Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ฟ้องร้องแพทย์ ความยุติธรรมแก่ใคร ฤๅ???

นำมาฝาก ...

//www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act02270152§ionid=0130&day=2009-01-27


วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11280 มติชนรายวัน


ฟ้องร้องแพทย์ ความยุติธรรมแก่ใคร ฤๅ???

โดย "ดุจเดือน"



กฎหมายได้เกิดขึ้นหรือถูกเขียนขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมให้เกิดความยุติธรรม

ความยุติธรรมที่กล่าวถึงนี้เป็นความยุติธรรมตามกาละและเทศะ เพราะกฎหมายที่มีความยุติธรรมในยุคหนึ่ง อาจไม่เหมาะสมไม่ยุติธรรมในอีกยุคหนึ่ง เมื่อสถานการณ์ สภาพแวดล้อม เงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมได้แปรเปลี่ยนไป

ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป คำว่ายุติธรรมตามกฎหมาย หมายถึงการให้ความยุติธรรมแก่คู่กรณีแต่กฎหมายบางเรื่องก็เป็นการจัดระเบียบสังคมหรืออำนวยความยุติธรรมแก่สมาชิกในสังคม เป็นการทั่วไปมิใช่เพื่อเพียงการให้ความยุติธรรมแก่คู่กรณีเท่านั้น

ลอร์ดเดนนิ่ง (Lord Denning) ผู้พิพากษาผู้จุดความคิดทางกฎหมายหลายเรื่องของอังกฤษได้กล่าวไว้ในหนังสือ What Next in the Law(1982) ว่า กฎหมายอังกฤษในเรื่องความเสียหายต่อร่างกาย (personal injuries) ล้าสมัย ไม่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเป็นกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในยุคของการขนส่งโดยม้าและรถไฟ จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นการขนส่งโดยทางรถยนต์ ซึ่งมีผลให้เกิดความตายและความพิการ ผู้บาดเจ็บไม่อาจพิสูจน์ถึงความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงควรนำหลักชดเชยความเสียหายผู้บาดเจ็บ ซึ่งแม้นไม่สามารถพิสูจน์ถึงความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่ได้ หลักนี้เรียกว่าหลักความรับผิดแม้ไม้ผิด (non-fault llability)

เมื่ออ่านความเห็นของลอร์ดเดนนิ่ง อดหวนคิดไม่ได้ว่า กฎหมายอาญาเรื่องความรับผิดต่อการกระทำที่ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนาหรือโดยประมาท เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับความรับผิดทางการแพทย์ในสถานการณ์ปัจจุบัจของไทยหรือไม่

หลักความรับผิดแม้ไม่ผิด (non-fault liability) ที่นำมาใช้เยียวยาความเสียหายทางแพ่งนั้น มิได้เป็นหลักประกันว่าแพทย์ไม่ต้องรับผิดทางอาญาหรือทางแพ่งแต่อย่างใด

ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่ได้รับการเยียวยาความเสียหายมาบ้างตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ยังสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายอื่นได้อยู่


การรักษาผู้ป่วยแล้วไม่ประสบผลสำเร็จตามที่แพทย์ ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยคาดหวังมีสาเหตุหลายประการ อาทิ การดำเนินของโรคเข้าสู่ภาวะวิกฤต ผู้ป่วยถึงแก่ความตายอาจเกิดจากธรรมชาติของโรค เหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ ภาวะแทรกซ้อนอาการอันไม่พึงประสงค์ การแพ้ยาอย่างรุนแรงซึ่งแพทย์ไม่รู้มาก่อนหรือเกิดปฏิกิริยาต่อโรค/ต่อยาในลักษณะที่มีอัตราเกิดขึ้นน้อยมาก (rare case) ซึ่งไม่ปรากฏหรือปรากฏน้อยมากในตำราหรือวารสารทางการแพทย์ แพทย์ที่มีความรู้ปฏิกิริยาต่อโรค/ต่อยาในลักษณะ rare case จึงเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์การรักษาที่ได้สั่งสมความรู้จากประสบการณ์

การรักษาโรคในมนุษย์มีความแตกต่างเนื่องจากปัจจัยอื่นๆ มาก ในบางกรณีการแพทย์ก็อธิบายไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจัยทางพันธุกรรมที่เป็นเหตุให้ผลการรักษา ไม่เป็นดังคาด

ผลการรักษาพยาบาลมิได้ขึ้นจากตัวบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ยังต้องขึ้นกับตัวบุคคลผู้ป่วย พฤติกรรมการดูแลสุขภาพ การบริโภคอาหารให้สอดคล้องกับสภาวะของร่างกาย ความสม่ำเสมอในการรับประทานยา การออกกำลังกายหรือการทำกายภาพบำบัดและการปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ ที่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ดูแลปฏิบัติมีผลต่อความสำเร็จในการรักษาพยาบาล

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้อธิบายไว้ในบทความหนึ่งว่า แม้ผู้ป่วยจะป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่ระดับความรุนแรงของโรคก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยและความแตกต่างในโรคที่ซ่อนเร้นภายใน (underlying diseases) ในอวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วย ที่แพทย์อาจจะตรวจไม่พบในตอนแรกที่พบผู้ป่วย แต่อาการของผู้ป่วยมาแสดงออกในภายหลังจนสามารถตรวจพบได้หลังจากโรคที่เป็นมีอาการรุนแรงขึ้น แม้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกันและได้รับการรักษาเหมือนๆ กัน แต่ร่างกายและโรคของผู้ป่วยก็อาจตอบสนองต่อการรักษาไม่เหมือนกัน

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เคยกล่าวเปรียบเทียบว่า "รถยนต์เราเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ เหมือนกันได้ แต่คนเราทำไม่ได้ คนสิบคนเป็นโรคเดียวกัน ใช้ยาเหมือนกันขนาดเท่ากัน บางคนดีขึ้น บางคนไม่ดีขึ้น บางคนหายเร็ว บางคนหายช้า บางคนแพ้ยา สิ่งมีชีวิตเอาไปเทียบกับสิ่งไม่มีชีวิตไม่ได้" การใช้หลักเกณฑ์เดียวกันตามข้อแนะนำคู่มือแนวทางต่างๆ ในการรักษาโรคก็ใช้ไม่ได้ผลเดียวกันกับคนไข้ทุกคน

ผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนกัน อาจมีสาเหตุมาจากโรคได้หลายโรค เช่นอาการไอเพียงอย่างเดียว ก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคได้หลายโรค เช่น หลอดลมอักเสบ วัณโรค ถุงลมโป่งพอง แพ้อากาศ หอบหืดไอกรน มะเร็งปอด

การตรวจรักษาผู้ป่วยของแพทย์จึงเป็นกระบวนการแห่ง "การคาดคะแน" ถึงความจะเป็นไปได้โดยอาศัยหลักการทางการแพทย์และสถิติของโรค ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการวินิจฉัยแยกโรคว่า ผู้ป่วยน่าจะมีอาการเหมือนกับเป็นโรคอะไรมากที่สุด แล้วตรวจร่างกายผู้ป่วย

ถ้าผู้ป่วยอาการไม่มากก็จะต้อง "ลอง" รักษาตามความรู้ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ได้เล่าเรียนหรือมีประสบการณ์ในการรักษามาก่อน ต่อจากนั้นก็ติดตามผลและสังเกตอาการว่า การคาดคะเนในการวินิจฉัยและการรักษาโรคนั้นถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยอาหารไม่ดีขึ้นก็อาจจะเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่ตอบ สนองต่อยาที่ให้ไปแล้ว แพทย์ก็อาจจะต้องพิจารณาเปลี่ยนยาหรือเปลี่ยนวิธีการรักษาใหม่

ร่างกายมนุษย์ไม่เหมือนเครื่องจักรที่ถอดออกมาดูได้ ความรู้ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากเป็นผลจากการศึกษาผู้ป่วยรุ่นก่อนเก็บเป็นข้อมูลและสถิติ การตรวจรักษาผู้ป่วยเป็นจึงการ "คาดคะเนล่วงหน้า" โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยแต่ละคนโดยการใช้ดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

แพทย์จึงไม่สามารถแน่ใจ 100% ว่าการวินิจฉัยโรคของตนจะถูกต้อง 100% การรักษาผู้ป่วยตั้งอยู่บนพื้นฐานการใช้ความรู้ ประสบการณ์และดุจพินิจที่ดีที่สุดของแพทย์ผู้รักษา

แพทย์เองก็ประสงค์รักษาผู้ป่วยให้ประสบผลสำเร็จอันเป็นความภาคภูมิใจในการทำงานวิชาชีพ แต่แพทย์ก็ไม่สามารถเลือกผู้ป่วยที่รักษาให้ประสบความสำเร็จสูงสุดได้ในหลายๆ กรณีหลาย โรคสิ่งที่แพทย์รักษาได้ คือ "การบรรเทาทุกข์" ให้กับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา

ในบางกรณีแม้แต่ในโรงเรียนแพทย์ซึ่งมีแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ครบครัน ยังพบว่าเมื่อรักษาจนวาระสุดท้ายของผู้ป่วย คณะแพทย์ผู้รักษาซึ่งประกอบด้วยอาจารย์แพทย์ แพทย์ที่ศึกษาเป็นแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (resident) ซึ่งได้มีการปรึกษาร่วมกันรักษา (consult) ระหว่างสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับโรคหลายสาขา ผ่าศพพิสูจน์แล้วยังไม่รู้สาเหตุการตายว่าเกิดจากสาเหตุใด ดังที่นักเรียนแพทย์ได้เรียนใน dead case conference

ในกรณีที่การรักษาผู้ป่วยไม่ประสบผลสำเร็จและนำไปสู่การสูญเสียชีวิตหรือพิการ การสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยย่อมนำความเสียใจมาสู่ทุกคน

แพทย์ผู้รักษาเองก็มีความเสียใจที่การรักษาพยาบาลซึ่งเป็นงานวิชาชีพของตนต่อผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ


แต่ภาวะที่แพทย์พบผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นประจำในระหว่างการรักษามาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ได้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นปกติสามัญในการประกอบวิชาชีพ ทั้งยังมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่รอการรักษาอยู่ แพทย์อยู่ในภาวะที่ต้องรีบเร่งจึงไม่ได้แสดงการมีส่วนร่วมเห็นอกเห็นใจญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิต หรือใช้เวลาสื่อสารกับญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตเท่าที่ควร

ส่วนของญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตก็อาจเข้าใจผิดว่าแพทย์ไม่นำพาต่อการตายของผู้ป่วย แพทย์ละเลยหรือประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย และก่อให้เกิดการฟ้องร้องคดีขึ้น



แพทย์ผู้รักษาพยาบาลผู้ป่วย ตามความรู้ความสามารถทางการแพทย์ที่ได้ศึกษาร่ำเรียนมา ภายใต้บริบทและศักยภาพของสถานพยาบาลที่แพทย์อยู่ ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการรักษาพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ข้อจำกัดของจำนวนแพทย์ที่มีเพียง 2-3 คนต่อหนึ่งโรงพยาบาลที่ต้องดูแลคนไข้นอกที่มารับการรักษา (OPD) ในรายวันประมาณ 200-300 คนต่อวัน

ยังต้องดูแลผู้ป่วยในที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล (IPD) ซึ่งแพทย์ต้องไปตรวจเยี่ยมสังเกตอาการ (round) ทุกวันเพื่อเก็บข้อมูลการดำเนินโรคเพื่อนำไปประเมินและคาดคะเนว่า การรักษาด้วยวิธีใดจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อคนไข้มากที่สุด

และยังต้องอยู่เวรรักษาพยาบาลประจำห้องฉุกเฉิน (ER) ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุหรือมีการดำเนินโรคที่รุนแรงขึ้น เพื่อรีบรักษาหรือกู้ชีพ โดยแพทย์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ใช้ทุน ซึ่งเป็นแพทย์ที่ประสบการณ์ในการรักษาพยาบาลต่ำกว่า 5 ปี ยังต้องเก็บเกี่ยวสั่งสมประสบการณ์ในการรักษาพยาบาล ในหลายกรณีที่เกิดเป็นข่าวเป็นกรณี rare case อาทิ กรณีแพ้ยาอย่างรุนแรง หรืออาการของโรคแสดงออกในภายหลังเมื่อมีอาการรุนแรง




นอ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ ได้ชี้ให้เห็นในบทความตอนหนึ่งว่า แพทย์ผู้ให้บริการในภาครัฐในโรงพยาบาลระดับอำเภอบางแห่งไม่มีแพทย์หรือมีแพทย์คนเดียว ที่ต้องดูแลผู้ป่วยทั้งใน และนอกในโรงพยาบาลระดับคนไข้ 30 เตียง แพทย์ต้องทำงาน 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน

โดยในโรงพยาบาลระดับอำเภอทั้ง 709 แห่ง (ระดับ 2.1-2.2)
มี 419 แห่ง ที่ขาดแคลนแพทย์ (58%) และ
มี 185 แห่ง ขาดแพทย์ระดับรุนแรง มีแพทย์ประจำการในอัตราที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราบรรจุ

ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมการขาดแคลนพยาบาลและวิชาชีพอื่น สภาพคนไข้ล้นโรงพยาบาลจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายๆ จังหวัด


การฟ้องทั้งทางอาญาและทางแพ่งที่เพิ่มขึ้นก่อให้แพทย์รักษาคนไข้แบบเชิงป้องกัน (defensive medicine) คือ การหาผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยร่วมหาโรคอย่างมากมาย เพื่อให้มีแพทย์ร่วมเป็นพยานและใช้กลไกการวินิจฉัยซับซ้อน หรือใช้ระบบส่งต่อให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าไปรักษาต่อ เพราะแพทย์ไม่อาจแน่ใจในสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วยแต่ละคนที่มารับการรักษา หากมองอย่างผิวเผินดูจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยในการได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้รับการตรวจรักษาที่ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น


แต่เมื่อพิจารณาในมุมกลับ การรักษาแบบเชิงป้องกันและการส่งต่อ จะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยในภาพรวมของประเทศ ประชาชนจะเสียหายมากขึ้นจากการที่เสียช่วงเวลาดีที่สุดในการรักษา (golden period) จากการรอขั้นตอนมากขึ้นถูกตรวจมากขึ้นเพื่อป้องกันคดี แต่ผลการรักษาอาจกลับแย่ลง หรือแพทย์ต้นทางอันเป็นสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลอำเภอขนาด 10-30-60-90 เตียง) เป็นแพทย์ทั่วไปยังไม่ได้ศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง หรือเป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง แต่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์และบุคลากรยังไม่พร้อม แพทย์ก็จะปฏิเสธที่จะรักษาผ่าตัดไส้ติ่งหรือทำคลอดด้วยเหตุที่ตนมิใช่ศัลยแพทย์หรือสูติแพทย์หรือมีบุคลากรหรือมีอุปกรณ์ไม่พร้อม ด้วยเกรงว่าตนจะถูกฟ้องร้อง หากการรักษาพยาบาลไม่ประสบผลสำเร็จ จึงส่งผู้ป่วยต่อไป สถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไป (โรงพยาบาลอำเภอใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลจังหวัดขนาด 120-150-250 เตียง) หรือสถานพยาบาลระดับคติยภูมิซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ (โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลที่ต้องรับการส่งต่อขนาด 300-500-700 เตียง หรือระดับโรงเรียนแพทย์ขนาด 1,000 เตียงขึ้นไป) ที่มีความพร้อมกว่า

ในขณะที่แต่เดิมแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาแพทย์ทุกคนสามารถผ่าตัดไส้ติ่งหรือทำคลอดได้ แต่ด้วยความเกรงกลัวว่าในกรณีที่การรักษาไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา ตนอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้จึงลดความเสี่ยงลงเพราะมิใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

การส่งต่อผู้เชี่ยวชาญจะเกิดขึ้นแบบไม่จำเป็น เพราะแพทย์คุณวุฒิน้อยและประสบการณ์น้อยหรืออยู่ในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพไม่เพียงพอจะไม่กล้ารับความเสี่ยง ระบบการส่งต่อจะก่อให้เกิดการรักษาที่ล่าช้ากว่าเดิมจากกลไกการเดินทาง การส่งต่อ ความคับคั่งในระบบผู้เชี่ยวชาญที่ผู้ป่วยต้องรอคิวในการรักษายาวขึ้น

ผู้ป่วยอาจจะเกิดความเสียหายและเสียช่วงเวลาดีที่สุดในการรักษามากขึ้น



ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายเรื่องความรับผิดทางการแพทย์ใช้บังคับเป็นการเฉพาะ กฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับการพิจารณาว่าแพทย์จะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ คือ ประมวลกฎหมายอาญา โดยพิจารณาว่าการรักษาพยาบาลของแพทย์นั้น เป็นการกระทำโดยเจตนาหรือประมาทหรือไม่

การพิจารณาความรับผิดทางอาญาจึงควรจะพิจารณาจากสภาพแวดล้อมของสถานพยาบาลภายในบริบทที่รัฐเป็นผู้กำหนด มาตรฐานขั้นต่ำในการรักษา (ซึ่งไม่อาจจะนำมาตรฐานของโรงเรียนแพทย์เป็นมาตรฐานของการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลทั่วไป เพราะมีความแตกต่างในเรื่องสาขาความเชี่ยวชาญของแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ) ระยะเวลา ความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาชีวิตผู้ป่วยในช่วงเวลาได้ที่สุดในการรักษา (golden period) ตามหลักวิชาการ ประสบการณ์และระยะเวลาในการปฏิบัติวิชาชีพของแพทย์

หากการฟ้องร้องแพทย์อันเนื่องมาจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแล้วไม่ประสบผลสำเร็จในการรักษาพยาบาล โดยแพทย์ผู้รักษาไม่ได้ปฏิบัติภายในกรอบและเงื่อนไขที่วิชาชีพกำหนดไว้ ละเลยหรือประมาทในการรักษาพยาบาล เมื่อพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ ดังที่ข้างต้นแล้ว หากแพทย์ผิด แพทย์ก็สมควรถูกลงโทษตามกฎหมาย

หากแพทย์ได้รักษาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการประกอบวิชาชีพแล้วตามหลักวิชาการโดยสุจริตแล้ว ภายใต้และสภาวะเงื่อนที่รัฐเป็นผู้กำหนด การรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จตามความคาดหวังของญาติ และมีการฟ้องร้องที่เพิ่มขึ้นอยู่ต่อไป โดยไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ตามสภาวะและเงื่อนไขของโรงพยาบาล และสภาวะการดำเนินโรคหรือความเร่งด่วนในการรักษาพยาบาล แพทย์ก็เป็นปุถุชนในสังคมที่ต้องการความเป็นอยู่ที่สบายใจทั้งตนเองและครอบครัว แพทย์ย่อมต้องแสวงหาที่อยู่ที่ทำงานที่มีความพร้อมทั้งในเรื่อง ยา อุปกรณ์การรักษา บุคลากรทางการแพทย์ ความมั่นคงปลอดภัยในการทำงาน ความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องที่ต่ำกว่าเป็นธรรมดา

เมื่อถึงเวลานั้นการขาดแคลนแพทย์ที่ชนบทห่างไกลยิ่งมากขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ ประชาชนในชนบท ด้วยปัจจัยสถานพยาบาลขนาดเล็กที่ไม่มีความพร้อมดังเช่นสถานพยาบาลในเมืองใหญ่ ระยะทางที่ห่างไกลในการนำผู้ป่วยส่งเข้ามายังเมืองใหญ่ หากผู้ป่วยเกิดเจ็บป่วยในเวลาดึกดื่นค่ำคืนที่ไม่อาจหารถนำส่งผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลได้ หรือเมื่อส่งต่อมาถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่แล้วแต่ไม่มีห้องหรือไม่มีแพทย์เพียงพอ เพราะผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมีจำนวนล้นหลามเกินกำลังของแพทย์ที่จะรักษาได้ทันการ

การกำหนดความรับผิดชอบทางอาญาในทางการแพทย์จึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการให้ความยุติธรรมแก่คู่กรณี และการให้ความยุติธรรมแก่บุคคลในสังคม



หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วนที่เรียบเรียง บทความนี้มาจาก

"บทวิเคราะห์ ผลกระทบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดี ผู้บริโภค พ.ศ.2551 กับวิชาชีพสุขภาพ" โดย นอ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ และ

"ประเทศชาติและประชาชนเสียอะไรถ้าใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคกับการบริการทางการแพทย์" โดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา








เอามาแบ่งกันอ่าน ...

เป็นข้อมูล ความเป็นจริง อีกด้าน ... ที่ บางท่าน อาจยังไม่ทราบ ...

" การตรวจรักษาผู้ป่วยเป็นจึงการ "คาดคะเนล่วงหน้า" โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยแต่ละคนโดย การใช้ดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

แพทย์จึงไม่สามารถแน่ใจ 100% ว่าการวินิจฉัยโรคของตนจะถูกต้อง 100% การรักษาผู้ป่วยตั้งอยู่บนพื้นฐานการใช้ความรู้ ประสบการณ์และดุจพินิจที่ดีที่สุดของแพทย์ผู้รักษา

แพทย์เองก็ ประสงค์รักษาผู้ป่วยให้ประสบผลสำเร็จ อันเป็นความภาคภูมิใจในการทำงานวิชาชีพ แต่แพทย์ก็ไม่สามารถเลือกผู้ป่วยที่รักษาให้ประสบความสำเร็จสูงสุดได้ ใน หลายๆ กรณีหลาย โรคสิ่งที่แพทย์รักษาได้ คือ "การบรรเทาทุกข์" ให้กับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา "


ประโยคนี้ คือ ความเป็นจริง ของ การทำงาน ของแพทย์ ... ที่ต้อง พบเจอ อยู่ทุกวัน ... ถึงมีคำกล่าวที่ว่า " ไม่อะไร ๑๐๐ % ใน เมดิซีน "




Create Date : 28 มกราคม 2552
Last Update : 28 มกราคม 2552 19:22:30 น. 2 comments
Counter : 3066 Pageviews.  

 
การแพทย์เมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างน่าใจหายเลยค่ะ


โดย: ลูกแม่ดอกบัว วันที่: 29 มกราคม 2552 เวลา:9:41:38 น.  

 
หมอ ก็เป็นแค่หัวโขน วันหนึ่งก็อาจเปลี่ยนเป็น ผู้ป่วย หรือ ญาติผู้ป่วย ..
รวบรวมมาฝาก .. จะได้เข้าใจกันมากขึ้นว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ผลกระทบของ "หมอ" เท่านั้น
มีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม และ มีความสลับซับซ้อนกว่า คำพูดไม่กี่คำ ที่ยกขึ้นมาอ้าง

ถอดความ รายการสามัญชน คนไทย ตอน กฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบทางสาธารณสุข ... ชเนษฎ์ ศรีสุโข https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-11-2016&group=7&gblog=208

ร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ... ปัญหา หรือ โอกาส ... https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-07-2010&group=7&gblog=61

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-11-2016&group=7&gblog=207

การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-09-2016&group=7&gblog=204

ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-04-2016&group=7&gblog=197

ได้ไม่เท่าเสีย ....โดย สุนทร นาคประดิษฐ์ ( ความเห็น เกี่ยวกับ การฟ้องร้องแพทย์ ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-03-2009&group=7&gblog=21

ฟ้องร้องแพทย์ ความยุติธรรมแก่ใคร ฤๅ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-01-2009&group=7&gblog=12



ปัจจุบันแพทย์พยาบาลสามารถถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย(คดีแพ่ง) โดยง่าย เหตุเพราะมีการตีความว่าการรักษาช่วยชีวิตคนไม่ต่างอะไรจากสินค้าหรือบริการที่มุ่งหวัง กำไรทั่ว ๆ ไป (ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค)ทำให้มีแนวโน้มการฟ้องร้องสูงขึ้น เรื่อย ๆ ที่ผ่านมาประเด็นนี้ ได้รับการปลอบขวัญจากรัฐเพื่อลดความวิตกกังวลของบุคลากรภาครัฐว่า“ไม่ต้องกังวล เพราะมีพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เป็นเกราะป้องกันการฟ้องร้องไว้” จึงทำให้แพทย์พยาบาล หลายคนชะล่าใจ คิดว่าไม่ว่าผิดถูกอย่างไร ไม่ว่าศาลจะทำคำตัดสินออกมาเช่นไรบุคลากรก็ไมได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วแพทย์พยาบาล อาจตกอยู่ในฐานะล้มละลายโดยง่ายได้เหตุเพราะแท้จริงแล้วบุคลากรยังคงมีความรับผิดชอบต่อเงินที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องทดรองจ่ายให้ไปก่อนควรเข้าใจเสียใหม่ว่า กฎหมายนี้เป็นเพียงเกราะป้องกันมิให้แพทย์พยาบาลตกเป็นจำเลยโดยตรง แต่ความรับผิดทางอ้อม (การโดนไล่เบี้ย )ยังคงอยู่

ที่สำคัญคือในการอภิปรายและการประชุมในหลายๆ ครั้ง ผู้บริหารระดับสูง ในกระทรวงก็ยอมรับว่าท่านไม่มีอำนาจสั่งห้ามการไล่เบี้ยได้ เพราะเมื่อกระทรวงต้องนำเงินหลวงออกไปจ่ายให้กับโจทก์ตามคำพิพากษาท่านมีหน้าที่ตั้ง กรรมการสอบเพื่อพิจารณาการ ไล่เบี้ยและรายงานผลให้กระทรวงการคลังที่เป็นเจ้าของเงินที่แท้จริงซึ่งส่วนใหญ่แล้วกระทรวงการคลัง จะดูคำพิพากษาศาลเป็นหลักหากศาลตัดสินว่ามีความผิด การไล่เบี้ยนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก !!ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านี้คือขณะนี้มีคดีแพ่งที่กระทรวงตกเป็นจำเลยและรอฟังคำตัดสินของศาล อยู่อีกประมาณ ๕๐ คดีคิดเป็นทุนทรัพย์ประมาณ ๓,๐๓๙ ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ ๙กรกฎาคม ๒๕๕๙ กลุ่มกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข)

ที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านี้คือหากรัฐยอมผ่านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะมีคดีฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอีกกี่ร้อยเท่าเพราะเดิมพันตามร่างกฎหมายใหม่นี้เป็นเงินจำนวนหลายล้านบาทต่อการร้องเรียนหนึ่งรายและเมื่อจ่ายเงินไปหลายล้านบาทออกไป กระทรวงการคลัง จะยอมมิให้มีการไล่เบี้ยอย่างที่ผู้ผลักดันกฎหมายออกมาโฆษณาชวนเชื่อ จริงหรือ !?!

แนะนำให้อ่านอย่างยิ่งยวด .. โดยเฉพาะ แพทย์พยาบาล ที่ยังรับราชการอยู่

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย
ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กรรมการแพทยสมาคม
ดาวน์โหลด วารสารเมดิคอลโฟกัส MedicalFocusปีที่ 8 ฉบับที่ 94 ตุลาคม 2559
//www.luckystarmedia.co.th/download/medical_focus_vol_94.pdf


...............................

ตัวอย่างคดีที่แพทย์พยาบาลโดนไล่เบี้ย

- คดีแรก Drug allergy ศาลเห็นว่าแพทย์กระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงมีคำพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องชดใช้สินไหมเป็นเงินจำนวน ๓,๖๘๘,๖๓๐ บาท เมื่อคดีนี้ เข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาไล่เบี้ยคำตัดสินที่ได้ออกมาคือแพทย์ต้องควักเงินส่วนตัว เพื่อชำระในอัตรา ๕๐% คิดตกเป็นเงินทั้งสิ้นที่แพทย์ต้องจ่ายคืนให้กับรัฐ๑,๘๔๔,๓๑๕ บาท

- คดีที่สอง Compartment syndrome ศาลจึงมีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องชดใช้สินไหมพร้อมค่าเสียหายเป็นเงิน ๔,๒๕๑,๓๗๗ บาท โดยมีการไล่เบี้ยให้แพทย์ต้องชดใช้เงินคืนรัฐจำนวน ๗๐% และพยาบาล ๓ คนอีก ๓๐%

- คดีที่สาม Snake bite ศาลจึงตัดสินให้จำเลยมีความผิดและต้องชดใช้เงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท คดีนี้ มีคำสั่งให้ไล่เบี้ยแพทย์คิดเป็น ๖๐% พยาบาล ๔๐%

- คดีที่สี่ Extubation ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง!! ต้องชดใช้เงินรวมทั้งสิ้น ๕,๑๒๕,๔๑๑ บาท กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการไล่เบี้ย มีคำสั่งให้ไล่เบี้ยเป็นจำนวนเงิน ๕๐% ของเงินที่จ่ายไป โดยให้แพทย์รับไป ๗๐% พยาบาล ๒ คน ๓๐%

- คดีที่ห้า Pulmonary tuberculosis คำพิพากษาให้จำเลย ที่เป็นกุมารแพทย์มีความผิดฐานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องจ่ายเงินประมาณ ๓,๘๐๐๐,๐๐๐ บาท


โดย: หมอหมู วันที่: 21 พฤศจิกายน 2559 เวลา:14:34:28 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]