฉัน ในขณะนั้นฉันทำได้เพียงยิ้มให้ลุงแกไป แต่ฉันเดาได้เลยว่า ลุงทองคำแกคงมองเห็นว่าแววตาของฉันมันไม่ได้ยิ้มด้วย แต่มันเป็นแววตาที่บ่งบอกถึงความสะเทือนใจอย่างรุนแรง

ฉันไม่ทันได้รอดูว่าลุงทองคำจะยิ้มตอบหรือไม่ เพราะกว่าลุงแกจะยิ้มตอบ ฉันก็หันหลังกลับมายังโต๊ะที่จดประวัติผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว

“ฉันเพิ่งจะเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสี่วันนี้วันแรกนะ ฉันยังไม่เคยได้เห็นคนไข้แบบนี้มาก่อนเลย” ในใจจึงมีแต่ความสับสนและสงสัยในบทบาทหน้าที่ของตนเอง

“ฉันควรจะทำอย่างไรดี ในขณะนี้ ฉันควรเข้าไปคุยกับคุณลุงแกดีไหม แล้วถ้าเข้าไปคุยฉันจะเข้าไปคุยอย่างไรดี ถ้าคุยไปคุยมายิ่งทำให้ลุงแกรู้สึกแย่กับโรคที่ตัวเองเป็น ฉันไม่แย่หรือ”

มีคำถามมากมายผุดขึ้นมาในใจของฉัน ในที่สุดวันนั้นฉันก็ตัดสินใจจะทำเพียงแค่ลอกๆประวัติให้เสร็จไป จึงตัดใจเลิกคิด แล้วจับปากกามาบันทึกประวัติต่อ

“แกเป็นอะไรวะ” เพื่อนที่ปฏิบัติงานอยู่วอร์ดศัลยกรรม ซึ่งกำลังจดประวัติคนไข้อีกคนอยู่ข้างๆคงจะสังเกตเห็นท่าทางแปลกๆของฉัน จึงได้ถามขึ้นมา

“ลุงที่อยู่ห้องแรกไงแก เขาเหลือแค่ร่างกายท่อนบน ฉันก็เลยอึ้งๆไป” ฉันหันไปมองหน้าเพื่อนที่ถาม มือขวาก็ยังใช้จดประวัติยิกๆ

“อย่าไปคิดอะไรมากเลยแก คนที่ severe กว่านี้มีอีกเยอะ เดี๋ยวแกขึ้นมาอยู่วอร์ดนี้แกก็จะรู้เอง” เพื่อนคนนั้นตอบคำถามฉัน โดยที่ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมามอง เพราะกำลังให้สายตาอยู่กับประวัติคนไข้อันยาวเหยียดตรงหน้า

คำพูดประโยคนั้นมันทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่า เพื่อนต้องการให้ฉันเห็นว่า การที่เรามาเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นหมอรักษาคนไข้ มันทำให้เราต้องเห็นเรื่องความเจ็บป่วยเป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปบนโรงพยาบาลเช่นนั้นหรือ

1 เดือนต่อมา เดือนที่สามของการเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสี่ ในเดือนนี้ฉันต้องมาปฏิบัติงานที่ภาควิชารังสีวิทยา ฉันได้รับมอบหมายให้ไปเก็บเคสอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นของผู้ป่วยที่ต้องมาทำIntravenous pyelogram (IVP) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ป่วยต้องถูกฉีดสารทึบรังสี(contrast)เข้าไปทางเส้นเลือ ดดำ แล้วให้เครื่องX-ray ดูบริเวณเชิงกราน เพื่อดูความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ

ขณะที่กำลังอยู่ในห้องสังเกตการณ์ทำ IVP ด้วยความที่ต้องเลือกเคสผู้ป่วยไปทำรายงาน ฉันจึงได้เปิดดูกองใบส่งตัวของคนไข้บนโต๊ะที่แนบมากับfilm X-rayซึ่งเป็นคนไข้คนต่อไปที่จะเข้ามาทำการทดสอบ อ่านในใบประวัติ พลิกไปพลิกมาก็ต้องสะดุดกับชื่อคุณลุงทองคำ ลุงคนเดียวกับที่ฉันทำเคสเรื่องโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลส่งอาจารย์ขณะอยู่ภาค วิชาเวชศาสตร์ครอบครัวนั่นเอง ฉันรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูกที่จะได้เห็นลุงทองคำอีกครั้ง ฉันอยากจะรู้ว่าลุงแกยังสบายดีอยู่ไหม ยังแข็งแรงอยู่หรือเปล่า แต่โอกาสเดียวในตอนนี้ที่จะได้เจอกับลุงทองคำอีกครั้งคือ ต้องรอ

“นี่แก อีก5 นาทีจะถึงเวลาเรียนLectureแล้ว ไปกันเถอะ” เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้ามาสังเกตการณ์ห้องเดียวกับฉันให้มือสะกิดที่ไหล ่ของฉัน พร้อมกับย้ำให้ไปเรียน

ฉันก้มลงมองดูนาฬิกาสีชมพูเรือนโปรด เข็มนาฬิกาชี้ไปที่เวลาเก้าโมงห้าสิบห้านาที เหมือนที่เพื่อนบอกเป๊ะ “ตายล่ะสิ จะต้องไปแล้วหรือนี่ ยังไม่ได้เจอลุงทองคำเลย” ฉันนึกเสียดายอยู่ในใจ มือก็เก็บสมุดและปากกา พร้อมกับบอกลาพี่พยาบาลที่คอยดูแลให้ความรู้แล้วเดินออกจากห้องสังเกตการณ์มากับเพื่อน

ระหว่างที่ออกจากห้องมานั้น สายตาฉันก็หันไปเจอกับคนไข้คนหนึ่ง ร่างกายผอมเกร็ง ขาวซีด มีร่างกายแค่ท่อนบน กำลังนอนอยู่บนเตียงหน้าห้อง ต้องเป็นลุงทองคำแน่ๆ ในใจรู้สึกตื่นเต้น ทำตัวไม่ถูก “ถ้าไม่ได้เข้าไปทักลุงวันนี้ คืนนี้ฉันคงต้องนอนไม่หลับแน่ๆ” ฉันคิดในใจ ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้าไปหาลุงทองคำ

“เป็นอะไรมาจ๊ะลุง” ฉันถาม ฉันสังเกตเห็นเพื่อนที่อยู่ข้างๆจากที่ได้แต่ก้มมองดูนาฬิกาท่าทางลุกลี้ลุก ลน กลายเป็นให้ความสนอกสนใจลุงทองคำเป็นพิเศษ

ลุงทองคำหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสตอบคำถามฉันอย่างดี แต่ระหว่างที่คุณลุงพูดคุยกับพวกเรานั้น ฉันสังเกตเห็นหยดน้ำตาหยดหนึ่งที่ขอบตาของคุณลุง “ลุงทองคำร้องไห้เพียงเพราะว่าพวกเราไปคุยด้วยเท่านั้นหรือ” ฉันสงสัย แต่เดาว่ามันคงเป็นหยดน้ำตาที่แสดงออกถึงความตื้นตัน

“สงสัยจะต้องไปเรียนสายแล้ว เอาไงเอากัน” ฉันกับเพื่อนมองหน้ากันเหมือนจะรู้ว่าเราสองคนคงจะมีอะไรที่น่าสนใจให้ทำมาก กว่าการเข้าไปนั่งฟังLectureในขณะนี้ เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันเป็นบทเรียนที่ไม่มีใครจะมาสอนให้ได้ นอกจากจะเรียนรู้ด้วยตนเอง

ฉันกับเพื่อนเข้าไปดูคุณลุงทำ IVP ต่อถึงในห้อง ได้ช่วยพี่เจ้าหน้าที่ยกตัวคุณลุงลงจากเตียงที่เข็นมาจากวอร์ดไปนอนบนตียงสำ หรับถ่าย X-ray เมื่อช่วยกันยกตัวคุณลุงวางบนเตียงเสร็จคุณลุงพยายามที่จะยกมือไหว้ฉันกับ เพื่อน พร้อมกับร้องไห้ ทีนี้ล่ะ น้ำตาของลุงทองคำไม่ได้เพียงแต่ไหลซึมออกมาที่ขอบตา แต่มันพรั่งพรูออกมาจากตาทั้งสองข้าง ทำเอาฉันน้ำตาซึม

ฉันไม่เข้าใจว่า ทำไมลุงทองคำถึงร้องไห้ มันอาจจะเป็นน้ำตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึกน้อยใจในโชคชะตาของตัวเอง จากคนที่เคยเป็นชายแข็งแรง ทำไร่ทำนาได้ทุกวัน ต้องมาเป็นภาระให้ผู้หญิงช่วยกันเคลื่อนย้ายตัว หรือจะเป็นเพราะสาเหตุอื่นใดอีก ฉันก็ไม่อาจจะรู้ได้ ในสถานการณ์บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องรู้ถึงเหตุและผลทั้งหมด แค่ปล่อยให้เป็นไปตามใจเรารู้สึกดูจะเหมาะสมกว่า

ฉันกับเพื่อนอยู่คุยกับลุงและภรรยาพักหนึ่งแล้วจึงขอตัวไปเรียน ก่อนจะกลับลุงบอกให้เราทั้งคู่ไปเที่ยวหาที่ชั้น13 ตึกสุจิณโณบ้าง ฉันรับปากคุณลุงแล้วจากมาด้วยรอยยิ้ม แต่ครั้งนี้เป็นรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ ต่างจากรอยยิ้มเดิมเมื่อฉันเจอลุงทองคำครั้งแรก ระหว่างเรียนคาบนั้น ฉันเรียนแทบไม่รู้เรื่อง ในใจนึกถึงแต่เรื่องลุงทองคำ

“ทำไมเมื่อเดือนที่แล้วเราไม่ไปคุยกับลุงเลยนะ”

“ลุงคงเหงาและต้องการเพื่อนคุยมาก”

“การที่ต้องนอนโรงพยาบาลนานถึง 3 เดือน โดยไม่ได้กลับบ้านเลยจะเหงาและว้าเหว่เพียงใด”

“ถ้าวันหนึ่งเราต้องประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ เราจะยอมรับสภาพตัวเองได้เหมือนลุงทองคำไหม”


ตอนเย็นหลังเลิกเรียน ฉันกับเพื่อนชวนกันขึ้นไปหาลุงทองคำ ขณะที่เปิดประตูเข้าห้องก็ได้กลิ่นเหม็นสาบชวนให้คลื่นไส้อาเจียนเป็นอย่างมาก นักศึกษาแพทย์แบบเราได้กลิ่นแบบนี้ก็ต้องบอกได้100%ว่า มันคือกลิ่นของแผลกดทับ

ขณะที่กำลังอยากจะอาเจียนอยู่นั้น ลุงทองคำก็เป็นคนกล่าวทักขึ้นมาก่อน ทำให้ฉันตั้งสติได้ว่า ฉันไม่ควรแสดงกิริยาอาการแบบนั้น จึงหันไปพูดคุยซักถามลุงทองคำแทน ลุงทองคำมีสีหน้าอิ่มเอิบดูเบิกบานใจมากที่พวกเราไปคุยด้วย และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ถือโอกาสตรวจร่างกายลุงทองคำอย่างจริงจัง เลยพบว่านอกจากแผลที่โดนตัดขาแล้วซึ่งยังชื้นๆอยู่ทั้งสองข้าง ลุงมีแผลกดทับบริเวณก้นเป็นวงกว้างมาก เมื่อเริ่มเห็นลักษณะของตัวแผลบวกกับกลิ่นความรู้สึกอยากอาเจียนหายไปหมด กลายเป็นความเวทนาสงสารจนถึงกับน้ำตาซึม

“คุณลุงอยู่อย่างเจ็บปวดและทรมานถึงเพียงนี้เชียวหรือ”

“ยังมีคนที่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้อยู่ด้วยหรือ”

ลุงทองคำคงสังเกตเห็นว่าฉันเงียบไป จึงพูดขึ้นมาว่า

“หมอ! ลุงปวดแสบปวดร้อนที่ตรงนั้นมาก มียาอะไรทำให้ลุงหายเจ็บได้บ้างไหม ลุงไม่อยากเป็นแบบนี้ ลุงจะหายไหม”

ฉันไม่รู้จะตอบลุงอย่างไรดี ทำได้เพียงแค่ยื่นมือไปจับแขนเล็กๆที่เหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกของคุณลุงแล้วพยายามกลั้นน้ำตาไว้ เพื่อไม่ให้คุณลุงรู้ว่า หมอน้อยๆของลุงขี้แยขนาดไหน เมื่อเราอยู่ต่อหน้าคนที่อ่อนแอ และหมดกำลังใจ เราก็ไม่ควรแสดงท่าทีที่หมดกำลังใจให้เขาเห็น เราต้องเข้มแข็งให้มากกว่าเขา

“ใจเย็นๆนะลุง หมอจะทำให้เต็มที่” ฉันพูดได้แค่นั้น มันคิดไม่ออกว่าจะหาคำพูดอะไรเพื่อมาปลอบใจแก

ฉันบีบแขนลุงสักพักหนึ่ง เวลาผ่านไปด้วยความเงียบงัน ฉันและเพื่อนตัดสินใจบอกลาคุณลุงเพื่อให้คุณลุงได้พักผ่อน

ก่อนจะกลับฉันกับเพื่อนบอกคุณลุงว่าวันหลังจะมาเยี่ยมใหม่ ลุงทองคำก็น้ำตาไหลออกมาอีก พร้อมกับพูดว่า “ไม่รู้จะตายเมื่อไร”

ฉันไม่อยากจะนึกเลยว่าในใจลุงทองคำขณะนั้นจะเจ็บปวดมากมายเพียงใด ฉันบีบแขนลุงทองคำอย่างแรงอีกครั้ง แล้วตัดสินใจเดินออกมาด้วยความรู้สึกที่เศร้า ซึม อย่างบอกไม่ถูก

ลุงทองคำทำให้ฉันเรียนรู้ชีวิตว่า คนไข้หนึ่งคนของเรา ไม่ได้เป็นแค่วัตถุ ไม่ได้เป็นแค่โรคที่ให้เราศึกษาเรียนรู้ แต่ทำให้เราเรียนรู้มากกว่านั้นคือ เรียนรู้ไปถึงจิตวิญญาณของคน

ลุงทองคำพูดคำที่แสดงถึงความอ่อนแอออกมาพร้อมกับร้องไห้โดยไม่รู้สึกอาย เพียงเพราะตัวแกไม่อยากตาย แกอยากจะอยู่ อยากออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ไม่ผิดที่แกจะคิดเช่นนั้น เพราะไม่ว่าใครๆก็รักชีวิตของตนเอง

ขอบคุณคุณลุงทองคำที่ทำให้ฉันเห็นถึงคุณค่าของชีวิต เวลาที่เหลืออีก 2 ปีต่อจากนี้กับการเป็นนักศึกษาแพทย์ในตึกสุจิณโณ ฉันพอจะรู้แล้วว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด

ตึกสุจิณโณยังคงโค้งสวยตั้งตระหง่านท้าแดด ท้าลม ท้าฝนมาหลายชั่วอายุคน ตึกแห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตให้เราเรียนรู้มากมาย มีทั้งความหวังและความสิ้นหวัง ความห่วงใยและความเฉยชา คนแล้วคนเล่าผ่านเข้าออกเพื่อมาใช้บริการ คงไม่มีใครบอกได้ว่าตั้งแต่เริ่มสร้างตึกแห่งนี้มามีคนต้องจบชีวิต ณ ตึกแห่งนี้มากมายเพียงใด

นศพ.ดาววลี รุ่นบาง
นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5
คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่






Create Date : 08 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2551 18:52:13 น. 4 comments
Counter : 3589 Pageviews.  

 
ได้อ่านในเวปบอร์ดของ คณะแพทย์ มอ แล้วค่ะ


โดย: วันจันทร์สีชมพู วันที่: 8 พฤศจิกายน 2551 เวลา:23:06:06 น.  

 
ได้อ่านในเวปบอร์ดของ คณะแพทย์ มอ แล้วค่ะ รู้สึกประทับใจมาก น้ำตาไหลเลย

"I don't want you be only a doctor but I also want you to be a man" พระราชดำรัสของพระบรมราชชนก


โดย: วันจันทร์สีชมพู วันที่: 8 พฤศจิกายน 2551 เวลา:23:10:15 น.  

 

ขอบคุณที่แวะมาแจม ...

ช่วยกันเผยแผ่ ไปเยอะ ๆ เลยก็ดีครับ ...



โดย: หมอหมู วันที่: 9 พฤศจิกายน 2551 เวลา:10:59:37 น.  

 
ขอบคุณค่ะ

หนูรู้สึกว่าเรียนหมอนี่มันยากลำบากมากเลยนะคะ
อีก 3 เดือนก็จะจบปี 5 แล้ว
ไม่อยากนึกถึงชีวิต Externเลยค่ะ
เห็นพี่ๆไม่ได้หลับได้นอนกันเลย

แต่ก็จะพยายามต่อไปนะคะ


โดย: nhommoji วันที่: 15 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:49:26 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]