Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ก่อนใบไม้จะร่วงโรย





ก่อนใบไม้จะร่วงโรย

“คนไข้คนนี้ NR แล้วค่ะหมอ...”

“คนนี้ NR แล้วน้อง... Full med แต่ No CPR พี่คุยกับญาติแล้ว...”

ผมเคยสงสัยว่าเหตุผลของการกระทำที่ไม่ได้กระทำนี้ มันเป็นสิ่งที่ดีจริงหรือเปล่า

สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 ที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Non-Resuscitation ผมเข้าใจเพียงว่าการปล่อยให้คนไข้เสียชีวิตไปหนึ่งคน โดยที่ไม่ได้ทำอะไรหรือได้ทำอะไรบ้างเล็กน้อย มันเพียงพอกับหนึ่งชีวิตที่กำลังจะลาโลกใบนี้ไปแล้วหรือ มันไม่น่าเป็นสิ่งที่ยุติธรรมกับเขาเลย เพราะเขาไม่มีโอกาสแม้แต่เลือกวิธีการรักษาให้กับตนเอง

แม้วันที่ผมต้องเป็นผู้กระทำสิ่งนี้เอง เป็นคนที่กำหนดให้ชีวิตหนึ่งให้ลาจากโลกใบนี้ไปด้วยตัวผมเอง โดยไม่ได้บอกลาคนที่เขารักแม้แต่คำเดียว… ผมก็ยังไม่เข้าใจ

“ หมอ Extern…คนไข้คนนี้เขา Sepsis มา 1 week แล้ว คุณหมอเจ้าของไข้เขาไปคุยมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้บอก NR กับญาติเลย ตอนนี้พี่วัด BP ได้ 90/60 mmHg ล่ะ หมอ...”

“หมอ...คุย NR เตียง 2 เลยนะ เตียง 1 กับเตียง 4 อาการป้าแกไม่ดีมาตั้งแต่เช้าแล้ว ตอนนี้ Dopa Max แล้วนะ”

“ น้อง...พี่ฝากคุย NR คุณตาเตียง 8 ให้หน่อยสิ ฝั่ง Med หญิงมีคนไข้เหนื่อย ต้องใส่ tube แล้วตามไปช่วยพี่ฝั่งโน้นด้วยนะ”
…
“....................ครับพี่”


คำพูดคำเดิมๆ ในรูปแบบเดิมๆ ผมขี้เกียจนับให้เสียความรู้สึกว่าตลอดการทำงานแค่เพียงวอร์ดอายุกรรม ผมได้ยินคำพูดทำนองนี้กี่ครั้ง เหตุผลของการ NR ผู้ป่วยนั้น มีใครแฝงอะไรบางอย่างอยู่หรือไม่ การที่ไม่ต้อง CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ทำไปเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยที่จะไม่ต้องทนทรมานกับวิธีการปั๊มหัวใจ เพื่อเป็นการไม่ให้ญาติต้องทนทุกข์กับภาพที่เห็นหรือรับรู้ถึงความเจ็บปวด ทรมานของผู้ป่วย หรือเป็นด้วยเหตุผลอื่น

ความสงสัยของผมคือ ผู้ป่วยเหล่านั้น เมื่อแพทย์และญาติตัดสินใจ NR ผู้ป่วยรายนั้นได้จากไปอย่างสมศักดิ์ศรีตามที่แพทย์ให้เป็นหรือไม่ แต่ก็ยังไม่มีใครตอบคำถามของผมให้กระจ่างได้เสียที

“คุณหมอเคย NR คนไข้มากี่คนแล้วคะ?...”

ผมได้ยินคำนี้จากอาจารย์แพทย์คนหนึ่งที่ผมนับถือท่านหนึ่ง วันหนึ่งกลางที่ประชุมแผนก มีแพทย์ แพทย์ใช้ทุน และแพทย์ฝึกหัดเข้าฟังด้วยมากมาย มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่มาหยุดตอนหนึ่งที่แพทย์ใช้ทุนพูดถึงผู้ป่วยที่อาการไม่สู้ดีนัก...แต่ ญาติ NR

ในที่ประชุมเงียบไปด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน ไม่มีใครตอบคำถามของอาจารย์แพทย์ท่านนี้ แม้ว่าทุกคนจะเคยผ่านการพูดคุย NR มาแล้วทั้งนั้น ผมแอบตอบคำถามของอาจารย์ท่านนี้ในใจ

“ การที่น้องจะไปคุย NR กับญาติสักคนหนึ่ง อยากให้มีเหตุผลพอว่าทำไมถึงต้องคุย NR ไม่ใช่ว่าเห็นอาการคนไข้ไม่ดี หรือคนไข้อายุมากเข้าหน่อยก็ไปพูด NR ลองถามตัวเองว่าได้พยายามรักษาคนไข้คนนี้จนสุดความสามารถแล้วหรือยัง ญาติคนไข้น่ะ หมอพูดอะไรไปก็เชื่อหมอหมด หมอเห็นว่าไม่ต้องปั๊มหัวใจแล้วก็เชื่อเรา ก่อนที่จะทำอะไรลงไปลองนึกให้ดีว่าหากเป็นญาติของเราเราก็คงไม่อยากให้คน ที่ เรารักจากเราไปหรอก...”

“... และตัวหมอเองก็คงไม่อยากมีความรู้สึกติดค้างว่า ไม่ได้รักษาชีวิตของคนไข้ของตัวเองอย่างสุดความสามารถเช่นกัน”



จริงๆ แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ผมเองเริ่มเข้าใจเหตุผลของการ NR ว่า...(ควรจะ)เป็นการกระทำที่(ได้กระทำ)ให้ร่างกายที่หมดอายุขัยของผู้ป่วยจากโลกนี้ไป “อย่างสมศักดิ์ศรี”

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากเหตุการณ์ในวันนั้นและเรื่องราวที่ผ่านมา จากการเป็นนักศึกษาแพทย์สอนผมว่าควรระลึกอยู่ในใจเสมอ ว่า สิ่งที่แพทย์อย่างเรากำลังกระทำอยู่ ได้ทำเต็มความสามารถของแพทย์หรือไม่และการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ ผู้ป่วยและญาติอย่างสูงสุดหรือไม่
ไม่มีผู้ใดถูก ผู้ใดผิด หากความคิดเหล่านั้นมีเหตุผล


สำหรับตัวผมเอง ผมแค่คิดว่าก่อนที่จะกระทำสิ่งใดไปก็ตาม โดยเฉพาะสำหรับเรื่องชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการสิ้นสุดการเดินทางของเขาบนโลกใบนี้ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านั้น ควรไตร่ตรองให้รอบคอบเป็นอย่างดี ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำจากความคุ้นเคย หรือปัดไปเพื่อให้เวรคืนนี้ได้นอน



ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจญาติมาใส่ใจหมอ แล้วพินิจใคร่ครวญก่อนตัดสินใจ เพราะสุดท้ายแล้ว พื้นฐานของการเป็นแพทย์คือ เป็นผู้รักษาชีวิตและมีหน้าที่ควรปกป้องชีวิตให้สิ้นสุดลงอย่างสมศักดิ์ศรี ท ี่สุด แค่นั้นเอง...



นศพ. อธิพัฒน์ อธิพงษ์อาภรณ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



Create Date : 16 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2551 18:08:24 น. 0 comments
Counter : 3016 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]