|
|
สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว DEK-D.com .... มาแล้ว มาแล้ว คณะในฝันประจำเดือนมกราคม "แพทยศาสตร์" ก็มาถึงสัปดาห์ที่ 3 แล้ว หลังจาก คราวก่อน พี่เป้ พาน้องๆ ไปพูดคุยกับรุ่นพี่จาก 6 ชั้นปี คงทำให้พอเห็นภาพกันชัดเจนขึ้นว่าการเรียนแพทย์เป็นยังไงบ้าง มาคราวนี้ พี่เป้ ดีใจสุดๆ เพราะมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณหมอคนเก่งที่ได้ให้เกียรติสัมภาษณ์ ลงคอลัมน์คณะในฝัน ขอบอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติสุดๆ เลยล่ะค่ะ เพราะแต่ละท่านต่างก็งานยุ่ง บางท่านก็เรียนหนัก แต่ก็ยังสละเวลามาตอบคำถามให้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปดูกันเลยดีกว่าว่าคุณหมอที่จะมาคุยกับน้องๆ เป็นคุณหมอด้านไหนกันบ้าง | |
|  |
|
คุณหมอท่านที่ 1 : คุณหมอหมู นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชกรรมสาชาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ |
|
พี่เป้: สวัสดีค่ะคุณหมอ อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ ที่กำลังอ่านอยู่หน่อยค่ะ? | คุณหมอหมู: ชื่อ พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ชื่อในเนต หมอหมู เรียนจบมัธยมจากโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม จังหวัดกำแพงเพชร สอบโควต้าเข้าไปเรียนแพทย์ทั่วไป ๖ ปี ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วก็เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) อีก ๓ ปี ที่ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
| พี่เป้: ทำไมคุณหมอถึงสนใจศึกษาต่อด้านออร์โธปิดิกส์คะ? | คุณหมอหมู: ตอนเรียนแพทย์ ก็รู้สึกอยากจะเป็นหมอผ่าตัด อาจเป็นเพราะค่านิยมในสมัยนั้นที่หมอผู้ชายส่วนใหญ่จะเลือกเป็นหมอผ่าตัด ส่วนเหตุผลหลักที่เลือกเป็นหมอผ่าตัดกระดูกและข้อแทนที่จะเป็นหมอศัลยกรรมทั่วไป ก็คือชอบบรรยากาศการเรียนการสอน โดยเฉพาะความเป็นกันเองของรุ่นพี่และอาจารย์ แล้วก็มีวิธีผ่าตัด มีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะแยะให้เลือกใช้ | | พี่เป้: นับตั้งแต่เรียนจบมาจนถึงปัจจุบัน คุณหมอทำงานที่ไหน มาแล้วบ้างคะ? | คุณหมอหมู: จบแล้วก็มาทำงาน ที่ รพ.กำแพงเพชร ที่เดียวเลยครับ ทำได้สิบกว่าปีจึงได้ลาออกจากราชการ ปัจจุบันเปิดคลินิกส่วนตัวรักษาโรคกระดูก และข้อโดยเฉพาะ แล้วก็ตอบปัญหาสุขภาพผ่านเว็บและเมล์ ถือว่าเป็นการทำประโยชน์กลับคืนให้สังคมบ้าง |
| พี่เป้: ความยากง่ายของการเป็นหมอออร์โธปิดิกส์อยู่ที่ไหนคะ? | คุณหมอหมู: ไม่ว่าหมอทั่วไป หรือหมอเฉพาะทางก็จะเหมือนกันตรงที่ต้องติดตามข่าวสารความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่หมอกระดูกก็จะเพิ่มตรง เทคนิคการผ่าตัดใหม่ ๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ฝึกฝน วิธีเครื่องมือที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน และราคาแพงมาก นอกจากนั้นยังต้องอาศัยทีมงาน (พยาบาล เจ้าหน้าที่) ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ค่อนข้างยากสำหรับหมอกระดูกและข้อในต่างจังหวัดที่จะพัฒนาตามเทคโนโลยี่ใหม่ ๆ เหล่านี้ | | | |
|
| | พี่เป้: ทราบมาว่าคุณหมอเขียนหนังสือด้วย ไม่ทราบว่าเป็นหนังสืออะไรคะ? | คุณหมอหมู: ชื่อหนังสือ “ รู้เท่าทัน ป้องกันโรคกระดูก “ สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์ เป็นหนังสือเกี่ยวกับความรู้โรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย ทั้งสาเหตุ อาการ การดูแลตนเอง แนวทางรักษา เพื่อที่ให้ผู้อ่านได้รับ และเข้าใจ เพื่อจะได้สามารถดูแลรักษาตนเองได้ในเบื้องต้น เพราะผมมีความเชื่อว่าถ้าประชาชน ผู้ป่วย มีความรู้ก็จะสามารถดูแลตนเอง รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนเองอย่างไร และให้ความร่วมมือกับแพทย์ได้มากขึ้น แพทย์เองก็จะสามารถพูดคุยแนะนำได้ง่ายขึ้น ผลการรักษาก็ดีขึ้น ดีด้วยกันทุกฝ่าย ถ้าใครยังไม่มี ก็รีบไปซื้อหาได้เลยนะครับ |
| พี่เป้: การทำงานเป็นหมอในโรงพยาบาลกับการเปิดคลินิกส่วนตัว มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันมั้ยคะ? | คุณหมอหมู: ต่างกันมากครับ แบ่งเป็นข้อ ๆ จะได้เปรียบเทียบกันง่ายขึ้น ๑. การทำงาน ... ในโรงพยาบาล หมอก็ทำหน้าที่ตรวจรักษา ส่วนหน้าที่อื่น ๆ เช่น สั่งซื้อยา เตรียมอุปกรณ์ สถานที่ คิดค่าใช้จ่าย เก็บเงิน ฯลฯ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดเตรียมไว้ให้ แต่ในคลินิก เราก็ต้องทำทุกอย่าง สั่งซื้อยาอุปกรณ์ คิดค่ารักษา ต้องรับผิดชอบการลงทุน ผลกำไรขาดทุน เทียบง่าย ๆ ก็คงคล้ายกับเป็นเจ้าของกับลูกจ้างนั่นเอง
๒. การตรวจรักษา ... หน้าที่ของแพทย์ ก็อาจไม่แตกต่างกันนัก แต่ที่แตกต่างกันมากก็คือ เวลาที่ใช้ในการตรวจผู้ป่วยแต่ละคน ในโรงพยาบาลคนไข้เยอะมาก จึงไม่สามารถที่จะตรวจละเอียด หรือให้เวลาพูดคุยแนะนำได้มากนัก ในขณะที่คลินิกคนไข้ปริมาณไม่มากนัก จึงมีเวลาพูดคุยซักถาม มีเวลาตรวจ มีเวลาแนะนำได้มากกว่าตอนอยู่ที่โรงพยาบาล | | พี่เป้: อยากให้คุณหมอช่วยเล่าถึงเคสคนไข้ที่ประทับใจสัก 1 เคสหน่อยค่ะ? | คุณหมอหมู: มีเยอะเหมือนกันนะครับ เลือกรายนี้ละกัน เป็นเด็กวัยรุ่นประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ ( กำลังเดินทางกลับจากเรียนพิเศษ แต่ถูกคนเมาสุราขับรถกะบะมาชนท้าย) มีแขนขาหักทั้งสองข้าง กระดูกเชิงกรานแตก ตับแตก ม้ามแตก แต่ก็ยังดีที่ใส่หมวกกันน็อก สมองเลยไม่ได้รับบาดเจ็บ ไม่เช่นนั้นก็อาจเสียชีวิตไปแล้ว มาถึงโรงพยาบาลวันแรกก็ผ่าตัดเรื่องช่องท้อง หมอศัลยกรรมผ่าไปก่อน ผมก็ค่อยใส่เฝือก ใส่เหล็กดามกระดูกภายนอกไว้ชั่วคราว เพราะคนไข้เสียเลือดมาก ใช้เวลาผ่าตัดไปแล้วสามชั่วโมงกว่า หลังจากนั้นก็มาดูแลรักษาจนสภาพทั่วไปดีขึ้นแล้ว ก็ค่อยไปผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกแขนขาทั้งสองข้าง ผ่าตัดทำแผลกันอีกหลายรอบ กว่าจะได้กลับบ้านก็ใช้เวลาเป็นเดือน ที่ประทับใจก็คือดูจากสภาพผู้ป่วยในตอนแรก ไม่น่าจะรอด แต่ก็ได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ (ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก และอายุรกรรม ) ทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่รวมกัน ทำให้ผลการรักษาออกมาดีกว่าที่คาด สามารถกลับมาเดินได้ เรียนหนังสือได้อีกครั้ง เวลาที่ผู้ป่วยมาพบ ได้เห็นว่าเขาดีขึ้น ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ ที่มีส่วนช่วยให้เขากลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง | |  | |
|
พี่เป้: เชื่อว่ามีน้องๆ หลายคนที่กำลังอ่านสนใจด้านสุขภาพ อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำวิธีการดูแลข้อและกระดูกอย่างง่ายๆ ค่ะ? |
คุณหมอหมู: สำหรับวัยรุ่น ก็อยากให้แบ่งเวลาไปออกกำลังกายบ้าง เพราะร่างกายในช่วงนี้จะเป็นการสร้าง ถ้าไม่สร้างให้แข็งแรงแล้วพออายุมาก ก็จะเกิดปัญหาโรคข้อ โรคกระดูกตามมา อีกประเด็นก็เกี่ยวกับการบาดเจ็บบริเวณกระดูกหรือข้อ การดูแล ปฐมพยาบาล ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ช่วง ๒๔ ชม.แรกให้ใช้หลัก RICE -Rest พัก หยุดใช้ส่วนที่บาดเจ็บ ให้อยู่นิ่ง ๆ -Ice ประคบเย็น เพื่อให้หลอดเลือดหดตัว เลือดจะได้ออกน้อยลง -Compress กดรัด ใช้ผ้ายืดพัน เพื่อลดอาการปวด บวม และ เลือดออกน้อยลง -Elevate ยก ส่วนที่บาดเจ็บให้สูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น หลังจากนั้นก็ค่อยประคบด้วยความร้อนหรือใช้ครีมนวด เพื่อให้เลือดที่ออกมาแล้วนั้นถูกดูดซึมได้เร็วขึ้น ที่เห็นในโฆษณาที่หกล้มปุ๊บก็ใช้ยาหม่องนวดเลยนั้น เป็นความเข้าใจผิด อย่าไปทำนะครับ ถ้ารู้สึกเจ็บมาก บวมมาก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ จะได้ดูแลรักษาให้ถูกต้องเหมาะสม
ผมทำบล็อกเอาไว้ด้วย มีเรื่องที่น่าสนใจเยอะแยะ ลองเข้าไปอ่านดูก็ได้นะครับ //cmu2807.bloggang.com/ |
|
พี่เป้: สุดท้ายท้ายสุด อยากให้คุณหมอช่วยให้กำลังใจหรือฝากข้อคิดแก่น้องๆ ที่อยากเป็นแพทย์ด้วยค่ะ |
คุณหมอหมู: อยากให้ลองค้นหาเหตุผลว่าทำไมถึงอยากเป็นแพทย์ เพราะแพทย์เป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ทุ่มเท ทั้งเวลา แรงกาย แรงใจ อย่างมาก ตั้งแต่เริ่มเรียนไปจนตลอดชีวิตการทำงานเป็นแพทย์ อย่าคิดว่าจะเข้ามาเรียนเพราะว่าจบไปแล้ว ทำงานสบาย รายได้ดี ในปัจจุบันแพทย์มีจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะคลินิกหรือ รพ.เอกชน มีเยอะกว่าสมัยก่อนมาก โอกาสที่จะทำงานมีรายได้สูง จนร่ำรวยเหมือนสมัยก่อนนั้นแทบไม่มีเลย ชีวิตจริงแตกต่างจากที่คนภายนอกเข้าใจหรือเห็นจากโทรทัศน์ รายได้ของแพทย์โดยเฉลี่ยก็ถือว่าปานกลาง อาจดีกว่าค่าเฉลี่ยของอาชีพทั่วไป แต่ก็ไม่ได้มากมายจนทำให้ร่ำรวย นอกจากเรื่องรายได้แล้ว ปัจจุบัน (อนาคต) ก็จะมีปัญหาเรืองของการฟ้องร้องแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับและปรับตัว ถ้ายังเป็นหมอก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนข้อดีของการเป็นแพทย์ก็คือความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นอาชีพที่มั่นคง มีรายได้พอสมควรกับการดำรงชีวิต แล้วก็ยังได้รับความนับถือให้เกียรติจากคนส่วนใหญ่ ( ซึ่งมีไม่กี่อาชีพที่คนนำเงินมาให้แล้วยังไหว้ขอบคุณ ) |