Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

การรักษาด้วย คีเลชั่น ดีจริงหรือมั่วนิ่ม? + แพทยสภาไม่รับรอง อัปเดต 11มค68

อัปเดต 18 มกราคม 2568

#หมอชวนรู้โดยแพทยสภา


ตอนที่ 250 "ต้องใช้การทำ คีเลชั่น ในการขจัดโลหะหนักออกจากร่างกายคนปกติหรือไม่?"
.............
ข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2568
TMC peer review.
.
หากดูโฆษณาในสื่อสาธารณะในสถานบริการ wellness ต่าง ๆ จะมีการบริการ 1 เรื่องที่เห็นบ่อยคือ การทำ chelation ดังนี้ ตัวอย่างสื่อโฆษณา chelation ตามสถาน wellness 3 แห่งที่พบได้ ณ วันที่ 5 มกราคม 2568
.
ภาพด้านข้างนี้(ภาพประกอบในหน้าที่ 1) ยังอ้างว่า คีเลชั่นบำบัด มีการรับรองมาตรฐานจากสมาคม....และมีงานวิจัยรองรับจาก อย. อเมริกาและยังมีข้อความโฆษณาถึงประโยชน์จากการทำ chelation จากสถานบริการ wellness อื่นๆ อีก ตัวอย่างเช่น Chelation คือวิธีการบำบัดหลอดเลือดผ่านการ Detox รูปแบบหนึ่ง เพื่อดึงเอาสารพิษชนิดโลหะหนักออกจากร่างกาย การ Detox ประเภทนี้จะเหมือนการให้น้ำเกลือหรือวิตามิน บริการทำคีเลชั่นที่ ...ช่วยกำจัดสารพิษและโลหะหนักที่สะสมในร่างกายของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
โดยวิธีการที่ได้รับการควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณรู้สึกดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คีเลชั่นบำบัด (Chelation Therapy) ตัวช่วยขับสารพิษในร่างกาย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสได้รับสารพิษสะสมอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อร่างกาย คีเลชั่น ลดอัตราเสี่ยงของหลอดเลือดแข็งอุดตันและตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง เหล่านี้ เป็นต้น
.
จึงเกิดคำถามว่า
1.ข้อความโฆษณาเหล่านี้มีข้อมูลเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ยืนยันถึงประโยชน์
ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ?
2.ต้องใช้การทำ คีเลชั่น ในการขจัดโลหะหนักออกจากร่างกายคนปกติหรือไม่ ?
.
1.ข้อมูลจาก อย. US-FDA สหรัฐอเมริกามีการแสดงว่า มีงานวิจัยรองรับ
การใช้ chelation ในประชาชนทั่วไปไหม ?
.
การค้นหาข้อมูลจาก อย. อเมริกา ไม่พบว่า แนะนำให้ใช้การทำ chelation บำบัดทางหลอดเลือดดำสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าเป็นการใช้การบำบัดเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพทั่วไป หรือในการรักษาโรคอื่น เช่น โรคหัวใจในประชาชนทั่วไป เพราะการบำบัดด้วยการทำ chelation เพื่อการล้างพิษหรือ
ประโยชน์ต่อสุขภาพอื่น ๆ เหล่านั้น ไม่มีเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ที่ดีพอที่จะยืนยันว่ามีประโยชน์จริง อย. อเมริกาให้ใช้เฉพาะการรักษาภาวะการเป็นพิษจากโลหะหนักเท่านั้นและยังเตือนให้ระมัดระวังการทำ chelation โดยไม่มีข้อบ่งใช้ที่ชัดเจนจากแพทย์ด้วย ข้อแนะนำดังกล่าวแสดงว่า อย. อเมริกายังไม่ยอมรับความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากงานวิจัยที่อ้างถึง (ให้อ่านต่อในข้อ 4.)
.
2.โอกาสที่คนทั่วไปจะได้รับสารโลหะหนักสะสมมากในร่างกายจนเกิดการเป็นพิษ มีมากน้อยเพียงใด ?
แม้ว่าสารโลหะหนักจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งในรูปแบบการรับประทานเข้าไป การสูดดม หรือแม้แต่การสัมผัสที่ผิวหนัง แต่ระดับสารโลหะหนัก (หากจะมีการสะสมในเลือดและอวัยวะต่าง ๆ) จากการประกอบอาชีพทั่วไป จะอยู่ในระดับที่ไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย ปัจจุบัน ยังไม่พบการศึกษาในประชาชนไทยทั่วไปที่พบว่า มีระดับสารโลหะหนักในเลือดของคนงานในอาชีพทั่วไปสูงกว่าประชากรปกติจนถึงระดับอันตราย ยกเว้นบางอาชีพที่อาจจะมีระดับสูงขึ้น เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรม คนงานเหมืองแร่ คนงานถลุง/หลอมตะกั่ว คนงานผลิตแบตเตอรี่ คนงานทำอัลลอยด์และคนงานขูดสี เป็นต้น ซึ่งการดูแลสภาวะการทำงานให้เหมาะสมซึ่งทำกันอยู่แล้วจะสามารถลดการสัมผัสและระดับสารโลหะหนักลงได้ รายงานของกองระบาดวิทยาในกรณีของภาคใต้นั้น มักเป็นโรคพิษตะกั่วจากช่างในอู่ต่อเรือเนื่องจากมีการใช้เสนหรือปูนแดงที่มีตะกั่วเป็นส่วนประกอบในการตอกหมันเรือ
.
ส่วนที่อ้างว่าผู้ที่มีกิจกรรมนอกบ้าน หรือผู้ที่รับประทานอาหารนอกบ้านเป็นประจำ ผู้ที่ทำสีผมและเล็บ การรับประทานปลา อาหารทะเล หรือผู้ที่รับประทานผลไม้บ่อย ๆ ประชาชนจะรับสารโลหะหนักได้ จนต้องมาขับล้างออกนั้น ข้อมูลจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่า จะมีการสะสมจนเกิดภาวะพิษจากโลหะหนัก การศึกษาปริมาณโลหะหนัก (ตะกั่ว แคดเมียม ทองแดง และสังกะสี) ในปลาทู, ปลาเห็ดโคน, กุ้งแชบ๊วย, หมึกหอม และปูม้า อำเภอละงู จังหวัดสตูล (รหัสโครงการ NAT550132S ดร.พรพิมล เชื้อดวงผุย คณะทรัพยากรธรรมชาติ และ ผศ.ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ไม่พบว่ามีโลหะหนักดังกล่าว
เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุขของไทย
ที่ประกาศไว้ใน พ.ศ. 2529 และกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำใน พ.ศ. 2554 ส่วนการศึกษาจากคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลในตัวอย่างปลาหลายชนิดก็พบเหมือนกันว่า มีสารหนู สารแคดเมียม และสารปรอทในปริมาณน้อยกว่าระดับมาตรฐานของ Codex และมาตรฐานของประเทศไทย และจากการประเมินสถานการณ์การบริโภคปลาประจำวันพบว่า มีความเสี่ยงต่ำในเรื่องโรคที่จะเกิดพิษจากสารแคดเมียมและสารตะกั่ว อาจจะเสี่ยงบ้างกับการสัมผัสสารหนูและการสัมผัสสารปรอทในปลาบางชนิดเท่านั้น การค้นฐานข้อมูล 43 แฟ้มของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
.
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
พบผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพิษจากโลหะหนัก 31 ราย จำแนกเป็น
• พิษจากตะกั่ว (T56.0) 19 ราย
• พิษจากแคดเมียม (T56.3) 3 ราย
• พิษจากสารหนู (T57.0) 6 ราย
• พิษจากปรอท (T56.1) 3 ราย
.
จำแนกตามอาชีพเป็นเกษตรกรและรับจ้างอย่างละ 9 ราย สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค ประจำปี 2557 พบว่า ภาคใต้มีผู้ป่วยที่พบภาวะพิษจากโลหะหนักมากที่สุด 12 ราย สามจังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือจังหวัดสงขลา 8 ราย สมุทรปราการและศรีสะเกษ จังหวัดละ 3 ราย ปัจจุบัน สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและ สิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการเฝ้าระวัง ป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อ
.
อนึ่ง ร่างกายของคนปกติจะมีกลไกในการกำจัดโลหะหนักอยู่แล้วซึ่งดีเพียงพอในกรณีที่ผู้นั้นรับสารโลหะหนักแบบไม่รู้ตัว เพราะจะรับในปริมาณที่น้อยมาก(ถ้ามี) สารโลหะหนักเหล่านี้จึงไม่ถูกสะสมจนถึงระดับที่เป็นพิษ โลหะหนักจะค่อย ๆ ถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะ และทางอุจจาระ นอกจากนี้อาจจะถูกขับออกทางน้ำดี เหงื่อและน้ำนมได้บ้าง ผู้ใหญ่และเด็กสามารถขับโลหะหนักออกจากร่างกายได้แตกต่างกัน การสัมผัสตะกั่วในเด็กปฐมวัยที่ผู้ปกครองทำอาชีพเกี่ยวข้องกับตะกั่ว
.
ดังนั้น หากไม่ได้มีอาชีพที่เสี่ยงชัดเจนต่อการรับสะสมสารโลหะหนัก เช่น
การทำเหมืองแร่หรือการสัมผัสการปนเปื้อนของโลหะหนักจากการกำจัดแร่ต่าง ๆ ที่ไม่ถูกวิธี และโรงงานปล่อยให้โลหะหนักปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม จึงไม่น่าจะเกิดภาวะพิษจากโลหะ อาการต่าง ๆ ที่กล่าวอ้างถึงในโฆษณาว่า เกิดจากการสะสมของโลหะหนัก จะเป็นอาการของโรคอื่น ๆ หรือภาวะอื่นๆ หรือจากความเหนื่อยล้ามากกว่า ท่านที่จะได้รับการทำ chelation จะต้องมีอาการของความเป็นพิษและได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน
ภาวะเป็นพิษจากโลหะหนักก่อนและเฝ้าระวังโดยเก็บและตรวจตัวอย่างฝุ่นตะกั่วจากสิ่งแวดล้อมในแต่ละจังหวัด
.
3.ผลเสียจากการทำ chelation โดยไม่จำเป็น
นอกจากการทำ chelation ในคนทั่วไปที่ไม่มีภาวะพิษจากโลหะหนักนั้นไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่า เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ในการรักษาโรค ผู้นั้นยังเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพและผลข้างเคียงเช่น อาการแพ้สารที่ใช้, ปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร, หรือ การขาดแคลนแร่ธาตุที่สำคัญในร่างกาย (เช่น แคลเซียมและ แมกนีเซียม) ทำให้เกิดการขาดสารอาหารที่สำคัญในร่างกายเพราะถูกขับออกไป หากร่างกายนำมาชดเชยไม่ทัน จะนำไปสู่ผลเสียทางสุขภาพในระยะยาว
.
4.ข้ออ้างอีก 1 ข้อในโฆษณาที่แจ้งว่า การทำ chelation เพื่อลดการอุดตันของหลอดเลือดแดงหัวใจ (CVD)
โรคอีก 1 โรคที่โฆษณากล่าวอ้างว่า ได้ประโยชน์จากการทำ chelation
โดยใช้สาร EDTA เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดแดงหัวใจ(และสมอง) อุดตัน
โดยเฉพาะในผู้สูงวัยซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย ข้อมูลของสำนักบริหาร
การทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566
พบว่ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น
ร้อยละ 20.17 ของประชากร และอ้างว่าการสะสมของโลหะหนักเช่น ตะกั่วและปรอท ในผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจจะเกี่ยวข้อง การอุดตันของหลอดเลือดแดง การให้ EDTA ยังช่วยลดการอักเสบในหลอดเลือดแดงและช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดได้อีกด้วย คำกล่าวอ้าง ดังกล่าวได้มาจากการศึกษา "Trial to Assess Chelation Therapy" (TACT) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIH อเมริกาและเผยแพร่ใน พ.ศ. 2556 แต่เป็นผลที่ได้จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมแบบไม่ได้วางแผนมาก่อน ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่าการทำ EDTA chelation ลดความเสี่ยงของโรค CVD ได้อีกร้อยละ 18 ในผู้ที่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจวายมาก่อน และยังพบว่ามีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 41 ในโรคหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตัน(CVD) ในผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย แต่ไม่พบประโยชน์ดังกล่าวในผู้ที่ไม่มีโรคเบาหวาน
.
เนื่องจากผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมดังกล่าวที่พบว่าการทำ chelation ลดความเสี่ยงของการเกิดโรค CVD ได้เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงยังไม่เชื่อผลการวิเคราะห์และผลสรุปในเรื่องนี้ของ TACT เพราะเป็นผลการวิเคราะห์ในกลุ่มย่อยและได้ผลที่ไม่คาดคิดหรือไม่ได้วางแผนการศึกษาให้รัดกุมมาก่อน และยังไม่สามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์ในเชิงพยาธิวิทยากำเนิดของโลหะหนักและการอุดตันของหลอดเลือดแดง (หากเป็นนักวิจัยที่เที่ยงตรงต่อความแม่นยำของวิธีการทำวิจัยการวิเคราะห์ลงลึกในกลุ่มย่อยแบบไม่ได้วางแผนมาก่อนถือว่า ผลการวิเคราะห์ที่ได้จะเป็นเพียงสมมติฐานที่ต้องพิสูจน์อีกครั้งจากการทำวิจัยใหม่ให้ตรงประเด็นจนได้ผลชัดเจนก่อนจะสรุปและผลที่ได้จากการทำวิจัยซ้ำใหม่จะตอบได้ถูกต้องแม่นยำกว่า) สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) และวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American College of Cardiology) ก็กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่าการทำคีเลชั่น จะมีประโยชน์ในการรักษาโรคหัวใจ แพทย์ไทยหลายองค์กรก็ยังไม่ยอมรับข้อบ่งใช้นี้และย้ำเสมอว่า ยังต้องการการทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของการวางแผนการศึกษาที่รัดกุมตรงประเด็นมีชื่อว่า TACT2 และหลายคนเฝ้ารอคอยผลการศึกษาครั้งนี้ และในที่สุดก็มีรายงานเป็นบทความตีพิมพ์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567
.
การวิจัย TACT2 มีสถาบันการแพทย์ 88 แห่งเข้าร่วมและมีผู้เข้าร่วมวิจัย 1,000 รายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปซึ่งมีโรคเบาหวานและประวัติการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจวายมาก่อน ผู้เข้าร่วมศึกษาถูกสุ่มแบ่งให้รับการรักษาด้วย EDTA chelation 1 ครั้งในแต่ละสัปดาห์หรือยาหลอกนาน 40 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วม 959 คน ได้รับการฉีดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (483 รายได้รับการทำ EDTA chelation และ 476 รายได้รับยาหลอก) การศึกษาเป็นแบบปิดบังสองทาง ซึ่งหมายความว่า ทั้งผู้เข้าร่วมวิจัยและนักวิจัยไม่ทราบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยรายใดได้รับการรักษาแบบใด ทีมวิจัยไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลนี้ได้จนกว่าการศึกษาจะเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมวิจัยถูกติดตามนานเฉลี่ย 48 เดือนผลการวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยมากกว่าหนึ่งในสามเกิดโรค CVD (เสียชีวิต, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน, อัมพาต, บางรายมีการทำหัตถการฟื้นฟูหลอดเลือดหัวใจ, หรือการเข้ารักษาในโรงพยาบาลสำหรับอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่เสถียร)ในระหว่างช่วงติดตาม พบว่า ไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญของการเกิดโรค CVD ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย chelation และกลุ่มยาหลอก ผู้ที่ได้รับการบำบัดด้วย chelation มีระดับตะกั่วในเลือดลดลงร้อยละ 61 หลังจากการรักษาด้วย chelation ขณะที่ผู้ที่ได้รับยาหลอกไม่แสดงการลดลงของระดับตะกั่วที่มีนัยสำคัญ ระดับแคดเมียมในปัสสาวะเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากการฉีด chelation แต่ละครั้ง ดังนั้นการบำบัดด้วย EDTA จึงมีประสิทธิภาพในการขจัดทั้งตะกั่วและแคดเมียมและส่งเสริมการขับถ่ายของตะกั่วและแคดเมียม แต่ไม่ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค CVD และไม่ได้แสดงว่าลดการอักเสบของหลอดเลือดแดงได้
.
สรุปผลการวิจัย TACT2 พบว่า แม้ว่าการให้ EDTA สามารถลดระดับตะกั่วในเลือดได้อย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานและเคยเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจวายมาก่อนแล้ว
.
#กล่าวโดยสรุป
น้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลจาก TACT2 ว่า การให้ยา chelation ในคนปกติที่ไม่มีภาวะพิษจากโลหะหนัก ไม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันได้ อยู่ในระดับน่าเชื่อถือว่าถูกต้องได้ดีมาก (1B)
คำแนะนำจากผู้ทบทวนวิชาการ ให้ความเห็นว่า การทำ chelation ในประชาชนทั่วไปถือว่า ยิ่งไม่เหมาะสม (เพราะขนาดทำวิจัยในกลุ่มโรคเบาหวานและมีโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมาก่อน ยังไม่ได้ผลดีใดๆ เลย และยังสอดคล้องกับข้อมูลจาก TACT เองที่แสดงว่า ไม่พบประโยชน์ดังกล่าวในประชากรทั่วไปอยู่แล้ว) และยังมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าจากการแพ้ยาและการเกิดฤทธิ์ข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
.
ดังนั้น ต้องใช้การทำ คีเลชั่น ในการขจัดโลหะหนักออกจากร่างกายคนปกติหรือไม่? คำตอบคือ #ไม่ต้องทำเลย
...................
บทความโดย
ศ.เกียริตคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี
กรรมการแพทยสภา
ภาพประกอบจาก Canva และ Shutterstock
.
#ต้องใช้การทำคีเลชั่นในการขจัดโลหะหนักออกจากร่างกายคนปกติหรือไม่ #คีเลชั่น #แพทยสภา #หมอชวนรู้ #TMCpeerreview

แพทยสภา
https://www.facebook.com/thaimedcouncil/posts/pfbid0owLrqVUX2RAccs8vSH6KyMRvFH62KxEfNyjiVmFqkSuBTYX3jaAU7mRNAk2AgKSYl





..................................................
เนื้อเรื่องเก่า .. ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐
 

๑๒กย.๖๐ แจ้งเพื่อทราบ ....  สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย ยืนยันว่า คีเลชั่นตอนนี้ใช้ได้ในการรักษาคนที่ได้รับโลหะหนักเท่านั้น ถ้าใครซื้อคอร์สที่อ้างว่าคีเลชั่นรักษาโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมอง ออทิสติค ฯลฯ แสดงว่า ท่านถูกหลอก นะครับ แต่ถ้าท่านรู้ว่า ถูกหลอก แล้วยังเต็มใจให้หลอก ก็ไม่ว่ากัน ^_^

ถาม : ประเด็น“คนซื้อคอร์สถูกหลอก ดูดเลือดออกมาผสมข้างอีดีทีเอข้างนอก แล้วฉีดกลับ”? จริงมั้ย ?
ตอบ : ข้อมูลทำให้เข้าใจผิดอย่างร้ายแรง มโนไปกันใหญ่ ...โดยหลักการคือให้สาร Chelating Agent ผ่านหลอดเลือดดำธรรมดานี่แหละ แหม...รู้ไม่จริงทำซะเรื่องใหญ่โต
ต้องแยกประเด็นกับโอเวอร์เคลม หลอกให้ซื้อคอร์ส อันนี้ก็ไปจัดการกันไปตามวิถีกฎหมายต่อไป

ว่าที่ ร.ต.ต.นพ.บัญชา แดงเนียม อุปนายก สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย
11 ก.ย. 60 | เจาะลึกทั่วไทย ToNight SpringNews
https://www.youtube.com/watch?v=Lb_JNrio2xc

ที่มา : สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย   ๑๑กันยายน๒๕๖๐
https://www.facebook.com/thaicmat/posts/1645456475466940

ที่มาภาพ  Drama-addict
https://www.facebook.com/DramaAdd/photos/a.10151331013638291.508570.141108613290/10155864432348291/?type=3&theater

การรักษาด้วย คีเลชั่น....ดีจริงหรือมั่วนิ่ม ??? + แพทยสภาไม่รับรอง"คีเลชั่น"
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-02-2009&group=7&gblog=17

.......................................


กพ.๒๕๕๒ .. นำมาฝาก จากเวบไทยคลินิก...

 
การรักษาด้วยคีเลชั่น....ดีจริงหรือมั่วนิ่ม?
โดย : ศ.น.พ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

https://www.bangkokbiznews.com/home/news/life-style/health/2009/02/16/new s_16430.php


การรักษาด้วยคีเลชั่น จุดประสงค์คือ การขจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย โดยเปลี่ยนทำให้ละลายน้ำได้ เพื่อขับออกทางไตและตับ

ภายในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา หมอถูกถามด้วยคำถามเดียวกันจากเพื่อนสองรายและคนไข้ หนึ่งราย ว่าจะไปรักษาคีเลชั่น (chelation) ดีไหม

เพื่อนคนแรกอายุเท่าหมอ (นั่นคือ....ยังไม่แก่นัก) สุขภาพแข็งแรง แต่ได้ยินว่าทำแล้วกระชุ่มกระชวย
เพื่อนคนที่สอง เคยมีอัมพฤกษ์ และเส้นเลือดหัวใจมีแคลเซียมเกาะหนา

ส่วนคนไข้เป็นโรคกรรมพันธุ์สมองส่วนท้ายทอยเหี่ยว ซึ่งไม่มีทางรักษาในปัจจุบัน ได้รับข้อเสนอให้ใช้สเต็มเซลล์ (stem cell) ซึ่งเคยเรียนให้ทราบหลายครั้งแล้วว่าขณะนี้นอกจากโรคเลือด อย่างอื่นๆ ยังมั่วนิ่มทั้งหมด (สมาคมนานาชาติการค้นคว้าสเต็มเซลล์ Guidelines for the clinical translation of stem cells 3 ธันวาคม 200Cool

โดยสเต็มเซลล์ 10 เข็ม ราคา 250,000 บาท แถมทำคีเลชั่นให้อีก 10 ครั้ง (ราคา 40,500 บาท) ผ่อนก็ได้ 10 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย

......... เท่าที่หมอยืนยันไปก็คือ ขณะนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ทั้งสิ้นว่า การรักษาคีเลชั่นมีประโยชน์จริง

การรักษาด้วยคีเลชั่น จุดประสงค์ก็คือ การขจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย โดยเปลี่ยนทำให้ละลายน้ำได้ เพื่อขับออกทางไตและตับ มีประวัติยาวนานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อรักษาผู้ถูกก๊าซพิษที่มีสารหนู (arsenic) ออก หลังจากนั้นมียาคีเลชั่นหลายชนิดเพื่อใช้รักษาโรคที่เกิดจากการสะสมของธาตุเ หล็ก (ในโรคเลือดกรรมพันธุ์ธาลัสซีเมีย) ปรอท ตะกั่ว ยูเรเนียม พลูโตเนียม

ในเวลาต่อมา มีผู้ผันแปรเจตนาเดิมมาใช้ในการรักษาโรคหัวใจที่มีเส้นเลือดตีบ แม้กระทั่งโรคออทิสติก โดยอ้างว่าโรคออทิสติกเกิดจากสารปรอทที่ปนเปื้อนในวัคซีน (thiomerosal) ซึ่งไม่เป็นความจริง

สำหรับการใช้กับโรคหัวใจในประเทศไทย มีการโฆษณาโจ๋งครึ่ม ถึงการรักษาคีเลชั่นเพื่อฟื้นฟูหลอดเลือดในหน้าหนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต จากโรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาล คลินิก

โดยเฉพาะที่น่าหดหู่ก็คือ มีสมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย สำนักแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวตั้งตัวตีด้วย รวมทั้งมีศูนย์คีเลชั่นแบบนำร่อง ในจังหวัดต่างๆ

ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐและมีปัญหาเกี่ยวกับการรักษาด้วยทางเลือกใหม่ (Alternative medicine) จะมีหน่วยงานและสถาบันของรัฐทำหน้าที่ในการค้นหาหลักฐานข้อมูลความเป็นจริง ว่ามีประโยชน์ ประสิทธิภาพดีจริงหรือไม่ และมีข้อเสียที่ต้องระวังหรือไม่ รวมทั้งถ้าพิสูจน์ไม่ได้ตามที่กล่าวอ้าง สมควรต้องออกกฎระเบียบห้ามการใช้ ห้ามโฆษณา โดยไม่เป็นเสียเอง โอบอุ้ม อาหารเสริม ยาผีบอก การรักษาที่ไม่ได้พิสูจน์ และยังส่งเสริมการใช้เสียอีกเช่นนี้

การศึกษาโดย Knudtson และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์ของสหรัฐ (JAMA) ค.ศ.2002 โดยการศึกษาคนไข้ที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบ 2 กลุ่มๆ ละ 40 ราย
โดยกลุ่มแรกให้การรักษาด้วย EDTA คีเลชั่น และอีกกลุ่มให้ยาหลอกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไปนาน 15 สัปดาห์ และต่อด้วยเดือนละครั้งไปนานอีก 3 เดือน รวม 33 ครั้ง
ปรากฏว่าไม่มีผลแตกต่างกัน โดยการดูจากระยะเวลาของการออกกำลังจนกระทั่งคลื่นหัวใจแสดงลักษณะของการขาดเ ลือด ประสิทธิภาพของการออกกำลัง และคุณภาพชีวิต

โดยการใช้ EDTA หวังว่าจะไปจับกับแคลเซียมที่คล้ายเป็นตะกรัน ในหลอดเลือดที่ตีบ เช่น ในหัวใจ ในสมอง โดยเชื่อว่ามีกลไกทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำก่อน จะได้ไปดึง แคลเซียมที่เกาะอยู่ตามเส้นเลือดออก

โดยที่ความเชื่อนี้ไม่มีการพิสูจน์ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ใดๆ นอกจากนั้นยังเชื่ออีกว่าเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระ และยังลดการสะสมของธาตุเหล็กในตัว ทำให้เส้นเลือดขยายตัวยืดตัวได้ดี และอื่นๆ อีกมากมาย

รายงานที่ผ่านมาของการให้ EDTA คีเลชั่น เป็นการรายงานในผู้ป่วยที่ไม่มีระเบียบวิธีการศึกษาที่รัดกุมดีพอ ประกอบกับคนไข้ รู้สึกดีขึ้นกระชุ่มกระชวยเองจากจิตใจ (placebo effect)

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลของ EDTA คีเลชั่นในผู้ป่วยเส้นเลือดตีบที่ขาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 ในวารสารหลอดเลือด (Circulation) ซึ่งไม่พบว่าก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

สมาคมหัวใจของสหรัฐ (American Heart Association) ปัจจุบันยังคงยืนยันว่า การรักษาด้วย EDTA คีเลชั่นยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้ และอาจทำให้ในผู้ที่ได้คีเลชั่นเกิดความนิ่งนอนใจว่าได้รักษาแล้ว และ หยุดการรักษาหรือป้องกันโรคหัวใจด้วยวิธีมาตรฐานอีก

ในสหรัฐเองมีการใช้ EDTA คีเลชั่น โดยไม่ได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐ โดยคิดค่าใช้จ่ายประมาณ ครั้งละ 1,500-3,000 บาท และในเดือนแรกต้องทำ คีเลชั่นตั้งแต่ 5-30 ครั้ง โดยเดือนต่อมาทำเดือนละครั้ง ตัวสาร EDTA ก็ไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นยามาตรฐานในการรักษาโรคของเส้นเลือด

ทั้งนี้ ทั่วในสหรัฐหรือในประเทศยุโรป บริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบในการเบิกจ่าย รวมทั้งไม่รับผิดชอบถ้าเกิดผลแทรกซ้อนจากการทำคีเลชั่น

ผลแทรกซ้อนที่พบได้มีตั้งแต่ เกิดไตวาย (renal tubular necrosis) มีการกดการทำงานของไขกระดูก ความดันเลือดตกจนถึงช็อก มีลมบ้าหมู เกิดการเต้นผิดปกติของหัวใจหรือมีปฏิกิริยาแพ้จนไม่หายใจ

สำหรับเหตุการณ์เสียชีวิตจาก EDTA คีเลชั่นที่ทำให้ระดับแคลเซียมต่ำ มีตัวอย่างผู้เสียชีวิตในสหรัฐ รัฐเทกชัส เพนชิลเวเนีย และโอเรกอน ระหว่างปี 2003-2005 (Mortality and Morbidity Weekly Report ฉบับเดือนมีนาคม 2006)

มีเด็กชาย อายุ 5 ขวบ ในเดือนสิงหาคม 2005 เป็นโรคออทิสติก และได้รับการรักษาด้วย EDTA คีเลชั่น โดยแท้ที่จริงแล้ว โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความผิดปกติของสมองที่เกิดจากการสะสมของปรอทเลย หลังจากได้คีเลชั่น เด็กหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด จากการที่ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากคีเลชั่น

ในเดือนสิงหาคม 2003 สตรีอายุ 53 ปี ซึ่งไม่ได้มีโรคเส้นเลือดหัวใจหรือโรคอื่นๆ ได้รับการคีเลชั่น จากคลินิกบำบัดธรรมชาติ เพื่อขจัดโลหะหนักในร่างกาย โดยความเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพดีขึ้น

หลังจากทำการบำบัดได้ประมาณ 10-15 นาที ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งผลการชันสูตร พบว่า เกิดจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติ

อันเป็นผลจากการที่แคลเซียมต่ำจากการให้คีเลชั่น และระดับต่ำลงถึง 3.8 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ค่าปกติ 4.5-5.3) แม้ว่าจะได้รับการฉีดแคลเซียมระหว่างนำส่งโรงพยาบาล และขณะทำการปั๊มหัวใจช่วยชีวิตที่ห้องฉุกเฉินก็ตาม

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2005 เด็กหญิง วัย 2 ขวบ ได้รับการรักษาด้วย EDTA คีเลชั่น เนื่องจากตรวจพบว่าน่าจะมีตะกั่วสะสมในตัวจนเกิดโลหิตจาง หลังจากได้คีเลชั่น เด็กหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุดจากแคลเซียมต่ำ

ไม่ใช่แต่เพียงสมาคมโรคหัวใจในสหรัฐอเมริกาทั้งสองสมาคม (American Heart Association และ American College of Cardiology) เท่านั้นที่ไม่ยอมรับวิธีการรักษาด้วย EDTA คีเลชั่น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) สหรัฐ สมาคมแพทย์สหรัฐ (American College of Physicians และ American Medical Association) สถาบันสุขภาพ หัวใจ ปอด และเลือด (National Heart, Lung, Blood Institute, National Institutes of Health) ต่างก็ประสานเป็นเสียงเดียวว่าไม่เห็นด้วยกับการรักษาคีเลชั่นที่ไม่ได้ถูกร ับรองเช่นนี้


ถึงกระนั้นก็ตาม เนื่องจากมีการใช้อย่างแพร่หลายผิดๆ ในสหรัฐ (รวมกระทั่งโดยเฉพาะในเมืองไทยด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นเสียเองด้วย)

ในเดือนสิงหาคม 2002 สถาบันสุขภาพสหรัฐ (National Institute of Health) โดยศูนย์การรักษาทางเลือก (National Center for Complementary and Alternative Medicine) และ สถาบันโรคหัวใจ ปอด และเลือด ได้ประกาศทำการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยด้วยการรักษา EDTA คีเลชั่น โดยจะมีผู้ป่วยในการศึกษา 2,372 ราย .ในผู้ป่วยที่อายุ 50 ปีขึ้นไปและเคยมีหัวใจวาย

ทั้งนี้โดยที่มีสถาบันหรือโรงพยาบาล ในการศึกษานี้ประมาณ 100 แห่งทั่วประเทศ การศึกษาดังกล่าวเริ่มแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2003 และจะเสร็จสิ้นในปี 2010 เพราะฉะนั้น ใครที่อยากกระชุ่มกระชวย ล้างตะกรันในเส้นเลือดหรือหวังจะช่วยโรคหัวใจที่เป็นอยู่แล้ว กรุณาอดใจรอสักนิดว่า คีเลชั่นดีจริง หรือ มั่วนิ่ม โดยเฉพาะถ้าดูราคาในเมืองไทยที่แอบเปิดบริการ (อย่างโจ๋งครึ่ม) เหล่านี้ยังแพงกว่าของสหรัฐอีกนะครับ

แถมท้าย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัย ราชวิทยาลัย สมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ช่วยกันคุ้มครองคนไข้กันบ้างหรือครับ เขามีสิทธิทราบข้อเท็จจริง ทั้งผลดี ผลร้าย ความเป็นไปได้ในการรักษาที่ไม่มีหลักฐานเหล่านี้มากพอจะตัดสินใจที่จะเสียทร ัพย์ เสียโอกาส เพื่อเป็นหนูทดลองตามคำโฆษณาที่ยังไม่ได้พิสูจน์ หรือไม่

ส่งโดย: ppom


"""""""""""""""""""""""""""""

 
คีเลชั่นคืออะไร รักษาเส้นเลือดหัวใจตีบได้หรือไม่

ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

17 ม.ค. 2559

การรักษาคีเลชั่น (chelation) เป็นการรักษาทางเลือกนอกแบบ ที่พิสูจน์ชัดเจน คือ การขจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย โดยเปลี่ยนทำให้ละลายน้ำได้ ขับออกทางไตและตับ โดยมีประวัติตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อรักษาผู้ถูกก๊าซพิษที่มีสารหนู (arsenic) ออก

หลังจากนั้นมียาคีเลชั่นหลายชนิดเพื่อใช้รักษาโรคที่เกิดจากการสะสมของธาตุเหล็ก (ในโรคเลือดกรรมพันธุ์ธาลัสซีเมีย) ปรอท ตะกั่ว ยูเรเนียม พลูโตเนียม ในเวลาต่อมา มีผู้ผันแปรเจตนาเดิมมาใช้ในการรักษาโรคหัวใจที่มีเส้นเลือดตีบ แม้กระทั่งโรคออทิสติก โดยอ้างว่าโรคออทิสติกเกิดจากสารปรอทที่ปนเปื้อนในวัคซีน (thiomerosal) ซึ่งไม่เป็นความจริง...ในสหรัฐฯมีปัญหาเกี่ยวกับการรักษาทางเลือกใหม่ เลยจัดตั้งให้มีหน่วยงานและสถาบันของรัฐการแพทย์ทางเลือก ทำหน้าที่ในการค้นหาหลักฐานข้อมูลความเป็นจริงว่ามีประโยชน์ประสิทธิภาพดีจริงหรือไม่ และมีข้อเสียที่ต้องระวังหรือไม่ รวมทั้งถ้าพิสูจน์ไม่ได้ตามที่กล่าวอ้าง ก็จะประกาศทั่วกัน

EDTA ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการรักษาทางเลือกใหม่เป็นกรดอะมิโน ซึ่งสามารถจับกับตะกั่ว, แมกนีเซียม, สังกะสี, แคลเซียม, ทองแดง โดยการใช้ EDTA หวังว่าจะไปจับกับแคลเซียมที่คล้ายเป็นตะกรัน ในหลอดเลือดที่ตีบ เช่น ในหัวใจ ในสมอง โดยเชื่อว่ามีกลไกทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำก่อน จะได้ไปดึงแคลเซียมที่เกาะอยู่ตามเส้นเลือดออก โดยที่ความเชื่อนี้ไม่มีการพิสูจน์ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ใดๆ

นอกจากนั้นยังเชื่ออีกว่าเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระและยังลดการสะสมของธาตุเหล็กในตัว ทำให้เส้นเลือดขยายตัวยืดตัวได้ดี และอื่นๆอีกมากมาย

รายงานที่ผ่านมาของการให้ EDTA คีเลชั่น เป็นการรายงานที่ไม่รัดกุมดีพอ ประกอบกับคนไข้รู้สึกดีขึ้นกระชุ่มกระชวยเองจากจิตใจ การศึกษาที่มีระเบียบรัดกุม ในผู้ป่วยเส้นเลือดตีบที่ขาปี 1994 ในวารสารหลอดเลือด (Circulation) ไม่พบว่าก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

การศึกษา ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์ของสหรัฐฯ (JAMA) 2002 คนไข้มีเส้นเลือดหัวใจตีบ 2 กลุ่ม กลุ่มละ 40 ราย โดยกลุ่มแรกให้การรักษา ด้วย EDTA คีเลชั่น และอีกกลุ่มให้ยาหลอกสัปดาห์ละ 2 ครั้งไปนาน 15 สัปดาห์ และต่อด้วยเดือนละครั้งไปนานอีก 3 เดือน รวม 33 ครั้ง ปรากฏว่าไม่มีผลแตกต่างกัน

ในสหรัฐฯเองมีการใช้ EDTA คีเลชั่น โดยไม่ได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐฯ และในเดือนแรกต้องทำคีเลชั่นตั้งแต่ 5-30 ครั้ง โดยเดือนต่อมาทำเดือนละครั้ง ตัวสาร EDTA ก็ไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นยามาตรฐานในการรักษาโรคของเส้นเลือด มีคนทำคีเลชั่นเฉลี่ยประมาณ 111,000 รายต่อปี ในช่วงปี 2002 ถึง 2007

การรักษาด้วยคีเลชั่นคืออะไร รักษาเส้นเลือดหัวใจตีบได้หรือไม่

ทั้งนี้ ทั่วในสหรัฐฯหรือในประเทศยุโรป บริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบในการเบิกจ่าย รวมทั้งไม่รับผิดชอบถ้าเกิดผลแทรกซ้อนจากการทำคีเลชั่น ผลแทรกซ้อนที่พบได้มีตั้งแต่เกิดไตวาย มีการกดการทำงานของไขกระดูก ความดันเลือดตกจนถึงช็อก มีลมบ้าหมู เกิดการเต้นผิดปกติของหัวใจหรือมีปฏิกิริยาแพ้จนไม่หายใจ

สำหรับเหตุการณ์เสียชีวิตจาก EDTA คีเลชั่นที่ทำให้ระดับแคลเซียมต่ำ มีตัวอย่างผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ รัฐเท็กซัส เพนซิลเวเนีย และโอเรกอน ระหว่างปี 2003-2005 (Mortality and Morbidity Weekly Report 2006) มีเด็กชายอายุ 5 ขวบ ในเดือนสิงหาคม 2005 เป็นโรคออทิสติกและ ได้รับการรักษาด้วย EDTA คีเลชั่น โดยแท้ที่จริงแล้ว โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความผิดปกติของสมองที่เกิดจากการสะสมของปรอทเลย หลังได้คีเลชั่น เด็กหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด จากการที่ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากคีเลชั่น

ในเดือนสิงหาคม 2003 สตรีอายุ 53 ปี ซึ่งไม่ได้มีโรคเส้นเลือดหัวใจหรือโรคอื่นๆ ได้รับการคีเลชั่นจากคลินิกบำบัดธรรมชาติ เพื่อขจัดโลหะหนักในร่างกาย โดยความเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพดีขึ้น หลังทำการบำบัดได้ประมาณ 10-15 นาที ไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งผลการชันสูตรพบว่า เกิดจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติ อันเป็นผลจากการที่แคลเซียมต่ำจากการให้คีเลชั่น และระดับต่ำลงถึง 3.8 มก.เดซิลิตร (ค่าปกติ 4.5-5.3) แม้ว่าจะได้รับการฉีดแคลเซียมระหว่างนำส่งโรงพยาบาล และขณะทำการปั๊มหัวใจช่วยชีวิตที่ห้องฉุกเฉินก็ตาม

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2005 เด็กหญิงวัย 2 ขวบ ได้รับการรักษาด้วย EDTA คีเลชั่น เนื่องจากตรวจพบว่าน่าจะมีตะกั่วสะสมในตัวจนเกิดโลหิตจาง หลังจากได้คีเลชั่น เด็กหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุดจากแคลเซียมต่ำ...ไม่ใช่แต่เพียงสมาคมโรคหัวใจในสหรัฐอเมริกาทั้งสองสมาคมเท่านั้นที่ไม่ยอมรับวิธีการรักษาด้วย EDTA คีเลชั่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) สหรัฐฯ สมาคมแพทย์สหรัฐฯ สถาบันสุขภาพ หัวใจ ปอด และเลือด ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการรักษาคีเลชั่นที่ไม่ได้ถูกรับรองเช่นนี้
ถึงกระนั้นก็ตาม เนื่องจากมีการใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2002 สถาบันสุขภาพสหรัฐฯ โดยศูนย์การรักษาทางเลือกและ สถาบันโรคหัวใจ ปอด และเลือด ได้ประกาศทำการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยด้วยการรักษา EDTA คีเลชั่นในโรคหัวใจขาดเลือด ในผู้ป่วยที่อายุ 50 ปีขึ้นไปและเคยมีหัวใจวาย ทั้งนี้ โดยที่มีสถาบันหรือโรงพยาบาลในการศึกษานี้ทั่วประเทศ การศึกษาดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม 2003 และเสร็จสิ้นในปี 2010 ผลการศึกษาที่เริ่มทยอยรายงานตั้งแต่ปี 2013 จนปัจจุบัน มีคนอยู่ในการศึกษาท้ายสุดจำนวน 1,708 ราย พบว่าได้ผลเฉพาะในคนที่มีเบาหวานและมีโรคหัวใจเท่านั้น

โดยกลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณหนึ่งในสาม โดยที่ลดความเสี่ยงลงได้ 40% จากการมรณะจากโรคหัวใจ จากการเกิดอัมพฤกษ์ และลดการเกิดซ้ำของหัวใจล้มเหลวได้ 52% และลดการมรณะจากเหตุใดๆได้ 43% ทั้งนี้ การให้ร่วมกับวิตามินขนาดสูงและเกลือแร่จะได้ผลดีขึ้น

อย่างไรก็ดี กระบวนการในการให้ ไม่ว่าจะเป็นคีเลชั่นจริง หรือหลอกซึ่งต้องมีการให้สารละลายทางเส้นเลือดมีผลแทรกซ้อนข้างเคียง โดย 16% ที่ได้จริงและ 15% ที่ได้หลอก ต้องหยุดให้กลางคัน และรุนแรง 2 ราย ในแต่ละกลุ่ม (รวม 4 ราย) 1 รายในแต่ละกลุ่มเสียชีวิต อาการข้างเคียงที่เกิดได้มีตั้งแต่แสบร้อนบริเวณที่ให้ทางเส้นเลือด ไข้ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ที่รุนแรงขึ้นคือ หัวใจวาย ช็อก แคลเซียมต่ำ หัวใจหยุดเต้น ไตวาย

ทั้งนี้ ย้ำ จากการศึกษานี้ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฝ้าดูแลอย่างรัดกุม การทำคีเลชั่น ต้องระมัดระวังสูงสุด ถึงตายได้ถ้าการทำไม่มีความชำนาญไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะแก้ไขผลแทรกซ้อนวิกฤติ ขณะทำ หรือหลังทำ และ คนที่เป็นเบาหวานเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ โดยอธิบายกลไกไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร.

หมอดื้อ
สุขภาพพรรษา
ไทยรัฐ วันอาทิตย์

https://www.facebook.com/thiravat.hemachudha/posts/10155593233131518การรักษาด้วย


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

แพทยสภาไม่รับรอง“คีเลชั่น”

11 ก.ย. 2017 15:05 น.


ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาระบุการรักษาแบบ “คีเลชั่น”ไม่อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ชี้ในสหรัฐฯไม่รับรองการรักษาด้วยวิธีนี้ แนะประชาชนหาข้อมูลให้ดีก่อนเข้ารับบริการ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นพ.เมธี วงศ์ศิริสุนทร ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ “new18” กรณีที่มีข้อถกเถียงเรื่องคีเลชั่น ซึ่งล่าสุดกำลังเป็นประเด็นเมื่อจะมีการฟ้องร้อง "หมอแล็บแพนด้า" หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน แอดมินเพจเฟซบุ๊กชื่อดังที่ไปให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า การรักษาแบบคีเลชั่น เป็นการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษโลหะหนัก ซึ่งมีมานานตั้งแต่สมัยสงครามโลก โดยการใส่กรดอะมิโน ที่มีชื่อทางการแพทย์ว่า EDTA เข้าไปในเลือด เพื่อไปจับกับโลหะหนักที่ร่างกายของผู้ป่วยได้รับมากเกินไปให้ลดลงได้ แต่ไม่ใช่การรักษาเพียงวิธีเดียวในปัจจุบัน และในต่างประเทศ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ก็ไม่รับรองการรักษาด้วยวิธีนี้ รวมถึงบริษัทประกันในต่างชาติก็จะไม่ให้เบิกเงินประกัน หากคนไข้เลือกรับการรักษาด้วยวิธีนี้ รวมถึงมีรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการทำคีเลชั่นจริงในต่างประเทศ

นพ.เมธี กล่าวต่อว่า สำหรับในประเทศไทย มีสถานบริการบางแห่งมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยรักษาโรคหัวใจ ช่วยล้างหลอดเลือด ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย ผิวพรรณเต่งตึง ซึ่งการรักษาด้วยข้อบ่งชี้ทั้งหมดนี้ไม่อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ และไม่อยู่ในตำราทางการแพทย์ที่ถูกต้อง นอกเหนือจากการรักษาพิษโลหะหนักในร่างกาย

การรักษาแบบคีเลชั่น ที่มีการนำเลือดออกมาจากตัวผู้ป่วย ใส่สารบางอย่างแล้วฉีดกลับเข้าไป ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม หากแพทย์คนใดนำวิธีนี้ไปใช้แล้วอ้างว่าเป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ก็ต้องไปดูนิยามทางกฏหมายว่าเข้าข่ายหรือไม่ พร้อมฝากเตือนประชาชนให้หาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวให้ครบถ้วน และหากตัดสินใจเข้ารับบริการ ก็ให้เก็บข้อมูลหลักฐานการรักษาเอาไว้ให้ครบถ้วน เผื่อใช้ในการเรียกร้องทางกฏหมายกรณีเกิดการฟ้องร้องในอนาคต 

https://www.newtv.co.th/news/5322

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
 

แพทยสภาไม่รับรอง “คีเลชั่น”
(ขยายความ ไม่รับรองสำหรับการเอาไปใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคต่างๆเช่น โรคหัวใจ หรือเพื่อเอาสารตัวนั้น ตัวนี้ออก เพื่อกระชุ่มกระชวย อ่อนวัยโดยที่ไม่ได้เกิดเป็นพิษจริง ของสารนั้น เช่น ได้สารพิษ ปรอท ตะกั่ว เป็นต้น)

แพทยสภาระบุการรักษาแบบ “คีเลชั่น”ไม่อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ชี้ในสหรัฐฯไม่รับรองการรักษาด้วยวิธีนี้ แนะประชาชนหาข้อมูลให้ดีก่อนเข้ารับบริการ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นพ.เมธี วงศ์ศิริสุนทร ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ “new18” กรณีที่จะมีการฟ้อง"หมอแล็บแพนด้า" หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน แอดมินเพจเฟซบุ๊กชื่อดังซึ่งให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่ง ทำนองการรักษาแบบคีเลชั่นบำบัดเป็นเรื่องหลอกลวงว่า การรักษาแบบคีเลชั่น เป็นการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษโลหะหนัก ซึ่งมีมานานตั้งแต่สมัยสงครามโลก โดยการใส่สารอะมิโน ที่มีชื่อทางการแพทย์ว่า EDTA เข้าไปในเลือด เพื่อไปจับกับโลหะหนักที่ร่างกายของผู้ป่วยได้รับมากเกินไปให้ลดลงได้ แต่ไม่ใช่การรักษาเพียงวิธีเดียวในปัจจุบัน และในต่างประเทศ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ก็ไม่รับรองการรักษาด้วยวิธีนี้ รวมถึงบริษัทประกันในต่างชาติก็จะไม่ให้เบิกเงินประกัน หากคนไข้เลือกรับการรักษาด้วยวิธีนี้ รวมถึงมีรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการทำคีเลชั่นจริงในต่างประเทศ

นพ.เมธี กล่าวต่อว่า สำหรับในประเทศไทย มีสถานบริการบางแห่งมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยรักษาโรคหัวใจ ช่วยล้างหลอดเลือด ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย ผิวพรรณเต่งตึง ซึ่งการรักษาด้วยข้อบ่งชี้ทั้งหมดนี้ไม่อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ และไม่อยู่ในตำราทางการแพทย์ที่ถูกต้อง นอกเหนือจากการรักษาพิษโลหะหนักในร่างกาย

“การรักษาแบบคีเลชั่น ที่มีการนำเลือดออกมาจากตัวผู้ป่วย ใส่สารบางอย่างแล้วฉีดกลับเข้าไป ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม หากแพทย์คนใดนำวิธีนี้ไปใช้แล้วอ้างว่าเป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ก็ต้องไปดูนิยามทางกฏหมายว่าเข้าข่ายหรือไม่ พร้อมฝากเตือนประชาชนให้หาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวให้ครบถ้วน และหากตัดสินใจเข้ารับบริการ ก็ให้เก็บข้อมูลหลักฐานการรักษาเอาไว้ให้ครบถ้วน เผื่อใช้ในการเรียกร้องทางกฏหมายกรณีเกิดการฟ้องร้องในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติม จาก สถาบันสาธารณสุขของสหรัฐจนกระทั่งถึงปี 2017

ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาคีเลชั่น โดยมีการศึกษาที่การควบคุมอย่างรัดกุมในสหรัฐโดยสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ
ผลตามรายละเอียดทางด้านล่าง หนึ่งที่เคยได้เขียนในบทความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อสองปีที่แล้ว

นอกจากนั้น สรุปจากสถาบันสาธารณสุขของสหรัฐฯในปี 2017 ยังคงไม่เป็นที่รับรองในการใช้ทั่วไป และยังสรุปว่า ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ (TACT1) ยังไม่สามารถอธิบายได้ถึงผลที่ดูเหมือนจะได้ผลดี โดยที่มีเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานและเคยมีเส้นเลือดหัวใจอุดตันมาแล้วเท่านั้น

นอกจากนั้น มีการวิเคราะห์จากรายงานต่างๆทางหลักฐานเชิงประจักษ์ตามรายละเอียดทางด้านล่างครับ ในปี 2017

ท่าทางต้องอดใจรอผลของการศึกษาจากสถาบันสาธารณสุขของสหรัฐซ้ำใหม่ที่เรียกว่า TACT2

https://www.thairath.co.th/content/563621

Official website updated 2017 on chelation therapy
https://nccih.nih.gov/health/chelation




:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

นำมาฝาก เป็นความรู้ เพื่อประกอบ การตัดสินใจ ... เชื่อ หรือ ไม่เชื่อ ก็พิจารณา กันเอง นะครับ ...

เงินของท่าน สุขภาพของท่าน .. ทานก็เลือกเอง รับผิดชอบเอง .. ถ้าท่านเชื่อ และ อยากจะทดลอง ผมจะไปว่าอะไรท่านได้ ...  ผมก็เพียงแต่บอกว่า "ผมไม่เชื่อ " ก็เท่านั้น


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

เพิ่มเติม ลิงค์ ดร่าม่า รอผลว่า สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย จะฟ้องเมื่อไหร่ ?  หรือ แค่ ขู่  ?
สนใจ แวะไปแจมกันได้  ^_^
เพจหมอแล็บแพนด้า
https://www.facebook.com/MTlikesara/posts/674162999456554
เพจสมาคมดีเลชั่นไทย
https://www.facebook.com/notes/สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย/หมอแลบแพนด้ามั่วข้อมูล-คีเลชั่นมีหลักสูตรเรียนต่อเนื่อง-สมาคมฯแพทย์ลั่นไม่ยอมอีก/1643218062357448/
 
Poom Chayapum ขอถามหน่อยครับ บรรทัดนี้ใน ref pubmed แปลว่าอะไรครับ
Small randomized trials conducted in patients with angina or peripheral artery disease, however, were not sufficiently powered to provide conclusive evidence on clinical outcomes.
ดูคำแปล
 
Rattanasakda Teeda Subject ใน ref pubmed ที่อ่าน มานะ ส่วนมากยังทำในหนูกับทำmechanism ในเซลล์อยู่เลย จะเชื่อได้ไงว่าเอามาทำในคนไข้แล้วจะไม่อันตรายค่ะ ทางสมาคมตอบได้ไหมค่ะ "Ultimately, further studies are required to confirm the signals of benefit noted in TACT" เปเปอร์ Review ที่ออก 1 สิงหา 2017 ยังพูดว่าต้องมีการยืนยันประโยชน์ของ Trial to Assess Chelation Therapy (TACT) ที่ทำมาถึง 10ปี อยู่เลยค่ะ PMCID: PMC5105603
 
หญิง นิสสา ถ้ามีผลดี และได้รับการยอมรับขนาดนั้น ก็น่าจะถูกใส่ลงใน standard guidelines ของการรักษาโรคต่างๆ ของสักประเทศในโลกบ้างแล้วนะคะ
 
ดาร์ค แองเจิล Poom Chayapum มีการศึกษาทดลองโดย randomized trials ในผู้ป่วยที่มีภาวะ angina หรือ peripheral artery disease จำนวน กลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนน้อย แต่ผลการศึกษาดังกล่าวไม่เพียงพอ (ผลการศึกษา ไม่ strong พอ เพราะกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย) ต่อการนำไปสู่ข้อสรุปผลการศึกษาเชิงประจักษ์ สำหรับการทดสอบทางคลินิก

พนมกร หมอหมู ดิษฐสุวรรณ์ สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย ที่บอกว่า " จนเมื่อ มค.2559 ท่านก็เขียนบทความอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ชมคีเลชั่นมากขึ้น .. ด่าน้อยลงนะ " 
ผมไม่แน่ใจว่า .. ใช่ บทความ นี้หรือเปล่าครับ ?
" https://www.thairath.co.th/content/563621 "

ถ้าอ่านจากสรุปวรรคสุดท้าย .. ผมไม่คิดว่า นั่นคือคำชม นะครับ ... หรือว่า ผมอ่านภาษาไทยไม่แตก ตีความไม่ลึกซื้งพอ ?
" ทั้งนี้ ย้ำจากการศึกษานี้ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฝ้าดูแลอย่างรัดกุม การทำคีเลชั่น ต้องระมัดระวังสูงสุด ถึงตายได้ ถ้าการทำไม่มีความชำนาญ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะแก้ไขผลแทรกซ้อนวิกฤติ ขณะทำ หรือหลังทำ และ คนที่เป็นเบาหวานเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ โดยอธิบายกลไกไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร "



Kanjana Thevavongsa
Ref สากลพอหรือยังคะ?
 
ตรงสรุป เขาบอกว่ายังไม่พร้อมที่จะใช้รักษาจริงหนิ แล้วใช้จริงได้ยังไง @สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย
 

 
National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH),
https://nccih.nih.gov/health/chelation
This page last modified July 28, 2017

Bottom Line
  • Overall, TACT showed that infusions of disodium EDTA chelation therapy produced a modest reduction in cardiovascular events. However, further examination of the data showed that chelation therapy benefitted only the patients with diabetes.
  • Patients with diabetes, who made up approximately one-third of the 1,708 TACT participants, had a 41 percent overall reduction in the risk of any cardiovascular event; a 40 percent reduction in the risk of death from heart disease, nonfatal stroke, or nonfatal heart attack; a 52 percent reduction in recurrent heart attacks; and a 43 percent reduction in death from any cause. In contrast, there was no significant benefit of EDTA treatment in participants who didn’t have diabetes.
  • The TACT study team also looked at the impact of taking high-dose vitamins and minerals in addition to chelation therapy. They found that chelation plus high-dose vitamins and minerals produced the greatest reduction in risk of cardiovascular events versus placebo.
  • Further research is needed to fully understand the TACT results. Since this is the first clinical trial to show a benefit, these results are not, by themselves, sufficient to support the routine use of chelation as a post-heart attack therapy in people with diabetes.
  • A new study, called the Trial To Assess Chelation Therapy 2 (TACT2), is now in its early stages. Its purpose is to repeat the first TACT study—but only in patients with diabetes and a prior heart attack—to see if the apparent benefit can be confirmed. The results of TACT2 will help the FDA determine whether disodium EDTA chelation therapy should be approved to reduce the risk of further cardiovascular events in patients who have both coronary artery disease and diabetes.
 

คีเลชั่น Chelation อันตรายถ้าใช้ไม่ถูกต้อง
https://med.mahidol.ac.th/th/infographics/54
คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี

 
 

“คีเลชั่น”อันตรายถ้าใช้ไม่ถูกต้อง

23 ก.ย. 2017 19:50 น.
https://www.newtv.co.th/news/5841

หลายคนมีคำถามและสงสัยว่า “คีเลชั่น”คืออะไร ใครบ้างต้องทำคีเลชั่น แล้วจำเป็นต้องทำหรือไม่ อย่างไร?

อ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ อาจารย์สาขาวิชาเวชเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์และศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “คีเลชั่น” คือ การใช้ยาเพื่อขับโลหะหนักออกจากร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโลหะหนักเป็นพิษต่อร่างกายเท่านั้นที่ต้องรักษาด้วยการคีเลชั่น

ผู้ที่มีความเสี่ยงมีโลหะหนักในร่างกาย เช่น ผู้ที่อาศัยหรือทำงานในแหล่งสัมผัสสาร เช่น สนามยิงปืน โรงงานแบตเตอรี่ ช่างทอง ช่างเชื่อมโลหะและบัดกรี หรือมีความผิดปกติในพฤติกรรมการกิน เช่น กินดิน หรือกินสีทาบ้าน มีประวัติถูกยิงซึ่งมีกระสุนฝังในร่างกาย คนเหล่านี้ควรมีการตรวจร่างกายและตรวจหาระดับสารโลหะหนักตามความเหมาะสม

“คีเลชั่น”ไม่ลดริ้วรอยหรือช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ไม่ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ไม่รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ออทิสติก อัมพฤกษ์ อัมพาต

สิ่งที่เป็นอันตรายและไม่ช่วยรักษาโรคใด ๆ คือ การฉีดสารอีดีทีเอผสมกับวิตามินและแร่ธาตุ ขอย้ำว่า หากไม่มีพิษจากโลหะหนัก ไม่ต้อง “คีเลชั่น”

อันตรายที่อาจเกิดจาก “คีเลชั่น” ที่ไม่ถูกต้อง คือ ติดเชื้อในกระแสเลือด แคลเซียมต่ำลงจนชักหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ สูญเสียโปรตีนการแข็งตัวของเลือด 

คนเราไม่จำเป็นต้องไปตรวจหาสารโลหะหนักในร่างกาย ต้องบอกก่อนว่าสารบางอย่างมีอยู่ในร่างกายของคนเราอยู่แล้ว สำหรับคนที่ตรวจพบในปริมาณมาก แสดงว่าอาจจะมีการสัมผัสสารดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น คนทำงานในโรงงานแบตเตอรี่ มีโอกาสสัมผัสสารตะกั่ว อย่างคนทั่วไปค่าสารตะกั่วต้องน้อยกว่า 25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าทำงานในโรงงานแบตเตอรี่กำหนดว่าค่าไม่ควรเกิน 40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ถ้าเกินจากนี้แสดงว่าไม่ปลอดภัยในการทำงาน ดังนั้นต้องมาดูว่าทำไมเกิน หรือคนทั่วไปถ้าเกิน 25ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ก็ต้องไปดูว่ามีงานอดิเรก ทำกิจกรรมอะไร รับประทานอาหารอะไร ใช้ผลิตภัณฑ์อะไร เพราะโลหะหนักบางอย่างสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังได้

ก่อนที่จะไปคีเลชั่นต้องแก้ที่ต้นเหตุก่อน บางคนเข้าใจว่าถ้าตรวจพบค่าโลหะหนักเกินจะต้องจัดการเอาออกทันที ทั้งที่ความจริงเราควรกลับไปแก้ที่ต้นเหตุก่อน ถ้าไม่แก้ต้นเหตุแล้วไปคีเลชั่นทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม ตรวจเจอเหมือนเดิม

ตัวอย่างกรณีที่พบในบ้านเรา เช่น โรงงานคัดแยกขยะละเลยปล่อยสารตะกั่ว จนทำให้ลูกของคนงานวัย 8 เดือน มีอาการชักเกร็งจนเกือบเสียชีวิตในปี 2555 กรณีนี้เกิดจากโรงงานไม่ได้มาตรฐาน ในเด็กรายนี้มีอาการรุนแรงต้องได้รับการรักษาด้วยการคีเลชั่นและควบคุมอาการชักในโรงพยาบาล คนงานที่มีอาการและตรวจพบระดับสารตะกั่วในเลือดสูงมากกว่า 70 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรก็ได้รับการรักษาและหยุดการสัมผัสสารตะกั่วเพิ่มเติม ส่วนคนงานที่ไม่มีอาการและระดับตะกั่วในเลือดไม่ถึง 70 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรเมื่อแก้ที่ต้นเหตุระดับสารตะกั่วก็ค่อยๆลดลงโดยไม่ต้องคีเลชั่น

อยากบอกว่า  ไม่ว่าการรักษาใดก็ตาม คนไข้ไม่ใช่หนูทดลอง ความเชื่อของคนเราห้ามไม่ได้ ต่อให้เราไปห้ามเขาก็ยังทำ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือ การให้ข้อมูลความรู้ เพื่อให้ใช้วิจารณญาณก่อนไปทำ เพราะการรักษาทางเลือกบางอย่าง เราไม่รู้ว่า ยา หรือสารที่ใช้ คืออะไร มีการขึ้นทะเบียนหรือไม่ และมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้าแพทย์นำไปใช้มีการลงบันทึกอย่างไร เพราะถ้าเกิดปัญหาภายหลังจะได้ตรวจสอบได้

ปัจจุบันมีการรักษาทางเลือกหลายสาขา จึงไม่แปลกที่อาจจะมีบางคนหาประโยชน์จากความเชื่อของคน ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันตอบสนองไม่พอกับความต้องการของคนบางกลุ่ม ที่พูดไม่เฉพาะคีเลชั่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงสมุนไพร อาหารเสริม ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณในเรื่องความสวยงาม ทำให้อายุยืน แข็งแรง หรืออวดอ้างสรรพคุณทางเพศ

อ.นพ.สหภูมิ บอกด้วยว่า หากตรวจพบมีโลหะหนักในร่างกาย ความจริงทุกคนไม่ต้องไปเสียเงินทำคีเลชั่น เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีโครงการจัดหายาต้านพิษให้กับทุกสิทธิ์การรักษาพยาบาลฟรีอยู่แล้ว และแม้จะตรวจพบสารโลหะหนักในปริมาณมากและเกินค่าที่กำหนด ก็ไม่ได้หมายความว่าค่าเกินแล้วต้องป่วย ไม่เหมือนกับคนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ดังนั้นหากไม่มีอาการเป็นพิษจากโลหะหนักก็ไม่ต้องคีเลชั่นแต่อย่างใด



แถม ..

อย.ยันไม่เคยอนุญาตนำเข้าเครื่องตรวจสุขภาพนักวิทย์ฯชี้ผลวิเคราะห์โรคกล่าวอ้างเกินจริง https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-10-2015&group=4&gblog=115

อย.ย้ำ ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ เครื่องบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้าสถิตย์ อวดอ้างสรรพคุณรักษาโรค https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-09-2008&group=7&gblog=7

การรักษาด้วยคีเลชั่น....ดีจริงหรือมั่วนิ่ม ??? + แพทยสภาไม่รับรอง"คีเลชั่น" https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-02-2009&group=7&gblog=17

การหลอกขายของด้วยการลวง ตรวจเลือด live blood analysis ... รศ. ดร.เจษฎา ทนพ.ภาคภูมิ และ Drama-addict https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-09-2015&group=4&gblog=114

มหัศจรรย์!ล้างพิษมายาวิทยา-ไสยศาสตร์ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-08-2013&group=7&gblog=175

รวบรวมกระทู้เกี่ยวกับน้ำMRET ... ใครเชื่อ ผมไม่เชื่อ ???? https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-04-2009&group=7&gblog=25

หนังสือเคล็ด(ไม่)ลับ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย่างรู้เท่าทันโฆษณา ( หนังสือ pdfแจกฟรี) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-08-2012&group=7&gblog=160

หนังสือทุกข์ล้นเหลือ เหยื่อโฆษณา ............ของดี ฟรีด้วย โหลดอ่านกันได้เลยครับ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-10-2012&group=7&gblog=163




Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 23 มกราคม 2568 16:06:56 น. 3 comments
Counter : 31642 Pageviews.  

 
การรักษาด้วยคีเลชั่นคืออะไร รักษาเส้นเลือดหัวใจตีบได้หรือไม่
โดย หมอดื้อ 17 ม.ค. 2559
ศ นพธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

การรักษาคีเลชั่น (chelation) เป็นการรักษาทางเลือกนอกแบบ

อ่านข่าวต่อได้ที่: //www.thairath.co.th/content/563621



โดย: หมอหมู วันที่: 6 พฤษภาคม 2560 เวลา:15:05:51 น.  

 
นำมาฝาก .. เชื่อ ไม่เชื่อ ก็ไม่ว่ากัน ^_^

การรักษาด้วย คีเลชั่น....ดีจริงหรือมั่วนิ่ม ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-02-2009&group=7&gblog=17

ระวัง !! การหลอกขายของ ด้วยการลวง ตรวจเลือดแบบ live blood analysis ... รศ. ดร.เจษฎา และ ทนพ.ภาคภูมิ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-09-2015&group=4&gblog=114

อย.ยันไม่เคยอนุญาตนำเข้าเครื่องตรวจสุขภาพ นักวิทย์ฯชี้ผลวิเคราะห์โรคกล่าวอ้างเกินจริง
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-10-2015&group=4&gblog=115


โดย: หมอหมู วันที่: 8 พฤษภาคม 2560 เวลา:21:15:27 น.  

 
#หมอชวนรู้โดยแพทยสภา

ตอนที่ 250 "ต้องใช้การทำ คีเลชั่น ในการขจัดโลหะหนักออกจากร่างกายคนปกติหรือไม่?"
.............
ข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2568
TMC peer review.

แพทยสภา
https://www.facebook.com/thaimedcouncil/posts/pfbid0owLrqVUX2RAccs8vSH6KyMRvFH62KxEfNyjiVmFqkSuBTYX3jaAU7mRNAk2AgKSYl




โดย: หมอหมู วันที่: 23 มกราคม 2568 เวลา:16:08:46 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]