Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

30 ก.ย. 2565 เกษียณสุข .. หมอหนุ่ม (นำมาฝาก)




30 ก.ย. 2565 เวลา 16.30 น. เป็นเวลาผู้ที่เกษียณจะทำงานครั้งสุดท้ายก่อนที่พรุ่งนี้จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข ผมมีของฝากสำหรับผู้เกษียณที่จะต้องเตรียมพร้อมเริ่มแรกเลยคงต้อง

1.เตรียมใจนะครับทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่วันใดวันหนึ่งคงต้องพักผ่อนนะครับ

2.เตรียมกายเรื่องนี้สำคัญที่สุดนะครับ การมีสุขภาพดีและแข็งแรงต้องเตรียมตัวและใช้เวลานาน ต้องดูแลสุขภาพตลอดช่วงวัยนะครับเมื่อหลังเกษียณแล้วผลของการดูแลสุขภาพที่ผ่านมาจะทำให้เราเกษียณแบบแข็งแรงนะครับ

3.เตรียมแผนการใช้เวลา หลังเกษียณเป็นช่วงเวลาที่จะว่างมากขึ้นแบบไม่เคยคิดมาก่อน ต้องหาอะไรทำเพื่อให้สมองและร่างกายไม่หยุดอยู่กับที่นะครับ

4.เตรียมครอบครัว เป็นส่วนสนับสนุน สภาพจิตใจ สภาพสังคม ให้ผู้ที่เกษียณได้ใช้เวลากับครอบครัวแบบมีคุณค่า รวมถึงต้องเตรียมสภาพบ้าน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยด้วยนะครับ

5.เตรียมเพื่อน เราอาจจะมีรุ่นพี่ที่เกษียณไปก่อนแล้ว หรือเพื่อนรุ่นน้องที่จะเกษียณตามมาการมีสังคม ในรูปแบบต่างๆเช่น ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย สังสรรค์ในรูปแบบต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้นนะครับ แต่หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมเร็ว เช่น การออกลำลังกายที่หนักมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่มากเกิน เป็นต้น

6.เตรียมแผนการใช้เงิน วางแผนให้เงินก้อนสุดท้ายทำงาน เพื่อความมั่นคงหลังเกษียณ แบ่งเป็น 4 Step นะครับ
STEP 1 : เตรียมพร้อมสู่ชีวิตหลังเกษียณ
STEP 2 : เทคนิคบริหารเงินหลังเกษียณ
STEP 3 : จัดพอร์ตลงทุนหลังเกษียณ
STEP 4 : วางแผนมรดกให้ลูกหลาน

การเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือการเตรียมทั้งหมดที่กล่าวมาแต่เนิ่นๆ บางครั้งอาจซ้อมตั้งแต่อายุ 55 ปี ว่าเมื่อถึงเวลานั้นเราพร้อมไหมที่จะ เตรียมใจ เตรียมกาย เตรียมแผนการใช้เวลา เตรียมครอบครัว เตรียมเพื่อน และเตรียมแผนการใช้เงิน
สุดท้ายนะครับไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดสร้างสมดุลย์ชีวิตนะครับด้วย Great Happy with good Health and Wealth

หมอหนุ่ม( Financial Freedom by Ronny)   30 ก.ย. 2565
ผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์(Investment Consultant,IC)
ที่ปรึกษาการเงิน (Associate Financial Planner Thailand, AFPT™)

Ronnaphob Uaphanthasath
https://www.facebook.com/ruaphant/posts/pfbid02CiXcpuFr4wDpd2rJPjY7RvJLodCVk2Nm57HeWJ5JrmcG7Qq3Ye75Vp1RzAWJATHql



แถม ..

บทที่ ๖ การพัฒนาสุนทรพจน์ ... ร่างบทพูดของผม " เกษียณกาย แต่อย่าเกษียณใจ"
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=15-10-2012&group=20&gblog=9

 




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2565   
Last Update : 1 ตุลาคม 2565 14:41:12 น.   
Counter : 1589 Pageviews.  

๒๔ กันยายน วันมหิดล ร่วมรำลึกถึง “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน”



ร่วมกันรำลึก พระมหากรุณาธิคุณ .. วันมหิดล ๒๔กันยายน ..

๒๔ กันยายน วันมหิดล ร่วมรำลึกถึง “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน”
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.531606393521708&type=1&l=7cb9eda710

๒๔ กันยายน วันมหิดล วันระลึกถึง “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”
https://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com_content&view=article&id=435:2011-01-16-09-05-18&catid=97:0904&Itemid=81

พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์  จาก เวบมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
https://www.princemahidolaward.org/complete-biography.th.php

ภาพประกอบจาก เฟส we love แพทยสภา
https://www.facebook.com/themedicalcouncil

พระราชดำรัส องค์สมเด็จพระราชบิดา ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ ให้บริสุทธิ์”

______________________________________________________________

“ฉันไม่ต้องการจะให้พวกเธอมีความรู้เพียงอย่างเดียว
ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นบุคคลที่ถึงพร้อมแล้วด้วย
I don’t want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.
หมายความว่า ฉันต้องการให้พวกเธอ เป็นทั้งนายแพทย์และเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมและศีลธรรมอันดีด้วย
จึงสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้”

______________________________________________________________

“อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย
ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรเป็นอย่างอื่นไม่ใช่แพทย์
อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่น ในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ”

______________________________________________________________

"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"
______________________________________________________________

"การที่จะได้รับความไว้ใจของคนไข้ ขอท่านถือสุภาษิตว่า
ใจเขาใจเรา ท่านคงจะคิดได้ว่า ท่านอยากได้ความสบายแก่ท่านอย่างไร
ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น ความตั้งใจจริงเป็นยาประเสร็ฐ
ได้ผลคือความเชื่อ และเมื่อคนไข้เชื่อท่านแล้ว เขาจะทำตามทุกอย่าง"

______________________________________________________________

"ท่านควรมีความเชื่อใจตนเอง ไม่ใช่อวดดี ท่านต้องรู้สึกความรับผิดชอบ และทำไปด้วยความตั้งใจ"

______________________________________________________________

“การเรียนจบหลักสูตรแพทย์ที่กำหนดนั้นไม่ได้หมายความว่านักเรียนได้เรียนรู้จบหมด
ในทางการแพทย์ การได้รับปริญญาบัตรเป็นเพียงแค่ก้าวหนึ่งเท่านั้นคือแสดงว่า
นักเรียนได้จบการฝึกทางทฤษฎี และอยู่ในฐานะเหมาะที่จะออกไปรับผิดชอบทางการปฏิบัติโดยลำพัง
เกี่ยวกับปัญหาป่วยไข้ ซึ่งจะเป็นแพทย์ที่ก้าวหน้าต่อไปได้
แพทย์ที่สำเร็จจะต้องยึดอยู่เสมอว่าจะต้องเป็นนักศึกษาอยู่ตลอดชีวิตของอาชีพ”
______________________________________________________________

“คุณลักษณะสำคัญสำหรับการเป็นแพทย์นั้นคือความเชื่อถือไว้ใจได้
๑.ท่านต้องมีความเชื่อในความสามารถของตน คือ มีความมั่นใจ
๒.ท่านต้องมีความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือ ความเป็นปึกแผ่น
๓.ท่านต้องได้รับความเชื่อถือจากคนไข้ของท่าน คือ ความไว้ใจของคณะชน
คุณสมบัติสามประการนี้เป็นอาวุธ เกราะ และเครื่องประดับอันงามของแพทย์"

______________________________________________________________

“เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้วมันไม่กลับมาอีก
ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันเป็นประโยชน์แล้วเราไม่ใช้มัน ก็เป็นที่น่าเสียดาย”

______________________________________________________________

“พวกเธอทั้งหลาย การเล่นนั้นเป็นของดี
การเรียนนั้นก็เป็นของดีและสำคัญ
แต่การที่จะให้ดีกว่านั้น คือ คนที่เรียนก็ดีและเล่นก็ดีด้วย”

______________________________________________________________

"ท่านควรยกย่องคณะที่ให้การศึกษาท่าน ท่านควรมีความภูมิใจในคณะของท่าน
และท่านไม่ควรเรียนวิชาขึ้นใจและใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น
ควรเก็บคำสอน ใส่ใจและประพฤติตาม
ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติ ซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ
แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนคนไข้แล้ว จะหาความไว้ใจจากคนไข้ได้อย่างไร"

______________________________________________________________

"ความลับของคนไข้ นั้นคือ ความรักคนไข้"

______________________________________________________________

"การที่เรียนจบหลักสูตรวิชาแพทย์นั้น ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนผู้นั้นได้เรียนรู้การแพทย์หมดแล้ว
แต่เป็นการตรงกันข้าม การที่เรียนจบนั้นเป็นแต่เีพียงขั้นหนึ่งของวิชาการศึกษาทางการแพทย์ คือว่า
ความจริงนักเรียนผู้นั้นได้เรียนจบตามตำรา และบัดนี้ เป็นผู้ที่สมควร และสามารถรับผิดชอบ
ในการเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนที่ไม่สมบูรณ์ โดยวิธีการทำจริงและโดยลำพังตนเองได้เท่านั้น
เป็นการเรียนวิชาแพทย์ต่อ แต่เป็นโดยวิธีที่ต่างกับวิธีเดิมบ้างเล็กน้อย
จะเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในภายภาคหน้าไม่ได้ นอกจากแพทย์ผู้นั้น เมื่อสำเร็จวิชามาใหม่ๆ
จะรู้สึกตนว่าตนจะยังคงเป็นนักเรียนอยู่ต่อไปอีกตลอดเวลาที่ทำการแพทย์นั้น"

๒๔ กันยายน วันมหิดลวันระลึกถึง “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”
https://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com_content&view=article&id=435:2011-01-16-09-05-18&catid=97:0904&Itemid=81

“ วันมหิดล ” ตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ และทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ สมเด็จพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีพระนามเดิมว่า “ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ” ทรงเป็นต้นสกุล “ มหิดล ”

                   เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และเสด็จไปศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศเยอรมัน โดยในปีสุดท้ายได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาการทหารเรือแทน และสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งในปีสุดท้ายนี้ทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำด้วย ทรงได้รับยศเป็นนายเรือตรีในกองทัพเรือเยอรมัน และได้รับพระราชทานยศจากเมืองไทยเป็น นายเรือตรีแห่งราชนาวีไทยเมื่อพระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปีพ.ศ. ๒๔๕๗ พระองค์จึงได้ลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน และเสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสนพระทัยและเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่งซึ่งทรงศึกษามาจากเยอรมันมาก ในขณะนั้นรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชประสงค์จะบูรณะกองทัพเรือ พระองค์ก็ได้ถวายความเห็นว่าเมืองไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่มีฐานทัพเรือหรืออู่ใหญ่ๆ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เรือรบใหญ่ ควรใช้เรือเล็กๆ เช่น เรือดำน้ำ หรือตอร์ปิโด ซึ่งเข้าแม่น้ำได้สะดวกกว่า และมีประโยชน์มากกว่า แต่เนื่องจากสมัยนั้น ผู้ใหญ่ส่วนมากจบจากอังกฤษ และเห็นว่าควรมีเรือใหญ่ เพื่อฝึกทหารไปในตัว ก็ทรงยอมรับฟัง แต่ก็ทรงน้อยพระทัยว่าอุตส่าห์ไปศึกษาวิชานี้มาโดยตรงจากเยอรมัน ครั้นถึงเวลาปฏิบัติจริงกลับไม่ได้ใช้ ต่อมาจึงทรงลาออกจากประจำการ เนื่องจากมีทรงอาการประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ครั้นต่อมา สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองและผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ขณะนั้นทรงพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนแพทย์ของไทยอยู่ในฐานะล้าหลังมากเมื่อเทียบกับทางยุโรป จึงตกลงพระทัยจะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่มีอุปสรรคคือ หาผู้มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงกราบทูลวิงวอนสมเด็จพระบรมราชชนกให้ทรงช่วยจัดการเรื่องการแพทย์ ซึ่งเมื่อพระองค์ได้รับทราบถึงความขาดแคลนต่างๆในด้านการแพทย์ และการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ศิริราช จึงตกลงพระทัยจะทรงช่วย โดยเสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขและเตรียมแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งในระหว่างศึกษาต่อนี้ พระองค์ยังได้พระราชทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ อีกด้วย และที่สำคัญคือยังมีนักเรียนพยาบาลอีก ๒ คนที่ได้รับทุนจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏในขณะนั้น) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนของพระองค์อย่างดี ทรงรับสั่งเตือนสติเสมอว่า “ เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินราษฎรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นพวกเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ” ในปีพ.ศ.๒๔๖๓ ได้เสด็จนิวัติพระนคร เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ ในระหว่างนี้ได้ทรงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อโรคบิดอะมีบาและตัวเชื้อโรคไข้มาลาเรีย และยังทรงสอนนักศึกษาเตรียมแพทย์ และทรงปลีกเวลาเรียบเรียงเขียนเรื่องโรคทุเบอร์คุโลลิส หรือโรคฝีในท้อง (วัณโรค) ด้วย

                   ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว สังวาลย์ ตะละภัฎ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก่อนเสด็จกลับไปศึกษาต่อ จนสำเร็จการศึกษาสาธารณสุข ได้รับประกาศนียบัตร C.P.H. เมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๔ จากนั้นได้เสด็จยุโรปพร้อมพระชายาประทับอยู่ที่เอดินเบอร์ก แต่เดิมที่เสด็จยุโรปครั้งนี้ ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ให้จบ แต่เนื่องจากทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ กอปรกับอากาศที่อังกฤษหนาวชื้น ไม่เหมาะกับโรค จึงได้เสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งเมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๖ และรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระองค์ท่านเป็น อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ต่อมาได้ทรงสอนวิชาว่าด้วยกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และวิชาประวัติศาสตร์แก่นักเรียนเตรียมแพทย์ ครั้นพ้นตำแหน่งเดิมก็ทรงได้รับตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป อันเป็นตำแหน่งเฉพาะพระองค์ จากการที่ทรงตรากตรำทำงานอย่างหนักทำให้พระอนามัยทรุดโทรม แพทย์ได้กราบทูลแนะนำให้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ยุโรปหรืออเมริกาซึ่งมีอากาศเหมาะกับพระอาการ ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ จึงได้เสด็จยุโรปพร้อมพระชายาและพระธิดา และในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้ศึกษาต่อวิชาแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระหว่างปีสุดท้ายทรงใช้เวลาและพลกำลังมากไปเกินเหตุ จนเป็นให้อาการพระโรคกำเริบขึ้น คณะแพทย์คิดว่าพระอาการจะไม่ฟื้นดีขึ้น จึงถวายคำแนะนำมิให้ทรงตรากตรำเข้าสอบไล่ แต่ต่อมาพระอาการดีขึ้น จึงทรงเข้าสอบจนสำเร็จได้เกียรตินิยม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Alpha Omega Alpha ก่อนเสด็จนิวัติถึงพระนครเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ในครั้งนั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ทางการไม่อาจจสนองพระราชประสงค์ได้ เนื่องจากติดเรื่องพระอิสริยยศและราชประเพณี เป็นเหตุให้ไม่พอพระราชหฤทัย จึงทรงเปลี่ยนความตั้งพระทัยเสด็จไปปฏิบัติหน้าที่แพยทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่แทน โดยเสด็จถึงเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๒ และทรงอยู่ร่วมกับครอบครัวดร.อี.ซี.คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอมิคในครั้งนั้น ทรงมีมหาดเล็กรับใช้เพียงคนเดียว และทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญคนหนึ่ง แม้ว่าสุขภาพจะไม่อำนวย แต่ทรงมีความสุขเป็นอันมากกับการมีโอกาสเป็นหมออย่างเต็มที่ ชั่วเวลาไม่นาน กิตติศัพท์ของพระองค์ก็แพร่หลายไปทั่วว่ามีแพทย์เป็นเจ้าฟ้ามาทรงปฏิบัติงานอยู่ที่นี่ ผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาโรคที่โรงพยาบาลครั้งนั้น จึงขนานนามพระองค์ท่านว่า “ หมอเจ้าฟ้า ” เป็นที่น่าเสียดายว่าทรงประทับอยู่เชียงใหม่ไม่ถึงเดือนก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช จากนั้นทรงประชวรหนัก และได้เสด็จทิวงคตด้วยพระอาการบวมน้ำในพระปัปผาสะ (ปอด) และพระหทัยวาย เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ รวมสิริพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย

                   หลังจากทิวงคตแล้ว เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ได้สถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์พระองค์เป็น “ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ” และในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ รัชกาลที่ ๘ ได้ทรงสถาปนาเป็น “ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ” ครั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้สถาปนาพระองค์เป็น “ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ”จะเห็นได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไพศาล โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และพระหฤทัย ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อการแพทย์ไทยอย่างมากมายเกินกว่าจะกล่าวได้ นับตั้งแต่ทรงจบการศึกษาวิชาการทหารเรือและทรงรับราชการในกองทัพเรือ จนเมื่อทรงประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ต้องลาออก แต่ด้วยพระหฤทัยมั่นที่จะทรงเกื้อกูลประเทศชาติ ประกอบกับทรงสนพระหฤทัยในกิจการแพทย์ ก็ทรงพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาก็ได้เสด็จกลับและทรงปฏิบัติงานร่ามกับกรมสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดเข้มแข็ง ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช ประทานเงินส่วนพระองค์จัดสร้างตึกคนไข้ จัดหาที่พักสำหรับพยาบาลได้อาศัย ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นทุนไว้สำหรับส่งนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลออกไปศึกษาต่อ ต่างประเทศ ประทานเงินจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับปฏิบัติการในโรงพยาบาล ทรงเป็นผู้แทนติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเล่อร์ให้ดำเนินการช่วยเหลือการแพทย์และพยาบาลไทย โดยปรับปรุงการศึกษา และวางมาตรฐานจนสามารถรับรองกิจการแพทย์ของประเทศได้ดังปัจจุบัน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงได้พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”

                   นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่างๆก็ได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช และในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ นักศึกษาแพทย์ก็ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ และต่อมาทางคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ก็มีความเห็นพร้องต้องกันว่าให้ยึดเอาวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันน้อมระลึกถึงพระองค์ โดยให้ชื่อว่า “ วันมหิดล ” และจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ และเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี วันพระราชสมภพ องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๑ กองทัพเรือก็ได้ขอพระราชทานพระยศ “ จอมพลเรือ ”

 ขอเชิญชวนให้ประชนชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์ที่จะเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท พระองค์ทรงกล่าวเสมอว่า “ อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวย ก็ควรประกอบอาชีพอื่น ”

...................................................

อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
วันมหิดลวันแรก
วันมหิดล 24 กันยายน 2493

เวลา 8.00 น. นศพ.ปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ( รุ่น 56) เข้าแถวนำ นศพ.ปี 1-3 เดินไปยังพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จ ที่ถนนกลาง รพ.ศิริราช แล้วหยุดตรงหน้าพระบรมรูป ตัวแทนคือ นศพ.จิรพรรณ สุกัณหเกตุ( มัธยมจันทร์) และ กำธร ศุขโรจน์ ถวายพวงมาลาแล้วอ่านสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ด้วยทำนองเสนาะ ถวายราชสดุดี ไพเราะมาก ประพันธ์โดย นศพ.ภูเก็ต วาจานนท์
เป็นวันมหิดลวันแรกคิดขึ้นโดย นศพ.ปีที่ 4 ขณะนั้น. แต่ไม่เคยมีใครกล่าวถึงเลยว่าเป็นความคิดของพวกเรา

ที่มาคือ นศพ.ปีที่ 4 ขณะนั้นอันมี นศพ.บุญเริ่ม สิงหเนตร
หัวหน้า นศพ., ดอนเฉลิม พรมมาส หัวหน้าชั้น, ดวงเดือน คงศักดิ์
รองหัวหน้า, และคนสำคัญคือ ภูเก็ต วาจานนท์ ทีไปค้นคว้าว่าวันที่ 24 กันยายน เป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระราชบิดา เราควรจะถวายสักการะเช่นเดียวกับวันที่ 23 ตุลาคม จึงได้จัดพิธีนี้ขึ้น และ เชิญอาจารย์หัวหน้าแผนกทุกท่านมาร่วมงานแต่ไม่มีใครมา นอกจากอาจารย์ สุด แสงวิเชียร  คนเดียวที่มาร่วม

บัดนี้เพื่อนร่วมคิดได้จากไปหมดแล้ว นอกจาก อ.กำธร ศุขโรจน์ที่ไปตั้งรกรากที่อเมริกาไม่ได้ข่าวคราว พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจมากจึงมาเล่าให้ฟัง น่าเสียดายที่คำฉันท์นั้นไม่มีใครเก็บไว้ แต่ที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชก็มีรูปพวกเราติดอยู่ข้างฝาโดยบังเอิญ

เครดิต Channivat Kashemsant
19 กันยายน 2559 เวลา 12:06 น. · https://www.facebook.com/channivat.kashemsant/posts/1116471281722739

*************************************************

เรารัก สมเด็จพระเทพ ฯ : Our Beloved Princess Maha Chakri Sirindhorn
https://www.facebook.com/MahaChakriSirindhorn/photos/a.400355652921/10157033353147922/?type=3&theater
 
เนื่องในวันมหิดล (วันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี) เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย" #น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

"ถ้าไม่ตระหนี่ ที่ไหนตึกจะขึ้นที่ศิริราชอีกได้เล่า"
.
หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี อดีตคณะบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเล่าถึงสมเด็จพระราชบิดาไว้ว่า

"...ระหว่างที่ประทับอยู่ในอเมริกา ทูลกระหม่อมได้มีลายพระหัตถ์ประทานมาฉบับหนึ่ง ทรงเล่าว่าใครๆ พากันแสดงความประหลาดใจว่าพระองค์ทรงเป็นโรคไตอักเสบเรื้อรังอย่างรุนแรงถึงปานนั้น ไม่น่าจะทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้เลย

พระองค์ทรงเห็นว่าได้รับเงินปีอยู่บ่อยๆ นับเป็นหนี้แก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน จำจะต้องทำอะไรตอบแทนเขาบ้าง เมื่อจะตอบแทนด้วยพระองค์เองไม่ได้เนื่องด้วยมีพระโรคประจำ เป็นเครื่องตัดรอน ก็จะขอถมเงินทุ่มเทเข้าแทนตัว ดังนั้นจึงได้ทรงมุมานะพยายามอย่างยิ่งที่จะรีบรวบรัดให้งานในด้านปรับปรุงโรงเรียนแพทย์นี้สำเร็จไปจนได้

เกี่ยวกับการทุ่มเงินนี้มีกรณีหนึ่งซึ่งฉัน (หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี) ได้ประสบด้วยตนเองและสมควรจะบันทึกไว้

คือคราวหนึ่ง ฉันได้โดยเสด็จทูลกระหม่อมฯไปยุโรป ทรงนำเที่ยวกรุงปารีส ทูลกระหม่อมฯ โปรดการเดินมาก ไม่ค่อยทรงขึ้นรถ ทรงพาเราเดินเสียจนแทบทนต่อไปไม่ไหว จึงออกอุบายทูลว่าสังเกตดูหม่อม (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เหนื่อยมากแล้วขึ้นรถเสียทีเห็นจะดี

ทูลกระหม่อมฯ มีพระดำรัสว่าตกลง เราก็ดีใจว่าคงจะได้ขึ้นรถแท็กซี่มีความสบาย แต่ทูลกระหม่อมฯ กลับทรงนำไปขึ้นรถใต้ดิน ซึ่งเป็นพาหนะสำหรับคนชั้นต่ำและค่าโดยสารถูก เมื่อมีผู้ต่อว่าว่าตระหนี่ ทูลกระหม่อมฯ ก็ได้ทรงตอบอย่างจริงจังว่า

'ถ้าไม่ตระหนี่ ที่ไหนตึกจะขึ้นที่ศิริราชอีกได้เล่า' "

------------------------------------------------------

ที่มา : สารศิริราช ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๖

ขอบคุณภาพ_FB_S. Phormma's Colorizations

***********************************************************

Infectious ง่ายนิดเดียว
https://www.facebook.com/Infectious1234/photos/a.133077153789653/562913437472687/?type=3&theater

๒๔ กันยายน วันมหิดล 👨‍⚕️
แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกคนทราบดี และทุกคนถูกสอนและให้ท่องวลีอมตะ ตั้งแต่สมัยเรียนหมอ ที่พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย_ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงตรัสและลิขิตไว้เมื่อ ๙๐ ปีก่อน

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

ขออัญเชิญพระลิขิต ที่ทรงเขียนขึ้นให้ นพ.สวัสดิ แดงสว่าง เพื่อเตือนสติให้ตั้งใจเรียนแพทย์ ผู้ซึ่งได้รับทุนให้เรียนต่อต่างประเทศ เดินทางไปต่างประเทศโดยเรือ ครั้นเจ้าของเรือทราบว่าไปเรียนต่อแพทย์ จึงลดราคาค่าโดยสารให้

ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง (2 พฤษภาคม 2447-25 สิงหาคม 2534)
ภายหลังจบการศึกษาจากต่างประเทศ ได้กลับมารับราชการแพทย์ในประเทศไทย เจริญก้าวหน้าในอาชีพแพทย์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อธิการบดีมหาลัยมหิดล, อธิบดีกรมอนามัย และท่านได้ค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ด เป็นบิดาของปาราสิตประเทศไทย

ที่มา https://muarms.mahidol.ac.th/medical_bethel/download/22Svasti.pdf

***********************************

  ·
๒๔ กันยายน “วันมหิดล”

๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ และเป็นอัยกาในรัชกาลที่ปัจจุบัน

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ ๑ มกราคม ๒๔๓๔ (ตามการนับศักราชเก่า) ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี ภายในพระบรมมหาราชวัง

หลังจากประสูติครบ ๑ เดือน รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการสมโภชเดือนตามขัตติยราชประเพณีที่พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช” และได้รับการออกพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมแดง”

เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ พรรษา รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีพระราชพิธีมหามงคลโสกันต์ และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมมีพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์”

พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ยุโรป โดยเข้าศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถึงปี ๒๔๕๐ ได้ย้ายไปศึกษาต่อในวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพ็อทซ์ดัม ประเทศเยอรมนี และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรส-ลิชเทอร์เฟ็ลเดอ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ในปี ๒๔๕๗ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นเป็นผลให้พระองค์ต้องออกจากกองทัพเรือเยอรมัน และเสด็จนิวัตกลับประเทศไทย พระองค์เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ โดยได้รับพระราชทานยศเป็น “นายเรือโท” และย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือในเวลาต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนถึงช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการทหารเรือ ตอนหนึ่งว่า

“...ท่านทรงโปรดราชการทหารเรืออย่างยิ่ง แต่ท่านอยากจะทรงบังคับการเรือตอร์ปิโดและอยากออกทะเล บังเอิญทางราชการเห็นว่า ไม่สมควรที่เจ้าฟ้าจะทรงทำเช่นนั้น ท่านจึงไม่ได้บังคับเรือแต่อย่างใดหรือออกทะเลตามลำพังพระองค์เลย ท่านจึงเกิดเบื่อหน่ายเป็นอันมาก...”

ต่อมา พระองค์ลาออกจากราชการในกระทรวงทหารเรือ เมื่อทรงลาแล้ว พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้เสด็จไปชักชวนให้มาช่วยโรงพยาบาลศิริราช โดยพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้ทูลเชิญทูลกระหม่อมให้แวะที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้มีสถานที่คับแคบไม่พอที่จะรองรับคนไข้ได้อย่างเพียงพอทำให้คนไข้ต้องไปนั่งรอที่โคนต้นไม้ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์ พระองค์ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่งและทรงตกลงพระทัยที่จะช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ไทย แต่พระองค์มีพระดำริว่า

“...ก่อนจะทรงช่วยเหลือจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จึงตั้งพระทัยจะเสด็จไปทรงศึกษาด้านการแพทย์เสียก่อน...”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อธิบายถึงเหตุผลที่ชักชวนทูลกระหม่อมให้มาช่วยเหลืองานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทยว่า

“...เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าเข้ามาทรงจัดการเรื่องนี้แล้วจะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานนี้มากขึ้น อนึ่งทูลกระหม่อมทรงมีรายได้สูง แต่พอพระทัยจะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ และประการสำคัญที่สุด ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า จะทรงทำอะไรก็ทำจริงไม่ย่อท้อ กิจการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว...”

พระราชกรณียกิจประการแรก เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็คือพระราชทานทุนให้นักเรียนออกไปศึกษา ๑๐ ทุน ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์ พระองค์มีความเห็นว่านักเรียนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจะได้ศึกษาเพียงเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นในเขตนั้นเท่านั้น เมื่อกลับมาประเทศไทยควรจะศึกษาต่ออีก ๑ ปี เพื่อจะให้ได้รับความรู้และความชำนาญโรคของประเทศไทย แต่ทางการก็มิอาจทำได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุให้ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ดังนั้นพระองค์จึงเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากจะทรงทำงานในโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นเสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์เสด็จถึงจังหวัดเชียงใหม่

พระองค์มีความเอาใจ่ใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า” พระองค์ได้ประทับทีเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพมหานครในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับไปเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม พร้อมด้วยพระมารดา โดยไม่ได้เสด็จออกจากวังอีกเลย

พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงศิริราช ยามใดที่มีผู้ใกล้ชิดเข้าเฝ้าจะรับสั่งถึงงานโรงพยาบาลศิริราชเสมอ พระอาการดีขึ้นและแล้วก็ทรุดลง แพทย์ประจำพระองค์คือ ศาสตราจารย์ที พี โนเบิล และดับบลิว เอช เปอร์กินส์ ได้ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถแต่พระอาการก็ทรุดลงเรื่อย ๆ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ เวลา ๑๖.๔๕ น. พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา ๘ เดือน ๒๓ วัน หลังจากทรงทนทรมานอยู่ได้ ๓ เดือนครึ่ง มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๗๓

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา ๑๒ ปีนั้น ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ อีกทั้งได้ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในกาลต่อมา

ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
https://www.facebook.com/SEPSDevelopmentGoals/posts/745958689520894




 

Create Date : 24 กันยายน 2563   
Last Update : 24 กันยายน 2563 13:32:35 น.   
Counter : 3857 Pageviews.  

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กับการต่อสู้คอมมิวนิสต์สู่การเป็นข้าราชการและนักเรียนในพระองค์ - Optimise Mag

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กับการต่อสู้คอมมิวนิสต์สู่การเป็นข้าราชการและนักเรียนในพระองค์

ชีวิตที่เหนือความคาดหมายของเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและเหตุผลของความพอเพียงที่สังคมควรพิจารณาก่อนจะสายเกินการณ์

ธนกร จ๋วงพานิช
[ดร.สุเมธ ตันตเวช]

      “มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูดสรุปทุกอย่างที่ฉันคิด” คือพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้เปลี่ยนให้ช่วงเวลาแห่งการศึกษาที่ยาวนานที่สุดของดร.สุเมธ ไม่ใช่ชั้นมัธยมที่วชิราวุธวิทยาลัย ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกรอน็อบล์ หรือแม้กระทั่งปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยมงเปอลิเย ณ ประเทศฝรั่งเศส หากแต่เป็น 35 ปี แห่งการติดตามถวายงานพระมหากษัตริย์ผู้เคยได้รับการยกย่องว่าทรง ‘ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก’

     “ทุกครั้งที่กลับจากตามเสด็จฯ ต้องส่งรายงานและสรุปความคิด ส่งถวายขึ้นไปเป็นทางการ ถ้าบันทึกได้ถูกต้อง เข้าใจได้ถูกต้อง ก็รอดตัวไป เก็บเอกสารเป็นไบเบิลไว้ ถ้าผิดก็โดนเรียกเดี๋ยวนั้นเลย ทำไมคิดทำอย่างนี้ แล้วไปสรุปอย่างนั้น โดนแล้วโดนอย่างนี้ 35 ปีนะ” ‘ดอกเตอร์’ ผู้อาจได้ชื่อว่าคงสถานะนักเรียนยาวนานกว่าใคร กล่าวด้วยรอยยิ้มที่ระคนระหว่างความภูมิใจและหนาวใจของผู้ที่เคยต้องผ่านบททดสอบแสนยากและยาวนาน

     อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้ไม่ได้บ่งบอกถึงประสบการณ์พิเศษของดร.สุเมธ มากเท่ากับความยากและละเอียดอ่อนของพระราชกรณียกิจหรือ ‘งาน’ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ดร.สุเมธได้มีส่วนช่วยถวายการรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับราษฎรผู้ยากไร้ การหาทางบำรุงรักษาทรัพยากรที่กำลังปรับเปลี่ยนทรุดโทรม ตลอดจนการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่จะหล่อเลี้ยงประเทศชาติไปได้ไกลเกินกว่าช่วงเวลาเฉพาะหน้า…‘งาน’ ที่ล้วนไม่อาจหาบทสรุปถูกต้องได้ง่ายๆ

     ท่ามกลางความพยายามมุ่งหน้าเข้าหายุคสมัยที่เต็มไปด้วยข้อมูลและความเป็นไปได้ทางดิจิทัล บทสัมภาษณ์ดร.สุเมธ เกี่ยวกับเส้นทางชีวิตและ ‘งาน’ เหล่านี้ที่ยังไม่เสร็จสิ้น ชวนให้พิจารณาถึงประเด็นของดิน น้ำ และข้าวปลาอาหารแสนสามัญที่จะกำหนดความอยู่รอดของประเทศ หรือแม้กระทั่งโลก ในมิติที่ไม่สามารถทำได้แต่ด้วยกำลังของเทคโนโลยี

คอมมิวนิสต์คือ ‘สงครามต่อสู้ระหว่างคนมีกับ คนไม่มี’
ดังนั้น เราเอาอาวุธไปปราบ มันจะทำให้คนมีอะไรขึ้นมา ไม่มีผลเลย ตรงกันข้าม ผู้ก่อการร้ายตาย 1 คน ศัตรูเพิ่มอีก 4 คน เพราะครอบครัวยิ่งเข้าป่าตามกันไป ยิ่งปราบยิ่งโต


อาชีพพระราชทาน

     เป็นที่ทราบกันดีว่า ดร.สุเมธเคยให้สัมภาษณ์อย่างไม่หวั่นเกรงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองว่า “ผมเป็นอำมาตย์ 100%” ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงว่ามารดาของดร.สุเมธเป็นต้นเครื่องห้องอาหารไทยในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และดร.สุเมธเองก็ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาตลอดชีวิตการทำงาน กระนั้น เส้นทางการทำงานในฐานะข้าราชการของดร.สุเมธ ซึ่งเริ่มเมื่อเขากลับจากการศึกษาระดับปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส กลับห่างไกลจากคำว่า ‘ตั้งใจ’

     “แม่ผมเป็นหัวหน้าครัวหรือต้นเครื่อง ทำอาหารถวายอยู่ในวังสวนจิตรลดา ดังนั้นเมื่อแม่เข้าไปอยู่แล้ว เราก็เหมือนเด็กในบ้านของพระองค์ท่าน พอกลับจากเมืองนอกแม่จึงให้ไปกราบ จำได้ท่านทรงถามว่า ‘เรียนจบมาจะทำงานที่ไหน’ ก็ตอบท่านว่ากระทรวงต่างประเทศ ท่านฟังแล้วก็เฉยๆ พอดีช่วงนั้น มีเพื่อนอีกคนมาชวนว่าสภาพัฒน์ต้องการปริญญาเอกคนหนึ่ง เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสภาพัฒน์ทำงานอะไร แต่พอเราเห็นท่านนิ่งๆ ไม่รับสั่งอะไร ก็เลยกราบทูลต่อไปว่า มีคนเขาชวนไปอยู่สภาพัฒน์เหมือนกัน จากนั้นท่านหยุดเสวยเลย ทรงรับสั่งทันที บอกว่าสภาพัฒน์นี่ดี ดีแล้วไปอยู่ที่นี่ เสร็จแล้วท่านเรียกท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคมาบอกว่า พรุ่งนี้เช้าส่งสุเมธไปหาหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ (องคมนตรีและประธานกรรมการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในขณะนั้น) คือเราไม่มีสิทธิ์พูดอะไร ท่านปิดดีลให้เลย รุ่งเช้าเราก็ไปถาม เอ๊ะ สำนักงานนี้ทำอะไร ทำไมถึงเรียกว่าสภา มีส.ส.หรือเปล่าเพราะตอนนั้นเราเพิ่งกลับมาใหม่ๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราวบ้านเมือง มาคุยตอนนี้ดูดี แต่ความจริงไม่ใช่เลย ชีวิตเริ่มต้นอย่าง blind จริงๆ”

     ไม่เพียงแต่ดร.สุเมธซึ่งสำเร็จการศึกษามาทางรัฐศาสตร์จะพบว่าตัวเองต้องไปทำงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ซึ่งเกณฑ์การรับสมัครงานคือปริญญาทางเศรษฐศาสตร์ จนประสบข้อขัดข้องเรื่องวุฒิการศึกษาไม่ตรงทำให้ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างอยู่ถึง 8 เดือนเท่านั้น แม้ต่อมาเมื่อมีการตั้งส่วนงานที่ตรงกับวุฒิการศึกษาของดร.สุเมธ ส่วนงานนั้นก็กลับเป็นกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านความมั่นคง ซึ่งมีภารกิจ “รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจากการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์” หรือเรียกง่ายๆ ว่าการวางแผนรบกับผู้ก่อการร้าย ที่แทบจะตรงกันข้ามกับความฝันการเป็นนักการทูตของดร.สุเมธ

     “สรุปที่เรียนมาที่ฝรั่งเศสไม่ได้ใช้งานเลยแต่สิ่งที่ได้ใช้กลับเป็นความรู้ตอนที่ออกจากวชิราวุธฯ สมัยม.6 แล้วได้ทุนจากสถานทูตฝรั่งเศสไปเรียนเวียดนาม เพราะตอนนั้นเราได้เห็นสงครามการก่อการร้ายระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เห็นบ้านเมืองพังพินาศ ต่อมาพอเวียดนามรบหนักจนอยู่ไม่ได้ ต้องมาเรียนต่อที่ลาว ก็ได้เห็นความล่มสลายของอีกประเทศหนึ่งอีก พอได้เห็นอย่างนั้น เราเลยรู้ว่าไม่ใช่แล้ว เวียดกงพร้อมเมื่อไหร่เขาก็เอารถถังลุยเข้ามาชนประตูทำเนียบเข้าไปยึดได้เฉยๆ เลย ดังนั้นที่เราวางแผนตั้งรับอยู่เฉยๆ นี่ผิดแล้ว

     …พอดีกับได้ไปอ่านหนังสือของ Sir Robert Thompson เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่มาเลเซีย ก็ตรงกัน เพราะหนังสือบอกว่า การปราบปรามคอมมิวนิสต์ต้องตีตัวในไข่ อย่าให้ฟักออกมาเป็นตัว ฟักออกมาเป็นตัวเมื่อไร ตามไม่ทันเลย สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด แปดเป็นสิบหก เพราะฉะนั้นต้องตัดที่ต้นตอ สงครามเป็นสงครามจากกองโจร ป่าล้อมบ้าน บ้านล้อมเมือง เมืองล้อมนคร เรากลับวางแผนรับอยู่อย่างเดียว ต้องเปลี่ยน ไปรุกในสนามรบเลย นั่งรอไม่ได้ มันก่อหวอดที่ไหนล่ะ ก่อหวอดในชนบท ป่าล้อมบ้าน ก็ต้องไปซัดกันในป่านั่นแหละ”

     ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่วิชารัฐศาสตร์ไม่ได้เตรียมดร.สุเมธมาสำหรับการสู้รบ แต่ก็ได้ช่วยให้เขาเห็นสิ่งที่อยู่พ้นการสู้รบออกไป “อยู่ในป่าเราเห็นข้อผิดพลาดเลย เราใช้กำลังเข้าปราบเหมือนที่เวียดนาม ที่ลาว อเมริกันใช้กำลังเป็นอย่างเดียว วิธีแก้ไขที่ฉลาดกว่านั้นไม่มี อเมริกันเรียนกันมาแต่ว่า ‘Search and Destroy’ พฤติกรรมในประวัติศาสตร์ก็แสดงออกมาอย่างนั้น แต่วิธีนี้มันไม่สำเร็จ เราเรียนรัฐศาสตร์ซึ่งสอนทฤษฎีการเมือง มองเลยการใช้อาวุธรบไปจนถึงต้นตอของสงคราม หนังสือ Das Kapital (บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยนักปรัชญาสังคมนิยม คาร์ล มาร์กซ์) ของพวกคอมมิวนิสต์ เราก็เคยต้องอ่านในชั้นเรียน หนังสือ Das Kapital ประโยคเรียบง่าย สรุปทั้งหมดเลยว่าคอมมิวนิสต์คือ ‘สงครามต่อสู้ระหว่างคนมีกับคนไม่มี’ ดังนั้น เราเอาอาวุธไปปราบ มันจะทำให้คนมีอะไรขึ้นมา ไม่มีผลเลยตรงกันข้าม ผู้ก่อการร้ายตาย 1 คน ศัตรูเพิ่มอีก4 คน เพราะทั้งครอบครัวหรือเพื่อน ผู้ก่อการร้ายเลยยิ่งเข้าป่าตามกันไป ยิ่งปราบยิ่งโต

     …เราเลยเริ่มต่อสู้แบบใหม่ แต่การต่อสู้เที่ยวแรกไม่ได้สู้กับข้าศึก ต่อสู้กับพวกเดียวกันเอง เพื่อปรับความคิดให้เหมือนกันก่อนว่าศัตรูไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่มันเกิดจากคนมีกับคนไม่มี ในพื้นที่สีแดงที่โจรก่อการร้ายครอบครองอยู่ เขาไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เขาบุกรุกป่าอยู่ เดี๋ยวตำรวจก็มาจับ เดี๋ยวทหารก็เข้ามาตี เพราะฉะนั้น เขาไม่มีอะไรให้รัก ยิ่งแถวชายแดนบางคนไม่มีกระทั่งสัญชาติ เป็นลาวหรือไทยก็ไม่รู้ เป็นเขมรหรือไทยก็ไม่รู้ อยู่ชายแดน ข้ามไปข้ามมา มันก็ไม่มีอาชีพ ไม่มีอะไรสักอย่าง เพราะฉะนั้น คนไม่มีจะให้เขาคิดอะไรครบๆ มันยาก เขาก็ไขว่คว้าทุกอย่างที่มาเสนอ ใครมาสร้างความหวังอะไรก็กระโดดเข้าใส่ มีคนมาบอกว่ายามเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทุกคนจะได้รับการแบ่งสรรที่ดิน เขาก็มีความหวังมากมายไปหมด เพราะไม่มีคนบอกต่อว่าพอได้เป็นเจ้าของแล้ว เขายังจะต้องทำส่งใครอีก”

เราถนัดแต่เรื่องรูปฟอร์ม ชอบรำมวย มีศาสนาพุทธ
ก็รู้ แต่กราบพระต้องเบญจางคประดิษฐ์ ฟังพระสวดต้องพนมมือ แต่ธรรมะมีอะไรบ้าง ไม่รู้ไม่ใส่ใจ คิดแต่เรื่อง รูปฟอร์ม เรื่องระเบียบ เรื่องท่ารำต้องสวย กว่าจะลงถึงแก่นสารได้ก็วกวน ปิงวังยมน่านกันอยู่นั่น


เข้าป่า

     สำหรับดร.สุเมธ การต่อสู้กับพวกเดียวกันที่ว่าดูเหมือนจะเริ่มด้วยการไป ‘เคาะประตู’ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น เพื่อบอกความเห็นส่วนตัวว่าแนวทางการรับมือกับสงครามการก่อการร้ายกำลังดำเนินไปโดยผิดทิศทาง

     “เรามันแค่ข้าราชการชั้นโทเท่านั้น ไม่ได้เป็นหัวหน้ากอง เป็นแค่ลูกน้องธรรมดา ไปบอกหัวหน้ากอง เขาก็ไม่เล่นกับเราด้วย แต่อาศัยที่ไปอยู่เมืองนอกนาน พอเราอึดอัดมากๆ เข้า เราก็ไม่เกรงใจใคร เดินไปเคาะประตูหาคุณสิทธิเลย และบอก ท่านครับ ทำอย่างนี้ผมเห็นสองประเทศแตกคาตาเลย เราต้องเข้าไปตีก่อน ตั้งรับไม่ได้ แล้วใช้อาวุธอย่างเดียวไม่มีทางจบ เราต้องลงไปเปลี่ยนสภาพคนไม่มีให้มี เราถึงจะชนะได้ คุณสิทธิฟังปั๊บท่านก็เห็นด้วย และพาเราไปหานายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คืออาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร อาจารย์ธานินทร์ท่านไม่ชอบคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว พอเสนอปั๊บท่านรับทั้งแผนเลย แล้วถามว่าใครจะทำ เราบอก ถ้าไม่มีใครทำผมรับเอง แต่ขอให้ท่านสนับสนุนเรื่องอำนาจกับเงิน

     …อำนาจ คือให้เรามีอำนาจใช้ในการทำงานได้ เพราะพวกผู้ก่อการร้ายประชุมเดี๋ยวนี้ คืนนี้มันก็เล่นแล้ว ถ้าเรามัวแต่รบกันแบบขั้นตอนราชการมันไม่ทันการณ์ ดังนั้นเราขอให้ตั้งเราเป็นเลขาฯ แม่ทัพทั้ง 4 ภาค (เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพภาค) เพื่ออาศัยอำนาจแม่ทัพ เพราะแม่ทัพตอนนั้นใหญ่มาก คุมทุกจังหวัด ส่วนเงิน เราขอ 20-30 ล้าน แต่มีเงื่อนไขคือให้เป็น Floating Fund หมายความว่าใช้ได้ทันที ไม่ต้องตั้งงบประมาณข้ามปี พอได้อย่างนี้ แม่ทัพภาคเป็นประธาน เราเป็นเลขาฯ เราเข้าไปดูในพื้นที่และกำหนดเป้าหมาย กำหนดโครงการ เสร็จแล้วแม่ทัพเซ็นปั้ง ส่งเข้านายกฯ นายกฯ เซ็นปั้ง เอาเงินไปทำได้เลย”

     การตอบรับภารกิจของดร.สุเมธในวันนั้น เรียกได้ว่าเป็นการก้าวออกจากสายงานการทูตหรือแม้กระทั่งงานฝ่ายบุ๋นอื่นๆ ของสภาพัฒน์อย่างเป็นทางการ เพราะหมายถึงการต้องถูกบรรจุเป็นกำลังพลของกองอำนวยการรักษาความมั่่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยแม้แนวทางการรับมือกับคอมมิวนิสต์ของดร.สุเมธจะไม่เน้นการใช้อาวุธ แต่ก็ไม่อาจหนีพ้นการลงพื้นที่สู้รบเพื่อทำความเข้าใจกับ ‘ศัตรู’ หรือปัญหาความยากไร้ในท้องถิ่น และความหลงผิดของประชาชนกลุ่มหนึ่ง

     “ลุยบ้าเลือดเลยเหนือจรดใต้ ไปกับลูกน้องกลุ่มหนึ่ง นอนกลางดิน กอดปืนแล้วฟังเสียงปืนทั้งคืน บางทีถูกล้อม ถูกยิงเฮลิคอปเตอร์ตก เฉียดกับระเบิด เหตุการณ์ประจำวันเลย ไม่เคยนึกเลยชีวิต จากที่เคยหวังจะอยู่โก้ๆ หรูๆ ไปเป็นทูต เป็นอะไร โถ---ตอนนั้นเวลานอนรองเท้ายังถอดไม่ได้เลย เพราะจะต้องออกวิ่งเมื่อไรก็ไม่รู้

     …แต่สิ่งที่เราทำก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เริ่มจากคำว่ามี-ไม่มี เข้าไปที่ไหน เขาไม่มีที่ดิน ก็ทำโครงการจัดสรรที่ดิน เขาไม่มีอาชีพก็หาอาชีพให้เขา เขาไม่มีสัญชาติ ก็จัดการให้เขามีสัญชาติ ทีนี้พอเขามีเงิน มีสมบัติแล้ว เขาก็ลุกขึ้นมาจับปืนปกป้องสมบัติเขาเอง ถือเป็นการดับไฟใต้ต้นตอเลย ใช้เวลา 11 ปี วาง 14-15 โครงการทั่วประเทศ สิ่งที่ชี้ชัดถึงความสำเร็จคือวันที่ผู้ก่อการร้ายกลับใจ 90% มามอบตัวในโครงการ ไม่ได้มอบตัวกับหน่วยงานเลย”

เราชอบ ‘ได้ยิน’ พระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคย ‘ฟัง’ เลย ท่านเสด็จออก คนมืดฟ้ามัวดิน แต่เสร็จพิธีแล้ว เมื่อกี้ท่านรับสั่งอะไรบ้าง ไม่รู้ เพราะไม่ได้ฟัง ปลื้มแต่พระสุรเสียงที่ส่งออกมา ‘ชอบได้ยิน แต่ไม่เคยฟัง ชอบเห็น แต่ไม่เคยมอง’ นี่คือจุดอ่อน


กลับเข้าวัง

     อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โชคชะตาส่งดร.สุเมธให้ห่างไกลออกจากอาชีพที่คาดหวัง ทางหนึ่งก็กลับหนุนนำให้เขาเคลื่อนเข้าใกล้สิ่งที่จะกลายมาเป็น ‘ภารกิจของชีวิต’ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะภายหลังเสร็จศึกคอมมิวนิสต์ 11 ปี หนึ่งใน 4แม่ทัพที่ดร.สุเมธถืออำนาจเลขานุการทำงานในพื้นที่ กล่าวคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีนโยบายจัดตั้ง ‘คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)’ เพื่อเป็นหน่วยงานช่วยขับเคลื่อนโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยด้วยความที่ได้ทราบและประทับใจกับบุคลิกและวิธีการทำงานของดร. สุเมธมาตั้งแต่สมัยลงพื้นที่ พลเอกเปรมจึงแต่งตั้งดร.สุเมธขึ้นเป็นเลขาธิการคนแรกของกปร. ก่อนที่จะตามมาด้วยตำแหน่งเลขามูลนิธิชัยพัฒนาในปี 2531 ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าภารกิจของกปร.ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหน่วยงานราชการที่สนองพระราชดำริ “ดำเนินการอย่างเอกเทศในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ โดยไม่มีการประสานงานกับหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” หรือวัตถุประสงค์ของมูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งมีขึ้น “เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที” ก็เรียกว่าสอดคล้องกับเนื้อหางานของการพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ของดร.สุเมธในช่วงก่อนหน้า ซึ่งบ่อยครั้งคือการประสานและอุดช่องโหว่อันเกิดจากระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ยังไม่สมบูรณ์นั่นเอง

     “แนวทางเหมือนกัน คือทำงานแบบรุกเข้าไปแทนที่จะตั้งรับ สิ่งนี้ฝืนลักษณะของไทยเลย สังคมไทยชอบตั้งรับ ชอบแก้ปัญหา แต่ไม่ชอบป้องกันปัญหา ที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ก็เพราะเราไม่ได้ไปป้องกันที่ต้นตอ ปัญหาจึงไม่รู้จบ เรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องอะไรๆ วนเวียนกันไป แล้วระบบการดูแลประชาชนของเรายังไม่ทันท่วงที ช้า มีขั้นตอน เสร็จจากกระทรวงนี้ก็ไปอีกกระทรวงหนึ่ง มีไอเดียขึ้นมา กว่าจะได้เม็ดเงินมาทำงาน มันมีระยะเวลาเดินทางนาน อันนี้คือ ‘ไม่ทัน’ ประการที่หนึ่ง

     …ประการที่สองคือ ‘ไม่ถูก’ เราไม่เข้าใจปัญหาว่าต้นตอมาจากไหน ก็มะงุมมะงาหราไปคอยดับไฟอยู่ปลาย าง ปัญหาก็ไม่มีวันสิ้นสุด อย่างตอนนั้นพยายามแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ด้วยอาวุธปืน ก็เรียกว่าให้ยาผิด อย่างตอนนี้ก็ผิดอีก เห็นคนจนก็แจก มันไม่ใช่ ต้องดูต้นตอว่าเขาจนเพราะอะไร ขาดทรัพยากรธรรมชาติหรือเปล่า จัดการสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้หรือเปล่า ไม่ใช่แก้แบบง่ายๆ ไม่มีอะไรก็แจกให้เขา จนสุดท้ายเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราต้องให้เขาร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเขาเอง ให้แต่ของที่เป็นพื้นฐาน ตั้งแต่ทำงานมา การให้เป็นเรื่องมาทีหลังลิบลับเลย

     ...พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกว่าพวกเรา ‘ติดอยู่แค่เปลือกไม่ลงถึงแก่น’ คนไทยบ้าที่สุดเลย ประชุมเป็นชั่วโมงๆ บางทีไม่มีข้อสรุป ค้างเติ่งเอาไว้คุยคราวหน้าต่อ เสร็จแล้วก็ตั้งอนุกรรมการ ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 5 ชุด ถ้าคุยกันด้วยแก่นไม่ต้องประชุมกันนานหรอก แต่นี่เราถนัดแต่เรื่องรูปฟอร์ม ชอบรำมวย มีศาสนาพุทธก็รู้แต่กราบพระต้องเบญจางคประดิษฐ์ ฟังพระสวดต้องพนมมือ งานอย่างนี้ต้องพระ 5 องค์ งานนี้ต้อง 9 องค์ งานนี้ต้อง 7 องค์ ถ้า 4 องค์สวดศพ แต่ธรรมะมีอะไรบ้าง ไม่รู้ไม่ใส่ใจ คิดแต่เรื่องรูปฟอร์ม เรื่องระเบียบ เรื่องท่ารำต้องสวย กว่าจะลงถึงแก่นสารได้ก็วกวน ปิงวังยมน่าน กันอยู่นั่น ผมว่ามันเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย”

พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงรักษาดิน รักษาน้ำ เพราะนี่คือปัจจัยของชีวิตเรา คนวงการการเงินรู้ดีอยู่แล้ว เราต้องมีทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์ เงินถึงจะมีค่า แต่วันใดที่สิ่งเหล่านี้พังหมด เงินเป็นกระดาษเลย ประเทศรอบๆ เราพกเงินกันเป็นปึกๆ ใกล้เป็นกระดาษเต็มทีแล้ว


นักเรียนในพระองค์

     ขณะนี้ดร.สุเมธในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอดีตเลขาธิการกปร. ตลอดจนผู้แต่งหนังสือเรื่อง ‘ใต้เบื้องพระยุคลบาท’ ‘หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท’ ‘ข้าแผ่นดินสอนลูก’ อาจเป็นที่รู้จักในฐานะเสาหลักด้านการเผยแพร่หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่หากย้อนกลับไปในสมัยเริ่มงานที่กปร. ดร.สุเมธรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีความรู้ใดๆ ที่จะถวายงาน ถึงขนาดได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไปตรงๆ เช่นนั้น โดยไม่ทราบว่าคำกราบบังคมทูลนั้นเองจะนำมาซึ่งโอกาสพิเศษอย่างหาที่เปรียบมิได้

     “เรากราบบังคมทูลพระองค์ท่านเลยว่าข้าพระพุทธเจ้าเรียนรัฐศาสตร์การทูต ไม่รู้เรื่องดินเรื่องน้ำอะไรเลย พระองค์ก็ตรัสว่า ‘แค่นั้นหรือ ฉันทำใหม่ๆ ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่เป็นไรหรอก ฉันสอนเอง’ จากจุดนั้นทำให้เราต่างจากคนอื่นเลย คนอื่นเขาเดินตามถวายงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากกรมชลฯ เขาก็ถวายความชำนาญเรื่องน้ำ แนะเรื่องน้ำอย่างนั้นอย่างนี้ พอเสร็จเรื่องน้ำเขาก็ถอยกลับ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมพัฒนาที่ดินเข้ามา เขาก็ถวายเรื่องดิน มีดินชุดนั้นชุดนี้เหมาะกับการปลูกพืชชนิดนั้นชนิดนี้ เสร็จแล้วก็ถอย แต่เราต้องอยู่ตลอด ต้องรู้ทุกอย่าง เพราะพระองค์ทรงสอน เดี๋ยวก็รับสั่งเรียก อ้าว---อยู่ไหน เรียกมาสอนนี่ๆ เป็นอย่างนี้ๆ รู้สึกดีใจมากที่วันนั้นกราบบังคมทูลไปอย่างนั้น

     …วันก่อนเพิ่งไปบรรยายให้พวกครูฟัง บอกพระองค์ท่านสอน 3 วิธี ท่านบอกอย่าไปยืนไกล มาอยู่ใกล้ๆ แล้ว ‘มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด’ นึกว่ายากแต่จริงๆ ไม่ยาก ‘มองทุกอย่างที่ฉันทำ’ แปลว่าไม่ได้แค่เห็น ให้ดู มองแล้วแปลความหมายให้ได้ ทรงทำทำไม ทรงทำอย่างนี้เพื่อใคร โยงเข้าปัญหายังไง ต้องตีให้แตก มองทุกอย่างที่ฉันทำ คือท่านสอนปัจจุบัน

     …‘จดทุกอย่างที่ฉันพูด’ คือท่านสอนอดีต ต้องจำให้ได้ อย่าไปลืมอดีต จดหมดทุกอย่าง มันจะเป็นหลักฐาน สิ่งที่เราบันทึกไว้นั้นจะเป็นบทเรียนเพื่อให้คนปัจจุบันได้เรียนด้วย

     …‘สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด’ คือท่านให้เราคิดไปสู่อนาคต ทีแรกเราก็ ตายละ---จะไปรู้ได้ไงว่าท่านคิดยังไง แต่เปล่า ท่านคิดดังๆ เราแค่ต้องจับความให้ได้เท่านั้น นี่นะ ตรงนี้ เขาขอมาอย่างนี้นะ ฉันให้อย่างนี้นะ ประโยชน์ได้อย่างนี้ คอยดูนะพอได้สิ่งนี้ไป อีกสามปี ห้าปี มันจะเป็นอย่างนี้นะ มีเป้าหมายที่คิดไปสู่อนาคต ไม่ได้คิดแต่ปัจจุบัน ไม่ใช่ของสิ่งนี้หมดไปแล้วก็จบ ต้องมองไปถึงอนาคตด้วย

     …สุดยอดเลย ‘มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด’ ทำอย่างนี้มา 35 ปี อัดเข้าไปๆ ให้โง่ยังไงก็ต้องเข้าใจ เราเรียนปริญญาตรีสี่ปี ปริญญาโทก็ปีกว่า ปริญญาเอกก็สองสามปี แต่เรียนอย่างนี้35 ปีแล้วก็ยังไม่จบ กระบวนการไม่หยุด ทุกครั้งที่กลับจากตามเสด็จฯ ต้องส่งรายงานสรุปความคิด ส่งถวายขึ้นไปเป็นทางการ ไม่ใช่ท่านบอกให้จดแล้วก็ไม่ได้ตรวจนะ ท่านตรวจ ถ้าบันทึกได้ถูกต้อง เข้าใจได้ถูกต้อง ก็รอดตัวไป เก็บเอกสารเป็นไบเบิลไว้ ถ้าผิดก็โดนเรียกเดี๋ยวนั้นเลย ทำไมฉันทำอย่างนี้ แล้วไปสรุปอย่างนั้น โดน---แล้วโดนยังนี้ 35 ปีนะ ถูกสอบ quiz ตลอดเลย แล้ว ‘ขาดทุนคือกำไร’ ถ้าเราเกิดจดผิดหรือเข้าใจผิด ได้กำไรเลย เพราะท่านจะเรียกมาติวเพิ่ม ถูกดุจริง แต่ท่านไม่ได้ดุเฉยๆ ดุเสร็จแล้วท่านก็จะสอนอีกครั้ง ดีกว่ารอบแรกอีก รอบแรกอาจจะแค่รับรู้รับทราบ แต่รอบสองเราจะได้อะไรเพิ่มขึ้นมา”

     อาจเป็นเพราะดร.สุเมธถูกเคี่ยวกรำเป็นพิเศษเช่นนี้ เขาจึงรู้ว่าคนไทยยังสามารถเรียนรู้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ “ไม่มอง คือคนไทยชอบ ‘เห็น’ พระเจ้าอยู่หัว เห็นแล้วดีใจ ประทับใจน้ำหูน้ำตาไหล แต่ไม่เคย ‘มอง’ พระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นเลยไม่เข้าใจว่าเราควรต้องทำอะไร เหมือนเราเป็นชาวพุทธ เจอพระพุทธก็กราบ เจอพระสงฆ์เดินผ่านมากราบ พอพระสวดก็พนมมือ แต่ไม่รู้เรื่อง เหมือนกัน เราชอบ ‘ได้ยิน’ พระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคย ‘ฟัง’ เลย ท่านเสด็จออก คนมืดฟ้ามัวดิน แต่เสร็จพิธีแล้ว เมื่อกี้ท่านรับสั่งอะไรบ้าง ไม่รู้ เพราะไม่ได้ฟัง ปลื้มแต่พระสุรเสียงที่ส่งออกมา ‘ชอบได้ยิน แต่ไม่เคยฟัง ชอบเห็น แต่ไม่เคยมอง’ นี่คือจุดอ่อน

     …ยกตัวอย่างตอนที่ท่านเสด็จออกมหาสมาคม คนมามืดฟ้ามัวดิน คนที่ไม่มาก็นั่งฟังโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน ท่านรับสั่งอยู่นาทีครึ่ง แต่ไม่ว่าใคร ระดับไหน จำไม่ได้ จำไม่ได้เพราะใจไม่ได้จับอยู่กับความหมายที่ท่านรับสั่ง ท่านเตือนอยู่ 4 ประโยค 4 เรื่อง ตอนนั้นยังไม่ทะเลาะกันนะ ยังไม่แบ่งแยก แต่เหมือนท่านทรงมองเห็นข้างหน้า หลักใหญ่ใจความก็คือท่านทรงสอนให้ตั้งสติในการฟังเหตุฟังผลของกันและกัน ถ้าเขาพูดมีเหตุมีผลแล้วก็ต้องยอม ยอมเสร็จเราก็ต้องเปลี่ยนความคิดของเรา มันจะได้ลงมือทำงาน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยฉันก็จะไม่ร่วมด้วย มันก็พัลวันกันไปหมด คิดดูสิท่านทรงสอนง่ายๆ แต่ว่าไม่มีการปฏิบัติอะไรเลย

     …แต่สังเกตว่าหลังวันที่ 13 ตุลาคม มีการเชิญผมไปพูดมากขึ้น 5 เท่า หมายความว่าอะไร หมายความว่าตอนที่ท่านอยู่ไม่มีใครฟัง แต่พอสิ้นท่านแล้ว เริ่มสนใจ อยากจะฟัง เพราะฉะนั้น ใครโศกเศร้ากระวนกระวาย ฟูมฟาย เราบอกยุติเถอะ เช็ดน้ำตาให้แห้ง ไม่มีศาสดาใดอยู่กับเราเลยสักองค์หนึ่ง พระพุทธเจ้าจากไป 2560 ปีแล้ว พระเยซูจากไป 2017 ปีแล้ว พระมูฮัมหมัดก็จากไปเป็นพันปีแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเหมือนกันแต่พระองค์จะทรงอยู่กับเราผ่านคำสอนทั้งหลายทั้งปวง พระรูปก็ยังอยู่ เหลียวไปที่ไหนก็เจอหมด เป็นหน้าที่ของเราที่เหลียวกลับมาดูธรรมะที่ท่านสอนแล้วเริ่มปฏิบัติ”

     ยิ่งกว่านั้น การที่ทุกคนลงมือปฏิบัติ ยังจะเป็นส่วนช่วยให้คำสอนของพระองค์เผยแพร่ไปได้ในมิติที่ลึกกว่าภาพยนตร์หรือสารคดีเฉลิมพระเกียรติจะถ่ายทอดได้ “ความสำเร็จที่ดีที่สุดไม่ใช่โครงการของมูลนิธิ แต่เป็นโครงการของชาวบ้าน ชาวบ้านที่ปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์แล้วน้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง ร่ำรวยปลดหนี้ปลดสินได้หมด ทุกวันนี้มีโครงการอย่างนี้ทั่วประเทศไทยไปหมด อย่างตอนน้ำแล้ง เราส่งคนไปสำรวจ สำรวจไม่ได้หมด แต่รู้ว่ามีอย่างน้อย 900 แห่งที่น้ำไม่แล้ง ในขณะที่รอบๆ ตัวเขามันแล้งหมด นี่คือความสำเร็จ แล้วความสำเร็จนี้จะทำให้เพื่อนของเขาริเริ่มทำตามต่อไป เวลามูลนิธิไปพูดเขาอาจจะฟังน้อย อาจารย์สุเมธพูดแนะอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวเองทำบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเพื่อนเขาเองทำ เพื่อนที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน เขาก็ต้องเชื่อ เราดูบรรยากาศทั่วไปเหมือนคนยังไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์ท่าน แต่ความจริงคือมันเริ่มเกิดความสำเร็จเป็นหย่อมๆ ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งมันจะเชื่อมต่อ และแผ่ขยายขึ้นมาได้”


สถานการณ์ที่บีบคั้น

     ความเป็นห่วงของดร.สุเมธคือระหว่างที่เรากำลังรอความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ค่อยๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าในระดับจุลภาค กล่าวคือการดำเนินชีวิตภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนแต่ละคน หรือในระดับมหภาค กล่าวคือนโยบายของรัฐที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความไม่พอเพียงและความไม่ยั่งยืนเท่าที่เป็นอยู่อาจบั่นทอนโลกไปจนถึงจุดที่ยากจะแก้ไขอะไรได้ “พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงรักษาดิน รักษาน้ำ เพราะนี่คือปัจจัยของชีวิตเรา เราเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเงิน เห็นเป็นของสมมติ แต่ไม่ดูของจริง ของสมมติมันไม่มีราคา คนวงการการเงินรู้ดีอยู่แล้ว เราต้องมีทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์ เงินถึงจะมีค่า แต่วันใดที่สิ่งเหล่านี้พังหมด เงินเป็นกระดาษเลย ประเทศรอบๆ เราพกเงินกันเป็นปึกๆ ใกล้เป็นกระดาษเต็มทีแล้ว สิ่งที่รู้สึกคือ เป็นห่วงลูกหลาน ไม่ต้องลูกหลานคนอื่นเอาลูกหลานตัวเองนี่แหละ เขาจะอยู่ได้ยังไง ถ้าเขาทำลายสิ่งเหล่านี้ จึงต้องคอยอบรม เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ ชี้อันตรายให้เห็น ทุกคนต้องหาเงิน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าของสมมติ จะมีค่าก็ต่อเมื่อเรารักษาดิน น้ำ ลม ไฟ เอาไว้ได้ถ้าไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ เงินก็จะไม่มีค่าขึ้นมา

     …ต้องสอนกันต่อไปเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง UN ก็ประกาศเหมือนกัน ใช้คำว่า Sustainable Development Goals แต่ปัญหาคือบางทีคนเรารู้ตัว แต่ว่ายังเอาชนะกิเลสไม่ได้ อัล กอร์ยกอุปมาอุปไมยเปรียบว่าบนตาชั่งมีโลกอยู่ข้างหนึ่ง กับมีทองคำอยู่ข้างหนึ่ง ข้างใต้เป็นน้ำ ให้เราเลือกว่าอยากหยิบข้างไหน ถ้าทุกคนอยากรวย หยิบเอาทอง หยิบกันคนละก้อนสองก้อน โลกก็จะลดต่ำลงเรื่อยๆ จนผลสุดท้ายโลกทั้งโลกจมน้ำ ทีนี้เรากอดทองไว้ แล้วเรารอดไหม โลกจมน้ำ เราก็ตายกันหมด ทองก็กลายเป็นแร่ธาตุ กลับคืนสู่ธรรมชาติ ความจริงมันเป็นธรรมะง่ายๆ นะ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เพราะฉะนั้นต้องพยายามสอน

     …นี่ไม่ใช่เพราะผมมาถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หรือมีตำแหน่งอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ภารกิจมนุษยธรรมคือเราต้องรักษาและส่งต่อทุกอย่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ลูกหลานเราต่อ เราจะใช้น้ำให้หมดถึงขนาดลูกหลานอดอยากหรือ หมายังรักลูกของมันเลย เราจะส่งต่อแม่น้ำที่เน่าทั้งสายให้ลูกเราหรือ ส่งภูเขาที่ไม่มีต้นไม้สักต้นให้ลูกเราหรือ แล้วเขาจะเอาอะไรกิน ทั่วโลกเข้าไปสู่ช่วงสุดท้ายแห่งมรณภพแล้ว ตัวเลขชี้ให้เห็นชัดเจน ปลาน้อยลง ทุกอย่างน้อยลง มนุษย์เราบริโภคทุกอย่าง บริโภคเสร็จแล้วก็ถ่ายออกมา ต่อให้วันนี้ทุกคนหยุด ทุกคนหันมาพอเพียงหมด โลกก็รับไม่ไหว ขั้วโลกกำลังละลาย แผ่นดินก็ลดน้อยลงไปอีก เวลานี้ทุกประเทศกำลังเริ่มศึกษาดู สาหร่ายกินได้ไหม เริ่มเปลี่ยนชีวิตจากมนุษย์บกมาเป็นมนุษย์น้ำ เพราะกินบนบกจนเหี้ยนหมดแล้ว ที่พูดทั้งหมดนี่ ผมไม่ได้ปรุงแต่ง ไม่ได้พูดอะไรที่อุดมการณ์ เอาข้อเท็จจริงมาให้เห็นกันเท่านั้นเอง

     …เราก็ได้แต่ทำดีที่สุด อย่าเร่ง อย่าไปโง่ถึงขนาดฆ่าตัวตายให้เร็วขึ้นอีก ชะลอไปเท่าที่ทำได้ เผื่อแผ่ไปถึงลูกหลานเท่าที่จะเหลือ คงทำได้แค่นั้น เอาจริงๆ ธรรมชาติก็เตือนเราหมดแล้วนะ เตือนด้วยน้ำ ด้วยสึนามิ ด้วยพายุ ด้วยแผ่นดินไหว เตือนหมดแล้ว แต่มนุษย์ก็ยังทำเสมือนกับว่าขอรวยก่อนแล้วก็ลงโลงกันไป เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง”

คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง พอมีการเปลี่ยนแปลง จะดิ้นรน แต่ลองดูสิ ถ้าเขาได้เปลี่ยนจนกระทั่งได้ลิ้มชิมรสอะไรเขาก็จะยอมรับ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงมันต้อง ต่อเนื่อง เราอย่าไปนึกว่าปีสองปี มันจะเสร็จ


วินัยคือทางออก

     เนื่องจากเดิมพันความอยู่รอดของมนุษยชาติเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากการพยายามปลูกฝังให้คนมีสำนึกแล้ว เราจึงถามถึงทางอื่นที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้มนุษย์ปรับพฤติกรรมได้มากและเร็วยิ่งขึ้น สำหรับดร.สุเมธ เขาคิดว่าคำตอบอยู่ที่คำว่า ‘วินัย’ “จุดอ่อนในสังคมไทยคือไม่มีระเบียบวินัย ไม่เคยถูกฝึก แม้กระทั่งโรงเรียนเดี๋ยวนี้ก็เน้นปล่อยเสรีภาพให้เด็ก เรื่องระเบียบ เรื่องยืนตรง มันเต่าล้านปีแล้ว แต่เราสมัยอยู่วชิราวุธฯ เคยโดนตบมา เคยโดนอบรมให้มีระเบียบวินัย ซึ่งภายหลังเป็นสิ่งที่ช่วยเราเยอะ พอเรามีวินัย ผู้ใต้บังคับบัญชาเขาก็มีต่อเนื่องกันไป เดี๋ยวนี้เวลาไปบรรยาย เห็นชัดเลย ถ้าไปโรงเรียนสมัยเก่า เช่น ราชินีฯ วชิราวุธฯ เด็กนั่งเงียบเป็นระเบียบ ถ้าไปโรงเรียนสมัยใหม่ ครูต้องเดินตามเตือนเด็กเลย เด็กไม่ฟัง ประชาธิปไตยต้องการอิสระ มันก็เป็นอย่างนี้ เราก็คิดว่าตัวเราเรียนจบมาแบบสมัยใหม่นะ เราเรียนอยู่เมืองนอก อยู่ในประเทศที่มันอิสระที่สุด ประชาธิปไตยที่สุดอย่างฝรั่งเศส แต่เราว่าไม่ใช่ ยังไง Law and Order ต้องมี ของเขาก็ดี

     …หลังจากไปมาหลายประเทศทั้งที่ที่ลำบากและที่ที่เจริญ เลยสรุปได้ว่าประเทศไหนอยู่สบายมันอ่อนแอ เพราะคนไม่ต้องสู้ พอเคยสบายมา ก็ไม่สบายไม่เป็นแล้ว ใช้ความรู้สึกนำ มันเคยตัว แต่ประเทศที่เขาลำบาก เขาเคยผ่านการต่อสู้ เคยเป็นเมืองขึ้น พอเขาได้รับอิสรภาพ เขาจะมีแรงกระตุ้นให้รู้สึกว่า เอาให้รอดนะ ไม่งั้นสภาพเดิมจะกลับมาอีก เขาจึงสู้เอาให้รอดเลยแล้วก็มีปมด้อยในตัวว่าต่อไปนี้ไม่ยอมอีกแล้วความจริงเราก็สู้อยู่ช่วงหนึ่งตอนสงครามคอมมิวนิสต์สิบปี แต่ก็ถือว่าเราแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตอนนั้นโอ้โห---สามัคคีกัน พอมีภัยมา ทุกคนรวมตัวกันหมด ทุกวันนี้เหมือนกัน พอเกิดน้ำท่วม ไฟไหม้ คนไทยบริจาคกันสามัคคี แต่หมดวิกฤตเมื่อไร ยามสงบจงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ คือสงบปุ๊บก็พร้อมรบกันเอง มันเป็นเสียอย่างนั้น

     …ดังนั้นพอเป็นอย่างนี้ เรื่องจะให้คนอยู่ในเหตุในผล ในความพอดี ผมว่าต้องมีมาตรการอย่างอื่นเข้ามา เช่น เดี๋ยวนี้มีกฎ IOD ออกมา มีกฏตลาดหลักทรัพย์ออกมา คนจะใช้ข้อมูลภายในเซ็งลี้หุ้นไม่ได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้ามีนโยบายของรัฐออกมาได้ ในที่สุดคนจะต้องเดินตาม ผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องบังคับ บังคับโดยสภาพแวดล้อม ทุกคนมักจะบอกว่าการศึกษาสำคัญ แต่เราอย่าดูว่าการศึกษาคือสิ่งที่อยู่ในโรงเรียน มันอยู่ทุกที่เลย ทำไมญี่ปุ่นมีวินัย แน่นอนที่โรงเรียนเขาก็มีจัดแถว มีอะไรต่ออะไรนะ แต่ในบ้านเขาก็มี ในส่วนอื่นๆ ของสังคมเขาก็มี มันทำให้บรรยากาศโดยรวมของเขามีวินัย เราจะบรรยายเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแค่ไหน แต่คนเราไม่ดีขึ้นมาเพราะฟังคำพูดเพียงชั่วโมงสองชั่วโมงได้หรอก ให้ผู้วิเศษมาบรรยายยังไงก็ไม่ได้ ทางเดียวที่ได้ผลคือออกนอกชั้นเรียนไปแล้ว เขาต้องออกไปอยู่ในบรรยากาศที่ถ้าทำเลวปั๊บ สายตาทุกสายตาจะจ้องจับไปที่เขา จะต้องถูกเบรคจากสังคม

     …ถ้าจะใช้คำอย่างรัฐบาลชุดนี้ก็คือต้อง ‘ปฏิรูป’ ปฏิรูปคือ ‘รูป’ มันเป็นยังไงต้องเปลี่ยนให้หมด แปลตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละ เช่น ถ้าอะไรมันเสียแต่เปลี่ยนนิดหน่อยมันก็ยังไม่มีผล จะเปลี่ยนคนเป็นมะเร็ง มันต้องผ่าตัดเสียเลือดเสียเนื้อกัน ยอมเสียอวัยวะ ยอมเปลี่ยน แต่นโยบายการเมืองที่ผ่านๆ มา อยากได้การสนับสนุนจากประชาชนอย่างเดียว อะไรประชาชนพอใจก็ทำ แต่พอสนองความอยากอย่างนี้ ความอ่อนแอก็เกิดขึ้น เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ว่าเราอยากได้อะไรแล้วจะได้ ตรงกันข้าม งานอะไรซึ่งสำคัญต่อส่วนรวม สำคัญต่อเป้าหมายของประเทศชาติ รัฐบาลจะไม่กล้าแตะ เพราะรู้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะไม่พอใจ

     …คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง พอมีการเปลี่ยนแปลง จะดิ้นรนต่อต้าน แต่ลองดูสิ ถ้าเขาได้เปลี่ยนจนกระทั่งได้ลิ้มชิมรสอะไรเขาก็จะยอมรับในที่สุด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงมันต้องต่อเนื่อง เราอย่าไปนึกว่าปีสองปี มันจะเสร็จ มันจะเปลี่ยนแปลงได้ ประเทศที่เขาทำสำเร็จ เขาใช้เวลากี่ปี ประเทศที่เห็นกับตาเลยคือสิงคโปร์ ขอทบทวนว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงคโปร์ยังไม่เป็นประเทศเลย วันนี้เขาไปไหนก็ไม่รู้ Top 5 ของโลก เกาหลีก็เหมือนกัน หลังสงครามเกาหลีเขามีสภาพยิ่งกว่าเราหลายเท่า บ้านเมืองถูกทำลาย ยากจน แต่ตอนนี้เขาหลุดแล้ว เขาไประดับโลกแล้ว”

กรอบของการขัดเกลา

     ในยุคสมัยแห่งเสรีภาพ แนวคิดของกรอบกฏเกณฑ์และวินัยอาจชวนให้รู้สึกน่ากังขา แต่เท่าที่เส้นทางชีวิตของดร.สุเมธได้แสดง หลายครั้งกรอบไม่ใช่ข้อจำกัดมากเท่ากับโครงสร้างที่ผลักดันมนุษย์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ “ผมไปบวชมาสี่ครั้ง สองครั้งหลังนี่บวชวัดป่าเลย ฉันมื้อเดียว หลายคนถามว่าทำไมผมบวชซ้ำซาก ก็เพราะเรามานั่งพิจารณา เรานี่มันอ่อนแอตรงไหน คนชอบนึกว่าตัวเองแข็งแรงตลอด แต่เราคิดกลับกันเลยว่าเราอ่อนแอ ไปอยู่เมืองนอกไม่รู้เลยว่าพุทธศาสนาคืออะไร นั่งกราบพระ พนมมือ ฟังพระสวดอยู่อย่างนั้นแต่ไม่รู้เรื่อง ดังนั้นเลยไปบวช การบวชก็เป็นกรอบที่ทำให้เราได้รู้ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น

     …ความจริงชีวิตมีขึ้นมาทุกวันนี้ก็เพราะกรอบหล่อหลอมเรา เริ่มตั้งแต่กรอบโรงเรียนประจำของวชิราวุธฯ เสร็จจากวชิราวุธฯ ไปเมืองนอกก็โรงเรียนประจำ ตอนรับราชการก็มีกรอบบางอย่าง ที่ถวายงาน ที่บวชก็มีกรอบอีก ดังนั้นชีวิตนี้เรียนที่ฝรั่งเศส แต่เสร็จแล้วมาเรียนจบจริงๆ ที่วังกับวัด ผมมีต้นแบบคือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เราพิจารณาตั้งแต่ฉลองพระองค์ เบลเซอร์ ไปยันนาฬิกา มองไปที่รองเท้าคู่ละ 400 บาท นาฬิกาเรือนละ 750 บาท เราเห็นตัวอย่างแบบนี้เดินนำหน้าเรา แล้วเราจะไปทางไหนได้ ผมไม่ใช่คนดีโดยธรรมชาติ แต่อยู่ในสภาพอย่างนั้น แล้วผมจะกล้าใส่รองเท้าราคา 3-4 พันไหม ใส่นาฬิกาเรือนละเป็นแสนไหม ดังนั้น กิเลสเรามี แต่เราอยู่ในสภาพที่ลำบากที่จะทำเลว เราก็ต้องควบคุมกิเลสให้ได้

     …ถามว่าความอยากยังเหลือไหม เหลือ อยากได้เฟอร์รารีไหม ก็ยังอยากอยู่ เห็นทีไรก็แวะหยุดดู ไปประชุมที่ปารีส ข้างโรงแรมมีร้านโชว์ ก็เดินไปดูทุกวัน แต่พอถามตัวเองว่าอยากได้จริงๆ เหรอ ใช้ที่ไหน มีถนนให้วิ่งไหมความเร็วสองร้อยสามร้อย เมื่อวานนี้มีดาราคนหนึ่งวิ่งสองร้อยก็โดนจับ มันสักแต่มีทั้งนั้น ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง ก็ต้องถามตัวเองว่าเราอยากจะมีไว้โชว์ออฟเท่านั้นหรือ ความอยากมันก็หยุดอยู่ที่อยากเท่านั้น”

     การได้ยินเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาผู้เป็นเสาหลักของการถ่ายทอดหนึ่งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกล่าวถึงความอยากครอบครองรถเฟอร์รารีให้ความรู้สึกที่ผิดคาด โดยเฉพาะเมื่อผู้พูดอยู่ในเสื้อโปโลและแจ็กเกตกันลมสีดำเรียบง่ายที่เห็นชัดว่าเน้นการใช้งานมากกว่าอวดแสดง แต่นั่นเองอาจจะเป็นข้อความที่ดร.สุเมธ อยากสื่อสารที่สุด

     ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ทำให้คนดับความอยากได้หมดสิ้น แต่ก็กระจ่างเกินพอสำหรับส่องให้เห็นว่าซูเปอร์คาร์ในการจราจรของกรุงเทพฯ นั้นไปไหนไม่ได้

     และอาจเป็นเรื่องคุ้มค่ากว่าที่จะดูเอาจากโชว์รูมก็พอ ■ -

https://optimise.kiatnakinphatra.com/cover_story_10.php - Optimise Magazine




 

Create Date : 18 ธันวาคม 2562   
Last Update : 18 ธันวาคม 2562 22:48:44 น.   
Counter : 1969 Pageviews.  

หนังสือ กวีนิพนธ์ : คิดถึงพ่อ โดย อ.พิทักษ์ บุณยโอภาส






หนังสือ กวีนิพนธ์ : คิดถึงพ่อ
ผู้แต่ง : ว่าที่ รต.พิทักษ์ บุณยะโอภาส
จำนวน ๗๘ หน้า

ดาวน์โหลดไฟล์ pdf :

https://www.mediafire.com/file/7ap3rhn2p8ks7g2/book_%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%2596%25E0%25B8%25B6%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%259E%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25AD_pdf.pdf/file

https://www.mediafire.com/file/7ap3rhn2p8ks7g2/book+คิดถึงพ่อ+pdf.pdf

เผยแผ่ แชร์ต่อได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ทางการค้า แจกฟรี ห้ามซื้อขาย
จัดทำโดยการสแกนจากต้นฉบับ ลายมือของ อ.พิทักษ์ ซึ่งเป็นลายมือที่ งดงามและเป็นเอกลักษณ์

หนังสือ กวีนิพนธ์ : คิดถึงพ่อ โดย อ.พิทักษ์ บุณยโอภาส
https://www.facebook.com/phanomgon/media_set?set=a.2594987580516902&type=3

***********************************************************

เพลง เพชรน้ำหนึ่ง
คำร้อง/ทำนอง อ.พิทักษ์ บุณยะโอภาส
กำแพงเพชรงาม เหมือนเพชรน้ำหนึ่ง งามซึ้ง ตรึงใจเมื่อได้เห็น มีแม่ปิง น้ำใสไหลเย็น ยามลงว่ายเล่น ชื่นเย็นหัวใจ เมืองกรุพระเครื่องเลื่องลือชื่อ เมืองคนแกร่งลือมาหลายสมัย เมืองกล้วยไข่หอมหวานจับใจ เมืองศิลาแลงใหญ่ได้เห็นเป็นบุญตา กำแพงเพชรเอย น่าชื่นเชยเป็นหนักหนา น้ำมันลานกระบือ ขึ้นชื่อลือชา มรดกโลกล้ำค่า วิลาวัณย์ น้ำตกคลองลานสวยปานเทพสร้าง สายน้ำพริ้วพร่างดั่งแดนสวรรค์ ยามเราได้เดินเคียงอยู่กัน ร้อยใจรักมั่น ดุจสวรรค์บนดิน

หมายเหตุ อ.พิทักษ์ บุณยะโอภาส มีจุดประสงค์จัดทำขึ้นเพื่อมอบให้จังหวัดกำแพงเพขร ใช้ในการประชาสัมพันธ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

https://youtu.be/Y7mKWORQKXs

https://youtu.be/sGfvyuPRfno




 

Create Date : 31 มีนาคม 2562   
Last Update : 31 มีนาคม 2562 19:50:00 น.   
Counter : 1884 Pageviews.  

ธานินทร์ พันธ์ประภากิจ ... ‘บริษัท ทาสของแผ่นดิน จำกัด’



ทันทีที่กระสุนปริศนาทะลุผ่
านศีรษะ ร่างของเขาล้มฟุบลงทันที แต่ก่อนสติจะดับวูบ เขาก็ได้ยินเสียงคนพูดคุยโทรศัพท์ พอจับใจความได้ว่า... ตัวเขาคง ไม่รอด!!

• นาทีชีวิต กับการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่

แต่เหมือนปาฏิหาริย์ หมอสามารถยื้อชีวิตเขาไว้ได้ และแม้จะต้องนอนอยู่ในห้องไอซียูนานนับเดือน ต้องทำการผ่าตัดสมองถึง 6 ครั้ง แต่ช่วงนาทีที่เส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตายอยู่ใกล้กันแค่ชั่วพริบตานี่เองที่ทำให้ ‘ธานินทร์ พันธ์ประภากิจ’ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกด้าน ตระหนักว่า ชีวิตนี้สั้นนัก และเขาขอใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้คน ทดแทนคุณแผ่นดิน

อันเป็นที่มาของการเปิดศูนย์ผ่าตัดต้อกระจก บริการแก่ผู้ป่วยที่ยากไร้โดย ไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) และ ‘บริษัท ทาสของแผ่นดิน จำกัด’

“ตอนที่ผมถูกลอบทำร้าย ผมก็ได้ยินเสียงคนคุยโทรศัพท์ว่าผมถูกยิง ปลาย สายคงถามว่า ผมเป็นยังไงบ้าง ทางนี้บอกเลยว่า คิดว่าอาจจะไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่หลังจากนั้นผมต้องนอนอยู่ห้องไอซียู 45 วัน เข้ารับการผ่าตัดที่ศีรษะถึง 6 ครั้ง ผมคิดว่ามันคงเป็นเวรกรรม

แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มันทำให้เราได้คิดนะ คือมีอยู่วันหนึ่งช่วงที่ผมอยู่ระหว่าง การฟื้นฟู พยาบาลพาเดินออกไปทำกายภาพบำบัด ตอนขาไปผมยกมือไหว้อาม่าเตียงข้างๆ แต่พอกลับเข้ามาปรากฏว่าอาม่าเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้เราเห็นว่า ชีวิตของมนุษย์มันนิดเดียวเอง

แล้วตอนอยู่ไอซียูก็มีคนเสียชีวิตทุกวัน เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ..เมื่อไรจะถึงเตียงเรา ก็เลยเริ่มตระหนักว่า เงินไม่สามารถซื้อชีวิตคนได้ ผมเลยคิดว่าหลังจากรอดตาย ชีวิตที่เหลือจะลงไปช่วยพี่น้อง ประชาชนที่ยากไร้ในแผ่นดินนี้”

• แรงบันดาลใจ จาก “ในหลวง”
เปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยต้อกระจก

นักธุรกิจหนุ่มเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาตั้งใจอุทิศตน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่มีปัญหาด้านดวงตา ว่า

“แรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของผมมาจากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือตั้งแต่โตมาเราก็เห็นภาพพระองค์ท่านเสด็จไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ในชนบทมาตลอด

สมัยหนุ่มๆผมเคยเดินตามหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ซึ่งท่านพูดเสมอว่า ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน ทุกข์ของแผ่นดินคือทุกข์ของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเหนื่อยยากเพื่อพวกเรามามาก

ผมจึงอยากเดินตามรอยพระบาทขององค์ท่าน ช่วยเหลือคนที่เขาด้อยโอกาสเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งปณิธานตรงนี้ทำให้เรามีกำลังใจขึ้นมาว่า เราจะต้องเดินให้ได้ ต้องอดทน เพราะมีสิ่งสำคัญรอเราอยู่ และก็มาตกผลึกว่า จะเปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยต้อกระจก เพราะบ้านเรามีคนที่เป็นโรคนี้เยอะ”

• ปณิธานอันแน่วแน่
ดำเนินรอยตามพระราชดำริ

หลังจากนั้นธานินทร์จึงไปปรึกษากับ นพ.วิทิต อรรณเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้วในขณะนั้น ว่าเขาอยากจะเปิดศูนย์ผ่าตัดต้อกระจก โดยไม่คิดค่ารักษา ซึ่งคุณหมอวิทิตย้ำว่า จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

แต่ธานินทร์ก็ไม่ลังเลใจที่จะนำเงินเก็บ ที่สั่งสมทั้งชีวิตมาใช้ทำโครงการนี้ ด้วยมองว่า การช่วยให้คนคนหนึ่งกลับมามอง เห็นได้เป็นปกติอีกครั้งนั้น เป็นสิ่งที่มิอาจประเมินค่าได้

เขาจึงได้สั่งซื้ออุปกรณ์การผ่าตัดดวงตาจากต่างประเทศ และสั่งซื้อรถห้องผ่าตัดเคลื่อนที่หลายสิบล้านบาท และโชคดีที่ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกทำการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากมาย และภายหลังธานินทร์ได้เปิดเป็นศูนย์ผ่าตัดผู้ป่วยต้อกระจกที่กรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่สุขุมวิท ซอย 24

ในละปีที่นี่สามารถให้การรักษาผู้ป่วย ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย โดยนอกจากจะรักษาฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีที่พัก และอาหารไว้บริการผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัด รวมทั้งแจกแว่นตาและเครื่องใช้จำเป็นให้ผู้ป่วยนำติดตัวกลับบ้านอีกด้วย

และไม่เพียงแต่จะรับผู้ป่วยในเท่านั้น ศูนย์แห่งนี้ยังให้บริการเชิงรุกโดยจัดรถผ่าตัดเคลื่อนที่ออกไปให้บริการแก่ผู้ป่วยต้อกระจกในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างทั่วถึง เพราะธานินทร์ มองว่ายังมีผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่อดมื้อกินมื้อ ไม่มีแม้กระทั่งค่ารถที่จะเดินมารับการรักษา หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ใครดูแล ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาผ่าตัดที่ศูนย์ในกรุงเทพฯได้

“ต้องเข้าใจว่า คนที่ยากจนเนี่ยะเขาจนจริงๆนะ จะกินให้ครบ 3 มื้อยังลำบาก หรือบางคนลูกหลานมาทำงานกรุงเทพฯ อยู่กันสองคนตายาย ไม่มีใครพามารักษา เราเลยต้องออกไปหาพวกเขา ก็ไปมาเกือบทั่วประเทศแล้ว ไปถึงเชียงราย ด้านที่ติดกับพม่า ไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปหมด โดยเราจัดรถไปรับผู้ป่วยเข้ามาผ่าตัดที่ศูนย์ในกรุงเทพฯ มาถึงที่โรงพยาบาลเราก็จัดอาหารการกินให้ มีที่พักให้ฟรีหมด รักษาเสร็จ ตอนเช้าเปิดดวงตา แจกแว่นตา แจกเสื้อ แจกอะไรเสร็จ ให้เขารับประทานอาหาร แล้วก็เอารถกลับไปส่งถึงบ้านเลย

โดยในระหว่างเดินทางเราทำประกันชีวิตให้ด้วย พอเขาถอดรองเท้าเข้าบ้านปุ๊บ ถือว่าภารกิจของเราเสร็จ อีกหนึ่งอาทิตย์เรากลับไปตรวจอีกที แล้วอีกหนึ่งเดือนก็กลับไปตรวจซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าดวงตาเขาเป็นปกติจริงๆ

ตอนแรกก่อนลงไป เราจะส่งทีมสำรวจไปก่อน ดูว่าจุดนั้นมีผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด แล้วก็ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ให้แจ้งกับชาวบ้านว่า เราจะลงไปรับผู้ป่วยวันไหน

แต่บางกรณีที่สามารถผ่าตัดในพื้นที่ได้ ก็ทำในพื้นที่เลย โดยเราจะประสานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ขอใช้สถานที่เพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ส่วนหนึ่งก็จะเป็นทีมของเราที่ไปจากกรุงเทพฯ อีกส่วนก็จะเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลในพื้นที่หรือในจังหวัดใกล้เคียง แต่เครื่องไม้เครื่องมือเรามีพร้อมอยู่แล้ว

ปณิธานของเราคือการดำเนินรอยตามพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา จะเห็นว่า พระองค์ไม่ได้รอให้พสกนิกร ที่เดือดร้อนเดินทางมาหาพระองค์นะ แต่พระองค์เสด็จออกไปหาประชาชน พระองค์เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน แล้วเราเป็นใครล่ะ” ธานินทร์เล่าถึงการช่วยเหลือผู้ป่วย ที่ได้ทำตลอดหลายปีที่ผ่านม

• ทุกวันและทุกวินาที
จะทำความดีเพื่อแผ่นดิน

เนื่องจากการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกแต่ละราย ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่ารายละ 5,000-6,000 บาท ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้มีค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของการรักษาสูงถึงปีละ 60 ล้านบาท ทำให้หลายคนสงสัยว่า อะไรที่ทำให้นักธุรกิจหนุ่มอย่างธานินทร์ทุ่มเทเงินทองมหาศาลเพื่อทำโครงการนี้

และไม่เพียงแต่กำลังเงินเท่านั้น เขายังทุ่มเททั้งแรงกายและเวลาในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้อย่างเต็มที่ ชนิดที่เรียกได้ว่า งานที่โรงพยาลบาลบ้านแพ้วเป็นงานหลัก ส่วนการทำธุรกิจส่งออกเป็นงานรอง

“ตอนที่ผมเริ่มทำโครงการนี้ใหม่ๆ ทุกคนมักจะถามว่า คุณเอาเงินมาจากไหน ผมอยากบอกว่า เงินที่ผมได้มานั้นไม่ใช่ของผม ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นเงินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เพราะแบงก์ทุกใบ มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่าน

ถามว่าวันนี้ผมพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ไหม โอโห...ทุกวันนี้ผมดีใจมากที่ได้อยู่ในแผ่นดินนี้ ผมดีใจมากที่ได้กินข้าวจากแผ่นดินนี้ ผมต้องกตัญญูต่อชาวนาที่ปลูกข้าวให้ผมกิน การที่ผมพาทีมแพทย์ออกไป รักษาดวงตาให้กับประชาชนในชนบทนั้น มันเท่ากับแค่เสี้ยวของบุญคุณที่เขามีต่อผม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเสียเงินเสียทองไปเท่าไรในการช่วยเหลือคนจนในแผ่นดินนี้ ผมไม่เคยเสียดาย

เราดำเนินรอยตามเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ผมพอแล้วกับทรัพย์สินเงินทอง มันปลื้มนะเวลาที่เราสามารถช่วยให้คนที่ดวง ตามืดมัว กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง

มีอยู่เคสหนึ่งเป็นคุณครู อายุ 82 แล้ว อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านดีใจมาก ท่านบอกว่ารอมา 6 ปีแล้ว ได้แต่อุ้มหลาน แต่ไม่เคยเห็นหน้า วันนี้ได้เห็นหลานแล้ว...

คือสิ่งที่เราทำ มันมีคุณค่ามากมาย มหาศาล จนไม่สามารถตราลงในเอกสารใดๆได้ ผมไม่ได้ต้องการชื่อเสียงหรือคะแนนนิยมอะไร เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง ผมไม่ได้อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมอยู่ในสภาประชาชน ผมเป็นคนที่อยู่ใต้เบื้องพระยุคลบาทขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นทุกวันและทุกวินาที ผมจะทำความดีเพื่อแผ่นดิน” ธานินทร์กล่าวด้วยประกายตาแห่งความปลื้มปีติ

• พระเจ้าในดวงใจ คือ
‘พระเจ้าแผ่นดิน’

ธานินทร์เป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่รักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันเป็นอย่างมาก เมื่อก้าวเข้าไปในสำนักงานของเขา จะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของแต่ละพระองค์เรียงรายอยู่บนฝาผนัง

นอกจากนั้นเขายังเปลี่ยนชื่อถนนส่วนบุคคล ซึ่งเป็นถนนของเขาเอง จาก ‘ถนนพระพรหมพานิช’ เป็น ‘ถนนเรารักในหลวง’ เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

“ที่ผมเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ถนนเรารักในหลวง’ เพราะผมอยากให้ทุกคนตระหนักว่า แผ่นดินนี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน พระเมตตาของพระองค์ทำให้คนไทยอยู่ เย็นเป็นสุข จะเห็นว่า ประเทศไทยมีคน หลายเชื้อชาติ หลายศาสนา แต่ในหลวงของเราดูแลพสกนิกรของพระองค์ท่านเท่าเทียมกันหมด ไม่แยกสีไม่มีเหล่า

ดังนั้น คนไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด แต่เรามีพระเจ้าองค์เดียวกันคือ ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ เป็นพระเจ้าที่เราเห็นได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’ พระองค์ทรงเป็น พระเจ้าที่ลงมาช่วยเหลือประชาชน โดยที่เราไม่ต้องอธิษฐานหรืออ้อนวอนร้องขอ

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า สิ่งเดียวที่เราจะตอบแทนพระองค์ได้ก็คือ การช่วยแบ่ง เบาภาระของพระองค์ท่าน ในการช่วยเหลือ คนไทยที่ยังลำบากยากจนและด้อยโอกาส” ธานินทร์กล่าวด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่น

ผู้ที่ประสงค์จะผ่าต้อกระจกฟรี! ติดต่อไปยังโรงพยาบาลบ้านแพ้ว หรือบริษัท ทาสของแผ่นดิน จำกัด อาคารพระมหากรุณาธิคุณ เลขที่ 98 ซอยสุขุมวิท 24 ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กทม. 10110 สอบถามรายระเอียด โทร.0-2262-9454-5,0-2261-8213-7 เวลาทำการจันทร์-วันศุกร์ 08.00-17.00 น.

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย วิบูลย์ สุขใจ)

ที่มาhttps://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9550000031151




 

Create Date : 26 มีนาคม 2562   
Last Update : 26 มีนาคม 2562 14:12:18 น.   
Counter : 3122 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]