ทำไม ผมถึงลาออกจากราชการ .... เรื่องเก่าเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2551 เอามาเล่าสู่กันฟัง
ทำไม ผมถึงลาออกจากราชการการลาออก จากราชการ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมี ข้าราชการคนไหน ที่ตั้งใจไว้ว่า เข้ามารับราชการแล้ว จะลาออก .. ส่วนใหญ่ ก็ตั้งใจว่า จะทำงานราชการไปเรื่อย ๆ ... เมื่อข้าราชการคนหนึ่ง อยากจะลาออก ก็มักจะมีสาเหตุ หลายประการ รวม ๆ กัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว ดังนั้น การที่จะให้บอกแน่ ๆ ว่า ลาออกเพราะอะไรนั้น จึงค่อนข้างยาก ที่จะระบุให้ชัดเจน ... สำหรับตัวผม สาเหตุที่ออก หลัก ๆ เลย ก็เป็นเรื่อง ลักษณะงานของหมอผ่าตัด เนื่องจาก ผมดูแล้วงานมีแต่เยอะขึ้น ขณะที่อายุเราก็เยอะขึ้น ด้วยเช่นกัน (ถึงแม้ตอนนี้ยังหนุ่มอยู่ก็ตาม ) เมื่อ ผมดูพี่ ๆ ออร์โธฯ หรือ ศัลย์ ในรพ. ที่อายุมากแล้ว แต่ต้องมาอยู่เวรดึก ๆ ต้องมาถูกตามในวันหยุด ซึ่งควรจะเป็นวันที่ได้พักผ่อน .. แล้วผมคิดว่า ผมไม่อยากเป็นแบบนี้ไปอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้า ส่วนสาเหตุรอง ๆ มีเพียบ เช่น เรื่องร้องเรียนเยอะขึ้น ความต้องการของผู้ป่วย (ญาติ) มากขึ้น ต้องการให้เรารักษาตามใจของเขา ทั้ง ๆ ที่ บางครั้งก็ไม่จำเป็น หรือ บางครั้งก็ไม่ถูกต้อง เสียด้วยซ้ำไป แนวโน้มความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ปริมาณก็มากขึ้น และเรื่องอื่น ๆ อีกบางส่วน ใครบางคนเคยบอก ไว้ว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามองไปทางไหน ก็มีปัญหา คนโน้นก็ไม่ดี คนนี้ก็แย่ อะไร ๆ ก็มีปัญหาไปหมด ให้กลับมามองดูสิว่า คนที่มีปัญหานั้นอาจเป็นตัวเราเอง ก็ได้ ผมก็คิดว่า อาจเป็นจริง แบบนั้นก็ได้ เลยต้องกำจัดปัญหา .........ผมเองครับที่ออกไป หลาย ๆ คนที่เมื่อรู้ว่า หมอลาออก ก็จะคิดว่า ทำไมหมอไม่เสียสละ ? ทำไมไม่อดทน ? ทำไมไม่คิดถึงภาษีที่ประชาชนส่งเสียให้เรียนหมอ ? ทำไม่ท้อแท้ ไม่อยู่แก้ไขปัญหา ที่เป็นอยู่ ? ฯลฯ เลยอยากเล่าให้ฟังความเป็นมา เผื่อจะเข้าใจกันมากขึ้น ( หวังว่า จะเป็นอย่างนั้นนะครับ ) สภาพ งานที่ผมทำอยู่ ที่ รพ.รัฐ ประจำจังหวัด แห่งหนึ่ง ( เป็น รพ.ทั่วไป ขนาด ๓๕๐ เตียง ) มีหมอออร์โธฯ ๓ คน แบ่งงานเท่า ๆ กัน ซึ่งถือว่าโชคดีของผมเหมือนกันที่ พี่ ๆ ยุติธรรม ไม่เอาเปรียบน้อง ไม่เจอแบบที่อ้างว่า พี่อายุมากแล้วขอทำงานน้อยลง ( แต่ได้เงินมากกว่า ) เหมือนบางแผนก งานก็แบ่งง่าย ๆ เหมือนกับทุก ๆ ที่แหละครับ๑. ตรวจผู้ป่วยนอก ๒ วันต่อสัปดาห์ ตรวจครั้งหนึ่งก็ ๘๐-๑๐๐ คนต่อ ๓ ชม. ผู้อำนวยการสั่งว่า ถ้าตรวจไม่หมดในช่วงเช้า บ่ายก็ต้องมาตรวจให้หมด ผมก็เลยต้องพยายามตรวจให้หมด อย่างรวดเร็ว ซึ่งเครียดมากเหมือนกัน แล้วเดี๋ยวนี้ มีคนไข้ประเภทขอมากขึ้น ตั้งใจมาขอโดยเฉพาะ ขอยาเยอะ ๆ ขอยาเดิม ห้ามเปลี่ยน ขอเอกซเรย์ ขอใบส่งตัว ขอ... ขอ.. ฯลฯ บางทีไม่สนว่า เป็นอะไร จะรักษาอย่างไร ประมาณว่า จะเอาแบบเนี๊ย หมอเขียนตามที่สั่งละกัน เมื่อก่อนก็หงุดหงิด ตอนหลัง ๆ ผมก็จะอธิบายแล้วถ้าเขายืนยัน อะไรให้ได้ ก็ให้ไปเลย ไม่คิดมาก ( ถึงแม้จะหงุดหงิดอยู่บ้าง ก็ตาม ) เขาคิดมาจากบ้าน ตั้งว่าจะเอาแบบเนี๊ย แล้วจะให้เรามาอธิบายแค่ ๒ นาทีให้เขาเปลี่ยนใจ มันก็คงทำได้ยาก เคยมีอยู่ช่วงหนึ่ง ก็พยายามเปลี่ยนแปลง โดยขอมาตรวจ opd ตอนบ่าย แทนที่จะเป็นตอนเช้า เพราะคิดว่า ตอนเช้าทุกแผนกก็ตรวจพร้อม ปริมาณคนไข้ ก็จะเยอะ เจ้าหน้าที่ห้องบัตร ห้องยา ฯลฯ ก็จะต้องทำงานหนัก เพราะคนไข้เยอะมาพร้อม ๆ กัน ... คนไข้ก็ต้องรอคิวตรวจ รอคิวรับยานาน ... ผมเลยเปลี่ยนมาตรวจตอนบ่าย ก็ดีขึ้นนะครับ ทั้งคนไข้และเจ้าหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่ปริมาณงานก็เท่า ๆ เดิม แต่ กระจายงานมาอยู่ในช่วงบ่าย ซึ่งไม่ค่อยยุ่ง ทำให้สะดวกขึ้น คนไข้ก็ไม่ต้องรอนาน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องเร่งทำงาน ... ทำไปได้สักพัก ก็มีปัญหาอีก เพราะ ปกติเจ้าหน้าที่จะว่างช่วงบ่าย แต่พอผมเปลี่ยนมาตรวจช่วงบ่าย เขา/เธอ ก็ไม่ว่าง คนไข้บางคนก็บ่นว่า บ้านไกล ไม่มีรถกลับ ( ให้ไปตรวจกับหมออื่นตอนเช้าก็ไม่เอาอีก ) แต่สิ่งที่หนักก็คือ ปริมาณคนไข้เยอะขึ้นกว่าเดิม ตรวจไม่หมด เลยสี่โมงครึ่ง ก็ต้องตรวจต่อ จะหยุดก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะส่งให้ใครตรวจต่อ จะให้น้องที่อยู่เวร ER ตรวจต่อก็คงไม่ไหว .. พอตรวจต่อ นอกจากผมที่ต้องอยู่ตรวจแล้ว เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ก็ต้องอยู่ด้วย กลายเป็นว่า คนอื่น ๆ เขาก็ต้องมาเดือดร้อน เพราะผม ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่คิดว่า น่าจะทำให้ดีขึ้น พอทำไปได้สัก สี่ห้าเดือน ก็เลยต้องเลิก กลับมาตรวจแบบเดิม เหมือนกับคนอื่น ๆ ตรวจไปให้ได้มากที่สุด เที่ยงก็ได้พัก เหลือบ่ายก็ให้แพทย์ที่ออกตรวจตอนบ่าย ตรวจต่อให้ ... เหมือนกันกับแผนกอื่น ๆ ( ช่วงหลัง ผู้อำนวยการออกคำสั่งให้แพทย์ทุกแผนกตรวจคนไข้ให้หมดในช่วงเช้า ถ้าไม่หมด ก็ต้องมาตรวจต่อตอนบ่าย )๒. อยู่เวรใน สลับกันไป ๓ คน อยู่ประมาณ ๒๔-๒๖ เวรต่อเดือน หรือ ๖-๗ เวรต่ออาทิตย์ ( ๘ ชม. ต่อเวร วันราชการก็ ๒ เวร บ่าย ดึก แต่ถ้าวันหยุด ก็จะเป็น ๓ เวร เช้า บ่าย ดึก ) ซึ่งอยู่เวรแต่ละวัน มีคนไข้ฉุกเฉินให้ผ่าตลอด ถ้าวันไหนอยู่เวรแล้วไม่มีตาม ถือว่าผิดปกติ ต้องโทรไปถามว่า วันนี้ผมอยู่เวรหรือเปล่า :-p แล้วถ้าอยู่เวรแล้วได้กลับบ้านก่อนเที่ยงคืน ก็ถือว่าเป็นเวรที่ค่อนข้างสบาย ส่วนใหญ่เกินเที่ยงคืน เฉลี่ย ๖ เดือนก่อนที่ผมจะลาออก คนไข้ที่ต้องมาทำนอกเวลาราชการ ทั้งผ่าและไม่ผ่า ก็ประมาณ 80 รายต่อเดือน พอคิด work load ก็มักจะเกิน ๒๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ( ถ้าใครสนใจ ก็ติดต่อมาได้เลยครับ รายได้ดีเหมือนกัน ถ้าทำไหว ) ๓. วันผ่าตัด เนื่องจากมีแพทย์หลายคน หลายแผนก แต่ห้องผ่าตัดมีน้อย เลยต้องใช้วิธีแบ่งกัน โดยให้มีวันประจำ ของแพทย์แต่ละคน ที่จะผ่าตัด ก็แบ่งคนละ ๑ วัน ต่อ อาทิตย์ ถ้ามีคนไข้เหลือเยอะ ก็หาเวลาแทรก ๆ ไป ในบางวันที่แพทย์เจ้าของห้อง ไม่มีคนไข้ผ่า หรือ ผ่าตัดเสร็จเร็วกว่าที่คาดไว ซึ่งก็ทำให้ ผมไม่เคยมีอาทิตย์ไหนเลยที่ว่าง ไม่ต้องผ่าตัด มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมเคยทำตารางนัดผ่าตัดผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วน( case elective ) วันผ่าตัดละ ๒ คน (อาทิตย์ละ ๒ คน) ก็สะสมไปเรื่อย ๆ จนนัดนานเป็นปี เลยครับ จนต้องเลิกใช้ตารางนัดผ่าตัด เพราะถูกร้องเรียนว่า รอคิวผ่าตัดนาน กลับมาใช้วิธีเดิม ๆ ก็คือไม่ต้องนัดกันแล้ว เสี่ยงดวงกันหน่อย ถ้าใครโชคดีมาช่วงที่ว่าง ก็ได้ผ่าเร็ว ใครมาช่วงคนไข้อุบัติเหตุเยอะ ๆ ก็ต้องรอไปก่อน อาทิตย์หน้าค่อยมาใหม่ เหมือนกับแพทย์ท่านอื่น ๆ ที่ไม่มีตารางนัดผ่าตัด ก็ไม่มีเรื่องร้องเรียนว่า นัดผ่าตัดนาน เพราะไม่มีนัดแล้ว ... แต่ปัญหาของคนไข้ และ หมอ ก็คือ ไม่รู้ว่าจะได้ผ่าวันไหน วางแผนไม่ได้เลย ...คนไข้บางคนมาเป็นสิบครั้งก็ไม่ได้ผ่า เพราะไม่เร่งด่วน มีคนไข้ที่เร่งด่วนกว่า ให้หมอผ่าทุกอาทิตย์ไป๔. งานอื่น ๆ เช่น อยู่ตรวจ opd บ่าย เวรชันสูตร งานบริหาร ประชุม เป็นต้น เมื่อ ๕-๖ ปีก่อน หน้าที่ผมจะลาออก ในความรู้สึกผมตอนนั้นก็คือ งานมันเยอะมากเกินไป ( เงินก็ชักไม่อยากได้แล้ว ) แล้วความต้องการ ข้อเรียกร้อง ของผู้ป่วยและญาติ ก็มากขึ้น เสียงบ่น เสียงว่าให้เข้าหู บ่นว่าต่อหน้า ก็เยอะมากขึ้น เมื่อเทียบกับตอนที่ผมมาทำงานใหม่ ๆ ...... เลย มาคิดว่า อยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ คงไม่ไหว เหนื่อยทั้งกาย ( คนไข้เยอะขึ้น ผ่าตัดเยอะขึ้น อยู่เวรดึก ๆ วันรุ่งขึ้นก็ต้องมาทำงาน หมอก็น้อย โอกาสที่มีหมอเยอะขึ้นกว่านี้ ก็แทบไม่มีโอกาส ) เหนื่อยทั้งใจ ( การเรียกร้อง เรื่องร้องเรียนเยอะขึ้น มีบางท่านโดนฟ้องร้องด้วย ) เหนื่อยกายไม่เท่าไหร่ พอได้พักก็หาย แต่เหนื่อยใจนี่สิครับ เราทำงานเต็มที่แล้ว ยังต้องมาคอยระวังว่า จะโดนฟ้องเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แบบนี้ไม่ไหว แล้วฟ้อง ไม่ใช่แค่ฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหาย อย่างเดียว ( เดี๋ยวนี้ก็เรียกค่าเสียหายเยอะด้วยสิครับ หลายล้าน ซึ่งบางที ผมยังคิดเลยว่า ผมทำงานทั้งชีวิต ก็คงไม่มีเงินเก็บถึงขนาดนั้น ) แต่ยังฟ้องอาญา ให้ติดคุก อีกต่างหาก หลาย ๆ คนก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก โอกาสมันน้อยมาก ๆ แล้วถ้าโดนฟ้อง รัฐ ก็ช่วยอยู่แล้ว ก็จริงครับ ถ้าฟ้องแพ่ง เมื่อศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหาย ในฐานะเป็นข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุข ก็มาช่วยเรื่องเงินค่าเสียหาย แต่ หมอก็จะต้องถูกสอบสวน ต้องขึ้นศาล กว่าเรื่องจะจบก็ใช้เวลาหลายปี สภาพจิตใจตอนนั้นเป็นอย่างไร ถ้าใครไม่เคยเจอ ไม่เคยโดนฟ้อง ก็ไม่รู้หรอกครับ ว่า ทุกข์ทรมานขนาดไหน นี่ยังไม่รวมถึง ชื่อเสียงที่เสียหายด้วยนะครับ ... เรื่องฟ้องแพ่ง ก็พอมีคนช่วยบ้าง แต่ฟ้องอาญานี่สิครับ หมอรับไปเต็ม ๆ คนเดียวเลย ถึงแม้จะมีคนมาช่วยเหลือเรื่องคดี แต่ถ้าศาลตัดสินว่า ผิดจริง งานนี้ คุก เต็ม ๆ เลยนะครับ อย่าบอกว่า ไม่เคยเกิดขึ้น ที่ศาลตัดสินให้หมอติดคุก ... ตอน แรก ๆ ผมวางแผนไว้ว่า ตอนอายุ ๔๐ ค่อยตัดสินใจว่า จะอยู่หรือจะออกจากราชการ แต่ดู ๆ แล้วยังไง ก็ไม่ได้อยู่ถึงเกษียรแน่นอน ผมจึงเริ่มหาทางเลือกอื่น ทำไปด้วย .. เริ่มจาก เปิดคลินิก และ รับปรึกษา รพ.เอกชน ผ่านไปสี่ห้าปีก็เห็นว่า น่าจะพอไหว เลยลาออกจากราชการ .... คิดวางแผนล่วงหน้าหลายปีนะครับ ไม่ใช่ว่านึกจะออก ก็ออกเลย ... อ้อ ผม เรียนจบออร์โธฯ มาก็ทำงาน รพ.รับราชการอย่างเดียว ไม่ทำเอกชน ไม่เปิดคลินิก เป็นแพทย์ออร์โธฯและหัวหน้าฝ่ายวิชาการ (พคบว) ทำอยู่ ๕ ปี ก็ได้อะไรเยอะครับ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี (และไม่ดี ???) ได้เข้าใจว่า สิ่งที่เราคิดว่า ดี คนอื่นเขาอาจคิดอีกอย่าง แล้วก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจคนมากขึ้น ตอนจบใหม่ ๆ ไฟแรง ( มาก ) เห็นปัญหา ก็คิดว่า ทำไม ไม่มีใครแก้ไข คิดว่า แก้ไขไม่ยาก แต่พอทำจริง ๆ จึงเข้าใจว่า ทำไม ถึงยังเป็นปัญหาอยู่จนมาถึงเรา ....... เคยมีรุ่นพี่ คนหนึ่งบอกว่า ปัญหาที่มีอยู่ มันไม่ได้พึ่งมี มันมีมานานแล้ว ถ้ามันแก้ไขได้ง่าย ๆ มันก็คงไม่เป็นปัญหามาถึงเราหรอก ทำตั้งนาน ถึงเข้าใจ เมื่อ ตัดสินใจแน่นอน ก็ได้แจ้งผู้อำนวยการและพี่ ๆ ล่วงหน้า ๖ เดือน มีแต่คนคิดว่า จะออกจริงหรือ ? ทำไมต้องบอกล่วงหน้านานขนาดนั้น จะต่อรองอะไรหรือเปล่า ??? อย่างว่าแหละครับ ต้องรอจนกระทั่งยื่นใบลาออกแล้วถึงจะเชื่อว่า ออกจริง คนส่วนใหญ่จะคิดว่า ที่หมอลาออกกันนั้น เป็นเพราะเรื่อง เงิน แต่ผมบอกเลยนะครับ เท่าที่คุยกับหมอหลาย ๆ คนที่ลาออก ไม่มีคนไหนเลยครับที่ลาออกเพราะ รัฐ ให้เงินน้อย ...แต่ออกด้วยสาเหตุอื่น ๆ มากกว่า ถ้ายังคิดแก้ไขปัญหา แพทย์ลาออก ด้วยการเพิ่มเงิน ผมบอกเลยว่า ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ ... การเพิ่มเงิน ช่วยได้เพียงแค่ ให้หมอที่อยู่ราชการ อยู่แล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้น มีแรงใจเพิ่มขึ้น เท่านั้นเอง ... แต่หมอที่ตัดสินใจว่า จะออก ก็ออกอยู่ดี ... แล้วการใช้วิธีเพิ่มเงิน ก็ทำมาตั้งหลายปี หลายรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สามารถ หยุดยั้งการลาออกของหมอใน รพ.รัฐ ผู้รับผิดชอบ ก็น่าจะคิดได้แล้วว่า วิธีแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเงิน ไม่ได้ผล คงต้องหาวิธีอื่น ๆ มาใช้ร่วมด้วย และ ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วด้วย เพราะยิ่งช้า หมอที่อยู่ รพ.รัฐ ก็จะน้อยลง แต่ปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้หมอที่ยังไม่คิดจะลาออก ก็อาจทนไม่ไหว ลาออกตามมาด้วย โดย: หมอหมู วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:52:52 น. ปล.ผมเขียนบทความนี้ ลงในบล๊อกนานแล้ว นำกลับมาเล่าสู่กันฟังอีกรอบ แล้วผมก็คิดว่า ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีแพทย์อีกหลายท่านที่มีประสบการณ์คล้ายกับผม ....
Create Date : 28 มกราคม 2554
Last Update : 12 กรกฎาคม 2560 13:29:20 น.
15 comments
Counter : 3935 Pageviews.
โดย: อาคุงกล่อง วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:16:45:55 น.
โดย: kithe วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:17:01:50 น.
โดย: nordcapp (nordcapp ) วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:19:02:42 น.
โดย: narellan วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:19:20:19 น.
โดย: JustHolla วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:20:03:43 น.
โดย: ฟ้า (kurobina ) วันที่: 29 มกราคม 2554 เวลา:23:32:48 น.
โดย: JustHolla วันที่: 30 มกราคม 2554 เวลา:18:44:09 น.
โดย: หมอหมู วันที่: 11 กรกฎาคม 2560 เวลา:20:35:45 น.
โดย: หมอหมู วันที่: 12 กรกฎาคม 2560 เวลา:20:45:18 น.
โดย: หมอหมู วันที่: 13 กรกฎาคม 2560 เวลา:20:18:35 น.
โดย: หมอหมู วันที่: 29 กรกฎาคม 2560 เวลา:14:19:10 น.
หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand
[Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [? ]
ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ ) หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป ) นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู ) ปล. ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..
มาเยี่ยมชม มาทักทายครับ
มาอ่านแล้วก้ได้เข้าใจในอาชีพหมอมากขึ้นครับ ขอบคุณหมอหมูมากเลยครับ ที่เขียนอธิบายให้เข้าใจ เพราะว่าที่ผ่านมาผมก็อยู่ในฝ่ายคนไข้ที่ใช้บริการอย่างเดียว ก็ได้แต่บ่นหมอว่า ทำไมคนไข้ต้องรอนานจัง ... แต่ตอนนี้เริ่มเข้าใจในปัญหาและสาเหตุต่าง ๆ ของอาชีพหมอแล้วครับ
เป็นกำลังใจให้แก่หมอหมูครับ
อิอิ