Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

อาชญากรรมบริสุทธิ์ ของ...ทาสชุดขาว ? .. โดย ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ




“อาชญากรรมบริสุทธิ์”...ของทาสชุดขาว? เป็นหัวข้อสนทนาสำคัญจากหนึ่งในกรรมการแพทยสภา ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ

ผศ.นพ.เมธี บอกว่า ท่ามกลางเสียงปี่เสียงกลองของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อกวาดคะแนนเสียงในการเข้าสู่สภาของนักการเมือง หนึ่งในนโยบายอมตะที่ถูกนำมาใช้หาเสียงคือ “นโยบายสาธารณสุข”

เพราะนับแต่การก่อเกิดของ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่เดิม “หมอสงวน” มุ่งเฉพาะให้ “คนด้อยโอกาส” ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานและคุณภาพ แต่ถูกนักการเมืองแปรเปลี่ยนไปเป็นโครงการประชานิยมและแจกจ่ายงบที่มีจำกัดให้กับคนที่มีฐานะดีเข้ามาร่วมทานเค้กก้อนเล็กๆ ก้อนเดียวกันนี้ด้วย

“เราจึงเห็นคนขับรถราคาหลายล้านมาแย่งรับยาราคาไม่กี่ร้อยกี่พันบาทฟรีๆ เราเห็นคนมีเงินซื้อเหล้า ซื้อแมงกะไซค์มาแต่งซิ่ง ซื้อโทรศัพท์ราคาครึ่งแสน แต่ไม่มีเงินจ่ายค่ายาหลักร้อยหลักพัน”
หนำซ้ำทุกวันนี้หลาย รพ.ยังเต็มไปด้วยคนต่างด้าวทั้งที่ไม่ได้ทำประกันสุขภาพหรือตั้งใจมาเสียค่าธรรมเนียมในราคาแสนถูก เพื่อแลกกับค่ารักษาหลักแสนหลักล้านที่ไม่ต่างอะไรกับการได้ฟรี ที่น่าตกใจคือมีอาชีพนายหน้ารับพาคนต่างด้าวมาเข้าแย่งเตียง แย่งคิวตรวจกับคนไทยตาดำๆ

...ในอีกมุมหนึ่ง นโยบายนี้ทำให้ภาระงานของผู้ป่วยนอก ซึ่งมีแพทย์ที่ยังรักษาผู้ป่วยและอยู่ในวัยทำงานจริงๆไม่เกิน 40,000 คน เพิ่มขึ้นทะลุปรอทไปมากกว่า 300 ล้านครั้งต่อปี หรือ...อีกนัยหนึ่งเฉลี่ยแล้วคนไทยเดินเข้า รพ.ในแต่ละปีมากกว่า 5 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นอย่างมาก

แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับพยายามเร่งเร้าให้เข้ามารับการรักษาฟรีๆ เพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะได้มียอดตัวเลขมาต่อยอดความภาคภูมิใจของตนเอง ทั้งๆที่ความจริงแล้วควรตั้งเป้าลดยอดการเข้า รพ.ลง เพราะหมายถึงนโยบายป้องกันโรคและการเสริมสร้างความรู้ในการดูแลตนเองประสบความสำเร็จ
ด้วยภาระงานผู้ป่วยนอกที่มากมายมหาศาล ซึ่งยังไม่นับภาระงานผู้ป่วยในอีกประมาณเกือบ 10 ล้านครั้งต่อปี...ภายใต้งบประมาณจำกัดจำเขี่ยผลทำให้ รพ.ตกอยู่ในสภาพ “ยิ่งรักษา ยิ่งเจ๊ง”
“ไม่ต่างอะไรกับรัฐวิสาหกิจที่เราๆท่านๆเห็นกันตั้งแต่เด็กๆ จนทุกวันนี้เงินสำรองของแต่ละ รพ.ที่ต้องควักมาแจกจ่ายเป็นค่ายาค่าเครื่องมือแพทย์ให้กับผู้ป่วยหมดสิ้นลง จนติดตัวแดงกันทั่วหน้า ไม่ต่างอะไรกับ ขสมก. หรือ...การรถไฟที่นับวันจะสาละวันเตี้ยลง ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายประชานิยมเช่นกัน...”

ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือ รพ.นั้นประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างรุนแรง แต่กลับผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพ เหตุเพราะ “ในตัวชี้วัด ไม่มีเรื่องของจำนวนบุคลากรที่เหมาะสม” มากำกับ ทั้งๆที่งานทุกอย่างต้องเริ่มจากคน...“เมื่อเงินไม่พอ คนก็ไม่พอ แถมยังต้องมีงานเอกสารเพิ่มขึ้นมามากมาย” ที่ต้องเบียดบังเวลาในการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยไป...ผลการรักษาจึงไม่เป็นไปตามคาดหวัง

และตามด้วยวลีสร้างความเกลียดชัง (Hate speech)...“ความเสียหายจากการรักษาพยาบาล!!” ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้ใครบางคนเอาไปต่อยอดผลักดันเพิ่มเติมจาก ม.41 เพื่อให้เกิดนโยบายแจกเงินหลักล้านชดเชยความเสียหาย อันเป็นการซ้ำเติมฐานะการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปอีก...

ผศ.นพ.เมธี บอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม คุณูปการสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้คือการที่ท่านรัฐมนตรีสาธารณสุข ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง ต่างยอมรับความจริงและประสานเสียงว่าคุณภาพการรักษาต้องเริ่มจากสมดุลของสองปัจจัยสำคัญ ภายใต้นโยบาย “2P Safety” โดย...“P” แรกคือ ผู้ป่วย (Patient) และอีก...“P” คือ บุคลากร (Personnel) ...ปลายปีที่ผ่านมาจึงมีการทำแบบสำรวจ “ภาระงานและความอ่อนล้า” ของบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐทั่วประเทศ และผลสำรวจที่ได้นั้นเป็นดังนี้

ในส่วนของ “แพทย์” พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว 2/3 แพทย์ทั่วประเทศ ต้องอยู่เวรทุกวัน และแต่ละวันได้พักไม่เกิน 7 ชม. โดยมีอีกประมาณ 1/3 ที่ต้องอยู่เวรทุกวัน แต่ละวันได้พักไม่เกิน 4 ชม. ในขณะที่ 90% ของแพทย์ ต้องทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชม. โดยมีแพทย์ 15% ที่ต้องอยู่เวรติดต่อกันทั้งอาทิตย์

ในแง่ภาระงานผู้ป่วยนอกที่มักดราม่าตามโลกโซเชียลว่า “หมอหายหัวไปไหนหมด” พบว่า 50% ของแพทย์ทั่วประเทศต้องตรวจคนไข้นอกเฉลี่ย 100 คนต่อวัน ในขณะที่ตามเกณฑ์มาตรฐานนั้น แพทย์สามารถตรวจคนไข้นอก (เก่าและใหม่คละกัน) ไม่ควรเกิน 8 คน/ชม. นั่นหมายความว่า 70% ของแพทย์ภาครัฐ ต้องรับภาระงานหนักกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2-4 เท่าตัว หรืออีกนัยหนึ่งคือแพทย์ 1 คนต้องทำงานแทนแพทย์ 2-4 คน...เพื่อให้พรรคการเมืองได้หน้าจาก “นโยบายประชานิยม” นี้

ถัดมาในส่วนของ “พยาบาล” พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว 2/3 ของพยาบาลภาครัฐต้องทอดทิ้งครอบครัวตนเองเพื่อมาขึ้นเวรทุกวันและแต่ละวันได้นอนไม่เกิน 7 ชม. ส่วนภาระงานผู้ป่วยในกรณีที่เป็นดราม่าถูกแอบถ่ายวิดีโอคลิปนั้น พบว่า 60% ของพยาบาลต้องดูคนไข้ในมากกว่า 10 ราย ต่อวัน ทั้งๆที่ตามมาตรฐานสากลแล้วพยาบาล 1 คนไม่ควรรับผิดชอบคนไข้ในเกิน 4 คน (1:4) นั่นหมายความว่า...ทุกวันนี้พยาบาลไทย 100% ต้องทำงานเกินกว่าเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว เพื่อให้นโยบายหาเสียงเกินจริงของพรรคการเมืองประสบความสำเร็จ

หันมาดูสภาพความเป็นอยู่กันบ้าง คำตอบจากแบบสำรวจยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า 80% ของทั้งแพทย์และพยาบาลเคยต้องทำงาน...ขึ้นเวร ทั้งๆที่ตนเองป่วยหรือต้องทอดทิ้งครอบครัวและญาติสนิทที่ป่วยไข้ไป เพื่อขึ้นเวร แลกกับค่าตอบแทนรายชั่วโมงไม่ถึงร้อยบาท!...ที่น่ารันทดยิ่งกว่าคือ 1/3 ของทาสชุดขาวเหล่านี้ ต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุดและทำให้ชีวิตผู้ป่วยต้องตกอยู่ในอันตรายอันเนื่องมาจากความอ่อนล้าของร่างกาย

เพื่อแลกกับเศษเงินที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งคุมเรื่องการเงินประสานเสียงพูดว่า...มากเกินพอแล้ว?
หากจะอินเทรนด์...ก็ลองมาดูตัวชี้วัดเรื่อง Happinometer (มาตรวัดความสุขในการทำงาน) ที่หลายหน่วยงานนำมาใช้เพื่อประเมินว่ามีการดูแลบุคลากรในสังกัดดีมากน้อยอย่างไร พบว่า 60% ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องขึ้นเวร...แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีเทคนิค ล้วนไม่มีความสุขในการทำงาน...

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงมีภาพการกระทบกระทั่งกับ “ผู้ป่วย” หรือ “ญาติ” อยู่เนืองๆ
ทั้งหมดข้างต้นเหล่านี้คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า “ประเทศไทยยังมีทาสแรงงานที่ไม่ได้รับการเหลียวแล” หลงเหลืออยู่ “ทาสชุดขาว”...ที่ถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.แรงงาน ที่แม้แต่สาวโรงงาน กรรมกรหาเช้ากินค่ำยังได้รับความคุ้มครอง ที่น่าเสียใจยิ่งกว่า...การต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อช่วยชีวิตคน กลับถูกตีความโดยนักกฎหมายว่า “การรักษา...การช่วยชีวิตคนไม่ต่างอะไรจากการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วไป”

“ทั้งๆที่สินค้าหรือบริการทั่วๆไปในธุรกิจบริโภคนั้น จะมุ่งเน้นเรื่องการหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ การหลอกลวงด้วยสัญญาคดโกง เพื่อดูดเงินในกระเป๋ามาสู่บริษัทห้างร้าน แต่ที่ยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีกคือ...เมื่อการช่วยชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ กลับถูกมองว่าต้องนับเป็นความอาญา ในฐานความผิดประมาททำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย แบบเดียวกับที่อาชญากรได้รับ”

ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ฐานความผิดนี้เป็นคนละประเด็นกัน เพราะฝ่ายหนึ่งจ้องจะใช้เหตุประมาทมาเป็นช่องโหว่หลีกเลี่ยงไม่ต้องรับโทษจากการกระทำที่ไปก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นโดยเขาไม่อนุญาต แต่อีกฝ่ายถูกบังคับให้ต้องช่วยชีวิตคนตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่สำคัญการกระทำเพื่อช่วยชีวิตคนนั้นมี “เจตนาดี (Mens Rea)” แต่แรก หาใช่การมุ่งใช้ช่องโหว่กฎหมายไปทำร้ายผู้อื่นแต่อย่างใดไม่...

ในอีกสองเดือนเราจะได้เห็น “รัฐบาลใหม่” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “พรรคการเมือง” จะหันมาให้ความสำคัญกับคนหลักแสน เพื่อคุณภาพที่ดีของระบบสาธารณสุขในการดูแลประชากรหลักสิบล้านคน.

https://www.thairath.co.th/content/1513088




 

Create Date : 08 มีนาคม 2562   
Last Update : 8 มีนาคม 2562 15:45:31 น.   
Counter : 1581 Pageviews.  

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

 

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

อย.นัดผู้เชี่ยวชาญถกประเด็นอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) วันที่ 23 ม.ค. นี้ ด้าน ผศ.นพ.พิสนธิ์ แนะเบื้องต้นถอนยาตัวนี้ออกจาก รพ.สต.ไปก่อน และหากเชื่อว่ายานี้มีผลต่อเส้นประสาทจริงก็ต้องแก้บัญชียาหลักแห่งชาติ บรรจุยา Ketorolac เป็นทางเลือกแก่ผู้ปฏิบัติงาน

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ม.ค. 2562 ที่จะถึงนี้ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อหารือเรื่องการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ Diclofenac injection หรือยาฉีดไดโคลฟีแนค หลังจากพบว่ามีผู้ป่วยเกิดความผิดปกติของเส้นประสาทหลังจากถูกฉีดยาตัวนี้เข้าไป

(ทั้งนี้ ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ช่วยในการบรรเทาอาการปวด บวมจากการอักเสบ ปวดตามข้อ ไขข้อกระดูก เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดท้องจากประจำเดือน โรคข้ออักเสบ อาการตึงขัดของข้อ)

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดในขณะนี้คือมีคนไข้จำนวนเยอะพอสมควรที่ทำเรื่องขอเงินเยียวยาไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนคณะกรรมการ สปสช.กังวลว่ามีเคสเข้ามาเรื่อยๆ จึงทำหนังสือออกไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ระมัดระวังยาตัวนี้ หรือกระทำการบางอย่างเพื่อลดปัญหาการฉีดยาตัวนี้ลง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ส่งจดหมายเวียนไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้ให้ระมัดระวังด้วย

"เขากังวลเรื่องการฉีดเข้าไปในสะโพก เพราะมีคนไข้บางคนเกิดความผิดปกติของเส้นประสาท เช่น ปวดขา ขาไม่มีกำลัง แต่ก็ยังไม่ได้สรุปยืนยันว่าเป็นผลจากตัวยา ก็เข้าใจว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคการฉีดยาเพราะยาทุกชนิดถ้าเทคนิคการฉีดไม่ดีก็มีโอกาสโดนเส้นประสาทได้เสมอ อีกด้านหนึ่งก็มีรายงานที่เชื่อว่ายาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) สามารถทำให้เกิดพิษที่เส้นประสาท ณ ตำแหน่งที่ฉีดได้แม้จะฉีดอย่างถูกต้องก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่าตัวยาไปส่งผลกับเส้นประสาท ดังนั้น วันที่ 23 ม.ค. 2562 นี้ ทาง อย. กำลังเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเพื่อหารือในเรื่องนี้" ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผศ.นพ.พิสนธิ์ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าสงสัยว่ามีการฉีดมากมายทุกวัน ทำไมคนที่มาร้องเรียน สปสช. มีแต่ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ทั้งนั้น ก็อนุมานได้ว่าเพราะตัวยามีผลหรือไม่ ดังนั้น การเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาคำตอบว่าเกี่ยวกับยาหรือไม่ยังไม่พอ ก่อนจะพิสูจน์ว่าเป็นเพราะยาใช่หรือไม่ ต้องมีมาตรการไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ด้วยว่าสิ่งใดที่ควรทำในขณะนี้ เพราะถ้ารอคำตอบอย่างเดียวก็จะมีคนร้องเรียนผ่าน สปสช.มาเรื่อยๆ

สำหรับแนวทางการออกมาตรการในระยะนี้ เช่น 1.สื่อสารประชาชนว่าไม่ควรขอให้หมอฉีดยา

2.ถอนยานี้ออกจากทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพราะหากฉีดไปแล้วเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา หากเป็นหมอยังพอรับสภาพได้ แต่ถ้าพยาบาลเป็นคนฉีด โดยกฎหมายแล้วพยาบาลไม่สามารถฉีดยาตัวนี้ให้คนไข้ได้โดยไม่มีคำสั่งแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติก็ทำกันอยู่ ดังนั้นถ้าจะปกป้องผู้ปฏิบัติงานไม่ให้ถูกฟ้องร้องและป้องกันความเสี่ยงแก่ประชาชนก็ควรเอายาออกจาก รพ.สต.ก่อน

3.ถ้าเชื่อว่ายาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) มีผลจริง ทางเลือกคือเปลี่ยนเป็นยาฉีดชนิดอื่น ซึ่งยาที่สามารถทดแทนได้คือยาคีโตโรแลค (Ketorolac) แต่ยาตัวนี้เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ การแก้ปัญหาก็ต้องแก้ไปถึงบัญชียาหลักแห่งชาติว่าเห็นด้วยกับการบรรจุยาคีโตโรแลค (Ketorolac) อยู่ในบัญชียาหลักหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกแก่แพทย์นอกเหนือจากไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นต้น

(ทั้งนี้ ยาคีโตโรแลค (Ketorolac) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) นำมาใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดหรือลดการอักเสบ ที่มีความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก และมักจะใช้ก่อนหรือหลังขั้นตอนการแพทย์หรือการผ่าตัด แต่ไม่ได้นำมาใช้รักษาสาเหตุของโรคยานี้ รวมทั้งไม่นำมาใช้รักษาโรคเรื้อรังหรือโรคที่มีอาการระยะยาว เช่น ข้ออักเสบ เป็นต้น)

"ในมุมประชาชน อยากสื่อสารว่าการเรียกร้องให้หมอฉีดยาให้เป็นเรื่องไม่จำเป็น บางคนมาหาหมอ วัตถุประสงค์คือมาฉีดยา เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดเมื่อย ปวดไหล่ ก็ขอฉีดยา แต่การฉีดยามีความเสี่ยงเสมอ คือ 1.อาจโดนเส้นประสาท 2.เสี่ยงต่อการติดเชื้อเสมอหากฉีดผิดวิธี และหากเป็นยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ก็อาจมีอันตรายจากตัวยาเองก็เป็นได้ที่ทำให้เกิดอาการ นอกจากเส้นประสาทมีปัญหา เดินลำบาก ปวดขา ขาไม่มีกำลังแล้ว ยังทำให้เกิดอาการแปลกๆ อีกหลายอาการ จนในที่สุดเกิดผลเสียร้ายแรง ดังนั้นไม่ควรขอหมอฉีดยาเลย การฉีดยาเป็นการตัดสินใจทางการแพทย์ หมอเป็นคนตัดสินใจให้ฉีด ไม่ใช่ประชาชนมาสั่งหมอว่าจะฉีดยา" ผศ.นพ.พิสนธิ์

อนึ่ง วันที่ 27 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของ อย. ได้ จดหมายข่าวเรื่อง การเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ Diclofenac injection โดยระบุว่า ในระยะเวลา 33 ปี (พ.ศ. 2529 – วันที่ 25 ธ.ค. 2561) พบรายงาน AEs สะสมทั้งหมดจำนวน 10,551 ราย เฉลี่ยปีละ 320 ราย เป็นรายงานใช้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 8,439 ราย (ร้อยละ 79.99) และใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 2,112 ราย (ร้อยละ 20.11)

ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบ AEs ช่วง 10 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2551 – 2560 กับปริมาณการนาเข้า/ผลิตยา diclofenac injection ในช่วงเวลาเดียวกัน พบอัตราการรายงาน AEs เฉลี่ย 7 รายต่อปริมาณการนาเข้า/ผลิต diclofenac injection 100,000 ampules และเมื่อพิจารณาแยกรายปีไม่พบแนวโน้มการรายงานที่สูงขึ้น รวมทั้งการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก เช่น numbness, peripheral nerve injury และ injection site pain ก็ไม่พบแนวโน้มการรายงานที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากเทคนิคการฉีดเป็นหนึ่งในปัจจัยของการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก จึงขอแนะนาบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้ยา diclofenac injection เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อเสียหาย คือควรฉีดลึกๆ เข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกส่วนนอกด้านบน โดยขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการทบทวนข้อมูลความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป

กดถูกใจแฟนเพจ Hfocus.org บน Facebook ติดตามข่าวสารระบบสุขภาพทุกความเคลื่อนไหว

https://www.hfocus.org/content/2019/01/16723?fbclid=IwAR3ABFA9MuRBr-5T1i3T8itfqV2O-SIj__V9SxxnAVrRO8K_35W1UNuqxAA

"""""""""""""""""""""""""""""""""""
บล๊อก ที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB )    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61


ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( เอนเสด ) ... ไม่ใช่ขนมนะครับ จะได้กินกันไปเรื่อย ...    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=08-08-2008&group=28&gblog=3

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

 




 

Create Date : 11 มกราคม 2562   
Last Update : 4 ตุลาคม 2565 15:08:25 น.   
Counter : 340 Pageviews.  

แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการผู้เชี่ยวชาญ ผ่าปัญหา ‘หมอสมองไหล’ กับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา



แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการผู้เชี่ยวชาญ ผ่าปัญหา ‘หมอสมองไหล’ กับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

แนวคิดการเพิ่มอัตรา “ค่าปรับ” กับแพทย์ที่เรียนจบแล้วผิดสัญญาไม่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ จาก 4 แสนบาท เป็น 5 ล้านบาท ของ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ “สมองไหล” จากภาครัฐสู่ภาคเอกชนนั้น ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ

ในมุมหนึ่งมีเสียงสนับสนุนว่า “ยาแรง” ขนานนี้จะช่วยยับยั้งปัญหาให้หยุดชะงักลงได้ ทว่าในอีกมุมหนึ่งกลับมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (ขอบคุณภาพจาก WAY Magazine.org)

สำนักข่าว HFocus พูดคุยกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อฉายภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

“ถ้าพูดตรงๆ แนวคิดนี้คงไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมด” อาจารย์ธีระวัฒน์ เริ่มบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมา

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าซับไพร์มของแพทย์ในประเทศไทยไม่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมาเราพุ่งเป้าพิจารณากันแต่ในเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองในรายละเอียดว่าแพทย์ยังมีชีวิตอยู่เท่าใด อยู่ในพื้นที่เท่าใด และช่วงอายุเท่าใด

ทั้งนี้ ทางแพทยสภา โดย พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รักษาการเลขาธิการแพทยสภา ได้รวบรวมข้อมูลจนถึงปลายปี 2561 พบว่าจริงแล้วๆ บุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญในการบริบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงเรียนแพทย์ในรูปของแพทย์ประจำบ้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นแพทย์อายุน้อยทั้งสิ้น

“เวลาเราพูดถึงปัญหาแพทย์กระจุกตัวไม่กระจาย โดยมักพูดกันต่อว่าจริงๆ แล้วกำลังคนเพียงพอนั้น แท้ที่จริงแล้วมันไม่เพียงพอ เพราะว่าช่วงอายุของการทำงานจริงๆ มีอยู่แค่ 2-3 หมื่นคนเท่านั้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้แพทย์ “กระจุกตัวไม่กระจาย” ก็ต้องถามต่อว่าเหตุใดแพทย์จึงอยู่ไม่ได้ในระบบ ?

----- แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ -----

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้แพทย์อยู่ไม่ได้ในระบบมีหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ 1.ภาระงานมีมากเกินไปในขณะที่กำลังคนมีจำกัด 2.ผู้ป่วยมีความต้องการรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเกิดความอึดอัด เพราะไม่สามารถสร้างความพอใจให้กับตนเองและผู้ป่วยได้

“ประการแรกคือแพทย์ทนไม่ไหว ประการต่อมาคือเรื่องของความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ ความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมไปถึงความมั่นคงในชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ตรงนี้จะเห็นได้ว่าแพทย์ที่ใช้ทุนเสร็จเรียบร้อยก็มักจะกลับมาเรียนต่อ ซึ่งการเรียนต่อตรงนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการเผชิญชีวิตต่อภายภาคหน้า

“เพราะต้องยอมรับว่าสังคมในปัจจุบันนี้ต่างร้องเรียกหาผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนต้องการตรวจ รักษา ผ่าตัดกับผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแพทย์ก็ต้องหาอะไรที่ตอบสนองความต้องการของสังคม และตอบสนองความมั่นคงของตัวเองด้วย ในกรณีนี้ต้องถามคำถามต่อว่าแล้วจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร” อาจารย์ธีระวัฒน์ ตั้งคำถาม

อาจารย์แพทย์รายนี้ ตั้งประเด็นต่อว่า ทางออกของปัญหาคือการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทะลักออกไปข้างนอกจนแก้ปัญหาการกระจุกตัวได้เองเช่นนั้นหรือ และในขณะที่แพทย์ทะลักออกไปข้างนอกแล้วทุกคนยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ เมื่อแพทย์ไม่สามารถแข่งขันกันได้ในเมืองใหญ่ก็จะกระจายออกไปด้านนอกเองเช่นนั้นหรือ

“การแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้มักพบได้ในเมืองใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่สุดแล้วระบบเช่นนี้ในตอนท้ายก็ล่มจม เพราะด้วยวิทยาการอะไรต่างๆ มันมุ่งตรงไปที่การรักษา เมื่อพุ่งเป้าไปที่การรักษาแล้วก็จะนำมาซึ่งนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยี หรือเครื่องมือหัวใจเทียม ปอดเทียม ฯลฯ

“แต่ที่มาของนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญเหล่านี้ ก็คือเงินทองงบประมาณมหาศาลที่ต้องใช้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นหากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนี้โดยที่ไม่กลับมามองถึงประเด็นสำคัญคือเรื่อง “การส่งเสริมป้องกัน” และ “ความตระหนักรู้ในสภาพความเป็นจริงของประชาชนเอง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ก็คงมีปัญหาตามมา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

----- สร้างบรรยากาศตระหนักรู้สุขภาพ หนุน ปชช.ดูแลตัวเอง -----

ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ประเด็นว่า ทางออกของปัญหาคือประชาชนเองต้องตระหนักว่าการดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกับความตระหนักรู้ในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ แต่สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้นคือการรับรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพ และการรับรู้ว่าโรคต่างๆ ไม่เกิดขึ้นมาภายใน 5-10 ปี หากแต่เป็นการสะสมมาอย่างยาวนานเป็น 10-20 ปี แล้วจึงแสดงอาการออกมา

“คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ความตระหนักรู้เช่นนี้เกิดขึ้นมาได้ ส่วนตัวคิดว่านั่นคือระบบการศึกษา ซึ่งไม่ใช่การศึกษาของแพทย์ แต่เป็นการศึกษาตั้งแต่เด็กอนุบาล การศึกษาในครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ เมื่อตระหนักรู้แล้วก็จะทำให้การป้องกันได้ผล” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

สำหรับการป้องกันที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงในข้างต้นนั่นคือการป้องกันในตัวเอง แต่ยังมีการป้องกันอีกส่วนหนึ่งคือการป้องกันโดย “หน่วยงานรัฐ” ซึ่งการให้ความรู้โดยภาครัฐนั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และนั่นคือที่มาของ “ระบบสาธารณสุขมูลฐาน” ที่พยายามจะเปลี่ยนสถานีอนามัยให้มีความพร้อมมากขึ้น กำหนดให้มีแพทย์ประจำเพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

“ในกรณีนี้หากนำแพทย์ลงไปเฉยๆ ก็จะมีความยากเย็นแสนเข็ญ เพราะตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เดิมทีในอดีตหากเริ่มต้นด้วยการคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นโรค แล้วเริ่มป้องกันตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว ปัจจุบันจะไม่มีคนไข้เดินเข้าโรงพยาบาลมากมายเช่นนี้

----- โน้มน้าวด้วยสวัสดิการ – ผลิตผู้เชี่ยวชาญเพื่อชุมชน -----

“เพราะฉะนั้นเรื่องระบบสาธารณสุขมูลฐานในขณะนี้ ถ้าส่งหมอเข้าไปในพื้นที่เมื่อใด หมอคนนั้นต้องรอบจัด คือต้องเป็นหมอที่เก่ง เก่งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เฉียดเต็มขั้น หรือเข้ามาครึ่งทางของตัวโรคแล้ว แต่ถ้าหากคนที่ลงไปตรงนั้นเป็นแค่หมอที่ให้ความรู้ การป้องกันเท่านั้นคงไม่เพียงพอ เพราะประชาชนเริ่มกลัวตายขึ้นมาแล้ว เขาเห็นว่าเบาหวาน น้ำตาล สูงมากแล้ว

“ประเด็นคือในขณะนี้หมอไม่ใช่แค่การคัดกรองคนที่เริ่มป่วย แต่เป็นการลงไปเพื่อรักษาคนที่ป่วยแล้ว และป่วยมาครึ่งทางแล้ว เพราะฉะนั้นความยากของมันก็คือถ้าหากจะนำหมอที่รอบจัด หรืออยู่ในระดับเช่นนี้ลงไปในพื้นที่ได้ ก็จะต้องดึงหมอที่กำลังกระจุกตัวอยู่ในขณะนี้ ด้วยการให้ความสำคัญเขา ให้ชื่อเสียง ให้เขารู้สึกว่าเขามีเกียรติ เขากำลังทำหน้าที่สำคัญ และที่สำคัญคือเขาต้องสามารถเลี้ยงตัวได้ และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้"

“ดังนั้นการดำเนินการก็คือเริ่มนำเอาผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีอยู่แล้วแต่ยังกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ อาจจะต้องจูงใจว่าแทนที่จะแก่งแย่งกันในเมืองอย่างยากลำบาก ลองไปอยู่ในบรรยากาศสบายๆ คุณภาพชีวิตดีๆ ในพื้นที่ แล้วยังได้ค่าตอบแทนมหาศาล โดยคิดค่าตอบแทนตามภาระงานที่เกิดขึ้น คือทำงานมากก็ควรได้ค่าตอบแทนมาก” อาจารย์ธีระวัฒน์ ลำดับความเชื่อมโยงของปัญหา

เขา กล่าวอีกว่า หากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตเมื่อแพทย์เรียนจบแล้วใช้ทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาจะกลับมาศึกษาต่อหรือฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ของเขา ควรจะฝึกอบรมให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ในภูมิลำเนาของตัวเอง เช่น ในเขตนั้นมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่งก็ให้แพทย์ไปศึกษาอยู่ที่นั่น แล้วจบออกมาก็ไปอยู่ในภูมิลำเนาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีพี่เลี้ยงอยู่ในเขตตรงนั้นด้วย

----- ฉายสภาพความเป็นจริง - เปลี่ยน ‘Mindset’ ของรัฐบาล -----

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า หากต้องการทำให้แนวคิดข้างต้นประสบผลสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยน “Mindset” หรือกระบวนการทางความคิดของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐใหม่

“เราต้องเปลี่ยน mindset ของ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) รวมถึงสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง คือในหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้ จะคิดถึงเรื่องการตัดเงิน การตัดงบ แต่ไม่ได้คิดถึงความจำเป็น แม้ว่าความจำเป็นจะมีอย่างมหาศาล แต่เขาไม่ฟังหรอก เขามีหน้าที่ตัดเฉยๆ ดังนั้นหากเราทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเข้าใจในสภาพความเป็นจริง ก็คิดว่าน่าจะสามารถพูดจากันได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

สำหรับเรื่องของงบประมาณนั้นนับเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพูดกันต่อ “อาจารย์ธีระวัฒน์” ยืนยันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย แต่จำเป็นต้องทำให้ประเทศเห็นปัญหาร่วมกันว่า ในโรคๆ หนึ่ง หรือในโรคเดียวกันนั้น หากเพิ่งเกิดขึ้นจะรักษาได้รวดเร็ว แต่หากเป็นมากแล้วจะรักษายาก มีความซับซ้อน และใช้งบประมาณมหาศาล

ดังนั้นเวลาที่จะพูดให้ประชาชนตระหนักรู้ จำเป็นต้องพูดความจริงว่าประเทศกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่ ฉะนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเลิกพูดว่า ขณะนี้ให้สิทธิประโยชน์ตรงนั้นตรงนี้เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่ สปสช.ต้องออกมาพูดด้วยเสียงเดียวกันว่าตัวเลขจริงๆ เป็นอย่างไร คนไข้ที่เป็นโรคแล้วเข้าโรงพยาบาลรัฐ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยไม่คิดกำไรเป็นเท่าใด

“ต้องพูดความเป็นจริงกันว่าเราใช้งบประมาณไปเท่าใด มีแพทย์มีพยาบาลกี่คนมาช่วยในการรักษาผู้ป่วยในห้องไอซียู หรือผ่าตัดใหญ่เท่าใด คือชี้ให้เขาเห็นว่าเราใช้กำลังคน กำลังเงิน เครื่องมือ อุปกรณ์ ทรัพยากรต่างๆ ไปเท่าใด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเห็นและต้องร่วมกันรับรู้ว่า ถ้าเขาไม่ดูแลตัวเองหรือไม่ปฏิบัติตัวให้ดี ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศก็จะล่ม” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ พูดชัด

----- ระบบสาธาณสุขของชาติล่ม ‘คนจน’ ก้มหน้ารับเคราะห์กรรม -----

ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศล่มแล้วเป็นอย่างไร ? ในฐานะกรรมการปฏิรูปซึ่งเห็นภาพกว้างของระบบสาธารณสุขในประเทศไทย เขา อธิบายว่า เมื่อระบบสาธารณสุขของประเทศล่ม ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนจน ซึ่งเป็นคนด้อยโอกาสเป็นอันดับแรก

“ถ้าประชาชนไม่ดูแลตัวเองเช่นนี้ เมื่อระบบล่มคนจนก็จะตายก่อน ซึ่งจริงๆ แล้ว คนจนหรือคนด้อยโอกาสคือกลุ่มคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก แน่นอนว่าเมื่อเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เราก็ต้องให้เขาหมด แต่หากเขาเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็จะให้เขาเฉพาะในสิ่งที่เขาขาดแคลน และที่ต้องเข้าใจต่อก็คือไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับในระดับเดียวกัน

“อย่างคนขี่รถเบนซ์มาแล้วใช้สิทธิ 30 บาท ก็เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ เพราะเขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงแพทย์และการรักษาได้โดยกลไกต่างๆ อาจจะไม่ได้ยืนต่อแถวเอง หรือมีความสนิทสนมเกรงอกเกรงใจกัน ดังนั้นอีกประเด็นที่ต้องพูดกันต่อคือ “ความเสียสละของคนไทย” ซึ่งก็คือการรู้ว่าตัวเองพออยู่ได้ และยังมีคนอื่นที่ลำบากมากกว่าเราอีกเป็น 10 ล้านคน เราก็ไม่ควรเอาตรงนี้เพื่อที่จะแบ่งไปให้คนอื่น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยน Mindset ของคนไทยทั้งประเทศด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ในฐานะที่เป็นแพทย์และอาจารย์แพทย์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ให้ภาพต่อไปว่า แพทย์ที่รักษาคนไข้ไม่ได้จะรู้สึกเป็นทุกข์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากไม่ได้ หนำซ้ำตัวเองยังดูแลครอบครัวของตัวเองไม่ได้ด้วย ดังนั้นคนไข้เห็นแพทย์ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าแพทย์ก็มีความทุกข์ ขณะเดียวกันแพทย์ย่อมเข้าใจว่าคนไข้ที่เดินมาหานั้นมีความทุกข์มหาศาล

“ถ้ามีความเห็นอกเห็นใจกันว่าต้องอยู่ได้ และต้องยอมรับว่าขณะนี้เราใช้เงินก้อนเดียวกัน ดังนั้นขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องพูดความจริง ไม่ใช่มาด่ากันว่ารัฐบาลไม่ควรซื้อเรือดำน้ำ เพราะถึงไม่ซื้อเรือดำน้ำก็นำเงินนั้นมารักษาได้เพียงครู่เดียว เพราะขณะนี้ค่าใช้จ่ายมันมหาศาลมาก ผมคิดว่าในสถานการณ์นี้เราไม่ควรหาตัวผู้ร้าย หาแพะรับบาป อย่ามาหาว่ารัฐบาลไม่ดี รัฐบาลจะล้ม 30 บาท หรือจะโทษประชาชนว่าไม่ดี ไม่รู้จักดูแลตัวเอง

“คือถ้าเราเปลี่ยนการด่า การหาแพะ หาตัวผู้ร้าย มาเป็นการเข้าใจปัญหาอันหนึ่งอันเดียวกัน ผมคิดว่าถ้าไม่เปิดความหายนะที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกคนรับทราบ ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขเลย” อาจารย์ธีระวัฒน์ ขมวดประเด็น

----- เรารักษาทุกโรคไม่ได้ – แนะรื้อใหญ่สิทธิประโยชน์ -----

การรักษาทุกโรคในมุมมองของ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เขา ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่สามารถรักษาทุกโรคได้

อาจารย์แพทย์รายนี้ ขยายความว่า สิ่งที่ต้องคิดต่อจากนี้ก็คือยาที่จะนำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพในแต่ละโรคนั้น ควรจะใช้ยาอะไรจึงจะมีความเหมาะสม นั่นเพราะปัจจุบันมีตำรับยาเป็นจำนวนมาก มีทั้งยาที่สามารถ “ชะลอ” โรคได้จริงๆ และยาที่ทำหน้าที่เพียง “บรรเทา” อาการเท่านั้น

“ยาที่ชะลอโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ต้องมาเป็นเบอร์ 1 แต่การใช้ยาในปัจจุบันเรากลับใช้ยาบรรเทาอาการ ยกตัวอย่างโรคมะเร็ง ซึ่งต้องใช้ยาให้สอดคล้องกับยีนส์ อย่างการรักษามะเร็งปอด หากใช้ยาตามยีนส์จะมีมูลค่ายา 1 ล้านบาท เราก็ควรกลับมาดูแล้วว่าใน 1 ล้านบาทนั้น ทำให้คนไข้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อได้กี่ปี เราจำเป็นต้องมีข้อมูลตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ได้นานแต่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดเวลา

“เราต้องคิดนอกกรอบว่ายาที่เอามาใช้ในปัจจุบันมันเหมาะสมและจำเป็นหรือไม่ เราเข้าใจว่าทุกคนอยากให้คนรัก คนในครอบครัว หรือตัวเองมีชีวิตที่ยืนยาว แต่การจะยืดชีวิตคนออกไปนั้นเราต้องดูว่าเขาเหล่านั้นสามารถอยู่ต่อได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี หรือเป็นเพียงการยืดชีวิตเพื่อให้เขาทุกข์ทรมานต่อไป

“เราไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มีเงินแล้วจะปล่อยให้ตาย ไม่ใช่ แต่นี่เป็นหลักปฏิบัติว่าในเมื่อเราใช้เงินก้อนเดียวกัน เราก็ต้องตายด้วยกัน แต่คุณภาพชีวิตต้องดีไปจนถึงวันเสียชีวิต แต่หากคุณเปิด google ดูแล้วเจอว่าปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาขนาดนี้แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องช่วยตัวเอง เราช่วยไม่ได้ ประเด็นก็คือต้องมีการทบทวนตำหรับยาใหม่ทั้งหมด” อาจารย์ธีระวัฒน์ เสนอ

มากไปกว่านั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อไปก็คือการกลับมาทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพใหม่ทั้งหมด

“การมุ่งแต่เพิ่มสิทธิประโยชน์ขึ้นเรื่อยๆ ไม่สอดคล้องกับความจริงของประเทศ มันคือการสร้างผลงานเท่านั้น แต่การสร้างผลงานเหล่านั้นกลับสร้างภาระมากขึ้นๆ เพราะการให้สิทธิประโยชน์โดยที่ไม่มีเงินมา ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้รักษา

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนไม่กล้าแตะ เพราะเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียง ฐานทางการเมือง แต่ถ้าไม่ได้มองเรื่องนี้และพูดกันด้วยข้อเท็จจริง ผมเสนอหลายครั้งแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเอาความจริงของแต่ละโรคมาตีแผ่ เช่น ผ่าไส้ติ่ง ในระดับปกติอยู่ที่เท่าใด ถ้าผ่าไส้ติ่งที่แตกแล้วอยู่ที่เท่าใด และความต้องการความพิเศษในการรักษา มันลามไปถึงแพทย์ที่ใช้ทุนในต่างจังหวัด และมีภาระงานมาก ถ้าเขาทำคลอดพลาดหรือผ่าไส้ติ่งแตกขึ้นมา คำถามแรกที่ศาลถามก็คือคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่

“ตรงนี้ก็ต้องเปลี่ยนเรื่องความเข้าใจของประชาชน และความเข้าใจทางด้านกฎหมาย คือถ้าเราต้องการให้แพทย์ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญทำการรักษาในทุกตารางเมตรของประเทศไทย คุณจะต้องรออีกนานมากจึงจะมีแพทย์ในระดับนั้นๆ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ทิ้งท้าย

https://www.hfocus.org/content/2018/07/16017





 

Create Date : 09 มกราคม 2562   
Last Update : 9 มกราคม 2562 22:46:47 น.   
Counter : 923 Pageviews.  

สมุนไพร หนานเฉาเหว่ย .. ดี จริงหรือ ?

 

 
  'เชียงราย'ป่วยไตวายอื้อ เตือนสมุนไพร'หนานเฉาเหว่ย'ตัวการ

หมอไตเผย "เชียงราย" ป่วยโรคไตวายอื้อ ชี้ ปัจจัยหลักเกิดจากการกิน เตือนสมุนไพรบำรุงไต-หนานเฉาเหว่ย ตัวการทำไตวายเฉียบพลันไว
จันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561 เวลา 16.43 น.


เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่รพ.สมเด็จพระญาณสังวรณ์ จ.เชียงราย  นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) พร้อมผู้บริหาร อภ. ร่วมมอบยาตำราหลวงจำนวน 300 ชุด ผ้าห่มจำนวน 300 ผืน ให้แก่ รพ.สมเด็จพระญาณสังวรณ์ พร้อมตรวจเยี่ยมการเข้าถึงยาและน้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้อง

นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 1​ แสนคน เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและต้องรับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง  ซึ่งต้องใช้งบในการดูแลรักษากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 15-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี หากไม่มีการแก้ไขคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็นกว่า 2 แสนราย และต้องใช้งบกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ อภ.ได้สร้างการเข้าถึงน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง ส่งถึงบ้านผู้ป่วย ช่วยประหยัดให้รัฐปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี​ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประมาณ 50,000 ราย แบ่งออกเป็นผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องประมาณ​ 30,000 ราย

โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงมีเบิกจ่ายน้ำยาล้างไตทางช่องท้องเดือนละประมาณ 21,000 ราย มีหน่วยให้บริการอยู่ 235 แห่ง และ ผู้ป่วยที่ใช้ฟอกไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียมอยู่ประมาณ 20,000 ราย​ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ที่ยังคงมีการเบิกจ่ายน้ำยาประจำเดือนอยู่จำนวน  21,000 รายนั้น อภ.ได้จัดซื้อจัดหาน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง ในปี 2561 ทำให้ อภ.สามารถช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาได้กว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับการให้บริการน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง  เฉพาะ จ.เชียงราย  มีหน่วยบริการ ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง มีผู้ป่วยที่ล้างไตหน้าท้องอยู่  677 ราย  ใช้น้ำยาล้างไตประมาณเดือนละ 81,240 ถุง

นพ.ปัญจพล กอบพึ่งตน อายุรแพทย์โรคไต รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า การบำบัดทดแทนไตจะต้องมีการผ่าตัดใส่สายสวน ซึ่งห้องผ่าตัดและบุคลากรมีจำกัด ไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณผู้ป่วยโรคไต ส่งผลให้เกิดความแออัดและรอคิวนาน ในปี 2553 จึงได้หาสถานที่มารองรับการดำเนินการผ่าตัดใส่สายสวน ซึ่งจะต้องไม่ไกลจากผู้ป่วยและแพทย์ที่จะมาดำเนินการ โดยสุดท้ายมาลงตัวที่ รพ.สมเด็จพระญาณสังวรณ์ ทั้งนี้ หลังจากมาดำเนินการใส่สายสวนที่ รพ.แห่งนี้ ปรากฏว่า อัตราการรอคอยลดลง จาก 4 เดือน เหลือเพียง 2 เดือน และเมื่อดำเนินการมาเรื่อยๆ ก็มีการพัฒนาจนเป็นศูนย์ไตเทียมที่เรียกว่า ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีขนาดถึง 40 เตียง และสามารถลดเวลารอคอยลงในปัจจุบันเหลือเพียง 1 เดือนกว่าๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ จ.เชียงรายถือว่ามีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสูง รองจาก กทม.  สาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำนวนมาก  มาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ส่งผลต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่เมื่อไม่มีการควบคุมส่งผลให้กลายเป็นโรคไตวายเรื้อรังในที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าอีกปัจจัยมาจากการรับประทานสมุนไพรบางชนิด เช่น หนานเฉาเหว่ย ถั่งเช่า เป็นต้น ซึ่งแม้จะบอกว่าช่วยลดเบาหวาน บำรุงไต แต่พบว่า สมุนไพรที่บำรุงไตจะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น จึงทำให้ไตทำงานหนัก จนเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีครอบครัวหนึ่งที่มารักษาที่ รพ. และเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทั้งพ่อและแม่ จากการสอบถามพบว่ามีการกินหนานเฉาเหว่ย

"การป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตวายดีที่สุด ซึ่งในคนปกติขอแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานอะไรที่มนุษย์ปกติไม่รับประทาน และควรมาตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะเมื่อพบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะแรกก็จะได้รักษาอย่างรวดเร็ว และชะลอไม่ให้โรคลุกลามได้เพราะแม้แต่คนที่ป่วยเป็นไตวายระยะ 3 ก็ยังสามารถชะลอไม่ให้เป็นระยะสุดท้ายได้ ส่วนคนป่วยโรคไตอยู่แล้วก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องสมุนไพรที่บอกว่าดีต่อไต เพราะทำให้ไตทำงานมากขึ้น จนไตวายเฉียบพลันได้ และระวังเรื่องของอาการซึมเศร้าต่างๆ ซึ่งมีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งพบว่าผู้ป่วยไตวายส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตมักมาจากโรคหัวใจ และสุดท้ายคือขอให้มาตามที่แพทย์นัดเสมอ" นพ.ปัญจพล กล่าว.

https://www.dailynews.co.th/politics/683010?fbclid=IwAR2eAadBa46bBhf_zD-1qFu46VWW8ND5wYhBSC_Tc4M_7m6pyk2iD6xxbgg

**************************************
 

ยังสรุปไม่ได้ว่า หนานเฉาเหว่ย รักษาโรคเบาหวานได้

แชร์กันกระหน่ำ กินหนานเฉาเหว่ย รักษาโรคเบาหวาน และยังเสี่ยงเกิดพิษ ต่อตับและไต จะจริงหรือไม่ มาติดตามกันได้ใน อย. เช็ก ชัวร์ แชร์

          ต้นหนานเฉาเหว่ย มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าต้นป่าช้าเหงา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnanthemum extensum จัดเป็นสมุนไพรจีน ใบมีรสขมจัด ซึ่งในขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในประชาชนที่มีความเชื่อว่า ใบหนานเฉาเหว่ยนั้นสามารถรักษา โรคเบาหวาน โรคเกาต์ และโรคมะเร็งได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถสรุปและยืนยันได้ว่า ใบหนานเฉาเหว่ยนั้น สามารถรักษาโรคดังกล่าวได้ และยังไม่มีรายงานความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่แน่ชัดที่อาจเกิดขึ้นได้

          วิธีการดูแลและรักษาโรคเบาหวานที่ปลอดภัยได้แก่ หลีกเลี่ยง อาหารหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น ส่วนผู้ที่เป็นโรคเกาต์นั้น ควรหลีกเลี่ยง

1.อาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เหล้า เบียร์ เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก สัตว์เนื้อแดง เป็นต้น

2.อาหารทะเล

3.อาหารประเภทที่มีไขมันสูง

โดยผู้ที่เป็นมะเร็ง ควรไปพบแพทย์ ไม่ว่าจะโรคเบาหวาน โรคเก๊าต์ หรือโรคอะไรก็ตามควรปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

          อย่าหลงเชื่อคำกล่าวอ้างสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆนะ เพราะแทนที่จะหายจากโรค แต่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้เลย ดังนั้นก่อนจะ แชร์ หรือเชื่ออะไรควรเช็กให้มั่นใจก่อนว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยสามารถมา เช็กให้ชัวร์กับ อย. กันก่อนนะ


https://oryor.com/digi_dev/detail/media_printing/1732?fbclid=IwAR1T3w_6Xj5x3jJJKOxUguioHuqXZqmijuUtqzXq9amzNJVkslhOtBzK1a4
 

“หนานเฉาเว่ย” แนะต้องกินใช้อย่างถูกโรค ถูกวิธี

14 Mar 2019
https://oryor.com/digi_dev/detail/media_news/1588?fbclid=IwAR2mRzeU1qRdnhFebjW5iiMjxCodnviATkgBaP2g70Amrv8p_c_IiaWMbLY
แนะกินใช้ “หนายเฉาเว่ย” ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ หรือปรึกษาแพทย์อย่างถูกวิธี หากขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อาจส่งผลอันตรายต่อร่างกาย 

          นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาให้ความสนใจในศาสตร์ด้านการแพทย์ทางเลือกเพิ่มมากขึ้น โดยใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาโรค   ด้วยสรรพคุณมากมาย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากสมุนไพรวางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น ตามกระแสของการให้ความใส่ใจในสุขภาพของคนในสังคม กรณี สมุนไพรป่าช้าเหงา หรือ หนานเฉาเว่ย มีผู้สนใจนำมาปลูก เพื่อกินรักษาโรคกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนานเฉาเว่ย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ ต่อมามีการนำเข้ามาปลูก และใช้กันอย่างกว้างขวางในประเทศจีน ในตำรายาจีนระบุว่า สมุนไพรดังกล่าว ใช้ในการแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการ   ปวดข้อ และพบว่า ใบสดมีสรรพคุณ ช่วยในการลดความดันเลือด     และลดน้ำตาลในเลือดได้ เป็นต้น โดยใช้ใบสดรับประทานชงน้ำดื่ม    ครั้งละ 4-6 ใบ วันละ 2-3 ครั้ง และพบมีข้อห้ามใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต ดังนั้นในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอยู่ จึงไม่ควรใช้สมุนไพรดังกล่าวนี้ หรือต้องใช้ด้วยความระมัดระวังโดยอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ทางด้านสมุนไพรอย่างเหมาะสม

           รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ปัญหาที่พบจากการใช้สมุนไพรตัวนี้ คือ การกินอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ ดังนั้น ก่อนใช้สมุนไพรใด ๆ จึงควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบถึงวิธีใช้ที่ถูกต้อง สมุนไพรทุกชนิดมีประโยชน์ หากกินให้เป็น และไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาสมุนไพรที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง รักษาได้สารพัดโรคครอบจักรวาล เพราะอาจได้รับอันตรายก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้แจ้งมาได้ที่ช่องทางการร้องเรียนแจ้งเบาะแสกับ อย. ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือ Line @Fdathai หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

*****************




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2561   
Last Update : 22 กันยายน 2562 21:29:09 น.   
Counter : 1751 Pageviews.  

เปิด 7 ปัญหาหลักกับภาระงานแพทย์ในรพ.รัฐขนาดเล็ก ที่หลายคนอาจไม่รู้ ? .. นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ






กรรมการแพทยสภาเผยปัญหาแพทย์ทั่วประเทศพบหลักๆ 7 ข้อ
ล่าสุดผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานกรอบชั่วโมงทำงาน ถือเป็นเรื่องดี


*ภาระงานแพทย์* – เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน *นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ* กรรมการแพทยสภา
กล่าวถึงปัญหาภาระงานของแพทย์ ทั่วประเทศ ว่า ทุก ๆ ปีกรรมการแพทยสภาจะจัดให้มีการแวะ
เยี่ยมเยียนสมาชิกที่ออกไปปฏิบัติงานในท้องที่ห่างไกล  โดยอยู ่ในโครงการภายใต้ชื่อว่า “แพทย
สภาสัญจร”  เพื่อให้คณะกรรมการแพทยสภารับทราบปัญหาที่แท้จริงของสมาชิกที่ปฏิบัติงานในที่ห่างไกล เพื่อที่จะหาแนวทางการแก้ปัญหาให้กับสมาชิกทั้งหมด ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ทำให้พบว่า ปัญหาของโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลที่แวะเยี่ยม เช่น โรงพยาบาลกันทรลักษ์ โรงพยาบาลกันทรารมย์ โรงพยาบาลแม่สาย โรงพยาบาลแม่จัน เป็นต้น โรงพยาบาลเหล่านี้มักประสบ
ปัญหาคล้าย ๆ กัน หลักๆ ดังนี้

*1.ขาดแคลนแพทย์ที่อยู่ประจำเป็นระยะเวลานาน ๆ* อันเนื่องมาจากระยะทางจากตัวจังหวัดหรือ
บ้านเกิด ทำให้แพทย์ที่มาอยู่ที่นี่เกือบทั้งหมดมาจากการจับสลากเพื่อชดใช้ทุน ดังนั้น เมื่อครบทุนส่วนใหญ่จึงขอย้ายออกกลับไปยังภูมิลำเนาหรือสถานที่อื่นที่ต้องการ ซึ่งมักเป็นที่มีเครืองไม้เครื่องมือทางการแพทย์ดีกว่า หรือมีโอกาสก้าวหน้า กลับไปเรียนต่อเฉพาะทางดังนั้นจึงทำให้เหลือเฉพาะแพทย์ที่ทำงานบริหาร ซึ่งมักเป็นคนพื้นที่หรือแพทย์ที่ตัดสินใจปักหลักแล้วเท่านั้นปัญหานี้ยังเป็นเหตุสำคัญให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

*2. ปริมาณผู้ป่วยต่อจำนวนบุคลากร* ทั้งแพทย์และพยาบาล ไม่ได้สัดส่วนอย่างมาก หลายแห่งแพทย์ต้องออกตรวจผู้ป่วยนอกตั้งแต ่เช้าจนถึงเย็นไม่ต่ำกว่า 300-500  ราย บางแห่งมีจำนวนแพทย์
ประจำเพียง 2-3 ท่าน ท่านหนึ่งต้องทำงานบริหาร(ผู้อำนวยการ) ที่เหลือ ผลัดกันออกตรวจทั้งผู้
ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน(IPD)  หลาย ๆ ครั้งที่เมื่อแพทย์ที่ทำงาน IPD เสร็จ ก็ต้องรีบไป
ช่วยตรวจOPDรวมทั้งผู้อำนวยการเองหากไม่ติดราชการก็มักต้องลงมาช่วยน้อง ๆ ตรวจ หากบางวัน
ที่ส่วนกลางมีการเรียกประชุมสำคัญ ๆ ก็ต้องส่งแพทย์ที่ปฏิบัติงานท่านใดท่านหนึ่งเข้าร่วมประชุมมิฉะนั้นอาจพลาดโอกาสสำคัญ ๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเช่น การของบประมาณ เป็นต้น การขาดระบบนัดหมายการไม่เอาใจใส่หรือขาดความรู้หรือไม่สนใจที่จะดูแลตนเอง รวมทั้งการรักษาฟรีทุกอย่าง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่พึ่งพาตนเอง ส่งผลให้แพทย์เหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่สามารถใช้กำลังสมองไป คิดงานอย่างอื่นเพื่อความก้าวหน้าของโรงพยาบาลได้เลย

*3. ปัญหาความไม่พอใจของผู้ป่วยและญาติ* ซึ่งต่อเนื่องมาจาก ๒ ปัญหาข้างตน เช่น รอแพทย์
ตรวจนาน แพทย์พูดจาไม่ดีไม่ไพเราะ แพทย์ขาดความมั่นใจในการรักษา เพราะเป็นแพทย์จบ
ใหม่ ซึ่งขาดทักษะการดูแลรักษา การพูดจาปฏิสัมพันธ์

*4. ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วย* เดิมการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษามักจะจำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็น
ต้องรับการผ่าตัดใหญ่ หรือผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อน หากไม่ใช่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้แล้วแพทย์มักจะดูแลเบื้องต้นให้ก่อน จนกว่าจะเห็นว่ามีความจำเป็นต้องส่งต่อ แต่เมื่อมีคำตัดสินของศาลเกี่ยวกับแนวทางการ
รักษา เช่น การตัดสินจำคุกแพทย์ในกรณีผ่าตัดไส้ติ่ง การทำคลอดการสังเกตอาการเบื้องต้นแล้วล่า
ช้าเกินไป ทำให้แนวโน้มการส่งต่อสูงขึ้น จนทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กถูกมองว่าไม่ต่างจากสถานี
อนามัยที่คอยจ่ายยาโรคเรื้อรัง รักษาหวัด ส่วนการผ่าตัดนั้นหยุดสิ้นลงโดยสิ้นเชิง แม้จะมีคำพิพากษากลับในศาลสูงแต่ไม่ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนไป“ความเชื่อสำคัญกว่าความจริง” ความเชื่อที่ว่าหากรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีความพร้อมสูงสุดอาจต้องโทษอาญาและแพ่งได้ ถูกฝังลึกลงไปเรียบร้อยแล้วผ่านการสั่งเสียจากรุ่นสู่รุ่นดังนั้นคงยากที่จะเห็นโรงพยาบาลขนาดเล็กกลับมาเปิดห้องผ่าตัดอีก จนกว่าฝ่ายบริหารในส่วนกลางจะลงมาแก้ปัญหาทั้งหมด

“ปัญหายังไม่จบลงด้วยการส่งต่อ แต่ยังเกิดขึ้นที่ปลายทาง ซึ่งเป็นฝั่งรับผู้ป่วยที่มักปฏิเสธ เพราะ
เตียงเต็ม (ซึ่งก็เต็มจริง ๆ) ทำให้แพทย์ในสถานพยาบาลขนาดเล็กเกิดความเครียด ซึ่งไปกระตุ้น
ให้เกิดความขัดแย้งและมีแนวโน้มขอย้ายออกนอกพื้นที่ ปัญหานี้ในบางแห่งที่ผู้อำนวยการมีความ
สามารถสูง ก็จะช่วยลดปัญหาลงด้วยการพูดคุยกับสถานพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อให้รับผู้ป่วย โดยอาจมีการแลกเตียงกัน เช่น นำส่งคนไข้ที่มีอาการหนักไปสถานพยาบาลขนาดใหญ่และแลกกับการนำผู้ป่วยเรื้อรังที่สถานพยาบาลขนาดเล็ก พอดูแลได้กลับมา เป็นต้น

*5. ปัญหาการขาดความมั่นใจในการทำหัตถการ* เกิดจากปัจจัยหลัก ๆ อาทิ กังวลถูกฟ้องร้อง ความไม่พร้อมของสถานพยาบาล เช่น ขาดวิสัญญีแพทย์ ขาดบุคลากรในการดูแลหลังทำผ่าตัด ปัญหานี้กระตุ้นให้แพทย์ตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยทั้งหมดทั้งหมดเพื่อไปรับการทำหัตถการในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งมักตรงกับความต้องการของญาติอยู่แล้ว แต่ปัญหาจะไปกองที่ปลายทาง” นพ.เมธี กล่าว

*6.ปัญหาเรื่องเวลาการทำงานและพักผ่อน* แพทย์ที่ไปอยู่หากปรับตัวกับภาระงานไม่ได้จะต้องเผชิญความเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับครอบครัวซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ลาออกหรือย้ายออกเร็วขึ้น 

*7.ปัญหารายได้น่าสังเกตว่าเกือบทั้งหมด * ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้ หรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่าเรื่องอื่นอาจเป็นเพราะมีการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ หรือความสามารถในการหารายได้จากแหล่งอื่น นี่เป็นตัวอย่างปัญหาของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็มีปัญหาอีกเช่นกัน

/ผู้สื่อข่าวถามว่าจากปัญหาดังกล่าวล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้มีการตั้งคณะ
ทำงานศึกษาเรื่องนี้
นพ.เมธี กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยก็เป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารระดับสูง ออกมายอมรับถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เพราะคุณภาพการรักษาผู้ป่วย ต้องเริ่มจากคุณภาพคนทำงาน เป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล(สรพ.) ออกกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย เพื่อให้บุคลากรทำตาม แต่กลับลืมเรื่องสำคัญที่สุด 2 อย่างคือ 1. ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม 2.อัตรากำลังคนทำงานต่อจำนวนผู้ป่วย ทั้ง ๆที่สองเรื่องนี้ สำคัญที่สุดในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ทุก ๆ อย่างต้องเริ่มจากคน/

เครดิต  https://www.matichon.co.th




 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2561   
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2561 13:12:53 น.   
Counter : 888 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]