Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

อุบัติเหตุที่รอวันเกิด ในทุกโรงพยาบาลทั่วไทย ...โดย ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (กรรมการแพทยสภา)

สุขภาพหรรษา : “อุบัติเหตุที่รอวันเกิด” ในทุกโรงพยาบาลทั่วไทย

 

เมื่อปี 2550 เกิดอุบัติเหตุสายการบินวันทูโกตกที่ภูเก็ต ยังผลให้มีผู้โดยสารพร้อมลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

คำถามที่ตามมาภายหลังคือ “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก” มีสมมติฐานมากมาย อาทิ สภาพอากาศไม่ดี ความบกพร่องทางกายภาพของเครื่องบิน การนำร่องมีปัญหา หรือแม้แต่ “สมรรถภาพของนักบิน!” ทำให้องค์กรที่ควบคุมความปลอดภัยทางการบินนานาชาติต้องยื่นมือเข้ามาสอบสวน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อันจะนำไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า “อุบัติเหตุครั้งนี้สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้หรือไม่?”

นอกจากนี้ศาลฝรั่งเศสยังยื่นมือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการระบุตัวผู้ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ ที่แม้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยแต่เพราะมีผู้โดยสารชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของการรับคำฟ้องจากญาติผู้เสียชีวิตดังกล่าว จนในที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ก็มีคำตอบออกมาว่า ... “อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หนำซ้ำยังเป็นอุบัติเหตุที่รอวันเกิดขึ้น!!”

ทั้งนี้ ในคำพิพากษาอาศัยข้อเท็จจริงจากผลสอบสวนว่า “เครื่องบินตกเพราะความผิดพลาดในการตัดสินใจนำเครื่องลงจอดท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย” แต่ทว่าความผิดพลาดต่อการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้มีต้นเหตุที่แท้จริงคือ “นักบินทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนดไว้ต่อสัปดาห์ ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า จิตใจมีความเครียดสะสม ซึ่งเป็นผลจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ”

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันเฉพาะหน้าที่ต้องตัดสินใจ จึงทำได้ไม่ดีพอ...และสิ่งที่น่าตระหนกอันเป็นเหตุให้ศาลเพิ่มโทษขึ้นไปอีกคือ ผู้บริหารของสายการบินกลับปฏิเสธข้อเท็จจริงว่า...นักบินไม่ได้ทำงานหนักหรือเกินกำหนด! ด้วยความพยายามแก้ไขเอกสารบันทึกชั่วโมงการปฏิบัติงานเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงนี้เอาไว้ใต้พรม...

แต่ในที่สุดเมื่อความจริงถูกเปิดเผยว่า “มีการละเมิดกฎแห่งความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร” ผู้บริหารสายการบินจึงถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุก!!

ย้อนกลับมาใกล้ตัวเรา แต่เปลี่ยนจากงานสายการบิน เป็นงานด้านการช่วยชีวิตผู้ป่วย พบว่า พล็อตเรื่องของสองเหตุการณ์นี้คล้ายกันอย่างมาก แต่มีผลสรุปต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขไทยทั้งแพทย์และพยาบาลนั้น ถือว่าหนักหนาสาหัสมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลก

 

ทั้งเนื่องจากนโยบายทางการเมืองและการขาดความเอาใจใส่ในการดูแลด้านสุขภาพของตนเอง ผลทำให้แม้อัตราการเกิดน้อยลง แต่กลับมีปริมาณครั้งของการเจ็บป่วยที่ต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่านโยบายป้องกันโรคของรัฐล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ ดูได้จาก ตัวเลขการเข้ารับการรักษาเฉพาะแบบผู้ป่วยนอกปีละมากกว่า 300 ล้านครั้งและเพิ่มขึ้นทุกๆปี (ทั้งๆที่ประชากรไทยลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียง 60 ล้านคนเศษ แสดงว่าแต่ละปีเฉลี่ยแล้วคน 1 คนเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกปีละ 4-5 ครั้ง หรือไป รพ.เดือนเว้นเดือนนั่นเอง)

ในขณะที่บุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลมีการเพิ่มในอัตราที่จำกัดกว่ามาก จึงไม่น่าแปลกต่อข่าวความไม่พอใจในการรับการรักษาพยาบาลทั้งเรื่อง รอนานและคุณภาพการรักษา และตามมาด้วยการกระทบกระทั่งและความรุนแรงที่แพทย์พยาบาลถูกกระทำ จนนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องและความสัมพันธ์ที่แย่ลง

ผลการสำรวจจำนวนชั่วโมงการทำงานบุคลากรสาธารณสุขในภาครัฐที่ทำขึ้นล่าสุดเมื่อต้นปี 2562 พบว่า แพทย์พยาบาล 60-70% ต้องทำงานต่อเนื่องกันเกิน 24 ชม.โดยไม่ได้พักผ่อน และหากเทียบเคียงชั่วโมงการทำงานมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่หลายประเทศตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ จะพบว่า แพทย์พยาบาลไทยส่วนใหญ่ล้วนต้องทำงานเกินชั่วโมงทำงานมาตรฐานดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2-3 เท่า

หรือพูดให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ทุกวันนี้ในโรงพยาบาลรัฐใช้เงินจ้างแพทย์หรือพยาบาล 1 คนต่อเดือน แต่ “บังคับ” ให้ทำงานเสมือน 2–3 แรง!! ...

แล้วแบบนี้จะไปพูดถึง “ความปลอดภัยของผู้ป่วย” ได้อย่างไร ในเมื่อผู้ที่ต้องปฏิบัติงานยังไม่มีความปลอด ภัยในตัวเองเลย...ผลการสำรวจเรื่องมาตรวัดความสุข มีบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศนับหมื่นคนตอบกลับมาว่า ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ทำงานแบบไม่มีความสุข

 

ผลการสำรวจเรื่องความผิดพลาดในการรักษา พบว่าอย่างน้อย 60-70% ยอมรับว่ามีหรือเคยพบเห็นความผิดพลาดเกิดขึ้นในโรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่...ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ในทุกโรงพยาบาลล้วนมี “อุบัติเหตุที่รอวันเกิดขึ้น” อยู่ทุกวัน และที่สำคัญคือ “อุบัติเหตุนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันหรือแก้ไขได้ แต่กลับถูกละเลยไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขที่สาเหตุ”...

หรือเพราะทุกครั้งที่มีการเรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรสาธารณสุขขึ้นมา ก็จะตามมาด้วยคำถามว่า “แล้วจะหาใครมาทำงาน?” แต่ไม่มีใครถามว่า “แล้วความปลอดภัยของผู้ป่วยนั้น ใครกันแน่ที่ต้องรับผิดชอบ”

อุบัติเหตุสายการบินวันทูโก จบลงด้วยคำพิพากษาที่เสมือนเป็นคำสั่งเตือนมายังผู้บริหารสายการบินทั่วโลก แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขไทย ยังจบลงด้วยพล็อตนิยายอมตะอันไม่เคยเปลี่ยนแปลง

คือการตั้งกรรมการสอบผู้ปฏิบัติงาน การเล่นข่าวผ่านสื่อ และปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยไม่เคยมีการแก้ปัญหาที่สาเหตุแต่อย่างใด...

เมื่อไรเราจะมีอัศวินขี่ม้าขาวหรือรัฐบุรุษ ที่ทำทุกอย่างไม่ใช่เพื่อคะแนนเสียง แต่เพื่อป้องกันอนาคตที่ดีกว่าของระบบสาธารณสุขไทย.

ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (กรรมการแพทยสภา)




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2562   
Last Update : 8 ธันวาคม 2562 16:19:32 น.   
Counter : 2707 Pageviews.  

เสนอ 10 มาตรการลดเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลสหรัฐฯ (เน้น สหรัฐอเมริกา...ไม่ใช่ไทยแลนด์)

เสนอ 10 มาตรการลดเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลสหรัฐฯ

แรงงานชาวอเมริกันตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในที่ทำงานราวปีละ 2 ล้านคน จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีมาตรการเพื่อยกระดับความปลอดภัยของลูกจ้าง fiercehealthcare.com เสนอมาตรการ 10 ข้อเพื่อปกป้องผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และญาติผู้ป่วยจากความรุนแรงในที่ทำงาน

fiercehealthcare.com รายงานข่าว ผลการศึกษาโดยสถาบันความเครียดอเมริกัน American Institute of Stress ชี้ว่าพนักงานราวร้อยละ 25 มีความรู้สึกเครียดจนอยากกรีดร้อง ขณะที่ร้อยละ 10 กังวลว่าเพื่อนร่วมงานอาจก่อเหตุรุนแรง

ความหวาดกลัวต่อเหตุรุนแรงใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยไม่มีที่มา และในแวดวงการรักษาพยาบาลด้วยแล้วเหตุรุนแรงอาจไม่ได้เกิดจากเพื่อนร่วมงานเท่านั้น

เมื่อปี 2557 ที่รัฐมิเนโซตามีกรณีผู้ป่วยวัย 68 ปีหวดเจ้าหน้าที่พยาบาลด้วยราวกันตก และที่ชิคาโกเมื่อปีก่อนเกิดเหตุยิงกันในโรงพยาบาลทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถูกลูกหลงเสียชีวิตไปด้วยและยิ่งทวีความหวาดกลัวต่อเหตุรุนแรงในสถานพยาบาลมากขึ้นไปอีก

ข้อมูลทางสถิติชี้ว่าแรงงานชาวอเมริกันร้อยละ 9 รู้ว่ามีการประทุษร้ายหรือพฤติกรรมรุนแรงในที่ทำงานของตน และร้อยละ 18 เคยโดนข่มขู่หรือคุกคามเมื่อปีก่อน

อย่างไรก็ดีการศึกษาเมื่อปี 2559 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine รายงานว่าร้อยละ 80 ของเจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินล้วนเคยพานพบกับเหตุรุนแรงจากการปฏิบัติงาน พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินทั้งหมดรายงานว่าถูกประทุษร้ายด้วยวาจาเมื่อปีก่อน และร้อยละ 82.1 โดนประทุษร้ายทางกาย และเมื่อดูสถิติระหว่างปี 2545-2556 สถิติการเกิดเหตุรุนแรงในที่ทำงานในภาคการรักษาพยาบาลนั้นสูงกว่าภาคธุรกิจอื่นถึงสี่เท่า

เหตุรุนแรงในที่ทำงานหมายถึง “การกระทำหรือการคุมคามด้วยความรุนแรง ประทุษร้าย ข่มขู่ หรือพฤติกรรมคุมคามซึ่งเกิดขึ้นในที่ทำงาน”

จากสถิติซึ่งชี้ว่าแรงงานชาวอเมริกันตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในที่ทำงานราวปีละ 2 ล้านคน จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีมาตรการเพื่อยกระดับความปลอดภัยของลูกจ้าง บทความนี้ได้เสนอมาตรการ 10 ข้อเพื่อปกป้องผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และญาติผู้ป่วยจากความรุนแรงในที่ทำงาน ดังต่อไปนี้

1. ฝ่ายบริหารต้องเป็นผู้นำ โครงการความปลอดภัยในที่ทำงานต้องเริ่มต้นจากระดับบนขององค์กร เมื่อฝ่ายบริหารเป็นผู้นำก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างดำเนินรอยตาม ผู้บริหารจะต้องไม่เพียงสนับสนุนงบประมาณโครงการแต่จะต้องพบปะกับทีมเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของโครงการอย่างเคร่งครัด (เช่น ติดป้ายชื่อในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน)

คณะกรรมาธิการร่วมได้สรุปปัจจัยหลัก 6 ข้อที่เป็นสาเหตุนำไปสู่เหตุรุนแรงในสถานพยาบาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยชี้ว่าร้อยละ 62 ของเหตุรุนแรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับจุดยืนของฝ่ายบริหาร

2. จัดตั้งทีมรับมือเหตุวิกฤติสถานพยาบาลจะต้องพร้อมรับมือกับเหตุรุนแรง โดยจัดตั้งทีมเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำหรือเป็นผู้นำในเหตุวิกฤติ โดยควรเป็นทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยผู้บริหาร แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรม เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล ตัวแทนพนักงาน และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงท้องถิ่น ทีมควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อทำความเข้าใจ ประเมิน และให้คำแนะนำสำหรับเหตุรุนแรง การกลั่นแกล้ง การประทุษร้าย เหตุกราดยิง ฯลฯ

3. จัดทำแผนแจ้งเตือน สำคัญอย่างยิ่งที่บุคลากรจะต้องตระหนักถึงโครงการลดความรุนแรงในสถานพยาบาลและแนวทางปฏิบัติ เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจะต้องไม่รีรอที่จะแจ้งให้บุคลากรทราบสถานการณ์ปัจจุบัน และหากทำได้ก็ควรสรุปสิ่งที่บุคลากรควรทำระหว่างเกิดเหตุโดยเฉพาะกรณีที่จะต้องปกป้องตัวเองในเสี้ยววินาที การแจ้งเตือนจะต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและหากทำได้ก็ควรจะแจ้งเตือนหลายภาษาเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสถานพยาบาลทราบว่าเกิดอะไรขึ้นและรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดเหตุรุนแรงฉุกเฉิน

มีความเข้าใจผิดว่าภาษาที่ตรงไปตรงมาอาจทำให้เกิดการตื่นตระหนก ข้อมูลจากการศึกษาล้วนชี้ตรงกันว่าในช่วงที่เกิดเหตุฉุกเฉินนั้นประชาชนไม่ได้ตระหนกเพราะเนื้อหาข้อความ หากแต่หวาดกลัวที่ไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและควรทำอย่างไรต่อไประหว่างเกิดเหตุ

4. กำหนดให้แผนรับมือเหตุรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งในแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน แผนปฏิบัติการณ์เหตุฉุกเฉินควรมีแผนงานสำหรับรับมือกับอันตรายทั้งหมดซึ่งรวมถึงการสื่อสาร ทรัพยากรและทรัพย์สิน ความปลอดภัยและความมั่นคง บุคลากรผู้รับผิดชอบ รวมถึงกิจกรรมและเครื่องมือเพื่อสนับสนุนผู้ป่วย แม้เหตุรุนแรงในที่ทำงานส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องอาศัยศูนย์สั่งการประจำโรงพยาบาล แต่ในกรณีที่เกิดเหตุการมีศูนย์สั่งการก็จะช่วยให้ประสานงานกับทีมบริหารสถานการณ์ได้อย่างราบรื่น

5. ฝึกอบรมบุคลากร การมีบุคลากรเพียงหยิบมือที่ผ่านการฝึกอบรมรับมือสถานการณ์รุนแรงเป็นข้อบกพร่องที่มักพบจากโครงการรับมือเหตุรุนแรง ต้องไม่ลืมว่าผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรหลายแผนกของโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่เพียงสามารถระบุและรายงานแนวโน้มที่จะเกิดเหตุรุนแรงเท่านั้น แต่ยังแน่ใจได้ว่าจะไม่กระพือให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น โรงพยาบาลควรมีการฝึกอบรมตั้งแต่ขั้นตระหนักถึงเหตุรุนแรงไปจนถึงขั้นการรับมือกับเหตุรุนแรง ตลอดจนตรวจสอบศักยภาพของบุคลากรเป็นประจำทุกปี

6. ใช้คำที่ชัดเจน บุคลากรอาจสับสนกับความหมายของ ‘ปิดการเข้าออก’ ‘หลบอยู่ในที่ตั้ง’ และ ‘กีดขวาง’ เมื่อพบอยู่ในแผนเดียวกัน ‘ปิดการเข้าออก’ หมายถึงไม่มีผู้ใดสามารถผ่านเข้าออกอาคารได้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักมีอาคารหลายหลัง โดยข้อมูลสถิติรายงานว่าเหตุยิงกันในโรงพยาบาลราวร้อยละ 40 มักเกิดขึ้นนอกอาคาร

นอกจากนี้ ‘มือปืน’ ยังหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีอาวุธปืนและพยายามก่อเหตุสังหารหมู่ อันเป็นคนละความหมายกับ ‘บุคคลต้องสงสัย’ (บุคคลที่มีอาวุธอื่นหรือวัตถุต้องสงสัย) ซึ่งมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดนิยมที่ชัดเจนจึงมีนัยสำคัญต่อการสื่อสารสถานการณ์

7. ฝึกฝนทักษะ จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลจะต้องฝึกฝนทักษะบรรเทาและควบคุมเหตุรุนแรง รวมถึงกระบวนการสร้างสิ่งกีดขวางและการหลบหนี/อพยพเป็นประจำ กรณีที่เกิดเหตุร้ายแรงที่สุด (เช่น เหตุกราดยิง) บุคลากรในจุดเกิดเหตุจะต้องอพยพออกโดยทันทีและมุ่งหน้าไปยังบริเวณที่ปลอดภัยหรือจุดรวมพล การฝึกฝนให้บุคลากรคุ้นเคยกับเส้นทางหลบหนีสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้

8. จัดตั้งความร่วมมือในท้องถิ่น โรงพยาบาลควรประสานงานกับสถานพยาบาลอื่นและหน่วยงานความมั่นคงในท้องถิ่นระหว่างเกิดเหตุรุนแรง โดยแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์สั่งการ บุคคลที่ติดต่อได้ และแผนที่โรงพยาบาล การจัดเตรียมข้อมูลไว้เป็นชุดเดียวกันจะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุรุนแรงและช่วยให้ทีมเหตุฉุกเฉินรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีในห้วงเวลาที่ทุกวินาทีมีความสำคัญอย่างยิ่ง

9. ประเมินประสิทธิภาพ รวบรวมข้อมูลทั้งจำนวนและประเภทของเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ประเภทของการบาดเจ็บ และผลลัพธ์เพื่อประเมินความสำเร็จ (หรือล้มเหลว) ของโครงการ บุคลากรจะต้องสามารถรายงานเหตุทั้งหมดรวมถึงกรณีที่เกือบจะเกิดเหตุรุนแรง และจะต้องมีการทบทวนเหตุรุนแรงแต่ละครั้งเพื่อประเมินประสิทธิภาพของแผนปัจจุบันทั้งในแง่ความสำเร็จ อุปสรรค การลดจำนวนเหตุรุนแรงและการบาดเจ็บ

ทีมบริหารเหตุวิกฤติของโรงพยาบาลควรประเมินแผนรับมือเหตุรุนแรงและปรับปรุงแก้ไขตามที่จำเป็นเพื่อให้แผนมีประสิทธิภาพดีขึ้นและยังคงคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก

10. ทำอย่างต่อเนื่อง การฝึกอบรม ทบทวนเหตุรุนแรง และรับฟังความเห็นจากบุคลากรจะช่วยให้โครงการรับมือเหตุรุนแรงประสบความสำเร็จและเดินหน้าต่อไป

การฝึกอบรมไม่ควรจำกัดอยู่ในแบบเดียว การฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งการบรรรยาย ดูวิดิโอ จดหมายข่าว และการฝึกฝนจะช่วยผู้เข้าร่วมการอบรมจะต้องตระหนักในบทบาทและความคาดหวังของตน ทีมรับมือเหตุวิกฤติควรจัดการประชุมเดือนละครั้งเพื่อทบทวนเหตุรุนแรงและปรับแผนตามความจำเป็น

การวางแผนและกำหนดกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทเป็นพื้นฐานสำคัญของการลดเหตุรุนแรงในที่ทำงานและความรุนแรงต่อบุคลากรสาธารณสุข ขณะเดียวกันก็ช่วยให้แน่ใจได้ว่ามีแนวทางรับมือสถานการณ์วิกฤติได้อย่างเหมาะสม การปกป้องผู้ป่วย บุคลากร และญาติผู้ป่วยจากเหตุรุนแรงนั้นทำได้ยากแต่ก็สามารถบรรลุผลได้หากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน

แปลและเรียบเรียงจาก

Industry Voices -10 steps to reduce workplace violence in healthcare [www.fiercehealthcare.com]


 




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2562   
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2562 20:17:54 น.   
Counter : 1615 Pageviews.  

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าหญิงชาวสิงคโปร์วัย 78 ปี จบด้วยการเสียชีวิต .. ที่มา Wichai Naiyaraksaereemd




การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าของหญิงชาวสิงคโปร์วัย 78 ปี ที่จบด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง และเสียชีวิต 6 วันหลังผ่าตัด

กรณีศึกษาและบทเรียนที่เราต้องมาศึกษาเรียนรู้ว่าในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดถึงแม้จะเป็นการนัดผ่าตัดที่นัดล่วงหน้าไม่ได้ฉุกเฉิน(Elective surgery) แพทย์ก็ไม่ควรประมาท และขบวนการดูแลคนไข้หลังผ่าตัด ทีมสุขภาพที่ดูแลก็ต้องใส่ใจกับ Complaint ของคนไข้ โดยเฉพาะที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการแสดงเริ่มต้นของภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ถึงแม้บางอย่างจะมีโอกาสพบได้น้อยมาก แต่ถ้าปล่อยเวลาผ่านไปนานเกินไปก็อาจให้การรักษาไม่ทัน

นางYuen Ingeborg ชาวสิงคโปร์วัย 78 ปี ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2016 หลังจากได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้างซ้ายเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2016 ที่โรงพยาบาล Mount Elizabeth โดยมี Dr. Sean Ng Yung Chuan เป็นศัลยแพทย์กระดูกที่ผ่าตัด

“แนวทางที่แพทย์ผู้ดูแลคนไข้ที่เสียชีวิตหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ไปไกลเกินกว่าที่จะใช้คำว่า Human error เป็นการให้สัมภาษณ์ของ Kamala Pannampalam เจ้าหน้าที่ไต่สวนสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไข้รายนี้ หลังจากที่เธอใช้เวลาไต่สวนหาข้อมูลเป็นเวลา 7 วัน โดยการซักถามจากสมาชิกภายในครอบครัวของนางYuen แพทย์และพยาบาลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความเห็น (โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยรายนี้)”

1 พ.ย. 2016 นาง Yuen Ingeborg เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ากับ Dr. Sean Ny Yung Chuan ที่โรงพยาบาล Mount Elizabeth ระหว่างการผ่าตัด Dr. Ng ได้พลาดไปตัดถูกเส้นเอ็น Medial collateral ligament เขาได้โทรไปเรียกศัลยแพทย์กระดูกอีกท่านหนึ่งมาช่วยเย็บซ่อมเส้นเอ็น หลังผ่าตัดผู้ป่วยดูสบายดี

เช้าวันถัดมา (2 พ.ย. 2016) ผู้ป่วยมีอาการซีดลง Dr. Ng ได้สั่งให้เลือด 1 ถุง วันนี้เริ่มมีการทำกายภาพบำบัด นางYuenไม่ได้ complain อาการใด ๆ กับ Dr. Ng ตอนค่ำวันเดียวกัน Dr.Ng ได้เดินทางไปประชุมทางด้านวิชาการที่กรุงโตเกียวโดยไม่ได้ฝากคนไข้ให้แพทย์ศัลยกรรมกระดูกท่านอื่นดูแลต่อ

ตอนเย็นวันที่ 2 พ.ย. 2016 นาง Yuen มีอาการปวดเท้าซ้าย(ข้างที่ผ่าตัด) พยาบาลประจำตึกตรวจพบว่าผู้ป่วยมีเท้าซ้ายเย็นกว่าปกติและคลำชีพจรไม่ได้ พยาบาลได้รายงาน Dr. Jeffrey Mah แพทย์ประจำบ้านที่อยู่เวรซึ่งเขาก็คลำชีพจรไม่ได้เช่นกัน

Dr. Mah พยายามติดต่อไปที่ Dr. Ng แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงได้ติดต่อไปที่ Dr. Chin Pak Lin ศัลยแพทย์กระดูกที่ได้ร่วมผ่าตัดกับ Dr. Ng Dr. Chin Pak Lin ได้รีบเข้ามาโรงพยาบาลและส่งคนไข้ไปตรวจเอ็กซเรย์อย่างละเอียด ผลปรากฏว่าตรวจพบเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่ขาพับ(Popliteal artery และ Popliteal vein) ถูกตัดขาดทำให้ขาบริเวณที่ต่ำกว่าเข่าลงมาขาดเลือดและเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ มีผลให้เกิดการติดเชื้อตามมา Dr. Chin ได้ตัดสินใจเปิดการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน และได้ตัดขาบริเวณตั้งแต่เหนือเข่าลงมาออก(Above knee amputation) เพื่อรักษาชีวิตของนาง Yuen แต่หลังผ่าตัดอาการของ นาง Yuen ทรุดลงตามลำดับ มีอวัยวะภายในล้มเหลวหลายระบบ(Multiple organ failure) และหัวใจหยุดเต้นตามมา นางYuen เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2016……6 วันหลังผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าระหว่างผ่าตัด Dr. Ng ไม่รู้ว่านอกจากตัดถูกเส้นเอ็นแล้วเขายังตัดไปถูกเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่ขาพับด้วย ทำให้เลือดออกภายใน และไม่มีเลือดไหลเวียนไปที่ปลายขาซ้าย ทำให้ขาบริเวณตั้งแต่ใต้เข่าลงมามี อาการเย็น เป็นสีดำคล้ำ

ในระหว่างการไต่สวนเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ Ponnampalam ได้ระบุว่าบุตรของนาง Yuen ได้แสดงความกังวลต่อเรื่องขบวนการดูแลหลังผ่าตัดของทีมแพทย์และพยาบาล

“ลูก ๆ ของ นาง Yuen รู้สึกไม่ค่อยสบายใจเมื่อทราบว่า Dr. Sean Ng เลือกที่จะไปประชุมที่กรุงโตเกียวหลังการผ่าตัดผ่านไปเพียง 1 วัน และไม่ได้อยู่ดูแลมารดาของเธอเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น”
“ในความเห็นของพวกเขา(ครอบครัวของ นาง Yuen) การดูแลผู้ป่วยของ Dr. Sean Ng ยังไม่ได้มาตรฐานดีพอ”
ครอบครัวของ นาง Yuen ต้องการทราบว่า ถ้าสามารถตรวจสอบพบเส้นเลือดถูกตัดขาดตั้งแต่เนิ่น ๆ มารดาของพวกเขาจะมีโอกาสรอดชีวิตหรือไม่
ครอบครัวของ นาง Yuen ยังตั้งคำถามถึง ความรู้ ทักษะและการฝึกอบรม (Competencies and training) ของพยาบาล 5 คน ที่มีส่วนดูแลมารดาของพวกเขาหลังผ่าตัด และอดสงสัยไม่ได้ว่าน่าจะมีการละเลยการสังเกตอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อน และน่าจะมีความบกพร่องของบันทึกทางการพยาบาล
“บุตรสาวของ นาง Yuen รู้สึกโกรธและเศร้าใจทั้ง ๆ ที่ได้บอกพยาบาลไป 2 ครั้ง คือช่วงเย็น วันที่ 1 พ.ย. 2016 และเช้าวันที่ 2 พ.ย. 2016 ว่าบริเวณขาข้างที่ผ่าตัด รู้สึกเย็นเหมือนน้ำแข็ง แต่พยาบาลกลับบอกว่าเป็นปกติของคนไข้หลังผ่าตัด และไม่มีทำอะไรเพิ่ม

Dr. Ng ทำงานทางด้านศัลยกรรมกระดูกตั้งแต่ปี 2011 ก่อนหน้าการผ่าตัด แพทย์ได้บอกนาง Yuen ว่าเขาติดประชุมวิชาการที่กรุงโตเกียว และได้แนะนำให้ทำการผ่าตัดหลังเขากลับจากประชุม แต่ตัวคนไข้ยืนยันที่จะให้ทำการผ่าตัดก่อนที่เขาจะไปโตเกียว โดยที่ไม่ได้บอกเหตุผลใด ๆ
Dr. Ng ได้กล่าวว่า ก่อนเดินทางไปโตเกียวเขาได้ตรวจเช็คนาง Yuen แล้ว และบอกว่า “ทุกอย่างเรียบร้อยดี” เขายังกล่าวว่าตัวคนไข้ไม่ได้บอกเล่าอาการขาซ้ายเย็นหรือชาในช่วงเวลานั้น
Dr. Ng กล่าวว่าในขณะที่เขาอยู่ที่กรุงโตเกียว พยาบาลได้รายงานว่าคนไข้ complained อาการเป็นเหน็บและที่ชาที่ขาซ้าย เขาได้โทรไปหา Dr. Adrian Ng วิสัญญีแพทย์ที่ได้ช่วยดมยาระหว่างผ่าตัดให้ช่วยไปดูคนไข้ หลังไปดูคนไข้ Dr. Adrian Ng ได้บอกเขาว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ให้เขาประชุมต่อได้ แต่เมื่ออาการคนไข้แย่ลง Dr. Ng ได้รีบกลับมาก่อนการประชุมจะสิ้นสุดและถึงสิงคโปร์ วันที่ 5 พ.ย. 2016 ก่อนหน้าที่ นาง Yuen จะเสียชีวิต 1 วัน
“Dr. Ng ได้ระบุว่าเหตุผลที่เขาไม่ได้ฝากให้ศัลยแพทย์กระดูกท่านอื่นดูแล ในช่วงที่เขาไปประชุมที่ต่างประเทศ เนื่องจากก่อนที่เขาจะเดินทางไปกรุงโตเกียว เขาได้ตรวจคนไข้แล้วไม่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และสภาพโดยรวมของนาง Yuen ก็อยู่ในสภาพที่ยอมรับได้” เป็นการเขียนรายงานการไต่สวนของเจ้าหน้าที่ Ponnampalam

ตัว Dr. Ng ก็ไม่สามารถให้ความเห็นใด ๆ เมื่อโดนถามว่าถ้าสามารถตรวจสอบพบเส้นเลือดถูกตัดขาดในห้องผ่าตัดและได้รับการแก้ไขตั้งแต่ในห้องผ่าตัด นาง Yuen น่าจะมีโอกาสรอดชีวิตหรือไม่

นอกจากนี้ นางสาว Ponnampalam ยังพบว่า Dr. Ng ยังได้บันทึกเวชระเบียนย้อนหลังในช่วงเวลาวันที่ 1 และ วันที่ 2 พ.ย. 2016 หลังจากที่กลับมาจากญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นข้อห้ามของแพทยสภาแห่งสิงคโปร์

ในรายงานเจ้าหน้าที่ไต่สวน ผู้บริหารโรงพยาบาลยังกังวลกับทีมพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยหนึ่งในทีมพยาบาลได้ถูกตักเตือน เนื่องจากมีการบันทึกทางการพยาบาลว่าระบบไหลเวียนเลือดที่ขาว่าปกติ โดยที่ไม่ได้มาประเมินคนไข้จริง ๆ

Dr. Tang Jun Yip ศัลยแพทย์ประจำ Singapore General Hospital(SGH) ซึ่งทำผ่าตัดเปลี่ยนเข่ามากกว่า 2,000 รายต่อปี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีรายงานคนไข้เปลี่ยนเข่าที่เกิดภาวะแทรกซ้อนตัดถูกทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำไปพร้อม ๆกัน

Professor Yeo Sen Jin ศัลยกรรมกระดูกอาวุโสแห่ง SGH กล่าวว่า ภาวะแทรกซ้อนนี้ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน เขายังให้ความเห็นว่า นาง Yuen น่าจะทรมานจากอาการปวดและชา โดยเฉพาะเมื่อยาชาที่ได้ระหว่างการผ่าตัดหมดฤทธิ์แล้ว
Professor Yeo ยังตั้งคำถามกับ Dr. Ng ว่า “หลังผ่าตัด Dr. Ng ได้ตรวจดูบริเวณขาด้านซ้ายของ นาง Yuen จริงหรือ ถ้าไม่ได้ตรวจจริงแสดงว่าเขาละทิ้งสิ่งควรกระทำ”

ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง Dr. Nicholas Goddard จาก Royal Free Hospital จากเมืองลอนดอน ซึ่งครอบครัวของ นาง Yuen ได้เชิญมาให้ความเห็นได้กล่าวว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนเข่าที่ศัลยแพทย์พลาดไปตัดถูกเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำเป็นผลมาจากเทคนิคการผ่าตัดที่ไม่ชำนาญ”

ในบทสรุป นางสาว Ponnampalam เจ้าหน้าที่ไต่สวนได้กล่าวว่า จากการตรวจสอบหลักฐาน ได้แสดงให้เห็นว่า เส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำได้ถูกตัดขาดระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนเข่าโดย Dr. Ng ถึงแม้จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ศัลยแพทย์กระดูกทุกคนต้องรู้และตระหนักถึงระหว่างการผ่าตัด

นางสาว Ponnampalam ยังกล่าวอีกว่า “Dr. Ng ไปต่างประเทศหลังการผ่าตัดใหญ่วันที่ 2 พ.ย. 2016 โดยไม่ได้ฝากศัลยแพทย์ท่านอื่นดูแลต่อถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่รอบคอบและมีผลทำให้ตรวจพบการขาดเลือดของขาข้างที่ผ่าตัดช้าเกินไป
“การตัดสินใจไม่ฝากให้แพทย์ท่านอื่นดูแลต่อในระหว่างที่ตัวเองไม่อยู่ ถือเป็นความคิดที่ตื้นและไม่รอบคอบ”

เธอยังกล่าวว่า “บันทึกทางการแพทย์หลังผ่าตัดของ นาง Yuen ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานและไม่น่าเชื่อถือ ขาดรายละเอียดสำคัญหลายอย่างโดยเฉพาะการตรวจทางด้านระบบประสาทและการไหลเวียนเลือดของขาข้างที่ผ่าตัด และการบันทึกเวชระเบียนย้อนหลังของ Dr. Ng นอกจากผิดกฎของแพทยสภาแห่งสิงคโปร์แล้ว ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เนื่องจากสภาพคนไข้แย่ลงไปมาก

บันทึกทางการพยาบาลก็สั้นไม่ได้ลงรายละเอียดที่สำคัญ และการบันทึกของพยาบาลรายหนึ่งก็เขียนตาม Dr. Ng โดยไม่ได้ตรวจเช็คอาการคนไข้ด้วยตัวเอง(Independent checks)

บทสรุปสาเหตุการตายของนาง Yuen คือการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดของแพทย์ในฐานะ Primary care ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

หลังการไต่สวน Dr. Noel Yeo ผู้บริหารสูงสุดของ Mount Elizabeth Hospital ได้ส่งเรื่องร้องเรียนให้แพทยสภาแห่งสิงคโปร์ ในระหว่างรอการพิจารณาของแพทยสภาแห่งสิงคโปร์เขาถูกสั่งพักงานเป็นเวลา 8 เดือน
หลังเกิดเหตุการณ์นี้ ผู้บริหารของ Mount Elizabeth Hospital ได้ทบทวน Nursing protocol การดูแลผู้ป่วยหลังการเปลี่ยนเข่า โดยมีผลตั้งแต่ เม.ย. 2018 โดยพยาบาลที่ดูแลคนไข้กลุ่มนี้จะต้องตรวจสอบชีพจรและการไหลเวียนเลือดบริเวณขาข้างที่ผ่าตัดทุกราย และต้องมีการบันทึกในแบบฟอร์มที่โรงพยาบาลจัดทำขึ้น

“สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อปรับปรุงขบวนการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนเข่า เราคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการ Monitor อย่างใกล้ชิดและตรงเป้าหมาย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบันทึกทางการพยาบาลจะช่วยเพิ่มความตระหนักเชิงคลินิก (Clinical awareness) ทำให้สามารถตรวจสอบภาวะแทรกซ้อนได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ"

เดรดิต FB @ Wichai Naiyaraksaereemd
https://www.facebook.com/ikkyuninja.thailand/posts/2488501294572071




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2562   
Last Update : 10 ตุลาคม 2562 21:22:53 น.   
Counter : 3614 Pageviews.  

กินฉี่ตัวเอง ...ดีจริงหรือ ? ( หมอบอก ) โดย ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์ เกรียง ตั้งสง่า




>>กินฉี่ตัวเอง Urophagia หรือ urine therapy มีตำนานความเชื่อมานับพันปี ว่าใช้รักษาโรคบางอย่างได้ รวมไปถึงมะเร็ง แต่เป็นความเชื่อปรัมปรา myth มากกว่าเป็นความจริง (fact)

เมื่อไปค้น จาก google หรือ PubMed ไม่มีหลักฐานทางวิชาการอะไรที่เชื่อถือได้ มา สนับสนุน

>>ในปัสสาวะ นอกจากน้ำแล้วมีอะไรบ้าง ?
ปัสสาวะมีน้ำมากกว่า 95 % โดยน้ำหนัก ที่เหลือเป็นสารต่างๆที่ร่างกายขับออกมา การที่ต้องขับออก เพราะเป็นของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ. และถ้าคั่งค้างในร่างกาย จะเกิดผลเสีย.

ส่วนประกอบในปัสสาวะมีสามประเภทใหญ่ๆ

1.ประเภทแรก คือ metabolic waste ที่เกิดจากการเผาผลาญของการสันดาป (metabolism) ในร่างกาย ที่มากที่สุดคือ urea จากการเผาผลาญ สาร protein and amino acid นอกจากนี้ก้อมี acid phosphate , sulphate compounds จากการเผาผลาญโปรตีน ซึ่งมี free H+ ออกมา ทำให้ปัสสาวะเป็นกรด มี Uric acid จากการสลายสารอาหารกลุ่ม purine มี ketone compounds จากการสลายสารพวกไขมัน มี organic acid อีกมากมาย เนื่องจากสารเหล่านี้ มักมีคุณสมบัติเป็นกรด จึงมี free H+ อยู่ และเนื่องจากคนเป็นสัตว์บก terrestrial animals มี antidiuretic hormone คอยดูดน้ำจากไตกลับเข้าสู่ systemic circulation ปัสสาวะจึงมีความเข้มข้นสูงกว่าน้ำพอควร.

ถามว่าปัสสาวะมีน้ำถึงกว่า 95% แล้วยังจะถือว่าปัสสาวะมีความเข้มข้นอีกหรือ ? คำตอบก็คือใช่. ถือว่าปัสสาวะเเข้มข้นเพราะสรีระวิทยาของสัตว์บก คือจำเป็นจะต้องเก็บน้ำและเกลือโซเดียมไว้ ในตัวเพื่อให้รักษาปริมาตรของ circulating blood and plasma volume ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ปริมาณของพลาสม่าที่กรองผ่าน glerulus ที่เรียกว่า glomerular filtration rate มีจำนวนถึง 140 ลิตรต่อวัน
แต่เรามีน้ำปัสสาวะเพียงหนึ่งถึง 2 ลิตรต่อวัน. แปลว่าอีก 138 ลิตร ของน้ำจะถูก ดูดซึมกลับ reabsorbed at Renal tubules กลับเข้าสู่ systemic circulation แต่ของเสียจากน้ำพลาสมา 140 ลิตร จะมารวมอยู่ในน้ำปัสสาวะ 1-2 ลิตร ดังกล่าวนี้

เหตุนี้ ปัสสาวะจึงมี corrosive action มากพอควร

ความเป็นกรดของปัสาวะ. (มีค่า pH ประมาณ 5 -6.5) หากทานเข้าไปในช่วงท้องว่าง. อาจทำให้เกิดผลเสียต่อเยื่อบุผนังลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารได้อีกด้วย

ลองสังเกตดูผู้ป่วยที่ใส่ผ้าอ้อมที่เปียกชุ่มน้ำปัสสาวะอยู่ตลอด. ไม่ช้าไม่นาน ก็จะเกิดแผลที่บริเวณก้น bed sore ไม่ใช่เพราะเป็นแผลกดทับ อย่างเดียว. แต่เป็นผลจากการกัดกร่อนด้วยปัสสาวะที่หมักหมมในผ้าอ้อมด้วย

ลองพิจารณาดูด้วยตรรกะของหลักการวิวัฒนาการว่า. ธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิตจะพัฒนาไปเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์. ในเมื่อสารของเสียในปัสสาวะเหล่านี้เป็นสารที่ธรรมชาติได้วิวัฒนาการมานาน ร่างกายจัดทำระบบเซลล์และเนื้อเยื่อไว้ ให้มาทำหน้าที่กำจัดมันออก(จากร่างกาย) ทางปัสสาวะ แสดงว่าร่างกายไม่ต้องการ. ถ้ามีสะสมมากจะไม่ดี.

ถ้าของเสียในปัสสาวะมันเป็นของดีจริง ธรรมชาติจะไม่ปล่อยทิ้งไปหรอก. ด้วยวิวัฒนาการจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆมาจนเป็นลิงและคน เป็นเวลานับล้านปี. หากว่าของเสียในปัสสาวะมีประโยชน์_ธรรมชาติจะพัฒนาสร้าง ระบบมา reclaim นำกลับเข้ามาใช้ใหม่. แต่นี่ร่างกายขจัดออก แสดงว่าไม่มีประโยชน์

แล้วเราจะเอาปัสสาวะ(ที่มีของเสียผสมอยู่)มาทานเข้าไปใหม่เพื่ออะไร ?

ในคนไข้โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย. ไตขับของเสียเหล่านี้ไม่ได้. เพราะปัสสาวะน้อยลงมาก ทำให้มีของเสียคั่งในร่างกาย เช่น urea, phosphate organic acid อื่นๆ จนทำให้ร่างกายมีอาการแสดงต่างๆ. .

ภาวะไตวายรุนแรง จนไม่สามารถขับน้ำปัสสาวะออกมา. มีชื่อเรียกว่าภาวะ Uremia เป็นภาษาลาติน แปลตรงตัวว่า การมี urine อยู่ในกระแสเลือด คนไข้กลุ่มนี้ จะเสียชีวิตในที่สุด. เพราะมีการสะสมของของเสีย(ซึ่งควรถูกขับออกทางปัสสาสวะ) มาคั่งอยู่ในกระแสเลือด

แล้วเราจะทานน้ำปัสสาวะเข้าไป เพื่ออะไร?

2,องค์ประกอบส่วนที่สองที่อาจมี คือยาหรืออนุพันธ์ของยา ที่ทานเข้าไป. ยาชนิดละลายได้่ในน้ำ water-soluble drugs จะถูกขับออกจากร่างกายทางไต

ยาชนิดละลายได้ในสารไขมัน fat-soluble drugs จะถูกขับทางตับ

การทานปัสสาวะ จึงมีโอกาสได้รับ metabolites ของยา กลับเข้าสู่ร่างกายอีก ก็จะมีความเสี่ยงที่จะมีการสะสมของยาอยู่ในร่างกายมากเกิน

ตัวอย่าง เช่น การตรวจยาเสพติด หรือ ยาโด๊ป ก็ตรวจจากปัสสาวะ

3.ปัสสาวะอาจมีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสอื่นปนเปื้อนออกมาได้. การดื่มน้ำปัสสาวะจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคเหล่านี้กลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่งซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย

>>ในปัสสาวะมีสารที่ยังมีประโยชน์อยู่บ้างหรือไม่ ?

...ก็น่าจะมีบ้าง. แต่มีจำนวนน้อย เช่น มีสาร prostaglndin บางจำพวกอยู่ สาร prostaglandin เป็นสารในสกุล fatty acid กลุ่ม arachidonic acid ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างจำเพาะ. พบ PG ครั้งแรกจากสารคัดหลังของต่อมลูกหมาก(prostate gland). จึงเรียกชื่อสารกลุ่มนี้ว่า prostaglandin.

นอกจากนี้ ก็มี urokinase ที่มีคุณสมบัติละลายลิ่มเลือดได้ ( fibrinolysis) ฮอร์โมนหลายตัวก็ถูกขับออกทางปัสสาวะ เช่น estradiol , progesterone, erythropoietin แต่อย่างที่อธิบายว่า มีน้อยมาก. ก็ไม่คุ้มที่จะกินปัสสาวะตัวเอง. เพียงเพราะเสียดายฮอร์โมนเหล่านี้_เข้าทำนอง. “ได้ไม่คุ้มเสีย”

สรุป การดื่มน้ำปัสสาวะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี. ที่สำคัญคือทำให้มีการสะสมของของเสีย(ซึ่งร่างกายต้องการขจัดทิ้งไปแล้ว)กลับเข้าไปหมุนเวียนเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่ง

***********************

*อายุรแพทย์โรคไต, อดีตประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, อดีตนายกสมาคมโรคไตแห่งประ​เทศไทย,
อาจารย์ดี​เด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​, อาจารย์ดี​เด่นแห่งชาติ


ที่มา FB@แพทยสภา
https://www.facebook.com/thaimedcouncil/posts/2335427216722170?__tn__=K-R


********************************

คนที่อ้างว่า พระพุทธเจ้าสนับสนุนการกิน ฉี่ ตนเอง เพื่อรักษาโรค เข้าใจผิด (พระบอก)   
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=27-08-2019&group=27&gblog=56
 




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2562   
Last Update : 30 สิงหาคม 2562 14:30:31 น.   
Counter : 3868 Pageviews.  

คนที่อ้างว่า พระพุทธเจ้าสนับสนุนการกิน ฉี่ ตนเอง เพื่อรักษาโรค เข้าใจผิด (พระบอก)




เรื่องเก่า แต่ ความรู้ใหม่ ... อ่านเถอะ ดีงาม ..

" เห็นคนอ้างเรื่อง ปูติมุตตเภสัช ในพระไตรปิฎก แล้วบอกว่า พระพุทธเจ้าสนับสนุนเรื่องการกินฉี่ตนเองเพื่อเป็นยารักษาโรค อาตมาอยากบอกว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดไปมากนะ "

สาธุ

ที่มา พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
https://www.facebook.com/paivan01/photos/a.691183647980650/740423919723289/?type=3&theater




พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒
 
อธิบายเรื่อง ปูติมุตตเภสัช

เห็นคนอ้างเรื่อง ปูติมุตตเภสัช ในพระไตรปิฎก แล้วบอกว่า พระพุทธเจ้าสนับสนุนเรื่องการกินฉี่ตนเองเพื่อเป็นยารักษาโรค อาตมาอยากบอกว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดไปมากนะ

อาตมาพยายามจะสืบค้นดูเกี่ยวกับเรื่องที่อ้างถึงกันนี้ ก็ได้เจอข้อความอธิบายในคัมภีร์ที่ตรงกันหลายแห่งว่า มูตร ที่ปรากฎอยู่ในคำว่า ปูติมุตตเภสัช ท่านประสงค์ถึง ฉี่โค เยี่ยวโค ไม่มีส่วนไหนที่ระบุถึงฉี่ของมนุษย์สักที่เดียว

มีข้อความที่สอดคล้องกันอีก คือในมติของโบราณจารย์ ท่านกล่าวว่า ปูติมุตตเภสัช หมายถึงชิ้นเสมอที่ดองด้วยน้ำฉี่โค หรือในอีกความหมายหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ท่านบอกว่า ปูติมุตตเภสัช หมายรวมถึง ยาที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว ไม่มีเจ้าของ

ศัทพ์ว่า ปูติมุตตเภสัช จริงจริงแล้ว คือ ปูติมุตตปริภาวิตเภสัช หมายถึงตัวยาบางชนิดที่ผ่านกระบวนการดองด้วยน้ำฉี่โค ท่านไม่ได้หมายความว่า ตัวฉี่โคนั่นแหล่ะใช้เป็นยารักษาโรคได้ นี่เป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิดกันมาก

มีคนอ้างถึงมหาธรรมสมาทานสูตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องการดื่มน้ำมูตรเน่า อาตมาก็เลยตามไปอ่านดู แม้ในมหาธรรมสมาทานสูตรจะพูดถึงน้ำมูตรเน่าก็จริงอยู่ แต่น้ำมูตรที่ปรากฎอยู่ในมหาธรรมสมาทานสูตร คือน้ำมูตรที่ผสมด้วยตัวยาสำหรับรักษาโรคต่างต่างแล้ว และคนป่วยที่อ้างถึงในการดืมน้ำมูตรเน่าผสมยานี้ คือคนที่เป็นโรคผอมเหลืองเท่านั้น ที่สำคัญ มหาธรรมสมาทานสูตร เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบผลของการปฎิบัติธรรมมากกว่าจะพูดเรื่องสรรพคุณของยารักษาโรค

ทั้งหมดทั้งมวลจากข้อมูลที่ได้พบ อาตมาเห็นว่าตามคำอธิบายและความหมายที่แท้จริงแล้ว น้ำมูตร แม้ที่เป็นฉี่โค ไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรคด้วยตัวของมันเอง แต่มันสามารถใช้เป็นส่วนในการประกอบเภสัชบางอย่างได้ เช่นเป็นส่วนสำหรับดองผลไม้บางชนิด ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงผลเภสัช คือ ผลไม้ที่ใช้เป็นยาได้ เช่น สมอไทย หรือมะขามป้อม เป็นต้น และผลไม้บางอย่าง เพื่อที่จะให้เก็บไว้ได้นาน คนโบราณมักจะใช้วิธีการดอง นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ทีนี้มีอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ เรื่องว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงอนุญาตปูติมุตตเภสัชนี้สำหรับภิกษุ ในพระบาลี มีข้อความว่า อุตสาโห กรณีโย คือถ้ามีความอุตสาหะ ก็ควรทำ ควรใช้ยาที่ได้จากการดองด้วยน้ำมูตรเน่า (เพื่อรักษาอาการอาพาธเล็กน้อยบางอย่างที่ถูกกันกับยานี้) แต่ไม่บังคับเลยว่า ทุกรูปต้องฉันยาดองนี้

ในสันตุฎฐิสูตร พระพุทธเจ้าให้เหตุผลว่า ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่านี้ เป็นของมีค่าน้อย และหาได้หาได้ง่าย จึงเกื้อกูลแก่คุณความเป็นสมณะของภิกษุ (อยู่ง่าย ฉันง่าย ไม่ต้องรบกวนชาวบ้านด้วยเภสัช ๕) นี่คือจุดประสงค์ประการหนึ่งนะ

ความหมายก็คือ ถ้ามันไม่ทีทางเลือกอื่น ในที่ที่ภิกษุอาศัยอยู่ อาจจะห่างไกลจากชุมชนหมู่บ้าน ไม่มียาอื่นที่จะขอจากคฤหัสถ์ได้ ไม่มีหมอที่จะทำการรักษาโรค ปูติมุตตเภสัชก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ภิกษุสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการได้ (แต่เฉพาะกับบางโรคเท่านั้นนะ เช่น ปวดเมื่อย ปวดท้อง ท้องอืด เป็นต้น)

อีกอย่างหนึ่ง ในข้อวินัยสำหรับภิกษุ ถ้าเป็นเภสัชอื่น เช่น เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้เก็บไว้นาน เป็นอาบัติ แต่ผลไม้อย่างมะข้ามป้อม หรือสมอที่ผ่านการดองด้วยน้ำมูตรเน่าแล้ว เก็บไว้กี่วันก็ได้ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ปูติมุตตเภสัช เป็นของควรแก่ภิกษุในภาวะฉุกเฉินจำเป็น

ยาที่พูดถึงในสมัยพุทธกาลมีเยอะมาก ไม่ได้มีแค่ปูติมุตตเภสัช เช่น ปัณณเภสัช (ยาที่ทำจากใบไม้) มูลเภสัช (ยาที่ทำจากราก) ชตุเภสัช (ยาที่ทำจากยาง) และพระพุทธเจ้าเองแม้ยามที่ทรงอาพาธ ก็ยังทรงต้องอาศัยหมอ เพื่อรักษาตามอาการ ยังต้องมีการผ่าตัด ดมยา อย่างนี้เป็นต้น

ยาดองน้ำมูตรเน่าไม่ใช่ยาวิเศษ ที่จะใช้รักษาได้ทุกโรคนะ อาตมาเห็นบางคนเอาฉี่ตัวเองมาล้างหน้าล้างตาแล้วก็ดูพิลึกดี อาตมานึกถึงน้ำมันกัญชาเลย คนเอามาใช้กันมั่วซั่วตามใจชอบ สุดท้ายต้องหามส่งโรงพยาบาลกันแทบไม่ทัน

อาตมาอยากขอให้เข้าใจกันให้ถูกตามนี้ อย่าไปกล่าวตู่พระพุทธเจ้า คือใครอยากจะกินน้ำฉี่ก็กินไป แต่อย่าอ้างว่า พระพุทธเจ้าก็กิน หรือพระพุทธเจ้ายังให้พระกินเลย อันนี้ไม่ถูกต้อง ยิ่งอ้างสรรพคุณร้อยแปด ยิ่งมองว่าฉี่เป็นยาวิเศษ อาตมาว่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี น่าเศร้ามาก ที่ทราบว่า เพราะเชื่อเช่นนี้ อาจารย์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งจึงหลอกให้เด็กนักเรียนกินน้ำฉี่ของตนเอง (แถมอ้างว่าเป็นน้ำมนต์อีก)

ทุกวันนี้วิทยาการทางแพทย์เจริญมากแล้วนะ อาตมานึกไม่ออกว่า เรายังมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องหลงไปกินฉี่ตัวเองเพื่อรักษาโรคกันอยู่อีก เราไม่ได้เกิดมาในยุคสมัยที่บ้านเมืองล้าหลังขนาดนั้น

**************************************************


คนที่อ้างว่า พระพุทธเจ้าสนับสนุนการกิน ฉี่ ตนเอง เพื่อรักษาโรค เข้าใจผิด (พระบอก)
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=27-08-2019&group=27&gblog=56

กินฉี่ตัวเอง ...ดีจริงหรือ ?  ( หมอบอก )  โดย ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์ เกรียง ตั้งสง่า
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-08-2019&group=27&gblog=57




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2562   
Last Update : 30 สิงหาคม 2562 14:27:42 น.   
Counter : 2514 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]