Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการผู้เชี่ยวชาญ ผ่าปัญหา ‘หมอสมองไหล’ กับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา



แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการผู้เชี่ยวชาญ ผ่าปัญหา ‘หมอสมองไหล’ กับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

แนวคิดการเพิ่มอัตรา “ค่าปรับ” กับแพทย์ที่เรียนจบแล้วผิดสัญญาไม่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ จาก 4 แสนบาท เป็น 5 ล้านบาท ของ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ “สมองไหล” จากภาครัฐสู่ภาคเอกชนนั้น ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ

ในมุมหนึ่งมีเสียงสนับสนุนว่า “ยาแรง” ขนานนี้จะช่วยยับยั้งปัญหาให้หยุดชะงักลงได้ ทว่าในอีกมุมหนึ่งกลับมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (ขอบคุณภาพจาก WAY Magazine.org)

สำนักข่าว HFocus พูดคุยกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อฉายภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

“ถ้าพูดตรงๆ แนวคิดนี้คงไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมด” อาจารย์ธีระวัฒน์ เริ่มบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมา

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าซับไพร์มของแพทย์ในประเทศไทยไม่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมาเราพุ่งเป้าพิจารณากันแต่ในเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองในรายละเอียดว่าแพทย์ยังมีชีวิตอยู่เท่าใด อยู่ในพื้นที่เท่าใด และช่วงอายุเท่าใด

ทั้งนี้ ทางแพทยสภา โดย พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รักษาการเลขาธิการแพทยสภา ได้รวบรวมข้อมูลจนถึงปลายปี 2561 พบว่าจริงแล้วๆ บุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญในการบริบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงเรียนแพทย์ในรูปของแพทย์ประจำบ้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นแพทย์อายุน้อยทั้งสิ้น

“เวลาเราพูดถึงปัญหาแพทย์กระจุกตัวไม่กระจาย โดยมักพูดกันต่อว่าจริงๆ แล้วกำลังคนเพียงพอนั้น แท้ที่จริงแล้วมันไม่เพียงพอ เพราะว่าช่วงอายุของการทำงานจริงๆ มีอยู่แค่ 2-3 หมื่นคนเท่านั้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้แพทย์ “กระจุกตัวไม่กระจาย” ก็ต้องถามต่อว่าเหตุใดแพทย์จึงอยู่ไม่ได้ในระบบ ?

----- แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ -----

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้แพทย์อยู่ไม่ได้ในระบบมีหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ 1.ภาระงานมีมากเกินไปในขณะที่กำลังคนมีจำกัด 2.ผู้ป่วยมีความต้องการรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเกิดความอึดอัด เพราะไม่สามารถสร้างความพอใจให้กับตนเองและผู้ป่วยได้

“ประการแรกคือแพทย์ทนไม่ไหว ประการต่อมาคือเรื่องของความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ ความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมไปถึงความมั่นคงในชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ตรงนี้จะเห็นได้ว่าแพทย์ที่ใช้ทุนเสร็จเรียบร้อยก็มักจะกลับมาเรียนต่อ ซึ่งการเรียนต่อตรงนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการเผชิญชีวิตต่อภายภาคหน้า

“เพราะต้องยอมรับว่าสังคมในปัจจุบันนี้ต่างร้องเรียกหาผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนต้องการตรวจ รักษา ผ่าตัดกับผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแพทย์ก็ต้องหาอะไรที่ตอบสนองความต้องการของสังคม และตอบสนองความมั่นคงของตัวเองด้วย ในกรณีนี้ต้องถามคำถามต่อว่าแล้วจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร” อาจารย์ธีระวัฒน์ ตั้งคำถาม

อาจารย์แพทย์รายนี้ ตั้งประเด็นต่อว่า ทางออกของปัญหาคือการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทะลักออกไปข้างนอกจนแก้ปัญหาการกระจุกตัวได้เองเช่นนั้นหรือ และในขณะที่แพทย์ทะลักออกไปข้างนอกแล้วทุกคนยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ เมื่อแพทย์ไม่สามารถแข่งขันกันได้ในเมืองใหญ่ก็จะกระจายออกไปด้านนอกเองเช่นนั้นหรือ

“การแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้มักพบได้ในเมืองใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่สุดแล้วระบบเช่นนี้ในตอนท้ายก็ล่มจม เพราะด้วยวิทยาการอะไรต่างๆ มันมุ่งตรงไปที่การรักษา เมื่อพุ่งเป้าไปที่การรักษาแล้วก็จะนำมาซึ่งนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยี หรือเครื่องมือหัวใจเทียม ปอดเทียม ฯลฯ

“แต่ที่มาของนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญเหล่านี้ ก็คือเงินทองงบประมาณมหาศาลที่ต้องใช้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นหากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนี้โดยที่ไม่กลับมามองถึงประเด็นสำคัญคือเรื่อง “การส่งเสริมป้องกัน” และ “ความตระหนักรู้ในสภาพความเป็นจริงของประชาชนเอง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ก็คงมีปัญหาตามมา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

----- สร้างบรรยากาศตระหนักรู้สุขภาพ หนุน ปชช.ดูแลตัวเอง -----

ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ประเด็นว่า ทางออกของปัญหาคือประชาชนเองต้องตระหนักว่าการดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกับความตระหนักรู้ในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ แต่สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้นคือการรับรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพ และการรับรู้ว่าโรคต่างๆ ไม่เกิดขึ้นมาภายใน 5-10 ปี หากแต่เป็นการสะสมมาอย่างยาวนานเป็น 10-20 ปี แล้วจึงแสดงอาการออกมา

“คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ความตระหนักรู้เช่นนี้เกิดขึ้นมาได้ ส่วนตัวคิดว่านั่นคือระบบการศึกษา ซึ่งไม่ใช่การศึกษาของแพทย์ แต่เป็นการศึกษาตั้งแต่เด็กอนุบาล การศึกษาในครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ เมื่อตระหนักรู้แล้วก็จะทำให้การป้องกันได้ผล” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

สำหรับการป้องกันที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงในข้างต้นนั่นคือการป้องกันในตัวเอง แต่ยังมีการป้องกันอีกส่วนหนึ่งคือการป้องกันโดย “หน่วยงานรัฐ” ซึ่งการให้ความรู้โดยภาครัฐนั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และนั่นคือที่มาของ “ระบบสาธารณสุขมูลฐาน” ที่พยายามจะเปลี่ยนสถานีอนามัยให้มีความพร้อมมากขึ้น กำหนดให้มีแพทย์ประจำเพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

“ในกรณีนี้หากนำแพทย์ลงไปเฉยๆ ก็จะมีความยากเย็นแสนเข็ญ เพราะตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เดิมทีในอดีตหากเริ่มต้นด้วยการคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นโรค แล้วเริ่มป้องกันตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว ปัจจุบันจะไม่มีคนไข้เดินเข้าโรงพยาบาลมากมายเช่นนี้

----- โน้มน้าวด้วยสวัสดิการ – ผลิตผู้เชี่ยวชาญเพื่อชุมชน -----

“เพราะฉะนั้นเรื่องระบบสาธารณสุขมูลฐานในขณะนี้ ถ้าส่งหมอเข้าไปในพื้นที่เมื่อใด หมอคนนั้นต้องรอบจัด คือต้องเป็นหมอที่เก่ง เก่งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เฉียดเต็มขั้น หรือเข้ามาครึ่งทางของตัวโรคแล้ว แต่ถ้าหากคนที่ลงไปตรงนั้นเป็นแค่หมอที่ให้ความรู้ การป้องกันเท่านั้นคงไม่เพียงพอ เพราะประชาชนเริ่มกลัวตายขึ้นมาแล้ว เขาเห็นว่าเบาหวาน น้ำตาล สูงมากแล้ว

“ประเด็นคือในขณะนี้หมอไม่ใช่แค่การคัดกรองคนที่เริ่มป่วย แต่เป็นการลงไปเพื่อรักษาคนที่ป่วยแล้ว และป่วยมาครึ่งทางแล้ว เพราะฉะนั้นความยากของมันก็คือถ้าหากจะนำหมอที่รอบจัด หรืออยู่ในระดับเช่นนี้ลงไปในพื้นที่ได้ ก็จะต้องดึงหมอที่กำลังกระจุกตัวอยู่ในขณะนี้ ด้วยการให้ความสำคัญเขา ให้ชื่อเสียง ให้เขารู้สึกว่าเขามีเกียรติ เขากำลังทำหน้าที่สำคัญ และที่สำคัญคือเขาต้องสามารถเลี้ยงตัวได้ และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้"

“ดังนั้นการดำเนินการก็คือเริ่มนำเอาผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีอยู่แล้วแต่ยังกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ อาจจะต้องจูงใจว่าแทนที่จะแก่งแย่งกันในเมืองอย่างยากลำบาก ลองไปอยู่ในบรรยากาศสบายๆ คุณภาพชีวิตดีๆ ในพื้นที่ แล้วยังได้ค่าตอบแทนมหาศาล โดยคิดค่าตอบแทนตามภาระงานที่เกิดขึ้น คือทำงานมากก็ควรได้ค่าตอบแทนมาก” อาจารย์ธีระวัฒน์ ลำดับความเชื่อมโยงของปัญหา

เขา กล่าวอีกว่า หากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตเมื่อแพทย์เรียนจบแล้วใช้ทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาจะกลับมาศึกษาต่อหรือฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ของเขา ควรจะฝึกอบรมให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ในภูมิลำเนาของตัวเอง เช่น ในเขตนั้นมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่งก็ให้แพทย์ไปศึกษาอยู่ที่นั่น แล้วจบออกมาก็ไปอยู่ในภูมิลำเนาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีพี่เลี้ยงอยู่ในเขตตรงนั้นด้วย

----- ฉายสภาพความเป็นจริง - เปลี่ยน ‘Mindset’ ของรัฐบาล -----

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า หากต้องการทำให้แนวคิดข้างต้นประสบผลสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยน “Mindset” หรือกระบวนการทางความคิดของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐใหม่

“เราต้องเปลี่ยน mindset ของ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) รวมถึงสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง คือในหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้ จะคิดถึงเรื่องการตัดเงิน การตัดงบ แต่ไม่ได้คิดถึงความจำเป็น แม้ว่าความจำเป็นจะมีอย่างมหาศาล แต่เขาไม่ฟังหรอก เขามีหน้าที่ตัดเฉยๆ ดังนั้นหากเราทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเข้าใจในสภาพความเป็นจริง ก็คิดว่าน่าจะสามารถพูดจากันได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

สำหรับเรื่องของงบประมาณนั้นนับเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพูดกันต่อ “อาจารย์ธีระวัฒน์” ยืนยันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย แต่จำเป็นต้องทำให้ประเทศเห็นปัญหาร่วมกันว่า ในโรคๆ หนึ่ง หรือในโรคเดียวกันนั้น หากเพิ่งเกิดขึ้นจะรักษาได้รวดเร็ว แต่หากเป็นมากแล้วจะรักษายาก มีความซับซ้อน และใช้งบประมาณมหาศาล

ดังนั้นเวลาที่จะพูดให้ประชาชนตระหนักรู้ จำเป็นต้องพูดความจริงว่าประเทศกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่ ฉะนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเลิกพูดว่า ขณะนี้ให้สิทธิประโยชน์ตรงนั้นตรงนี้เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่ สปสช.ต้องออกมาพูดด้วยเสียงเดียวกันว่าตัวเลขจริงๆ เป็นอย่างไร คนไข้ที่เป็นโรคแล้วเข้าโรงพยาบาลรัฐ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยไม่คิดกำไรเป็นเท่าใด

“ต้องพูดความเป็นจริงกันว่าเราใช้งบประมาณไปเท่าใด มีแพทย์มีพยาบาลกี่คนมาช่วยในการรักษาผู้ป่วยในห้องไอซียู หรือผ่าตัดใหญ่เท่าใด คือชี้ให้เขาเห็นว่าเราใช้กำลังคน กำลังเงิน เครื่องมือ อุปกรณ์ ทรัพยากรต่างๆ ไปเท่าใด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเห็นและต้องร่วมกันรับรู้ว่า ถ้าเขาไม่ดูแลตัวเองหรือไม่ปฏิบัติตัวให้ดี ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศก็จะล่ม” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ พูดชัด

----- ระบบสาธาณสุขของชาติล่ม ‘คนจน’ ก้มหน้ารับเคราะห์กรรม -----

ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศล่มแล้วเป็นอย่างไร ? ในฐานะกรรมการปฏิรูปซึ่งเห็นภาพกว้างของระบบสาธารณสุขในประเทศไทย เขา อธิบายว่า เมื่อระบบสาธารณสุขของประเทศล่ม ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนจน ซึ่งเป็นคนด้อยโอกาสเป็นอันดับแรก

“ถ้าประชาชนไม่ดูแลตัวเองเช่นนี้ เมื่อระบบล่มคนจนก็จะตายก่อน ซึ่งจริงๆ แล้ว คนจนหรือคนด้อยโอกาสคือกลุ่มคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก แน่นอนว่าเมื่อเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เราก็ต้องให้เขาหมด แต่หากเขาเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็จะให้เขาเฉพาะในสิ่งที่เขาขาดแคลน และที่ต้องเข้าใจต่อก็คือไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับในระดับเดียวกัน

“อย่างคนขี่รถเบนซ์มาแล้วใช้สิทธิ 30 บาท ก็เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ เพราะเขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงแพทย์และการรักษาได้โดยกลไกต่างๆ อาจจะไม่ได้ยืนต่อแถวเอง หรือมีความสนิทสนมเกรงอกเกรงใจกัน ดังนั้นอีกประเด็นที่ต้องพูดกันต่อคือ “ความเสียสละของคนไทย” ซึ่งก็คือการรู้ว่าตัวเองพออยู่ได้ และยังมีคนอื่นที่ลำบากมากกว่าเราอีกเป็น 10 ล้านคน เราก็ไม่ควรเอาตรงนี้เพื่อที่จะแบ่งไปให้คนอื่น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยน Mindset ของคนไทยทั้งประเทศด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ในฐานะที่เป็นแพทย์และอาจารย์แพทย์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ให้ภาพต่อไปว่า แพทย์ที่รักษาคนไข้ไม่ได้จะรู้สึกเป็นทุกข์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากไม่ได้ หนำซ้ำตัวเองยังดูแลครอบครัวของตัวเองไม่ได้ด้วย ดังนั้นคนไข้เห็นแพทย์ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าแพทย์ก็มีความทุกข์ ขณะเดียวกันแพทย์ย่อมเข้าใจว่าคนไข้ที่เดินมาหานั้นมีความทุกข์มหาศาล

“ถ้ามีความเห็นอกเห็นใจกันว่าต้องอยู่ได้ และต้องยอมรับว่าขณะนี้เราใช้เงินก้อนเดียวกัน ดังนั้นขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องพูดความจริง ไม่ใช่มาด่ากันว่ารัฐบาลไม่ควรซื้อเรือดำน้ำ เพราะถึงไม่ซื้อเรือดำน้ำก็นำเงินนั้นมารักษาได้เพียงครู่เดียว เพราะขณะนี้ค่าใช้จ่ายมันมหาศาลมาก ผมคิดว่าในสถานการณ์นี้เราไม่ควรหาตัวผู้ร้าย หาแพะรับบาป อย่ามาหาว่ารัฐบาลไม่ดี รัฐบาลจะล้ม 30 บาท หรือจะโทษประชาชนว่าไม่ดี ไม่รู้จักดูแลตัวเอง

“คือถ้าเราเปลี่ยนการด่า การหาแพะ หาตัวผู้ร้าย มาเป็นการเข้าใจปัญหาอันหนึ่งอันเดียวกัน ผมคิดว่าถ้าไม่เปิดความหายนะที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกคนรับทราบ ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขเลย” อาจารย์ธีระวัฒน์ ขมวดประเด็น

----- เรารักษาทุกโรคไม่ได้ – แนะรื้อใหญ่สิทธิประโยชน์ -----

การรักษาทุกโรคในมุมมองของ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เขา ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่สามารถรักษาทุกโรคได้

อาจารย์แพทย์รายนี้ ขยายความว่า สิ่งที่ต้องคิดต่อจากนี้ก็คือยาที่จะนำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพในแต่ละโรคนั้น ควรจะใช้ยาอะไรจึงจะมีความเหมาะสม นั่นเพราะปัจจุบันมีตำรับยาเป็นจำนวนมาก มีทั้งยาที่สามารถ “ชะลอ” โรคได้จริงๆ และยาที่ทำหน้าที่เพียง “บรรเทา” อาการเท่านั้น

“ยาที่ชะลอโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ต้องมาเป็นเบอร์ 1 แต่การใช้ยาในปัจจุบันเรากลับใช้ยาบรรเทาอาการ ยกตัวอย่างโรคมะเร็ง ซึ่งต้องใช้ยาให้สอดคล้องกับยีนส์ อย่างการรักษามะเร็งปอด หากใช้ยาตามยีนส์จะมีมูลค่ายา 1 ล้านบาท เราก็ควรกลับมาดูแล้วว่าใน 1 ล้านบาทนั้น ทำให้คนไข้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อได้กี่ปี เราจำเป็นต้องมีข้อมูลตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ได้นานแต่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดเวลา

“เราต้องคิดนอกกรอบว่ายาที่เอามาใช้ในปัจจุบันมันเหมาะสมและจำเป็นหรือไม่ เราเข้าใจว่าทุกคนอยากให้คนรัก คนในครอบครัว หรือตัวเองมีชีวิตที่ยืนยาว แต่การจะยืดชีวิตคนออกไปนั้นเราต้องดูว่าเขาเหล่านั้นสามารถอยู่ต่อได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี หรือเป็นเพียงการยืดชีวิตเพื่อให้เขาทุกข์ทรมานต่อไป

“เราไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มีเงินแล้วจะปล่อยให้ตาย ไม่ใช่ แต่นี่เป็นหลักปฏิบัติว่าในเมื่อเราใช้เงินก้อนเดียวกัน เราก็ต้องตายด้วยกัน แต่คุณภาพชีวิตต้องดีไปจนถึงวันเสียชีวิต แต่หากคุณเปิด google ดูแล้วเจอว่าปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาขนาดนี้แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องช่วยตัวเอง เราช่วยไม่ได้ ประเด็นก็คือต้องมีการทบทวนตำหรับยาใหม่ทั้งหมด” อาจารย์ธีระวัฒน์ เสนอ

มากไปกว่านั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อไปก็คือการกลับมาทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพใหม่ทั้งหมด

“การมุ่งแต่เพิ่มสิทธิประโยชน์ขึ้นเรื่อยๆ ไม่สอดคล้องกับความจริงของประเทศ มันคือการสร้างผลงานเท่านั้น แต่การสร้างผลงานเหล่านั้นกลับสร้างภาระมากขึ้นๆ เพราะการให้สิทธิประโยชน์โดยที่ไม่มีเงินมา ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้รักษา

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนไม่กล้าแตะ เพราะเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียง ฐานทางการเมือง แต่ถ้าไม่ได้มองเรื่องนี้และพูดกันด้วยข้อเท็จจริง ผมเสนอหลายครั้งแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเอาความจริงของแต่ละโรคมาตีแผ่ เช่น ผ่าไส้ติ่ง ในระดับปกติอยู่ที่เท่าใด ถ้าผ่าไส้ติ่งที่แตกแล้วอยู่ที่เท่าใด และความต้องการความพิเศษในการรักษา มันลามไปถึงแพทย์ที่ใช้ทุนในต่างจังหวัด และมีภาระงานมาก ถ้าเขาทำคลอดพลาดหรือผ่าไส้ติ่งแตกขึ้นมา คำถามแรกที่ศาลถามก็คือคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่

“ตรงนี้ก็ต้องเปลี่ยนเรื่องความเข้าใจของประชาชน และความเข้าใจทางด้านกฎหมาย คือถ้าเราต้องการให้แพทย์ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญทำการรักษาในทุกตารางเมตรของประเทศไทย คุณจะต้องรออีกนานมากจึงจะมีแพทย์ในระดับนั้นๆ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ทิ้งท้าย

กดถูกใจแฟนเพจ Hfocus.org บน Facebook ติดตามข่าวสารระบบสุขภาพทุกความเคลื่อนไหว

https://www.hfocus.org/content/2018/07/16017




 

Create Date : 11 มกราคม 2562   
Last Update : 11 มกราคม 2562 13:57:51 น.   
Counter : 722 Pageviews.  

ชี้แนวโน้มการฟ้องร้องทางการแพทย์สูงขึ้นเรื่อยๆ



ชี้แนวโน้มการฟ้องร้องทางการแพทย์สูงขึ้นเรื่อยๆ

ผอ.ศูนย์สันติวิธี สธ.ชี้แนวโน้มการฟ้องร้องทางการแพทย์สูงขึ้นเรื่อยๆ เผยข้อมูลย้อนหลัง 20 ปี สธ.ชนะคดีฟ้องร้องทางการแพทย์ 45 คดี ไกล่เกลี่ยจบชั้นศาล 164 คดี และแพ้ 21 คดี ต้องจ่ายเงินให้ผู้ร้อง 36 ล้านบาท แจงมาตรการ 2P safety ช่วยแก้ไขปัญหาได้ พร้อมจับมือ สปสช. – ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนอิสระ – สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล คัดเลือกศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพดีเด่นระดับเขต

นพ.อิทธิพล สูงแข็ง

วันที่ 9 มกราคม 2562 ณ โรงแรมอวานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น นพ.อิทธิพล สูงแข็ง ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข และผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 4 จังหวัด ร้อยแก่นสารสินธุ์ (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) บรรยายพิเศษเรื่องการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการ ในการประชุมพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ซึ่งจัดโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น ว่าสถานการณ์เรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ด้านสาธารณสุขมีเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประมาณ 1,000 ราย/ปี หลังจากรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตาม มาตรา 41 ไปแล้ว ผู้เสียหายได้ไปฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และคดีผู้บริโภคประมาณ 20 คดีต่อปี หรือ 2% ของผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ

นพ.อิทธิพล กล่าวต่อว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551 หลังจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้เป็นต้นมา การฟ้องร้องด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่จะเป็นการฟ้องคดีผู้บริโภค ไม่ใช่การฟ้องในคดีแพ่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมด้วยการให้ความรู้ อบรมเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล การกำหนดนโยบายความปลอดภัย ฯลฯ เนื่องจากคดีผู้บริโภคนั้นไม่มีอายุความ ผู้ฟ้องไม่ต้องวางเงินมัดจำกับศาล และเป็นหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเป็นผู้หาหลักฐานมาหักล้างคำฟ้อง

นพ.อิทธิพล กล่าวว่า จากสถิติการฟ้องร้องทางการแพทย์ย้อนหลัง 20 ปี ( 2539 - 31 ตุลาคม 2560) พบว่ามีการฟ้องร้องคดีฟ้องแพ่ง จำนวน 287 คดี คดีผู้บริโภค จำนวน 168 คดี คดีปกครอง 3 คดี รวมเป็น 499 คดี ทุนทรัพย์ที่ฟ้องรวมประมาณ 3,192 ล้านบาท จากคดีทั้งหมดที่ฟ้องร้อง มีคดีที่ศาลตัดสินถึงที่สุดแล้ว 66 คดี กระทรวงสาธารณสุข ชนะ 45 คดี แพ้ 21 คดี และมีการถอนฟ้องด้วยการไกล่เกลี่ยได้จบในชั้นศาล จำนวน 164 คดี

จากสถิติพบว่าสาเหตุการฟ้องคดีกว่าครึ่งหนึ่งของคดีเป็นการรักษาผิดพลาด วินิจฉัยผิดพลาด รองลงมาเป็นการคลอด พฤติกรรมบริการ แพ้ยา รักษาผิดมาตรฐาน และคดีที่ศาลตัดสินจนถึงที่สุดและกระทรวงสาธารณสุขต้องชำระเงินให้กับผู้ฟ้องตามคำพิพากษาแล้ว 36 ล้านบาท

นพ.อิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางกรอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย Patient and Personal safety (2P safety) โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นการแก้ไขเพื่อการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล และลดปัญหาการฟ้องร้องทางการแพทย์ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ป่วย ภาคประชาชน บุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

นพ.อิทธิพล กล่าวว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ 2P safety ในโรงพยาบาล คือ ผู้บริหารจะต้องกำหนดให้ 2P safety เป็นนโยบาย และมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และมีการรายงานความเสี่ยง จัดเวทีสร้างการเรียนรู้ และมีการติดตาม ประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการคัดเลือกศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ และการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่นระดับเทศ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์สันติวิธี กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งขาติ พ.ศ. 2545, และ สถานบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) โดยมีเป้าหมายที่จะต้องมีศูนย์บริการฯ ที่ดีเด่นระดับเขต จำนวน 13 เขต แบ่งเป็น โรงพยาบาลขนาดเตียงไม่เกิน 150 เตียง และ โรงพยาบาลที่มีขนาดเตียงตั้งแต่ 150 เตียงขึ้นไป

ทั้งนี้ กลุ่มกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปสาเหตุการฟ้องร้องทางการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560) พบว่า มีสาเหตุ คือ

1. รักษาผิดพลาด จำนวน 143 คดี แบ่งเป็น ใน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 108 คดี โรงพยาบาลชุมชน 35 คดี

2. การคลอด จำนวน 69 คดี แบ่งเป็น ใน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 41 คดี โรงพยาบาลชุมชน 28 คดี

3. ไม่เอาใจใส่ดูแล (พฤติกรรมบริการ) จำนวน 23 คดี แบ่งเป็น ใน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 21 คดี โรงพยาบาลชุมชน 2 คดี

4. วินิจฉัยผิดพลาด จำนวน 27 คดี แบ่งเป็น ใน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 21 คดี โรงพยาบาลชุมชน 6 คดี

5. แพ้ยา จำนวน 11 คดี แบ่งเป็น ใน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 4 คดี โรงพยาบาลชุมชน 11 คดี

6. รักษาผิดมาตรฐาน จำนวน 6 คดี แบ่งเป็น ใน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 3 คดี โรงพยาบาลชุมชน 3 คดี

7. อุปกรณ์ในการรักษา จำนวน 2 คดี แบ่งเป็น ใน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 2 คดี

กดถูกใจแฟนเพจ Hfocus.org บน Facebook ติดตามข่าวสารระบบสุขภาพทุกความเคลื่อนไหว
https://www.hfocus.org/content/2019/01/16725?fbclid=IwAR1uwa_abDM40ijVycKJqBGhdHYwTJoj9PZgh-AqpGYCsVb12zPxOgwV4TI




 

Create Date : 11 มกราคม 2562   
Last Update : 11 มกราคม 2562 12:35:39 น.   
Counter : 1018 Pageviews.  

เทคนิคการสื่อสารสำหรับแพทย์ ... ผศ. นพ. พนม เกตุมาน





เทคนิคการสื่อสารสำหรับแพทย์
(Communication Skills for Humanistic Physicians)

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 4 มิถุนายน 2561) เอกสารประกอบการสอน : ยาวมาก

การสื่อสาร คือ ขบวนการติดต่อ สัมพันธ์ ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก และ ค่านิยม ระหว่างบุคคล เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเกิดพฤติกรรมตามมา

วัตถุประสงค์ ประโยชน์ของการสื่อสาร ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ได้รับข้อมูลเข้าใจผู้อื่น ช่วยให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรม และช่วยเหลือผู้อื่น
กระบวนการสื่อสารเริ่มต้นจากการใช้เทคนิคต่างๆของการสร้างความสัมพันธ์ การฟัง เก็บใจความ สรุปความ การเข้าใจ การถ่ายทอดสาร สร้างความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ เกิดทัศนคติที่ดี และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน


เทคนิคการสื่อสาร
ทักษะพื้นฐานสำคัญของการสื่อสาร เริ่มต้นจากการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจผู้ป่วยและญาติ สามารถใช้ในการซักประวัติ การสอนงาน การสอนทักษะ การประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ การให้คำปรึกษา และการ feedback และการตักเตือนเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนิสิตนักศึกษาแพทย์ อาจารย์แพทย์ที่มีทักษะการสื่อสารที่ดี จะช่วยพัฒนานิสิตนักศึกษาแพทย์ให้เป็นแพทย์ที่ดีและมีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์

องค์ประกอบการสื่อสาร
1. ผู้ส่งข้อมูล
2. ผู้รับข้อมูล
3. วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร ต้องการให้เกิดการเลี่ยนแปลงพฤติกรรมใด
4. ข้อมูลที่ต้องการสื่อสาร (Message) สื่อข้อมูล ความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ความคาดหวัง
5. สิ่งแวดล้อมของการสื่อสาร (Environmental Context) บรรยากาศ ความเป็นส่วนตัว
6. เทคนิคการสื่อสาร( Techniques of Communication) เช่น การใช้ภาษาพูด ภาษากาย ท่าทางการสื่อสารทางเดียวหรือสองทาง และ I-U Message เป็นต้น

เทคนิคการสื่อสารที่ดี
การเป็นแพทย์ใช้การสื่อสารในหลายสถานการณ์ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ การให้คำปรึกษาแนะนำ การสร้างแรงจูงใจการเปลี่ยนพฤติกรรม การแจ้งข่าวร้าย การขอบริจาคอวัยวะ การจัดการความขัดแย้ง และการตักเตือน

เทคนิคเบื้องต้นที่เป็นพื้นฐานช่วยให้เกิดการสื่อสารที่ดี มีดังนี้

1. ทัศนคติที่ดี (Good Attitudes)
ทัศนคติของผู้สื่อสารที่ดี ควรทำให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ ร่วมมือ เปิดเผย ยอมรับได้ง่าย คือท่าทีด้านบวกยอมรับแบบไม่มีเงื่อนไข (unconditional positive regard) มองในแง่ดีเป็นกลาง (neutral) มีความเข้าใจ(understanding) อยากช่วยเหลือ (empathy) เห็นใจ (sympathy) เริ่มต้นจากการมองด้านดี ค้นหา และหยิบยกมาเริ่มต้นในการสนทนา หรือการสอน ความรู้สึกดีนี้จะแสดงออกเป็นท่าที สายตา และท่าทางที่รับรู้ได้ และเกิดการยอมรับ เปิดช่องการสื่อสารกันสองทาง (two-way communication) ในการเรียนการสอน หรือ การฝึกอบรม คนที่สร้างทัศนคติที่ดีได้เร็ว จะเป็นที่ยอมรับได้เร็วและมากกว่า

2. ทักทาย (Greeting)
ผู้สื่อสารสร้างประโยคทักทายที่อ่อนโยน นุ่มนวล เป็นกันเอง อาจใช่เทคนิค (small talks) คือประโยคทักทาย ถามเรื่องง่ายๆ แสดงความเป็นกันเอง โดยไม่คุกคาม พยายามเรียกชื่อมากกว่าใช้สรรพนาม เช่น
“สวัสดีครับ .........(เรียกชื่อ)”
“.........(ชื่อ)เมื่อกี้ทำอะไรอยู่ครับ”
“ทานข้าวแล้วหรือยัง.........(ชื่อ)”
“.........(ชื่อ)คาบที่แล้วเรียนอะไร ยากไหม”
ถ้ารู้จักพื้นฐานนักศึกษาแพทย์บ้าง เช่น ชอบอะไร ทำอะไร เพื่อนเป็นใคร โดยเฉพาะด้านดีๆ จะหาทางเริ่มต้นคุยได้ นุ่มนวล และสังเกตว่าพยายามเอ่ยชื่อเพื่อแสดงความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยเสมอ หลีกเลี่ยงคำว่า “เธอ” หรือสรรพนามอื่น
ในกรณีที่ยังไม่รู้จักกัน ควรแนะนำตัวเอง วัตถุประสงค์ของการคุยกัน เวลาที่จะคุยกัน เพื่อให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจ บรรยากาศผ่อนคลาย และเป็นกันเอง

3. เริ่มต้นจากจุดดี (Beginning with Positive Aspects)
ควรเริ่มต้นจากข้อดีก่อนเสมอ
“พี่ดีใจที่ได้คุยกับ.....(ชื่อ) (พยายามเรียกชื่อ ดีกว่าใช้คำ “เธอ”)
“พี่ทราบว่าแข่งขันวิ่งชนะ ดีใจด้วยนะ”
“พี่ยินดีกับผลการสอบที่ผ่านมา”
“การประกวดที่ผ่านมา ทำได้ดีมากนะ”

4. สำรวจความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม
พยายามสำรวจความรู้ ความเข้าใจในการพูดคุย โดยใช้เทคนิคการถาม
“ทราบหรือไม่ว่าพี่อยากคุยด้วยเรื่องอะไร”
“ช่วยเล่าให้พี่ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”
“เป็นอย่างไร ถึงมาพบพี่ที่นี่”
เรื่องที่นักศึกษาแพทย์ไม่อยากเล่าในช่วงแรก ควรข้ามไปก่อน แต่ทิ้งท้ายไว้ว่ามีความสำคัญที่น่าจะกลับมาคุยกันอีกในโอกาสต่อไป
“เรื่องนี้น่าสนใจมาก สำคัญทีเดียว แต่....ยังไม่อยากเล่าในตอนนี้ ไม่เป็นไร เอาไว้เมื่อพร้อมที่จะเล่าแล้วค่อยเล่าก็ได้ พี่จะขอคุยเรื่องอื่นก่อน แล้วจะขอย้อนกลับมาคุยเรื่องนี้ทีหลัง ดีไหม”
ในการสำรวจลงลึกในประเด็นปัญหา ควรสังเกตท่าที ความร่วมมือ การเปิดเผยข้อมูล ว่าวัยรุ่นมีความไว้วางใจมากน้อยเพียงไร มีเรื่องใดที่วัยรุ่นยังกังวล เช่น ไม่แน่ใจว่าพี่จะเล่าให้พ่อแม่ฟัง หรือเปิดเผยให้คนอื่นรู้ ซึ่งอาจมีผลเสียตามมา ควรให้ความมั่นใจเรื่องนี้โดยเน้นการรักษาความลับ (confidentiality) ดังนี้
“เรื่องที่คุยกันนี้ พี่คงไม่นำไปบอกพ่อแม่ หรือคนอื่นๆฟัง”
“ถ้ามีเรื่องที่พี่จำเป็นต้องบอกพ่อแม่ พี่จะบอกเธอก่อน”

5. ฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)
การสื่อสารที่ดีควรเป็นไปแบบสองทางเสมอ คือการฟัง และการพูด แต่ในระยะแรกควรพยายามกระตุ้นให้พูดและแสดงออก เพื่อลดความเครียดและการป้องกันตนเอง สร้างทัศนคติให้วัยรุ่นรู้สึกว่า “สนใจและฟัง”
การฟังอย่างตั้งใจ (active listening) แสดงออกโดยสนใจ จดจำรายละเอียด พยายามเข้าใจความคิดความรู้สึก สอบถามเมื่อสงสัย ให้เด็กขยายความ และสอบถามความคิด ความรู้สึกวัยรุ่นเป็นระยะๆ
ในขณะฟังอย่าเพิ่งคิดว่าจะพูดอะไรต่อไป ให้สนใจ ใส่ใจ และจดจำประโยคแรกๆให้ได้ และอ้างอิงถึงในทางบวกเสมอ ผู้ฟังจะรู้สึกประทับใจที่สนใจ จดจำ และให้เกียรติ และจะร่วมมือเปิดเผยมากขึ้น
การฟังที่ดี จะช่วยให้เข้าใจ เห็นสาเหตุของพฤติกรรม ความสัมพันธ์ระหว่าง ควมคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม (สามเหลี่ยมพฤติกรรม : Behavior Triangle) และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างทักษะอื่นๆ

6.หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม”
การใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม.....” เช่น “ทำไมเธอมาโรงเรียนสาย” จะสื่อสารให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจ(ด้านลบ)ได้ 2 แบบ คือ
1. คุณเป็นคนแย่มาก
2. ถ้ามีเหตุผลดีๆ การกระทำเช่นนั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับได้
ผลที่ตามมาคือ นักศึกษาแพทย์จะพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น เพื่อพยายามยืนยันว่า ความคิดและการกระทำของเขาถูกต้อง เป็นการส่งเสริมให้เถียงแบบข้างๆคูๆ
ถ้าต้องการทราบเหตุผลจริงๆ ของพฤติกรรมนั้น ให้เปลี่ยนเป็นคำถามต่อไปนี้
“พี่อยากรู้จริงๆว่าอะไรทำให้เธอทำอย่างนั้น” (อย่าลืมคำว่า “เธอ” เปลี่ยนเป็นชื่อนักเรียน)
“พอจะบอกพี่ได้ไหมว่า เธอคิดอย่างไรก่อนที่จะทำอย่างนั้น”
“เกิดอะไรขึ้น ทำให้เธอมาโรงเรียนสายในวันนี้”
“เหตุการณ์เป็นอย่างไร ลองเล่าให้พี่เข้าใจหน่อย”

7.ใช้คำพูดที่ขึ้นต้น “ฉัน......” มากกว่า “เธอ.............” ( I-YOU Message) ได้แก่
ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “เธอ” หรือ “คุณ” นั้นเรียกว่า You-message มักแฝงความรู้สึกด้านลบ คุกคาม และตำหนิ การสื่อสารที่ดีควรเปลี่ยนเป็นประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” หรือ “ผม” ที่เรียกว่า I-message ที่สร้างความรู้สึกนุ่มนวลกว่า สังเกตการเปรียบเทียบประโยคต่อไปนี้
“พี่ไม่ชอบการที่นักเรียนมาสาย”(I-message) ฟังดีกว่า “เธอนี่แย่มากที่มาสาย” (You-message)
“พี่อยากให้มาเรียนเช้า” (I-message) ฟังดีกว่า “ทำไมเธอมาสาย” (You-message แถมมีคำว่า ทำไมด้วย)
“พี่ไม่ชอบเวลาพูดแล้วคนไม่ตั้งใจฟัง” (I-message) ฟังดีกว่า “ทำไมพวกเธอไม่ตั้งใจฟัง” (You-message แถมมีคำว่า ทำไมด้วยเช่นกัน)
“พี่อยากให้หยุดฟัง” ดีกว่า “เธอไม่ฟังพี่เลย”
“พี่เสียใจที่เธอทำเช่นนั้น” ดีกว่า “เธอทำอย่างนั้นไม่ดี”
ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” แสดงความคิด ความรู้สึกหรือความต้องการ ได้แก่
“พี่คิดว่า....................”
“พี่จะดีใจมากที่................”
“พี่อยากให้เธอ..................”

8.กระตุ้นให้บอกความคิด ความรู้สึก ความต้องการ
กระตุ้นให้มีทักษะในการสื่อสารมากขึ้น ในด้านความกล้าพูด กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองคิด รู้สึก และต้องการอย่างสุภาพ เข้าใจกัน ไม่ควรอาย หรือกลัวคนอื่นโกรธ บางคนกลัวเพื่อนไม่ยอมรับ เลยยอมทำตามเพื่อน ไม่กล้าปฏิเสธ ถูกเพื่อนเอาเปรียบ
การช่วยกระตุ้นเรื่องนี้ได้ ด้วยการฝึกรายบุคคล
“เธอคิดอย่างไร เรื่องนี้............”
“เธอรู้สึกอย่างไร ลองเล่าให้พี่ฟัง...........”
“เธอต้องการให้เป็นอย่างไร...........”
ควรรับฟังนักศึกษาแพทย์มากๆ ให้เขารู้สึกว่า การพูดบอกเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เป็นที่ยอมรับ และสามารถบอกกับเพื่อนๆได้ด้วย
ในตอนท้าย เมื่อความสัมพันธ์ดี สังเกตท่าทีว่านักศึกษาแพทย์เริ่มยอมรับยอมฟังบ้างแล้ว อาจสื่อสารสิ่งที่พี่คิด รู้สึก และต้องการให้นักศึกษาแพทย์ทำ อย่างนุ่มนวล สงบ สั้นๆ เพื่อให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น

9.ถามความรู้สึก สะท้อนความรู้สึก
การสอบถามความรู้สึก และสะท้อนความรู้สึก ช่วยสร้างความรู้สึกการประคับประคองทางจิตใจ (emotional support) แสดงถึงความเข้าใจ สนใจนักศึกษาแพทย์ เช่น
“หนูคงเสียใจ ที่โดนลงโทษ” (สะท้อนความรู้สึก และเช่นเดียวกัน เปลี่ยนจาก หนูหรือเธอ เป็นชื่อนักศึกษาแพทย์)
“หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง ที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน” (ถามความรู้สึก)
“เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อถูกเพื่อนแกล้ง” (ถามความรู้สึก)
“เธอคงโกรธที่ถูกเพื่อนแกล้ง” (สะท้อนความรู้สึก)
“เรื่องที่คุยกันนี้คงจะกระทบความรู้สึกของหนูมาก พี่จะคุยกันต่อได้ไหม” (สะท้อนความรู้สึก)
“........อึดอัดใจที่พี่ถามถึงเรื่องนี้”
“............กังวลใจจนนอนไม่หลับ”
การสะท้อนความรู้สึกจะช่วยให้นักศึกษาแพทย์เกิดความรู้สึกว่าเข้าใจความรู้สึก เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การสะท้อนความรู้สึกช่วยในการตอบคำถาม หรือตอบสนองบางสถานการณ์ได้ เช่น
นักศึกษาแพทย์(พูดอย่างโกรธๆว่า) “พี่ไม่เข้าใจผมหรอก”
พี่(ใช้เทคนิคการสะท้อนความรู้สึก ) “.......คงรู้สึกหมดหวังที่ไม่มีใครเข้าใจปัญหานี้”

10.ถามความคิดและสะท้อนความคิด
การสอบถามความคิด ช่วยให้เกิดความเข้าใจความคิดนักศึกษาแพทย์ และแสดงความสนใจความคิด และให้เกียรติความคิดเขา เช่น
“เมื่อเธอโกรธ เธอคิดจะทำอย่างไรต่อไป” (ถามความคิด)
เมื่อตอบว่า “ผมอยากกลับไปชกหน้ามัน” ควรพูดต่อไปว่า
“เธอโกรธมากจนคิดว่าน่าจะกลับไปชกหน้าเขา” (สะท้อนความคิด)
การถามและสะท้อนความรู้สึกและความคิด จะได้ประโยชน์มาก เพราะจะทำให้รู้สึกว่า เราพยายามเข้าใจ(ความคิด และความรู้สึก)ของเขา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เป็นพวกเดียวกัน และจะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น เมื่อความสัมพันธ์ดี การชักจูงให้เปลี่ยนพฤติกรรมจะง่ายขึ้น

11.กระตุ้นให้เล่าเรื่อง(facilitation)
การกระตุ้นให้เล่าเรื่องราว ทำได้โดยใช้ชุดคำถามที่จูงใจ ตามปัญหา หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น
“พี่ทราบเบื้องต้นมาว่า...... แต่อยากฟังจาก...(ชื่อ)เอง”
“ปัญหาอื่นๆละ มีอะไรหนักใจหรือไม่
“วางแผนไว้อย่างไรบ้าง ระยะสั้น ระยะยาว”

12.ใช้ภาษากาย (body language)
การสัมผัส สีหน้า แววตา ท่าทาง ให้เกิดความเป็นกันเอง อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินความผิด หรือแสดงการไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมหรือสิ่งที่นักศึกษาแพทย์เปิดเผย

13. แสดงท่าทีเป็นกลาง
ในการเข้าใจพฤติกรรม ควรใช้ท่าทีเป็นกลาง อยากเข้าใจ ยอมรับ ไม่ตำหนิ ไม่เน้นเรื่องถูกผิดในระยะแรก ไม่ควรตักเตือนหรือสอนเร็วเกินไป
ท่าทีที่เป็นกลาง แสดงออกทั้งสีหน้า ท่าทาง การพูด ควรสำรวจทัศนคติของตนเอง และพยายามปรับใจ ให้สงบและเปิดรับความแตกต่างของบุคคล การฟังอย่างตั้งใจ ลงไปถึงสาเหตุ ความเชื่อ ประสบการณ์ของผู้นั้น จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมได้ด้วยใจเป็นกลาง
การกระตุ้นให้เปิดเผย อาจทำได้ด้วยการแสดงท่าทีเป็นกลาง (neutral) ต่อเรื่องที่กำลังสำรวจอยู่ ช่วยให้เปิดเผยง่ายขึ้น เช่น
“วัยนี้หลายคนเขาเริ่มมีแฟนกัน เคยสนใจใครบ้างมั้ย”
“ความสนใจเรื่องเพศในวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ สนใจเรื่องนี้บ้างไหม”
“เพื่อนบางคนอาจมีดื่มเหล้ากัน เคยลองบ้างไหม”

14.การให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback)
ใช้เทคนิค “ชมบนหลังคา ด่าที่ใต้ถุน”
พฤติกรรมดีควรมีเทคนิคในการชม (positive feedback) ให้เกิดความภาคภูมิใจตนเอง ควรชมให้ผู้อื่นทราบหรือร่วมชื่นชมด้วย แต่อย่าให้มากเกินไป และเมื่อชมแล้วอาจเสริมให้ผู้นั้นรู้สึกต่อไปว่าตัวเองเป็นรู้สึกดีหรือภาคภูมิใจที่ได้ทำดีด้วย ต่อไปจะชื่นชมตัวเองเป็น โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นเห็นความดีของตน หรือรอให้คนอื่นชม ดังตัวอย่างนี้
“พี่ดีใจมากที่เธอช่วยเหลือเพื่อน เธอรู้สึกอย่างไร (เธอรู้สึกดีต่อตัวเองมั้ย หรือรู้สึกอย่างไร)”
“พวกเราภูมิใจที่เธอได้รางวัลครั้งนี้ เธอคงภูมิใจในตัวเองเหมือนกันใช่ไหมจ๊ะ”
ในทางตรงกันข้าม เมื่อมีพฤติกรรมไม่ดี ควรมีเทคนิคในการตักเตือน (negative feedback)ให้คิดและยอมรับด้วยตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เวลาเตือน อย่าให้เกิดความรู้สึกอับอาย อย่าให้เสียหน้า การเตือนเรื่องที่น่าอับอายควรเตือนเป็นการส่วนตัว ก่อนเตือนควรหาข้อดีของเขาและชมเรื่องนั้นก่อน แล้วค่อยเตือนตรงพฤติกรรมนั้น เช่น
“ พี่รู้ว่าเธอเป็นคนฉลาด แต่พี่ไม่เห็นด้วยกับการที่เธอเอาของเพื่อนไปโดยไม่บอก” (ใช้ I-message ร่วมด้วย)
“พี่เห็นแล้วว่าเธอมีความตั้งใจมาก แต่งานนี้เป็นงานกลุ่ม ที่พี่อยากให้ช่วยกันทำทุกคน”
เทคนิคการชมก่อนเตือนนี้เรียกว่า เทคนิคแซนวิช (sandwich method) โดยการ ชม-เตือน-ชม จะช่วยให้การเตือนนุ่มนวลขึ้น ยอมรับได้ง่ายขึ้น

15.ตำหนิที่พฤติกรรม มากกว่า ตัวบุคคล
การตำหนิ ต้องระวังการต่อต้านไม่ยอมรับ ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามกลไกทางจิตใจที่ปกป้องตนเอง เมื่อเริ่มต้นไม่ยอมรับ จะไม่สนใจฟัง ไม่เชื่อ ไม่ยอมรับสิ่งที่บอก(แม้ว่าเป็นเรื่องจริง)
วิธีการที่ทำให้ยอมรับ และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเอง สามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนตำหนิที่ตัว เป็นตำหนิที่พฤติกรรมนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“เธอนี่แย่มาก ขี้เกียจจังเลยถึงมาสาย” เปลี่ยนเป็น “ การมาโรงเรียนสาย เป็นสิ่งที่ไม่ดี” ดูดีกว่า
“เธอนี่โง่มากนะ ที่ทำเช่นนั้น” เปลี่ยนเป็น “ การทำเช่นนั้น ไม่ฉลาดเลย”
“เธอนี่เป็นคนเอาเปรียบเพื่อนนะ” เปลี่ยนเป็น “พี่ไม่ชอบการไม่ช่วยเหลืองานกลุ่ม งานนี้ทุกคนต้องช่วยกัน “
ไม่ควรใช้คำพูดที่ตราหน้าว่าเป็นนิสัยไม่ดี หรือสันดานไม่ดี เพราะจะทำให้ต่อต้าน หรือแกล้งเป็นอย่างนั้นจริงๆ
การตำหนิเลยไปถึงคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น “อย่างนี้พ่อแม่ไม่เคยสอน ใช่ไหม” สร้างความรู้สึกต่อต้านอย่างแรง เป็นอันตรายต่อการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ ไม่ควรใช้เพราะไม่ได้ผล

16.กระตุ้นให้คิดด้วยตนเอง (Create Multiple Options)
การฝึกให้คิดและแก้ปัญหานั้น ควรฝึกให้ผู้ฟังคิดเองก่อนเสมอ และแสดงออกด้วยตัวเอง การคิดด้วยตัวเองจะช่วยให้ทำตามที่คิดได้ง่ากว่า การบอกให้ทำ ถ้าคิดเองได้ทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเดิม ให้ชม (positive feedback)
แต่ถ้าคิดไม่ออก หรือคิดแล้วได้ทางออกไม่ดี ไม่รอบคอบ ไม่กว้าง อาจเชิญชวนให้คิดใหม่ หรือช่วยชี้แนะให้ในตอนท้าย เช่น
“เธอคิดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน” (ให้คิดสรุปหาสาเหตุของปัญหา)
“แล้วเธอจะทำอย่างไรต่อไปดี” (ให้คิดหาทางออก)
“ทางออกแบบอื่นละ มีวิธีการอื่นหรือไม่” (ให้หาทางเลือกอื่นๆ ความเป็นไปได้อื่นๆ)
“ทำแบบนี้ แล้วคาดว่าผลจะเป็นอย่างไร” (ให้คิดถึงผลที่ตามมา โดยเฉพาะเมือนคิดทางออกที่เมีผลเสียตามมา)
“เป็นไปได้ไหม ถ้าจะทำแบบนี้....(แนะนำ ชวนคิดแบบอื่นที่ดีกว่าโดยไม่บอกตรงๆ).......เธอคิดอย่างไรบ้าง”

17. ประคับประคองอารมณ์ (Emotional Support)
ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้จิตใจและ อารมณ์ดีขึ้น ได้แก่
มีคนเข้าใจ (understanding) การถามและสะท้อนความรู้สึก ตามจังหวะที่เหมาะสม แสดงว่าเข้าใจ
“เธอคงกังวลใจเรื่องนี้มาก”
ความหวังด้านบวก (hope) ความหวังในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่น ความช่วยเหลือที่จะได้รับ การสร้างความเข้าใจแก่เพื่อน
“พี่คิดว่าการคุยกันวันนี้ ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายไปได้”
“พี่คิดว่ามีทางแก้ปัญหาได้”
ได้ระบายความรู้สึก (ventilation) กระตุ้นให้แสดงออกถึงความรู้สึก และยอมรับการแสดงออก
“พี่อยากให้เล่าเรื่องที่อาจไม่สบายใจ อาจทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ดีขึ้น”
“บางทีการร้องไห้ ช่วยระบายความทุกข์ใจได้”
ชมเชย (positive reinforcing) พยามยามหาข้อดี และชมเป็นระยะๆ
“พี่คิดว่าดีมาก ที่อยากจะเข้าใจตัวเองและแก้ไขเปลี่ยนแปลง”
“ดีนะที่เรื่องการเรียนไม่มีปัญหา”

18. การปฏิเสธ
เมื่อจำเป็นต้องปฏิเสธ ลองใช้เทคนิควิธีการให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นขั้นตอน ดังนี้
1. รับฟังให้เข้าใจ อย่ารีบปฏิเสธ
2. สะท้อนความรู้สึก
3. สะท้อนความคิด
4. แสดงความเชื่อมโยงของ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม
5. ชวนให้คิดหาทางออกอย่างอื่นให้รอบด้าน
6. หาทางประนีประนอม ถ้าทำได้ หาจุดร่วมที่พอใจทุกฝ่าย
7. ถ้าจำเป็นต้องปฏิเสธอย่างรวดเร็ว ให้ทำอย่างนุ่มนวล มีเหตุผลสั้นๆ บอกความคิด ความรู้สึกในการปฏิเสธ
8. รับฟังการโต้แย้ง ไม่โต้เถียงเอาชนะ
9. รับข้อเสนอไว้พิจารณา อธิบายว่าขอบเขตและอำนาจการพิจารณา และกรอบเวลาในการดำเนินการ
10. เสนอทางเลือกใหม่ เช่น ปรึกษาอาจารย์ พ่อแม่ หรือเพื่อน ผู้ที่อาจให้ข้อมูลเพิ่ม หรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจก่อน

19. การสรุปและยุติการสนทนา(Termination)
การยุติการสื่อสารในตอนท้ายควรสรุปสิ่งที่ได้คุยกัน การวางแผนต่อไปว่าจะทำอะไร ตอบคำถามที่นักศึกษาแพทย์อาจมี กำหนดการนัดหมายสนทนาครั้งต่อไป การยุติการสนทนาได้ดีจะช่วยให้นักศึกษาแพทย์ร่วมมือมาติดตามการให้คำปรึกษา และให้ร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือ ร่วมมือในการพบครั้งต่อไป
“คุยกันมานานแล้ว ไม่ทราบว่าอยากจะถามอะไรพี่บ้าง”
“พี่ดีใจที่ให้ความร่วมมือดีมาก พี่อยากนัดเพื่อคุยเรื่องนี้อีก”
“สรุปแล้ววันนี้เราได้คุยอะไรกันบ้าง” (ให้นักศึกษาแพทย์สรุป)

สรุป การสื่อสารเป็นหัวใจของการสร้างความสัมพันธ์ การเรียนรู้จากกัน การทำงานร่วมกัน การเรียนรู้เรื่องการสื่อสารเป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดความรู้ ทัศนคติและค่านิยม พัฒนานักศึกษาแพทย์ให้เป็นที่แพทย์ที่มีบุคลิกภาพดี

เอกสารอ้างอิง
1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน โรงพิมพ์ ร.ส.พ. กรุงเทพฯ
2. พนม เกตุมาน สุขใจกับลูกวัยรุ่น บริษัทแปลน พับลิชชิ่ง จำกัด กรุงเทพฯ 2535 ISBN 974-7020-31-9
3. Geldard D. Basic personal counselling: a training manual for counsellors. 3rd ed. Sydney : Prentice Hall, 1998:39-168.




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2561   
Last Update : 4 มิถุนายน 2561 14:06:47 น.   
Counter : 1831 Pageviews.  

Tips เยี่ยมไข้ 'ผู้ป่วยหนัก'" 14 ข้อ ..จากเฟส ชีวามิตร Cheevamitr Social Enterprise





ผู้ป่วยแต่ละช่วงอาการจะต้องการการดูแลที่แตกต่างกันไป เมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยจึงต้องใส่ใจความต้องการของผู้ป่วยในระยะอาการนั้น ๆ ด้วย

ชีวามิตร รวบรวมความคิดเห็นระหว่างกิจกรรมอบรม "คอร์สชีวามิตร" กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกแบบความตายเพื่อพบความหมายของการมีชีวิต ในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ได้เป็น "Tips เยี่ยมไข้ 'ผู้ป่วยหนัก'" 14 ข้อค่ะ เพื่อนท่านใดมีความเห็นเพิ่มเติมคอมเม้นต์ไว้ได้นะคะ <3

1. ไม่ควรบังคับหรือคะยั้นคะยอผู้ป่วยในการกินหรือดื่มถ้าผู้ป่วยปฏิเสธ
2. ไม่ควรเยี่ยมผู้ป่วยพร่ำเพรื่อไม่เป็นเวลา ควรให้มีการจัดการช่วงเวลาการเยี่ยม เพื่อให้ผู้ป่วยพักผ่อน และมีเวลาเป็นตัวของตัวเอง
3. ไม่ควรพูดอยู่ฝ่ายเดียวหรือตั้งวงคุยกันเอง
4. ไม่ควรถกเถียงกันด้วยเรื่องของผู้ป่วยต่อหน้าผู้ป่วย
5. ไม่ควรเอาปัญหามาให้ผู้ป่วยแก้หรือมาฟ้องเกี่ยวกับคนนั้นคนนี้
6. ไม่ควรคุยโทรศัพท์เรื่องส่วนตัว เมื่อมาเยี่ยมควรใส่ใจคนป่ว
7. ไม่ควรใช้เวลาเยี่ยมผู้ป่วยนานเกินไป
8. ไม่ควรเอาการรักษาแนวทางอื่น ๆ มาแนะนำผู้ป่วยด้วยท่าทีกดดัน หรือแสดงอาการน้อยใจหากไม่ทำตาม
9. ไม่ควรขยับหรือปรับท่านอนขณะผู้ป่วยกำลังหลับสนิท
10. ไม่ควรบอกผู้ป่วยให้ “สู้ๆ” หรือ “อดทน” เพราะผู้ป่วยต้อง "สู้" และ "อดทน" กับสภาพที่เป็นอยู่แล้ว คนเยี่ยมที่บอกว่าให้ "สู้" นั้น มาสู้ความเจ็บปวดและความทุกข์ในใจของผู้ป่วยหรือแค่บอกคนป่วยให้สู้ ให้อดทน แล้วคนเยี่ยมก็กลับไปใช้ชีวิตกับงานการและครอบครัวของตนเอง
11. คนป่วยมักจะเบื่อหน่ายที่ต้องเล่าอาการตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ควรเลี่ยงถามจากแพทย์หรือญาติแทน
12. คนป่วยชอบให้ถามว่า “ตอนนี้รู้สึกยังไง” มากกว่า “เป็นไงบ้าง” เพราะให้ความรู้สึกห่วงใยมากกว่า
13. คนป่วยอาจไม่อยากพูดเมื่ออยู่ในช่วงเพลีย แต่ก็ยังรู้สึกดีหากมีคนเยี่ยมนั่งอยู่เป็นเพื่อน
14. คนป่วยจะรับรู้อารมณ์ผ่อนคลายหรือความเครียดของคนเยี่ยมได้ คนเยี่ยมจึงควรปรับอารมณ์ตัวเองให้ผ่อนคลายก่อนเข้าเยี่ยม
..........

คอร์สอบรม "วิถีสู่ความตายอย่างสงบ (บ้านน้ำสาน)" จ.เชียงใหม่ ครั้งต่อไป วันที่ 6 - 11 ก.พ. 61 สนใจเข้าอบรมคลิกอ่านรายละเอียดการอบรมที่ลิงก์นี้ หรือ โทร 0898163116 ค่ะ
https://www.facebook.com/events/1821490201475922/?ti=cl




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2560   
Last Update : 15 ธันวาคม 2560 17:26:09 น.   
Counter : 2760 Pageviews.  

อัตราการมีบุตรของวัยรุ่น : ข้อมูล พ.ศ.2558-2559



อัตราการมีบุตรของวัยรุ่น

ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เมื่อพิจารณาผลการสำรวจรายภาค พบว่า อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นในภาคเหนือสูงที่สุด คือ เด็กเกิด 72 คน ต่อวัยรุ่น 1,000 คน รองลงมาคือ ภาคใต้ (58 ต่อ 1,000)

นอกจากนี้ พบว่า วัยรุ่นที่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษาให้กำเนิดบุตรสูงมาก คือ เด็กเกิด 104 คน ต่อวัยรุ่น 1,000 คน ขณะที่ในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษามีเพียง 3 คน ต่อวัยรุ่น 1,000 คน

และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนบุตรตามกลุ่มดัชนีความมั่งคั่ง พบว่า วัยรุ่นในครัวเรือนที่ยากจนและยากจนมากให้กำเนิดบุตรในจำนวนที่สูงกว่าครัวเรือนที่มีฐำนะปานกลางขึ้นไปอย่างเห็นได้ชัด


สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย 2556 ; Adolescent Pregnancy Thailand 2013    https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=03-05-2014&group=7&gblog=177


Emergency Contraception การคุมกำเนิดฉุกเฉิน     https://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=268:emergency-contraception&catid=39&Itemid=367
ยาคุมกำเนิด แบบเม็ด แบบฉีด ยาคุมฉุกเฉิน    https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-02-2008&group=4&gblog=13
ยาเลื่อนประจำเดือน    https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=05-10-2017&group=4&gblog=133
วิธีคุมกำเนิดทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง‬ ...แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว‬    https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-02-2008&group=4&gblog=12
วิธีคุมกำเนิดที่คุณใช้นั้น มีโอกาสท้องกี่เปอร์เซ็นต์ ? ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด    https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-09-2017&group=4&gblog=132

ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย ... ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา     https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2010&group=4&gblog=80
ทำแท้ง ..... ปัญหาที่ยังไร้ทางออก ....     https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=18-01-2009&group=4&gblog=67
ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา    https://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=493:2011-06-09-01-37-20&catid=40&Itemid=482
อันตรายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย .. โดย ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย     https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-02-2009&group=4&gblog=73






 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2560   
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2560 14:36:44 น.   
Counter : 1558 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]