Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ดราม่าหมอมากมาย กับกำลังใจที่หดหาย สังคมกำลังลงโทษแพทย์? แน่ใจเหรอว่าแพทย์เลวทุกคน?




ดราม่าหมอมากมาย กับกำลังใจที่หดหาย สังคมกำลังลงโทษแพทย์? แน่ใจเหรอว่าแพทย์เลวทุกคน?
//pantip.com/topic/33690162


เป็นหมอที่ทำงานรพ.ศูนย์ขนาดใหญ่รพ.นึง ทำงานมาก็หลายสิบปี ตอนนี้มานั่งอ่านเฟสเห็นแชร์กระทู้ดราม่ากันมากมาย แล้วรู้สึกหดหู่ใจมาก
ไม่ใช่ไม่เข้าใจว่าโลกกำลังเปลี่ยน ค่านิยมสังคมก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนอาชีพหมอรุ่งเรืองมาก เพราะถือว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตพูดอะไรไปคนไข้ก็เชื่อ
เพราะไม่มีใครรู้ไปเท่าหมอ สมัยนี้วิทยาการก้าวหน้า คนไข้ได้รับข้อมูลหลายด้าน บางคนศึกษามาก่อน ทำให้รู้มามากกว่าเดิม แต่บางครั้งก็เป็นข้อมูลที่ผิด
การดูแลรักษาให้การวินิจฉัย ไม่สามารถเปิดหนังสือเอาตำรามากางแล้ววินิจฉัยได้ ไม่เช่นนั้นหมอก็คงไม่จำเป็น ใช้โปรแกรมคอมก็จบ แต่เมื่อมันมาจุดนี้หมอเราก็ต้องยอมรับและปรับตัว เราไม่สามารถพูดอะไรทำอะไรง่ายๆได้ ทุกอย่างต้องมีหลักฐานหลักการ และตรวจสอบได้

ตอนนี้กลายเป็นค่านิยมเป็นกระแสว่า หมอต้องถูกตรวจสอบ ถูกจับผิด เตรียมตัวโดนร้องเรียนฟ้องร้อง เพราะอะไร ? เพราะสมัยนี้ใครโวยได้เงิน?
เพราะถ้าโวยจะเกิดการเปลี่ยนแปลง? เกิดการได้รับบริการที่ดีขึ้น?
แล้วหมอโดนร้องเรียนเรื่องอะไร? การให้บริการล่าช้า? ผิดพลาด? แพง?
มาดูกันว่าทำไมเป็นหมอมันไม่ง่ายและสวยงามแบบที่คนส่วนใหญ่เคยมอง
1. โดนถ่ายรูป อัดคลิป แอบอัด

เจอบ่อยมากแทบทุกคนที่โดนมา ทั้งๆที่มันผิดกฏหมายก็แอบทำ เพื่อจะเอาไปเป็นข้อมูลว่า ถ้าหมอบอกไม่เป็นไรแล้วเป็นจะเอามาฟ้องต่อ
อยากให้คนไข้และญาติเข้าใจเราบ้าง งานหมอในรพ.รัฐบาลบทบาทจะไม่เหมือนเอกชนและในโรงเรียนแพทย์ เรามีหมอน้อยมากเทียบกับปริมาณคนไข้ที่หลั่งไหลกันมาเพราะความเชื่อใจ การที่หมอเลือกมาทำงานรพ.รัฐบาลที่งานหนักเงินน้อย เพราะอยากดูแลรักษาคนไข้บ้านเกิดเมืองนอน เราทำงานไม่มีวันหยุด นอกเวลาหรือนักขัตฤกษ์เราก็มาทำงาน จนคนมองว่ามันปกติ แต่อย่าลืมว่านอกเวลานั้นเราไม่ได้ค่าตอบแทนอะไร เรามาทำงานเพราะถูกปลูกฝังมาให้อย่าทิ้งคนไข้ และเสียสละ เราตั้งใจดีหวังดี แต่พอมาดูแลคนไข้เช้าวันหยุดแบบนี้ โดนแอบถ่ายคลิป โดนล่อให้พูดให้สัญญาว่าคนไข้จะหายไม่เป็นอะไร หมอเห็นนะคะ ป้ายก็มีติดว่าห้ามถ่าย แต่ก็ยังโดนแอบถ่าย เราก็ได้แต่ทอดถอนใจ ก็อธิบายไปตามปกติ แต่ลองคิดถึงใจคนที่ตั้งใจทำงานมาเพื่อช่วยเค้า แต่เค้ากลับจับผิดหวังจะย้อนกลับมาทำร้าย เป็นใครจะไม่ท้อ มองในแง่ดีว่าอาจจะฟังไม่ทันอยากกลับไปฟังใหม่ก็ได้ แต่ช่วยบอกช่วยขออนุญาตกันก่อนสักนิด จะรู้สึกดีขึ้นมากนะคะ

2. คนส่วนใหญ่มองว่า หมอชอบบ่นงานหนัก ก็เลือกมาเรียนเองนี่นา จะบ่นอะไร

เลือกมาเรียนจริงค่ะ แต่พวกเราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันจะหนักหนาทั้งกายใจขนาดนี้ ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เราต้องตกเป็นจำเลยสังคมทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ขึ้นชื่อว่าหมอ ก็เตรียมตัวโดนจับผิดโดนร้องเรียนโดนฟ้อง งานหมอแต่ละ field ไม่เหมือนกัน ต่างกันไปในแต่ละรพ. อาจจะหนักเบาไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่ นอนไม่เต็มที่กินต้องเร็วไว้ก่อน เพราะไม่รู้จะโดนตามเมื่อไร ก็อยากให้มองในมุมของพวกเราบ้าง ว่างานมันหนักเพราะเราเลือกที่จะทำงานหนักนี้ เพื่อผลตอบแทนที่แสนจะไม่คุ้มกับความเหนื่อย เพื่อที่จะรักษาคนไข้ที่เค้าลำบากในต่างจังหวัด ไม่ได้อยากจะไปรักษาด้านอื่นๆที่สบายๆ เราเรียนมาเราก็อยากใช้ความรู้ที่มีกับคนที่เค้าต้องการเรา งานหนักบ่นกระปอดประแปด ถามว่าทำต่อมั้ย ก็ทำต่อค่ะ แต่หนักใจที่ทำไมทุกวันนี้คนไข้และญาติมองพวกเราเป็นศัตรูมากขึ้น ทำไมไม่เห็นในคุณค่าที่เราทำ บางคนพูดใส่หน้าว่า ไม่ต้องขอบคุณหมอหรอก เพราะหมอเรียนมาหน้าที่รักษาคนไข้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่เป็นบุญคุณอะไร อยากตอบว่า เราทำหน้าที่จริงๆค่ะ แต่เราใช้ใจที่ทำงานด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าสั่งการรักษา คำว่าขอบคุณมันคงจะไม่ลำบากเกินไปทีคุณจะพูดแล้วจะสามารถสร้างกำลังใจให้พวกเราได้เยอะมาก ขอเถอะนะคะ ขอบคุณค่ะ

3. คนบอกว่า ทุกอาชีพก็เหนื่อยหนัก เครียดด้านอื่นเหมือนกันกับหมอแหละ

ความต่างจากอาชีพอื่นก็คือ หมอทำงานต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ 100%   หนึ่งบวกหนึ่งไม่เท่ากับสองเสมอไป เหมือนที่โรงเรียนแพทย์สอนว่า ไม่มีอะไร 100% in medicine ปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาเปลี่ยนแปลงมีทั้งจากตัวคนไข้ การดื้อยา การดูแล โรคประจำตัว และการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ อาชีพอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตรงไปตรงมา ทำรอบคอบก็พลาดน้อย แต่ของเราบางทีทำแทบตายดูแทบแย่ ลงท้ายก็ช่วยไม่ได้ แต่โดนโทษว่าเพราะเรา กาดูแลรักษาทางการแพทย์จะมองให้มันมีแง่ผิด มันผิดได้เสมอ เช่น ง่ายๆ กรณีที่มีแพทย์ รพช ต้องติดคุก เพราะ ผ่าตัดไส้ติ่งเอง ไม่ได้ refer มา รพ.ศุนย์  ทำไมน้องต้องได้รับโทษ เพราะกฏหมายตีความว่า น้องทำเกินขอบเขตความสามารถที่เรียนมาทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คนอ่านข่าวนอกวงการก็มองว่า เออ แย่ บลาๆ แต่รู้มั้ยว่า หมอรพช ขาดแคลน ไม่มีหมอดมยา ไม่มีหมอศัลย์ คนไข้ภาวะฉุกเฉิน เดินทางไปไกลเสี่ยง ลำบาก หมอหวังดีอยากช่วย ผ่าตัดให้เพราะเคยมีประสบการณ์ผ่าตัดมาก่อนหลายเคส พอให้ยาชาเข้าไขสันหลัง เกิดกดการหายใจ เสียชีวิต เรียก high block ซึ่งไม่ได้เกิดในทุกราย และคาดเดาไม่ได้ แต่หมอก็โดนรับโทษไปเต็มๆ แล้วใครล่ะจะอยากทำอะไรเพื่อคนไข้ ในเมื่อเสียสละแล้วเจอแบบนี้ จึงเป็นที่มาว่า อะไรไม่ใช่หน้าที่ชั้น refer อย่างเดียว ลดความเสี่ยง แล้วเกิดอะไร คนไข้มากระจุกที่รพ.ศูนย์ รอนาน ตรวจไม่ทัน ล้น คนไข้ร้องเรียนไม่พอใจ พอปริมาณคนไข้มาก ความผิดพลาดก็เยอะขึ้น โดนฟ้องต่อ วัฏจักรชีวิตแบบนี้ คุณๆว่าเหมือนอาชีพอื่นๆมั้ย ความเครียดรอบด้านที่กดดันจากทั้งคนไข้และญาติ กระแสสังคม แม้แต่ผู้บริหารเองที่พร่ำบอกว่าเราต้องบริการให้คนไข้พอใจ แต่คุณภาพชีวิตและจิตใจของพวกเราล่ะ พวกคุณได้มองกลับกันบ้างหรือเปล่า ถ้าเราทุกคนมองแต่จะเอาแต่ได้ในมุมของตัวเอง มองในมุมลำบากของพวกเราบ้าง ทุกวันนี้พวกเราพยายามทำเต็มที่ด้วยแรงที่ยังมี ผู้บริหารเค้าจะเข้าใจเราได้ยังไง ในเมื่องาน service ไม่เคยมาถึงมือเค้า มีปัญหาอะไร พวกหมอ labor นี่แหละที่เป็นหนังหน้าไฟ น่าสงสารคนไข้และญาติก็จ้องจะทำร้าย ถ้าผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ ผู้บริหารก็บีบกดดัน อยากลาออกกันมั้ย อยาก!  แต่....แก่ปูนนี้จะทำอะไรอย่างอื่นกินได้ นอกจากก้มหน้ารับกรรม และหวังรอคอยว่าสักวัน คนไข้จะเห็นใจเราบ้าง และเหมือนรอระเบิดเวลา เมื่อไรที่เราจะพลาด เมื่อไรที่จะโดน ทำงานแบบนี้คุณจะมีความสุขมั้ย มีอาชีพไหนเป็นแบบนี้

4. พวกหมอโลกสวยบอกว่า ต้องทำตามจรรยาบรรณ ทำบุญกับคนไข้ ภูมิใจในความเป็นหมอ

ไม่ใช่ไม่ภูมิใจ ไม่ใช่ไม่รักในอาชีพ ดีใจทุกครั้งที่ช่วยคนไข้ได้สำเร็จ คนไข้หายกลับบ้าน มีความสุข แค่ความเครียดที่มันกดดันทุกวันนี้มันสะสม
อยากให้ประชาชานทั่วไปได้เข้าใจเรามากขึ้น จรรยาบรรณเราจะมีอยู่จนวันที่ไม่ได้เป็นหมอแล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่ทำงานหนักแบบนี้ หมอๆทั้งหลายก็อย่าเพิ่งท้อใจ เราทำงานเท่าที่เราทำได้เต็มที่ และเมตตาคนไข้ให้มาก แม้ว่าอาจจะขัดกับความรู้สึกเพราะบางคนนั้นแลดูหวังร้ายกับเราสุดๆก็ตาม แต่การตอบโต้โดยแรงเข้าใส่ ไม่ได้ประโยชน์ เค้าคาดหวังเค้าเจ็บป่วยมา ถ้าเราหวังให้เค้ามองมุมเรา เราก็ต้องมองมุมเค้าด้วย การให้ข้อมูลและบันทึกข้อมูลต่างๆสำคัญเสมอ อย่ารู้สึกว่าคนไข้คือศัตรู แม้เค้าจะมองเราเป็นศัตรู ทำหน้าที่ของเรา จนไม่ไหวก็หยุดเถอะนะ

5. เวลา กับ หมอ

คนชอบมองว่าหมอรวย อยากจะบอกว่าไม่ใช่หมอทุกคนจะรวยและสบาย เราเป็นหมอมาจะสามสิบปี ได้เงินจากรพ 40,000 บาทต่อเดือน เทียบกับการทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ถ้าหยุดต้องมาทำงานชดเชยสองเท่า ไม่มี vacation ไม่มีลาป่วย ไม่เคยลาคลอดเพราะยังไม่มีลูก รู้แต่ว่าหยุดก็ต้องมาชดใช้ เวลาที่จะให้ครอบคัวเหรอคะ ได้ทานข้าวเที่ยงด้วยบางวัน และเจอกันตอนเย็นคือ สองทุ่ม กินข้าวเย็น หลับ จบ นี่แหละที่ไม่ยอมมีลูก
สมัยเรียนอาจารย์หมอสอนเสมอว่าเวลามีค่าที่สุด แต่ตอนนั้นอยากได้เงินมาก เลยไม่เชื่อ ตอนนี้เชื่อแล้ว เวลาสำหรับเราสำคัญมากที่สุด
คนบอกอยากเป็นหมอ เพราะคุณเข้าใจว่ามันสวยงามมันดี คุณทนงานหนักได้ ทนเครียดได้ นั่นเพราะคุณไม่เคยได้เข้ามาทำจริงๆ เช่นเดียวกับที่หมอหลายๆคนอยากจะออกไปทำอาชีพอื่นๆ เช่น ครู แม่ค้า ผู้พิพากษา ซึ่งเพื่อนหลายๆคนเค้าก็ออกไปกันแล้ว ทุกคน happy เงินน้อยลงเวลามากขึ้น ความสุขมากขึ้น ตอนนี้เรายังสับสนกับอนาคตว่าจะทำอะไรดี ใจยังรักคนไข้ อยากดูแลสุขภาพพ่อแม่ ถึงยอมทำงานนี้ บางวันเหนื่อยใจมากๆ จนท้อ บางวันคนไข้น่ารักยิ้มให้ ให้กำลังใจ เราก็ฮึดสู้

6. หมอ กับอนาคต

อนาคตที่มองไว้ ไทยเราจะไม่พ้นแบบอเมริกา doctor patient relationship จะหมดไป เป็นแค่ผู้ให้บริการกับลูกค้า หมอก็ซื้อประกันเพื่อกันการฟ้องร้อง คนไข้ก็ฟ้องไป และที่สำคัญที่สุด พอไม่มีความสัมพันธ์แบบหมอคนไข้ สักวันหมอที่มีจรรยาบรรณก็จะหมดไป เพราะทุกคนก็จะมองแต่เอาตัวรอด ต่อสู้กับศัตรู ที่อเมริกาจึงมีหมอ strike หยุดงาน โดยไม่สนอันตรายที่จะเกิดกับคนไข้เพื่อเรียกร้องสิทธิ เมืองไทยเราทำไม่ได้ เพราะพวกเรามีจรรยาบรรณ เราจะไม่ใช้คนไข้เป็นตัวประกัน แต่อนาคตใครจะรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ที่ตามมาคือระบบการให้บริการสุขภาพก็จะมี co pay มากขึ้น จนการรักษาฟรีจะหมดไป กรอบยานอกที่ดีๆแพงๆก็จะหาย เหลือแต่ยา copy หมอไทยน้อยลงเหลือแต่หมอ AEC ที่เค้าไม่ได้แคร์อะไรกับคนไข้ไทย เพราะเค้าไม่ใช่คนไทยอยู่แล้ว  ใครที่จะได้รับผลกระทบ??? ไม่ใช่พวกคนรวยหรือคนที่มีการศึกษาที่ออกมาเรียกร้อง แต่เป็นคนไข้ยากจนที่น่ารักของเรานี่แหละ คนที่เฝ้ารอการรักษาที่มีใจยังรักพวกเราเหล่าหมออยู่ เราไม่อยากให้มีวันนั้นในเมืองไทย


ที่พูดมาทั้งหมดอาจจะไม่สามารถเป็นตัวแทนความรู้สึกหมอไทยทุกคน เพราะบริบทต่างกัน แต่หมอรพ.ศูนย์หรือ intern คงจะรู้สึกไม่ต่างกัน
ไม่ใช่เราไม่อยากทำงาน งานหนักเราทนได้ แต่หนักใจ เพราะความกดดันทั้งหมด อยากให้คนไทยทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์เห็นใจหมอที่ดีที่ยังมีใจเสียสละเพื่อประชาชนบ้าง ให้กำลังใจพวกเค้า อย่าทำเหมือนเค้าคือคนที่พวกคุณเพ่งโทษจับผิด
สำหรับพวกหมอ ถึงเวลาที่พวกคุณจะต้องปรับตัวรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีแล้วความเป็นเทวดาอภิสิทธิ์ของพวกคุณ กลับมาเป็นคนธรรมดาเป็นลูกหลานของคนไข้ รักษาดูแลเค้าเหมือนญาติ เลิกหยิ่งยโสว่าตัวเองเก่งเหนือใคร สังคมกำลังลงโทษที่เราเคยถูก spoiled มาทั้งชีวิต ถึงเวลาที่เราจะลด ego และใช้ใจเมตตามารักษาคนไข้ เรียกความศรัทธาความรัก doctor patient relationship กลับมา ก่อนที่จะสายเกินไป
35
best_brain

กระทู้ร้อนแรง จากเวบพันทิบ ห้องสวนลุม แจมไปนิดหน่อย ^_^

๑. แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติ ฯลฯ ต่างก็เป็นทุกข์จากระบบสาธารณสุข (สารธารณทุกข์) ?
๒. แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติ ฯลฯ ก็มีทั้งดี และ ไม่ดี
๓. ในฐานะ ผู้ที่ยังทำหน้าที่เป็นแพทย์อยู่ .. กระทู้ เรื่องราว ที่เกิดขึ้น อย่างน้อย ก็ทำให้ คุณหมอ ได้รับรู้ว่า " มีผู้ป่วย (ญาติ) บางคน ที่คิดไม่เหมือนกับผู้ป่วย (ญาติ) ส่วนใหญ่ที่เจออยู่ทุกวัน คุณหมอก็จะได้เตรียมพร้อมไว้ว่า วันหนึ่งคุณหมออาจโชคดี (ร้าย) เจอ ผู้ป่วย (ญาติ) บางคน แบบในกระทู้ " ^_^

อ้อ .. ถ้ามีความสุข ในการชี้แจง ก็ทำไป ... แต่จากประสบการณ์ของผม การชี้แจง ในเนต ไม่เคยเปลี่ยนความคิดของใครได้ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า


จริงหรือ ? อาชีพในฝันปัจจุบัน ไม่ใช่ยุคของ "แพทย์" ! ....    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-03-2009&group=7&gblog=20
ทำไม ผมถึงลาออกจากราชการ .... เรื่องเก่าเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2551 เอามาเล่าสู่กันฟัง     //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-01-2011&group=15&gblog=37
ปัญหาสาธารณสุขไทย ความจริงของ “แพทย์ไทย” กับอนาคตไร้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-11-2012&group=7&gblog=169
มุมมองต่อหมอของคนไทยสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้วล่ะมั้ง โดย ปวัน ประสิทธิ์วุฒิ    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=19-06-2011&group=15&gblog=40
เวลาเปลี่ยน คนไข้ (ญาติ) เปลี่ยน แต่ หมอ (บางคน) ไม่ยอมเปลี่ยน ...    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=19-06-2011&group=15&gblog=39
สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ ... เคยมีการวิจัยมาเพียบ เมื่อไหร่จะเริ่มแก้ไข ???    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2010&group=7&gblog=140



Create Date : 25 พฤษภาคม 2558
Last Update : 2 กรกฎาคม 2560 20:27:39 น. 4 comments
Counter : 798 Pageviews.  

 
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ “โปรดอย่าว่า รพ.รัฐเลยครับ”
//www.hfocus.org/content/2015/05/10035

Sun, 2015-05-24 18:22 -- hfocus
นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ข้อเขียนจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ทำนายสถานการณ์การรักษาใน รพ.รัฐ ว่า หากยังปล่อยให้มีสภาพแบบนี้ คือ กำลังคนสุขภาพที่ไม่มีทั้งขวัญและกำลังใจ งานหนัก ค่าตอบแทนต่ำ คน เงิน ของ ที่ไม่เพียงพอ และขาดแคลนไปทุกสิ่งเช่นนี้ ในอนาคตอีกไม่นาน ไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับสถานการณ์ความเสื่อมถอยของระบบสุขภาพภาครัฐที่จะลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมสุขภาพพุ่งโตสวนทางไม่หยุดไปพร้อมกับธุรกิจประกันชีวิตที่หากินจากความเสื่อมถอยด้านคุณภาพของระบบสุขภาพภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดเกิดจา “นโยบายที่แก้ไม่ถูกที่ ชี้ไม่ถูกจุด และการไม่ยอมรับสัจธรรมของชีวิตในระบบสุขภาพ และในสังคม”

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ “โปรดอย่าว่า รพ.รัฐเลยครับ”

“วันเกิดคีน...2558

วันนี้ป๊าอ่านโพสของพี่สาวที่เคารพรักสุดๆ ท่านนึง ที่พาคุณพ่อไปตรวจที่ รพ.รัฐ ในวันแห่งความรัก และประสบสถานการณ์ที่หมอมาลงตรวจช้ามากเนื่องจากติดประชุม

ผู้ป่วยจำนวนมากมาเข้าคิวรอตั้งแต่เช้าตรู่ แต่กว่าหมอจะมาก็ 11โมงกว่า แถมตรวจโดยใช้เวลา 1 นาทีด้วย

มีพี่ๆ น้องๆ ไปคอมเมนท์แสดงความเห็นใจ และให้กำลังใจอย่างมากมาย รวมถึงป๊าด้วย เนื่องจากป๊าเกาะติด และเข้าใจสถานการณ์เช่นนี้ดีพอสมควร และพยายามช่วยกันหาทางพัฒนาระบบเช่นกัน...

มีบางคนก็คอมเมนท์ในทำนองที่ว่า นี่แหละสิ่งที่ รพ.รัฐให้ประชาชน...

ป๊าคิดว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ตรงกับความจริง จึงเขียนตอบไปดังนี้...

........................................

ผมหมอธีระจากจุฬาฯ ครับ

โปรดอย่าว่า รพ.รัฐเลยครับ

สถานการณ์ดังกล่าวเราพบได้เป็นปกติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะนโยบายที่แก้ไม่ถูกที่ ชี้ไม่ถูกจุด และการไม่ยอมรับ "สัจธรรม" ของ "ชีวิต" ในระบบสุขภาพ และในสังคม

ณ ปัจจุบัน นโยบายจำนวนมากก็ยังถูกเข็นออกมาโดยดำเนินตามความเชื่อและแนวทางฝรั่ง โดยมิได้ดูว่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของกำลังคนด้านสุขภาพเช่นไร เน้นดูแต่การปกป้องสิทธิ ทำให้เสมอภาค ลดค่าใช้จ่ายทุกวิถีทาง และเพิ่มคุณภาพ/ความปลอดภัยผ่านกลไกด้านระเบียบ เกณฑ์ และการขันน็อตระบบตรวจสอบ

หมอ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ รวมถึงพี่น้องในระบบสุขภาพนั้น ส่วนใหญ่ทำงานกันสายตัวแทบขาดภายใต้กฎเกณฑ์ และทรัพยากรในระบบที่มีอยู่

รัฐ (โดยเฉพาะคนสร้างและบังคับใช้นโยบาย) ต้องยอมรับสัจธรรมเสียทีว่า

หนึ่ง กำลังคนสุขภาพนั้น "มีชีวิตจิตใจ" และควรได้รับการดูแล "ชีวิตและจิตใจ" ให้สามารถทำงานอย่างมีสมดุลในชีวิตอย่างมีความสุข และได้รับการดูแลเอาใจใส่ครอบครัวของเขาและเธอ

สอง ทรัพยากรพื้นฐานในระบบรัฐ ทั้งคน เงิน ของ ไม่เพียงพอที่จะให้บริการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกคนอย่างมีมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งนี้ระบบประกันคุณภาพที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเป็นเพียงภาพหลอก ที่ไม่สามารถรับประกันทุกกระบวนการ และทุกผลผลิตที่ออกจากระบบได้จริง

สาม การเลี้ยงดูกำลังคนภาครัฐทุกสาขา ด้วยค่าตอบแทนที่น้อยกว่าเอกชนนั้น รัฐต้องรักษาน้ำใจเขาและเธอด้วยเรื่องอื่นด้วย เช่น การดูแลรักษายามเจ็บป่วยของเค้าและครอบครัวอย่างดีและมีมาตรฐาน ที่ทำให้ไม่ลำบากขัดสน เพื่อตอบแทนเค้า ที่รับใช้ชาติด้วยความซื่อสัตย์ ทุ่มเท ตามปณิธานวิชาชีพ

สี่ ตัวเลขกำลังคนด้านสุขภาพที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ เพื่อเร่งผลิต และสร้างกฎระเบียบมาบังคับนั้น ยืนบนพื้นฐาน "ตัวเลขที่ไร้ชีวิตจิตใจ" กล่าวคือ เป็นตัวเลขที่คำนวณมาตามอัตราค่าเฉลี่ยภาระงานที่ไม่ตรงความจริง ทั้งที่งานภาครัฐนั้นมีงานจรที่วุ่นวาย ไม่ตรงสายงาน และเป็นงานงี่เง่าจากนโยบายอุบาทว์ๆ มากมาย อาทิเช่น การเอาคนสุขภาพมานั่งกรอกตัวเลข จดสถิติ เพื่อทำเรื่องขอเงิน ดังที่เรารู้กันทั่วไป

นอกจากนี้ ภาระงานดังกล่าวทั้งหมดนั้นไม่ได้อิงสมดุลชีวิตคน ไม่คิดว่าคนเรานั้นมีท้อมีเหนื่อย มีความแปรปรวนด้านสมรรถนะ และการประสบปัญหาต่างๆ ในการทำงาน ดังนั้นถึงจะมีนโยบายจะให้ผลิตไปเท่าใด บังคับยังไง ก็ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผล แม้จะยกตัวอย่าง CPIRD มาว่าสำเร็จแต่เชื่อเถิดว่าชั่วคราวเท่านั้นจริงๆ

ระบบสุขภาพในอนาคตภายใต้นโยบายสุขภาพแบบเดิมๆ เช่นนี้ มีแนวโน้มสูงมากที่เราจะเห็นปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ความเสื่อมถอยในความน่าเชื่อถือและศรัทธาในระบบสุขภาพภาครัฐอย่างรุนแรง แม้แต่โรงเรียนแพทย์ เนื่องจากอิทธิพลของกลไกการเงินการคลังที่ผิดทางมาตลอด

สอง การผงาดของธุรกิจอุตสาหกรรมสุขภาพ จนครอบคลุมลูกค้าตั้งแต่ระดับรวยมากถึงระดับฐานะปานกลางระดับล่าง ทิ้งประชาชนยากจนมาก ไว้ให้หาทางรอดเอง ส่วนประชาชนยากจนแต่ไม่มากนั้น จะมีจำนวนสัดส่วนที่ผิดหวังกับระบบภาครัฐ หรือหลงเชื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านมืด จนกู้หนี้ยืมสินไปใช้บริการเอกชนระดับล่างๆ

สาม ธุรกิจประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และธุรกิจด้านกฎหมาย จะเฟื่องฟู สนุกสนานกับการหากำไรจากกลวิธี "เล่นกับความกลัว" และกลวิธี "ยุยงส่งเสริม" เพื่อหาเงินจากทั้งภาครัฐ และเอกชน แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ประชาชนที่เป็นเหยื่อ และกำลังคนด้านสุขภาพ จนสุดท้ายแล้วจะพบปรากฏการณ์สุดท้าย ได้แก่

สี่ คุณภาพของคนที่สนใจศึกษา และปวารณาตัวทำงานด้านสุขภาพเพื่อรับใช้สังคมจะลดลงเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับจำนวนที่จะผลิตตอบสนองต่อความต้องการในระยะยาว จนอาจต้องใช้ต่างชาติแทน

ป.ล.ขออย่าให้เป็นดังที่ผมบอกเลยครับ หากเราช่วยกันทำให้ถูกทาง น่าจะดีขึ้นได้

ด้วยรักต่อพี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน”

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



โดย: หมอหมู วันที่: 26 พฤษภาคม 2558 เวลา:21:36:22 น.  

 

อาชีพ หมอ-พยาบาล รพ.รัฐ เบื้องหลังการเผชิญกฎหมาย ที่คุณอาจไม่เคยรู้
Aug 25, 2014

//dev.thaiinfonet.com/%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD-%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5/


“เมื่อประมาณเจ็ดปีที่แล้ว คำพิพากษาจากกรณีผ่าตัดไส้ติ่งที่ร่อนพิบูลย์ ได้สร้างปรากฏการณ์ “ปิดห้องผ่าตัด” ตามโรงพยาบาลชุมชนแทบทุกแห่ง

แพทย์ท่านหนึ่ง ทำการบล็อคหลังระงับความรู้สึกเพื่อทำการผ่าตัด แล้วเกิดโททัลบล็อค คนไข้หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ ศาลตัดสินแพทย์ผิดที่ไม่ระมัดระวังทำให้ยาชาเกินขนาด … และผิดที่ไม่ใช่”วิสัญญีแพทย์” แล้วไปทำ ขาดความระวัง ทำไมไม่ปรึกษาวิสัญญีแพทย์ก่อน กระทำการโดยประมาทร้ายแรง

ครับ อย่างที่ทราบ โรงพยาบาลชุมชนที่ไหนมันจะมีหมอดมยา เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อคำพิพากษาออกมารูปนี้ ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนจึงแทบจะถูกปิดไปโดยปริยาย ใครมันจะไปอยากเสี่ยงละครับ ตั้งใจจะช่วยคน แล้วติดคุก (แบบไม่รอลงอาญาด้วย)

จึงได้เห็นมหกรรมส่งเคสไส้ติ่ง ผ่าตัดคลอด หรือเคสผ่าตัดที่เคยทำได้ตาม รพช ทุกเคส เข้าเมือง คนไข้ก็ไปกองกันเต็มโรงพยาบาลจังหวัด อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เจ็ดปีผ่านไป ก็มาเกิดคดีสั่นสะเทือนโรงพยาบาลชุมชนอีกครั้ง …

คราวนี้ หวยไปออกที่ … ห้องคลอด

เมื่อฝันร้ายที่สุดอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากเจอในศาสตร์ของสูติกรรม นั่นคือ “การคลอดติดไหล่” เกิดขึ้น

ภาวะที่จัดเป็นภาวะฉุกเฉิน และเป็นภาวะเสี่ยงในระดับที่สูติแพทย์บางคนยังต้องส่ายหัวพร้อมบ่นพึมพำว่าซวยแล้ว

แต่คราวนี้ ความซวยแล้ว ดันไปเกิดที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งไม่มีสูติแพทย์ ซึ่งก็เหมือนกับโรงพยาบาลชุมชนทั่วไป ที่คนอยู่เวรดูแลก็คือ หมอGP ธรรมดาๆนี่แหละ ดูมันทั้งโรงบาล

แล้วก็เหมือนกับโรงพยาบาลชุมชนทั่วไป คือคนทำคลอดหลักๆก็คือ พยาบาลผดุงครรภ์ ที่ต้องยอมรับว่า ทำคลอดมาอย่างโชกโชนมากกว่าหมอซะอีก โดยเฉพาะหมอใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนนี่แหละครับ เทียบฝีมือการทำคลอด พูดตรงๆ ไอ้คนเขียนก็สู้ไม่ได้ครับ

เมื่อเกิดการคลอดติดไหล่ คนทำคลอดก็แก้ปัญหาตามประสบการณ์ และเมื่อไม่ได้ก็ตามแพทย์มา แพทย์ก็รีบช่วยเด็กให้คลอดออกมา จนออกมาได้ แต่โชคร้าย มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอดคือโดนเส้นประสาท ยกไหล่ไม่ขึ้น

ฟังๆดูถ้าอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชน ก็คงรู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ปกติที่เกิดได้

แต่ศาลไม่คิดเช่นนั้น ….

คำถามแรกที่ถูกตั้งจากคำพิพากษาคือ “คลอดติดไหล่เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ แพทย์ต้องเป็นผู้ทำคลอด ทำไมพยาบาลไม่ตามแพทย์?” เป็นความประมาทเลินเล่อร้ายแรง

ครับ “ฉุกเฉิน” คืออะไร … ไม่ใช่ว่าถ้าไม่รีบช่วย เด็กจะตายรึเปล่า ? ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น ถึงเรียกว่าฉุกเฉิน แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น คำถามคือ นี่เป็นภาวะที่รอได้? โทรตามหมอมาก่อน ปล่อยเด็กคาตรงนั้น ไม่รู้จะขาดอากาศหายใจมั้ย หรือจะช่วยก่อน เพราะก็มีประสบการณ์อยู่ …

ถ้าเลือกรอหมอ…. โรงพยาบาลชุมชนหลายๆที่ มีหมออยู่คนเดียว ดูแลทั้งห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วย ห้องคลอด แล้วถ้าตอนนั้น หมอก็ติดเคสอยู่ที่อื่น เช่น กำลังใส่ท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ หรืออะไรที่มันฉุกเฉินอยู่ แล้วมันจะแยกร่างได้ยังไง?

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้นะครับ และบ่อยมากด้วย บ่อยถึงขนาดต้องเอามาออกข้อสอบปฏิบัตินิสิตแพทย์ตลอด ว่าถ้าเจอแบบนี้จะทำยังไง อีตอนสอบทุกคนก็เล่นใหญ่เต็มที่ล่ะครับ (ตามคอนเซปต์ osce = oscar เล่นเวอร์ๆไว้ ได้คะแนนเยอะ) แต่ชีวิตจริง เจอของจริง คนมากดดันด้วยอารมณ์โกรธจริง มันยากกว่าตอนสอบเยอะ

ถ้าเลือกทำเอง แน่นอนครับว่ามันก็เสี่ยง เสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเมื่อชั่งดูแล้ว เทียบกับเด็กตายคาที่ ใครก็น่าจะเลือกทางหลังมากกว่ามั้ย ?

คำถามที่สองที่ถูกตั้งขึ้นมาคือ การช่วยคลอดของแพทย์ ทำเร็วไปรึเปล่า โน้มศีรษะสามครั้ง ในเวลาไม่ถึงสามสิบวินาที ทำให้เด็กบอบช้ำ ….

ครับ ถ้าเราวนกลับไปจุดเดิมที่ว่า นี่คือภาวะฉุกเฉิน เป็นเรื่องของชีวิตเด็ก คนที่ทำทำไปด้วยเจตนาอะไร? .. ก็เพื่อช่วยชีวิตเด็ก มีใครอยากให้มันเกิดภาวะคลอดติดไหล่ มีใครอยากให้เด็กคลอดออกมา ยกไหล่ไม่ได้ .. ก็ไม่น่าจะมี คำตัดสินที่ว่า แม้มันจะฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ควรรีบ(ย้ำ ฉุกเฉิน แต่ไม่ควรรีบ??) มันจึงรู้สึกเจ็บปวดต่อคนทำงานมากพอสมควร

ทีนี้เมื่อมันออกมาในรูปแบบนี้ เราก็ต้องเคารพการตัดสินของศาล แต่สิ่งที่อาจจะตามมา มันคืออะไร ??

– โรงพยาบาลชุมชนปิดห้องคลอด ไม่ทำคลอด ทำไปก็เสี่ยง ใครจะไปรู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดกับตัวเองมั้ย แล้วถ้าเกิด แล้วถ้ามันเกิดผลแบบนี้ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คงไม่มีใครอยากทำ เพราะฉะนั้น รีเฟออออ เอาเคสไปกองที่ รพ ที่มีสูติแพทย์

– พยาบาลเลิกทำคลอด ทำทำไม ในเมื่อทำแล้วเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นมา ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะแพทย์ต้องเป็นคนทำเท่านั้น

– ต้องมีสูติแพทย์อยู่เวรเฝ้าห้องคลอดตลอดเวลาเพื่อพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้น(เหมือนเคส amniotic fluid embolism เมื่อไม่กี่ปีก่อนที่มีการตั้งคำถามว่า ทำไมแพทย์ไม่อยู่กับคนไข้ตลอด) มีเคส c/s ก็ไม่ต้องทำ ectopic มาก็ไม่ต้องทำ เฝ้าไป อย่างนั้นเหรอ

– หมอทั้งหลายเรียนต่อด้านสูตินรีเวชน้อยลง หมอสูติเองอาจลาออกมากขึ้น เสี่ยงขนาดนี้ ทำดีเสมอตัว พลาดมา จ่ายเงินกับคุก

เกิดเป็นแบบนี้แล้ว ใครลำบาก ก็หนีไม่พ้นคนไข้เองนั่นแหละครับ ต้องเดินทาง ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ส่วนหมอหรือพยาบาลเอง มันเจ็บปวด มันหมดกำลังใจพอสมควรแล้วแหละครับ….

แค่เด็กออกมา แล้วมีความผิดปกติ มันก็เจ็บปวดพอแล้ว ….

แต่ยังถูกตราว่า ประมาทเลินเล่อ ไม่ระมัดระวัง ทั้งๆที่ก็ทำทุกอย่างสุดความสามารถแล้ว มันยิ่งเจ็บปวดอีกหลายเท่า ..

ยังย้ำคำเดิมครับ ไม่มีใครต่อสู้เหน็ดเหนื่อยเรียนมาตั้งหลายปี เพื่อมาฆ่าคน หรือทำให้คนพิการหรอกครับ ..
เจอแบบนี้ คงไม่ต้องถามต่อนะครับ ทำไมหมอถึงลาออก หมอถึงขาดแคลนแบบทุกวันนี้….”

Cr.มิตรสหายท่านหนึ่ง



โดย: หมอหมู วันที่: 7 มิถุนายน 2558 เวลา:22:25:38 น.  

 
หยุดกรองคนดีออกจากระบบ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

//www.thaihospital.org/board/index.php?topic=1400.0

story: ดีท็อกซ์ประเทศไทยดีไหม? ตอน 2 : หยุดกรองคนดีออกจากระบบ

เป็นครั้งแรกที่หมอได้รับอีเมลล์ จดหมาย ข้อความหลังกล่องใน Facebook โทรศัพท์ ให้ความเห็นในเรื่องดีท็อกซ์อย่างล้นหลาม ที่สำคัญคือผู้ที่ติดต่อมาให้ชื่อนามสกุล ที่ทำงานไว้เรียบร้อยไม่ใช่กระมิดกระเมี้ยนเป็นแบบบัตรสนเท่ท์ อย่างน้อยมีจดหมาย 2 ฉบับแนบหลักฐานการซูเอี๋ยกับบริษัทขายอาหารเสริม การรักษาแหวกแนวให้เข้ามาในโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ ในฉากของวิชาการบังหน้า และยังมีที่แนบหลักฐานการทุจริตของโรงพยาบาลรัฐกับบริษัทเอกชนในการส่งตรวจ ผู้ป่วย หมอขออนุญาตไม่ตีพิมพ์เอกสารเหล่านี้นะครับ แต่ท่านที่ส่งมา กรุณาเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้ คงไม่ช้าไม่นานที่ประเทศไทยจะได้มีการดีท็อกซ์กันจริงจัง

ดีท็อกซ์ประเทศไทยในตอน 2 นี้ อยากเสนอในเรื่องของการแบ่งปัน ที่สำคัญคือ แบ่งปันความรู้สึกของคนอื่น ใจเขาใจเรา เพียงแค่นี้ก็ดีเหลือหลายแล้วครับ ในทุกกรณีของ “มึงผิด....ข้าถูก” ลองหาสาเหตุสักนิดได้ไหมครับว่าทำไมเขาถึงผิด จริงอยู่ถ้าดูตามกระบวนเนื้อผ้าอาจจะตรงไปตรงมาว่าอย่างนี้ผิดแน่ แต่การที่จะแก้ให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่ผิดซ้ำซาก น่าจะดูที่สาเหตุ วิเคราะห์ต้นเหตุและพยายามเข้าใจเพื่อนำสู่การแก้ที่รากเหง้าของปัญหา

ในส่วนที่เกี่ยวกับการแพทย์ สาธารณสุข แม้แต่ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นในส่วนของ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ หมอได้มีโอกาสพบปะคุยกับแพทย์รุ่นน้องหลายคน (ความจริงระดับหลานๆทั้งนั้น แต่ในสังคมแพทย์มีแต่พี่น้องไม่มีใครแก่ไปหรือเด็กไป เพราะฉะนั้นถ้าเจอหน้ากันเรียกพี่ก็ได้นะครับ) ขณะที่เล่าไปทุกคนหน้าตาหม่นหมอง บางคนน้ำตาซึม ซึ่งหมอคิดว่าจำเป็นที่ต้องแจกแจงสภาพของการทำงานของแพทย์ให้พวกเราที่ไม่ ใช่แพทย์ได้รับรู้ การที่จะฟ้อง จะด่าว่าหรือเรียกค่าเสียหาย ถ้าจะถามว่ามีสิทธิ์ไหม คงไม่มีใครเถียงครับ แต่อยากให้ทราบสถานการณ์ สภาพการทำงานของแพทย์ขณะนี้บ้าง

ยกตัวอย่าง ลูกศิษย์ที่จบไปทำงานอยู่ ที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข เขาจบไปไม่กี่ปี ไฟแรง ขยันทำงาน ไม่เคยคิดหาประโยชน์จากคนไข้ โรงพยาบาลนี้เป็นทั้ง โรงพยาบาลประจำจังหวัดระดับโรงพยาบาลศูนย์ที่ต้องรับส่งต่อผู้ป่วยจาก โรงพยาบาลชุมชน 8แห่งในจังหวัด นอกจากนั้นยังรับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงอีก 3 จังหวัด ในฐานะที่เป็น โรงพยาบาลศูนย์ เฉพาะประชากรที่ต้องดูแลในจังหวัดตนเองก็ประมาณ 860,246 คนเข้าไปแล้ว โรงพยาบาลแห่งนี้มีอายุรแพทย์ คือ แพทย์ที่เชี่ยวชาญรักษาทางยา ไม่ได้ผ่าตัด ที่ดูแลโรคนับสิบระบบตั้งแต่ ไข้หวัด ปวดหัวตัวร้อน ไอ จาม ปอดบวมโรคผิวหนัง เบาหวาน ความดันสูง โรคไต จนถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และรับผิดชอบการตรวจพิเศษที่ต้องใช้เครื่องมือ เช่น การส่องกล้องดูกระเพาะ หลอดอาหาร ส่องกล้องดูหลอดลมในปอด ตรวจทางหัวใจและอื่น ๆ น้องเล่าว่าที่นี่มีอายุรแพทย์ 11 คน นอกจากที่ต้องดูแลผู้ป่วยนอก OPD (Out-patient Department) ยังต้องตรวจรักษาคนไข้หนักกว่าที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลที่เราเรียกว่า คนไข้ใน IPD (In-patient Department) ที่สำหรับโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลศูนย์จะมีโรค อาการ ที่รุนแรงหรือซับซ้อนกว่าโรงพยาบาลระดับอื่นมาก อันหมายถึงเวลาที่ให้เพื่อคนไข้กลุ่มนี้จะต้องมากตามไปด้วย นี่ยังไม่รวมถึงคนไข้อาการหนักซึ่งมีภาวะช็อค ไม่รู้สึกตัว ติดเชื้อรุนแรง ใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้นในไอซียูที่หมอกลุ่มเดียวกันนี้ต้องดูแล (ICU-Intensive Care Unit)

จากข้อมูลที่ปรากฏ ผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลเพิ่มจากประมาณ วันละ 1,600รายในปี 2549เป็น3,300ในปี 2553 (ซึ่งในปี 2554 นี้สถานการณ์ยิ่งหนัก) ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยนอกอายุรกรรมเฉลี่ย 276 ราย/วัน แต่ขณะที่ตรวจผู้ป่วยตามปกติจะมีผู้ป่วยที่อยู่กับแผนกอื่นๆ เช่น แผนกผ่าตัดหรือศัลยกรรม จิปาถะส่งมาปรึกษาทางอายุรกรรม อีก 4,689 รายต่อปี ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยในอีก เฉลี่ย 314 ราย/วัน (สูงสุด 349 ราย/วัน) ยังไม่รวมการดูแลผู้ป่วยที่มาฟอกเลือดล้างไต 3,972 ครั้ง/ปี และส่องกล้องกระเพาะและปอดหลอดลมอีก 3,962 ครั้ง/ปี เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือ ต้องดูพร้อมๆกันทั้งคนไข้นอกและคนไข้ใน รวมแล้วต้องรับผิดชอบผู้ป่วยเฉลี่ย 276+314 = 590 คน/วัน ทั้งนี้ไม่รวมทั้งไอซียู ถ้าโชคร้ายขณะนั่งตรวจคนไข้นอก เกิดมีเหตุด่วนถูกตามก็ต้องวิ่งเข้าไปดูคนไข้ในที่อาการแย่ลง คนไข้นอกยิ่งรอนานมากขึ้นและเวลาที่ใช้ในการตรวจที่สั้นอยู่แล้วก็ยิ่งสั้น ลงไปอีก จะบอกคนไข้ที่รอตรวจที่ OPD ว่าต้องไปปั้มหัวใจช่วยชีวิตคนไข้ในก็ไม่มีเวลา หรือไม่มีใครเห็นใจ ต้องถูกต่อว่า ทั้งหมดนี้มีแพทย์อายุรกรรม 11 คนนะครับ ที่ต้องเรียนว่ายังมีช่วงที่แพทย์แต่ละท่านต้องมีภารกิจอื่น ๆ ที่จำเป็นทางราชการ เช่น การทำผลงานทางวิชาการ การไปอบรมเพิ่มเติม การพัฒนาคุณภาพ เป็นต้น

ยังไม่จบ เพราะอยากให้เห็นภาพร่วมกันหน่อยหนึ่ง ในช่วงบ่ายแพทย์จะออกตรวจผู้ป่วยนอกอีกกลุ่มที่มาตรวจเฉพาะเจาะจงโรคที่ เรียกว่าคลินิกเฉพาะโรค (Specialty clinic) ซึ่งความจริงก็คือ แพทย์กลุ่มเดิมที่ถนัดเชี่ยวชาญต่างกันเช่น ชำนาญ ทางหัวใจหลอดเลือด หรือระบบประสาท หรือไต อะไรเหล่านี้ ที่ผลัดเปลี่ยนกันออกตรวจผู้ป่วยทั่วไปช่วงเช้าแล้ว แต่มีทักษะความสามารถเฉพาะเรื่องเพิ่มเติมก็จะออกตรวจเฉพาะอีกตอนบ่าย และในแต่ละวันจะมีการรับผู้ป่วยใหม่ที่อาการเริ่มหนัก เริ่มซับซ้อนเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะเป็นแพทย์กลุ่มเดิมอีกที่มารับคนไข้ใหม่ ดังนั้นแพทย์ทางอายุรกรรมกลุ่มนี้ต้องทำงานทุกวันไม่เว้นวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ แม้ไม่ได้อยู่เวร อย่าลืมว่าโรงพยาบาลเปิด 24ชั่วโมง ต้องมีแพทย์เวรสำหรับตอนกลางคืน ก็จะเป็นแพทย์กลุ่มเดิมที่ต้องผลัดเปลี่ยนอยู่เวรกันอีก ผลคือแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลนี้ต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุดตลอด 5 เดือน จึงจะได้พักเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อช่วยกันรองรับและรักษาผู้ป่วยหลากหลายให้มีความปลอดภัยเท่าที่จะทำได้ แต่แพทย์ก็เป็นคนนะครับ

เหตุการณ์เหล่านี้ผ่านไปวันแล้ววันเล่า รักษาดีคนไข้ยิ่งมากขึ้น ยิ่งหนักขึ้น ราวกับแพทย์เป็นเครื่องจักร แทนที่จะมีคำชมกลับเป็นคำบ่น เพราะการบริการคนไข้ที่มากขึ้นก็จะมีการร้องเรียนเกี่ยวกับรอนาน รักษาช้า ที่เคราะห์ร้ายคือบางรายต้องพิการ หรือเสียชีวิต ก็จะถูกญาติเพ่งเล็งว่าหมอหรือโรงพยาบาล ผิดพลาดตรงไหน จะได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ตามกระแสข่าวหรือการยุยง หรือความระแวงที่ได้ยินกันมา

ที่สำคัญ จำนวนแพทย์ที่ว่านี้ เปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง ถ้าอายุรกรรมแพทย์ 2 คนใช้ทุนราชการครบและอาจจะออกไปอีกทำเอกชนที่สบายกว่า ผลตอบแทนดีกว่า หรือท่านที่มีอยู่ คนที่เหลืออยู่เพราะเห็นแก่โรงพยาบาลหรือคนไข้เกิดหมดแรงเพราะภาระเพิ่มขึ้น อีกจากคนที่ขาดไปอาจจะออกไปอีก ความผิดพลาดอ่อนล้าจะเกิดขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน ยังไม่นับการขาดแคลนและภาระงานล้นของพยาบาลหรือบุคลากรของโรงพยาบาลที่หน่วย งานอื่น ๆ

ที่เขียนมานี้เป็นส่วนน้อยตัดมาจากข้อมูล ตัวเลข และคำบรรยายหลายหน้ากระดาษที่ลูกศิษย์รุ่นน้องส่งมาให้ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาระงานที่ต้องแบกนี้มีประมาณขนาดไหน จากความซับซ้อนของตัวโรค ความคาดหวังของผู้ป่วย ความขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ขาดเวลาที่จะเอาใจใส่ได้ทั่วถึง ถูกทับถมด้วยการบ่นว่าจากคนไข้ ถ้าจะเกิดความผิดพลาด เช่น รักษาช้า ให้ยาได้ไม่ตามกรอบที่กำหนดและอื่นๆ เวลาที่ถูกสอบสวนก็จะพบว่าผิดเต็มประตู แต่เคยมีใครพินิจพิเคราะห์หรือไม่ครับ และบอกกับสังคมหรือไม่ว่าในขณะนั้นแพทย์มีภาวะรับผิดชอบกับผู้ป่วยอื่น ๆ อีกมากขนาดไหน ผลการรักษาที่ถูกตำหนิหรือถูกขึ้นโรงขึ้นศาลอาจจะ 1 ราย แต่มีคนไข้อื่นๆที่ดีขึ้นหรือรอดชีวิตกี่รายที่แพทย์ท่านนั้นได้ช่วยไว้

ถึงตรงนี้หมอเองซึ่งทำงานในโรงเรียนแพทย์รู้สึกว่าเหมือนอยู่ในสวรรค์ ทั้งนี้ภาระงานต่างกันมหาศาล เพราะเรามีแพทย์ประจำบ้านเป็นตัวช่วย โดยที่มีส่วนทดแทนด้วยด้านวิชาการ การสอนหรือการวิจัย ทำอย่างไรครับที่เราจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่อยากเห็นแพทย์ที่ยังทนอยู่ในราชการได้ก็จะทำไปโดยหน้าที่ ไม่มีหัวใจ ขาดความกระตือรือล้น ทำไปวันๆ ที่มีโอกาสมีทางออกก็เปลี่ยนอาชีพหรือทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งงานเบากว่า และมีค่าตอบแทนสูงกว่าลิบลับ เพราะฉะนั้นที่ปรากฎอยู่ขณะนี้จะเป็นการกรองคนดีออกจากระบบหรือเปล่า

ไม่ปฏิเสธหรอกครับ เราก็มีแพทย์พาณิชย์ หน้าเลือด คดโกงเพื่อหวังร่ำรวย แต่จริงหรือที่แพทย์ ทั้งประเทศจะเป็นเช่นนั้น การตัดสินจ้องจับผิดเป็นเรื่องไม่ยากหรอกครับ ทำอย่างไรเราจะช่วยกันไม่ให้เกิดความผิดซ้ำซาก ทั้งๆที่ไม่มีแพทย์คนใดอยากให้เกิดเหตุเช่นนั้น จะถึงเมื่อใดที่แพทย์และผู้สนับสนุนให้มี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มานั่งคุยกันถึงระบบที่มีอยู่ขณะนี้ ว่าจะมีโอกาสช่วยกันเพื่อแก้ปัญหาในอนาคต มีโอกาสหรือไม่ที่จะให้อัยการ ผู้พิพากษาเข้าใจความยากลำบากซับซ้อนของการรักษาโรค และสำคัญที่สุดถึงเวลาหรือยังครับที่นักการเมือง รัฐบาลไม่ว่ายุคไหนก็ตาม เลิก “ประชานิยม” ผลักภาระให้แพทย์ที่อยู่แนวหน้า โดยอ้างว่าได้สร้างระบบที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก เมื่อมีข้อบกพร่องก็เป็นความผิดของผู้รักษาอย่างเดียว วิธีดีท็อกซ์สำหรับตอนนี้คือ เราจะปันหัวใจ ปันความรู้สึกที่ดีต่อกันได้ไหมครับ อย่าคิดถึงตนเองเป็นใหญ่

จำได้ว่าเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว เคยอภิปรายในงานวิชาการประจำปีของท่านอัยการ ผู้พิพากษา เคยเสนอท่านว่าน่าจะมีตัวแทนของฝ่ายกฏหมายเข้ามาใช้ชีวิตในโรงพยาบาลอย่าง น้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อเข้าใจชีวิตของแพทย์ที่มีงานหนัก และมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขอย่างปัจจุบันทันด่วนด้วยอยู่เสมอ และต้องอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือมีแต่อาจยังขาดประสบการณ์ในการใช้ รวมทั้งอยู่ในสภาพที่ต้องตื่นตัวรับวิชาการแขนงใหม่ๆอยู่ตลอด คงจะมีตอนต่อไปเรื่อยๆของดีท็อกซ์ครับ

15 มีนาคม 2011



บทความเมื่อ ๔ ปี ที่แล้ว ... แต่ตอนนี้ ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ?


โดย: หมอหมู วันที่: 11 มิถุนายน 2558 เวลา:15:50:34 น.  

 
แพทย์สหรัฐฯ กว่าครึ่งทุกข์กับงาน
https://www.hfocus.org/content/2017/01/13308
Thu, 2017-01-19 09:55 -- hfocus

qz.com รายงานถึงผลสำรวจของ Medscape เกี่ยวกับความคิดเห็นของแพทย์สหรัฐกว่า 14,000 คนในเวชปฏิบัติรวม 30 สาขาเกี่ยวกับผลกระทบจากอาชีพต่อชีวิตความเป็นอยู่เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่ากระทั่งสาขาที่รายงานว่า มีความสุขมากที่สุดก็ยังคงมีสัดส่วนแพทย์ที่รู้สึกเป็นทุกข์กับงานสูงมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ผลสำรวจความสุขในการทำงานจำแนกตามสาขา

ร้อยละของแพทย์ที่รายงานว่ามีความสุขในการทำงาน

เป็นที่น่ากังวลว่าแพทย์ในทุกสาขาล้วนรายงานว่ากำลังใจและความกระตือรือร้นมอดลงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ร้อยละของแพทย์ที่รู้สึกหมดกำลังใจในการทำงาน

ภาพรวมปัญหาหมดกำลังใจการทำงาน

ปัญหาขาดกำลังใจในการทำงานยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงทั้งต่อสุขภาวะของแพทย์และการดูแลรักษาผู้ป่วย สถิติชี้ว่า แพทย์กว่าครึ่ง (ร้อยละ 51) ประสบปัญหาขาดกำลังใจการทำงานซึ่งสูงขึ้นจากตัวเลขร้อยละ 41 เมื่อปี 2556 อันเป็นปีแรกที่ Medscape เริ่มดำเนินการสำรวจในประเด็นนี้

และจากที่พบว่า อัตราการหมดแรงใจทำงานในหมู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นกระจุกตัวในพิสัยที่ค่อนข้างแคบ (ร้อยละ 46 –56) ก็สะท้อนว่าปัญหานี้กระทบต่อแพทย์โดยถ้วนหน้า โดยกลุ่มแพทย์เชื้อสายแอฟริกันและเชื้อสายฮิสแปนิก/ละตินมีอัตราการหมดกำลังใจทำงานที่ต่ำกว่าเล็กน้อย (ร้อยละ 48 และร้อยละ 51 ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับแพทย์เชื้อสายคอเคเชียน (ร้อยละ 52)

รายงานล่าสุดชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนระหว่างปัญหากำลังใจการทำงานและความสุขของแพทย์ทั้งในที่ทำงานและนอกที่ทำงาน โดยเฉลี่ยพบว่า ร้อยละ 59 ของแพทย์ที่ไม่ประสบปัญหากำลังใจรายงานว่ามีความสุขมากหรือมีความสุขมากที่สุดในที่ทำงานเทียบกับตัวเลขที่ต่ำเพียงร้อยละ 7 ในกลุ่มที่รายงานว่า มีปัญหาหมดกำลังใจโดยมีผลต่างที่สูงกว่า 8 เท่า

ความสัมพันธ์นี้ยังคงสืบเนื่องไปถึงชีวิตนอกเวลางานดังที่พบว่าราว 3 ใน 4 (ร้อยละ 74) ของแพทย์ที่ไม่มีปัญหาหมดไฟทำงานรายงานว่ามีความสุขหรือมีความสุขมากเมื่ออยู่นอกที่ทำงานเทียบกับร้อยละ 48 ในหมู่แพทย์หมดไฟ

อีกด้านหนึ่งยังพบความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการหมดกำลังใจทำงานและหนี้สิน โดยพบว่าในกลุ่มแพทย์หมดกำลังใจนั้นมีสัดส่วนแพทย์ที่ปลอดหนี้สินอยู่ไม่ถึง 1 ใน 4 (ร้อยละ 24) เทียบกับสัดส่วน 1 ใน 3 (ร้อยละ 32) ในกลุ่มแพทย์ที่ยังคงมีแรงใจทำงาน และในกลุ่มแพทย์มีหนี้สินพบว่า ร้อยละ 12 ในกลุ่มหมดกำลังใจรายงานว่ามีภาระหนี้ล้นพ้นเทียบกับตัวเลขที่ต่ำเพียงร้อยละ 5 ในกลุ่มที่ปราศจากปัญหากำลังใจ

qz.com รายงานว่า สาเหตุหลักของปัญหาหมดไฟในหมู่แพทย์สหรัฐฯ มาจากระบบบริหาร ชั่วโมงงานที่มากเกินไป และความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า นอกจากนี้แพทย์ยังรู้สึกว่ามีเวลาไม่เพียงพอสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งยังมีสภาพจิตใจอ่อนล้าจากการที่ต้องเห็นภาพความรุนแรงมากเกินไป รวมถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแล

ความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวลดหลั่นไปตามเวชปฏิบัติแต่ละสาขา โดยมักพบในเวชปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วยความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะแพทย์ฉุกเฉินและเวชบำบัดวิกฤติที่ต้องรับผิดชอบการดูแลผู้ป่วยซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอวัยวะล้มเหลว

ปัญหาแพทย์ไฟมอดอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในระดับวิชาชีพและระดับบุคคล ดังที่ภาวะซึมเศร้าอาจนำไปสู่อัตราความผิดพลาดที่สูงขึ้น นอกจากนี้อัตราการหย่าร้างในหมู่แพทย์สหรัฐฯ ก็สูงกว่าราวร้อยละ 10-20 เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันทั่วไป ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นด้านที่ยากลำบากและการแข่งขันที่สูงในวิชาชีพเวชกรรม


โดย: หมอหมู วันที่: 20 มกราคม 2560 เวลา:20:51:16 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]