Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ระบบสาธารณสุขไทยชักจะเพี้ยนไปใหญ่แล้ว ... เขียนโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา


ระบบสาธารณสุขไทยชักจะเพี้ยนไปใหญ่แล้ว

วันอาทิตย์ที่ 08 กรกฏาคม 2012 เวลา 14:11 น.

เขียนโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา


//www.isranews.org/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C/56-isranews/7564-2012-07-08-07-13-36.html#.T_mHfPQT03s.facebook


alt


อยู่ๆเจ้ากระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศเริ่มโครงการไข่แลกยาเก่าทั่วประเทศ  โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการนี้จังหวัดละ 100,000 บาท โดยนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้บอกว่ายาเก่าที่นำมาแลกนั้น ต้องเป็นยาแผนปัจจุบันทุกชนิด โดยที่โรงพยาบาลต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขจะแจกไข่คืนให้แก่ครอบครัวที่นำยาไปแลก ครอบครัวละ 5 ฟองเป็นอย่างน้อย โดยกล่าวว่าข้อมูลล่าสุดคนไทยใช้ยาเฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท การให้ประชาชนนำยาเก่ามาแลกไข่ ก็เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้มีความตระหนักในการใช้ยา และใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพต่อการรักษาอาการเจ็บป่วย

และในเวลาไม่นาน ก็มีข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขว่า หลังจากเปิดโครงการรับแลกยาเก่ากับ “ไข่ใหม่” ในเวลาแค่ 4 วัน คือวันที่ 2-5 ก.ค.นั้น พบว่ามีประชาชนเอายามาแลกไข่ถึง 18.2 ล้านเม็ด โดยกลุ่มใหญ่จะเป็นยากลุ่มยารักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยาลดไขมัน มีถึง 40% นอกนั้นเป็นยากลุ่มแก้หวัด แก้ไอ ซึ่งพบว่าจังหวัดในภาคอีสานมีการเอายามาคืนมากที่สุด ซึ่งยังไม่มีการแยกว่าเป็นยาที่หมดอายุหรือไม่ โดยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.นิทัศน์ รายวา ได้กล่าวว่า ยาที่หมดอายุจะเอาไปทำลาย ส่วนยาที่ยังไม่หมดอายุ จะมีการหารือว่าจะเอายาเหล่านี้ไปใช้ใหม่หรือไม่ และจะมีการพิจารณาว่าจะขยายโครงการเพิ่มหรือไม่ หรือจะทำโครงการในเขตกทม.เพิ่มหรือไม่

การที่ประชาชนเอายามาแลกไข่ถึง 18.2 ล้านเม็ดในเวลาเพียง 4 วันนี้ น่าเสียดายที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ทำแบบสอบถามว่า ทำไมประชาชนจึงมียาเหลือเยอะ ครอบครัวหนึ่งๆเอายามาคืนเฉลี่ยครอบครัวละกี่เม็ด ทำไมจึงมียาเหลือ? ไม่กินยาตามสั่ง หรือกินยาแล้วอาการไม่ดี ก็ย้ายหมอ/ย้ายโรงพยาบาลไปขอยาใหม่ แล้วยาที่เอามาคืนนี้ เก็บไว้อย่างถูกวิธีหรือไม่ เช่นต้องเก็บในที่เย็น (ไม่ร้อนจัด) เก็บไว้ในซองยากันแสง หรือเก็บไว้ในซองยาอื่น (ชื่อยาที่ซองกับเม็ดยาเป็นคนละอย่างกัน) 

เพราะเมื่อไม่สอบถามคนที่เอายามาคืนแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะรู้ได้อย่างไรว่า ทำไมจึงมียาเหลือเยอะมากขนาดนี้ อยากจะให้กระทรวงถามด้วยว่า ยาจำนวน 18.2 ล้านเม็ดนี้ มาจากยาของประชาชนกี่คน? อย่างน้อยก็พอจะรู้ได้ว่า เฉลี่ยแล้วแต่ละคนเอายาไป”ทิ้งเฉยๆ” โดยไม่กินคนละกี่เม็ด จะได้รู้ว่าที่กล่าวว่าคนไทยกินยาปีละ100,000 ล้านบาทนั้น คนไทยเอายาไปทิ้งไว้จนหมดอายุปีละกี่ล้านบาท?

ที่สำคัญก็คือ ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่สำรวจว่า เป็นยาอะไรบ้าง อย่างละกี่เม็ด เป็นราคาเม็ดละกี่บาท รวมแล้วเป็นมูลค่าของยาที่ประชาชนเอาไปทิ้ง(เก็บไว้เฉยๆโดยไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์) นั้นมีมูลค่ากี่ร้อยกี่พันล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อจะได้รู้ว่างบประมาณค่ารักษาประชาชนที่ต้องจ่ายไปปีละเกือบสองแสนล้านบาทนั้น ได้”ทิ้งไป”โดยหาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะการที่ประชาชนใช้ยาอย่างทิ้งๆขว้างๆ

แต่นี่ได้ข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเอายาหมดอายุไปเผาทิ้ง (รีบทำลายหลักฐานการใช้ยาฟุ่มเฟือยเสียแล้ว) แล้วกระทรวงสาธารณสุข เสียงบประมาณค่าไข่ อีก 100.000คูณด้วย 77 จังหวัด เป็นเงิน อีก 7,700,000 บาทโดยไม่ได้ข้อมูลกลับมาเลยว่า ประชาชนคนไทยที่ยากจน ยอมเสียเวลาเอายาเก่าไปแลกไข่ใหม่(มาปรุงอาหารกิน) นั้น ได้ทิ้งยาไปมีมูลค่ามากมายมหาศาลแค่ไหน?

และจาก ข้อมูลของเว็บ ThaiClinic.com  จากประสบการณ์จากหมอในรพ.แห่งหนึ่ง บอกว่า มีประชาชนประมาณ 200 คนเอายามาแลกไข่คืนประมาณ 3 ลัง และพบว่าในจำนวนยาที่หมดอายุนั้น ยังเป็นแผงยาที่เรียบร้อย ยังไม่มีการแกะเอายาไปกินเลย 

มีความเห็นหนึ่ง บอกว่า จะไปเปิดร้านอาหารบุฟเฟต์ ให้คนมากินฟรีไม่อั้น แล้วก็ขอกลับไปกินต่อที่บ้านได้อีกไม่อั้น เนื่องจากพนักงานประจำห้องอาหารไม่กล้าขัดใจคนที่มากิน เพราะเดี๋ยวจะถูกคาดโทษ ส่วนอาหารที่เอาไปกินที่บ้านเหลือเท่าไร ไม่ว่าจะบูดเน่าอย่างไรก็สามารถเอามาแลกนมกล่องหรือข้าวสารที่ร้านได้อีก เดี๋ยวจะเชิญสื่อต่างประเทศมาดูงาน บอกว่าเป็นร้านที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ความเห็นนี้ช่างเหมือนความเห็นของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขจริงๆ ตามข่าวที่มีข่าวว่านายวิทยา บูรณศิริ เสนอให้ระบบหลักประกันสุขภาพไทยเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอาเซียน โดยในข่าวกล่าวว่าประเทศเวียตนาม ลาว ฟิลิปปินส์ เตรียมนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

คำว่า “ประยุกต์” นี่เป็นคำสำคัญที่สุดที่ประเทศอาเซียนจะต้อง “เข้าใจ” ว่าพวกเขาควรดูประเทศไทยเป็นแบบอย่างได้ แต่อย่าทำอย่างที่ประเทศไทยทำ เพราะจะประสบหายนะในไม่ช้า ได้แต่หวังว่าประเทศเขาจะมีผู้นำทางสาธารณสุขที่ “ฉลาดและวางแผนงานอย่างสมเหตุสมผล” คือไม่ทำอย่างประเทศไทย ที่เงินงบประมาณก็มีน้อย แต่โฆษณาว่าจะรักษาฟรีทุกโรค แจกยาฟรีไม่อั้น (แต่ยาจะดีมีมาตรฐานหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ยามีมากก็เก็บเอาไว้มาแลกไข่ไปกินได้อีก

และในขณะเดียวกันรัฐมนตรีคนนี้เอง ก็มาบ่นว่าคนไทยกินยามากที่สุดในโลก จ่ายค่ายาแพงที่สุดในโลก แต่ยังไม่เห็นมีมาตรการอะไรที่จะทำให้คนไทยตระหนักถึง “คุณค่าและราคาของยารวมทั้งตระหนักถึงความรับผิดชอบในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อจะได้ประหยัดงบประมาณในการรักษาได้”



ความผิดเพี้ยนของระบบสาธารณสุขไทย ที่ประเทศอาเซียนไม่ควรทำตามก็คือ

1.ไม่ส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเท่าที่ควร ทำให้อัตราการเจ็บ(อุบัติเหตุ) และการป่วย(เป็นโรค) ต่างๆมีแต่เพิ่มขึ้น ตามสถิติของกระทรวงสาธารณสุข


2.เอาใจประชาชน 48 ล้านคนด้วยการบอกว่า รักษาฟรีทุกโรค โดยไม่เป็นความจริง เนื่องจากมีอีกหลายโรคที่ถูกจำกัดรักษา


3.ประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้นจนถึงปีละ 200 ล้านครั้ง เนื่องจากประชาชนส่วนมากที่ได้รับรู้สิทธิว่าจะได้ฟรีทุกอย่างเมื่อไปโรงพยาบาล จึงพากันไปโรงพยาบาลมากขึ้น เป็น และขอยาไปไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เอาไปกินเอง เอาไปแจกเพื่อนบ้าน และเอาไปเหน็บไว้ข้างฝา โดยไม่คิดว่า “ยานี้มีต้นทุนที่ต้องมีคนจ่ายค่ายา”

คำกล่าวในข้อนี้ไม่ไกลจากความจริง เนื่องจากว่าเมื่อมีโครงการเอายาเก่าไปแลกไข่ใหม่เพียง 4 วัน มีประชาชนเอายาไปแลกไข่ได้ถึง 18.2 ล้านเม็ด ถ้าเปิดให้แลกยาอีกจนครบ 1 เดือน อาจจะได้ยาเก่าอีกประมาณ100 ล้านเม็ด นับเป็นมูลค่าอีกกี่ร้อยล้านบาทก็ยังคำนวณไม่ได้

ถ้าประชาชนต้องจ่ายค่ายาเอง เช่นผู้ที่ไปโรงพยาบาลเอกชน มักจะบอกหมอว่า หมออย่าสั่งยาไปมากนัก เอาแค่พอจำเป็นในการรักษาอาการป่วยคราวนี้ก็พอ เนื่องจากเห็นว่า ถ้าขอให้หมอสั่งยามาก ตัวเองก็ต้องจ่ายเงินมาก

ฉะนั้น ระบบบัตรทอง 30 บาทและกระทรวงสาธารณสุขควรร่วมมือกัน ในการจัดทำโครงการป้องกันการที่จะจ่ายยาให้ประชาชนเอาไปทิ้งๆขว้างๆแบบที่ผ่านมาในรอบ 10ปี โดยการให้ประชาชนมีส่วนรับผิดชอบ “ค่ายาหรือค่าบริการสาธารณสุข”บ้าง เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า “การบริการสาธารณสุขและยานั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่าย” ถ้าประชาชนไม่ต้องจ่ายเอง ก็ต้องเอาเงินจากภาษีของประชาชนนั่นเองมาจ่าย


4.ไม่มีเงินซื้อยาราคาสูง ที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหรือรักษายุ่งยากรุนแรง/ซับซ้อน จากการที่ประชาชนได้รับยาไปมากเกินความจำเป็นที่จะต้องใช้ ทำให้ไม่มีงบประมาณพอที่จะซื้อยา “ราคาสูง” ทำให้สปสช.เป็นผู้ “จำกัดรายการยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาโรคเหล่านั้น” ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เป็นโรคร้ายที่คุกคามชีวิต ไม่ได้รับการรักษาหรือยาที่ดีตามมาตรฐานการแพทย์ในปัจจุบัน เช่นการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยไตวาย ฯลฯ และอีกหลายๆโรค ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ “สูญเสียโอกาสได้รับการรักษาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือรอดชีวิต” เนื่องจากการออก “ระเบียบในการจำกัดวิธีการรักษาหรือการใช้ยาของผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” 

เท่านี้ยังไม่พอ ผู้บริหารและผู้มีส่วนร่วม “ออกแบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ยังพยายามที่จะไป “ชักชวน” ผู้บริหารกองทุนอื่นคือ “ประกันสังคมและสวัสดิการการรักษาข้าราชการ” ให้กลับมาใช้วิธีการออกระเบียบการรักษาและกำหนดรายการยา ให้ “เลวลงเหมือนกับรายการของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”อีกด้วย 

ทั้งนี้เห็นได้จากการที่สปสช.ประกาศให้ประชาชนทั้งใน 3 ระบบไปรับการรักษาฉุกเฉินได้เหมือนกันหมด แต่จ่ายเงินค่ารักษาเพียง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เหมือนกับที่สปสช.เคยทำมากับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็คอยดูก็แล้วกันว่าผู้บริหารโรงพยาบาลที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเหมือนผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขไปได้อีกกี่มากน้อย? เดี๋ยวคงจะมีการเอะอะโวยวายขึ้นมาในไม่ช้า เพราะทุกสิ่งมี “ต้นทุนค่าใช้จ่าย” ทั้งสิ้น


5. ความ ขาดแคลนทรัพยากรหรือปัจจัยในการบริหารจัดการด้านการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ความผิดเพี้ยนของระบบสาธารณสุขไทยยังมีอีกมากมาย ขอยกตัวอย่างที่สำคัญอีกตัวอย่างหนึ่ง กล่าวคือ กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่มีภารกิจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการในการจัดให้มีสถานบริการสาธารณสุขที่ดี มีมาตรฐานให้เพียงพอแก่ความจำเป็นของประชาชน แต่กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงเดียวที่ขาดปัจจัยทุกอย่างที่จำเป็นที่สุดในการดำเนินงานตามภารกิจหลักดังกล่าว ได้แก่

   5.1 ขาดเงินงบประมาณที่เพียงพอ เหมาะสม ในการบริหารจัดการ

   5.2 ขาดบุคลากรที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ

   5.3 ขาดอาคารสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยี ยาและเวชภัณฑ์ ที่เหมาะสม ในการจัดบริการให้ดี มีมาตรฐานและความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย

ทั้งนี้ การเขียนปัญหาสำคัญในข้อ5 นี้ ผู้อ่านบางคนอาจจะกล่าวหาว่าผู้เขียนมีอคติกล่าวหาลอยๆโดยไม่มีหลักฐาน(ตัวเลข)เชิงประจักษ์(Evidence-based) มาแสดง ผู้เขียนก็ขอชี้แจงว่า สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้ เป็นความจริงที่ทุกคน “เห็นได้””ด้วยตนเอง เหมือนกับที่ทุกคนเห็นว่าดวงอาทิตย์ต้องขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นข่าวสารที่มีการกล่าวถึงในทุกๆสื่อในสังคม และทุกๆคนที่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขต้องเห็น “ประจักษ์” ด้วยตนเองแล้วว่า มีผู้ป่วยไปรอรับการตรวจรักษาอย่าง “เบียดเสียดยัดเยียดจนล้นโรงพยาบาล” มีผู้ป่วยที่ ต้องนอนเตียงเสริม เตียงแทรก นอนบนเปลเข็นตามระเบียง หน้าบันได หน้าห้องส้วม หรือต้องปูเสื่อนอน หรือต้องตระเวนหาเตียงนอนรักษาหลายสิบแห่ง กว่าจะได้เตียงนอน หรืออาจต้องไปรอพบแพทย์ 5-6 ชั่วโมง เพื่อจะให้แพทย์ได้ตรวจสัก 2-3 นาที ฯลฯ 



สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้( และยังไม่ได้กล่าวอีกมากนั้น )ผู้เขียนต้องการชี้ให้ประชาชนที่จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษาสุขภาพในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบ จะได้ไปเรียกร้องให้ผู้แทน(สส.)ของท่าน ไปเสนอให้รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้อยู่ในการกำกับของท่าน คือปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมมือกันแก้ไขและพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขและการประกันสุขภาพ โดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางกล่าวคือ ให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี มีมาตรฐาน มีเตียงผู้ป่วยที่เหมาะสม ได้รับการรักษาอย่างเอาใจใส่ตามมาตรฐานทางการแพทย์และการพยาบาลจากบุคลากรทุกประเภท 

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับความเสียหายจากการไปตรวจรักษาในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน โดยการแก้ไขปัญหาในข้อ 5คือการขาดแคลนทั้งหมด และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค และช่วยกันรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพของตนเองบ้าง ยกเว้นผู้ยากจน/พิการ/ไร้ความสามารถ

ถ้าเขียนแบบนี้ ก็อาจจะมีคนบางกลุ่มออกมา “อ้างว่า” ต้องการได้รับการรักษาฟรีเหมือนกันหมด ไม่ต้องการ “การให้ทานเฉพาะคนจน ต้องการความเสมอภาค/เท่าเทียม โดยการให้ทุกคนไม่ต้องจ่ายเหมือนกัน” นั้น ผู้เขียนก็จะบอกตามเหตุผลที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อว่า การให้ฟรี 48 ล้านคน (ไม่ใช่ทุกคน) นั้น ก็ได้ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนและความเสียหายดังที่ทุกคนเห็นอยู่แล้ว และการที่คนจนและด้อยโอกาสในสังคม ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เหมือนกับการจ่ายภาษีรายได้ที่คนจนไม่ต้องจ่ายแต่คนมีรายได้มากก็ต้องจ่ายนั่นเอง

ความเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคมนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมต้องช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อช่วยให้เขาอยู่ในสังคมได้ตามสบายพอควรแก่อัตภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาตกอยู่ในสภาพด้อยโอกาสต่อไป สังคมจึงจะเกิดความเป็นธรรมและสันติสุข







Create Date : 10 กรกฎาคม 2555
Last Update : 10 กรกฎาคม 2555 13:48:25 น. 2 comments
Counter : 2954 Pageviews.  

 
วันนี้ไปโรงพยาบาลมา เห็นด้วยอย่างยิ่ง


โดย: ข้าวเหนียวหวาน วันที่: 10 กรกฎาคม 2555 เวลา:15:33:16 น.  

 
พ่อ แม่ บ่นทุกครั้งเลยค่ะ เวลาไปรพ. บางวัน ไปนั่งรอเป็นวัน ๆ ไม่ได้ตรวจก็มี แล้วไอ้ระบบ หมอออกตรวจเฉพาะ นอกเวลาคลินิคนี้ก็เบื่อมาก นัดไปรพ.ตั้งแต่ 10 โมงเช้า เข้าคิว รอ ทั้งวัน 4 โมงเย็น พยาบาลมาบอกว่า หมอ มาหลัง 6 โมงเย็น อ้าว แล้วให้รอมาตั้งแต่เช้านี่ นัดมาทำไม..


โดย: simplyusana วันที่: 10 กรกฎาคม 2555 เวลา:19:49:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]