Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

E-book เรื่องควรรู้ "สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" บัตรทอง บัตรสุขภาพ









สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เรื่องน่ารู้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง)
https://www.facebook.com/NHSO.Thailand/posts/2532103263522881

คู่มือที่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ... ต้องมี E-Book "คู่มือผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง)

คุณจะไม่พลาดข้อมูลที่ควรรู้ของสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ที่ออกแบบมาเพื่อสื่อความรู้ เข้าใจง่าย ให้ทุกคนเข้าใจและเข้าถึงหน้าที่และสิทธิของตนเอง

ใน E-book เล่มนี้มีอะไร...
- รู้จักหลักการของประกันสุขภาพถ้วนหน้า
- สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของคนไทย
- รู้จักหน่วยบริการ
- สิทธิบัตรทองคุ้มครองโรคร้ายค่าใช้จ่ายสูง
- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นอย่างไร?
ฯลฯ

"เพราะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสิทธิของคนไทยตามกฎหมาย"

---------------

คลิกอ่าน E-book เรื่องควรรู้ "สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"
https://stream.nhso.go.th/wp-content/uploads/ebooks/final_03-04-62/?fbclid=IwAR3Vlj--6pYGQcUcGf71ySS1aPpZNbIIjvd9aCgyN1HhgMBNkgfqMjiJGWk
https://stream.nhso.go.th/wp-content/uploads/ebooks/final_03-04-62/?fbclid=IwAR2b0U1ygvDoEVQl2EQGSZSwQTPtXjnEBUKQcXy2_d738VcSGbLA-YVRHlk

https://www.mediafire.com/folder/ahm3ndfsbn65j/บัตรสุขภาพ_บัตรทอง


***********************************************************

ทีดีอาร์ไอ : ระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและเท่าทียมของไทยในอนาคต
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-03-2013&group=29&gblog=22

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง บัตรสามสิบบาท ฯลฯ) หาข้อมูลก่อนแสดงความเห็น บ้างก็ดีนะครับ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-07-2014&group=29&gblog=21

เหตุใด พนักงาน-ผู้บริหาร สปสช. จึงไม่ใช้สิทธิบัตรทอง?
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-08-2017&group=29&gblog=16





 




 

Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2563   
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2563 13:06:20 น.   
Counter : 2170 Pageviews.  

คลินิกนอกเวลาราชการ - บัตรทองเบิกได้ หรือ ไม่ ? ( แต่ถ้าฉุกเฉินเข้า ER ฟรี อยู่แล้ว )

 

แจง กรณี รพ.แยกรักษาไม่ฉุกเฉินนอกเวลา ถือเป็นทางเลือกให้ ปชช. แต่สิทธิบัตรทองยังอยู่

“หมอชาตรี” ระบุ กรณีบาง รพ.แยกบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ประชาชน สิทธิบัตรทองยังสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิเหมือนเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น ย้ำเป็นทางเลือกให้กับประชาชน รพ.ต้องไม่รอนสิทธิผู้ป่วย

นพ.ชาตรี บานชื่น

นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมบริการพื้นฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยมีหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศร่วมกันดูแล “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอเวลาเพื่อรับบริการต่างจากผู้ป่วยทั่วไป โรงพยาบาลจึงจัดบริการห้องฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่จากข้อมูลการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลพบว่า ในช่วงนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน บางแห่งมีจำนวนมาก จึงจัดแยกจัดบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ อย่างคลินิกพิเศษ ออกจากบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน ป้องกันความขัดแย้งจากการรอรับบริการที่แพทย์จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ทั้งลดแรงกดดันปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ จึงมีโรงพยาบาลบางแห่งจัดบริการนี้เพื่อถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่เนื่องจากทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งด้านบุคลากรที่ให้บริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ จึงต้องจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานของกองทุนรักษาพยาบาลที่ได้รับ

“ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่รับบริการนอกเวลาราชการในโรงพยาบาลที่แยกบริการรองรับ ที่เป็นหน่วยบริการตามสิทธิขึ้นทะเบียนบัตรทอง การเบิกจ่ายค่ารักษายังเป็นไปตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น เพียงแต่ต้องจ่ายสนับสนุนค่าจัดบริการเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน แต่ยืนกรานจะรับบริการที่ห้องฉุกเฉินก็เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก”

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการจัดบริการนอกเวลาราชการสำหรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนคือโรงพยาบาลต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบก่อน แต่อาจยังทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับมีโรงพยาบาลที่เปิดบริการนอกเวลาราชการมากขึ้น จึงมีเรื่องร้องเรียนมายัง สปสช. และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่วมกัน ทั้ง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมติร่วมกัน เน้นสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า สิทธิบัตรทองของประชาชนที่ได้รับ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหน่วยบริการต้องระวังไม่รอนสิทธิ แม้ว่าผู้ป่วยจะรับบริการที่คลินิกนอกเวลาราชการ แต่สิทธิประโยขน์พื้นฐานเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองยังอยู่ โรงพยาบาลเก็บเงินผู้ป่วยได้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการจัดบริการเท่านั้น และการเข้ารับบริการยังต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชนเอง เรื่องนี้หากทำได้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ เพราะประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือกองทุนรักษาพยาบาลอื่นไม่ได้เสียประโยชน์ แต่ช่วยแก้ปัญหาความแออัดในห้องฉุกเฉิน ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นผลดีกับทุกฝ่าย

************************************
 

 

แนะผู้ป่วย ‘บัตรทอง’ ร้องเรียนขอคืนเงิน หากถูก รพ.เก็บค่ารักษานอกเวลาราชการ

กก.ควบคุมคุณภาพฯ สปสช. ชี้ โรงพยาบาลไม่มีอำนาจเก็บค่ารักษาบริการนอกเวลาราชการจากผู้ป่วยบัตรทอง เหตุไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับให้ดำเนินการได้ แนะหากถูกเก็บเงินให้ร้องเรียนมายังคณะกรรมการฯ ยืนยันโรงพยาบาลต้องชดใช้พร้อมดอกเบี้ยสถานเดียว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดๆ รองรับการดำเนินการดังกล่าว ฉะนั้นหากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจริงก็เท่ากับเป็นการลิดรอนสิทธิผู้ป่วย

“กรณีที่โรงพยาบาลขึ้นป้ายว่าหากเข้ารับการรักษานอกเวลาราชการจะถูกเก็บค่ารักษาพยาบาล 100 บาท หรือเท่าไรก็ตามนั้น หากผู้ป่วยร้องเรียนมายังคณะกรรมการควบคุมฯ สปสช. เราก็จะวินิจฉัยว่าโรงพยาบาลต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้ป่วยด้วย นั่นเพราะโรงพยาบาลไม่มีสิทธิเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทองในทุกๆ กรณี” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ให้สิทธิผู้ป่วยบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิทั้งในกรณีฉุกเฉิน กรณีที่มีความจำเป็น ตลอดจนกรณีอื่นๆ ทั้งในและนอกเวลาราชการ และหากพิจารณาตามประกาศของบอร์ด สปสช.ก็จะพบว่าไม่ได้มีข้อใดที่เปิดช่องให้โรงพยาบาลเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทองได้ เว้นแต่ให้สามารถร่วมจ่าย 30 บาทได้ตามความสมัครใจของผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้นยืนยันว่าโรงพยาบาลไม่สามารถเก็บเงินผู้ป่วยบัตรทองได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้แต่อย่างใด

“ส่วนตัวคิดว่าหากจะประนีประนอม โรงพยาบาลสามารถเปิดเป็นเคาน์เตอร์หรือคลินิกพิเศษแยกออกมาได้ กล่าวคือเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยบัตรทองว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายเงิน คือควรจะทำเป็นทางเลือก ไม่ใช่บังคับ” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา ย้ำอีกว่า แนวคิดการเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาทำการของ สธ.นั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และ สปสช.ก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรไปก้าวล่วงหรือไปสั่งห้ามไม่ให้หน่วยบริการจัดบริการได้ ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะต้องแยกออกไปให้ชัด คือจะเปิดคลินิกพิเศษก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเปิดเคาน์เตอร์สำหรับผู้ป่วยบัตรทองด้วย โดยผู้ป่วยจะเลือกใช้สิทธิบัตรทองหรือจะรับการรักษาในคลินิกพิเศษก็เป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยเอง

“ถ้าโรงพยาบาลขึ้นป้ายเก็บค่าบริการนอกเวลาทำการ แล้วผู้ป่วยมาร้องว่าถูกเรียกเก็บเงิน คณะกรรมการควบคุมฯ มีทางเดียวก็คือต้องสั่งให้โรงพยาบาลคืนเงิน นั่นเพราะต้องเข้าใจด้วยว่ากฎหมายให้สิทธิผู้ป่วยบัตรทองใช้สิทธิรับบริการในกรณีที่จำเป็นด้วย เช่น ถ้าผู้ป่วยยืนยันว่าไม่สามารถเข้ารับบริการในเวลาราชการได้ เนื่องจากติดภารกิจต้องทำงาน มีเวลามารับบริการได้แค่หลังเวลาเลิกงานเท่านั้น เขาก็มีสิทธิมาได้ โดยไม่มีกฎหมายใดห้ามไม่ให้เขามา” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา ระบุอีกว่า เมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็น ก็เป็นเรื่องของเขาที่จะอธิบายความจำเป็นนั้นๆ ว่าเหตุใดต้องมารับบริการนอกเวลาราชการ แต่ถ้าต้องการที่จะเก็บค่ารักษาจริงๆ ทางบอร์ด สปสช.ก็ต้องออกมาเป็นประกาศให้ชัดเจนว่าสามารถให้ดำเนินการได้ ซึ่งหากออกประกาศมาแล้วทางคณะกรรมการควบคุมฯ ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีประกาศใดๆ ให้อำนาจ หากมีคนร้องเข้ามา เราก็ต้องสั่งให้คืนเงิน เพราะการดำเนินการของหน่วยพยาบาลจะเข้ามาตรา 59 คือเรียกเก็บเงินในกรณีที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บ

***********************************
 

 

สธ.ยืนยัน โรงพยาบาลเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้

ที่ปรึกษา รมว.สธ. ยืนยัน โรงพยาบาลสามารถเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้ แต่ต้องเป็นผู้ป่วยทั่วไปไม่ฉุกเฉิน และเก็บได้ไม่เกิน 110 บาท เหตุ รพ.มีค่าใช้จ่าย-เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเพิ่ม ย้ำแค่จ่ายค่าบริการเพิ่ม ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ยังเหมือนเดิมตามสิทธิ

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ชี้แจงกรณีโรงพยาบาลจัดเก็บค่าบริการผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งเข้ามารับบริการนอกเวลาราชการ โดยยืนยันว่า โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบของ สธ. แต่ต้องไม่เกิน 110 บาท

นพ.กิตติศักดิ์ อธิบายว่า โรงพยาบาลทุกแห่งให้บริการผู้ป่วยบัตรทองในเวลาราชการอย่างเต็มที่ แต่นอกเวลาราชการนั้น หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุก็สามารถเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน (ER) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนผู้ป่วยทั่วไป หรือผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน และสมัครใจเข้ารับบริการในคลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา ทางหน่วยบริการสามารถกำหนดค่าบริการการให้บริการนอกเวลาได้

“โรงพยาบาลสามารถกำหนดค่าบริการได้ตามหลักการเล่มเขียวของ สธ. ซึ่งจะต้องไม่เกิน 110 บาท โดยกรณีนี้ต้องเป็นผู้ป่วยที่สมัครใจมาใช้บริการนอกเวลาเท่านั้น หากไม่สมัครใจก็กลับไปใช้บริการในเวลาได้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากค่าบริการนอกเวลาราชการจำนวนไม่เกิน 110 บาทแล้ว สิทธิอื่นๆ ของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยบัตรทอง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือผู้ป่วยบัตรทองก็ได้รับการรักษาตามสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาอื่นๆ หรือข้าราชการก็ยังเบิกได้เช่นเดิม

“ผู้ป่วยเพียงแต่จ่ายค่าบริการนอกเวลาเพิ่มแค่นั้น ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ยังเหมือนเดิม” นพ.กิตติศักดิ์ ระบุ

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หากผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินมารับบริการนอกเหนือเวลาราชการ และเกินเวลาที่คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการเปิด ผู้ป่วยก็ยังสามารถเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินได้ แต่การเข้ารับบริการดังกล่าวอาจกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยที่ฉุกเฉินอยู่ ดังนั้นโรงพยาบาลจึงได้จัดห้องแยกไว้ต่างหาก ซึ่งจุดนี้โรงพยาบาลก็สามารถเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้ แต่ต้องไม่เกิน 110 บาทด้วยเช่นกัน

“การให้บริการนอกเวลาราชการ ทั้งคลินิกนอกเวลา คลินิกพิเศษ ห้องแยกจากห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มทั้งในแง่ของทรัพยากรและบุคลากร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเก็บจากผู้รับบริการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ขอย้ำคือต้องเป็นผู้ป่วยที่สมัครใจมาใช้บริการนอกเวลาราชการเท่านั้น ถ้าไม่สมัครใจก็กลับไปใช้บริการในเวลาได้ ซึ่งโรงพยาบาลก็ให้บริการอย่างเต็มที่แน่นอน” นพ.กิตติศักดิ์ ยืนยัน

ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า หลักการนี้แตกต่างกับสิ่งที่หนึ่งในกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการฯ ระบุว่า โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บค่าบริการใดๆ จากผู้ป่วยบัตรทองได้เลย

“ถ้าไม่สามารถเก็บเงินได้เลย จะมาเมื่อไรก็มาได้ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนไข้มาโรงพยาบาลเมื่อใดก็ได้ แล้วเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเวลาราชการ ซึ่งควรจะได้พักผ่อนในช่วงนอกเวลา ก็จะต้องรับภาระหนัก และไปกินเวลาของคนไข้ฉุกเฉินด้วย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ อธิบายต่อไปว่า กรณีที่อ้างว่าบัตรทองให้สิทธิประชาชนเข้ารับบริการตามความจำเป็นได้นั้น ความจำเป็นหมายถึงผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยอุบัติเหตุ ไม่ใช่ผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้แยกค่าบริการออกมาแล้ว แต่ไม่ได้เน้นว่าในเวลาหรือนอกเวลา แต่ที่ผ่านมาเคยมีมติของบอร์ด สปสช.ว่าการให้บริการของหน่วยบริการต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง นั่นหมายถึง 8.30-16.30 น. รวม 5 วัน ก็จะ 40 ชั่วโมง แต่ในกรณีนี้เป็นการให้บริการนอกเวลา

“ท่านประธานคณะกรรมการควบคุมฯ ก็ได้ชี้แจงแล้วว่า การเข้ารับบริการของผู้ป่วยบัตรทองนอกเวลาที่คลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษนอกเวลา จะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มตามที่หน่วยบริการกำหนด” นพ.กิตติศักดิ์ ยืนยัน

*************************************
 

 

สรุปสิทธิบัตรทองเข้า ER นอกเวลาไม่เสียเงิน แต่ต้องคิดว่าฉุกเฉินจริง และให้คิวอาการหนักก่อน

"รศ.พญ.ประสบศรี" ชี้ ป่วยฉุกเฉินของสิทธิบัตรทองหมายรวมถึงฉุกเฉินในมุมของผู้ป่วยด้วย ไม่ต้องถึงระดับสีแดงก็รับบริการที่ห้อง ER ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ต้องรอคิวให้หมอรักษาผู้ป่วยหนักก่อน หรือเลือกจ่ายเงินรับบริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการก็ได้

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการเก็บค่าบริการรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการว่า กรณีนี้ต้องเคลียร์ให้ชัดเจนก่อนว่านอกเวลาราชการคือเวลาของผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ใช่เวลาของคนที่อยากจะมารับบริการเมื่อไหร่ก็มาได้ อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะแตกต่างจากประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการตรงที่คำว่าฉุกเฉินในระบบบัตรทองจะครอบคลุมไปถึงความฉุกเฉินในมุมของคนไข้ด้วย หมายถึงให้เข้าใจถึงความรู้สึกของคนไข้ด้วยเพราะว่าบางครั้งคนไข้ไม่เข้าใจว่าอะไรคือฉุกเฉิน ดังนั้นถ้าคิดว่าอาการที่ตัวเองเป็น เป็นปัญหาฉุกเฉิน ก็สามารถใช้บริการได้

"ห้องฉุกเฉินเปิดให้สำหรับทุกสิทธิแต่ต้องเฉพาะที่เป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งในกรณีคนไข้สิทธิอื่นที่ไม่ใช่บัตรทอง มีเฉพาะคนไข้สีแดงที่ไม่ต้องเสียเงิน แต่ถ้าเป็นสิทธิบัตรทองจะคลอบคลุมไปถึงสีเหลืองและเขียวด้วย เป็นกติกาที่มีตั้งแต่ตอนเริ่ม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่ากรณีฉุกเฉินของคนไข้บัตรทอง เรารวมถึงความฉุกเฉินที่คนไข้พิจารณาด้วย" รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

อย่างไรก็ดี ในการรับบริการในห้องฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยคิดว่าฉุกเฉินจริงๆ เช่น ปวดท้องแล้วคิดว่าเป็นปัญหาฉุกเฉิน แต่ถ้ามาโรงพยาบาลแล้วทางโรงพยาบาลบอกว่ายังไม่ใช่ฉุกเฉินสีแดง อาจเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว คนไข้ก็จะไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการแต่ต้องเข้าระบบการจัดลำดับความสำคัญที่ว่าคนไข้ฉุกเฉินสีแดงต้องได้รับการดูแลก่อน และเมื่อให้บริการแล้วจะเรียกเก็บเงินไม่ได้

"แต่ไม่ใช่ว่าคนไข้บอกว่ากลางวันฉันไม่ว่าง ฉันจะมาเวลานอกราชการ มารับบริการตามใจฉันไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือมีอาการและคิดว่าเป็นเรื่องฉุกเฉินจึงขอมาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉิน ต้องนั่งคอยตามการจัดลำดับความเร่งด่วนของคนไข้ ถ้าคนไข้เดินเข้ามาบอกว่าจะขอทำแผล แบบนี้คงไม่ใช่ฉุกเฉิน หรือเพิ่งเลิกงานเลยจะมาตรวจ แบบนี้ก็ไม่ใช่ ก็ต้องไปคลินิกนอกเวลาราชการที่มีการคิดเงิน หรืออีกอย่างคือนั่งรอที่ห้องฉุกเฉินจนกระทั่งคนไข้ฉุกเฉินหมดก่อน แล้วค่อยทำแผล แบบนี้ก็ไม่ต้องคิดเงิน ถ้าถูกคิดเงินก็มาอุทธรณ์คณะกรรมการควบคุมฯ ของ สปสช.เพื่อขอเงินคืนได้ ขณะเดียวกันเราก็พยายามประชาสัมพันธ์กับโรงพยาบาลว่าหลังหมดเวลาราชการแล้วไม่ใช่ทุกเคสจะต้องเก็บเงินหมด ต้องเข้าใจด้วยว่าสิทธิบัตรทองไม่เหมือนกับประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการอย่างไร" รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่โรงพยาบาลเปิดคลินิกนอกเวลาและถ้าคนไข้บัตรทองไม่อยากใช้เวลารอคอยบริการที่ห้องฉุกเฉิน จะไปใช้คลินิกพิเศษนอกเวลาก็สามารถไปรับบริการได้ จุดนี้เป็นความยินยอมพร้อมใจของผู้ป่วย ซึ่งเท่าที่ประสบพบเจอมาพบว่าการเปิดคลินิกนอกเวลาราชการเช่นนี้ ชุมชนในพื้นที่เห็นด้วย 100% เพราะได้รับทราบว่าโรงพยาบาลมีงานในห้องฉุกเฉินหนักมาก ต้องแบ่งเบาภาระออกไปให้หมอห้องฉุกเฉินดูเฉพาะคนไข้ฉุกเฉินจริงๆ ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มากมาย ค่ายา ค่าตรวจ ฯลฯ ยังอยู่ในสิทธิ์ทั้งหมด เพียงแต่จ่ายเพิ่มในส่วนของค่าพิเศษที่ต้องจ้างหมอ พยาบาล มาอยู่เวรนอกเวลาราชการเท่านั้นเอง ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายๆ แห่งเปิดบริการคลินิกนอกเวลาคู่ขนานไปกับห้องฉุกเฉินและได้รับผลตอบรับที่ดี ประชาชนชื่นชอบอย่างมาก

*************************************

ย้ำ รพ.ไม่สามารถเรียกเก็บเงินคนไข้บัตรทองที่มานอกเวลาด้วยอาการฉุกเฉิน-มีเหตุอันควรได้

กรรมการบอร์ด สปสช.ภาคหวั่นโรงพยาบาลเข้าใจผิดเรียกเก็บเงินคนไข้บัตรทองที่มารับบริการนอกเวลาทุกกรณี แจงหากคนไข้บัตรทองไม่ประสงค์เข้ารับบริการในคลินิกพิเศษนอกเวลา เพราะคิดว่าอาการที่มาเป็นอาการฉุกเฉินในมุมของคนไข้ หน่วยบริการต้องจัดระบบบริการไว้รองรับต่างหากด้วย ย้ำในกรณีที่ผู้ป่วยบัตรทองมา รพ.ด้วยอาการฉุกเฉินหรือมีเหตุอันควร ห้ามเรียกเก็บเงินในกรณีเหล่านี้

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดให้บริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาและเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทองว่า คนไข้ที่เข้ารับบริการอาจมีหลายประเภท บางคนมีเจตนาเข้าคลินิกพิเศษเพราะต้องการความสะดวกสบายหรือพบเแพทย์เฉพาะทางก็สามารถทำได้เพราะมีกติกาของ สธ. ออกมารองรับ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของคนไข้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือมีเหตุอันควร และไม่มีเจตนาเข้ารับบริการในคลินิกพิเศษ ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการก็ต้องจัดระบบบริการไว้ให้ด้วยว่าจะให้ไปรับบริการที่ไหนที่จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น เด็กเป็นไข้ แม้อาจจะไม่ได้ฉุกเฉินมากนัก แต่ในมุมคนไข้อาจรู้สึกว่าฉุกเฉิน จะรอถึงเช้าก็กังวลใจ ขณะที่แพทย์อาจจะมองว่ากินยาลดไข้ก็หายแล้ว ไม่ต้องมาโรงพยาบาลก็ได้ ซึ่งในมุมของ สปสช. ต้องมีมุมมองของผู้ป่วยมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วย ไม่ใช่เฉพาะมุมของผู้ให้บริการฝ่ายเดียว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นป่วยฉุกเฉินระดับสีเขียว เหลือง หรือแดง ก็สามารถเข้ารับบริการได้

"เรื่องนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ตั้งทีมมาพิจารณา เราคุยกันว่าถ้าคนไข้มีอาการฉุกเฉินไม่ว่าสีอะไรก็ตาม หน่วยบริการต้องจัดระบบบริการให้เขาได้รับการรักษา เป็นระบบคู่ขนานไปกับคลินิกนอกเวลาสำหรับคนไข้ที่ไม่ประสงค์จะใช้ช่องทางพิเศษ" ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวอีกว่า ประเด็นดังกล่าวมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพหลายครั้งแล้ว และมีความเข้าใจผิดของโรงพยาบาลในการติดป้ายประกาศเรียกเก็บเงินเป็นระยะๆ ซึ่งที่ประชุมก็ได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะถ้าไม่ทำความเข้าใจร่วมกัน สุดท้ายก็จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

"ก็เป็นไปได้ว่าอาจเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นจึงอยากให้แก้ตั้งแต่ต้นน้ำ โรงพยาบาลอาจมีความยุ่งยากที่ต้องจัดหลายระบบ ทั้งคลินิกพิเศษ ห้องฉุกเฉิน แล้วยังต้องมีอีกหนึ่งระบบมารองรับคนไข้บัตรทองที่ไม่ได้ฉุกเฉินรุนแรงสีแดงและไม่อยากประสงค์ไปใช้คลินิกพิเศษ แต่มติมันออกมาอย่างนั้น ถ้าคุณไม่สามารถจัดระบบบริการได้ แล้วเขาจำเป็นต้องไปใช้คลินิกพิเศษนอกเวลา คุณก็ไม่มีสิทธิเก็บเงินเขา เพราะโรงพยาบาลไม่ได้จัดระบบที่ไม่ต้องเสียเงินไว้ต่างหากสำหรับเขา" ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว




 

Create Date : 07 มกราคม 2562   
Last Update : 10 พฤษภาคม 2562 14:49:09 น.   
Counter : 2320 Pageviews.  

แจงคง 30บ.รักษาทุกโรค แก้กม.ปิดช่องเงินเหลือให้ NGO .. แถม ข้อมูลเรื่องการแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพ



แจงคง30บ.รักษาทุกโรคแก้กม.ปิดช่องเงินเหลือให้NGO

20 มิถุนายน 2560

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/760552

รมว.สาธารณสุขชี้แจง "ครม." ย้ำแก้กม.บัตรทองไม่ริดลอนสิทธิ "30บาทรักษาทุกโรค"เผยหวังปิดช่องเงินเหลือจากซื้อยา ไม่ให้ตกถึงมือ "เอ็นจีโอ"

พล.ท.สรรเสริญแก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งการให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงประเด็นปัญหาการทำประชาพิจารณ์การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ ครม.รับทราบเนื่องจากมีความพยายามจะล้มการทำประชาพิจารณ์การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวที่จัดขึ้น 4 ครั้งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

โดยนพ.ปิยะสกล ได้ชี้แจงว่าการแก้ไขกฎหมายไม่มีการลิดรอนสิทธิของประชาชนแต่อย่างใดพล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ นพ.ปิยะสกลลงไปทำความเข้าใจกับประชาชน โดยอธิบายความแตกต่างของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2545 และฉบับแก้ไข

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข จะจัดเวทีเสวนาให้ความรู้ ตีแผ่ความแตกต่างของร่างพ.ร.บ.ฉบับเดิมและฉบับใหม่ใน 14 ประเด็น พร้อมเชิญให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องประชาชนและสื่อมวลชนทุกสำนักเข้ารับฟัง ในเวลา 09.00 น.วันที่ 21 มิ.ย.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการเพื่อจะได้ทราบว่า ถ้าหากประชาชนไม่สูญเสียสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลการพยายามล้มประชาพิจารณ์มาจากสาเหตุใด

"นพ.ปิยะสกล ยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมาย ยังมีสิทธิบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมีเหมือนเดิมทุกประการไม่มีการลิดรอนสิทธิในการรักษาของประชาชนเลย เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ที่เปลี่ยนแปลงไปคือการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจัดซื้อยาอันเป็นหน้าที่เดิมของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดิมเมื่อมีการตกลงซื้อขายยากันในปริมาณมากก็จะได้รับส่วนลด และกันเงินที่เหลือจากส่วนลดมอบให้กับ NGO ไปทำภารกิจขององค์กรแม้ตามกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้มีระบุไว้ว่า สามารถมอบเงินส่วนนี้ให้ NGO ได้ แต่มีการกระทำลักษณะนี้มายาวนาน ในรัฐบาลนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีนโยบายว่าการใช้เงินต้องทำตามวัตถุประสงค์ของเงินนั้นเงินสำหรับซื้อยาเพื่อดูแลประชาชนก็ต้องซื้อยา ไม่ใช่นำไปใช้ในลักษณะอื่น” พล.ท.สรรเสริญกล่าว


Thiravat Hemachudha ข้อมูลประกอบการติดตามข่าวเรื่องการแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545
https://www.facebook.com/thiravat.hemachudha/posts/10156349858436518

14 ปี สวรส.ให้ทุนวิจัยไปกว่า 3 พันล้าน ผันจาก สสส.-สปสช.-อื่นๆ กว่า 2พันล้าน สะพัดสุดช่วงปี48 – 50 ปีละกว่า500– 600 ล้าน พร้อมเปิดรายชื่อผู้รับทุนทั้งหมด
https://thaipublica.org/2015/11/thaihealth-16/

สตง.เปิดรายชื่อโครงการที่รับเงินจาก สสส.-สปสช.-สวรส. ปี 2546 – 2557 กว่า 2 พันล้าน https://thaipublica.org/2015/11/thaihealth-15/

อดีตประธานสปสช.ระบุบอร์ดสปสช. มีอำนาจล้น – เลขาสปสช.อนุมัติเงินได้ครั้งละ 1 พันล้าน มากกว่านายกรัฐมนตรีและรมต.https://thaipublica.org/2011/10/national-health-board/

สตง.ตรวจสอบการดำเนินงานสปสช.ระบุไม่โปร่งใสใช้งบสุขภาพถ้วนหน้า เหมาจ่ายรายหัวผิดประเภทเกือบ 100ล้าน https://thaipublica.org/…/…/oag-national-health-transparency/

เปิดรายงานดีเอสไอระบุสปสช. ไม่มีหน้าที่ซื้อยา-เวชภัณฑ์ แถมเอาเงินส่วนลดจากองค์การเภสัชไปใช้เองเที่ยวต่างประเทศ ซื้อรถตู้ ให้เงินทำวิจัย – 4ปี ได้เงินไปกว่า 240 ล้านบาท
https://thaipublica.org/2015/03/public-health-services-57/

สตง.ตรวจสอบการดำเนินงานสปสช.ระบุไม่โปร่งใสใช้งบสุขภาพถ้วนหน้า เหมาจ่ายรายหัวผิดประเภทเกือบ 100ล้าน https://thaipublica.org/…/…/oag-national-health-transparency/

บอร์ดสปสช.ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชนผิดประเภทผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ รับเงินจากสปสช.เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.กองทุนหลักประกัน- กฏหมายป.ป.ช.มาตรา100 https://thaipublica.org/2015/01/public-health-services-53/

เจาะงบ สปสช.ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวประชาชนผิดประเภท แจกทำวิจัยและไม่ใช่หน่วยบริการตามกม.มีชื่อ”นพ.สมศักดิ์”รมช.สาธาธารณสุข– คตร. สั่งปลัดสาธารณสุขเร่งรัด สปสช. หาคนผิดลงโทษ https://thaipublica.org/2015/01/public-health-services-52/

ประเทศไทยกับความโปร่งใสทางการคลัง(2) : 114 กองทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณข้อมูลขาดความน่าเชื่อถือ ไม่ครบถ้วน ไม่ทันสมัย https://thaipublica.org/…/thailand-trasparency-reseach-grou…/

รมว.สธ.-ผอ.งบฯเข้าพบ'ประยุทธ์' คาดถกปม5รพ.รัฐถังแตก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/749193

***วันที่ 21มิถุนายน 2560****
แจงคง30บ.รักษาทุกโรคแก้กม.ปิดช่องเงินเหลือให้NGO https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/760552




 

Create Date : 17 มีนาคม 2561   
Last Update : 17 มีนาคม 2561 14:05:31 น.   
Counter : 670 Pageviews.  

ทำไมกองทุนสุขภาพสามกองทุนจะเจ๊งหมดภายใน 30 ปี และจะแก้ไขได้อย่างไร ? ... ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ทำไมกองทุนสุขภาพสามกองทุนจะเจ๊งหมดภายใน 30 ปี และจะแก้ไขได้อย่างไร?

เผยแพร่: โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ผอ.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต Business analytics and data science
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


กองทุนสุขภาพของไทยสามกองทุนคือ

หนึ่ง กองทุนบัตรทอง ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลคนไทยราว 48 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณปีละประมาณแสนแปดหมื่นล้านบาทต่อปี

สอง สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการและผู้มีสิทธิ ดูแลคนไทยราว 6 ล้านคนและใช้เงินงบประมาณปีละประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาทต่อปีและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี

สาม สิทธิประกันสังคม ซึ่งมีผู้ประกันตนประมาณสิบล้านคน และเป็นกองทุนเดียวที่ต้องส่งเงินสมทบ หรือมีการร่วมจ่ายมากที่สุด

ข้อพยากรณ์คือ กองทุนทั้งสามกองทุนจะขาดทุนหรือร่อแร่ในระยะเวลาอันใกล้ บางกองทุนอาจจะภายใน 4-5 ปีนับจากวันนี้เท่านั้น สาเหตุหลักร่วมกันของทั้งสามกองทุนคือภาวะสังคมสูงวัย (Aging society) ซึ่งจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลของรัฐจะเจ๊งทั้งหมด

สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการนั้น การฉายภาพประชากรข้าราชการไทยโดยอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์และคณะพบว่าพิระมิดประชากรข้าราชการหัวคว่ำ รูปสามเหลี่ยมหัวคว่ำ คือเต็มไปด้วยคนแก่ที่เริ่มเจ็บและป่วย อายุเฉลี่ยข้าราชการเกือบ 50 ปี อายุเฉลี่ยข้าราชการแรกเข้าคือ 31 ปี เราจะมีปัญหา aging society ของสิทธิราชการรุนแรงกว่าทุกสิทธิ์เพราะข้าราชการไทยเต็มไปด้วยคนแก่

ข้าราชการไทยแก่หนักมาก แก่กว่าประชากรของไทยที่จัดว่าแก่แล้ว ประชากรข้าราชการไทยนั้นไม่ได้เป็น aging society หรือภาวะสังคมสูงวัย แต่เป็น aged society หรือภาวะสังคมสูงวัยเต็มขั้น และกำลังเลื่อนเข้าไปสู่ super aged society หรือภาวะสังคมสูงวัยขั้นสุด ในเร็ววัน


คนเราเมื่อแก่มา ก็เจ็บป่วยมากขึ้นตามความเสื่อมของสังขาร ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็มากขึ้นเป็นทวีคูณ ตรีคูณ ที่ต้นทุนของค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไทยสูงกว่าสิทธิอื่น ๆ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชากรข้าราชการไทยและผู้มีสิทธิแก่กว่าประชากรไทยโดยเฉลี่ยค่อนข้างรุนแรง

ผลการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (actuarial valuation) พบว่ามีภาระทางการคลังจากสิทธิ์รักษาพยาบาลราชการอย่างหนักหน่วงเพราะประชากรราชการไทยแก่มาก ป่วยมาก เจ็บมาก จนจะเกิดปัญหาภาระทางการคลัง น่าจะแตะแสนล้านภายใน 10 ปี และกระทรวงการคลังจะจ่ายไม่ไหว

สำหรับกองทุนประกันสังคมนั้นองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International labour organization: ILO) ได้ทำการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ actuarial valuation เช่นกันแล้วพบว่าเงินกองทุนจะติดลบใน 28 ปีจากนี้ สาเหตุคือ

หนึ่ง ประเทศไทยมีอัตราการจ่ายเงินสมทบรวมหรือ total contribution rate ต่ำที่สุดในโลกคือนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ จ่ายสมทบรวมกันต่ำมากไม่ถึง 8% ในขณะที่กองทุนประกันสังคมของจีนมี total contribution rate สูงกว่าร้อยละ 20 ต่ำที่สุดใน OECD และน่าจะต่ำที่สุดในโลก แล้วไม่จ่ายเงินแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายบำนาญและจ่ายให้สวัสดิการรักษาพยาบาล

สอง คืออายุเกษียณที่จะได้รับบำนาญ (Pensionable age) ของประเทศไทยนั้น ยอมให้ผู้ประกันตนของสิทธิ์ประกันสังคมเกษียณเพื่อรับเงินบำนาญได้ไวที่สุดในโลกคือ 55 ปี ซึ่งต่ำที่สุดในโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำหนดอายุเกษียณไว้สูงถึง 67 ปี ส่งเงินสมทบไม่นานก็สามารถได้รับบำนาญเสียแล้ว

เรื่องของ total contribution rate นั้นยังเป็นปัญหา เพราะในอดีตที่ผ่านมานักการเมืองนิยมหาเสียงด้วยการลด total contribution rate นี้เนื่องจาก ทำให้ได้เสียงจากนายจ้าง ที่ได้ผลประโยชน์เต็มที่จากการลดการจ่ายเงินสมทบลง ฝ่ายลูกจ้างและบรรดาสหภาพและสหพันธ์แรงงานที่ขาดสติและปัญญาหลงคิดสั้น ๆ ว่าเป็นผลงานตัวเอง ทำให้ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายสมทบมากนัก ทั้ง ๆ ที่หลักการคือ ถ้าลูกจ้างสมทบไปเท่าใด นายจ้างและรัฐก็ต้องจ่ายสมทบให้ไปเท่านั้น แรงงานขาดวิสัยทัศน์ไม่คิดให้รอบคอบก็หลงดีใจไปว่าตัวเองได้ประโยชน์ทั้ง ๆ ที่ในระยะยาวเสียประโยชน์ไปเต็ม ๆ ส่วนรัฐบาลเองยิ่งชอบใจดีใจที่ได้จ่ายเงินสมทบลดลง เอาเงินงบประมาณไปทำอย่างอื่น ที่อาจจะได้ประโยชน์เข้าตัวนักการเมืองหรือข้าราชการก็ได้เช่นกัน กลายเป็นเรื่องของประชานิยมที่ทำให้กองทุนประกันสังคมยอบแยบลงไป เพราะทุกคนเห็นแก่ได้ในระยะสั้นพากันดีใจบนความหายนะของตัวลูกจ้างเองและตัวกองทุนประกันสังคม

สำหรับบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นปีละหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปีและโรงพยาบาลของรัฐก็ขาดทุนหนักเพราะบัตรทองทุกปี ขณะนี้โรงพยาบาลของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีเงินบำรุงติดลบ ขึ้นตัวแดง ขาดทุนย่อยยับถึงหกร้อยกว่าโรงพยาบาลจากแปดร้อยโรงพยาบาลหรือคิดเป็นร้อยละ 75 ขึ้นไป งบบัตรทองจะแตะร้อยละ 25 ของงบประมาณแผ่นดินภายในไม่เกิน 10 ปีซึ่งสูงที่สุดในโลก ผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบเช่นเดียวกัน เพราะเราเข้า aging society หนีไม่พ้น จนและแก่ ประเทศที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปเพื่อการสาธารณสุขแตะร้อยละ 20 ของเงินงบประมาณแผ่นดินมีอยู่สองประเทศ คือกรีซและอาร์เจนติน่า ซึ่งสองประเทศนี้มีภาระหนี้สาธารณะท่วมท้นจนเศรษฐกิจแทบจะล้มละลาย หรือเราจะต้องการเช่นนั้น


สรุปง่าย ๆ คือทางข้างหน้าของโรงพยาบาลของรัฐมีแต่เหวลึกทางการเงินและไม่มีทางรอดพ้นไปได้ ทุกอย่างมีตัวเลขพยากรณ์หมด ถ้าไม่เริ่มทำวันนี้ รับรองว่ากระทรวงสาธารณสุขจะตายเรียบเพราะไม่มีเงิน ต้องแก้ตอนนี้ทันที ก่อนจะสายเกินไป

ทางแก้คือต้องมีการร่วมจ่าย (Copayment) โดยรูปแบบที่ดีที่สุดคือการให้ประชาชนมีประกันสุขภาพร่วมจ่ายล่วงหน้า ก่อนที่จะเจ็บป่วยเป็นการสร้างเสริมวินัยทางการคลัง ให้คนไทยรู้จักออมเพื่อรองรับการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อจ่ายเงินไปแล้วต้องได้รับบริการที่ดีขึ้น ชนชั้นกลางที่พอจ่ายไหวต้องร่วมจ่าย แต่การร่วมจ่ายนั้นต้องนำไปสู่การบริการที่ดีขึ้น รัฐควรลดหย่อนภาษีให้สำหรับการซื้อประกันสุขภาพร่วมจ่าย ซึ่งจะช่วยหล่อเลี้ยงให้ระบบสุขภาพไม่ล่มสลาย

ส่วนปัญหาของแต่ละสิทธิต้องไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา

กองทุนประกันสังคมต้องค่อย ๆ ขยายอายุเกษียณและทยอยเพิ่ม Total contribution rate การขยายอายุเกษียณเพิ่มขึ้นหนึ่งปี โดยประกาศแบบปีเว้นปีจะช่วยลดแรงต้านจากภาคแรงงานลงไป เช่นเดียวกันกับการเพิ่ม Total contribution rate ที่ต้องทยอยเพิ่มขึ้นปีเว้นปี เพื่อให้เกิดการต่อต้านลดลง แต่จำเป็นต้องทำ และควรพัฒนาการบริการด้านการรักษาพยาบาลของสิทธิประกันสังคมให้ดีขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

สำหรับสิทธิรักษาพยาบาลราชการต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

หนึ่ง ต้องพยายามแก้ไขปัญหาประชากรข้าราชการแก่มาก เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ต้องดึงดูดบัณฑิตอายุเฉลี่ย 20 ปีเข้ารับราชการ ไม่ใช่รับคนอายุเฉลี่ย 31 ปีเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สอง ควรตั้งสำรอง (reserve) ให้ลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีสำหรับใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลราชการในอนาคต ไม่ใช่จ่ายอย่าง pay as you go เป็นปี ๆ ไปเช่นทำอยู่ในปัจจุบัน

และ สามเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสิทธิราชการให้ดีขึ้น เช่นควรทำ public-private partnership ให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนซึ่งมีความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการควบคุมการเบิกจ่ายสินไหมรักษาพยาบาล (Medical claim control) มากกว่ามาก จะช่วยทำให้การเบิกจ่ายมีจุดรั่วไหลลดลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรทองและทุกสิทธิต้องเน้นการป้องกันโรคที่ได้ผลจริง โยงหา health outcome ได้จริง ไม่ใช่เน้นการทำ event แบบ สสส ที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือใช้เงินไม่คุ้มค่าอย่างเช่นที่เป็นมาในอดีต

ปัญหาใหญ่คือองค์การตระกูล ส ที่ดูแลระบบสาธารณสุขหลายส่วน เช่น สปสช และ สสส ต้องแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และการใช้จ่ายเงินผิดประเภทโดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลหรือแม้แต่สุขภาพ และต้องเลิกประชานิยมและส่งเสริม copayment เพื่อให้เกิดการเป็นผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน

กระทรวงสาธารณสุขต้องปฏิรูป ให้มีการบริหารแบบเขตสุขภาพจะทำให้เกิด risk sharing และ risk pooling ที่ดีขึ้น

สปสช. ต้องไม่บริหารการรักษา เพราะไม่ใช่หน้าที่ และไม่มีความรู้เพียงพอ การบริหารการรักษาโดยการกำหนดกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินเช่น DRG นั้นเป็นการก้าวล่วงอำนาจของแพทยสภาและราชวิทยาลัย ต้องยกเลิกการทำสัญญาผลงานกับโรงพยาบาล ให้ทำกับเขตสุขภาพแทน ลดขนาดองค์การ สปสช. ลง ยกเลิกกองทุนย่อยทั้งหมด สปสช. มีขนาดใหญ่มาก บุคลากร สปสช. ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการดีกว่าข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในการรักษาและดูแลสุขภาพประชาชนในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรงพยาบาลขาดทุนและไม่มีเงินจะจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าแรงของบุคลากร แต่พนักงาน สปสช. กลับได้รับโบนัส

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนคือ หนึ่ง ต้องรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ให้เจ็บป่วยได้นานที่สุด ให้เจ็บป่วยและแก่ให้ช้าที่สุด ต้องมี health literacy หรือมีความรู้ในการดูแลสุขภาพให้ดี สองประชาชนต้อออมเงินและลงทุนเพื่อเตรียมตัวเกษียณสำหรับตนเอง อย่าหวังพึ่งรัฐแต่ถ่ายเดียว ซึ่งคนไทยกว่าร้อยละ 60 คิดว่ารัฐต้องดูแลตนเองตอนแก่ ซึ่งรัฐไทยไม่มีความสามารถขนาดนั้น ตนเองต้องเป็นที่พึ่งของตนเอง อย่าไปหวังพึ่งใครแม้กระทั่งรัฐบาล


*********************************************

"ปรับระบบการเงิน"ก่อนเจ๊งพากันทั้งกระทรวงสาธารณสุข...จาก คมชัดลึก https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=16-10-2010&group=29&gblog=30

ชัดเจนไม่ต้องคิดมากโรงพยาบาลรัฐเจ๊งแน่ ... ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=15-01-2017&group=29&gblog=18

ระบบยั่งยืนถ้าคนไทยมีความรับผิดชอบ... หมอดื้อ ไทยรัฐฉบับพิมพ์ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-01-2018&group=29&gblog=38

โรงพยาบาลขาดทุนมีมากแค่ไหนขาดทุนเท่าไหร่ ถึงต้องค้างจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ? https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-12-2016&group=29&gblog=19

“น้ำลดตอผุด”: ๑๕ ปีกับการรักษาฟรีทั่วหล้า +ข้อมูลประกอบการติดตามข่าวการแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=16-07-2017&group=29&gblog=15

1.3% หรือ 4% ของ GDP สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นภาระทางการคลังจริงหรือ? https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=01-05-2017&group=29&gblog=17

การแยกผู้ซื้อ-ผู้ให้บริการหรือ Purchaser-Provider Split .. ศ.นพ.จิรุตม์ศรีรัตนบัลล์ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=18-08-2017&group=29&gblog=12

มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค : ภัยของบุคลากรสาธารณสุข... พญ.เชิดชู เขียนไว้ 2555 https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=27-07-2017&group=29&gblog=14

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง บัตรสามสิบบาท ฯลฯ) หาข้อมูลก่อนแสดงความเห็น บ้างก็ดีนะครับ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-07-2014&group=29&gblog=21

เลิกพูดเกินความเป็นจริงว่า30 บาทรักษาได้ทุกโรคและเลิกใช้คำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-08-2017&group=29&gblog=13

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลักการดีแต่ต้องรีบ“ปฏิรูปวิธีดำเนินการ”... พญ. เชิดชู https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=14-04-2009&group=29&gblog=34

เหตุใดพนักงาน-ผู้บริหาร สปสช. จึงไม่ใช้สิทธิบัตรทอง? https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-08-2017&group=29&gblog=16

ตัวอย่างปัญหาประกันสังคม .. โรงพยาบาลเอกชน และ ความต้องการของผู้ป่วย ??? https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=02-01-2010&group=29&gblog=33

ทางเลือกของผู้ประกันตนในการรับบริการสาธารณสุข... พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=17-05-2011&group=29&gblog=24





 

Create Date : 01 มีนาคม 2561   
Last Update : 1 มีนาคม 2561 15:10:32 น.   
Counter : 864 Pageviews.  

ระบบยั่งยืนถ้าคนไทยมีความรับผิดชอบ ... หมอดื้อ ไทยรัฐฉบับพิมพ์





ระบบยั่งยืนถ้าคนไทยมีความรับผิดชอบ

โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 21 ม.ค. 2561 05:20

คุณหมอเมธี วงศ์ศิริสุวรรณ หมอผ่าตัดสมองและกรรมการแพทยสภา ได้มาอธิบายความเป็นจริงของระบบสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่น ท่ามกลางกระแสร้อนแรงของ “ก้าวคนละก้าว” โดยคุณตูน ที่บังเอิญสอดรับกับกระแสเรียกร้องให้มีการเร่งปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย เพื่อให้รอดพ้นจากปากเหวแห่งความหายนะ จากตัวเลขที่บิดเบือนไม่ได้ว่า โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังอยู่ในฐานะล้มละลายหรือใกล้ล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลร้ายต่ออนาคตของลูกหลานเราเอง

หากนับย้อนไปเมื่อสองสามปีก่อนในช่วงของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนระดับนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีใดๆ ออกมายอมรับความจริงอันน่าเจ็บปวดเช่นนี้ รัฐบาลในยุคปฏิรูปนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขขึ้น และโจทย์หนึ่งที่เป็นหัวข้อการปฏิรูปคือ “ทำอย่างไรระบบหลักประกันสุขภาพจึงจะมีคุณภาพและยั่งยืนไปพร้อมๆกันได้” ก่อนที่จะไปดูว่าทำอย่างไรระบบหลักประกันสุขภาพไทยจะก้าวไปสู่จุดที่ต้องการได้ ลองไปดูหนึ่งในระบบประกันสุขภาพของเพื่อนบ้านที่ประสบกับความสำเร็จแล้วกับการทำให้ระบบยั่งยืนและมีคุณภาพพร้อมที่จะส่งมอบต่อไปยังลูกหลานและตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยชรา

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยอะไรหลายอย่างที่คล้ายกับประเทศไทย ทั้งขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร ก่อนหน้านี้ก็เคยใช้ระบบแบบเดียวกับที่ไทยทำอยู่แต่สุดท้ายต้องยอมรับความจริงว่าไปไม่รอด และส่งผลเสียต่อระบบในระยะยาว จึงเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2504 โดยรัฐมีนโยบายชัดเจนว่า “คนญี่ปุ่นต้องมีความรับผิดชอบต่อการรักษาพยาบาลทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่รัฐบาลก็จะไม่ทอดทิ้งคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริงๆ” เริ่มแรกนั้นมีการเปิดกว้างการรักษาโดยไม่จำกัดสถานพยาบาล ไม่จำเป็นต้องผ่านการส่งต่อเป็นระดับ แต่สุดท้ายพบว่าทำให้มีการใช้เกินความจำเป็น และในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐต้องรับภาระมากโดยไม่จำเป็น อันจะเป็นผลเสียต่อระบบการเงินการคลังของชาติโดยส่วนรวม ในที่สุดจึงได้มีการปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แม้ว่าในระยะแรกมีกระแสไม่เห็นด้วยและก่อให้เกิดความไม่เสถียรภาพต่อรัฐบาลในขณะนั้น แต่เมื่อเอาตัวเลขและข้อเท็จจริงมาชี้แจง ที่สุดสภาไดเอะก็ยอมผ่านกฎหมายให้กับรัฐบาลเพื่อปฏิรูประบบครั้งใหญ่เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

พลเมืองญี่ปุ่นทุกคนที่ทำงานและมีรายได้ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยร่วมจ่ายเบี้ยประกัน (คิดเป็น 50% ของทั้งหมด) ส่วนที่เหลือคือคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่ได้ทำงานเพราะเกษียณหรือตกงานหรือเป็นเด็ก รัฐจึงจะเข้าไปช่วยเหลือด้วยงบภาษีอากร (พูดง่ายๆ คือรัฐจะช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้จริงๆเท่านั้น โดยไม่มีการสร้างวาทกรรมในทำนองดูถูกคนจน สองมาตรฐาน หรืออุดมการณ์ในโลกเสมือนจริงมาบิดเบือนข้อเท็จจริงทางคณิตศาสตร์)

การส่งเบี้ยประกันในวัยทำงาน ไปยังระบบประกันสังคมแห่งชาติ (National Health Insurance หรือ Kokuho) ก็ยังไม่ได้ทำให้ได้รับการรักษาฟรีๆทั้งหมดแบบบ้านเรา แต่รัฐจะให้ส่วนลดค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่กำหนดไว้ (ถ้าเบี้ยวการส่ง แล้วเจ็บป่วย นอกจากจะโดนปรับย้อนหลังแล้วยังต้องจ่ายค่ารักษาเต็มจำนวน ซึ่งหมายถึงหายนะทางการเงินจะตามมา!!) เหตุเพราะค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในสังคมผู้สูงอายุสูงมากเมื่อเทียบกับภาษีที่จัดเก็บได้ (ญี่ปุ่นจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพกว่าไทยมากๆ) ทำให้ผู้ป่วยยังต้องร่วมรับผิดชอบเมื่อเจ็บป่วยอีกด้วย อาทิ ต้องไปเริ่มที่คลินิกปฐมภูมิ และหากจะมา รพ.ต้องมีใบส่งตัวเสมอ หรือหากไม่เอาใบส่งตัวก็ต้องเป็นกรณีฉุกเฉินจริงๆ โดย รพ.จะส่งรถพยาบาลไปรับถึงบ้านเอง (แต่หากมาถึง รพ.แล้วพบว่าไม่ฉุกเฉิน อาจถูกสั่งให้กลับบ้านหรือไม่ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงกว่าปกติมาก)

ส่วนกรณีที่รับการรักษาแล้วนั้น ผู้ป่วยนอกยังต้องรับผิดชอบ 20% และอีก 30% สำหรับผู้ป่วยใน (แต่ไม่เกินหนึ่งล้านเยน) โดยที่เหลือรัฐจะรับผิดชอบให้กับ รพ.แทน นอกเหนือจากเจ็บป่วยแล้วรัฐยังมีมาตรการลดค่ารักษาพยาบาลด้วยการบังคับให้ไปตรวจร่างกายตามรอบที่มีจดหมายเตือนไปถึงบ้าน

ด้วยวิธีนี้ได้ประโยชน์หลายอย่างคือ
(1) ผู้ป่วยพยายามดูแลตัวเองอย่างถึงที่สุดก่อนที่จะไป รพ. เพราะไม่อยากเสียเงินเพิ่มอีก ที่สำคัญบางโรคบางภาวะ แม้จะจ่ายเบี้ยไปแล้ว รัฐก็จะไม่ร่วมรับผิดชอบ เช่น โรคที่เกิดจากพิษสุราบางอย่าง

(2) ผู้ป่วยตระหนักดีว่าการนอน รพ.มีค่าใช้จ่ายมากกว่าการรับยาแล้วกลับบ้าน ทำให้ไม่อยากนอนถ้าไม่จำเป็น และอยากกลับบ้านเร็วๆ ผลคือทำให้อัตราการครองเตียงไม่สูงเกินเหตุ รพ.เองก็มีเตียงมากพอที่จะรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอน รพ. โดยไม่ต้องไปพยายามสร้างตึกเพิ่มทุกๆปีแบบในไทย

(3) ผู้ป่วยพยายามไม่ขอยาหรือเรียกร้องให้มีการตรวจรักษาโดยจำเป็นอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะตนเองต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกรายการที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ

(4) การที่รัฐต้องเข้ามารับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ 70-80% ทำให้รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อคุมค่ารักษาพยาบาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลรัฐหรือเอกชน ซึ่งทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อระบบและไม่เกิดสถานการณ์สองมาตรฐาน (ยาที่ญี่ปุ่นเป็นยาต้นแบบทั้งหมดเพื่อความมั่นใจในคุณภาพการรักษา)

(5) รพ.ไม่ประสบปัญหาขาดทุน เพราะค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด รพ.จะได้คืน (ส่วนหนึ่งจากผู้ป่วยและที่เหลือจากรัฐบาล) ประเด็นนี้เป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานพยาบาลในไทย เพราะที่ผ่านมา สปสช. นอกจากจะไม่จ่ายค่ารักษาที่เกิดขึ้นจริงเต็มจำนวนแล้ว ยังมีการชักดาบ รพ.ดื้อๆด้วยสารพัดข้ออ้าง ที่หนักยิ่งกว่าคือการเรียกเงินคืน หรือการสั่งให้สถานพยาบาล หรือแม้แต่แพทย์พยาบาลต้องออกค่ารักษาแทนคนไข้!!!

ผลคือ รพ.ไทยยิ่งรักษายิ่งขาดทุน คุณภาพการรักษาตกต่ำ ตามมาด้วยการฟ้องร้องต่อบุคลากรทั้งๆที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุโดยตรง แถม สปสช.ยังอ้างเป็นเหตุให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 โดยโยนความผิดมาที่ รพ. หรือแม้แต่อ้างว่าไม่ต้องพิสูจน์ผิดถูกทั้งๆ ที่กฎหมายเขียนว่าให้พิสูจน์ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นจุดตายที่ทำให้ใครบางคนใน สปสช. อาจต้องโทษอาญาและทางแพ่งด้วยการต้องใช้เงินคืนรัฐ เหตุเพราะ สปสช.ทำผิดกฎหมาย ม. 41 เสียเอง

(6) โรงพยาบาลจะจัดให้มีแพทย์เฉพาะทางในบางวันเท่านั้น เพื่อให้แพทย์มีเวลาไปพัฒนางานในสาขาของตนเอง ในขณะเดียวกันก็บังคับให้กระจายผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องมาใน รพ.ใหญ่ๆออกไปยัง รพ.ปฐมภูมิ เราจึงจะไม่เห็นภาพความแออัดที่เป็นบ่อเกิดของความไม่พอใจ และยังเป็นต้นเหตุการกระจายของโรค แบบที่เห็นในเมืองไทย.....เราจึงไม่เห็นภาพของการขอเรี่ยไร การทอดกฐิน การขอความช่วยเหลือจากพระสงฆ์องค์เจ้า เพื่อสร้างตึกหรือซื้อเครื่องมือแพทย์แบบที่เมืองไทยมีกันเกลื่อนจนน่าจะโอน รพ.ในสังกัดสาธารณสุขไปให้กรมการศาสนา

จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่น (และอีกแทบทุกประเทศที่คนในชาติมีการศึกษาที่ดี มีการตระหนักรู้ในหน้าที่พร้อมๆกับสิทธิ เป็นประเทศที่เน้นย้ำความสำคัญของระบบสุขภาพที่ต้อง “ยั่งยืนและมีคุณภาพสูง” ไปพร้อมๆกัน ระบบถูกออกแบบให้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ภายใต้ความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในชาติที่มีกำลัง และสะท้อนแนวคิดว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกสิ่งมีราคาที่ต้องจ่าย อยู่ที่ใครจะต้องจ่าย

ของดีราคาถูกไม่มีในโลก ระบบที่ดีไม่ใช่ได้มาด้วยวาทกรรมสวยหรู หรือ Hate speech ที่บั่นทอนคนทำงาน เพื่อเรียกคะแนนนิยมหรือสร้างภาพให้ดูดี ทรัพยากรสาธารณสุขไม่ใช่ของใคร ทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันดูแลและต้องไม่ทำร้ายระบบด้วยการเอาแต่ใจตนเองแบบที่เห็นกันในบ้านเราแล้วไปออกแนวดราม่าบนโลกโซเชียลให้เด็กๆเขาดูถูกว่าเป็น “มนุษย์ป้า”.

หมอดื้อ
https://www.thairath.co.th/content/1182213

................

แผนที่(mapping)การค้างจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน(P4P) และเงินบำรุง(คงเหลือ)
« เมื่อ: 08 เมษายน 2017, 19:54:53
https://www.thaihospital.org/board2/index.php?topic=28342.0






การค้างจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน(P4P)
* บางจังหวัดมีโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯมากกว่าหนึ่งแห่ง เอาโรงพยาบาลที่ค้างจ่ายมากทีสุดเป็นตัวแทนจังหวัดนั้น

โรงพยาบาลที่ค้างจ่ายตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี (31 เดือน)                                         
โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่17 จังหวัดสุพรรณบุรี (29 เดือน)                                                          
โรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี (29 เดือน)                                                            
โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต   (28 เดือน)                                        
โรงพยาบาลกระบี่ (25 เดือน)                                                                              
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว (24 เดือน)                                              
โรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี (24 เดือน)      

โรงพยาบาลขอนแก่น จ่ายเพียง 50%
โรงพยาบาลสกลนคร จ่ายประมาณ 25%

รายละเอียดการค้างจ่าย ตามลิงค์
https://www.thaihospital.org/board/index.php?topic=27966.0
.................................................................................................

ข้อมูลเงินบำรุงคงเหลือ(หักหนี้แล้ว) 896 โรงพยาบาล
สีแดงเป็นลบ
สีขาวเป็นบวก

************************************




 

Create Date : 21 มกราคม 2561   
Last Update : 21 มกราคม 2561 13:36:10 น.   
Counter : 1164 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]