Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ฝันร้ายในระบบบริการสุขภาพไทย .. นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ( สิงหาคม ๒๕๕๗ )



บทความนี้ เขียนไว้เดือน สิงหาคม ๒๕๕๗   ( ผ่านไปเกือบปี ) แต่มีเนื้อหา ประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ ระบบสาธารณสุข (ระบบสาธารณทุกข์ ?) เทียบของ รัฐ และ เอกชน ... เข้ากับประเด็นร้อนช่วงนี้พอดี ^_^  

นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล : ฝันร้ายในระบบบริการสุขภาพไทย

//www.hfocus.org/content/2014/08/7856

Fri, 2014-08-08 12:08 -- hfocus

วันนี้เงินหมุนเวียนสำหรับซื้อหาบริการสุขภาพทุกๆหนึ่งร้อยบาท รัฐบาลจ่าย 75 บาท มากนะครับจริงมั๊ย 

เอ้ แล้วในเมื่อรัฐบาลจ่ายมากถึงปานนี้ ทำไมเวลาป่วย คนไทยร้อยละ 30-45 จึงยังเลือกที่จะควักกระเป๋าตัวเองเพื่อไปคลินิกเอกชน หรือรพ.เอกชนสำหรับบริการแบบไม่ต้องนอนรพ.  และร้อยละ 5-10 สำหรับบริการคนไข้ใน

แปลว่า รัฐบาลยังจ่ายน้อยไปรึเปล่า  ไม่มั๊ง ในเมื่อคนไข้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิข้าราชการทุกวันนี้ใช้บริการฟรีไม่ใช่หรือ  อันนี้ก็จริง แต่ไปดูคิวคนไข้ตามรพ.รัฐบาล ซิครับ ยาวแค่ไหน ดูคนไข้ในนอนตามระเบียงหรือน่าลิฟท์ซิครับ ว่ามีความอึดอัดหรือเปล่าว

ถ้ามีตังค์ ใครๆ ก็คงไม่อยากไปรอคิวหรือนอนหน้าลิฟท์จริงมั๊ย ไปรพ.เอกชนสะดวกสบายกว่า เร็วกว่า เลือกหมอได้ด้วย อยากได้ยาอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่มีตังค์จ่าย

สำหรับชาวบ้าน เรื่องราวคงจบแค่นี้ เพราะยังมีเรื่องอื่นให้คิดอีกมากมาย

ชาวบ้านคงนึกไม่ถึงดอกว่า ที่คนมีสตางค์ควักกระเป๋าเองเวลาเจ็บป่วยแล้วไปรพ.เอกชน มันเกี่ยวอะไรกับ เรื่องเวลาไปรพ.รัฐบาลโดยเฉพาะในชนบท มักเจอแต่หมอหน้าใหม่หมุนเวียนเรื่อยไป 

ในวงการแพทย์  เขารู้กันมานานแล้วว่า ค่าตัวหมอรพ.เอกชนแพงกว่าหมอรพ.รัฐบาลหลายเท่า  ค่าตัวหมอรพ.เอกชนส่งตรงมาจากเงินในกระเป๋าคนไข้  ค่าตัวหมอรพ.รัฐบาล(ส่วนใหญ่) ส่งตรงมาจากภาษี

ลองนึกดูว่าการที่รพ.เอกชนสามารถดึงหมอไปจากรพ.รัฐบาล เขาใช้อะไรจูงใจ  คำตอบก็ตรงไปตรงมา ค่าตัวไงล่ะ

สมัยก่อนความนิยมรพ.เอกชนไม่มากเท่าปัจจุบัน ค่าตัวหมอรพ.รัฐบาลกับรพ.เอกชนต่างกันไม่มากเท่าวันนี้  และค่าตัวหมอรพ.รัฐบาลสมัยก่อนก็ไม่มากเท่าทุกวันนี้  ดังนั้น ความนิยมบริการรพ.เอกชน เลยเป็นเหตุดึงหมอออกจากรพ.รัฐบาลโดยเฉพาะจากชนบท  รวมทั้งเป็นเหตุเพิ่มค่าตัวหมอในรพ.รัฐบาลเพื่อต้านทานแรงดูดของรพ.เอกชน

ความจริงที่รู้กันในวงแคบ คือ เฉพาะรพ.กระทรวงสาธารณสุข งบประมาณทุกๆร้อยบาท เป็นค่าแรงเกือบหกสิบบาท  เมื่อเป็นอย่างนี้ส่วนที่เหลือไว้เป็นค่ายา ค่าปรับปรุงอาคารสถานที่ ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ ก็ย่อมน้อยตามไปด้วย จึงไม่แปลกที่คิวตรวจรพ.รัฐบาลยาวเฟื้อย  คนไข้ต้องนอนหน้าลิฟท์

ลองนึกต่อไปว่า ถ้าวันหน้าคนไทยใช้เงินจากกระเป๋าตัวเองแทนการใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิข้าราชการ หรือประกันสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ  อะไรจะตามมา 

ประการแรก  รพ.รัฐบาลก็จะกลายเป็นที่รองรับคนจนด้วยสัดส่วนมากขึ้นไปอีก กว่าทุกวันนี้  ผลที่จะตามมาคือ การตรวจสอบ กดดัน ให้รัฐบาลปรับปรุงรพ.ก็จะน้อยลง เพราะคนจนโวยไม่เก่ง ไม่มีเส้นสาย  อุปมาอุปมัยเหมือนกิจการรถไฟไงล่ะ ล้าหลัง ตกต่ำมานานกว่าร้อยปี เพราะคนรวย คนชั้นกลางหนีไปขับรถบนถนน งบประมาณสร้างถนนเลยถมไม่รู้จบ แต่ละปีนับแสนล้านบาท  

ประการที่สอง เมื่อบริการรพ.รัฐบาลถดถอยเพราะเหตุดังกล่าวในประการแรก คนพอมีสตางค์ก็ยิ่งหนีไปรพ.เอกชนมากขึ้นมากขึ้น กลายเป็นภาวะงูกินหางผลักให้บริการรพ.รัฐบาลถดถอยลงต่อไปอีก  ประเทศมาเลเซียเป็นตัวอย่างในข่ายนี้  จึงไม่แปลกเมื่อพบว่า รัฐบาลมาเลเซียจ่ายเพื่อบริการสุขภาพ(8%ของรายจ่ายภาครัฐทั้งหมด)น้อยกว่ารัฐบาลไทยเกือบเท่าตัว (14%)แม้ว่าคนมาเลย์เกือบร้อยทั้งร้อยมีหลักประกันสุขภาพเหมือนคนไทย

ประการที่สาม ด้วยความเป็นจริง ณ วันนี้ ว่า รัฐบาลแทบจะไม่ได้ควบคุมกำกับกิจการรพ.เอกชนเลย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา คุณภาพบริการ ความปลอดภัย เมื่อกิจการรพ.เอกชนขยายตัวสวนทางการถดถอยในกิจการรพ.รัฐบาล ประกันสุขภาพเอกชนและการจ่ายจากกระเป๋าคนมีสตางค์จะค่อยๆแทนที่ระบบหลักประกันสุขภาพ  ผลที่ตามมาคือ คนไทยจะเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัวมากขึ้นจากการใช้บริการรพ.เอกชน  การเข้าถึงบริการสุขภาพอาจจะถดถอยตามมาสำหรับคนไม่มีสตางค์พอจะจ่ายค่าบริการรพ.เอกชน และไม่อยากทนรอคิวรพ.รัฐบาล  โปรดสังเกต ว่านับวันโฆษณาขายประกันสุขภาพเอกชนขยายตัวมากขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเป็นไปที่กล่าวมา

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

ประการสุดท้าย  ชะตากรรมระบบเศรษฐกิจไทยอาจจะเหมือนของสหรัฐอเมริกา ในความหมายว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการจะจมไปกับรายจ่ายสุขภาพมากจนอำนาจแข่งขันถดถอย ธุรกิจที่แข็งแรงในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯคือ รพ.เอกชน ประกันสุขภาพเอกชน และบริษัทยา/เครื่องมือแพทย์ แม้ว่าระบบเศรษฐกิจภาพรวมอ่อนแอลง  ศูนย์วิจัยยานยนต์ของสหรัฐเคยเผยตัวเลขต้นทุนค่ารักษาพยาบาลพนักงานอันเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทั้งหมดของรถแต่ละคันที่บริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์(จีเอ็ม)ผลิตเท่ากับ 1.525 ดอลล่าร์ คิดเป็น 5 เท่าของตัวเลขเดียวกันสำหรับรถโตโยต้าหนึ่งคัน  จึงไม่น่าแปลกที่ส่วนแบ่งตลาดของรถจีเอ็มถดถอยเพราะส่วนหนึ่งเกิดจากราคาแพงกว่ารถโตโยต้า  และต่อมาโตโยต้าได้เข้าแทนที่สามยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกที่เคยครองแชมป์อันดับหนึ่ง

ผมหวังว่าฝันร้ายดังกล่าวจะไม่เป็นจริง  และหวังว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติภายใต้การกำกับของคสช. จะได้ตระหนักและมองหาหนทางหลีกหนีจากฝันร้ายนี้

ผู้เขียน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

.................................


มีผู้แสดงความเห็น ต่อบทความนี้  น่าสนใจ .. ขอนำมาลงไว้ด้วยเลย

ผมอยากให้ข้อสังเกตหน่อย


1. เหมือนกับกำลังโยงว่าหากควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชนแล้ว จะทำให้การบริการของโรงพยาบาลรัฐดีขึ้นหรือ ดูแล้วไม่เกี่ยวข้องเลย เป็นการบริหารของกระทรวงและรพ.รัฐที่ล้มเหลวมากกว่านะ และผู้ป่วยก็ไม่ได้บ่นแต่เรื่องแพทย์อย่างเดียว คือมันด้อยกว่าไปทุกอย่าง ยอมรับหรือเปล่า

2. ดูประโยคทั้งสองที่ออกจากปากคนๆเดียวกัน
"รัฐบาลแทบจะไม่ได้ควบคุมกำกับกิจการรพ.เอกชนเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา คุณภาพบริการ ความปลอดภัย " กับ
"ถ้ามีตังค์ ใครๆ ก็คงไม่อยากไปรอคิวหรือนอนหน้าลิฟท์จริงมั๊ย ไปรพ.เอกชนสะดวกสบายกว่า เร็วกว่า เลือกหมอได้ด้วย อยากได้ยาอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่มีตังค์จ่าย"
ก็แสดงว่าคนเขาเห็นว่าคุณภาพบริการ และความปลอดภัยเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายแล้วคุ้มค่า คนจึงจะเข้าไป ใช่หรือไม่ แล้วแบบนี้ควรไปดูแลรพ.ของรัฐมากกว่าใช่หรือไม่

3. สมมุติว่าต้องการควบคุมราคาเอกชนจริงๆ เพราะเห็นว่าคิดค่ายาและค่าเวชภัณฑ์สูงเกิน ก็ให้มาดูประโยคเหล่านี้ของเจ้าของบทความ
"วันนี้เงินหมุนเวียนสำหรับซื้อหาบริการสุขภาพทุกๆหนึ่งร้อยบาท รัฐบาลจ่าย 75 บาท มากนะครับจริงมั๊ย"
" ความจริงที่รู้กันในวงแคบ คือ เฉพาะรพ.กระทรวงสาธารณสุข งบประมาณทุกๆร้อยบาท เป็นค่าแรงเกือบหกสิบบาท เมื่อเป็นอย่างนี้ส่วนที่เหลือไว้เป็นค่ายา ค่าปรับปรุงอาคารสถานที่ ค่าเครื่องมืออุปกรณ์"
ก็ต้องถามว่ารพ.รัฐมีคนช่วยจ่ายมากขนาดนี้ รพ.เอกชนใครช่วยจ่าย และภาษีต้องเสียหรือไม่ บุคลากรของเอกชนต้องจ่ายเงินเดือนแพงกว่าของรัฐหรือไม่ แล้วจะเอาราคาของสองแห่งมาเทียบกันหรือ
ยอมรับนะว่ามีรพ.เอกชนที่มีค่าบริการและยาแพงมาก แต่ก็มักเป็นรพ.ที่เรียกว่าเศรษฐีเท่านั้นแหละที่จะเข้า

4.หากจะแก้ปัญหาเรื่องของประชาชนที่ต้องเข้าเอกชนเพราะฉุกเฉิน เราก็ต้องให้รัฐตกลงราคาที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ และให้เอกชนรักษาผู้ป่วยทุกคนแล้วไปเก็บเงินกับรัฐ และรัฐต้องไม่บิดพริ่วที่จะจ่ายอย่างที่ทำกันมา คือจะบอกว่าไม่ใช่ฉุกเฉิน ทั้งที่คนเจ็บป่วยอย่างไรรัฐก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว และก็คิดตามราคาที่ตกลงไว้ หรือตาม DRG หากเกินนั้นก็เป็นเอกชนรับไป ไม่เกี่ยวกับคนไข้ คนไข้ก็จะสบายใจและปลอดภัย สำรัญคือรัฐต้องให้ความสะดวก และมีเตียงรองรับเพียงพอ และไม่บิดพริ้ว

5. ประโยคที่ว่า "รพ.รัฐบาลก็จะกลายเป็นที่รองรับคนจนด้วยสัดส่วนมากขึ้นไปอีก กว่าทุกวันนี้ ผลที่จะตามมาคือ การตรวจสอบ กดดัน ให้รัฐบาลปรับปรุงรพ.ก็จะน้อยลง" ผมว่าเป็นตรรกที่แย่มาก แสดงว่าการรักษาจะดีหรือไม่ดีต้องดูที่คนจนคนรวยหรือ เราต้องให้ใครมาโวยหรือไม่โวยจึงจะดกดันให้ปรับปรุงหรือ แบบนี้ก็เห็นแล้วว่าบริหารสู้เอกชนไม่ได้หากมีความคิดแบบนี้ หากคนรวยมาใช้รพ.รัฐ แล้วยังไง เขาก็มีสิทธิบัตรทอง รัฐก็ต้องจ่ายให้เขาอยู่ดี แต่เขาอาจจะเลือกซื้อยาที่แพงเอาเองจากร้านยาหรือโรงพยาบาลเอกชน ใช่หรือไม่ แบบนี้ยิ่งคนพอมีสตางค์จ่ายเองได้ แต่ไม่เข้าเอกชน เพราะสมมุติว่าราคาลงมาใกล้กันก็จริง แต่คุณภาพห่วย ก็เลยมาเข้ารพ.รัฐ แล้วจะทำให้รพ.รัฐบริการคนทั้งคนจนคนมีเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นหรือ เราต้องมานึกถึงความเป็นจริงสิ ไม่ใช่การนึกเดา

6. แล้วเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพของเราเป็นอย่างไร สู้มาเลเซียเขาได้ไหม ของเรายังมีอุบัติเหตุมากมายใช่ไหม ยังขายเหล้าและมีขี้เมาเกลื่อนเมืองใช่ไหม ใช่อุบัติเหตุและโรคตับ ทางเดินอาหารที่ต้องเข้านอนใน ICU เป็นลำดับต้นๆหรือเปล่า จนบุคคลากรแทบจะไม่มีเวลาไปดูผู้ป่วยอื่นๆ เบาหวาน ความดันที่หวังจะพึ่งเวชศาสตร์ครอบครัว อสม.นั้นยังพึ่งไม่ได้ใช่ไหม แต่เสียเงินไปเท่าไร ไม่ดูทั้งระบบ แล้วไปโทษปลายเหตุ






Create Date : 11 มิถุนายน 2558
Last Update : 13 กันยายน 2560 13:23:48 น. 3 comments
Counter : 1050 Pageviews.  

 
อ่านจนถึงเกือบท่อนสุดท้าย เห็นอาจารย์หมอยกตัวอย่างเกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกา เราเลยขอแชร์ด้วยนะคะ
ที่ประเทศเยอรมัน เราคิดว่าระบบการประกันสุขภาพที่ส่งผลคุ้มครองคนในประเทศนี้ ยอดเยี่ยมมากๆค่ะ คนที่จะไปโรงพยาบาลนั้นคือกรณีฉุกเฉิน หรือ ผ่าตัดใหญ่ๆหรือแพทย์เป็นคนส่งตัวไป เท่านั้นน่ะค่ะ

แพทย์ที่นี่จะมีคลีนิคส่วนตัวกันแทบทั้งนั้น แต่นั่นไม่ได้หมายถึง "เอกชน" แบบไทย มันหมายถึงประชาชนที่มี "ประกันสุขภาพ" สามารถเดินเข้ามารักษาได้บ่อยตามที่ต้องการค่ะ

คลีนิคของแพทย์ทุกแห่ง "ห้ามจำหน่ายยา"ให้แก่คนไข้ ที่นี่แพทย์มีหน้าที่รักษาอย่างเดียว(จริงๆนะคะ)

แพทย์จะออกใบสั่งยาให้ คนไข้ต้องไปซื้อตามร้านขายยา และ ยานั้น...หากเป็นยาปฏิชีวนะก็จะ "ฟรี" แต่หากเป็นยาตัวอื่นๆที่จำเป็นแล้ว คนไข้จะต้องจ่ายค่ายาเองแต่ไม่เกิน ห้ายูโร ที่เหลือบริษัทประกันจะต้องเป็นคนจ่ายแทนให้ทั้งหมดค่ะ

และการรักษานั้นแพทย์จะต้องทำแบบสุดความสามารถ หมายถึง...ไม่เกี่ยวกันว่า คนไข้จะมีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่...ที่เยอรมันมีคนจน และคนรวยแต่นั่นไม่มีผลหากมันเกี่ยวข้องกับ "สุขภาพความเป็นความตาย" ค่ะ คนทุกคนในประเทศเยอรมันจำเป็นจะต้องมีประกันสุขภาพ กฏหมายบังคับไว้ และ...รัฐบาลไม่เคยจ่ายสมทบให้ด้วย เป็นหน้าที่ของ ประชาชนทุกคนต้องจ่ายกันเอง หากทำงาน นายจ้างต้องจ่ายสมทบให้ "เท่าตัว" เท่าๆกับที่ลูกจ้างจ่าย กฏหมายเป็นแบบนี้ เพราะรัฐบาลเยอรมันไม่มีเงินที่จะมาโปรยเพื่อหาเสียง...แบบที่ไทย(รึเปล่า..ฮ่า คิดเอาเองนะคะ) ส่วนเรื่องบริษัทรับประกันสุขภาพ..ที่นี่มีหลากหลาย..ใครจะเลือกประกันสุขภาพกับที่ไหนก็ได้ แต่..."นโยบาย" ในการประกันจะต้องเหมือนกันหมดคือรัฐฯควบคุมตรงนี้ด้วยค่ะ คนจนก็มีชีวิตมีสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด เท่าๆกันกับคนรวยค่ะ ส่วนตัวแล้วคิดว่า ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่มีระบบการประกันสุขภาพที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งค่ะ จากประสบการณ์ตรง..

โรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน คลีนิคเอกชน ที่เยอรมันจะใช้ชื่อไหนก็ตาม ไม่มีผล....ต่อการรักษาคนไข้ค่ะ ทุกชีวิตที่นี่จะได้รับการรักษาเท่าเทียมกัน และไม่เกี่ยวว่าคนไข้จนหรือรวยอีกด้วยค่ะ


โดย: Max Bulliboo วันที่: 11 มิถุนายน 2558 เวลา:17:18:19 น.  

 


โค้งแห่งคุณค่าเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลของรัฐ : แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงและแก้ปัญหาโรงพยาบาลของรัฐขาดทุน
โดย อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

21 มิถุนายน 2558 02:58 น.

//www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000069892

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สมัยผมเรียนปริญญาโททางบริหารธุรกิจ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีบทความใน Harvard Business Review ที่ทำให้ผมประทับใจมาก เขียนโดยศาสตราจารย์ชาวเกาหลีและฝรั่งเศส ชื่อ W. Chan Kim และ Renée Mauborgne บทความนั้นชื่อ Creating New Market Space ตีพิมพ์ในปี 1999 ถ้าเอ่ยชื่อนักวิชาการสองท่านนี้มีความชำนาญด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์และเป็นคนเขียนหนังสือ Blue Ocean Strategy นั่นเอง ในบทความนั้นเสนอให้ใช้โค้งแห่งคุณค่า (Value curves) ในการสร้างตลาดใหม่ โดยศึกษาว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่เดิมมีคุณค่าอย่างไร และสามารถสร้างตลาดใหม่ได้โดยการยกระดับ (Raise) การสร้างคุณค่าใหม่ (Create) การลดคุณค่าบางอย่างลง (Reduce) และการตัดคุณค่าบางอย่างทิ้งไป (Eliminate) ถ้าใครนึกไม่ออกก็ลองนึกถึง Low-cost airline ที่ลดราคาลงมา ตัดบริการ อาหาร ลงไป เพราะผู้โดยสารจำนวนหนึ่งไม่ได้ต้องการ ทำให้เกิดตลาดใหม่ แทนที่จะเป็นสายการบินแบบเดิมๆ

เรามาลองวิเคราะห์คุณค่าของการให้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐดังรูปข้างล่างนี้ แกนนอนแทนคุณค่าต่างๆ เช่น โรงพยาบาลของรัฐมีราคาถูกมากในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพงมาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐอาจจะเก่ากว่าของโรงพยาบาลเอกชนที่มีกำไรและนำกำไรไปลงทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆ คุณภาพการบริการของโรงพยาบาลเอกชนนั้นดีกว่าเพราะไม่มีความแออัด ในขณะที่โรงพยาบาลของรัฐคนไข้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นเยอะมากจนทำให้แพทย์มีเวลาเฉลี่ยในการตรวจผู้ป่วยนอกคนละ 2-3 นาทีเท่านั้น ซึ่งทำให้ผิดพลาดได้ง่ายมาก คุณภาพยาของโรงพยาบาลเอกชนน่าจะดีกว่า เพราะโรงพยาบาลของรัฐต้องใช้ยาตามบัญชีหลักและอยู่ภายใต้การควบคุมของสปสช. ซึ่งใช้ยาแบบเหมาโหลถูกกว่า ความสามารถของแพทย์เป็นประเด็นที่ตัดสินได้ยาก แพทย์เก่งๆ มักถูกโรงพยาบาลเอกชนซื้อตัวไปจากโรงพยาบาลของรัฐ แต่แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐมี case มากกว่า มีประสบการณ์มากกว่า เพื่อนแพทย์ของผู้เขียนคนหนึ่งกล่าวว่าคนไข้ทุกคนเป็นครูของแพทย์ ถ้ามีโอกาสได้รักษาโรคยาก โรคซับซ้อนกว่า (คนไข้โรงพยาบาลของรัฐ มักเป็นไปตามวงจรอุบาทว์ คือ จน โง่ และ เจ็บ) ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐได้ลองวิชา ได้เรียนรู้มากกว่า ส่วนการรอคอยและความแออัดนั้น โรงพยาบาลของรัฐย่อมรอคอยยาวนานและแออัดมากกว่าหลายเท่า

เมื่อคุณค่าตามการรับรู้ของผู้ป่วยแตกต่างกันระหว่างรพ รัฐ กับ รพ.เอกชนเช่นนี้ คนที่มีสตางค์ ไม่จำเป็นต้องไปเบียดเบียนคนจนที่ไปใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรคฟรีๆ ของสปสช. ก็พร้อมที่จะจ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชน ศาสตราจารย์ ดร.อัมมาร์ สยามวาลา ออกมาพูดว่า คนรวยใช้เงิน (ไปใช้โรงพยาบาลเอกชน) อำมาตย์ใช้เส้น (ในการลัดคิวรับบริการฟรี 30 บาท จากโรงพยาบาลของรัฐ) และคนจนใช้เวลา (ในการรอคอยบริการที่มีคุณค่าไม่มากตามการรับรู้ของพวกเขาแต่ฟรี จากโรงพยาบาลของรัฐ) ข้อความนี้เป็นจริงอย่างยิ่ง ประการแรก การที่คนรวยใช้เงินไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน นั้นเพราะคนรวยทราบว่าโรงพยาบาลของรัฐค่อนข้างแย่ เมื่อมีเงินก็ใช้เงินซื้อได้ โรงพยาบาลเอกชนเลยผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ได้กำไรกันมากๆ และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ราคาวิ่งฉิว เมื่อมีความต้องการซื้อ (Demand) มาก เพราะคนมีเงินหนีจากโรงพยาบาลของรัฐ ในขณะที่ความต้องการขาย (Supply) มีไม่มากพอ ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครนั้นมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน ทำให้คนต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน แม้ว่าจะมีราคาแพงมากก็ตาม ประการที่สอง อำมาตย์ใช้เส้น ในการลัดคิวรับบริการฟรีจากโรงพยาบาลของรัฐตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อันนี้ก็เป็นเรื่องจริง แต่เนื่องจากอำมาตย์ไม่ได้หมายความถึงข้าราชการซึ่งใช้สิทธิราชการของกรมบัญชีกลางในการรักษาพยาบาลและนิยมไปรักษาที่โรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์มากกว่า แต่หมายถึงนายทุน คนมีเงินที่เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง ทางสังคม ในประเทศไทยมากขึ้น ผมเคยเห็นครอบครัวหนึ่งมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เมื่อจะไปรักษาในโรงพยาบาลของรัฐก็เพียงใช้เส้นโทรหาผู้อำนวยการโรงพยาบาล ระบุว่าต้องการพบแพทย์คนใดเวลาใด แล้วลัดคิวคนจนๆ เข้าไปตรวจรักษาได้ฟรีทันที ส่วนอีกรายมีสตางค์มากแต่ขี้เหนียว เป็นมะเร็งต้องรับเคมีบำบัดราคาแพง เลยไปใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่เมื่อรับเคมีบำบัดเสร็จ รพ รัฐ แน่นมากหาเตียงห้องพิเศษไม่ได้ ก็โทรเรียกรถพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนมารับไปพักในห้องพิเศษ พอครบกำหนดมารับเคมีบำบัดก็มารับที่โรงพยาบาลรัฐวนไปวนมาเช่นนี้อยู่หลายเดือน รพ.รัฐเสียค่าเคมีบำบัดไปเป็นหลายๆ แสน ทั้งๆ ที่คนไข้อำมาตย์ทางการเงินมีฐานะจะจ่ายได้ ประการที่สาม คนจนก็รอต่อไปเรื่อยๆ เพื่อนแพทย์ของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่าบางวันต้องตรวจคนไข้นอก (OPD) ถึง 200 คนในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเพราะคนจนๆ มารอรับบริการเยอะมาก

ศาสตราจารย์ ดร. อัมมาร สยามวาลา ยังเสนออีกว่าให้คนรวยและชนชั้นกลางกลับมาใช้บริการฟรีของโรงพยาบาลของรัฐอีกมากๆ ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อัมมาร เพียงแต่ถ้าฟรีหรือใช้สิทธิ 30 บาทรักษาได้ทุกโรค จะทำให้โรงพยาบาลของรัฐยิ่งขาดทุนและบริการก็ยิ่งแย่ลงกว่าเดิม เข้าวงจรอุบาทว์ อันที่จริงถ้าประเทศไทยมีเงินถุงเงินถุงเหลือเฟือ การให้บริการรักษาพยาบาลฟรีทั้งหมดตามแนวคิดของอาจารย์อัมมารก็เป็นเรื่องดี แต่เผอิญประเทศไทยไม่ได้รวยเช่นนั้น และจะเป็นภาระทางการคลังต่อไป การให้เท่าๆ กันกับคนที่ไม่เท่ากัน (เช่นให้ของฟรีทั้งคนรวยและคนจนเท่าๆ กัน) ยิ่งเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ถ่างออก ไม่ได้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างที่อาจารย์อัมมารสนับสนุนแต่อย่างใด ความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการเรื่องสังคมนิยมแบบอาจารย์อัมมารก็เป็นเรื่องดีเช่นกันถ้าทุกคนทำงานและเสียภาษีกันคนละมากๆ แบบที่ประชาชนในประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้นเป็นอยู่ ในความเป็นจริงโรงพยาบาลของรัฐในทุกสังกัดขาดทุนบักโกรกจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดูรายละเอียดได้จากบทความ “โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยขาดทุนเพราะ ใคร?: บทวิเคราะห์หาสาเหตุ” //www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000045566

ผมกลับมีความเห็นว่าโรงพยาบาลของรัฐควรต้องดึงคนรวยและคนฐานะปานกลางค่อนข้างรวยกลับมาใช้บริการให้มาก โดยโรงพยาบาลของรัฐที่พัฒนาแล้วปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้คนกลุ่มนี้เต็มใจที่จะควักเงินจ่าย ทำให้โรงพยาบาลของรัฐพอมีกำไรเอาไปเจือจานการขาดทุนจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช ซึ่งขณะนี้นำกำไรจากสิทธิราชการของกรมบัญชีกลางมาอุดหนุนข้ามประเภท (Cross-subsidization) อยู่ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนลดลงเหลือปีละ 10,000 ล้านบาท (เฉพาะรพ ในสังกัด สธ ทั้งหมด ดูรายละเอียดได้จาก //www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000060004)

ตัวอย่างที่ทำได้สำเร็จแล้วในระดับหนึ่งคือโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์และอาคารสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ล่าสุดผมได้รับทราบมาว่าโรงพยาบาลของรัฐในสังกัดของ สธ. ได้ริเริ่มพัฒนาบริการ โดยแยกแผนกมารองรับผู้ป่วยประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตของภาคเอกชน หนึ่งโรงพยาบาลในภาคเหนือ และหนึ่งโรงพยาบาลในภาคใต้ กรณีหลังนี้ทำให้ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ประกันสุขภาพ มีความพึงพอใจมาก เนื่องจากประกันสุขภาพมีการจำกัดสิทธิว่าใช้บริการได้ไม่เกินเท่าใด หากใช้เกินต้องจ่ายเงินเอง หากไปโรงพยาบาลเอกชนก็จะแพงมาก ถูกโขก ทำให้สิทธิหมดไปอย่างรวดเร็ว การที่รพ ของรัฐ เปิดบริการพิเศษที่ทำให้คุณภาพบริการดีขึ้น ในราคาที่ย่อมเยากว่าโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ โรงพยาบาลของรัฐก็พอใจที่ได้กำไรจากผู้ถือกรมธรรม์ มาชดเชยการขาดทุนจากสปสช บริษัทประกันชีวิตผู้จำหน่ายประกันสุขภาพก็พึงพอใจ ที่ทำให้บริหารความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนความเสียหาย (Claim control) ได้ดีมากขึ้น

หากเราพัฒนาโรงพยาบาลของรัฐให้ดีขึ้น ดูในกราฟด้านล่างให้มีราคาปานกลาง พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ คุณภาพการบริการ เพิ่มคุณภาพยา ลดเวลาการรอคอย และความแออัดลงไป ตั้งแผนกพิเศษขึ้นมาและเก็บสตางค์คนมีเงิน ทำให้คนที่ไม่ถึงกับรวยเป็นมหาเศรษฐีไม่ต้องไปเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อาจจะทำให้ล้มละลายหมดเนื้อหมดตัวได้ เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนดังโค้งแห่งคุณค่าของโรงพยาบาลที่พัฒนาแล้ว ก็จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีคู่แข่งและเป็นการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชนด้วยกลไกตลาดอย่างแท้จริง

โค้งแห่งคุณค่าเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลของรัฐ : แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงและแก้ปัญหาโรงพยาบาลของรัฐขาดทุน
ทางเลือกอีกทางที่มีความเป็นไปได้สูงมากในทางการเงินคือการที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติ (บปสช) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เองเพื่อขายประกันสุขภาพให้คนไทยทั้งประเทศ วิธีนี้เป็นการบังคับให้โรงพยาบาลในสธ พัฒนาคุณภาพการบริการ และแก้ปัญหาการขาดทุนจากสปสช. ด้วยอีกทาง

ประกันสุขภาพของบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาตินี้เป็น add-ons จากบัตรทองของสปสช แต่มีการให้บริการที่ดีกว่า เช่น ไม่ต้องคอยนานเท่า เบิกยาบางตัวที่ไม่ได้อยู่ในรายการของสปสช ได้ทำให้มีคุณภาพการบริการที่ดีขึ้นกว่าของแจกฟรีของสปสช .

เบี้ยกรมธรรม์ประกันสุขภาพหมู่สำหรับพนักงานบริษัทต่างๆ ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 7,000-20,000 บาทต่อปี ส่วนถ้าเป็นประกันสุขภาพเดี่ยวจะแพงกว่านั้นมาก เช่น คนอายุหกสิบปีขึ้นไปอาจจะต้องเสียค่าเบี้ยประกันสุขภาพปีละ 60,000-120,000 บาท (ประกันสุขภาพ ไม่ใช่ประกันอุบัติเหตุแบบ PA ซึ่งเบี้ยจะต่ำกว่ามาก) หากบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกขายประกันสุขภาพในราคาที่ถูกกว่าเอกชน เช่น วันละ 12 บาท หรือค่าเบี้ยประกัน 4,380 บาทต่อปี และขายได้สัก 5 ล้านกรมธรรม์ (สปสช มีประชาชนผู้มีสิทธิ 48 ล้านคน มีคนที่มาใช้สิทธิเพียง 28 ล้านคน และไม่มาใช้สิทธิ 20 ล้านคน) หากคิดคร่าวๆ ดึงคนที่ไม่เคยมาใช้สิทธิให้มาซื้อกรมธรรม์ดังกล่าวหรือคนที่ใช้สิทธิ์ 28 ล้านคนนั้น Switch มาจ่ายเงินเอง แค่ 5 ใน 48 ล้านคน แล้วได้บริการที่ดีขึ้น ไม่ต้องรอ เปิด OPD นอกเวลาราชการใช้ประกันสุขภาพของบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติได้ จะทำให้มีรายได้ต่อปีประมาณ 22,000 ล้านบาท และหากหักค่าใช้จ่ายแล้วก็ยังมีกำไรไปช่วยชดเชยส่วนที่ขาดทุนจากสปสช. ได้อีก

ข้อได้เปรียบในการจัดตั้งบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุขมีหลายประการ ประการแรก มีเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยเกือบพันโรงพยาบาลซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ ทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้มาใช้สิทธิประกันสุขภาพของบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติและเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ประการที่สองเครื่องมืออุปกรณ์ อาคารสถานที่ที่เคยใช้งานเฉพาะกลางวันสามารถนำมาใช้งานได้เต็มที่ 24 ชั่วโมง ประการที่สาม ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเช่นเงินเดือนนั้นรัฐบาลจ่ายให้อยู่แล้วเพราะเป็นข้าราชการทำให้ประหยัดรายจ่ายลงไปได้มาก มีความได้เปรียบบริษัทประกันเอกชน

วิธีการนี้จะช่วยให้คนมีสตางค์ยอมจ่ายเงินและนำกำไรไปช่วยเหลือคนไข้ยากจนของสปสช ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเลือกที่ดีขึ้นของประชาชนที่ไม่ต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่ราคาแพง และช่วยแก้ปัญหาโรงพยาบาลของรัฐขาดทุนจากสปสช. ได้ เมื่อโรงพยาบาลไม่ขาดทุนก็จะพ้นจากวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ขาดการพัฒนาได้ และทำให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้นด้วย จึงอยากจะขอเสนอไว้เป็นทางเลือกหนึ่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตนาวินได้พิจารณา


โดย: หมอหมู วันที่: 17 สิงหาคม 2558 เวลา:15:08:34 น.  

 
แนะ รัฐบาล-สธ.อย่าขวางเอกชนทำ ‘ธุรกิจสุขภาพ’ ผลวิจัยชี้ไม่ทำให้เกิดภาวะสมองไหล-ขาดแคลน

https://www.hfocus.org/content/2017/01/13246
Thu, 2017-01-05 15:18 -- hfocus

“นพ.สุวิทย์” แนะ รัฐบาล-สธ.อย่าขวางภาคเอกชนทำธุรกิจสุขภาพ เพราะผลวิจัยชี้ชัดว่าไม่ทำให้เกิดภาวะสมองไหล-ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ เสนอให้ปรับบทบาทมาเป็นผู้สร้างความเป็นธรรม จัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจโตมาพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ประเทศไทยยุค 4.0 ... พัฒนาแบบไหนที่ยั่งยืน” ซึ่งอยู่ภายใต้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2559 ตอนหนึ่งว่าหากต้องการนำเรื่องสุขภาพไปกำหนดเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ภาคเอกชนมีความต้องการหรือขอเพียงอย่างเดียวก็คืออย่าสร้างกฎเกณฑ์ที่มาจำกัดให้เขาเหล่านั้นทำธุรกิจไม่ได้ ภาคเอกชนไม่ได้ต้องการให้รัฐเข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนอะไรมาก เพียงแต่อย่ามาบล็อกหรือขัดขวางเขา

นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า หากพิจารณาโครงการที่ภาคเอกชนทำเรื่องทัวร์การรักษาพยาบาล คือนำคนต่างชาติเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จนั้น ถามว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยไปสนับสนุนอะไรเขาหรือไม่ เขาไม่ได้ต้องการให้สนับสนุนอะไร เขาทำเองได้ เพียงแต่ขออย่างเดียวคือ สธ.อย่าไปขวาง

“ถามว่าขวางเขาคืออะไร ขวางเขาก็คือไปบอกเขาว่าเฮ้ยเอ็งไปทำอย่างนั้นแล้ว เดี๋ยวก็จะดูดหมอดูดพยาบาลไปหมด เมื่อก่อนผมไม่กล้าพูด แต่เวทีนี้เป็นครั้งแรกที่ผมจะขอพูดดังๆ สักครั้งหนึ่ง คือเรามีการคำนวณและมีการวิจัยมาแล้วว่าชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยมีแค่ 2 ล้านคนต่อปี จะไม่มากไปกว่านี้อีกแล้ว ซึ่งหากคิดเป็นแรงหมอ ก็เท่ากับ 10% ของหมอทั้งประเทศนี้ ถ้าผมเป็นหมอแล้วต้องทำงานเพิ่มอีก10% แต่มีรายได้เพิ่ม 2-3 เท่า เชื่อว่าไปถามหมอคนไหนก็เอา” นพ.สุวิทย์ กล่าว

นพ.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็ยังมีคนตั้งคำถามว่าโรงพยาบาลเอกชนดูดแต่แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญไปอย่างเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น คือหากศึกษาเฉพาะแพทย์สวนหัวใจที่เชี่ยวชาญโดยการเทียบเคียงจำนวนคนต่างชาติที่มาไทยเพื่อสวนหัวใจกับแรงงานแพทย์สวนหัวใจในประเทศไทยทั้งหมด ก็จะพบว่าไม่เกิน 10% อีกเช่นกัน

ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยไม่ต้องกลัวเพราะมีการศึกษามาหมดแล้ว ควรปล่อยให้เอกชนทำไป ในขณะเดียวกัน สธ.ควรทำหน้าที่สร้างความเป็นธรรมอีกฝั่ง คือด้านหนึ่งให้เขาทำไป ให้เศรษฐกิจโตไป แต่อีกด้านหนึ่งเราก็ควรกระจายแพทย์ลงสู่ชนบทเพื่อความเป็นธรรม หรืออาจจะเก็บภาษีจากด้านเอกชนมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านความเป็นธรรมก็ได้ คือเมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นเราก็อาจเก็บภาษีมาทำเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันหากปล่อยให้เศรษฐกิจโตต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการจัดการ ก็จะนำไปสู่สังคมที่รวยกระจุกจนกระจาย และไม่มีทางที่ประเทศไทยจะมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนได้อย่างแน่นอน ขอยืนยันว่าเรื่องสุขภาพประเทศไทยสามารถทำได้ เพราะเคยทำสำเร็จมาแล้ว

“แต่ละปีประเทศไทยมีการผลิตแพทย์เฉลี่ย 3,000 คน ถ้าเรามุ่งแต่จะผลิต ดีไม่ดีในอนาคตแพทย์ไทยอาจไม่มีงานทำเช่นเดียวกับในประเทศเม็กซิโกหรืออียิปต์ที่แพทย์ต้องมาขับแท็กซี่” นพ.สุวิทย์ กล่าว

นพ.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอเรื่องสุขภาพต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการ นั่นก็คือเลขาธิการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ควรไปหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปลัด สธ.เพื่อตอบให้ได้ว่ารูปธรรมด้านสุขภาพในไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร และมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจอย่างไร

“เราต้องมองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของการลงทุน ไม่ใช่มองเป็นค่าใช้จ่าย คือมองว่าลงทุนด้านสุขภาพแล้วเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างไร และต้องตอบให้ได้ว่าเรื่องสุขภาพสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร” นพ.สุวิทย์ กล่าว

นพ.สุวิทย์ กล่าวถึงรูปธรรมในข้อเสนอว่า ตัวอย่างเช่นการทำเรื่องระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว คือทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ประกอบด้วย บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ควรมีความเสมอภาค แต่ไม่ใช่จะเท่ากันทุกอย่าง อาจมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้เท่ากันถึงขีดๆ หนึ่ง ส่วนจะเกินขีดนี้ไปแล้วไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร

“พอเกินขีดนี้แล้วใครมีตังค์แล้วอยากไปนอนห้องพิเศษหรือจ้างหมอพิเศษก็ปล่อยเขาไป แต่เจ็บไข้ได้ป่วยที่มีความจำเป็น ก็จำเป็นต้องได้เท่ากัน” นพ.สุวิทย์ กล่าว


โดย: หมอหมู วันที่: 20 มกราคม 2560 เวลา:20:57:49 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]