Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

มรณานุสติ พี่แซม(รศ.นพ.ศุภชัย ฐิติอาชากุล) .. เขียนโดย อ.ก้อง (ผศ.นพ.ภัทรวิน ภัทรนิธิมา)



ความงดงาม ใน ความเศร้า ..
มรณานุสติ สำหรับพวกเราที่ยังอยู่ ... คิดกันไว้หรือยัง เมื่อถึงวันที่เราจากไป อยากให้คนที่ยังอยู่ พูดถึงเราแบบไหน ?


***************************

บทความดีๆ จาก อ.ก้อง (ผศ.นพ.ภัทรวิน ภัทรนิธิมา) เขียนถึง รศ.นพ.ศุภชัย ฐิติอาชากุล
ได้ข้อคิดดีๆจากการเรียนหมอ อยากให้น้องหมอๆได้อ่าน_____

“หมอจำไว้นะ หมอราวด์กับผม ผมจะถามหมอไปเรื่อยๆ ถามไปเรื่อยๆ จนกว่าหมอจะตอบไม่ได้”
.
“ถ้าหมออยากนอนสบาย ไว้รอหมออายุเท่าผมก่อน ตอนนี้หมอเป็น นศพ. หมอต้องอ่านหนังสือให้มากๆ”
.
“ถ้าหมอจะดูแต่เคสของตัวเอง หมอไปยืนรอหน้าห้องคนไข้ของตัวเองเลย ไม่ต้องมาเดินราวด์ด้วยให้เสียเวลาหมอหรอก”
.
เสียงอาจารย์ที่พูดอย่างดุดันในกลางวงราวด์ตอนเช้าที่วอร์ดปัญจาฯ ๑ สมัยเป็น นศพ. ปี ๔ ยังคงดังแจ่มชัดจนถึงปัจจุบัน
.
วันที่ฟังวันนั้นรู้สึกว่าอาจารย์ดุมาก และกลัวมาก
แต่พอวันเวลาผ่านไปถึงได้มาเห็นว่า
ลึกๆ แล้วคำพูดของอาจารย์แต่ละคำเต็มไปด้วยแง่คิด และความหวังดีต่อลูกศิษย์เสมอ
.
อาจารย์เพิ่งบอกเหตุผลเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองหลังจากที่กลับมาเป็นทำงานที่นี่
.
“เราจะเติมความรู้ให้ นศพ. ทุกคนเท่าๆ กันไม่ได้
เพราะ นศพ. แต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน
แต่ในฐานะอาจารย์ เราต้องผลักดัน นศพ. ของเราทุกคนให้พัฒนาขึ้นไปอีกเท่าที่เราจะทำได้
คนที่รู้มากแล้ว แม้ว่าเกินระดับของตัวเองไปแล้วก็จริง เราก็ไม่ควรหยุดแค่นั้น
ถ้าเขายังพัฒนาต่อไปได้อีก เราต้องผลักดันเขาขึ้นไปอีก”
.
ถึงตอนนี้คำพูดนี้ยังคงทันสมัยอยู่ และเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญที่พยายามนำมาปรับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
.
สมัยปี ๔ รุ่นพี่หลายๆ คนบอกเป็นเสียงเดียวกันก่อนเข้าชั่วโมงเรียนเลคเชอร์กับอาจารย์ว่า
น้องเข้าไปเก็บเกี่ยวความรู้ในชั่วโมงของอาจารย์ให้ดี
อาจารย์สอนดี และกระจ่างมากๆ ขอให้น้องตั้งใจให้ดี
ไม่ผิดกับคำพูดที่พี่ๆ คุยไว้
การเรียนอายุรศาสตร์ที่หลายคนบอกว่ามันไม่ชัดเจน และเข้าใจได้ยาก
แต่อาจารย์ทำให้ชัดเจนได้ อาจารย์ทำให้คำนวณได้
อาจารย์ทำให้เรื่องสารน้ำที่เป็นเรื่องกึ่งนามธรรมให้เป็นรูปธรรมให้ นศพ . สามารถจับต้องได้
การที่จะบอกว่าการสอนของอาจารย์เป็นเลคเชอร์หนึ่งที่ดีที่สุดที่เคยฟังมาในชีวิตก็ไม่น่าจะเกินจริงเลย
.
ยังจำวันที่เข้าชั่วโมงเรียนที่ปรึกษาคนไข้โรคไตสมัยเป็นปี ๖ ได้
คนที่เคยเข้าชั่วโมงปรึกษาโรคไตนี้จะรู้ว่าบรรยากาศวังเวงมาก
ต่างคนต่างก้มหน้า
ไม่ใช่เป็นเพราะไม่สนใจเรียน หรือไม่อยากรู้
แต่เป็นเพราะคำถามแต่ละคำถามของอาจารย์นั้นยากที่จะตอบ
วันนั้นอาจารย์ได้ถามคำถามกับน้อง นศพ. ปี ๕ และน้องตอบไม่ได้
อาจารย์จึงบอกให้เลือกพี่ปี ๖ มาคนหนึ่ง ให้ตอบคำถามนี้
ด้วยเหตุผลใดก็ไม่อาจทราบได้
น้องชี้มาทางนี้
สีหน้า นศพ. ปี ๖ คนอื่นดูผ่อนคลายที่น้องไม่ได้ชี้ไปทางตนเอง
คงจะยกเว้นอยู่แค่คนที่โดนชี้คนเดียว
อย่างไรก็ตามด้วยความโชคดีที่รู้เรื่องนั้นอยู่บ้าง จึงพอเอาตัวรอดไปได้
แม้วันนั้นอาจารย์จะไม่ได้ชมออกมาเป็นคำพูด
แต่ก็อาจารย์ก็มีรอยยิ้มให้หลังจากที่ได้ยินคำตอบ
จำได้ว่าวันนั้นดีใจ และภูมิใจมาก
ที่สามารถตอบคำถามของอาจารย์ได้
.
ตอนเป็นแพทย์ใช้ทุนได้มีโอกาสราวด์กับอาจารย์
ได้เห็นว่าถึงแม้อาจารย์จะยุ่งมาก
แต่อาจารย์ก็สละเวลามาสอนทำหัตถการพื้นฐานทางไตด้วยตนเอง
จนกระทั่งพี่หลายคนมาทักว่าน้องมีบุญมากนะถึงได้อาจารย์มาสอนเอง
ได้เห็นอาจารย์สั่งการรักษาด้วยการกรองพลาสมาแบบสองชั้นเป็นครั้งแรก
ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทยในเวลานั้น
.
วันหนึ่งอาจารย์ได้ฝากพี่แพทย์ประจำบ้านท่านหนึ่งมาถามว่า
สนใจเรียนต่อด้านโรคไตหรือไม่ ถ้าสนใจให้แวะมาคุยกับอาจารย์
จึงมีโอกาสได้ไปปรึกษาอาจารย์ และอาจารย์ก็ได้ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี
พอเสร็จแล้วจึงขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสในการเรียนต่อ
อาจารย์กลับปฏิเสธพร้อมยิ้มๆ และบอกว่า
“อย่าคิดว่าผมให้โอกาส โอกาสที่ได้มานั้นเราได้มาเพราะเราทำตัวดี เราจึงมีโอกาสนั้น”
.
ระหว่างไปเรียนต่อนี้อาจารย์ก็ได้ทำงานเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล
แม้จะไม่ได้กลับมาที่นี่ แต่ในช่วงมหาอุทกภัยอันหนักหน่วงของประเทศ
ก็ได้ข่าวการปฏิบัติงานอย่างหนัก และการตัดสินใจอันเฉียบขาดของอาจารย์อยู่อย่างไม่ขาดสาย
นอกจากนี้อาจารย์ยังพัฒนาโรงพยาบาลในอีกหลายด้าน
หลังจากเรียนจบกลับมาจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนหลายอย่างของโรงพยาบาล
.
ยิ่งพอได้มาทำงานโรคไตกับอาจารย์ ยิ่งได้เห็นชัดว่า
อาจารย์เป็นหมอที่ดูแลคนไข้ด้วยความเมตตาอย่างยิ่ง คนไข้รักอาจารย์มากทุกคน
อาจารย์เป็นคนที่มีความรู้กว้างไกล ไม่ใช่แต่เพียงโรคไตเท่านั้น
เรื่องสิทธิการรักษาต่างๆ อาจารย์ก็ทราบเป็นอย่างดี เรื่องนี้แพทย์ประจำบ้านที่ได้ราวด์กับอาจารย์น่าจะรู้ซึ้งเป็นอย่างดี
อาจารย์รู้เรื่องการพัฒนาและการจัดการศูนย์ไตเทียมอย่างทะลุปรุโปร่ง
ศูนย์ไตเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นผลงานอีกชิ้นของอาจารย์ที่อาจารย์ได้สร้างและฝากไว้ให้พัฒนาต่อ
ระหว่างพัฒนาก็มีหลายปัญหาที่เราช่วยกันคิดแก้ปัญหาบางอย่างคิดกันหลายคนเป็นสัปดาห์ก็ยังหาทางออกไม่ได้
แต่อาจารย์กลับทำได้ในชั่วเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น และวางแผนอนาคตต่อในระดับที่ยากที่ใครจะคาดการณ์ได้
การพัฒนาคน และการพัฒนาองค์กรอาจารย์ก็รู้เป็นอย่างดี
อาจารย์และเจ้าหน้าที่หลายท่านเอ่ยปากชมเรื่องเทคนิคและฝีมือการบริหารงานของอาจารย์ให้ได้ยินอยู่เสมอๆ
ฟังกี่ทีก็สัมผัสได้ว่าเป็นคำพูดที่ชื่นชมออกมาจากใจจริง
บางครั้งถึงกับน้ำตาซึมทั้งคนเล่าคนฟังเลยทีเดียว
.
ระหว่างที่ทำงานด้วยกันนี้เห็นได้ชัดว่าอาจารย์ทำงานอย่างหนัก แต่ไม่มีสีหน้าหรือท่าทีจะหมดแรงเลยแม้แต่น้อย
บางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่าอาจารย์ไปเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน ทำมาแบบนี้เป็นสิบๆ ปี โดยไม่เหน็ดเหนี่อย
จนบางทีก็อดอายอาจารย์ไม่ได้ที่จะบ่นเหนื่อยทั้งที่เพิ่งทำงานมาเพียงไม่กี่ปี
.
อาจารย์รู้จักคนมากมาย ทุกระดับ ไม่เว้นแม่แต่แม่บ้าน ช่าง ไล่ไปจนถึงอธิการบดีอาจารย์ก็รู้จักเป็นอย่างดี
และที่สำคัญอาจารย์เป็นที่รักและเคารพของคนที่ทำงานร่วมกับอาจารย์ทั้งสิ้น
เห็นได้ชัดในวันที่อาจารย์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
แทบทุกครั้งที่ไปเยี่ยมอาจารย์จะต้องเจอกับคิวของคนที่มาเข้าคิวเยี่ยมอาจารย์อยู่เสมอๆ
สีหน้าทุกคนที่รอเยี่ยมนั้นเต็มไปด้วยความเต็มใจ แม้จะต้องรอกันนานแค่ไหนก็ตาม
และกลับออกมาด้วยสีหน้าที่ปลื้มปริ่ม เพราะอาจารย์ทักทายกับทุกคนอย่างเป็นกันเอง
หลายครั้งแทนที่คนเยี่ยมจะได้ให้กำลังใจอาจารย์ แต่กลายเป็นอาจารย์กลับให้กำลังใจคนไปเยี่ยมแทน
ทั้งที่อาจารย์ป่วยอาจารย์ก็ยังเป็นห่วงทุกคน
ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมอาจารย์ด้วยความเป็นห่วง กลับได้คำพูดมาว่าช่วงนี้คงเหนื่อยหน่อยนะ ถ้าไหวเมื่อไหร่จะรีบกลับไปช่วย
และอาจารย์ยังคงทำงานเท่าที่จะสามารถทำได้อยู่ตลอดระหว่างที่ป่วย
.
วันที่อาจารย์มีอาการป่วยนั้นอาจารย์ก็เป็นคนแรกที่พูดว่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง
ทั้งที่ผลการตรวจทั้งหลายในเวลานั้นยังไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งด้วยซ้ำ
พยายามคิดปลอบใจตัวเองอยู่หลายครั้งว่าขอให้ครั้งนี้อาจารย์วินิจฉัยผิด
แต่จนแล้วจนรอดอาจารย์ก็ยังวินิจฉัยได้แม่นยำอยู่เสมอแม้แต่ในเรื่องการเจ็บป่วยของตัวเอง
ตอนนั้นก็ได้แต่หวังว่าอาจารย์อาจจะเป็นคนที่รักษาแล้วหายขาดก็ได้
แม้ท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น
.
ช่วงก่อนที่จะมาเรียนต่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมอาจารย์หลายครั้ง
แม้ว่าอาจารย์จะรู้สึกอ่อนเพลียจากอาการเจ็บป่วยแต่อาจารย์ก็พยายามลุกขึ้นมาคุยด้วยทุกครั้ง
การไปเยี่ยมด้วยความเป็นห่วงอาจารย์ อยากให้อาจารย์ได้พักผ่อน
ทุกครั้งกลับกลายเป็นว่าอาจารย์ลุกขึ้นมาให้คำแนะนำเรื่องการเรียนและการทำงานในอนาคตแทน
จนอดคิดไม่ได้ว่าการไปเยี่ยมจะทำให้อาจารย์เหนื่อยกว่าเดิมหรือเปล่า
.
๑ วันก่อนออกเดินทางมาเรียนต่อต่างประเทศได้ไปเยี่ยมอาจารย์อีกครั้ง
ความรู้สึกลึกๆ ครั้งนี้มันไม่เหมือนทุกครั้งที่มาเยี่ยม
มันสังหรณ์ใจเหมือนกับว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เจอกับอาจารย์
อาจารย์บอกให้กลับบ้านไปเตรียมตัวเดินทางแต่ก็ยังลังเลที่จะเดินออกจากห้องพักอาจารย์
ไหว้ลาอาจารย์แล้วก็ไม่อยากออกจากห้อง ไหว้แล้วไว้อีก ไหว้ไปสามครั้งกว่าจะได้ออกจากห้องพักอาจารย์จริงๆ
พอออกมาแล้วมันใจหายอย่างบอกไม่ถูก
.
วันที่ได้ทราบข่าวอาจารย์ใจนึงก็ใจหาย
แต่ใจนึงก็โล่งใจเพราะรู้ว่าอาจารย์จะไม่ต้องทนทรมานจากโรคอีก
ยิ่งได้เห็นข้อความและรูปที่หลายคนเขียนถึงอาจารย์ก็ยิ่งซาบซึ้ง
จนภาพในอดีตหลายๆ ภาพมันกลับขึ้นมาในใจ
.
ภาพวันแรกที่อาจารย์เลคเชอร์ตอนเป็น นศพ. ปี ๔ ที่ห้องเลคเชอร์สถานคลินิก
ภาพรอยยิ้มของอาจารย์ตอนที่ตอบคำถามอาจารย์ได้ตอน นศพ. ปี ๖ ที่ห้องเลคเชอร์เล็กสถานคลินิก
ภาพวันที่อาจารย์มาสอนทำหัตถการตอนแพทย์ใช้ทุนที่หอผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม
ภาพวันที่เข้าไปปรึกษาอาจารย์เรื่องจะเรียนต่อโรคไตตอนแพทย์ใช้ทุนปี ๒ ที่ห้องผู้ป่วยนอกอายุกรรม
ภาพวันที่เข้าประชุมกับอาจารย์ตอนสร้างศูนย์ไตเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ชั้น ๗ โรงพยาบาลฯ
ภาพวันที่อาจารย์เดินมาทักในโรงพยาบาล พร้อมรอยยิ้มและคำพูดให้กำลังใจ “เหนื่อยหน่อยนะ” “ไหวไหม” ฯลฯ
ภาพใบหน้าเปื้อนยิ้มของอาจารย์เวลาไปเยี่ยมอาจารย์ที่หอผู้ป่วย
.
อย่างน้อยเราก็โชคดีที่ได้ทำงานกับ
อาจารย์ผู้ที่ประทับใจมาตั้งแต่ นศพ. ปี ๔
อาจารย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนต่อโรคไต
อาจารย์ผู้หยิบยื่นโอกาสในการเรียนต่อให้ด้วยตัวเอง
อาจารย์ผู้ให้โอกาสในการทำงานอย่างเชื่อใจแบบที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้รับมาก่อน
อาจารย์ผู้ให้ความรู้และให้คำแนะนำต่างๆ ตั้งแต่พบกันครั้งแรก และให้มาตลอด ๑๖ ปีจนถึงครั้งสุดท้ายที่ได้พบกัน
อาจารย์ผู้ที่เป็นยิ่งกว่าอาจารย์อย่างแท้จริง
.
โอกาสนี้ขออารธนาคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลพิภพ และคุณธรรมความดีที่อาจารย์ได้สร้างมาตลอดชีวิต
ได้โปรดดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของอาจารย์ไปสู่สุคติในสัมปรายภพที่ดีด้วยเทอญ
.
ผศ.นพ.ภัทรวิน ภัทรนิธิมา
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา



ภาพโดยพี่หลิน ในงานรดน้ำดำหัวของไตเทียมเนืองในประเพณีสงกรานต์ ปี ๒๕๕๘ ณ ศูนย์ไตเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ

*************************

สู่ สุคติ นะครับ พี่แซม(รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ศุภชัย ฐิติอาชากุล) พชม 24

ความงดงาม ใน ความเศร้า ..
มรณานุสติ สำหรับพวกเราที่ยังอยู่ ... คิดกันไว้หรือยัง เมื่อถึงวันที่เราจากไป อยากให้คนที่ยังอยู่ พูดถึงเราแบบไหน ?



Create Date : 22 สิงหาคม 2561
Last Update : 22 สิงหาคม 2561 21:44:55 น. 0 comments
Counter : 2302 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]