Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac (ข่าว และ ความเห็นทางการแพทย์)

ศาลฎีกา พิพากษากลับ สั่ง หมอ-รพ.เเพทย์รังสิต ชดใช้ครอบครัวคนไข้ปวดขาถูกเเพทย์ฉีดยาเเต่เเพ้จนตายเมื่อปี 2560 กว่า 1.5 ล้านพร้อมดอกเบี้ย
15 ก.ย. 2565 - 15:28 น.
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7267379

วันที่ 15 ก.ย.2565 ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ ผบ.78/2561 ที่ นางอำพร กระตุดนาค, นายชาตรี ศรีชนะ, ด.ช.ภาคิณ ศรีชนะ เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม, บริษัทปทุมรักษ์ จํากัด, แพทย์ผู้ทำการรักษา เป็นจำเลย 1-3 ในความผิดฐานละเมิด

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1-3 ป็นมารดา สามี และบุตร ของ น.ส.วนิดา ทองเวียน ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้จัดหาสถานพยาบาลให้ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมใช้บริการ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ประกอบธุรกิจให้บริการสถานพยาบาลชื่อโรงพยาบาลแพทย์รังสิต และ ให้บริการผู้ใช้สิทธิประกันสังคมภายใต้การควบคุมคุณภาพของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ผู้ตายใช้สิทธิประกันสังคมรักษาโรคหอบหืดซึ่งเป็นโรคประจำตัวและอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2560 ผู้ตายเข้ารับการรักษากับจำเลยที่ ด้วยอาการปวดขา จำเลยที่ 3 วินิจฉัยว่าเป็นโรคเส้นเอ็นอักเสบ จึงสั่งยาฉีดไดโคลฟีแนค ฉีดให้แก่ผู้ตาย พร้อมทั้งให้ยานอร์จีสิก, บรูเฟน และทรามอล ไปรับประทาน ผู้ตายได้รับการฉีดยาเวลา 18.16 น.แล้วรับยาอื่นและออกจากโรงพยาบาลเวลา 18.30 น. เมื่อกลับถึงบ้านยังไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และยังไม่ได้รับประทานยา ผู้ตายมีอาการขาอ่อนแรง หายใจไม่ออก และแน่นหน้าอกแล้วหมดสติไป

พี่สาวผู้ตายนำผู้ตายส่งโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ที่อยู่ใกล้บ้านเมื่อเวลา 19.30 น. ผู้ตายความดันโลหิตตก โคม่า ไม่หายใจ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ สมองเสียหาย ม่านตาสองข้างขยาย ไม่ตอบสนองต่อแสง ต่อมาถูกนำส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิตและเข้ารักษาในห้องไอซียูโดยใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ผลการเอกซเรย์สมองเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2560 พบว่าสมองบวม ก้านสมองตาย และเสียชีวิตในวันที่ 12 ส.ค.2560

การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการรักษาโรคด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นแพทย์ผู้รักษาโรคจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้น แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย กล่าวคือ จำเลยที่ 3 สั่งฉีดยาไดโคลฟีแนคซึ่งเป็นยาที่ไม่ควรใช้ในคนไข้โรคหอบหืดให้แก่ผู้ตาย ที่มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด และไม่ได้สั่งให้เฝ้าดูอาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดยา เช่น อาการแพ้ยา หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก ความดันโลหิตตก

ซึ่งปกติต้องเฝ้าดูผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 15 นาที และให้ผู้ป่วยนั่งคอยอีก 15 นาที จึงให้กลับออกจากโรงพยาบาล เป็นเหตุให้ผู้ตายแพ้ยารุนแรง หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก จนเสียชีวิต จำเลยที่ 3 จึงกระทำละเมิดและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสาม โดย จำเลยที่ 1, 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายเป็นลูกจ้างบริษัทฝาจีบ จำกัด มีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท ผู้ตายอายุ 27 ปี มีโอกาสทำงานอีก 33 ปี คิดเป็นเงิน 5,940,000 บาท

ผู้ตายเคยให้เงินแก่โจทก์ที่ 1 ตามหน้าที่บุตรเดือนละ 8 พันบาท โจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 33 ปี คิดเป็นเงิน 3,168,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นสามี และโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของผู้ตายต้อง ขาดไร้อุปการะ เฉลี่ยคนละวันละ 300 บาท เป็นเงินเดือนละ 9 พันบาท จนถึงโจทก์ที่ 2 มีอายุ 60 ปี เป็นเวลา 34 ปี คิดเป็นเงิน 3,672,000 บาท และจนโจทก์ที่ 3 บรรลุนิติภาวะเป็นเวลา 20 ปี คิดเป็นเงิน 2,160,000 บาท ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นในการจัดพิธีศพผู้ตาย 2 เเสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,140,000 บาท

ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้ง 3 ยื่นขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต โดยศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์เเผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้ง 3 ยื่นฎีกา ศาลฎีกาเเผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา วันนี้โจทก์ทั้ง 3 ผู้รับมอบอำนาจจำเลยมาศาลพร้อมทนายความ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นสรุปว่า ทางนำสืบของจำเลยที่ 2-3 ไม่ปรากฏว่า นอกจากยากลุ่มเอ็นเสดแล้ว ไม่มียาอื่นที่จะนำมาใช้รักษาอาการปวดของผู้ตายได้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับว่าอาการปวดของผู้ตายไม่มากถึงขนาดจำเป็นต้องฉีดยา จำเลยที่ 3 จึงสมควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ตายโดยหลีกเลี่ยงการให้ยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หากจำเป็นต้องให้ยาดังกล่าวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ควรต้องให้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

แต่ได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่า ผู้ตายไม่ได้มีอาการปวดรุนแรง จึงไม่ได้ติดตามอาการหลังฉีดยา แสดงว่าจำเลยที่ 3 สั่งยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อให้แก่ผู้ตาย โดยไม่ได้สั่งให้มีการเฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์หลังฉีดยา ที่พยานจำเลยซึ่งเป็นพยาบาลผู้ฉีดยาให้แก่ผู้ตายเบิกความว่า หลังจาก ฉีดยาเสร็จพยานให้ผู้ตายนอนพักที่เตียงเพื่อสังเกตอาการประมาณ 10 นาที จากนั้น ได้สอบถามอาการจากผู้ตายทราบว่าอาการดีขึ้นและผู้ตายได้เดินออกไปรับยาที่ห้องจ่ายยานั้น

ปรากฏจากสำเนาบทความตอบปัญหาเรื่องยาโดยเภสัชกรหน่วยคลังข้อมูลยาว่า การฉีดยาไดโคลฟีแนคเข้ากล้ามเนื้อยาจะออกฤทธิ์ภายใน 10-22 นาที สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ยาที่ฉีดให้ผู้ตายจะออกฤทธิ์ ประมาณ 10-30 นาที ดังนี้ แม้จะฟังว่าพยาบาลผู้ฉีดยาได้เฝ้าระวังอาการหลังฉีดยาของผู้ตายจริงก็เป็นการใช้เวลาในการเฝ้าระวังไม่เพียงพอต่อการประเมินอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการฉีดยา

พยานหลักฐานจำเลยที่ 2-3 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 3 ให้การรักษาผู้ตายซึ่งมีอาการหอบหืดด้วยยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และไม่ได้สั่งให้เฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นหลังฉีดยาเป็นการให้การรักษาที่ เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า หลังผู้ตายเสียชีวิต จำเลยที่ 3 ได้ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังแพทยสภาแล้ว แต่ไม่เคยถูกเรียกไปสอบสวน และไม่เคยถูกลงโทษนั้น

เห็นว่าเเม้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภาฯตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวช กรรม ชุดที่ 7 ซึ่งเห็นสอดคล้องกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยที่มีความเห็นว่า จำเลยที่ 3 ให้การรักษาผู้ตายด้วยยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นยาเดิมที่ผู้ตายเคยได้รับ และเฝ้าสังเกตอาการเบื้องต้นไม่มีภาวะแทรกซ้อนจึงให้กลับบ้าน เป็นการให้การรักษาถูกต้องเหมาะสมตามภาวะวิสัย และพฤติการณ์ในขณะนั้นแล้ว แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้มติของคณะกรรมการแพทยสภามีผลผูกพันศาลในการวินิจฉัยคดี มติของคณะกรรมการแพทยสภาเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง

หากมติดังกล่าวได้มีการพิจารณากันอย่าง รอบด้านจากข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและมีมติตามความเห็นที่สมเหตุสมผลย่อมเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟังประกอบการวินิจฉัย แต่มติของคณะกรรมการแพทยสภาที่ส่งมายังศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่มีรายละเอียดพอที่จะพิจารณาว่าเป็นไปดังที่ได้กล่าวมาหรือไม่ เพียงใด จึงไม่มีน้ำหนักให้นำมารับฟัง

เมื่อจำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าการให้การรักษาผู้ตายของจำเลยที่ 3 เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการละเมิดต่อผู้ตาย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย

ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า สั่งให้ฉีดยาไดโคลฟีแนค แก่ผู้ตายเพราะผู้ตายยืนยันให้ฉีดยานั้นเห็นว่า ผู้ป่วยทั่วไปรวมทั้งผู้ตายซึ่งไม่มีความรู้ ทางการแพทย์ย่อมไม่อาจทราบถึงอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการใช้ยา การจะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดและวิธีการอย่างไรย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษาที่ต้องคำนึง ถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ หาจำต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วยเสมอไปไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกเหตุที่สั่งฉีดยาตามคำยืนยันของผู้ตายมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้

ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต การที่จำเลยที่ 3 มานั่ง ตรวจรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิตแม้จะมาเป็นครั้งคราวและได้รับค่าจ้างจาก จำเลยที่ 2เป็นรายชั่วโมง แต่เป็นการตรวจรักษาผู้ป่วยในนามของโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตรวจรักษาผู้ตาย จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทน ของตนได้กระทำไปในการตรวจรักษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427ประกอบมาตรา 425 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับ จำเลยที่ 2, 3 นั้น

ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นพิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และ 3 ร่วมกันชำระค่าปลงศพ 5 หมื่นบาท แก่โจทก์ทั้ง 3 ค่าขาดไร้อุปการะ 5 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 1 ค่าขาดไร้อุปการะ 3เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 2 และค่าขาดไร้อุปการะ 7 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 ม.ค.61) ถึงวันที่ 10 เม.ย.64 และอัตรา ร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย.64 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

นางอำพร กระตุดนาค กล่าวทั้งน้ำตาและขอบคุณศาลฎีกาว่า ได้เมตตาและมีคำพิพากษากลับให้ตนชนะคดี ตนได้พยายามขอความช่วยเหลือทั้งจากสภาทนายความ หน่วยงานของรัฐมาโดยตลอดหลายปี ตนเหนื่อย ท้อแท้และยากลำบากอย่างมากในการต่อสู้คดีแพทย์ มีกำลังใจต่อสู้มาตลอดก็เพราะเป็นห่วงอนาคตหลาน ตนก็ทำงานหาเช้ากินค่ำไปวัน ๆ และมาเจอในสถานการณ์โรคระบาดอีก ขอบคุณศาลฎีกาจริง ๆ

ด้าน นายภิญโญภัทร์ ชิดตะวัน ทนายความ กล่าวว่า ต้องขอบคุณศาลฎีกาที่เมตตาเช่นกัน และศาลฎีกาได้วางหลักสำคัญไว้หลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องการฉีดยารักษาย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ เป็นการจบข้อถกเถียงเพราะศาลฎีกาตัดสินแล้ว และได้เป็นแนวทางการวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในยุคที่ประชาชนต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคต่า งๆ และแพทย์จะได้กรุณาระวังมากยิ่งขึ้นด้วย

นายภิญโญภัทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนความยากลำบากของการต่อสู้คดีแพทย์นั้น ตนเห็นว่าเป็นปัญหาที่มีมานาน ตนเห็นใจทุกฝ่าย แต่เพราะความสูญเสีย เสียหาย หรือความพิการ จะตกอยู่กับฝ่ายผู้เสียหายทางแพทย์มาโดยตลอด กว่าจะได้เยียวยาก็เนิ่นนาน ตนเป็นทนายพยายามสู้จนอุทธรณ์ฎีกา สู้ตั้งแต่อุ้มลูกผู้ตายมาศาล จนลูกผู้ตายวิ่งได้แล้ว มันเป็นหน้าที่ และต้องขอบคุณทางประกันสังคมด้วยที่ได้เยียวยาเบื้องต้นโจทก์ในคดีนี้

......................................................

ต่อไปนี้ จะเป็น ความเห็น ทางการแพทยื ที่ "ผม" คัดลอกมาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาแง่มุมของกฎหมาย กับ แนวทางการทำงานของแพทย์ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง วิธีการทำงาน ให้เหมาะสมมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ..



อำนาจ กุสลานันท์
15 กันยายน

วันนี้ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ (จากที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นยกฟ้อง) ให้แพทย์และรพ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้ตาย 1.5 ลบ.พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่เกิดเหตุในปี 2560
เป็นกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac โดยฉีดเวลา 18.16 น.แล้วออกจากรพ.18.30 น.ต่อมาเกิด  anaphylactic shock ถูกนำส่งรพ.รักษาและในที่สุดเสียชีวิต
ในคำพิพากษาฎีกาให้เหตุผลที่สำคัญไว้ 3 ประการคือ
1.แพทย์ยอมรับว่าอาการปวดขาของผู้ป่วยไม่รุนแรง
2.ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด
3.ไม่เฝ้าดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด 15 นาทีแล้วให้นั่งคอยที่รพ.อีก 15 นาที

การต่อสู้คดีในศาลนั้นมีโอกาสที่จะแพ้หรือชนะโดยพลิกกลับไปมาได้เสมอ ยาทุกตัวมีโอกาสแพ้รุนแรงได้ทั้งสิ้นแม้รายนี้ได้เคยฉีดมาแล้วไม่แพ้ก็ตาม

ดังนั้นแพทย์จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรักษาให้มากยิ่งขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ โดย
1.ฉีด diclofenac เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
2.หลังฉีดต้องเฝ้าดูอาการผู้ป่วยอย่างน้อย 15 นาทีและให้อยู่ที่สถานพยาบาลอีกอย่างน้อย 15 นาทีรวมเป็นอย่างน้อย 30 นาที จึงจะให้กลับได้

ด้วยความรักและความห่วงใย
ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
อดีตนายกแพทยสภา
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02a7UvmM2jTAvLJKMKuyaci8unypdqBHRRJ5E6YYwD6A93t1yFnUGwMxUF9PtCp1Zvl&id=100027617971731

หลังจากได้อ่านคำพิพากษาฎีกาคดี diclofenac แล้ว
ผมมีคำแนะนำสำหรับเพื่อน ๆ เพิ่มเติมอีกครั้งดังนี้ครับ
1. หลังฉีดยาทุกชนิดต้อง observe อย่างน้อย 30 นาทีเสมอ ถ้าผู้ป่วยปฏิเสธต้องให้ลงนามไว้
2. เมื่อเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้นในการรักษาแล้วเสียชีวิตควรต้องทำ autopsy เสมอเพื่อพิสูจน์ว่าเสียชีวิตจากสาเหตุใด
3. ต้องมีการนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นกลางในสาขานั้น ๆ เสมอเพื่อให้เห็นว่าแพทย์ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพภายใต้ข้อจำกัดตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่มีอยู่ในขณะนั้นแล้วหรือไม่

ด้วยความรักและปรารถนาดี
ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid021jWEd2y9NNbndEL4rJKGCrJBsYBmGT53DqxeZqsbpfTY7zAvZTrroDQ8HiwX4d81l&id=100027617971731

..........................................

Chat-san Cvs
17 กันยายน

ฎีกานี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายเรื่อง

(1)
"ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า สั่งให้ฉีดยาไดโคลฟีแนค แก่ผู้ตายเพราะผู้ตายยืนยันให้ฉีดยานั้นเห็นว่า ผู้ป่วยทั่วไปรวมทั้งผู้ตายซึ่งไม่มีความรู้ ทางการแพทย์ย่อมไม่อาจทราบถึงอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการใช้ยา การจะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดและวิธีการอย่างไรย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษาที่ต้องคำนึง ถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ หาจำต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วยเสมอไปไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกเหตุที่สั่งฉีดยาตามคำยืนยันของผู้ตายมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้"

(1.1) ถ้าใครประกอบวิชาชีพแพทย์ แพทย์(เกือบ)ทุกคน จะต้องเจอ คนไข้หรือญาติ
"หมอ.. ขอฉีดยา" "ขอยาฉีดจะได้หายไว ยากินไม่ดี" "ไม่มีแฮง อยากได้ยาเพิ่มแรง" ฯลฯ
(1.2) ผู้ป่วยมักจะเรียกร้องนั่นนี่ เพื่อให้หมอทำตามความต้องการของคนไข้ .. ถ้าไม่ทำตาม ก็จะไม่กลับ บางคนก็จะขู่ฟ้องหมอ
(1.3) จะเห็นว่าศาลพิจารณาว่า "การรักษาด้วยยาชนิดใดและวิธีการอย่างไรย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษาที่ต้องคำนึง ถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ หาจำต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วยเสมอไปไม่"

น่าจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ได้ว่า ถ้าแพทย์ลงความเห็นว่าไม่ฉีด คนไข้ก็จะเรียกร้องไม่ได้ อ้างฎีกานี้ไป
เพราะฉะนั้น Dexa+linco 5DS+Vitamin Diclifenac/Tramadol IM ฯลฯ ที่คนไข้ชอบขอ
คราวนี้ แพทย์สามารถอ้างฎีกานี้ได้ในการไม่ทำตามคำขอ

(2)
"จากสำเนาบทความตอบปัญหาเรื่องยาโดยเภสัชกรหน่วยคลังข้อมูลยาว่า การฉีดยาไดโคลฟีแนคเข้ากล้ามเนื้อยาจะออกฤทธิ์ภายใน 10-22 นาที สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ยาที่ฉีดให้ผู้ตายจะออกฤทธิ์ ประมาณ 10-30 นาที ดังนี้ แม้จะฟังว่าพยาบาลผู้ฉีดยาได้เฝ้าระวังอาการหลังฉีดยาของผู้ตายจริงก็เป็นการใช้เวลาในการเฝ้าระวังไม่เพียงพอต่อการประเมินอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการฉีดยา"

(2.1) การเฝ้าระวังหลังการให้ยา จะไม่ควรใช้ตามการปฏิบัติของโรงพยาบาลนั้น ๆ แล้ว อย่าง รพ. นี้เฝ้าระวัง 10 นาที แล้วไปรับยา มันไม่เพียงพอในความเห็นศาล
(2.2) การเฝ้าระวังหลังการให้ยา ตามมาตรฐานศาลคือจะต้องเฝ้าระวัง จนครบ Onset / Duration ของยานั้น

... กลายเป็นว่าคนไข้ที่ได้ยา จะต้อง observe นานขึ้น ถ้าได้ยา long acting สิ่งที่ตามมาคือ ปลอดภัยมากขึ้น แลกกับคนไข้ล้นโรงพยาบาล D/C ไม่ได้
... ถ้าคนไข้รีบร้อนอยากกลับ ก็ห้ามกลับ ไม่งั้นต้องเซ็นปฏิเสธการรักษา ต้องอยู่ตามให้ครบตาม Pharmacokinetic ของยา

(3)
"ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นสรุปว่า ทางนำสืบของจำเลยที่ 2-3 ไม่ปรากฏว่า นอกจากยากลุ่มเอ็นเสดแล้ว ไม่มียาอื่นที่จะนำมาใช้รักษาอาการปวดของผู้ตายได้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับว่าอาการปวดของผู้ตายไม่มากถึงขนาดจำเป็นต้องฉีดยา จำเลยที่ 3 จึงสมควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ตายโดยหลีกเลี่ยงการให้ยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หากจำเป็นต้องให้ยาดังกล่าวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ควรต้องให้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ"

(3.1) คนไข้สิทธิ์การรักษาประกันสังคม หรือ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในตอนนี้ ไม่สามารถเบิก ยา NSAIDs กลุ่ม COX-2 inhibitors ได้ แม้ว่ายานี้จะ มี local made ราคาถูกแล้ว
(3.2) คนไข้ที่มีข้อห้ามในการใช้ NSAIDs เช่น Asthma, ประวัติ GI Ulcers ฯลฯ แต่ยังพอใช้ COX-2 inhibitors ได้ และไม่ได้ปวดถึงขั้น จะใช้ Weak opioid, Opioids อยากจะใช้ COX-2 inhibitors ก็ไม่ได้
จะให้แพทย์สั่งอะไร ในเมื่อบัญชียาไม่อนุญาต (ถ้าอนาคตอนุญาตแล้วขอขอบคุณผู้แก้ไข ด้วย)
(3.3) รวมยาฉีดแก้ปวด
-Paracetamol IV ... เบิกไม่ได้
-Diclofenac IM ... เบิกได้ แต่ห้ามใช้ Asthma
-Ketorolac IV ... เบิกไม่ได้(บาง รพ.) ห้ามใช้ Asthma
-Parecoxib IV ... เบิกไม่ได้
-Tramadol IM/IV ... เบิกได้ แต่ต้องระวังคลื่นไส้อาเจียน แก่หน่อยระวัง delirium หรือ ถ้ามีกินยาอื่นต้องระวัง serotonin syndrome
-Morphine/Pethidine/Fentanyl IV ... เบิกได้ แต่ยาฤทธิ์แรง อันตราย
-Nefopam IV ... เบิกไม่ได้
ฯลฯ

จะให้แพทย์ใช้อะไร ถ้าไม่มีให้ใช้ เพราะเบิกไม่ได้ สามารถบังคับให้คนไข้จ่ายเงินได้หรือไม่ อย่างไร 🤔

https://www.facebook.com/chatsans/posts/pfbid033mfmM6h8S5TzGyhBkDFoeeDWPxKEGaYRZtMLKa3J1V2F3idgvj1fbEBUDhxZguFGl

.......................................................................

Methee Wong
23 กันยายน

เท่าที่บอกได้ก่อนสำหรับคดี Diclofenac (อ้างอิงจากฎีกาเป็นหลักเท่านั้น)
ไม่ว่าอย่างไร คดีคือถึงที่สุดตามนัยยะของกระบวนการทางกฎหมาย
คงต้องรอรายละเอียดฉบับเต็มที่ประกอบด้วยคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ตลอดจนคำเบิกความพยานทั้งสองฝ่าย ว่าอะไรที่คู่ความสองฝ่ายรับ อะไรไม่รับ
รายละเอียดtimelineนี้ สรุปจาก ฎีกา และเอกสารของแพทยสภาเท่านั้น ยังขาดอีกหลายส่วน  สำหรับ ท่านที่ไม่อยากอ่านฎีกาทั้งฉบับ ...ก็ดูจากtimelineนี้ได้  ..
ขออนุญาตไม่พูดถึงรายละเอียดคำพิพากษาจนกว่าจะได้ครบทั้งสามฉบับจากสามศาล แต่สิ่งที่เห็นแน่ ๆ คือ อย่างน้อยศาลฎีกาก็ผ่อนหนักเป็นเบาในแง่ของการจ่ายสินไหมทดแทนโดยมีแนวทางการตัดสินผ่อนหนักเบาตามที่สรุปไว้ให้ในรูป และทุกรพ.คงต้องทำบันทึกไว้เป็นแนวทางการผ่อนหนักเบา
ที่ต้องใส่ใจและเห็นชัดว่าเป็นจุดสลบในคดีนี้คือ

- อะไรคือสาเหตุการตายกันแน่ เพราะประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นที่ถือเป็นจุดตายของคดี(ญาติไม่ยอมให้ชันสูตร แต่กลับไปฟ้องโดยมีประเด็นแพ้ชนะที่สาเหตุการตาย)

- การอ้างอิงเอกสารแพทยสภา อาจมีปัญหา เพราะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นใช้สำหรับแพทย์ด้วยกันอ่าน อุปมาเหมือนคนไข้มาขอใบรับรองแพทย์ตรวจร่างกายโดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะเอาไปทำอะไร  แต่แพทย์กลับมาทราบทีหลังว่าจะเอาไปทำนิติกรรมสำคัญ ซึ่งหากแพทย์ทราบก็จะตรวจร่างกายพิเศษบางอย่างหรือส่งให้ผู้ชำนาญการออกให้แทน

- บันทึกการเฝ้าระวังสำหรับการฉีดยา ซึ่งเป็นจุดตายในคดีนี้ ไม่ปรากฎในสำนวนฎีกา ...มีหรือไม่มี ถ้ามีหายไปไหน   ถ้าไม่มี..เพราะอะไรจึงไม่มี....ไม่ได้เฝ้า เฝ้าแต่ไม่ได้เขียน หรือผู้ป่วยปฏิเสธการเฝ้าระวังซึ่งเป็นอีกปัญหาที่พบกันเป็นประจำและรพ.ก็บังคับไม่ได้เพราะไม่อยากมีเรื่องกับผู้ป่วย(ลูกค้า!!)ที่มักไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้  ....

- ที่เห็นได้ชัดจากฎีกา การต่อสู้ฝั่งจำเลยไม่รู้ใครเป็นช้างเท้าหน้า ...เหมือนพาหมอลงเหว....ไม่นำพยานเอกสารวิชาการขึ้นสู่ศาล ...ไม่นำพยานผุ้เชี่ยวชาญคนกลางขึ้นสู่ศาล ทั้ง  ๆที่แพทยสภาให้ความรู้เรื่องนี้ผ่านการอบรมทั้ง onsite และ online หลายครั้งแล้ว...เหมือนแพ้ technical knockout ยังไงยังงั้น

- สิ่งที่ยังตอบไม่ได้คือ อะไรเป็นเหตุให้ศาลชัั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งสองศาลพร้อมใจกันยกฟ้อง  และทำไมศาลฎีกาถึงกลับคำพิพากษา

ผลที่ได้จากคำพิพากษานี้ อาจเกิดปรากฎการณ์ "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว...the butterfly effect"  ...คาดว่า Diclofenac คงถูกทำแท้งโดยสมบูรณ์หลังคำพิพากษานี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นสภาการพยาบาลออกคำสั่งพยาบาลห้ามฉีดยาตัวนี้ เพราะเกิดกรณีฉีดโดนsciatic nerve

และอาจเลยเถิดถึงขนาดห้ามฉีดยาทุกตัว หรือต้องให้แพทย์มาเฝ้าระวังเอง แล้วจะเอาคนจากไหนมาเฝ้าระวัง เพราะคนที่เฝ้าได้ หากไม่ใช่แพทย์ก็ต้องพยาบาล เพราะการเฝ้าระวังถือเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และ การพยาบาล  .......จะให้คนอื่นมาทำ อาจโดนข้อหาประมาทหรือทำผิดกฎหมายได้

ถ้าได้คำพิพากษาทั้งสามศาล และคำเบิกความสองฝ่าย คงสรุปได้ละเอียดกว่านี้มาก

รูปสุดท้าย เป็นกระบวนการต่อสู้คดีที่ควรจะเป็นไปตามแนวทางนี้ แม้จะเป็นกระบวนการของรพ.รัฐบาล แต่หลายอย่างปรับไปใช้ในภาคเอกชนได้ โดยเฉพาะเรื่องการนำความเห็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพยานคนกลางที่เชี่ยวชาญจริงและต้องเป็นคนกลางขึ้นสู่ศาล ...ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการหักล้างพยานอีกฝ่ายในชั้นศาล...และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพ้คดีนี้ เพราะทนายจำเลยไม่ทำตามกระบวนการในdiagramนี้....

แพทยสภา แพทยสภา แพทยสภา อาคารสภาวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข  จัดอบรมเรื่องนี้ไปหลายครั้ง  แต่ปัญหาเดิม ๆ และจุดอ่อนที่เคยชี้ให้เห็น ก็วนกลับมาอีก

ปล.ถ้าได้คำพิพากษาสามศาลครบ ค่อยมาupdateอีกครั้ง

แต่ยังกังวลกับกระบวนการพิจารณาคดี ที่ถือเป็นคดีผู้บริโภค แต่ดูเหมือนแนวทางการพิจารณาคดีจะออกไปทางระบบกล่าวหา ไม่ใช่ระบบไต่สวนเต็มรูปแบบตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย....คงเพราะการจะไต่สวนจำเป็นต้องได้ผู้มีความรู้จริงในประเด็นที่จะไต่สวนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตลอด ... ระบบแพทยสภาจึงถูกออกแบบให้เป็นระบบไต่สวนและรัดกุมมากโดยไต่สวนเป็นองค์คณะ ประกอบกับองค์คณะสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง โดยไม่ต้องฟังแต่โจทก์หรือจำเลย ก่อนจะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน องค์คณะจะแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพิ่มเติมได้ด้วยตนเองก่อน ..... แต่ระบบนี้กลับถูกคนนอกมองว่าเป็นการช่วยเหลือแพทย์โดยแพทย์......... ทั้ง ๆที่จริง ๆ แล้วก็เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย...หากกระบวนการไต่สวนพบว่าแพทย์เป็นฝ่ายพลั้งพลาดก็คงต้องรับผิดชอบตามสมควร    แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าแพทย์ที่สุจริตถูกแพทยสภาตัดสินว่าผิด เพียงเพราะสู้คดีไม่เป็น หรือสู้ไม่ดี   ...

หรือแพทยสภาอาจต้องสัมมนาให้ความรู้แพทย์และรพ.ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเหล่านี้อีก  

https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/pfbid0W8PpnVGgchDUk92iT9VmSg9rMLUYCAR1iYeEcrzX3ftN7sFms42uujLZBToxmkj9l






..............................................................

 
กรณีคดีแพทย์ให้ฉีด diclofenac ต่อมาคนไข้เสียชีวิต สุดท้ายศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยฝั่งแพทย์มีความผิดต้องชดใช้เงิน ผมได้อ่านคำพิพากษาตัวเต็มแล้ว ผมขอสรุปเนื้อหา และแนะนำสิ่งที่อาจมีประโยชน์ต่อแพทย์ให้ครับ
คนไหนขี้เกียจอ่านดูที่ **** พอครับ
 
1. คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค ดังนั้นภาระในการพิสูจน์จึงตกที่จำเลยฝั่งแพทย์ ถ้าจำเลยนำสืบไม่พอก็มีโอกาสแพ้สูงมาก ซึ่งคดีนี้ผมเห็นว่าทนายจำเลยไม่ได้นำพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง (แพทย์ที่ไม่ใช่จำเลย) หรือเอกสารทางวิชาการ มานำสืบเลย รวมทั้งนำสืบบางประเด็นไม่ครบ ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาในรูป 1 และ 2
 
2. ประเด็นสำคัญอีกข้อ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาก่อนที่จะมีคำตัดสินจากแพทยสภาด้วย ดังนั้นผมคิดว่า จำเลยนำสืบไม่ครบจริงๆ เพราะยิ่งไม่มีมติจากแพทยสภา ยิ่งต้องนำสืบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะไม่รู้มติแพทยสภาที่มาภายหลังจะเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อแพทย์ โดยหากมติแพทยสภาเป็นผลร้าย การสู้ต่อในขั้นอุทธรณ์กับฎีกา จำเลยจะนำพยานมาสืบสู้เพิ่มไม่ได้ ถ้าไม่มีหลักฐานใหม่ตามหลักกฎหมาย ดังนั้นจำเลยก็มีโอกาสแพ้สูงมากครับ
 
3. ****ขอสรุปบทเรียนจากคดีนี้สำหรับแพทย์**** คือ หากโดนฟ้องร้อง การหาทนายเก่งมีความสำคัญมากๆ เพราะถ้าทนายนำสืบดีตั้งแต่ศาลชั้นต้น นำสืบได้ครบประเด็น นำผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเข้าสืบ มีหลักฐานเอกสารยิ่งมีโอกาสชนะ เช่นกรณีสาเหตุการตายในคดีนี้ ผมดูแล้วมันไม่ชัดเจนมากๆ ถ้ามีการนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางมีประโยชน์แน่ๆ
 
นอกจากนี้ แพทย์ที่เป็นจำเลย ก็อาจช่วยทนายได้ โดยการหาหลักฐานในรูปแบบเอกสารที่สนับสนุนสิ่งที่เเพทย์ทำ
 
ทั้งนี้ ผมขอบอกว่า ผมในฐานะนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยพร้อมเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางให้ครับ หากมีการฟ้องร้องที่มีประเด็นเกี่ยวกับสาเหตุการตายหรือนิติเวช ทนายสามารถส่งหมายมาให้ผมได้ครับ บอกไว้ก่อนว่าผมจะให้ความเห็นตามหลักการ ไม่ได้ช่วยฝั่งไหน แค่ต้องการนำสืบให้คดีมันชัดเจนครับ
 
4. ทั้งนี้มติจากแพทยสภาที่ออกมาหลังจากศาลชั้นต้นตัดสิน ศาลฎีกาก็เอามาพิจารณาด้วย แล้วมีความเห็นว่า “มติของคณะกรรมการแพทยสภาฯที่ส่งมายังศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่มีรายละเอียดพอที่จะพิจารณาว่าเป็นไปดังที่ได้กล่าว มาหรือไม่ เพียงใด จึงไม่มีน้ำหนักให้นำมารับฟัง”
 
ส่วนนี้ผมจะผลักดันให้แพทยสภารับไปพิจารณาว่า มติแพทยสภาบกพร่องตรงไหน ผมคิดว่า มีสองอย่างที่อาจทำได้คือ ทำหนังสือไปถามว่าที่บอกว่ารายละเอียดไม่เพียงพอคือขาดเรื่องใด หรือแพทยสภาอาจทำข้อตกลงกับศาลฎีกาว่าให้เชิญกรรมการแพทยสภาไปอธิบายรายละเอียดของมติไหม หากศาลเห็นว่ามติไม่สมบูรณ์
 
5. ประเด็นเรื่องที่แพทย์กลัวกันว่า ต่อไปนี้ ฉีดยาต้อง observe มากกว่า 30 นาทีทุกครั้ง หรือไม่ควรใช้ยา diclofenac เพราะคำพิพากษาบอกไว้แบบนั้น ผมมีสองประเด็นที่อยากบอกครับ
 
ประเด็นแรก ที่โรงพยาบาลของเคสนี้มีเกณฑ์ให้ observe หลังฉีดยา 30 นาที แต่มันอาจไม่มีระบุชัดเจน ซึ่งเคสนี้ที่คนไข้กลับเร็ว เพราะคนไข้อยากกลับเอง แต่เวลาพิจารณาจำเลยไม่สามารถนำสืบให้ผู้พิพากษาเชื่อได้ว่า จำเลยได้แจ้งคนไข้ให้ observe 30 นาทีแล้ว ดังนั้น
 
****คำแนะนำที่สำคัญมากกับแพทย์คือ ถ้าได้สั่งการฉีดยาทุกชนิดที่ห้องฉุกเฉินหรือ opd ควรแจ้งคนไข้เรื่องนี้และ note ในเวชระเบียนว่า observe 30 นาทีหลังฉีดยา หรือให้ทางโรงพยาบาลทำป้ายแปะข้อมูลนี้ไว้เพื่อให้คนไข้ทราบเรื่องนี้**** (อาจขึ้นอยู่กับการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัวด้วย ดังนั้นอาจน้อยกว่า 30 นาทีได้)
 
ประเด็นที่สอง แพทย์ควรทำตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์ โดยไม่ต้องสนใจคำพิพากษา (ยิ่งคำพิพากษาอันนี้ ยิ่งไม่ต้องสนใจ เพราะฝ่ายจำเลยนำสืบบางประเด็นไม่ครบจริงๆ) ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการหลีกเลี่ยงการฉีดยา diclofenac ถ้าแพทย์ทำตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์แล้ว ไม่งั้นในอนาคตฉีดยาหรือกินยาอะไรก็ไม่ได้ เนื่องจากคนไข้มีโอกาสแพ้ยาได้หมด หรือมองในมุมกลับ ถ้าคนไข้ควรต้องได้รับยา แต่แพทย์ไม่ให้ แพทย์ก็อาจโดนฟ้องกรณีนี้แทน
 
ดังนั้นผมจะผลักดันให้ แพทยสภาทำข้อสรุปประเด็นนี้ เช่น เรื่องการ observe หลังฉีดยาควรทำนานเท่าไหร่ แพทย์สามารถใช้ยา diclofenac กับคนเป็นโรคหอบหืดได้หรือไม่ มันจะมีประโยชน์ในอนาคตแน่นอน
 
ปล. มีคนถามว่าแล้วจะหาทนายจากที่ไหนดี ผมพอรู้จักที่หนึ่ง ก็เอาไว้พิจารณาได้ครับ คือ สำนักการกฎหมายการแพทย์ www.thaimedlaw.com หรือดูนามบัตรในรูปสามได้ (ผมไม่ได้เป็นหุ้นส่วนนะครับบอกไว้ก่อน แค่เคยใช้บริการครับ) โดยสำนักงานกับพันธมิตรของเค้ารับทำคดีหลากหลาย รวมถึงกรณีฟ้องร้องหมิ่นประมาทด้วยเช่น กรณีแอบถ่ายแพทย์แล้วเอาไปลงโซเซียลจนแพทย์เสียหาย ซึ่งกรณีนี้ผมแนะนำให้ฟ้องเลยครับ จะจ้างที่นี่ก็ได้ครับ คิดว่าค่าสินไหมทดแทนได้มากกว่าค่าจ้างอยู่แล้ว จะได้เป็นบรรทัดฐานเหมือนอย่างกรณีข่าวดังที่ พ่อของหมอฟ้องคนแอบถ่าย
 
ปล. 2 สเตตัสนี้ผมไม่ต้องการตำหนิใคร ทั้งโจทก์ จำเลย ทนาย ผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล แพทยสภา หรือผู้พิพากษา แค่อยากถอดบทเรียนให้มารับรู้กันครับ

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0LUhZk3mXqGpYrKyHMCdzk7o2Gf5r7mt1DWHPRopLRN93yu5teN2ZaeG1BFs4Lebyl&id=100001957212970

......................................

 
 
ขอกลับมาเพิ่มเติมในกรณีคำพิพากษาฎีกาคดี diclofenac ครับ อันนี้ผมขอถอดบทเรียนโดยพิจารณาเฉพาะจากการอ่านคำพิพากษาฎีกาเหมือนเดิมนะครับ
 
ตอนนี้จะมีแพทย์สงสัยว่าทำไมศาลฎีกาตัดสินว่า diclofenac ซึ่งเป็นยา NSAIDS ห้ามใช้ในคนเป็นโรคหอบหืด (asthma) ซึ่งอาจขัดกับหลักฐานทางทางการแพทย์ ผมขอสรุปมาให้ดูว่า ถ้าตามคำพิพากษาจริงๆ เป็นอย่างไรนะครับ
 
1. เคสนี้ฝ่ายโจทก์ ยกหลักฐานที่เป็นเอกสารกำกับยา diclofenac ซึ่งมีระบุว่า “ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ หรือผู้ที่มีอาการหอบหืด ลมพิษ หรือโพรงจมูกอักเสบแบบเฉียบพลันจากการแพ้ยาแอสไพริน หรือ NSAIDS” ตามรูปที่ 1 ซึ่งถ้าอ่านแล้วจะชัดเจนว่า NSAIDS ไม่ได้ห้ามใช้ในคนเป็นโรคหอบหืด แต่ห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคหอบหืดจากการแพ้ยา NSAIDS ซึ่งทางการแพทย์เป็นคนละกรณีกัน
 
2. ทำไมศาลถึงคิดว่าห้ามใช้ในคนเป็นโรคหอบหืดละ มาดูเหตุผลกันครับ
- พยานฝ่ายจำเลยที่เป็นหมอโรงพยาบาลเดียวกัน ตอนโดนถามค้านให้การว่า “ต้องให้ยา diclofenac อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคหอบหืด และควรหลีกเลี่ยงการใช้หากมีตัวยาอื่น” ตามรูปที่ 1 ส่วนล่างสุด
ส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นคำให้การที่พลาดครับ แต่ผมเข้าใจพยานจำเลยครับ ที่เวลาขึ้นศาล บางทีโดนถามงงๆ อาจตอบพลาดได้ ผมไม่ได้ตำหนิใดๆ ครับ
 
แต่มีประเด็นสำคัญจะแนะนำแพทย์ที่ถูกฟ้องว่า
*****ถ้าจะนำพยานผู้เชี่ยวชาญมา ควรนำพยานที่มีทักษะในการเป็นพยานในศาลและเข้าใจการให้การครับ เพราะการให้การผิด เป็นผลเสียต่อจำเลยได้ครับ*****
 
- ฝ่ายจำเลย ไม่ได้มีการนำสืบประเด็นที่ว่า โรคหอบหืดที่คนไข้เป็น มันเป็นคนละอย่าง กับโรคหอบหืดจากการแพ้ยา NSAIDS ทั้งๆ ที่ถ้าดูประวัติแล้ว คนไข้คนนี้เคยได้รับยา NSAIDS มานานก่อนหน้านี้ แล้วไม่มีอาการแบบนี้ โรคหอบหืดของคนไข้จึงไม่น่าเกี่ยวข้องกันกับการแพ้ยา NSAIDS จนเป็นหอบหืด ซึ่งจะมีอาการหลังรับยาทันทีในช่วงก่อนหน้านี้
 
ส่วนฝ่ายโจทก์กลับนำสืบเรื่องนี้ โดยเอาแพทย์คนกลางมายืนยันว่า หอบหืดที่ผู้ป่วยเป็นเกิดจากการได้ยา NSAIDS ดูตามรูปที่ 2 และ 3
 
3. ตามความคิดผม ถ้าจำเลยนำสืบโดยนำเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง มาอธิบายใบกำกับยาว่า อาการหอบหืดจาก NSIADS แบบนี้คืออะไร มันควรเจอตอนไหน ต่างจากอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดจนต้องพ่นยาก่อนหน้านี้อย่างไร หากได้รับยา NSIADS มาก่อนแล้วไม่มีอาการจึงไม่ใช้ข้อควรระวังในการให้ยาคนไข้นี้ ใช่หรือไม่
 
หรือจริงๆ ตอนซักพยานก็ถามหมอผู้รักษาผู้เป็นจำเลยให้อธิบายประเด็นความแตกต่างนี้ก็ยังได้ หรือหาเอกสารที่อธิบายอาการหอบหืดแบบแพ้ยาหลังใช้ยา NSIADS แบบนี้ ต่างจากโรคหอบหืดที่คนไข้เป็นอย่างไร
 
แล้วสุดท้ายในผู้ป่วยรายนี้ ถ้าจำเลยสามารถนำสืบตีตกประเด็นตามข้างต้นได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสังเกตอาการถึง 30 นาทีด้วยซ้ำ แต่สังเกต 10 นาทีก็อาจพอแล้วตามที่จำเลยทำ เพราะไม่มีประเด็นต้องกังวลอะไรในคนไข้รายนี้ เห็นได้จากคำพิพากษา ที่ระบุว่า “การรักษาผู้ตายซึ่งมีอาการหอบหืด ด้วยยา diclofenac แล้วไม่ได้สังเกตอาการหลังฉีดยา ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน” ตามรูปที่ 4
 
4. สรุป ตามความเห็นผม *****ผมคิดว่า diclofenac หรือ NSIADS สามารถใช้ในคนเป็นโรคหอบหืดได้ เพราะไม่มีข้อห้ามใช้ ดูในเอกสารกำกับยารูปที่ 5 ได้*****
และประเด็นที่อยากย้ำคือ เราควรรักษาพยาบาลตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์ โดยไม่ต้องอ้างอิงตามคำพิพากษาใดๆ (เช่นกรณีนี้ก็ชัดเจนว่า คำพิพากษาไม่ควรเอามาแทนได้เลย เพราะจำเลยนำสืบไม่พอ) แต่ผมเข้าใจแพทย์หลายๆ คน ที่กลัว ก็ให้ทำตามความสบายใจของท่าน แต่ก็ระมัดระวังว่า ที่เราไม่ยอมทำบางเรื่องโดยอ้างคำพิพากษา มันจะผิดหลักปฏิบัติทางการแพทย์ไหม

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0BRcpereE59CX4vbjnQggA9x3by2fS7hfbPFbuSuXprtSXDedfe4BMEoxDPrrxavul&id=100001957212970

 
..............................................................

บล๊อก ที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB )    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61


ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( เอนเสด ) ... ไม่ใช่ขนมนะครับ จะได้กินกันไปเรื่อย ...    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=08-08-2008&group=28&gblog=3

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

 




 

Create Date : 29 กันยายน 2565   
Last Update : 13 ตุลาคม 2565 14:15:24 น.   
Counter : 1955 Pageviews.  

คู่มือการจัดการคดีทางการแพทย์(สำหรับแพทย์จบใหม่) กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2561













คู่มือการจัดการคดีทางการแพทย์ (สำหรับแพทย์จบใหม่)
สารบัญ
บทที่ 1 หมอต้องรู้กฏหมายด้วยหรือ
บทที่ 2 เขียนเวชระเบียนอย่างไรปลอดภัย มั่นใจได้
บทที่ 3 ข้อมูลนั้นสำคัญไฉน
บทที่ 4 ดูแลผู้ป่วยดีๆนะ
บทที่่ 5 เกิดเหตุแล้ว ทำอย่างไรดี
บทที่ 6 ถูกฟ้องแล้วต้องรู้
บทที่ 7 ภูมิใจจังที่เป็นหมอ

ผู้เขียน : อนุชา กาศลังกา,
กลุ่มระงับข้อพิพามทางการแพทย์ กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2561.
รูปเล่ม     113หน้า
https://www.legal.moph.go.th/index.php?option=com_remository&Itemid=814&func=startdown&id=1125

หนังสือเวียนเกี่ยวกับคดีทางการแพทย์  กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://www.legal.moph.go.th/index.php?option=com_remository&Itemid=814&func=select&id=7


รวมหนังสือบทความน่าสนใจ
https://www.legal.moph.go.th/index.php?option=com_remository&Itemid=813&func=select&id=81&orderby=3

https://www.legal.moph.go.th/index.php?option=com_remository&Itemid=814&func=select&id=7&orderby=1




 

Create Date : 16 มีนาคม 2563   
Last Update : 16 มีนาคม 2563 21:36:26 น.   
Counter : 1951 Pageviews.  

โรงพยาบาลต้นแบบ...โรงพยาบาลบ้านแพ้ว !? ที่มา hfocus

โรงพยาบาลต้นแบบ...โรงพยาบาลบ้านแพ้ว !?

Thu, 2020-03-12 18:26 -- hfocus

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลรัฐแห่งเดียวในประเทศไทยที่ออกนอกระบบราชการ และบริหารงานในรูปแบบองค์การมหาชน (กึ่งรัฐกึ่งเอกชน) เริ่มต้นจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือเรียกกันทั่วไปว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ประเทศไทยอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย รัฐบาลจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ จึงปฏิรูประบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับเงื่อนไขการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดยให้โรงพยาบาลรัฐออกนอกระบบราชการ คาดหวังจะลดภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน และเพิ่มประสิทธิภาพ รัฐบาลยุคนั้นโดยการผลักดันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เลือกโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลนำร่องต้นแบบของโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ

หลังจากพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับ โรงพยาบาลบ้านแพ้วจึงเริ่มต้นทดลองการบริหารงานในระบบใหม่ ตั้งวัตถุประสงค์เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ประชาชนมีสุขภาพดีเจ็บป่วยน้อยลง ลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน ปัจจุบันผ่านการดำเนินงานมาแล้ว 20 ปี สมควรแก่เวลาที่จะประเมินว่าการบริหารของ โรงพยาบาลบ้านแพ้วในรูปแบบนี้ สามารถตอบวัตถุประสงค์ได้ครบถ้วน และควรนำไปใช้เป็นต้นแบบหรือไม่

โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลขนาด 323 เตียง ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร มีโรงพยาบาลสาขา 9 แห่ง เป็นสาขานอกเขตอำเภอบ้านแพ้วที่รับผิดชอบอยู่ถึง 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์แพทย์และทันตกรรม ในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ศูนย์ล้างไตทางช่องท้องสาขาเจริญกรุงและเทิดไท โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาพร้อมมิตร) กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ให้บริการแก่ข้าราชการ และผู้ป่วยโครงการพิเศษของกองทุนสุขภาพต่างๆ

ปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถหารายได้ได้เองเพียงส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพารายได้จากงบประมาณแผ่นดิน ปี 2561 มีรายได้จากงบประมาณแผ่นดินมากกว่า 1,100 ล้านบาท (เป็นงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรง 113 ล้านบาท และงบประมาณที่ผ่านกองทุนสุขภาพต่าง ๆ มากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีรายได้จากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการประมาณ 600 ล้านบาท) มากกว่าโรงพยาบาลรัฐอีกสองแห่งในจังหวัดเดียวกันที่มีขนาดใหญ่กว่าคือ 602 เตียง และขนาดใกล้เคียงกันคือ 309 เตียง แต่มีรายได้จากงบประมาณแผ่นดินเพียง 1,000 และ 500 กว่าล้านบาท ตามลำดับ

ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ โดยหากเทียบค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลทั้งหมดต่อประชาชนในเขตรับผิดชอบ โรงพยาบาลบ้านแพ้วมีค่าใช้จ่ายในการดูแลประชาชนหนึ่งคนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงพยาบาลรัฐอีกสองแห่งในจังหวัดเดียวกันประมาณ 3 เท่า หรือหากเทียบค่าใช้จ่ายต่อจำนวนผู้ป่วยก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยสูงเป็น 2.8 เท่าต่อผู้ป่วยหนึ่งคน และสูงเป็น 1.4 เท่าต่อการมารับการบริการหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มข้าราชการสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงพยาบาลรัฐอีกสองแห่งถึง 1.5-2.7 เท่าต่อการมารับการบริการหนึ่งครั้ง

เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล ได้แก่ การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคต้อกระจก ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ และศักยภาพในการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (CaseMix Index: CMI) ก็ไม่ได้แตกต่างจาก รพ.รัฐในระดับเดียวกัน เช่นกัน ด้านความพึงพอใจของผู้มารับบริการ โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้รับร้อยละ 83.60 ขณะที่โรงพยาบาลระดับจังหวัดทั่วประเทศได้ร้อยละ 81.32 รักษาบุคลากรไว้ในระบบได้น้อยกว่าโรงพยาบาลรัฐ โดยโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีอัตราคงอยู่ร้อยละ 88.87 ขณะอัตราการคงอยู่ของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขคือ ร้อยละ 95.31

โรงพยาบาลบ้านแพ้วยังไม่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ของการออกนอกระบบ เพราะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ และพึ่งพามากกว่าโรงพยาบาลรัฐทั่วไป แม้จะดูเสมือนว่าได้รับงบประมาณโดยตรงใกล้เคียงหรือน้อยกว่าเล็กน้อย แต่กลับมีรายได้จากงบประมาณที่ผ่านกองทุนต่างๆ มากกว่า โดยเฉพาะกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เป็นรายได้หลัก โรงพยาบาลต้องหารายได้ผ่านกองทุนนี้จากผู้ป่วยนอกเขตรับผิดชอบ และเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐทั่วไป ทั้งที่กองทุนนี้สำหรับโรงพยาบาลรัฐเองก็เป็นกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงที่สุดอยู่แล้ว กระทั่งรัฐบาลและกรมบัญชีกลางมองว่าเป็นภาระต่องบประมาณ ต้องวางมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น หากโรงพยาบาลบ้านแพ้วไม่มีรายได้จากกองทุนนี้ หรือมีในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ แล้ว ผลประกอบการน่าจะขาดทุน

ยังไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพในการบริหารได้แตกต่างหรือโดดเด่นจาก รพ.รัฐอื่นๆ แม้จะใช้ค่าใช้จ่ายโดยรวม ค่าใช้จ่ายต่อประชาชนในเขตรับผิดชอบ และค่าใช้จ่ายต่อจำนวนผู้ป่วย สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ แต่ประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลไม่แตกต่างกัน สร้างความพึงพอใจให้กับผู้มารับบริการได้ใกล้เคียงกัน แต่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ให้บริการของโรงพยาบาลเองได้น้อยกว่าพอสมควร

หากนำแนวทางของโรงพยาบาลบ้านแพ้วไปใช้ โดยให้โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งออกนอกระบบราชการ รัฐบาลอาจต้องเพิ่มงบประมาณให้กับระบบบริการสุขภาพของประเทศอีกอย่างน้อย 1.4 เท่าหรือ 1.6 แสนล้านบาท (ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่รัฐให้การสนับสนุนกองทุนสุขภาพ 4 แสนล้านบาทต่อปี) แต่ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ เนื่องจากโรงพยาบาลอื่น ๆ อาจไม่สามารถแสวงหารายได้จากผู้ป่วยนอกเขตรับผิดชอบของตน ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ผู้ป่วยโครงการพิเศษของกองทุนต่างๆ เช่น ผู้ป่วยตรวจสุขภาพ ฟอกไต ผ่าตัดต้อกระจก ได้มากเหมือนที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วทำ เพราะเมื่อทุกโรงพยาบาลต้องออกนอกระบบและหารายได้เอง ทุกแห่งก็ต้องพยายามดึงผู้ป่วยกลุ่มนี้ไว้กับตน เนื่องจากเบิกค่ารักษาพยาบาลได้คุ้มค่ามากกว่า

นอกจากนี้ โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องแข่งขันเพื่อหารายได้ ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่าย ทั้งการตั้งหน่วยบริการนอกเขตรับผิดชอบหรือหน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับให้บริการนอกเขต การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ราคาแพงหรือตั้งศูนย์การแพทย์ด้านต่างๆ ไว้เพื่อสร้างภาพลักษณ์และการแข่งขัน แม้ระบบเดิมจะใช้วิธีมองภาพรวมแล้วเลือกซื้อและจัดตั้งศูนย์การแพทย์ไว้เฉพาะบางโรงพยาบาลตามความเหมาะสม แล้วทำงานประสานกันเป็นเครือข่าย เป็นต้น แต่หากใช้วิธีให้เพียงบางโรงพยาบาลเท่านั้นออกนอกระบบ ก็จะไม่ยุติธรรมกับโรงพยาบาลที่ไม่ได้ออกนอกระบบและประชาชนในเขตรับผิดชอบ เพราะจะถูกดึงรายได้ไป ทำให้มีทุนในการให้การบริการแก่ผู้ป่วยในเขตตนลดน้อยลง

ระบบบริการสุขภาพของไทยแม้ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จพอสมควร ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ สถานบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น แต่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โรงพยาบาลรัฐมีประสิทธิภาพ ประชาชนพึงพอใจ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น เป็นสิ่งที่ดีและควรดำเนินต่อไป มีผู้เชี่ยวชาญได้เสนอไว้หลายวิธี ได้แก่ การปรับปรุงโรงพยาบาลรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ต้องออกนอกระบบ การให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น กระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการให้โรงพยาบาลรัฐออกนอกระบบ

แต่วิธีการให้โรงพยาบาลรัฐออกนอกระบบราชการ โรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบนำร่องควรจะพัฒนาจนประสบความสำเร็จตอบสนองวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้ครบถ้วนก่อน ไม่เช่นนั้นหากนำมาใช้ นอกจากจะไม่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์แล้ว ยังอาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา

เขียน : นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ และ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา




 

Create Date : 12 มีนาคม 2563   
Last Update : 12 มีนาคม 2563 21:55:12 น.   
Counter : 1055 Pageviews.  

ถ้าผู้ป่วยไม่ stable ห้ามอนุญาตให้ย้าย รพ. ยกเว้นผู้ป่วยหรือญาติตัดสินใจปฏิเสธการรักษา ?

ความรู้ วันนี้

สรุป สั้น ๆ

โรงพยาบาล แรก ที่เลือก

เข้า ร้บการรักษา สำคัญ มาก

ดัง เนื้อ ความ ของ คดี

(โรงพยาบาล)รพ.ธนบุรี (โจทก์) ชนะคดีในศาลชั้นต้น กรณีญาติผู้ป่วย (จำเลย) และ สปสช. (จำเลยร่วม) ไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวน เหตุเกิดเมื่อ มี.ค. 2556 และพิพากษาเมื่อ ก.ค. 2560
.
ผู้ป่วย cardiac arrest เข้ารับการรักษาที่ รพ.ธนบุรี หลัง CPR แล้วได้ admit CCU ไม่สามารถหาเตียงใน รพ.รัฐได้ในระยะแรก จึงต้องรักษาต่อเนื่องจนกระทั่ง stable พอและมีเตียง รพ.รัฐที่จะรับย้ายได้ โดยในระหว่างนี้ ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมาก
.
จำเลยเข้าใจว่า สามารถใช้สิทธิ์ฉุกเฉินเพื่อรับการบริการฟรีตามนโยบายของ สปสช. แต่ความจริงคือ คำว่า "ฟรี" ของ สปสช. คือในระยะ 72 ชั่วโมงแรก และไม่เกินวงเงินประมาณ 53,000 บาท ดังนั้น ส่วนต่างค่ารักษาพยาบาลอีกกว่า 4 แสนบาท จึงตกเป็นภาระของจำเลย
.
ศาลตัดสินให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ส่วน สปสช. ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะถือว่าได้ชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามวงเงินที่กำหนดแล้ว
.
สำหรับแพทย์ ความรู้จากคดีนี้มี 2 ประการ คือ 1) พึงรักษาผู้ป่วยโดยเท่าเทียม ไม่ว่าผู้ป่วยและญาติจะสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่ก็ตาม และ 2) ถ้าผู้ป่วยไม่ stable ห้ามอนุญาตให้ย้าย รพ. ยกเว้นผู้ป่วยหรือญาติตัดสินใจปฏิเสธการรักษา เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจ
.
ถ้าแพทย์ไม่อนุญาตให้ย้าย กฎหมายไม่สามารถบังคับได้ แม้ผู้ป่วยและญาติต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม แต่หากแพทย์เห็นใจให้ย้ายทั้งที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต แพทย์มีความผิดตามกฏหมาย
.
สำหรับ รพ.เอกชน คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนโยบายขายฝันของ สปสช. ส่วน รพ.รัฐ โปรดเตรียมใจไว้ว่า นโยบายรักษาฟรีจากกรณีฉุกเฉิน อาจไม่ได้รับเงินชดเชยตามจริง ต้องยอมเสียส่วนต่างค่ารักษาพยาบาลที่เกินวงเงิน
.
สำหรับประชาชนทั่วไป บทเรียนสำคัญจากคดีนี้คือ อย่าเชื่อทุกอย่างที่ สปสช. โฆษณา ควรหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะหากเกิดปัญหาแล้ว สปสช.ไม่ได้ช่วยเหลือ และไม่มีกฎหมายบังคับให้ สปสช. ต้องร่วมรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือวงเกินแต่อย่างใด
.
การกล่าวอ้างว่า รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาพยาบาลเกินจริงและขัดต่อกฎหมายเป็นการกล่าวเลื่อนลอย ขาดหลักฐาน และ ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธการชำระค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน ได้

สำหรับ สปสช. ตอนแรกไม่ยอมรับว่าเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าตนเป็นหน่วยงานของรัฐทำตามหน้าที่ จึงอยู่นอกเหนืออำนาจของศาลยุติธรรม แต่ศาลเห็นว่ากรณีนี้เป็นข้อพิพาททางแพ่ง จึงตัดสินให้ สปสช. เป็นจำเลยร่วมในศาลยุติธรรม
แนะนำให้ทำประกันสุขภาพด้วยนะก็ดีนะ

ขออนุญาต เพิ่ม เติม

กรณีสายด่วน สปสช ติด ต่อ ๑๓๓๐
หรือ https://www.nhso.go.th/frontend/NewsInformationDetail.aspx?newsid=MjMwNQ%3D%3D
ปานเทพ คณานุรักษ์

ตามที่ อาจารย์
สุรจิต สุนทรธรรม ลงไว้ ครับ

ต้องอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม ผมเข้าใจว่า หลายเรื่องมีการสรุปเองหรือเป็นเพียงความเห็นของผู้สรุป ไม่ได้เป็นเนื้อความจากคำพิพากษาจริงๆ นะครับ

คำพิพากษาศาลชั้นต้น – คดีโรงพยาบาลธนบุรีและนางสำรวย โสภจารีย์
https://www.slideshare.net/mobile/preeyananlor/ss-80248475

ย้ำ ข้อ ความสำคัญ นะ ครับ

1. เป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ยังไม่ถึงฎีกา จึงยังใช้อ้างอิงไม่ได้
2. ผู้ป่วยหรือญาติไม่มีสิทธิปฏิเสธการรักษา ถ้ายังจำเป็นต้องช่วยรักษาชีวิตอยู่ (ถ้าไม่ใช่วาระสุดท้ายแห่งชีวิต) ตาม https://m.facebook.com/groups/159882240725179?view=permalink&id=2367625346617513


*******************************************
สุรจิต สุนทรธรรม อีกประการหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดก่อน 20 ธค. 59 ซึ่ง พรบ. สถานพยาบาล (ฉบับที่4) 2559 https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/107/41.PDF จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงไปอีกมากครับ


สุรจิต สุนทรธรรม กรณียังอยุ่ในภาวะวิกฤติที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยนั้น #ผู้ป่วยหรือญาติก็ไม่น่าจะมีสิทธิปฏิเสธรับการรักษา ไม่ว่าจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม ตามนี้: https://m.facebook.com/groups/159882240725179?view=permalink&id=2367625346617513
 
สุรจิต สุนทรธรรม และภาวะวิกฤติไม่ได้เป็นข้อห้ามสัมบูรณ์ในการส่งต่อ ซึ่งตามมาตรา ๒๘(๒) แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ (https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/044/1.PDF)

จะส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้เพียง๒กรณีเท่านั้น คือ

๑ ได้รักษาเต็มขีดความสามารถแล้วยังไม่พ้นภาวะฉุกเฉิน
๒. แพทย์ให้การรับรองว่าการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการเจ็บป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น

ภาวะไม่เสถียร (unstable) ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการส่งต่อ

การปฏิเสธการรักษาถือเป็นเงื่อนไขใดๆ ตามมาตรา ๒๙(๓) แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ (https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/044/1.PDF) ซึ่งนำมาใช้เป็นเงื่อนไขไม่ได้

การปฏิเสธจะนำมาใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ #ผู้ป่วยไม่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตและมีความจําเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นการรีบด่วน เท่านั้น ตามที่บัญญัติิไว้ในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ( https://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%ca71/%ca71-20-9999-update.pdf ) ครับ

สุรจิต สุนทรธรรม ทั้งนี้ เป็นหลักการสากลในการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน นะครับ

https://www.acep.org/.../ethics.../emtala/emtala-fact-sheet/



*******************************************


ความเห็นของผม

" แต่หากแพทย์เห็นใจให้ย้ายทั้งที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต แพทย์มีความผิดตามกฏหมาย "

................ ประโยคนี้สำคัญมาก " สำหรับแพทย์ เจ้าของผู้ป่วย " ในทุกกรณี แพทย์ จะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย ดังนั้น ไม่ว่าจะตัดสินใจ ทำอะไร (ตามใจใคร) ก็อย่าลืมนึกถึงด้วยว่า ตนเอง เป็นจำเลยที่หนึ่ง เสมอ คนอื่นพูดคิดแต่เขาไม่ต้องมารับผิดชอบด้วย เข้าใจตรงกันนะครับ .. ตัดสินใจอะไร คนตัดสินใจ รับไปเต็ม ๆ
 
พนมกร หมอหมู ดิษฐสุวรรณ์ — ที่ คลินิกแพทย์พนมกร  เทศบาลเมืองกำแพงเพชร ·
https://www.facebook.com/phanomgon/posts/3148715158477472


ผมยังอยากจะเน้นประโยคนี้ .. " สำหรับแพทย์ เจ้าของผู้ป่วย " ในทุกกรณี แพทย์ จะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย ...
ไม่ว่า จะตัดสินใจแบบไหน ส่ง ไม่ส่ง รักษา ไม่รักษา ฯลฯ ... แพทย์ที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วย ก็ต้องรับผิดชอบทุกกรณี ^

อีกประเด็นที่อยากจะแสดงความเห็นเพิ่มเติม .. (นำมาจากโพสโน้นที่มีผู้สอบถาม ^_^)


... ถ้าแพทย์ มีเหตุผลมีข้อมูลเอกสารบันทึกไว้ ว่าได้ชี้แจงทำความเข้าใจอย่างเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยหรือญาติ ยังยืนยัน แพทย์ก็ไม่สามารถห้ามได้ ต่อให้มีปัญหา เรื่องฟ้องร้องตามมา ก
็ไม่น่าจะมีอะไรร้ายแรง

แต่ ต้องเน้นย้ำว่า " มีข้อมูลบันทึกหลักฐานว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจอย่างเต็มที่ " ด้วยนะครับ ... ไม่ใช่แค่พูดว่า ถ้าไม่อยากรักษาก็เซนต์ไม่สมัครอยู่ .. ถ้าพูดแค่นี้ก็อาจเกิดปัญหาได้ เพราะ ผู้ป่วยหรือญาติ อาจบอกว่า ที่ทำไปเพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ หมอไม่อธิบาย ถ้าอธิบายให้เขาเข้าใจ เขาก็คงไม่ตัดสินใจแบบนั้น .. ( หมอก็งานเข้า)

เทียบเคียงได้กับการให้เซนต์ชื่อว่า "ยินยอมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล" ถ้าไม่มีการชี้แจง เอาเอกสารให้เซนต์อย่างเดียว ก็อาจเกิดปัญหาตามมาได้ (เคยมีคดีมาแล้ว)


 




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2562   
Last Update : 28 ธันวาคม 2562 15:48:59 น.   
Counter : 2847 Pageviews.  

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB )

'สภาการพยาบาล' ออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ‘ไดโคลฟีแนค’

Sat, 2019-12-21 11:58 -- hfocus

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค แต่ให้ทำหน้าเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือแพทย์ในการดูแลผู้รับบริการก่อนและหลังการฉีดยา Diclofenac ตามมาตรฐานวิชาชีพเท่านั้น ระบุเป็นไปตาม คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ที่แนะนำให้จำกัดการใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนค เฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขึ้นไป โดยให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสภาการพยาบาลเรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด โดยระบุว่า

เนื่องจากยา Diclofenac ชนิดฉีด ซึ่งเป็นยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อผู้รับบริการภายหลังการฉีดยามีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับคู่มือการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use Hospital Manual) โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (2558) แนะนำให้จำกัดการใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีด เฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขึ้นไป โดยให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 วรรคสอง 7.2 และข้อ 18 วรรคสอง 18.2 แห่งข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2560 สภาการพยาบาลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาลในการประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด

ข้อ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการดูแลผู้รับบริการก่อนและหลังการฉีดยา Diclofenac ตามมาตรฐานวิชาชีพ

ข้อ 3 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2562

รองศาสตราจารย์ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

อย.ทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค หลังมีรายงานอาการผิดปกติของเส้นประสาท

************************************************

อย.ทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค หลังมีรายงานอาการผิดปกติของเส้นประสาท

Sat, 2019-01-19 23:17 -- hfocus

อย.เล็งทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนคหลังได้รับคำร้องขอจาก สปสช.ให้ทบทวนความปลอดภัยของยาฉีดไดโคลฟีแนค เนื่องจากมีผู้ใช้ยาได้รับความเสียหายจากอาการผิดปกติของเส้นประสาท อย.เร่งหารือผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเก็บตัวอย่างยาส่งตรวจวิเคราะห์ ความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป เผยในช่วง 10 ปี ไม่พบแนวโน้มการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของยานี้เพิ่มขึ้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์และภาวะไม่พึงประสงค์ของการใช้ยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค (Diclofenac)

อย.ได้เร่งดำเนินการพิจารณาและตรวจสอบ โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างหารือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อศึกษาและทบทวนในเรื่องความปลอดภัยของยา รวมทั้งจะได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างยาฉีดไดโคลฟีแนคส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพอย่างละเอียดอีกครั้ง หากทราบผลการตรวจสอบที่แน่ชัดจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป และหากมีความเสี่ยงหรือมีผลกระทบของยาจริงจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังอันตรายจากการใช้ยาสำหรับมนุษย์ทันที

ทั้งนี้ ยาไดโคลฟีแนค เป็นยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ออกฤทธิ์ช่วยในการบรรเทา อาการปวดบวมจากการอักเสบ ปวดตามข้อ ไขข้อกระดูก เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดท้องจากประจำเดือน โรคข้ออักเสบ อาการตึงขัดของข้อ ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพในช่วง 10 ปี ไม่พบแนวโน้มการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า อย.จะติดตามตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศอย่างเข้มงวดและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินงานของ อย. ที่มีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง และหากกลุ่มยาตำรับใดมีอันตราย อย.จะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบทางสื่อต่าง ๆ ทันที

ทั้งนี้ หากพบการใช้ยาใดที่มีปัญหา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ


*******************************************
 

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

Wed, 2019-01-09 14:47 -- hfocus

อย.นัดผู้เชี่ยวชาญถกประเด็นอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) วันที่ 23 ม.ค. นี้ ด้าน ผศ.นพ.พิสนธิ์ แนะเบื้องต้นถอนยาตัวนี้ออกจาก รพ.สต.ไปก่อน และหากเชื่อว่ายานี้มีผลต่อเส้นประสาทจริงก็ต้องแก้บัญชียาหลักแห่งชาติ บรรจุยา Ketorolac เป็นทางเลือกแก่ผู้ปฏิบัติงาน

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ม.ค. 2562 ที่จะถึงนี้ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อหารือเรื่องการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ Diclofenac injection หรือยาฉีดไดโคลฟีแนค หลังจากพบว่ามีผู้ป่วยเกิดความผิดปกติของเส้นประสาทหลังจากถูกฉีดยาตัวนี้เข้าไป

(ทั้งนี้ ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ช่วยในการบรรเทาอาการปวด บวมจากการอักเสบ ปวดตามข้อ ไขข้อกระดูก เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดท้องจากประจำเดือน โรคข้ออักเสบ อาการตึงขัดของข้อ)

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดในขณะนี้คือมีคนไข้จำนวนเยอะพอสมควรที่ทำเรื่องขอเงินเยียวยาไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนคณะกรรมการ สปสช.กังวลว่ามีเคสเข้ามาเรื่อยๆ จึงทำหนังสือออกไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ระมัดระวังยาตัวนี้ หรือกระทำการบางอย่างเพื่อลดปัญหาการฉีดยาตัวนี้ลง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ส่งจดหมายเวียนไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้ให้ระมัดระวังด้วย

"เขากังวลเรื่องการฉีดเข้าไปในสะโพก เพราะมีคนไข้บางคนเกิดความผิดปกติของเส้นประสาท เช่น ปวดขา ขาไม่มีกำลัง แต่ก็ยังไม่ได้สรุปยืนยันว่าเป็นผลจากตัวยา ก็เข้าใจว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคการฉีดยาเพราะยาทุกชนิดถ้าเทคนิคการฉีดไม่ดีก็มีโอกาสโดนเส้นประสาทได้เสมอ อีกด้านหนึ่งก็มีรายงานที่เชื่อว่ายาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) สามารถทำให้เกิดพิษที่เส้นประสาท ณ ตำแหน่งที่ฉีดได้แม้จะฉีดอย่างถูกต้องก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่าตัวยาไปส่งผลกับเส้นประสาท ดังนั้น วันที่ 23 ม.ค. 2562 นี้ ทาง อย. กำลังเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเพื่อหารือในเรื่องนี้" ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผศ.นพ.พิสนธิ์ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าสงสัยว่ามีการฉีดมากมายทุกวัน ทำไมคนที่มาร้องเรียน สปสช. มีแต่ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ทั้งนั้น ก็อนุมานได้ว่าเพราะตัวยามีผลหรือไม่ ดังนั้น การเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาคำตอบว่าเกี่ยวกับยาหรือไม่ยังไม่พอ ก่อนจะพิสูจน์ว่าเป็นเพราะยาใช่หรือไม่ ต้องมีมาตรการไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ด้วยว่าสิ่งใดที่ควรทำในขณะนี้ เพราะถ้ารอคำตอบอย่างเดียวก็จะมีคนร้องเรียนผ่าน สปสช.มาเรื่อยๆ

สำหรับแนวทางการออกมาตรการในระยะนี้ เช่น

1.สื่อสารประชาชนว่าไม่ควรขอให้หมอฉีดยา

2.ถอนยานี้ออกจากทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพราะหากฉีดไปแล้วเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา หากเป็นหมอยังพอรับสภาพได้ แต่ถ้าพยาบาลเป็นคนฉีด โดยกฎหมายแล้วพยาบาลไม่สามารถฉีดยาตัวนี้ให้คนไข้ได้โดยไม่มีคำสั่งแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติก็ทำกันอยู่ ดังนั้นถ้าจะปกป้องผู้ปฏิบัติงานไม่ให้ถูกฟ้องร้องและป้องกันความเสี่ยงแก่ประชาชนก็ควรเอายาออกจาก รพ.สต.ก่อน

3.ถ้าเชื่อว่ายาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) มีผลจริง ทางเลือกคือเปลี่ยนเป็นยาฉีดชนิดอื่น ซึ่งยาที่สามารถทดแทนได้คือยาคีโตโรแลค (Ketorolac) แต่ยาตัวนี้เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ การแก้ปัญหาก็ต้องแก้ไปถึงบัญชียาหลักแห่งชาติว่าเห็นด้วยกับการบรรจุยาคีโตโรแลค (Ketorolac) อยู่ในบัญชียาหลักหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกแก่แพทย์นอกเหนือจากไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นต้น

(ทั้งนี้ ยาคีโตโรแลค (Ketorolac) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) นำมาใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดหรือลดการอักเสบ ที่มีความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก และมักจะใช้ก่อนหรือหลังขั้นตอนการแพทย์หรือการผ่าตัด แต่ไม่ได้นำมาใช้รักษาสาเหตุของโรคยานี้ รวมทั้งไม่นำมาใช้รักษาโรคเรื้อรังหรือโรคที่มีอาการระยะยาว เช่น ข้ออักเสบ เป็นต้น)

"ในมุมประชาชน อยากสื่อสารว่าการเรียกร้องให้หมอฉีดยาให้เป็นเรื่องไม่จำเป็น บางคนมาหาหมอ วัตถุประสงค์คือมาฉีดยา เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดเมื่อย ปวดไหล่ ก็ขอฉีดยา แต่การฉีดยามีความเสี่ยงเสมอ คือ 1.อาจโดนเส้นประสาท 2.เสี่ยงต่อการติดเชื้อเสมอหากฉีดผิดวิธี และหากเป็นยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ก็อาจมีอันตรายจากตัวยาเองก็เป็นได้ที่ทำให้เกิดอาการ นอกจากเส้นประสาทมีปัญหา เดินลำบาก ปวดขา ขาไม่มีกำลังแล้ว ยังทำให้เกิดอาการแปลกๆ อีกหลายอาการ จนในที่สุดเกิดผลเสียร้ายแรง ดังนั้นไม่ควรขอหมอฉีดยาเลย การฉีดยาเป็นการตัดสินใจทางการแพทย์ หมอเป็นคนตัดสินใจให้ฉีด ไม่ใช่ประชาชนมาสั่งหมอว่าจะฉีดยา" ผศ.นพ.พิสนธิ์

อนึ่ง วันที่ 27 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของ อย. ได้ จดหมายข่าวเรื่อง การเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ Diclofenac injection โดยระบุว่า ในระยะเวลา 33 ปี (พ.ศ. 2529 – วันที่ 25 ธ.ค. 2561) พบรายงาน AEs สะสมทั้งหมดจำนวน 10,551 ราย เฉลี่ยปีละ 320 ราย เป็นรายงานใช้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 8,439 ราย (ร้อยละ 79.99) และใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 2,112 ราย (ร้อยละ 20.11)

ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบ AEs ช่วง 10 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2551 – 2560 กับปริมาณการนาเข้า/ผลิตยา diclofenac injection ในช่วงเวลาเดียวกัน พบอัตราการรายงาน AEs เฉลี่ย 7 รายต่อปริมาณการนาเข้า/ผลิต diclofenac injection 100,000 ampules และเมื่อพิจารณาแยกรายปีไม่พบแนวโน้มการรายงานที่สูงขึ้น รวมทั้งการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก เช่น numbness, peripheral nerve injury และ injection site pain ก็ไม่พบแนวโน้มการรายงานที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากเทคนิคการฉีดเป็นหนึ่งในปัจจัยของการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก จึงขอแนะนาบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้ยา diclofenac injection เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อเสียหาย คือควรฉีดลึกๆ เข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกส่วนนอกด้านบน โดยขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการทบทวนข้อมูลความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป


************************************

หมายเหตุ ... ราคายา โดยเฉลี่ย

Diclofenac ราคาต่อ amp 3-4 บาท ที่อยากให้ถอน

Ketorolac ราคาต่อ amp 80-160 บาท ที่จะมาทดแทน


@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ต่อไปนี้จะเป็นการรวบรวมความเห็น จากเพจเฟสบุ๊ค

ความเห็นต่อประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด

1.ประกาศนี้ใช้เฉพาะกับผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ก้าวล่วงไปยังวิชาชีพอื่น หากผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์นี้ฝ่าฝืน (ไม่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ที่ใดก็ตาม) อาจมีประเด็นปัญหาด้านมาตรฐานการประกอบวิชาชีพซึ่งทำให้ถูกพิจารณาจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพได้

2.เภสัชกรฉีดยานี้ไม่ได้ เนื่องจากจะมีประเด็นปัญหาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 หรือพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528

3.ยังไม่ได้ห้ามใช้ Diclofenac ชนิดฉีดในประเทศไทย เนื่องจากในวันที่มีประกาศสภาการพยาบาลฉบับนี้ยังไม่ได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

4.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยาและข้อความของคำเตือน ต้องติดตามต่อไปว่าจะเตือนห้ามใช้ในกรณีใดบ้างหรือไม่ แม้ในอนาคตหากกำหนดห้ามใช้ในประกาศนี้แต่หากมีผู้ฝ่าฝืนใช้ยา ไม่ได้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 แต่ผู้ใช้ยาชนิดฉีดนี้ต้องรับความเสี่ยงหากต้องมีคดีฟ้องร้องในศาล

5.คำแนะนำของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลไม่ใช่กฎหมาย แต่ฝ่ายบริหารอาจใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายการใช้ Diclofenac ชนิดฉีด ตามที่คณะอนุกรรมการเสนอหรือตามที่เห็นสมควรได้

6.กรณีมีการใช้ยา diclofenac ชนิดฉีดในสถานพยาบาลเอกชน หากมีความประสงค์จะจำกัดการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลประเภทใด อาจพิจารณาให้เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2861885343846046&set=a.142035869164354&type=3&theater

 
Parun Rutjanathamrong ข้อความนั้นเป็นของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ไม่ใช่ของสภาการพยาบาลโดยตรง แต่สภาการพยาบาลยืมข้อความนั้นมาเพื่อออกประกาศวิชาชีพคุมคนของตนเองครับ

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการ พัฒนาระบบยาแห่งชาติ (๒๕๕๘) แนะนาให้จากัดการใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีด เฉพาะโรงพยาบาล ระดับตติยภูมิขึ้นไป โดยให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ
 
ในภาพอาจจะมี ข้อความ
Parun Rutjanathamrong อันนั้นยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญครับ ประเด็นสำคัญอยู่ที่หนังสือนี้ที่ให้ร่วมกันทบทวนเทคนิคการฉีดและแนวทางการฉีดยาที่ถูกต้อง แต่ปลายทางออกมาเป็นห้ามฉีดเลย
ในภาพอาจจะมี ข้อความ
 

*************************************
Saengthong HatyaiPharmacy
 

ดราม่าตอนนี้ เรื่องยาฉีดไดโคลฟีแนค จะให้หมอหรือพยาบาลฉีด...หลายคนยังงงๆว่ามันคืออัลลัย...
มาๆเภจะเล่า...

ทำไมต้องฉีดยาไดโคลฟีเนค

ยาฉีดไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาลดปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่ออกฤทธิ์เร็ว จึงนิยมใช้ในสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นคลินิค, รพ., รพ.สต. หรืออนามัย ขนาด1แอมพูลมี 3มล. ให้ตัวยา ไดโคลฟีแนค75มก สามารถให้ทางฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าเส้นเลือด

การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (ที่เป็นประเด็นกันตอนนี้ว่าใครควรเป็นคนฉีดยาจะเป็นหมอ หรือพยาบาล) ใช้สำหรับการปวดรุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กระดูก รูมาตอยด์ ไมเกรน ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน150มก/ วัน โดยแบ่งให้ครั้งละ75มก ห่างกันอย่างน้อย2-3ชม. โดยฉีดเข้าทางสะโพก ออกฤทธิ์เร็วภายใน10-22 นาที

การฉีดไดโคลฟีแนคเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อเสียหาย ควรฉีดลึกๆๆเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกส่วนนอกด้านบน (เภสัชฉีดยาไม่เป็น อ่านหนังสือเอามาเล่าอีกทีค่ะ)

ทำไมไม่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำล่ะ ในเมื่อมีผลข้างเคียงน้อยกว่า...ก็เพราะมันเป็นยาที่มีขั้นตอนในการผสมที่ยุ่งยากกว่ายาอื่นๆน่ะสิ....ก่อนใช้นางต้องผสม D5W หรือ NSS กับ7.5% Sodium bicarbonate inj ก่อน แล้วจึงนำสารละลายดังกล่าวไปผสมกับ Diclofenac และควรใช้ทันทีหลังเตรียมเสร็จโดยให้ทางเส้นเลือดดำต่อเนื่อง 30นาที-2ชม. และหากผสมยาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดตะกอนซึ่งทำให้เกิดอันตราย เช่นการอุดตันในหลอดเลือดได้ (หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหิดล)

ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของอย.ได้สรุปข้อมูลตั้งแต่ปี 2529-25ธค.2561 เป็นเวลา 33 ปี พบรายงานไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนค หรือ AEs สะสม10,551ราย เฉลี่ยปีละ320 ราย โดยพบว่า 79.99% หรือ 8, 439ราย เกิดจากการฉีดยาเข้ากล้าม และอีก 20.11% เกิดจากการให้ยาทางเส้นเลือดดำ

อย่างไรก็ตามในเรื่องที่เป็นประเด็นขณะนี้ กล่าวถึง ผลข้างเคียงของยาไดโคลฟีแนคชนิดฉีดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก sciatic nerve* ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดจากตัวยาเองหรือเทคนิคการฉีดยาก็ได้ ซึ่งต้องการข้อมูลการศึกษาเพิ่มขึ้นต่อไป (ข้อมูลจาก H focus)
*เป็นการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงหน้าแข้งและเท้า ขาอ่อนแรงและอาจพิการได้

สิ่งที่ประชาชนควรทำคืออะไร
ไม่ร้องขอยาฉีดแก้ปวดโดยไม่จำเป็น ควรเก็บเป็นทางเลือกสุดท้าย อย่าไปคิดว่าไปฉีดยาดีกว่า เร็วดี เข็มเดียวหาย และผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยและตัดสินใจใช้ยาฉีดนี้โดยแพทย์เท่านั้น โดยได้รับข้อมูลถึงผลข้างเคียงของยาด้วย

**ผลข้างเคียงเรื่องsciatic nerve ไม่ได้มีผลเวลาคนไข้ได้รับยาไดโคลฟีแนค
ทางการรับประทานนะคะ...จะมีผลเฉพาะกับยาฉีดเท่านั้น**

การใช้ยาทุกชนิดมีความเสี่ยง แพทย์และพยาบาลทุกท่านทำงานเพื่อผู้ป่วยอย่างเต็มที่และเภเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดปัญหาหลังการรักษา ในวันที่ผู้ป่วยเรียกร้องและร้องเรียนบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น การระมัดระวังตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ยาตัวนี้ไม่ใช่ยาใหม่ ยังเป็นยาที่ดี มีประสิทธิภาพสูง ในราคาที่เบิกได้ เภขอให้กำลังใจบุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกท่านค่ะ

เครดิตรูปจาก freepik

#แสงทองเภสัชหาดใหญ่
#เรื่องยาปรึกษาเภสัชกร

https://www.facebook.com/HatyaiPharmacy/photos/a.2052106851740223/2545780385706198/?type=3&theater


แถมความเห็นจากเฟส หมอยา Utai Sukviwatsirikul

5. (อันนี้เราก้อเผือก) คือ ในโลกใบนี้ของเรา มีคนทำดี ตั้งใจทำดี แต่ผลกรรมของระบบ อาจจะตกปุ๊ ลงกระบาลคนตั้งใจทำดี เมื่อไหร่ก้อไม่รู้

ผลกรรมของความดีที่เราตั้งใจทำ อาจเป็นความซวยมากมาย

ดังนั้นหากจะทำดี ต้องรอบคอบ มองถึงปัจจัยรอบด้าน

เราเองจึงแอบมองอยู่เงียบๆ และดุว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา จะปล่อยให้เรื่องนี้ เป็นภาระของผู้ป่วยเหรอ???

https://www.facebook.com/utai.sukviwatsirikul/posts/2928977070466755?__tn__=-R


****************************************
แถม ภาพนี้ ...  ขำ แบบ ขมขื่น  T_T



******************************************
แถมความเห็นของ เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา 
Methee Wong

สรุปtimeline ปัญหาการห้ามฉีด Diclofenac ..

ขึ้นต้นเป็นลําไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา

สปสช.รับรายงานการเกิดSciatic nerve injuryจากการฉีด Diclofenac "IM" เฉลี่ยปีละ ๕ ราย.....ปัญหาไม่ใช่เรื่อง drug allergy !!!!!

รายงานไปที่ อย. กรม.สบส. สำนักสถานพยาบาลกองประกอบโรคศิลป์ และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์

ทำให้มีการทบทวนข้อมูลและสอบทานที่มาของปัญหา...

สรุป...เทคนิคการฉีดยาเข้า "กล้าม" ที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิด Sciatic nerve injury...ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ยืนยันว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากคุณภาพยา...
แต่เป็นเรื่องผู้ฉีดยา ที่ฉีดยาเข้ากล้ามผิดเทคนิค ทำให้เกิด Sciatic nerve injury

ผลสรุปนี้สอดคล้องกับรายงานในตปท. ที่ยืนยันว่า ยานี้มีข้อห้ามร้ายแรง (Absolute contraindication)เฉพาะในคนไข้ Cardiac stroke ส่วนเรื่องการแพ้ยา (Drug allergy)นั้นไม่ได้ต่างกับยาอื่น ๆ (เกิดได้ทุกตัว และตรงกับรายงานเฝ้าระวังการแพ้ยาของ อย.) ...
Mayo clinic สรุปว่า ยานี้ดี.(cost/effectiveness)............
.....พยาบาลหรือผู้ที่ได้รับฝึกฝนอย่างถูกต้อง สามารถบริหารยานี้ให้แก่คนไข้อย่างปลอดภัย...

สรุป "ในตปท. ไม่ได้ห้ามพยาบาลฉีด" แต่ให้ฉีดอย่างถูกเทคนิค (ตรงกับที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ทบทวนวรรณกรรมและทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

ในประเทศไทยจึงมีหนังสือเวียน เตือนกันเป็นขั้นตอน ซึ่งถูกต้องแล้ว..... เพื่อแจ้งให้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทราบและระมัดระวังให้ฉีดอย่างถูกเทคนิค

แต่เหลาไปเหลามา กลายเป็นห้ามพยาบาลฉีดทั้ง IV และ IM !!!!!!!

ซึ่งหมายความว่า .................(จงเติมคำในช่องว่าง)

ปัญหาที่ตามมาคือ

DYNASTAT หรือ KETOLORAC จะเบิกไม่ได้ในผุ้ป่วยหลักประกันสุขภาพ (ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง!!!!!).....หากผู้ป่วยไม่พอใจว่า "ทำไมต้องจ่ายเงินเอง!!!!"...ก็ต้องไปถามเอากับ.........?

จะหันมาฉีด TRAMAL ก็ออกฤทธิ์สู้ Diclofenac ไม่ได้ในผู้ป่วย Severe Low back Pain, Dysmenorrhea, Ureteric stone ...เพราะกลไกออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน ตัวหนึ่งเป็น NSAIDs อีกตัวเป็นอนุพันธ์ของฝิ่น..มีกลไกออกฤทธิ์ต่างกัน

Episode 2....https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3144226535604889

Diclofenac .....ปรากฎการณ์ "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" (The butterfly effect)

(Episode I....https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3139246792769530)

ปรากฎการณ์ Diclofenac ไม่ต่างอะไรจากการจับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน

สุดท้ายคนที่เดือนร้อนที่สุดคือ "ผู้ป่วย" ที่ขาดโอกาสการใช้ยาที่มีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล (Cost/Effectiveness) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยด้วยอาการปวดหลังรุนแรง เข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอย์ด กลุ่มอาการปวดประจำเดือน

และรพ...... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (ยกเว้น ผู้ป่วยทุกสิทธิ ยอมรับที่จะจ่ายค่ายาในราคาแพงมาก ซึี่งไม่รู้ว่าจะมีประสิทธิภาพดีเท่ายาเดิมหรือไม่ )

หน่วยงานที่น่าจะงง งวยที่สุด คือ อย. กรม สบส. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ที่ตั้งคณะกรรมการศึกษาแล้วสรุปชัดเจนว่า ยานี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณภาพ หรืออันตรายจนน่ากลัวตามประกาศที่ออกมาแต่อย่างใด ...เพียงแต่ต้องบริหารยาให้ถูกวิธีการเท่านั้น....ซึ่งหวังดีว่าผลสรุปนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงและถ่ายทอดเทคนิคการฉีดยาที่ถูกวิธีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป...กลับกลายเป็นการเปลี่ยนสาส์นด้วยคำสั่งว่า ...ให้เลิกฉีดยา ซะดื้อ ๆ

จริง ๆ แล้ว หากยาตัวนี้มีอันตรายจริง....คำสั่งที่ถูกต้องคือ "ถอนยาออกจากระบบไปเลย ...ไม่ใช่การปฏิเสธการฉีด ...และสั่ง(กลาย ๆ)ให้คนอื่นฉีดแทน"...เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ....นอกจากทำให้สหวิชาชีพกินแหนงแคลงใจกันโดยใช่เหตุ....

อย่าลืมว่า เมื่อแพทย์ป่วยเอง ก็ต้องการพยาบาลในการดูแล
ในขณะที่เมื่อพยาบาลป่วย ก็ต้องการแพทย์มาดูแลเช่นกัน
และที่สำคัญที่สุดคือ ที่สุดแล้ว..ทั้งสองวิชาชีพ ต้องไปดูแลผู้ป่วยทุกคน

Episode I....https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3139246792769530

*******************************




ถ้าคุณยังสงสัย
นี่คือการรีวิววรรณกรรมครั้งสำคัญ

อาการไม่พึงประสงค์
สถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ที่รวบรวมโดยผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการพยาบาล

เราไม่ได้ทำเพื่อใคร
แต่เราทำเพื่อ
"ปกป้องประชาชน ปกป้องวิชาชีพ"

เพราะความเสี่ยงไม่ควรเกิดกับใคร

อ่านได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1EQnx2jWLoZbfdzDjN44hoL2WPIuhK55D/view?usp=sharing

ที่มา เพจ คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ สภาการพยาบาล  26 ธันวาคม 2562
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=186589065728437&set=a.102781334109211&type=3&theater


********************************************

Episode I....https://www.facebook.com/methee.wong…/posts/3139246792769530 . ....ห้ามฉีดdiclofenacทั่วไทย

Episode 2....https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3144226535604889 .....เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว (Butterfly effect)

Episode 3...https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3169910976369778 ...... บทเรียนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

จนถึงตอนนี้ประมาณเกือบสองสัปดาห์หลังจากมีคำสั่งห้ามพยาบาลทั่วประเทศฉีดยา diclofenac ทั้งการฉีดเข้ากล้าม (IM) และเข้าเส้น (IV) ด้วยเหตุผลว่ามีรายงานว่าผู้ป่วยบางราย มีปัญหาบาดเจ็บเส้นประสาท Sciatic (ทำให้ขาข้างที่เดียวกับก้นที่ได้รับการฉีดยา มีอาการอ่อนแรง) ......ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะต้นทางอย่าง สปสช....อย....ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง...คณะกรรมการการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล..... ว่าจะเอาอย่างไรกันกับคำสั่งนี้ ...เพราะนอกจากจะสวนทางกับคำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว คำสั่งนี้ยังมีปัญหาเรื่องตรรกะความสมเหตุสมผล ...เพราะ
.....
...........
(๑) ถ้าdiclofenacเป็นยาอันตรายจริง..หน่วยงานภายใต้กำกับกท.สธ. อย่าง อย.ต้องเพิกถอนยาออกจากระบบด้วยตนเอง ...ใยต้องรอให้สภาการพยาบาลมาออกคำสั่งห้ามฉีด (ซึ่งหากเป็นจริง..ว่ายานี้มีอันตราย..ก็ต้องขอบพระคุณสภาการพยาบาลที่ออกมานำร่องเป็นหัวขบวนเพื่อความปลอดภัยของคนไทย)
....
(๒) ถ้าการฉีดเข้ากล้ามบริเวณก้น เป็นวิธีอันตรายจริง...องค์การอนามัยโลกก็ต้องมีคำสั่งหรืออย่างน้อยคำเตือนไปทั่วโลกว่า ให้ยกเลิกการฉีดยาเข้ากล้ามบริเวณก้น โดยสิ้นเชิง..ไม่ใช่พยาบาลฉีดไม่ได้ แต่แพทย์ฉีดได้แบบที่สภาการพยาบาลออกคำสั่งให้แพทย์เป็นผู้ฉีดเอง...ปัญหาคือ องค์การอนามัยโลก หรือหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ยังไม่เคยมีคำสั่งนี้ออกมาแต่อย่างใด ...แต่มีคำแนะนำ (Guideline, Recommendation)การบริหารยาที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว (It is preventable by …รออ่านต่อ..)
........
(๓) ถ้าการฉีดdiclofenacเข้ากล้ามเป็นอันตรายจริง คำสั่งที่ควรมีออกมาคือ ห้ามพยาบาลฉีดยาตัวนี้เข้ากล้าม ให้ฉีดเฉพาะเข้าเส้นได้เท่านั้นเพราะการฉีดเข้าเส้นไม่ทำให้เกิดSciatic nerve injuryแน่นอน.......แต่คำสั่งที่ออกมากลายเป็นเหมาเข่ง ห้ามฉีดทั้งเข้ากล้าม + เข้าเส้น.....โดยยังขาดเหตุผลที่เหมาะสมมารองรับ???
......
(๔) ถ้าการฉีดยานี้เข้ากล้ามอันตรายจริง ...การให้แพทย์ฉีดเองจะปลอดภัยกว่าพยาบาลฉีดได้อย่างไร...หรือแพทย์ทราบอะไรที่พยาบาลไม่ทราบ...แทนที่จะแจ้งให้พยาบาลทราบ แต่กลับเงียบไม่บอก และยังออกคำสั่งให้พยาบาลไปฉีดยานี้แก่ผู้ป่วยกระนั้นหรือ?

......
..............
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกคนยามเมื่อเจ็บป่วย.. ถ้าต้องถึงขนาดมีการทำหัตถการหรือการผ่าตัด..ย่อมต้องการให้แพทย์เป็นผู้ลงมือทำเอง ทว่าหากต้องการได้รับการฉีดยาหรือเจาะเลือด.. ก็ย่อมต้องการให้พยาบาลเป็นผู้ลงมือ .โดยเฉพาะตัวแพทย์หรือพยาบาลเอง(รู้ดี รู้มาก) ..ย่อมเรียกร้องให้พยาบาลผู้มากประสบการณ์เป็นผู้ลงมือฉีดยาหรือเจาะเลือดเอง ...คนไข้ที่เวียนเข้าออกรพ.บ่อย ๆ รู้ดีว่า แพทย์ทั่ว ๆ ไปนั้นเมื่อจบออกมาจากรร.แพทย์แล้ว....อาจจับมีดผ่าตัดได้คล่องแคล่ว แต่การจับเข็มฉีดยานั้น มันคนละเรื่องกันแลย.!!!!

....
.......
ความจริงแล้วปัญหาการเกิด Sciatic nerve injury นั้น มีมานานแล้ว...ไม่ได้เกิดเฉพาะเมืองไทย ยาที่ใช้ก็เป็นยาเก่าแก่ที่มีการติดตามการใช้ยาอย่างยาวนาน ในตปท.ก็มีรายงานแบบนี้เช่นกัน...มีการฟ้องร้องเช่นกัน.......วิธีจัดการปัญหาเป็นอย่างไร..ที่แน่ ๆ คือไม่เคยมีการห้ามพยาบาลฉีด และยิ่งไม่มีการบอกว่าแพทย์ต้องเป็นผู้ฉีดเอง

https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3169910976369778


*********************************************


#ประกาศแพทยสภา

"เรื่อง การใช้ยาฉีด ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)"
.
แพทยสภามีหน้าที่ทำให้การรักษามีมาตรฐานและคุณภาพที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยและให้ความรู้แก่ประชาชน และส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ แพทย์จะร่วมรับผิดชอบต่อผลการรักษาที่เกิดจากทีมสหสาขาวิชาชีพเสมอ
.
แพทยสภาตระหนักดีว่า การใช้ยาทุกขนานมีทั้งเกิดผลดีและฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ได้ แพทย์จะดูแลการใช้ยาให้ตรงตามข้อบ่งใช้ ระมัดระวังการเกิดฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ และแก้ไขอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์และอาการแพ้ดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ แพทยสภาจะช่วยประเมินว่า กระบวนการรักษาดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาหรือไม่ หากตรวจพบว่า มีจุดที่สมควรจะพัฒนาในกระบวนการรักษาให้ดีขึ้น เพื่อลดการเกิดฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ดังกล่าว แพทยสภาจะช่วยให้ความรู้และให้ข้อเสนอแนะในกรณีดังกล่าวแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากระบวนการรักษาต่อไป
.
แพทยสภาเห็นว่า ยา Diclofenac มีประโยชน์ทางการแพทย์และมีข้อบ่งใช้ เป็นยาที่มีราคาถูก อยู่ในบัญชียาหลัก มีการใช้แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ สามารถบริหารได้ทั้งการกินโดยใช้ชนิดเม็ดหรือชนิดยาซองละลายน้ำ ยาเหน็บและยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ
.
การฉีดยา Diclofenac เข้ากล้ามเนื้อ สามารถฉีดได้ด้วยความระมัดระวัง และให้ติดตามอาการข้างเคียงหลังการฉีดเช่นเดียวกับยาขนานอื่น การกินยาอาจจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการฉีดยาได้บ้าง
.
การให้ยา Diclofenac อีกวิธีหนึ่งคือ การให้ยาแบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ แพทยสภามีคำแนะนำ วิธีการให้ยา Diclofenac หยดเข้าหลอดเลือดดำ ดังนี้
.
๑. ห้ามฉีดทั้งแบบ bolus หรือ push
.
๒. ให้ผสมยา Diclofenac กับ NSS หรือ D5W ที่มีปริมาณ ๑๐๐ ถึง ๕๐๐ มล. ก่อน แล้วเติมสารละลาย Sodium Bicarbonate เป็นสาร buffer ในปริมาณ ๐.๕ มล. หากใช้ NaHCO3 ชนิดความเข้มข้นร้อยละ ๘.๔ หรือในปริมาณ ๑.๐ มล. หากใช้ NaHCO3 ชนิดความเข้มข้นร้อยละ ๔.๒
.
๓. เขย่าขวดหรือถุงให้ยาละลายเข้ากัน จะต้องได้สารละลายสีใสก่อนจะเริ่มหยดให้ทางหลอดเลือดดำ
.
๔. โดยทั่วไป ให้หยดนาน ๓๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง

#ขนาดยาที่หยดเข้าหลอดเลือดดำตามข้อบ่งใช้

#ข้อบ่งใช้ในการลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด
.
• ควรใช้ขนาด ๗๕ มก. หยดเข้าหลอดเลือดดำนาน ๓๐ นาทีถึง ๒ ชั่วโมง อาจจะให้ซ้ำอีกครั้งได้หลังจากให้ครั้งแรก ๓ ชั่วโมง แต่ไม่ควรยาให้เกิน ๑๕๐ มก. ต่อ ๒๔ ชั่วโมง
ข้อบ่งใช้ในการป้องกันความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด
.
• ควรใช้ขนาด ๒๕-๕๐ มก. หยดเข้าหลอดเลือดดำนาน ๑๕ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง และให้หยดยาแบบต่อเนื่องในขนาด ๕ มก.ต่อ ชม. แต่ไม่ควรให้เกิน ๑๕๐ มก. ต่อ ๒๔ ชั่วโมง
.
#ข้อควรหลีกเลี่ยงการให้ยา_Diclofenac_หยดเข้าหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มีภาวะดังนี้
.
1. กำลังได้รับยา NSAID หรือยา Anticoagulant รวมถึง Heparin ร่วมด้วย
.
2. มีประวัติเลือดออกง่าย เช่น ในระบบทางเดินอาหารและในระบบประสาท
.
3. มีประวัติเป็นหอบหืด ลมพิษ
(โดยเฉพาะผู้เป็นหอบหืดจากการได้ยา แอสไพริน, Ibuprofen หรือ NSAID)
.
4. มีภาวะไตพิการโดยมีค่า Serum Creatinine มากกว่า ๑.๘ มก./ดล. หรือ ๑๖๐ ไมโครโมลต่อลิตร
.
5. มีภาวะ Hypovolemia หรือขาดสารน้ำชัดเจน
.
#เอกสารอ้างอิง
.
1. Campbell WI, Watters CH. Venous sequelae following I.V. administration of diclofenac. Br J Anaesth 1989;62:545-547.
.
2. McNicol ED, Ferguson MC, Schumann R. Single-dose intravenous diclofenac for acute postoperative pain in adults. Cochrane Database of Systematic Reviews 2018, Issue 8. Art. No.: CD012498. DOI: 10.1002/14651858.CD012498.pub2
.
3. Hoy SM. Diclofenac sodium bolus injection (Dyloject(TM)): a review in acute pain management. Drugs. 2016 Aug;76(12):1213-20. doi: 10.1007/s40265-016-0619-7.

#แพทยสภา : 21 มกราคม 2563

หมายเหตุ: คณะกรรมการแพทยสภารับรองในการประชุมครั้งที่ 1/2563 วันที่ 9 มกราคม 2563

https://www.facebook.com/ittaporn/posts/2840885359305585

*************************************************

เพิ่มเติม จากเฟส Ittaporn Kanacharoen
https://www.facebook.com/ittaporn/posts/2840885359305585

ประกาศแพทยสภาเรื่อง Diclofenac 21 มค.2563

"แพทยสภาเห็นว่า ยา Diclofenac มีประโยชน์ทางการแพทย์และมีข้อบ่งใช้ เป็นยาที่มีราคาถูก อยู่ในบัญชียาหลัก มีการใช้แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ สามารถบริหารได้ทั้งการกินโดยใช้ชนิดเม็ดหรือชนิดยาซองละลายน้ำ ยาเหน็บและยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ
.
การฉีดยา Diclofenac เข้ากล้ามเนื้อ สามารถฉีดได้ด้วยความระมัดระวัง และให้ติดตามอาการข้างเคียงหลังการฉีดเช่นเดียวกับยาขนานอื่น การกินยาอาจจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการฉีดยาได้บ้าง
.
การให้ยา Diclofenac อีกวิธีหนึ่งคือ การให้ยาแบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ แพทยสภามีคำแนะนำ วิธีการให้ยา Diclofenac หยดเข้าหลอดเลือดดำ ดังนี้..."






************************************************

บล๊อก ที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB )    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61


ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( เอนเสด ) ... ไม่ใช่ขนมนะครับ จะได้กินกันไปเรื่อย ...    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=08-08-2008&group=28&gblog=3

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

 




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2562   
Last Update : 4 ตุลาคม 2565 15:08:56 น.   
Counter : 5433 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]