Group Blog
All Blog
### รับมือกับอารมณ์ที่มาเยือน ###














รับมือกับอารมณ์ที่มาเยือน

“อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนานั้น ยากที่จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้

มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นแทนที่จะคิดผลักไสมัน

 ลองเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน โดยไม่หลงไปตามอำนาจของมัน

 ต้อนรับอารมณ์เหล่านี้เสมือนอาคันตุกะผู้มาเยือน

ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จากไปเอง โดยไม่ต้องเร่งรัดผลักไส

 เพียงแค่ยอมรับอารมณ์เหล่านี้ได้

ไม่รู้สึกเป็นลบหรือมองเป็นศัตรู ใจก็สงบไปได้มาก

 ข้อสำคัญก็คืออย่าหลงเชื่อคำชักชวนของมัน

จนปล่อยตัวปล่อยใจไปตามมันก็แล้วกัน”

พระไพศาล วิสาโล












ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตเพื่อธรรมะและธรรมชาติ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 มกราคม 2559
Last Update : 3 มกราคม 2559 11:22:46 น.
Counter : 915 Pageviews.

0 comment
### การปฎิบัติขั้นปัญญาคือคิดไปในทางอริยสัจ 4 ###

















“การปฏิบัติขั้นปัญญาคือ

การคิดไปในทางอริยสัจ ๔”

การฟังเทศน์ฟังธรรมเพียงอย่างเดียวนั้น

จึงยังไม่พอต่อการที่จะกำจัดความทุกข์ภายในใจให้หมดไปได้

จำเป็นจะต้องน้อมนำเอามาปฏิบัติอีกทีหนึ่ง

หรือปฏิบัติในขณะที่ฟังเลยก็ได้ ถ้าอยู่ในขั้นปัญญาแล้ว

ผู้ที่มีศีลแล้ว มีสมาธิแล้ว สามารถปฏิบัติในขณะที่ฟังได้

เพราะการปฏิบัติขั้นปัญญานี้เป็นการใช้ความคิด

ความคิดที่ไปในทางอริยสัจ ๔

คิดไปในทางอริยสัจ ๔ ก็จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วก็จะสามารถสั่งให้ใจ

ผลิตมรรคออกมาเพื่อหยุดตัณหาความอยากต่างๆ

ที่มีอยู่ภายในใจได้ แต่ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ต้องมาสร้างสมาธิ

ให้เกิดขึ้นก่อน ถ้ายังไม่มีศีลก็ต้องมาสร้างศีลให้เกิดขึ้นก่อน

 สำหรับศีลของผู้ปฏิบัติอย่างน้อยก็ต้องเป็นศีล ๘ ขึ้นไป

 ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ๓๐๐ กว่าข้อนี้

 เป็นศีลของผู้ปฏิบัติธรรม

เพราะว่าจะทำให้สามารถสร้างสมาธิขึ้นมาได้

ถ้าเป็นศีล ๕ นี้จะไม่มีกำลังพอ ที่จะสร้างสมาธิให้เกิดขึ้นมาได้

 ต้องอาศัยศีล ๘ขึ้นไปเหมือนกับเวลาที่เราขับรถขึ้นที่สูง

 เราจะใช้เกียร์สูงไม่ได้ เราต้องใช้เกียร์ต่ำ

 ต้องเปลี่ยนเกียร์ จากเกียร์ ๔ ก็ต้องเป็นเกียร์ ๓

จากเกียร์ ๓ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเกียร์ ๒

จนกว่าจะสามารถไปถึงยอดเขาได้

ถ้าเราใช้เกียร์สูงเกียร์ ๔ เกียร์ ๕ เครื่องก็จะดับไปไม่ได้ ฉันใด

การรักษาศีลก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเรารักษาศีล ๕ นี้

จะไม่มีกำลังพอที่จะส่งใจให้ไปสู่การปฏิบัติธรรม

 สู่การเจริญสมาธิได้ ต้องมีศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

 เป็นเครื่องมือคอยผลักดันใจให้ขึ้นไปสู่การปฏิบัติสมถภาวนา

 คือการทำใจให้สงบ ถ้ามีสมถภาวนาแล้ว

 มีสมาธิแล้วก็สามารถออกพิจารณาทางปัญญาได้เลย

 พิจารณาดูอริยสัจ ๔ ได้เลย

อริยสัจ ๔ นี้ต้องเป็นอริยสัจ ๔ ที่เกิดขึ้นจริงๆ

ไม่ใช่ที่เกิดจากคิดปรุงเเต่ง มันไม่เหมือนกัน

 ต้องเห็นทุกข์ ต้องเห็นเวลาที่เราร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ

 แล้วก็พิจารณาว่าทำไมเราต้องมาร้องห่มร้องไห้

เสียใจเพราะอะไร เพราะเราจะต้องสูญเสียสิ่งที่เรารักไป

หรือคนที่เรารักไป แล้วเราห้ามเขาได้หรือเปล่า

 เขาเป็นสิ่งที่เราควบคุมบังคับให้เขาไม่จากเราไปได้หรือเปล่า

 ต้องพิจารณาเเบบสดๆ ร้อนๆ ถึงจะเป็นปัญญา

 ต้องเกิดทุกข์ขึ้นมาแล้วจะต้องพิจารณาดูว่า

กำลังอยากกับเรื่องอะไรแล้วก็ต้องพิจารณา

เรื่องที่กำลังอยากอยู่ ว่าเป็นอนิจจา เป็นอนัตตา

เราไม่สามารถที่จะไปยื้อเขาไว้ได้ ถ้าเขาจะต้องไป

 ถ้าเขาจะต้องจากเราไป ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราก็ปล่อยเสีย

พอเราปล่อยคือเราไม่ได้ไปอยากให้เขาอยู่กับเราอีกต่อไป

 พอไม่มีความอยาก ความทุกข์ก็จะหายไป

อันนี้ต้องเห็นแบบนี้ถึงจะเรียกว่าเห็นอริยสัจ ๔

เห็นตามความเป็นจริง เห็นตามเหตุการณ์จริง

ไม่ใช่ตามแบบทฤษฎีแบบที่เรานั่งคิดกันว่า

ความทุกข์ของเราเกิดจากความอยากของเรา

ความทุกข์ของเราจะหายไป

ก็ต้องเห็นสิ่งที่เราอยากว่าเป็นไตรลักษณ์

 อันนี้ยังเป็นทฤษฎีอยู่ แต่ก็ต้องศึกษาทฤษฎีเตรียมตัวไว้ก่อน

เหมือนเป็นการทำการบ้านไว้ก่อน

 ลองพิจารณาคนที่เรารัก คนที่เราไม่อยากให้เขาจากเราไปดู

 คอยพิจารณาอยู่เรื่อยๆ แล้วรอวันที่เขาจะจากเราไป

แล้วเวลานั้นดูซิว่าเราจะทุกข์หรือไม่ทุกข์

เช่นร่างกายของเรานี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง อนัตตา

 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราอยากให้เขาเที่ยง

 อยากให้เขาเป็นของเรา เวลาเขาจะจากเราไปนี้

เราจะทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะเรามีความอยาก

แต่ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าเราต้องไม่มีความอยากกับเรื่องของร่างกายนี้

เพราะเขาไม่เที่ยง เขาไม่ใช่เป็นของเรา

ถ้าถึงเวลาเขาจะไปก็ยอมปล่อยให้เขาไป ก็จะไม่ทุกข์

อันนี้จะพิสูจน์ได้ เช่นเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเราต้องไปหาหมอ

 หมอก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย ทำอะไรไม่ได้

 รักษาไม่ได้แล้ว เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะต้องตายไป

เวลานั้นแหละจะได้เห็นอริยสัจ ๔ ของจริงปรากฏขึ้นมาภายในใจ

 และเวลานั้นแหละจะได้เห็นว่าธรรมของเรา

ที่เราได้ศึกษาได้ปฏิบัตินี้ มีกำลังพอที่จะดับความทุกข์

ภายในใจของเราได้หรือไม่ ละตัณหาความอยาก

ไม่ให้ร่างกายตายไปได้หรือไม่ อันนี้มันจะเกิดขึ้นตอนนั้น

ตอนนี้ยังไม่เกิดก็ต้องเป็นเวลาที่เราต้องซ้อมอยู่เรื่อยๆ

 เหมือนกับนักมวย ก่อนที่จะขึ้นเวทีไปชิงแชมป์

ต้องซ้อมชกกับคู่ซ้อมไปก่อน ชกกระสอบทรายไปก่อน

 จนกว่าจะมีความมั่นใจว่า พร้อมก็ถึงจะขึ้นไปบนเวที

แล้วก็จะมีโอกาสที่จะชนะคู่ต่อสู้ได้

นี่คือเรื่องของธรรมของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ภายในใจของพวกเรา

แต่บางทีเรามองไม่เห็นกัน เพราะเราไม่ได้มองเข้ามาข้างในใจ

ถ้าใจไม่มีความสงบไม่มีสมาธิจะไม่เห็นอริยสัจ ๔

ที่มีแสดงอยู่เรื่อยๆ มีทุกข์ เล็กทุกข์น้อยทุกข์ใหญ่ทุกข์โต

สลับกันไปอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้ามีสมาธิแล้วใจจะกลับเข้ามามองข้างในใจ

 จะมองเห็นใจ ถ้ามองใจ ใจก็จะเห็นอริยสัจ ๔ กำลังทำงานอยู่

 ถ้ามีธรรมมากก็จะเป็นมรรคกับนิโรธ เป็นส่วนใหญ่

ถ้ามีกิเลสมากมีตัณหามากก็จะเป็นทุกข์กับสมุทัย

ทำงานกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะธรรมทั้ง ๒ คู่นี้ผลัดกันทำหน้าที่กัน

 เหมือนแข่งกัน ถ้ากิเลสมีกำลังมากกว่า

ธรรมะก็จะไม่ได้ออกมาแสดงตัว

ถ้าธรรมะมีกำลังมากกว่ากิเลสก็จะไม่ออกมาแสดงตัว

 ถ้ากิเลสไม่แสดงตัวความทุกข์ก็จะไม่ปรากฏ

ถ้ากิเลสแสดงตัวตัณหาแสดงตัวความทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมา

เวลาที่เราเกิดความทุกข์ใจก็ขอให้เราเข้ามาแก้ที่ข้างใน

 แต่ถ้าเราไม่มีสมาธิเราจะไม่แก้ที่ข้างใน เราจะไปแก้ที่ข้างนอก

 แก้สิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจ ใครทำให้เราไม่สบายใจ

เราต้องไปจัดการกับเขา อย่างใดอย่างหนึ่ง

คุยกับเขาหรือกำจัดเขาให้พ้นหูพ้นตาไป

เพื่อที่เราจะได้หายจากความไม่สบายใจ

 แต่มันก็เป็นการหายชั่วคราวเดี๋ยวก็มีคนอื่นขึ้นมาแทนที่

มาทำให้เราไม่สบายใจอีก เราก็ต้องไปกำจัดเขาอีกแล้ว

 การกำจัดเขาก็อาจจะเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมกันขึ้นมา

 แทนที่จะกำจัดเขาให้หายไป เขากลับจะมาหาเราบ่อยขึ้นเสียอีก

 เพราะเขายังแค้นอยู่ภายในใจที่เราไปกำจัดเขา

วิธีที่แก้ปัญหาของใจเรานั้นต้องแก้ที่ตัณหาความอยากของเรา

 อย่าอยากให้เขาหายไป อย่าอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 หยุดความอยากเสีย เขาจะเป็นอย่างไร เขาจะอยู่ เขาจะไป

ก็เรื่องของเขา ถ้าไม่มีความอยากแล้วเราจะไม่เดือดร้อน

กับการอยู่กับการไปของเขา แล้วเราจะไม่มีเวรไม่มีกรรมกับเขา

 นี่คือหลักของการปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

คือให้มาแก้ที่ใจแก้ที่ตัณหาความอยากนี้ด้วยปัญญา

ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ถ้าเราปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้วรับรองได้ว่า

ความทุกข์ต่างๆ ภายในใจของเรานี้จะหมดไปตามลำดับ

และหมดไปได้อย่างถาวรอย่างแน่นอน

เพราะว่าพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก

 ได้ทรงกำจัดความทุกข์ด้วยวิธีนี้กันทั้งนั้น

ไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ในพระทัยของพระพุทธเจ้า

 ในใจของพระอรหันตสาวก

 เพราะท่านมีธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องมือ

เราต้องมาฟังธรรมแล้วนำเอาธรรมนี้ไปเป็นเครื่องมือ

 กำจัดความทุกข์ต่างๆ ให้มันหมดไปจากใจของพวกเรา

แล้วเราจะได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข

 ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับร่างกายของเราก็ดี

 กับบุคคลใดก็ดี หรือเกิดกับทรัพย์สิน

ข้าวของเงินทองต่างๆของเราก็ดี

จะไม่ทำให้เราต้องมีความทุกข์กับเขาเลย

เพราะเรามีธรรมของพระพุทธเจ้าปกป้องคุ้มครองรักษา

ให้ใจของเรานั้นมีแต่ปรมัง สุขังอยู่ตลอดเวลา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๘

“ฟังธรรมเพื่อให้ได้ธรรม”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 มกราคม 2559
Last Update : 3 มกราคม 2559 10:53:13 น.
Counter : 1234 Pageviews.

0 comment
### ทางใครทางมัน ###














ทางใครทางมัน

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เรื่องเล่าเช้าวันพระ: 

พระไพศาล วิสาโล เขียนเล่าเรื่อง

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นผู้มีประสบการณ์การปฏิบัติมาอย่างยาวนาน

 จนเจนจบด้านกรรมฐาน แจ่มแจ้งในเรื่องจิต

กระทั่งหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตกล่าวยกย่องว่า

“ท่านดูลย์นี้ เป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง

 สามารถมีสานุศิษย์และผู้ติดตามมาประพฤติปฏิบัติธรรม

ด้วยเป็นจำนวนมาก”

เป็นธรรมดาอยู่นั่นเองที่ผู้คนจากทุกสารทิศ

นับถือท่านเป็นอาจารย์ แต่หลวงปู่ดูลย์มักออกตัวว่า

ท่านเป็นเพียงนักปฏิบัติเฒ่าชราที่ผ่านประสบการณ์มานาน

 พอจะเป็นกัลยาณมิตรได้บ้าง พร้อมกับแนะว่า

 ขอให้ถือท่านเป็นผู้ร่วมศึกษาหาแนวทางรอดก็พอ

ท่านไม่เคยถือใครว่าเป็นศิษย์ หรือถือตัวว่าเป็นอาจารย์ของผู้ใด

 ผู้ที่ใกล้ชิดท่านยืนยันว่าตลอดชีวิตของหลวงปู่

ท่านไม่เคยอ้างหรือวางตนเป็นครูบาอาจารย์เลย

 แต่หากใครมีปัญหาการปฏิบัติ ท่านก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ

 ดังย้ำอยู่เสมอว่า อย่าได้รีรอลังเล หรือเกรงอกเกรงใจท่าน

 ขอให้ไปพบเพื่อไต่ถามท่านได้ตลอดเวลา

เวลาท่านให้คำแนะนำ แม้กระทั่งกับพระที่ใกล้ชิดคุ้นเคย

 ท่านก็ไม่เคย “ฟันธง” หรือกำชับว่าต้องทำอย่างนี้ ๆ เท่านั้น

 ท่านมักจะพูดว่า “ผมเข้าใจว่า อย่างนี้นะ เท่าที่ผมเคยปฏิบัติมา

 ผมแก้ไขอย่างนี้ ผมทำอย่างนี้ คุณลองนำไปประกอบ

การพิจารณาดู อาจจะได้ข้อคิดว่าควรปฏิบัติของตนอย่างไร”

ท่านไม่เคยยืนยันว่าวิธีการของท่านเท่านั้นที่ถูก

 ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสหรือส่งเสริมให้ลูกศิษย์

ได้นำไปไตร่ตรองพิจารณาด้วยตนเอง

 เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมกับตนเอง

ทั้งนี้เพราะท่านตระหนักดีว่า คนเรานั้นแตกต่างกัน

 แม้มีปัญหาเหมือนกัน แต่สาเหตุอาจต่างกัน

หรือถึงจะมีสาเหตุเหมือนกัน

 แต่วิธีการที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน

 ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว

บางครั้งท่านก็เอาประสบการณ์ของครูบาอาจารย์

เช่นหลวงปู่มั่นมาเล่าให้ฟัง แต่ก็ย้ำว่าผู้ปฏิบัติพึงพิจารณา

หรือค้นหาทางออกเอาเอง

“ท่านอาจารย์ใหญ่เคยแนะไว้อย่างนี้

ผมก็พบมาและแก้ไขตัวเอง แต่ของคุณจะเป็นอย่างไร

 ลองเอาไปเทียบเคียงดู เพราะธรรมของใครก็ของมัน

 ธรรมของพระพุทธเจ้าก็ของพระพุทธเจ้า

 ของท่านอาจารย์ใหญ่ก็ของท่านอาจารย์ใหญ่

ของผมก็ของผม และธรรมของคุณก็ของคุณ

 แม้มีเป้าหมายเดียวกันแต่ก็ไม่เหมือนกัน ทางใครทางมัน”

คำพูดดังกล่าวนอกจากสะท้อนถึงปัญญาญาณของท่าน

 ซึ่งมองเห็นแจ่มแจ้งว่าการปฏิบัติธรรมนั้นมีความหลากหลาย

และละเอียดอ่อน ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกคน

หรือทางออกที่ครอบจักรวาล ยังแสดงถึงความถ่อมตนของท่าน

 คือไม่ปักใจว่าความเห็นหรือวิธีการของท่านเท่านั้นที่ถูก

แก้ปัญหาของทุกคนได้ พร้อมกันนั้นก็เชื่อว่า

แต่ละคนมีศักยภาพหรือความสามารถที่จะค้นพบ

วิธีการอันเหมาะกับตนเองได้ ใช่หรือไม่ว่าเหล่านี้คือ

คุณสมบัติอันสำคัญของปราชญ์และครู

 ผู้เป็นกัลยาณมิตรอันประเสริฐ


..............................







ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 มกราคม 2559
Last Update : 2 มกราคม 2559 12:43:11 น.
Counter : 948 Pageviews.

0 comment
### ความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์ ###
















“ความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์”

การปฏิบัติความดีจะยากจะลำบากในเบื้องต้น
 อุปสรรคจะมาก

 ความทุกข์ ความยาก ความลำบากจะมีมาก

แต่เมื่อปฏิบัติไปแล้วความทุกข์ ความยาก ความลำบาก

จะค่อยๆเบาบางลงไป น้อยลงไปเรื่อยๆ

แล้วความสุข ความสบาย จะมีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

จนเต็มครบร้อยบริบูรณ์ เป็นความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์

 เป็นความสุขที่ตั้งอยู่บนลำแข้งลำขา บนกำลังใจของเรา

 เกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เกิดจากความสงบ

 ความสะอาดของจิต เป็นสิ่งที่จะอยู่คู่เคียงกับเรา

ไปตลอดอนันตกาล ไม่ว่าจะไปที่ไหนแห่งใด

ถ้ายังไม่ถึงสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

คุณธรรมความดีเหล่านี้ ความสุขเหล่านี้ ก็จะติดตัวไป

 ทำให้การปฏิบัติไม่ขาดตอน ไม่สูญเสีย ไม่สูญหายไป

ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่ไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่

 ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ เพราะพลังของจิตไปกับจิต

คุณงามความดีนี้แหละคือพลังของจิต ไม่สูญสลายไป

จะติดไปกับใจ เป็นนิสัย เป็นบารมี

เหมือนกับพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี

มาเป็นเวลาอันยาวนาน พระบารมีเหล่านั้นที่ได้ทรงสะสมไว้

ในแต่ละภพละชาติ ก็ไม่สูญหายไปไหน

ก็ยังอยู่ติดอยู่กับพระทัยของพระพุทธเจ้า

กลายเป็นเครื่องมือ สนับสนุนให้ได้ทรงบรรลุถึงธรรมอันสูงสุด

คือได้บรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา

เพราะได้ทรงสะสมบุญบารมีมาทุกภพทุกชาติ

 พวกเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ใครจะไปรู้ว่า

หนึ่งในพวกเราที่นั่งอยู่ในศาลานี้

อาจจะกลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาในภายภาคหน้าก็ได้

เพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้มาจากผู้วิเศษที่ไหน

 พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ก็มาจากปุถุชนคนมืดบอดอย่างพวกเราทั้งหลายนี่แหละ

 เพียงแต่ว่ามีศรัทธาความเชื่อ มีฉันทะความยินดี ความพอใจ

 มีวิริยะความเพียร อุตสาหะ มีขันติ ความอดทน

ที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่งาม

ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ให้ปฏิบัติตาม

เรานี่แหละต่อไปจะกลายเป็นพระพุทธเจ้า

 เป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา จะช้าหรือเร็วก็อยู่กับตัวเรานี่แหละ

เหมือนกับการขับรถ ถ้าขับช้าก็ไปถึงจุดหมายปลายทางช้า

 ถ้าขับเร็วก็ไปถึงเร็ว ฉันใดการปฏิบัติก็เป็นเช่นนั้น

 ถ้าปฏิบัติมากก็จะไปถึงเร็ว ถ้าปฏิบัติน้อย ก็จะไปถึงช้า

 วันหนึ่งมีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง เราปฏิบัติธรรมกันมากน้อยเท่าไร

ถ้าปฏิบัติอย่างพระสาวกในอดีตกาล ก็ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา

จนกระทั่งหลับไป คืนหนึ่งท่านก็หลับไม่มาก

เพียงคืนละ ๔ ชั่วโมงเท่านั้นเอง ปฏิบัติถึง ๒๐ ชั่วโมงต่อวัน

 จึงไม่เป็นของแปลกอะไรที่จะบรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว

สมัยพุทธกาลจึงปรากฏพระอรหันตสาวกขึ้นมาเป็นจำนวนมากมาย

 เพราะท่านปฏิบัติกันนั่นเอง ไม่เพียงแต่สักแต่ว่าฟัง

 แล้วก็ไม่นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาปฏิบัติ

 ผลจึงไม่ค่อยปรากฏ เหมือนในสมัยนี้

 มีคนเยอะ มีคนถึง ๖๐ ล้านคนในประเทศไทย

ที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่มีสักกี่คนที่จะบรรลุ

เป็นพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้า

 แทบจะหาไม่ค่อยได้เลยทุกวันนี้ เหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร

 เดินไปก็ไม่ค่อยเจอเท่าไร ไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล

 เดินไปก็มักจะเดินชนกับพระอริยเจ้าเสมอๆ

สิ่งแตกต่างกันในสมัยพุทธกาลกับในสมัยนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน

 ก็อยู่ที่การปฏิบัติของเรานั่นแหละ

ในสมัยพุทธกาลมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง

เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ฟังกันอย่างจริงจัง

เมื่อฟังแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

ไม่ได้ฟังเพื่อเป็นการสะสมบารมี การสะสมบารมีที่แท้จริงนั้น

จะต้องนำไปปฏิบัติ ถ้าฟังแล้วไม่ได้เอาไปปฏิบัติ

 อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการสะสมบารมี เป็นการสูญไปเปล่าๆ

เสียเวลานั่งฟัง เสียเวลาของคนที่พูด เพราะไม่ได้นำไปปฏิบัติ

 การฟังอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เหมือนกับการรู้ทางแล้ว

แต่ไม่ได้เดินทางไป อย่างนี้ก็จะไม่ถึง

จุดหมายปลายทางที่ปรารถนาได้

ถ้าเดินแบบกระต่ายก็ไม่ดี เพราะเดินในลักษณะประมาท

แล้วแต่อารมณ์ วันไหนขยันก็เดินเร็ว พอวันไหนขี้เกียจก็เถลไถล

ไปเที่ยว ไปทำโน่น ทำนี่ ก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางสักที

ต้องเอาอย่างเต่า ถึงแม้จะก้าวไปทีละก้าวอย่างช้าๆ

 แต่ไปแบบไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ยอมถอยหลัง ไม่เถลไถล

 รู้หน้าที่ของตนว่าจะต้องเดินทาง ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางให้ได้

 ก็เดินไปด้วยความแน่วแน่มั่นคง ด้วยความพากเพียร

 ด้วยความอดทน แล้วในที่สุดถึงแม้จะเดินช้ากว่ากระต่าย

 แต่ก็ไปถึงจุดหมายปลายทางก่อนกระต่าย

 เพราะไม่ประมาทนั่นเอง ส่วนกระต่ายนี้ประมาท

 คิดว่ามีความสามารถจะไปถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไรก็ไปได้

ก็เลยผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ เลยไปไม่ถึงสักที

พวกเรามักชอบผัดไปเรื่อยๆเหมือนกับกระต่าย

ว่าตอนนี้ยังอายุน้อยอยู่ ยังหาความสุขในโลกนี้ได้

ไว้รอให้มีอายุมากขึ้นไปก่อน ไว้แก่แล้ว

ไม่มีกำลังวังชาที่จะออกไปเที่ยวแล้ว ค่อยเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน

 ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการประมาทใน ๒ กรณีด้วยกัน คือ

๑. เรายังไม่รู้เลยว่าจะอยู่ถึงอายุแก่เฒ่าหรือไม่

อาจจะตายในขณะที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ได้

๒. เมื่อแก่เฒ่าแล้วเวลาปฏิบัติธรรมจะยากลำบาก

เพราะสังขารร่างกายไม่เอื้ออำนวย

นิสัยที่ได้ปลูกฝังไปในทางโลกก็จะคอยกีดขวาง

ให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก

 แต่ถ้าเริ่มปฏิบัติธรรมเสียตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่นยังสาวอยู่

การปฏิบัติก็จะง่าย เพราะกำลังวังชาร่างกายก็พร้อม

 นิสัยทางโลกก็จะไม่มากีดขวางในการปฏิบัติ

เหมือนกับการดัดไม้ ต้องดัดไม้ตอนที่ไม้ยังอ่อนอยู่

 ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก

จึงควรรีบเร่งปฏิบัติในขณะที่ยังมีอายุน้อยอยู่

จะได้ไม่เสียใจภายหลัง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...................................

กัณฑ์ที่ ๑๔๙ วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๖ (กำลังใจ ๑๐)

“ตั้งเป้า วางแผน”














ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 มกราคม 2559
Last Update : 2 มกราคม 2559 12:09:39 น.
Counter : 1812 Pageviews.

0 comment
### ตั้งเป้า...วางแผน ###















“ตั้งเป้า วางแผน”

วันนี้เป็นวันแรกของปี เป็นเวลาที่ดี

ที่เราจะมาวางแผนตั้งเป้าหมาย สำหรับชีวิตของเรา

ที่จะตามมาในอนาคตต่อไป ว่าควรจะทำอะไร

เพื่อสิ่งที่เราปรารถนากัน สิ่งที่เราทุกคนปรารถนากัน

ก็คือความสุข ความเจริญ ความเป็นสิริมงคล

 ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลาย

ซึ่งเป็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ

ทางกาย ทางวาจา และทางใจของเรา

ถ้าไม่ตั้งเป้าหมายว่าจะประพฤติ จะปฏิบัติ จะกระทำอย่างไร

 ผลที่ปรารถนากันก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

 เพราะผลเป็นเพียงสิ่งที่จะตามมาจากเหตุ

คือการกระทำของเรา เรามีความปรารถนาดี มีความปรารถนาสูง

 แต่ถ้าเราไม่บำเพ็ญเหตุที่จะทำให้ผลที่เราปรารถนาปรากฏขึ้นมา

 เราย่อมไม่ได้รับผลที่เราปรารถนากัน

สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ความปรารถนา

ไม่ได้อยู่ที่ผล แต่อยู่ที่เหตุ

ดังนั้นในเวลาที่เราเริ่มต้นชีวิตใหม่ในปีใหม่นี้

จึงควรวางแผนว่าเราจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร

 เพื่อจะได้นำตัวเรา นำชีวิตของเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดี

ที่งาม ที่ประเสริฐ เหมือนกับการเดินทางออกจากบ้าน

สู่จุดหมายปลายทางจุดใดจุดหนึ่ง

ในเบื้องต้นเราก็ต้องวางแผนก่อนว่าจะไปอย่างไร

 จะขึ้นรถเมล์หรือจะขับรถไปเอง เมื่อรู้แล้วว่าจะไปด้วยวิธีใด

เราก็ต้องเตรียมการไว้ ถ้าจะขึ้นรถเมล์

 ก็ต้องเตรียมเงินไว้สำหรับซื้อตั๋ว

ถ้าจะขับรถไป ก็ต้องเตรียมรถยนต์ให้พร้อม เติมน้ำมัน

ดูแลเครื่องยนต์ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

พร้อมที่จะพาไปสู่จุดหมายปลายทางได้

ถ้าไม่เตรียมตัววางแผนไว้ก่อน เช่นพอถึงเวลาจะไป

เราก็ออกจากบ้านไป ลืมพกเงินติดตัวไป

พอไปขึ้นรถเมล์ ก็ไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าโดยสาร ก็ไปไม่ได้

หรือขับรถออกจากบ้านไป แต่ไม่ได้เติมน้ำ

เครื่องยนต์ร้อนขึ้นมา ก็ไม่สามารถเดินทางไปได้

เพราะขาดการเตรียมตัววางแผนไว้นั่นเอง

ดังนั้นการที่จะดำเนินชีวิตของเราไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม

 มีแต่ความสุข ความเป็นสิริมงคล ไม่มีความทุกข์

ความเสื่อมเสียตามมา เราจึงต้องวางแผนการกระทำของเราให้ดี

เมื่อวางแผนแล้ว เราจะได้มีสิ่งที่คอยเตือนสติเรา

ให้กระทำในสิ่งนั้นๆ เมื่อได้กระทำตามแล้ว

 ผลที่เราปรารถนาย่อมตามมา

พวกเราทุกคนก็ปรารถนาที่จะมีความสุข ความเจริญในชีวิต

 ไม่ต้องการประสบกับความทุกข์ ความเสื่อมเสีย

 ความหายนะ เราจึงต้องดูแลการประพฤติปฏิบัติของเรา

ซึ่งเป็นเหตุที่จะนำมาในผลที่เราปรารถนากัน ถ้าไม่คำนึงถึงเหตุ

 ปล่อยให้การกระทำของเราเป็นไปตามยถากรรม

 เป็นไปตามอารมณ์ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำไป

นึกอยากจะพูดอะไรก็พูดไป คิดอะไรออกมา

 ก็ปล่อยให้ความคิดนั้นสั่งการไปสู่การกระทำทางกาย

 ทางวาจา ผลที่ปรารถนาก็อาจจะไม่เป็นไป

หรือถ้าเป็นไป ก็อาจจะไม่มากเท่าที่ควร

เพราะว่าในใจของเรามีทั้งกระแสของความดี

มีทั้งกระแสของความไม่ดี สลับผลัดเปลี่ยนกันทำงาน

 บางวันมีกระแสดี ก็ส่งให้มีความอยากที่จะทำบุญทำทาน

อยากจะรักษาศีล อยากจะปฏิบัติธรรม

บางวันก็มีกระแสที่ผลักดันให้อยากออกไปเที่ยว

 ไปเสพสุรายาเมา ถ้าปล่อยให้กระแสเหล่านี้เป็นตัวชักจูงไป

 ชีวิตของเราก็จะไปแบบฟันปลา ขึ้นสูงบ้าง ลงต่ำบ้าง

ถ้าเป็นรถยนต์ก็เป็นรถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัย ไม่มีคนขับ

 ปล่อยให้รถไหลไปตามถนนหนทาง จะตกถนน จะแหกโค้ง

หรือจะฝ่าไฟแดงชนกับรถคันอื่น ก็ไม่มีใครที่จะบังคับควบคุมได้

แต่ถ้าได้กำหนดขั้นตอน แผนการดำเนินชีวิต

 ว่าจะทำอะไร แล้วผูกใจไว้ด้วยความจริงใจ

ว่าจะประพฤติปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ ไม่ช้าก็เร็ว

เราก็จะดำเนินไปถึงจุดหมายปลายทางที่เราปรารถนากัน

เราจึงควรวางแผน ตั้งใจกระทำในสิ่งที่จะนำมา

ซึ่งผล ที่เราปรารถนากัน ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ

 ๑. รักษาความดีที่มีอยู่ในตัวเราให้มีอยู่ต่อไป ไม่ให้เสื่อมสลายสูญไป

๒. ทำความดี สร้างความดีที่ยังไม่มีในตัวเราให้เกิดขึ้นมา

 ๓. ละความไม่ดีที่มีอยู่ในตัวเราให้ลดน้อยถอยลงไปจนหมดไปในที่สุด

๔. ป้องกันไม่ให้ความไม่ดีที่ได้ละแล้ว ได้ลดแล้ว

ได้เลิกไปแล้ว หวนกลับคืนเข้ามาสู่ชีวิตของเราอีก

 ถ้าเราทำได้ทั้ง ๔ ประการนี้ รับรองได้ว่าความสุข ความเจริญ

 ความไม่มีทุกข์ภัยอันตราย ไม่มีความเสื่อมเสียทั้งหลาย

 จะเป็นของเราอย่างแน่นอน

ดังนั้นหน้าที่ของเราจึงไม่ได้อยู่ที่การรอผล

 ไม่ได้อยู่ที่การนั่งเฝ้าให้ผล ที่เราปรารถนาเกิดขึ้นมา

 แต่อยู่ที่การควบคุมการกระทำของเรา ทางกาย ทางวาจา และทางใจ

 ให้เป็นไปตามแนวทางที่ดีที่ควร ตามที่ได้กล่าวมาทั้ง ๔ ประการ

เราจึงควรเริ่มตรวจสอบดูตัวเรา ว่ามีส่วนที่ดี มากน้อยเพียงไร

 มีส่วนที่ไม่ดีมากน้อยเพียงไร แล้วก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า

 ปีนี้จะทำความดีให้มีมากเพิ่มขึ้น และจะลดส่วนที่ไม่ดีให้น้อยลงไป

จะตั้งมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา

ถ้าไปตั้งเป้าหมายที่สูงไป แล้วไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้

 ก็จะเกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจขึ้นมา

เพราะไปทำในสิ่งที่มากกว่าความสามารถของเราที่จะทำได้

สมมุติว่าขณะนี้เราสามารถยกน้ำหนัก

ยกสิ่งของได้ถึง ๒๐ กก.ต่อ ๑ ครั้ง

แต่อยากจะยกน้ำหนักได้มากขึ้นกว่าเดิม

 ก็ลองตั้งเป้าว่าจะยกสัก ๒๕ กก. โดยค่อยๆขยับขึ้นไป

จาก ๒๐ ก็ขึ้นสู่ ๒๑ ๒๒ ๒๓ ค่อยๆขยับขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย

 ถ้าทำอย่างนี้ จะทำได้ง่ายกว่าที่จะยกจาก ๒๐ ไปสู่ ๒๕

ในครั้งเดียวเลย เพราะร่างกายยังไม่ได้ปรับตัว

 ยังไม่ได้พัฒนากล้ามเนื้อต่างๆ ไว้รับกับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น

จึงขอให้มองดูความสามารถของเราก่อน ว่ามีมากน้อยเพียงไหน

คนเราทุกคนมีความสามารถ ที่จะพัฒนาตนให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

 เพียงแต่จะมีศรัทธาความเชื่อ มีฉันทะความพอใจ

 ที่จะทำในสิ่งนั้นๆหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ

 ก็ต้องสร้างให้เกิดขึ้น ด้วยการพิจารณาถึงผลดีงาม

 ที่เกิดจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่จะตามมา

 ถึงแม้จะยาก จะลำบาก เพราะเป็นการทวนกระแส

ของความไม่ดีที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน

ช่นความเกียจคร้าน เราต้องมองให้เห็นโทษของความเกียจคร้าน

 ที่มีฝังอยู่ในใจของเรา ว่าเป็นส่วนเสีย เป็นส่วนถ่วงความเจริญ

 คนเราจะเจริญรุ่งเรืองหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความขยันหมั่นเพียร

หรือความเกียจคร้านนี่แหละ ถ้ามีแต่ความขยันหมั่นเพียร

 มีวิริยะความอุตสาหะแล้ว ไม่ว่าจะกระทำอะไร

ก็จะประสบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

แต่ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน และไม่สามารถที่จะกำจัด

หรือทำให้ความเกียจคร้านลดน้อยถอยลงไป

โอกาสที่จะประสบกับความสำเร็จ ประสบกับสิ่งที่ตนปรารถนา

 ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้หนึ่งผู้ใด

 แต่ขึ้นอยู่กับตัวเราแท้ๆ

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน เน้นไปที่หลักของการมีตนเป็นที่พึ่งของตน

 อัตตา หิ อัตโน นาโถ พระพุทธเจ้าถึงแม้จะวิเศษ

จะประเสริฐขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถปฏิบัติแทนเราได้

ไม่สามารถอุ้มให้เราไปสู่ผลที่เราต้องการได้

 เราเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้เดินไป ปฏิบัติไป

ถึงจะไปสู่จุดหมายที่เราต้องการได้

 และการที่จะไปสู่จุดหมายนั้นได้ ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติของเราเอง

 โดยอาศัยผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย

 เป็นผู้คอยให้กำลังใจ เป็นผู้คอยชี้บอกทางให้กับเรา

 ในยามที่เรามีความรู้สึกท้อแท้ไม่มีกำลังจิตกำลังใจ

ก็ขอให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระอริยเจ้าทั้งหลาย

 ว่าท่านทั้งหลายก็เป็นเหมือนกับเรามาก่อน

เป็นปุถุชนธรรมดาเหมือนเรา ท่านก็พยายามปฏิบัติเหมือนเรา

 มีความท้อแท้เหมือนเรา เพียงแต่ว่าท่านไม่ยอมแพ้เท่านั้น

ยามที่มีความท้อแท้ทำไม่ได้มาก ก็ทำไปเท่าที่จะสามารถทำได้

ไม่หยุด ไม่เลิก หรือถ้าจะหยุด ก็หยุดเพื่อพักผ่อน

เพื่อเอากำลัง เมื่อมีกำลังแล้ว ก็กลับมาสู้กันใหม่

อย่างนี้จะเป็นวิธี ที่จะทำให้เรา

ดำเนินไปถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการไปได้

 เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเดินทางของการต่อสู้

 เมื่อปฏิบัติไปแล้วย่อมมีความอ่อนล้า มีความเหน็ดเหนื่อย

 ท้อแท้บ้าง บางครั้งบางคราว ต้องทำความเข้าใจว่า

เป็นอารมณ์ชั่วคราว ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่กับเราถาวรตลอดไป

 เมื่อทำความเข้าใจนี้แล้ว ก็ไม่ไปกังวลกับอารมณ์นั้น

 มีหน้าที่อย่างไร ก็ทำไป ถึงแม้จะไม่เกิดผลที่ต้องการ

 เพราะการปฏิบัติบางครั้งบางเวลาปฏิบัติไปก็เกิดผลดี

มีความรู้สึกอิ่มเอิบใจ มีความรู้สึกว่าได้พัฒนาขึ้นไป

แต่บางครั้งก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่ายืนอยู่กับที่

ปฏิบัติไปก็ไม่มีความอิ่มเอิบใจอย่างไร อย่างนี้ก็ไม่ต้องกังวล

 เพราะเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติ

ต้องมีการล้มลุกคลุกคลานไปก่อน

เมื่อได้ปฏิบัติไปมากขึ้นไปๆแล้ว อารมณ์เหล่านี้จะค่อยเบาบางลงไป

ผลที่ต้องการจะเริ่มปรากฏขึ้นเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา

ในเบื้องต้นจะเป็นช่วงที่ยากลำบากมาก

 เพราะปฏิบัติไปแล้วไม่ค่อยเห็นผลเท่าไร

 เลยเกิดความท้อแท้อิดหนาระอาใจ

 ก็อย่าให้ความรู้สึกนี้มาล้มล้างความตั้งใจที่ดี

ความปรารถนาที่ดีของเรา ขอให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

กับพระอริยเจ้าทั้งหลายว่า ท่านก็ล้มลุกคลุกคลานเหมือนเรา

 แต่ท่านเป็นผู้ที่ไม่ยอมแพ้เท่านั้น

 ถึงแม้จะถูกต่อยให้ล้มลงไปนอนกับพื้นนับ ๘

แต่เมื่อลุกขึ้นมาได้ ก็จะดำเนิน จะปฏิบัติต่อไป

จะได้ผลมากผลน้อยในแต่ละครั้งก็ไม่กังวลใจ

ขอให้ได้ปฏิบัติไปก็แล้วกัน ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่

ก็ขอให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถปฏิบัติได้

ถ้ามีความแน่วแน่อย่างนี้แล้ว เชื่อได้เลยว่า

จุดหมายปลายทางอันดีงาม ที่เราทุกคนปรารถนากัน

จะต้องเป็นของเราอย่างแน่นอน จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับ

บุญกรรมที่เราทำไว้ในอดีต ถ้าได้สะสมบุญมามาก

สะสมบารมีมามาก ก็จะถึงจุดหมายปลายทางได้เร็ว

 ถ้าได้สะสมบุญบารมีมาน้อย ได้สร้างบาปสร้างกรรมมามาก

 การปฏิบัติของก็จะช้าเพราะมีอุปสรรคขวางกั้นอยู่มาก

 แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าอุปสรรคเหล่านี้

ไม่วิเศษไปกว่าความเพียรของเรา

 ความเพียรของเราจะชนะทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางกั้นได้

ดังนั้นยามที่มีความท้อแท้ ขอให้เราเตือนสติ อย่าไปพาลยกเลิก

 ว่าปฏิบัติมานานแล้ว ไม่เห็นได้ผลเลย สู้ไม่ปฏิบัติดีกว่า

 ถ้าคิดแบบนี้แล้วก็เป็นการฆ่าตัวตาย เป็นการปิดกั้นอนาคตที่ดี

 ที่เจริญ ที่รุ่งเรืองไป เพราะจะถูกอำนาจของกิเลสใฝ่ต่ำ

 ชักจูงให้กลับไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ถึงแม้จะมีความสุข มีความสนุก

 มีความเพลิดเพลิน แต่ก็เป็นความเพลิดเพลิน

แบบขุดหลุมฝังตัวเองเท่านั้นเอง

เวลาไปเที่ยว ไปเสพอบายมุขต่างๆ ก็มีความเพลิดเพลิน

แต่ในขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้

จะต้องติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไป ถ้าติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้

 ก็จะถูกสิ่งเหล่านี้ดูดความเจริญ ดูดทรัพยากรต่างๆ

 ที่มีอยู่ในตัวเราให้หมดสิ้นไป

 เมื่อไม่มีทรัพยากรเหลืออยู่แล้ว

และไม่มีความสามารถที่จะหามาด้วยความสุจริต

ก็ต้องไปหามาด้วยความทุจริต แล้วในที่สุด

ก็ต้องไปใช้เวรใช้กรรมทั้งในปัจจุบัน

และในอนาคตที่จะตามมาต่อไป

ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้มีกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติ

ทำคุณงามความดีต่อไป ถึงแม้จะยากลำบาก

เลือดตาแทบกระเด็นก็ตาม เมื่อคิดถึงผลดีที่จะตามมาต่อไป

 ก็จะทำให้เกิดมีกำลังใจ.


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................................

กัณฑ์ที่ ๑๔๙ วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๖ (กำลังใจ ๑๐)

“ตั้งเป้า วางแผน”













ขอบคุณทื่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 01 มกราคม 2559
Last Update : 2 มกราคม 2559 12:10:59 น.
Counter : 1294 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ