Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร ... จากงานสัมนาฯ จัดโดยคณะอนุกรรมการฯ แพทยสภา



‘เมา-รอนาน-เจ็บหนัก’ กระตุ้นความรุนแรงใน รพ. ห้องฉุกเฉินเกิดเหตุมากสุด

เวทีถอดบทเรียนความรุนแรงในโรงพยาบาล ระบุ ห้องฉุกเฉินเกิดเหตุมากที่สุดเกือบ 100% แพทย์ชำแหละปัจจัยกระตุ้นสถานการณ์ พบ 60% ของผู้รับบริการอีอาร์ กลับไม่ฉุกเฉิน

นพ.บดีภัทร วรฐิติอนันต์ โรงพยาบาลนครปฐม กล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สภาพปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้เรารับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายคนไข้ การทำร้ายเจ้าหน้าที่ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจากสถิติเกือบทั้ง 100% พบว่าสถานที่เกิดเหตุมักอยู่ในห้องฉุกเฉินแทบทั้งสิ้น คำถามก็คือเหตุใดจึงต้องเป็นห้องฉุกเฉิน

นพ.บดีภัทร กล่าวว่า ผลการวิจัยหนึ่งระบุว่าพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการกระทำรุนแรง ได้แก่ อันดับหนึ่งเมาสุราและใช้ยาเสพติด รองลงมาคือการรอคอยที่ยาวนาน ความบกพร่องเรื่องการสื่อสาร อาการเจ็บป่วยที่รุนแรง และสุดท้ายคือสถานการณ์ที่รีบเร่ง ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยทั้งหมดนี้อยู่ในห้องฉุกเฉินแทบทั้งสิ้น นั่นจึงเป็นเหตุให้บุคลากรในห้องฉุกเฉินมักถูกทำร้ายทั้งทางวาจาและทางร่างกาย

“สิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือเหตุการณ์ทั้งหมดแทบจะไม่มีการเขียนรายงาน กว่า 80% ของเหตุการณ์ไม่มีการเขียนรายงาน ฉะนั้นถ้าใช่เหตุการณ์ที่รุนแรงจริงๆ หรือถ้าไม่มีสังคมออนไลน์ ก็จะไม่ทราบว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น” นพ.บดีภัทร กล่าว

นพ.บดีภัทร กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเหตุจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้สูญเสียความพึงพอใจในงานและความเชื่อมั่นในวิชาชีพ ซึ่งเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ไม่ได้กระทบเพียงบุคลากรในโรงพยาบาลเท่านั้น หากแต่การรับรู้จะส่งผลต่อบุคลากรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุมมองผู้บริหาร ผลวิจัยดังกล่าวพบว่า ผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอันดับหนึ่ง ลูกค้าเป็นอันดับสอง ฉะนั้นหากบรรยากาศในการทำงานมีความสุข บุคลากรจะดูแลลูกค้าให้เอง แต่ในทางกลับกันหากคนที่ทำหน้าที่คอยดูแลผู้อื่นมีสุขภาพจิตสุขภาพกายไม่พร้อม ก็คงจะกระทบต่อการให้บริการ

“งานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าสามารถดูแลบุคลากรในห้องฉุกเฉินไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพการดูแลอย่างแน่นอน” นพ.บดีภัทร กล่าว

แพทย์รายนี้ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในโรงพยาบาลก็คือสภาพความแออัดของผู้ป่วย ข้อมูลจากสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปสรุปว่าห้องฉุกเฉินเกือบทุกโรงพยาบาลมีความแออัด สาเหตุสำคัญก็คือผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินมารับการตรวจที่ห้องฉุกเฉินมากเกินไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยใช้บริการห้องฉุกเฉินประมาณปีละ 35 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้พบว่าเกินกว่า 60% เป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน นั่นหมายความว่าทุกวันนี้เราใช้ห้องฉุกเฉินไว้ให้บริการผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ห้องฉุกเฉินแบกรับงานเกินศักยภาพ สุดท้ายแล้วทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

นพ.บดีภัทร กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความแออัดของห้องฉุกเฉินว่า มีหลากหลายวิธี แต่อยากจะเน้นย้ำประเด็นการรู้เท่าทันข้อมูลของประชาชน คือเคยมีปัญหาประชาชนไม่เข้าใจ หรือร้องเรียนว่าทำไมตัวเองต้องรอคอยทำไมคนอื่นได้รับการรักษาเลย หรือใครด่วนหรือไม่ด่วนอย่างไร ใครฉุกเฉินไม่ฉุกเฉินคัดแยกอย่างไร รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบด้วยว่าจำเป็นต้องให้บริการหรือตรวจตามความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต

สำหรับปัญหาความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความแออัด แต่เกิดจากอารมณ์โดยไม่เคารพสถานที่ เช่น การยกพวกตีกันแล้วตามมาตีกันต่อที่โรงพยาบาล ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก ฉะนั้นซีกนโยบายต้องช่วยกันด้วยว่าจะไม่ยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล รวมทั้งการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และนักกฎหมาย เพื่อวางนโยบายลดความรุนแรงต่อไป

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ย้ำแก้ปัญหาคุกคาม-รุนแรงใน รพ.ต้องลดเคสที่ไม่ฉุกเฉินออกจากห้องฉุกเฉิน

แพทย์ รพ.สุราษฏ์ฯ ชี้ประเด็นความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอาคนที่มีความรู้น้อยที่สุดและยังเป็นคนหนุ่มสาวของโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า ย้ำแก้ปัญหาการคุกคามต้องลดเคสที่ไม่ฉุกเฉินออกจากห้องฉุกเฉิน

นพ.จักรกฤช สุวรรณเทพ

นพ.จักรกฤช สุวรรณเทพ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สภาพปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ถ้าเราอยู่กับระบบสาธารณสุขมานานจะพบว่าความรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องไปถึงผู้บริหารหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือสังคมออนไลน์ ซึ่งขณะนี้คิดว่าในเชิงนโยบายทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือแพทยสภาคงดำเนินการอย่างแน่นอน ส่วนจะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องรายละเอียด

นพ.จักรกฤช กล่าวว่า หากพูดถึงเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่าอย่างโรงพยาบาลชุมชนจะมีกำลังหรือไม่ หรือการจ้าง รปภ.24 ชั่วโมงนั้น สธ.ควรจะการันตีให้โรงพยาบาลหรือไม่ ตรงนี้จำเป็นต้องมีความชัดเจนเชิงนโยบาย เพราะนั่นหมายถึงสวัสดิภาพของบุคลากรด้านอื่นๆ ที่ต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมงด้วย

นพ.จักรกฤช กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการบริการอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ก็ต้องพิจารณาต่อด้วย อย่างกรณีห้องฉุกเฉินถามว่าใครอยู่บ้าง ที่โรงพยาบาลสุราษฏร์มีแพทย์ Intern 2 คน นอกจากนั้นก็เป็น Extern และสตาฟท์ซึ่งก็เป็นการจ้าง Intern อีก ประเด็นก็คือเราเอาคนที่ประสบการณ์น้อยที่สุด และอยู่ในกลุ่มอายุเจนเนอเรชั่นที่อ่อนไหวที่สุดคือเจนวายทำงานในห้องฉุกเฉิน

“คือเราเอาคนที่ประสบการณ์น้อย หรือ Intern บางคนก็มีอีโก้ที่สูงมากเข้าไปอีก คำถามก็คือว่าแล้วสตาฟท์จริงๆ เราอยู่ที่ไหน เพราะระบบรักษาความปลอดภัยไม่มี สิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง สตาฟท์ก็เป็นคนหนุ่มสาว ผมคิดว่ายังไงๆ ก็ระเบิด” นพ.จักรกฤช กล่าว

นพ.จักรกฤช กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างแรกก็คือต้องเอาเคสที่ไม่ฉุกเฉินออกจากห้องฉุกเฉินก่อน ซึ่งเรื่องนี้ต้องไม่ใช่เพียงแค่นโยบายของโรงพยาบาล แต่ทาง สธ.เอง หรือแม้แต่แพทยสภา ต้องออกมาเป็นผู้สื่อสารโดยตรงกับสาธารณชนให้เข้าใจตรงกันว่าห้องฉุกเฉินจะไม่ดูแลคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน และเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลในการจัดบริการเพื่อรองรับคนไข้ที่เหลือ

นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นคือระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งเชิงโครงสร้าง เชิงบุคลากร สถานที่ต่างๆ โดยต้องมีการันตีให้กับโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง จากนั้นคือการบริการจัดการบุคลากรในห้องฉุกเฉิน ทั้ง Intern สตาฟท์ รวมถึงที่ปรึกษาทั้งหลาย

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

เสนอไอเดียลดความรุนแรงห้องฉุกเฉิน ชงตั้งบุคลากรเป็นเจ้าพนักงานตาม กม.-ใครดูหมิ่นติดคุก

กรรมการแพทยสภา แนะแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน เสนอตั้งบุคลากร ER เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ใครดูหมิ่น-ทำร้าย ระวางโทษคุก 1 ปี

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม กรรมการแพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก แก้ไข ป้องกันและแก้ปัญหา วิกฤต ความรุนแรงในโรงพยาบาล ER ในโรงเรียนแพทย์ และการจัดระเบียบ” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในสถานพยาบาลไม่ใช่แพทย์แต่เป็นพยาบาล ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบว่าพยาบาลเกิน 50% ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว และ 95% เชื่อว่าความรุนแรงจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดย 1 ใน 4 ของพยาบาลไม่มีความสุขในการทำงาน โดยเฉพาะในห้องฉุกเฉิน ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยก็คงมีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน

นพ.สุรจิต กล่าวว่า ในประเทศไทย ER ไม่ใช่ emergency room แต่เป็น everything room นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยมีน้อยมากที่จะมีห้องฉุกเฉิน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นห้องจิปาถะทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือการทำให้ER เป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ โดยสำหรับปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่1.ด่าทอด้วยวาจา 2.ทำร้ายร่างกาย 3.สืบหาสะกดรอยตามรวมถึงใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำวิธีการจัดการความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน โดยให้จัดทำเป็น 3 เฟส ได้แก่ 1.ระยะป้องกันคือก่อนเกิดเหตุ 2.ระยะเกิดเหตุ 3.ระยะหลังเกิดเหตุ

สำหรับระยะก่อนเกิดเหตุนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้บริหารตั้งแต่ระดับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงมาจนถึงหน่วยบริการ ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการป้องกันความรุนแรง โดยเฉพาะการประกาศวาระ zero tolerance เมื่อมีการประกาศแล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้คนไข้ทราบถึงสิทธิของบุคลากรในวิชาชีพ และต้องวางแนวทางให้เกิดการปฏิบัติจริง รวมถึงต้องมีแนวทางและมาตรการในการติดตามและดำเนินการด้วย เช่น หากพบการด่าทอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก็ควรต้องมีการแจ้งความโดยทันที เพื่อให้มีการบันทึกไว้

ขณะเดียวกันต้องมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน ยกตัวอย่างที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองติดอันดับ 1 ใน 5 อันตรายของประเทศ โดยห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจะเป็นระบบปิด คือไม่ให้เข้าใดๆ ทั้งสิ้น ทางเข้าของรถพยาบาลกับคนไข้ที่เดินเข้ามาเป็นคนละทางกันและมองไม่เห็นกัน แม้แต่บุคลากรในโรงพยาบาลที่ไม่เกี่ยวข้องกับห้องฉุกเฉินก็เข้าไม่ได้ มีการตรวจเข้มข้น มีกล้องวงจรปิด ต้องฝากสัมภาระทุกอย่างก่อนเข้า และกำหนดระยะเวลาการเข้าสั้นๆ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการฝึกฝนโดยเฉพาะ จากบริษัทที่ฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยห้องฉุกเฉินโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ สิ่งที่โรงพยาบาลต้องทำคือแผนการปฏิบัติการเมื่อเกิดเหตุความรุนแรง และการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไว้ล่วงหน้าเพื่อกำหนดแผนการทำงานร่วมกัน รวมทั้งจัดทำแนวทางการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง

นพ.สุรจิต กล่าวถึงการดำเนินการของโรงพยาบาลในระยะเกิดเหตุว่า จำเป็นต้องมีระบบที่ใช้ขอความช่วยเหลือด่วนได้ คือกดปุ่มเดียวแล้วจบ มีการทำแผนเพื่อให้บุคลากรสามารถหลบหลีกออกจากเหตุการณ์ความรุนแรงได้ ต้องบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานต่อผู้บริหารทุกครั้งโดยไม่มองว่าเรื่องความรุนแรงเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

สำหรับระยะหลังเกิดเหตุ จำเป็นต้องรายงานเหตุการณ์ตามแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล ค้นหาสาเหตุและแนวทางป้องกัน ที่สำคัญคือต้องมีมาตรการเยียวยาให้บุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง จัดทำระบบการฝึกอบรมการจัดการความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและซ้อมแผน จัดทำข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและความสำเร็จในการปฏิบัติการตามมาตรการต่างๆ

“ในเมื่อบ้านเรามีแต่ห้องจิปาถะแต่ไม่มีห้องฉุกเฉินจริงๆ จึงขาดการบริหารจัดการเชิงนโยบายและเชิงระบบเพื่อป้องกันภาวะความรุนแรง บุคลากรก็ขาดประสบการณ์ ไม่เคยฝึกไม่เคยเรียนรู้ บุคลากรไม่รายงานเหตุการณ์เพราะรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ รายงานไปก็ไม่ถูกแก้ไขปัญหาใดๆ” นพ.สุรจิต กล่าว

นพ.สุรจิต กล่าวอีกว่า ห้องฉุกเฉินสามารถปิดได้หากมีความเสี่ยง และโรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องเปิดทำการตลอดเวลา อย่างในสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่าเฉพาะโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 100 เตียงขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะต้องเปิดทำการตลอดเวลา ส่วนโรงพยาบาลเล็กๆ ปิดบ้างก็ได้ ไม่ต้องมีห้องฉุกเฉินก็ได้ เราสามารถประกาศได้เลยว่าโรงพยาบาลไม่มีห้องฉุกเฉิน มีแต่ห้องด่วนและเจ็บป่วยเล็กน้อยเท่านั้น หรือถ้าอยู่ใกล้ๆ กันก็เข้าเวรรวมกัน 2-3 แห่ง และใช้ระบบขนส่งผู้ป่วยแทน

“ในประเทศอังกฤษจะทำให้ผู้ป่วยไม่มาที่ห้องฉุกเฉิน นั่นหมายความว่าต้องมีระบบคัดแยกผู้ป่วยสำหรับมาห้องฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่มาคัดแยกกันที่ห้องฉุกเฉิน อันไหนรักษาได้ตรงหน้าก็รักษาเลย ไม่ใช่ขนคนไข้มารกในห้องฉุกเฉิน” นพ.สุรจิต กล่าว

นพ.สุรจิต กล่าวถึงสิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือสภาวิชาชีพต้องร่วมกันประกาศวาระ zero tolerance ประกาศสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับสิทธิผู้ป่วย อาจจะทำโครงการฝากโรงพยาบาลไว้กับตำรวจ ที่สำคัญคือต้องผลักดันให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะเท่ากับว่าผู้ปฏิบัติงานทำงานโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย หากถูกคนไข้ดูหมิ่นก็จะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือแม้แต่คนไข้ปฏิเสธไม่รับการบริการแต่ภาวะนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตก็มีความผิด ถ้าคนไข้แจ้งความเป็นเท็จ ต่อสู้ขัดขวางก็จะมีโทษเช่นกัน


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

‘พยาบาล’ ถูกลวนลาม-คุกคามทางเพศอื้อ

สภาการพยาบาลเปิดข้อมูล ‘พยาบาล’ ถูกลวนลาม-คุกคามทางเพศเป็นประจำ แนะอย่าอยู่คนเดียว แฉพฤติกรรมทราม ตั้งแต่แทะโลมถึงขั้นดึงไปกอด

นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล และผู้เชี่ยวชาญศาลยุติธรรมสาขาการพยาบาล กล่าวในเวทีเสวนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับพยาบาลมากที่สุด

นางประภัสสร ยกตัวอย่างกรณีการคุกคามพยาบาลว่า สมัยที่เข้ามาทำคดีใหม่ๆ คดีแรกคือพนักงานเข็นเปลเมาแล้วโทรตามพยาบาลขึ้นไปข่มขืนแล้วฆ่าโดยหลอกว่าคนไข้กำลังจะคลอด เมื่อฆ่าเสร็จก็ออกไปนอนหลับที่ห้องพักในสภาพเลือดท่วมตัว ก่อนจะตื่นแล้วบอกว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และรับสารภาพว่าเห็นพยาบาลในชุดสีขาวแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ หรืออีกคดีหนึ่งที่พยาบาลถูกไฟฟ้าช็อตด้วยเครื่องปั้มหัวใจจากฝีมือคนในโรงพยาบาลเช่นกัน แต่โชคดีถูกสายเสื้อในจึงไม่เป็นอะไร หรืออีกเคสหนึ่งคนไข้เข้าไปในโรงพยาบาลและขึ้นไปบนตึก พยาบาลเห็นท่าทางผิดสังเกตและเห็นว่าเหน็บมีดมาไว้ข้างหลังจึงรีบล็อคประตู และโทรเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ระหว่างนั้นคนร้ายหลบไปซ่อนตัวที่ห้องซักผ้า มีผู้ช่วยพยาบาลกำลังเดินไปเอาผ้าพอดีจึงถูกก่อเหตุที่ข้างซอกห้องผ้า ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับพยาบาล ฉะนั้นพยาบาลก็ไม่ควรอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด

“พยาบาลถูกลวนลามและคุกคามทางเพศเป็นประจำ เริ่มตั้งแต่การแทะโลม หรือถึงขั้นดึงตัวเข้าไปกอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากสร้างความหวาดกลัวแล้ว ยังทำให้พยาบาลเกิดความรู้สึกถูกดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีด้วย โดยสิ่งที่สภาการพยาบาลรับอยู่เป็นประจำและอันดับหนึ่งคือพยาบาลถูกลวนลามทั้งทางวาจาและการกระทำ” นางประภัสสร กล่าว

นางประภัสสร กล่าวอีกว่า พยาบาลเป็นคนแรกที่จะต้องรองรับอารมณ์ของคนไข้ เช่น คนไข้อารมณ์ไม่ดีเพราะต้องรอการรักษาเป็นเวลานาน ตรงนี้แพทย์และพยาบาลจำเป็นต้องอธิบายว่าทำไมต้องรอ ศักยภาพโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้คนไข้ลดระดับความรุนแรงของอารมณ์ลงมาได้ ยกตัวอย่างเคสคนไข้มาด้วยอารมณ์โกรธและต้องการพบแพทย์เฉพาะทางทันที โดยแพทย์ได้รักษาเบื้องต้นและนัดมาใหม่แต่คนไข้ไม่ยินยอม แพทย์จึงส่งต่อให้พยาบาลผู้ชายไปอธิบายต่อ แต่คนไข้ไม่พอใจและชกพยาบาลจนแตก เป็นเหตุให้ รปภ.และเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาล็อคตัวคนไข้ สุดท้ายคนไข้ไปแจ้งความว่าถูกรุมทำร้าย ซึ่งจากกรณีนี้จึงมีข้อเสนอว่าทุกโรงพยาบาลควรติดกล้องวงจรปิดเพื่อเป็นหลักฐานว่าใครผิดใครถูก และควรจัดหา รปภ.ปฏิบัติหน้าที่หน้าห้องฉุกเฉิน และระวังการปะทะกับคู่กรณี

“สำหรับพยาบาล อาจารย์อยากฝากเอาไว้ว่า ไม่ว่าพยาบาลจะยุ่งขนาดไหนก็ตามต้องคิดถึงหัวใจของคนรอ อารมณ์จะเกิดขึ้นจากการรอ โดยเฉพาะการรอโดยที่เขาไม่รู้ว่ารออะไร ฉะนั้นต้องมีคำตอบว่าเขารออะไร ต้องให้เหตุผลเขา”

นางประภัสสร กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดกับพยาบาลมากที่สุดก็คือการพูดจาแทะโลมและการด่าทอ คือเมื่อคนมีทัศนคติว่าเงินเป็นสิ่งที่ใหญ่มากจึงนึกอยากจะด่าใครก็ด่า แน่นอนว่าหากเป็นหลักการของมหาตมะคานธี ลูกค้าคือพระเจ้า แต่ในวันนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าในขณะที่ลูกค้าเป็นพระเจ้านั้น บุคลากรของตัวเองก็มีความสำคัญ ฉะนั้นหากลูกค้าไม่สุภาพเราก็ควรมีสิทธิไม่ให้บริการได้เช่นกัน

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ปลุกสังคมเคารพ รพ.ปฏิเสธความรุนแรง ‘สมาพันธ์แพทย์’ ชี้ทำผิดต้องจบที่ กม.ไม่ใช่ขอโทษ

ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. ปลุกสังคมปฏิเสธความรุนแรงในโรงพยาบาล ยกเคสอังกฤษเข้มงดกฎหมาย ต่อยพยาบาลถูกคุก 4 เดือน ระบุใครใช้ความรุนแรงต้องถูกลงโทษ อย่าขอโทษแล้วจบลงด้วยดี เสนอ สธ.ทำโปรแกรมฝึกทักษะบุคลากรรับมือการคุกคาม

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก แก้ไข ป้องกันและแก้ปัญหา วิกฤต ความรุนแรงในโรงพยาบาล ER ในโรงเรียนแพทย์ และการจัดระเบียบ” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ความรุนแรงที่บุคลากรสาธารณสุขได้รับเปรียบดั่งยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายแต่เป็นข่าวน้อย และพวกเรารวมถึงผู้บริหารบางคนก็มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ นั่นทำให้ปัญหายังคงมีอยู่

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ฯ ร่วมกับแพทยสมาคมจัดงานเสวนาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวและสามารถวิเคราะห์ปัจจัยออกมาเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ นั่นก็คือ 1.ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะสังคมชอบใช้ความรุนแรง 2.ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับคนไข้ไม่ดี ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเหตุใหญ่ที่จำเป็นต้องแก้ มิเช่นนั้นเราจะเอาแต่ตามแก้ปัญหาปลายเหตุไปเรื่อยๆ

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า คำว่าโรงพยาบาลสำหรับคนยุคใหม่ก็เหมือนกับสถานที่ที่หนึ่ง จึงเกิดการขาดการเคารพสถานที่ มีการมาทำร้ายกันในโรงพยาบาล ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่านี่คือโรงพยาบาล จะมาทำอะไรแบบนั้นไม่ได้ ต้องรู้จักเคารพสถานที่

“ทุกวันนี้โรงพยาบาลเหมือนร้านสะดวกซื้อ คือใครจะเข้าจะออกตอนไหนก็ได้ ยกตัวอย่างมีคนๆ หนึ่งถูกยุงกัดตอนตี 2เขาจะเข้าเซเว่นไปซื้อยาหม่องก็ได้ หรือจะมาโรงพยาบาลเพื่อรับยาไปทาก็ได้ ผมคิดว่าทุกวันนี้มันเริ่มไม่แตกต่าง ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น ประเด็นก็คือคนที่มาโรงพยาบาลต้องมีความสำนึกว่านี่คือโรงพยาบาล” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีคนไข้ตบหน้าพยาบาลแล้วผู้บริหารบอกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งถามว่าผู้บริหารมีทัศนคติเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่คนไข้ทำผิดกฎหมาย หรือแม้แต่เหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดความรุนแรงแล้วมักจบลงด้วยดี เช่น ผู้บริหารให้ขอโทษ คำถามก็คือหลังจากนี้ก็จะมีการเตะก้านคอ ตบหัว ต่อไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่

สำหรับทัศนคติเช่นนี้มันไม่ควรมี ตัวอย่างหนึ่งของประเทศอังกฤษที่น่าสนใจคือมีคนไข้เมาแล้วมาทำแผล แล้วชกพยาบาลเข้าไป 1 หมัด ปรากฏว่าคนไข้รายนี้ต้องติดคุก 4 เดือน คือมันไม่มีการจบลงด้วยดี ไม่มีการยกกระเช้าไปขอโทษ เพราะนโยบายเขาคือความรุนแรงต้องเป็นศูนย์ นี่คือเรื่องที่เราควรเรียนรู้

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่มีการให้อภัยหากคุณทำร้ายบุคลากรสาธารณสุข และถ้าคนไข้กระทำเหตุการณ์รุนแรงก็จะไม่รักษา และถ้ายังทำเหตุการณ์รุนแรงขึ้นก็จะไม่รักษาทั้งครอบครัว นี่คือนโยบายที่ใช้กันเป็นมาตรฐาน หลักการคือถ้าคุณทำผิดคุณต้องรับโทษของการทำผิด ไม่มีการให้อภัย เพื่อปรามไม่ให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นอีก

ประธานสมาพันธ์แพทย์ฯ กล่าวว่า เรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น ฉะนั้นจำเป็นต้องฝึกอบรมบุคลากรของเรา ในต่างประเทศมี 4-5 ทักษะ เช่น การพูดคุยสื่อสารเพื่อลดปัญหา เมื่อความเห็นไม่ตรงกับคนไข้ควรจะทำอย่างไร จะบริหารความเครียดและอารมณ์ได้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรสร้างโปรแกรมเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้บุคลากรได้อบรมเพื่อทำตัวได้ถูกเมื่อเผชิญเหตุการณ์

“เรามีแผนซ้อมกันทุกปี ทั้งแผนอุบัติเหตุหมู่ แผนไฟไหม้ แผนน้ำท่วม แผนหวัดนก ฉะนั้นเราต้องมีแผนความรุนแรงด้วย เมื่อเจอคนไข้ใช้ความรุนแรงแล้วเราจะทำอย่างไร หนึ่ง สอง สาม” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เรามีกฎหมายคุ้มครองเมื่อถูกใช้ความรุนแรง แต่คงเป็นเรื่องยากถ้าหากต้องให้พยาบาลที่โดนคนไข้ตบหน้าไปฟ้องร้องเอง ส่วนตัวคิดว่าควรที่จะมีหน่วยงานหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทน ขณะเดียวกันเมื่อคนไข้เกิดความไม่พอใจต้องมีช่องทางให้เขาสามารถระบายหรือร้องเรียนได้

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

แพทยสภา’ ลุยปลดล็อคฟ้องอาญาหมอ จ่อผ่าคลอด กม.ตัดการรักษาออกจากคดีผู้บริโภค

แพทยสภา เดินหน้าผลักดันหลักการห้ามฟ้องอาญาคดีทางการแพทย์ จ่อคลอดกฎหมายตัดการรักษาออกจากคดีผู้บริโภค ด้านอดีตนายกแพทยสภา ระบุ ต้องสอนให้แพทย์อย่าโจมตีกันเอง แนะผ่าตัดมีความเสี่ยงถึงตาย แม้คนไข้จะกลัวก็ต้องบอก เพื่อป้องกันคดี

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการแพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หนึ่งที่คุกคามการแพทย์ นั่นก็คือมีการจ่ายเงินให้กับคนไข้ที่ทำหมันแล้วตั้งครรภ์ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่คุกคามความรู้สึก จริยธรรม และความเป็นแพทย์ นั่นเพราะโอกาสของการทำหมันแล้วตั้งครรภ์อยู่ที่ 1000 ราย ต่อ 6 ราย ฉะนั้นนี่คือเหตุที่คาดการณ์ได้ว่าอาจจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด

นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากพยาธิสภาพของคนไข้เอง คือเกิดจากรังไข่ มดลูก และการมีเพศสัมพันธ์ของคนไข้เอง ซึ่งทางแพทยสภาก็ไม่ยอมและมีมติว่าไม่ให้จ่ายเงินชดเชยให้กับคนไข้ เนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมา มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลที่ไม่ถูกต้อง

นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งประเด็นก็คือการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลแล้วต้องจ่ายเงินชดใช้ให้ ซึ่งทางแพทยสภาก็ไม่เห็นด้วย แต่จะให้เหตุผลอย่างไรนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการกลั่นกรองอย่างละเอียดต่อไป

“ปัญหาภัยคุกคามต่างๆ นั้น เราก็พยายามจะแก้ไขอยู่ ซึ่งโดยหลักการแล้วการประกอบวิชาชีพทางแพทย์นั้นไม่ควรเป็นคดีความทางอาญา ซึ่งเราก็ต่อสู้มาเป็น 10 ปีแล้ว และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.พิจารณาคดีทางการแพทย์ โดยประเด็นสำคัญก็คือคดีอาญา และตัดการแพทย์ออกจากวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคด้วย” นพ.สัมพันธ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อดีตนายกแพทยสภา กล่าวว่า หากพิจารณาจากคดีที่คนไข้ฟ้องแพทย์จะพบว่าอันดับหนึ่งคือกล่าวหาว่าแพทย์ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาชีพ เมื่อถามต่อว่าแล้วคนไข้รู้ได้อย่างไรว่าแพทย์ไม่ได้มาตรฐาน ก็เพราะแพทย์อีกรายเป็นคนบอก นั่นหมายความว่าแพทย์โจมตีกันเอง ฉะนั้นวิธีการพูดของแพทย์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องมีการสอนนักเรียนแพทย์กันใหม่ โดยเน้นย้ำถึงวิธีการให้ความเห็นเป็นคนที่สอง

“วิธีการให้ความเห็นเป็นคนที่สองนั้น อย่าไปโจมตีคนแรก ต้องเข้าใจว่าคนแรกเขาอาจจะยังไม่มีข้อมูลอะไรมาก แต่พอระยะเวลาผ่านไปแพทย์คนที่สองอาจจะมีข้อมูลละเอียดมากกว่า ซึ่งเราอาจจะถูกก็จริง แต่ก็อย่าไปโจมตีคนแรก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องก็คือการแจ้งข้อมูลให้กับคนไข้ เช่น จะผ่าตัดก็ต้องบอกคนไข้ด้วยว่าคนไข้เป็นอะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีโรคแทรกซ้อนอย่างไร ถามว่าถ้าผ่าตัดแล้วคนไข้อาจจะตายแล้วเราไม่บอกได้ไหมเพราะคนไข้จะกลัว ไม่ได้ ยังไงก็ต้องบอก คนไข้กลัวก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเราไม่บอกแล้วผ่าตัดไปแล้วคนไข้ตาย สุดท้ายเราอาจจะตายแทน แล้วเราก็ต้องบอกด้วยว่ามีวิธีอื่นอีกไหม ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร ให้คนไข้คิดเอา แล้วก็ต้องบอกด้วยว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยคนไข้จะเป็นอะไร ทั้งหมดนี้คือมาตรฐานของอเมริกา

“นอกจากบอกแล้วเราก็ต้องบันทึกหลักฐานไว้ด้วย เขียนเอาไว้ด้วย เพราะถึงเราจะบอกแทบตาย แต่สุดท้ายพอขึ้นศาลแล้วคนไข้บอกว่าเราไม่ได้บอก ก็จะเกิดปัญหาตามมา นี่คือวิธีที่ปลอดภัยที่สุด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

รพ.ชลบุรีจัดระบบคัดกรองห้องฉุกเฉิน ‘คนไข้-หมอ’ ปลอดภัย ลดเจ็บตาย 2P Safety https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=16-09-2017&group=15&gblog=83

เปิดสารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อมในรพ. ซ้ำเติมภาวะเจ็บป่วย สร้างทุกข์บุคลากร https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-12-2016&group=15&gblog=74

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาในรพ. ‘ทางออกลดทุกข์ผู้ป่วยหนุนประสิทธิภาพบุคลากร’ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-12-2016&group=15&gblog=75

สธ.สั่งทุกรพ.ปรับปรุง OPD ประหนึ่งห้องรับแขกบริการลื่นไหล รวดเร็วใน 120นาที https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=17-06-2016&group=15&gblog=68

วิกฤต คุกคามความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร ... จากงานสัมนาฯ จัดโดยคณะอนุกรรมการฯแพทยสภา https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=02-12-2017&group=27&gblog=29







Create Date : 02 ธันวาคม 2560
Last Update : 15 ธันวาคม 2560 17:46:16 น. 1 comments
Counter : 2497 Pageviews.  

 
สวัสดีจ้ะ เราแวะมาทักทายนะ sinota ซิโนต้า Ulthera สลายไขมัน SculpSure เซลลูไลท์ ฝ้า กระ Derma Light เลเซอร์กำจัดขน กำจัดขนถาวร รูขุมขนกว้าง ทองคำ ไฮยาลูโรนิค Hyaluronic คีเลชั่น Chelation Hifu Pore Hair Removal Laser freckle dark spot cellulite SculpSure Ultherapy กำจัดไขมัน ร้อยไหม adenaa ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ สักคิ้วถาวร สักคิ้ว 6 มิติ ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ


โดย: สมาชิกหมายเลข 4286561 วันที่: 22 ธันวาคม 2560 เวลา:15:24:28 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]