Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการฯ...ใครได้ใครเสีย? ... จาก พญชัญวลี ศรีสุโข + นสพ.มติชน



ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข...ใครได้ใครเสีย?

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข(chanwaleesrisukho@hotmail.com)




มีความสงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขก็ร่างมาตั้งนานแล้ว ทำไมจึงเพิ่งมีการประท้วงจากบุคลากรสาธารณสุขเมื่อจะนำร่างฯบรรจุวาระนำเสนอการพิจารณาของสภา

คำตอบก็คือ แพทย์ทั่วไปเห็นด้วยกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แต่เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดของร่างฯ พบว่าอาจจะเกิดผลกระทบทางลบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมจนทำให้ระบบสาธารณสุขในอนาคตล้มเหลวได้ จึงเกิดกระแสคัดค้านขึ้น


ข้อดี ของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายฉบับที่จะนำเข้าสู่สภามีอะไรบ้าง

1. ผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินสองต่อ ทั้งเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย โดยไม่ต้องพิสูจน์หาผู้กระทำผิด โดยเงินชดเชยนั้นประกอบด้วย เงินใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาล, ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้, ค่าชดเชยจากความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ, ค่าชดเชยในกรณีพิการหรือทุพพลภาพ, ค่าชดเชยในกรณีที่ถึงแก่ความตาย,ค่าชดเชยการขาดไร้อุปการะกรณีที่ถึงแก่ความตายและมีทายาทที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู, ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่คณะกรรมการกำหนด

2. การพิจารณาจ่ายเงินชดเชย ให้คำนึงถึงสภาพความเสียหาย สภาพจิตใจผู้เสียหายสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามกฎหมายอื่นๆ รวมถึงพฤติกรรมแวดล้อมด้วย

3. ขยายระยะเวลาที่จะยื่นคำร้องความเสียหายจากการรับบริการฯ จากเดิม1ปีตามมาตรา41มาเป็นภายใน3ปี นับแต่วันที่ได้รู้ความเสียหาย อีกทั้งอายุความการเรียกร้องเพิ่มเติมให้นาน10ปี หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการรับบริการทางสาธารณสุข



ผลกระทบทางลบ ของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายมีดังนี้


ประการที่1 ขาดน้ำใจ

ไม่มีบุคลากรทางสาธารณสุขคนไหนไม่กลัวการฟ้องร้อง แม้กระทั่งมาตรา41 ซึ่งพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่พิสูจน์ถูกผิดไม่ได้ขึ้นโรงขึ้นศาล ก็ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขผู้เกี่ยวข้องเป็นทุกข์แสนสาหัส

บุคลากรทางสาธารณสุขที่กลัวการฟ้องร้องส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาคนไข้จำนวนมากและอยู่เวรหนักทั้งคืน

ยิ่งร่างพรบ.ฯ ฉบับนี้ เปิดช่องเขียนเป็นกฎหมายให้ผู้เสียหายฟ้องร้องแพทย์ได้ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งแม้ได้ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นและค่าชดเชยไปแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยเปลี่ยนไป จากรักใคร่เห็นใจเอื้ออาทรต่อกัน จะกลายเป็นความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะกลัวจะถูกฟ้อง

บรรดาแพทย์ผู้รักษาพยาบาลอาจสั่งตรวจและให้การรักษาพยาบาลมากเกินไปเพื่อป้องกันความผิดพลาดตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นซึ่งเป็นภาระของโรงพยาบาลและของผู้ป่วยเอง หรือตรวจรักษาน้อยเกินไปไม่แน่ใจก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่น ซึ่งทั้ง 2 กรณีผลกระทบจะเกิดกับคนไข้ยากจนด้อยโอกาส เพราะคนที่มีฐานะสามารถเลือกการรักษาพยาบาลตามที่ตนต้องการได้


ประการที่ 2 ขาดเงิน

เงินที่จ่ายให้ผู้เสียหายต้องจ่ายสองทบทั้งให้เบื้องต้นและชดเชย คาดการณ์ว่าเมื่อพรบ.นี้คลอดออกมาเงินจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่มีขีดจำกัด จากปีละหลายพันล้าน กลายเป็นหมื่นล้านในไม่กี่ปี เพราะใครก็อยากได้เงิน ยิ่งมีโมเดลตัวอย่างว่า หากเป็นกรณีนั้นกรณีนี้สามารถได้เงิน

ขณะที่ทุกสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องถูกบังคับให้จ่ายเงินสมทบเพื่อการนี้โดยสมทบมากขึ้นหากเกิดการฟ้องร้องมากขึ้นเหมือนการทำประกันภัยรถยนต์ มีบทบัญญัติให้ปรับ,ให้เสียดอกเบี้ย ถ้าจ่ายเงินไม่ทันตามกำหนด เป็นการซ้ำเติมสถานะทางการเงินของสถานพยาบาลทุกแห่ง เพราะเมื่อครบ8ปีของระบบประกันหลักสุขภาพถ้วนหน้า สถานพยาบาลล้วนต้องแบกภาระรักษาคนไข้จนหลังแอ่น, ขาดสภาพคล่องทางการเงิน, ไม่มีเงินที่จะลงทุนซื้อเครื่องไม้เครื่องมือฯลฯ

เมื่อไม่มีเงิน สถานพยาบาลอาจต้องลดการบริการ, ลดคุณภาพ, ลดการจ่ายยา, หรือเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ใช้บริการฯลฯ สร้างความเดือดร้อนต่อผู้รับบริการโดยถ้วนหน้า


ประการที่3 ขาดความเคารพไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการสาธารณสุขนั้น ปัจจุบันมีการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา41ในคนไข้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมีผู้มีความรู้ทางการแพทย์เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ มีการเจรจาไกล่เกลี่ยอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ยังไว้เนื้อเชื่อใจระบบการแพทย์ แม้จะได้เงินหรือไม่ได้เงินค่าช่วยเหลือเบื้องต้น

ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากความผิดของบุคลากรทางการแพทย์ การที่ผู้เสียหายฟ้องศาลเพื่อขอความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่หากการช่วยเหลือเบื้องต้นและการชดเชยตามร่างพรบ.ฯไม่อิงความรู้ทางการแพทย์เลย การตัดสินว่าควรจ่ายเงินทั้งเบื้องต้นและชดเชยจากเหตุผลความสงสารจะทำให้ระบบสาธารณสุขสุดท้ายล้มเหลว ขาดความเคารพไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพราะมีเหตุเสียหายมากมายที่เกิดจากการละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง ไม่พักผ่อน,ไม่ออกกำลังกาย, เที่ยวกลางคืนเป็นนิจ, ดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, เสพสารเสพติด, เล่นพนัน, สำส่อนทางเพศ , ทำแท้ง ,ไม่เคารพกฎจราจร, ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์


ประการที่ 4 ขาดการตัดสินตามมาตรฐาน

การตัดสินให้เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย จะใช้มาตรฐานอะไรมาวัด เนื่องด้วยความเป็นจริงของประเทศ มาตรฐานทางการแพทย์ของแต่ละสถาน พยาบาลไม่ว่า อนามัย, โรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลจังหวัด, โรงพยาบาลศูนย์, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยฯลฯ ไม่เท่ากัน บางสถานพยาบาลขาดแคลนบุคลากร, เครื่องมือทางการแพทย์, เทคโนโลยี ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวแปรของมาตรฐาน ขณะที่ทุกคนต้องใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งอาจตามมาด้วยสมองไหลออกจากสถานพยาบาลของรัฐ


ประการที่5 ขาดผู้เรียนสาขาทางการแพทย์

ต่อไปจะไม่มีใครเลือกเรียนสาขาทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้อื่น เพราะความหวังดีต่อผู้อื่น การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน อาจทำให้ตนเองติดคุกได้



สรุป

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ควรจะเป็น ต้องไม่กระทบทางลบต่อคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และประเทศชาติทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ก่อนนำร่างเสนอสู่สภาควรมีการทำประชาพิจารณ์ให้รอบด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกคน

การปล่อยร่างพรบ.ฯที่เป็นปัญหาให้เข้าสู่สภา ต่อมาเกิดผลในทางปฏิบัติ อาจทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลวจนเกินแก้ เป็นแบบกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว







ปล. เป็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่สะท้อนความรู้สึก ของ แพทย์ที่ยังรับราชการ ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย อยู่ในปัจจุบัน ... ซึ่งผมเห็นด้วยเลยว่า ถ้าเรายังไม่แน่ใจ ยังสับสนกันอยู่แบบนี้ ทำไม ไม่มานั่งคุยกันให้เข้าใจกันก่อน ทำไมต้องรีบผลักดันให้เข้าสภาในตอนนี้ด้วยเล่า ???




Create Date : 07 สิงหาคม 2553
Last Update : 7 สิงหาคม 2553 12:11:44 น. 1 comments
Counter : 2421 Pageviews.  

 


ร่างกฎหมายนี้มันแย่ตั้งแต่ชื่อร่างพ.ร.บ.ฯ เพราะ สำนักงบถามว่าทำไมหลวงต้องจ่ายให้ผู้เสียหาย ? ทำไมไม่เอาจาก "ผู้ก่อความเสียหาย" ?

ถามคนร่างว่าทำไมไม่ใช้คำว่า" ผลกระทบ" เพื่อจะได้รวมผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นพยาบาลที่ติดวัณโรค เป็นต้น เขาบอกว่าไม่เอาจะเอาเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย

ในเรื่องผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขนั้นไม่มี มีแต่ผู้ได้รับผลกระทบจากสิ่งไม่พึงประสงค์ในการบริการ

ไม่มีระบบสาธารณสุขหรือระบบริการสุขภาพใดจัดให้มีเพื่อทำความเสียหายให้ผู้ใช้บริการ ชื่อนี้เป็นชื่อที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ให้บริการ

ลำดับถัดไปก็เรื่องกรรมการพวกเขาเอาสภาวิชาชีพออกเพราะถือว่าเป็นศัตรู จะเอาไว้ทำไม? แต่ในที่ประชุมพูดหรูมาก ว่า เพราะไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด ... เมื่อไม่มีแพทย์จะได้ไม่ต้องพูดเรื่องมาตรฐาน

ทำไมเอ็นจีโอ ๖ คนใน๑๑ คน เพราะเอ็นจีโอที่จะไปเป็นกรรมการคือคนกลุ่มนี้ และเป็นกลุ่มที่เป็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติชนิดถาวร เจอทุกเวทีที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติอ้างประชาชน

เมื่อ ปี๒๕๕๐ หมออำพลเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมงคล ณ สงขลา และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เป็นเลขานุการกรรมาธิการสาธารณสุข ได้ขอให้ครูแดงหรืออาจารย์เตือนใจ ดีเทศ เสนอกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ๒๕๕๐ แก้ไขให้เอ็นจีโอไปเป็นกรรมการแพทยสภา ภายหลังครูแดงทราบข้อเท็จจริงจึงถอนร่างกลางสภา ก็เอ็นจีโอและผู้ผลักดันกลุ่มเดียวกัน

นี้เป็นตัวอย่างHA(Hidden agenda)พอสังเขป ที่จริงมีอีกมากครับ

หากจะทดสอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ใช้วิธีแบบ สรพ.แนะนำก็ได้คือ การทำคลินิกคอลเทรเซอร์ ยกตัวอย่างเคสเพื่อทดสอบระบบ

สมมุติ ว่า มีคนอยากได้เงินใช้ แล้วเข้าไปรพ.หรือคลินิกบอกอาการปวดหัวตัวร้อนสะเปะสะปะแล้วได้ยามาถุงหนึ่ง ไปโวยวายกับกรรมการชุดนี้ จะได้เงินใช้สบายๆ เหตุผลคืออะไร? ลองคิดแก้โจทย์ข้อนี้ดูนะครับ ค่ำนี้ว่างๆจะมาเฉลยครับ


--------------------------------

หมอแต๋ง




โดย: หมอหมู วันที่: 9 สิงหาคม 2553 เวลา:9:52:43 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]