Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

สิทธิการตาย กับ หน้าที่ทำให้ตาย ... โดย : นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (พบ., นบ, ปรม.)



สิทธิการตาย กับ หน้าที่ทำให้ตาย

//bit.ly/qSYUop

มิถุนายนที่ผ่านมา กรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภาได้จัดประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "การแสดงเจตจำนงเรื่องการปฏิเสธการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย"

มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมทั้ง คุณเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ซึ่งเป็นทนายความที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญหลายอย่างในสังคม ยังอดรนทนไม่ได้ต่อการกระทำของคนที่ผลักดันกฎหมายนี้ออกมา ปัญหาของเรื่องนี้เริ่มมาจากมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งระบุไว้ดังนี้

มาตรา 10 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

สรุปง่ายๆ คือ ทุกคนมี "สิทธิปฏิเสธการรักษา" ภายใต้ข้อแม้ว่า "ต้องเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต" หรือ "ได้รับความทรมานจากการเจ็บป่วย" หากแพทย์/พยาบาลทำตามความต้องการของเจ้าของสิทธิ คือ "ไม่ให้การรักษา" แพทย์/พยาบาลก็ไม่มีความผิดฐานปล่อยให้ผู้ป่วยในความดูแลของตนตาย

ฟังดูเผินๆ เหมือนไม่น่าเป็นปัญหา เพราะทุกวันนี้หากมีผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา คงไม่มีแพทย์คนไหนอยากให้การรักษา เพราะไม่รู้จะทำให้ไปเพื่ออะไร ขืนทำไปอาจมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายหรือผิดฐานละเมิด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงคงต้องถามว่า "แล้วทำไมต้องมีกฎหมายนี้ออกมาให้วุ่นวาย" เท่านี้ยังไม่พอ ผู้ผลักดันที่กินอิ่มและอยากหาอะไรทำ ที่สุภาษิตจีนเรียกว่า "เจี๊ยป้า บ่อซื๋อ" ยังได้เพิ่มกฎกระทรวงที่อ่านแล้ว แทบตกใจหงายหลัง ดังนี้

ข้อ 2 วาระสุดท้ายของชีวิต หมายถึง ...โรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้...นำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเวลาอันใกล้..รวมทั้งการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร

การทรมานจากการเจ็บป่วย หมายถึง ...ความทุกข์ทรมานทางกายหรือจิตใจ...อันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้

แสดงว่าผู้ออกกฎกระทรวงนี้ทราบดีว่า คำจำกัดความสองอันนี้เป็นตัวปัญหาของกฎหมายนี้ จึงพยายามทำสิ่งที่เป็น นามธรรมให้เป็นรูปธรรม โดยการขยายความคำสองคำดังกล่าว ซึ่งไม่ว่าแพทย์หรือพยาบาล (ที่ยังรักษาผู้ป่วยอยู่จริง) ท่านใดอ่านก็แทบจะตกใจตกเก้าอี้ เพราะหากทำตามคำจำกัดความสองคำนี้ แสดงผู้ผลักดันกฎหมายนี้กำลังสั่งให้แพทย์/พยาบาล ละทิ้งการรักษาผู้ป่วยและทำตัวเป็นมัจจุราช เพราะไม่ว่าโรคเล็กโรคน้อยล้วนแต่สร้างความทุกข์ทรมานทางกายหรือจิตใจได้ทั้งสิ้น หลายโรครักษาให้หายขาดไม่ได้ เช่น ความดันสูง เบาหวาน เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ซึ่งเมื่อรักษาก็ไม่แน่ว่าจะหายจากความทรมานไปได้ อย่าว่าจะกำหนดวันตายให้คนอื่น แม้แต่เวลาตายของตนเองก็ยังบอกไม่ได้

การทำตามกฎกระทรวงนี้จึงเป็นการขัดจรรยาบรรณแพทย์อย่างรุนแรง แถมยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องฐานละเมิด เพราะ "พยายามรักษาผู้ป่วยโดยเขาไม่เต็มใจ" หรือ "ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา" หรืออาจถูกฟ้องฐาน "ให้ข้อมูลที่ไม่กระจ่างหรือไม่ถูกต้อง" เช่นบอกว่าน่าจะไม่รอดแต่ผู้ป่วยกลับรอด หรือบอกว่าน่าจะรอดแต่กลับตาย

อีกทั้งในกฎกระทรวงยังทำเกินที่ พ.ร.บ.ให้อำนาจไว้ด้วยการสร้าง "หน้าที่ให้แพทย์" ดังนี้  "ให้ผู้ประกอบวิชาชีพรับผิดชอบอธิบายภาวะและความเป็นไปของโรคแก่ผู้ป่วยหรือญาติ" ทุกวันนี้ แค่อธิบายวิธีการช่วยชีวิตยังถูกกล่าวหาว่า "พูดไม่รู้เรื่อง" "สื่อสารไม่เป็น" แต่นี่กลับสั่งให้อธิบายเหตุผลที่จะปล่อยให้ตาย ซึ่งหากตายไปจริง ๆ แล้วญาติคนอื่นไม่ยอมหรือแพทย์คนอื่นไม่เห็นด้วย จะโกลาหลขนาดไหน



กฎหมาย "ปาณาติปาต"

ในตัวอย่างพินัยกรรมที่ร่างมาให้แพทย์ดูยังมีข้อความระบุให้ "แพทย์/พยาบาล" มีหน้าที่ "ถอดถอน" การรักษา ซึ่งเป็นการออกกฎหมายเกินกว่าที่ พ.ร.บ.ให้อำนาจ เพราะ พ.ร.บ.นี้ให้แต่เพียง "สิทธิในการปฏิเสธการรักษา" แต่กฎกระทรวงกลับพยายามบังคับให้แพทย์มี "หน้าที่ในการถอดถอน (witdraw) การรักษา" เช่น การกดปุ่มปิดเครื่องช่วยหายใจ การถอดถอนเครื่องพยุงชีพ การถอดท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ไม่รู้ว่ามีมารอะไรมาดลใจให้มีการออกกฎหมายที่มีหลักการดูดีแต่เนื้อหากลับสั่งให้คนอื่นกระทำ "ปาณาติปาต" ต่อผู้ป่วยได้เช่นนี้

แม้ผู้ผลักดันดังกล่าวพยายามเบี่ยงเบนด้วยการเล่นบาลีว่ากฎหมายนี้มิใช่ "การุณยฆาต" เพราะไม่ได้สั่งให้แพทย์ไปเร่งการตายด้วยการกระทำ เช่น ฉีดยาให้ตาย แต่คงแกล้งลืม ว่า "การละเว้นการกระทำด้วยการไม่รักษา" ภาษากฎหมายเขาเรียก "การกระทำ" เหมือนกัน ยิ่งหากให้แพทย์พยาบาลเป็นคนไปถอดท่อช่วยหายใจผู้ป่วยที่มิใช่ญาติของตน แถมอยู่ในความดูแลของตน ผู้ผลักดันกฎหมายนี้ได้ถามใจตนเองหรือยังว่า จะกล้าทำได้ด้วยน้ำมือตนเองหรือไม่ หากกล้าทำ ทุกโรงพยาบาลคงเชิญท่านเหล่านี้ มาทำหน้าที่ถอดถอนแทน



ทำไมถึงต้องมีกฎหมายนี้

ในทุกๆ เวทีที่มีการพูดเรื่องนี้ ไม่มี แพทย์พยาบาลคนไหนพูดว่า ตนเองอยากทรมานผู้ป่วยที่หมดหวังด้วยการให้การรักษาไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อต้องการความสะใจหรือต้องการเงิน ทุกวันนี้ มีผู้ป่วยหมดหวังในโรงพยาบาลมากมายที่แพทย์พยาบาลต้องดูแลแต่ไม่ใคร่มีปัญหา เพราะเมื่อเขาเหล่านั้นแน่ใจ ก็จะค่อยๆ พูดกับญาติให้รับทราบ หากญาติไม่เห็นด้วยก็อาจไปปรึกษาแพทย์ที่ไว้วางใจ จนเมื่อยอมรับได้ก็อาจขอให้แพทย์ช่วยพูดคุยกับผู้ป่วย (ถ้ายังรับรู้อยู่) ให้สบายใจ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็จะหยุดการรักษาที่ไม่จำเป็น แต่ไม่ปรากฏว่ามีแพทย์พยาบาลคนไหนเต็มใจกดปุ่มปิดเครื่องพยุงชีพ เพราะแทบทุกราย ญาติก็จะขอให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่มีการเร่งการตายด้วยการกดปุ่มปิดอะไรทั้งนั้น หรือในสถานการณ์ที่ค่อนข้างโหดร้ายที่ญาติต้องการเร่งให้เสียชีวิตเพราะปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แม้จะสั่งให้แพทย์พยาบาลทำ ก็ไม่มีคนยอมทำให้ หากต้องการเช่นนั้น ญาติต้องทำเอง ซึ่งมักลงเอยด้วยการปล่อยให้ไปตามธรรมชาติและถือว่าการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายให้เป็นไปแบบธรรมชาติแม้จะต้องใช้เวลาเพิ่มเติมแต่ก็ถือเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับทั้งญาติและผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ การได้ตอบแทนบุญคุณคนที่เรารัก

คาดว่าผู้ผลักดันคง คิดเอง เออเอง ด้วยอคติใดไม่ทราบ ว่า "แพทย์ พยาบาล หรือสถานพยาบาล ต้องการเลี้ยงไข้เพื่อเอาเงิน" จึงพยายามออกกฎหมายให้ยุติการรักษาโดยมอบหมายหน้าที่ในการกระทำให้แก่ "แพทย์ พยาบาล หรือสถานพยาบาล" เพราะดูจากเนื้อหาในกฎกระทรวงที่ว่า "ให้สถานบริการให้ความร่วมมือ ในประเด็นเรื่องสถานที่เสียชีวิต ความต้องการเยียวยาทางใจ การทำตามประเพณี ความเชื่อทางศาสนา" แสดงว่าผู้ผลักดันคงมองว่าทุกวันนี้ สถานพยาบาลเป็นเหมือนโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ยอมทำความต้องการของเหยื่อหรืออย่างไรไม่ทราบ



ทางออกของปัญหา

กฎหมายนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายตัวอย่างที่ถูกผลักดันโดยกลุ่มคนเดียวกันกับที่พยายามออกกฎหมายการแพทย์มาบังคับใช้กับบุคลากรสาธารณสุข ภายใต้อคติทางลบมาตลอด นับแต่ พ.ร.บ.คุ้มครอง  เจ้าปัญหาที่พยายามเปลี่ยนความเจ็บป่วยเป็นผลตอบแทนรูปตัวเงินแบบชิงร้อยชิงล้าน โดยการเปลี่ยน "กรรม" หรือ "โชคชะตา" มาเป็นความผิดของผู้รักษาพยาบาลทั้งหมด

ความเป็นจริงนั้นแพทย์พยาบาลมักพบกรณี "การรักษาที่มากเกินควรเพราะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย" มากกว่ากรณี "ไม่ต้องการรับการรักษา

ที่สำคัญ หากต้องการตายอย่างสงบ ควรส่งเสริมให้เตรียมตัวก่อนตายตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เพราะเราทุกคนมี "หน้าที่ที่ต้องตาย" อยู่แล้วนับแต่เกิดมา จึงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมาย "สิทธิการตาย" มาใช้แต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้นขืนปล่อยให้กฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ต่อไป คงได้เห็นภาพ "เนรคุณ" ต่อบุพการี ด้วยความต้องการ "สิ้นสุดภาระ" เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นแน่แท้ อย่าลืมว่าสังคมไทยมิใช่สังคมโดดเดี่ยวแบบที่ฝรั่งเป็น

การตัดสินใจเรื่องความเป็นความตายไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว แพทย์/พยาบาล ยิ่งไม่มีหน้าที่ไปกระทำการใดๆ ที่เป็นเสมือนการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เร็วขึ้นตามความต้องการของคนอื่น ที่สำคัญ คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าใครก็ตามที่มีส่วนในการกระทำผิดศีลข้อ 1 ถือเป็นบาปหนัก (ไม่เว้นแต่คนที่มีส่วนปล่อยให้กฎหมายแบบนี้คลอดออกมา) หวังว่า  รมต.สาธารณสุข/นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือผู้เกี่ยวข้องในทางศาล คงไม่ใจร้ายปล่อยให้กฎหมาย "ปาณาติปาต" นี้มีผลบังคับใช้ต่อไป





Create Date : 10 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2555 16:23:19 น. 2 comments
Counter : 4260 Pageviews.  

 
Thank you


โดย: KAI (nookookai8 ) วันที่: 10 พฤศจิกายน 2555 เวลา:17:39:09 น.  

 
Thiravat Hemachudha
https://www.facebook.com/thiravat.hemachudha/posts/10156276460471518
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

เราเลือกที่จะตายได้ไหม?

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ประเด็นนี้กลายเป็นหัวข้อขัดแย้งมากมาย จากคนป่วย ครอบครัวซึ่งต้องทนทรมาน รับการรักษา โดยดูไม่มีความหวัง หรือก็ไม่ได้ข้อมูลชัดเจนว่าจะหวังได้หรือไม่ แค่ไหน หรืออย่างไร ที่จะกลับมามีชีวิตอย่างมีคุณภาพบ้าง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาระที่ต้องแบกรับในการดูแล ผลพวงจากการยื้อชีวิตที่ไร้ความหมาย โดยผู้ป่วยหมดสิ้นถึงคุณภาพชีวิตแล้ว ช้ำทั้งกาย ใจ เสียเงินทอง หมอผู้รักษาเองก็ลำบากเพราะเรียนมาเป็นหมอก็เพื่อช่วย ไม่ใช่วางมือ ปล่อยไปง่ายๆ และการจะสรุปขาว-ดำก็ไม่สามารถทำได้ในทุกกรณี

หมอไม่ได้คิดว่า ฝ่ายใดถูก-ผิดนะครับ แต่น่าจะเป็น การมองคนละมุม โดยที่เกิดตวามบาดหมางก็เกิดจากการที่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบมองย้อนหลัง ไม่ได้พิจารณา ณ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ช่วงเวลานั้น ที่ต้องมีการตัดสินร่วมกันเป็นประการหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นและน่าจะถือเป็นหลักปฏิบัติคือ ในขณะที่ต้องพิจารณาหยุด หรือเดินหน้าต่อ ครอบครัวหรือตัวคนไข้ (ถ้าอยู่ในสภาวะที่รู้ตัว) เกือบจะทั้งหมดตัดสินใจเองไม่ได้ เมื่อถูกถามว่าจะตกลงอย่างไร เพราะเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ซับซ้อน หมอต้องจริงใจ และเต็มใจที่จะให้ข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ขณะนั้น อธิบายแจกแจงความสำเร็จของการรักษา หรือเป็นการแค่ยื้อยุด เกิดความทรมาน แสดงผลที่ได้ตรวจ อธิบายผลการตรวจเป็นภาษาที่คนธรรมดาเข้าใจได้ เป็นการให้ข้อมูล ไม่ใช่ไห้ความหวัง ที่กล่าวมาถึงตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาได้หมด

ผู้เขียนเองในฐานะที่เป็นหมอและอยู่ในฐานะที่ต้องตัดสินใจและมีความรับผิดชอบคุณพ่อ คุณแม่ที่อยู่ในระยะที่เรียกว่า “วาระสุดท้าย” และทั้งๆที่รู้และน่าจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าอะไรควรจะเป็นวาระสุดท้าย และควรหรือไม่ควรที่จะทำอย่างที่ทำไปหรือไม่ และทั้งๆที่รู้อยู่ว่าผลกระทบที่จะตามมานั้นมากมายเพียงใด ยังคงผิดพลาดมาตลอด

พ่อของหมอ เส้นเลือดแตกในสมองขณะอายุได้ 59 ปี อาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แย่ลงอย่างเฉียบพลัน อาการเลวลงในเวลาเพียงชั่วโมงจนไม่รู้ตัว ซีกซ้ายและขวาขยับได้เฉพาะเวลาที่ถูกกระตุ้นโดยเป็นการตอบสนองในสภาพเหยียดเกร็งไม่สามารถปัดป้อง ตอบโต้ได้ อาการที่หมอเห็นขณะนั้น (ซึ่งตัวเองเป็นแค่นักเรียนแพทย์รู้แต่ทฤษฎี) บ่งบอกถึงว่าความเสียหายนั้นได้ลงมาถึงระดับที่เลยก้านสมองส่วนบนจนถึงส่วนกลาง ซึ่งเรามักเรียกว่า เป็นเขตที่เลยที่จะเยียวยาได้ รอบเตียงพ่อขณะนั้นเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทและสมอง หมอคาดว่าทุกท่านในใจคงจะคิดแบบเดียวกัน แต่ก็ยังหวังว่าจะมีปรากฏการณ์ ปาฎิหารย์ ที่พ่ออาจจะตื่นขึ้น พ่อได้รับความกรุณารักษาพยาบาล ได้รับการผ่าตัดดูดก้อนเลือดออก พ่ออยู่ในห้องไอซียูและโรงพยาบาลต่อกันเป็นเวลา ถ้าจำไม่ผิดคือ 2-3 ปี และในที่สุดกลับมาบ้านมาดูแลกันเอง สภาพเป็นเจ้าชายนิทรา ดูเสมือนมีการหลับ-ตื่นลืมตา แต่ไม่มองตาม ไม่มีการเคลื่อนไหวตามสั่ง ต้องดูดเสมหะผ่านรูที่เจาะคอ ให้อาหารโดยมีเพื่อนของแม่ปั่นอาหารส่งทุกวัน แช่ตู้เย็นไว้ และเมื่อจะให้อาหารทางสายยางก็อุ่นก่อนโดยให้ทุก 4 ชั่วโมงและต้องคอยพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันแผลกดทับ สภาพเช่นนี้ดำเนินไปเป็นเวลา 9 ปี จนพ่อเสีย มีเลือดออกจากทางเดินหายใจ ในวาระสุดท้าย

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแพทย์ท่านใดอยากให้เจอ ล้วนมีความตั้งใจบริสุทธิ์ ซึ่งครอบครัวยอมรับความเสี่ยง แต่ขณะนั้นไม่มีใครในครอบครัวจะเข้าใจได้จริงๆว่า ภาระดูแลหลังจากที่ผ่านวาระสุดท้ายและกลายเป็นเจ้าชายนิทรานั้นหนักหนาสาหัสเพียงใด ค่าใช้จ่ายที่ดูแลที่บ้าน ยังต้องมีค่าเตียงคนไข้ที่สามารถไขปรับได้ เครื่องดูดเสมหะ เด็กจากศูนย์ ผู้ช่วยพยาบาล 2คน ผลัดกลางวัน-กลางคืน ช่วยกับแม่และเด็กที่บ้านอีก 1 คน เราเป็นครอบครัวระดับปานกลางยังต้องขัดสน คิดถึงคนไข้และครอบครัวทั่วไปจะขนาดไหน

จากพ่อซึ่งป่วยมาถึงแม่ซึ่งสูบบุหรี่ตั้งแต่สาวๆ สมัยนั้นคงจัดได้ว่าเปรี้ยว แม่หยุดสูบ เมื่ออายุ 60 ปี โดยที่แต่ละวันก็ประมาณ 3-5 ตัว อาการมาโผล่เข้าก็ 10 ปีต่อมาโดยเริ่มปรากฏอาการของโรคปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่ง หลอดลมตีบ จากกระฉับกระเฉง ก็มีอาหารเหนื่อยเวลาเดินไกล ต้องพักเป็นระยะ จนต่อมาอยู่เฉยๆก็ยังแย่ เป็นมากขึ้น จนต้องมีออกซิเจนประจำบ้าน โชคดีที่เริ่มมีบริษัททำเครื่องอัตโนมัติเสียบปลั๊ก และปล่อยออกซิเจนได้ ไม่ต้องมีแท็งก์เหล็กกองอยู่ที่บ้าน อาการเลวลงจนในที่สุดหายใจไม่ได้เหมือนจมน้ำ แม่ยืนยันเป็นสิบครั้งว่าไม่ต้องการใส่เครื่อง นอนแช่อยู่บนเตียง เหมือนพ่อที่ดูแลมา 9ปี แต่ถึงเวลานั้น ที่ยืนดูแม่ตัวเอง และถามว่าจะต้องการให้สบายโดยให้ยานอนหลับไหม แม่ตอบว่าทำอย่างไรก็ได้ให้หายใจได้ และโดยที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกจึงได้สอดท่อ และใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยติดอยู่ในเครื่องเป็นเวลานาน จนต้องเจาะคอในที่สุด และลงเอยกลับมาที่บ้าน และเข้าๆออกๆ โรงพยาบาล ด้วยติดเชื้อในปอดบ้างและระบบอื่นๆบ้าง แต่ก็ยังคงพอมีความสุข เจอลูกเจอหลานได้ เลยมาได้อีกสองสามปี มีอาการหอบเหนื่อยหายใจไม่ได้เลยเป็นสัญญาณสุดท้าย และเป็นสิ่งที่แม่ยืนยันและตกลงแล้ว เมื่อถึงไอซียู แม่ หอบตลอดเวลา หมอและคุณหมอที่ดูแลแม่ประจำมองหน้ากัน รวมถึงภรรยาและลูกหมออีก 2 คน ตกลงจะให้มอร์ฟีนหรือยานอนหลับให้ท่านสบาย ไม่ทรมาน ตามที่แม่ต้องการหรือตามที่แม่ย้ำ แม่บอกแม่อยากอยู่ และคงอยู่ในไอซียูอีกเกือบ 5 ปี ด้วยเครื่องช่วยหายใจตลอด 24 ชั่วโมง ได้อาหารทางสายยาง แต่รู้ตัวดีตลอด หมอไม่กล้าขอให้แม่ไปอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะรู้อยู่เต็มอก ว่าจะไปกินที่คนอื่นที่มีโอกาสหายและไม่เป็นโรคเรื้อรังแบบแม่ ค่าใช้จ่ายแม่ถึงจะพอเบิกจ่ายราชการได้ ก็ยังต้องเสียเพิ่มในจำนวนมากกว่าเงินเดือนที่หมอได้จากราชการ และเป็นสิ่งที่หมอภาคภูมิใจว่าทำไมต้องมีคลินิกส่วนตัว ถ้าเป็นประชาชนคนทั่วไปล่ะครับ เราทุกคนคงคุ้นกับสิ่งที่ได้ยินว่าต้องขายบ้าน กู้หนี้ยืมสิน เพื่อระยะสุดท้ายของชีวิต

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจมากมายในช่วงเวลาวิกฤต พริบตาขณะนั้น ขณะที่คนไข้หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ หรือมีแขนขาอัมพาต อ่อนแรง ไม่รู้ตัว จะมีช่วงเวลาแคบๆน้อยนิดที่ แพทย์อาจจะทำการช่วยเหลือให้กลับมาได้ เป็นโอกาสเดียวที่แพทย์ต้องการทำให้คนไข้ที่อยู่ตรงหน้ากลับมาได้ ส่วนหนึ่งคนไข้ฟื้นคืนชีวิต กลับจากอัมพาต ไม่รู้ตัว แต่ยังคงมีอีกส่วนที่ทำได้ไม่สำเร็จ และตกเป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้ว่าเป็น “ภาระ” ของครอบครัว และสังคม ในช่วงเวลานั้นอาจจะเป็นการยากที่จะอธิบายให้ญาติรับรู้และเข้าใจถึงกระบวนการและผลในขั้นสุดท้าย แต่ต้องให้การรักษาไปเลย และกลับเป็นคำถามคาใจในกรณีที่ทำไม่สำเร็จว่าทำไมต้องทำจนกลายเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราไปได้

สองตัวอย่างจากแม่และพ่อของหมอเอง คงจะนึกออกนะครับว่า ไม่ว่าคนไข้จะรู้ตัวขณะนั้นหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะมีความตั้งใจแน่วแน่ก่อนหน้าเกิดเรื่องหรือไม่ก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาขณะนั้นอาจไม่ตรงไปตรงมา เหมือนที่หลายๆคนคิด และพยายามที่จะเป็นข้อบังคับ ข้อกำหนดในวาระสุดท้าย และสิทธิที่จะตายของตนเอง การกำหนดวาระสุดท้ายฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ที่สามารถตัดสินได้ มีกฎเกณฑ์ ข้อ 1-2-3 แต่ความจริงแล้วไม่ง่ายที่จะปฏิบัติ อย่างน้อยก็ตัวผู้เขียนเอง การประกาศวาระสุดท้าย ในช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจสั้นๆ ต้องการความแม่นในการวินิจฉัย ในการประเมิน ถ้าตัดสินใจว่าจะไม่ทำไม่ช่วยต่อไปแล้ว เป็นการตัดสินใจที่จะต้อง 100% แม้แต่คนไข้เองถ้าเลือกที่จะไม่รับการรักษาต่อ แท้จริงเป็นการตัดโอกาสตัวเองหรือเปล่า

ถึงนาทีนี้หมอเองยังคิดวนเวียนมาตลอดเป็น 10 ปีว่าที่ทำมา ถูกหรือผิด แต่สำคัญที่สุดคือ กราบขอบพระคุณ พี่ เพื่อน น้องแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทุกคน ที่ได้ช่วยดูแลทั้งพ่อและแม่มาตลอดและโชคดีที่มีครอบครัวเพื่อนๆของครอบครัว ที่เข้าใจ ประคับประคองมาตลอด



โดย: หมอหมู วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:21:16:44 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]