Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ ... เคยมีการวิจัยมาเพียบ เมื่อไหร่จะเริ่มแก้ไข ???



กระทู้เก่า ตั้ืิงแต่ปี 2546 แต่ก็ยังใช้ได้อยู่ ผ่านไป 6 ปี ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก ...

//www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums/http/www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P2442188/P2442188.html


ขออนุญาตคุณหมอสยาม และคณะอนุกรรมการการจัดสัมนาของแพทยสภาไว้ที่นี่ด้วยนะครับ ที่นำบทความมาเผยแพร่ที่นี่

ที่นี่มีความเห็นหลากหลาย หวังว่าคงจะได้ข้อเสนอ และแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้นก็เป็นได้ครับ ยินดีรับฟังครับ

บทความเรื่อง สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ
โดย นายแพทย์สยาม พิเชฐสินธุ์ พ.บ., ว.ว. (ศัลยศาสตร์ทั่วไป)

การลาออกของแพทย์ที่รับราชการนั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาจะพบว่าการลาออกของแพทย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนน่าวิตก และจำนวนไม่น้อยของแพทย์ที่ลาออกก็เป็นแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์และความ เชี่ยวชาญด้วย โดยเฉพาะอาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ แพทย์แต่ละคนที่ลาออกก็มีสาเหตุแตกต่างกันไป

ในอดีตการตื่นตัว เรื่องการลาออกของแพทย์ในระบบราชการยังมีไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันมีกระแสต่างๆที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานและชีวิตความ เป็นอยู่ของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิผู้ป่วย ปัญหาการฟ้องร้อง ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น ความรู้และวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งเรื่องของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จนทำให้บางครั้งแพทย์อาจปรับตัวรับกับสภาพต่างๆเหล่านี้ไม่ทัน บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุต่างๆที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ ซึ่งแต่ละปัจจัยก็มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันให้แพทย์ลาออก ดังต่อไปนี้

1. สาเหตุจากรายได้ไม่เพียงพอ (เงินเดือนต่ำ)


เนื่อง จากอัตราบัญชีเงินเดือนของแพทย์ที่รับราชการขึ้นกับอัตราบัญชีเงินเดือนของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งต่างกับอัตราบัญชีเงินเดือนของสาขาวิชาชีพอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่ง หย่อนไปกว่ากัน เช่น ผู้พิพากษา อัยการ

ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ที่มี ภาระต้องดูแลครอบครัว มีความจำเป็นที่จะต้องหารายได้เพิ่มเติม นอกจากการเปิดคลินิก ทำงานนอกเวลาเพิ่มในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะทำให้เวลาพักผ่อนและเวลาของครอบครัวลดน้อยลง

การลาออกจาก ระบบราชการเพื่อมาทำงานเต็มเวลาในโรงพยาบาลเอกชน ( พบว่าแพทย์ที่จบใหม่มีค่าตอบแทนมากกว่าบุคลากรส่วนอื่นที่ทำงานมาแล้ว 10-20 ปี ) หรือเปิดคลินิกส่วนตัวเต็มเวลา ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากกว่าการรับราชการ 5-10 เท่าขึ้นไป ก็เป็นทางเลือกวิธีหนึ่ง

ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจว่าแพทย์ร่ำรวย ซึ่งคงจริงถ้านำไปเปรียบเทียบกับกรรมกร แต่ในความเป็นจริงแล้ว แพทย์ที่รับราชการมีรายได้เพียงแค่อยู่ได้ ไม่อดอยาก แต่ก็ต้องทำงานเสริมนอกเวลาราชการด้วย ถ้าแพทย์จะรวย ก็จะต้องร่ำรวยมาจากมรดกของครอบครัว ทำธุรกิจส่วนตัว หรือลาออกไปเป็นนักการเมือง

คำว่ารายได้ไม่เพียงพอนั้น ยังมีความหมายในเชิงนามธรรมด้วย หมายความว่าไม่เหมาะสมต่อศักดิ์ศรีของวิชาชีพ วิชาชีพที่จะต้องรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ค่าตอบแทนในการทำงานควรจะแปรผันโดยตรงกับความรู้ ความสามารถ และที่สำคัญที่สุดคือความรับผิดชอบต่อสังคมและ เพื่อนมนุษย์ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทำหน้าที่ดูแลและตัดสินเกี่ยวกับความยุติธรรมในสังคม ก็ได้เงินเดือนระดับหนึ่ง นักการเมืองที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ได้เงินเดือนในอีกระดับหนึ่ง

แต่แพทย์ซึ่งรับผิดชอบดูแลสุขภาพ และชีวิตของทุกชีวิตในสังคมกลับได้เงินเดือนในอีกระดับหนึ่ง โดยที่แพทย์จบใหม่ได้เงินเดือน 8,200 บาท จบมา 10 ปี ได้เงินเดือนประมาณ 13,500 บาท ส่วนเงินที่ไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัวจำนวน 10,000 บาทนั้น ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา เพราะแพทย์ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่รับเพียง 10-15 % และที่รับก็มักจะเป็นแพทย์ใช้ทุนหรือเแพทย์เฉพาะทางที่ไม่ใช่สาขาหลัก เพราะไม่สามารถเปิดคลินิกได้ ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนให้ทำนอกเวลา หรือไม่มีแรงจะทำงานเพิ่มอีก (เพราะงานในโรงพยาบาลทั้งในและนอกเวลาก็หนักพอแล้ว)

นอกจากเรื่อง เงินเดือนที่ต่ำแล้ว ค่าตอบแทนในการทำงานนอกเวลาราชการก็ยังต่ำกว่าในภาคเอกชน 10-20 เท่าอีกด้วย ( รัฐบังคับให้อยู่เวรนอกเวลาราชการด้วยค่าตอบแทน 400-900 บาท ต่อ 8 ชั่วโมง )

ดังนั้น ทางภาครัฐจึงควรจะแยกบัญชีเงินเดือนของแพทย์ที่รับราชการออกจากข้าราชการ ส่วนอื่น โดยมีการประชุมร่วมของทุกฝ่ายด้วยความจริงใจเพื่อหาฐานเงินเดือนที่เหมาะสม ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และร่วมกับการปรับเงินเดือนเพิ่มเป็นพิเศษตามความกันดารของท้องถิ่น (เพิ่มในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลจังหวัดที่อยู่ไกลมาก ไม่ใช่เงินค่าเบี้ยกันดาร 10,000-20,000 บาท ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ยั่งยืนและโรงพยาบาลที่อยู่ในข่ายก็มีจำนวนน้อย ไม่เป็นการแก้ปัญหาในภาพรวม) ซึ่งจะทำให้การกระจายตัวของแพทย์ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา


2. สาเหตุจากความรับผิดชอบที่หนักเกินไป โดยเฉพาะนอกเวลาราชการ

ใน ช่วงชีวิตของการเป็นแพทย์ ส่วนใหญ่จบการศึกษาเมื่ออายุได้ 23-24 ปี หลังจากนั้นก็ไปทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุน และส่วนใหญ่ก็จะไปศึกษาต่อเฉพาะทาง จนจบเมื่ออายุได้ประมาณ 30-31 ปี จากการศึกษาพบว่าแพทย์มีอายุเฉลี่ยประมาณ 59 ปี (ชาย 62 ปี หญิง 55 ปี) ซึ่งน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยมาก (ประมาณ 70 ปี) ดังนั้นแพทย์จึงมีเวลาทำงานแค่ประมาณ 30 ปี หลังจบเฉพาะทาง จึงมีคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ช่วงชีวิต 30 ปี ที่เหลือนี้มีความสุขอย่างสมดุลได้มากที่สุด

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของ แพทย์ที่รับราชการคือ การอยู่เวร และที่สำคัญก็คือไม่มีการระบุไว้ในระเบียบของทางราชการว่าแพทย์จะต้องอยู่ เวรไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรืออายุเท่าไรจึงจะไม่ต้องอยู่เวร (ในเวลาราชการแพทย์ต้องมาทำงานทุกวันอยู่แล้ว)

นั่นหมายความว่า ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์ที่มีในแผนก เป็นสำคัญ เช่น ถ้ามีแพทย์ในแผนก 2 คนต้องทำงาน 108 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้ามีแพทย์ 3 คน ต้องทำงาน 85 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้ามีแพทย์ 4 คนจะต้องทำงาน 74 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้ามีแพทย์ 5 คน จะทำงาน 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งยังไม่รวมเวรห้องฉุกเฉิน เวรชันสูตรพลิกศพ และเวรอื่นๆอีก ซึ่งหมายความว่าถ้าไปทำงานในโรงพยาบาลที่มีแพทย์เป็นจำนวนมากเท่าใด คุณภาพชีวิตก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น มีอายุยืนยาวและสุขภาพแข็งแรงพอที่จะดูแลประชาชนได้นานขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้

2.1 แพทย์อาวุโส ซึ่งส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ที่ยังมีภาระต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการ ไม่สามารถอยู่เวรนอกเวลาราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการทำงานหลังเที่ยงคืน ซึ่งจะทำให้สุขภาพกายและใจทรุดโทรม ตอนเช้าก็จะรู้สึกไม่สดชื่น ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลง

ซึ่ง แพทย์อาวุโสเหล่านี้ถ้าทนอยู่ได้ก็อยู่ไป ถ้าอยู่ไม่ได้ก็อาจจะคุยกันในแผนกก่อน ถ้าแพทย์ในแผนกมีน้อยอยู่แล้วและจำเป็นต้องอยู่เวร ก็ลาออกจากราชการไป ซึ่งพบได้อยู่เรื่อยๆ และเป็นที่น่าเสียดายซึ่งแพทย์อาวุโสเหล่านี้เป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์และ ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาราชการ

2.2 เกิดผลกระทบแบบโดมิโน (Domino effect) ในการทำงานของแพทย์ จะเน้นการทำงานเป็นทีม มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับผู้ป่วย มีการช่วยกันทำงาน ช่วยกันอยู่เวรในแผนก ถ้าเกิดมีแพทย์ในทีมลาออกไป จะทำให้แพทย์ที่เหลือมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นทั้งในและนอกเวลาราชการ ถ้าทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็ลาออกไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไปเรื่อยๆจนหมดแผนก หรือจนกว่าจะรับแพทย์เข้ามาใหม่

นอกจากนั้น ในวันหยุดราชการ แพทย์ยังคงต้องมาดูแลผู้ป่วยประจำวันในตอนเช้า (ROUND) ทั้งๆที่ไม่ได้อยู่เวร (จึงไม่ได้ค่าแรงที่มาทำงานนอกเวลาราชการ แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังคงทำอยู่ เพื่อผู้ป่วยและจรรยาบรรณของแพทย์) ซึ่งการทำงานนอกเวลาที่มากเกินพอดี ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ขาดเวลาทำกิจกรรมที่ทำให้คลายความเครียดจากการทำงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แพทย์มีอายุเฉลี่ย 59 ปี

ในประเทศ ฝรั่งเศส มีกฎหมายห้ามแพทย์ทำงานเกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่แพทย์ส่วนใหญ่คิดว่าคงยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ก็ควรจะมีการประชุมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เช่น การเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการและพิจารณาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ให้เหมาะ สม เพิ่มสวัสดิการเป็นพิเศษให้กับแพทย์อาวุโสที่จำเป็นต้องอยู่เวรนอกเวลา ราชการ เช่น อายุราชการทวีคูณ หรือผลประโยชน์อื่นๆที่เหมาะสม


3. สาเหตุเนื่องจากสภาพครอบครัวและสังคม

โดย ที่แพทย์แต่ละคนมีสภาพพื้นฐานทางครอบครัวและสังคมแตกต่างกัน บางคนบิดา มารดา ต้องการให้กลับมาอยู่ด้วยกัน บางคนบิดา มารดา มีสุขภาพไม่แข็งแรงทำให้ต้องกลับไปดูแลใกล้ชิด บางคนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขในจังหวัดหรือโรงพยาบาลที่ไปทำ งานอยู่ บางคนต้องกลับไปอยู่กับบุตรและภรรยา บางคนต้องย้ายเพื่อไปหาสถานศึกษาหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับครอบครัว ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่มีใครผิดและบางครั้งไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ ทำให้แพทย์ที่กลับไปทำงานในจังหวัดที่ไปรับทุนมาศึกษาต่อหรือโดยทุน ส่วนกลาง มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายข้ามโรงพยาบาลหรือย้ายข้ามจังหวัด

ซึ่ง บางครั้งวิสัยทัศน์ของผู้บริหารหรือระเบียบของทางราชการที่นำมาบังคับใช้กับ แพทย์ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า มีปัญหา เช่น ผู้บริหารไม่ยอมให้ย้าย ไม่มีเลขที่ตำแหน่งรองรับ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องมีความยืดหยุ่นและมีข้อยกเว้นสำหรับแพทย์ที่ ตั้งใจจะรับราชการต่อ

การแก้ปัญหาเหล่านี้ ควรจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เปิดโอกาสให้แพทย์ที่ต้องการย้ายเข้าไปคุยถึงเหตุผล สามารถเปิดตำแหน่งข้าราชการให้ได้ในโรงพยาบาลปลายทางที่ต้องการรับ แพทย์เป็นวิชาชีพที่มีทางออกในช่องทางการทำงาน เมื่อขอย้ายไปรับราชการต่อใกล้บ้าน แล้วถูกปฏิเสธ แต่มีความจำเป็นต้องย้าย แพทย์ส่วนมากจึงต้องใช้วิธีการลาออกเพื่อไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือเปิด คลินิกส่วนตัว นอกจากนั้นยังอาจมีแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนอีกบางส่วนซึ่งมีความต้องการที่จะ กลับเข้ารับราชการ แต่ไม่มีตำแหน่งให้ ทั้งๆที่โรงพยาบาลของรัฐยังขาดแคลน

นอก จากนั้น รัฐยังต้องเร่งสร้างความเจริญให้ทั่วถึง โดยเฉพาะตามชนบทที่ห่างไกล และต้องเน้นในเรื่องระบบการศึกษา พัฒนาสถานศึกษาให้มีความเจริญทัดเทียมกัน ในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งจะทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งมีความสุขเพียงพอที่จะรับราชการในจังหวัดเดิมหรือ ในจังหวัดที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ


4. สาเหตุเนื่องจากความเสี่ยงในวิชาชีพมีมากขึ้น ได้แก่

4.1 ความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง ในปัจจุบันผู้ป่วยมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการรักษาของแพทย์เพิ่มมากขึ้น ทั้งๆที่โดยเกือบจะทั้งหมดจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยต่างๆในการรักษา หรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการรักษาซึ่งพบได้ในตำรารักษาโรค โดยที่ปัญหาต่างๆเหล่านี้ไม่มีแพทย์คนใดต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุของความเสี่ยงในการฟ้องร้อง ได้แก่

4.1.1 แพทย์มีเวลาดูแลรักษาผู้ป่วยน้อยลง เพราะจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐมีจำนวนมากขึ้น ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ต้องตรวจผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นตั้งแต่ 50-100 คนต่อแพทย์หนึ่งคนต่อวัน ในการตรวจและอธิบายถึงสาเหตุของโรค วิธีการรักษา ผลของการรักษา และภาวะแทรกซ้อนของการรักษาให้ผู้ป่วยเข้าใจ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-20 นาที ขึ้นไปต่อผู้ป่วยหนึ่งคน (ซึ่งจะมีส่วนทำให้การฟ้องร้องลดน้อยลง) เพราะฉะนั้น ถ้าทำงานโดยไม่หยุดพักเลยใน 1 วันทำการ แพทย์จะรักษาผู้ป่วยได้ไม่เกิน 30 คนต่อวัน

แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ที่แพทย์จะทำเช่นนั้น เพราะจะมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ต้องรอตรวจ จึงทำให้เกิดคำพูดที่ว่า “ตรวจผู้ป่วยมากถูกฟ้องมาก ตรวจผู้ป่วยน้อยถูกฟ้องน้อย ทำงานมากถูกฟ้องมาก ทำงานน้อยถูกฟ้องน้อย”

4.1.2 ผู้ป่วยมีความคาดหวังในการรักษาสูง ผู้ป่วยส่วนมากเข้าใจว่า เวลามาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา จะต้องได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาที่ถูกต้อง ต้องรักษาหายและไม่มีภาวะแทรกซ้อน แม้ว่าแพทย์จะได้อธิบายถึงความเสี่ยงของการรักษา (morbidity and mortality) แล้ว แต่บางครั้งผู้ป่วยก็ไม่เข้าใจหรือไม่พยายามเข้าใจ

ใน ความจริงของการรักษาโรคนั้น อาการบางอาการหรือโรคบางโรคจะมีลักษณะที่คล้ายหรือใกล้เคียงกัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ วินิจฉัยโรค หรือบางครั้งต้องรอดูอาการของโรคเพื่อหาคำตอบสุดท้าย

ซึ่งถ้าหาก ผู้ป่วยไม่เข้าใจคิดว่าแพทย์ที่ตนเองกำลังรักษาอยู่นั้นไม่เก่ง ก็จะย้ายโรงพยาบาลไปหาแพทย์คนอื่น ซึ่งก็อาจจะต้องตรวจหรือดูอาการต่อไปอีก และผู้ป่วยก็อาจจะย้ายไปอีกจนถึงแพทย์คนสุดท้าย ซึ่งก็อาจจะวินิจฉัยโรคได้เพราะได้ข้อมูลมาพร้อม ผู้ป่วยแสดงอาการของโรคที่ชัดเจนขึ้นจนตัดโรคอื่นๆได้หมด ถ้ารักษาจนหายก็อาจจะไม่มีเรื่อง (หรือแพทย์คนแรกๆอาจถูกต่อว่าหรือตำหนิได้) แต่ถ้ารักษาไม่หายหรือเสียชีวิต แพทย์ที่รักษาคนแรกก็อาจจะถูกฟ้องได้ว่ารักษาโดยไม่รอบคอบหรือประมาท ทั้งๆที่แพทย์คนแรกอาจจะเก่งและดูแลผู้ป่วยดี แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ยากทำให้ต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยหรือเป็นโรคที่มี ความเสี่ยงในการรักษาสูง ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้อยู่บ่อยๆ จนหลายครั้งทำให้แพทย์หมดกำลังใจในการรักษาได้


4.1.3 ความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยและสังคมของแพทย์ โรคบางโรคมีความซับซ้อน มีความเสี่ยงและค่อนข้างยากต่อการรักษาหรือการผ่าตัด ถ้าแพทย์ทุกคนหรือแพทย์ส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะรักษาหรือกลัวที่จะถูกฟ้องร้อง ถ้าผลของการรักษาของแพทย์ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติ แพทย์จึงส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์แทน ผู้ป่วยก็จะได้รับผลกระทบ ที่แน่นอนก็คือ จะได้รับการรักษาที่ช้าลง เนื่องจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะรับผู้ป่วยไว้รักษาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องคอยคิวนานขึ้นในการรักษา อาการหรือความรุนแรงของโรคก็จะลุกลามมากขึ้น จนบางครั้งอาจช้าไปหรือเสียโอกาสในการรักษา ทั้งๆที่การรักษาอาจทำได้เหมือนกันในโรงพยาบาลทั่วไป แต่การรักษาก็ย่อมมีความเสี่ยง แพทย์ที่ทำการรักษาบางครั้งเหมือนยอมแบกรับความเสี่ยงด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโอกาสในการรักษาที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งถ้าผู้ป่วยและญาติไม่เข้าใจ และถ้ามีปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนในการรักษาเกิดขึ้นมา แพทย์ก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้ว่าไม่ยอมส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ขนาดใหญ่หรือรักษาโดยประมาท นอกจากนั้น การเดินทางเข้าโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์ ก็ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายต่างๆในการไปเยี่ยมไปเฝ้า ทำให้ต้องสูญเสียเงินทองตามมาอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น โรคบางโรคอาจต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ หรือการตรวจทางรังสีเพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ตามตำราที่แพทย์ได้ศึกษามา (มักจะเป็นตำราต่างประเทศ) ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง แพทย์ส่วนใหญ่มีความเข้าใจถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย ต้องนำเข้าเทคโนโลยีในการรักษาเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในบางครั้งแพทย์ก็ตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจทางรังสีไม่ครบ ตามตำราที่ได้ศึกษา (ตรวจตามความจำเป็น ไม่ใช่เป็นการประมาท) เนื่องมาจากงบประมาณอันมีจำกัด ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ถ้าผู้ป่วยไม่เข้าใจและเอาข้ออ้างต่างๆเหล่านี้มาฟ้องร้องแพทย์ ต่อไปแพทย์ก็คงจะต้องตรวจและอธิบายผู้ป่วยอย่างละเอียด ส่งผู้ป่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการและทางรังสีทุกอย่างที่มีในตำรา จนบางครั้งอาจกลายเป็นการส่งตรวจเพื่อป้องกันตนเองในกรณีที่มีการฟ้องร้อง (protective medicine) ซึ่งแน่นอนจะทำให้ผู้ป่วยต้องรอคอยการรักษาที่ นานขึ้น (แพทย์ตรวจได้ไม่เกินวันละ 30 คน) และจะทำให้งบประมาณของระบบสาธารณสุขไทยจะต้องเพิ่มขึ้นและบานปลายมากกว่า ปัจจุบันอีกหลายเท่าตัว ซึ่งคงไม่มีรัฐบาลไหนอยากเจอสภาพเช่นนี้

4.1.4 การทำงานนอกเวลาราชการ (โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืน) แพทย์ซึ่งทำงานมาแล้วทั้งวันในเวลาราชการ จะมีความอ่อนล้า อิดโรย การทำงานของสมองและการตัดสินใจเริ่มเฉื่อยลง แต่ผู้ป่วยที่มีอาการ หนักมักจะมาตอนกลางคืน ทำให้การรักษาอาจผิดพลาดได้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เกิดจากความไม่พร้อมของร่างกายและจิตใจของแพทย์ ซึ่งมีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ

4.1.5 การขาดประสบการณ์ของแพทย์ใช้ทุนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดส่งแพทย์ซึ่งสำเร็จการศึกษาไปทำงานในจังหวัด ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วย ซึ่งเรียกว่าไปเป็นแพทย์ใช้ทุน แต่ประชาชนทั่วไปกลับเข้าใจว่าแพทย์ที่ส่งไปนั้นมีความสามารถรอบด้าน

ซึ่งในความเป็นจริงถึงแม้ว่าน้องๆแพทย์ใช้ทุนเหล่านี้จะจบแพทย์แล้ว แต่ยังขาดประสบการณ์ในการวิเคราะห์และรักษาโรค โดยเฉพาะในการทำหัตถการต่างๆ ทำให้เหมือนกับว่าส่งน้องๆแพทย์ใช้ทุนไปขึ้นเขียงรอวันผิดพลาด และอย่างที่ทราบว่าในปัจจุบันนี้ผู้ป่วยมีความคาดหวังสูง ถ้าแพทย์ทำผิดพลาดเมื่อใด ก็จะต้องถูกฟ้องร้อง แม้ว่าจะเกิดจากสาเหตุสุดวิสัยหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆก็ตาม และที่สำคัญก็คือ การขาดประสบการณ์ในการดูแลและรักษาเบื้องต้นในผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉินในเรื่องการคลอด ซึ่งมารดาที่มาคลอดและญาติมาโรงพยาบาลด้วยความหวังที่จะมีสมาชิกใหม่เกิด ขึ้น ถ้าเกิดภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวกับการคลอดในการดูแลของแพทย์ใช้ทุน แล้วมีการสูญเสียขึ้น เรื่องคงจะไม่จบง่ายๆ ซึ่งพบได้เรื่อยๆ

ดัง นั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจึงควรปรึกษากับโรงเรียนแพทย์ให้เน้นในเรื่องภาว ะฉุกเฉินต่างๆก่อนที่จะจบการศึกษาประมาณ 1 เดือน และถ้าเป็นไปได้ให้ทุกคนอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัด 1-2 เดือนก่อนที่จะส่งไปโรงพยาบาลชุมชน เพื่อเสริมทักษะในหัตถการต่างๆให้แน่น ความเสี่ยงต่างๆจะได้ลดลง (เนื่องจากพบว่า การฟ้องร้องแพทย์ใช้ทุนจะพบบ่อยที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เพราะเป็นช่วงที่แพทย์ใช้ทุนเริ่มไปทำงาน)

และกระทรวงสาธารณสุขควร ยอมรับความจริงและบอกกับประชาชนว่าแพทย์ใช้ทุนเหล่า นี้เป็นผู้เสียสละมาทำงานในชุมชน แต่ยังขาดประสบการณ์ จึงควรจะมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าแพทย์ใช้ทุนเหล่านี้ลาออก ก็คงจะไม่มีแพทย์มาทำงานในโรงพยาบาลชุมชน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เกี่ยวกับการฟ้องร้องแพทย์นั้น นอกจากแพทย์อาจจะต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียชื่อเสียง ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือด้านจิตใจ แพทย์บางคนรักษาผู้ป่วยมาตลอดชีวิต ดูแลผู้ป่วยให้หายเป็นพันเป็นหมื่นคน แต่กลับมาถูกฟ้องร้องในเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจหรือเป็นเหตุสุดวิสัยที่หลีก เลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้แพทย์หลายคนลาออกจากระบบราชการ เพราะไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ถูกฟ้องได้ มาอยู่ระบบเอกชนดีกว่า เพราะงานเบากว่า (หรืออาจจะพอๆกัน) แต่รายได้ดีกว่ามาก แพทย์บางคนถึงกับเลิกอาชีพแพทย์ไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ไปประกอบธุรกิจส่วนตัวหรือธุรกิจขายตรงต่างๆ เป็นตัวแทนขายประกัน ชีวิต ไปสอบเป็นผู้พิพากษา เป็นต้น ซึ่งนับวันก็จะมีแพทย์ลาออกจากราชการมากขึ้นเรื่อยๆ

และเป็นที่น่า สังเกตว่า ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการผลิตแพทย์ขึ้นโดยตรง โดยไม่ได้ผ่านระบบโรงเรียนแพทย์เหมือนที่ผ่านมา ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่เริ่มตั้งข้อสังเกตและเป็นห่วงถึงมาตรฐานและคุณภาพของ แพทย์ที่จะจบออกมา ซึ่งอาจจะมีส่วนทำให้การฟ้องร้องเพิ่มขึ้นได้

4.2 ความเสี่ยงในการติดเชื้อจากผู้ป่วย เชื้อที่พบบ่อยได้แก่ ไวรัสโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) ไวรัสตับอักเสบ เชื้อวัณโรค ซึ่งถ้าแพทย์ติดเชื้อมาจากผู้ป่วยก็จะทำให้เกิดผลร้ายต่อตนเองและครอบครัว ซึ่งผลที่ตามมาจะหนักหรือเบาก็ขึ้นกับตัวเชื้อโรคที่ได้รับ

กระทรวง สาธารณสุขควรจะจัดอุปกรณ์และเครื่องมือที่ได้รับมาตรฐานและ เพียงพอแก่แพทย์และบุคลากรทาง การแพทย์เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และมีมาตรการชดเชย สวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ จากผู้ป่วย

4.3 ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ บ่อยครั้งที่แพทย์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากการอยู่เวรนอกเวลาราชการในตอนกลางคืนจนถึงเช้า ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่พอเพียงกับความต้องการ หลังจากออกเวรในตอนเช้า อาจจะมีความจำเป็นต้องขับรถกลับบ้านหรือไปทำธุระส่วนตัว ทำให้อาจหลับในจนเกิดอุบัติเหตุ บางครั้งก็ร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

4.4 ความเสี่ยงของสถาบันครอบครัว เนื่องจากเงินเดือนของแพทย์ที่รับราชการไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ทำให้แพทย์ส่วนมากต้องทำงานเสริมนอกเวลาราชการ ไม่เปิดคลินิกก็ทำงานพิเศษในโรงพยาบาลเอกชน จนบางครั้งทำให้ไม่มีเวลาดูแล ให้ความอบอุ่นแก่ครอบครัว และอบรมสั่งสอนบุตร บางครั้งอาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้ จนกลายเป็นปัญหาสังคม หรือแม้แต่ตัวของแพทย์เองที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 59 ปี ซึ่งเกิดจากการทำงานหนัก สะสมความเครียดในการดูแลรักษาผู้ป่วย ถ้าเกิดแพทย์ผู้นั้นมีอันเป็นไปก่อนวัยอันสมควร ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บ จะทำให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังลำบากที่จะต้องสู้ชีวิตต่อไปโดยลำพัง ซึ่งก็อาจจะเกิดปัญหาสังคมได้อีก ถ้าไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ


5. สาเหตุจากแพทย์ต้องการความก้าวหน้าทางการศึกษาต่อเนื่อง

โดย ส่วนใหญ่หลังจากแพทย์ใช้ทุนหมดพันธะการใช้ทุนกับรัฐแล้ว แพทย์ใช้ทุนบางส่วนจะเอาทุนจากรัฐไปศึกษาต่อเฉพาะทาง เพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่อไป (เกือบทั้งหมดจะเป็นทุนของโรงพยาบาลจังหวัด) บางส่วนก็จะลาออกจากราชการเพื่อไปสมัครศึกษาต่อเฉพาะทางเอง
(free training) ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก

แต่ ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาจะพบว่ามีการลาออกของแพทย์ใช้ทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทางกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้กำหนดทุนให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่ เป็นของรัฐ ได้จัดสรรทุนโดยเน้นไปยังแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อสนองนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และได้ลดจำนวนทุนแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นลงไปอย่างมาก

ซึ่งการจัดสรร ดังกล่าวไม่ตอบสนองต่อความต้องการของแพทย์ใช้ทุนส่วนใหญ่ซึ่งต้องการศึกษา ต่อเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่าเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จึงทำให้มีการลาออกของแพทย์ใช้ทุนเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากมีการเพิ่มขึ้นของการศึกษาต่อแบบ free training อย่างมากในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ

ซึ่งผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการ ที่รัฐคิดอยู่ฝ่ายเดียว ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆคือรัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยไม่ปรึกษาหรือสอบถามความต้องการศึกษาต่อของแพทย์ใช้ทุน และคาดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอีก 4-5 ปีข้างหน้า คือ ผู้ป่วยที่จะมารักษาต่อกับแพทย์เฉพาะทางจะต้องเข้าคิวรอนานขึ้นอย่างมาก เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางจะมีจำนวนลดลง แต่ความต้องการของผู้ป่วยที่จะมาพบแพทย์เฉพาะทางจะมีจำนวนมากขึ้น

ส่วน แพทย์เฉพาะทางที่จบแบบ free training และต้องการที่จะกลับเข้ารับราชการอีกก็ค่อนข้างลำบาก เพราะเลขที่ตำแหน่งของข้าราชการจะมีจำนวนลดน้อยลง ถึงแม้จะมีก็อาจจะไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลที่ต้องการ ทำให้พอมองเห็นภาพในอนาคตว่าคงจะเกิดวิกฤติขึ้นแน่

กระทรวงสาธารณสุข ควรจะเปิดศูนย์ศึกษาต่อเนื่องของแพทย์เฉพาะทาง (ให้แยกจำนวนทุนที่จัดสรรออกมาจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว) เพื่อให้แพทย์ใช้ทุนได้มาแจ้งความจำนงเกี่ยวกับสาขาและโรงพยาบาลที่ต้องการ แล้วจึงประสานงานกับโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจึงจัดสรรทุนออกมา ซึ่งจะทำให้แพทย์ใช้ทุนลาออกจากราชการน้อยลงอย่างมาก และกระทรวงสาธารณสุขควรจะเปิดตำแหน่งข้าราชการไว้พอสมควร ให้กับโรงพยาบาลที่ขอตำแหน่งสำหรับแพทย์ที่ต้องการจะกลับเข้ามารับราชการอีก ครั้ง


6. สาเหตุจากคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัด (มักพบในแพทย์ที่สังกัดกระทรวงกลาโหม)
ส่วนใหญ่มักจะต้องย้ายเพื่อไปติดยศ หรือย้ายหลังจากจบแพทย์เฉพาะทางซึ่งได้ทุนจากกองทัพ ทำให้แพทย์ที่มีครอบครัวหรือมีที่ทำงานนอกเวลาราชการลงตัวแล้ว มีความจำเป็นต้องลาออก บางกองทัพมีแพทย์ลาออกถึงปีละประมาณ 20-40 คน นอกจากนั้นยังพบได้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ทุนเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางแบบทุนส่วนกลาง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนดโรงพยาบาลที่จะต้องไปปฏิบัติงานให้ เอง


7. สาเหตุจากปัจจัยเสริมอื่นๆ
ได้แก่

7.1 ผู้บริหารโรงพยาบาลบางคนขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารหรือบริหารแบบรวบอำนาจ ไม่รับฟังความคิดเห็นของแพทย์ด้วยกัน หาผลประโยชน์จากโรงพยาบาลมาใส่ตนเอง ทำให้แพทย์ที่ตั้งใจทำงานรับไม่ได้

7.2 ปัญหาในเรื่องพนักงานของรัฐ พนักงานของรัฐมีความแตกต่างกับข้าราชการค่อนข้างมากในเรื่องของความมั่นคงใน วิชาชีพ เพราะต้องถูกประเมินทุกปี (ทำให้บางครั้งไม่กล้าเสนอความคิดเห็น หรือเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ เพราะอาจไปขัดใจผู้บังคับบัญชาได้) อำนาจในการสั่งการโดยตรงต่อข้าราชการก็ทำได้ไม่เต็มที่ กฎ ระเบียบต่างๆก็ยังไม่พร้อม ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ที่เป็นพนักงานของรัฐรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพการทำงาน

7.3 กฎหมายต่างๆที่ออกมาบังคับใช้กับแพทย์ เช่น

พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

พร บ.ยา (โดยเฉพาะมาตราที่ห้ามแพทย์ รวมถึงทันตแพทย์ สัตวแพทย์ จ่ายยาที่คลินิก แต่กลับไม่ห้ามร้านขายยาที่ขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เหมือนกับมี double standard ซึ่งถ้าต้องการให้เป็นมาตรฐานสากล ก็ควรห้ามเภสัชกรขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ด้วย มิเช่นนั้นอาจทำให้ดูเหมือนมีเงื่อนงำซ่อนอยู่ พบว่าใน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แพทย์สามารถตรวจ วินิจฉัย และจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้ที่คลินิก และร้านขายยาห้ามขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ )

กฎหมายชันสูตร (โดยเฉพาะถ้าต้องไปชันสูตรในพื้นที่ที่เป็นป่าเขา หุบเหว หรือที่ห่างไกลความเจริญ และถ้าเป็นในเวลากลางคืน ทำให้เป็นห่วงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแพทย์ โดยเฉพาะถ้าเป็นแพทย์ผู้หญิง นอกจากนั้นยังเบียดบังเวลาที่จะไปดูแลผู้ป่วยที่รอตรวจและผู้ป่วยฉุกเฉินอีก ด้วย)

ซึ่งกฎหมายต่างๆที่ออกมาบังคับใช้กับแพทย์ ส่วนใหญ่จะพบว่าผู้ที่ร่างกฎหมายแทบจะไม่มีส่วนในการถูกบังคับใช้กฎหมาย แต่แพทย์เกือบทั้งหมดที่ไม่ได้มีส่วนรับรู้มาก่อน กลับต้องมาถูกบังคับใช้โดยคนเพียงไม่กี่คน ไม่เคยมีการสอบถามความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์โดยแพทย์มาก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองของรัฐกับแพทย์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ


7.4 จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งมีส่วนทำให้

7.4.1 โรงพยาบาลบางแห่ง มีเงินบำรุงลดลง ทำให้การรับแพทย์เฉพาะทางเข้ามาช่วยงานและดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นเป็น ไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก (เพราะเงินเดือนที่จะต้องจ่ายให้แพทย์รวม อยู่ในงบรายหัวของประชากร ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่รับจากกระทรวงการคลัง) ซึ่งมีผลทำให้แพทย์ที่มีอยู่เดิมทำงานหนักเกินไป จนมีการลาออกกันอย่างมาก และจากการที่มีเงินบำรุงลดลง พบว่า

โรงพยาบาลบางแห่งได้ตัดค่าเวรของ แพทย์ (รวมข้าราชการส่วนอื่นด้วย) บางแห่งตัดถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าเวรของแพทย์ที่รับราชการก็ต่ำอยู่แล้ว ทำให้แพทย์ที่ต้องพบกับสภาพเช่นนี้หรือแพทย์ที่ได้ทราบข่าวหมดกำลังใจในการ ทำงาน ทั้งๆที่แพทย์ไม่ได้มีส่วนผิดเลยแม้แต่น้อย

7.4.2 ผู้ป่วยมีความคาดหวังกับรักษาสูงมากขึ้น มีการฟ้องร้องมากขึ้น ทั้งๆที่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แพทย์ก็รักษาผู้ป่วยเหมือนเดิม ไม่แตกต่างกัน ตามกำลัง ความรู้ความสามารถ และเงินบำรุงที่มีในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยและรัฐกลับลืมคำว่า “ไม่มีของดี ราคาถูก บนโลกใบนี้ ”

และผู้ป่วยส่วนหนึ่งคิดว่าแพทย์จะต้องรักษา ให้ได้ทุกอย่าง โดยที่ไม่ยอมดูแลสุขภาพตนเองเลย ยังดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน ไม่ออกกำลังกาย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของอุบัติเหตุต่างๆ เมาแล้วขับ ทะเลาะวิวาท ซึ่งสาเหตุต่างๆเหล่านี้อาจทำให้การรักษาไม่เป็นไปดังความคาดหวัง ของผู้ป่วยและแพทย์ และผู้ป่วยบางคนไม่เข้าใจและต่อว่าหรือฟ้องร้องแพทย์ โดยที่ลืมไปว่าโรคภัยต่างๆที่เกิดขึ้นก็ล้วนแต่ทำตัวเองทั้งสิ้น

7.4.3 ภายหลังจากที่มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค รัฐเอาใจใส่ ดูแลห่วงใยผู้รับบริการมากเป็นพิเศษ แต่รัฐกลับลืมฟันเฟืองตัวที่สำคัญที่สุดในระบบสาธารณสุข นั่นคือ ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะแพทย์ รัฐขาดความเอาใจใส่ ดูแลแพทย์ด้วยความจริงใจ รัฐดูแลแพทย์เหมือนข้าราชการธรรมดาทั่วไป ซึ่งคงไม่ผิด ถ้าแพทย์ไม่ได้รับผิดชอบชีวิตเพื่อนมนุษย์

รัฐได้เพิ่มงานต่างๆให้ กับแพทย์ที่รับราชการ เช่น งานออกหน่วยปฐมภูมิ โดยที่แพทย์เกือบทั้งหมด ไม่ได้มีความต้องการที่จะทำ ซึ่งเป็นการใช้คนไม่ตรงกับงาน และงานในโรงพยาบาลก็มีมากพออยู่แล้ว และถ้ามองลึกลงไปในหน่วยงานราชการต่างๆของรัฐ จะพบว่าหน่วยงานที่มีภาคเอกชนให้การบริการคู่กับภาครัฐ นอกจากหน่วยงานการศึกษาแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานทางสาธารณสุขนั่นเอง ซึ่งถ้ารัฐไม่ดูแลแพทย์ในระบบราชการให้ดีแล้ว ก็เหมือนเป็นการบังคับให้ย้ายไปอยู่ในภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการทางสาธารณสุขในภาครัฐ และ ก็ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐได้ไล่ ผู้ป่วยให้ไปสู่ระบบเอกชนโดยอ้อมนั่นเอง


จาก บทความทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้มีการพูดถึง “สิทธิแพทย์” ซึ่งสิทธิแพทย์นี้ไม่ได้เป็นการต่อต้านหรือขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วย แต่เป็นการเสริมให้สิทธิผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น

“สิทธิแพทย์” คือ สิทธิ์ของแพทย์โดยชอบธรรมที่จะได้รับการดูแลตั้งแต่ในเรื่องของสภาพความเป็น อยู่ คุณภาพชีวิต สภาพการทำงานและความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับแพทย์ นั่นก็คือ การกำหนดเรื่องของเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม กำหนดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจ การป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับแพทย์และช่วยเหลือเมื่อมีความ เสี่ยงเกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งแพทย์ทุกคนมุ่งหวังที่จะให้มีสิทธิแพทย์เกิดขึ้น เพื่อผู้ป่วยและสิทธิผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและปฏิบัติอย่างดีที่สุด


สุดท้ายผู้เขียนยังเชื่อในมาตรฐาน คุณภาพ และจรรยาบรรณของแพทย์ส่วนใหญ่ ที่เสียสละทำงานเพื่อผู้ป่วยทั้งกายและใจ ถึงแม้ว่าจะได้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนน้อยเพียงใดก็ตาม และยังต้องแลกกับความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดตามมาด้วย เวลามีผลกระทบต่างๆเกิดขึ้นกับแพทย์ แพทย์ไม่เคยรวมกลุ่มกันประท้วงหยุดงาน ไม่เคยปฏิเสธผู้ป่วยเหมือนในบางประเทศ นั่นก็แสดงถึงความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยและสังคมของแพทย์ แต่แพทย์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะตัว เช่น ลาออกจากราชการหรือเลิกอาชีพแพทย์

จึงหวังว่าทางภาครัฐคงจะรับรู้ และเข้าใจความรู้สึกของแพทย์ แพทย์ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะได้หาทางออกร่วมกันในอันที่จะรักษาจำนวนแพทย์ที่มีอยู่ในภาคราชการ ให้อยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุขและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนที่ยากไร้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ตัวผู้เขียนเองก็ยังมีความเสียใจจนถึงปัจจุบัน ที่ได้ลาออกจากระบบราชการ แต่เพราะผู้บริหารไม่อนุมัติให้ย้ายมายังโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อกลับ มาดูแลครอบครัว ทำให้มีความจำเป็นต้องลาออกจากราชการ แต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่งคงจะได้กลับเข้ารับราชการอีกตามที่ใจต้องการ

และ อยากจะขอให้แพทย์ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทุกท่าน ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว (หรือทำแต่น้อยมาก) หรือไม่ได้อยู่เวรต่างๆนอกเวลาราชการ ได้โปรดอย่าลืมสิ่งที่พวกท่านเคยผ่านมาตั้งแต่สมัยเป็นแพทย์จบใหม่ งานที่หนัก ค่าตอบแทนที่ต่ำ และที่สำคัญคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของวิชาชีพแพทย์ ได้โปรดอย่าให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่แพทย์มาทำลายความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง มาทำลาย SENIORITY ของพวกเรา

และถ้าจะออกกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ มาใช้กับแพทย์ส่วนใหญ่ที่ยังประกอบวิชาชีพเวชกรรมอยู่ ก็ขอให้ได้สอบถามความเห็นของแพทย์หรือมีการทำประชาพิจารณ์โดยแพทย์ส่วนใหญ่ เสียก่อน

ซึ่งผลประโยชน์สุดท้ายจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับ แพทย์ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานก็จะเกิดกับประชาชนในที่สุด และผู้เขียนคิดว่าคงจะสายเกินแก้แน่ ถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจังและแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ ตั้งแต่บัดนี้


ทุกครั้งที่แพทย์พูดเรื่องเกี่ยวกับเงินเดือน สวัสดิการ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของแพทย์ มักจะถูกสื่อมวลชน ประชาชน หรือแม้แต่นักการเมือง ถามคำถามเหล่านี้

ถาม รัฐบาลออกเงินให้เรียนแพทย์จนจบ ได้เปรียบคนอื่นตั้งมาก ยังไม่พอใจอีกหรือ แล้วจะเอาอะไรอีก

ตอบ

1. ไม่ใช่วิชาชีพแพทย์อย่างเดียวที่เอาทุนไปเรียน วิชาชีพอื่นที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ รัฐบาลก็ให้เงินอุดหนุนการศึกษาด้วยเช่นกัน และการเรียนแพทย์ก็ยังคงต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยเช่นเดียวกัน

2. ไม่ใช่แพทย์เรียนฟรี เพราะหลังจากจบเป็นแพทย์แล้ว ต้องไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนตามหน่วยงานต่างๆที่เป็นของรัฐ เป็นเวลา 3 ปี ด้วยเงินเดือนเริ่มต้นเพียง 8,200 บาท และถ้าจะลาออกก็จะต้องชดใช้เงินจำนวน 400,000 บาท คืนแก่รัฐ สรุปได้ว่า แพทย์ไม่ได้เรียนฟรี ต้องชดใช้ในรูปแบบของการปฏิบัติงานหรือจำนวนเงิน (ถ้าลาออก)

3. ถ้ารัฐบาลไม่ให้เงินสนับสนุนในการศึกษา ก็จะมีแต่บุตร หลานของคนร่ำรวยมาเรียนแพทย์ ทำให้หลังจากจบเป็นแพทย์แล้ว โอกาสที่จะไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดก็จะลดน้อยลงด้วย เพราะฉะนั้นจึงยังมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องให้ทุนการศึกษาต่อไป


ถาม เป็นแพทย์ต้องรู้จักคำว่าเสียสละต่อสังคมและประชาชน

ตอบ

แพทย์ ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความต้องการปัจจัย 4 เหมือนคนทั่วไป (ปัจจัย 4 ที่เหมาะสมกับฐานะและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ)

และ ขอให้สังคมมองภาพในความเป็นจริงบ้าง ว่าที่ผ่านมาแพทย์ยังทำเพื่อสังคมไม่พออีกหรือ และจะต้องให้แพทย์ทำเพื่อสังคมอีกนานเท่าไร แพทย์ถึงจะทำเพื่อตนเองและครอบครัวได้บ้าง โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำงานภาครัฐ

จากคุณ : siktp - [ 5 ก.ย. 46 07:51:31 ]



.................................

งานวิจัย ล่าสุด  ผลก็ไม่แตกต่างกันนัก Smiley

Date: 2012-06

การคงอยู่ในชนบทและในราชการของแพทย์ภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบท
//kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/3588?locale-attribute=th

Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ภายหลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี ๒๕๕๒ เก็บข้อมูลทุติยภูมิจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ทราบรูปแบบการเคลื่อนย้ายของแพทย์ในระหว่างปี ๒๕๔๔-๒๕๕๔ และวิเคราะห์โอกาสการคงอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขและในชนบทโดยใช้สถิติ survival analysis
ผลการศึกษาพบว่าแนวโน้มการเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบทก่อนการชดใช้ทุนครบ ๓ ปีแล้วนั้นไม่แตกต่างกับก่อนการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย นอกจากนั้นพบว่าแนวโน้มการออกจากกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้หลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอาจจะทำให้อัตราการลาออกจากราชการไม่เพิ่มขึ้นมากนักใน 2 รุ่นหลัง แต่ในด้านการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ยังลดลงในทุกรุ่น แม้แต่รุ่นที่ได้รับผลจากการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี ๒๕๕๒ ได้แก่รุ่นปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๐ ซึ่งมีการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ลดลงเช่นเดียวกับรุ่นอื่นๆ อย่างไรก็ตามในการที่จะธำรงกำลังคนไว้ในระบบให้นานขึ้นนั้นควรจะพิจารณาแรงจูงใจที่หลากหลาย ได้แก่ แรงจูงใจด้านการเงินและแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น สถานที่ปฏิบัติงานใกล้ภูมิลำเนา มีโอกาสศึกษาต่อ มีความก้าวหน้าเร็วกว่าการทำงานในเมือง ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ทำงานและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เป็นต้น

จากงานวิจัย “การคงอยู่ในชนบทและในราชการของแพทย์ภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบท” ซึ่งเป็นงานวิจัยของ “นงลักษณ์ พะไกยะ, กฤษฎา ว่องวิญญู, วรางคณา วรราช, สัญญา ศรีรัตนะ และจิราภรณ์ หลาบคำ” ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการคงอยู่ในชนบทของแพทย์หลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2552 เป็นการเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รู้ถึงรูปแบบการเคลื่อนย้ายของแพทย์ในระหว่างปี 2544-2554 และวิเคราะห์โอกาสของการคงอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขและในชนบท

ผลการศึกษาพบว่า แนวโน้มการเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบทก่อนการชดใช้ทุนครบ 3 ปีนั้นไม่แตกต่างกับก่อนการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายปี 2552 นอกจากนั้นยังพบว่า การออกจากกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าหลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอาจจะทำให้การลาออกจากราชการไม่เพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 2 รุ่นหลัง แต่ในด้านการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ยังลดลงในทุกรุ่น แม้แต่รุ่นที่ได้รับผลจากการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2552 ได้แก่ รุ่นปี 2549 และ 2550 ซึ่งการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ลดลงเช่นเดียวกันกับรุ่นก่อนๆ

จากข้อมูลของแพทยสภา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ประเทศไทยมีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนและสามารถติดต่อได้ จำนวน 39,406 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ที่ให้บริการในสถานพยาบาลในชนบท ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 4,705 คน คิดเป็น 12% ของแพทย์ทั้งหมด ซึ่งดูแลประชากรร้อยละ 54 แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสมระหว่างเมืองกับชนบท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการลาออกของแพทย์ในแต่ละปียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน (ดูตารางการลาออกของแพทย์แต่ละปีประกอบ)

จำนวนแพทย์โรงพยาบาลชุมชน-แพทย์ที่ลาออก

จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานในชนบทยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากราชการหรือออกจากชนบทก่อนการเสร็จสิ้นสัญญาทุน 3 ปี

จึงอาจกล่าวได้ว่า การเพิ่มค่าตอบแทนไม่อาจส่งผลต่อการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ได้ ซึ่งการจะรักษากำลังคนไว้ในระบบให้นานขึ้นควรพิจารณาแรงจูงใจที่หลากหลาย ทั้งมาตรการด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน โดยในส่วนของมาตรการการเงินควรจะออกแบบให้สามารถสร้างแรงจูงใจมากขึ้น เช่น การเพิ่มค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความทุรกันดารมากขึ้น หรือผูกติดกับภาระงาน ความยากลำบาก เป็นต้น และควรทำควบคู่ไปกับมาตรการที่ไม่ใช้การเงิน เช่น สวัสดิการต่างๆ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ การศึกษาต่อเนื่อง การมีระบบแพทย์พี่เลี้ยง เป็นต้น

การเพิ่มแรงจูงใจในด้านการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดแพทย์ไว้ในชนบทได้ สอดคล้องกับงานวิจัยต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่จะสามารถดึงดูดกำลังคนด้านสุขภาพมาทำงานในชนบทนั้นประกอบด้วย 1. ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น มีภูมิลำเนาในชนบท มีค่านิยมชอบชนบท 2. ปัจจัยด้านครอบครัว 3. ปัจจัยด้านการเงินและรายได้ 4. ปัจจัยความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น มีโอกาสศึกษาต่อ มีโอกาสไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีพี่เลี้ยง/การติดตามงานที่ดี 5. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เช่นมีโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรเพียงพอ มีบ้านพัก

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่เคยศึกษาส่วนมากสอดคล้องกับการศึกษาของ “นงลักษณ์และคณะ” ซึ่งสรุปว่า แม้แพทย์จะให้ความสำคัญกับปัจจัยการเงินมากที่สุดในการเลือกทำงานในชนบท แต่สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินมีความสำคัญใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลอยู่ใกล้ภูมิลำเนา มีโอกาสศึกษาต่อเฉพาะทาง โรงพยาบาลขนาดเล็ก การได้รับการเลื่อนขั้นที่เร็วขึ้น การมีแพทย์ที่ปรึกษาและจำนวนเวรที่ไม่มากนัก

งานวิจัยระบุว่าการพัฒนามาตรการที่จะจูงใจให้แพทย์ทำงานในชนบทนั้น ควรต้องมีการออกแบบที่ตั้งอยู่บนข้อมูลเชิงวิชาการ และมีความครอบคลุมทั้งแรงจูงใจที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน โดยไม่ควรให้น้ำหนักเฉพาะด้านการเงินเพียงด้านเดียว และควรมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ ประเมินและปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องบริบทอื่นๆ ที่เปลี่ยนไป

งานวิจัยได้ระบุถึงการแก้ปัญหาแพทย์ในชนบทว่า ประเทศไทยได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดแพทย์เข้าสู่สถานบริการชนบทที่หลากหลาย เพื่อลดความแตกต่างของการกระจายแพทย์ระหว่างเมืองและชนบท ได้แก่

1. มาตรการด้านการผลิต โดยการทำสัญญาชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี และปรับ 400,000 บาท การผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อประชาชนในชนบทซึ่งเริ่มในปี 2537 โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งแพทย์ ในปี 2548 และโครงการอื่นๆ ส่งผลให้การผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 700-1,000 คน ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา(ปี 2545 ผลิตได้ 1,417 คน)

2. มาตรการด้านการเงิน โดยมีการเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับแพทย์ที่ทำงานในชนบท เริ่มจากปี 2518 ต่อมาในปี 2538 มีการจ่ายค่อตอบแทนพิเศษกรณีที่ไม่รักษาคนไข้นอกเวลาราชการ มีการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพื้นที่ทุรกันดารและเสี่ยงภัยในปี 2540 และปี 2548

3. การดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ได้แก่ โควตาการอบรมเฉพาะทาง โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่ง การมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ตลอดจนการมีชมรมเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เป็นต้น

แม้อาจจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า ในมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมานั้น มีมาตรการใดบ้างที่มีประสิทธิภาพต่อการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ แต่โดยภาพรวมแล้วส่งผลให้มีแพทย์เพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเห็นได้จากสัดส่วนของแพทย์ต่อประชาชนในภาพต่างๆ สูงขึ้น แต่ยังปรากฏความเหลื่อมล้ำของการกระจายตัวของแพทย์ จากข้อมูลปี 2553 พบว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับกรุงเทพฯ มีความแตกต่างลดลงจาก 10 เท่า ในปี 2536 เป็น 7.5 เท่า ในปี 2553 โดยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1:4,591 คน, ภาคใต้ 1:3,148 คน, ภาคเหนือ 1:3,059 คน, ภาคกลาง 1:2,699 คน, และกรุงเทพฯ 1:628 คน แต่สถานการณ์การลาออกของแพทย์ก็ยังเป็นไปตามตารางที่แสดงข้างต้น


"""""""""""""""""""""""""""""""""""

« เมื่อ: 19 เมษายน 2011, 20:55:39 »

จากข่าว(1)ว่าในปี2553 มีแพทย์เข้าทำงานในกระทรวงสาธารณสุข 1,303 คน แต่มีแพทย์ลาออกจากสธ. 602 คน คิดเป็นร้อยละ 46.2 ซึ่งจำนวนแพทย์ลาออกลดลงจากปี 2552 ที่มีแพทย์ลาออกร้อยละ 71.3

และถ้าพิจารณาการลาออกจาก 5 ปีย้อนหลัง พบว่า ปี 2553 มีแพทย์ลาออกน้อยที่สุด โดยปี 2548 มีแพทย์ลาออก 61.9% ปี 2549 จำนวน  71.3% ปี 2550 จำนวน 69.6% ปี 2551 จำนวน 76.4% ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าจำนวนแพทย์ลาออกเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ ปี 2545  ที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง มีแพทย์ลาออกถึง 61.6%  เพิ่มขึ้นเป็น 75.9% ในปี 2546 ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2544 มีแพทย์ลาออกคิดเป็นเพียง 28.9%   
       แต่จำนวนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ข้อมูลการผ่าตัดของโรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยที่ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขได้เลย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข

   ถ้ามาดูว่า สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขเพราะอะไร จากการสำรวจของแพทยสภา ในปีพ.ศ. 2545 พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขก็คือ

1. แพทย์ถูกบังคับให้ชดใช้ทุน โดยไม่สามารถเลือกจังหวัดหรือสถานที่ที่จะไปทำงานได้

2.งานหนัก (ทำงานสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง , มีจำนวนผู้ป่วยมากเกินไป  ทำให้แพทย์ไม่มีเวลาพอที่จะตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างดีมีคุณภาพมาตรฐาน มีเวลาตรวจผู้ป่วยเฉลี่ยคนละ 2-4 นาที, เสี่ยงต่อความผิดพลาดและถูกฟ้องร้อง )(2)

3.เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ (ต่ำกว่าในภาคเอกชน 10 เท่า) และยังค้างจ่ายอีกด้วย(3)

 4.ต้องการเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่กระทรวงสาธารณสุขจำกัดจำนวนผู้จะไปเรียน ทำให้ต้องลาออก เพื่อจะไปเรียนต่อ

5.ไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

6.ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ

ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดตามสาเหตุการลาออกดังนี้

1.การถูกบังคับให้ชดใช้ทุนโดยไปทำงานในจังหวัดห่างไกล  ตามความเป็นจริงแล้ว นักศึกษาแพทย์ไม่ได้รับทุนการศึกษาใดๆจากรัฐบาล(4) เนื่องจากนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็ต้องเสียค่าเล่าเรียนเหมือนนักศึกษาอื่นๆ  อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า รัฐบาลต้องลงทุนในคณะแพทยศาสตร์มากกว่าคณะอื่นๆ แต่นักศึกษาแพทย์ก็ช่วยทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยภายใต้ความควบคุมของอาจารย์ ได้เงินกลับคืนมาให้โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์มากมาย ไม่เหมือนนักศึกษาคณะวิชาอื่นๆ ที่ไม่ได้ช่วยทำงานให้มหาวิทยาลัยที่ตนเล่าเรียน

   แต่ประเทศชาติต้องการแพทย์(และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ) กระทรวงสาธารณสุขจึงหาทางที่จะบังคับให้แพทย์ต้องทำงาน “ใช้ทุน” (ทั้งๆที่ไม่เคยได้ทุน) (4) แต่วิธีการบังคับให้แพทย์ต้องจับฉลาก ทำให้แพทย์อาจไม่พอใจในสถานที่ต้องไปทำงาน แต่แพทย์ส่วนมากก็ยอมไปทำงานตามที่ถูกกำหนดไว้ แต่อาจจะทนไม่ได้กับการบริหาร ระบบงาน หรือปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว จึงอาจไม่สามารถทนอยู่ได้

2.ต้องทำงานหนักเกินกำลัง ต้องรับผิดชอบตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการทำให้เวลาทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง(2) คิดเป็นเวลาการทำงานมากกว่าข้าราชการทั่วไป 2-3 เท่า มีผู้ป่วยรอตรวจล้นโรงพยาบาลทุกวัน(5)  ผู้ป่วยใน(นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล)ก็ต้องนอนตียงเสริม เตียงแทรก การที่มีจำนวนผู้ป่วยมาก(บางแห่งหมอต้องตรวจผู้ป่วยวันละมากกว่า 100 คน) ทำให้แพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยคนละ 2-4 นาที(2)เท่านั้น

การที่แพทย์ต้องทำงานมาก มีเวลาพักผ่อนน้อย ทำให้เกิดความเครียดสะสม ทำให้เบื่อหน่ายต่อภาระงาน และอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยและอาจนำไปสู่ความไม่พึงพอใจและการฟ้องร้อง ทำให้แพทย์มีความเครียดเพิ่มขึ้น ประชาชนก็อาจไม่ได้รับความเข้าใจในวิธีการรักษา หรือไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเกิดผลเสียหายจากการรักษา นำไปสู่การกล่าวหา ร้องเรียนและฟ้องร้อง ทำให้แพทย์เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น

3.เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำกว่าภาคเอกชนเป็นสิบๆเท่า ทั้งๆที่มีภาระรับผิดชอบมากกว่าเป็นร้อยเท่า ทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งลาออก(3) เพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ส่งผลให้แพทย์ที่ยังทำงานในกระทรวงสาธารณสุขยิ่งต้องรับภาระงานหนักขึ้น

4.แพทย์ส่วนมากยังต้องการที่จะไปเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ เนื่องจากวิชาการแพทย์มีการพัฒนาและขยายความรู้ทั้งด้านลึกและด้านกว้าง การมีความรู้เพียงแพทยศาสตร์บัณฑิต อาจจะทำให้แพทย์ไม่มั่นใจในการตรวจรักษาผู้ป่วยทุกโรค(ทั่วไป) แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่เปิดโอกาสให้แพทย์ลาศึกษาต่อในจำนวนที่เท่ากับ ศักยภาพของโรงเรียนแพทย์ที่ให้การศึกษาและฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะได้ จึงทำให้แพทย์ที่ต้องการเรียนต่อต้องลาออกเพื่อจะได้ไปเรียนต่อตามความต้อง การ

5.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

5.1ทำให้ประชาชนมาใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้น 2 -3 เท่าของจำนวนผู้ป่วยก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(5) ทำให้ภาระงานของแพทย์เพิ่มมากขึ้น โดยบางครั้งก็เป็นภาวะที่ประชาชนควรจะมีความสามารถในการดูแลป้องกันและรักษา อาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้เอง

5.2 สปสช.ได้เข้ามาก้าวก่ายการใช้ดุลพินิจในการรักษาหรือสั่งยาและเครื่องมือแพทย์ให้ผู้ป่วย ทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยของตน เนื่องจากถ้าไม่ทำตามข้อกำหนดของสปสช.แล้วโรงพยาบาลก็จะไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วย(3) ทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากถ้าสั่งยาที่สปสช.ไม่อนุมัติ โรงพยาบาลก็จะไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยจากสปสช. ทำให้แพทย์ขาดอิสรภาพทางวิชาการแพทย์ในการพิจารณารักาผู้ป่วยที่ตนรับผิดชอบ

 อัน ที่จริงแล้วการที่สปสช.ได้ตั้งกฎเกณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยนั้น เป็นการละเมิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้กำกับดูแลการบริหารงานของสปสช.ให้ถูกต้อง ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ในการที่จะได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบางโรค

6. การไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ของแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เนื่องจากก.พ.ไม่กำหนดตำแหน่งเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์มีแต่จะมากขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรเหล่านี้ต้องถูกบังคับ(ให้ใช้ทุน)ให้ทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งขาดความก้าวหน้าในอนาคตที่จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวไปตลอดกาล จึงเลือกที่จะลาออกไปแสวงหาการทำงานในสภาพที่ดีกว่า

 พบว่า จำนวนลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนมากมายหลายหมื่นคน

  ข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหาการลาออกและการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข

1.การจัดสรรแพทย์จบใหม่ควรให้มีการยืดหยุ่นให้สามารถขอแลก/ โอนย้าย และสับเปลี่ยนสถานที่ทำงานกันได้ตามความเหมาะสมและความสะดวก(พอประมาณ)ของครอบครัว

2. การลดจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยการบริหารจัดการในเรื่องระเบียบการมารับบริการของประชาชน มีระบบนัด เพื่อกำหนดจำนวนผู้ป่วยให้พอเหมาะกับจำนวนบุคลากร

 ลดการพึ่งพิงบริการโรงพยาบาล โดยการลดการเจ็บป่วยของประชาชน ทำได้โดยการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันความเจ็บป่วย โดยส่งเสริมให้อสม.และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีความสามารถในการให้ความรู้แก่ประชาชนให้มีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อลดภาระโรงพยาบาลในการรักษา  รวมทั้งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมแก่สถานภาพทางการเงินของแต่ละคน ผู้ยากไร้ ควรได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย แต่ผู้มีสถานภาพทางการเงินที่อยู่เหนือระดับความยากจน ควรมีส่วนร่วมจ่ายเงิน เพื่อไม่ให้มารับยาฟรีมากเกินจำเป็น

3.กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ใหม่ ให้พอใกล้เคียงกับราคาตลาดในภาคเอกชน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ยังคงทำงานในกระทรวงสาธารณสุข

4. ควรส่งเสริมให้แพทย์ได้เรียนต่อในสาขาที่ขาดแคลน และเมื่อแพทย์เรียนจบ ก็ควรมีตำแหน่งรองรับ ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าไปอยู่ระบบเอกชน ประชาชนที่ไปใช้โรงพยาบาลภาครัฐก็จะขาดแคลนบุคลากรที่ดูแลรักษาต่อไป

5.การแก้ไขการบริหารจัดการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช. ไม่ควรให้เป็นองค์กรพิเศษนอกราชการ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการดำเนินการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชน เนื่องจากในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานมากมายมหาศาล แต่ขาดงบประมาณในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ต้องไปขอรับเงินจากสปสช.

   การ บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสปสช.ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังเป็นสาเหตุให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาด ทุนจนถึงกับขาดสภาพคล่อง 579 แห่ง เป็นจำนวนร้อยละ 70 ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด (6)

 กระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนบุคลากรตามมาตรฐานที่เหมาะสมกับภาระงาน เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้การกำหนดตำแหน่งของก.พ. ซึ่งกำหนดตำแหน่งน้อยกว่าความจำเป็นในการรองรับภาระงานที่มีมากขึ้นตลอดเวลา สมควรจะแยกออกมาจากก.พ. เพื่อให้สามารถกำหนดตำแหน่งและความก้าวหน้าในการทำงานให้เหมาะสม เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานในสธ.ต่อไป

แพทย์ยังถูกสปสช.บังคับไม่ให้ใช้ยานอกเหนือจากที่สปสช.กำหนด ทั้งๆที่สปสช.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น

   ควรโอนสปสช.กลับมาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีเงินเหลือกลับมาให้บริการประชาชนมากขึ้น และจะได้บุคลากรทางการแพทย์มาทำงานบริการทางการแพทย์มากขึ้นแทนที่จะไปบริหารกองทุน ใช้เวลาประชุมคิดโครงการมากมาย ซึ่งซ้ำซ้อนกับภาระงานของกระทรวงสาธารณสุขและไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.

ทั้งนี้ เนื่องจากสปสช.กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นมากมาย ตั้งเงินเดือนสูงๆ อัตราเบี้ยประชุมสูงๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลาออกไปอยู่สปสช.มากมาย เนื่องจากมีแรงจูงใจคือเงินดี งานสบาย ถ้าให้สปสช.มาสังกัดสธ. ก็จะได้บุคลากรทางการแพทย์กลับมาทำงานบริการทางการแพทย์อีกมากมายหลายพันคน

ต้องถามว่ามีใครเคยตรวจสอบการบรรจุบุคลากรและการกำหนดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของสปสช.ว่า เหมาะสมหรือไม่เพียงใด และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?

6. การแก้ไขเรื่องการกำหนดตำแหน่ง และเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ควรทำโดยการแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ. เพื่อจะได้กำหนดตำแหน่งให้เหมาะกับภาระงาน ให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีบุคลากรที่เพียงพอต่อภาระงานในการตรวจรักษาประชาชน ไม่ขาดแคลนทุกวิชาชีพดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน(7) ทั้งนี้เพื่อให้มีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพเพียงพอในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขให้มีมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ประชาชนปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนไปใช้บริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก.พ.กลับลดตำแหน่งคนทำงาน ขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพ

นอกจากนั้น บุคลากรยังลาออกอย่างต่อเนื่อง

ทำให้บุคลากรขาดแคลนมาหลายสิบปี และถ้าไม่แก้ไขให้เหมาะสม ก็จะมีการขาดแคลนบุคลากรทุกสาขาวิชาชีพต่อไป

ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพได้ ส่งผลเสียหายต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

จึงควรแยกจากก.พ. เพื่อมากำหนดตำแหน่ง ค่าตอบแทน และให้มีความก้าวหน้าทางตำแหน่งในสาขาวิชาชีพหรือหน้าที่ต่างๆให้เหมาะสม เพื่อลดการลาออก มีตำแหน่งบรรจุ มีแรงจูงใจที่จะทำงานในกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
(สผพท.)
18 เม.ย. 54

 //www.thaihospital.org/board/index.php?topic=1575.0

เอกสารอ้างอิง

1.แพทย์ใช้ทุนแห่ลาออกเรียนต่ออื้อ ปี 54 หมอ-พยาบาลยังขาดแคลน
//manager.co.th/images/blank.gif
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
18 เมษายน 2554 08:26 น.
//manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000047193

2. ฉันทนา ผดุงทศและคณะ : ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550:16(4): 493-502

3. กองบรรณาธิการวารสารวงการแพทย์: แก้ปมปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ วารสารวงการแพทย์ 2553; 13(333): 17-20

4. อดุลย์ วิริยะเวชกุล : เมดิคัลฮับ-นโยบายแย่ การจำกัดสิทธิของแพทย์-นโยบายยอดดีกระนั้นหรือ? วารสารวงการแพทย์ 2553;13(333): 1

5.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล วารสารวงการแพทย์ 2551;10(272):28-29

6. อดุลย์ วิริยะเวชกุล โรงพยาบาลรัฐ 579 แห่งก็มีการขาดทุนเหมือนกันด้วยหรือ วารสารวงการแพทย์ 2553 ; 13 (330):1

7. เชิดชู อริยศรีวัฒนา การขาดแคลนข้าราชการแพทย์ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข วารสารวงการแพทย์ 2551 ; 10 (274): 28-29

"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""


แถม ..

ข้อแนะนำ ถ้าต้องลาออกจากราชการ มีขั้นตอนอย่างไร?...

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-02-2008&group=27&gblog=19

ทำไมผมถึงลาออกจากราชการ .... เรื่องเก่าเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2551 เอามาเล่าสู่กันฟัง

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-01-2011&group=27&gblog=20

สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ... เคยมีการวิจัยมาเพียบ เมื่อไหร่จะเริ่มแก้ไข ???

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2010&group=27&gblog=18

เปิดกับดัก'งานหนักฆ่าหมอ' คนในรู้จนชิน'เรื้อรังมานาน'... เดลินิวส์

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-07-2017&group=27&gblog=21





 

Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2553   
Last Update : 26 กรกฎาคม 2560 13:23:09 น.   
Counter : 8404 Pageviews.  

ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย ... ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา




ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย

การทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์ เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอย่างมากทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน

ในฝ่ายสนับสนุน

เห็นว่าควรเป็นสิทธิของผู้ตั้งครรภ์ ในการที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ กรณีที่เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เพราะหากปล่อยไว้จนคลอดออกมาจะเกิดปัญหาสังคมตามมา หรือไปทำแท้งกับหมอเถื่อนที่ไม่ใช่แพทย์จนเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิงที่ตั้งครรภ์ได้ (แม้ทำแท้งอย่างถูกต้องโดยแพทย์ก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน)

ในฝ่ายต่อต้าน

คำนึงถึงด้านศีลธรรมในเรื่องการทำลายชีวิตที่เกิดมาแล้วในครรภ์นั้น ถือว่าเป็นการฆ่าคนคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นบาปขั้นร้ายแรงอย่างหนึ่ง และคำนึงถึงสิทธิของชีวิตที่ได้อุบัติขึ้นแล้วควรจะได้เกิดมาเป็นคนคนหนึ่งต่อไป

บางประเทศในยุโรปได้มีกฏหมายทำแท้งเป็นการเฉพาะให้ทำได้โดยความสมัครใจของหญิงตั้งครรภ์ โดยไม่มีเงื่อนไขในเรื่องเหตุผลของการทำแท้ง เพียงกำหนดอายุครรภ์ที่จะทำแท้งได้เท่านั้น เช่น ไม่เกิน 12 สัปดาห์หรือไม่เกิน 28 สัปดาห์ ที่เรียกว่า การทำแท้งเสรี ในประเทศดังกล่าวจึงอาจมีชาวต่างชาติมาขอทำแท้งในประเทศนั้นได้ กรณีที่ในประเทศของตนเองไม่สามารถทำแท้งได้


สำหรับประเทศไทย การทำแท้งเป็นการกระทำผิดกฏหมายอาญา ยกเว้นตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฏหมายอาญา ที่ให้ทำได้โดยแพทย์และความยินยอมของหญิงตั้งครรภ์ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

1. การตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์

2. การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำผิดอาญาหรือการถูกข่มขืน


ในทางการแพทย์ปัญหาสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์นั้นคำนึงถึงสุขภาพจิตร่วมด้วย(ยังมีข้อสงสัยว่าการกำหนดดังกล่าวกระทำเกินกว่าที่กฎหมายข้างต้นกำหนด)

การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และกรณีที่ทราบว่าทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการรุนแรงหรือเป็นโรคพันธุกรรมรุนแรง แม้ไม่เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ก็อาจทำแท้งได้ โดยอาศัยเหตุที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ได้แก่ ความเครียดอย่างรุนแรง ซึ่งโดยข้อบังคับแพทยสภาได้กำหนดให้มีการประเมินและให้คำแนะนำจากแพทย์อีกท่านหนึ่งที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งร่วมประเมินและรับรองด้วย

ในทางปฏิบัติสำหรับกรณีที่ทราบว่าทารกในครรภ์นั้นจะมีหรือเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการหรือเป็นโรคพันธุกรรมรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาทำแท้งได้ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นหัดเยอรมันในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการรุนแรง ตรวจน้ำคร่ำพบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรม ได้แก่ เป็นเด็กปัญญาอ่อนดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) เป็นโรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมียขั้นรุนแรง (อย่างไรก็ตามมีข้อพึงพิจารณาว่าผู้พิการตามตัวอย่างดังกล่าวก็สามารถมีพัฒนาที่ดีได้ และโรคเลือดธาลัสซีเมียปัจจุบันก็อาจรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก)เป็นต้น

สำหรับกรณีที่เป็นข่าวเกิดขึ้นและอาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการทำแท้งได้เช่นเดียวกับประเทศที่มีกฏหมายทำแท้งเสรีแล้วหรือ คือ กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โรงพยาบาลและแพทย์ผู้ดูแลการตั้งครรภ์ ประกอบด้วย สูตินรีแพทย์และรังสีแพทย์ ในความผิดฐานละเมิดไม่สามารถตรวจว่าเด็กที่จะคลอดออกมามีความพิการของแขนและขาข้างหนึ่ง ทำให้เสียโอกาสในการที่จะพิจารณายุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งจึงให้จำเลยทั้ง 3 ชดใช้เป็นเงิน 12 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย โดยศาลอ้างข้อบังคับของแพทยสภาว่าให้ทำได้

โดยข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายความพิการรุนแรง ที่แพทย์จะให้ข้อมูลและพิจารณาตัดสินใจทำแท้งได้ในประเทศไทย (ยกเว้นจะไปทำแท้งในประเทศที่มีกฏหมายทำแท้งเสรีเท่านั้น) เนื่องจากความพิการดังกล่าวสามารถฟื้นฟูได้

ทั้งการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง(อัลตร้าซาวด์)ในอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ รังสีแพทย์ได้ตรวจพบว่ามีแขนขา ศีรษะ ลำตัวอวัยวะสำคัญต่อการมีชีวิตของทารกมีครบถ้วนอย่างสมบูรณ์แล้ว คำนวณตามขนาดแล้วใกล้เคียงกับอายุครรภ์จึงวินิจฉัยว่าทารกมีชีพปกติตามอายุครรภ์ ชื่งไม่ได้หมายความว่าเด็กจะไม่มีความพิการที่อาจไม่สามารถตรวจพบได้เช่นกรณีดังกล่าว

ทั้งกรณีนี้มารดาอายุ 33 ปีเคยคลอดบุตรปกติ 2 คน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีข้อบ่งชี้ต้องได้รับการตรวจติดตามด้วยคลื่นความถี่สูงอีกครั้งแต่อย่างใด ทั้งระหว่างติดตามในช่วงการฝากครรภ์ทารกมีการเจริญเติบโตเหมาะสมจนคลอดได้ปกติ ในทางมาตรฐานทางการแพทย์เป็นการประกอบวิชาชีพที่ดีที่สุดแล้วสำหรับสูตินรีแพทย์และรังสีแพทย์ การที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดดังกล่าวอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อสังคมได้ว่าความพิการดังกล่าวเกิดจากการที่แพทย์ให้การดูแลไม่ถูกต้อง และ การทำแท้งในประเทศไทยไม่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีดังกล่าว และแพทย์พึงให้การดูแลฝากครรภ์ตามมาตรฐานที่ดีที่สุดต่อไปโดยเฉพาะการทำอัลตร้าซาวด์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชึ่งไม่ใช่ทารกทุกรายต้องได้รับการตรวจครับ


ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา

.......................................................


ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา

การทำแท้ง หรือการยุติตั้งครรภ์เป็นปัญหา ทั้งทางสังคม ทางการแพทย์ และทางกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน และหลากหลายในประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง. ล่าสุดได้มีข่าวใหญ่ที่ได้มีการจับกุมแพทย์คนหนึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการทำแท้งที่คลินิกส่วนตัว ซึ่งทันทีที่มีการจับกุม แพทยสภาก็ได้ดำเนินการตรวจสอบ และพิจารณาในเรื่องจริยธรรมของแพทย์ ดังกล่าวทันที.

การทำแท้งนั้นสามารถกระทำได้โดยถูกกฎหมาย ในบางกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือ ยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าว ในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของ หญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284
ผู้กระทำไม่มีความผิด

ขณะนี้มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เพิ่มจากเดิมอีก โดยได้บัญญัติให้ชัดเจนว่า สามารถกระทำได้เพื่อสุขภาพจิตของมารดา และ เพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยซึ่งเป็นกรณีที่หลายๆฝ่ายเห็นว่า ควรได้รับการยกเว้นให้กระทำได้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์แล้วมีปัญหา แต่ขณะที่กำลังรอร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ แพทยสภาก็ได้มีข้อบังคับของแพทยสภาในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วดังนี้

ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย
หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์
ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (3) (ฎ) และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการแพทยสภาออกข้อบังคับ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548"Ž

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น จะกระทำได้เมื่อหญิงตั้งครรภ์นั้นยินยอม

ข้อ 4 แพทย์ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย

ข้อ 5 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
(1) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ
(2) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะต้องได้รับการรับรอง หรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยหนึ่งคน

ในกรณีที่หญิงนั้นมีความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์ มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง เมื่อหญิงนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (Genetic counseling) และมีการลงนามรับรองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน ให้ถือว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นมีปัญหาสุขภาพจิตตาม (2)

ทั้งนี้ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิต และต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐาน

ข้อ 6 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ต้องมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า หญิงตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 305 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ข้อ 7 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อ 5 และข้อ 6 ต้องกระทำในสถานพยาบาลดังต่อไปนี้
(1) โรงพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน หรือสถานพยาบาลเวชกรรมที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ทั้งนี้โดยสามารถปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ได้ตามความเหมาะสม
(2) คลินิกเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล โดยสามารถปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่อายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์

ข้อ 8 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้จะต้องทำรายงานเสนอต่อแพทยสภา ตามเงื่อนไขและระยะเวลาในแบบฟอร์มที่แพทยสภากำหนด

ข้อ 9 ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่รักษามาตรฐานในระดับที่ดีที่สุด

ข้อ 10 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าได้กระทำตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548
นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
นายกแพทยสภา


ขอให้แพทย์ที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย โปรดปฏิบัติตามข้อบังคับของแพทยสภาโดยเคร่งครัด.

อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.น.บ., น.บ.ท.,ว.ว. (นิติเวชศาสตร์)
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา


 .........................................


แถม ...

อันตรายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ...

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-02-2009&group=4&gblog=73


ทำแท้ง ปัญหาที่ยังไร้ ทางออก ....

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=18-01-2009&group=4&gblog=67




 

Create Date : 11 มกราคม 2553   
Last Update : 28 ธันวาคม 2561 21:38:59 น.   
Counter : 499 Pageviews.  

โพสชื่อ นามสกุล จริง ทำให้คนอื่นเสียหาย .. ทั้งคนโพส ทั้งเจ้าของเวบ ก็เดือดร้อนได้ ระวังหน่อย...









สืบเนื่องจาก มีการโพสกระทู้ ที่ระบุ ชื่อ นามสกุล จริง ในห้องสวนลุม ...


L8677688 คุณหมอ กกกกก ขขขขขข คะ.. คุณหมอน่ะเป็นไรมากรึเปล่า [คลินิกหมออาสา] angii (5 - 20 ธ.ค. 52 18:08)

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L8677688/L8677688.html#7
( ผมแก้ไข เอาชื่อ นามสกุล ออกนะครับ )


ผมเห็นว่าเรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าจะพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นแง่ของ ความรู้สึก ถ้าผู้ถูกกล่าวหา นั้นเป็นตัวเราเอง หรือ ในแง่ของกฏหมาย ..

จึงอยากนำมาความเห็นที่ผมได้โพสลงในกระทู้นั้น มาเก็บไว้ในบล๊อกด้วยนะครับ .. ลองอ่านดู คิดเห็นอย่างไร ก็เชิญได้ ...


ก่อนอื่น ขอบอกไว้ก่อนว่า ผมไม่ได้บอกว่า เรื่องนี้ จริง ไม่จริง หรือ บอกว่า จขกท. เล่าเรื่องไม่จริง โกหกให้ร้ายป้ายสี นะครับ ... เพราะ คนที่จะรู้ว่า จริง หรือ ไม่จริงนั้น ก็คงเป็น ตัวของ จขกท. และ คุณหมอท่านนั้น ...


เรื่อง แบบนี้ ผมว่า ไม่ควรจะโพส ชื่อ สกุล จริง ... เพราะ ผู้ที่ถูกกล่าวหา ไม่มีโอกาสที่จะตอบโต้ แก้ไข ข้อกล่าวหา ใครมาอ่าน ก็ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ...

ลองคิดว่า ถ้าเป็นตัวเรา มีคนโพส ชื่อสกุล จริง .. เราจะรู้สึก เช่นไร


ขนาด ตัวของ จขกท. เอง ยังไม่โพส " ชื่อสกุล จริง ของตนเอง " เลย ... ไม่แม้กระทั่งเป็น สมาชิก ให้ตรวจสอบได้ ...



ส่วนเรื่องที่ จขกท. คิดว่า คุณหมอ มีปัญหา ...

ผมอยากเสนอ ให้ทำตามขั้นตอนที่มีอยู่ เพื่อที่จะมีผลกระทบไปยัง คุณหมอ โดยตรง ... ซึ่ง ได้ผลกว่า การโพสในเวบ แบบนี้ อย่างแน่นอน ...

ผู้ที่รับผิดชอบ จะได้ทราบ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และ ตรวจสอบ จัดการแก้ไข ปัญหาต่อไป คนไข้ (ญาติ) คนอื่น ๆ จะได้ไม่พบกับประสบการณ์แบบนั้น ...



ทำเป็นหนังสือ อย่างเป็นทางการ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วันเวลา สถานที่ ฯลฯ ...ไปยัง

๑. ผอ. รพ.
๒. แพทยสภา
๓. สปสช



ลองอ่านรายละเอียดตามนี้นะครับ ...

ช่องทางร้องเรียน เกี่ยวกับ เรื่อง ...ยา ....หมอ ....คลินิก .....โรงพยาบาล ...

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2009&group=7&gblog=18




ปล.

๑. เคยมีปัญหาการฟ้องร้อง เนื่องจากทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง กับ ผู้เสียหาย ... คนที่รับผิดชอบ โดยตรง ก็คือ เจ้าของเวบ ที่มีผู้โพสข้อความแบบนี้ ต้องไปขึ้นศาลมาแล้วนะครับ ..

... ติดตามตรวจสอบคนโพส อาจยุ่งยาก แต่ เจ้าของเวบรับไปเต็ม ๆ ตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พศ.๒๕๕๐ .. เจ้าของเวบ ผู้ดูแลเวบ ก็เลยจะระมัดระวังเรื่องแบบนี้ มากหน่อยนะครับ ไม่งั้นก็อาจเดือดร้อนได้ ...

... จึงอยากให้เห็นใจ เจ้าของเวบเขาหน่อย ไม่งั้น เขาเดือนร้อน ถูกปิดเวบขึ้นมา สมาชิกผู้ใช้เวบ ก็ลำบาก ไม่มีเวบดี ๆ แบบนี้ .. น้ำพึ่งเรือ เสื้อพึ่งป่า นะครับ



๒. เรื่องแบบนี้ ก็น่าจะให้โอกาสทั้งสองฝ่าย ...จริง หรือ ไม่จริง ก็ไม่รู้ แต่ผมคิดว่า ผู้ถูกกล่าวหา ก็ควรได้รับสิทธิ์ในการปกป้องชื่อเสียงด้วยเช่นกัน ...

... ถ้าเป็นตัวเราเอง มีคนมาโพส ถึงแม้จะเป็นเรื่องไม่จริง กว่าที่จะแก้ไขว่าไม่เป็นความจริง ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีทางที่จะไปแก้ไขได้ ... ใจเขา ใจเรา นะครับ




แถม ..

เนื้อหาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐

ลองแวะไปอ่านดูนะครับ ตามลิงค์นี้เลย

//www.thaiall.com/article/law.htm

//www.dol.go.th/low_ministry/law_ICT/law_ICT.htm

//www.lawsiam.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=44






 

Create Date : 20 ธันวาคม 2552   
Last Update : 2 กรกฎาคม 2560 20:37:39 น.   
Counter : 1686 Pageviews.  

แพทย์ต้องมี จรรยาแพทย์ (จรรยาบรรณ) แล้วคนอื่น อาชีพอื่น ไม่ต้องมีหรือ ???






มีกระทู้ถามในห้องสวนลุม

L8261628 (ถามเล่น ๆ) จรรยาบรรณของแพทย์มีข้อนี้ปะคับ lastman (5 - 30 ส.ค. 52 08:40)

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L8261628/L8261628.html


ใจเย็น ๆ ครับ ...

จขกท. เขา ถามเล่น ๆ ... ซึ่งประเด็นแบบนี้ ผมว่า ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ก็ตอบแบบจริงจัง เลยละกัน ..


เอาเรื่อง " จรรยาบรรณ " ก่อน ... ทำไม หมอ หรือ บางอาชีพ ถึงต้องมี รู้หรือเปล่าครับ ???

น้าน งง ... ละสิ .. ว่า อาชีพอื่น มีด้วยหรือ ?


ก่อนอื่น ก็มาดูก่อนว่า จรรยาบรรณ คืออะไร ???

//www.oknation.net/blog/print.php?id=145379

“จรรยาบรรณ” มาจากคำ ๒ คำ คือ “จรรยา” กับ “บรรณ”

“จรรยา” มาจากภาษาสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีก็ใช้ “จริยา” หมายถึง “ความประพฤติ กิริยาที่ดี ที่ควรประพฤติ”

“บรรณ” ซึ่งมาจากสันสกฤต บาลีใช้ ปัณณ หรือ บัณณ อันแปลว่า “ปีก ใบไม้ หนังสือ

จรรยาบรรณ [จัน ยาบัน] n. ethics Class. ข้อ Related. morality,morals,conduct

: ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่าง กําหนด ขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้.
จรรยาแพทย์ [n.] medical ethics [syn.] จรรยาบรรณแพทย์
: ความประพฤติของวิชาชีพทางการแพทย์ที่แพทย์ควรปฏิบัติ



วิชาชีพ (ใช้วิชาเลี้ยงชีพ) หรือพูดภาษาชาวบ้าน ก็คือ ใช้ความรู้หากิน ( เกือบทุกอาชีพ ก็ต้องเป็นเช่นนี้ ) แต่บาง อาชีพ วิชาชีพ ต้องมี ข้อกำหนดบางอย่าง เพิ่มเติม ก็เพราะ บางวิชาชีพ นั้น ถ้าทำไม่ดี จะส่งผลอันตราย ต่อผู้อื่น อย่างมาก จึงมีกำหนดไว้ให้เห็นชัดเจน

สำหรับแพทย์ ก็จะเรียกว่า " จรรยาแพทย์ " มีข้อกำหนด เป็น กฎระเบียบ เกี่ยวกับ การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ชัดเจน ..

//www.tmc.or.th/service_law02_17.php


ส่วน วิชาชีพอื่น ที่มีกำหนดไว้ เช่น พระสงฆ์ ข้าราชการ ครู วิศวะ ทนายความ ศาล นักวิจัย สื่อมวลชน เป็นต้น

ลองถามอากู๋ ได้คำตอบมาเพียบ ใครสนใจ ก็ลองแวะไปอ่านนะครับ

Results 11 to 20 of about 354,000 for จรรยาบรรณ (0.31 seconds)

//search.conduit.com/Results.aspx?q=%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93&ctid=CT461365&octid=CT461365



ดังนั้น ... ทุกอาชีพ ทุกคน ก็มีข้อกำหนด แบบนี้ เพียงแต่ อาจมี ชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เท่านั้นเอง ...





ที่นี้ ก็มาถึงเรื่อง การพิจารณา ว่า แบบไหน ถึงจะเรียกว่า ผิด ไม่ผิด .. ???

เนื่องจาก เรื่องแบบนี้ไม่สามารถเขียนเป็นตัวอักษร ไว้ทั้งหมด การที่จะพิจารณา จึงต้องอาศัยผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนั้นบอกว่า “ ผิด หรือ ไม่ผิด เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม เนื่องจากแต่ละวิชาชีพ มีจำนวนมาก แต่ละวิชาชีพ จึงมีตัวแทน ( ที่ได้รับการ แต่งตั้ง เลือกตั้ง ) ขึ้นมาเพื่อ พิจารณา กำกับ ดูแล สมาชิกในวิชาชีพเดียวกัน เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาวิศวกรรม สภาหนังสือพิมพ์ ศาล คณะสงฆ์ สภาการเมือง ฯลฯ ”

ซึ่งแน่นอนว่าความเห็น คงไม่เหมือนกันไปทั้งหมด ทุกคน ขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์ ข้อมูล ระเบียบข้อกฎหมาย ฯลฯ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลการพิจารณานั้น สมาชิก (ส่วนใหญ่) ก็จะยอมรับ ซึ่งต่อไป ก็อาจกลายเป็น ระเบียบข้อปฏิบัติ กฎหมาย ต่อไป


จะเห็นได้ว่า กระบวนการต่าง ๆ ของแพทย์ ไม่ได้แตกต่างอะไรจากวิชาชีพอื่นๆ เลย เพียงแต่ สังคม ประชาชน มีความคาดหวังกับ “ แพทย์ “ ค่อนข้างสูง เมื่อรวมกับความรู้สึกที่ ไม่ค่อยไว้เนื้อเชื่อใจ กับแพทย์ ที่เกิดจากประสบการณ์ ทางตรง (ของตนเอง) หรือ ทางอ้อม (ญาติ เพื่อน สื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ เนต ฯลฯ) เมื่อรู้สึกว่า มีอะไรผิดปกติ จากที่ตนเองคิด จึงเกิดการตอบสนองที่ค่อนข้างสูง ไปด้วย




สิ่งที่ผมอยากฝากไว้ ก็คือ

๑. สิ่งที่เรา (หมอ คนไข้ ญาติ )ได้พบได้เห็นได้ยิน รวมไปถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต (ไม่ว่าแง่ดีหรือร้าย) ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนั้น จะต้องเกิดกับทุกคน หรือ จะต้องเกิดกับตัวเรา ซ้ำเหมือนเดิม จึงควรเปิดใจยอมรับฟังคำชี้แจง เหตุผล แล้วค่อยรวบรวมมาคิดวิเคราะห์ ก่อนที่จะสรุปทันที ฟันธงไปเลย อดใจรอ ตั้งสติสักนิด ก็ไม่เสียหาย

๒. แพทย์ ก็เป็น คน เหมือนกัน ( เพียงแต่ ได้รับการฝึกอบรมสั่งสอนในด้านนี้เฉพาะ) เมื่อเป็นคน ก็ย่อมมี คนดี คนไม่ดี มีอารมณ์ มีรัก โลภ โกธร หลง ฯลฯ ซึ่งก็รวมไปถึง มีความผิดพลาด ไม่ได้ทำอะไรถูกต้องไปหมดทุกอย่าง เหมือนกับทุกคน

ดังนั้น เมื่อเกิดอะไรขึ้น ก็อยากให้ช่วยกันพิจารณาว่า เป็น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ ( ถ้าเป็นแพทย์ท่านอื่น อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ก็เกิดขึ้นได้ ) หรือ เป็นความผิดพลาดจากความประมาทเลินเล่อ ( ถ้าเป็นแพทย์ท่านอื่น อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน จะไม่เกิดขึ้น )


ผมเชื่อว่า “ คน ( หมอ คนไข้ ญาติ ฯลฯ ) ส่วนใหญ่ เป็นคนดี “ สังคมจึงอยู่ได้จนถึงตอนนี้

หมอ กับ คนไข้ (ญาติ) ก็แตกต่างกันเพียง สถานะ ช่วงหนึ่งเท่านั้น ... หมอเอง สักวัน ก็ต้องกลายเป็น คนไข้ หรือ ญาติ อยู่ดี ...

อย่ามองโลกในแง่ร้ายนัก แต่ก็อย่ามองในแง่ดีเกินไป ในสังคม ในทุกวิชาชีพ ก็ย่อมมีทั้งคนดี คนไม่ดี ทุกคนก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลจัดการกับคนไม่ดี เพื่อให้สังคมส่วนรวมสงบสุข





 

Create Date : 30 สิงหาคม 2552   
Last Update : 2 กรกฎาคม 2560 20:14:40 น.   
Counter : 4544 Pageviews.  

จริยธรรมเกี่ยวกับ ... การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ...




คำนำ: จริยธรรมเกี่ยวกับ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

ศ. นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา



ในระยะสองสามปีที่ผ่านมาได้มีการกล่าวถึงการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรค ต่างๆมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และผู้สื่อข่าวจำนวนมากมีความห่วงใยว่า การใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคต่างๆนั้นจะกลาย เป็นธุรกิจที่ผิดจริยธรรม ชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทยได้มีหนังสือถึงแพทยสภาท้วงติงในเรื่อง นี้ แพทยสภาได้มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาแนวทางในการควบคุม ด้านจริยธรรมในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ขัดขวางการพัฒนาในด้านนี้ แพทยสภาต้องการเห็นการวิจัยที่ทำถูกต้อง ทั้งทางวิทยาศาสตร์และจริยธรรม

ในปัจจุบัน มีการยอมรับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดรักษาโรคทางโลหิตวิทยา เท่านั้น

การใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคของอวัยวะอื่นยังอยู่ในขั้นการทดลองและวิจัย เท่านั้น แม้ว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคได้ หลายชนิด

ได้มีการเสนอให้มีการตั้งคณะ กรรมการ Scientific และ Ethical Committee กลางซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายฝ่ายมาร่วมกันพิจารณา ผู้ที่จะทำการวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดจะ ต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมของสถาบันของตนก่อนแล้วจึงมาผ่านหน่วยกลางก่อนทำ การวิจัย เพื่อให้การวิจัยนั้นเชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และให้ความปลอดภัยและเป็นธรรมต่อผู้ป่วยโดยไม่มีอคติในทางใดทางหนึ่ง

แพทยสภาจะแถลงข้อเท็จจริงและ ข้อมูลเกี่ยว กับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดให้ประชาชนและแพทย์ทราบ เมื่อมีคณะกรรมการจริยธรรมกลางแล้วแพทยสภาจะออกข้อบังคับเพื่อควบคุมการ วิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อไป

๑๒ กันยายน ๒๕๕๐

----------------------------------------------------------------------------------------------------------



๑. เซลล์ต้นกำเนิดบำบัด


ศ. นพ.สุรพล อิสรไกรศีล*

*สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล




เซลล์ต้นกำเนิดหรือ stem cell มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ สามารถแบ่งตัวได้เซลล์ใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนเดิม และสามารถเจริญเป็นเซลล์ชนิดต่างๆได้หลายชนิด

เซลล์ต้นกำเนิดจำแนกออกเป็น

เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน หรือ embryonic stem cell (ES cell) และ

เซลล์ต้นกำเนิดผู้ใหญ่ (adult stem cell) เซลล์ต้นกำเนิดทั้งสองชนิดสามารถเจริญเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อได้หลากหลาย ชนิด

เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนหรือ ES cell สามารถเจริญเป็นเซลล์ได้ทุกชนิด เรียกคุณสมบัติดังกล่าวว่า pluripotency

เซลล์ต้นกำเนิดผู้ใหญ่เจริญเป็นเซลล์ได้หลายชนิดแต่ไม่ทุกชนิด เรียกคุณสมบัตินี้ว่า multipotency


การที่สามารถเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดของคนได้เป็นครั้งแรกโดยนักวิทยา ศาสตร์อเมริกันเมื่อ พ.ศ. 2541 ทำให้เกิดความหวังที่จะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้รักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากความเสื่อม ความชราภาพ และโรคที่เกิดจากภยันตรายต่างๆ

ศักยภาพดังกล่าวของเซลล์ต้นกำเนิดทำให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์สนใจที่จะทำ วิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตามการทำวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนมีปัญหาจริยธรรมว่า ชีวิตเริ่มต้นเมื่อใด การนำเซลล์จากตัวอ่อนระยะ blastocyst มาเพาะเลี้ยงจะเป็นการทำลายชีวิตหรือไม่ หากเป็น ก็ผิดจริยธรรม จากข้อจำกัดดังกล่าวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จึงหันมาสนใจเซลล์ต้นกำเนิด ผู้ใหญ่กันมากขึ้น

ทั้งนี้โลหิตแพทย์ได้ใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากไขกระดูก เลือด และเลือดสายสะดือ ในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคโลหิตวิทยา ได้แก่
โลหิตจางอะพลาสติก ธาลัสซีเมีย ลิวคีเมียเฉียบพลัน ลิวคีเมียเรื้อรัง ลิมโฟม่า มัลติเพิล มัยอิโลมา โรคภาวะพร่องภูมิคุ้มกัน ซึ่งในปัจจุบันเป็นวิธีการรักษามาตรฐาน



เซลล์ต้นกำเนิดบำบัดเป็นการรักษาวิธีมาตรฐานในโรคใดบ้าง

มีการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อรักษาโรคโลหิตวิทยาดังกล่าวข้างต้น

โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ให้ที่เป็นพี่น้องที่มี HLA เข้ากันได้กับผู้ป่วย หรือใช้ผู้ให้ที่เป็นบุคคลอื่นที่มี HLA เข้ากันได้ หรือใช้ เลือดสายสะดือ ที่เก็บจากธนาคารเลือดสายสะดือ

ต่อมามีการใช้เซลล์ต้นกำเนิดใน เลือด โดยการกระตุ้นด้วย G-CSF ทำให้เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกเคลื่อนย้ายมาอยู่ในเลือด แล้วจึงเก็บจากเลือด การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก เลือด และเลือดสายสะดือ เป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับโรคต่างๆที่กล่าวมาแล้ว

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก ต้องเจาะไขกระดูกผู้ให้ ต้องดมยาสลบผู้ให้ และใช้เวลาเจาะนาน 1-2 ชั่วโมง

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจาก เลือด ง่ายถ้าไม่ต้องเจาะไขกระดูก และการฟื้นตัวของไขกระดูกในผู้ป่วยเร็วกว่า แต่มีอุบัติการของภาวะ chronic GvHD สูงกว่า

การปลูกถ่าย เลือด สายสะดือ มีข้อจำกัดเพราะมีเซลล์ต้นกำเนิดจำนวนไม่มาก และการฟื้นตัวของไขกระดูก โดยเฉพาะเกล็ดเลือดช้ากว่า



เซลล์ต้นกำเนิดบำบัดใช้รักษาโรคอื่นๆนอกจากโรคโลหิตวิทยาได้ผลหรือไม่

มีการนำเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือด หรือไขกระดูก หรือเลือดสายสะดือ มาใช้ในการรักษาโรคหัวใจขาดเลือด โรคกระดูก โรคระบบประสาท และโรคเบาหวาน แผลที่เกิดในผู้ป่วยเบาหวาน

ส่วนใหญ่เป็นรายงานเบื้องต้น มี clinical trial เพียง 9 การศึกษาที่ทำในโรคหัวใจขาดเลือด โดยการเปรียบเทียบกับกลุ่ม control พบว่ามีทั้งที่ได้ผลและไม่ได้ผล ในกลุ่มที่ได้ผลมักได้ผลไม่มากและได้ผลชั่วคราว สำหรับในโรคอื่นยังไม่มีข้อมูลของ clinical trial

เซลล์ต้นกำเนิดบำบัดในการรักษาโรคอื่นๆ นอกจากโรคโลหิตวิทยายังอยู่ในระหว่าง การศึกษาวิจัย หากจะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยควรเป็น randomized control trial ซึ่งจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการวิจัยในคนก่อน



ควรเก็บเซลล์ต้นกำเนิดไว้ในธนาคารเพื่อใช้ในอนาคตหรือไม่

ขณะนี้มีการรณรงค์เพื่อเก็บเซลล์ต้นกำเนิดของตนเองไว้ใช้ในอนาคตหากเจ็บป่วย และจำเป็นต้องใช้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด อาจเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเลือดสายสะดือขณะแรกคลอด หรือเก็บเซลล์ต้นกำเนิดไขกระดูกหรือเลือด โดยสามารถเก็บไว้ได้นาน 20 ปี

ในปัจจุบันเซลล์ต้นกำเนิดบำบัดเป็นวิธีการรักษามาตรฐานเฉพาะโรคโลหิตวิทยา เท่านั้น

ถามว่าจะใช้เซลล์ต้นกำเนิดบำบัดของตัวเองเพื่อรักษาโรคโลหิตวิทยาได้หรือ ไม่

คำตอบคือได้ แต่มีโรคเพียงไม่กี่โรคเท่านั้นที่เหมาะสมที่จะรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ ต้นกำเนิดโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตนเอง

ถ้าเป็นโรคธาลัสซีเมียก็ไม่สามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตนเองได้ หากเป็นลิวคีเมียก็ไม่ควรใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตนเองเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะจะมีอัตราการเป็นโรคกลับสูง

การเก็บเลือดสายสะดือเพื่อไว้ใช้สำหรับตัวเองเรียก Private cord blood bank พบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาจากจำนวนเลือดสายสะดือที่เก็บ 250,000 ตัวอย่าง ใช้ไปเพียง 14 ตัวอย่างเท่านั้น โดยที่ไม่ได้ใช้กับตัวเจ้าของเลือดสายสะดือเลย หากแต่ใช้กับพี่หรือน้องที่เจ็บป่วยด้วยโรคโลหิตวิทยาและจำเป็นต้องปลูกถ่าย เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการเก็บที่เก็บไว้ใช้กับเจ้าของเลือดสายสะดือเท่านั้น

*สำหรับการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดและไขกระดูกก็เช่นเดียวกัน มีโอกาสที่จะนำมาใช้ไม่มาก



เซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บไว้จะใช้ในโรคอื่นได้หรือไม่

ดังที่กล่าวแล้ว ข้างต้น ในปัจจุบันเซลล์ต้นกำเนิดบำบัดยังไม่ใช่การรักษามาตรฐานสำหรับโรคอื่นๆ นอกจากโรคโลหิตวิทยา และหากจำเป็นต้องใช้เซลล์ต้นกำเนิด เซลล์ต้นกำเนิดก็มีอยู่แล้วในตัวผู้ป่วยทั้งในไขกระดูกและในเลือด ซึ่งสามารถเจาะไขกระดูกหรือเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดมาใช้ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือที่ผู้เก็บรับรองว่าจะเก็บไว้ได้นานอย่าง น้อย 20 ปี

หากเซลล์ต้นกำเนิดบำบัดจะใช้ได้ผลจริงในโรคที่ไม่ใช่โรคโลหิตวิทยาในอนาคต โรคที่เกิดจากความเสื่อมมักพบในคนสูงอายุ ดังนั้นเจ้าของเลือดสายสะดือยังอายุไม่มากพอที่จะเกิดโรคดังกล่าว



----------------------------------------------------------------------------------------------------------



๒. การดำเนินงานเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด


โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา



เนื่องในปัจจุบันความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และมีความพยา ยามที่จะสร้างและพัฒนาวิธีการในการรักษาโรคแบบใหม่ เพื่อทำการแก้ไขรักษาความผิดปกติของโรคโดยตรงที่สาเหตุ จึงทำให้มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีของเซลล์ต้นกำเนิดอย่างมากในช่วง ทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นเซลล์ตั้งต้นของชีวิต ที่มีความสามารถในการแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัด โดยที่ยังคงรักษาคุณสมบัติเป็นเซลล์ต้นกำเนิดไว้ได้ และในสภาวะที่เหมาะสมก็สามารถเจริญพัฒนาไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อจำเพาะทุก ชนิดของร่างกายได้ และจากคุณสมบัตินี้เองจึงทำให้มีนักวิจัยและแพทย์หลายกลุ่มพยายามศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางในการรักษาโรคแบบเซลล์และเนื้อเยื่อบำบัด

จากวัตถุประสงค์ของการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่มุ่งหมายเพื่อใช้ในการบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยของมนุษย์ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงอยู่ในขอบข่ายคำนิยามของยา ตามกฎหมายว่าด้วยยา

ดังนั้นการวิจัย ผลิต นำเข้า การเก็บรักษา การโฆษณา การขาย ผลิตภัณฑ์เซลล์ต้นกำเนิด จึงอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือ สหภาพยุโรป เป็นต้น ที่มีแนวทางการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เซลล์ต้นกำเนิดตามกฎหมายว่าด้วยยา เช่นเดียวกัน

แต่เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเป็นสิ่งที่ใหม่ทั้งในด้าน วิทยาศาสตร์ องค์ความรู้และข้อมูลสนับสนุน จึงอาจทำให้การกำกับดูแลมีความแตกต่างจากยาทั่วๆ ไปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าอาจเทียบเคียงได้กับผลิตภัณฑ์ยาประเภทยาชีววัตถุก็ตาม

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงต้องกำหนดกฎระเบียบและหลักเกณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์เซลล์ต้นกำเนิดที่เป็นยา เพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ว่ามี คุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย อีกทั้งกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ต้นกำเนิด อาทิเช่น การผลิต การเก็บรักษาเป็นต้นนั้น ก็ต้องมีมาตรฐาน อาทิเช่น Good Manufacturing Practice, Good Distribution Practice, Good Tissue Practice, Good Laboratory Practice หรือ Good Storage Practice เป็นต้น อีกด้วย

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและแนวโน้มการพัฒนาดังกล่าว จึงได้จัดทำระบบกำกับดูแลผลิตภัณฑ์จากเซลล์ต้นกำเนิดและผลิตภัณฑ์จากเนื้อเยื่อ เพื่อรองรับการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เซลล์ต้นกำเนิดที่อาจจะมีการผลิตหรือนำ เข้าในอนาคตอันใกล้นี้

รวมถึงยังมีโครงการร่วมกับแพทยสภาและกองการประกอบโรคศิลปะเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนเพื่อมิให้เป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านการรับบริการและข้อมูล ข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นธรรมอีกด้วย


----------------------------------------------------------------------------------------------------------



๓. ประเด็นทางจริยธรรมการวิจัย ในการนําเซลล์ต้นกําเนิด มาใช้ในการบำบัดรักษา


ศ. นพ. ทวิป กิตยาภรณ์*

*ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล



การนําเซลล์ต้นกําเนิด (stem cell) มาใชในการรักษาโรค เป็นวิทยาการใหมและเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่การรักษาใน ปัจจุบันยังไม่ได้ผลดีและยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ทำให้มีประเด็นบางอย่างเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ต้องทําความกระจ่าง ชัดให้เกิดขึ้น กล่าวคือ

๑. การนําเซลล์ต้นกําเนิดมาใช้ในการรักษาโรคบางชนิดเป็นการรักษาตามมาตรฐานหรือเป็นเพียงขั้นตอนของการวิจัย

ความสําคัญของประเด็นนี้คือ หากจะถือว่าการใชเซลล์ต้นกําเนิดเป็นการรักษาตามมาตรฐานสากลได้ จะต้องมีการพิสูจน์ได้ว่าเซลล์ต้นกําเนิดมีสรรพคุณ (efficacy) และอาจรวมถึงประสิทธิผล (effectiveness) ในการรักษาจริงและมีความปลอดภัยต่อผู้รับการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าว

ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการวิจัยตามขั้นตอนต่างๆ และเป็นที่ยอมรับขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ/หรือ ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ มาก่อน

รวมทั้งต้องผ่านขั้นตอนการผลิตตามมาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice, GMP) การดําเนินการในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง (pre-clinical phase) ภายใตหลักการของการปฏิบัติทางห้องปฏิบัติการที่ดี (Good Laboratory Practice, GLP)

จากนั้นจึงจะทําการทดสอบในมนุษยภายใตมาตรฐานการวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practice, GCP) ซึ่งมีทั้งสิ้น ๓ ขั้นตอน จนถึงการทดสอบทางคลินิกระยะที่ ๓ (phase III หรือ efficacy trial) จึงจะตอบคําถามของสรรพคุณและความปลอดภัยของการรักษาของผลิตภัณฑ์ที่นํา มาทดสอบได แต่จากการติดตามการใช้เซลล์ต้นกําเนิดที่มีการกล่าวกันในปัจจุบันว่าใช้ใน " การรักษาโรค" นอกเหนือไปจากโรคทางโลหิตวิทยาบางประเภทนั้น

ผู้ที่ทำงานทางด้านจริยธรรมการวิจัยในคนและงานวิจัยทางคลินิกหลายท่านเห็น ตรงกันว่าน่าจะยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยในคนขั้นต้น (ระยะที่ ๑ และ ๒) เท่านั้น ซึ่งมีเพียงวัตถุประสงคหลักที่จะตอบคําถามวิจัยไดแต่เพียงว่ามีความ ปลอดภัยต่อผู้ที่ได้รับเซลล์ต้นกําเนิดเพื่อการรักษาโรคมากน้อยเพียงใด รวมถึง dosing, scheduling และ potential efficacy เท่านั้น

๒. ค่าใชจ่ายในกระบวนการรักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกําเนิด

เนื่องจากกระบวนการใช้เซลล์ต้นกําเนิดยังอยูในระยะการวิจัยทางคลินิกระยะ ที่ ๑ – ๒ ซึ่งมีวัตถุประสงคหลักที่จะตอบคําถามวิจัยว่ามีความปลอดภัยต่อผู้ที่ได้รับ เซลล์ต้นกําเนิดเพื่อการรักษาโรคมากน้อยเพียงใด ฯลฯ ในขั้นตอนดังกล่าว ค่าใช้จ่ายสําหรับการนี้จึงควรเป็นภาระที่ผู้ใหทุนจะต้องรับผิดชอบ อีกทั้งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เข้าร่วมการวิจัย หากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงคอันเกี่ยวข้องโดยตรงจากการวิจัยด้วย

๓. ประเด็นอื่นๆ

เนื่องจากผู้ป่วยที่ร่วมในโครงการทดสอบการใชเซลล์ต้นกําเนิดมักเป็นผู้ป่วย ที่เป็นโรคเรื้อรัง และยังไม่มีวิธีการรักษาใหหายขาด

ดังนั้นผู้เข้าร่วมการวิจัยในโครงการวิจัยเซลล์ต้นกําเนิดจึงจัดเป็นผู้เข้าร่วมโครงการที่มีความเปราะบาง (vulnerable subject) ที่สมควรได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นพิเศษ ควรระวังมิให้เกิดการโน้มน้าว หรือข่มขู่เชิงบังคับ (inducement/coercion) ให้ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าร่วมการวิจัย ขั้นตอนการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการวิจัยซึ่งเป็นหัวใจสําคัญ

ด้านจริยธรรมการวิจัยในคน ผู้ป่วยที่จะเข้าร่วมโครงการวิจัยจะต้องได้รับข้อมูลที่เที่ยงตรงเกี่ยวกับ ประเด็นต่างๆ ของการวิจัย และควรมีการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยในเนื้อหาของข้อมูล ที่ได้รับก่อนตัดสินใจเข้าร่วมการวิจัยที่เป็นโดยใจสมัคร (voluntary decision) ก่อนการรับเข้าโครงการ (recruitment) ฯลฯ

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงขออนุญาตเสนอข้อคิดเห็นแก่แพทย์ทั่วไปเพื่อทราบ อันจะเป็นผลให้การวิจัยในคนโดยการใช้เซลล์ต้นกําเนิด ในวงการแพทย์ไทยเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตรและหลักจริยธรรมการ วิจัยในคน และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง (valid) ใช้ได้เป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งเพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิและสวัสดิภาพของผู้ป่วยที่จะเข้าร่วมการ วิจัยต่อไป


เครดิต Ittaporn-stem cell-fact sheet sep2007

............................................................

แพทยสภาเตือน ประชาชนให้ระวังการแอบอ้างของคลินิกและแพทย์ในการใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคที่ยังไม่เป็นมาตรฐาน

****************************

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 เวลา 15.00 น.ภายหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการและจริยธรรมการใช้เซลล์ต้นกำเนิดและการทำวิจัยในคนด้านเซลล์ต้นกำเนิดของแพทยสภา

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ
์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่แพทยสภาได้เคยประกาศว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ นั้นในขณะนี้ต้องมีการควบคุม เพราะยังไม่เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐาน นอกจากโรคที่เกี่ยวกับระบบโลหิตวิทยาที่แพทยสภาได้รับรองไว้แล้ว ส่วนเรื่องอื่น ๆ จัดเป็นโครงการวิจัยที่ต้องผ่านแพทยสภาและไม่สามารถเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยได้

ปัจจุบันมีแพทย์และคลินิกหลายแห่งได้อ้างว่าใช้สเต็มเซลล์รักษาผู้ป่วยในโรคต่าง ๆ เช่น โรคอัมพาต โรคไขสันหลังบาดเจ็บ โรคเข่าเสื่อม โรคมะเร็ง ไปจนถึงการชะลอความแก่และความงาม โดยมีการโฆษณาอย่างแพร่หลายในสื่อต่าง ๆ และมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากผู้ป่วย

แพทยสภาขอยืนยันว่าโรคเหล่า
นี้ยังไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ผู้ใดพบแพทย์หรือคลินิกใดที่อวดอ้างหรือพบผู้ป่วยรายได้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สเต็มเซลล์ที่แอบอ้าง ขอให้แจ้งที่แพทยสภา โทร. 02-590-1881 หรือที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02 -193-7999 เพื่อแพทยสภาจะได้ดำเนินคดีทางด้านจริยธรรมต่อไป

แพทยสภาเห็นว่าควรมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์ทางการแพทย์ ปัจจุบันแพทยสภากำลังศึกษาเพื่อให้พระราชบัญญัติรัดกุมและไม่ขัดขวางการปฏิบัติงานของแพทย์ในปัจจุบัน รวมทั้งสนับสนุนการก้าวหน้าของการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาผู้ป่วยในประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและปกป้องประชาชนเพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุด


https://www.facebook.com/themedicalcouncil/photos/a.217237308403332.49467.217001611760235/763276087132782/?type=3

............................................

อย. ประกาศคุมผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์เป็นยาผลิตต้องขออนุญาต

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=18-04-2009&group=4&gblog=74
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=18-04-2009&group=4&gblog=74


ช่องทางร้องเรียน เกี่ยวกับ เรื่อง ...ยา ....หมอ ....คลินิก .....โรงพยาบาล ...

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2009&group=7&gblog=18



ปล. เป็นข้อมูลตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ผ่านมา ๘ ปีแล้ว แต่เท่าที่ทราบ ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2552   
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2562 14:23:37 น.   
Counter : 1300 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]