Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

“อย่าสร้างความหวังลม ๆ แล้ง ๆ .. แต่ก็อย่าทำลายมัน”



“อย่าสร้างความหวังลมๆแล้งๆ..แต่ก็อย่าทำลายมัน”


ในฐานะที่กระผม เด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง มีโอกาสและโชคดีที่ได้เข้ามาเป็น “นักเรียนแพทย์” ได้รับรู้และซึมซับความเป็นแพทย์เข้ามาในทุก ๆ ลมหายใจ แม้จะยังผ่านประสบการณ์มาไม่มากนัก แต่ก็พอที่จะมองเห็นภาพชีวิตของความแพทย์อันเกี่ยวเนื่องกับสังคมไทยทุกภาคส่วน กระผมมีความภาคภูมิใจมากที่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสายวิชาชีพอัน ทรงเกียรติ นี้

เมื่อครั้งที่สอบเข้ามาเป็นนักเรียนแพทย์ปีที่หนึ่งนั้น กระผมยอมรับว่าในตอนนั้นจิตวิญญาณของความเป็นแพทย์ของกระผมยังไม่แจ่มชัดนัก จนกระทั่งบัดนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการเฝ้ามองของกระผม ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณให้เริ่มแจ่มชัดขึ้น

วันนี้ กระผมเป็นนักเรียนแพทย์ปีสุดท้ายแล้ว สามารถพูดได้เต็มปากว่า พร้อมที่จะเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคตอย่างแน่นอน และถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ที่แม้จะน้อยนิดเมื่อเทียบพี่ๆ ที่ผ่านจุดนี้ไปแล้ว หากแต่รุ่นน้องนักเรียนแพทย์ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ถ้าได้รับรู้ เชื่อแน่เลยว่าคุณหมอน้องใหม่ จะมีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนและหล่อหลอมความเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปได้ สิ่งนี้กระผมถือเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่ถือว่าเป็นการจรรโลงวิชาชีพของเราให้ ดำรงอยู่ในความเชื่อถือและเป็นที่ไว้วางใจของสังคมไทยต่อไป


ในวันแรกที่ได้เข้ามาเป็นนิสิตคณะแพทยศาสตร์นั้น ความรู้สึกภาคภูมิใจได้เกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นความภาคภูมิใจในเรื่องของตนเองล้วน ๆ ตอนนั้นคิดเพียงแค่ว่า เราเองนี่ก็เก่งใช้ได้เหมือนกันนะที่สอบเข้ามาเรียนคณะแพทยศาสตร์ได้ ใครมาถามว่าสอบได้คณะอะไร จะตอบเต็มเสียงและหัวใจพองโตว่า คณะแพทย์ครับ ความภาคภูมิใจยังกระจายเผื่อแผ่ไปถึงครอบครัวด้วย เพราะการสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ ในสังคมต่างจังหวัดแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา

เมื่อเริ่มเรียนไปสักพักก็เริ่มรู้ซึ้งถึงความหนักหน่วง เหนื่อยล้า เริ่มไม่แน่ใจว่าที่เลือกมานี่ใช่ตนเองแค่ไหน ช่วงแรกมีท้อเหมือนกัน ประกอบกับเมื่อขึ้นชั้นปีที่สองมาแล้วผลการเรียนดิ่งดับอนาถ แทบไม่เชื่อว่าตนเองจะเรียนตกต่ำได้ถึงขนาดนั้น เพราะเข้าใจด้วยตนเองมาตลอดว่าเรานั้นเป็นคนเก่ง แต่ผิดถนัด ถ้าหย่อนยานวินัยในการเรียนเมื่อไหร่ไม่ว่าเก่งมาจากไหนก็ดับอนาถได้เช่นกัน เทอมต่อมาเริ่มได้สติ ต่อมาผลการเรียนก็ดีขึ้นเป็นลำดับแม้จะไม่ดีมากแต่ก็มากที่สุดของความตั้งใจ ของเรา เป็นอันว่าเพิ่งจะเริ่มจับทางในการเรียนได้ก็เข้าปีที่สามของการเรียนแพทย์ ครึ่งทางพอดิบพอดี

สำหรับพัฒนาการของจิตวิญญาณในวิชาชีพนั้น ในระหว่างทางเดินก็มีอาจารย์ที่สอนในเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมของแพทย์โดยตรงอยู่บ้างเหมือนกันเมื่อสมัยเรียนชั้นปีต้น ๆ โดยที่ยังไม่ได้สัมผัสคนไข้จริงอย่างลึกซึ้งนัก ก็เรียนรู้และเข้าใจว่าแพทย์ที่ดีเป็นอย่างไร ต้องปฏิบัติตนอย่างไร เข้าใจเป็นอย่างดีว่าตนเองต้องสนใจผู้ป่วยเป็นหลัก ตอนนั้นเรียนเข้าใจ เขียนตอบข้อสอบได้ เรื่อง Holistic Approach นี่แม่นมาก เขียนบรรยายได้เป็นหน้ากระดาษ แต่ในใจแล้วยังไม่มั่นใจนักหรอกว่าจะเอาไปใช้ได้จริงสักเพียงใด

อีกเรื่องหนึ่งที่มีส่วนพัฒนาตัวเองนั้นผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ได้ทำระหว่าง ที่เรียนอยู่ มีอยู่สองกิจกรรมที่ผมภาคภูมิใจมากคือ

งานแรก กระผมได้รับเลือกให้เป็น นิสิตผู้รับผิดชอบโครงงานพิธีพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา(อาจารย์ใหญ่) งานนี้ทำให้กระผมต้องรับผิดชอบในการพิธีต่าง ๆ การประสานงานอย่างเป็นระบบ ในระดับอาจารย์ เพื่อนนิสิตและญาติของอาจารย์ใหญ่ งานนี้พวกกระผมปฏิบัติงานกันเองทั้งหมด ตั้งแต่บรรจุร่างกายของท่านลงหีบ จัดพิธีสงฆ์ทำบุญอุทิศให้ท่าน จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพให้ท่านอย่างสมเกียรติ วันที่ช่วยกันหามหีบศพของท่านเพื่อนำไปฌาปนกิจนั้น รู้สึกว่าภูมิใจมากที่ได้ปฏิบัติต่อท่านอย่างถึงที่สุด ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกันเลย เพราะตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานนั้นนึกเสมอว่าผู้ที่ทอดร่างอยู่ตรงหน้านี้เป็นผู้้ทรงคุณอย่างประเสริฐ นึกถึงเมื่อไรก็รู้สึกภาคภูมิใจเมื่อนั้น

อีกงานหนึ่งที่ภาคภูมิใจมากอีกงานคือ การได้รับเลือกให้เป็น ผู้แทนนิสิตระดับ ปริญญาตรี ให้เข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานนี้ได้ให้ความรู้และประสบการทำงานในฐานะ ตุลาการ ซึ่งเป็นงานที่ยอมรับว่าแหวกแนวในกลุ่มเพื่อนของกระผมมาก มีนิสิตที่มีปัญหาความเดือดร้อนเข้ามาให้พิจารณาเป็นระยะ ๆ งานนี้ผมถือว่าเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ความเห็นใจ และ กฎ ระเบียบ

โดยผู้ที่กระผมถือว่าเป็นครูในงานนี้คือ รศ.นพ.ปรีดา ทัศนประดิษฐ ท่านเป็นประธานคณะกรรมการนี้และเป็นอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ท่านทำให้กระผมเห็นว่า ความเมตตากรุณาสามารถมาบรรจบกับกฎ ระเบียบได้อย่างลงตัว ท่านสอนกระผมเสมอว่า ให้ฟังความเดือดร้อนของเขาก่อนแล้วค่อยพิจารณาตามกฎ ระเบียบว่าถูกต้องเพียงใด ตามเหตุตามผล แล้วประชุมกันพิจารณาทางได้ทางเสีย ยึดถือประโยชน์ของนิสิตและมหาวิทยาลัยเป็นหลัก วันนี้กระผมไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้แล้วแต่ประสบการณ์อันนี้จะคอยสอนและให้ข้อคิดกับกระผมตลอดไป

จุดเปลี่ยนของชีวิตมักจะเข้ามาหาเราเสมอ จะแตกต่างกันไปก็ บุคคล เวลา และสถานที่เท่านั้นเอง ตนเองเคยนั่งมองรุ่นพี่ ๆ ว่าเมื่อไรเราจึงจะเรียนจบเหมือนรุ่นพี่เสียที เวลาผ่านไปเร็วมาก ก็มาถึงจุดที่จะต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาคนไข้จริง วันแรกที่ขึ้นมาบนหอผู้ป่วยนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจบทบาทของตนเองเท่าไรนัก ทราบแต่เพียงว่ามีหน้าที่ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ช่วยพี่ ๆ แพทย์ประจำบ้านทำงานบนหอผู้ป่วยบ้าง ต้องอ่านหนังสือสอบเองบ้าง ช่วงนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ค่อยได้สัมผัสกับความเป็นหมอมากนัก แต่อยู่ต่อมาจึงพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นแพทย์ ที่ดีเท่านั้นเอง

อยู่กับผู้ป่วยนานเข้าสิ่งที่ผ่านเข้ามาคือเรื่องราวของความเป็นจริง ซึ่งล้วนแฝงสัจธรรมของชีวิตไว้ทุก ๆ เรื่อง ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนที่เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย วัน ๆ นอกเหนือจากเรื่องการดูแลรักษาแล้ว เริ่มที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยนอกเรื่องบ้าง เช่นถามผู้ป่วยโรคหัวใจโตเรื้อรังในความรับผิดชอบของกระผมว่า อ้าว ป้าครับ วันนี้ทำไมคนเฝ้ายังไม่มาอีกหรอครับ ก็เลยทราบว่าแกมีลูกชายที่มาดูแลแกแค่คนเดียว คนอื่นอาจไม่ว่าง วันที่ไม่มีใครมาดู ไม่ทราบผมคิดไปเองหรือเปล่าว่าวันนั้นแกดูกินข้าวได้น้อยกว่าปกติ ทำหน้าตาดูไม่ค่อยสบายใจ ได้โอกาสก็เข้าไปพูดคุยอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะหมอ แต่ในฐานะคนธรรมดาด้วยกัน เข้าไปนั่งคุยด้วยก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงความกังวลใจว่าตนเองจะหายหรือไม่ ห่วงว่าตนเองอาจเป็นตัวถ่วงของครอบครับ บอกแกว่าไม่เป็นไรนะ ป้านี่ถือว่าโชคดีมากที่มีคนในครอบครัวคอยดูแล ลูกป้านี่สุดยอดเลย แค่ไม่กี่ประโยคของคนธรรมดาอย่างผม แกยิ้มได้

เมื่อเห็นแกยิ้มได้ก็เลยรู้ว่า โอ้ นี่ทุกคนเหนื่อยกับการรักษาแกแทบตาย อาจไม่ได้ช่วยป้าแกเลยก็ได้ แกไม่ได้ต้องการการรักษาที่หรูหรา แกต้องการกำลังใจต่างหาก หลังจากนั้นการสนทนานอกเหนือจากถามว่าเหนื่อยมั้ย มีหอบตอนนอนมั้ย ก็จะพ่วงคำถามอื่นเป็นต้นว่า กินข้าวอร่อยมั้ย เป็นต้น เห็นแกคุยเล่นกับเราได้เราก็สบายใจที่เราทำให้แกสบายใจได้ รู้สึกว่าตัวเองบรรลุอะไรซักอย่างที่ไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดให้ทราบได้


ความหวังเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาจารย์หมอภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์หมอจิตเวชคนหนึ่งที่ผมเคารพมากเคยพูดถึง False Hope (ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ) ว่า เวลาคุณคุยกับผู้ป่วยนั้น อย่าสร้าง False Hope แต่ที่สำคัญกว่าคือ อย่าทำลายมัน

วันที่ทำให้นึกถึงคำพูดนี้คือวันที่ต้องมาดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายในรายวิชาหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คนไข้มะเร็งหลายคนถามผมเสมอว่า จะหายมั้ยหมอ ซึ่งผมเชื่อว่าคนไข้ไม่ได้ถามผมเป็นคนแรก คงต้องการความหวังกำลังใจมากกว่า มีคำพูดหนึ่งที่ผมใช้แล้วได้ผลคือคนไข้สบายใจคือ บอกว่า หมอบอกไม่ได้หรอกว่าจะหายหรือเปล่า ขออย่างนึ่งคืออย่าเพิ่งกลัวไปก่อน คนที่เป็นโรคนี้แล้วหายหมอก็เคยเห็น คือไม่ได้โกหกคนไข้ ไม่ได้สร้างความหวังลม ๆ แล้ง ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำลายความหวังที่อาจเป็นความหวังสุดท้ายของคนไข้ไปด้วย

ความตายกับชีวิตมนุษย์เป็นของคู่กัน หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่คนไข้นึกถึงความตายเสียก่อนอันดับแรกเมื่อป่วยหนัก กระผมเองเรียนหมอมาก็หลายปี รู้ซึ้งถึงสัจธรรมแห่งความตายก็เมื่อครั้งที่ได้เป็นผู้ช่วยชันสูตรพลิกศพใน ภาควิชานิติเวชศาสตร์นี่เอง ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยเห็นศพ แต่เป็นครั้งแรกที่เอาศพเป็นข้อคิด บางศพเป็นคนตายโดยธรรมชาติ บางศพถูกฆ่าตาย บางศพเป็นเด็กเล็ก ก็เลยได้คิดว่าความตายนี่มาหาเราไม่เลือกที่ ไม่เลือกอายุ ไม่เลือกฐานะ สุดท้ายแล้วก็ลงที่ตายกันหมด คิดแล้วก็หดหู่ใจ แต่ก็ได้คิดว่า ไหน ๆ ก็ต้องตายกันหมดแล้วเลือกทำตอนที่อยู่ให้ดี ดีกว่า โลกนี้จะได้มีความสุขขึ้น เมื่อเห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดา บางอย่างที่เล็กน้อยก็ปล่อยมันลงไปได้

ประสบการณ์เรื่องความตายไม่ใช่ได้จากคนตายเท่านั้น คนเป็นก็ให้ข้อคิดเรื่องความตายได้หรือจะย้อนเอาเรื่องคนตายให้เป็นประโยชน์ กับคนเป็นก็ได้ มาเห็นคุณค่าของมรณานุสติอย่างจริงจังก็เมื่อครั้งได้ดูแลผู้ป่วยคนหนึ่ง เป็นคุณป้าอายุประมาณสี่สิบห้าปี มาโรงพยาบาลด้วยเหนื่อยหอบเรื้อรัง น้ำหนักลดจนผอมไปมาก มาครั้งนั้นอาจารย์นัดส่องกล้องเข้าไปที่หลอดลมเพื่อหาสาเหตุของอาการของโรค แต่เกิดมีเลือดออกไม่หยุดจึงมีอาการสำลักเลือดจนกระทั่งหมดสติและหยุดหายใจไป ต้องกู้ชีวิตกันในหอผู้ป่วยวิกฤต(ICU) ระหว่างนั้นป้าแกหัวใจหยุดเต้นไปครั้งหนึ่งแล้ว กว่าจะรอดพ้นมาพบกระผมในหอผู้ป่วยสามัญได้ก็นับว่าหืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว ต่อมาก็พบว่าผลการตรวจส่องกล้องที่ปอดไปนั้นบ่งถึงเซลล์มะเร็ง ผลการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งช่องอกและช่องท้องก็บ่งว่ามีกลุ่มเนื้อเยื่อที่เจริญผิดปกติจริง ๆ ในระหว่างนั้นก็มีอาการไข้ ตัวเหลืองตาเหลืองมากขึ้น พบว่าเป็นการติดเชื้อในทางเดินน้ำดีขึ้นมาอีก เนื่องจากมีก้อนไปกดเบียดทางเดินน้ำดีจนต่อมาต้องนำไปใส่ท่อระบายน้ำดีออกทางหน้าท้อง อาการจึงดีขึ้น

เคยได้เข้าไปคุยด้วยหลายครั้งจนวันหนึ่งเห็นกินข้าวไม่ได้ แล้วทำหน้าเหมือนไม่พอใจ จึงได้เข้าไปถามแกก็พูดจาดูไม่พอใจจริง ๆ ที่เราทำอะไรมากมายกับตัวแกโดยที่แกไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร กระผมเองก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า เออ ก็น่าสงสารเหมือนกันนะ ก็ได้แต่เก็บความไม่พอใจที่เกิดขึ้นที่อยู่ ๆ ป้าก็มาว่าพวกเราอย่างนี้ สักพักแกร้องไห้แฮะ เอ้า เราก็งงเลย พูดแต่ว่าป้าเป็นมะเร็งใช่มั้ย จะตายแล้วใช่มั้ย เราก็บอกใจเย็น ๆ หมอกำลังช่วย ๆ กันดูอยู่ แกบอกแกห่วงลูก มีลูกเล็ก ๆ คนนึง ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร คนโตก็ยังเรียนไม่จบ บอกแกไปว่า ใจเย็น ๆ ก่อนนะ ฟังอย่างเดียวนะอย่าเพิ่งเถียงหมอ ป้าลองคิดดูนะ ใครเกิดมาไม่ตายบ้าง อย่าหาว่าหมอแช่งนะ ป้าคิดดูดี ๆ แกก็เงียบแฮะ คิดในใจว่าเข้าทางเราแล้ว หมอไม่ได้บอกว่าป้าจะตายวันนี้พรุ่งนี้หรืออีกกี่เดือนจะตายนะ หมอไม่สนใจว่าป้าจะอยู่ไปอีกนานเท่าไร หมอสนใจแค่ว่าตอนนี้ ตอนที่ป้ายังหายใจอยู่เนี่ย ป้ามีความสุขหรือเปล่า หมอว่าป้าทำใจให้สงบก่อน คิดถึงคุณความดีที่เคยทำมาจะช่วยให้สงบได้ คราวนี้แกเงียบไปแล้วค่อย ๆ พูดมาว่า ป้าก็เคยไปทำบุญนะ ทอดผ้าป่า ปฏิบัติธรรมมาน่ะนะ เข้าทางเราอีก งั้นดีเลย เคยปฏิบัติธรรมยังไงวันนี้ก็ทำอย่างงั้นแหละ เริ่มมีรอยยิ้มเปื้อนบนใบหน้าที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่นาทียังเอ่อท้นด้วยน้ำตา คลอเบ้า

ป้าคิดตามหมออีกนะ ป้านี่ต้องถือว่าโชคดีมากเลยนะ แกก็ย้อนถามว่า โชคดียังไง ป้ารู้ตัวใช่มั้ยว่าป้าตายไปครั้งนึงแล้ว(ตอนที่แกหัวใจหยุดเต้นที่ ICU) ตอนนี้ฟื้นขึ้นมาได้หมอว่าป้ามองชีวิตให้มีแต่ความสุขเถอะ จะตายวันนี้พรุ่งนี้ถ้ามีความสุขแล้วหมอถือเป็นบุญของป้าแล้ว แกนิ่งไปเหมือนจะคิดได้ แกก็ร้องไห้เบา ๆ ปากก็บอกขอบคุณคุณหมอมาก ๆ แล้วผมก็ปล่อยให้แกนอนหลับไป

เช้าวันรุ่งขึ้นมีคนมาเยี่ยมเป็นคนแก่แล้วก็เด็กเล็ก ๆ ผมก็เดินผ่านไป พอเจอหน้ากันอีกครั้ง ป้าแกบอกว่า หมอรู้มั้ย เมื่อครู่นี้แม่ของป้ามาเยี่ยม เห็นหน้าแม่แล้วนึกถึงคำพูดของคุณหมอ ป้าร้องไห้แล้วก็กราบแม่เลยนะ โอกาสพลิกชีวิตของคนคนนึงนั้น ผมว่ามีอยู่รอบตัวอยู่แล้วแต่ว่าเราจะนำกลับเข้ามาเป็นข้อคิดปรับปรุงตนเองให้ได้รับประโยชน์จากโอกาสที่ผ่านมาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นเองหรือไม่

มีอีกหลายเรื่องราวที่ได้เจอเพราะผู้ป่วยแต่ละคนคือชีวิตที่หล่อหลอมมาต่างกัน ถ้าเราเอาตัวเราเป็นศูนย์กลางคงยากที่จะเข้าใจ และแก้ปัญหาให้กับคนไข้อย่างไม่ถูกจุด ตอนนี้กระผมเองก็ยังไม่มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ในทางคลินิกมากพอที่จะแก้ปัญหาให้กับคนไข้ได้อย่างถูกจุด จึงยอมรับว่าต้องหมั่นฝึกฝนเรียนรู้ต่อไปตลอดชีวิต เพราะผมทราบดีว่าหมอที่สามารถรักษาคนไข้ให้หายได้ยังไม่สมบูรณ์พอ หมอที่แก้ปัญหาให้คนไข้ได้ต่างหากจึงจะสมบูรณ์ที่สุด

ทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้ล้วนเกิดจากสิ่งที่กระผมพบและเห็นเก็บมาเป็นประสบการณ์ แต่ยังขาดอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึงนั่นคือ ครูต้นแบบของชีวิต(Role Model) ผมถือว่าหลายสิ่งที่เป็นตัวผมมีส่วนเลียบแบบจากครูของผมท่านหนึ่งคือ ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว อาจารย์เป็นหมอวิสัญญีที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยวิกฤต และยังเป็นผู้นำในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย ในแง่ของวิชาการ อาจารย์สอนเทคนิกขณะดมยาสลบให้กับคนไข้แบบราบรื่นมาก สอนผมใส่ท่อช่วยหายใจจนใส่เองจนได้ แง่ของหมอ อาจารย์เป็นผู้ที่เห็นใจผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ไม่เคยใช้คำพูดที่ทำร้ายน้ำใจคนไข้ (และนิสิตแพทย์อย่างผม) คำพูดหลาย ๆ คำ สีหน้าท่าทาง กระผมยอมรับว่าเลียนแบบมาใช้เกือบหมด รู้สึกโชคดีมากที่ได้มาเป็นศิษย์ของครูคนนี้และขอสดุดีครูแพทย์คนดี คนนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

วันนี้ในฐานะ นักเรียนแพทย์ ปีสุดท้าย ยังคงจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างขึ้นใจ เรื่องราวที่น่าประทับใจ คำพูดทุกคำที่มีส่วนช่วยยกระดับจิตใจของคนไข้ ไม่ได้มีเพียงที่นำมาเล่าเท่านั้น เรื่องที่ยกมาเล่าให้ฟังอยากให้ผู้อ่านได้ลองศึกษา กระผมเองไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญในทางใด ๆ ทั้งสิ้น หากแต่สิ่งที่นำมาเล่านั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นด้วยใจที่อยากให้คนไข้มีสุขและอยู่กับโรคร้ายได้อย่างเป็นสุข หมอเราเองคงรักษาคนไข้ไม่ได้ทุกโรค แต่เราสามารถที่จะทำให้คนไข้เป็นสุขได้เสมอ แม้ในปัจจุบันนี้มีเรื่องราวหลายเรื่องที่ดูเหมือนจะทำให้ความเป็นหมอของเรา ดูด้อยค่าลง ถ้าเรายึดถือประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญผมเชื่อแน่ว่าหลายเรื่องร้าย ๆ จะผ่อนหนักเป็นเบาได้

ขอเป็นกำลังใจให้น้องหมอใหม่ทุกคน ให้ฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ทั้งที่มาจากภายนอกและที่มาจากภายในตัวของน้องเอง และขอสัญญากับแพทย์รุ่นพี่ว่าจะทำตัวเป็นแพทย์ที่ดี ยึดประโยชน์ของคนไข้เป็นหลักให้สมกับความดีที่รุ่นพี่ ๆ ทุกคนได้สั่งสมมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป




นายวรวรรธน์ แก้ววิเชียร
นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




ถ้าใครอ่านแล้ว สนใจ ต้องการซื้อหนังสือ ติดต่อ มูลนิธิแพทย์ชนบท ตามลิงค์นี้ได้เลยครับ ราคาเล่มละ 60 บาท 160 หน้า คุ้มค่ามาก ๆ ครับ

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-11-2008&group=12&gblog=1




Create Date : 30 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2551 11:19:57 น. 1 comments
Counter : 2774 Pageviews.  

 
สวัสดีค่ะคุณหมอ


โดย: ริวคิ-mawin-maji-minic วันที่: 30 พฤศจิกายน 2551 เวลา:11:55:51 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]