Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

เปิดกับดัก'งานหนักฆ่าหมอ' คนในรู้จนชิน'เรื้อรังมานาน' ... เดลินิวส์



เปิดกับดัก'งานหนักฆ่าหมอ' คนในรู้จนชิน'เรื้อรังมานาน'

งานหนักไม่เคยฆ่าคนจริงหรือ? อย่าให้ต้องสูญเสียคนดีแบบนี้อีก กับดักที่คนในระบบสาธารณสุข รู้และเคยชิน หากทำงานหนักกันแบบทุกวันนี้ วันหนึ่งโศกนาฏกรรมก็อาจจะเกิดขึ้นกับแพทย์ได้เช่นกัน

อาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2560 เวลา 09.30 น.
https://www.dailynews.co.th/article/574914


การทำหน้าที่อุทิศตนเพื่อคนไข้ ไม่หยุดทำงานจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทำให้คิดถึงคำพูดที่ว่า “งานหนัก ไม่เคยฆ่าคน” แต่ทว่า “นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร” ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ยืนยันเสียงแข็งว่า “ไม่มีจริงหรอกคำนั้น งานหนักมันฆ่าคน มันฆ่าหมอใช่หรือไม่?”

จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศก็ทราบกันดีว่า การทำงานในส่วนภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเล็กหรือใหญ่ ต้องดูแลคนไข้แตกต่างกันออกไป ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ไม่เป็นเวลาที่แน่นอน “เป็นกะเป็นเวร” จึงเป็นผลลบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อความปลอดภัย

ในขณะที่คนอื่นเขานอน เขาพักผ่อนกัน แต่บุคลากรเหล่านี้ทั่วประเทศในโรงพยาบาลศูนย์ 28 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 88 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 780 แห่ง ต้องตื่นทำงานกันด้วยชั่วโมงที่ยาวนานกว่าสาขาอาชีพอื่น ไม่รู้ว่ามีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง วันไหนบ้าง หรือมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าแพทย์ยังทำงานหนักกันแบบทุกวันนี้ วันหนึ่งโศกนาฏกรรมก็อาจจะเกิดขึ้นกับแพทย์ได้เช่นกัน

“เวลาเจ็บป่วย พวกเขาลาได้ไหม หลายคนรู้ว่าลาไม่ได้ บางคนหน้าที่เข้าเวร 30-40 เวรต่อเดือน จะหาคนมาทำงานแทนบ้างก็ได้บางครั้ง แต่ละคนก็มีธุระกันทั้งนั้น ส่วนใหญ่แลกเวรกันไม่ค่อยได้ ไม่ใช่เพราะหมอไม่อยากแทนเวรกัน แต่หมอชำนาญด้านนี้ จะให้สลับหน้าที่กับหมอที่ชำนาญอีกด้าน แล้วความรับผิดชอบที่เรียนมาอยู่ตรงไหน มันก็ไม่ใช่จริงหรือไม่ คนภายนอกเขาไม่ค่อยทราบตรงนี้”

แล้วทำงานแค่ไหนถึงจะพอดี??? มีการเรียกร้องเดินขบวนประท้วง เสียเลือดเสียเนื้อมามากมายในอดีต ที่จะให้มีการทำงานวันละ 8 ชม. ซึ่งต่อมากลายเป็นมาตรฐานการทำงานในปัจจุบัน และที่ประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรก คือ “ออสเตรเลีย” จากการเดินขบวนเรียกร้องในนครเมลเบิร์นในปี ค.ศ.1856 ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเคยมีข่าว “หมอห้องฉุกเฉินทำงานจนตาย” เพราะงานหนักเกินไปไม่ได้พักผ่อน แต่ญี่ปุ่นมีระบบช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานเป็นอย่างดี และมีการชดเชยให้



ในประเทศไทยเรา กฎหมายคุ้มครองเฉพาะผู้ใช้แรงงาน แต่ยกเว้นข้าราชการ ซึ่งแพทย์บางส่วนเป็นข้าราชการ คำถามที่ผุดขึ้นมาก็คือ “แล้วระบบสาธารณสุข คุ้มครองคุณภาพชีวิตความปลอดภัยของแรงงานเสื้อกราวน์จากการทำงานมากแค่ไหน” กว่าจะมีหมอที่เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง เรียนกันเป็น 10 ปี ไม่ใช่ระยเวลาน้อยๆ เลยทีเดียว

เสียงเล็กๆ นี้อาจส่งถึงผู้ที่มีอำนาจมาดูแลบุคลากรสาธารณสุข หวังจัดระเบียบเรื่องการทำงานอยู่เวร จนไม่มีเวลาพัก ดูแลตัวเองและครอบครัว จนกลายเป็นวัฒนธรรมความเคยชินของบุคลากรสาธารณสุขไปแล้ว ยอมรับสภาพ “กับดัก” คือ “สมัยก่อนนะ...ก็อยู่เวรกันแบบนี้แหละ ไม่ได้กิน ไม่ได้นอนกันเลย เงินเดือนก็น้อยกว่าสมัยนี้อีก” หรือกับดักอีกอัน คือ “อ้าว...ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะดูคนไข้ล่ะ”



“ถ้าคิดว่าการที่ยอมทำงานหนักเหนื่อยแบบนี้ เราทำดีแล้วเราเสียสละเราได้บุญ มองอีกมุมคือ เราทำลายสุขภาพตัวเอง ถ้าเราสุขภาพไม่ดีทั้งกายและจิต เราจะไปสร้าง ซ่อมสุขภาพให้ชาวบ้านได้ดีได้ยังไง เรายังทำร้ายครอบครัวของเราเอง ดูแลลูก สามี ภรรยา พ่อ-แม่ของคนอื่น ขณะที่เราไม่มีเวลาดูแลคนเหล่านั้นในครอบครัว และเราจะทำร้ายระบบสาธารณสุข ยอมแบกภาระจนดูเหมือนไม่มีปัญหา หรือเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ การแก้ปัญหาจึงไม่ได้รับการดำเนินการอย่างจริงจัง กลายเป็นเรื่องเรื้อรังมานานจนถึงวันนี้ ออกจากกับดักกันเถอะครับ”

“ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ต้องยอมรับบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลรัฐ รับภาระสูงมาก ทั้งดูแลผู้ป่วยนอกและใน ต้องเจอกับเคสหนักๆ แทบทุกเคส เพราะระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ “14-16 ปีก่อน มันก็เป็นแบบนี้ แต่ละระบบไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน” ซึ่งระบบสาธารณสุขควรจะมีการปกป้องคนเหล่านี้ ไม่ให้ต้องได้รับผลกระทบจากการเสียสละเวลาเพื่อคนไข้



โรคบางโรคต้องอาศัยให้ข้อมูลชาวบ้าน สร้างการรับรู้ให้ชาวบ้านมารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อชะลอโรคไม่ให้เป็นหนักแล้วค่อยมารักษาในระยะลุกลาม งบที่ใช้รักษาต่อรายจึงบานปลาย “ชาวบ้านมารอตี 5 ได้ตรวจบ่าย 2 เขาก็ไม่อยากมาตรวจ เพราะรอหมอนาน คนในวงการสาธารณสุขรู้อยู่เต็มอก จะรีเฟอร์คนไข้ไปโรงพยาบาลอื่นก็ทำได้ยาก” เพราะหากจะดูการทำงานของแพทย์ต่อคน ไม่ใช่จะนำตัวเลขคนไข้ตั้ง แล้วหารด้วยจำนวนคนรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ลักษณะคนไข้ ความรุนแรงของโรค อาการแทรกซ้อน ก็เป็นอีกตัวกำหนดที่สำคัญ

โดยข้อมูลของโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งทางภาคอีสาน เฉพาะแผนกอายุรกรรม มีแพทย์ทั้งหมด 60 คน ซึ่งในหนึ่งวันมีแพทย์ 15 คน ต้องดูแลผู้ป่วยนอก 400-800 คน จึงไม่ใช่งานสบายๆ เลยแม้แต่น้อย เพราะคนไข้มาด้วยอาการที่สาหัส ความรุนแรงโรคที่ค่อนข้างหนัก และในหนึ่งวันนั้น แพทย์ 15 คนก็จะต้องดูแลผู้ป่วยในอีกด้วย บางคนขึ้นวอร์ด หรือมีเคสคนไข้หนักๆ ต้องเข้าห้องไอซียู

“โรงพยาบาลแห่งนี้มีผู้ป่วยหนัก ICU มี 3 ห้อง รวม 30 เตียง ผู้ป่วยหนักทางเดินหายใจ 16 เตียง ผู้ป่วยหนักทาง หัวใจ 13 เตียง หอผู้ป่วยชาย 3 วอร์ด 180 เตียง หอผู้ป่วยหญิง 3 วอร์ด 150 เตียง หอผู้ป่วยพิเศษ 48 เตียง หอเฝ้าดูอาการผู้ป่วย 50 เตียง นี่ยังไม่รวมแผนกล้างไต ส่องกล้องปอด กระเพาะลำไส้ บอลลูนหัวใจ ฉีดยาสลายลิ่มเลือดคนไข้อัมพฤกษ์ และรับปรึกษาผู้ป่วยแผนกสูตินารี ศัลยกรรม แล้วปกติโรงพยาบาลศูนย์ก็จะมีคนไข้ที่คัดเลือกว่าหนักหนาเป็นพิเศษ หรือส่งต่อมาอีกที หากผู้ใหญ่จะวางระบบกัน ต้องลงไปดูโรคเอง อย่ามานั่งคำนวณขีดเขียน ผู้บริหารที่ไม่ได้อยู่เวรแล้วอาจจะลืมความรู้สึกแบบนี้ไปแล้ว”

นี่แหละ...คนที่ยังทำงานจะรู้ว่า ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นยังไง เวลาที่เหนื่อยล้าจากการทำงานมันรู้สึกยังไง และคงไม่มีใครอยากตกเป็นเหยื่อรายต่อไป เสียดายคนเก่ง และคนดี...จึงต้องมาอายุสั้น??? เรื่องราวอันน่ายกย่องของนายแพทย์หนุ่ม “นพ.ฐาปกรณ์ ทองเกื้อ” วัย 30 ปี แต่กลับมาเสียชีวิตอย่างน่าใจหาย ต้องเป็นเหตุสุดท้าย.

ขอบคุณภาพ : @Pradit Chaiyabud, @SirNam Wittawad Raksapon, bloggang... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/574914

.........................................................

Vee Chirasreshtha
26 กรกฎาคม

ก่อนที่คุณจะตั้งคำถามว่า ทำไมช้าจัง คุณลองคิดถามดูก่อนว่า เอ๊ะ หมอ กับ พยาบาลเหล่านี้ "ทานข้าวตอนไหน"

คนไทยกำลังทำให้ทุกอย่างแย่ลง
และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนไทยนั่นเอง
.
เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้
มันเป็นผลจากความไม่รู้ของคนไทยเอง
และระบบที่แย่มานานมาก
.
๑. แพทย์พยาบาลขาดแคลนมานานแล้
เรามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการตรวจรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันมาเป็นเวลานาน
แต่เราก็ตรวจรักษาเช่นนี้มาตลอด เพราะไม่มีการแก้ไขใดๆที่เป็นรูปธรรม

เอาง่ายๆให้มองเห็นภาพ
ตอนนี้ในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ๑๐ เตียงที่ผมเคยอยู่
จะมีคนไข้ที่มาตรวจรักษาวันหนึ่งประมาณ ๑๐๐ คน (อันนี้ขึ้นต่ำ)
ผมเป็นหมอคนเดียวของโรงพยาบาลแห่งนี้
ดังนั้นเวลาที่ผมใช้ตรวจคนไข้ในหนึ่งวันคือ ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ = ๘ ชั่วโมง
หักพักเที่ยงออกไปก็เหลือ ๗ ชั่วโมง = ๔๒๐ นาที
ดังนั้นผมจะเวลาตรวจคนไข้หนึ่งคน = ๔.๒ นาที
เวลา ๔.๒ นาที คุณคิดว่าผมสามารถทำอะไรได้บ้างครับ
.
๒. เชื่อมั้ยครับว่าโรคที่คนไข้มาหาหมอที่โรงพยาบาล มากว่า ๘๐% เป็นโรคที่หายเองได้
เพียงแค่ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการโรคหวัดไข้น้ำมูก ฯลฯ
แต่เมื่อมาตรวจที่โรงพยาบาลก็ต้องมาใช้เวลา ๔.๒ นาทีนั้น ทำให้คนไข้ที่ป่วยจริงๆและต้องการการตรวจรักษาอย่างละเอียดจากแพทย์เสียโอกาสไป
เพราะผู้ป่วยที่ต้องการการตรวจรักษาอย่างละเอียดจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงเพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง หรือส่งตัวไปรักษาต่อโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า

ดังนั้นเมื่อใช้เวลานาน คนไข้ที่รอ ที่เป็นโรคเล็กๆน้อยๆก็บ่นก็ร้องเรียน ทำให้มันเป็นเหมือนวงจรที่ทำให้แพทย์ต้องรีบและอาจเกิดความผิดพลาดได้
.
๓. นอกเวลาราชการเราจะตรวจเพียงแค่ผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น
ซึ่งคำว่าฉุกเฉินเป็นอย่างไรคนไทยก็ไม่เข้าใจในความหมา
และสิ่งที่เจอที่ไม่น่าจะมี คือ คนไข้ที่มานอกเวลาเพราะบอกว่าในเวลารอนาน ก็เลยมาตรวจเอาตอนดึกๆ
หรือพวกที่เป็นป่วยเล็กน้อยมาสองสามวัน มาเพื่อขอใบรับรองแพทย์
สิ่งเหล่านี้มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ
ซึ่งนอกเวลาราชการคนที่ทำงานก็มีไม่มากอยู่แล้ว จึงทำให้คนที่ป่วยจริงๆต้องรอตรวจมากขึ้น
แต่เมื่อเรามีระบบคัดกรองใครป่วยมากสุดควรได้ตรวจก่อน คนที่อาการหนักมากก็จะตรวจก่อน
ก็จะมีการโวยวายว่ารอนาน ด่าทอเจ้าน้าที่ ถ่ายรูปลง social
.
๔. เจ้าหน้าที่ของรัฐมีจำนวนน้อยและทำงานกันหนักมาก
จนบางครั้งก็มีคำเปรียบเปรยว่าเราคือ กรรมกรปริญญา
แพทย์ทำงานช่วงกลางวัน ๐๘.๐๐ - ๑๖.๐๐ และอยู่เวรต่อ ๑๖.๐๐ - ๐๘.๐๐ ของอีกวัน
จากนั้นเราก็ทำงานในเวลาราชการต่ออีก ๐๘.๐๐ - ๑๖.๐๐
สรุปแล้วเราทำงาน ๓๖ ชั่วโมง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่เรียกว่า basic แล้วของการทำงาน
คุณพยาบาลก็เช่นกันทำงานเป็นกะ กะละ ๘ ชั่วโมง
ลงกะนี้แล้วได้พักหน่อยก็มาขึ้นกะต่อไป บางทีก็ทำสองกะติดกัน
แบบนี้ก็เป็น basic ของการทำงานเช่นกัน
แล้ว “คุณภาพชีวิต” และ "คุณภาพของงาน" จะอยู่ที่ไหน
.
.
เมื่อทุกอย่างเริ่มแย่ลงจากการที่เราทำตัวเราเอง
และทำให้คนที่ทำงาน “หน้างาน” ซึ่งเป็นคนทำงานจริงๆของโรงพยาบาล
และเป็นคนที่ช่วยรักษาชีวิตของพวกเรามากที่สุดแล้ว
เริ่มท้อแท้และทะยอยลาออกเรื่อยๆ
รวมทั้งเรื่องฟ้องร้องมากมายที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ
จากความไม่เข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย
.
สิ่งที่มีผลตามมานั้น
คนที่มีผลกระทบมากที่สุดก็คือตัวเราเอง
เพราะ
.
๑. เมื่อหมอมีเวลาตรวจน้อยลง ตรวจผิดพลาดได้ง่าย และเรื่องร้องเรียนและฟ้องร้องต่างๆมากขึ้น
หมอก็จะส่งตัวผู้ป่วยเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆหมด
ไม่กล้าที่จะรักษาที่โรงพยาบาลขนาดเล็ก แม้ว่าจะสามารถรักษาได้ก็ตา
ดังนั้นคนที่ได้รับผลกระทบคือตาสีตาสาที่มีรายได้น้อย ต้องใช้เงินเก็บที่มีทั้งหมดเหมารถมาที่ในเมือง และเสียค่ากินค่าอยู่อีกมากมาย
แม้ว่าจะรักษา “ฟรี” แต่ค่าเดินทางและค่ากินอยู่ไม่ฟรีนะครับ
และมันก็มีค่ามากจริงๆสำหรับชาวบ้านที่หาชาวกินค่ำ
.
๒. เมื่อส่งตัวมาโรงพยาบาลใหญ่มากขึ้น
โรงพยาบาลใหญ่ก็จะแออัดมากขึ้น
คนไข้ก็จะได้ตรวจช้ามากขึ้น
คิวการรักษาก็จะนานมากขึ้น
นานจนบางครั้งรักษาไม่ได้แล้ว
พอเป็นเช่นนี้เรื่องร้องเรียนต่างๆ เช่นได้ตรวจช้าบ้าง หมอวินิจฉัยล้าช้าบ้างก็จะตามมา
แล้วมันก็จะเป็นวงจร ทำให้หมอและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานจริงๆท้อแท้ และเริ่มลาออกกันมากขึ้น
และจะเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
.
.
เรากำลังทำร้ายคนที่พยายามช่วยรักษาชีวิตของเรากันอยู่ครับ
.
ดังนั้นทางแก้ไข้คือ
.
๑. คนไทยต้องมีความรู้ในเรื่องของสุขภาพมากกว่านี้ และดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานให้ได้
รวมทั้งการเปิดใจรับสิ่งที่ถูกต้องที่ผู้รู้ได้อธิบายได้บอกกล่าว
ไม่ใช่ปิดกั้นทุกอย่าง คิดว่าตัวเองถูกเสมอ
และเชื่อในสิ่งที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน ที่ส่งมาตามไลน์ตาม social
.
๒. อันนี้สำคัญมาก
คือผู้ใหญ่ข้างบนคงต้องมีมาตรการที่จริงจังมากกว่านี้
ต้องจริงใจที่จะแก้ปัญหามากกว่านี้
และคิดถึงสวัสดิภาพและขวัญกำลังใจของ “ผู้ปฏิบัติงาน” มากกว่านี้
อะไรที่ต้องเด็ดขาดก็เด็ดขาดครับ
อย่ามาอ้อยอิ่งกลัวร้องเรียนกลัวเสียฐานเสียง
กลัวที่จะไม่ได้ไปต่อ...
ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่เหลือคนที่ทำงานจริงๆครับ
.
.
หากยังเป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ
คนไทยนั่นแหละครับที่จะได้ผลกระทบ
และเมื่อมันเลวร้ายมากขึ้น
คนไทยจะได้รับการรักษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ที่รักษาคุณ “ด้วยหน้าที่” ไม่ใช่ "ด้วยหัวใจ”
.
.
ผมไปดูแลรักษาคุณลุงคุณป้าของผมก่อนนะครับ
ผ่าตัดไปหลายราย นอนรออีกหลายราย
มาไกลกันทีเดียว
ทุกคนรอผมอยู่... รอด้วยใจ
ผมก็จะพยายามรักษาด้วยใจเช่นกันครับ

cr หมอหนุ่ม

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10155040912168264&set=a.400083088263.178340.722948263&type=3&theater

...........................................


สภาพการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ : เมื่อแพทย์ป่วยและทนไม่ไหวจนต้องลาออกหรือเสียชีวิต

โดย อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


24 พฤษภาคม 2560 08:33 น.

https://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000052413
สภาพการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ : เมื่อแพทย์ป่วยและทนไม่ไหวจนต้องลาออกหรือเสียชีวิต
แฟ้มภาพ
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
       สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
       คณะสถิติประยุกต์
       ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


       ข่าวแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทำงานหนักจนเสียชีวิตติดเชื้อในปอดจากการทำงาน แล้วยังมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกมาให้สัมภาษณ์ว่าน้องหมอนั้นเพราะอยากได้เงินจึงขึ้นเวรมากเกินไป ต้องการเก็บเงินเพื่อจะไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ผมว่าเป็นคำพูดที่ไม่ควรหลุดออกมาจากปากของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเลย

       หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้แพทย์ไทยทำงานหนักที่สุดในโลก โดยได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก แต่แน่นอนว่ามีแพทย์บางพวกที่ไปเป็นผู้บริหารหรือไปเป็น NGO หรือ บริหารองค์กรอิสระ ที่ไม่ต้องทนทำงานหนัก การขึ้นเวรที่เหน็ดเหนื่อยกว่ามาก แต่ได้เงินน้อยกว่า เรื่องนี้ต่างชาติตะลึงมากว่าไทยทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เงินน้อยมาก ไม่ใช่ผลงานอะไรของ สปสช. หรอกครับผม นั่นเป็นการตีกินโดยคนทำงานจริงๆ ต้องกรอกข้อมูลส่งเพื่อแลกเงิน คนทำงานหน้างานนั้นหนักและเหนื่อยมากในการรักษาและดูแลคนไข้ แต่อีกคนได้ผลงานไปโดยไม่ต้องทำอะไรมากนักนอกจากรวบรวมตัวเลข ดังนั้นก็อย่าได้แปลกใจว่าทำไมแพทย์ไทยถึงได้ลาออกมากนัก

       ส่วนเรื่องขึ้นเวรไม่เคยต่อเนื่องกันเกินกว่า 24 ชั่วโมงนั้นก็ไม่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด ผลการศึกษาชื่อ ชั่วโมงการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ใน Srinagarind Medical Journal (//www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=1691)

       ซึ่งพบว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะจำนวน 168 จาก 182 ราย ตอบแบบสอบถาม คิดเป็นร้อยละ 92.3 แพทย์เพิ่มพูนทักษะส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80-90) ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์เพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปอยู่เวรนอกเวลาราชการมากกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ระยะเวลาที่ทำงานติดต่อกันนานที่สุดเป็น 48 + 36, 48 + 36 , 72+ 57 ชั่วโมงในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปตามลำดับ แพทย์เพิ่มพูนทักษะส่วนใหญ่รายงานว่ามีการทำการรักษาหรือทำหัตถการผิดพลาด 1-2 ครั้งและเหตุเกิดที่แผนกอายุรกรรมมากที่สุด

สภาพการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ : เมื่อแพทย์ป่วยและทนไม่ไหวจนต้องลาออกหรือเสียชีวิต


สภาพการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ : เมื่อแพทย์ป่วยและทนไม่ไหวจนต้องลาออกหรือเสียชีวิต


สภาพการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ : เมื่อแพทย์ป่วยและทนไม่ไหวจนต้องลาออกหรือเสียชีวิต
       ได้อ่านดังนี้ก็น่าตกใจมากว่าอยู่กันได้อย่างไร ทำงานหนัก อดหลับอดนอน จนร่างกายทรุดโทรม และเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานได้ด้วย แล้วก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องอีก

        ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า

สาเหตุแพทย์พยาบาลเสียชีวิตจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ นั้นเกิดจาก
       1.ภูมิคุ้มกันต่ำ จากการทำงานหนักจนหมดสภาพเพราะมีผู้เข้ามารับบริการทั้งกลางวันและกลางคืน แบบไม่สามาถแยกได้ว่าหากไม่ฉุกเฉินควรมานอกเวลา ทำให้ ระบบภูมิต้านทานโรคอ่อนแอลงเนื่องจากการรับภาระงานที่หนักตลอด 24 ชั่วโมงขาดการพักผ่อน
       2.ระบบไหลเวียนอากาศไม่ดีทำให้ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในอาคาร การปรับปรุงการระบายอากาศของอาคารและการแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทำได้ยากเพราะโรงพยาบาลขาดทุนไม่มีเงินบำรุงใช้ทางออก โรงพยาบาลควรหารายได้เพิ่มโดยไม่เป็นภาระของบุคลากร และลดงานบริการที่ไม่จำเป็นลง

       ดังนั้น

       1.ควรเก็บเงินค่าบริการนอกเวลาหากไม่ใช่ฉุกเฉิน
       2.monitor เวลาทำงานอย่างเปิดเผย
       3.รัฐบาลให้งบประมาณเร่งด่วนปรับปรุงสภาพการระบายอากาศในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อวัณโรคและเชื้อดื้อยาอื่น ๆ


       ทั้งนี้มีแพทย์ใช้ทุนคนหนึ่งที่กำลังจะลาออกเขียนไว้ว่า

ทำไมหมอถึงลาออกจากราชการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่ะหรอ
       เพราะ...
       1. “รุ่นก่อนหน้านี้ เค้าก็ผ่านกันมาได้ น้องก็ต้องผ่านไปได้”
       .... อะไรที่มันแย่ มันก็เลยแย่อยู่แบบนั้น ....
       2. ตอนตีสาม “หมอ แสบท้องค่ะ กินน้ำพริกไปตอนตีหนึ่ง ขอใบรับรองแพทย์ด้วยนะคะ หมอเขียนว่า สมควรลาหยุด ด้วยนะคะ ไม่งั้นหนูเบิกไม่ได้”
       .... ใบรับรองแพทย์ คือ เครื่องมือที่เอาไว้ใช้สำหรับหยุดงานและเบิกเงิน ....
       3. “จริงๆ มีอาการมาเป็นเดือนละ มาตรวจตอนตีสอง เพราะว่าคนน้อยดี ไม่ต้องรอคิว”
       .... มักง่าย เห็นแก่ตัว ....
       4. “นี่หมอ ผมเสียภาษีนะ รักษาให้มันดีๆ หน่อย รอก็นาน รู้งี้ไปเอกชนแต่แรกก็สิ้นเรื่อง”
       .... หมอก็เสียภาษีนะ เผื่อคุณไม่รู้ ....
       5. “หมอ ขอฉีดยาได้ปะ เอาแบบหายเลยอะ”
       .... ถ้ามันมียาแบบนั้นอยู่บนโลกก็คงจะดี ....
       6. “เมื่อไหร่จะได้ทำแผลอะคะ รอมาจะเกือบ 1 ชม. ละ ทำงานกันภาษาอะไร คนต้องทำมาหากินนะ”
       .... ปั๊มหัวใจและใส่ท่อช่วยหายใจคนอื่นอยู่ เลยไม่ว่างน่ะ ....
       7. หมอแก่: “เออ น้อง ผมติดประชุมน่ะ ตรวจได้แค่ ชม. เดียวนะ ที่เหลือฝากน้องด้วย”
       หมอจบใหม่: .... พี่มีประชุมทุกสัปดาห์ เวลาเดิม วันที่พี่ต้องออกตรวจตลอดเลยแฮะ ....
       8. เดือนที่ 9 ของการทำงาน...
       me: “อาจารย์คะ ไม่ทราบว่าเดือนนี้ จะได้เงินเดือนตกเบิกมั้ยคะ”
       อาจารย์: “เรื่องเงินเดือน ถาม กพ. นะ 555”
       .... ทำงานไม่ได้เงินมา 9 เดือนนี่มันตลกมาก!?...
       คงต้องรอจนกว่าผู้บริหารจะเป็นคนที่เคยใช้ทุน เคยอยู่เวรแบบเรา มันถึงจะเปลี่ยนแปลง
       แต่เราคงไม่รอ
       #CountDown10Days
       #ทีมสองแสนหก
       #มีลูกจะไม่ให้ลูกเรียนหมอ


       ขณะที่แพทย์ใช้ทุนอีกท่าน เขียนจดหมายเปิดผนึกว่าต้องลาออกจากราชการเพราะสาเหตุดังนี้

#คนในอยากออก #คนนอกอยากเข้า
       เสียดายไหม ตอบเลยว่ามาก ทุกวันนี้ยังมีความสุข (เป็นส่วนมาก) เมื่อตรวจคนไข้ เมื่อเช้าคนไข้ยังขอบคุณและขอให้ผมถูกหวยเลย เราก็ได้แต่ยิ้มๆแล้วบอกว่า ผมไม่เล่นหวยครับ
       วันนี้จะมาขอระบายความในใจ ตลอด 6 ปี ที่เรียนและ 2 ปี ที่ก้าวเข้ามาเป็นหมอ
       1. ตอนเรียนจบ เราภูมิใจมาก เพราะค่านิยมคนไทย หมอยังเป็นอาชีพที่นับหน้าถือตาอันดับต้นๆ
       2. เด็กอายุ 18 จะรู้อะไร ว่าหมอต้องอดหลับอดนอนตั้งแต่ตอนเรียนและตลอดชีวิต สอบทุก 2 สัปดาห์ อ่านหนังสือยิ่งกว่าเตรียมสอบ admission ในเวลา 1 เดือน เจอคำดูถูกถากถางมานับไม่ถ้วน กว่าจะสร้างหมอคนนึงขึ้นมาได้
       3. ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกคนมากจริงๆที่สร้างผมมา ถึงแม้วันนี้ผมจะทำตามปณิธานที่ให้ไว้ไม่ได้ก็ตาม
       4. ที่ตัดสินใจแบบนี้ เราใช้เวลาคิดไตร่ตรองอยู่ 8 เดือน ไม่มีวันไหนเลยที่เราเปลี่ยนใจ เราไม่ได้เบื่อคนไข้ แต่เราเบื่อระบบ
       5. ตอนแรกจะเรียนต่อสูติ ทำงานวันแรกเคสแรกก็รับเด็กคลอดตายในมือเลยจ้า CPR + UVC เอง อ.เด็กอึ้งเลย บอกทำเป็นด้วยหรอ แต่ก็นะเลยกลัวมาก เลยเบนไปรังสี ก็คะแนนรังสีไม่ดีอีก เลยจะเรียนพยาธิ แฟนก็ทักว่า เธอจะเอาอะไรกิน เลยมาใช้ทางพระพุทธเจ้า มองดูต้นเหตุ คิดไตร่ตรองกับตัวเอง ว่าทำไมเราโลเลจัง เราเลยมีสติ รู้แจ้ง อ๋อ เป็นเพราะเราไม่ได้ชอบอะไรเลยไง เราแค่จะเรียนต่อเพราะอยากจะออกไปจากการเป็นแพทย์ intern สุดท้าย เราไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปสู่บรรยากาศแบบนั้นอีกแล้ว
       6. เวลาเป็นสิ่งที่ หมอไม่มี และมันเคยทำให้เรากับแฟนมีปัญหากัน เค้าบอกว่าเราไม่มีเวลาให้เขาเลย เคยต้องตื่นตี 4-5 ไป รพ. บางวันอยู่เวร 2 วันติด เหนื่อยมาก (เพื่อนเคยโดนจัดให้อยู่เวร 9 วันติด ไปท้วง อาจารย์บอกว่า “ถ้าพวกมึงมีปัญหามาก อยู่ไม่ไหวก็ไม่ต้องอยู่” เลยต้องไปช่วยเพื่อน แบ่งเวรมาอยู่โดยที่ไม่ได้บอกอาจารย์) กลับมาตอนเย็นไม่กินข้าวเย็นเพราะง่วงมาก ต้องนอนเลย ตื่นมา รพ. วนไป ทำแบบนี้ทุกวันหลายเดือน ไม่ได้คุยกับแฟน ไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่ ทั้งๆที่อยู่บ้านเดียวกัน
       7. ปัญหาที่มีผลกระทบมากคือ การนอนหลับ เพราะเราเป็นคนหลับยาก ตื่นง่ายมาก แค่เปิดสวิตไฟก็ตื่นแล้ว อยู่เวรทุกครั้ง เครียดมากกับการต้องตื่นมาดูคนไข้หลังเที่ยงคืน เพราะมันจะทำให้เรานอนไม่หลับเลย เลยต้องพึ่งยา ativan 1 mg ต้องกินทุกครั้งก่อนอยู่เวร มันเลยกลายเป็นว่า วันที่ไม่อยู่เวร มันจะนอนไม่หลับ ถ้าไม่ได้กินยา ทุกวันนี้เลิกละ
       8 .เอาเรามาทำงานหนัก ไม่ได้พัก เสียสุขภาพกายและจิต และต้องเสียอะไรหลายๆอย่างในชีวิต เราก็หวังว่าสิ่งตอบแทนที่ได้กลับมามันจะต้องสมผลกัน เงินมากน้อยไม่ว่า แต่คุณต้องจ่ายตรงเวลา ไม่ใช่ติดค้างจนจะเท่าเงินเดือน 1 เดือน บางที่มีการไม่จ่ายบอกหมอว่าให้บริจาคเงินให้ รพ.
       9. หลายคนพูดว่าเป็นหมอต้องเสียสละ เวลาเราไปจ่ายตลาด เราไม่ได้เอาความเสียสละไปซื้อกับข้าว หรือเปล่า เลิกพูดสักทีเถอะ ว่ามึงเป็นหมอนะ ต้องเสียสละ
       10. ต้องมีการกระจายงานที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่ให้แค่แพทย์ใช้ทุนทำงาน อยู่เวรเป็นคนขับเคลื่อน รพ. โอเคให้เราทำงานหนัก แต่พอขอปรึกษาเคส แพทย์เฉพาะทางมีอารมณ์เวลารับปรึกษา (บางกรณี) และปฏิเสธการดูเคสด้วยซ้ำไปทั้งๆที่เป็นสาขาของตัวเอง บางทีก็สงสัยนะว่าที่เรียนต่อกันเพราะอยากสบายหรือ อยากจะเป็นหมอเฉพาะทางกันจริงๆ
       11. ระบบเดิมเป็นมาอย่างไร วันนี้ก็คงยังเป็นเต่าล้านปีอย่างนั้น เราคนเดียวยากที่จะเปลี่ยน มันง่ายกว่าคือการเอาตัวเองออกมา
       12. ผมแนะนำน้องๆ หรือญาติคนไข้หลายๆ คนที่อยากให้มาเป็นหมอแบบผมว่า อย่ามาเรียนเลย และไม่อายปากด้วย ไม่อยากให้ใครมาเจอประสบการณ์แบบผม
       13. ตอนไปสวิส คุยกับคนสิงคโปร์ เค้าถามเราว่า เวลาเข้า รพ. ครั้งนึงเสียตังประมาณเท่าไหร่ เราบอกว่าไม่ทราบ เพราะประเทศไทย ทุกคนฟรี และ doctor ต้อง hard working จริงๆ เค้าก็อึ้ง ทำหน้าตกใจ แล้วถามกลับ “งี้ก็แปลว่าคุณทำงานฟรีอะสิ”
       14. ทำไมคน Gen ก่อนๆถึงมีความคิดว่า ข้าราชการ สธ. มันมั่นคง ผมกลับคิดว่ามันล่มแล้ว และมันจะแย่ลงเรื่อยๆ
       สุดท้าย ผมอาจจะขาดคุณสมบัติกับตำแหน่งข้าราชการด้วยประการทั้งปวงที่กล่าวมา ขอมอบตำแหน่งให้คนอื่นๆที่พร้อมจะเสียสละสิ่งต่างๆข้างต้นมาทำงานแทนผมละกันครับ


       ทุกวันนี้ ค่าตอบแทนแพทย์ชนบท ได้ค่อนข้างดีมาก เช่น แพทย์ชนบทอยู่ในพื้นที่มานานกว่า 21 ปีได้เงินเพิ่มเจ็ดหมื่นบาทต่อเดือน แต่เมื่อรายได้ดีแล้วพอสมควรทำไมถึงไม่สามารถรักษาแพทย์ไว้ในระบบราชการไว้ได้ ถ้าจะโทษ Pull Factor เช่น เอกชน ให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่าก็อาจจะใช่ หรือสาเหตุที่แท้จริงเป็น Push Factor ที่เกิดจากความไม่ได้เรื่องของระบบที่ผลักให้คนออกจากระบบราชการกันแน่

       ก็ลองรับฟัง และน่าขบคิด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจรับฟังครับ

...................................

บาปกรรมที่เกิดจากผู้บริหารระดับสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข

credited นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพท.

การที่แพทย์/พยาบาลต้องทำงาน ในหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย ในเวลานานเกินไป(ทำงานติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง) ทำงานมากเกินปกติของคนทั่วไป (ทำงานสัปดาห์ละมากกว่า 80ชั่วโมง) ปริมาณงานมากเกินไป (ตรวจรักษผู้ป่วยมากกว่า 80-100 คนต่อวัน) ต้องให้การพยาบาลผู้ป่วยนอนเตียงครั้งละมากกว่า 5คน) ต้องทำงานเช้าต่อบ่ายต่อดึกต่อเช้าโดยไม่ได้หยุดพักผ่อนนอนหลับ

เราคิดว่าเราเป็นคนมีคุณธรรมสูง ยอมเสียสละทำงานเพื่อผู้ป่วยโดยไม่คิดถึงตนเอง

แต่การที่เรายอมทำเช่นนี้ เป็นการคิดผิด เพราะนอกจากจะเบียดเบียนตนเองแล้ว ยังเป็นการทำร้ายผู้ป่วยโดยที่เราไม่รู้ตัว

เนื่องจากมีผลการวิจัยทั่วโลกว่าชั่วโมงการทำงานติดต่อกันอย่างยาวนาน (long working hours) การทำงานเป็นกะ (shift) การทำงานในตอนกลางคืน (night work) ทำให้เกิดผลเสียหายต่อสุขภาพ (health) ของผู้ทำงาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ส่งผลต่อความเสี่ยงในความปลอดภัยของผู้ป่วย (risk to patient’s safety) มีผลเสียหายต่อผลลัพธ์ของงาน

กล่าวคือผลงานลดลง ( less productivity) ประสิทธิผลตกต่ำ (less effectiveness) ขาดประสิทธิภาพ (less efficiency)  มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ทำงาน (lower quality of life) ขาดสมดุลระหว่างงานและการดำรงชีวิต (work-life imbalance) มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม ขาดsocial participation

สรุปแล้วการที่กระทรวงสาธารณสุข ยังบังคับให้แพทย์/พยาบาลต้องทำงานมากเกินไป นอกจากจะเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของแพทย์และพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังส่งผลร้ายต่อผู้ป่วยเช่น เกิดผลเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจหรือจากอุบัติเหตุในการทำงาน

เราคิดว่าการที่เรายอมทำงานหนักเหนื่อยแบบนี้ เราทำดีแล้ว เราเสียสละ เราได้บุญ
มองอีกมุม คือ


หนึ่ง เราทำลายสุขภาพตัวเอง ถ้าเราสุขภาพยังไม่ดี(ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต) เราจะไปสร้าง/ซ่อมสุขภาพให้ชาวบ้านได้ดีได้อย่างไร

สอง เราทำร้ายครอบครัวของเราเอง เราดูแลลูก/สามี/ภรรยา/พ่อ/แม่ของคนอื่นโดยไม่มีเวลาดูแล ลูก/สามี/ภรรยา/พ่อ/แม่ของตัวเองรึเปล่า (ถามคนในครอบครัวเราดูหน่อยก็ดี)

สาม เราทำร้ายคนไข้ ถ้าให้คนอื่นที่ร่างกาย/จิตใจพร้อมกว่าเรามาดูแลคนไข้ ผลลัพธ์จะดีกว่าเราที่เหนื่อยและล้ารึเปล่า

สี่ เราทำร้ายระบบสาธารณสุข เรายอมแบกภาระจนดูเหมือนไม่มีปัญหา หรือเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ จึงไม่ได้รับการดำเนินการอย่างจริงจังเรื่อยมา กลายเป็นเรื่องเรื้อรังมานานจนถึงวันนี้

พอสรุปได้ว่า นาย “งาน” กำลังทำร้าย นาย “บุคลากร” โดยที่ นาย”ผู้บริหาร” รู้เห็นเป็นใจ ในขณะที่นาย”องค์กรวิชาชีพ”อยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น

ตามภาษากฎหมาย หากนาย”บุคลากร”บาดเจ็บหรือตายจากการกระทำของนาย”งาน” ถือว่า นาย”ผู้บริหาร”เป็นผู้สมรู้ ผู้สมคบ และถือว่านาย”องค์กรวิชาชีพ”กระทำโดยละเว้น ตามภาษาธรรม .......... บาปกรรม








 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2560   
Last Update : 1 สิงหาคม 2560 21:12:34 น.   
Counter : 2884 Pageviews.  

ผมท้าครับ มาลองปฏิบัติงานร่วมกับพวกเราดู เผื่อความดราม่าของคุณจะลดลงได้บ้าง





ผมกำลังท้า

ผมเรียนเชิญประชาชนในยุคปัจจุบัน ร่วมอยู่เวรห้องฉุกเฉินหลังเที่ยงคืนถึง ๘ โมงเช้าต่อด้วยการตรวจคนไข้หนักที่นอนเจ็บป่วยอยู่ในโรงพยาบาลในเวลาราชการต่ออีก ๘ ชั่วโมงรวมเป็น ๑๖ ชั่วโมงติดๆ รวดติดกันเป็นอย่างน้อยพร้อมกับผมหรือกับแพทย์ พยาบาล เภสัชกรในโรงพยาบาลรัฐใดๆ สักแห่งในประเทศนี้สัก ๗ วัน ๗ คืนครับ .. ลองดูครับว่า "ของจริง" เป็นอย่างไร

เมื่อผมตื่น คุณต้องตื่นทุกเสียงโทรศัพท์ ทุกเสียงเรียกร้องความต้องการ ทุกความรีบเร่งของผมคือสัญญาณชีวิต ไม่ใช่ลำดับการขึ้นบัตรหรือยศถา หรืออะไรที่หมายถึงความเอาแต่ใจตัวของคุณเอง

ผมตื่น คุณต้องตื่น ผมหิว คุณต้องทนไปกับผมและทีม
ผมเครียด คุณก็เหนื่อยและเครียด คุณก็อย่าหวังจะได้พัก
คุณต้องอดทนอยู่เงียบๆ ไปกับผมและทีมสาธารณสุขในกรอบของจรรยาบรรณ

เมื่อผมกับทีมไม่ได้กลับบ้านไปดูแลพ่อกับแม่บังเกิดเกล้า คุณก็อย่าหวังจะได้กลับไปหาท่าน อยู่กับผมและทีมเพื่อช่วยคน ทำงานด้วยใจตามหลักการของคุณ

ระหว่างที่คุณอยู่เวรกับผมและทีม เมื่อแม่ของคุณกำลังหายใจไม่ออกเหมือนจะขาดใจและต้องการความช่วยเหลือจากคุณในฐานะลูก คุณต้องบอกให้ท่านไปหาความช่วยเหลือจากคนอื่นก่อนแล้วรีบวางโทรศัพท์เพื่อตามผมกับพยาบาลไปตรวจคนไข้โรคหวัด ห้ามปฏิเสธคนไข้

เมื่อผมและเพื่อนพี่น้องข้าราชการไปเสียภาษีเต็มหน่วยเพื่อเกื้อหนุนระบบฟรีทุกอย่างให้แก่คุณในยุคนี้ คุณต้องรู้ว่าผมและเพื่อนข้าราชการกำลังจ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง

เมื่อนั้นคุณต้องไปจ่ายภาษีกับผม เพื่อผมจะได้ดูว่าคุณเสียภาษีจริงไหม เสีย ๑๐๐% เท่ากับผมไหมและภาษีของคุณนั้นราคากี่หลัก

ถ้า ภาษี คือ คำอ้างให้ผมทำหน้าที่ .. แล้วคุณจะรู้ความจริงว่า คุณต่างหากที่ต้องขอบคุณผมและเพื่อนร่วมวิชาชีพทุกระดับที่เงินรายได้ของผมและผองเพื่อนท่ามกลางความเอาแต่ใจของคุณนั้น คือเงินที่กำลังช่วยยืดลมหายใจของแม่พ่อคุณหรือแม้แต่กระทั่งลมหายใจของคุณเองนอกเหนือไปจากการตรวจรักษาให้คุณบรรเทาความเจ็บป่วย

ผมยืนตรวจ คุณมายืนตรวจกับผม อย่าหวังจะได้นั่ง
ผมวิ่งไปตรวจคุณไข้ คุณต้องวิ่งไปกับผม อย่าหวังจะได้แวะดื่มน้ำหรือพักหายใจ

เมื่อผมเครียดและไม่มีเวลาแม้แต่จะอธิบายข้อเท็จจริงท่ามกลางความเร่งรีบและภาระงานที่หนักอึ้ง คุณจะต้องอดทน เสียสละ ไม่โวยวาย ไม่แก้ตัว ไม่ฟ้องคนนั้นคนนี้ ต้องมีมารยาทและสามัญสำนึกพอที่จะไม่ละเมิดถ่ายภาพความทรามของคนไข้และญาติบางจำพวกลงเฟสบุ๊คเพื่อหาพวกรุมกินรุมยำและเดินหน้ารักษาคนไข้คนต่อไปพร้อมกับผมและทีมเสมอ .. คุณต้องทำได้ เพราะผมกับบุคลากรสุขภาพของรัฐนั้นทำมันอยู่ทุกวันก่อนผมท้าคุณ

คุณต้องไม่โกรธและทนได้ ถ้ามีรูปคุณกำลังกินข้าวหลังจากล่วงพ้นมื้อปกติมายาวนานแล้วในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่คุณเพิ่งว่างเว้นจากคนไข้หนักในเฟสบุ๊ค พร้อมข้อความด่าทอว่าคุณไม่มาเปลี่ยนผ้าทำแผลของเก่าๆ ให้เร็วทันใจ คุณอธิบายไม่ได้ครับว่า คุณขอเวลาเขากินข้าวสักสิบนาที

เมื่อคุณแอบไปร้องไห้เสียใจผมกับทีมจะเห็นใจคุณ แต่ประชาชนที่คุณตั้งใจช่วยเหลือเขานั้นจะไม่เห็นใจคุณเหมือนที่ผมกับทีมปฏิบัติต่อคุณ เชื่อเถิดพวกเราผ่านมันมาแล้ว คุณต้องผ่านให้ได้ระหว่างคุณรับคำท้า

คุณต้องรับรู้เสมอว่าคุณกำลังอยู่ในโลกของจินตนาการของประชาชนและใช้อารมณ์ตัดสินมากกว่าข้อเท็จจริง เพราะผมกับทีมเรานั้นเข้าใจมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่คุณเป็นมือใหม่ไม่มีทางไหนนอกจากคุณต้องทำใจเหมือนที่ผมเคยทำมาก่อนแล้วในอดีต

คุณต้องไม่กลัวต่อคำร้องเรียน บัตรสนเท่ห์ หนังสือทางการ ข้อความประนามคุณในโลกโซเชี่ยลเพราะ "ความไม่ถูกใจ" ที่คุณทำแม้คุณจะรู้อยู่เต็มอกว่า คุณได้ทำถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วอย่างแม่นยำ คุณต้องไม่มีเวลาท้อใจ เหนื่อยใจหรือหมดกำลังใจ คุณต้องอดทนเหมือนกับผมและทีมของเรา

คุณต้องอดทนอดกลั้นกับความเข้าใจผิด ความคิดเองเออเองและความเอาแต่ใจตัวเองโดยไม่คิดรอของประชาชนยุคนี้ให้ได้ไปพร้อมกับผมและทีมของเรา คุณต้องทำเหมือนที่ผมกับทีมทำเมื่อผมท้าคุณ

ระหว่างรับคำท้า อย่าน้อยใจถ้าหัวหน้าของคุณจะเชื่อใบร้องเรียนพฤติกรรมที่เขาก็ไม่เห็นมากกว่าข้อเท็จจริงและความเมตตาที่คุณพึงมีต่อประชาชน คุณต้องเข้มแข็งให้ได้เหมือนผมกับทีมจนกว่าจะจบคำท้า

และถ้าผมไม่ยิ้มตอนตรวจคุณเพราะเหตุผลข้างบนนั่น มั่นใจได้เถิดว่าจะไม่มีใครเลยที่จะได้เห็นรอยยิ้มของคุณตอนนั่นตรวจไปพร้อมๆ กับผมเช่นกัน

ผมท้าครับ มาลองปฏิบัติงานร่วมกับพวกเราดู ผมพร้อมจะยกเงินเวรราคาหลักร้อยให้คุณ พร้อมเลี้ยงอาหารสามมื้อจากโรงครัวโดยยินดีร่วมนั่งกินข้าวนั้นไปพร้อมๆ กับคุณ

เผื่อความดราม่าของคุณจะลดลงได้บ้างและหันมาร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่กันได้เสียที

แชร์มาอีกที จากเพื่อนร่วมวิชาชีพ

เครดิต Chokchai Wasinanont   29 มิถุนายน 2560  เวลา 13:17 น

https://www.facebook.com/wasinanont.chokchai/posts/1435877603121810




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2560   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2560 13:32:11 น.   
Counter : 1700 Pageviews.  

“ผ่าท้องคลอดไม่ใช่คำตอบสุดท้าย” ไขปมความไม่รู้และความเข้าใจผิดของเหล่าพ่อแม่มือใหม่ กับ ศ.นพ.ภิเศก

 

ภัทชา ด้วงกลัด เรื่อง

กนกวรรณ ศรีสุวัฒน์ ภาพ

“กระบวนการคลอดไม่ใช่แค่เรื่องการเกิด แต่เป็นเรื่องของชีวิต เกี่ยวข้องกับสุขภาพของทั้งแม่และเด็ก และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกที่คุณรักในอนาคตด้วย”

คุณรู้ไหมว่าทุกวันนี้เด็กไทยเกิดวันอะไรกันมากที่สุด?

คำตอบต่อคำถามข้างต้นไม่ได้สะท้อนความบังเอิญ เพราะทุกวันนี้ ว่าที่พ่อแม่คนไทยจำนวนมหาศาลเลือกให้ลูกรักลืมตาดูโลกด้วยการผ่าท้องคลอด การเลือกวันเกิดให้ตรงตามฤกษ์หามยามดีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ในปัจจุบัน เราคุ้นชินกับการผ่าท้องคลอดจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้การผ่าท้องคลอดเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยกว่าแต่ก่อนมาก หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย จึงมีอัตราการผ่าท้องคลอดสูงขึ้นเรื่อยๆ จนบางประเทศสูงเกินครึ่งหนึ่งของการคลอดทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ

ไม่เจ็บ ปลอดภัย สะดวก และแน่นอน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ว่าที่พ่อแม่ รวมทั้งคุณหมอ เลือกการผ่าท้องคลอดเป็นคำตอบสุดท้ายในการให้กำเนิดลูกรัก

แต่เรามั่นใจว่ารู้จักการผ่าท้องคลอดกันดีแล้วจริงๆ หรือยังมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้หรือเข้าใจผิด ที่อาจทำให้คุณต้องเปลี่ยนใจและคิดดีๆ อีกครั้งก่อนจะสนับสนุนการผ่าท้องคลอด

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา และอดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เมธีวิจัยอาวุโส และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) จะมาลบล้างมายาคติเรื่องการผ่าท้องคลอดในสังคมไทย ผ่านการสนทนากับภัทชา ด้วงกลัด กองบรรณาธิการ The101.world

แล้วคุณอาจจะพบว่ามีดหมอไม่ใช่คำตอบสุดท้ายจริงๆ

 

“ในภาวะปกติที่ไม่มีข้อบ่งชี้ การผ่าท้องคลอดถือว่ามีอันตรายทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อทั้งแม่และลูกสูงกว่าการคลอดปกติผ่านช่องคลอด”

พัฒนาการของการผ่าท้องคลอด

การผ่าท้องคลอดมีมานานแล้ว อาจถึงร้อยปีด้วยซ้ำไป การผ่าท้องคลอดเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Caesarean Section หรือเรียกสั้นๆ ว่า Caesar มีการพูดต่อๆ กันมาว่าเป็นเพราะพระเจ้าซีซาร์มหาราชประสูติด้วยการผ่าท้องคลอด ผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่

การผ่าท้องคลอดเป็นการรักษาพยาบาลหรือหัตถการที่สำคัญมากในอดีต เพราะเป็นการช่วยชีวิตแม่และลูกในกรณีที่แม่ไม่สามารถคลอดได้โดยธรรมชาติ เรียกว่าเป็นหัตถการที่ช่วยชีวิตแม่และลูกทั่วโลกมามากมาย

สมัยก่อนการผ่าท้องคลอดนั้นอันตรายมาก ต้องให้ยาระงับความรู้สึก ดมยาสลบ ระหว่างการผ่าตัดก็เสียเลือดมาก และเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับอวัยวะข้างเคียง ไปถูกกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ไต เกิดภาวะข้างเคียงได้มาก ที่สำคัญยังเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งสมัยก่อนยาปฏิชีวนะยังไม่ค่อยดี ดังนั้น การเสียชีวิตจากการผ่าท้องคลอดจึงมีมาก

ทุกวันนี้การแพทย์พัฒนาก้าวหน้าขึ้น การผ่าท้องคลอดปลอดภัยมากขึ้นและมีความเสี่ยงน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต มีการใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้น การผ่าตัดก็มีเทคนิคต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น มีการบล็อกหลังระงับความรู้สึก สะดวกสบายกว่าเดิม

 

เมื่อไหร่ถึงควรผ่าท้องคลอด

การคลอดเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การผ่าท้องคลอดเป็นเรื่องจำเป็นเฉพาะในบางกรณี เช่น แม่ตัวเล็ก เด็กตัวใหญ่ แม่มีภาวะแทรกซ้อน เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ เด็กมีภาวะเครียดจากการขาดออกซิเจนในครรภ์  การผ่าท้องคลอดในภาวะที่เหมาะสมจะช่วยลดอันตรายของแม่และลูกได้

สิ่งที่ผมปฏิบัติมาตลอดระยะเวลาสามสิบปีที่เป็นสูติแพทย์คือ จะผ่าท้องคลอดเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

ข้อบ่งชี้ที่สำคัญอันดับแรกคือ มีการผิดสัดส่วนระหว่างตัวเด็กกับเชิงกรานของแม่ เช่น แม่ตัวเล็ก เชิงกรานแคบ ลูกตัวโต สิ่งเหล่านี้สามารถประเมินได้ บางรายอาจจะเห็นชัดเลย การทำอัลตร้าซาวด์ก็ช่วยคำนวณน้ำหนักได้ แต่ในกรณีที่ก้ำกึ่ง เราอาจจะวางแผนให้คลอดปกติดูก่อนก็ได้ แล้วดูความก้าวหน้าของการคลอด ถ้าสักระยะหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ ก็แปลว่าคงมีการผิดสัดส่วน จึงผ่าท้องคลอดในกรณีที่มีความจำเป็นเช่นนั้น

ระหว่างที่ให้ลองคลอดรอดูอาการ เราก็จะฟังและบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจลูกตลอดเวลา เพราะจะเป็นข้อบ่งชี้ข้อที่สองในการผ่าคลอด ซึ่งก็คือ ภาวะเด็กขาดออกซิเจน ถ้าเป็นแบบนี้ต้องรีบผ่าโดยทันที

ข้อบ่งชี้ที่สามคือ เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น เด็กอยู่ในท่าก้นหรือท่าขวาง ซึ่งข้อนี้เรามักทราบก่อนที่จะเกิดการเจ็บท้องคลอดแล้ว หมอก็มักแนะนำให้ผ่าท้องคลอดเลย

อย่างไรก็ตาม ในภาวะปกติที่ไม่มีข้อบ่งชี้ การผ่าท้องคลอดถือว่ามีอันตรายทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อทั้งแม่และลูกสูงกว่าการคลอดปกติผ่านช่องคลอด

อันตรายของการผ่าท้องคลอด

เมื่อประมาณ 7 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้ทำวิจัยกับองค์การอนามัยโลก รวบรวมผลของการคลอดในประเทศเอเชียจำนวน 9 ประเทศ เปรียบเทียบการคลอดโดยการผ่าท้องคลอดกับการคลอดปกติ เราพบข้อมูลยืนยันว่า การผ่าท้องคลอดทำให้แม่และลูกเกิดอันตรายมากขึ้นประมาณ 2-3 เท่า ทั้งการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต เพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากขึ้น

สำหรับแม่ มีโอกาสเสียเลือดและมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น ยาระงับความรู้สึกอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ และหลังคลอดก็มีโอกาสฟื้นตัวช้ากว่า

นอกจากนี้ หลังผ่าท้องคลอด ในช่องท้องจะมีพังผืดมาจับลำไส้ จับที่แผลผ่าตัด ผลที่ตามมาคือ หนึ่ง ถ้าต้องผ่าตัดครั้งต่อไปจะทำได้ยากขึ้น มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน สอง แผลเป็นที่ตัวมดลูกจะเป็นจุดอ่อนเมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป รกจะไปเกาะอยู่ตรงนั้น กินทะลุมดลูก ทำให้แตกได้ เรียกว่าภาวะรกฝังตัวลึก เมื่อ 5-6 เดือนก่อน ผมเจอรายหนึ่งที่มดลูกแตกจากภาวะนี้ ยิ่งผ่ามากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดภาวะนี้ก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงตายได้เลย เพราะเสียเลือดเป็นหมื่นซีซี มีอันตรายต่ออวัยวะข้างเคียง กระเพาะปัสสาวะทะลุได้ ในระยะยาวพังผืดอาจไปรัดลำไส้ ทำให้ลำไส้ตีบตัน เคลื่อนตัวไม่ได้ อุจจาระผ่านไม่ได้ เศษอาหารถูกดูดซึมไม่ได้ เกิดการอุดตันขึ้นมา

“ในช่องคลอดแม่มีแบคทีเรียที่ดีอยู่ คอยควบคุมไม่ให้แบคทีเรียไม่ดีเข้ามาแทรกแซง เด็กที่คลอดผ่านช่องคลอดจะได้สัมผัสกับแบคทีเรียนี้ เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน มีงานศึกษาพบว่าเด็กที่คลอดตามปกติมีโอกาสเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดถึง 3 เท่า”

ในส่วนผลกระทบต่อลูก ก็มีอยู่หลายข้อด้วยกัน

หนึ่ง การคลอดตามปกติที่เด็กผ่านช่องคลอดออกมา ปอดของเด็กจะถูกรีด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Squeeze ผ่านช่องคลอดของแม่ ทำให้มูก เสมหะ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในลำคอเด็กถูกขับออกมา เลยมีโอกาสที่จะหายใจเป็นปกติได้ดีกว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดซึ่งไม่ผ่านกระบวนการนี้ ดังนั้นเด็กที่ผ่าท้องคลอดจะมีโอกาสต้องช่วยหายใจ และมีโอกาสขาดออกซิเจนได้มากกว่า

สอง ช่วงหลังมานี้มีอีกทฤษฎีที่มีข้อมูลรองรับมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในช่องคลอดแม่มีแบคทีเรียที่ดีอยู่ คอยควบคุมไม่ให้แบคทีเรียไม่ดีเข้ามาแทรกแซง เด็กที่คลอดผ่านช่องคลอดจะได้สัมผัสกับแบคทีเรียนี้ เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน มีงานศึกษาพบว่าเด็กที่คลอดตามปกติมีโอกาสเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดถึง 3 เท่า

สาม ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนเต็ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูก ทำให้โอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตและติดเชื้อน้อยลง เกิดความใกล้ชิดผูกพันระหว่างแม่กับลูก ถ้าคลอดแบบปกติ หลังคลอดเรานำลูกมาให้แม่อุ้มได้ทันทีตั้งแต่นาทีแรก ความผูกพันก็เกิด แล้วให้ดูดนมได้เลย

จุดครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดมีความสำคัญมาก ต้องรีบให้ลูกได้ดูดนมแม่ การให้ลูกดูดนมจะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมน โปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งจะทำให้น้ำนมหลั่งออกมามากขึ้น ยิ่งดูดช้าฮอร์โมนก็หลั่งช้า แม่ที่คลอดลูกแบบปกติจึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า เพราะในการผ่าท้องคลอด แม่ต้องดมยาสลบ อาจไม่สามารถอุ้มและให้นมลูกได้ทันที

 

“อัตราผ่าท้องคลอดในประเทศไทยสูงเกิน 30% นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก  เดี๋ยวนี้มีการผ่าท้องคลอดกันมาก ถึงขนาดมีคลินิกเฉพาะสำหรับฝากท้องคลอดแบบผ่าคลอดเลยอย่างเดียว บางโรงพยาบาลในไทยตอนนี้อัตราการผ่าท้องคลอดสูงถึง 60-70%” 

ทิศทางการผ่าท้องคลอดทั่วโลก

ภาพรวมการผ่าท้องคลอดขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาประเทศด้วย ประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีก็จะมีอัตราการผ่าท้องคลอดสูง เพราะมีทรัพยากรทางการแพทย์ที่ดี ทั้งหมอ ยา อุปกรณ์ และบุคลากรต่างๆ ฉะนั้น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งเอเชีย จะมีอัตราการผ่าท้องคลอดมากกว่าในแถบแอฟริกา

ตอนนี้อัตราการผ่าท้องคลอดเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 15-20%  ถ้าดูจากแผนที่แสดงอัตราการผ่าท้องคลอดของโลกปี 2016 จะเห็นว่า พวกที่มีอัตราสูงๆ ก็จะมีอเมริกาเหนือ เอเชีย อเมริกาใต้นี่หนักกว่าเพื่อน ส่วนแอฟริกาจะน้อยที่สุด บราซิลเป็นแชมป์ มีอัตราการผ่าท้องคลอดประมาณ 70-80

 

ที่มา : Betrán et al: The increasing trend in Caesarean section rates. PLoS ONE 2016

 

แต่จากภาพ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่ง เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อังกฤษ มาเลเซีย และที่น่าสนใจมากคือ ญี่ปุ่น มีอัตราการผ่าท้องคลอดไม่สูง ในกลุ่มสแกนดิเนเวียและญี่ปุ่นมีอัตราไม่ถึง 20% แต่ความปลอดภัยของแม่และลูกก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นที่มีอัตราการผ่าคลอดสูงเลย

เมื่อปี 1985 องค์การอนามัยโลกได้ออก WHO Statement บอกว่าอัตราการผ่าท้องคลอดไม่ควรเกิน 15% โดยอัตรานี้คิดมาจากความจำเป็นในการผ่าท้องคลอดเพื่อช่วยชีวิตแม่และลูก การผ่าท้องคลอดในอัตราเกิน 15% ไม่ได้ช่วยให้แม่และลูกมีชีวิตรอดมากขึ้น

ผ่านมา 30 ปีเต็ม จนถึงปี 2015 องค์การอนามัยโลกเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาประชุมกันอีกครั้ง รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหลายพบว่า อัตราการผ่าท้องคลอดที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 10% น้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อมาดูสภาพที่เป็นอยู่ เราจึงมีการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็นจำนวนมาก

“โดยทั่วไปหมอได้เงินมากกว่าเวลาผ่าท้องคลอด เพราะถือว่าเป็นหัตถการที่ทำยากกว่าคลอดปกติ ในมุมของผู้ให้บริการ รายได้ที่มากกว่าก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้หมออยากผ่าคลอด โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน”

ทิศทางการผ่าท้องคลอดในประเทศไทย

ประเทศไทยก็เลียนแบบประเทศตะวันตก เราผ่าท้องคลอดกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ 5% เมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน จนปัจจุบัน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า อัตราผ่าท้องคลอดในประเทศไทยสูงเกิน 30% นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก

เดี๋ยวนี้มีการผ่าท้องคลอดกันมาก ถึงขนาดมีคลินิกเฉพาะสำหรับฝากท้องคลอดแบบผ่าคลอดเลยอย่างเดียว บางโรงพยาบาลในไทยตอนนี้อัตราการผ่าท้องคลอดสูงถึง 60-70%

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย

หนึ่ง “ความไม่รู้” นี่เป็นสาเหตุที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ประชาชนทั่วไปรวมทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุขบางส่วนด้วยซ้ำคิดว่าการผ่าท้องคลอดปลอดภัย ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น สังคมไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้  และไม่ทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และเด็กในระยะยาว

สอง “ความสะดวก” ผ่าท้องคลอดสะดวกกว่า นัดวันนัดเวลาได้ เอาตามฤกษ์ก็ได้ด้วย สะดวกทั้งหมอทั้งคนไข้ ถ้าคลอดตามปกติรอให้เจ็บท้องคลอดเองก็ไม่รู้จะเจ็บเมื่อไหร่ ผ่าท้องคลอดไม่ต้องมารอให้เจ็บท้อง สภาพสังคมหลายอย่างตอนนี้ก็ยิ่งผลักดันให้เลือกเอาตามสะดวก อย่างในกรุงเทพฯ บางทีหมอรถติด ถ้ารอเจ็บท้องคลอดเอง หมออาจจะมาทำคลอดไม่ทัน การผ่าท้องคลอดช่วยให้ทั้งหมอและแม่บริหารจัดการเวลาได้แน่นอนขึ้น

รู้ไหมว่าในปัจจุบันเด็กเกิดวันอะไรมากที่สุด

คำตอบคือวันศุกร์ … เพื่อให้จัดการเวลาได้ ส่วนใหญ่หมอจะให้ผ่ากันวันศุกร์เลย จะได้ไม่ต้องติดเสาร์-อาทิตย์

สาม “กลัวเจ็บ” เจ็บท้องคลอดแบบปกติ มันเจ็บจริงๆ แต่อย่าลืมว่าผ่าตัดก็เจ็บเหมือนกัน ปวดแผล จริงๆ อาจปวดมากกว่าด้วยซ้ำไป

สี่ “แรงจูงใจด้านรายได้และการจัดการของโรงพยาบาล” โดยทั่วไปหมอได้เงินมากกว่าเวลาผ่าท้องคลอด เพราะถือว่าเป็นหัตถการที่ทำยากกว่าคลอดปกติ ในมุมของผู้ให้บริการ รายได้ที่มากกว่าก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้หมออยากผ่าคลอด โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน มิหนำซ้ำยังควบคุมจัดการเวลาได้ดีกว่าด้วย แต่ตอนนี้ก็มีบางโรงพยาบาลที่เริ่มเห็นความสำคัญของการคลอดตามธรรมชาติแล้ว ก็จะให้ค่าหมอไม่ต่างกัน

ห้า “สิทธิการรักษาพยาบาลและการประกันสุขภาพ” ประเด็นนี้ก็ส่งผลสำคัญ ในบางประเทศสิทธิประโยชน์ของการประกันสังคมจะไม่รวมการผ่าท้องคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ แต่ของไทยยังรวมหมดเลย ไม่ได้แยก ทั้งในระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนในกรณีของการเบิกค่ารักษาพยาบาลของระบบราชการ ยิ่งเห็นได้ชัด แต่เดิมข้าราชการที่คลอดโรงพยาบาลเอกชนสามารถเบิกค่ารักษาจากการผ่าท้องคลอดได้ส่วนหนึ่ง กลายเป็นว่าข้าราชการไปผ่าท้องคลอดกันตั้ง 80% เมื่อกรมบัญชีกลางมาตรวจสอบ เลยเปลี่ยนใหม่ให้เบิกได้เฉพาะกรณีที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น

 

“เราสูญเสียทรัพยากรเพิ่มแต่กลับได้ผลลัพธ์ที่แย่ลงกว่าเดิม”

ความสูญเสียจากการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็น

ในปัจจุบัน เรามีการผ่าท้องคลอดแบบเกินความจำเป็นไปมาก ซึ่งส่งผลเสียทั้งในแง่การรักษาพยาบาลคนไข้และผลกระทบต่อแม่และลูก รวมทั้งการสูญเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เราสูญเสียทรัพยากรเพิ่มแต่กลับได้ผลลัพธ์ที่แย่ลงกว่าเดิม

ลองคิดง่ายๆ ว่าค่าผ่าท้องคลอดโดยเฉลี่ยของโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ในขณะที่การคลอดผ่านช่องคลอดตามธรรมชาติมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท ต่างกันถึงสามเท่า อาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน ตอนนี้ประเทศไทยมีการคลอดปีละประมาณ 700,000 ราย อัตราการผ่าท้องคลอดอยู่ที่ประมาณ 30% นั่นคือ มีการผ่าท้องคลอดประมาณ 210,000 ราย คำนวณคร่าวๆ ปีหนึ่งก็ประมาณ 6-7 พันล้านบาท ถ้าลดลงมาคลอดธรรมชาติตามที่ควรจะเป็น ก็จะประหยัดทรัพยากรได้มหาศาล

นอกจากนี้ การผ่าท้องคลอดทำให้ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน ใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลมากขึ้น เพราะแม่จะฟื้นตัวช้ากว่า อย่างน้อยที่สุดก็ 3 วัน ขณะที่การคลอดทางช่องคลอดใช้เวลาประมาณ 2 วันก็กลับบ้านได้แล้ว บางทีวันเดียวด้วยซ้ำไป

ผมเคยไปโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง โรงพยาบาลนั้นผ่าท้องคลอดประมาณ 60% ผลปรากฏว่าคนไข้ผ่าท้องคลอดต้องการบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอและพยาบาล ไปดูแลเพิ่มขึ้นกว่าปกติ แต่บุคลากรของโรงพยาบาลมีจำนวนเท่าเดิม ทางฝั่งคนที่คลอดปกติตามธรรมชาติกลับเสียเปรียบ เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์ไปดูแลน้อยลง

คนอาจจะแย้งว่าก็ฉันมีเงิน จ่ายได้ สะดวก เป็นสิทธิของฉัน ผมอยากให้มองในภาพรวมด้วยว่า มันเกี่ยวโยงกับการใช้ทรัพยากรของประเทศไปโดยไม่จำเป็น อีกประเด็นหนึ่ง บางครอบครัวอาจมีเงินจ่ายก็จริง แต่ถ้ารู้ความจริงว่าที่จ่ายแพงกว่านั้นมีผลเสียมากกว่าผลดี เขายังเลือกที่จะจ่ายอยู่ไหม ผมยังคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่คนยังเลือกผ่าท้องคลอด เพราะไม่ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน

 

การกำกับควบคุมเพื่อลดจำนวนการผ่าท้องคลอดที่ไม่จำเป็น

องค์การอนามัยโลกเป็นผู้กำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับอัตราการผ่าท้องคลอดที่เหมาะสมก็จริง แต่ไม่มีอำนาจบังคับใคร

ในบางประเทศที่รัฐให้ความสำคัญก็จะมีการกำหนดมาตรการควบคุมทางอ้อม เช่น โปรตุเกสบอกว่าโรงพยาบาลไหนผ่าท้องคลอดเกิน 25% ปี จะถูกตัดงบประมาณในปีต่อมา ถ้ายังไม่ลดลงอีกจะถูกปิด นี่เป็นมาตรการที่จริงจังมาก มาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐในประเทศอื่นเข้ามาใช้ควบคุมก็อย่างเช่น การปรับค่าตอบแทนหมอในกรณีการคลอดแบบปกติกับการผ่าท้องคลอดให้เป็นอัตราเดียวกัน หมอจะได้ไม่มีแรงจูงใจในการเลือกผ่าท้องคลอด เพราะจริงๆ หมอส่วนใหญ่ก็ทราบกันดีว่าผ่าท้องคลอดเสี่ยงกว่า

ในระดับโรงพยาบาลควรมีการสร้างกลไกต่างๆ ที่อาจช่วยลดการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็นได้

หนึ่ง “group practice” คนไทยจะคุ้นเคยกับการฝากท้องกับคุณหมอส่วนตัว แต่คุณหมอไม่ได้ว่างอยู่ตลอดเวลา บางทีเลยตัดสินใจผ่าดีกว่า เพราะเกรงว่าเดี๋ยวตัวเองติดธุระไม่สามารถดูแลได้ แต่ในต่างประเทศจะมีการรวมกลุ่มหมอสัก 5 คน ทำงานเป็นกลุ่มเดียวกัน ดูแลคนไข้ร่วมกัน ไม่เฉพาะแต่การคลอดเท่านั้น หมอแต่ละคนก็ดูแลคนไข้ของตัวเอง แต่เมื่อติดธุระ ไปเที่ยว ไปประชุมต่างประเทศ ก็จะมีหมอในกลุ่มมาช่วยดูแลแทน ทั้งหมอและคนไข้ก็ไม่ต้องกังวล

สอง “second opinion” ถ้าหมอตัดสินใจผ่าท้องคลอดให้คนไข้จะไม่สามารถลงมือทำได้เลย ต้องให้หมอสูติฯ อีกคนหนึ่งมาทบทวนดูก่อนว่ามีข้อบ่งชี้จริงหรือไม่ แนวทางนี้อาร์เจนตินานำไปใช้

สาม “guideline” ที่อังกฤษมีการทำคู่มือปฏิบัติ เรียกว่า NICE Guideline

NICE เป็นองค์กรกำกับดูแลการรักษาพยาบาลของอังกฤษ เขาทำหลักปฏิบัติให้ใช้กันทุกโรงพยาบาล ถ้าหากหมอไม่ทำตามแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น หมอผิด คนไข้ฟ้องได้ ตัวอย่างเช่น หลักการปรึกษาหารือ (Involve consultant) ที่ต้องมีคนมารับรองก่อนว่ามีข้อบ่งชี้จริง และมีขั้นตอนชัดเจน เช่น กรณีเด็กท่าก้น ก่อนผ่าคลอดก็ให้ทำ External Cephalic Version หมายถึงการกลับเด็กที่หน้าท้อง ซึ่งเป็นวิธีการที่ประสบความสำเร็จประมาณ 70% สามารถเปลี่ยนท่าก้นเป็นท่าหัว ทำให้คลอดปกติได้ หรืออย่างกรณีตั้งครรภ์ 41 สัปดาห์แล้วยังไม่คลอด ก็ให้ชักนำการคลอด วิธีการต่างๆ เหล่านี้มีการพิสูจน์และวิจัยแล้วว่าช่วยลดการผ่าท้องคลอดลงได้

สี่ “companionship” เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็นก็คือ ความกังวล เวลาที่แม่เข้าไปอยู่ในห้องคลอด บรรยากาศต่างๆ ดูน่ากลัวไปหมด ลองคิดดูคนท้องแรกอยู่บ้านตลอด อยู่ๆ ต้องเข้าไปในห้องคลอด ไม่มีใครจะมารับฟังอะไรเลย แม่ก็รู้สึกกังวลใจ เจ็บก็เจ็บมาก เลยมีวิธีการที่เรียกว่า continuous companion of choice คือการให้สามี แม่ หรือเพื่อน เข้าไปในห้องคลอดด้วย ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่าจะช่วยลดการผ่าท้องคลอดลงได้ องค์การอนามัยโลกก็สนับสนุนวิธีการนี้

ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องกลัวเจ็บ ในประเทศจีน ซึ่งอัตราการผ่าท้องคลอดสูงที่สุดในเอเชีย ก็มีการออกนโยบายมาให้บล็อกหลังระงับความเจ็บปวดได้ เพื่อช่วยให้คนไข้ไม่กลัวความเจ็บปวด ลดความกังวลในการคลอดแบบปกติลงได้

 

“การผ่าท้องคลอดเป็นสิ่งที่ดี อาจจะมีความจำเป็นในบางกรณี แต่ในกรณีที่ผ่าโดยไม่มีข้อบ่งชี้จะมีผลเสียมากกว่าผลดี ขอให้คิดให้ดีๆ ก่อนที่จะเลือกผ่าท้องคลอด”

ทางออกของประเทศไทย

มาตรการหลายอย่างอาจทำได้ยากในประเทศไทย เช่นเรื่อง group practice หรือ second opinion แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากเรื่องแรกคือ ต้องให้ความรู้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปถึงข้อดีข้อเสียของการผ่าท้องคลอด ข้อดีมีอยู่ มีประโยชน์มากเพราะช่วยชีวิตแม่และลูกได้ในกรณีที่จำเป็น แต่ควรทำเฉพาะรายที่จำเป็นและมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

นอกจากนั้น การดูแลจิตใจระหว่างตั้งครรภ์และในกระบวนการคลอด กับการลดการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็นลง เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันอยู่ เรื่อง companionship และการเตรียมตัวแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าจะสามารถลดการผ่าท้องคลอดลงได้มาก

สำหรับประเทศไทย ตอนนี้เรามีโครงการ “โรงเรียนพ่อแม่” เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข สามารถเข้าร่วมได้สองครั้ง ครั้งแรกตอนฝากครรภ์ เพื่อเป็นการเตรียมตัว เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ว่าต้องทำอะไรบ้าง และครั้งที่สอง เป็นการเตรียมตัวก่อนการคลอด แนะนำว่าการเข้าห้องคลอดจะเป็นอย่างไร จะเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งจะมีการเชิญสามีหรือญาติเข้ามาด้วย ให้รู้ว่าถ้าเขาเข้าไปจะช่วยอะไรได้บ้าง

นอกจากนั้น ยังมีโครงการของคุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เรียกว่า “โครงการจิตประภัสสร” ช่วยเตรียมจิตใจของแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ให้ดีขึ้น เตรียมตัวแม่ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ รวมทั้งทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น

โครงการทำนองนี้ยังต้องขยายไปอีกมาก เพราะยังจำกัดอยู่กับแค่คนบางกลุ่ม และในทางปฏิบัติผมไม่แน่ใจว่าจะมีการลงมือทำกันจริงมากน้อยแค่ไหน

ส่วนการแก้ปัญหาในเชิงระบบ อาจต้องมีวิธีการต่างๆ เช่น การอนุญาตให้ญาติเข้าไปในห้องคลอดด้วย การกำกับด้านการเงินโดยการลดงบประมาณของโรงพยาบาลที่มีอัตราการผ่าท้องคลอดสูง

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถลดอัตราการผ่าท้องคลอดลงได้ทันทีทันใดจนเหลือ 10% ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แต่น่าจะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยังต้องทำงานกันอีกมาก

สำหรับพ่อแม่มือใหม่ ผมอยากให้มองว่า กระบวนการคลอดไม่ใช่แค่เรื่องการเกิด แต่เป็นเรื่องของชีวิต เกี่ยวข้องกับสุขภาพของทั้งแม่และลูก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกที่คุณรักในอนาคตด้วย การผ่าท้องคลอดเป็นสิ่งที่ดี อาจจะมีความจำเป็นในบางกรณี แต่ในกรณีที่ผ่าโดยไม่มีข้อบ่งชี้จะมีผลเสียมากกว่าผลดี ขอให้คิดให้ดีๆ ก่อนที่จะเลือกผ่าท้องคลอด


.............
แถม ..

รศ.นพ.นพดล สโรบล สวนกระแส ‘ผ่าคลอด’ ‘1 วันในครรภ์แม่ แลกกับ 1 ชีวิตลูก’
วันที่ 18 มิถุนายน 2560
https://www.matichon.co.th/news/584392

คุณแม่ผ่าคลอด ไม่ได้ชิล อย่างที่คิด
วันที่ 27 กรกฎาคม 2560
https://www.matichon.co.th/news/612203

 

**********************************************************

 

ราชวิทยาลัยสูติฯ ระบุผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอด

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ประกาศจุดยืน เรื่องการผ่าตัดคลอด ระบุการผาตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และประชาชนควรทราบว่าการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอดหลายอย่าง และมีความรุนแรงหลายระดับทั้งต่อมารดาและทารก มากกว่าการคลอดทางช่องคลอด

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2562 พลอากาศโท นพ.การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย คนที่ 18 ได้ลงนามในประกาศจุดยืน เรื่อง การผ่าตัดคลอด (Position Statement for Cesarean Section) รายละเอียดดังนี้

ในปัจจุบันนี้ การผ่าตัดคลอดมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและนานาประเทศ การศึกษาและการประมวลผลจาก World Health Organization (WHO) พบว่า การผ่าคลอดนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้สูงกว่าการคลอดทางช่องคลอด และยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น รวมทั้งเกิดความสิ้นเปลืองของทรัพยากรอื่นๆ โดยไม่เกิดประโยชน์

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อกำหนดถึงอัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมที่เป็นมาตรฐานยอมรับกันทั่วโลก เพราะอัตราดังกล่าวขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ การศึกษาในประเทศไทยพบว่า อัตราการผ่าตัดคลอดในสถานพยาบาลของรัฐในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่สูง คือ ประมาณร้อยละ 30-50 และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การประเมินอัตราการผ่าตัดคลอดนั้น WHO แนะนำให้สถานพยาบาลใช้การเก็บข้อมูลแบบ Robson Classification ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ในการประเมิน ติดตาม เปรียบเทียบข้อมูลทั้งภายในและระหว่างสถานพยาบาล และองค์กรต่างๆ รวมทั้งใช้ในการวางแผนการพัฒนา และประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการกำกับดูแลด้านวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ขอประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

1.การผ่าตัดคลอด ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือเมื่อมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้

2.ประชาชนควรทราบว่าการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอดหลายอย่าง และมีความรุนแรงหลายระดับทั้งต่อมารดาและทารก มากกว่าการคลอดทางช่องคลอด

3.การผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

4.ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสม เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์ จนเข้าใจดีและยินยอมรับการผ่าตัด

5.สตรีตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดคลอดตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ควรสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการผ่าตัดคลอดได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา

6.อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน เพราะแปรผันตามบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ

7.สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

ประกาศ ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2562

พลอากาศโทนายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย คนที่ 18

https://www.hfocus.org/content/2019/08/17586




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2560   
Last Update : 24 สิงหาคม 2562 14:30:17 น.   
Counter : 948 Pageviews.  

วัคซีนโรคไข้เลือดออก .. นำมา เล่าสู่กันฟัง ..




วัคซีนโรคไข้เลือดออก ..  นำมา เล่าสู่กันฟัง ..
อ้างอิงที่มา ..

https://www.facebook.com/dengue.infection/posts/1805715776378649
https://www.facebook.com/dengue.infection/posts/1806516202965273

https://www.samitivejhospitals.com/th/faq-ไข้เลือดออก/

https://www.facebook.com/Infectious1234/posts/257159648048069

https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/1750941288555230:0
.......................

เรื่องน่ารู้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

16 ธันวาคม 2559 ศ.คลินิก เกียรติคุณเสน่ห์ เจียสกุล

https://www.samitivejhospitals.com/th/faq-ไข้เลือดออก/

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกใช้แล้วหรือยัง?

ตอบปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้เป็นวัคซีน CYD-TDV หรือ DENGVAXIA (ยังมีวัคซีนอีกหลายขนิดที่อยู่ระหว่างการทดลองศึกษาวิจัย)

CYD-TDV หรือ Dengvaxia คืออะไร?

ตอบเป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดแรกที่ได้รับการรับรองโดยได้การรับรองครั้งแรกที่ประเทศเมกซิโกในเดือนธันวาคมปีที่แล้วให้ใช้ในกลุ่มคนที่มีอายุ 9-45 ปีในเขตที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ใน 13 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย

วัคซีนไข้เลือดออก Tetravalentdengue vaccine (CYD-TDV) หรือ Chimeric yellow fever-denguevirus (CYD) -Tetravalent dengue vaccine (TDV) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดมีชีวิตที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ recombinant, live-attenuated ของบริษัท Sanofi Pasteurครอบคลุม 4 สายพันธุ์ฉีดวัคซีน 3 ครั้ง ครั้งละ 0.5 มล. 0-6-12เดือน (ทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะ 6 เดือน) ค่าใช้จ่าย 3,620 บาทต่อครั้ง (รวมทั้งหมด 10,860 บาท)

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกฉีดได้ทุกคนหรือไม่?

จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)ชี้แจงว่า ผู้ที่เหมาะสมเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก คือผู้มีอายุระหว่าง 9-45 ปี ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคยังไม่ได้แนะนำว่าควรที่จะฉีดวัคซีนนี้ทุกคน

แต่จากคำแนะนำนี้ก็เท่ากับว่าคนไทยเราในช่วงอายุดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เหมาะสมที่จะเข้ารับวัคซีนชนิดนี้เพราะไทยเราเป็นโซนที่มีโรคไข้เลือดออกระบาด

ข้อห้ามใช้ที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนมีดังนี้

• ผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรงในส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งในวัคซีนหรือมีการแพ้ในวัคซีนนี้ที่ได้รับครั้งแรกหรือแพ้วัคซีนชนิดอื่นที่มีส่วนประกอบเหมือนกัน

• มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลังเช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อ HIV (เอดส์)หรือได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ยาสเตียรอยด์ในขนาดสูง หรือเคมีบำบัด)

• ผู้ที่ มีไข้ระดับกลางจนถึงไข้สูงหรือกำลังเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดีแล้ว

• สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร ( เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นชนิดตัวเป็น(live-attenuatedvaccine)เหมือนวัคซีนทั่วไปจึงห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และขอแนะนำว่าสตรีที่ได้รับวัคซีนควรเว้นระยะก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน )

ประสิทธิภาพของวัคซีน ?

ตอบ

1. สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ 93.2 %

2. ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 80.8 %

3.ความสามารถในการป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์อยู่ที่ 65.6 %คือประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในแต่ละสายพันธุ์นั้นจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งสายพันธุ์ที่4 จะตอบสนองกับวัคซีนตัวนี้ได้ดีที่สุด ส่วนสายพันธุ์ที่ 2จะตอบสนองกับวัคซีนนี้ได้น้อยที่สุด (Den1:50.2%|Den2-39.6% |Den3;74.9%|Den3-76.6%) แต่สายพันธุ์ที่ 2 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดของประเทศไทย

4. ป้องกันการแทรกซ้อนของโรคต่างๆ 73 %

5.สามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ในระยะเวลา 5-6 ปีส่วนหลังจากนั้นจะต้องมีการฉีดกระตุ้นหรือไม่อย่างไร อยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษา

หากผู้ป่วยเคยได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมาก่อนไม่ว่าจะมีแค่อาการไข้อ่อนๆหรือป่วยหนัก ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนได้อีกหรือไม่ ?

ตอบประสิทธิภาพของวัคซีนที่ฉีดให้กับผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมาก่อนจะสูงกว่าและสามารถช่วยป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีสายพันธุ์อื่นๆได้ด้วย(ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อนจะตอบสนองกับวัคซีนตัวนี้ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยเป็นหรือไม่เคยได้รับเชื้อไข้เลือดออก)

มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจโรคเบาหวาน สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ?

ตอบ ฉีดได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ความปลอดภัยของวัคซีนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ตอบ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังการฉีดวัคซีนคล้ายวัคซีนชนิดอื่นเช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว มีไข้ต่ำๆ ผิวหนังแดง ห้อเลือด บวม และคัน โดยอาการที่พบทั้งหมดจะเป็นชนิดไม่ร้ายแรง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 3วันหลังจากฉีดวัคซีน

เมื่อได้รับวัคซีนไปแล้วบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะและมีไข้ได้กลุ่มนี้อาจพบได้ 1 ใน 10

บางคนอาจมีอาการมีเวียนหัว ไอ เจ็บคอมีผื่นคัน กลุ่มนี้ก็พบได้น้อยลงไปอีก อยู่ที่ 1 ใน 100

ส่วนถ้ารุนแรงกว่านั้น คือมีผลต่อระบบประสาทนี่เรียกว่าน้อยมาก ๆ มากกว่าอัตรา 1 ใน 10,000

ภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อใด

ตอบภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นเต็มที่เมื่อฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม

ฉีดแล้วจะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ตลอดชีวิตหรือไม่

ตอบ จนถึงขณะนี้หลังฉีดครบ 3 เข็มตามหลักวิชาภูมิคุ้มกันน่าจะยังคงอยู่ได้นานต้องมีการติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถคุ้มกันได้ตลอดชีวิตหรือไม่

การฉีดเข็มที่ 2หรือ 3หากไม่ได้ฉีดตรงตามวันที่กำหนด สามารถฉีดได้หรือไม่ หรือต้องเริ่มนับเป็นเข็มที่ 1ใหม่

ตอบ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สามารถบวกลบได้ 20วัน

สามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนตัวอื่นในวันเดียวกันได้หรือไม่?

ตอบ ยังไม่มีการศึกษาเพื่อความปลอดภัยควรมีระยะห่างจากวัคซีนชนิดอื่น ประมาณ 4 สัปดาห์

ก่อน และ หลังได้รับวัคซีนควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?

ตอบ ก่อนได้รับวัคซีนต้องไม่มีไข้และหลังการฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองด้วยเชื้อโรคที่อ่อนแรงหรือ บางส่วนของเชื้อโรคมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้เพราะฉะนั้นเมื่อรับวัคซีนแล้วอาจมีอาการข้างเคียงบางอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการไม่มากและจะหายไปเอง

......................................

อย่าง ไรก็ตามในขณะที่ วัคซีน มีประสิทธิภาพปานกลาง (56.5%, 60.8%) และที่สำคัญคือประสิทธิภาพต่อเชื้อ Dengue virus type 2 (พบบ่อยในประเทศไทย มีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่า)มีเพียง 35.0% และ 42.3%

วัคซีน จึงไม่น่าใช่คำตอบเดียวในการควบคุมโรคไข้เลือดออกเพื่อลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรค เราน่าจะหาวิธีการใหม่หลายๆอย่างร่วมด้วย เช่น ยาปรับปรุงวิธีการดูแลรักษาในรายที่ติดเชื้อไข้เลือดออก ยาฆ่าแมลงและการควบคุมยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคแบบใหม่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ก่อนปี 2020 นั่นก็คือต้องอาศัยองค์ประกอบ3 อย่างในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกให้ได้ผลดีคือ

1.ปรับปรุงการควบคุมยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค(Improved vector control)

2.ปรับปรุงวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก(Improved case management)

3.พัฒนาให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิผล (Effectivevaccine developement)

https://www.nstda.or.th/nac2014/download/presentation/CC-306-01-PM/Presentation-Jarung.pdf

https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(14)61060-6/fulltext

https://www.nejm.org/doi/pdf/10.1056/NEJMoa1411037


....................................................

วัคซีนไข้เลือดออก ข้อสรุป ข้อเท็จจริง

อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/1750941288555230:0

แอดมินสนใจเองวัคซีนไข้เลือดออกมานานแล้วครับ เมื่อวานได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัววัคซีนไข้เลือดออกของประเทศไทย ได้ไปฟังกลุ่มปูชนียบุคคลผู้ที่พัฒนาวัคซีนตัวจริงและผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการติดเชื้อไข้เลือดออกและต่อสู้กับไข้เลือดออกมาตลอดชั่วชีวิตของท่าน จึงอยากมาเล่าให้แฟนเพจทั้งหลายฟัง เรื่องยาวหน่อย อ่านไปหาอะไรมากินไป เดี๋ยวก็จบ

ผมขอชื่นชมบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่จัดงานและผู้บรรยาย ที่เนื้อหาไม่ได้..”ขายของ”..แต่อย่างใด ผมเองไปร่วมฟัง เตรียมข้อมูลไปเต็มที่ อยากไปฟังผู้คิดค้นวัคซีนบรรยายเต็มที่ ก็สมใจครับ แทบไม่มีการค้าเจือปน จริงอยู่แม้จะมีบริษัทข้ามชาติเป็นผู้ผลิต แต่ผมจะเอาแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้นมาบอกเล่าให้ฟัง
ถามว่าทำไมต้องมีการสร้างวัคซีนไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออกสร้างภาระมากมายในโลกนี้นะครับ กว่าครึ่งโลกที่เสี่ยงและกว่า 20%ที่ป่วย การควบคุมไข้เลือดออกขององค์การอนามัยโลกเองก็ทำได้ไม่ดีนัก การสร้างเครื่องมือในการตรวจและวินิจฉัยเราทำได้ดีพอควร แต่การป้องกันยังไม่ดีนัก วัคซีนจึงเป็นประเด็นสำคัญ แล้วใครล่ะที่เป็นต้นคิดการใช้วัคซีนเพื่อปกป้องคนบนโลกนี้ คนนั้นคือ ท่านศาสตราจารย์ ณัฐ ภมรประวัติ คือคนไทยเรานี่เองครับ เมื่อห้าสิบปีก่อน ท่านได้ลงทุนลงแรงและถ่ายทอดเจตนาจากรุ่นสู่รุ่น จนห้าสิบปีหลังจากความตั้งใจนั้น วัคซีนจึงได้ถือกำเนิดขึ้น แม้อาจารย์ณัฐจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เจตนารมณ์ได้บรรลุความจริงแล้วครับ

วัคซีนไข้เลือดออก พัฒนามากจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมของไวรัสไข้เหลืองมาเข้ากับไข้เลือดออกทั้งสี่สายพันธุ์ จึงไม่มีความสามารถในการก่อโรคแต่จะมีความสามารถในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ต้องใช้ทั้งสี่สายก็เพราะปัจจุบันมีการระบาดหมดเท่าๆกัน

การศึกษาทำในประเทศในอเมริกาใต้และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะที่นี่คือแหล่งปัญหาของไข้เลือดออกในโลกนี้ ที่อื่นพบเล็กน้อยเท่านั้น ประเทศไทยเองก็เป็นจุดศึกษาที่สำคัญมากๆ (ใครสนใจอ่านหาเพิ่มได้ CYD-TDV 14 ในเอเชีย,CYD-TDV 15 ในอเมริกาใต้, CYD 23 ในประเทศไทย) จากการศึกษานี้ที่เราพบสำคัญคือกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกเริ่มขยับขึ้นจากเด็กมาสู่ผู้ใหญ่มากขึ้น การศึกษาวัคซีนได้ทำทั้ง ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในภูมิภาคต่างๆ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ในระยะต่างๆของการทดลอง ปัจจุบันยังไม่การศึกษาที่ทำในคนมากมายขนาดเกือบ 40,000 คนแบบนี้อีกเลย จึงเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
การศึกษาทำในเด็กอายุ 2-14 ปีในเอเชีย และ 9-16 ปีในอเมริกาใต้ (ทางอเมริกาใต้พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก) โดยให้วัคซีนเทียบกับยาหลอก และวัดผลสามเรื่อง คือ โอกาสติดเชื้อและมีอาการ การป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และ ถ้าป่วยแล้วจะรุนแรงไหม ติดตามสูงสุด 5 ปี ได้ผลดีและจะสรุปดังนี้

1. วัคซีนมีประโยชน์สูงสุดสำหรับช่วงอายุ 9-16 ปีตามการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าต่ำกว่า 9 ปีจะไม่เกิดประโยชน์ แต่ว่ามันไม่ชัดเจนและไม่ปลอดภัยเท่าเก้าปี ส่วนทำไมต้องสิบหก เพราะการศึกษาระบุทำในอายุเท่านี้ และออกมาผลก็ดี

2. แต่วัคซีนระบุ ให้ฉีดถึง 45 ปี ข้อมูลตรงนี้มาจากการ extrapolate คือการคาดเดาอย่างมีวิธีการ ไม่ได้เกิดจากการศึกษาโดยตรง คือแบบนี้ครับ จากการศึกษาก่อนหน้านี้หลายๆอัน เราพบว่ายิ่งเราอายุมากขึ้นระดับภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออกเราก็มากขึ้น อันนี้เป็นความจริงทั้งโลก ถ้าเราฉีดในเด็กโตซึ่งภูมิเขาน้อยกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว ยังพบว่าระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นขนาดนี้ ถ้าไปฉีดในผู้ใหญ่ก็น่าจะ..เพิ่มภูมิ...ได้มากกว่าเด็ก ย้ำเป็นการคำนวณคาดการณ์นะครับ ทางองค์การอนามัยโลกก็พอรับได้กับหลักการนี้ จึงยินยอมให้ฉีดในอายุ 9-45 ปี

3. มากกว่า 45 ปี ข้อมูลไม่ชัดเจน จึงไม่ได้แนะนำ ตามหลักการก็น่าจะดี แต่ความเป็นจริงยังไม่มีผลการศึกษายืนยัน โดยเฉพาะระดับภูมิที่สูงพอควรแล้ว ฉีดไปอาจไม่ช่วยเพิ่ม และการเกิดโรคในผู้สูงวัยไม่ได้รุนแรงเหมือนในเด็กโตและเด็กเล็ก ปัญหาของผู้ใหญ่คือ เลือดออกและตับอักเสบ มากกว่าช็อก (แต่ก็ช็อกได้นะครับ)

4. ข้อสี่นี่ ถือเป็นการค้นพบและการเปลี่ยนแปลงใหญ่เลยทีเดียว เดิมเราคิดว่าถ้าเคยมีภูมิอยู่แล้ว ใส่เชื้อไข้เลือดออกเข้าไปอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง แต่ปรากฏการณ์นี้กลับพบว่า นอกจากไม่ได้ติดเชื้อรุนแรงแล้ว ภูมิคุ้มกันยังจะดีขึ้น และได้ผลต่อวัคซีนมากขึ้น ดังนั้นวัคซีนจึงได้ผลดีในกลุ่มอายุเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก เพราะเด็กโตอายุเกินเก้าปีในประเทศไทย เกือบ 80% เคยได้รับเชื้อมาแล้ว และยิ่ง๔อายุมากขึ้นประสิทธิภาพวัคซีนยิ่งสูงขึ้นในทุกๆกลุ่มย่อยการศึกษา

5. ประโยชน์จริงๆของวัคซีนตามการศึกษาที่เพ่งเล็งประสิทธิภาพ คือ ลดการติดเชื้อที่มีอาการ ต้องการอย่างน้อย 25% และควรได้อย่างน้อย 70% ตามที่คาดการณ์ไว้ของการศึกษา ปรากฏว่า ผลออกมาโดยรวมป้องกันการติดเชื้อมีอาการได้ 65.6% เกือบถึงเป้า #แต่ที่ลดอย่างชัดเจนและมีนับสำคัญทางสถิติมากคือลดความรุนแรง ลดการเกิดโรคแบบรุนแรงลงได้ 92.9% ลดอัตราการเข้ารับการรักษาในรพ.ลดได้ 80.2% คือฉีดแล้วมักจะไม่เป็นโรครุนแรงนั่นเอง

6. มันมีสี่สายพันธุ์ก็จริง แต่การตอบสนองของวัคซีนก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งสี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่สองจะตอบสนองน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ระดับประมาณแค่ 40-50% แต่ถ้าดูภาพรวมทุกสายพันธุ์ก็พอใช้ได้

7. ส่วนที่กังวลว่า เด็กที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การฉีดวัคซีนจะเป็นการทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันครั้งแรก แล้วถ้าติดเชื้อครั้งต่อไปจะรุนแรงมากขึ้น ประโยคนี้เป็นจริงแค่บางส่วน มันมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องด้วยเช่นระยะเวลาที่ติดเชื้อสองครั้งห่างกันไหม สายพันธุ์เชื้อ ...จากการศึกษาเด็กที่ไม่มีภูมิมาก่อนมาฉีด แล้วเมื่อเป็นโรคก็ไม่ได้พบว่าความรุนแรงต่างจากเด็กที่ไม่ได้ฉีดครับ

8. ผลข้างเคียง ที่เจอแน่ๆคือ เจ็บ..อาจมีไข้ ..บวมแดงได้ ไม่พบปฏิกิริยาที่รุนแรง มีรายงานการตายหลังฉีดวัคซีน...ทางบริษัท..ทางบริษัทนะครับ แจ้งว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุของวัคซีน

9. มันจะป้องกันได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์หรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ใช่ครับ เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง สิ่งสำคัญคือเราต้องควบคุมยุง ป้องกันยุง กำจัดลูกน้ำยุงลาย (มันอยู่ในบ้านนะครับ ไม่ได้อยู่ในท่อระบายน้ำ) และเมื่อเป็นไข้ก็ต้องรีบทำการวินิจฉัยและรักษา ต่อให้รัฐบาลลุงตู่ใจป้ำให้ฉีดฟรีทั้งประเทศ ถ้าไม่ควบคุมปัจจัยอื่นๆร่วมด้วยก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

10. ตกลงจะฉีดไหม...ผมใช้หลักการเดิมของวัคซีนนะครับ ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าฉีดได้ ถ้าไม่มีข้อห้ามการฉีด และถ้ามีสตางค์ไม่เดือดร้อน ก็ฉีดทุกตัวที่เหมาะกับเราครับ มันจะอยู่นานไหมเจ้าภูมิคุ้มกันเนี่ย จาการติดตามพบว่าในระยะเวลาห้าปีที่ศึกษามานี้ระดับภูมิคุ้มกันก็ยังไม่ตก คงต้องรอการศึกษาติดตามต่อไป (อย่าลืมว่าไทยเป็นแดนระบาด เราอาจมียุงกัดมาช่วยกระตุ้นภูมิอยู่เกือบตลอดเวลา)

ยังมีรายละเอียดสนุกๆเกี่ยวกับไข้เลือดออกจาก อ.ประเสริฐ ทองเจริญ, อ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร, อ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา, อ.อุษา ทิสยากร, อ.ทวี โชติทิพยสุนทร, อ.สุธี ยกส้าน ชื่อทั้งหมดนี้คือปรมาจารย์ไข้เลือดออกของโลก ที่เป็นคนไทย วัคซีนที่มีต้นกำเนิดจากไทย แม้จะมีการให้ทุนและซื้อการพัฒนาจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ แต่นี่ก็คือก้าวสำคัญอันหนึ่งในการต่อสู้เชื้อโรคร้าย ที่ผมสรุปแบบไม่ให้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเจือปน เพื่อคุณๆแฟนเพจทุกคน

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก แจงกรณีวัคซีนไข้เลือดออก

8 ธ.ค. 2017 11:15:08
https://www.tnamcot.com/view/5a2a11cce3f8e40542f8bd71

สำนักข่าวไทย 8 ธ.ค.-นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก ย้ำการรับวัคซีนไข้เลือดออก ในกลุ่มคนเคยป่วยไม่รุนแรง แต่ไม่เคยป่วยอาจส่งผลติดเชื้อไข้เลือดออก1.4 เท่า แจงเหตุแตกตื่นแปลข้อมูลผิด แต่การตัดสินใจฉีด เน้นดูประวัติการป่วยเป็นหลัก 


นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ถึงแนวทางการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก หลังจากมีการรายงานพบผลกระทบในผู้ฉีดที่ประเทศฟิลิปปินส์ว่า การหารือวานนี้ (7 ธ.ค.) มีผู้เชี่ยวจากหลายองค์กร ทั้ง สมาคมโรคติดแห่งประเทศไทย ,อย.,กรมควบคุมโรค,ศูนย์วัคซีน และกลุ่มหมอเด็กที่มีการใช้วัคซีน  เบื้องต้นทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก ฯในฐานะผู้ที่มีการใช้วัคซีนมากที่สุดใน กลุ่มเด็ก จะจัดทำคำชี้แจงเกี่ยวกับวัคซีน สำหรับบุคคลประชาชน และสำหรับแพทย์  


นพ.ทวี กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ แบ่งออกเป็น 1. ผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออก และได้รับวัคซีน พบว่า วัคซีนให้ผลดี  2. ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน พบว่า เพิ่มอัตราการติดเชื้อไข้เลือดออก 1.4 เท่า ของคนไม่เคยป่วยไข้เลือดออกมาก่อนแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ  ซึ่งจะทำให้ คนไม่เคยได้รับวัคซีน  1,000 คน  ป่วย    5 คน ภายใน 5 ปี  แสดงว่า จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละ 1 คน  

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น จากกรณีข้อมูลการติดเชื้อไข้เลือดออกรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  มาจากการแปลข้อมูลที่คลาดเคลื่อน  มีการระบุว่ามีจำนวนคนติดเชื้อไข้เลือดออกรุนแรง เพิ่มขึ้น  ซึ่งความเป็นจริง การแสดงข้อมูลของบริษัทก็เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส ในการให้ข้อมูล และวัคซีนไม่ได้ก่ออันตรายใน ผู้เคยมีประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน  แต่สำหรับผู้ไม่มีประวัติการป่วย อาจมีการป่วยได้ถึง 1.4 เท่า ไม่ใช่ มีความรุนแรงเพิ่ม หรือป่วยเพิ่ม 

นพ.ทวี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรับวัคซีนไข้เลือดออกจากนี้ ผู้ต้องการรับวัคซีน และแพทย์ต้องสอบถามประวัติเป็นหลักเพราะการเจาะเลือดดูการติดเชื้อในอดีตไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ปัจจุบันคาดว่าคนไทยในกลุ่มเด็ก เคยป่วยไข้เลือดออกประมาณ ร้อยละ 80  ส่วนผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 90 แต่ การฉีดวัคซีนต้องดูประวัติการป่วยเป็นสำคัญ ไม่ควรคาดเดาเอาเอง  

สำหรับการรับวัคซีนไข้เลือดออก อายุที่เหมาะสม 9-45 ปี รับ 3 เข็มเพื่อกระตุ้นภูมิ โดยวัคซีนไข้เลือดออก 1 เข็ม บรรจุ 4 สายพันธุ์จากการสอบถามบริษัท ที่จำหน่ายวัคซีนระบุว่า ในประเทศไทยมีการสั่งซื้อมาฉีด 30,000 เข็ม ฉีดไปแล้ว 10,000 เข็ม และบางส่วนยังอยู่ในห้องยา ฉะนั้นการฉีดวัคซีนต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยดูประวัติการป่วยเป็นหลัก และในวันนี้ช่วงบ่าย  จะมีการลงข้อมูลสรุปการหรือกับผู้เชี่ยวชาญ ในเว็บไซด์ของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย .-สำนักข่าวไท

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ข้อชี้แจงและข้อแนะนำสำหรับประชาชนเกี่ยวกับวัคซีนไข้เลือดออก
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
https://www.pidst.or.th/A597.html



จากผลการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนมหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วัคซีนมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 มีข้อสรุปดังนี้ 

1. การประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาข้อมูลใหม่ ที่ได้รับการเผยแพร่เบื้องต้นจากโครงการวิจัยโดยผู้ผลิตวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการใช้วัคซีนไข้เลือดออกให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม

2. ข้อมูลจากการศึกษาเดิม พบว่า โดยรวม วัคซีนให้ประโยชน์ในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 65 ป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้รัอยละ 80 และป้องกันไข้เลือดออกรุนแรงได้ร้อยละ 93 

3. ข้อมูลจากผลการศึกษาใหม่เพิ่มเติมแสดงให้เห็นว่า วัคซีนไข้เลือดออกนี้ยังคงมีประโยชน์ในการป้องกันโรค ลดการนอนโรงพยาบาลและลดความรุนแรงของโรคในผู้รับวัคซีนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน แต่พบว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน เมื่อได้รับวัคซีนนี้แล้วอาจจะมีความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนที่จะได้รับวัคซีนนี้ ทั้งนี้การตัดสินใจรับวัคซีนดังกล่าวต้องจึงใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

4. อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคไข้เลือดออก ไม่ว่าจะเคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนก็มีความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างกัน

5. จากผลการศึกษาที่ผ่านมาในประเทศไทย พบว่าผู้ที่อายุ 9 ปีขึ้นไป มีความชุกของการติดเชื้อไข้เลือดออกสูง โอกาสที่ผู้ที่รับวัคซีนที่อายุ 9 ปีขึ้นไป จะเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาก่อน จะค่อนข้างสูง ดังนั้นที่ประชุมจึงเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชน ดังนี้
  • ผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ได้
  • สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือไม่ทราบว่าเคยติดเชื้อมาก่อน รวมทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วแต่ยังไม่ครบและมีความประสงค์ที่จะได้รับวัคซีน ควรได้รับทราบความเสี่ยงและประโยชน์จากวัคซีนนี้ก่อนตัดสินใจฉีด (กล่าวคือหากเป็นผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน อาจเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ต่อ 1000 คนที่ได้รับวัคซีนนี้ในช่วง 5 ปีหลังฉีดวัคซีน หรือสูงกว่ากรณีถ้าไม่ฉีดวัคซีนนี้ 1.4 เท่า)

6. ประชาชนควรให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีอื่นๆร่วมด้วย เช่น การป้องกันยุงกัด การกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นไข้เลือดออกได้สูงสุด 







 

Create Date : 28 มกราคม 2560   
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2562 14:36:19 น.   
Counter : 573 Pageviews.  

การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค กนกศักดิ์ พ่วงลาภ พนักงานอัยการ





การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค

Fri, 2016-09-23 14:05 -- hfocus
https://www.hfocus.org/content/2016/09/12777

การรักษาโรคของแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งวิชาการและศิลป์ เป็นเรื่องยาก เพราะสิ่งที่แพทย์กำลังต่อสู้อยู่นั้น คือ เชื้อโรค ซึ่งบางชนิดมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ทุกนาที เชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถกำจัดได้การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการ ไปจนกว่าร่างกายฟื้นตัว หรือแม้ต่อสู้กับโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค เช่น เส้นเอ็นอักเสบ ภาวะอาการเครียด โรคระบบประสาท ก็ยังต้องอาศัยการวินิจฉัยคลำไปทีละจุด ตั้งสมมติฐานขึ้นแล้วพิสูจน์สมมติฐานนั้น การทำในสิ่งที่ยากยิ่งเช่นนี้ ย่อมมีแนวทางการรักษาได้หลายแนวทาง เพื่อไปสู่จุดหมาย คือ ทำให้คนไข้หาย ซึ่งความเห็นและวิธีการรักษาของแพทย์แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ถ้าการรักษานั้นเป็นไปอย่างราบรื่น คนไข้ก็ไม่ติดใจในวิธีการรักษา เพราะไม่ว่าวิธีใด ถ้าคนไข้หายคนไข้ก็จะพอใจ ไม่ติดใจในวิธีการรักษา แต่หากการรักษานั้นไม่ราบรื่น คนไข้ไม่หาย หายช้า สูญเสียอวัยวะบางอย่าง หรือเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนที่คนไข้คิดว่ามากเกินไป คนไข้อาจไม่พอใจจนเกิดคดีความขึ้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ คดีประเภทนี้ เขาสู้คดีกันอย่างไร มีประเด็นอะไรที่เป็นข้อแพ้ชนะในคดี พยานหลักฐานอย่างไรที่มีน้ำหนักส่งผลสำคัญต่อคดี

บทความนี้มุ่งหมายโดยบริสุทธิ์ใจให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้ว่านักกฎหมายคิดอย่างไร เพื่อผู้ที่เดือดร้อนจะสามารถรู้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างคร่าวๆ ใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนจะเป็นคดีความกัน มิได้เจตนาจะพาดพิงถึงเรื่องใครคนใดคนหนึ่ง เป็นความรู้เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น คนเป็นไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่อาจเกิดวิกฤตแก่คนไข้ได้นานาประการ เมื่อเกิดแก่คนไข้แล้ว ความวิกฤตนั้นอาจเกิดแก่แพทย์ผู้รักษาได้อีก สถานการณ์นั้นได้แก่

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต คนไข้เข้าใจว่าแพทย์รักษาไม่ทันท่วงที ทำให้เขาทุกข์ทรมานมากกว่าปกติ

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควร

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ทำให้คนไข้สูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียระบบการทำงานของร่างกาย เช่น เลือดออกในปอด ไตทำงานผิดปกติ เลือดออกในลำไส้ ฯลฯ

- คนไข้มีข้อสงสัย ข้อข้องใจในวิธีการรักษา สงสัยในความชำนาญของแพทย์ เช่น ทำไมต้องเปลี่ยนแพทย์หลายคน

สถานการณ์เหล่านี้นำมาซึ่งการฟ้องร้องเป็นคดีได้


สิ่งที่จะนำมากำหนดเป็นประเด็นว่าการรักษาเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ คืออะไร

คำตอบคือ การกระทำของแพทย์กระทำไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ สภาพร่างกายของคนไข้เป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาหรือไม่อย่างไร มีเหตุแทรกแซงอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากแพทย์และการรักษาหรือไม่ มีเหตุสุดวิสัยหรือไม่

ประเด็นที่ 1 เรื่อง "แพทย์กระทำไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่" พิสูจน์ได้โดยอาศัยความเห็นของแพทยสภา ผู้ที่คิดว่าตนเองเสียหายอาจร้องเรียนได้ การพิสูจน์ประเด็นความถูกต้องตามหลักวิชาการ ถ้าพิสูจน์กันในศาลอาจใช้ความเห็นของแพทยสภาเป็นที่ยุติได้ ถ้าไม่มีความเห็นของแพทยสภาคดีนั้นจะมีน้ำหนักน้อยแทบไม่อาจชี้ข้อถูกผิดได้เลย

ประเด็นที่ 2 เรื่อง "สภาพร่างกายของคนไข้เป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาหรือไม่อย่างไร" เป็นข้อที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง เคยมีคดีแพ่งคดีหนึ่งที่กล่าวหาว่าแพทย์กระทำโดยประมาทเลินเล่น ทำให้หญิงที่ไปคลอดลูกต้องถูกตัดมดลูกไป ความเห็นแพทยสภาในคดีนั้นไม่ชี้ชัดไปในทางใด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นเพียงคนเดียวที่ให้การว่า "ร่างกายของคนเราแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน" ไม่ว่าขั้นตอนการวางยาสลบ หรือโลหิตไหลไม่หยุดจากการผ่าตัด หรือการตอบสนองต่อยาในแต่ละช่วงของการรักษานั้น ร่างกายของคนเราตอบสนองต่อยาและวิธีการรักษาแตกต่างกัน ร่างกายแต่ละคนมีความแตกต่างในรายละเอียด มดลูกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สาเหตุที่ว่า มดลูกทำไมไม่หดตัว ทำไมเลือดไหลไม่หยุด เกิดจากอะไรตอบไม่ได้ชัดเจน แต่การรักษาหรือการแก้ไขปัญหาเหมือนกัน (คือตรงตามมาตรฐานการรักษาและแก้ไขปัญหา) คือเลือดไหลไม่หยุดจำเป็นต้องตัดมดลูก เพราะร่างกายที่แปลกกว่าคนอื่นอาจมีได้ เช่น ฉีดยาชาไป 10 เข็ม แต่ไม่รับรู้ฤทธิ์ยาก็มีได้ (ในคดีนี้ปรากฏว่ามีการฉีดยาชาถึง 10 เข็ม ยังไม่ปรากฏอาการชา) แม้แตกต่างจากคนอื่นเป็นล้านคนก็อาจมีได้

คำให้การที่ว่า "ร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน" คือประเด็นสำคัญและเป็นจุดที่อาจชี้การแพ้หรือชนะในคดีนี้ได้

ข้อเท็จจริงอย่างนี้มีน้ำหนักพอที่จะชี้หรือคาดการณ์ถึงผลคดีได้ แต่นักกฎหมายเท่านั้นที่จะรู้ว่าน้ำหนักที่ว่านั้นคือข้อเท็จจริงโดยตรงคืออะไร และข้อเท็จจริงที่มาประกอบหรือสนับสนุนคืออะไร นำสืบได้ตื้นลึกหนาบางแค่ไหน ใช้พยานกี่คนให้การยืนยัน เป็นใครบ้างที่จะเพียงพอต่อประโยชน์ทางคดี

การแพ้ยา ซึ่งคนไข้อาจจะแพ้ได้อย่างง่ายดายกว่าคนอื่น ก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน การแพ้ยาชนิดเดียวกันบางคนแพ้ตั้งแต่ให้ยา บางคนให้ยาไปสักพักหนึ่งแล้วค่อยแพ้ก็มี

บุคคลแต่ละคนอาจมีโรคอื่นประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคโลหิตไม่แข็งตัว และโรคอื่นๆ ที่บุคคลนั้นอาจยังไม่รู้ หรือในส่วนนี้ แพทย์อาจจะรู้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด หรือก่อนการรักษา แต่แพทย์อาจจะไม่ได้สื่อสารให้คนไข้เข้าใจดีพอ หรือสื่อสารดีพอแล้วแต่คนไข้ไม่เข้าใจ เพราะเรื่องของระบบร่างกายมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อนแพทย์ต้องเรียนถึง 6 ปีถึงจะเป็นแพทย์ได้ (ซึ่งยังไม่นับการเรียนชีววิทยาในชั้นมัธยมอย่างเข้มข้นก่อนหน้านั้นอีก 6 ปี) โรคต่างๆ เช่น ความดัน เบาหวาน โลหิตไม่แข็งตัว สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรเฉพาะตัวเฉพาะบุคคลที่ทำให้การรักษายากขึ้น และเป็นลักษณะพิเศษซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละคน ที่จะส่งผลทำให้การรักษาโรคเดียวกันสำหรับแต่ละคนจะมีวิธีการและระยะเวลาในการรักษาแตกต่างกันไปได้

มีข้อพิจารณาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การตอบสนองต่อเชื้อโรคของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คนสองคนได้รับเชื้อไข้เลือดออกชนิดเดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาการที่ปรากฏอาจหนักเบาไม่เท่ากัน ระยะเวลาที่จะหายจากโรคย่อมไม่เท่ากัน โดยเฉพาะสภาพการณ์ที่เกิดจากเชื้อโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง ที่ต้องอาศัยการรักษาตามอาการ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น โรคหวัด ไข้เลือดออก

ประเด็นที่ 3 เรื่อง "เหตุแทรกแซง เหตุสุดวิสัยอื่นๆ" เช่น หากพิสูจน์ได้ว่ามีการติดเชื้ออย่างอื่นในขณะนั้นทั้งๆ ที่แพทย์รักษาความสะอาดดีแล้ว และตามหลักวิชาระบุว่าอาจเกิดขึ้นได้ เหตุอย่างนี้ถ้าเป็นผลสำคัญส่งผลต่อร่างกายของผู้ป่วยแล้วจะโทษแพทย์ไม่ได้ เพราะการรักษาความสะอาดและวิธีการตามหลักวิชาใดๆ ไม่มีอะไรที่รับรองด้วยเปอร์เซ็นต์

การแพ้ยาของคนไข้ที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนก็อาจเกิดขึ้นได้ การแพ้ยาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนแพ้อย่างรุนแรงจนหายใจไม่ออก ระบบหายใจล้มเหลวก็อาจมีได้ ถ้าการแพ้ยานี้ส่งผลอย่างสำคัญต่อร่างกาย ขนาดที่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของแพทย์และผลที่จะเกิดแก่ร่างกายคนไข้แล้ว จัดว่าการแพ้ยาเป็นเหตุแทรกแซงอย่างหนึ่ง ที่อาจจะโทษแพทย์ไม่ได้

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีจุดหักเหอีกอย่างหนึ่ง แพทย์บางคนที่เชี่ยวชาญอาจรู้ว่าหากมีข้อมูลเบื้องต้นว่าคนคนนี้แพ้ยาชนิดหนึ่งก็อาจจะมีแนวโน้มจะแพ้ยาในกลุ่มที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งแพทย์บางคนอาจไม่รู้ ซึ่งถ้าแพทย์ไม่รู้เพราะไม่ชำนาญอย่างนี้อาจโทษแพทย์ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิจารณาที่ควรคำนึงก่อนเป็นคดีความ เพราะข้อโต้แย้งใดๆ มีราคาตามธรรมชาติที่ต้องเสีย (ถึงไม่เสียอะไรเลย ก็ยังเสียเวลา) ซึ่งไม่ควรจะเสียโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือกลายเป็นเหยื่อของการค้าความ

สำหรับผู้เสียหายที่มั่นใจแล้วว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของแพทย์ อาจร้องเรียนต่อแพทยสภาได้ หรือร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เพราะการบริการทางการแพทย์เป็นการบริการอย่างหนึ่งที่จัดเป็นคดีผู้บริโภค

ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ถือว่าเป็นผู้ให้บริการและเป็นผู้ประกอบธุรกิจไม่แตกต่างกัน จะมีที่ไม่เหมือนกันตรงที่รายละเอียดคือ ถ้าเป็นโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะฟ้องแพทย์โดยตรงไม่ได้ ต้องฟ้องหน่วยงาน ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ผู้เขียน: กนกศักดิ์ พ่วงลาภ พนักงานอัยการ

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.มติชน วันที่ 17 กันยายน 2559





 

Create Date : 24 กันยายน 2559   
Last Update : 10 กรกฎาคม 2560 19:14:39 น.   
Counter : 1201 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]