Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาใน รพ. ‘ทางออกลดทุกข์ผู้ป่วย หนุนประสิทธิภาพบุคลากร’



สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาใน รพ. ‘ทางออกลดทุกข์ผู้ป่วย หนุนประสิทธิภาพบุคลากร’

กดถูกใจแฟนเพจ Hfocus.org บน Facebook ติดตามข่าวสารระบบสุขภาพทุกความเคลื่อนไหว

Mon, 2016-12-12 15:56 -- hfocus

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลที่ซ้ำเติมความทุกข์ให้กับผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล ตลอดเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการที่นำเสนอในตอนที่แล้ว นำมาสู่คำถามที่ว่า “แล้วความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ โรงพยาบาลจะสามารถทำอะไรได้บ้าง” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการวิจัยการออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลเพื่อเอื้อต่อการเยียวยา” ซึ่งสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสภาพสิ่งแวดล้อมสถานพยาบาล และรูปแบบการออกแบบโครงสร้าง การจัดองค์ประกอบภายในอาคาร การจัดภูมิสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ด้วยแนวคิด “สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา-Healing Environment”

โกศล จึงเสถียรทรัพย์ (ซ้ายสุด)

โกศล จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา (Healthcare Healing Environment Design) สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กล่าวว่า องค์ความรู้และแนวคิดการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่มีการศึกษาค้นคว้ามานาน และมีงานวิจัยรองรับมากกว่า 600 เรื่อง ที่เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อยืนยันว่าการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลมีผลต่อการรักษาพยาบาลในมิติต่างๆ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล

โดยกรอบแนวคิดในการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล มุ่งเน้นเพื่อความปลอดภัยในการรักษา การลดความเครียดในผู้ป่วย รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลโดยรวมให้ดีขึ้น นอกจากมีผลโดยตรงต่อผู้ป่วยแล้ว ยังมีผลต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถช่วยลดความเครียด อาการเหนื่อยล้า และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย ดังนั้นในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ตัวอย่างงานวิจัยการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล อาทิ งานวิจัยชิ้นสำคัญของ Roger Ulrich ในปี ค.ศ.1984 เรื่อง View through a window may influence recovery from surgery พบว่า การมีหน้าต่างในห้องพักผู้ป่วยที่มองเห็นธรรมชาติ ไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดลงได้ แต่ผู้ป่วยยังฟื้นตัวเร็วขึ้น มีภาวะทางอารมณ์ดีกว่า มีการบ่นและข้อร้องเรียนน้อยกว่าผู้ป่วยที่อยู่ในห้องพักที่ไม่สามารถมองเห็นธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดไขสันหลังที่ได้รับการจัดห้องพักที่มีแสงสว่างธรรมชาติส่องถึง เมื่อเปรียบเทียบกับที่พักผู้ป่วยที่อยู่ในอาคารเดียวกัน แต่มีแสงสว่างธรรมชาติส่องถึงน้อยกว่าร้อยละ 46 พบว่า ผู้ป่วยในห้องที่มีแสงสว่างมากกว่าจะมีความเครียดน้อยกว่า และใช้ยาแก้ปวดน้อยกว่าร้อยละ 22 ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลในส่วนค่ายาแก้ปวดได้ถึงร้อยละ 21 (Walch et al.2005)

ขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยที่บ่งบอกว่า การออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในทางการแพทย์ได้ เช่น การศึกษาการจ่ายยาของเภสัชกรเปรียบเทียบการจัดยาให้กับผู้ป่วยภายใต้ระดับแสงสว่างที่แตกต่างกัน คือ 400 ลักซ์ 1,100 ลักซ์ และ 1,500 ลักซ์ พบว่า การทำงานในพื้นที่ที่มีแสงสว่างมากกว่า โดยในพื้นที่ที่มีความสว่าง 1,500 ลักซ์ จะมีอัตราความผิดพลาดอยู่ในเกณฑ์ต่ำเพียงร้อยละ 2.6 ขณะที่ในพื้นที่ที่มีแสงสว่าง 400 ลักซ์ จะมีความผิดพลาดสูงถึงร้อยละ 3.8 (Buchanan et al. 1991)

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านการจัดบริการที่ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อรับการตรวจรักษา มีงานศึกษาที่โรงพยาบาล Methodist Hospital ในอินเดียแนโพลิส พบว่า การปรับรูปแบบห้องพักที่ทำให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลดลงร้อยละ 90 ส่งผลต่ออัตราความผิดพลาดทางการแพทย์ลดลงถึงร้อยละ 67 (Hendrich, Fay, andSorrells 2004 Hendric, fay, and Sorrells 2002) ทั้งยังช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ ลดการนอนค้างโรงพยาบาลของผู้ป่วย และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น (Institute of Medicine 2004) มีการศึกษาการหมุนเวียนของอากาศในห้องภายในโรงพยาบาล จากการวิจัยการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส (Jiang et at. 2003) พบว่า ห้องพักที่มีการหมุนเวียนอากาศที่ดีจะมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยการติดเชื้อวัณโรคของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล (Menzies et al. 2006) ที่พบว่า อัตราการติดเชื้อวัณโรคของเจ้าหน้าที่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการทำงานในห้องที่มีการหมุนเวียนอากาศที่ต่ำ

ยังมีงานวิจัยการออกแบบโรงพยาบาลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเจ้าหน้าที่ มีการศึกษาวิจัย พบว่า พยาบาลส่วนใหญ่ใช้เวลาการพยาบาลร้อยละ 56.9 รองลงมาใช้เวลาในการเดินถึงร้อยละ 28.9 (Burgio et at al. 1990) การออกแบบโรงพยาบาลที่ดีจะช่วยลดระยะทางและระยะเวลาการเดินของพยาบาลได้ สอดคล้องกับการศึกษาจัดเรียงเตียงนอนผู้ป่วยที่ พบว่า การจัดเตียงผู้ป่วยในห้องพักลักษณะแผ่รัศมีและมีเคาน์เตอร์พยาบาลตรงกลางจะช่วยลดการเดินของพยาบาลจากเดิมที่ต้องเดิน 7.9 ก้าวต่อนาที เหลือเพียง 4.7 ก้าวต่อนาที (Shepley and Davies 2003)

ทั้งนี้ยังมีการศึกษาระบุว่า การกระจายเคาน์เตอร์พยาบาลและการจัดเก็บเครื่องมือในหลายจุดใกล้กับเคาน์เตอร์พยาบาล จะช่วยลดการเดินและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานพยาบาลได้ (Hendrich 2003 และ Institute of Medicine 2004)  สอดคล้องกับการศึกษาการกระจายงานเภสัชออกไปยังอาคารต่างๆ ช่วยลดระยะเวลาจัดส่งยาได้มาก (Hibbard et al. 1981)

ส่วนการออกแบบด้านสุนทรียภาพและจิตวิญญาณ โกศล กล่าวว่า การออกแบบด้านนี้มีส่วนสำคัญต่อการเยียวยาผู้ป่วยอย่างมาก เช่น การจัดให้มีภาพศิลปะอย่างภาพวาดหรือภาพถ่ายจะช่วยเบี่ยงเบนความรู้สึกเจ็บปวดได้ (Ulrich et al. 2008) รวมถึงการติดตั้งจอโทรทัศน์แสดงภาพทิวทัศน์พร้อมเสียงธรรมชาติ จะลดความเครียดและความเจ็บปวดได้ดี การออกแบบพื้นที่จิตวิญญาณที่สัมพันธ์กับศรัทธาและความหมายของวัฒนธรรม (Felgen 2004: 24) ตัวอย่างแนวคิดการออกแบบ “จิตตปัญญาวาส” เน้นการสร้างผัสสะแห่งสถานที่ และจิตวิญญาณแห่งสถานที่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการใช้มิติจิตวิญญาณในการเยียวยา

องค์ความรู้ด้านการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ดังตัวอย่างข้างต้นนี้ ล้วนเป็นข้อมูลศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้นยังมีองค์ความรู้เหล่านี้จำกัดมาก ที่ผ่านมา สวสส.จึงสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลสร้างผลงานวิจัยจากงานประจำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลวิชาการสำหรับอ้างอิงภายใต้บริบทของประเทศไทย

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการศึกษาวิจัยของต่างประเทศสามารถสรุปได้ว่า การออกแบบสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลล้วนแล้วมีผลต่อการรักษาในมิติที่แตกต่างกันออกไป

การปรับพื้นที่ภายในโรงพยาบาลเพื่อสิ่งแวดล้อมในการเยียวยานั้น โกศล กล่าวว่า ที่ผ่านมาการก่อสร้างโรงพยาบาลเน้นเพื่อรองรับการรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ พร้อมทั้งโรงพยาบาลรัฐยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ งบประมาณการก่อสร้าง ทำให้การออกแบบจึงไม่ได้คำนึงถึงด้านนี้เท่าที่ควร แต่ทั้งนี้การปรับภูมิทัศน์เพื่อเอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยและการทำงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลยังสามารถทำได้ และในบางกรณีก็ใช้งบประมาณในการปรับปรุงไม่มาก โดยนำแนวคิดทั้งในด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย, การออกแบบโดยอิงหลักฐานงานวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา และการออกแบบสุนทรียและมิติจิตวิญญาณมาบูรณาการร่วมกันเป็นแนวคิดการออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา

โกศล กล่าวต่อว่า การออกแบบโรงพยาบาลและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยานี้ ทาง สวสส.ได้ผลักดันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ระหว่างนั้นสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ได้จัดทำโครงการรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาล ซึ่งได้เข้าร่วมกับ สรพ.ทำเรื่องการจัดสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาล แม้ว่าจะมีการให้รางวัลกับโรงพยาบาลที่มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือประเมินที่เป็นมาตรฐาน

สวสส.จึงได้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา” เพื่อสำรวจสภาพสิ่งแวดล้อมสถานพยาบาล และศึกษารูปแบบการออกแบบโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสถานพยาบาลภายใต้แนวคิด “สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา” โดยปีแรกนำร่องในโรงพยาบาล 13 แห่ง และปีที่ 2 มีโรงพยาบาลที่สนใจและสมัครเข้าร่วมเพิ่มเติม รวม 20 แห่ง

จากการดำเนินโครงการวิจัย ได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจโรงพยาบาลหลายแห่ง พร้อมให้คำแนะนำ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ เช่น รพ.องค์รักษ์ จ.นครนายก จากการลงพื้นที่พบว่า มีการจัดเรียงเก้าอี้นั่งรอผู้ป่วยและญาติที่หันหน้าไปยังเคาน์เตอร์ทำงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากทำให้พื้นที่จำกัดคับแคบแล้ว ยังสร้างความอึดอัดให้กับผู้ป่วยและญาติที่นั่งรอ ขณะเดียวกันยังทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกถูกจ้องมองตลอดเวลา

ทั้งนี้การจัดเรียงเก้าอี้ลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะจัดเรียงแถวละ 4 ตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่จะนั่งเก้าอี้ตัวริม คือ ตัวที่ 1 และตัวที่ 4 การจะเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวที่ 2 และตัวที่ 3 จะต้องเบียดผู้ที่นั่งเก้าอี้ตัวริมก่อน ทำให้ผู้ป่วยและญาติเลือกที่จะยืนรอรอบๆ แทน ยิ่งทำให้ทางเดินคับแคบลงไปอีก

ดังนั้นจึงได้แนะนำและลองปรับรูปแบบการจัดเก้าอี้ใหม่ โดยจัดเรียงหันหน้าเข้าหากันเป็นคู่ โดยหันด้านข้างให้เคาน์เตอร์ของเจ้าหน้าที่ สิ่งที่ได้คือ นอกจากลดความกดดันทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่แล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยและญาติได้หันหน้าพูดคุยกันระหว่างนั่งรอสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ทั้งเพิ่มความสะดวกในการเดินเข้าไปนั่งเก้าอี้ด้านในได้ และเพิ่มพื้นที่โล่งบริเวณแผนกผู้ป่วยนอก

นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้ลดการติดป้ายและประกาศที่มีจำนวนมากลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างทำให้เกิดความสบายตา การย้ายทีวีที่มักติดอยู่ด้านบนของเคาน์เตอร์พยาบาลที่ทำให้พยาบาลรู้สึกถูกจ้องมอง เป็นต้น

ส่วนเสียงประกาศของเจ้าหน้าที่นั้น โกศล กล่าวว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักใช้ลำโพงทั่วไปที่ใช้สำหรับเปิดเพลง ซึ่งมักจะทิ้งเสียงทุ้มก้องกังวานในหู แต่หากใช้เป็นลำโพงสำหรับการพูดประกาศ เสียงเบสจะน้อย มีเสียงพูดที่แหลมคมมากกว่า นอกจากผู้ป่วยจะได้ยินเสียงประกาศชัดเจนแล้ว ยังไม่สร้างความรำคาญให้กับผู้ฟังมาก เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ไม่ได้คำนึงถึง

เช่นเดียวกับการจัดแสงไฟในห้องพักผู้ป่วย ซึ่งห้องพักผู้ป่วยพิเศษการติดไฟที่มีกำลังส่องสว่าง 400 ลักซ์ ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว แต่หากมองในเรื่องสุนทรียภาพ เวลาที่ผู้ป่วยนอนบนเตียง ไฟที่ติดตั้งบนเพดานจะสาดแยงตารบกวนการพักผ่อน อีกทั้งเวลาที่คุณหมอมาตรวจจะทำให้ผู้ป่วยไม่มองเห็นหน้าคุณหมอได้ ซึ่งทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพราะไม่เห็นสีหาแววตาของคุณหมอ ดังนั้นหากเพียงแต่ย้ายไฟไปติดตั้งบริเวณผนังตรงหัวเตียงผู้ป่วยแทน นอกจากแสงไฟจะไม่แยงตาผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มแสงสว่างในการทำหัตถการให้กับแพทย์ หรือพยาบาลได้

นอกจากนี้การจัดพื้นที่เพื่อรับแสงแดดยังมีส่วนช่วยในการรักษาผู้ป่วย โดยในกรณีของทารกแรกคลอดที่มีอาการตัวเหลือง เป็นที่ทราบดีในทางการแพทย์ว่าการรักษาสามารถทำได้ง่าย เพียงให้เด็กได้รับแสงอาทิตย์ในยามเช้าซึ่งจะลดอาการตัวเหลืองนี้ได้ เช่น ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย ได้ใช้องค์ความรู้นี้มาร่วมออกแบบให้ห้องเด็กอ่อนมีระเบียงหันออกทางทิศตะวันออก พร้อมจัดที่นั่งสำหรับคุณแม่หลังคลอดไว้ให้นมลูก เมื่อเวลาแม่ให้นมลูกในตอนเช้า เด็กก็จะได้รับแสงแดดในเวลาเช้าไปพร้อมกัน ซึ่งองค์ความรู้ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนแต่เป็นการปรับสภาวะแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเยียวยา

โกศล กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา ซึ่งได้สำรวจปัญหา พร้อมรวบรวมองค์ความรู้ด้านการออกแบบโรงพยาบาลและจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา จึงได้จัดทำเป็น “หนังสือสถาปัตยกรรมโรงพยาบาลและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา (Healthcare Architecture and Healing Environment)” เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้เพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม

พร้อมกันนี้คณะทำงานวิจัยยังได้พัฒนา “เครื่องมือประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาสำหรับสถานพยาบาล” สำหรับใช้ประเมินตนเอง โดยแบ่งการประเมินเป็น 5 ด้าน คือ

1.หน้าที่การใช้งานและความปลอดภัย

2.สุนทรียภาพและความสุขสบาย

3.ปฏิสัมพันธ์และการสนับสนุนทางสังคม

4.การเสริมพลังและอำนาจการตัดสินใจ

และ 5.คุณค่าและจิตวิญญาณ

เน้นผสมผสานมิติต่างๆ เพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ได้อย่างลงตัว เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีหน้าที่ใช้สอย เงื่อนไข และบริบทเฉพาะที่แตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบบริการสาธารณสุขไทย

เครื่องมือประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาฉบับนี้ ได้ตีพิมพ์ในบทที่ 5 ของหนังสือสถาปัตยกรรมโรงพยาบาลและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ซึ่งสามารถสั่งซื้อได้ทางเวปไซต์ //www.shi.or.th หรือ //www.facebook.com/HealingEnv โดยคุณสมบัติของเครื่องมือประเมินฯทชุดนี้ นอกจากจะเป็นการประเมินระดับคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาแล้ว ยังเป็นเหมือนแผนที่การเดินทางของการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่มีรายละเอียดเป็นรายการย่อย ทำให้ง่ายต่อการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่บรรยากาศแห่งการเยียวยา

ทั้งนี้การออกแบบโรงพยาบาลและการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่ดี นอกจากอิงความรู้ทางการแพทย์แล้ว การศึกษาวิจัยยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการออกแบบและปรับสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยและญาติได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในโรงพยาบาล

..............................

เปิดสารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อมใน รพ. ซ้ำเติมภาวะเจ็บป่วย สร้างทุกข์บุคลากร
https://www.hfocus.org/content/2016/12/13099

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาใน รพ. ‘ทางออกลดทุกข์ผู้ป่วย หนุนประสิทธิภาพบุคลากร’
https://www.hfocus.org/content/2016/12/13133




Create Date : 13 ธันวาคม 2559
Last Update : 13 ธันวาคม 2559 15:47:36 น. 1 comments
Counter : 2787 Pageviews.  

 
เหมือนจะเป็น เรื่องเดียวกัน ?

สธ.สั่งทุก รพ.ปรับปรุง OPD ประหนึ่งห้องรับแขก บริการลื่นไหล รวดเร็วใน 120 นาที https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=17-06-2016&group=15&gblog=68

เปิดสารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อมใน รพ. ซ้ำเติมภาวะเจ็บป่วย สร้างทุกข์บุคลากร https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-12-2016&group=15&gblog=74

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาใน รพ. ‘ทางออกลดทุกข์ผู้ป่วย หนุนประสิทธิภาพบุคลากร’ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-12-2016&group=15&gblog=75


โดย: หมอหมู วันที่: 13 ธันวาคม 2559 เวลา:16:08:53 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]