Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ปลดแอกผู้ป่วยประกันสังคม 10ล้านคนดีกว่า หากยังชุ่ยกว่าบัตรทอง ... โดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ




ปลดแอกผู้ป่วยประกันสังคม 10ล้านคนดีกว่า หากยังชุ่ยกว่าบัตรทอง

โดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ

อดีตประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

//www.komchadluek.net/detail/20111001/110668/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A110%E0%B8%A5.%E0%B8%84%E0%B8%99.html



ต้องยอมรับว่านโยบายด้านการสาธารณสุขที่เรียกว่า 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น เป็นนโยบายที่โดนใจประชาชนคนไทยมาก และเป็นปัจจัยความสำเร็จของพรรคเพื่อไทยที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย

ล่าสุดรัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือคุณวิทยา บุรณศิริ ประกาศฟื้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคให้กลับมาเดินเครื่องใหม่ ยกเลิกรักษาฟรีของรัฐบาลประชาธิปัีตย์ โดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะแลกกับ การให้บริการที่โดนใจยิ่งกว่า ดียิ่งขึ้น โดยจะเริ่มได้ในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้

เชื่อว่าประชาชนต้องการสิ่งที่ดีที่สุดแน่นอน และสิ่งที่รัฐบาลจะปรับปรุงก็ย่อมเป็นสิ่งที่เอื้อต่อประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด และคิดว่าประชาชนคงไม่ปฏิเสธสำหรับการจัดเก็บ 30 บาท เพื่อบริการที่ดีขึ้น เพราะไม่มีใครอยากได้ฟรีแต่รักษาแบบอนาถาอย่างแน่นอน รัฐมนตรีสาธารณสุขระบุ

ครับ ก็น่ายินดีหากเป็นไปตามนโยบายที่กล่าวมานี้ เพราะต้องยอมรับว่าโครงการบัตรทองรักษา 30 บาททุกโรคนั้นแม้จะโดนใจประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าที่ผ่านมานั้น บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคยังมีจุดอ่อนข้อบกพร่องอยู่หลายเรื่อง

โดยเฉพาะการมีข้อยกเว้นยุบยับไปหมดที่จะไม่ให้ยาหรือการรักษาแก่ผู้ป่้วย โดยอ้างว่ายาที่แพงๆกับโรคที่ร้ายแรงนั้น เป็น"ยานอกบัญชีโครงการ30บาท"บ้างหละ หรือสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลต้นสังกัด ไม่ยอมส่งต่อไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลดีๆที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางบ้างหละ เพราะเกรงว่าตนเองต้องโดนเรียกเก็บเงิน ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน แทนที่จะนึกถึงคนป่วยก่อน

สุดท้ายคนป่วยก็ยังบ่นกันว่า เวลาจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ไม่ต่างจากไปโรงฆ่าสัตว์ให้ได้ยินได้ฟังกันเนืองๆ หากรัฐมนตรีวิทยาทำได้จริง แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆนี้ได้ก็จะได้บุญมหาศาล ได้คะแนนนิยมเป็นกอบเป็นกำแน่

คนที่ใช้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคที่ว่านี้มีทั่วทั้งประเทศราว 45 ล้านคน จ่ายแค่ 30 บาท แม้จะโดนค่อนแคะว่ายังเป็นไปตามมีตามเกิด ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขกันไปให้เป็นที่โดนใจประชาชนไทย 45 ล้านคนผู้ใช้บริการให้มากขึ้น

ที่น่าเห็นใจที่สุดผมว่าคงเป็นคนราว 10 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือที่เรียกว่าผู้ป่วยประกันตนนะครับ โดนหักเงินเดือนตอนสิ้นเดือนทุกงวด หนีไม่ออก เดือนละราว 750 บาท แต่ด้อยสิทธิกว่าบัตรทอง 30 บาทไปซะแทบทุกอย่าง

เอาง่ายๆว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อหัวของคนที่โดนหัก 750 บาททุกเดือนจำนวน10ล้านคนนี้ ประกันสังคมตีให้ต่อหัวเพียง2,100บาท ขณะที่บัตรทอง30บาท ไม่ต้่องโดนหักรายเดือน จ่ายแค่30บาท แต่ได้รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากถึง2,400บาทต่อหัว

ครับ ฟังไม่ผิดหรอก คนที่โดนหักเงินทุกเดือน ได้ค่ารักษาน้อยกว่าคนที่รักษาฟรี(ก็แทบจะฟรีนะเพราะจ่ายครั้งละ30บาท)

เอาหละหากโดนหักทุกเดือน แล้วได้ค่ารักษาพยาบาลต่อหัวต่อคนต่อปีน้อยกว่า แต่หากได้รับการดูแลรักษาพยาบาลดีกว่าก็คงจะไม่เป็นไร แต่มีรายงานวิจัยว่าแย่กว่านี่สิครับ...



ผลวิจัยพบบัตรทอง30บาทดีกว่าจ่ายปนระกันสังคมเดือนละ750บาท

เมื่อไวๆนี้เอง นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และนักวิจัยเรื่องความแตกต่างสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพระหว่างระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เปิดเผยผลวิจัยว่า หลักประกันสุขภาพทั้งสองระบบของไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ โดยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองที่บริหารโดยสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีสิทธิประโยชน์ดีกว่าระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทั้งเงื่อนไขการคุ้มครองที่สะดวกต่อผู้รับบริการมากกว่า มีสิทธิประโยชน์มากกว่า และมีการบริหารจัดการเฉพาะเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพดีกว่า

จึงเกิดคำถามว่าทำไมผู้ประกันตนที่มีอยู่ในเวลานี้เกือบ 10 ล้านคนในปัจจุบันต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่กลับได้สิทธิประโยชน์ด้อยกว่ากลุ่มคนที่ไม่ต้องจ่ายเงิน

นพ.พงศธร เปิดเผยผลวิจัยว่า งานวิจัยนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 18 เดือน มีเนื้อหา 4 ด้าน คือ

1.สิทธิประโยชน์

2.การบริหารจัดการ

3.กรณีศึกษา

และ 4.ผลการรักษาทั้งสองระบบแตกต่างกันอย่างไร

ขณะนี้มี ข้อมูลเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทั้งสองระบบ พบว่าแตกต่างกันหลายรายการ เช่น

-กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประกันสังคมให้สิทธิไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี บัตรทองไม่จำกัดจำนวนครั้ง

-กรณีโรคไตวายเฉียบพลัน ประกันสังคมคุ้มครองไม่เกิน 60 วัน บัตรทองคุ้มครองไม่จำกัดเวลา

-กรณีรักษาตัวแบบพักฟื้นและบริการหลังผู้ป่วยกลับบ้าน ประกันสังคมไม่คุ้มครอง บัตรทองคุ้มครอง

-กรณีทันตกรรม ประกันสังคมไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี บัตรทองไม่จำกัดจำนวนครั้ง

-และยังมีอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดโรคที่แตกต่างกัน ประกันสังคมมี 81 รายการ บัตรทองมี 207 รายการ

-กรณีการบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย โรคที่เกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคหืด วัณโรค เบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นต้น สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ระบบประกันสังคมไม่มีการจัดการเฉพาะ ในขณะที่บัตรทองมีการจัดการเฉพาะ

-สำหรับกรณีผ่าตัดสมองเป็นรายการเดียวที่ประกันสังคมมี แต่บัตรทองไม่มี

-นอกจากนี้ กรณีเจ็บป่วย ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิคุ้มครองรักษา แต่บัตรทองได้รับสิทธิทันทีที่ลงทะเบียน

นพ.พงศธรกล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2533 ช่วงนั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุม จึงถือว่าประกันสังคมเป็นนวัตกรรมสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ก้าวหน้าของสังคม แต่เมื่อประเทศไทยมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ 2545 ที่ดูแลคนไทย ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เวลานี้กฎหมายประกันสังคมจึงล้าหลัง และถึงเวลาแล้วต้องยกเครื่อง

โดยขอเรียกร้องให้ผู้ประกันตนทั้งเกือบ 10 ล้านคนช่วยกัน แสดงความคิดเห็นว่า ต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมอย่างไรให้มีสิทธิประโยชน์ดีขึ้น เช่น การรักษาพยาบาลโรคต่างๆ และสิทธิประโยชน์ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตระยะยาว



โรงพยาบาลได้ทีขอขึ้นค่ารักษาต่อหัวมากกว่าบัตรทอง

ไม่รู้ว่าเพราะมีผลวิจัยออกมาแบบนี้หรือเปล่า ทำให้ไปเข้าทางหมอซะได้ เพราะตอนนี้แพทย์และสถานพยาบาลออกมาเคลื่้อนไหวขอเพิ่มค่ารักษาพยาบาลต่อหัว จากเดิมหัวละ2,108บาท เพิ่มเป็น2,526บาท อ้างว่าอัตราเดิมโรงพยาบาลเจ๊ง( แต่ไม่ได้บอกนะว่าหากได้เพิ่มแล้ว บริการจะดีขึ้นไหม...?)

โดย ศ.นพ.เหลือพร ปุณณกันต์ กรรมการการแพทย์ของประกันสังคม และอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สปส. มีงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนถอนตัวออกจากระบบประกันสังคมถึง 13 แห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้

เนื่องจากอัตราที่ สปส. จ่ายให้แก่สถานพยาบาลหัวละ 2,108 บาทต่อปีได้ไม่เพียงพอ ทำให้ประสบภาวะขาดทุน จึงได้ถอนตัว

ในปี 2553 มีผู้ประกันตนกว่า 9.6 ล้านคน และมีค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในอยู่ที่ 10,065 ล้านบาท และผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 16,320 ล้านบาท โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเข้าร่วมประกันสังคม 242 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงพยาบาลได้กำไร 163 แห่ง ขาดทุน 79 แห่ง

ผลการศึกษาพบว่า ปีหน้า 2555 จะมีผู้ประกันตนเพิ่มเป็น 10.4 ล้านคน ทางสถานพยาบาลจึงจะเสนอให้ สปส. ปรับอัตราเหมาจ่ายรายหัวค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลในระบบประกันสังคมจากเดิมหัวละ 2,108 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 2,526 บาทต่อปี ซึ่งต้นทุนค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 23% รวมทั้งปรับระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลจากเดิมจ่ายอัตราเดียวกันหมดตามสิทธิประโยชน์ที่กำหนดไว้ไปเป็นจ่ายตามกลุ่มโรคร่วมและตามมาตรฐานการให้บริการของโรงพยาบาล 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยรัฐ โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ และโรงพยาบาลเอกชนเพื่อช่วยลดภาวะขาดทุนของโรงพยาบาล ทั้งนี้ เรื่องนี้จะประชาพิจารณ์โรงพยาบาลรัฐและเอกชนแล้วนำผลประชาพิจารณ์เสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส. จากนั้นเสนอบอร์ด สปส. ต่อไป ศ.นพ.เหลือพรกล่าว



เก็บจากผู้ประกันตนกว่า10ล้านคนทุกเดือนขัดรธน.

ก่อนหน้านี้นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยภายหลังการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน อาทิ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาองค์การนายจ้าง และชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน มาชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีการร้องเรียนว่าการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อนำไปเป็นค่ารักษาพยาบาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า กฎหมายประกันสังคมในส่วนของการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนไปเป็นค่าดูแลสุขภาพ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 30

โดยมาตรา 30 ระบุถึงการได้รับความเสมอภาคทางด้านสุขภาพของบุคคล เพราะในขณะที่สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. เก็บเงินส่วนหนึ่งของผู้ประกันตนไปเป็นค่ารักษาพยาบาล แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ดูแลสุขภาพคนทั้งประเทศในมาตรฐานเดียวกันโดยไม่ต้องจ่าย



บัตรทองมั่นใจดีกว่าประกันสังคม

การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาสรุปดังกล่าวข้างต้นทำให้มีการตอบโต้ครับว่า ประกันสังคมดีกว่าบัตรทอง แต่ดูเหมือนหมอที่ดูแลรับผิดชอบบัตรทองจะออกมายันว่า บัตรทองดีกว่า...

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 30 บาท เป็นระบบที่มีการวางการบริหารจัดการผู้ป่วย ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถดูแลผู้ป่วย 45 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ยังเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีทั้งที่ผู้ขึ้นทะเบียนในสิทธิใน รพ. โรงเรียนแพทย์ เช่นเดียวกับ สปส. ไม่ได้มีแต่เฉพาะในคลินิกชุมชนเท่านั้น

นอกจากนี้ เลขาธิการ สปสช.ยังกล่าวยืนยันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการจัดการที่ดีและเหมาะสม เพราะได้มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบเรามีหมอทำงานกว่า 50 คน ทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุขในวิชาชีพต่างๆ ทำให้เข้าใจปัญหาระบบได้ดี ต่างจากบางระบบที่มีหมอทำงานเพียงคนเดียว ส่วนที่เหลือเป็นคนภายนอกที่ไม่เข้าใจ จึงทำให้ระบบเกิดปัญหาการจัดการ

มุมมองของคนใช้บริการประกันสังคม โดนบังคับจ่ายแต่ได้รับการรักษาแย่ ชวนกันเลิกจ่าย
ก็นี่แหละครับเลยมีความเคลื่อนไหวจากประชาชนผู้บริโภค โดยช่วงวันแรงงานของปีนี้คุณสารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า เดินทางมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยื่นหนังสือผ่านนายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในฐานะตัวแทน รัฐมนตรีว่าการ สธ.

เพื่อเรียกร้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการให้บริการแก่ผู้ประกันตน ตามมาตรา 5 ที่กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันในมาตรา 10 ยังให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และเสนอรัฐบาล เพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มการให้บริการแก่ผู้ประกันตน

คุณสารี ยังกล่าวว่า โดยกฎหมายยังได้กำหนดในมาตรา 66 ให้ตราพระราชกฤษฎีกาภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับคือ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ทั้ง สปสช. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสาธารณะ เพื่อทราบ แต่ในความเป็นจริงเวลาล่วงเลยมากว่า 8 ปี กลับไม่มีการดำเนินการใดจากทั้ง 2 หน่วยงาน

ทั้งนี้ หากพบว่าทางกระทรวงฯ และ สปสช. รวมทั้ง สปส.ยังเพิกเฉย ไม่มีการแก้ไข และยังเก็บเงินสมทบกับผู้ประกันตน ก็จะเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และยังจะเดินหน้าฟ้องศาลแรงงาน เรียกร้องให้ สปส.คืนเงินกับผู้ประกันตน หลังจากวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 ด้วย



ทางออกของผู้ป่วยประกันสังคม หากทำดีกว่าบัตรทองไม่ได้ก็ยุบรวมซะ

เรื่องนี้ผมว่ามีทางออกง่ายๆเพียงแค่ใช้สามัญสำนึกนี่แหละครับคือ ผู้ป่วยประกันสังคมต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีกว่าคนป่วยบัตรทอง(แต่ไม่ได้หมายความว่าบัตรทองจะปล่้อยไปตามมีตามเกิด ทำให้ดีๆขึ้นเถิด แล้วให้ประกันสังคมทำให้ดีกว่าอีกหน่อย เพราะโดนบังคับหักเงินสมทบทุกเดือน)

อันไหนที่เป็นจุดด้อยกว่าตามที่มีผลวิจัยออกมาแล้วก็แก้ซะโดยไว แต่การแก้ให้ดีขึ้นนั้นมีเงื่อนไขสำคัญว่า อย่าผลักภาระมาให้ผู้ประกันตน เช่น เก็บเงินเพิ่ม เพราะคงไม่มีใครยอมแน่

หนทางหนึ่งที่ผมอยากเสนอก็คือ อยากให้มีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เน้นรับดูแลรักษาเฉพาะผู้ป่วยประกันตน หรือเรียกว่าโรงพยบาลประกันสังคมขึ้นมาโดยเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนมากกว่า สถานพยาบาลจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมนั้น ได้แยกแผนกประกันสังคมออกไปเฉพาะ แล้วให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานปกติของสถานบาลนั้นๆเป็นอย่างมาก จนทำให้คนป่้วยประกันสังคมเป็นพลเมืองชั้นสอง หรือชั้นสาม(เพราะแย่กว่าผู้ป่วยที่มีเงินรักษาเอง หรือเบิกราชการ เบิกประกันเอกชนได้ แถมยังแย่กว่าบัตรทองอีก)

หากมีโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลผู้ประกันตนที่ดีมีมาตรฐานให้การรักษาพยาบาลได้ไม่แพ้โรงพยาบาลเอกชน หรือที่ดูแลสวัสดิการราชการ หรือประกันเอกชนได้ ผมเชื่อแน่ว่าจะเป็นที่ยอมรับของผู้ประกันตนได้ แม้ต้องจ่ายรายเดือนเพิ่มอีกนิดๆหน่อยๆก็คงมีแต่คนแห่เข้า แทนที่จะสาปส่งแห่ออกอย่างในเวลานี้่

ผมว่าปฏิรูปใหญ่ซักยกนะครับเรื่องนี้ คน 10 ล้านคนโดนมัดมือชกกันทุกสิ้นเดือน โดนบริการแย่ๆมาต่อเนื่อง 20 ปี แถมมาแย่กว่าบัตรทอง 30 บาทให้เจ็บช้ำน้ำใจกันอีก ทนได้ก็ทนไป ทนไม่ได้ก็ต้องทน หลังๆทนไม่ไหวเขามีปากก็ต้องโวยกันมั่ง จะไม่ดูดายกันเลยหรือไรก็ใจจืดไปหน่อยแล้ว ลองผ่าตัดใหญ่ให้ดีขึ้นซักที

แต่หากเก็บเงินคนตั้ง10ล้านคนมาแล้ว ก็ปล่อยไว้สภาพนี้ ยังมีสภาพไม่ต่างจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่พยายามแก้ไขอะไรให้ดีขึ้น ก็เลิกเถอะครับ ปลดปล่อย10ล้านคนออกจากโซ่ตรวนที่ผูกมัดนี้ไปใช้บัตรทองจะเวิร์กกว่า

......................

(หมายเหตุ : 'ปลดแอกผู้ป่วยประกันสังคม 10ล้านคนดีกว่า หากยังชุ่ยกว่าบัตรทอง' โดย 'นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ' อดีตประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร)







Create Date : 03 ตุลาคม 2554
Last Update : 13 กันยายน 2560 13:27:27 น. 3 comments
Counter : 917 Pageviews.  

 


ลองอ่านดูนะครับ ... อย่างน้อย ก็ได้ัรับรู้ถึงระบบสุขภาพบ้านเรา ที่มีปัญหาอยู่

แต่ก็อย่าพึ่งเชื่อตามข่าวไปทั้งหมด ...

ด้านที่ดี ก็ประกันสังคม ก็มี ...

ด้านที่ไม่ดี ของ บัตรสุขภาพ (บัตรทอง) ก็มี เช่นกัน ...

แม้กระทั่งระบบสวัสดิการ ราชการ ก็มีปัญหา มีข้อเสีย ...



ที่ผม ไม่เห็นด้้วยอย่างยิ่ง ก็คือ " โรงพยาบาล สำหรับ ประกันสังคม " ... มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะ ที่เป็นรพ.เฉพาะสิทธิ์ นอกจากซ้ำซ้อน ยุ่งยากให้การบริหารจัดการ ฯลฯ ก็ยังไม่ได้รับรองว่า ประสิทธิภาพ คุณภาพ จะดีกว่า อีกด้วย

ไหน ๆ จะอ้างงานวิจัยแล้ว .. คุณหมอเปรมศักดิ์ ก็น่าจะลองหาข้อมูล หางานวิจัยเรื่องนี้ มาอ่านเล่น ๆ ได้ไม่ยากนัก ..

อ้อ .. เรื่องนี้ คุยกันตั้งแต่ตอนเริ่มก่อตั้งโครงการประกันสังคม เลยนะครับ นานมากแล้ว ยังจะกลับไปคิดแบบนั้นอีกหรือครับ ???




โดย: หมอหมู วันที่: 3 ตุลาคม 2554 เวลา:1:26:25 น.  

 


สำหรับท่านที่ใช้สิทธิประกันสังคม .. แนะนำให้อ่านกระทู้นี้ครับ .. คุณ นักอ่านตัวยง เขียนไว้ ละเอียดดีมาก ๆ ครับ

นำลงบางส่วนให้อ่านกันเล่น ๆ ก่อน ...



****** เคล็ดลับในการใช้ประกันสังคมให้คุ้ม!!!! ******

//topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2009/07/L8067388/L8067388.html


ผมมีความเชื่อว่า หลาย ๆ คนในบอร์ดนี้อยู่ในระบบประกันสังคมครับ ซึ่งแต่ละเดือนนั้น จะต้องถูกหัก 5% ของรายได้ (ไม่เกิน 15,000 บาท) พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาท ขึ้นไป ก็จะถูกหักเดือนละ 750 บาทครับ หรือปีละ 9,000 บาท แม้ว่าขณะนี้จะมีการปรับลดเงินสมทบลงเหลือ 3% ตั้งแต่เดือน ก.ค. - ธ.ค. 52 แต่ 3% = 450 บาทต่อเดือน หรือปีละ 5,400 บาท

ซึ่งวงเงิน 5,400 บาท หรือ 9,000 บาทต่อปี นั้นเป็นเงินที่สูงมาก ๆ ครับ ซึ่งเราไปซื้อประกันจากบริษัทประกันต่าง ๆ ได้เลยครับ หลาย ๆ คนที่เคยใช้ประกันสังคม มักจะบ่น ๆ ๆ ๆ ว่าบริการไม่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ผมมีเคล็ดลับในการใช้ประกันสังคม ในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการรักษาพยาบาล และดูแลรักษาสุขภาพ ดังนี้ครับ

เรา รู้หรือเปล่าครับ เวลาที่เราเลือกโรงพยาบาลประกันสังคม ตามบัตรรับรองสิทธินั้น โรงพยาบาลที่เราเลือกจะได้รับเงินเหมารายหัวจากประกันสังคม หัวละ 1,938 บาทต่อปีครับ

ดังนั้นถ้าเราเลือกโรงพยาบาลเอกชน ที่มุ่งแสวงหากำไร เพราะเป็นธุรกิจนั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่มารักษาเลยในปีนั้น หรือมีจิตใจที่มุ่งมั่นว่าจะไม่ใช้ประกันสังคมเด็ดขาดนั้น จะเท่ากับว่าโรงพยาบาลนั้นจะได้รับเงินกินเปล่า 1,938 บาท ต่อปีทันทีครับ แต่ถ้าเกิดเราไปใช้นั่นก็หมายความว่า ถ้าค่ารักษาพยาบาลที่เรามารักษามีมูลค่ามากกว่า 1,938 บาท ก็เท่ากับว่าโรงพยาบาลขาดทุนทันทีใช่ไหมครับ

*** หลาย ๆ คน ที่มีจิตใจมุ่งมั่น แน่วแน่วว่ายังไงก็ไม่เข้ารับรักษาตามสิทธิประกันสังคมแน่ ๆ ผมก็ขอแนะนำให้เลือกโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เป็น "โรงพยาบาลของรัฐ" ครับ เพื่อให้เงินทองของเราตกไปสู่โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งจะได้นำเงินนี้ไปรักษาคนที่เขาขาดแคลนครับผม ถือว่าเป็นการทำบุญทางอ้อม ซึ่งเราช่วยได้ง่าย ๆ เลยครับ ***

ดังนั้นบางโรงพยาบาลก็ต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่าย กับคนไข้ประกันสังคมอย่างใกล้ชิดครับ เพื่อให้โรงพยาบาลยังคงผลกำไรอยู่ได้ เช่น
- การจ่ายยาที่มีราคาไม่แพงนัก
- ให้พบแพทย์ทั่วไป (General Physician: GP) จนคิดว่าไม่ไหวจริง ๆ จึงค่อยส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทาง
- ที่สำคัญที่สุด กรณีเราเจ็บป่วยหนัก ๆ ที่ต้องมีการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทาง เช่น หัวใจ ปอด ตับ ลำไส้ ฯลฯ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่เราเลือกเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ไม่มีเครื่องมือเพียงพอ หรือไม่มีแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ เขาก็อาจจะดิ้นรนรักษา โดยไม่ยอมส่งต่อครับ เพราะสมมติว่าเขาส่งต่อโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์ ศิริราชพยาบาล หรือรามาธิบดี โรงพยาบาลเอกชนตามบัตรรับรองสิทธิ จะต้องตามไปชำระค่ารักษาพยาบาลให้เราครับ

คิดแบบเข้าใจนะครับ (แต่อย่าเหมารวมทุก ๆ โรงพยาบาลนะครับ) เขาคงไม่ทำอะไรที่ทำให้เขา "ขาดทุน" อยู่แล้วใช่ไหมครับ หรือถ้าจะยอมก็ต้องคิดว่า "ไม่ไหวจริง ๆ" ซึ่งบางครั้งเวลาส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ คุณหมอก็มักจะบอกว่า "น่าจะมาให้เร็วกว่านี้" นี่คือปัญหา


โดย: หมอหมู วันที่: 3 ตุลาคม 2554 เวลา:1:27:26 น.  

 

‘สุรเดช’ ยันค่าเหมาจ่ายรายหัวผู้ประกันตนอยู่ในอัตราสูง ไม่น้อยกว่ากองทุนอื่น
Fri, 2017-09-22 14:20 -- hfocus

สำนักงานประกันสังคม เผยมติบอร์ดปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์ เน้นความเท่าเทียมในการดูแลผู้ประกันตนใช้สิทธิโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ระบุเป็นอัตราที่สูงและเมื่อเทียบกันแล้วไม่น้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ ด้าน สปสช.ยืนยัน รพ.รัฐและเอกชน ใช้มาตรฐานและอัตราการจ่ายเดียวกัน

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีข้อเรียกร้องของโรงพยาบาลเอกชนในการเข้าร่วมนโยบายด้านสุขภาพของรัฐ ว่า สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดให้สถานพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนดูแลผู้ประกันตนที่เลือกสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ตั้งแต่การให้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดูแลรักษาพยาบาลในระยะเริ่มแรกของการเจ็บป่วยจนสิ้นสุดการรักษา ตลอดจนต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งมติของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ได้ปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญา

1. ค่าเหมาจ่ายรายหัว 1,500 บาท/คน/ปี

2. ค่าภาระเสี่ยงสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็น 447 บาท/คน/ปี

3. ค่ารักษาผู้ป่วยในสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงฯ 640 บาท/คน/ปี

4. ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกิน 1 ล้านบาท 15 บาท/คน/ปี ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560

โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในอัตราที่เท่ากันและเสมอภาคกัน

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ทั้งนี้ หากรวมค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เท่ากับ 2,602 บาทต่อราย นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมยังได้มีการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตามสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์อื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทั้งในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิหรือสถานพยาบาลอื่นๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละสิทธิประโยชน์ที่มีการจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาล เช่น

ค่ารักษาพยาบาลที่เป็นค่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่าอุปกรณ์สำหรับการบำบัดรักษาโรคค่าปลูกถ่ายอวัยวะ ค่าบำบัดทดแทนไต ค่ายาสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ค่ายาราคาสูงสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ค่าส่งเสริมสุขภาพเป็นการตรวจร่างกายประจำปี กรณีประสบอันตราย/ฉุกเฉิน ค่าบริการทันตกรรม คิดเป็นอัตราค่าบริการทางการแพทย์ทั้งสิ้น 797.69 บาทต่อราย ซึ่งเมื่อรวมค่าบริการทางการแพทย์ที่สำนักงานประกันสังคม จ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ และสถานพยาบาลอื่นๆสำหรับการบริการแก่ผู้ประกันตนแล้ว มียอดรวมทั้งสิ้น 3,399.69 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงและเมื่อเทียบกันแล้วไม่น้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของ รพ.เอกชนที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า สปสช.เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาก็ทำงานด้วยดีมาโดยตลอด โดย รพ.เอกชนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและได้บริการที่มีคุณภาพ หากมีปัญหาอะไรก็ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ รพ.เอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุดต่อไป

“สปสช.ขอยืนยันว่า โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนใช้มาตรฐานเดียวกันและอัตราการจ่ายเงินเดียวกัน อย่างไรก็ตามทราบว่า รพ.เอกชนหลายแห่งได้มีการลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของตัวเองให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งดี และอาจจะมีผลต่อต้นทุน ทาง สปสช.ก็จะได้เชิญทาง รพ.เอกชนมาหารือต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

https://www.hfocus.org/content/2017/09/14599


โดย: หมอหมู วันที่: 26 กันยายน 2560 เวลา:15:48:46 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]