Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ในวันที่แสนธรรมดา






ในวันที่แสนธรรมดา



ที่จริงเริ่มชื่อเรื่องอย่างนี้ ก็ไม่ถูกต้องเสียที่เดียวหรอกนะ เพราะวันนี้ ไม่ค่อยธรรมดา แต่ในบันทึกประจำวันของฉัน (daily) เรียกทุกวันว่า “ในวันที่แสนธรรมดา” เสมอ แต่มีวันที่เท่าไรกำกับไว้ด้วย

เอาละ ! มันไม่น่าจะธรรมดาเพราะเหตุผล 2 อย่างคือ

วันนี้ เป็นวันที่ฉันคิดว่าอยากเป็นศัลยแพทย์

ส่วนอีกอย่างนั้น เอาไว้ค่อย ๆ อ่านเรื่องนี้จนจบ แล้วฉันจะบอกนะ ..... ที่จริงเมื่ออ่านจนจบแล้ว คุณอาจจะคิดเหมือนฉันก็ได้นะ

........................................................................ .............

10 มิ.ย. 51

ณ ห้องผ่าตัดโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง อยู่ชั้น 5 ของตึกสยามินทร์ ที่จริงวันนี้ 9 โมงเช้าไม่มีเรียนนะ เป็นคาบเรียนที่ให้อิสระในการเรียนด้วยตนเอง หรือ self study จนถึงเย็น ฉันเลือกที่จะเข้าไปดูการผ่าตัดในห้องผ่าตัด (OR) เผื่อว่าจะได้เข้าช่วยผ่าตัดกับอาจารย์

....... แม้ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากตัดไหม, suction และซับเลือด แต่เป็นการเรียนรู้ที่หาไม่ได้จากตำรา และรู้สึกลึก ๆ ว่าเก๋ไม่เบาเลยนะนี่ สวมชุดผ่าตัด

ไม่ได้มีเพียงฉันคนเดียวที่มาเรียนในห้องผ่าตัด เพื่อนๆ ฉันอีก 5-6 คนก็มาเรียนและเข้าช่วยอาจารย์ผ่าตัดด้วย วันนั้น ส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ป่วยที่มาทำ needle localized biopsy คือเป็นเทคนิคที่ทำร่วมกับการทำ mammography ซึ่งเป็นการถ่าย x-ray เต้านม การตรวจนี้ใช้ screening ในผู้ป่วยหญิง เมื่อพบความผิดปกติของการสะสมสารแคลเซียม จะเห็นสีขาวกว่าเนื้อเยื่อปกติ เทคนิคนี้ ใช้ scale บอกตำแหน่งของความผิดปกติ จากนั้นจึงนำผู้ป่วยไปผ่าตัด ทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจได้ตรงกับตำแหน่งที่สงสัยได้แม่นยำมากขึ้น

เนื่องจากในห้องผ่าตัดนั้น นักศึกษาแพทย์ (นศพ.) และบุคลากรทุกคน ต้องสวมหน้ากาก ฉันจึงบอกยากว่าคนนั้นคือใคร หรือคนนี้เป็นใคร อาศัยความคุ้นเคย แต่ระหว่างอาจารย์ กับ นศพ. นั้นฉันแยกได้นะ คงเป็นเพราะอาจารย์มีราศีความเป็นครูกระมัง?

วันนั้น มี นักศึกษาแพทย์แลกเปลี่ยนมาจากญี่ปุ่น เป็นนักศึกษาแพทย์ชาย ปี 5 เข้ามาดูการผ่าตัดพร้อม ๆ กับ นศพ. ปี 4 เป็นสีสันในห้องผ่าตัด เพราะตื่นเต้นกันทั้งหมอทั้งพยาบาล เป็นอันว่า การเรียนในห้องผ่าตัดวันนั้น เป็นแบบ inter คือ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่

นักศึกษาแพทย์จากญี่ปุ่นคนนั้นตั้งใจเรียนมาก ใช้ทุกนาทีในการเรียนรู้จากเมืองไทยให้คุ้มค่า ฉันเห็นความตื่นเต้นที่เขาแสดงออกเป็นบางครั้ง เมื่ออาจารย์เล่าถึงเทคนิคการทำ biopsy แบบนี้

.............................เขาคงอยากเป็นศัลยแพทย์ และฉันเชื่อว่าเขาต้องเป็นศัลยแพทย์ที่ดี...............

หลังจากเพลิดเพลินกับการเรียนในห้องผ่าตัด เวลาก็ล่วงเลยไปจนเกือบจะเที่ยง พี่พยาบาลบอกว่า 11 โมงครึ่ง จะมี case ทำ needle localized biopsy อีก คราวนี้ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาศัลยศาตร์ จะลงมือผ่าตัดเอง ฉันอยากลองเป็นผู้ช่วยอาจารย์ผ่าตัด จึงรออยู่ในห้องนั้น ...... ส่วนเพื่อน ๆ ต่างก็แยกย้ายกันไปทำภารกิจของตน

ฉันไม่รู้ว่า อาจารย์หัวหน้าภาคฯ เป็นคนอย่างไร ใจดี ดุ หรือตลก แต่จากการสังเกตที่พี่พยาบาลพูดถึง พี่ ๆ ดีสดชื่น สนุกสนานกับการทำงานมาก ฉันก็พลอยใจชื้นไปด้วย เกรงใจอาจารย์และพี่ ๆ แพทย์ประจำบ้าน (resident) ที่ช่วยอาจารย์ผ่าตัด อาจจะทำงานช้าลงเพราะต้องคอยสอน นศพ. ปี 4 คนนี้

หรือวันนี้ อาจารย์จะเป็นอีกหนึ่งสีสันของห้องผ่าตัด ?? ทุก ๆ คนจึงมีความสุขกับการทำงาน ฉันเริ่มอยากเห็นอาจารย์คนนี้ เชื่อว่าอาจารย์มีความเป็นผู้นำ และปกครองลูกน้องอย่างเป็นธรรม ผู้ร่วมงานทุกคนรักอาจารย์มาก ฉันรู้สึกได้ชัดเจน

และแล้วอาจารย์ก็เดินเข้าห้องมา แม้จะไม่เคยเห็นหน้าอย่างใกล้ชิด และอาจารย์เองก็สวมหน้ากาก แต่ฉันรู้ได้ถึงราศีของอาจารย์ ผู้ซึ่งเดินเข้าห้องผ่าตัดอย่างมั่นใจ ฉันรีบเข้าไปบอกอาจารย์ว่า ขอเป็นผู้ช่วยผ่าตัด case นี้ อาจารย์พยักหน้า โดยไม่พูดอะไร

ที่จริง case นี้เริ่มผ่าตัดเที่ยงกว่า ๆ โดยมีอาจารย์ 2 คน, resident 1 คนและฉัน ซึ่งเป็น นศพ.ปี 4 อีกหนึ่งคน มีผู้สังเกตการณ์ยืนดูอยู่รอบเตียงผ่าตัด ประกอบด้วย resident 3-4 คนและนักศึกษาแพทย์จากญี่ปุ่นคนนั้น ซึ่งอาจารย์ผู้ดูแล นศพ. แลกเปลี่ยน ก็เข้าผ่าตัด case นี้

ฉันกับอาจารย์หัวหน้าภาคฯ ล้างมือเสร็จแล้ว กำลังสวมเสื้อผ่าตัด เสื้อนี้ ไม่มีกระดุม แต่ใช้เชือกผูกแทน ฉันตั้งส่งเชือกอ้อมหลังเพื่อผูกเชือกให้เรียบร้อย และต้องส่งด้วยมือขวา ให้กับคนที่สวมถุงมือปลอดเชื้อ แต่คงเป็นเพราะฉันตื่นเต้นเกินไป กับท่าทีที่ดูขรึมของอาจารย์หัวหน้าภาคฯ ฉันส่งเชือกผิดมือ ผลก็คือ เชือกมือซ้ายนั้นสั้นกว่าจึงอ้อมไม่ถึงอีกข้าง นี่ยังไม่เท่าไร... คนที่รับเชือก คืออาจารย์นั่นเอง

“อ้าวเฮ้ย! ส่งเชือกยังผิดด้าน นี่อยู่ปีไหนแล้ว??”

“หนูอยู่ปี 4 ค่ะอาจารย์” ฉันตอบกึ่งเขิน และรีบส่งเชือกทางขวาให้อาจารย์ เพราะทั้งอาจารย์อีกคน พี่ resident และพี่พยาบาล หัวเราะกันสนั่น นี่ถ้าคนไข้ยังไม่ดมยาสลบ คงได้ดูโชว์ตลกในห้องผ่าตัดก่อนหลับแน่นอน

ขรึม แต่ก็ตลกและท่าทางใจดีนะ ฉันคิดเช่นนี้

“อะไรวะ?? Resident ปี 4 แล้วยังสวมชุดผ่าตัดไม่เป็นอีก” อาจารย์พูด ทุกคนยิ่งขำกันใหญ่ เพราะนอกจากจะแกล้งแหย่เล่นทั้ง ๆ ที่รู้ว่าฉันเป็น นศพ. อาจารย์ยังจับเชือกชุดผ่าตัดของฉัน พร้อมกันสองมือ ผลคือฉันกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ระหว่างชุดนั้นนั่นเอง และแล้วอาจารย์ก็ผูกชุดผ่าตัดให้เรียบร้อย

นี่แค่ประเดิมฉากแรก ๆของวันที่แสนธรรมดาของฉัน

ในขณะเดินเข้าไปยืนข้างเตียง ศัลยแพทย์มือที่ 1 จะยืนขวามือผู้ป่วย มือที่ 2 ยืนซ้ายมือ ผู้ช่วยคนที่ 3 ยืนขวามือของศัลยแพทย์มือที่ 2 ส่วนคนที่ 4 ยืนขวามือของศัลยแพทย์มือที่ 1 อาจารย์หัวหน้าภาคฯ (ทุกคนรู้ว่า คนนี้คือศัลยแพทย์มือที่ 1) ให้ฉันเลือกว่าจะอยู่ทางไหน ฉันเลือกซ้ายมือของผู้ป่วย ...... อาจารย์จึงบอกว่า อาจารย์จะอยู่ทางซ้ายมือของคนไข้ด้วย ......... ไม่รู้ว่าฉันตาลาย มึน ๆ เกร็ง เพราะหิวข้าว หรือตื่นเต้นที่ได้ช่วยผ่าตัดกับหัวหน้าภาควิชาฯ

“อะนี่ ปูผ้าให้ผมที” พูดเสร็จ อาจารย์ก็ยืนดู ฉันควรจะทำอย่างไร ในเมื่อฉันไม่เคยทำมาก่อน ทันทีที่ฉันจะเริ่มกางผ้า อาจารย์รีบจับมือ แล้วสอนวิธีกางผ้า

“ปูผ้า ให้เรียงซ้อนกันอย่างนี้ จำไว้นะ ตอนเป็น extern จะได้ทำเป็น อืม ...... เอานี่ไป” ปูผ้าเสร็จ อาจารย์ก็ส่งปลอกด้ามจับไฟผ่าตัดให้ฉัน ฉันเองก็ไม่เคยทำอีก แต่พอจะรู้ว่าต้องสวมทับด้ามจับของไฟผ่าตัด ซึ่งด้ามโลหะนี้ ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไว้สำหรับให้ศัลยแพทย์จับเพื่อปรับไฟเวลาผ่าตัด ฉันจึงพยายามสวม แต่ไฟอยู่สูงเกินไป ฉันยื่นมือสุดแขน

“อ่าว.... ถ้าเตี้ย สวมให้พอยึดเกี่ยวแล้วก็ดึงลงมาหมุนให้แน่นก็ได้ จะได้สะดวก ๆ” และทุกคนก็หัวเราะกันเกรียวกราว ฉันยิ่งเขินมากขึ้น เพราะพี่ ๆในห้องผ่าตัดเริ่มมุงกันรอบเตียงคนไข้ คงเตรียมจะเรียนจากอาจารย์ และสนุกสนานกับโชว์ขำขันซึ่งเป็นผลพลอยได้

และแล้ว การผ่าตัดก็เริ่มขึ้น อาจารย์ดู film ที่เสียบอยู่บนแท่นอ่าน แล้วลงมือกรีดมีดลงไป รอบๆ ก้อน ซึ่งมีเข็มอันเล็ก ๆ ปักอยู่บนเนื้อ เมื่อกรีดได้แผลกว้างเท่าที่ต้องการแล้ว อาจารย์ส่ง gauze ให้ฉัน

“อะนี่ เธอถือไว้ แล้วคอยซับเลือดนะ” เวลาผ่านไป คนที่ซับเลือด คือพี่ resident เสียส่วนใหญ่ อาจารย์จึงบอกว่า
“เอางี้นะ มาตกลงกันเมื่อเธอซับเลือด 1 ครั้ง ผมให้ 1 บาท ถ้าครั้งไหนแย่งพี่ได้ ให้เป็น 1 บาท 50 สต. เลย” ทำเอาทุกคนฮือฮา เป็นอันว่า พี่ ๆ กลายเป็นกองเชียร์ นักศึกษาแพทย์จากญี่ปุ่นก็ฟังเข้าใจนะ เพราะการแปลทุกสถานการณ์ของอาจารย์อีกคนที่ตอนนี้กลายเป็นศัลยแพทย์มือที่ 1 (เนื่องจาก อาจารย์หัวหน้าภาคฯ เลือกยืนทางซ้ายกับฉัน อาจารย์อีกคน กับพี่ resident จึงต้องยืนทางขวา)

การผ่าตัดที่มีแต่เสียงหัวเราะ ฉันไม่ได้โกรธเคืองอะไรเลย เพราะวันนั้น เป็นวันที่เรียนในห้องผ่าตัด ที่มีความสุขมากที่สุดเลย เท่าที่ผ่านมา

เวลาผ่านไป กลายเป็นว่า พี่ resident ไม่ค่อยซับเลือดแล้ว ฉันเลยซับเลือดแทน ฉันไม่ได้ตั้งใจจะแย่งพี่หรอกนะ คงเป็นเพราะพี่ต่อให้น้อง นศพ.ปี 4

“ยิ่งซับ ยิ่งมันละซิ ชักจะเยอะแล้ว เอางี้ เหมาจ่ายนะ ซับกี่ที ผมก็จ่าย 20 บาทนะ เอานี่ไปถือ” พูดเสร็จ อาจารย์ก็ส่ง retractor ให้ฉัน พร้อมกับพี่พยาบาลหัวเราะชอบใจ ถามอาจารย์กึ่งแซว ว่าอาจารย์จะให้จริง ๆ นะหรือ

ฉันคว่ำมือจับด้านบนของ retractor ทำให้ข้อศอกกางออก เพราะไม่ถนัดมือ

“มั่นใจหรือเธอ?? กางแขนอย่างนั้น” พี่พยาบาลและคนอื่น ๆ หัวเราะอีกที

“โธ่ อาจารย์ขา พอเถอะค่ะ ดูซิ น้อง นศพ. หน้าแดงเลย” พี่พยาบาลผู้ช่วยส่งเครื่องมือบอกทั้ง ๆที่ตัวเองก็ยังขำ ฉันเขินจนหน้าแดงเลยหรือนี่

“เวลาจับ ให้จับแบบจับปากกา จะได้ดู smart และถนัดมือด้วย ไหนลองใหม่ซิ?” ฉันทำตาม ตอนแรก ก็ไม่ชินหรอกนะ ต่อมาก็รู้สึกว่า อืม..... แบบนี้ก็ไม่เลวนะ ไม่เมื่อยแขนด้วย

เวลาผ่านไปจนใกล้จะผ่าตัดเสร็จ อาจารย์ถามฉันอีกคำถามสุดท้าย

“เออ ..... แล้วที่เธอมาผ่าตัดนี่ ขอคนไข้หรือยัง?” ฉันอึ้ง เพราะไม่มี นศพ. คนไหนทำแบบนั้นเลย ทุกคนก็เงียบ เหมือนจะฟังคำตอบของฉัน คงมีแต่อาจารย์อีกท่าน ที่กำลังพูดภาษาอังกฤษ แปลให้ นศพ.ญี่ปุ่นฟัง

“ขออนุญาตเข้าช่วยผ่าตัดกับอาจารย์นะคะคุณป้า......” ฉันขอพร้อมบอกชื่อคนไข้ อาจารย์ตอบฉันเป็นภาษาอังกฤษ ใจความว่า

“ในต่างประเทศ ถ้าแพทย์คนใด หรือนศพ. ต้องการจะผ่าตัดเขา ต้องขออนุญาตเขาโดยให้เขาเซ็นต์ยินยอม ไม่ใช่มาขอตอนที่เขาไม่ได้สติในห้องผ่าตัด เธอเข้าใจนะ” ฉันยิ้มอาย ๆ แก้เก้อ ตอบรับพร้อมพยักหน้า จากนั้น อาจารย์ก็บอกลาทุกคนเพราะต้องรีบไปทำธุระต่อไป ขณะนี้จึงเหลือศัลยแพทย์และผู้ช่วยรวม 3 คน

เมื่อถอดเสื้อคลุมผ่าตัดออกและล้างมือเสร็จแล้ว อาจารย์กลับมาพร้อมกับธนบัตรสีเขียว สร้างความฮือฮาให้ทุกคน บางคนหัวเราะ บางคนอุทานออกมาด้วยความประหลาดใจ ส่วนฉัน...... พูดอะไรไม่ออก

“อะนี่ ค่าช่วยผ่าตัด ผมแปะไว้ตรงนี้ละกัน ไปล่ะ โชคดี” อาจารย์เสียบธนบัตรนั้นไว้ข้าง ๆ film บนแท่นอ่าน ฉันยกมือขึ้นพนม แล้วบอกกับอาจารย์ว่า ขอบคุณค่ะ แล้วอาจารย์ก็เดินออกไปจากห้อง ด้วยความมั่นใจอย่างสง่าผ่าเผย

พี่พยาบาลผู้ช่วย บอกกับฉันว่า “น้องหมอเก็บเอาไว้นะ เป็นเงินขวัญถุงเลย ห้ามนำไปใช้ล่ะ” ฉันทำแบบนั้นแน่นอน

........................................................................ ..........................

เวลาผ่านไปครึ่งปีแล้วนะ ฉันเป็น นศพ.ปี 5 ยังคงจำคุณธรรมที่อาจารย์สอนได้เสมอ ทั้งในห้องผ่าตัดและในห้องเรียน


“ขอให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ขอให้รู้ขีดความสามารถ
ขอให้รู้ว่าเมื่อใดจะขอปรึกษา
และ ขอให้รู้ว่าเมื่อใดจะ refer”


ที่ผมอยากให้ general practice ทำได้ ก็คงเท่านี้

ฉันคิดว่า ไม่ใช่เงิน 20 บาทที่ซื้อใจของฉัน แต่ตัวอย่างที่ดีต่างหาก ที่ฉันประทับใจ คนไข้เองก็คงรู้สึกเช่นเดียวกับฉัน แม้ฉันอาจจะทำอะไรไม่ได้มากในตอนนี้ อย่างน้อยที่สุด ไม่ได้ทำอันตรายกับผู้ป่วย และอีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์เน้น คือ
2 คำในโลกนี้คือ ขอโทษ และ ขอบคุณ ใช้มันให้เป็น

นี่คงเป็นตัวอย่างที่ทำให้ฉันเข้าใจถึงสิ่งที่พระบิดาสอนว่า “ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นแพทย์ แต่ควรเป็นคนด้วย”



น.ส.สิริพร พงศ์ภัทรภัค นศพ.ปี 5

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล



Create Date : 09 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2551 18:51:43 น. 2 comments
Counter : 1119 Pageviews.  

 
ซึ้งจังค่ะ

อาจารย์น่ารัก สอนดีชมัดเลย


โดย: cool mint วันที่: 9 พฤศจิกายน 2551 เวลา:22:05:36 น.  

 
อ่านด้วยความซาบซึ้งใจจริงๆ ค่ะ
เป็นบรรยากาศที่ดูอบอุ่นมาก


โดย: บอนหวาน วันที่: 10 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:19:00 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]