Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค กนกศักดิ์ พ่วงลาภ พนักงานอัยการ





การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค

Fri, 2016-09-23 14:05 -- hfocus
https://www.hfocus.org/content/2016/09/12777

การรักษาโรคของแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งวิชาการและศิลป์ เป็นเรื่องยาก เพราะสิ่งที่แพทย์กำลังต่อสู้อยู่นั้น คือ เชื้อโรค ซึ่งบางชนิดมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ทุกนาที เชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถกำจัดได้การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการ ไปจนกว่าร่างกายฟื้นตัว หรือแม้ต่อสู้กับโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค เช่น เส้นเอ็นอักเสบ ภาวะอาการเครียด โรคระบบประสาท ก็ยังต้องอาศัยการวินิจฉัยคลำไปทีละจุด ตั้งสมมติฐานขึ้นแล้วพิสูจน์สมมติฐานนั้น การทำในสิ่งที่ยากยิ่งเช่นนี้ ย่อมมีแนวทางการรักษาได้หลายแนวทาง เพื่อไปสู่จุดหมาย คือ ทำให้คนไข้หาย ซึ่งความเห็นและวิธีการรักษาของแพทย์แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ถ้าการรักษานั้นเป็นไปอย่างราบรื่น คนไข้ก็ไม่ติดใจในวิธีการรักษา เพราะไม่ว่าวิธีใด ถ้าคนไข้หายคนไข้ก็จะพอใจ ไม่ติดใจในวิธีการรักษา แต่หากการรักษานั้นไม่ราบรื่น คนไข้ไม่หาย หายช้า สูญเสียอวัยวะบางอย่าง หรือเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนที่คนไข้คิดว่ามากเกินไป คนไข้อาจไม่พอใจจนเกิดคดีความขึ้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ คดีประเภทนี้ เขาสู้คดีกันอย่างไร มีประเด็นอะไรที่เป็นข้อแพ้ชนะในคดี พยานหลักฐานอย่างไรที่มีน้ำหนักส่งผลสำคัญต่อคดี

บทความนี้มุ่งหมายโดยบริสุทธิ์ใจให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้ว่านักกฎหมายคิดอย่างไร เพื่อผู้ที่เดือดร้อนจะสามารถรู้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างคร่าวๆ ใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนจะเป็นคดีความกัน มิได้เจตนาจะพาดพิงถึงเรื่องใครคนใดคนหนึ่ง เป็นความรู้เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น คนเป็นไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่อาจเกิดวิกฤตแก่คนไข้ได้นานาประการ เมื่อเกิดแก่คนไข้แล้ว ความวิกฤตนั้นอาจเกิดแก่แพทย์ผู้รักษาได้อีก สถานการณ์นั้นได้แก่

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต คนไข้เข้าใจว่าแพทย์รักษาไม่ทันท่วงที ทำให้เขาทุกข์ทรมานมากกว่าปกติ

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควร

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ทำให้คนไข้สูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียระบบการทำงานของร่างกาย เช่น เลือดออกในปอด ไตทำงานผิดปกติ เลือดออกในลำไส้ ฯลฯ

- คนไข้มีข้อสงสัย ข้อข้องใจในวิธีการรักษา สงสัยในความชำนาญของแพทย์ เช่น ทำไมต้องเปลี่ยนแพทย์หลายคน

สถานการณ์เหล่านี้นำมาซึ่งการฟ้องร้องเป็นคดีได้


สิ่งที่จะนำมากำหนดเป็นประเด็นว่าการรักษาเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ คืออะไร

คำตอบคือ การกระทำของแพทย์กระทำไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ สภาพร่างกายของคนไข้เป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาหรือไม่อย่างไร มีเหตุแทรกแซงอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากแพทย์และการรักษาหรือไม่ มีเหตุสุดวิสัยหรือไม่

ประเด็นที่ 1 เรื่อง "แพทย์กระทำไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่" พิสูจน์ได้โดยอาศัยความเห็นของแพทยสภา ผู้ที่คิดว่าตนเองเสียหายอาจร้องเรียนได้ การพิสูจน์ประเด็นความถูกต้องตามหลักวิชาการ ถ้าพิสูจน์กันในศาลอาจใช้ความเห็นของแพทยสภาเป็นที่ยุติได้ ถ้าไม่มีความเห็นของแพทยสภาคดีนั้นจะมีน้ำหนักน้อยแทบไม่อาจชี้ข้อถูกผิดได้เลย

ประเด็นที่ 2 เรื่อง "สภาพร่างกายของคนไข้เป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาหรือไม่อย่างไร" เป็นข้อที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง เคยมีคดีแพ่งคดีหนึ่งที่กล่าวหาว่าแพทย์กระทำโดยประมาทเลินเล่น ทำให้หญิงที่ไปคลอดลูกต้องถูกตัดมดลูกไป ความเห็นแพทยสภาในคดีนั้นไม่ชี้ชัดไปในทางใด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นเพียงคนเดียวที่ให้การว่า "ร่างกายของคนเราแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน" ไม่ว่าขั้นตอนการวางยาสลบ หรือโลหิตไหลไม่หยุดจากการผ่าตัด หรือการตอบสนองต่อยาในแต่ละช่วงของการรักษานั้น ร่างกายของคนเราตอบสนองต่อยาและวิธีการรักษาแตกต่างกัน ร่างกายแต่ละคนมีความแตกต่างในรายละเอียด มดลูกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สาเหตุที่ว่า มดลูกทำไมไม่หดตัว ทำไมเลือดไหลไม่หยุด เกิดจากอะไรตอบไม่ได้ชัดเจน แต่การรักษาหรือการแก้ไขปัญหาเหมือนกัน (คือตรงตามมาตรฐานการรักษาและแก้ไขปัญหา) คือเลือดไหลไม่หยุดจำเป็นต้องตัดมดลูก เพราะร่างกายที่แปลกกว่าคนอื่นอาจมีได้ เช่น ฉีดยาชาไป 10 เข็ม แต่ไม่รับรู้ฤทธิ์ยาก็มีได้ (ในคดีนี้ปรากฏว่ามีการฉีดยาชาถึง 10 เข็ม ยังไม่ปรากฏอาการชา) แม้แตกต่างจากคนอื่นเป็นล้านคนก็อาจมีได้

คำให้การที่ว่า "ร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน" คือประเด็นสำคัญและเป็นจุดที่อาจชี้การแพ้หรือชนะในคดีนี้ได้

ข้อเท็จจริงอย่างนี้มีน้ำหนักพอที่จะชี้หรือคาดการณ์ถึงผลคดีได้ แต่นักกฎหมายเท่านั้นที่จะรู้ว่าน้ำหนักที่ว่านั้นคือข้อเท็จจริงโดยตรงคืออะไร และข้อเท็จจริงที่มาประกอบหรือสนับสนุนคืออะไร นำสืบได้ตื้นลึกหนาบางแค่ไหน ใช้พยานกี่คนให้การยืนยัน เป็นใครบ้างที่จะเพียงพอต่อประโยชน์ทางคดี

การแพ้ยา ซึ่งคนไข้อาจจะแพ้ได้อย่างง่ายดายกว่าคนอื่น ก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน การแพ้ยาชนิดเดียวกันบางคนแพ้ตั้งแต่ให้ยา บางคนให้ยาไปสักพักหนึ่งแล้วค่อยแพ้ก็มี

บุคคลแต่ละคนอาจมีโรคอื่นประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคโลหิตไม่แข็งตัว และโรคอื่นๆ ที่บุคคลนั้นอาจยังไม่รู้ หรือในส่วนนี้ แพทย์อาจจะรู้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด หรือก่อนการรักษา แต่แพทย์อาจจะไม่ได้สื่อสารให้คนไข้เข้าใจดีพอ หรือสื่อสารดีพอแล้วแต่คนไข้ไม่เข้าใจ เพราะเรื่องของระบบร่างกายมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อนแพทย์ต้องเรียนถึง 6 ปีถึงจะเป็นแพทย์ได้ (ซึ่งยังไม่นับการเรียนชีววิทยาในชั้นมัธยมอย่างเข้มข้นก่อนหน้านั้นอีก 6 ปี) โรคต่างๆ เช่น ความดัน เบาหวาน โลหิตไม่แข็งตัว สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรเฉพาะตัวเฉพาะบุคคลที่ทำให้การรักษายากขึ้น และเป็นลักษณะพิเศษซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละคน ที่จะส่งผลทำให้การรักษาโรคเดียวกันสำหรับแต่ละคนจะมีวิธีการและระยะเวลาในการรักษาแตกต่างกันไปได้

มีข้อพิจารณาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การตอบสนองต่อเชื้อโรคของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คนสองคนได้รับเชื้อไข้เลือดออกชนิดเดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาการที่ปรากฏอาจหนักเบาไม่เท่ากัน ระยะเวลาที่จะหายจากโรคย่อมไม่เท่ากัน โดยเฉพาะสภาพการณ์ที่เกิดจากเชื้อโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง ที่ต้องอาศัยการรักษาตามอาการ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น โรคหวัด ไข้เลือดออก

ประเด็นที่ 3 เรื่อง "เหตุแทรกแซง เหตุสุดวิสัยอื่นๆ" เช่น หากพิสูจน์ได้ว่ามีการติดเชื้ออย่างอื่นในขณะนั้นทั้งๆ ที่แพทย์รักษาความสะอาดดีแล้ว และตามหลักวิชาระบุว่าอาจเกิดขึ้นได้ เหตุอย่างนี้ถ้าเป็นผลสำคัญส่งผลต่อร่างกายของผู้ป่วยแล้วจะโทษแพทย์ไม่ได้ เพราะการรักษาความสะอาดและวิธีการตามหลักวิชาใดๆ ไม่มีอะไรที่รับรองด้วยเปอร์เซ็นต์

การแพ้ยาของคนไข้ที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนก็อาจเกิดขึ้นได้ การแพ้ยาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนแพ้อย่างรุนแรงจนหายใจไม่ออก ระบบหายใจล้มเหลวก็อาจมีได้ ถ้าการแพ้ยานี้ส่งผลอย่างสำคัญต่อร่างกาย ขนาดที่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของแพทย์และผลที่จะเกิดแก่ร่างกายคนไข้แล้ว จัดว่าการแพ้ยาเป็นเหตุแทรกแซงอย่างหนึ่ง ที่อาจจะโทษแพทย์ไม่ได้

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีจุดหักเหอีกอย่างหนึ่ง แพทย์บางคนที่เชี่ยวชาญอาจรู้ว่าหากมีข้อมูลเบื้องต้นว่าคนคนนี้แพ้ยาชนิดหนึ่งก็อาจจะมีแนวโน้มจะแพ้ยาในกลุ่มที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งแพทย์บางคนอาจไม่รู้ ซึ่งถ้าแพทย์ไม่รู้เพราะไม่ชำนาญอย่างนี้อาจโทษแพทย์ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิจารณาที่ควรคำนึงก่อนเป็นคดีความ เพราะข้อโต้แย้งใดๆ มีราคาตามธรรมชาติที่ต้องเสีย (ถึงไม่เสียอะไรเลย ก็ยังเสียเวลา) ซึ่งไม่ควรจะเสียโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือกลายเป็นเหยื่อของการค้าความ

สำหรับผู้เสียหายที่มั่นใจแล้วว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของแพทย์ อาจร้องเรียนต่อแพทยสภาได้ หรือร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เพราะการบริการทางการแพทย์เป็นการบริการอย่างหนึ่งที่จัดเป็นคดีผู้บริโภค

ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ถือว่าเป็นผู้ให้บริการและเป็นผู้ประกอบธุรกิจไม่แตกต่างกัน จะมีที่ไม่เหมือนกันตรงที่รายละเอียดคือ ถ้าเป็นโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะฟ้องแพทย์โดยตรงไม่ได้ ต้องฟ้องหน่วยงาน ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ผู้เขียน: กนกศักดิ์ พ่วงลาภ พนักงานอัยการ

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.มติชน วันที่ 17 กันยายน 2559





Create Date : 24 กันยายน 2559
Last Update : 10 กรกฎาคม 2560 19:14:39 น. 2 comments
Counter : 1199 Pageviews.  

 
เรือนเล็บ เก็บตะวัน จากมื้อนั้น นั่นนิ้วสาว
แวววับ จับแสงวาว สะอาดขาว พราวนิทรา
ตื่นนอน ตอนวันพระ เตรียมข้าวนะ เข้าวัดวา
ทานใหม่ ให้รีบหา บุญรักษา ขายค้าเจริญ
ต้นกล้า อาราดิน


โดย: ต้นกล้า อาราดิน วันที่: 24 กันยายน 2559 เวลา:6:53:43 น.  

 
หมอ ก็เป็นแค่หัวโขน วันหนึ่งก็อาจเปลี่ยนเป็น ผู้ป่วย หรือ ญาติผู้ป่วย ..
รวบรวมมาฝาก .. จะได้เข้าใจกันมากขึ้นว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ผลกระทบของ "หมอ" เท่านั้น
มีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม และ มีความสลับซับซ้อนกว่า คำพูดไม่กี่คำ ที่ยกขึ้นมาอ้าง

ถอดความ รายการสามัญชน คนไทย ตอน กฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบทางสาธารณสุข ... ชเนษฎ์ ศรีสุโข https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-11-2016&group=7&gblog=208

ร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ... ปัญหา หรือ โอกาส ... https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-07-2010&group=7&gblog=61

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-11-2016&group=7&gblog=207

การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-09-2016&group=7&gblog=204

ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-04-2016&group=7&gblog=197

ได้ไม่เท่าเสีย ....โดย สุนทร นาคประดิษฐ์ ( ความเห็น เกี่ยวกับ การฟ้องร้องแพทย์ ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-03-2009&group=7&gblog=21

ฟ้องร้องแพทย์ ความยุติธรรมแก่ใคร ฤๅ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-01-2009&group=7&gblog=12



ปัจจุบันแพทย์พยาบาลสามารถถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย(คดีแพ่ง) โดยง่าย เหตุเพราะมีการตีความว่าการรักษาช่วยชีวิตคนไม่ต่างอะไรจากสินค้าหรือบริการที่มุ่งหวัง กำไรทั่ว ๆ ไป (ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค)ทำให้มีแนวโน้มการฟ้องร้องสูงขึ้น เรื่อย ๆ ที่ผ่านมาประเด็นนี้ ได้รับการปลอบขวัญจากรัฐเพื่อลดความวิตกกังวลของบุคลากรภาครัฐว่า“ไม่ต้องกังวล เพราะมีพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เป็นเกราะป้องกันการฟ้องร้องไว้” จึงทำให้แพทย์พยาบาล หลายคนชะล่าใจ คิดว่าไม่ว่าผิดถูกอย่างไร ไม่ว่าศาลจะทำคำตัดสินออกมาเช่นไรบุคลากรก็ไมได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วแพทย์พยาบาล อาจตกอยู่ในฐานะล้มละลายโดยง่ายได้เหตุเพราะแท้จริงแล้วบุคลากรยังคงมีความรับผิดชอบต่อเงินที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องทดรองจ่ายให้ไปก่อนควรเข้าใจเสียใหม่ว่า กฎหมายนี้เป็นเพียงเกราะป้องกันมิให้แพทย์พยาบาลตกเป็นจำเลยโดยตรง แต่ความรับผิดทางอ้อม (การโดนไล่เบี้ย )ยังคงอยู่

ที่สำคัญคือในการอภิปรายและการประชุมในหลายๆ ครั้ง ผู้บริหารระดับสูง ในกระทรวงก็ยอมรับว่าท่านไม่มีอำนาจสั่งห้ามการไล่เบี้ยได้ เพราะเมื่อกระทรวงต้องนำเงินหลวงออกไปจ่ายให้กับโจทก์ตามคำพิพากษาท่านมีหน้าที่ตั้ง กรรมการสอบเพื่อพิจารณาการ ไล่เบี้ยและรายงานผลให้กระทรวงการคลังที่เป็นเจ้าของเงินที่แท้จริงซึ่งส่วนใหญ่แล้วกระทรวงการคลัง จะดูคำพิพากษาศาลเป็นหลักหากศาลตัดสินว่ามีความผิด การไล่เบี้ยนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก !!ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านี้คือขณะนี้มีคดีแพ่งที่กระทรวงตกเป็นจำเลยและรอฟังคำตัดสินของศาล อยู่อีกประมาณ ๕๐ คดีคิดเป็นทุนทรัพย์ประมาณ ๓,๐๓๙ ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ ๙กรกฎาคม ๒๕๕๙ กลุ่มกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข)

ที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านี้คือหากรัฐยอมผ่านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะมีคดีฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอีกกี่ร้อยเท่าเพราะเดิมพันตามร่างกฎหมายใหม่นี้เป็นเงินจำนวนหลายล้านบาทต่อการร้องเรียนหนึ่งรายและเมื่อจ่ายเงินไปหลายล้านบาทออกไป กระทรวงการคลัง จะยอมมิให้มีการไล่เบี้ยอย่างที่ผู้ผลักดันกฎหมายออกมาโฆษณาชวนเชื่อ จริงหรือ !?!

แนะนำให้อ่านอย่างยิ่งยวด .. โดยเฉพาะ แพทย์พยาบาล ที่ยังรับราชการอยู่

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย
ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กรรมการแพทยสมาคม
ดาวน์โหลด วารสารเมดิคอลโฟกัส MedicalFocusปีที่ 8 ฉบับที่ 94 ตุลาคม 2559
//www.luckystarmedia.co.th/download/medical_focus_vol_94.pdf


...............................

ตัวอย่างคดีที่แพทย์พยาบาลโดนไล่เบี้ย

- คดีแรก Drug allergy ศาลเห็นว่าแพทย์กระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงมีคำพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องชดใช้สินไหมเป็นเงินจำนวน ๓,๖๘๘,๖๓๐ บาท เมื่อคดีนี้ เข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาไล่เบี้ยคำตัดสินที่ได้ออกมาคือแพทย์ต้องควักเงินส่วนตัว เพื่อชำระในอัตรา ๕๐% คิดตกเป็นเงินทั้งสิ้นที่แพทย์ต้องจ่ายคืนให้กับรัฐ๑,๘๔๔,๓๑๕ บาท

- คดีที่สอง Compartment syndrome ศาลจึงมีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องชดใช้สินไหมพร้อมค่าเสียหายเป็นเงิน ๔,๒๕๑,๓๗๗ บาท โดยมีการไล่เบี้ยให้แพทย์ต้องชดใช้เงินคืนรัฐจำนวน ๗๐% และพยาบาล ๓ คนอีก ๓๐%

- คดีที่สาม Snake bite ศาลจึงตัดสินให้จำเลยมีความผิดและต้องชดใช้เงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท คดีนี้ มีคำสั่งให้ไล่เบี้ยแพทย์คิดเป็น ๖๐% พยาบาล ๔๐%

- คดีที่สี่ Extubation ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง!! ต้องชดใช้เงินรวมทั้งสิ้น ๕,๑๒๕,๔๑๑ บาท กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการไล่เบี้ย มีคำสั่งให้ไล่เบี้ยเป็นจำนวนเงิน ๕๐% ของเงินที่จ่ายไป โดยให้แพทย์รับไป ๗๐% พยาบาล ๒ คน ๓๐%

- คดีที่ห้า Pulmonary tuberculosis คำพิพากษาให้จำเลย ที่เป็นกุมารแพทย์มีความผิดฐานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องจ่ายเงินประมาณ ๓,๘๐๐๐,๐๐๐ บาท


โดย: หมอหมู วันที่: 21 พฤศจิกายน 2559 เวลา:14:33:52 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]