Group Blog
All Blog
### โลกกับธรรมนี้คนละทางกัน ###
















“โลกกับธรรมนี้คนละทางกัน”

โลกกับธรรมนี้คนละทางกัน

 คนทางธรรมก็จะมองคนทางโลกว่าเพี้ยน

แต่คนทางธรรมมีสติ จึงไม่ค่อยพูดออกมาเท่านั้นเอง

 แต่คนทางโลกไม่มีสติกัน

พอเห็นคนอื่นกว่าเราก็ไปว่าเขาเพี้ยนแล้ว

 โดยที่ไม่พิจารณาตัวเองว่าที่จริงแล้วเพี้ยนหรือไม่เพี้ยนกันแน่

 มันอยู่ที่ว่าเราเอาอะไรเปรียบเทียบเป็นหลัก

ถ้าเอามาตรฐานทางโลกเป็นหลัก

 คนที่ไม่ยึดหลักมาตรฐานของทางโลกก็ถือว่าเพี้ยนไป

คนที่ไม่ยินดีในลาภยศ สรรเสริญก็จะว่าเพี้ยนไป

 แต่ถ้าเอาหลักทางธรรม คนที่ไม่ยินดีในลาภยศ สรรเสริญ

ก็ถือว่าเป็นคนไม่เพี้ยน เป็นคนมีปัญญา เป็นคนฉลาด

ดังนั้นเรื่องของความคิดความรู้สึกของผู้อื่นนี้

เราอย่าไปกังวล น้อมรับมาเถิด เพราะอยู่ในโลกนี้

มันต้องมีทั้งสรรเสริญมีทั้งนินทาเป็นธรรมดา

 หนีไปไม่พ้นไม่แต่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็ยังต้องเจอ

คำสรรเสริญคำนินทาอยู่ดี เรื่องนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ใจเรา

ขอให้เราประคับประคองใจ ด้วยสติปัญญาไป

ให้เรามีสติคอยกำจัดความคิดต่างๆ ให้สักแต่ว่ารู้ไป

ให้อยู่กับพุทโธไป เวลาได้ยินได้ฟังอะไรไม่ถูกใจก็อย่าไปสนใจ

 อย่าเอามาคิด ปล่อยมันไปมันพูดปั๊บมันก็หมดไปแล้ว

 แต่เราไปดึงมันกลับมาคิดอยู่นั่นแหละ

ถ้าเรามีสติ คำพูดต่างๆ ที่เขาพูดปั๊บนี้มันผ่านไปแล้ว

 บางทีลืมไปเสียด้วยซ้ำไปถ้ามีสติดีๆ ใจตั้งอยู่ปัจจุบันนี้

ใครพูด ใครด่าอะไรปั๊บเดียวผ่านไปแล้วลืมไปแล้ว

เพราะไม่ได้เอามาคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

ไม่เหมือนกับเทปที่เรากดรีวายอยู่เรื่อยๆ

กดมันกลับมาฟังมันอยู่เรื่อยๆ

เวลาเราไปคิดถึงคำพูดที่ไม่ถูกใจเรา เขาพูดเพียงคำเดียว

 แค่ไม่กี่วินาทีตั้งแต่เช้ามาแล้ว เย็นก็ยังคิดอยู่นั่นแหละ

 ไม่สบายใจ เพราะว่าเราไม่มีสติ

ดังนั้นพยายามเจริญสติอยู่เรื่อยๆ

 แล้วก็พิจารณาด้วยปัญญาว่าทุกอย่างไม่เที่ยง

เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เป็นอดีตไปแล้ว

ทุกอย่างเกิดขึ้นปั๊บ มันผ่านไปแล้วๆ

 อย่าเอามาคิดให้เสียเวลา ห้ามเขาไม่ได้ สั่งเขาไม่ได้

เขาจะพูดจะคิดอย่างไร เราไปห้ามเขาไม่ได้สั่งเขาไม่ได้

 แต่เราสั่งใจของเรานี้ไม่ให้ไปคิดถึงมันได้

เมื่อเราไม่คิดถึงมันเราก็จะสบายใจ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙

“คำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2559 10:28:16 น.
Counter : 1168 Pageviews.

0 comment
### เล่าเรื่องหลวงปู่ชอบ ###














"เล่าเรื่องหลวงปู่ชอบ"
.
" .. พูดถึงเรื่องท่านอาจารย์ชอบก็เป็นคติได้เป็นอย่างดีใช่ไหม

 เวลาจนตรอก ก็อย่างที่เคยพูดพวกเดียวกันภาวนาด้วยกัน

อยู่ทางแถวสกลฯ แต่ก่อนท่านขี้ขลาด

ไม่มีใครเกินท่านว่าอย่างนั้นนะ กลัวมาก

ครั้นเวลาถูกดัดแล้วนี้ จิตมันลงเต็มที่

ได้ความอัศจรรย์กับเวลาจนตรอก
.
เพราะฉะนั้นเวลาทำภาวนานี่ ท่านจะไม่ค่อยเดินจงกรม

ตามสถานที่ต่าง ๆ คือจิตมันดื้อ ท่านว่าอย่างนั้น

ท่านจะไปหาที่ไหนที่มีเสือ ไปเจอเสือปั๊บจิตมันจะลงทันที

ท่านว่าอย่างนั้น เรียกว่าท่านเรียนลัด

กลางคืนท่านไปหาเรียนลัดข้างบนภูเขา
.
ตรงไหนที่สำคัญว่าเสือจะมา ท่านจะไปนั่งที่นั่นแหละ

 คือจิตของท่านจะลง ถ้าลงแล้วนี้เรียกว่าทำอะไรไม่ได้

อย่างที่ท่านอาจารย์ชอบว่า เสือทำอันตรายไม่ได้ไม่ต้องกลัว

 พอว่าอย่างนั้นพึบเป็นครั้งที่สอง หายเงียบ ลบหมดเลย

 อันนี้ของท่านก็ลงแบบนั้น ลงแบบลบหมดเลย จนโผล่ขึ้นมา
.
อันนี้ที่ท่านเล่าให้ฟังชัดเจนก็คือว่า

 วันนั้นนั่งอยู่ประมาณสักตีสาม จิตมันก็ไม่ลง

มันหากเป็นของมันมันไม่ลง เอ๊ มันเป็นยังไงนา

 เสือไม่เห็นมานา ท่านว่าอย่างนี้นะ

ทางถ้ำเสืออยู่ข้างบน มันลงมานี้ไปทางโน้นบ้าง

ลงมาทางนี้บ้าง แคร่ท่านอยู่ที่นี่ เสือไปได้สองทาง

 ทางนี้ก็ไปได้ลงไปทางโน้น ทางนี้ก็ไปได้ลงทางนี้ขึ้นทางนี้ได้
.
ถ้ำของเขาอยู่ข้างบน เขาไปหากินมาตอนตีสามตีสี่

เขากลับมานอน ทีนี้เวลาตีสี่ท่านนั่งภาวนา

ฟัดกันอยู่กับความวุ่นวายมันไม่ลง เอ๊ ทำไมเสือไม่เห็นมา

มาช่วยสักหน่อย ทีนี้ไม่นานนะ

สักเดี๋ยวได้ยินเสียงสวบ ๆ ออกมา เอ้า มาแล้วที่นี่คงเสือ
.
พอเสือมาแล้วท่านกำหนดเอาเสือนั้นโดดมางับคอท่าน

 ท่านกำหนดเอานะ กำหนดเสือ พอเสืองับคอปั๊บ

ที่นี่ก็ผึงลงเลย หายเงียบเลย จนกระทั่ง ๑๐ โมงเช้า

 ฟังซิ รวมตั้งแต่ตีสี่ถึง ๑๐ โมงเช้านานขนาดไหน

 นั่นละเวลาลงสนิทอย่างนั้น .. "
.

.................

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน








ขอบคุณที่มา fb.วัดป่า
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2559 11:05:37 น.
Counter : 1052 Pageviews.

0 comment
### บุญที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน ###















บุญที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน
.

วันนี้อาตมาจะเทศน์ เรื่อง

 “บุญที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน”

คำว่า บุญ แปลแบบไทยๆ ว่า ความดี ความสะอาดแห่งจิต 

เวลาให้ของแก่พระสงฆ์เรียกว่าทำบุญ

ส่วนการทำบุญในพุทธศาสนาเรียกว่าทำบุญ 

ส่วนการทำบุญในพุทธศาสนามีอยู่ด้วยกันมากมายหลายวิธี 

แต่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในธรรมะเรียกว่า บุญกริยาวัตถุ 3

ซึ่งประกอบด้วย ทาน ศีล ภาวนา 

เคยมีคนถามอาตมาว่าเกิดมาเป็นคน

ยากจนไร้ทรัพย์จะทำบุญอย่างไร
.
อาตมาก็ตอบเขาไปว่าการทำบุญ

ไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินเงินทอง 

ก็สามารถที่จะร่วมทำบุญได้ แถมยังประหยัดอีกด้วย

นั่นคือ การรักษาศีลและการเจริญภาวนา 

ซึ่ง 2 อย่างนี้จะได้อานิสงส์ผลบุญมากกว่า

 การให้ทาน เสียอีก เพียงแต่ญาติโยมมองข้ามกันไป
.
โยมมักจะคิดทำบุญแต่การให้เท่านั้น
เพราะว่ามันง่ายดี

แต่การรักษาศีลและการเจริญภาวนา ต้องเสียสละเวลา

ในการปฏิบัติ จึงรู้สึกว่าทำยากกว่า 

การทำบุญทุกอย่าง โยมต้องเข้าใจด้วยว่า

เพียงแต่เราตั้งใจหรือมีเจตนาที่จะทำบุญเท่านั้น

 โยมก็ได้กุศลแล้ว 

แต่บุญที่ได้รับยังเป็นส่วนน้อย

ถ้าอยากได้บุญเต็มที่ต้องทำบุญให้ครบ 3 อย่าง
.
.
ทาน

คือ การให้ ถ้ามีเงินทองมากก็ทำมาก 

มีเงินน้อยก็ทำน้อยตามกำลังตน 

ถ้าไม่มีเงินทองใช้แรงกายก็ให้เป็นทานได้
.
.
ศีล
.
พวกท่านทั้งหลายสังเกตหรือไม่ว่า

เวลาที่ญาติโยมจะมาทำบุญ

ทำไมพระท่านถึงให้พวกญาติโยมรับศีลก่อน 

เพราะท่านต้องการที่จะทำให้ผู้ให้มีจิตใจที่บริสุทธิ์ 

เมื่อทำบุญขณะนั้นก็จะได้รับผลเต็มกำลัง 

จริงอยู่ที่บางคนไม่อาจถือศีลได้ตลอดเวลา 

อาจเป็นเพราะหน้าที่การงาน ทำให้ต้องผิดศีล 

แต่เราก็สามารถที่จะถือศีลได้

ในขณะที่เรานอนในเวลากลางคืน 

และถือได้ครบทั้ง 5 ข้อด้วย

พียงแต่เราอาราธนารับศีลทั้ง 5 ด้วยตนเอง

ที่หน้าพระพุทธรูปที่บ้าน 

ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญที่ง่ายมากได้รับผลเต็มกำลัง 

ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จิตใจเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา 

แต่ถ้าเกิดเราต้องตายในขณะนั้นก็ส่งผลให้เราไปสู่สุคติทันที
.
.
ภาวนาหรือการสวดมนต์
.
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่า 

การภาวนาสวดมนต์มีประโยชน์น้อย และเสียเวลามาก 

แต่ความจริงแล้วการสวดมนต์ภาวนา มีประโยชน์อย่างมากมาย 

เพราะการสวดมนต์ภาวนาเป็นการกล่าวถึง

คุณงามความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ 

การสวดมนต์ภาวนาด้วยความตั้งใจจนจิตเป็นสมาธิ 

และใช้สติพิจารณาเกิดเป็นปัญญา เป็นความรู้ความเข้าใจ 

ประโยชน์สูงสุดของการสวดมนต์ภาวนา

ทำให้บรรลุไปสู่พระนิพพาน
.
“หัวใจของการทำบุญทุกครั้ง” ขอให้ญาติโยม

จงแผ่เมตตาและอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลทุกครั้งตามนี้
.
“ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนี้ไปให้ทุกรูปทุกนาม

ทั้ง 20 ชั้นพรหมโลก 6 ชั้นเทวโลก มนุษย์โลก มารโลก ยมโลก 

อบายภูมิทั้ง 4 มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน 

และในหมื่นโลกธาตุกับอีกแสนจักรวาลพิภพ 

ทั้งที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ รูปวิญญาณ อรูปวิญญาณ

และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู

 ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรของข้าพเจ้า 

ขอให้ทุกรูปทุกนามจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด

 อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย 

อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย 

ขอให้ทุกรูปทุกนามจงโมทนาในส่วนกุศลนี้ 

พึงได้รับประโยชน์ความสุขเช่นเดียวกับข้าพเจ้า

จะพึงได้รับ ณ กาลบัดนี้ด้วยเทอญ”
.
บุญที่ทำไปจะส่งผลให้ได้รับบุญในชาติปัจจุบันทันที 

ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้ากันหรอกนะจ๊ะ ขอเจริญพร
.

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
.

.........................................

จากหนังสืออมตะธรรม สมเด็จโต พรหมรังสี








ขอบคุณที่มา fb. วัดป่า
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2559 19:49:05 น.
Counter : 799 Pageviews.

0 comment
### วันบวช ###














“วันบวช”

วันนี้เป็นวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

เราจำได้ดีเพราะเป็นวันที่เราบวช

บวชเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ บวชมา ๓๗ ปีแล้ว

บวชที่วัดบวรนิเวศฯ ก่อนที่จะบวช

ก็ได้ลาออกจากงานตอนสิ้นปี ๒๕๑๖

คือวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ ทำงานได้ ๖ เดือน

 ระหว่างทำงานได้หนังสือธรรมะมาอ่าน

ก็เลยได้ศึกษาธรรมะเป็นครั้งแรกในชีวิต

ช่วงกรกฎาคมหรือสิงหาคม ได้อ่านหนังสือแล้วก็สนใจ

 ก็เขียนไปขอและซื้อหนังสือมาเพิ่ม

 ได้หนังสือสติปัฏฐานมา ได้แนวทางปฏิบัติ ก็ลองปฏิบัติดู

 ท่านสอนพระภิกษุให้นั่งสมาธิก่อน

 ให้ไปหาที่สงบตามโคนไม้ แล้วก็ให้นั่งขัดสมาธิหลับตา

 ตั้งสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ดูลมหายใจเข้าออกไป

อ่านหนังสืออยู่ ๒ – ๓ เดือน ก็เกิดเอะใจขึ้นมาว่า

 ยังไม่ได้ปฏิบัติสักที มีแต่อ่านอย่างเดียว ก็เลยนั่งตอนนั้นเลย

นั่งไปตอนต้นก็ฟุ้งซ่าน ก็เลยท่องพระมหาสติปัฏฐานสูตรไปก่อน

 ท่องไปประมาณสัก ๔๐ นาที ก็หายฟุ้งซ่าน

จึงนั่งดูลมต่อไปได้ จิตก็ค่อยสงบลงไป

ในช่วงแรกๆก็นั่งแบบนี้ ก่อนที่จะดูลม

ก็จะท่องพระสูตรมหาสติปัฏฐานสูตรไปก่อน

แล้วก็ดูลมต่อ จิตก็จะสงบเย็นสบาย ไม่ลงลึก แต่ไม่ฟุ้งซ่าน

จะลงลึกก็ตอนที่นั่งไปแล้วเจ็บปวด

 ตอนนั้นก็นึกขึ้นมาเองว่าต้องบริกรรม

ก็เลยบริกรรมอนิจจังๆไป บริกรรมไปไม่นานความเจ็บก็หายไป

 จิตก็นิ่งสงบ เกิดความมหัศจรรย์ใจขึ้นมาว่า

 จิตเปลี่ยนไปได้อย่างนี้ ด้วยการบริกรรมนี่เอง

เวลาเจ็บจะทรมานใจ จะอยากหนีจากความเจ็บ

 อยากจะให้ความเจ็บหายไป

ตอนนั้นถ้าไม่มีอะไรควบคุมความอยากไว้

จะทนนั่งต่อไปไม่ได้ ก็เลยต้องใช้การบริกรรม

พอบริกรรมไปเดี๋ยวเดียวก็หายไปเลยความเจ็บ

 จิตมันนิ่งสงบ สบาย ทำให้เกิดมีฉันทะวิริยะ

ที่อยากจะปฏิบัติให้มากขึ้น

ระหว่างที่ทำงานก็สังเกตเห็นว่า

ใจจะวุ่นวายจะเครียดพอสมควรกับเรื่องงาน

 ก็เลยเห็นว่าการทำงานกับการปฏิบัติไปด้วยกันไม่ได้

ก็เลยตัดสินใจ ไปบอกเจ้าของกิจการว่า

จะขอลาออกจากงานภายในสิ้นปี ภายในเดือนหน้า

ตอนนั้นเป็นเดือนพฤศจิกายน บอกล่วงหน้าหนึ่งเดือน

จะออกจากงาน ๓๑ ธันวาคม พอออกแล้ว

วันที่ ๑ ก็เริ่มต้นขังตัวเองอยู่ในบ้าน ตอนนั้นอยู่คนเดียว

 ไม่มีใครอยู่ด้วย เป็นห้องแถวอยู่ในตลาดนาเกลือ

ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็จะนั่งสมาธิ ท่องพระสูตรไปก่อน

แล้วก็ดูลมหายใจเข้าออก หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นมา

 ล้างหน้าล้างตาทำกิจอย่างอื่น ลงมาเดินจงกรม

 อ่านหนังสือธรรมะ สลับกับนั่งสมาธิ

ตอนนั้นก็กินอาหารวันละมื้อ แล้วก็ถือศีล ๘

ไม่ไปหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

แต่ก็ไม่เคยไปวัด ปฏิบัติตามหนังสือ

ตั้งใจจะลองปฏิบัติสักปีหนึ่ง ดูว่าจะไปถึงไหน

 พอครบเวลาปีหนึ่ง ก็ถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป

 เพราะเสบียงคือเงินที่มีไว้สำหรับใช้จ่ายค่าอาหารก็จะหมด

 ถ้าอยากจะปฏิบัติต่อก็ต้องไปบวช ถ้าบวชจะมีเวลาปฏิบัติได้เต็มที่

 ถ้าไม่บวชก็จะไม่ได้ปฏิบัติ ต้องไปทำงาน

ใจหนึ่งก็ไม่อยากจะบวช กิเลสยังหวงความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ความเป็นอิสรภาพที่จะไปไหนมาไหน

 เพราะคิดว่าการบวชเหมือนกับถูกจับเข้าขังอยู่ในกรง

ก็เลยยังกล้าๆกลัวๆ ตอนนั้นก็ทรมานใจพอสมควร

 ตอนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ แต่พอตัดสินใจได้แล้ว ก็โล่งอกไปเลย

 เบาใจ บวชก็บวช ก็เลยไปกราบปรึกษาพระที่อยู่วัดใกล้บ้าน

 เป็นวัดที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย

เป็นวัดที่ชาวบ้านนับถือเลื่อมใส ชื่อวัดช่องลมนาเกลือ

ไปกราบท่านเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย

กราบเรียนว่าอยากจะบวช แต่ไม่อยากจะทำพิธีกรรมต่างๆ

 อยากจะภาวนา เพราะกำลังปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ อยู่

ท่านก็บอกว่า วัดของท่านมีพิธีกรรม มีกิจนิมนต์

 ถ้าบวชกับท่านก็ต้องอยู่จำพรรษากับท่าน ๕ พรรษา

ตามพระธรรมวินัย ท่านแนะนำว่า ถ้าอยากจะบวชแล้วภาวนา

 ให้ไปบวชกับสมเด็จพระญาณสังวรฯที่วัดบวรฯ

ถ้าอยากจะไปภาวนาไปปฏิบัติ ท่านจะอนุญาตให้ไป

อยู่กับครูบาอาจารย์ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น

นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อของหลวงปู่มั่น

 เพราะตอนที่ปฏิบัตินั้น อาศัยหนังสือที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา

 เป็นหนังสือที่คัดมาจากพระสูตร เป็นภาษาอังกฤษ

ก็เลยไม่ทราบว่าพระปฏิบัติในประเทศไทย มีอยู่ที่ไหนบ้าง

 ก็เลยมุ่งไปที่วัดบวรนิเวศฯ ก็ไม่รู้จักสมเด็จพระญาณสังวรฯ

 แต่ทราบว่าที่นั่นมีพระชาวต่างประเทศพำนักอยู่

ก็เลยไปหาพระชาวต่างประเทศรูปหนึ่ง ท่านเป็นชาวอังกฤษ

บวชมาได้ ๑๐ พรรษา ก็สนทนาธรรมกับท่าน

เล่าให้ท่านฟังเป็นภาษาอังกฤษ ท่านฟังแล้วท่านก็อาสาว่า

 จะไปกราบทูลสมเด็จพระญาณฯให้ เรื่องที่จะขอบวช

พอไปกราบทูลเสร็จ สมเด็จฯก็รับสั่งให้ไปเฝ้า

 ท่านก็ถามคำสองคำว่า รู้จักใครในวัดนี้ไหม

ตอบท่านว่าไม่รู้จักใครเลย เพราะเพิ่งมาครั้งแรก

 ท่านก็ถามว่ามีพ่อมีแม่หรือเปล่า ตอบว่ามี

ท่านก็บอกให้พามาพบหน่อย ก็เลยนัดวันพบ

แล้วก็กลับไปบอกคุณพ่อคุณแม่

คุณแม่ก็เลยให้พามากราบท่านสมเด็จฯ ท่านก็กำหนดวันบวชให้

 เป็นวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ให้บวชคู่กับอีกคนหนึ่งที่บวชชั่วคราว

 บวชประมาณ ๑๕ วัน เขาพึ่งจบมาจากสหรัฐฯ จบปริญญาโท

เป็นลูกนายพล เวลาบวชเขาก็มีแขกมาเยอะร่วม ๑๐๐ คน

 แต่เรามีเพียง ๔ คน มีพ่อมีแม่มีน้องสาว

แล้วก็ลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่ง เพราะไม่ได้บอกใคร

 ชอบทำอะไรเงียบๆ ตอนที่ลาออกจากงานก็ไม่ได้บอกใคร

 ตอนที่อยู่บ้านปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้บอกใคร เพราะไม่รู้จะบอกทำไม

 ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องบอก เป็นเรื่องของเรา

 ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง

บวชแล้วก็ไม่มีใครตามมายุ่ง

ก็มีคนหนึ่งรู้ เขาต้องการให้เราไปทำงาน ก็ส่งโทรเลขมาตาม

พออยู่ที่วัดบวรฯ ก็ทราบวิธีที่จะไปวัดป่าบ้านตาด

ตอนนั้นก็ไม่รู้จักวัดป่าบ้านตาด มีพระต่างประเทศจะไปที่นั่น

บอกว่า เวลาไปวัดป่าบ้านตาด ต้องเขียนจดหมายไปขออนุญาต

จากท่านอาจารย์ปัญญาก่อน ท่านเป็นพระชาวอังกฤษ

พวกชาวต่างชาติจะติดต่อทางวัดผ่านท่านอาจารย์ปัญญา

ท่านจะไปกราบเรียนหลวงตาอีกทีหนึ่ง หลวงตาก็จะอนุญาต

เราก็เลยเขียนจดหมายไปหาท่านอาจารย์ปัญญา

เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ท่านก็เลยไม่รู้ว่าเราเป็นคนชาติไหน

ใช้ชื่ออภิชาโตภิกขุ ท่านก็ไปกราบเรียนหลวงตาๆก็บอกว่าไปได้

พอถึงเวลาเราก็ไป บวชวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์

แล้วก็อยู่ที่วัดบวรฯประมาณเดือนครึ่ง ประมาณต้นเดือนเมษายน

จำได้ว่าก่อนวันจักรี ก็นั่งรถไฟขึ้นไป

รถไฟออกตอนเย็นไปถึงนั่นก็เช้ามืด

ทางวัดก็เมตตามีญาติโยมอุปัฏฐากที่อยู่อุดรฯ มารับไปส่งที่วัดเลย

ก็พอดีใกล้จะออกบิณฑบาต หลวงตาท่านก็พึ่งลงมา

ก็เลยไปกราบท่าน ท่านก็พูดว่า อยู่ไม่ได้นะ อยู่ได้ชั่วคราว

กุฏิไม่ว่าง เสร็จแล้วท่านก็ไม่พูดอะไร ต้องรีบเตรียมตัวบิณฑบาต

 ก็อยู่ไปเรื่อยๆจนประมาณสัก ๑ เดือนก่อนจะเข้าพรรษา

 ท่านก็จะบอกพระที่มาขออยู่จำพรรษาว่า องค์ไหนอยู่ได้

องค์ไหนอยู่ไม่ได้ พอมาถึงเราท่านก็บอกว่า

 ท่านจำได้ไหมว่าวันที่ท่านมานี้ ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าอยู่ไม่ได้

อยู่ได้ชั่วคราว ดังนั้นท่านก็อยู่ไม่ได้นะ

หลวงตาท่านพูดอย่างนั้น เสร็จแล้วหลวงตาก็แสดงธรรม

 เกือบ ๒ ชั่วโมงก็จะเลิกประชุม ก็ลุกขึ้นมากราบพระพร้อมๆกัน

 ท่านก็พูดว่าท่านที่มาจากวัดบวรฯ ท่านจะอยู่ก็อยู่นะ

 ก็เลยได้อยู่ต่อ อยู่ที่นั่นก็มีกติกาว่า

 ถ้ายังไม่ได้ ๕ พรรษาก็จะไม่ให้ไปไหน

นอกจากมีเหตุคอขาดบาดตาย มีธุระจำเป็นที่จะต้องไปทำ

 แต่ถ้าจะไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ท่านจะไม่ให้ไป

ให้อยู่ให้ได้ ๕ พรรษาก่อน ถ้าได้ ๕ พรรษาแล้ว

 ถ้าท่านยังเห็นว่าไม่ได้เรื่อง ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์

จะขอลาไปธุดงค์ ท่านก็จะไม่ให้ไป

 จะต้องให้ท่านอนุญาตก่อนว่าสมควรไปได้แล้วถึงจะไปได้

พออยู่ได้ ๕ พรรษา ก็ขอกราบลาท่านมาเยี่ยมบ้าน

ท่านก็อนุญาตให้กลับมา พักได้ประมาณ ๒ อาทิตย์ก็กลับ

ตอนกลับก็แวะไปภาวนาที่เขื่อนจุฬาภรณ์

 ตอนนั้นเป็นเดือนเมษายน ๒๕๒๓ อยู่ภาวนาได้ประมาณ ๑ อาทิตย์

ก็ได้ข่าวเครื่องบินตก เครื่องบินที่ครูบาอาจารย์ ๕ รูปโดยสาร

ท่านมรณภาพ ก็เลยอยากจะกลับไปวัด

ไม่ทราบว่าต้องช่วยทำอะไรบ้าง พอไปถึงวัดก็ทราบว่า

ท่านไม่ให้พระเณรไปช่วยทำอะไร ท่านต้องการให้พระเณรภาวนา

 เพราะงานข้างนอกเป็นงานหยาบ งานข้างในเป็นงานละเอียด

 ถ้ากำลังทำงานข้างในแล้วออกไปทำงานข้างนอก

 ก็จะทำให้งานข้างในเสียได้ ท่านเลยไม่ให้พระเณรไป

 มีแต่ท่านกับพระเถระรูปสองรูปไปดูแลงาน

ของครูบาอาจารย์ที่มรณภาพไป

 นี่ก็เป็นเหตุที่ทำให้เราไม่ค่อยได้ไปไหนเท่าไหร่

ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติมานี้ ก็ไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับงานต่างๆ

ตั้งแต่ได้หนังสือธรรมะมาอ่าน หนังสือก็บอกให้เข้าข้างใน

 ปฏิบัติเข้าข้างในอยู่ตลอด ไม่มีเหตุดึงให้เราไปข้างนอก

 เราก็เป็นคนนอกศาสนาด้วย

ไม่ได้อยู่ในบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนา ที่ไปวัดเป็นประจำ

 ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ

งานบุญต่างๆ ก็เลยไม่มีความผูกพันกับพิธีกรรมและงานบุญต่างๆ

พอมาสัมผัสรับรู้เรื่องของพระศาสนา ก็มารู้เรื่องการภาวนาเลย

ก็เลยไม่ต้องผ่านเรื่องพิธีกรรมเรื่องการทำบุญต่างๆ

 พอเริ่มปฏิบัติแล้ว ก็จะเอาแต่เดินจงกรมนั่งสมาธิเท่านั้น

ไปอยู่วัดของหลวงตาท่านก็ให้ทำอย่างนั้น

ท่านไม่ให้ไปไหน ไม่ให้ทำงานอื่น ท่านเข้มงวดมาก

เรื่องงานภายนอกสำหรับพระเณร ถ้าจะทำก็ทำเท่าที่จำเป็นจริงๆ

 เช่นทำไม้กวาด ปีหนึ่งก็จะต้องไปตัดกิ่งไผ่กัน

ต้องใช้กบไสแก่นขนุนไว้สำหรับซักย้อมจีวร

ทุก ๑๕ วันจะซักย้อมจีวรกันครั้งหนึ่ง จะทำพร้อมกันทั้งวัด

 นอกจากนั้นก็จะทำข้อวัตรต่างๆ คือบิณฑบาต ปัดกวาด

ทำความสะอาดศาลา ตอนเช้าฉันเสร็จก็ช่วยกันกวาดถูศาลา

 ตอนบ่ายก็ฉันน้ำปานะ ปัดกวาด แล้วก็สรงน้ำ

จากนั้นก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ

 วันที่มีประชุมก็จะไปรวมกันที่ศาลาตอนก่อนค่ำ

สมัยนั้นหลวงตาจะเรียกประชุมประมาณอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง

 ตอนนั้นร่างกายท่านยังแข็งแรง ไม่มีญาติโยมไปมาก

 ช่วงเสาร์อาทิตย์จะมีญาติโยมจากอุดรฯมาสัก ๒ - ๓ เจ้า

 มาใส่บาตร ส่วนใหญ่จะได้อาหารจากบิณฑบาต

เสริมด้วยอาหารจากโรงครัว และผลไม้ที่ปลูกไว้ในวัด

 พวกกล้วยมะละกอสับปะรดมะม่วง แล้วแต่ฤดู ไม่มีภารกิจมาก

ฉันเสร็จเร็ว แยกกันกลับไปที่พักเร็ว

 มุ่งไปที่การภาวนาอย่างเดียว เดินจงกรมนั่งสมาธิ

 เวลาพระออกมาเพ่นพ่านก็จะถูกไล่ไปภาวนา

 ถ้าออกมาเพ่นพ่านบ่อยๆก็ไล่ออกจากวัดเลย

 ถ้าภาวนาไม่เป็นจะเครียด เพราะไม่มีอะไรให้ทำ

 ถ้าภาวนาเป็นก็จะได้ประโยชน์มาก ได้ภาวนาอย่างเต็มที่

 งานภายนอกท่านไม่ส่งเสริม เวลาจะสร้างกุฏิแต่ละครั้ง

ท่านต้องพิจารณาว่าจำเป็นจริงๆ ถึงจะให้สร้าง

 ท่านต้องการให้มีเวลาภาวนามากๆ

พระเณรท่านก็ไม่รับมากเกินไป เพราะว่า

 ๑. ถ้ามีมากก็ต้องสร้างที่อยู่เพิ่ม

๒. มีมากก็จะควบคุมอย่างใกล้ชิดไม่ได้

 สมัยที่เราไปตอนแรกท่านรับพระประมาณ ๑๖ หรือ ๑๗ รูป

ต่อมาท่านก็รับเพิ่มเป็น ๑๘ – ๑๙

เนื่องจากครูบาอาจารย์ต่างๆ ได้มรณภาพไปตามลำดับ

 พระเณรจึงมุ่งมาที่วัดป่าบ้านตาดมากขึ้น

ท่านก็เลยเมตตารับมากขึ้น ปีที่เราออกมาก็รับประมาณ ๒๕ รูป

อยู่ที่นั่นได้ ๙ พรรษา พอได้ ๕ พรรษาก็ลากลับมาเยี่ยมบ้านครั้งหนึ่ง

 พอออกพรรษา ๘ ก็ขอลาออกมาภาวนาแล้วก็มาเยี่ยมบ้านด้วย

เป็นปลายปี ๒๕๒๕ มาแวะเยี่ยมบ้านก่อน แล้วก็มาที่วัดญาณฯ

 มาเป็นครั้งแรก ได้ยินว่าสมเด็จพระญาณสังวรฯเป็นผู้สร้างวัดนี้

หลวงปู่เจี๊ยะเคยมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส ก็เลยมาดูว่าเป็นอย่างไร

 พักอยู่ได้ประมาณ ๒ อาทิตย์

 แล้วก็กลับไปพักอยู่ที่สวนของวัดช่องลมประมาณ ๓ เดือน

 แล้วก็เดินทางกลับไปวัดป่าบ้านตาด

 กลับไปจำพรรษาปี ๒๕๒๖ เป็นพรรษาที่ ๙

 ออกพรรษาทางบ้านก็ส่งข่าวมาว่าพ่อไม่สบาย

ก็เลยขอลาท่านออกมา เพื่อจะมาอยู่ใกล้พ่อดูแลพ่อ

 มาพักอยู่ที่วัดโพธิสัมพันธ์ในเมืองพัทยา

ก่อนจะเข้าพรรษาพ่อก็ถึงแก่กรรม ก็เลยไม่ได้กลับ

 ออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ก็มาอยู่ที่วัดญาณฯในปลายปี ๒๕๒๗

พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิสัมพันธ์ในเมืองพัทยา

 พรรษา ๑ ถึง ๙ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด

พรรษา ๑๑ ถึง ๓๗ อยู่ที่วัดญาณฯ

 มาอยู่ที่วัดญาณฯตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๗

ตอนต้นก็พักอยู่ข้างล่าง พอปี ๒๕๓๐ ก็ย้ายขึ้นมาอยู่บนเขาชีโอน

ช่วงนั้นหลวงตาท่านก็มาพักอยู่ที่สวนของวัดช่องลม

ท่านก็จะแวะมาดู มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านมาปลีกวิเวก โรคหัวใจกำเริบ

ท่านอยากจะหาที่สงบ ท่านมาตอนช่วงบ่ายๆ มาองค์เดียว

 ท่านบอกว่าจะมาพักบนเขา พอลงจากรถ

ท่านก็ชี้มาที่ศาลาหลังนี้และบอกว่าจะพักที่นี่

 ก็เลยจัดให้ท่านพักบนศาลานี้ ท่านบอกว่าพรุ่งนี้ท่านจะไม่ฉัน

 ท่านต้องการความสงบอย่างเดียว

วันรุ่งขึ้นก็มีญาติโยมมารับท่านกลับไป

เวลาท่านผ่านมาทางนี้ ท่านก็จะแวะมาอยู่เรื่อยๆ

 ปีสองปีท่านก็แวะมาครั้งหนึ่ง

 มีอยู่ครั้งหนึ่งทราบว่าท่านจะมาพักที่สวนของวัดช่องลม

 ก็เลยไปรอรับท่านและกราบท่านที่นั่น

 ตั้งแต่ออกมาก็ได้พบได้กราบท่านอยู่เรื่อยๆ

ก็เลยไม่ได้กลับไปที่วัดป่าบ้านตาดอีกเลย

 ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๖ มานี่ ยังไม่เคยกลับไปที่วัดป่าบ้านตาดเลย

 ความสำคัญของวัดป่าบ้านตาด อยู่ตรงที่เป็นสถานที่ที่สงบ

มีครูบาอาจารย์คอยสอน คอยแก้ปัญหาต่างๆให้

ถ้าอยู่ที่ไหนที่สงบก็เหมือนกับอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด

 นี่ก็เป็นนิทานเล่าให้ฟัง พอดีตรงกับวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์

การปฏิบัตินี้ ถ้ามีสถานที่ดี มีครูบาอาจารย์ที่รู้ทางนี้

 มีความพากเพียรที่จะปฏิบัติตามคำสอน

ผลจะต้องปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน เพราะผลเกิดจากเหตุ

 เหตุก็คือความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง

ต้องมีครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้วคอยสอน

 ถึงจะมีความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ถ้าผู้ปฏิบัติมีความพากเพียร

 เข้มแข็ง อดทน กล้าหาญ แล้วก็มีสถานที่ๆเหมาะต่อการปฏิบัติ

 ไม่มีอะไรต่างๆมาดึงใจไปจากการภาวนา

 เช่นงานก่อสร้างต่างๆ งานบุญงานกุศลต่างๆ ได้เดินจงกรม

 ได้นั่งสมาธิ ได้ปลีกวิเวก ได้รับอุบายต่างๆ

จากผู้ที่ได้รับผลมาแล้ว ก็จะได้ผลอย่างรวดเร็ว

อุบายที่ได้จากการไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ก็คือการอดอาหาร

ตอนที่ศึกษาและปฏิบัติเองนี้ ยังไม่เคยทราบเรื่องการอดอาหาร

แต่พอไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดแล้ว ใหม่ๆก็ไม่รู้ว่าพระท่านอดอาหารกัน

 บางวันพระบางรูปอยู่ๆท่านก็หายไป คิดว่าท่านลาไปธุระ

 พอถามท่านก็บอกว่าไปอดอาหาร

เวลาที่อดอาหารไม่ต้องออกมาทำกิจร่วมกับหมู่คณะ

 ไม่ต้องมาทำกิจกรรมบนศาลา ไม่ต้องออกไปบิณฑบาต

แม้แต่การปัดกวาดของส่วนรวมก็ไม่ต้องทำ

ทำแต่เฉพาะส่วนของตน ท่านเน้นให้ปลีกวิเวก

ไม่ให้มาคลุกคลีกัน ไม่ให้มาสัมผัสรับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ

 ถ้าอดอาหารก็ให้ภาวนาอย่างเดียว

เวลาอดอาหารนี้ จะสร้างภาวะกดดันขึ้นมา

 คือสร้างความทุกข์ขึ้นมา คือความหิว

ถ้าหิวแล้วก็มีวิธีแก้อยู่ ๒ วิธี คือ ๑. ต้องหาอาหารมารับประทาน

 ๒. ต้องดับความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจ

 ถ้าอดอาหารก็จะไม่หาอาหารมาดับความหิว

 ก็มีอยู่ทางเดียวคือ ต้องดับความหิวด้วยการภาวนา

 ทำใจให้สงบ เพราะความหิว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ออกมาจากใจ

ไม่ได้ออกจากร่างกาย ความหิวของร่างกาย

มีน้ำหนักเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์

แต่ความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งนี้มีน้ำหนัก ๙๐ เปอร์เซ็นต์

 ตอนนี้ถ้านึกถึงอาหาร น้ำลายก็จะไหลแล้ว

ดังนั้นเวลาอดอาหาร ก็เหมือนกับขึ้นเวทีแล้ว

ไม่ได้ชกกระสอบทรายแล้ว ชกกับกิเลสตัณหาแล้ว

จะอยู่แบบสบายๆไม่ได้ ต้องเข้มงวดกวดขัน

กับการนั่งสมาธิเดินจงกรม ถ้านั่งแล้วเมื่อยก็เดินจงกรม

 เดินจงกรมแล้วเมื่อยก็กลับไปนั่งต่อ

 ก็เลยเป็นการบังคับให้ทำความเพียรไปในตัว

เหมือนนักมวยที่ขึ้นเวทีแล้ว จะยืนเก้ๆกังๆไม่ได้

จะต้องใช้ความสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้

เวลาอดอาหารก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา คือความหิว

ก็ต้องภาวนาเท่านั้น พอจิตสงบความหิวก็จะหายไป

ออกมาเดินจงกรมได้สบาย

พอเดินไปได้สักระยะหนึ่งกำลังของสมาธิก็จะหมดไป

ความคิดปรุงแต่งก็จะคิดถึงอาหารอีกแล้ว

ก็ต้องกลับไปนั่งสมาธิใหม่ พอจิตสงบความหิวก็หายไปอีก

 พอนั่งแล้วเมื่อยก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรมต่อ

ทำอย่างนี้สลับกันไป ทั้งวันทั้งคืน ก็เลยได้ภาวนาอย่างต่อเนื่อง

 จิตถูกควบคุมด้วยสติด้วยปัญญาอยู่ตลอดเวลา

 บางทีก็ต้องพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร

 เวลาคิดถึงอาหารที่อยู่ในจาน ก็ต้องนึกถึงอาหารที่อยู่ในปาก

 อยู่ในท้อง เวลาออกมาจากร่างกาย

 ก็จะหยุดความคิดปรุงแต่งเรื่องอาหารได้เป็นพักๆ

พอคิดถึงอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ปั๊บ

 ก็ต้องนึกถึงเวลาอยู่ในปากอยู่ในท้อง

และเวลาออกมาจากร่างกาย

 แล้วความอยากที่จะรับประทานอาหารก็จะหายไป

เราจึงต้องสร้างภาวะที่กดดันจิตใจ

 เพื่อเราจะได้ผลิตธรรมะออกมาต่อสู้

ผลิตปัญญา ผลิตสมาธิ ผลิตสติ

ถ้าอยู่ในสภาพที่สบายๆ กิเลสจะออกมาเพ่นพ่าน

วันที่ฉันอาหาร เวลากลับมาถึงกุฏิจะง่วงเลย

จะหาหมอนก่อน ไม่อยากเดินจงกรมนั่งสมาธิ

ถ้านั่งก็นั่งได้เดี๋ยวเดียว แล้วก็คอพับ

ถ้าได้ผลดีจากการอดอาหาร ก็จะใช้การอดอาหารเป็นเครื่องมือ

สนับสนุนความเพียรไป อดบ้างฉันบ้างสลับกันไป

อดทีละ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้างแล้วก็กลับมาฉัน ๒ วัน

 แล้วก็กลับไปอดใหม่ ท่านเตือนให้สังเกตดูธาตุขันธ์ด้วย

 ว่าเสียหายหรือเปล่า ถ้าอดมากเกินไปก็จะทำให้ท้องเสียได้

ต้องคอยสังเกตดู บางครั้งก็ลองดูว่าจะอดไปได้สักกี่วัน

ก็ได้ ๗ วันบ้าง ๙ วันบ้าง มากไปกว่านั้นจะไม่ได้ผล

 เพราะไม่ได้ภาวนา จะนอนมากกว่า

ตอนนั้นไม่หิวมาก จะหิวมากช่วง ๓ วันแรก

หลังจากนั้นจะอ่อนเพลีย อดครั้งละ ๕ วันนี้กำลังดี

 ๓ วันแรกจะทรมานหน่อย เพราะช่วง ๓ วันแรกจะหิวมาก

 พอผ่าน ๓ วันไปแล้วความหิวจะเบาลง

ตอนอดอาหารท่านก็อนุญาตให้ฉันนมได้บ้าง

 สมัยนั้นไม่มีนมกล่อง มีนมข้นชงกับโอวัลติน ก็ฉันวันละถ้วย

 ก็ช่วยทำให้ไม่อ่อนเพลียมากเกินไป

ตอนบ่ายก็ฉันน้ำปานะ บางครั้งหลวงตามีช็อกโกแลตมาแจก

 ท่านมักจะแจกให้กับพระที่อดอาหาร พระที่ไม่อดจะไม่ค่อยได้

ใครอยากจะฉันช็อกโกแลตก็ต้องอดอาหาร

 เวลาอดอาหารก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปเจอเสือที่บนศาลา

 เวลาไปฉันแต่ละวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะ

 ต้องขึ้นศาลาไปเจอเสือ ถ้าไม่อยากเจอเสือก็ต้องอดอาหาร

 พระเณรจึงอดอาหารกันมาก อดกันบ่อย

 ในช่วงเข้าพรรษานี้บางทีหายไปทีครึ่งวัด

ถ้าไม่อดออกมาฉันจะโดนเสือคำราม

หลวงตาท่านต้องการให้พระภาวนากัน

ส่วนใหญ่เราจะไม่ไปคุยกับใคร เพราะติดภาวนา

 จะคุยบ้างก็ช่วงตอนปัดกวาด ตอนสรงน้ำ คุยกันนิดหน่อย

 เสร็จกิจแล้วก็แยกกัน แต่จะไม่ไปนั่งคุยที่กุฏิ

เพราะติดพันกับการภาวนา แล้วก็อ่านหนังสือธรรมะของท่าน

อ่านหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น

และปฏิปทาฯ ความรู้จากหนังสือก็มาเสริมกับความรู้ที่ท่านเทศน์

อ่านวันละชั่วโมง เวลาอ่านนี้ก็นั่งขัดสมาธิอ่าน

ก็เหมือนกับนั่งฟังเทศน์ สมัยนั้นในวัดยังไม่มีเครื่องเล่นเทป

 ก็ใช้อ่านหนังสือเอา อ่านไปจิตก็เย็นสบาย เกิดปัญญาด้วย

เกิดความเข้าอกเข้าใจ ในวิธีการปฏิบัติข้อธุดงควัตรต่างๆ

 เข้าใจว่าทำไมต้องถือธุดงควัตร

ก็เพราะเป็นเครื่องมือปราบกิเลสและเสริมความเพียร

 เช่นการฉันมื้อเดียวนี้ เป็นการตัดกิเลสคือกามฉันทะ

 ความอยากในรสในกลิ่นในรูปของอาหาร

ให้ฉันอาหารเหมือนกับฉันยา ถ้าติดในรสในกลิ่นในรูปของอาหาร

 ท่านก็ให้เอาอาหารรวมกันแล้วก็คลุกกันในบาตร

 ให้คิดว่าต่อไปก็จะต้องลงไปรวมกันในท้อง

ไม่ให้มีอารมณ์กับอาหาร ฉันแบบฉันยา ให้อิ่มท้องก็ใช้ได้แล้ว

จะเป็นอาหารชนิดใดก็ไม่สำคัญ ถ้าไม่ทำให้ท้องเสียเจ็บไข้ได้ป่วย

 การฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร เป็นเครื่องมือปราบกิเลส

 ที่เกี่ยวกับการฉันอาหาร

การถือผ้าบังสุกุล ก็ให้ยินดีตามมีตามเกิด

สมัยพุทธกาลไม่มีผ้าเป็นผืน ต้องไปเก็บเศษผ้าที่ทิ้งตามป่าช้า

 เรียกว่าผ้าบังสุกุล มาสะสมไว้ พอได้จำนวนพอกับการตัดเย็บจีวร

ก็เอามาตัดเย็บ ไม่ต้องเป็นผ้าใหม่

 ให้เอามาเพื่อปกปิดอวัยวะของร่างกาย

และป้องกันร่างกายไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย

 ให้มีเพียง ๓ ผืนก็พอแล้ว คือมีผ้านุ่งเรียกว่าสบง

 ผ้าห่มเรียกว่าจีวร ผ้าห่มกันหนาวเรียกว่าสังฆาฏิ

 รวมกันเรียกว่าผ้าไตร เป็นผ้าที่จะต้องรักษา

ไปไหนก็จะต้องเอาติดตัวไปด้วย

สมัยก่อนถ้าไปตากหรือไปวางไว้ที่ห่างจากสายตา

 ก็อาจจะหายได้ เพราะผ้าเป็นของหายาก อาจจะถูกขโมยไป

ก็เลยต้องรักษาผ้าให้อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา

ถ้าไม่ได้อยู่ศึกษากับผู้ที่ได้ผ่านมานี้

จะไม่รู้คุณค่าของข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ

ก็จะปฏิบัติไปตามความรู้สึกนึกคิดของเรา

 ซึ่งเป็นความรู้สึกของกิเลสนั่นเอง

ถ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วไปปฏิบัติตามลำพัง

 ส่วนใหญ่จะหลงทางกัน ถ้าไม่หลงก็จะเสียเวลามาก

 แต่จะหันกลับมาได้ เพราะมีปัญญา

อย่างพระพุทธเจ้าก็หลงเหมือนกัน

เพราะไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน ก็เลยปฏิบัติแบบสุดโต่ง

 อดอาหารก็อดจนเกินความพอดี ไม่เกิดประโยชน์อะไร

แต่ท่านฉลาด พอรู้ว่าไปทางนี้เป็นทางตัน ไม่ใช่ทาง

 ท่านก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเสวยพระกระยาหาร

 พวกปัญจวัคคีย์ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้าก็เสื่อมศรัทธา

 คิดว่ายอมแพ้ ไม่พากเพียรต่อไป ไม่ยอมตาย กลัวตาย

ต้องกลับมาเสวยพระกระยาหาร แต่ความจริงพระองค์ไม่กลัวตาย

ทรงเห็นว่าความตายของร่างกาย ไม่ได้ฆ่ากิเลส

ไม่ได้ทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรม เห็นอริยสัจ ๔

ธรรมที่จะดับความทุกข์ทั้งหลายให้หมดไปจากใจ

การอดอาหารโดยไม่ได้ภาวนานี้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 การอดอาหารเป็นอุบายสนับสนุนการภาวนา

ถ้าอดอาหารเฉยๆ เหมือนพวกอดอาหารประท้วงทางการเมืองนี้

 จะไม่ได้บรรลุธรรม อดอาหารแต่ไม่ได้ภาวนา

ไม่เกิดประโยชน์อะไร การอดอาหารนี้ก็เพื่อสนับสนุนการภาวนา

 อย่างที่ถือศีล ๘ นี้ก็เป็นการอดอาหารแบบเบาๆ

คือจากการเคยรับประทาน ๓ มื้อก็ลดลงเหลือ ๒ มื้อ หรือ ๑ มื้อ

 คือไม่รับประทานหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว

 เป็นการตัดกำลังของกามฉันทะ

คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสของอาหาร

 รับประทาน ๒ หรือ ๑ มื้อก็ยังมากเกินไป

ต้องอดสัก ๓ วัน ๕ วันถึงจะดี ถึงจะขยันหมั่นเพียรจริงๆ

เพราะเหมือนเข้าสนามรบแล้ว จะนั่งๆนอนๆไม่ได้

เพราะกิเลสต่อยเราอยู่ทุกขณะเลย

ปรุงแต่งเรื่องอาหารชนิดนั้นอาหารชนิดนี้ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ

ถ้าไม่ภาวนาก็จะอดอาหารไม่ได้ ก็เลยต้องภาวนา

ควบคุมความคิดปรุงแต่ง หรือต้องย้อนความคิดปรุงแต่ง

ถ้าคิดถึงอาหาร ก็ต้องคิดถึงอาหารในอีกรูปแบบหนึ่ง

 ในขณะที่อยู่ในปาก เวลาเคี้ยวผสมกับน้ำลาย

 ถ้าคายออกมาจะตักเข้าไปในปากใหม่ได้หรือไม่

 หรือเวลาที่อยู่ในท้องแล้วอาเจียนออกมา

 ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว การอดอาหารจะไม่เป็นปัญหา

 เพราะมียาแก้กัน ถ้าไม่มียาแก้ จะอดไม่ได้ จะฟุ้งซ่านทนไม่ได้

แสดงว่าไม่ถูกกับจริต ความจริงไม่ถูกกับความสามารถมากกว่า

 ไม่สามารถผลิตธรรมโอสถ คือยาแก้ความหิวนี้ได้

 ถ้าสามารถพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารได้

 เวลาคิดถึงอาหารต่างๆ ก็จะลบภาพอาหารที่เอร็ดอร่อยได้

 พอนึกถึงอาหารที่อยู่ในปากในท้อง

ความอยากรับประทานก็จะหายไป จิตก็จะสงบตัวลง

พอทำบ่อยๆก็จะสงบอย่างต่อเนื่อง นั่งเฉยๆก็สงบ

 ไม่ต้องพุทโธ ความสงบจะคืบเข้ามาเอง

 เหมือนกับหมอกที่คืบเข้ามา เพราะเคยสงบมาแล้ว

การมีอุบายวิธีจะช่วยเร่งความเพียร

 จะเร่งให้ผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าปฏิบัติแบบสบายๆ

 ก็เหมือนกับนั่งรถธรรมดา จอดทุกสถานี

แต่ถ้านั่งรถด่วนจะจอดเพียงไม่กี่สถานี

จะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็ว

ผู้ปรารถนาความหลุดพ้นอย่างรวดเร็วต้องกล้าหาญ

 ที่จะใช้อุบายต่างๆ มาเสริมในการภาวนา

ต้องสร้างสนามสอบขึ้นมา อย่ารอให้สนามสอบมาหา

 เพราะกว่าจะมาหาจะนานเกินไป เช่นรอให้ความตายมาหา

 อาจจะอีกหลายปี ต้องไปหาความตาย

ต้องไปหาสถานที่ที่ท้าทายต่อความเป็นความตาย

 เพื่อจะได้พิสูจน์ดูว่า จะดับความกลัวตายได้หรือเปล่า

ความกลัวตายก็เกิดจากความอยากอยู่

ความหลงว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา

 ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

 ต้องตายไปในที่สุด ช้าหรือเร็ว

ถ้าอยากจะอยู่อย่างสบายไม่กลัวตาย

ก็ต้องแก้ปัญหานี้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จริง

ต้องไปหาที่ๆน่ากลัว ไปหาที่ๆทำให้เกิดความกลัวสุดขีด

แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาปล่อยวางร่างกาย

พิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

ร่างกายเกิดมาแล้วก็ต้องตายอย่างแน่นอน

ถ้าตอนนี้ร่างกายจะตายก็ให้ตายไป

 พอยอมตายปั๊บความกลัวตายก็จะหายไป

 ที่พระไปอยู่ในป่าในเขากัน ก็เพื่อที่จะหาสนามสอบ

 ถ้าปฏิบัติอยู่ในวัดค่อนข้างจะปลอดภัย

แต่วัดป่าบางวัดตอนกลางคืนก็น่ากลัวเหมือนกัน

 ออกมาเดินตอนกลางคืนไม่ต้องฉายไฟ

เพื่อพิสูจน์ว่ากลัวหรือไม่กลัวก็ได้

นอกจากรู้ขั้นตอนของการปฏิบัติแล้ว

 เช่นรู้ว่าต้องภาวนา ต้องเจริญสติ ต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรมแล้ว

 ก็ต้องหามาตรการเข้มข้นมาเสริม

 ปฏิบัติอยู่ที่บ้านกับการปฏิบัติในป่านี้ ภาวะเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน

 ฉันตามปกติ กับการอดอาหารก็ต่างกัน

 นั่งให้เจ็บแล้วปล่อยให้หายไปเอง ไม่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถก็เช่นกัน

 อยากจะได้ผลดี ก็ต้องลุย ต้องสู้ เจ็บแล้วอย่าลุก นั่งต่อไป

ใช้อุบายของสมาธิ หรือใช้ปัญญาพิจารณา

ให้ปล่อยวางความเจ็บ ไม่ให้ใจวุ่นวายกับความเจ็บ

ปล่อยวางความเจ็บ เหมือนกับปล่อยวางคนนั้นคนนี้ ไม่ไปยุ่งกับเขา

 ถ้าไม่ไปยุ่งก็จะไม่วุ่นวายใจ ที่วุ่นวายเพราะไปยุ่งกับเขา

ความเจ็บของร่างกายก็เหมือนกับคนที่เราไปยุ่งด้วย

 ถ้าไม่ไปยุ่งกับเขา เขาจะทำอะไรก็ปล่อยให้เขาทำไป

ปล่อยให้เขาด่าให้เขาชมไป ถ้าไม่ถือสาก็จะไม่เป็นปัญหา

 ถ้าถือสาก็จะวุ่นวายใจ เวทนาก็เหมือนกัน

 เหมือนคนด่าคนชม เวทนามีทั้งสุขมีทั้งทุกข์

ถ้ารับสุขได้ทำไมรับทุกข์ไม่ได้ เป็นเวทนาเหมือนกัน

 เหมือนกับเสียงด่ากับเสียงชมนี้ รับเสียงชมได้

ทำไมรับเสียงด่าไม่ได้ เป็นเสียงเหมือนกัน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เขา แต่อยู่ที่เรา ไปรักไปชังเขา

 ก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ

 ความเจ็บกับความสุขของร่างกายก็เหมือนกัน

 ถ้าไม่ไปรักไปชังก็จะไม่เป็นปัญหา

ปัญหาคือความทุกข์อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่เวทนา

เราจะทุกข์หรือไม่ อยู่ที่เรา ถ้าไปรักไปชังก็จะทุกข์

เวลาเสียสิ่งที่รักไปก็จะทุกข์ ถ้าพบกับสิ่งที่ชังก็จะทุกข์

ถ้าไม่รักไม่ชังเวลาเจอก็จะไม่ทุกข์

เพราะฉะนั้นอย่าไปรักสุขเวทนา อย่าไปชังทุกขเวทนา

 ให้สลับกัน ให้ชังสุขเวทนา ให้รักทุกขเวทนา

 ใจจะได้อยู่ตรงกลาง รู้เฉยๆ ทุกข์ก็ได้สุขก็ได้

ด่าก็ได้ชมก็ได้ เพราะเป็นเสียงเท่านั้นเอง

เวทนาก็เป็นโผฏฐัพพะ เวลาร่างกายสัมผัสกับของแข็งนานๆ

ก็แสดงอาการเจ็บออกมา ก็รับรู้ไป

ถ้าไม่ไปรักไปชัง ใจจะไม่กระเพื่อม ใจจะสบาย

แต่ต้องมีฐานคือมีสมาธิ ถ้าไม่มี

เวลาสัมผัสอะไรนิดอะไรหน่อยจะกระเพื่อมทันที

เพราะไม่มีความหนักแน่น ไม่เป็นอุเบกขา

 ต้องทำใจให้หนักแน่น เป็นอุเบกขาก่อน ด้วยการทำสมาธิ

พอใจสงบแล้ว จะมีความหนักแน่น มีอุเบกขานิ่งเฉย

พอสอนให้ใจนิ่งเฉยกับอะไร ก็จะนิ่งเฉยได้

ให้นิ่งเฉยกับคำด่าก็นิ่งได้

ให้นิ่งเฉยกับความเจ็บปวดของร่างกายก็นิ่งได้

 สมาธิจึงเป็นธรรมที่สำคัญมากต่อการเจริญปัญญา

เจริญปัญญาก็เพื่อปล่อยวางสิ่งต่างๆ ปล่อยวางขันธ์

ปล่อยวางเวทนา ปล่อยวางร่างกาย

เวลาเผชิญความตายก็สอนให้ใจนิ่งๆได้

 ปล่อยให้ร่างกายตายไป

 เราไม่ได้เป็นร่างกาย ไม่ต้องกลัว

 ถ้าใจไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิใจจะกระโดด

พอเจออะไรน่ากลัวก็จะวิ่งอ้าวไปเลย ความกลัวมีพลังมาก

 ถ้ามีสมาธิก็จะหยุดความกลัวได้

 ถ้าปัญญาสั่งให้ปล่อยวาง ก็จะปล่อยได้

ถ้าไม่ปล่อยก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ

 ถ้าจะใช้ปัญญาให้ได้ผลต้องมีสมาธิ

ถ้าไม่มีสมาธิถึงแม้จะรู้ว่าความตายเป็นธรรมดา

 ก็ทำใจไม่ได้ ความเจ็บเป็นธรรมดาก็ทำใจไม่ได้

 เพราะใจไม่หนักแน่นไม่นิ่งพอ ต้องทำใจให้นิ่งก่อน

สมัยนี้จะหลงผิดกัน คิดว่าไม่ต้องมีสมาธิ ใช้ปัญญาเลย

 แล้วมีใครบรรลุกันบ้างหรือเปล่า พวกที่ใช้ปัญญาอย่างนี้

 ถ้านั่งสมาธิไม่ได้แล้วจะไปเจริญปัญญาเลยนี่ ทำไม่ได้หรอก

 เหมือนคนที่เดินไม่ได้ จะวิ่งได้อย่างไร

ก่อนจะเดินได้ ก็ต้องยืนก่อน

ก่อนจะมีสมาธิได้ ก็ต้องมีสติก่อน

 ถ้าไม่มีสติจะทำให้ใจสงบไม่ได้

ถ้าใจไม่สงบไม่นิ่งไม่หนักแน่น

จะสอนใจให้ปล่อยวางก็ปล่อยไม่ได้

 พอสัมผัสรับรู้อะไร จะรักจะชังจะอยากขึ้นมาทันที

 ถ้าสัมผัสของชอบก็อยากได้ทันที

ถ้าสัมผัสของเกลียดก็อยากจะหนีทันที

แต่ถ้ามีสมาธิแล้วจะสอนใจได้ สอนว่าอย่าไปรักอย่าไปชัง

อย่าไปชอบอย่าไปเกลียด เพราะจะทำให้ใจกระเพื่อม ไม่สงบ

 จะทุกข์ ถ้าจะรักษาความสงบสุขของใจก็ต้องปล่อยวาง

 ใครจะด่าก็ปล่อยให้ด่าไป ใครจะชมก็ปล่อยให้ชมไป

 ใครอยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป ไม่ต้องไปห้าม

ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำตามที่เราต้องการ

ความสุขของใจอยู่ที่การไม่อยากได้อะไร

นี่เป็นหน้าที่ของปัญญา จะได้ผลก็ต้องมีสมาธิก่อน

ใจต้องมีความสงบหนักแน่นก่อน

ถ้ายังไม่มีสมาธิใจจะเป็นเหมือนสปริง จะเด้งทันที

 พอสัมผัสอะไรปั๊บนี้จะเด้งทันที ต้องทำให้สปริงไม่เด้งเสียก่อน

พอสัมผัสอะไร เห็นอะไรแล้วกระเพื่อม

 ก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้ปล่อยวาง ก็จะปล่อยทันที

 พอปล่อยแล้วก็จะกลับสู่ความสงบทันที

 ต่อไปจะไม่ยึดติดกับอะไร ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง

อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิดไป อะไรจะดับก็ปล่อยให้ดับไป

 เป็นเรื่องปกติของโลก มีเจริญมีเสื่อม ในลาภยศสรรเสริญ

ในความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ไม่สามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการได้

 และไม่ควรด้วย เพราะการอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 เป็นการสร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ

การปล่อยวาง การยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น

ตลอดทุกเวลานาที จะรักษาใจให้อยู่อย่างสงบ

 ร่มเย็นเป็นสุขไปตลอด

เป้าหมายของการปฏิบัติก็คือการปล่อยวาง

เพื่อใจจะได้หลุดพ้นจากความวุ่นวายต่างๆ

 ใจไปวุ่นวายกับเขาเอง

เขาเป็นอย่างนี้ก็อยากจะให้เขาเป็นอย่างนั้น

เขาเป็นอย่างนั้นก็อยากจะให้เขาเป็นอย่างนี้

เพราะไม่รู้ว่าไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้

 เขาเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา

อนัตตา ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา

ที่จะไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้

ถ้าอยากจะให้ใจมีความสุขตลอดเวลา

ก็ต้องปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นทุกข์ทั้งนั้น

 ทุกวันนี้เราทุกข์กับอะไร ก็ทุกข์กับเรื่องต่างๆ สิ่งต่างๆ

ที่มีอยู่ในโลกนี้ นับตั้งแต่ร่างกายของเราออกไป

 ร่างกายก็เป็นกองทุกข์กองหนึ่งแล้ว

แล้วก็ไปเอาสามีภรรยามาเป็นกองทุกข์อีกกองหนึ่ง

 แล้วก็เอาลูกมาเป็นกองทุกข์ เอาหลานมาเป็นกองทุกข์

 เอาสมบัติข้าวของเงินทองมาเป็นกองทุกข์

เอารูปเสียงกลิ่นรสมาเป็นกองทุกข์

 เป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น อยู่กับความทุกข์ตลอดเวลา

 แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาสอนก็จะไม่รู้

 จะติดอยู่กับความทุกข์ไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

 ตายไปก็กลับมาหากองทุกข์ใหม่ กลับมาเกิดใหม่

 แต่ถ้าได้พบกับพระพุทธเจ้า ได้พบกับพระพุทธศาสนา

 ได้ศึกษาได้ปฏิบัติแล้ว ก็จะพบกับความร่มเย็น

พบกับความสงบ พบกับความสุข

ก็จะเห็นโทษของสิ่งต่างๆทันที

 จะพยายามใช้สติสมาธิปัญญาตัดให้หมด

 ชอบก็ต้องตัด ชังก็ต้องตัด

 ตัดจนไม่มีชอบและชังหลงเหลืออยู่ในใจเลย

ก็จะหมดงาน วุสิตัง พรหมจริยัง

ขอให้พวกเรารีบขวนขวายกัน เพราะเวลาของเราไม่แน่นอน

ไม่รู้ว่าจะมีเหลืออีกสักกี่วันกี่ปีกี่เดือน

รู้ว่ากลับมาเกิดคราวหน้าจะได้มาพบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือไม่

 ถ้าไม่พบก็คงจะต้องเป็นเวลาอีกยาวนาน

จะมีพระพุทธศาสนามาปรากฏใหม่

ให้เป็นที่พึ่งของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง

ตอนนี้อย่าไปเสียดายกับสิ่งต่างๆในโลกนี้เลย

 ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ทิ้งไปเสียแต่วันนี้จะดีกว่า ไปอยู่วัดกัน

 ไปบวชชีบวชพระกัน จะได้ของดีของวิเศษ

อย่าประมาทในความสามารถของเรา อย่าไปคิดว่าทำไม่ได้

 อย่าไปมองคนที่เรียนจบแล้ว เราอยู่ ป. ๑ ก็ทำหน้าที่ของเราไป

 อย่าไปคิดว่าไม่มีบุญที่จะเรียนถึงขั้นปริญญา

เวลาอยู่ ป. ๑ ก็คิดอย่างนี้กันทุกคน เพราะรู้สึกว่าสุดเอื้อม

 ขอให้เรียนไปเถิด ตอนนี้อยู่ ป. ๑ ก็เรียน ป. ๑

เรียนเพื่อขยับขึ้น ป. ๒ อย่าเรียนซ้ำชั้น ต้องเลื่อนขึ้นไป

จากทานก็ไปศีล จากศีลก็ไปภาวนา

 ไปเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา ก็จะหลุดพ้น

เรียนมาหลายปีแล้ว ก็ยังทำแต่ทาน

ไปงานบุญนั้นไปงานบุญนี้ ไม่ถือศีลปลีกวิเวกกันบ้างเลย

 ก็เลยไปไม่ถึงไหน

ถ้าพวกเราไม่ผลักดันตัวเราเอง จะไม่มีใครผลักดันนะ

 ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนแล้ว แต่ท่านลากผลักดันเราไม่ได้

เราต้องผลักดันเอง ให้ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ

 จะได้กระตุ้นความเพียร ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่

อย่าประมาทนอนใจ ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

พระอริยสงฆ์สาวกอยู่เรื่อยๆ ดูท่านเป็นตัวอย่าง

 ท่านก็เป็นเหมือนเรา ท่านก็เกิดมาอยู่กับลาภยศสรรเสริญ

 อยู่กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

แต่ทำไมท่านเล็ดลอดออกมาได้

เพราะท่านมีความพากเพียรมีปัญญา

 พวกเราคงไม่มีปัญญา จึงไม่เห็นโทษของลาภยศสรรเสริญ

 ของความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

เป็นเหมือนปลาที่ติดเหยื่อปลายเบ็ด

 แล้วก็ต้องถูกเบ็ดเกี่ยวปากไว้ เวลาจะเอาเบ็ดออกก็กลัวเจ็บ

 เวลาจะออกจากลาภยศสรรเสริญสุขก็กลัวจะทุกข์ทรมานใจ

 ไปอยู่วัดก็กลัวความว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา

ก็จะเป็นนักโทษในเรือนจำของการเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ

ต้องยอมเจ็บบ้าง ยอมไปปลีกวิเวกอยู่ตามวัดที่สงบ

ไม่มีความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็บังคับตนให้ภาวนา

 ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญสติอยู่เรื่อยๆ

ไม่นานก็จะก้าวไปได้เอง พอธรรมเริ่มหมุนแล้ว

 ก็จะภาวนาอย่างมีความสุขเพลิดเพลิน

ถึงแม้จะทุกข์บ้าง เพราะต้องต่อสู้กับกิเลส

แต่จะเป็นทุกข์ที่มีคุณค่า เพราะเวลากิเลสตายไปแต่ละครั้ง

จะเบาอกเบาใจ สบายใจ และภูมิใจ ที่สามารถผ่านกิเลสไปได้

 เป็นรางวัลที่คุ้มค่ามาก ความเหน็ดเหนื่อยจะหายไปหมดเลย

 เหลือแต่ความสุขความสบาย ขอให้พยายามปฏิบัติให้มาก

อย่าเรียนซ้ำชั้น พยายามก้าวขึ้นไป จะได้เรียนจบ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

กัณฑ์ที่ ๔๓๖ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

“วันบวช”






 

ขอบคุณที่มา  fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2559 19:26:27 น.
Counter : 1038 Pageviews.

0 comment
### สัมมาสมาธิ ###














“สัมมาสมาธิ”

สมาธิที่จำเป็นต่อการเจริญปัญญา

ที่จะเอามาใช้ในการทำลายอคติทั้ง ๔ หรือกิเลสตัณหา

ให้หมดไป จากใจอย่างถาวร จำเป็นจะต้องมีอุเบกขา

ที่ได้จากสมาธินี้มาเป็นผู้สนับสนุนในการเจริญปัญญา

ในการใช้ปัญญา ต่อสู้กับกิเลสตัณหาหรืออคติทั้ง ๔

 คือความรัก ความชัง ความกลัว ความหลงนี้

การภาวนา การเจริญปัญญาก็เพื่อให้ได้สัมมาสมาธิอันนี้

ให้จิตเข้าสู่อัปปนาให้เหลือแต่สักแต่ว่ารู้

เหลือแต่อุเบกขาแล้ว ก็ความสุขที่ได้จากความสงบ

 ความอุเบกขานี้ก็จะเป็นอาหารหรือเป็นกำลังของใจ

ที่จะทำให้ตัดความสุขต่างๆ ตาหูจมูกลิ้นกายไปได้

ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิก็จะเป็นความสงบที่ไม่สักแต่ว่ารู้

แต่กลับไปรับรู้นิมิตต่างๆอันนี้ท่านเรียกว่าเป็นอุปจารสมาธิ

พอจิตรวมแล้วไม่อยู่เฉยๆ ไม่สักแต่ว่ารู้

กลับไปรับรู้นิมิตต่างๆ ไปรับรู้กายทิพย์ไปท่องเที่ยวในสวรรค์

ปท่องเที่ยวในนรกหรืออะไรต่างๆ

หรือไปมีความสามารถพิเศษที่เรียกว่าอภิญญา

 อ่านวาระจิตของผู้อื่นได้ ระลึกชาติได้ มีตาทิพย์หูทิพย์

เห็นสิ่งที่คนธรรมดาตาธรรมดามองไม่เห็น

ได้ยินเสียงที่หูธรรมดาไม่ได้ยิน

อันนี้เป็นผลที่ได้จากอุปจารสมาธิ

แต่อุปจารสมาธินี้ไม่เป็นคุณเป็นประโยชน์

ต่อการบำเพ็ญทางด้านปัญญาเพื่อทำลายกิเลสตัณหา

 ตัวที่สร้างภพสร้างชาติให้กับจิตใจ

ถ้าไปทางอุปจารสมาธิเวลาออกจากสมาธิมานี้จะไม่มีกำลัง

 ไม่มีอุเบกขาติดออกมา

พอสัมผัสรับรู้อะไรก็จะไหลไปตามอคติทันที

 เห็นรักก็รักทันที เห็นชังก็ชังทันที เห็นกลัวก็กลัวทันที

เห็นหลงก็จะหลงทันที แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมีอุเบกขานี้

จะไม่ไหลไปทันทีจะมีแรงต้าน

แล้วจะใช้ปัญญามาช่วยทำลายได้ด้วยการพิจารณาอสุภะ

 ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ดังนั้นผู้ที่บำเพ็ญสมาธิต้องระมัดระวัง

ต้องรู้จักว่ามีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ

สัมมาสมาธิคือสมาธิ ที่เป็นประโยชน์ต่อการบำเพ็ญ

เพื่อมรรคผลนิพพาน

ส่วนอุปจารสมาธินี้เป็นมิจฉาสมาธิ

 เป็นสมาธิที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการบำเพ็ญ

เพื่อมรรคผลนิพพาน แต่จะเป็นประโยชน์กับกิเลสตัณหาได้

 เพราะผู้ที่มีอภิญญามักจะหลงตัวเอง

 หลงกับความรู้กับความสามารถพิเศษของตัวเอง

 หลงคิดว่านี่คือผล คิดว่าเป็นมรรคเป็นผล

แล้วก็จะไม่สนใจที่จะออกไปทางปัญญา

ก็จะสนใจอยู่กับการสร้างอภิญญาเหล่านี้

แล้วใช้อภิญญาเหล่านี้ไปตามอำนาจของความโลภ

 ความอยากต่างๆ เช่นผู้ที่มีอภิญญามีความรู้นี้

มักจะมีอาชีพเป็นหมอดูกัน เป็นผู้ทำนายทายทัก

สิ่งนั้นสิ่งนี้เรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ เพื่อที่จะได้มีรายได้

 จากการใช้ความรู้เหล่ามาเลี้ยงชีพ

มาตอบสนองตัณหาความอยากต่างๆ

 ผู้บำเพ็ญจึงต้องระมัดระวังว่า กำลังไปในทิศทางไหน

 ไปสู่มรรคผลหรือไปสู่การติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด

 ถ้าไปทางอุปจารสมาธิแล้ว รับรองได้ว่าจะไปทางปัญญาไม่ได้

ไปทางมรคผลนิพพานไม่ได้ ถ้าเรามีนิสัยทางนี้เราแก้ได้

 เวลาจิตจะออกไปเราดึงกลับมาได้

ถ้าเรามีสติเราดึงกลับมาให้อยู่แต่สักแต่ว่ารู้ได้

 ไม่ให้ไปตามรู้เรื่องราวต่างๆ

อันนี้ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีครูบาอาจารย์

จะไม่สามารถแยกแยะสมาธิทั้ง ๒ รูปแบบนี้ได้

ว่าอันไหนเป็นคุณและ อันไหนเป็นโทษ

 แล้วส่วนใหญ่ก็มักจะติดไปสมาธิที่เป็นโทษ

ต้องมีครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาแล้วจะช่วยได้มาก

 พอลูกศิษย์คนไหนได้อุปจารสมาธิมาเล่าให้ท่านฟังนี้

 ท่านจะเตือนทันที ท่านจะบอกทันทีว่า

อย่าไปหลงกับนิมิตต่างๆ อย่าไปหลงกับอภิญญา

ความรู้ความสามารถพิเศษต่างๆ เพราะมันไม่ได้เป็นเครื่องมือ

ที่จะใช้ในการดับทุกข์ได้ ให้กลับเข้าไปในอัปปนาสมาธิ

ให้กลับเข้าไปที่อุเบกขา ให้กลับไปอยู่ที่สักแต่ว่ารู้

 แล้วให้อยู่ในนั้นให้นานๆ และให้กลับเข้าไปบ่อยๆจนชำนาญ

จนสามารถเข้าไปได้ทุกเวลาที่ต้องการ

แล้วค่อยออกไปทางปัญญา

 เพราะเวลาการเจริญปัญญานี้ต้องใช้ความคิดปรุงเเต่ง

แล้วใช้ไปมากๆ ก็อาจจะเกิดความฟุ้งซ่านเลยเถิดได้

 ถ้าเข้าสมาธิไม่ได้ จิตก็จะไม่สงบจิตก็จะทุกข์จะวุ่นวายใจได้

แต่ถ้ามีความชำนาญในการเข้าสมาธิ

พอพิจารณาทางปัญญาไปจนถึงขีดที่รู้ว่าเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว

ก็สามารถหยุดได้ ดึงจิตกลับเข้ามาสมาธิ

พักจิตให้เป็นอุเบกขาได้ แล้วค่อยออกไปทางปัญญาใหม่

นี่คือขั้นตอนของการบำเพ็ญจิตตภาวนา

ขั้นตอนแรกต้องเจริญสติเพื่อให้ได้อัปปนาสมาธิ

 ถ้าได้อุปจารสมาธิ ก็ต้องอย่าตามไป ดึงกลับมา

ให้อยู่ในอัปปนาสมาธิ แล้วพอเข้าออกสมาธิได้อย่างช่ำชอง

อย่างชำนาญ ต้องการจะเข้าเมื่อไรก็เข้าได้

 แล้วค่อยออกไปทางปัญญาต่อไป

ไปพิจารณาไตรลักษณ์ไปพิจารณาอสุภะแล้ว

จิตก็จะมีปัญญาที่สามารถที่จะมาทำลายกิเลสตัณหาต่างๆ

 ที่เป็นตัวฉุดลากให้ใจไปเกิดแก่เจ็บตายได้

สมาธิหรือสตินี้ไม่สามารถที่จะทำลายตัณหาได้

อัปปนาสมาธินี้เพียงแต่กดเอาไว้ชั่วขณะที่อยู่ในสมาธิ

แต่พอออกจากสมาธิมาแล้วกิเลสตัณหาก็จะโผล่ขึ้นมาใหม่ได้

สิ่งที่จะทำลายกิเลสตัณหาตัวที่เป็นต้นเหตุ ของภพชาติ

ของการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างถาวรก็คือปัญญา

ปัญญาจะไปถอนรากโคนของกิเลสตัณหาคือความหลง

 ความหลงคืออะไร คือความไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง

 กลับไปเห็นนิจจัง สุขัง อัตตาแทน

 ความจริงสภาวธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์

ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา แต่ผู้ที่มีความหลงครอบงำใจอยู่นี้

จะมองไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 แต่กลับจะไปเห็นว่าเป็นนิจจังคือถาวร เที่ยง ถาวร สุขัง เป็นสุข

อัตตาเป็นตัวเราเป็นของเรา พอเห็นว่านิจจัง สุขัง

อัตตาก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น

แล้วก็จะเกิดความอยากให้สิ่งเหล่านั้น ถาวร

ให้เป็นสุขให้เป็นของเราไปนานๆ ไปเรื่อยๆ

พอเกิดความอยากแล้วมันไม่ได้ดังใจอยาก

ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็จะทำให้ไปหาสิ่งที่ไม่เที่ยงใหม่

 พอเสียสิ่งนี้ไปก็ยังอยากได้อยู่ก็กลับไปหาใหม่

เสียแฟนคนนี้ไปพอแฟนคนนี้จากไปก็ไปหาแฟนคนใหม่

 เพราะความอยากที่จะมีแฟนยังมีฝังอยู่ในใจ

 ยังมองไม่เห็นว่ามีแฟนนี้มันเป็นทุกข์ เพราะว่าจะต้องเสียไป

เวลาเสียไปก็ทุกข์แล้วก็ต้องไปหามาใหม่

หามาใหม่เดี๋ยวก็เสียใหม่อีก เสียใหม่ไปก็หามาใหม่อีก

มันก็เลยต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำอีกไป

เพราะไม่สามารถตัดความอยากได้

จะตัดความอยากได้ต้องเห็นว่าไม่เที่ยง

 เห็นว่าเป็นทุกข์ เห็นว่าไม่ใช่ของเรา

นี่คือการเจริญปัญญาในสภาวธรรมทั้งหลาย

ที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วยไปผูกพันด้วย ไปยึดไปติดด้วย

ต้องพิจารณา ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์

ถ้าเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์แล้วจะปล่อย

เพราะไม่มีใครต้องการความทุกข์กัน

 ถ้ารู้ว่าสิ่งที่ตนเองยึดติดนี้เป็นความทุกข์ ใครจะไปยึดติดกัน

 ถ้าเราจับงูพิษแล้วเราไปคิดว่าเป็นปลาไหล เราก็จะจับมัน

 แต่พอคนที่เขาดูงูเป็น เขามาบอกว่าเป็นงูเห่า

 เราจะปล่อยทันทีเราจะไม่อยากจะจับมันไว้ในมือ

เราเหวี่ยงมันทิ้งให้ไปไกลๆเลย

ตอนต้นคิดว่าเป็นปลาไหล คิดว่าเป็นอาหาร

 พอคนที่เขาดูงูเป็นมาบอกว่า เป็นงูเห่าเท่านั้น

ก็ไม่อยากจะเก็บเอาไว้ ฉันใด

พอเรามาเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าลาภยศ

 สรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้มันเป็นงูพิษนะ

 มันไม่ใช่ปลาไหล มันเป็นทุกข์มันไม่ใช่เป็นสุข

 มันเป็นอนิจจัง มันไม่เป็นนิจจัง

มันเป็นอนัตตามันไม่ได้เป็นอัตตา

ไม่ได้เป็นของเรา พอเห็นอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็นแล้ว

ก็จะสลัดทิ้งไปหมดเลย ลาภยศ สรรเสริญ

ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้จะรู้เลยว่ามันเป็นยาพิษ

ไม่ใช่เป็นขนมหวาน แต่ที่มองไม่เห็น

เพราะถูกความหลงครอบงำอยู่ จึงต้องใช้ปัญญา

หมั่นพิจารณาให้เห็น ให้ได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง

มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่เป็นของเรา

การพิจารณาก็เช่นร่างกายก็ดูซิ มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง

มันเกิดมาแล้วมันอยู่อย่างนั้นหรือเปล่า

หรือมันมีการเจริญเติบโต

เจริญเติบโตแล้วหลังจากนั้นก็มีการเสื่อม

มีการแก่มีการเจ็บมีการตาย พอมันตายแล้ว

มันก็หายไปจากเรามันเป็นของเราเมื่อไร

มันเป็นในขณะที่มันมีอยู่เท่านั้นเอง

แล้วมันเที่ยง หรือไม่เที่ยง เวลามันไปนี้มันสุขหรือมันทุกข์

 เวลามันแก่มันสุขหรือมันทุกข์

เวลาเจ็บหรือเวลาตายมันสุข หรือมันทุกข์

ให้พิจารณาอย่างนี้แล้วก็จะเห็นชัดเจนว่า

ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 เวทนาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 สุขเวทนาอยากจะให้มันอยู่มันก็ไม่อยู่

อยู่ได้แป๊บเดี๋ยวมันก็หายไป

ทุกขเวทนาเวลามันมาไม่อยากให้มันมามันก็มา

อยากจะให้มันไปมันก็ไม่ไป มันเป็นของเราตรงไหน

 ถ้ามันเป็นของเรา เราก็ต้องสั่งมันได้

นี่พิจารณาให้เห็นแล้วเราจะได้ปล่อยวางไม่ไปยึดไปติดมัน

 มันจะเป็นอย่างไรก็ไม่ไปยุ่งกับมัน เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา

ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีมันเราไม่ตาย เราไม่เดือดร้อน

ถ้าเรามีสติมีสมาธิมีปัญญานี้เรามีที่พึ่งของเรา

เราก็จะปล่อยที่พึ่งปลอมที่เราหลงไปยึดเป็นที่พึ่งได้

ก็คือขันธ์ ๕ ร่างกายของเรา ความรู้สึกทางกาย

 ความรู้สึกสุขทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์ เราจะปล่อยวางได้

ถ้าเรามีสติมีสมาธิมีปัญญา ใจของเราจะอยู่กับความสงบ

ความสงบนี่แหละเป็นที่พึ่งที่แท้จริง

ถ้าเราปล่อยได้เราก็จะหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา

ตัวที่เป็นต้นเหตุที่ฉุดลาก ให้เรากลับมาเวียนว่ายตายเกิดได้

 เมื่อไม่มีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่ภายในใจ

การกลับมาเวียนว่ายตายเกิด ก็จะไม่มีอีกต่อไป

นี่คือกิจกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเรากระทำกัน

เป็นกิจของเรา ประโยชน์ของเรา

จงยังประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

 ให้รีบสร้างธรรมะให้เกิดขึ้นมาภายในใจ

ด้วยการทำบุญ ทำทานถ้าเป็นจุดเริ่มต้นก็ทำทาน

รักษาศีล ๕ ไป พอทำทานจนไม่มีอะไรจะทำแล้ว

ไม่มีเงินทองจะทำแล้วก็ขยับขึ้นสู่การภาวนา

 การรักษาศีล ๘ ต่อไปเพื่อจะได้บำเพ็ญกันอย่างเต็มที่

 การภาวนานี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแบบ ๒ วันที

 เช้าชามเย็นชามอย่างนี้ใช้ไม่ได้จะไม่ได้ผล

จะได้ผลจะต้องทำตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

ถ้ามัวทำไป ๒ -๓ วันแล้วก็ออกไปทำผ้าป่าออกไปทำกฐิน

 ออกไปสร้างโบถส์สร้างเจดีย์ อันนี้มันก็จะทำลาย

หรือมาขัดจังหวะการบำเพ็ญจิตตภาวนาไม่ให้ต่อเนื่อง

 เมื่อมันไม่ต่อเนื่อง ผลมันก็จะไม่เกิด

ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จักขั้นตอนของตน

ว่าตอนนี้อยู่ขั้นตอนไหน

กำลังอยู่ขั้นตอนของการทำทานรักษาศีลก็ทำไป

พอเข้าสู่ขั้นภาวนาแล้วก็ต้องหยุดการทำทาน การรักษาศีล ๕

เปลี่ยนเป็นการรักษาศีล ๘ แล้วเปลี่ยนการทำบุญทำทาน

มาเป็นการภาวนาแทน ถ้าทำอย่างนี้แล้ว

จิตก็จะเจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับจะบรรลุธรรมขั้นต่างๆ

ขึ้นไปได้ตามลำดับจนถึงขั้นสูงสุด

จนถึงขีดที่จะไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

หลังจากที่ได้ทำกิจของตนได้สำเร็จลุล่วงไปหมดแล้ว

 ไม่มีกิจอันใดที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว

หลังจากนั้น จึงค่อยมาทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าหลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้

ได้ทรงหลุดพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว

 พระองค์ก็ทรงมาประกาศพระธรรมคำสอน

 สั่งสอนญาติโยม สั่งสอนพระเณร สั่งสอนเทวดา

และบุคคลที่พึงที่จะไปโปรดในแต่ละวัน

ไปก็เพื่อไปสั่งสอนให้เขาได้บรรลุธรรมนั่นเอง

ให้เขาได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

นี่คือคำสอนครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า

ก่อนที่จะจากพวกเราไป สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง

 มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไปเป็นธรรมดา

จงยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่นให้ถึงพร้อม

ด้วยความไม่ประมาทเถิด

ขอให้ท่านจงนำเอาคำสอนนี้มาเป็นคติเตือนใจ

สอนใจให้เราไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ให้เราหมั่นปฏิบัติธรรม

 ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติกันคือทาน ศีล และภาวนา

ให้ทำไปจนกว่าเราจะสำเร็จถึงขั้นที่เราหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิดได้แล้ว ถ้าได้ถึงขั้นนั้นแล้วล่ะ

ถึงจะเป็นเวลาที่เราจะไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอีกต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙

“คำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2559 13:34:53 น.
Counter : 1095 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ