จากงานวิจัย การคงอยู่ในชนบทและในราชการของแพทย์ภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบท ซึ่งเป็นงานวิจัยของ นงลักษณ์ พะไกยะ, กฤษฎา ว่องวิญญู, วรางคณา วรราช, สัญญา ศรีรัตนะ และจิราภรณ์ หลาบคำ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการคงอยู่ในชนบทของแพทย์หลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2552 เป็นการเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รู้ถึงรูปแบบการเคลื่อนย้ายของแพทย์ในระหว่างปี 2544-2554 และวิเคราะห์โอกาสของการคงอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขและในชนบท
ผลการศึกษาพบว่า แนวโน้มการเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบทก่อนการชดใช้ทุนครบ 3 ปีนั้นไม่แตกต่างกับก่อนการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายปี 2552 นอกจากนั้นยังพบว่า การออกจากกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าหลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอาจจะทำให้การลาออกจากราชการไม่เพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 2 รุ่นหลัง แต่ในด้านการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ยังลดลงในทุกรุ่น แม้แต่รุ่นที่ได้รับผลจากการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2552 ได้แก่ รุ่นปี 2549 และ 2550 ซึ่งการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ลดลงเช่นเดียวกันกับรุ่นก่อนๆ
จากข้อมูลของแพทยสภา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ประเทศไทยมีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนและสามารถติดต่อได้ จำนวน 39,406 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ที่ให้บริการในสถานพยาบาลในชนบท ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 4,705 คน คิดเป็น 12% ของแพทย์ทั้งหมด ซึ่งดูแลประชากรร้อยละ 54 แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสมระหว่างเมืองกับชนบท
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการลาออกของแพทย์ในแต่ละปียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน (ดูตารางการลาออกของแพทย์แต่ละปีประกอบ)
จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานในชนบทยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากราชการหรือออกจากชนบทก่อนการเสร็จสิ้นสัญญาทุน 3 ปี
จึงอาจกล่าวได้ว่า การเพิ่มค่าตอบแทนไม่อาจส่งผลต่อการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ได้ ซึ่งการจะรักษากำลังคนไว้ในระบบให้นานขึ้นควรพิจารณาแรงจูงใจที่หลากหลาย ทั้งมาตรการด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน โดยในส่วนของมาตรการการเงินควรจะออกแบบให้สามารถสร้างแรงจูงใจมากขึ้น เช่น การเพิ่มค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความทุรกันดารมากขึ้น หรือผูกติดกับภาระงาน ความยากลำบาก เป็นต้น และควรทำควบคู่ไปกับมาตรการที่ไม่ใช้การเงิน เช่น สวัสดิการต่างๆ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ การศึกษาต่อเนื่อง การมีระบบแพทย์พี่เลี้ยง เป็นต้น
การเพิ่มแรงจูงใจในด้านการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดแพทย์ไว้ในชนบทได้ สอดคล้องกับงานวิจัยต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่จะสามารถดึงดูดกำลังคนด้านสุขภาพมาทำงานในชนบทนั้นประกอบด้วย 1. ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น มีภูมิลำเนาในชนบท มีค่านิยมชอบชนบท 2. ปัจจัยด้านครอบครัว 3. ปัจจัยด้านการเงินและรายได้ 4. ปัจจัยความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น มีโอกาสศึกษาต่อ มีโอกาสไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีพี่เลี้ยง/การติดตามงานที่ดี 5. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เช่นมีโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรเพียงพอ มีบ้านพัก
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่เคยศึกษาส่วนมากสอดคล้องกับการศึกษาของ นงลักษณ์และคณะ ซึ่งสรุปว่า แม้แพทย์จะให้ความสำคัญกับปัจจัยการเงินมากที่สุดในการเลือกทำงานในชนบท แต่สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินมีความสำคัญใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลอยู่ใกล้ภูมิลำเนา มีโอกาสศึกษาต่อเฉพาะทาง โรงพยาบาลขนาดเล็ก การได้รับการเลื่อนขั้นที่เร็วขึ้น การมีแพทย์ที่ปรึกษาและจำนวนเวรที่ไม่มากนัก
งานวิจัยระบุว่าการพัฒนามาตรการที่จะจูงใจให้แพทย์ทำงานในชนบทนั้น ควรต้องมีการออกแบบที่ตั้งอยู่บนข้อมูลเชิงวิชาการ และมีความครอบคลุมทั้งแรงจูงใจที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน โดยไม่ควรให้น้ำหนักเฉพาะด้านการเงินเพียงด้านเดียว และควรมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ ประเมินและปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องบริบทอื่นๆ ที่เปลี่ยนไป
งานวิจัยได้ระบุถึงการแก้ปัญหาแพทย์ในชนบทว่า ประเทศไทยได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดแพทย์เข้าสู่สถานบริการชนบทที่หลากหลาย เพื่อลดความแตกต่างของการกระจายแพทย์ระหว่างเมืองและชนบท ได้แก่
1. มาตรการด้านการผลิต โดยการทำสัญญาชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี และปรับ 400,000 บาท การผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อประชาชนในชนบทซึ่งเริ่มในปี 2537 โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งแพทย์ ในปี 2548 และโครงการอื่นๆ ส่งผลให้การผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 700-1,000 คน ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา(ปี 2545 ผลิตได้ 1,417 คน)
2. มาตรการด้านการเงิน โดยมีการเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับแพทย์ที่ทำงานในชนบท เริ่มจากปี 2518 ต่อมาในปี 2538 มีการจ่ายค่อตอบแทนพิเศษกรณีที่ไม่รักษาคนไข้นอกเวลาราชการ มีการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพื้นที่ทุรกันดารและเสี่ยงภัยในปี 2540 และปี 2548
3. การดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ได้แก่ โควตาการอบรมเฉพาะทาง โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่ง การมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ตลอดจนการมีชมรมเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เป็นต้น
แม้อาจจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า ในมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมานั้น มีมาตรการใดบ้างที่มีประสิทธิภาพต่อการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ แต่โดยภาพรวมแล้วส่งผลให้มีแพทย์เพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเห็นได้จากสัดส่วนของแพทย์ต่อประชาชนในภาพต่างๆ สูงขึ้น แต่ยังปรากฏความเหลื่อมล้ำของการกระจายตัวของแพทย์ จากข้อมูลปี 2553 พบว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับกรุงเทพฯ มีความแตกต่างลดลงจาก 10 เท่า ในปี 2536 เป็น 7.5 เท่า ในปี 2553 โดยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1:4,591 คน, ภาคใต้ 1:3,148 คน, ภาคเหนือ 1:3,059 คน, ภาคกลาง 1:2,699 คน, และกรุงเทพฯ 1:628 คน แต่สถานการณ์การลาออกของแพทย์ก็ยังเป็นไปตามตารางที่แสดงข้างต้น
จากข่าว(1)ว่าในปี2553 มีแพทย์เข้าทำงานในกระทรวงสาธารณสุข 1,303 คน แต่มีแพทย์ลาออกจากสธ. 602 คน คิดเป็นร้อยละ 46.2 ซึ่งจำนวนแพทย์ลาออกลดลงจากปี 2552 ที่มีแพทย์ลาออกร้อยละ 71.3
และถ้าพิจารณาการลาออกจาก 5 ปีย้อนหลัง พบว่า ปี 2553 มีแพทย์ลาออกน้อยที่สุด โดยปี 2548 มีแพทย์ลาออก 61.9% ปี 2549 จำนวน 71.3% ปี 2550 จำนวน 69.6% ปี 2551 จำนวน 76.4% ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าจำนวนแพทย์ลาออกเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ ปี 2545 ที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง มีแพทย์ลาออกถึง 61.6% เพิ่มขึ้นเป็น 75.9% ในปี 2546 ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2544 มีแพทย์ลาออกคิดเป็นเพียง 28.9%
แต่จำนวนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ข้อมูลการผ่าตัดของโรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยที่ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขได้เลย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข
ถ้ามาดูว่า สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขเพราะอะไร จากการสำรวจของแพทยสภา ในปีพ.ศ. 2545 พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขก็คือ
1. แพทย์ถูกบังคับให้ชดใช้ทุน โดยไม่สามารถเลือกจังหวัดหรือสถานที่ที่จะไปทำงานได้
2.งานหนัก (ทำงานสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง , มีจำนวนผู้ป่วยมากเกินไป ทำให้แพทย์ไม่มีเวลาพอที่จะตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างดีมีคุณภาพมาตรฐาน มีเวลาตรวจผู้ป่วยเฉลี่ยคนละ 2-4 นาที, เสี่ยงต่อความผิดพลาดและถูกฟ้องร้อง )(2)
3.เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ (ต่ำกว่าในภาคเอกชน 10 เท่า) และยังค้างจ่ายอีกด้วย(3)
4.ต้องการเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่กระทรวงสาธารณสุขจำกัดจำนวนผู้จะไปเรียน ทำให้ต้องลาออก เพื่อจะไปเรียนต่อ
5.ไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
6.ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ
ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดตามสาเหตุการลาออกดังนี้
1.การถูกบังคับให้ชดใช้ทุนโดยไปทำงานในจังหวัดห่างไกล ตามความเป็นจริงแล้ว นักศึกษาแพทย์ไม่ได้รับทุนการศึกษาใดๆจากรัฐบาล(4) เนื่องจากนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็ต้องเสียค่าเล่าเรียนเหมือนนักศึกษาอื่นๆ อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า รัฐบาลต้องลงทุนในคณะแพทยศาสตร์มากกว่าคณะอื่นๆ แต่นักศึกษาแพทย์ก็ช่วยทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยภายใต้ความควบคุมของอาจารย์ ได้เงินกลับคืนมาให้โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์มากมาย ไม่เหมือนนักศึกษาคณะวิชาอื่นๆ ที่ไม่ได้ช่วยทำงานให้มหาวิทยาลัยที่ตนเล่าเรียน
แต่ประเทศชาติต้องการแพทย์(และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ) กระทรวงสาธารณสุขจึงหาทางที่จะบังคับให้แพทย์ต้องทำงาน ใช้ทุน (ทั้งๆที่ไม่เคยได้ทุน) (4) แต่วิธีการบังคับให้แพทย์ต้องจับฉลาก ทำให้แพทย์อาจไม่พอใจในสถานที่ต้องไปทำงาน แต่แพทย์ส่วนมากก็ยอมไปทำงานตามที่ถูกกำหนดไว้ แต่อาจจะทนไม่ได้กับการบริหาร ระบบงาน หรือปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว จึงอาจไม่สามารถทนอยู่ได้
2.ต้องทำงานหนักเกินกำลัง ต้องรับผิดชอบตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการทำให้เวลาทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง(2) คิดเป็นเวลาการทำงานมากกว่าข้าราชการทั่วไป 2-3 เท่า มีผู้ป่วยรอตรวจล้นโรงพยาบาลทุกวัน(5) ผู้ป่วยใน(นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล)ก็ต้องนอนตียงเสริม เตียงแทรก การที่มีจำนวนผู้ป่วยมาก(บางแห่งหมอต้องตรวจผู้ป่วยวันละมากกว่า 100 คน) ทำให้แพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยคนละ 2-4 นาที(2)เท่านั้น
การที่แพทย์ต้องทำงานมาก มีเวลาพักผ่อนน้อย ทำให้เกิดความเครียดสะสม ทำให้เบื่อหน่ายต่อภาระงาน และอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยและอาจนำไปสู่ความไม่พึงพอใจและการฟ้องร้อง ทำให้แพทย์มีความเครียดเพิ่มขึ้น ประชาชนก็อาจไม่ได้รับความเข้าใจในวิธีการรักษา หรือไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเกิดผลเสียหายจากการรักษา นำไปสู่การกล่าวหา ร้องเรียนและฟ้องร้อง ทำให้แพทย์เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น
3.เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำกว่าภาคเอกชนเป็นสิบๆเท่า ทั้งๆที่มีภาระรับผิดชอบมากกว่าเป็นร้อยเท่า ทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งลาออก(3) เพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ส่งผลให้แพทย์ที่ยังทำงานในกระทรวงสาธารณสุขยิ่งต้องรับภาระงานหนักขึ้น
4.แพทย์ส่วนมากยังต้องการที่จะไปเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ เนื่องจากวิชาการแพทย์มีการพัฒนาและขยายความรู้ทั้งด้านลึกและด้านกว้าง การมีความรู้เพียงแพทยศาสตร์บัณฑิต อาจจะทำให้แพทย์ไม่มั่นใจในการตรวจรักษาผู้ป่วยทุกโรค(ทั่วไป) แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่เปิดโอกาสให้แพทย์ลาศึกษาต่อในจำนวนที่เท่ากับ ศักยภาพของโรงเรียนแพทย์ที่ให้การศึกษาและฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะได้ จึงทำให้แพทย์ที่ต้องการเรียนต่อต้องลาออกเพื่อจะได้ไปเรียนต่อตามความต้อง การ
5.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
5.1ทำให้ประชาชนมาใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้น 2 -3 เท่าของจำนวนผู้ป่วยก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(5) ทำให้ภาระงานของแพทย์เพิ่มมากขึ้น โดยบางครั้งก็เป็นภาวะที่ประชาชนควรจะมีความสามารถในการดูแลป้องกันและรักษา อาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้เอง
5.2 สปสช.ได้เข้ามาก้าวก่ายการใช้ดุลพินิจในการรักษาหรือสั่งยาและเครื่องมือแพทย์ให้ผู้ป่วย ทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยของตน เนื่องจากถ้าไม่ทำตามข้อกำหนดของสปสช.แล้วโรงพยาบาลก็จะไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วย(3) ทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากถ้าสั่งยาที่สปสช.ไม่อนุมัติ โรงพยาบาลก็จะไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยจากสปสช. ทำให้แพทย์ขาดอิสรภาพทางวิชาการแพทย์ในการพิจารณารักาผู้ป่วยที่ตนรับผิดชอบ
อัน ที่จริงแล้วการที่สปสช.ได้ตั้งกฎเกณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยนั้น เป็นการละเมิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้กำกับดูแลการบริหารงานของสปสช.ให้ถูกต้อง ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ในการที่จะได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบางโรค
6. การไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ของแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เนื่องจากก.พ.ไม่กำหนดตำแหน่งเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์มีแต่จะมากขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรเหล่านี้ต้องถูกบังคับ(ให้ใช้ทุน)ให้ทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งขาดความก้าวหน้าในอนาคตที่จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวไปตลอดกาล จึงเลือกที่จะลาออกไปแสวงหาการทำงานในสภาพที่ดีกว่า
พบว่า จำนวนลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนมากมายหลายหมื่นคน
ข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหาการลาออกและการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข
1.การจัดสรรแพทย์จบใหม่ควรให้มีการยืดหยุ่นให้สามารถขอแลก/ โอนย้าย และสับเปลี่ยนสถานที่ทำงานกันได้ตามความเหมาะสมและความสะดวก(พอประมาณ)ของครอบครัว
2. การลดจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยการบริหารจัดการในเรื่องระเบียบการมารับบริการของประชาชน มีระบบนัด เพื่อกำหนดจำนวนผู้ป่วยให้พอเหมาะกับจำนวนบุคลากร
ลดการพึ่งพิงบริการโรงพยาบาล โดยการลดการเจ็บป่วยของประชาชน ทำได้โดยการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันความเจ็บป่วย โดยส่งเสริมให้อสม.และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีความสามารถในการให้ความรู้แก่ประชาชนให้มีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อลดภาระโรงพยาบาลในการรักษา รวมทั้งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมแก่สถานภาพทางการเงินของแต่ละคน ผู้ยากไร้ ควรได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย แต่ผู้มีสถานภาพทางการเงินที่อยู่เหนือระดับความยากจน ควรมีส่วนร่วมจ่ายเงิน เพื่อไม่ให้มารับยาฟรีมากเกินจำเป็น
3.กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ใหม่ ให้พอใกล้เคียงกับราคาตลาดในภาคเอกชน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ยังคงทำงานในกระทรวงสาธารณสุข
4. ควรส่งเสริมให้แพทย์ได้เรียนต่อในสาขาที่ขาดแคลน และเมื่อแพทย์เรียนจบ ก็ควรมีตำแหน่งรองรับ ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าไปอยู่ระบบเอกชน ประชาชนที่ไปใช้โรงพยาบาลภาครัฐก็จะขาดแคลนบุคลากรที่ดูแลรักษาต่อไป
5.การแก้ไขการบริหารจัดการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช. ไม่ควรให้เป็นองค์กรพิเศษนอกราชการ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการดำเนินการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชน เนื่องจากในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานมากมายมหาศาล แต่ขาดงบประมาณในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ต้องไปขอรับเงินจากสปสช.
การ บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสปสช.ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังเป็นสาเหตุให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาด ทุนจนถึงกับขาดสภาพคล่อง 579 แห่ง เป็นจำนวนร้อยละ 70 ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด (6)
กระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนบุคลากรตามมาตรฐานที่เหมาะสมกับภาระงาน เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้การกำหนดตำแหน่งของก.พ. ซึ่งกำหนดตำแหน่งน้อยกว่าความจำเป็นในการรองรับภาระงานที่มีมากขึ้นตลอดเวลา สมควรจะแยกออกมาจากก.พ. เพื่อให้สามารถกำหนดตำแหน่งและความก้าวหน้าในการทำงานให้เหมาะสม เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานในสธ.ต่อไป
แพทย์ยังถูกสปสช.บังคับไม่ให้ใช้ยานอกเหนือจากที่สปสช.กำหนด ทั้งๆที่สปสช.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น
ควรโอนสปสช.กลับมาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีเงินเหลือกลับมาให้บริการประชาชนมากขึ้น และจะได้บุคลากรทางการแพทย์มาทำงานบริการทางการแพทย์มากขึ้นแทนที่จะไปบริหารกองทุน ใช้เวลาประชุมคิดโครงการมากมาย ซึ่งซ้ำซ้อนกับภาระงานของกระทรวงสาธารณสุขและไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.
ทั้งนี้ เนื่องจากสปสช.กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นมากมาย ตั้งเงินเดือนสูงๆ อัตราเบี้ยประชุมสูงๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลาออกไปอยู่สปสช.มากมาย เนื่องจากมีแรงจูงใจคือเงินดี งานสบาย ถ้าให้สปสช.มาสังกัดสธ. ก็จะได้บุคลากรทางการแพทย์กลับมาทำงานบริการทางการแพทย์อีกมากมายหลายพันคน
ต้องถามว่ามีใครเคยตรวจสอบการบรรจุบุคลากรและการกำหนดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของสปสช.ว่า เหมาะสมหรือไม่เพียงใด และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?
6. การแก้ไขเรื่องการกำหนดตำแหน่ง และเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ควรทำโดยการแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ. เพื่อจะได้กำหนดตำแหน่งให้เหมาะกับภาระงาน ให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีบุคลากรที่เพียงพอต่อภาระงานในการตรวจรักษาประชาชน ไม่ขาดแคลนทุกวิชาชีพดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน(7) ทั้งนี้เพื่อให้มีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพเพียงพอในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขให้มีมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ประชาชนปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนไปใช้บริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก.พ.กลับลดตำแหน่งคนทำงาน ขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพ
นอกจากนั้น บุคลากรยังลาออกอย่างต่อเนื่อง
ทำให้บุคลากรขาดแคลนมาหลายสิบปี และถ้าไม่แก้ไขให้เหมาะสม ก็จะมีการขาดแคลนบุคลากรทุกสาขาวิชาชีพต่อไป
ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพได้ ส่งผลเสียหายต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน
จึงควรแยกจากก.พ. เพื่อมากำหนดตำแหน่ง ค่าตอบแทน และให้มีความก้าวหน้าทางตำแหน่งในสาขาวิชาชีพหรือหน้าที่ต่างๆให้เหมาะสม เพื่อลดการลาออก มีตำแหน่งบรรจุ มีแรงจูงใจที่จะทำงานในกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
(สผพท.)
18 เม.ย. 54
//www.thaihospital.org/board/index.php?topic=1575.0เอกสารอ้างอิง
1.แพทย์ใช้ทุนแห่ลาออกเรียนต่ออื้อ ปี 54 หมอ-พยาบาลยังขาดแคลน
//manager.co.th/images/blank.gifโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
18 เมษายน 2554 08:26 น.
//manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=95400000471932. ฉันทนา ผดุงทศและคณะ : ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550:16(4): 493-502
3. กองบรรณาธิการวารสารวงการแพทย์: แก้ปมปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ วารสารวงการแพทย์ 2553; 13(333): 17-20
4. อดุลย์ วิริยะเวชกุล : เมดิคัลฮับ-นโยบายแย่ การจำกัดสิทธิของแพทย์-นโยบายยอดดีกระนั้นหรือ? วารสารวงการแพทย์ 2553;13(333): 1
5.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล วารสารวงการแพทย์ 2551;10(272):28-29
6. อดุลย์ วิริยะเวชกุล โรงพยาบาลรัฐ 579 แห่งก็มีการขาดทุนเหมือนกันด้วยหรือ วารสารวงการแพทย์ 2553 ; 13 (330):1
7. เชิดชู อริยศรีวัฒนา การขาดแคลนข้าราชการแพทย์ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข วารสารวงการแพทย์ 2551 ; 10 (274): 28-29
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
ปี 2546 .. ไม่แน่ใจว่า งานเดียวกันหรือเปล่า ???
ข้อสรุปการสัมมนาเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการลาออกของแพทย์จากระบบราชการ
ความเป็นมา
สืบเนื่องจากการลาออกของแพทย์จากระบบราชการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ดังตารางจำนวนแพทย์ที่ลาออกจากราชการ ปี 2542 – 2546 รวบรวมโดยสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา
หน่วยราชการ 2542 2543 2544 2545 2546(ถึงเดือนเมษายน)
กระทรวงสาธารณสุข 210 221 329 599 177
ส่วนราชการอื่น ๆ ( ทบวงมหา-วิทยาลัย, กระทรวงกลาโหม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร ) 140 161 188 203 157
รวม ( 2,385 ) 350 382 517 802 334
ซึ่ง แพทย์ที่ลาออกเป็นจำนวนมากเช่นนี้ เกือบครึ่งหนึ่งจะเป็นแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นตัวบ่มเพาะ ถึงแม้ว่าจะมีแพทย์จบใหม่ปีละ 1,200 – 1,300 คน แต่ก็เป็นเพียงตัวเลขที่มาทดแทนเท่านั้น
ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ของแพทย์ที่จบใหม่ ไม่อาจเทียบได้กับแพทย์ที่ลาออกไป ด้วยเหตุดังกล่าว ทางแพทยสภา ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ (HUMAN RESOURCE) ว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของระบบสาธารณสุข จึงได้ทำการจัดสัมมนาเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการลาออกของแพทย์จากระบบราชการ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2546 ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งผลของการสัมมนาทางแพทยสภาได้สรุปสาเหตุ ปัญหา และแนวทางการแก้ไข รวมทั้งหมด 11 ข้อ ดังต่อไปนี้
สาเหตุ ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการลาออกของแพทย์จากระบบราชการ
สาเหตุการลาออก รายละเอียดปัญหา
1. ปริมาณงานและชั่วโมงการทำงานมากเกินไป (Workload and Workhour)
1. การทำงานของวิชาชีพแพทย์มีความรับผิดชอบสูงเมื่อเทียบกับข้าราชการสายงาน อื่น เพราะต้องรับผิดชอบชีวิตของเพื่อนมนุษย์ซึ่งไม่สามารถจะหาสิ่งใดมาทดแทนได้
2. ปริมาณผู้ป่วยมีมาก
แพทย์ 1 คน ต้องตรวจคนไข้ ประมาณ 100-200 คน ในหนึ่งวัน(ตามมาตรฐาน ประกันสังคม 12 คน/1 ชม.)
3. อยู่เวรติดต่อกันโดยไม่มีเวลาพักผ่อน และวันรุ่งขึ้นต้องทำงานต่อตามปกติ
4. ต้องดูแลคนไข้นอกเวลาทำการในวันหยุด (คนไข้ใน) และวันหยุดนักขัตฤกษ์
5. แพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยจนกระทั่งหาย หากไม่หายต้องดูแลตลอดไป เช่น แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง หรือแพทย์เฉพาะทางบางสาขาในโรงพยาบาลของรัฐมีแพทย์เพียงท่านเดียวต้องรับ ภาระอยู่เวรและรับปรึกษาทั้งในและนอกเวลาราชการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
แนวทางการแก้ไข
1. เสนอให้แพทย์มีเวลาทำงานเหมือนข้าราชการทั่วไป 8 ชม.x22 วัน ใน 1 เดือน
2. การปฏิบัติหน้าที่นอกเวลาราชการควรเป็นงาน ล่วงเวลา (OT) ซึ่งควรมีค่าตอบแทนต่างห่างทั้งนี้ ใน 1 เดือน ไม่ควรเกิน 10 เวร และควรได้หยุดพักหลังการอยู่เวร เพื่อประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในกรณีโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์และแพทย์มีความจำเป็นต้องอยู่เวรมากกว่า 10 เวร/ 1 เดือน ส่วนที่เกินจาก 10 เวร นั่นควรได้รับค่าตอบแทนเป็นทวีคูณ
3. กรณีโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์และแพทย์มีความจำเป็นต้องอยู่เวรมากกว่า 10 เวร/ 1 เดือน ไม่ควรปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้เป็นเวลานาน ควรเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์เพื่อลดประมาณการอยู่เวรของแพทย์
4. แพทย์ 1 ท่าน ควรตรวจคนไข้ไม่เกิน 12 คน/1 ชั่วโมง (ตามมาตรฐานของ ประกันสังคม)
5. การดูแลผู้ป่วยในนอกเวลาราชการเวรเช้า วันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (Round Ward) ต้องมีค่าตอบแทนแยกต่างหากไม่ควรนับเป็นภาระหน้าที่ของแพทย์ ซึ่งรวมอยู่ในเงินเดือนปกติ
6. ควรมีการดำเนินการวิเคราะห์ดรรชนีชี้วัดความอ่อนล้าจากการทำงานของแพทย์ (Fatigue Index)
2. เงินเดือนที่ได้รับน้อยเกินไปไม่เหมาะสมกับภาระและความรับผิดชอบที่แพทย์ต้องดูแลรักษาชีวิตและป้องกันความพิการของผู้ป่วย
1. เงินเดือนของแพทย์เริ่มต้นที่ 8,190 บาท ทำงาน 10 ปี จะมีเงินเดือนประมาณ 15,000 บาท
2. อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่รับผิดชอบต่อความเสี่ยงของชีวิตผู้ป่วย ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ และมีความเสี่ยงต่อการฟ้องร้องสูง
• ในโครงการหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (30 บาท) ได้นำเงินเดือนของแพทย์ไปรวมอยู่ในค่ารายหัว (UC)
แนวทางการแก้ไข
1. ควรจัดทำร่าง พรบ. ข้าราชการสายแพทย์แยกออกจาก พรบ.ข้าราชการพลเรือนอื่นๆ เช่นเดียวกับผู้พิพากษาและอัยการ
2. แยกเงินเดือนเดิมออกจากค่ารายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(UC)
3. ค่าตอบแทนน้อย
1. ค่าตอบแทนของแพทย์ที่ทำงานนอกเวลาราชการไม่เหมาะสมกับความรับผิดชอบของแพทย์ ที่ต้องดูแลชีวิตของผู้ป่วยซึ่งบ่อยครั้งอยู่ในภาวะฉุกเฉิน
2. แพทย์อยู่เวรอุบัติเหตุฉุกเฉินได้ค่าเวร 900 บาท ต่อ 8 ชม. (16.00-24.00, 24.00 – 8.00 น.) ฯลฯ และหลายโรงพยาบาลได้หักค่าตอบแทนตที่แพทย์ควรจะได้รับลงอีก 20-25% เนื่องจากเงินบำรุงไม่เพียงพออันเนื่องมาจากโครงการ 30 บาท
แนวทางการแก้ไข
1. ค่าตอบแทนเวรนอกเวลาราชการ เช่น เวรห้องฉุกเฉิน เวรดูแลผู้ป่วยในและให้คำปรึกษาต่างแผนก เวรผ่าตัดฉุกเฉิน ควรเพิ่มจากค่าอยู่เวรเดิมเป็น 2 – 3 เท่า
2. ควรกำหนดค่าตอบแทนตามภาระงาน เช่น งานบริหาร, งานบริการ, งานวิชาการเพิ่มขึ้นจากเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นๆ
3. ค่าตอบแทนเวรชันสูตรพลิกศพ ควรให้กระทรวงยุติธรรมตั้งงบประมาณเพื่อรองรับ
โดยมีค่าตอบแทนอยู่เวรระบบ On Call แยกออกจากค่าชันสูตรพลิกศพแต่ละราย
4. แหล่งที่มาของเงินค่าตอบแทน ในข้อ 1 – 2
รัฐต้องจัดเป็นงบประมาณต่างหาก ไม่ใช่ใช้จากเงินบำรุงโรงพยาบาล หรือเงินรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพ (UC)
4. พนักงานของรัฐ
แนวทางการแก้ไข
- แพทย์จบใหม่ทุกคนได้รับการบรรจุเป็นเพียงพนักงานของรัฐ ไม่ได้เป็นข้าราชการไม่ได้รับสิทธิต่างๆ เทียบเท่าข้าราชการทั่วไป - ยกเลิกระบบพนักงานของรัฐ
ให้ปรับเป็นข้าราชการเหมือนเดิม
5. กฎหมายที่เพิ่มภาระให้แก่แพทย
1. ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับทำให้แพทย์ต้องทำงานมากขึ้น นอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นภาระที่หนักอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อชีวิต เช่น กรณีแพทย์ตกเหว ขณะเดินทางไปชันสูตรพลิกศพ หรือ กรณีแพทย์พลิกศพแล้วเกิดระเบิดทำให้แพทย์ได้รับบาดเจ็บสาหัส (เอกสารประกอบชุด 1)
2. ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังเพิ่มภาระความรับผิดชอบของแพทย์ให้แพทย์เป็นผู้ออกใบสันนิษฐานการตาย (ทร. 4 ตอนหลัง) โดยไม่เห็นศพ
แนวทางการแก้ไข
1. กฎหมายชันสูตรพลิกศพ ยืนยันตามมติของ
แพทย สภา คือ ให้แพทย์ออกชันสูตรพลิกศพในกรณีการตายเฉพาะสองกรณี เหมือนพนักงานอัยการในกรณีการตายโดยวิสามัญฆาตรกรรม และการตายในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการตายผิดธรรมชาติ 5 ประเภท ให้นำศพมาชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลในกรณีที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก่อนตั้ง เรียบร้อยแล้วให้โอนหน้าที่ของการชันสูตรพลิกศพทั้งหมด ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทั้งหมดโดยให้สถาบลันนิติวิทยาศาสตร์จัดหลักสูตร ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์เพื่อการดังกล่าว
2. ให้ยกเลิกใบสันนิษฐานสาเหตุการตาย ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (ทร.4 ตอนหลัง) เนื่องจากเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบมาให้กับแพทย์ ซึ่งมีภาระกิจหนักอยู่แล้ว
6. ร่าง พรบ.ยา
1. หากร่าง พรบ.ยามีผลบังคับใช้โดยไม่สนใจตามขช้อเสนอที่แพทยสภาเรียกร้อง จะทำให้แพทย์ที่ดำเนินกิจการคลินิกส่วนตัว ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของการรักษาพยาบาล มีลักษณะเป็น ONE – STOP SERVICE ไม่มีสิทธิจ่ายยาที่คลินิกได้ดังเดิม ทำให้แพทย์ในภาครัฐที่มีเงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำอยู่แล้วตัดสินใจลาออก จากราชการเพื่อไปเข้าสู่ภาคเอกชนหรือประกอบอาชีพส่วนตัวทำให้ภาครัฐขาดแคลน แพทย์เป็นทวีคูณ
แนวทางการแก้ไข
1. ยืนยันตามมติของแพทยสภา เสนอให้มีการแก้ไขร่าง พรบ.ยา 4 มาตรา (ตามเอกสาร
ประกอบชุด 2 )
7. ความเสี่ยงในการประกอบวิชาชีพของแพทย์เพิ่มขึ้นเนื่องจากกฎหมายต่างๆ และการฟ้องร้องจากผู้ป่วย
1. ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การแก้กฏหมาย เพื่อที่จะเอาผิดกับแพทย์ทำได้ต่อเมื่อแพทย์จงใจทำผิดหรือประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง ความเสียหายหรือความผิดพลาดที่อาจ
2. การฟ้องร้องทางแพ่งและอาญาต่อความรับผิดชอบของแพทย์ต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อนจากการรักษาผู้ป่วยจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วย
ทุ พลภาพ หรือเสียชีวิต ทำให้แพทย์เกิดความท้อแท้หมดกำลังใจในการทำงาน การประกันการฟ้องร้องไม่รวมค่าทนาย แพทย์ปฏิบัติงานด้วยความหวาดระแวง ไม่มีความสุข
แนวทางการแก้ไข
1.ใน ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณามาตรา 41 ใหม่ และให้ตัดมาตรา 42 ออก
2. ผู้ที่ทำงานให้แก่รัฐ รัฐจะต้องจัดหาทนายให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
3. การเรียกร้องค่าเสียหายควรมีการกำหนดเพดานการจ่ายเงินค่าเสียหายเป็นสัดส่วน กี่เท่าของค่ารักษาพยาบาล เช่นค่ารักษา 100 บาท แต่เรียกร้องค่าเสียหาย 20 ล้านบาท ถึงแม้ว่าศาลจะไม่พิจารณาให้ตามจำนวนที่เรียกร้อง แต่ทนายความคิดค่าจ้างตามจำนวนเงินที่ฟ้องร้อง
4. ในกรณีที่ศาลตัดสินให้แพทย์ต้องจ่ายเงินชดเชย ควรมีการกำหนดเพดานว่าไม่เกินจำนวนเท่าใด การคาดเดาเกี่ยวกับการขาดรายได้ในอนาคตและความเสียหายที่เป็นลักษณะความ รู้สึกของผู้ป่วยไม่ควรนำมาคิดเป็นเงิน
5. การให้แพทย์ชดใช้ค่าเสียหายควรจะเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไม่ใช่เป็นการ สร้างความร่ำรวย เพราะผู้ป่วยจะได้รับค่าชดเชยจากที่อื่นมาแล้ว เช่นจากประกันสังคม จากบริษัทประกัน จากกองทุนทดแทน ฉะนั้นจึงต้องนำมาหักออก
6. ผู้ป่วยที่พิการบางส่วนทำงานไม่ได้เต็มที่ จะต้องคิดเป็นรัอยละของประสิทธิภาพที่ลดลงจากปกติ แขนซ้ายพิการจะต้องคิดว่าทำให้ประสิทธิภาพลดลงไปร้อยละเท่าไร ชดเชยเฉพาะส่วนที่ลดลง
7. การจ่ายเงินช่วยเหลือ เงินชดเชย จะต้องให้เป็นรายเดือน ไม่ใช่เป็นเงินก้อนบวกดอกเบี้ย เมื่อได้เงินก้อนมาก็เอาไปใช้จนหมดในเวลาอันสั้น ไม่ได้เก็บไว้ใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะยาว
8. ควรแก้ไขค่าธรรมเนียมศาลให้มีความเหมาะสม ในปัจจุบันถ้าฟ้องห้าล้าน สิบล้าน ร้อยล้าน หรือพันล้านก็วางเงินให้ศาลสองแสนบาทเท่ากัน เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะฟ้องเรียกค่าเสียหายให้สูงเพราะเสียเงินเท่าเดิม และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองได้มากขึ้น
9. ควรห้ามทนายได้รับส่วนแบ่งจากการฟ้องร้อง ถือว่าเป็นการผิดจริยธรรม เช่นเดียวกับในประเทศยุโรป
10. ถ้าฟ้องแพทย์โดยที่แพทย์ไม่มีความผิด จะต้องมีการจ่ายค่าเสียหายให้แก่แพทย์ตามความเป็นจริง
ในต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 ปีที่แล้วได้ใช้กฏหมายนี้ และอีกหลายประเทศ
ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศที่มีการฟ้องร้องได้ออกกฏหมายป้องกันและแก้ไขแล้ว ประเทศไทยควรดำเนินการปรับแก้ไขด้วย
8. สถานภาพและความจำเป็นของครอบครัวในสังคมปัจจุบัน
1. แพทย์คือ ปุถุชนธรรมดาทั่วไปที่มีครอบครัวและมีความปารถนาที่จะให้ครอบครัวมีความสุข บุตรหลานมีความเจริญก้าวหน้าทาง
วิชาการตามสมควร และได้ตอบแทนพระคุณของบุพการี
2. แพทย์มีอายุเฉลี่ย 56 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุเฉลี่ยประชากรไทยมาก
แนวทางการแก้ไข
1. เปิดโอกาสให้แพทย์ได้โยกย้ายสถานที่ทำงานได้ในโอกาสที่เหมาะสม และตามความจำเป็น
ของครอบครัว โดยมีหน่วยงานในกระทรวงรับเรื่องโดยตรง
2. กำหนดอายุที่จะไม่ต้องอยู่เวรให้ชัดเจน เช่น อายุมากกว่า 50 หรือ 55 ปี ไม่ต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการ
9. โอกาสการศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทาง
- ในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมุ่งให้ทุนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นหลักเพื่อสนองตอบ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ต้องลดทุนต้นสังกัดแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ ทำให้แพทย์ที่ประสงค์จะศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ ตัดสินใจลาออก เพื่อศึกษาต่อในสาขาที่ตนต้องการด้วนทุนส่วนตัว (Free Training) ซึ่งพบว่าในปีที่ผ่านมามีถึง 400 คน และแน่นอนที่ระบบราชการจะเป็นตัวเลือกสุดท้าย หรือไม่ใช่ตัวเลือกเลยหลังจากแพทย์เหล่านี้จบการศึกษา
แนวทางการแก้ไข
- เปิดโอกาสให้มีทุนต้นสังกัดแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
10. ความคาดหวังถึงผลการรักษาพยาบาลของประชาชนสูง
1. ประชาชนมุ่งหวังให้แพทย์ให้การรักษาพยาบาลโดยทันทีที่มาถึงโรงพยาบาล
2. รัฐบาลผลักดันนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ในขณะที่ระบบยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร
แนวทางการแก้ไข
1. รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลต่อประชาชน ตามความเป็นจริง และตามศักยภาพของโรงพยาบาล และแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลแต่ละระดับ
11. การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บริหาร
1. แพทย์บางท่านต้องลาออกจากราชการ เนื่องจาทนแรงบีบคั้นอันไม่เป็นธรรมจากผู้บริหารในระดับต่างๆ ไม่ได้ และไม่มีโอกาสที่จะร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม
2. ถูกกลั่นแกล้ง ปัญหาการโยกย้าย ความก้าวหน้าในการทำงาน
แนวทางการแก้ไข
- มีหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์โดยตรง และผู้บริหารระดับสูงพิจารณาตัดสินอย่างมีระบบ
และด้วยความเป็นธรรม
จาก ปัญหาและแนวทางการแก้ไข ที่แพทยสภาได้สรุปจากการสัมมนาในครั้งนี้ ทางแพทยสภาหวังว่าข้อมูลทั้งหมด คงจะมีส่วนที่ทำให้รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะแพทยสภาเชื่อมั่นว่าไม่มีทรัพยากรใด หรือเทคโนโลยีใด ที่จะดูแลผู้ป่วยหรือประชาชนได้ดีเท่าทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง
คณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหาการขาดแคลนแพทย์
แพทยสภา
11 กันยายน 2546