Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

7 ความเข้าใจผิดของคนไทยต่อการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของรัฐ .. นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า

 

 
7 ความเข้าใจผิดของคนไทยต่อการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของรัฐ


https://www.facebook.com/somsak.tiamkao/posts/1595967217191488

คนเราเมื่อเจ็บป่วย ก็จะเกิดความรู้สึกไม่สบาย เจ็บปวด ทรมาน จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นมานาน ค่อยเป็นค่อยไป ก็จะรับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล แต่ถ้ามีความรู้สึกไม่สบายมาก หรืออาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรือเจ็บป่วยนอกเวลาราชการ ก็จะไปรับการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงหลังๆ นี้มีปัญหาระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมสุขภาพ ที่เป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น ผมมานั่งคิด ไตร่ตรองว่าทำไมถึงเกิดปัญหามากขึ้นกว่าในอดีตมาก ก็พบว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังมีความเข้าใจผิด ลองติดตามดูครับ

1. ทุกโรงพยาบาลต้องมีห้องฉุกเฉิน

ซึ่งดูผิวเผินการที่มีห้องฉุกเฉินในทุกโรงพยาบาลก็น่าจะดี เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนยามเจ็บป่วย สามารถมารับการรักษาได้ทันที แต่ถ้าเรามานั่งคิดอย่างละเอียด การเปิดบริการด้านการรักษาพยาบาลห้องฉุกเฉินนั้น อาจเกิดผลเสียก็ได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้าออกไป เข้าถึงการรักษาที่ต้องได้รับล่าช้าออกไป เพราะเสียเวลาในการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในพื้นที่นานเกินไป

ผมยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน กรณีผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาตเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และต้องเข้าถึงการรักษาให้เร็วที่สุด แต่ถ้าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งไม่มีความพร้อมทั้งด้านแพทย์ผู้ให้การรักษาและเครื่องมือ อย่างน้อยก็เสียเวลาประมาณ 30 นาที ส่งผลให้โอกาสการได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด กรณีเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดน้อยลงไป แต่ถ้ามีระบบการนำส่งผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลฉุกเฉินที่รวดเร็วแทนการมีห้องฉุกเฉิน ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะเข้าถึงระบบการรักษาได้รวดเร็ว และเป็นการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ลดภาระด้านค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้อย่างมาก รวมทั้งการสร้างพฤติกรรมการใช้บริการนอกเวลาราชการที่เหมาะสมมากขึ้น

ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลต้องเปิดบริการห้องฉุกเฉินนั้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากมาย อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้ ถ้ามีการประเมินความคุ้มค่า ความจำเป็นในการมีห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาลรัฐ

 

2. เมื่อมีการเจ็บป่วยนอกเวลาราชการต้องไปรักษาที่ห้องฉุกเฉิน 

ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่พบมากที่สุด คือ เจ็บป่วยไม่ว่าจะมีอาการอะไร รุนแรงหรือไม่รุนแรง ผู้ป่วยก็จะเลือกไปตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินแทนที่จะรอรับการตรวจที่แผนกผู้ป่วยผู้ป่วยนอกในเวลาราชการ ด้วยเหตุผลคือคือ เร็วกว่า คนน้อยกว่า หรือไม่มีเวลาช่วงกลางวัน จึงมาตรวจนอกเวลาราชการเร็วกว่า

ที่ถูกต้องแล้วการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินนั้นต้องเป็นกรณีที่มีภาวะอันตราย เร่งด่วนถึงกับชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทันเวลา ชื่อห้องฉุกเฉิน ก็คือ Emergency Room คือ ภาวะที่ฉุกเฉินเท่านั้น แต่ในมุมมองของประชาชน คือ เจ็บป่วยใด ๆ ก็อยากรักษาอย่างเร็ว สะดวก จึงมารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน ทำให้ข้อมูลด้านการรับบริการของทุกห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐนั้น ให้บริการการรักษาที่เป็นกรณีฉุกเฉินจริงเพียงส่วนน้อย และส่วนมากก็ไม่ฉุกเฉินที่มารับบริการ การเข้าใจผิดประเด็นนี้ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นกรณีฉุกเฉินจริง ๆ อาจได้รับการรักษาที่ล่าช้าออกไป ไม่ทันเวลา ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ

 

3. เมื่อผู้ป่วยมาโรงพยาบาลต้องได้รับการตรวจเสมอ

ประเด็นนี้ผมก็อยากทำความเข้าใจกับทุกคนให้ดีครับ ว่าการตรวจรักษาที่เหมาะสมนั้น ต้องตรวจให้ตรงกับแพทย์ที่มีความถนัด ความสามารถในการรักษาโรคนั้น ๆ เช่น เป็นภาวะมองเห็นไม่ชัดเจนมานานเป็นเดือน แต่เพิ่งมาหาหมอวันนี้ตอน 2 ทุ่ม ก็ต้องการให้หมอตรวจประเมิน รักษาเลย ซึ่งกรณีแบบนี้การรักษาที่เหมาะสม คือ เจ้าหน้าที่จะนัดให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตาในภายหลัง แต่ผู้ป่วยก็ไม่เข้าใจ ต้องการให้ตรวจตอนนี้ ถ้าไม่ตรวจให้ก็ไม่พอใจ อาจเกิดการร้องเรียนขึ้นได้

ดังนั้นอยากบอกว่าการมาที่โรงพยาบาลนั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทุกครั้งก็ได้ครับ แต่ผู้ป่วยจะได้รับการแนะนำให้เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม โปรดเข้าใจประเด็นนี้ด้วย

 

4. ทุกโรงพยาบาลสามารถรักษาได้ทุกโรค

ต้องเข้าใจใหม่ว่าห้องฉุกเฉินจะสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ได้สามารถให้การรักษาจนหาย หรือได้คำตอบว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็มีความสามารถแตกต่างกันในการให้การรักษา ขึ้นกับระดับของโรงพยาบาล ความพร้อมของแพทย์และทีม

ดังนั้นการที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายได้ทั้งหมด ไม่สามารถให้การรักษาได้ทุกกรณี แต่จำเป็นต้องให้การนัดหมายมารักษาต่อเนื่อง หรือส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่อไป

 

5. เมื่อมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ก็ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์รอไม่ได้จะต้องตรวจเลย เพราะเข้าใจว่าตนเองฉุกเฉิน

ผู้ป่วยและญาติจะมีความเข้าใจว่าถ้าเจ็บป่วยก็จะมาโรงพยาบาล เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเจ็บป่วยที่ต้องมารักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้น ก็ต้องเป็นภาวะฉุกเฉินจริง ๆ แต่ที่เป็นจริงในปัจจุบัน คือ มากกว่าครึ่งที่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้นไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ มารับบริการ แพทย์ก็ต้องให้การตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน จึงดูเสมือนการบริการที่ไม่เป็นไปตามลำดับการมารับบริการ หรือรอนานกรณีไม่ฉุกเฉิน ก็จะมีการเรียกร้องขอตรวจก่อน เพราะอ้างว่าฉันมาก่อน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว อาการที่มานั้นไม่ได้ฉุกเฉินเลย เรื่องนี้อยากให้สังคมเข้าใจด้วยครับว่า ถ้าไม่ฉุกเฉิน แล้วมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินนะครับ

 

6. ใครมาก่อนต้องได้รับการตรวจก่อน

ซึ่งดุผิวเผินก็น่าจะถูกต้อง แต่เนื่องจากผู้ป่วยที่มารับการรักษาในห้องฉุกเฉินนั้นมีทั้งที่ฉุกเฉินจริง ๆ ตามเกณฑ์การประเมินทางการแพทย์ กับไม่ฉุกเฉิน ดังนั้นระบบจะมีการคัดกรอง และประเมินความจำเป็นเร่งด่วน มีการจัดลำดับความเร่งด่วนของผู้ป่วยแต่ละราย

กรณีที่ไม่เร่งด่วนอาจต้องให้รอตรวจหลังสุด จึงใช้เวลารอคอยนาน ตรงนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจด้วย เพราะจริงแล้วห้องฉุกเฉินไม่ควรให้การบริการต่อผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินนั้น แต่ในระบบการบริการของวัฒนธรรมไทย ยังมีการเอื้ออาทรต่อผู้มารับบริการ ดังนั้นถ้าไม่ด่วนก็อยากให้รอด้วยนะครับ

 

7. การตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกรอนาน มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินดีกว่า เร็วกว่าเยอะ

ความคิดนี้เกิดขึ้นเยอะมาก ขอบอกว่าเป็นการคิดที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง การใช้บริการผิดที่ ผิดวัตถุประสงค์ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบบริการสุขภาพทั้งหมด เป็นการคิดที่เห็นแก่ตัวมากครับแบบนี้ ใครที่เคยคิด เคยทำ หรือกำลังจะคิดแบบนี้ ผมขอร้องให้เลิกครับ โปรดเคารพกติกาของสังคม สังคมไทยต้องเป็นสังคมที่มีระเบียบ มีแนวคิดในการพัฒนาเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่คิดเอาเปรียบคนอื่น ๆ หรือคิดแบบตามสบาย ตามใจ คือไทยแท้ แบบนี้ไม่ได้ครับ ต้องแก้ไขเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมครับ

เมื่อเราลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของห้องฉุกเฉินออกไป ผมเชื่อมั่นว่า การบริการที่ห้องฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินย่อมได้รับการบริการรักษาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน เรามาเริ่มตั้งแต่วันนี้เลยครับ ไม่ด่วน ไม่ฉุกเฉินให้รอรักษาแบบผู้ป่วยนอกในวันเวลาราชการครับ แต่ถ้าด่วน ก็ต้องรีบไปเลยครับ ห้องฉุกเฉิน หรือใช้บริการ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 หรือ application FAST TRACK เรียกรถพยาบาล


***************************************




https://www.facebook.com/thaimedcouncil/photos/a.1532175813713985/2104653913132836/?type=3&theater

เชื่อมั๊ย..ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน (ER) คือผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน!!

ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ ER ถึง 35 ล้านครั้งต่อปี การที่มีผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินอยู่เกินครึ่ง ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จนอาจทำให้พิการ หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

และการมีผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินจำนวนมาก ยังส่งผลให้ ER แออัด หมอและพยาบาลต้องทำงานเกินกำลัง จึงเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังคนไข้ทุกคน

โดยเฉพาะคิวการรักษา!

เพราะว่านี่คือ #ห้องฉุกเฉิน (ER) ลำดับการรักษาในห้องนี้จึงไม่เรียงตามลำดับก่อนหลัง! หรือพูดง่ายๆ คือ มาก่อนอาจต้องรอนาน และต้องรักษาทีหลัง?? จนกลายเป็นดราม่าในโลกโซเชียล บ่อยครั้ง

เพราะหมอมีความจำเป็นต้องให้การรักษากับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มา ER เป็นอันดับแรก

“คุณเคยไป ER ตอนกลางคืนด้วยสาเหตุเหล่านี้ไหม?” หนีรถติด ขี้เกียจลางานตอนกลางวัน ขอใบรับรองแพทย์ ไม่อยากรอคิวนาน รวมทั้งปวดหัวเป็นไข้ และเล็บขบ ฯลฯ

ที่คนไข้ส่วนใหญ่ทำแบบนี้ อาจเป็นเพราะคิดว่า ER เปิดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้

ขอยืนยันว่านี่คือ ความเข้าใจผิด ที่เราทุกคนสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงได้

ยังมีดราม่าใน ER อีกเรื่องหนึ่ง คือ หมอเวรไม่รีบรักษา มัวแต่อยู่หน้าจอเล่นเฟสบุ๊คหรือเล่นเกมส์?

นั่นเพราะคนไข้ยังไม่ทราบว่า ปัจจุบันประเทศไทยแก้ปัญหาการขาดแคลนหมอเฉพาะทางฉุกเฉินในพื้นที่โรงพยาบาลอยู่ห่างไกล ด้วยการใช้ระบบให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางไกล (Emergency Telemedicine)

เป็นระบบการสื่อสารระหว่างหมอเวรเฉพาะทางฉุกเฉินของโรงพยาบาลระดับสูง (รุ่นพี่) กับหมอเวรห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (รุ่นน้อง) ผ่านหน้าจอ ที่ช่วยให้คนไข้ฉุกเฉินเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที อย่างเท่าเทียมกัน ลดอัตราตายและพิการ ..ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลในผืนแผ่นดินไทย ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตก็ใกล้หมอผู้เชี่ยวชาญได้เหมือนกัน

อยากให้ผู้ป่วยที่ไป ER ทุกคนพึงตระหนักว่า ในบางครั้งที่เราต้องเสียเวลารอตรวจรักษา หมอเวรห้องฉุกเฉินอาจกำลังช่วยยื้อชีวิตของผู้ป่วยอีกคนอยู่ก็ได้

ดังนั้น..ทุกนาทีที่คุณต้องรอ จึงเป็นการให้โอกาสหมอได้ต่อลมหายใจคนอื่น

“ ไม่ป่วยฉุกเฉิน ไม่ใช้ห้องฉุกเฉิน ช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต “


ด็อกเตอร์ซีรี่ส์ ep.6 #ฉุกเฉินฉุกเฉินกว่า

https://www.facebook.com/pg/thaimedcouncil/photos/?tab=album&album_id=2103349176596643

ปัญหาเดิม .. ผ่านไป ยี่สิบปี ก็ยังเหมือนเดิม หรือบางที อาจหนักหนาขึ้น ? ... ก็คงต้อง "ขอความร่วมมือ" ถ้าไม่เร่งด่วนจริง ๆ ก็มาในวันเวลาราชการเถอะครับ นอกเวลาราชการ มีหมอมีเจ้าหน้าที่น้อย ให้เขาเธอเหล่านั้น เก็บแรง ไว้คอยดูแลรักษาผู้ป่วยที่ฉุกฺเฉินจริง ๆ ดีกว่านะครับ เพราะ วันหนึ่ง ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วอาจเป็น ตัวเราเอง หรือ ญาติมิตรใกล้ชิดของเรา
 
ปล. มีหนังสือเวียนจากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า " ถ้าผู้ป่วย "คิดว่า" ฉุกเฉิน ก็ให้ถือว่าเป็น ภาวะฉุกเฉิน " ช่วยลดปัญหาหนึ่งแต่กลับไปทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา .. ( ฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งอาจไม่เหมือนกับที่คนทั่วไป คิดว่า ฉุกเฉิน )
 

ถม

เจ็บป่วยไปห้องฉุกเฉิน... ตามมาตรฐาน ก็ยังต้อง " รอ " ^_^

 

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-01-2018&group=27&gblog=31

7ความเข้าใจผิดของคนไทยต่อการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของรัฐ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-01-2018&group=27&gblog=32

รพ.ชลบุรีจัดระบบคัดกรองห้องฉุกเฉิน คนไข้-หมอปลอดภัย ลดเจ็บ ตาย 2P Safety

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=16-09-2017&group=15&gblog=83

infographic 9ข้อควรรู้เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-06-2017&group=7&gblog=216

 




 

Create Date : 26 มกราคม 2561   
Last Update : 23 มิถุนายน 2562 20:34:04 น.   
Counter : 1791 Pageviews.  

เจ็บป่วยไปห้องฉุกเฉิน ... ตามมาตรฐาน ก็ยังต้อง " รอ " ^_^





ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ ใน โรงพยาบาล รัฐ ( เอกชน )  ในประเทศไทย  และ ในต่างประเทศ จึงได้กำหนดมาตรฐาน คำแนะนำ แนวทางการจัดลำดับความสำคัญ ว่า ผู้ป่วยแบบไหน ต้องตรวจรักษาเร่งด่วน หรือ แบบไหน ที่รอได้ ...  หลายกรณี ผู้ป่วย และ ญาติ รู้สึกว่า ความเจ็บป่วยของตน(ญาติ) ฉุกเฉินเร่งด่วน  แต่เมื่อไปถึงห้องฉุกเฉิน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ กลับไม่กระตือรือร้นเข้ามาตรวจรักษาดูแล จนทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกัน หลายต่อหลายครั้ง

ลองอ่าน ลองศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น บางครั้ง ความเข้าใจ เห็นใจ ก็อาจทำให้เรื่องราวต่าง  ๆ ผ่านไปด้วยดี ...

ยกตัวอย่างของประเทศไทย

ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลขอนแก่น ได้แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 5 ระดับ ด้วยระบบค้ดกรอง Khon Kaen ESI (KESI) ดังนี้
                กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยวิกฤต        ใช้สัญลักษณ์ “สีแดง”           ตรวจทันที
                กลุ่มที่ 2 เจ็บป่วยรุนแรง      ใช้สัญลักษณ์  “สีชมพู”        รอตรวจ 5-15 นาที
                กลุ่มที่ 3 เจ็บป่วยปานกลาง  ใช้สัญลักษณ์  “สีเหลือง”      รอตรวจ 15-30 นาที
                กลุ่มที่ 4 เจ็บป่วยเล็กน้อย   ใช้สัญลักษณ์  “สีเขียว”         รอตรวจ 30-60 นาที
                กลุ่มที่ 5 ผู้ป่วยทั่วไป        ใช้สัญลักษณ์  “สีขาว”          รอตรวจ 1-2 ชั่วโมง

https://em.kkh.go.th/advance/adv.services.html

****************************

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การจำแนกประเภทผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ
    แบ่งตามอาการบาดเจ็บ
    แบ่งตามความเร่งด่วนของการรักษา
    แบ่งตามกลุ่มโรค

การคัดกรองผู้ป่วยแบ่งเป็น 5 ระดับ

    ระดับ 1 สีฟ้า (Life threateningcondition)
          ภาวะเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ต้องช่วยเหลือทันที

    ระดับ 2 สีแดง (Emergency condition)
          ภาวะเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน (ระยะเวลารอคอยไม่เกิน 15 นาที )

    ระดับ 3 สีเหลือง (Urgency condition)
         ภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและอวัยวะหากให้การช่วยเหลือล่าช้า (ระยะเวลารอคอยไม่เกิน30นาที )

    ระดับ 4 สีเขียว (Less urgency condition)
         ภาวะเจ็บป่วยทั่วไป (ระยะเวลารอคอยไม่เกิน 60 นาที)

    ระดับ 5 สีขาว (Nonurgency condition)
         ภาวะเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน (ระยะเวลารอคอยไม่เกิน 120 นาที)

https://www.med.cmu.ac.th/hospital/opd/2013/er.html

*******************************





infographic 9 ข้อควรรู้เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่    https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-06-2017&group=7&gblog=216

เจ็บป่วยฉุกเฉิน เมื่อนโยบายยังไม่ชัด ต้องคิดก่อนเข้า : นพ.ธีระ วรธนารัตน์     https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=21-02-2017&group=7&gblog=212

เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว นโยบายดี แต่การปฏิบัติล้มเหลว ? ...    https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-10-2014&group=7&gblog=185

รพ.เอกชน โวย "ขาดทุน" จากนโยบายรัฐ "รักษาฉุกเฉิน" : นันท์ชนก วงษ์สมุทร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย    https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=28-06-2017&group=15&gblog=79

สพฉ. จับมือ สธ. พัฒนาการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์”     https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=02-04-2015&group=7&gblog=186






 

Create Date : 16 มกราคม 2561   
Last Update : 16 มกราคม 2561 21:57:40 น.   
Counter : 12246 Pageviews.  

ยาอมใต้ลิ้น ISDN .. หมอหัวใจยืนยันว่า " เข้าใจผิด " .. งดแชร์ และ ฝากบอกต่อ




Rungsrit Kanjanavanit
1 ธันวาคม เวลา 23:37 น.


จากเหตุการณ์ เสียชีวิตกระทันหันของผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพรักในสังคม

เห็นมีการแชร์กันมากในไลน์ เรื่อง แนะนำให้พกยาอมใต้ลิ้น ISDN เพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ผมมีความลำบากใจบางประการ
แต่ผมขอชี้แจงเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดดังนี้ครับ

ยาอมใต้ลิ้น หรือ ยาไนเตรท นี้ เป็นยาขยายหลอดเลือด ช่วย ลดอาการ เจ็บหน้าอกได้ กรณีที่ไม่เป็นรุนแรง นั่นคือ หลอดเลือดตีบ แต่ไม่ถึงกับตัน เป็นการเจ็บหน้าอกแบบคงที่ (stable angina)

แต่กรณีที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันเลย
จนเกิด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ( acute myocardial infarction )
มันช่วยอะไรมากไม่ได้
อาจบรรเทาความเจ็บปวดลงได้เล็กน้อย
แต่ไม่เคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า สามารถลดอัตราตาย หรือภาวะแทรกซ้อนได้

หากเจ็บหน้าอกรุนแรง
วิธีลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต ทำได้โดย รีบไปพบแพทย์ฉุกเฉิน (ควรใช้บริการ 1669)
เพื่อให้แพทย์เปิดหลอดเลือดหัวใจให้เลือดกลับมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยเร็วที่สุด

จะด้วยการใช้ยาละลายลิ่มเลือด fibrinolysis
หรือทำ “balloon” ( primary coronary intervention) แล้วแต่ความเหมาะสม

หากจะมีการพกยา
คนที่มีความเสี่ยง อาจพก Aspirin
และเคี้ยวเวลาเกิดอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง
ยังจะมีประโยชน์มากกว่า พกและอมยาใต้ลิ้นตัวที่ว่านี้ครับ

นอกจากนี้ การติดความรู้ CPR ที่ถูกต้องให้กับประชาชนในวงกว้าง รวมถึงการเข้าถึงเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ได้ง่าย
เป็นกลไกสำคัญในการป้องกัน การเสียชีวิตกระทันหัน จากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของภาะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันครับ

นพ.รังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์

อายุรแพทย์โรคหัวใจ
คณะแพทยศาสตร์ มช.

https://www.facebook.com/rungsrit.kanjanavanit/posts/10204279726349724


::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ต้นเรื่อง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ?
ที่มา ...https://www.1morenews.com/11532.html

นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้แบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการเหล่านี้คือ มีคนในครอบครัวเป็นมาก่อน คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงมาก โดยผู้ชายเริ่มที่อายุ 40 ปี ส่วนผู้หญิงเริ่มมีความเสี่ยงช่วงหลังหมดประจำเดือน เมื่อรู้แล้วป้องกันตัวเองก่อน โอกาสเกิดเรื่องร้ายแรงก็จะลดลงด้วย

การเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีหลายสาเหตุที่สามารถป้องกันและหยุดยั้งอาการไม่ให้กำเริบจนเสียชีวิตหรือพิการถาวรได้ แม้จะได้รับการดูแลรักษาที่ดีเพียงใดก็ตาม อย่างกรณีอดีตนักฟุตบอลทีมชาติที่หัวใจวายนั้น ถ้าในระหว่างนั่งพักอยู่ข้างสนาม ช่วงนั้นยังไม่เกิดวิกฤต แต่ถือเป็นก่อนวิกฤต ถ้ามียาอมใต้ลิ้นสักเม็ด ก็อาจพ้นจากภาวะวิกฤต และอาจไม่เสียชีวิต

สำหรับ “ยาอมใต้ลิ้นแก้อาการหัวใจขาดเลือด” หรือยาไอเอสดีเอ็น เป็นยาที่ช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งสามารถนำมาให้ผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก โดยเอายาใส่ใต้ลิ้น 1 เม็ด ถ้า 2-3 นาที แล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ให้อมใต้ลิ้นอีก 1 เม็ด เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตโดยไม่พิการ

“เราพยายามผลักดันเรื่องนี้มานาน ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินประกาศให้ยาอมใต้ลิ้น เป็นยาสำหรับปฐมพยาบาลเบื้องต้น กลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เพราะมันช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้มาก และไม่พิการ ส่วนผลข้างเคียงถ้าเกิดว่าให้ยาในคนที่ไม่ได้เป็นโรคนี้จริง ก็ไม่ได้มีอะไร แค่มีอาการชาใต้ลิ้น ปวดศีรษะตุบๆ ไม่กี่นาทีก็หาย แต่ที่ห้ามเลยคือให้ยานี้ในผู้ชายที่กินยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ (ไวอะกร้า) หรือสารในกลุ่มเดียวกัน ในช่วง 2 วันเท่านั้น เพราะจะทำให้ความดันตก ช็อก และอาจเสียชีวิตได้”

ยาดังกล่าวหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เป็นยาไอเอสดีเอ็น ชนิดอมใต้ลิ้น เม็ดหนึ่งราคาไม่เกิน 2 บาท ไปที่ไหนก็ให้พกติดตัวไว้สัก 2 เม็ด เพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา นอกจากจะช่วยชีวิตตัวเองแล้ว ยังช่วยชีวิตคนอื่นได้ด้วยเงินเพียง 4 บาท


::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::



การช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น และ AED เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=07-07-2014&group=4&gblog=102

FW Mail สุขภาพที่หลายคนเข้าใจผิด(หมอแมว) แถมเรื่อง การช่วยชีวิตเบื้องต้น

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-10-2009&group=7&gblog=36

วิธีช่วยเหลือตนเองหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว , ปั๊มหัวใจตัวเองด้วยการไอ... สรุป ไม่จริง ไม่แนะนำให้ทำ

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-04-2016&group=4&gblog=121

นักกีฬาเสียชีวิตคาสนามเกิดจากอะไร ? .... เขียนโดย 1412 เวบไทยคลินิก

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-02-2015&group=4&gblog=106

มาออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-05-2008&group=4&gblog=35

พยากรณ์โอกาสเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือดล่วงหน้า 10 ปี อัตโนมัติ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-04-2009&group=7&gblog=24

เด็กจมน้ำ ..ตะโกน โยน ยื่น

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-04-2015&group=4&gblog=108





 

Create Date : 04 ธันวาคม 2560   
Last Update : 15 ธันวาคม 2560 17:17:30 น.   
Counter : 4316 Pageviews.  

วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร ... จากงานสัมนาฯ จัดโดยคณะอนุกรรมการฯ แพทยสภา



‘เมา-รอนาน-เจ็บหนัก’ กระตุ้นความรุนแรงใน รพ. ห้องฉุกเฉินเกิดเหตุมากสุด

เวทีถอดบทเรียนความรุนแรงในโรงพยาบาล ระบุ ห้องฉุกเฉินเกิดเหตุมากที่สุดเกือบ 100% แพทย์ชำแหละปัจจัยกระตุ้นสถานการณ์ พบ 60% ของผู้รับบริการอีอาร์ กลับไม่ฉุกเฉิน

นพ.บดีภัทร วรฐิติอนันต์ โรงพยาบาลนครปฐม กล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สภาพปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้เรารับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายคนไข้ การทำร้ายเจ้าหน้าที่ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจากสถิติเกือบทั้ง 100% พบว่าสถานที่เกิดเหตุมักอยู่ในห้องฉุกเฉินแทบทั้งสิ้น คำถามก็คือเหตุใดจึงต้องเป็นห้องฉุกเฉิน

นพ.บดีภัทร กล่าวว่า ผลการวิจัยหนึ่งระบุว่าพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการกระทำรุนแรง ได้แก่ อันดับหนึ่งเมาสุราและใช้ยาเสพติด รองลงมาคือการรอคอยที่ยาวนาน ความบกพร่องเรื่องการสื่อสาร อาการเจ็บป่วยที่รุนแรง และสุดท้ายคือสถานการณ์ที่รีบเร่ง ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยทั้งหมดนี้อยู่ในห้องฉุกเฉินแทบทั้งสิ้น นั่นจึงเป็นเหตุให้บุคลากรในห้องฉุกเฉินมักถูกทำร้ายทั้งทางวาจาและทางร่างกาย

“สิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือเหตุการณ์ทั้งหมดแทบจะไม่มีการเขียนรายงาน กว่า 80% ของเหตุการณ์ไม่มีการเขียนรายงาน ฉะนั้นถ้าใช่เหตุการณ์ที่รุนแรงจริงๆ หรือถ้าไม่มีสังคมออนไลน์ ก็จะไม่ทราบว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น” นพ.บดีภัทร กล่าว

นพ.บดีภัทร กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเหตุจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้สูญเสียความพึงพอใจในงานและความเชื่อมั่นในวิชาชีพ ซึ่งเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ไม่ได้กระทบเพียงบุคลากรในโรงพยาบาลเท่านั้น หากแต่การรับรู้จะส่งผลต่อบุคลากรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุมมองผู้บริหาร ผลวิจัยดังกล่าวพบว่า ผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอันดับหนึ่ง ลูกค้าเป็นอันดับสอง ฉะนั้นหากบรรยากาศในการทำงานมีความสุข บุคลากรจะดูแลลูกค้าให้เอง แต่ในทางกลับกันหากคนที่ทำหน้าที่คอยดูแลผู้อื่นมีสุขภาพจิตสุขภาพกายไม่พร้อม ก็คงจะกระทบต่อการให้บริการ

“งานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าสามารถดูแลบุคลากรในห้องฉุกเฉินไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพการดูแลอย่างแน่นอน” นพ.บดีภัทร กล่าว

แพทย์รายนี้ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในโรงพยาบาลก็คือสภาพความแออัดของผู้ป่วย ข้อมูลจากสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปสรุปว่าห้องฉุกเฉินเกือบทุกโรงพยาบาลมีความแออัด สาเหตุสำคัญก็คือผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินมารับการตรวจที่ห้องฉุกเฉินมากเกินไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยใช้บริการห้องฉุกเฉินประมาณปีละ 35 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้พบว่าเกินกว่า 60% เป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน นั่นหมายความว่าทุกวันนี้เราใช้ห้องฉุกเฉินไว้ให้บริการผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ห้องฉุกเฉินแบกรับงานเกินศักยภาพ สุดท้ายแล้วทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

นพ.บดีภัทร กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความแออัดของห้องฉุกเฉินว่า มีหลากหลายวิธี แต่อยากจะเน้นย้ำประเด็นการรู้เท่าทันข้อมูลของประชาชน คือเคยมีปัญหาประชาชนไม่เข้าใจ หรือร้องเรียนว่าทำไมตัวเองต้องรอคอยทำไมคนอื่นได้รับการรักษาเลย หรือใครด่วนหรือไม่ด่วนอย่างไร ใครฉุกเฉินไม่ฉุกเฉินคัดแยกอย่างไร รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบด้วยว่าจำเป็นต้องให้บริการหรือตรวจตามความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต

สำหรับปัญหาความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความแออัด แต่เกิดจากอารมณ์โดยไม่เคารพสถานที่ เช่น การยกพวกตีกันแล้วตามมาตีกันต่อที่โรงพยาบาล ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก ฉะนั้นซีกนโยบายต้องช่วยกันด้วยว่าจะไม่ยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล รวมทั้งการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และนักกฎหมาย เพื่อวางนโยบายลดความรุนแรงต่อไป

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ย้ำแก้ปัญหาคุกคาม-รุนแรงใน รพ.ต้องลดเคสที่ไม่ฉุกเฉินออกจากห้องฉุกเฉิน

แพทย์ รพ.สุราษฏ์ฯ ชี้ประเด็นความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอาคนที่มีความรู้น้อยที่สุดและยังเป็นคนหนุ่มสาวของโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า ย้ำแก้ปัญหาการคุกคามต้องลดเคสที่ไม่ฉุกเฉินออกจากห้องฉุกเฉิน

นพ.จักรกฤช สุวรรณเทพ

นพ.จักรกฤช สุวรรณเทพ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สภาพปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ถ้าเราอยู่กับระบบสาธารณสุขมานานจะพบว่าความรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องไปถึงผู้บริหารหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือสังคมออนไลน์ ซึ่งขณะนี้คิดว่าในเชิงนโยบายทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือแพทยสภาคงดำเนินการอย่างแน่นอน ส่วนจะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องรายละเอียด

นพ.จักรกฤช กล่าวว่า หากพูดถึงเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่าอย่างโรงพยาบาลชุมชนจะมีกำลังหรือไม่ หรือการจ้าง รปภ.24 ชั่วโมงนั้น สธ.ควรจะการันตีให้โรงพยาบาลหรือไม่ ตรงนี้จำเป็นต้องมีความชัดเจนเชิงนโยบาย เพราะนั่นหมายถึงสวัสดิภาพของบุคลากรด้านอื่นๆ ที่ต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมงด้วย

นพ.จักรกฤช กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการบริการอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ก็ต้องพิจารณาต่อด้วย อย่างกรณีห้องฉุกเฉินถามว่าใครอยู่บ้าง ที่โรงพยาบาลสุราษฏร์มีแพทย์ Intern 2 คน นอกจากนั้นก็เป็น Extern และสตาฟท์ซึ่งก็เป็นการจ้าง Intern อีก ประเด็นก็คือเราเอาคนที่ประสบการณ์น้อยที่สุด และอยู่ในกลุ่มอายุเจนเนอเรชั่นที่อ่อนไหวที่สุดคือเจนวายทำงานในห้องฉุกเฉิน

“คือเราเอาคนที่ประสบการณ์น้อย หรือ Intern บางคนก็มีอีโก้ที่สูงมากเข้าไปอีก คำถามก็คือว่าแล้วสตาฟท์จริงๆ เราอยู่ที่ไหน เพราะระบบรักษาความปลอดภัยไม่มี สิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง สตาฟท์ก็เป็นคนหนุ่มสาว ผมคิดว่ายังไงๆ ก็ระเบิด” นพ.จักรกฤช กล่าว

นพ.จักรกฤช กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างแรกก็คือต้องเอาเคสที่ไม่ฉุกเฉินออกจากห้องฉุกเฉินก่อน ซึ่งเรื่องนี้ต้องไม่ใช่เพียงแค่นโยบายของโรงพยาบาล แต่ทาง สธ.เอง หรือแม้แต่แพทยสภา ต้องออกมาเป็นผู้สื่อสารโดยตรงกับสาธารณชนให้เข้าใจตรงกันว่าห้องฉุกเฉินจะไม่ดูแลคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน และเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลในการจัดบริการเพื่อรองรับคนไข้ที่เหลือ

นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นคือระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งเชิงโครงสร้าง เชิงบุคลากร สถานที่ต่างๆ โดยต้องมีการันตีให้กับโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง จากนั้นคือการบริการจัดการบุคลากรในห้องฉุกเฉิน ทั้ง Intern สตาฟท์ รวมถึงที่ปรึกษาทั้งหลาย

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

เสนอไอเดียลดความรุนแรงห้องฉุกเฉิน ชงตั้งบุคลากรเป็นเจ้าพนักงานตาม กม.-ใครดูหมิ่นติดคุก

กรรมการแพทยสภา แนะแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน เสนอตั้งบุคลากร ER เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ใครดูหมิ่น-ทำร้าย ระวางโทษคุก 1 ปี

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม กรรมการแพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก แก้ไข ป้องกันและแก้ปัญหา วิกฤต ความรุนแรงในโรงพยาบาล ER ในโรงเรียนแพทย์ และการจัดระเบียบ” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในสถานพยาบาลไม่ใช่แพทย์แต่เป็นพยาบาล ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบว่าพยาบาลเกิน 50% ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว และ 95% เชื่อว่าความรุนแรงจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดย 1 ใน 4 ของพยาบาลไม่มีความสุขในการทำงาน โดยเฉพาะในห้องฉุกเฉิน ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยก็คงมีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน

นพ.สุรจิต กล่าวว่า ในประเทศไทย ER ไม่ใช่ emergency room แต่เป็น everything room นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยมีน้อยมากที่จะมีห้องฉุกเฉิน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นห้องจิปาถะทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือการทำให้ER เป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ โดยสำหรับปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่1.ด่าทอด้วยวาจา 2.ทำร้ายร่างกาย 3.สืบหาสะกดรอยตามรวมถึงใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำวิธีการจัดการความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน โดยให้จัดทำเป็น 3 เฟส ได้แก่ 1.ระยะป้องกันคือก่อนเกิดเหตุ 2.ระยะเกิดเหตุ 3.ระยะหลังเกิดเหตุ

สำหรับระยะก่อนเกิดเหตุนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้บริหารตั้งแต่ระดับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงมาจนถึงหน่วยบริการ ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการป้องกันความรุนแรง โดยเฉพาะการประกาศวาระ zero tolerance เมื่อมีการประกาศแล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้คนไข้ทราบถึงสิทธิของบุคลากรในวิชาชีพ และต้องวางแนวทางให้เกิดการปฏิบัติจริง รวมถึงต้องมีแนวทางและมาตรการในการติดตามและดำเนินการด้วย เช่น หากพบการด่าทอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก็ควรต้องมีการแจ้งความโดยทันที เพื่อให้มีการบันทึกไว้

ขณะเดียวกันต้องมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน ยกตัวอย่างที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองติดอันดับ 1 ใน 5 อันตรายของประเทศ โดยห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจะเป็นระบบปิด คือไม่ให้เข้าใดๆ ทั้งสิ้น ทางเข้าของรถพยาบาลกับคนไข้ที่เดินเข้ามาเป็นคนละทางกันและมองไม่เห็นกัน แม้แต่บุคลากรในโรงพยาบาลที่ไม่เกี่ยวข้องกับห้องฉุกเฉินก็เข้าไม่ได้ มีการตรวจเข้มข้น มีกล้องวงจรปิด ต้องฝากสัมภาระทุกอย่างก่อนเข้า และกำหนดระยะเวลาการเข้าสั้นๆ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการฝึกฝนโดยเฉพาะ จากบริษัทที่ฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยห้องฉุกเฉินโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ สิ่งที่โรงพยาบาลต้องทำคือแผนการปฏิบัติการเมื่อเกิดเหตุความรุนแรง และการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไว้ล่วงหน้าเพื่อกำหนดแผนการทำงานร่วมกัน รวมทั้งจัดทำแนวทางการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง

นพ.สุรจิต กล่าวถึงการดำเนินการของโรงพยาบาลในระยะเกิดเหตุว่า จำเป็นต้องมีระบบที่ใช้ขอความช่วยเหลือด่วนได้ คือกดปุ่มเดียวแล้วจบ มีการทำแผนเพื่อให้บุคลากรสามารถหลบหลีกออกจากเหตุการณ์ความรุนแรงได้ ต้องบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานต่อผู้บริหารทุกครั้งโดยไม่มองว่าเรื่องความรุนแรงเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

สำหรับระยะหลังเกิดเหตุ จำเป็นต้องรายงานเหตุการณ์ตามแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล ค้นหาสาเหตุและแนวทางป้องกัน ที่สำคัญคือต้องมีมาตรการเยียวยาให้บุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง จัดทำระบบการฝึกอบรมการจัดการความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและซ้อมแผน จัดทำข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและความสำเร็จในการปฏิบัติการตามมาตรการต่างๆ

“ในเมื่อบ้านเรามีแต่ห้องจิปาถะแต่ไม่มีห้องฉุกเฉินจริงๆ จึงขาดการบริหารจัดการเชิงนโยบายและเชิงระบบเพื่อป้องกันภาวะความรุนแรง บุคลากรก็ขาดประสบการณ์ ไม่เคยฝึกไม่เคยเรียนรู้ บุคลากรไม่รายงานเหตุการณ์เพราะรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ รายงานไปก็ไม่ถูกแก้ไขปัญหาใดๆ” นพ.สุรจิต กล่าว

นพ.สุรจิต กล่าวอีกว่า ห้องฉุกเฉินสามารถปิดได้หากมีความเสี่ยง และโรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องเปิดทำการตลอดเวลา อย่างในสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่าเฉพาะโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 100 เตียงขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะต้องเปิดทำการตลอดเวลา ส่วนโรงพยาบาลเล็กๆ ปิดบ้างก็ได้ ไม่ต้องมีห้องฉุกเฉินก็ได้ เราสามารถประกาศได้เลยว่าโรงพยาบาลไม่มีห้องฉุกเฉิน มีแต่ห้องด่วนและเจ็บป่วยเล็กน้อยเท่านั้น หรือถ้าอยู่ใกล้ๆ กันก็เข้าเวรรวมกัน 2-3 แห่ง และใช้ระบบขนส่งผู้ป่วยแทน

“ในประเทศอังกฤษจะทำให้ผู้ป่วยไม่มาที่ห้องฉุกเฉิน นั่นหมายความว่าต้องมีระบบคัดแยกผู้ป่วยสำหรับมาห้องฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่มาคัดแยกกันที่ห้องฉุกเฉิน อันไหนรักษาได้ตรงหน้าก็รักษาเลย ไม่ใช่ขนคนไข้มารกในห้องฉุกเฉิน” นพ.สุรจิต กล่าว

นพ.สุรจิต กล่าวถึงสิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือสภาวิชาชีพต้องร่วมกันประกาศวาระ zero tolerance ประกาศสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับสิทธิผู้ป่วย อาจจะทำโครงการฝากโรงพยาบาลไว้กับตำรวจ ที่สำคัญคือต้องผลักดันให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะเท่ากับว่าผู้ปฏิบัติงานทำงานโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย หากถูกคนไข้ดูหมิ่นก็จะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือแม้แต่คนไข้ปฏิเสธไม่รับการบริการแต่ภาวะนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตก็มีความผิด ถ้าคนไข้แจ้งความเป็นเท็จ ต่อสู้ขัดขวางก็จะมีโทษเช่นกัน


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

‘พยาบาล’ ถูกลวนลาม-คุกคามทางเพศอื้อ

สภาการพยาบาลเปิดข้อมูล ‘พยาบาล’ ถูกลวนลาม-คุกคามทางเพศเป็นประจำ แนะอย่าอยู่คนเดียว แฉพฤติกรรมทราม ตั้งแต่แทะโลมถึงขั้นดึงไปกอด

นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล และผู้เชี่ยวชาญศาลยุติธรรมสาขาการพยาบาล กล่าวในเวทีเสวนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับพยาบาลมากที่สุด

นางประภัสสร ยกตัวอย่างกรณีการคุกคามพยาบาลว่า สมัยที่เข้ามาทำคดีใหม่ๆ คดีแรกคือพนักงานเข็นเปลเมาแล้วโทรตามพยาบาลขึ้นไปข่มขืนแล้วฆ่าโดยหลอกว่าคนไข้กำลังจะคลอด เมื่อฆ่าเสร็จก็ออกไปนอนหลับที่ห้องพักในสภาพเลือดท่วมตัว ก่อนจะตื่นแล้วบอกว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และรับสารภาพว่าเห็นพยาบาลในชุดสีขาวแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ หรืออีกคดีหนึ่งที่พยาบาลถูกไฟฟ้าช็อตด้วยเครื่องปั้มหัวใจจากฝีมือคนในโรงพยาบาลเช่นกัน แต่โชคดีถูกสายเสื้อในจึงไม่เป็นอะไร หรืออีกเคสหนึ่งคนไข้เข้าไปในโรงพยาบาลและขึ้นไปบนตึก พยาบาลเห็นท่าทางผิดสังเกตและเห็นว่าเหน็บมีดมาไว้ข้างหลังจึงรีบล็อคประตู และโทรเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ระหว่างนั้นคนร้ายหลบไปซ่อนตัวที่ห้องซักผ้า มีผู้ช่วยพยาบาลกำลังเดินไปเอาผ้าพอดีจึงถูกก่อเหตุที่ข้างซอกห้องผ้า ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับพยาบาล ฉะนั้นพยาบาลก็ไม่ควรอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด

“พยาบาลถูกลวนลามและคุกคามทางเพศเป็นประจำ เริ่มตั้งแต่การแทะโลม หรือถึงขั้นดึงตัวเข้าไปกอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากสร้างความหวาดกลัวแล้ว ยังทำให้พยาบาลเกิดความรู้สึกถูกดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีด้วย โดยสิ่งที่สภาการพยาบาลรับอยู่เป็นประจำและอันดับหนึ่งคือพยาบาลถูกลวนลามทั้งทางวาจาและการกระทำ” นางประภัสสร กล่าว

นางประภัสสร กล่าวอีกว่า พยาบาลเป็นคนแรกที่จะต้องรองรับอารมณ์ของคนไข้ เช่น คนไข้อารมณ์ไม่ดีเพราะต้องรอการรักษาเป็นเวลานาน ตรงนี้แพทย์และพยาบาลจำเป็นต้องอธิบายว่าทำไมต้องรอ ศักยภาพโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้คนไข้ลดระดับความรุนแรงของอารมณ์ลงมาได้ ยกตัวอย่างเคสคนไข้มาด้วยอารมณ์โกรธและต้องการพบแพทย์เฉพาะทางทันที โดยแพทย์ได้รักษาเบื้องต้นและนัดมาใหม่แต่คนไข้ไม่ยินยอม แพทย์จึงส่งต่อให้พยาบาลผู้ชายไปอธิบายต่อ แต่คนไข้ไม่พอใจและชกพยาบาลจนแตก เป็นเหตุให้ รปภ.และเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาล็อคตัวคนไข้ สุดท้ายคนไข้ไปแจ้งความว่าถูกรุมทำร้าย ซึ่งจากกรณีนี้จึงมีข้อเสนอว่าทุกโรงพยาบาลควรติดกล้องวงจรปิดเพื่อเป็นหลักฐานว่าใครผิดใครถูก และควรจัดหา รปภ.ปฏิบัติหน้าที่หน้าห้องฉุกเฉิน และระวังการปะทะกับคู่กรณี

“สำหรับพยาบาล อาจารย์อยากฝากเอาไว้ว่า ไม่ว่าพยาบาลจะยุ่งขนาดไหนก็ตามต้องคิดถึงหัวใจของคนรอ อารมณ์จะเกิดขึ้นจากการรอ โดยเฉพาะการรอโดยที่เขาไม่รู้ว่ารออะไร ฉะนั้นต้องมีคำตอบว่าเขารออะไร ต้องให้เหตุผลเขา”

นางประภัสสร กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดกับพยาบาลมากที่สุดก็คือการพูดจาแทะโลมและการด่าทอ คือเมื่อคนมีทัศนคติว่าเงินเป็นสิ่งที่ใหญ่มากจึงนึกอยากจะด่าใครก็ด่า แน่นอนว่าหากเป็นหลักการของมหาตมะคานธี ลูกค้าคือพระเจ้า แต่ในวันนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าในขณะที่ลูกค้าเป็นพระเจ้านั้น บุคลากรของตัวเองก็มีความสำคัญ ฉะนั้นหากลูกค้าไม่สุภาพเราก็ควรมีสิทธิไม่ให้บริการได้เช่นกัน

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ปลุกสังคมเคารพ รพ.ปฏิเสธความรุนแรง ‘สมาพันธ์แพทย์’ ชี้ทำผิดต้องจบที่ กม.ไม่ใช่ขอโทษ

ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. ปลุกสังคมปฏิเสธความรุนแรงในโรงพยาบาล ยกเคสอังกฤษเข้มงดกฎหมาย ต่อยพยาบาลถูกคุก 4 เดือน ระบุใครใช้ความรุนแรงต้องถูกลงโทษ อย่าขอโทษแล้วจบลงด้วยดี เสนอ สธ.ทำโปรแกรมฝึกทักษะบุคลากรรับมือการคุกคาม

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก แก้ไข ป้องกันและแก้ปัญหา วิกฤต ความรุนแรงในโรงพยาบาล ER ในโรงเรียนแพทย์ และการจัดระเบียบ” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ความรุนแรงที่บุคลากรสาธารณสุขได้รับเปรียบดั่งยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายแต่เป็นข่าวน้อย และพวกเรารวมถึงผู้บริหารบางคนก็มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ นั่นทำให้ปัญหายังคงมีอยู่

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ฯ ร่วมกับแพทยสมาคมจัดงานเสวนาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวและสามารถวิเคราะห์ปัจจัยออกมาเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ นั่นก็คือ 1.ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะสังคมชอบใช้ความรุนแรง 2.ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับคนไข้ไม่ดี ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเหตุใหญ่ที่จำเป็นต้องแก้ มิเช่นนั้นเราจะเอาแต่ตามแก้ปัญหาปลายเหตุไปเรื่อยๆ

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า คำว่าโรงพยาบาลสำหรับคนยุคใหม่ก็เหมือนกับสถานที่ที่หนึ่ง จึงเกิดการขาดการเคารพสถานที่ มีการมาทำร้ายกันในโรงพยาบาล ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่านี่คือโรงพยาบาล จะมาทำอะไรแบบนั้นไม่ได้ ต้องรู้จักเคารพสถานที่

“ทุกวันนี้โรงพยาบาลเหมือนร้านสะดวกซื้อ คือใครจะเข้าจะออกตอนไหนก็ได้ ยกตัวอย่างมีคนๆ หนึ่งถูกยุงกัดตอนตี 2เขาจะเข้าเซเว่นไปซื้อยาหม่องก็ได้ หรือจะมาโรงพยาบาลเพื่อรับยาไปทาก็ได้ ผมคิดว่าทุกวันนี้มันเริ่มไม่แตกต่าง ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น ประเด็นก็คือคนที่มาโรงพยาบาลต้องมีความสำนึกว่านี่คือโรงพยาบาล” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีคนไข้ตบหน้าพยาบาลแล้วผู้บริหารบอกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งถามว่าผู้บริหารมีทัศนคติเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่คนไข้ทำผิดกฎหมาย หรือแม้แต่เหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดความรุนแรงแล้วมักจบลงด้วยดี เช่น ผู้บริหารให้ขอโทษ คำถามก็คือหลังจากนี้ก็จะมีการเตะก้านคอ ตบหัว ต่อไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่

สำหรับทัศนคติเช่นนี้มันไม่ควรมี ตัวอย่างหนึ่งของประเทศอังกฤษที่น่าสนใจคือมีคนไข้เมาแล้วมาทำแผล แล้วชกพยาบาลเข้าไป 1 หมัด ปรากฏว่าคนไข้รายนี้ต้องติดคุก 4 เดือน คือมันไม่มีการจบลงด้วยดี ไม่มีการยกกระเช้าไปขอโทษ เพราะนโยบายเขาคือความรุนแรงต้องเป็นศูนย์ นี่คือเรื่องที่เราควรเรียนรู้

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่มีการให้อภัยหากคุณทำร้ายบุคลากรสาธารณสุข และถ้าคนไข้กระทำเหตุการณ์รุนแรงก็จะไม่รักษา และถ้ายังทำเหตุการณ์รุนแรงขึ้นก็จะไม่รักษาทั้งครอบครัว นี่คือนโยบายที่ใช้กันเป็นมาตรฐาน หลักการคือถ้าคุณทำผิดคุณต้องรับโทษของการทำผิด ไม่มีการให้อภัย เพื่อปรามไม่ให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นอีก

ประธานสมาพันธ์แพทย์ฯ กล่าวว่า เรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น ฉะนั้นจำเป็นต้องฝึกอบรมบุคลากรของเรา ในต่างประเทศมี 4-5 ทักษะ เช่น การพูดคุยสื่อสารเพื่อลดปัญหา เมื่อความเห็นไม่ตรงกับคนไข้ควรจะทำอย่างไร จะบริหารความเครียดและอารมณ์ได้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรสร้างโปรแกรมเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้บุคลากรได้อบรมเพื่อทำตัวได้ถูกเมื่อเผชิญเหตุการณ์

“เรามีแผนซ้อมกันทุกปี ทั้งแผนอุบัติเหตุหมู่ แผนไฟไหม้ แผนน้ำท่วม แผนหวัดนก ฉะนั้นเราต้องมีแผนความรุนแรงด้วย เมื่อเจอคนไข้ใช้ความรุนแรงแล้วเราจะทำอย่างไร หนึ่ง สอง สาม” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เรามีกฎหมายคุ้มครองเมื่อถูกใช้ความรุนแรง แต่คงเป็นเรื่องยากถ้าหากต้องให้พยาบาลที่โดนคนไข้ตบหน้าไปฟ้องร้องเอง ส่วนตัวคิดว่าควรที่จะมีหน่วยงานหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทน ขณะเดียวกันเมื่อคนไข้เกิดความไม่พอใจต้องมีช่องทางให้เขาสามารถระบายหรือร้องเรียนได้

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

แพทยสภา’ ลุยปลดล็อคฟ้องอาญาหมอ จ่อผ่าคลอด กม.ตัดการรักษาออกจากคดีผู้บริโภค

แพทยสภา เดินหน้าผลักดันหลักการห้ามฟ้องอาญาคดีทางการแพทย์ จ่อคลอดกฎหมายตัดการรักษาออกจากคดีผู้บริโภค ด้านอดีตนายกแพทยสภา ระบุ ต้องสอนให้แพทย์อย่าโจมตีกันเอง แนะผ่าตัดมีความเสี่ยงถึงตาย แม้คนไข้จะกลัวก็ต้องบอก เพื่อป้องกันคดี

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการแพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หนึ่งที่คุกคามการแพทย์ นั่นก็คือมีการจ่ายเงินให้กับคนไข้ที่ทำหมันแล้วตั้งครรภ์ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่คุกคามความรู้สึก จริยธรรม และความเป็นแพทย์ นั่นเพราะโอกาสของการทำหมันแล้วตั้งครรภ์อยู่ที่ 1000 ราย ต่อ 6 ราย ฉะนั้นนี่คือเหตุที่คาดการณ์ได้ว่าอาจจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด

นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากพยาธิสภาพของคนไข้เอง คือเกิดจากรังไข่ มดลูก และการมีเพศสัมพันธ์ของคนไข้เอง ซึ่งทางแพทยสภาก็ไม่ยอมและมีมติว่าไม่ให้จ่ายเงินชดเชยให้กับคนไข้ เนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมา มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลที่ไม่ถูกต้อง

นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งประเด็นก็คือการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลแล้วต้องจ่ายเงินชดใช้ให้ ซึ่งทางแพทยสภาก็ไม่เห็นด้วย แต่จะให้เหตุผลอย่างไรนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการกลั่นกรองอย่างละเอียดต่อไป

“ปัญหาภัยคุกคามต่างๆ นั้น เราก็พยายามจะแก้ไขอยู่ ซึ่งโดยหลักการแล้วการประกอบวิชาชีพทางแพทย์นั้นไม่ควรเป็นคดีความทางอาญา ซึ่งเราก็ต่อสู้มาเป็น 10 ปีแล้ว และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.พิจารณาคดีทางการแพทย์ โดยประเด็นสำคัญก็คือคดีอาญา และตัดการแพทย์ออกจากวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคด้วย” นพ.สัมพันธ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อดีตนายกแพทยสภา กล่าวว่า หากพิจารณาจากคดีที่คนไข้ฟ้องแพทย์จะพบว่าอันดับหนึ่งคือกล่าวหาว่าแพทย์ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาชีพ เมื่อถามต่อว่าแล้วคนไข้รู้ได้อย่างไรว่าแพทย์ไม่ได้มาตรฐาน ก็เพราะแพทย์อีกรายเป็นคนบอก นั่นหมายความว่าแพทย์โจมตีกันเอง ฉะนั้นวิธีการพูดของแพทย์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องมีการสอนนักเรียนแพทย์กันใหม่ โดยเน้นย้ำถึงวิธีการให้ความเห็นเป็นคนที่สอง

“วิธีการให้ความเห็นเป็นคนที่สองนั้น อย่าไปโจมตีคนแรก ต้องเข้าใจว่าคนแรกเขาอาจจะยังไม่มีข้อมูลอะไรมาก แต่พอระยะเวลาผ่านไปแพทย์คนที่สองอาจจะมีข้อมูลละเอียดมากกว่า ซึ่งเราอาจจะถูกก็จริง แต่ก็อย่าไปโจมตีคนแรก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องก็คือการแจ้งข้อมูลให้กับคนไข้ เช่น จะผ่าตัดก็ต้องบอกคนไข้ด้วยว่าคนไข้เป็นอะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีโรคแทรกซ้อนอย่างไร ถามว่าถ้าผ่าตัดแล้วคนไข้อาจจะตายแล้วเราไม่บอกได้ไหมเพราะคนไข้จะกลัว ไม่ได้ ยังไงก็ต้องบอก คนไข้กลัวก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเราไม่บอกแล้วผ่าตัดไปแล้วคนไข้ตาย สุดท้ายเราอาจจะตายแทน แล้วเราก็ต้องบอกด้วยว่ามีวิธีอื่นอีกไหม ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร ให้คนไข้คิดเอา แล้วก็ต้องบอกด้วยว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยคนไข้จะเป็นอะไร ทั้งหมดนี้คือมาตรฐานของอเมริกา

“นอกจากบอกแล้วเราก็ต้องบันทึกหลักฐานไว้ด้วย เขียนเอาไว้ด้วย เพราะถึงเราจะบอกแทบตาย แต่สุดท้ายพอขึ้นศาลแล้วคนไข้บอกว่าเราไม่ได้บอก ก็จะเกิดปัญหาตามมา นี่คือวิธีที่ปลอดภัยที่สุด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

รพ.ชลบุรีจัดระบบคัดกรองห้องฉุกเฉิน ‘คนไข้-หมอ’ ปลอดภัย ลดเจ็บตาย 2P Safety https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=16-09-2017&group=15&gblog=83

เปิดสารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อมในรพ. ซ้ำเติมภาวะเจ็บป่วย สร้างทุกข์บุคลากร https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-12-2016&group=15&gblog=74

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาในรพ. ‘ทางออกลดทุกข์ผู้ป่วยหนุนประสิทธิภาพบุคลากร’ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-12-2016&group=15&gblog=75

สธ.สั่งทุกรพ.ปรับปรุง OPD ประหนึ่งห้องรับแขกบริการลื่นไหล รวดเร็วใน 120นาที https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=17-06-2016&group=15&gblog=68

วิกฤต คุกคามความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร ... จากงานสัมนาฯ จัดโดยคณะอนุกรรมการฯแพทยสภา https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=02-12-2017&group=27&gblog=29







 

Create Date : 02 ธันวาคม 2560   
Last Update : 15 ธันวาคม 2560 17:46:16 น.   
Counter : 2495 Pageviews.  

แพทยสภากำหนดเวลาเข้าเวรหมอภาครัฐ .. ดีต่อหมอ ดีต่อผู้ป่วย แต่ แพทยสภาโดนถล่ม ?





 

 

 

 

แพทยสภากำหนดเวลาเข้าเวรหมอภาครัฐไม่ควรเกิน 40 ชม./สัปดาห์ อายุ 55 ควรได้สิทธิ์งดอยู่เวร

Sun, 2017-10-15 13:37 -- hfocus

แพทยสภาออกประกาศกรอบเวลาทำงานของแพทย์ภาครัฐ แพทย์เพิ่มพูนทักษะ นอกเวลาราชการ ไม่ควรเกิน 40ชั่วโมง/สัปดาห์ และเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกันขณะที่แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ

 

เมื่อวันที่12 ตุลาคม 2560 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา ลงนามในประกาศแพทยสภาที่104/2560 เรื่อง การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ โดยระบุว่า

ด้วยปรากฎว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายใต้การกำกับของสถานพยาบาลของรัฐมีภาระงานหนักทำให้มีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอมีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (1) แห่งพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 คณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 9/2560วันที่ 14 กันยายน 2560 ให้ออกประกาศแพทยสภา เรื่องแนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหารสถานพยาบาลภาครัฐจัดอัตรากำลังและระบบการทำงานของแพทย์ให้สอดคล้องเหมาะสมดังนี้

ข้อ1 แพทย์เพิ่มพูนทักษะ

ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์

ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินไม่ควรเกิน16 ชั่วโมงติดต่อกัน

ข้อ2 แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ

 

จึงประกาศให้ทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกัน

 

https://www.hfocus.org/content/2017/10/14718

https://www.matichon.co.th/news/694024

 

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

IttapornKanacharoen

ประกาศแพทยสภาฉบับที่๑๐๔/๒๕๖๐

ลงวันที่๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐

เรื่องการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐโดยเป็นมติจากการประชุมกรรมการแพทยสภาวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐และมารับรองรายงานการประชุมและลงนามในวันนี้

วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนที่มารับบริการในภาครัฐและ ปรับภาระงานแพทย์จบใหม่ในปี ๑ และแพทย์สูงอายุในการปฏิบัติงานนอกเวลาให้เหมาะสมโดยอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตแพทย์ เสนอต่อกรรมการแพทยสภาแพทยสภาเห็นชอบจึงมีมติออกแนวทางปฏิบัติ ฉบับที่ ๑ ดังภาพโดย ศาสตราจารย์นพ.ดร.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา

หนังสือนี้จะเวียนให้ทุกหน่วยภาครัฐที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

๑๒ตุลาคม ๒๕๖๐

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1587268591333941&set=a.371903056203840.84362.100001524474522&type=3&theater

 

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

ความเห็นส่วนตัว.. แนวคิดเรื่องการจำกัดเวลา ที่แพทยสภาประกาศ

๑.ใช้เป็นหลักฐาน อ้างอิง เวลามีปัญหา จะได้อ้างได้ว่า ทำงานหนักมากกว่ามาตรฐานที่แพทยสภากำหนดไว้

๒.แพทยสภา ไม่สามารถบังคับ ให้หน่วยงานอื่น ทำตามได้ (เรียกร้องได้ แต่บังคับไม่ได้)

๓.ที่เหลือ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ทั้งหลายใน รพ.รัฐ จะทำอย่างไรต่อ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับแพทย์ที่ไม่เต็มร้อยจากการทำงานหนักต่อเนื่องยาวนานกว่ามนุษยธรรมดา แบบที่ผ่านมา (และจะยังเป็นต่อไป ? )

 

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือแพทยสภา โดนถล่ม ?

ผม อาจ มองในแง่ดี คือมีการกำหนด มาตรฐานขึ้นมา เพื่อใช้ในการอ้างอิง ส่วนว่า ใครจะทำได้ ไม่ได้แค่ไหน ก็คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละที่แต่ละคน (เหมือนกับมาตรฐานอื่น ๆที่มีทั้งผู้ที่ทำได้ และผู้ที่ทำไม่ได้)

ถ้าเป็นโรงงานมีประกาศมาตรฐานการทำงานของพนักงาน แล้วพนักงานเห็นว่าตนเองทำงานหนักกว่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ พนักงานก็จะไปเรียกร้องกับ นายจ้างเจ้าของโรงงาน ... ให้ลดปริมาณงาน หรือเพิ่มค่าจ้าง
 
แต่สำหรับแพทย์บางท่าน แทนที่จะไปเรียกร้องกับ " กระทรวงสาธารณสุข" ให้ทำตามมาตรฐานของแพทยสภา กลับไปต่อว่าแพทยสภา ผมเลยรู้สึกว่ามันแปลก ทั้งที่มาตรฐานนั้น ดีต่อการทำงานของแพทย์ แต่แพทย์บางท่าน กลับไม่เห็นด้วย ?

..............................................


รีบเกินไปพาวินิจฉัยโรคพลาด ผละจาก งานยุ่งเพื่อที่จะมี เวลาคิด https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=19-09-2016&group=7&gblog=203

เปิดกับดัก'งานหนักฆ่าหมอ'คนในรู้จนชิน'เรื้อรังมานาน' ... เดลินิวส์ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-07-2017&group=27&gblog=21

ผมท้าครับ มาลองปฏิบัติงานร่วมกับพวกเราดูเผื่อความดราม่าของคุณจะลดลงได้บ้าง https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2017&group=27&gblog=1

อยากเรียนหมอ ชีวิตแพทย์ รพ.รัฐ และแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ... รู้ว่าเป็นหมอเหนื่อย แล้วมาเป็นหมอทำไม ??? https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=16-07-2017&group=27&gblog=25

สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดกับการรักษาพยาบาลไทย : SomsakTiamkao https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=18-09-2017&group=29&gblog=35

ดราม่าหมอมากมาย กับกำลังใจที่หดหายสังคมกำลังลงโทษแพทย์? แน่ใจเหรอว่าแพทย์เลวทุกคน? https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-05-2015&group=27&gblog=5


***********************************

Free Medical Book Thailand #FMBT

แนวทางการกำหนดภาระงานของแพทย์
1. ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ภาครัฐไม่ควรเกิน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์
2. ควรมีวันหยุดอย่างน้อย 2 วัน/ สัปดาห์
3. ระยะเวลาเวรปฏิบัติการ ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมง
4. ถ้าระยะเวลาปฏิบัติงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง ต้องมีเวลาหยุดพัก 8 ชั่วโมง
5. การอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ไม่ควรเกิน 7 เวร/เดือน
6. การตรวจรักษาผู้ป่วยนอกทั่วไป ควรใช้เวลาประมาณ 5 นาที/คน (12 คน/ ชั่วโมง)
7. แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี เป็นต้นไป ควรงดอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ
...
Guideline for Thai Physician’s Work Time Regulation
https://he02.tci-thaijo.org/…/article/download/125530/95064/
คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา
________________
Blog แชร์หนังสือ แนวทางเวชปฏิบัติ Guideline ต่างๆ
https://free-medicalbook-thailand.blogspot.com/




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2560   
Last Update : 10 กรกฎาคม 2563 17:05:40 น.   
Counter : 2260 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]