Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

เรื่องเล่า จาก ครูเจี๊ยบ



เรื่องเล่า จาก ครูเจี๊ยบ


สมัยนั้นครูยังมีประมาณ ๖๐-๗๐ คนได้กระมัง ยังไฟแรงหนุ่มสาวประเภทพึ่งบรรจุกันใหม่ๆไม่กี่ปี อายุทีมงานกำลังห้าว ๒๕-๓๐ ปี ประเภทรวมเก่งสิงห์เหนือเสือ ใต้จริงๆ เช่น อ.วิทยา นุชชม หนุ่มห้าว มศว. อ.ทรงวุฒิ จงมีความสุข หนุ่มสุดเก่ง จาก มช. อ.ลักษณา จงมีความสุข คู่คิดเคียงข้าง อ.จรวยพร ริ้วตระกูลไพบูลย์ จาก มศว. อ.สุจินต์ ศิรินทร์วงศ์(อ.เจี๊ยบ) จากรั้ว มก. อ.ชูศักดิ์ ไทยพาณิชย์ จาก เพาะช่าง โดยมี อ.สุทิน ถาวรกูล อ.ธงชัย น่วมภา อ.มงคล วังลึก อ.สกล ประดิษฐ์ เป็นพี่ใหญ่ รวมถึง ผอ.มานิตย์ ป้อมสุข

ยุคนั้น กิจกรรมของโรงเรียนในยุคนั้นทำแล้วสนุกทั้งนักเรียน สนุกทั้งคุณครูที่มาใหม่ไฟแรง เอื้ออาทรต่อกันช่วยเหลือกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่างานของโรงเรียน เช่น การเรียนการสอน ก็มาช่วยสอนข้ามสายวิชากันได้ เช่น ครูเกษตรมาช่วยสอนชีววิทยาในเรื่องพืช หรือ ใครมีความสามารถอะไรก็มาช่วยอย่างจริงใจ ทำให้โรงเรียนมีความก้าวหน้าในหลายเรื่องเป็นอย่างมาก แม้แต่การแข่งขันการบินไทยไขจักรวาลของ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เราก็ล้มโรงเรียนดังๆ เช่น สวนกุหลาบ สามเสนวิทยาลัย ได้แชมป์มาได้ เป็นที่ตื่นเต้นกันมากในยุคนั้น
เรื่องอื่นๆในด้านกิจกรรมของโรงเรียนเราจะเด่นหลายเรื่อง เรื่องกีฬา ก็มีตัวดีๆระดับเยาวชนทีมชาติก็มีเพราะได้รับการส่งเสริมที่ดี และมีการติดตามประเมินผลความสามารถ

มาที่ต้นกำเนิดการแปรอักษรซึ่งเป็นความโชคดีหลายๆฝ่ายๆได้ระดมความคิดจากการเชียร์กีฬาสีในโรงเรียนแล้วทุกสีมาหลอมเป็นกีฬา/กรีฑาจังหวัด (รูปแปรอักษร ข้างบนอาจสับสน เป็นเพียงกีฬา/กรีฑา ภายในจังหวัดเท่านั้น ) มีโรงเรียนของเราโรงเรียนเดียวที่มีการแปรอักษรร่วมกับการแข่งขันกรีฑาด้วย ซึ่งทางจังหวัดของร้องให้ร่วมด้วยเพราะจะทำให้งานสนุกมากยิ่งขึ้น

เอาละซิ จังหวัดให้งบประมาณมาก็เดือดร้อนตั้งแต่ ผอ. ครู นักเรียน นักการฯ งบประมาณที่ได้ส่วนใหญ่หมดไปกับเหล็กอัฒจรรย์ที่นั่ง ที่เหลือส่วนใหญ่ในการเชียร์ต่างๆได้จากครูและเด็กหาสปอนเซอร์ โชคดีของเราอยู่อย่าง สปอนเซอร์หาได้ง่ายเพราะผู้ปกครองนักเรียนที่มีฐานะมีลูกเรียนอยู่ ทำให้ผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ ทีนี้การเตรียมเชียร์ก็ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนยุคนั้นในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งหมดเป็นตัวนำที่ดี มากกว่าคุณครูเสียอีก

พูดง่ายๆในยุคนั้น การเรียนสนุก ลุกนั่งสบาย ได้นักเรียนในยุคนั้นบ้ากิจกรรมมากกว่าการเรียนซะอีก และได้ครูทั้งหลายที่กำลังห้าวในวิชาชีพที่ยุคนั้นยังแข่งขันกีฬาสีที่ครูต้องแบ่งเป็นพวกคณะสีใครคณะสีมัน ต้องลงไปทำเอง แอบล้วงความลับกัน แข่งกันในโรงเรียน เป็นที่สนุกสนานที่จะให้นักเรียนทำตามๆที่ครูชี้นำ พอมาเป็นกีฬาจังหวัดรวมกันทำก็เอาแบบอย่างการแปรอักษรของ โรงเรียนสวนกุหลาบ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่เป็นต้นฉบับ งานนี้ต้องยกความดีให้ อ.ทรงวุฒิ เป็นผู้ล้วงความลับ มาจากผลของการเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีศิษย์เก่าของโรงเรียนดังนี้อยู่

หลังจากได้ล้วงความลับมาแล้ว พร้อมกับมีทรัพยากรที่มีพร้อมสรรพ์ ทั้งแรงสนับสนุน ทั้งนักเรียน ทั้งครูที่กำลังห้าว ก็เป็นบ่อเกิดการแปรอักษรระดับชาติขึ้นมาไม่อายใครนี่แหละ ซึ่งยุคปัจจุบันทำได้ยากยิ่งแม้แต่ระดับมหาวิทยาลัยยังทำไม่ได้ในภาวะงบประมาณที่จำกัด เพราะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆอย่างน้อย ๑ ภาคเรียน พร้อมกับการซ้อมที่เข้มแข็งแบบทหารเท่านั้นจึงจะทำได้ แต่เราก็ทำได้
แผ่นโค้ทแปรอักษรจะมี ๒ แบบ

แบบแรกเป็นโค้ทเสียบกระดาษสีบนเฟรมไม้อัดรัดยางวง เรียกว่า การแปรอักษรแบบโค้ท ๑๖ ช่องเฟรม โดยนักเรียนแต่ละคนต้องเสียบกระดาษสีแข็งให้ครบ ๑๖ แผ่นตามรหัสสีที่ได้รับคำสั่งจากครูผู้ออกคำสั่งแปรอักษรที่นั่งอยู่ข้างล่าง แผ่นรหัสคำสั่งจะติดเข็มกลัดเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างหน้า และนักเรียนจะมีถุงกระดาษแผ่นสีของใครของมัน อย่างน้อย ๑๒ สี x ๑๖ ช่องเฟรม/ ๑ คนดูเพิ่มเติม

อีกแบบเป็น โค้ทที่ทำไว้สำเร็จรูปเลย ต้องเป็นงานละเอียดมาก เรียกว่าโค้ท ๑๒x๑๒ = ๑๔๔ ช่องสี ซึ่งต้องระดมครูฝ่ายศิลปะและนักเรียนวาดลงต้นฉบับตารางและระบายสีต้นฉบับก่อน แล้วมาแยกแต่ตารางที่นั่งของคนแปรอักษรมาตัดแปะกระดาษสีในแผ่นกระดาษแปรอักษรเลย จะใช้กับรูปสำคัญๆ เช่น ในหลวงราชินีใช้พร้อมกับเพลงสรรเสริญฯ พิธีเปิด-ปิด / รูปราชวงศ์จักรี/รูปประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ อย่างที่เห็นในรูปจะเป็นภาพถาวร นักเรียนที่แปรอักษรแต่ละคนจะมีภาพติดตัวอยู่กับที่นั่งตามรหัสไว้แล้ว

สรุป วัตถุดิบพร้อม งานพร้อม คนพร้อม ก็ทำให้เกิดงานที่ปรากฏ นั่นแหละ สมัยหน้าหนาวธันวาคมจะเป็นงานที่ทุกคนเฝ้ารอคอยด้วยความตื่นเต้น หน้าหนาวก็หนาวกันจริงๆ แต่กลางวันแปรอักษรก็ท่ามกลางแดดเปรี้ยง มีซันบล๊อคแบบสมัยนี้รู้เปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าเมื่อ...เชียร์กันเสร็จทั้งครูและนักเรียนหน้าลอกกันเป็นแถว
งานแปรอักษรที่ยิ่งใหญ่ถือว่าเป็นงานสุดท้ายในความทรงจำ คืองานแปรอักษร กีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ ที่จังหวัดเราเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่สนามกีฬาริมปิง (โรงเรียน อบจ.ปัจจุบัน) สมัย ผอ.ธำรงค์ แพรนิมิตร เป็นผู้บริหาร ยังได้ผลผลิตของโค้ทเดิมมาประยุกต์ใช้ ถือว่าเป็นงานสุดท้ายของความยิ่งใหญ่จริงๆ และปัจจุบันมีเงิน ล้านก็ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เริ่มจากเงินไม่กี่หมื่นเอง ปัจจุบันวัสดุต่างๆ ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณปลวก วิธีการเก็บ ความชื้น ฯลฯ ได้ชำรุดสูญหายไปตามเวลาหมดแล้ว


สรุป บทความที่ ๑ โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม อยู่ด้วยเนื้อหาและปรัชญาที่ยังต้องดำรงคงอยู่เป็นสถาบันต่อยอดแห่งความหวังในสรรพสิ่งของผู้คนในสังคมนี้ต่อไปอีกยั่งยืนและยาวนานชั่วลูกชั่วหลานของเรา ผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าผ่านมาและก็ต้องจากไปตามกาละเวลา หลายตอน หลายชีวิตมากมาย จนปัจจุบัน ถ้าเป็นคนก็ต้องถือว่ามีอายุยืน ต้องเตรียมแต่งชุดแดงฉลองชัย และอยากให้ผู้ที่ดำรงชีวิตที่เกี่ยวพันกับมัน ช่วยถนอม รักษา เข้ามาพัฒนาให้มันเป็นแหล่งภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีและเกียรติยศ ความเป็นลูกแดงขาวนานเท่านาน




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2554   
Last Update : 3 ตุลาคม 2554 1:21:37 น.   
Counter : 2921 Pageviews.  

ระลึกถึงโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ... ครูสวัสดิ์ จันทร



ระลึกถึงโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม

ผมโชคดีที่มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็น “กำแพงเพชรพิทยาคม” แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานนัก คือสิบห้าปี แต่ก็มีความภาคภูมิใจมากในชีวิตการรับราชการครู ก่อนหน้านั้นเคยทำงานเอกชนด้านการท่องเที่ยว ในสมัยที่ยังไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ไม่มีกฎหมายบังคับและยังไม่มีกระทรวงการท่องเที่ยว เคยทำงานโรงเรียนเอกชนและรับราชการโรงเรียนประจำจังหวัดบ้านเกิด พอกลับเข้ารับราชการอีกครั้งไม่นานก็โชคดีที่มารับราชการอยู่ที่โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม

เมื่อแรกรายงานตัวประทับใจในสำเนียงภาษาอังกฤษของท่านอาจารย์ใหญ่ นายมานิตย์ ป้อมสุข ตื่นเต้นกับทีมงานเอเอฟเอส ของท่านอาจารย์ทรงวุฒิ จงมีความสุข และเพื่อนครูหมวดภาษาต่างประเทศ เกือบทุกท่านอยู่ในวัยหนุ่มสาวและระยะแรกเริ่มของการเป็นครู จึงเปี่ยมด้วยพลังแห่งการทำงาน ว่าที่จริงครูอาจารย์ในหมวดต่างๆ ก็อยู่ใน วัยใกล้เคียงกัน เช่นครูจรวยพร ริ้วตระกูลไพบูลย์ ท่านแข็งขันและเต็มที่กับโรงเรียนมาก ดังนั้นกิจกรรมนักเรียนนำโดยท่านอาจารย์ รันดร ประดิษฐ์ และอาจารย์สุทิน ถาวรกุล จึงสนุกสนาน และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ การจัดการ การทำงานร่วมกัน คิดเป็น ทำเป็น ตกผลึกอยู่ในตัวเยาวชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า

ผอ.วินัย อิสระธานันท์ สมัยที่ท่านเป็นผู้ช่วย ท่านเป็นกำลังหลักทางด้านวิชาการ ได้ให้กำลังใจและการสนับสนุนลูกศิษย์และรุ่นน้องทำงานกันอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถและความรับผิดชอบ ผลสัมฤทธิ์ก็เป็นไปตามที่คาดหวังและอัตภาพ สอบเอนทรานซ์ได้จำนวนมากขึ้น สอบเข้าสถาบันอาชีพอื่นๆได้เป็นจำนวนมาก ศิษย์เก่าโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมส่วนใหญ่ก็กลายมาเป็นกำลังสำคัญในองค์กรและหน่วยงานที่ตนสังกัด ข่าวคราวที่ได้ยินถึงความสำเร็จของพวกเขาสร้างกำลังใจให้พวกเราเป็นอย่างมาก

โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมมีคุณูปการต่อผมอย่างมาก เป็นทั้งที่ทำงานเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว และเป็นที่สร้างโอกาสให้ผมได้เรียนรู้ เลียนแบบอย่างพี่ๆ ที่เปี่ยมด้วยความรู้และวิธีการสอน ผมจึงมีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศเพิ่มทักษะทางภาษา และเมื่อกลับมาก็ได้ใช้ความรู้นั้นถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้ดีขึ้น จากประสบการณ์ตรงนี้ผนวกกับการสนับสนุนของผู้บริหารโรงเรียน ผมก็มีโอกาสขยับขยายไปสอนระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยครูกำแพงเพชร หรือปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

เมื่อกลายเป็นบุคคลภายนอกและเป็นข้าราชการเกษียณ ได้มองย้อนกลับมาในองค์กรที่เคยทำงานก็ยิ่งตื่นเต้นและดีใจที่ได้เห็นโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า มีศูนย์การเรียนรู้เพิ่มขึ้นหลากหลาย มีพิพิธภัณฑ์ประจำโรงเรียน นักเรียนได้รับการยอมรับถึงความรู้ความสามารถ มีกิริยามารยาทที่สวยงาม อ่อนน้อมตามวิถีไทย สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสามารถของผู้บริหารและคณาจารย์ ที่ได้ทุ่มเท ใส่ใจทำงานสมกับที่ได้รับการยกย่องกับการเป็นปูชนียบุคคล

ในโอกาสที่โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งการก่อตั้ง ผมใคร่ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่โรงเรียน รวมกระทั่งถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชรจงปกปักรักษาคณาจารย์ นักเรียน บุคลากรทุกฝ่ายจงประสบความก้าวหน้า สุขภาพดี ได้รับการรับรองถึงคุณภาพยิ่งขึ้นและตลอดไป

ครูสวัสดิ์ จันทร




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2554   
Last Update : 3 ตุลาคม 2554 1:19:50 น.   
Counter : 1582 Pageviews.  

ความรู้สึกดีๆที่ “นารีวิทยา” .... ครูมัธรี พุทธรักษา



ความรู้สึกดีๆที่ “นารีวิทยา”

ครูมัธรี พุทธรักษา
(ครูเออร์ลีรีไทร์)โรงเรียนอนุบาลกำแพงเพชร

ผู้เขียนเป็นศิษย์เก่านารี ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงมัธยมปีที่ ๖ (ม.ศ.๓) จบในปี ๐๘ คือ พ.ศ. ๒๕๐๘ สิ่งที่ยังอยู่ในความทรงจำก็คือ บรรดาอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

๑) คุณครูวัฒนา ศุภดิษฐ์ เป็นผู้สอนวิชาภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และที่บ้านคุณครูมีนักเรียนต่างอำเภอมาพักอยู่เพื่อเรียนหนังสือ นอกจากวิชาการแล้วคุณครูยังอบรมกิริยามารยาทเป็นอย่างดี

๒) คุณครูทัศนีย์ กลิ่นบัว สอนศีลธรรม ภาษาไทย ท่านอ่าน ฉันท์ กาพย์ กลอนได้ไพเราะมาก และท่านฝึกให้นักเรียนสวดมนต์ ลักษณะพิเศษของท่านอยู่ที่การแต่งกาย เสื้อผ้าของท่านรีดเรียบ สวยงามและมองดูเรียบร้อยมาก

๓) คุณครูชุมจิตร ครองแก้ว ท่านสอนภาษาอังกฤษและให้เราท่องศัพท์ทุกวัน เราได้ยินรุ่นพี่เรียกท่านว่าแม่เสือยิ้มยาก แต่สำหรับเราได้รับความเมตตาจากท่านมาก

๔) คุณครูบรรเจิด รามสูตร เราได้รู้เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การแบ่งส่วนราชการ กระทรวงทบวง กรม เพราะท่านสอนวิชาหน้าที่พลเมือง ท่านใจดีกับเรามาก

๕) คุณครูกอบกุล นิลาภรณ์ ท่านเป็น “คุณแม่กอบ” ของนักเรียน เพราะท่านจะคอยดูแลทุกข์ สุข ของนักเรียนทุกๆคน และความปะพฤติ และท่านสอนคณิตศาสตร์

๖) คุณครูดารา รังศาสตร์ เราได้รูจักการแบ่งสัตว์ออกเป็นพวกๆ และได้รู้จักสัตว์ที่ชื่อ ปลาดาวกับอีแปะทะเลจากวิชาที่ท่านสอน คือวิทยาศาสตร์

๗) คุณครูนเรศ อินแนม ท่านทำให้เรารู้จักเย็บปักถักร้อย ดอกไม้ ใบตอง การทำอาหาร ซึ่งตัวผู้เขียนยังนำมาใช้ในปัจจุบันและยังระลึกถึงอยู่เสมอเวลาทำงานบ้าน สมัยเรียนเรียกวิชานี้ว่า “การเรือน” สมชื่อจริงๆเพราะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา

๘) คุณครูสมนึก ใยยวง ท่านเป็นผู้แต่งเพลงเชียร์ของนารีวิทยาหลายเพลง เราจำได้เพราะพอแต่งเสร็จท่านจะสอนให้พวกเราร้องด้วย ทั้งๆที่ท่านสอนเลขและพีชคณิต

๙) คุณครูวิสุทธ์ เงินทอง เราจำการเรียนกับท่านได้ดี เพราะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวมาเป็นกางเกง ขาสั้นสีขาวและฝึกกายบริหารที่ใต้ต้นมะม่วง และเมื่อมีการฝึกเล่นบาสเก็ตบอล พวกเราช่วยกันทั้งครู ผู้ปกครองและนักเรียน ช่วยกันสร้างสนามบาส ที่อาคารนารี เรายังมองเห็นภาพพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ช่วยกันหิ้วปูนทำสนามบาส

๑๐) คุณครูมงคล วังลึก คุณครูขี่มอเตอร์ไซด์มาจากนครชุม นักเรียนได้รู้จักแม่สี สีร้อนสีเย็น ลายไทย การวาดภาพด้วยถ่านชาโคล การแกะสลักไม้อัด การพิมพ์ภาพ และการปั้นทำพิมพ์สำหรับหล่อปูน ที่สำคัญคุณครูนำชื่อและพฤติกรรมของนักเรียนมาเรียงร้อยเป็นบทกลอน นักเรียนรู้สึกสนุกสนานมากและเราจำได้เสมอ

๑๑) คุณครูจันทราทิตย์ ดำรงรัตน์ คุณครูสอนให้พวกเราเป็นคนมีเหตุผล เพราะท่านสอนเรขาคณิต แต่นักเรียนส่วนใหญ่ประทับใจที่นักเรียนเป็นคุณครูใจดี พูดเพราะและสวยมาก คุณครูเป็นพิธีกรในการประกวดนางงามกำแพงเพชร แต่พวกเราเห็นคุณครูของเราสวยกว่าผู้เข้าประกวดมาก

๑๒) คุณครูวิมล สุวรรณเวลา คุณครูเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง เวลาเข้าห้องเรียนจะฝึกให้พวกเราพูดภาษาอังกฤษ ตลอดชั่วโมง โอ้โฮ! เราชอบมากทั้งๆที่เราพูดไม่ค่อยเป็นนี่แหละ แต่คุณครูก็ทำให้เราชอบภาษาอังกฤษขึ้นมามากๆ เราท่องอาขยานภาษาอังกฤษ หัดร้องเพลงภาษาอังกฤษ และเรายังนึกถึงคุณครูเสมอ

คุณครูทั้ง ๑๒ ท่านที่เล่ามานี้ มีความสำคัญกับผู้เขียนมากและยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่ได้เขียนถึง คิดว่าถ้ามีโอกาส ข้าพเจ้าก็จะเขียนบรรยายถึงอีก เพราะผู้เขียนเรียนอยู่ ร.ร. นารี 6 ปีเต็มๆ มีอะไรอีกมากที่ยังไม่ได้เล่า ขอจบเพียงแค่นี้ก่อนค่ะ








 

Create Date : 02 ตุลาคม 2554   
Last Update : 2 ตุลาคม 2554 0:54:24 น.   
Counter : 1052 Pageviews.  

ระลึกถึงความหลังครั้งเยาว์วัยในกำแพงเพชร.. ไพรัช ธัชยพงษ์



ระลึกถึงความหลังครั้งเยาว์วัยในกำแพงเพชร
ไพรัช ธัชยพงษ์
25/07/2554

ผมเป็นคนกำแพงเพชรโดยกำเนิด บ้านที่ผมเกิดอยู่ริมแม่น้ำปิงในอำเภอเมืองตั้งอยู่บนถนนเลียบแม่น้ำชื่อถนนเทศา(ตรงข้ามกับโรงแรมชากังราวในปัจจุบัน) ตั้งแต่จำความได้ผมก็ช่วยพ่อแม่และพี่ๆอีก 7 คนขายของหน้าร้านและขนของไปส่งลูกค้าในตลาดเป็นประจำ บ้านของเราเป็นร้านขายของชำ 3 คูหาชื่อ “ฮั่นพงษ์กี่” ปัจจุบันก็ยังอยู่แต่ย้ายที่ตั้งไปไม่ไกลจากที่เดิมนักเพราะหลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อพ.ศ. 2505 เทศบาลห้ามก่อสร้างอาคารริมแม่น้ำอีก กำแพงเพชรเป็นจังหวัดที่เล็กประชากรอยู่ในหลักหมื่นต้นๆเท่านั้น ตลาดอำเภอเมืองเล็กมากคนทั้งตลาดรู้จักกันแทบทั้งนั้น

ตอนผมเกิดมานั้นไม่มีทั้งโรงพยาบาลไม่มีไฟฟ้าไม่มีประปาไม่มีรถยนต์ ยามเจ็บป่วยก็รักษากันด้วยยาทั่วไป หากเจ็บหนักต้องนั่งเรือกลไฟไปยังจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีทุกอย่าง ใช้ตะเกียงลานตะเกียงเจ้าพายุให้แสงสว่างยามค่ำคืน น้ำดื่มเป็นน้ำฝนที่รองเก็บใช้ตลอดปี น้ำอาบน้ำซักผ้าล้างจานชามอาศัยแม่น้ำปิง จักรยานเป็นพาหนะที่สำคัญ ชาวบ้านใช้เกวียนขนของ

จะขาดแคลนอะไรอย่างไรผมก็มีความสุขมากกับชีวิตตอนยังเด็กทั้งเล่นกับเพื่อนๆและช่วยครอบครัวทำงาน สถานที่เล่นกันสนุกสนานก็คงไม่พ้นหาดทรายตอนน้ำในแม่น้ำปิงลดต่ำลงในหน้าแล้ง การรู้จักพายเรือและว่ายน้ำในแม่น้ำ การรู้จักตกปลา แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องขอบคุณบรรพบุรุษไทยมาจนปัจจุบันคือการก่อตั้งโรงเรียนประจำจังหว้ดชายชื่อ “วัชรราษฎร์วิทยาลัย” ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ระดับมัธยมต้นเป็นรากฐานให้ผมได้ศึกษาในระดับสูงตามลำดับ หากไม่มีโรงเรียนนี้ผมคงไม่ได้มีชีวิตที่เจริญเติบโตรับใช้บ้านเมืองมาจนปัจจุบัน

แม่ผมเป็นคนธรรมะธรรมโมทำบุญและเข้าวัดเป็นประจำ มีเวลา
เมื่อไรก็สอนลูกๆให้เป็นคนดีไม่ทำบาป แม่เรียนหนังสือจบเพียงชั้นประถมอ่านและเขียนหนังสือได้สนับสนุนให้ลูกเรียนหนังสือ พอถึงวัยที่ต้องเข้าเรียนชั้นประถมแม่เอาไปฝากให้เรียนที่โรงเรียนอนุกูลศึกษา(ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว)ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของถนนเทศา เวลาไปโรงเรียนก็เดินไปกับพี่ชายโตถัดจากผมไปอีก 2 คน เจ้าของเป็นคนที่แม่นับถือชื่อคุณป้ากรีด ตอนเรียนไม่มีเก้าอี้ต้องนั่งกับพื้นมีโต๊ะให้หัดเขียน ก.ไก่ ข.ไข่บนกระดานชนวนซึ่งผมคิดว่าประหยัดดีเพราะเขียนแล้วลบเขียนใหม่ได้ คุณป้ากรีดดุถือไม้เรียวสั่งให้อ่านและเขียนแต่ผมไม่เคยเห็นคุณป้าตีเด็กคนไหนสักคน

โรงเรียนอนุกูลศึกษาเล็กมากสอนถึงประถมศึกษา 1-4 ผมคิดว่ามีนักเรียนราวชั้นละ 10-15 คน เพื่อนนักเรียนมาจากครอบครัวที่หลากหลายทั้งลูกคนค้าขายในเมืองและชาวไร่ชาวนาในเขตอำเภอเมือง พี่สาวจะสอนให้ทำการบ้านให้เสร็จทุกวัน พอจบประถมศึกษาผมก็ไปสอบเพื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดชาย “วัชรราษฎร์วิทยาลัย” ซึ่งสมัยนั้นสอนตั้งแต่มัธยมศึกษา1-6 เท่านั้น หากจะเรียนต่อต้องไปกรุงเทพหรือเชียงใหม่ที่มีโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษา 7-8 แล้วจึงเข้ามหาวิทยาลัยอีกที

โรงเรียนวัชรราษฎร์วิทยาลัยถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดคู่กับโรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” นักเรียนภูมิใจในโรงรียนของเราแข่งกีฬาประจำปีเมื่อไรก็ชนะโรงเรียนอื่นโดยเฉพาะโรงเรียนอาชีวะศึกษาที่สอนวิชาช่างไม้ซึ่งมีนักเรียนที่อยู่ในวัยเดียวกัน นักเรียนชอบฤดูการแข่งกีฬาเพราะสนุกสนานกับการฝึกซ้อม การหัดเดินสวนสนามและกายบริหาร ผมคิดว่าที่เราชนะบ่อยได้รางวัลมากกว่าก็เพราะเรามีนักเรียนมากกว่ามาก นักเรียนมาจากทุกอำเภอเพราะเป็นเพียงโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาแห่งเดียวของจังหวัด เพื่อนนักเรียนจึงต่างจากสมัยชั้นประถมที่อยู่ในอำเภอเมืองเท่านั้น แต่เพื่อนชั้นมัธยมมาจากหมู่บ้านตำบลและอำเภอที่แตกต่างกัน เพื่อนเหล่านี้พ่อแม่จะมาฝากให้อาศัยอยู่กับญาติหรือวัดที่อยู่ในอำเภอเมือง

โรงเรียนเราตั้งอยู่นอกเมืองชาวบ้านเรียกกันว่าอยู่ในเมืองเก่าเพราะเป็นบริเวณที่บริเวณที่ตั้งของเมืองชากังราวมาก่อน ที่ไปอยู่ตรงนั้นก็เพราะเป็นพื้นที่รกร้างเต็มไปด้วยป่าหญ้าคา ตอนเรียนหนังสือก็มองเห็นเชิงเทินกำแพงเมืองเก่ามองเห็นพระประธานองค์ใหญ่ตั้งอยู่นอกหน้าต่างห้องเรียน เราเรียนวิชาลูกเสือด้วยและบ่อยครั้งจะหยุดเรียนในห้องเรียน 1 วันแล้วเรียนวิชาบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ของลูกเสือ กิจกรรมที่ทำก็จะเป็นการออกไปช่วยกันถางหญ้าคาให้หายรกรุงรังเป็นประจำราวเดือนละครั้งสองครั้ง พวกเราชอบมากเพราะไม่ต้องเข้าห้องเรียนหนังสือ ได้อยู่กลางแจ้งและบ่อยครั้งที่พวกเราจะพบแตงไทยที่โตอยู่ในดงหญ้าคามาแบ่งกันกินอร่อยและชื่นใจดี บางคนก็ไปเด็ดลูกมะขามป้อมมาแบ่งกันอมลดกระหายน้ำได้

สมัยนั้นงบประมาณคงจะขาดแคลนผู้ปกครองนักเรียนแต่ละคนต้องออกทุนสร้างโต๊ะเรียนให้ลูกของตนเอง ผมก็ว่าดีเพราะเป็นการแบ่งเบาภาระหลวง เราจึงต้องเขียนชื่อที่โต๊ะไว้ว่าเป็นของใคร พวกเราจะผลัดเวรกันทำความสะอาดกระดานดำและห้องเรียนเป็นกิจวัตรเสมอนับเป็นการฝึกนิสัยที่ดี การเดินทางไปโรงเรียนนั้นนักเรียนต้องเดินไป แต่ส่วนใหญ่ขี่จักรยานไปโรงเรียนเพราะอยู่ไกลจากตัวเมือง พอสอบเข้าได้พี่ชายที่เรียนอยู่ที่นั้นอยู่แล้วก็สอนให้หัดขี่จักรยาน สมัยนั้นจักรยานมีขนาดเดียวเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ ตอนนั้นผมอายุ 11 ขวบเท้าหยั่งไม่ใคร่ถึงบันไดที่ใช้ปั่นจักรยานนัก แต่ก็ต้องห้ดจนขี่ได้เพราะความจำเป็น บางครั้งก็อาศัยซ้อนท้ายจักรยานของพี่ชายไปโรงเรียน นักเรียนที่เพิ่งเข้าใหม่มักจะหิ้วปิ่นโตไปโรงเรียนเพื่อเป็นอาหารกลางวันเพราะโรงเรียนไม่มีโรงอาหาร นักเรียนชั้นโตมีจักรยานของตนเองก็มักขี่กลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านแล้วกลับมาเข้าห้องเรียนตอนบ่าย เวลาเพียงพอไม่มีการติดขัดของการจราจรแต่ประการใด

ตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียนจะต้องร้องเพลงชาติและเคารพธงชาติ ครูใหญ่และบางครั้งก็ศึกษาธิการจังหวัดจะมากล่าวอบรมแทบทุกครั้ง ผมเข้าใจว่าปัจจุบันก็ยังปฏิบัติอยู่ แน่ละพวกเราก็เป็นเด็กก็ซุกซนเวลาเรียนก็มักจะมีนักเรียนหลังห้องคุยกัน ครูก็จะต้องดุให้เงียบให้ฟัง ผมเกิดมาโชคดีชอบเรียนชอบอ่านหนังสือชอบนั่งแถวหน้าไม่ใคร่กังวลว่าครูจะถามหรือไม่ถามอะไร มองกระดานดำเห็นชัดเจนดี วิชาไหนคนบอกว่ายากก็มักสนใจว่าทำไมมันยาก หัดอ่านหรือถามพี่สาวพี่ชายให้ช่วยอธิบายจนรู้ ผมเป็นคนเรียนดีเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ได้ไปสอบเข้าเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท กรุงเทพมหานคร

ทั้งหมดเป็นควมทรงจำที่เขียนออกมาในเวลาจำกัดและเนื้อที่ที่ได้รับ
มอบหมายมา ชีวิตตอนไหนก็ไม่สนุกสบายเท่าตอนเป็นเด็กไม่ต้องรับผิดชอบมาก ทำผิดทำถูกได้เพราะอยู่ในวัยเรียนรู้ ครูทุกท่านที่ผมได้เรียนรู้จากท่านล้วนแล้วแต่ให้ความเมตตากรุณากับผมมาตลอด ผมอยากจะจบโดยการกล่าวเตือนสติพวกเราการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ พระมหากษัตริย์ไทยสร้างคุณประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองมาตลอด สำหรับผมแล้วมีสองประการที่สำคัญ ประการแรกการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปราศจากชั้นวรรณะแล้วประการสำคัญถัดมาคือการสร้างระบบการศึกษาที่ทำให้คนไทยทุกระดับสามารถสร้างฐานะตนเอง สร้างครอบครัวและที่สำคัญคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมด้วยอาชีพที่สุจริตและพอเพียงได้




 

Create Date : 02 ตุลาคม 2554   
Last Update : 2 ตุลาคม 2554 0:53:02 น.   
Counter : 1366 Pageviews.  

ม.ศ. 4 รุ่นแรก ... นางปริยา พลอาจ

ม.ศ. 4 รุ่นแรก

ปีการศึกษา 2507 โรงเรียนวัชรราษฎร์วิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดกำแพงเพชร ชาย มีอาคารไม้ 2 ชั้นหลังเดียว (อาคาร 3 ปัจจุบัน) อาจารย์ใหญ่ชื่อ นายบุญปลูก งามขำ ได้รับความเห็นชอบ
ให้เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นม.ศ.4 แผนกวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นรุ่นแรก รับนักเรียนหญิงเข้าเรียนด้วยแต่งกายเหมือนนักเรียนหญิงชั้น ม.ปลายในปัจจุบัน แต่นักเรียนชายนุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ รองเท้าสีดำถุงเท้าสีขาว
นักเรียนม.ศ.4 รุ่นแรกนี้ข้าพเจ้าจำได้ว่ามีนักเรียนชายเพียง 8 คน เป็นหญิง 22 คนดังมีรายชื่อและภาพถ่าย ต่อไปนี้

นายนิรภัย ชัยยูรวัฒน์ นายวัจนะ ครองแก้ว นายอำนวย แซ่ด่าน
นายสุเจน บ่อน้อย นายพจน์ สุบิน นายวันชัย สัจจะโสภิต
นายชัยวัฒน์ ไพโรจน์ นายสุเทพ พันธ์ยิ้ม น.ส.วันดี คำพวงวิจิตร
น.ส. ปริยา รักสุข น.ส. ขันทอง พลอาจ น.ส.วิไลพันธ์ เมฆสุวรรณ
น.ส. เทพี เดชานนท์ น.ส. มานิต อินปินตา น.ส. วาสนา อินทรสูต
น.ส. จรรยา มากกุญชร น.ส .อรุณี ศิริไพบูลย์ น.ส.อรุณี สุขชาญชัย
น.ส. ลัดดา บุษศรีเจริญ น.ส. ทัศนีย์ สังคง น.ส. ปัญญา กล่อมยัง
น.ส. ประพิมพรรณ อยู่สุขสวัสดิ์ น.ส. ทิพยรัตน์ แซ่แต้ น.ส. ใบครีม ประดิษฐ์
น.ส.ประภัสสร อยู่สุขสวัสดิ์ น.ส. จำเนียร กลางนภา น.ส. วัลภา ดีบู่
น.ส.ธาริณี อัปปังสุวรรณ น.ส. ศิริวรรณ ชาญเชี่ยว น.ส.อัญชลี ทับทิมทอง

กรมสามัญได้บรรจุครูใหม่จบปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิต หมาดๆมาสอนพวกเรา 2 ท่านได้แก่ อาจารย์สมศักดิ์ โสภณพินิจและอาจารย์พิศมัย ประทับศักดิ์ มีครูเก่าขึ้นมาสอนชั้น ม.ศ. 4 อีกคือ อาจารย์ เสน่ห์ เกิดเทพ
อาจารย์สุพรรณ โชติรัตน์ อาจารย์ทัศนีย์ กลิ่นบัว และอาจารย์ศศิธร ทองอยู่

ปีการศึกษา 2508 มีครูมาสอนเพิ่มอีกได้แก่ อาจารย์วินัย อิสระธานันท์ (ตำแหน่งสุดท้ายผู้อำนวยการโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม) อาจารย์โชติ แย้มแสง (ตำแหน่งสุดท้ายผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 1 ) อาจารย์อิดริส สวัสดิพร้อม (ไทยมุสลิม ตำแหน่งสุดท้ายผู้ช่วยผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดตาก)

ม.ศ. 4 รุ่นที่ 1 สอบขึ้นชั้นม.ศ. 5 ในปีการศึกษา 2508 เพียง 11 คน ข้าพเจ้าสอบได้ที่ 9 คะแนน 53 % จึงมีเพื่อนๆที่สอบได้และสอบตกหลายคน เปลี่ยนไปเรียน ป.กศ. ที่วิทยาลัยครูนครสวรรค์ รวมทั้ง น.ส. เทพี เดชานนท์ เพื่อนที่นั่งเรียนแถวหน้าคู่กับข้าพเจ้ามาตลอดก็ไปเรียนครูกับเขาด้วย

ปีต่อมาข้าพเจ้าสอบตกชั้น ม.ศ. 5 จึงมีรุ่นน้อง ม.ศ. 4 รุ่นที่ 2 ขึ้นมาเรียนทันเป็นเพื่อนกันปีการศึกษา 2509 ที่จำได้แม่นคือ นายเสริมศักดิ์ อยู่สุขเจริญ (ปัจจุบันเป็นเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร )เรียนเก่งมากเพื่อนๆจึงยกให้เป็นหัวหน้าชั้น และมีรุ่นน้องขึ้น ม.ศ.4 รุ่นที่ 3 คนหนึ่ง (แต่เกิดปีเดียวกับข้าพเจ้า มาจีบเป็นแฟนกัน ต่อมาได้เป็นคู่ชีวิตจนตายจากกันคือนายสมชาย พลอาจ ซึ่งเป็นครู ร.ร.กำแพงเพชรพิทยาคม จนเกษียณอายุราชการโดยอาจารย์สุทิน ถาวรกูล เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอ เมื่อ พ.ศ. 2516)

ในปีการศึกษา 2507 มีครูอาสาสมัครชาวอังกฤษร่างเล็กมาสอนชื่อ Mr. Robbin Berrington ปี 2509 ครูอาสาชาวอเมริกันร่างสูงใหญ่ ชื่อ Mr. Robert Retka ทำให้พวกเราชอบเรียนภาษาอังกฤษฝรั่งทั้ง 2 คน ขี่จักรยานมาสอน รวมทั้งครูคนอื่นๆที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะไป-กลับโรงเรียนกัน มีแต่ครูทัศนีย์ กับครูศศิธร ที่นั่งสามล้อรับจ้าง ส่วนข้าพเจ้าและน.ส. เทพี จะเดินไปโรงเรียนด้วยกันเป็นประจำและเคยถูกทำโทษให้ร้องเพลงชาติหน้าเสาธงเพราะไปโรงเรียนสายหลายครั้ง

ความทรงจำในอดีตดังกล่าวและรายละเอียดอีกมากมายที่ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเลือนไปจากใจเลย...........................................
นางปริยา พลอาจ
12 สิงหาคม 2554




 

Create Date : 30 กันยายน 2554   
Last Update : 30 กันยายน 2554 23:01:54 น.   
Counter : 1353 Pageviews.  

1  2  3  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]