Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โชคดีที่ไม่เรียนวิชาสูติศาสตร์




เป็นบทความ จากสมาชิก ในเวบไทยคลินิก ...นำมาฝากกัน ..


~!&! โชคดีที่ไม่เรียนวิชาสูติศาสตร์ !&!~


สูติศาสตร์เป็นวิชาที่ฉันไม่ถนัดเอาเสียเลย

ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ผ่านภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

อาจารย์สาธิตวิธีตรวจครรภ์ในห้องคลอด สอนให้คลำระดับยอดมดลูก คลำท่าเด็ก คะเนน้ำหนักเด็ก ฯลฯ

“ถ้าคลำได้อย่างนี้คือหัวเด็กนะ ถ้าคลำได้อย่างนี้คือหลัง.... เอ้า... นักเรียน ลองคลำดู“

ราวกับอาจารย์มีมือวิเศษ เพียงใช้มือคลำ อาจารย์ก็รู้ทันทีว่าส่วนนี้หัว ส่วนนี้หลัง ส่วนนี้ขา

“อย่างนี้เรียกว่าหัวเด็กลงมาอยู่ที่อุ้งเชิงกรานแล้ว ใช้ 2 มือคลำอย่างนี้นะ” ว่าพลางแสดงวิธีคลำไปด้วย

แถมอาจารย์ยังสามารถคาดคะเนน้ำหนักเด็กได้แม่นยำราวกับมีตาทิพย์

“คลำเด็กได้ขนาดนี้ น้ำหนักตัวประมาณ 3,000 กรัม”

ไฉนเราจึงคลำไม่ได้อย่างอาจารย์สอนซักทีนะ

หัวเด็กน่ะ พอคลำได้ แต่หลังและขานี่ มือใหม่อย่างเรา ใช่จะคลำกันได้ง่ายๆ คะเนน้ำหนักยิ่งยากเข้าไปใหญ่

แล้วอาจารย์ก็สอนคลำเด็กท่าก้น

“อย่างนี้เป็นเด็กท่าก้น คลำได้นิ่มๆ.... ท่าหัวเป็นก้อนแข็งๆ.... ”


คงต้องรอให้มีประสบการณ์สูงอย่างอาจารย์ที่มี

สองมือที่นุ่มนวล ประสาทสัมผัสไวแบบมืออิสสตรี (women’s hand) อันเป็นคุณสมบัติที่อาจารย์ย้ำเสมอว่าแพทย์ทุกคนพึงมี

นอกเหนือไปจากการตัดสินใจเฉียบคมกล้าแกร่งดังหัวใจสิงห์ (lion’s heart)

และสายตาที่คมกริบราวกับพญาตานกอินทรี (eagle’s eye)

อันเป็น 3 คุณสมบัติสำคัญของแพทย์ที่อาจารย์ย้ำนักย้ำหนาว่าต้องพัฒนาขึ้นมาให้ได้ แต่ฉันยังไม่ค่อยมีเลยอ่ะ.....



ถึงตอนอาจารย์สอนฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ อาจารย์ใช้หูฟังวางแหมะที่ท้องให้พวกเราผลัดกันฟัง

“นี่เสียงหัวใจนะ ลองฟังดู หัวใจเด็กทารกเต้นเร็วกว่าผู้ใหญ่ อัตราปกติอยู่ที่ 110-160 ครั้งต่อนาที”

ว่าแล้วอาจารย์ก็ย้ายตำแหน่งฟังใหม่

“ถ้าเป็นเสียงฟู่ๆแบบนี้เรียกว่า uterine souffle เป็นเสียงการไหลเวียนเลือดในมดลูกของแม่ อัตราความเร็วเท่ากับชีพจรแม่”

การฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ ต้องวางตำแหน่งให้ถูกต้องจึงได้ยินชัด

พอเราทำเอง วางเครื่องช่วยฟังจนหน้าท้องเป็นรอยกด ย้ายที่ก็แล้ว ไม่ยักเจอ ได้ยินแต่เสียง uterine souffle

หาเสียงหัวใจเด็กช่างยากเย็น ไม่เห็นได้ยินง่ายอย่างอาจารย์


หากเป็นท้องหลัง ระยะการคลอดมักไม่นาน เฝ้าไม่กี่ชั่วโมง เชียร์แป๊บเดียวก็คลอดแล้ว

แต่ถ้าเป็นท้องแรกละก็ บางรายเจ็บท้องข้ามคืนแล้ว ปากมดลูกไม่ยอมเปิดเต็มที่ซักที

เจ็บเตือนนานจังเฮะ เฝ้ากันทั้งคืนปากมดลูกยังไม่ยอมเปิด

ครั้นเมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว คนเชียร์ก็เชียร์กันจนเหนื่อย

ส่วนคนคลอดก็เบ่งจนแทบหมดแรง ไยจึงคลอดยากคลอดเย็นนักนะ? ท้องสาวเนี่ย.... บางทีต้องช่วยดันมดลูก

บางรายเฝ้าจนดึกแล้วยังไม่คลอดซักที นักเรียนชักง่วง รอไม่ไหว แว่บกลับไปนอนหอก่อน

ปล่อยพี่แพทย์ฝึกหัดที่อยู่เวรเฝ้าไป เช้านักเรียนค่อยมาดูใหม่

ครั้นเมื่อเป็นแพทย์ฝึกหัด เรามีหน้าที่ผลัดกันเฝ้าห้องคลอดกับเพื่อน

จึงได้สัมผัสบรรยากาศห้องคลอดทั้งวันทั้งคืนอย่างแท้จริง

ช่วงไหนที่คนไข้คลอดเยอะละก็ ได้ซึมซับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายโกลาหล ได้แก่ เสียงดังรอบทิศ

ทั้งเสียง....โอดโอย....จากคนเจ็บท้องคลอด

และเสียง.....อื๊ด....ด...... จากคนคนเชียร์คลอด

เสียง.....อุแว้......อุแว้..... ของเด็กแรกคลอด

คนไข้บางคนก็ผรุสวาทสามีที่เป็นต้นเหตุให้เจ็บปวดจนสุดทนในครั้งนี้

บางคนก็บอกพอแล้ว ไม่เอาแล้ว มีลูกคนเดียวพอ เผลอแผล็บเดียวมาคลอดอีกแล้ว

ฉันยังจำได้ดี ภาพหญิงครรภ์แก่นอนเรียงเป็นแถบมีม่านกั้น ผลัดกันดิ้นส่ายพุงใหญ่ด้วยความเจ็บปวด

กลิ่นน้ำคร่ำคละคลุ้ง บางทีขณะเบ่งลูกก็เบ่งอึออกมาด้วย แม้จะสวนอุจจาระให้แล้วก็ตาม

กรณีนี้ต้องใช้ผ้าสะอาดปิดไว้ป้องกันไม่ให้อึเปื้อนลูกตอนคลอด เดี๋ยวเด็กติดเชื้อ

ความโกลาหลต่างๆในห้องคลอดเหล่านี้ เป็นเหตุให้เมื่อเรียนจบเป็นแพทย์เต็มตัว

ตอนทำหน้าที่เป็นแพทย์ฝึกหัดผ่านแผนกสูติกรรม เราไม่จำเป็นต้องเก็บ case คลอดแล้ว

ผู้รักความสงบอย่างฉัน สมัครใจปักหลักนั่งเย็บฝีเย็บอันเป็นงานที่ฉันถนัดอย่างวิจิตรบรรจง

ก็ฉันเป็นมือหนึ่งสันทัดวิชาหัตถศึกษา เก่งเรื่องงานฝีมือ เย็บ ปัก ถัก ร้อย ตอนเรียนชั้นประถมนี่นา

คุณแม่หลังคลอดมักนอนนิ่งหลังหมดแรงจากการเบ่งคลอด บางคนก็หลับให้หมอเย็บสบายๆ ถูกใจฉันนักแล

เพียงรูดม่านรอบเตียงให้สนิท นั่งสงบที่ปลายเตียงคลอด ตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่รับรู้ความโกลาหลภายนอก

ไล่เย็บฝีเย็บไปเรื่อยๆอย่างใจเย็นและมีความสุข พิถีพิถันสุดฝีมือ

เป็นหมอมือหนึ่งที่เย็บแผลสวยตะเข็บสนิทไม่เกยกัน เย็บด้วยไหมละลายแบบไม่ต้องตัดไหม แผลหายใกล้เคียงสภาพเดิม

เห็นแล้วภาคภูมิใจในฝีมือตัวเองว่าเจ๋งเสียจริง

...................................

หญิงตั้งครรภ์มีถึง 2 ชีวิตที่ต้องดูแล มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนไม่คาดฝันได้เสมอ จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า

“การตั้งครรภ์เปรียบเสมือนเดินเข้าสู่สมรภูมิเลยทีเดียว จะมีชีวิตรอดกลับมาหรือเปล่ายังไม่รู้”

อย่างบ้านฉันที่อยู่ไกลปืนเที่ยง ห่างไกลความเจริญ การคมนาคมยังไม่สะดวก ในตอนฉันยังไม่เกิด

ย่าและพ่อทำหน้าที่หมอตำแยช่วยกันทำคลอดให้แม่

ลูกคนโตแม่เบ่งจนแทบขาดใจ กว่าคุณย่าจะลากหัวออกมาจากช่องคลอดได้

แม่บอกว่าลูกชายคนหัวปีทำแม่เจ็บปางตาย แถมหัวถลอกปอกเปิกด้วยฝีมือย่า หัวแข็งนะที่รอดมาได้

ลูกคนถัดไปค่อยคลอดง่ายขึ้นหน่อย พ่อใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือ

โชคดีที่ลูกๆไม่มีใครเป็นบาดทะยักซักคน ส่วนรกก็ใส่หม้อดินโรยเกลือแล้วฝังไว้ที่สวนหลังบ้าน

ที่ทำให้ตกอกตกใจก็คือ ลูกคนที่ 4 พ่อทำหน้าที่หมอตำแยบกพร่อง

ผูกสายสะดือไม่แน่น เลือดแดงฉานไหลออกมาจากสะดือ ลูกเลยเสียเลือดตั้งแต่แรกเกิด ต้องผูกกันใหม่

เหตุที่สายสะดือผูกยากผูกเย็นก็เพราะทั้งเหนียวและลื่นเป็นปลาไหล

อันเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ป้องกันสายสะดือผูกเป็นปมขณะลูกตัวเล็กเคลื่อนไหว ในมดลูก เดี๋ยวลูกขาดเลือดไปเลี้ยง

..........................

ในอดีตที่การสาธารณสุขยังไม่เจริญอย่างทุกวันนี้ อัตราตายจากการตั้งครรภ์และการคลอดสูงกว่านี้มาก

แม่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนพอตั้งครรภ์ก็เริ่มหวั่นใจ จะเกิดปัญหาอะไรไหม?

บางคนถึงกับแขวนเครื่องรางของขลัง อย่างเช่น ตะกรุด ผ้ายันต์

ราวกับนักรบพกผ้าประเจียด สักยันต์ให้หนังเหนียว กันอันตรายจากศาสตราวุธก่อนออกศึก

ถ้าเป็นชาวบ้านแถบชายแดนละก็ ถึงกับทำพิธีคุณไสย ผูกสายสิญจน์ คาดตะกรุดที่เอว

ครั้นใกล้คลอดยิ่งหวั่นไหว ท้องนี้จะรอดชีวิตไหมนะ? คนข้างบ้านที่แม่รู้จัก เสียชีวิตจากการคลอด 2-3 คน แม่ยังจำได้ดี

บางทีของขลังก็ช่วยอะไรไม่ได้

แต่ก่อนเราจึงมีทั้งลูกกรอก กุมารทอง ผีตายทั้งกลมแม่นาคพระโขนง

จวบจนกระทั่งวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น มีการฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย

อัตราตายลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ค่อยได้ยินเรื่องตายทั้งกลมอย่างแต่ก่อน

อัตราตายคลอดที่ลดลง ใช้เป็นดัชนีชี้วัดพัฒนาการด้านสาธารณสุข

หลายสิบปีที่ผ่านมา.... แพทย์ใช้ทุนรุ่นแล้วรุ่นเล่า...ได้ช่วยชีวิตชาวชนบทไว้มากมาย...


การคลอดปกตินั้นเป็นเรื่องจิ๊บจ้อย หมอมีหน้าที่ตัดปากช่องคลอดเพื่อให้แผลเรียบเย็บง่าย คอยกันฝีเย็บอย่าให้ฉีกขาดรุ่งริ่ง

พอหัวคลอดออกมาแล้ว ไหล่ก็ออกตามมา ที่เหลือก็ไหลพรวดออกมาอย่างง่ายดายแทบรับไม่ทัน

ไหลออกมาด้วยแรงเบ่งของแม่บวกกับการบีบตัวของมดลูก หมอมีหน้าที่เพียงคอยรับเด็กดีๆ อย่าให้หลุดมือร่วงลงพื้นก็พอ

เด็กเกิดใหม่ตัวลื่นจากไขที่เคลือบผิว ช่วยหล่อลื่นให้คลอดง่าย แต่ทำให้จับไม่ค่อยอยู่

ต้องใช้นิ้วคีบเท้าทั้ง 2 ให้แน่นคล้ายการคีบตะเกียบ แล้วยกขึ้นสูง ระวังอย่าให้เด็กสำลักน้ำคร่ำ

รีบเช็ดหน้าเช็ดตา แล้วใช้ลูกยางดูดเสมหะและน้ำคร่ำในปากออกให้หมด

หลังจากนั้นจึงผูกสายสะดือให้แน่น แล้วตัดด้วยกรรไกรปลอดเชื้อ แค่นี้ก็เรียบร้อย

ตำรวจที่ผ่านการอบรมการทำคลอด (ไม่รับทำคลอดที่ไม่ปกติ) จึงทำคลอดเด็กท่าปกติในรถได้อย่างปลอดภัย อัตรารอด 100%


การแพทย์เอาแน่เอานอนไม่ได้เอาเสียเลย ผู้ป่วยแต่ละคนมีปัญหาแตกต่างกัน มีปัญหาเฉพาะหน้ามาให้หมอแก้ไขเสมอ

ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ต่างกันมีส่วนทำให้ผลการรักษาต่างกัน แม้รักษาด้วยวิธีเดียวกันก็ตาม

ผู้ป่วยน้อยรายที่มีภาวะแทรกซ้อนในการคลอด แต่ถ้ามีขึ้นมาแล้ว มักรุนแรงและอันตรายต่อทั้งแม่และลูก

บางอย่างก็ป้องกันและรักษาได้ แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง

ตัวอย่างเช่น :-

- ครรภ์เป็นพิษ เท้าบวม ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (pregnancy induced hypertension) ซึ่งมีโอกาสชัก เลือดออกในสมอง เมื่อวินิจฉัยแล้ว ต้องรีบรักษา หากอายุครรภ์ครบกำหนด ควรทำคลอดให้เร็วที่สุด อาการต่างๆจะหายไปหลังคลอด

- รกลอกตัวก่อนคลอด (abruptio placenta) ทารกมีโอกาสเสียชีวิตสูง เพราะขาดเลือดไปเลี้ยง

- รกเกาะต่ำ (placenta previa) มักมีอาการเลือดออกผิดปกตินำมาก่อน มีโอกาสเสียเลือดมากจนช็อก

- รกเกาะแน่นและลึก (placenta accreta, percreta, increta) ทำให้รกคลอดยาก ถ้าติดแน่นมาก อาจต้องตัดมดลูก

- ขนาดศีรษะเด็กโตกว่าอุ้งเชิงกราน (cephalo-pelvic disproportion) อาจทำให้มดลูกแตกได้ มักต้องคลอดด้วยการผ่าตัด

- มดลูกไม่บีบตัว (uterine inertia) ทำให้คลอดยากและเสียเลือดหลังคลอดเกิดภาวะช็อก

- สายสะดือยื่นย้อยออกมานอกปากมดลูกขณะคลอด (prolapsed umbilical cord) เป็นเหตุให้สายสะดืออันเป็นท่อน้ำเลี้ยงถูกกดกับปากมดลูกและกระดูกเชิงกราน ทำให้เด็กมีโอกาสขาดเลือดและเสียชีวิต ถ้าตรวจภายในเห็นสายสะดือย้อยออกมมาที่ปากมดลูกเมื่อใด หมอที่ตรวจภายในต้องคานิ้วมือไว้ในช่องคลอดเพื่อดันเด็กไว้ไม่ให้กดสายสะดือ แล้วรีบเข็นไปห้องผ่าตัด โดยหมอนั่งไปบนรถเข็นพร้อมคนไข้ รีบผ่าตัดด่วนโดยหมออีกคน เมือดึงเด็กออกจากมดลูกแล้ว จึงถอนนิ้วออกจากช่องคลอดได้

- น้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดไปอุดหลอดเลือดที่ปอด (amniotic fluid embolism) เป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่ร้ายแรงที่สุด เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในชั่วพริบตา เฉียบพลันแบบไม่ทันตั้งตัว โดยไม่มีอาการนำมาก่อน ไม่สามารถคาดการล่วงหน้าได้ จึงป้องกันยากยิ่ง ส่งผลให้ปอดสูญเสียหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือด วินิจฉัยได้ก็เมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำ ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะช็อก ถ้าน้ำคร่ำใส อาการรุนแรงน้อยกว่าน้ำคร่ำขุ่นข้น ปริมาณน้ำคร่ำที่รั่วเข้าสู่กระแสเลือดน้อย อาการรุนแรงน้อยกว่าปริมาณมาก ไม่มีการรักษาเฉพาะ ได้แต่รักษาตามอาการ


โดยเฉพาะ ภาวะน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดไปอุดหลอดเลือดที่ปอด (amniotic fluid embolism)
เป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่ร้ายแรงที่สุด

เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในชั่วพริบตา เฉียบพลันแบบไม่ทันตั้งตัว โดยไม่มีอาการนำมาก่อน ไม่สามารถคาดการล่วงหน้าได้ จึงป้องกันยากยิ่ง

ส่งผลให้ปอดสูญเสียหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือด วินิจฉัยได้ก็เมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะช็อก เลือดไม่แข็งตัว เลือดออกทุกทวาร...

ถ้าน้ำคร่ำใส อาการรุนแรงน้อยกว่าน้ำคร่ำขุ่นข้น

ปริมาณน้ำคร่ำที่รั่วเข้าสู่กระแสเลือดน้อย อาการรุนแรงน้อยกว่าปริมาณมาก

ไม่มีการรักษาเฉพาะ ได้แต่รักษาตามอาการ


น้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดจึงเป็นภาวะที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง

คนไข้มาโรงพยาบาลด้วยสภาพปกติแข็งแรงดี หวังจะได้ลูกกลับไปเชยชม แต่กลับไม่เป็นดังหวัง

เป็นโชคร้ายของคนไข้และเป็นฝันร้ายของสูติแพทย์

ส่วนใหญ่เสียชีวิตทั้งคู่ บางรายโชคดีลูกรอดชีวิต เป็นลูกกำพร้าแม่แต่เกิด

พ่อกลายเป็นพ่อม่ายลูกติด ต้องเลี้ยงลูกอ่อนโดยลำพัง เป็นครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว

ร้ายแรงเกินกว่าจะยอมรับได้

เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สูติแพทย์ถูกฟ้องร้องบ่อย

จนมีข่าวว่า ไม่มีสูติแพทย์รับทำคลอดในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา แม่ท้องแก่ต้องเดินทางไปคลอดที่รัฐอื่น

สูติแพทย์หลายคนเลิกทำคลอด เลือกรักษาเฉพาะนรีเวช

ฉันมีโอกาสเห็นคนไข้แบบนี้รอดชีวิต 1 ราย เป็นคนไข้หมอสูติ คงเป็นชนิดไม่รุนแรงนัก สูติแพทย์จึงช่วยชีวิตไว้ได้ทัน

แต่รอดชีวิตแบบเป็นเจ้าหญิงนิทรา.... นอนอยู่โรงพยาบาลหลายเดือนกว่าจะเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อ

โดยทาง รพ. ช่วยบรรเทาทุกข์... ด้วยการไม่คิดค่าใช้จ่าย....


ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้ว่าวิชาสูติศาสตร์ไม่ดีนะ

ทว่าเกิดจากความไม่สันทัดทางด้านสูติกรรมเป็นการส่วนตัวของฉันเอง แบบลางเนื้อชอบลางยาน่ะ

แถมตอนใช้ทุนก็ไม่ได้ผ่านแผนกสูติ จึงเป็นผู้ไม่สัดทัดกรณีด้านสูติกรรม

คนไข้มาตรวจสุขภาพทำประกัน ให้ประวัติว่า LMP ปกติ

ฉันตรวจหน้าท้องแล้ววินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกเฉยเลย

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เค้ามาตรวจร่ายกายทำประกันแต่หลอกเราเรื่อง LMP

พอเราคลำได้ก้อน cystic mass

ความรู้เท่าจบ พบ. ที่ไม่เคยตรวจ ANC เลยหลังเรียนจบ เคยเจอแตฉี่ค้างกระเพาะ

ทีแรกคิดถึง full bladder บอกให้คนไข้ไปฉี่ก่อนค่อยมาตรวจใหม่

เธอบอกว่าเพิ่งเก็บฉี่เพื่อตรวจประกัน ก็เลยแนะนำให้พบ gyne หรือทำ U/S

เธอทำหน้าไม่ตกใจ ที่มีก้อนในท้อง เราก็ไม่เอะใจเล้ย

ไม่กี่เดือนให้หลัง เธอกลับมาตรวจทำประกันใหม่ เราก็คิดว่าครั้งที่แล้วไม่ผ่านเพราะมีก้อนเนื้อ

ดูประวัติย้อนหลัง ครั้งนี้คลำไม่เจอก้อนเนื้อแล้ว คงไปรักษาหายแล้วมาตรวจใหม่

ก็เลยถามด้วยความอยากรู้ ว่าก้อนที่ท้องตกลงเป็นอะไร

เธอบอกว่า เธอเพิ่งคลอดลูก ตอนนั้นตั้งท้องได้ 4 เดือน

บอกอีกด้วยว่าบริษัทไม่รับทำประกันคนท้อง ก็เลยไม่ส่งผลการตรวจ คลอดแล้วค่อยมาทำใหม่

คงด้วยเหตุผลที่ว่าการคลอดเหมือนเข้าสู่สมรภูมินั่นแหละ

หน้าแตกดังเพล้ง .... เพิ่งรู้นะเนี่ย ว่าคนท้องนอกจากเป็นกลุ่มเสี่ยงของหมอแล้ว ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงของบริษัทประกันด้วย

รู้ๆกันอยู่ว่าความรู้แค่ พบ.ตอนจบใหม่นั้น สำหรับฉันแค่หางอึ่ง

ประสบการณ์น้อยนิด ไม่ได้ผ่านสูติกรรมตอนใช้ทุน จึงทำเป็นแต่ normal labor, C/S ทำ F/E, V/E ไม่เป็น

กว่าจะทำงานได้คล่อง ก็ต้องสั่งสมประสบการณ์อย่างน้อย 3 ปี ในช่วงแพทย์ฝึกหัดและใช้ทุน

นอกจากนี้..... ช่วง 3 ปีที่เรียนแพทย์เฉพาะทาง...

ที่ต้องทำงานอย่างหนัก... อดตาหลับขับตานอน... อยู่เวรคืนเว้นคืน...

เป็นช่วงที่ได้ความรู้มากที่สุด... โดยเฉพาะจากการเฝ้าคนไข้หนักใน ICU, CCU รวมถึงคนไข้หนักในหอผู้ป่วย

เป็นความรู้ที่ใช้ประกอบสัมมาชีพถึงทุกวันนี้....

ต้องขอขอบคุณบรรดาตนไข้ที่เป็นดังอาจารย์ โดยเฉพาะคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคแปลกๆ ถือว่าเป็น super อาจารย์

นอกเหนือไปจากขอบพระคุณอาจารย์ใหญ่ผู้มีพระคุณสูงยิ่ง ที่ให้ความรู้พื้นฐานสำคัญ วิชากายวิภาคศาสตร์

ด้วยสำนึกในบุญคุณ.... เมื่อชีวิตลงตัวย้ายมาอยู่บ้านเกิด

ฉันรีบทำการบริจาคอร่างกายให้สภากาชาด ในกรณีถ้าแก่ตายหรือป่วยตาย บริจาคอวัยวะ ในกรณ๊ที่สมองตายก่อนแก่

แค่ทำงานหนักยังไม่พอ จบออกมาแล้วยังต้องอ่านหนังสือสม่ำเสมอ ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต

ควรกลับไปประชุมวิชาการทุกปี ไม่งั้นตามวิชาการไม่ทัน

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ก้าวหน้าเร็วมาก มีความรู้ใหม่ๆแทบทุกวัน

เผลอไม่ไปประชุมแค่นิดเดียว ฉันแทบกลายเป็นหมอโบราณไปแล้ว

ใครที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์สูงในโรคนั้น

จึงไม่ควรเที่ยวได้ comment คนอื่นผ่านสื่อสาธารณะโดยไม่เห็นคนไข้หรือสอบถามข้อมูลกันก่อน เดี๋ยวหน้าแตก

ถ้า discuss กันเองเพื่อเรียนรู้เป็นอีกเรื่องนึง

ด้วยการชักแม่น้ำทั้งห้า... ดังกล่าวข้างต้น.... ฉันไม่เคยคิดเรียนต่อเฉพาะทางสูติศาสตร์

นี่ยังไม่รวมการทำแท้ง ที่แม้จะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์โดยไม่ผิดกฎหมาย ฉันก็ไม่อยากทำ

ขนาดกฎหมายทำแท้งน่ะ แท้งแล้วแท้งอีกนะเนี่ย... ถ้าออกมาได้ หมอสูติคงต้องทำแท้งอีกโข

ถึงวันนี้.... ฉันรู้สึกแล้วว่า...

ตัวเองโชคดี... ที่ไม่ถนัดวิชาสูติและไม่เคยคิดจะเรียนวิชาสูติเล้ยในตอนนั้น

เอ.... แล้วที่เรียนแพทย์เนี่ย... โชคดีหรือโชคร้ายหว่า....


ส่งโดย: ppom








Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 18 สิงหาคม 2560 16:24:39 น. 1 comments
Counter : 1466 Pageviews.  

 
ลิงค์บทความที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องทางสูตินรีเวช ..
เขาตราหน้า ว่าหมอฆ่าคน : หนังสือ ชนะเลิศรางวัลชมนาด "The Best Of Non-Fiction" ครั้งที่ ๔ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-08-2015&group=7&gblog=192

ครรภ์เป็นพิษ ..... พญ. ชัญวลี ศรีสุโข https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-06-2013&group=4&gblog=100

โชคดีที่ไม่เรียนวิชาสูติศาสตร์ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=7&gblog=14

มดลูกเกือบแตก https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=07-02-2009&group=7&gblog=15

มดลูกแตก ..... ( ความรู้ ประกอบการติดตามข่าว ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=4&gblog=68

โรคน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด .... ( ความรู้ ประกอบ การติดตามข่าว ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=4&gblog=69


โดย: หมอหมู วันที่: 20 สิงหาคม 2558 เวลา:21:45:54 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]